กำเนิดของระบบศักดินาในประเทศไทย
ระบบศักดินาของไทย จะเริ่มต้นขึ้นในสมัยใดแน่ เป็นสิ่งที่ยังอยู่ในความมืดมน ทั้งนี้เพราะเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่มีอายุเหนือยุคสุโขทัย (ราว พ.ศ. 1800) ขึ้นไป เราไม่มีเลย แม้ในสมัยสุโขทัยเอง ก็มีเพียงเอกสารตกทอดมาเป็นหลักฐานทางประวัติความเคลื่อนไหวของประชาชนน้อยเต็มที เอกสารประเภทศิลาจารึกครั้งสุโขทัยส่วนมากก็ว่าด้วยเรื่องราวของกษัตริย์หรือไม่ก็เรื่องการสร้างวัดสร้างวาเสียแทบทั้งสิ้น
อย่างไรก็ดีมีนักศึกษาบางท่านเชื่อว่าศักดินาของไทยได้ปรากฏมาแล้วตั้งแต่สมัยน่านเจ้า (ราว พ.ศ. 1200-1500)
ความสัมพันธ์ในการผลิตที่ขูดรีดโดยผ่านที่ดินเป็นสื่อกลางเช่นนี้ เป็นความสัมพันธ์ในการผลิตของระบบศักดินาโดยตรง
แต่!
ข้อน่าคิดมีอยู่ประการหนึ่งคือ ปัจจุบันนี้ นักประวัติศาสตร์และนักมานุษยชาติวิทยาทั่วไป กำลังสงสัยอยู่ว่าอาณาจักรน่านเจ้าจะมิใช่อาณาจักรของประชาชนไทย เพราะตามหลักฐานที่สอบค้นได้ใหม่ทำให้จำต้องเชื่อว่า อาณาจักรน่านเจ้าเป็นอาณาจักรของชนชาติ “โลโล่” ซึ่งเป็นชนชาติในตระกูลธิเบต-จีน ชนชาตินี้เคยรุ่งเรืองมาแล้วในอดีต โลโลเจริญถึงขนาดมีภาษาเขียนเป็น อักษรภาพ (Ideograph) ทำนองเดียวกับอักษรจีน (ปัจจุบันชนชาติโลโลเป็นชนส่วนน้อยในสาธารณรัฐประชาชนจีน) ความเห็นและหลักฐานที่สอบค้นได้ใหม่นี้ ในปัจจุบันก็เป็นที่ยอมรับกันบ้างแล้วในวงนักศึกษาประวัติศาสตร์ของไทย
ด้วยเหตุนี้ การที่จะวิเคราะห์ระบบผลิตของสังคมไทยโดยเริ่มที่อาณาจักรน่านเจ้าอันเต็มไปด้วยการสันนิษฐาน จึงนับว่าเป็นการเสี่ยงอย่างสำคัญ และถ้าอาณาจักรน่านเจ้าเกิดเป็นของโลโลเข้าจริงๆ การสืบสาวระบบศักดินาของไทยในอาณาจักรน่านเจ้าก็จะทลายครืนลงอย่างไม่มีปัญหา ฉะนั้นการวิเคราะห์ถึงกำเนิดของระบบศักดินาไทย ในที่นี้จึงยกสมัยน่านเจ้าทิ้งเสีย และเริ่มตั้งแต่สมัยสุโขทัยอันมีศิลาจารึกเป็นหลักฐานแน่นอนเป็นต้นมา
สังคมไทยกับระบบทาส
ในการศึกษาถึงกำเนิดของระบบศักดินาของไทย สิ่งแรกที่จะต้องเข้าใจเป็นพื้นฐานเสียก่อน ก็คือระบบศักดินาของไทยเกิดขึ้นได้โดยมีระบบทาสเป็นพื้นฐาน พูดง่ายๆ ก็คือสังคมของประชาชนไทยเกิดขึ้นได้มีระบบทาสมาก่อนแล้วจึงพัฒนามาสู่ระบบศักดินา
ทำไม?
