คำชี้แจง

เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๗ จำวันที่ไม่ได้ ดิฉันได้รับสำเนาหนังสือเรื่อง “ฉฬาภิชาติพิไสย” จากเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร ผู้มาประชุมที่สำนักงานศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO Regional Centre for Archaeology and Fine Arts in Southeast Asia) เกี่ยวกับโครงการศึกษากฎหมายตราสามดวง ให้เป็นประมวลกฎหมายไทยในฐานะมรดกโลก

หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์โดยโรงพิมพ์กรมไปรษณีย์และโทรเลข เมื่อปีกุน นพศก ๑๒๔๙ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๓๐) ผู้นิพนธ์คือ หม่อมเจ้าเพิ่ม จัดพิมพ์ ๕๐๐ ฉบับ ทูลเกล้าฯ ถวายในการพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และพระอรรคชายาเธอ ณงานพระเมรุท้องสนามหลวง

วิธีเรียบเรียงหนังสือ “ฉฬาภิชาติพิไสย” เป็นประเภทร้อยกรองแบบลิลิต แต่ประกอบด้วยโคลงสี่ และร่ายเท่านั้น การสะกดคำยังเป็นแบบโบราณ ก่อนที่จะมีปทานุกรมฉบับหลวง เป็นมาตรฐานการสะกดคำ ยังมีการใช้ตัว ข และ ค ตามธรรมเนียมของการนิพนธ์ร้อยกรอง มีการเริ่มต้นด้วยร่ายเฉลิมพระเกียรติ และถวายพระพร มีที่น่าสังเกต คือ คำลงท้ายที่กล่าวว่า “ความฝืดเคือง อย่าเหน ความขัดเข็ญอย่ามี แด่ชาวบุรีทั่วหน้า ขออย่าเป็นเช่นข้า ยากไร้ ใจตรอม

มีข้อความปรารภต่อไปในหน้า ๒ ว่า ท่านผู้นิพนธ์เป็นผู้มีเวรกรรมแต่ปางก่อน จึงไม่มีบุตรธิดาสืบต่อวงศ์ตระกูล จึงได้รจนาเรื่องนี้ไว้เป็นผู้สืบวงศ์ตระกูล หลังจากที่ท่านสิ้นชีพิตักษัยแล้ว

เมื่อจบคำอวยพรแล้ว ก็จะบรรยายถึงวิสัยของบุคคลที่มีกำเนิดดีและไม่ค่อยดี ซึ่งมีอยู่หกกลุ่มด้วยกัน เพื่อเสริมความรู้ให้แก่บุคคลที่มีสติปัญญาเยี่ยงนักปราชญ์ได้ทราบไว้

กลุ่มบุคคลหกเหล่า ได้แก่ กษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ สูท ปุกกุส และจัณฑาล ตามลำดับ บุคคลใดเกิดอยู่ในกลุ่มไหน ควรจะเรียนวิชาที่เหมาะสมแก่วาสนาของตน การเรียนวิชาอื่นที่ไม่เหมาะสมกับฐานันดรศักดิ์ของตน ก็จะไม่ได้คุณประโยชน์

การชี้แจงเกี่ยวกับวิชาการซึ่งเหมาะสมแก่แต่ละกลุ่มบุคคล ได้เริ่มด้วยวิชาการที่กษัตริย์พึ่งเล่าเรียน ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ข้อความยาว ๒๑ หน้า ตั้งแต่ หน้า ๔ จนถึงหน้า ๒๕ การพรรณนาเกี่ยวกับวิชาที่พราหมณ์ต้องเรียน พรรณนาถึงวิชาที่บุคคลในกลุ่มแพทย์จะต้องเรียนเรื่องโรค ที่มาแห่งโรค วิธีการรักษาโรค ยาต่างๆ หน้า ๓๗ ถึงหน้า ๓๙ ว่าด้วยวิชาโภชนาการซึ่งบรรดาพวกพ่อครัว ต้องทราบ

ปุกกุส เป็นเหล่ากรรมกร ใช้แรงงานประกอบอาชีพพวกหนึ่ง พวกเต้นกินรำกิน ซึ่งเป็นที่น่ารังเกียจอีกพวกหนึ่ง มีคำอธิบายหน้า ๔๐ - ๔๑

บทพรรณนาถึงจัณฑาล ซึ่งเป็นพวกต่ำสุด มีอยู่หน้าเดียวคือหน้า ๔๒ ต่อจากนั้นเป็นข้อสรุปคำสอน และวิธีปฏิบัติตนให้เจริญในแต่ละกลุ่มตระกูล บทส่งท้ายมีคำสอนสำหรับข้าราชการ เหล่าขุนนางทั้งหลายที่เป็น “ข้าบาทท่านท้าวทรงธรรม” แม้ว่าหนังสือเล่มนี้แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ ถึงปัจจุบันนี้ มีอายุได้ ๑๑๘ ปีแล้ว ความคิดและคำสอนยังทันสมัยและเป็นประโยชน์แก่ปัจจุบัน

เป็นที่น่ายินดี และขอบคุณมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้เห็นคุณค่า และจัดพิมพ์เผยแพร่ นอกจากเป็นการอนุรักษ์หนังสือแล้ว ยังเป็นการสืบทอดแนวคิด คุณธรรม และจริยธรรมซึ่งคนไทยทั่วไป ผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ รวมทั้งที่รับราชการ จะได้ตระหนักเป็นแนวปฏิบัติด้วย

เพื่อความสะดวกในการเลือกอ่าน ดิฉันได้ทำสารบาญดังปรากฏต่อ จากคำชี้แจงนี้

(ศาสตราจารย์ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