ที่ต้องวิเคราะห์ปัญหานี้ให้เข้าใจเสียก่อนก็เพราะ นักประวัติศาสตร์ของฝ่ายศักดินาได้เพียรพยายามมานานนับด้วยสิบๆ ปีที่จะพิสูจน์ว่า สังคมไทยแต่เดิมก่อนที่จะลงมาอยู่สุโขทัยหาได้มีระบบทาสไม่ ตามความเข้าใจของนักประวัติศาสตร์ศักดินานั้น ปรากฏว่าไทยไม่เคยมีระบบทาสเลย ทั้งนี้โดยอ้างว่าชื่อชนชาติที่เรียกว่า ไทย นั้นก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็น เสรีชน (ไทย) ตลอดมาแต่ไหนแต่ไร ระบบศักดินานั้นในทรรศนะของเขาอยู่ๆ ก็โผล่ผลัวะออกมาเฉยๆ โดยมิได้ผ่านพัฒนาขั้นระบบทาส การมีทาสกรรมกรใช้ของไทยในยุคศักดินานั้น มามีขึ้นก็เมื่อมาพบกับเขมรในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เห็นว่าเป็นของดีก็เลยยืมมาใช้เล่นโก้ๆ ยังงั้นเอง
ระบบศักดินาไม่ใช่ระบบที่โผล่ผลัวะออกมาได้เองโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย ระบบศักดินามิใช่ระบบที่กษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งนึกสนุกตั้งขึ้นโดยเห็นว่าเป็นของดี หากระบบศักดินาเกิดขึ้นได้โดยผ่านการพัฒนาเป็นระดับขั้นของการผลิตในสังคม ถ้าปราศจากการพัฒนาาเป็นระดับขั้นตอนการผลิตเสียแล้ว ระบบศักดินาจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย นี่เป็นกฏทางภววิสัยอันตายตัว
แน่นอน ถ้าไม่มีระบบทาสอันเป็นพื้นฐานเสียก่อนแล้ว ระบบศักดินาย่อมจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยเป็นอันขาด
ในยุคชุมชนบุพพกาล (Primitive Commune) มนุษย์ทุกคนเป็นเสรีชน ต่างคนต่างช่วยกันทำช่วยกันกิน มีหัวหน้าชาติกุลเป็นผู้นำของกลุ่มหนึ่งอาจมี 50 คน หรือ 100 คนตามแต่ขนาดของสกุลหรือชาติกุล กลุ่มเหล่านี้มีอยู่มากมายหลายพันกลุ่ม แล้วใครหน้าไหนหนอที่จะมีอำนาจรวมเอากลุ่มทั้งปวงมากองไว้ที่ปลายตีน ริบเอาที่ดินและปัจจัยการผลิตของกลุ่มเหล่านั้นมาเป็นของตน ตั้งระบบศักดินาขึ้นแล้วแบ่งที่ดินออกไปให้แก่กลุ่มพวกพ้องของตนปกครองและทำมาหากิน พระอินทร์ได้ยกพลลงมานับพันนับหมื่นเพื่อปราบกลุ่มชาติกุลเหล่านั้นแล้วสถาปนาระบบศักดินาขึ้นหรืออย่างไร
ชาติกุลหนึ่งๆซึ่งมีกำลังเพียงหยิบมือเดียวไม่สามารถเที่ยวริบที่ดินมาจากชาติกุลอื่นๆ นับเป็นร้อยๆ พันๆ แห่ง มาตั้งเป็นระบบศักดินาและเหยียดชนในชาติกุลอื่นลงเป็นเลกไพร่ได้เหนาะๆ อย่างที่คิดเดาเอาเลย
พัฒนาการแห่งการผลิตเท่านั้นที่กำหนดสภาพการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตของสังคมชาติกุลของชุมชนบุพกาลต้องรบพุ่งแย่งชิงอาหาร ที่ทางทำกินกันและกันอยู่นมนานเสียก่อน เมื่อชาติกุลหนึ่งชนะอีกชาติกุลหนึ่งก็ฆ่าทิ้งเสียทั้งหมด เพื่อให้สิ้นเสี้ยนหนาม ต่อมาภายหลังเกิดความคิดที่จะเก็บเอาพวกเชลยศึกไว้ใช้งานเพื่อให้ทำการผลิตแทนตน จึงได้เลิกฆ่าเชลยศึก พวกเชลยศึกจึงตกเป็นทาส เป็นเครื่องมือหรือปัจจัยแห่งการผลิตอันสำคัญ ชนชั้นนายทาสกับชนชั้นทาสจึงเกิดขึ้น นายทาสต่อนายทาสเกิดรบพุ่งชิงที่ทางทำมาหากินและชิงทาสกันและกันอีกนมนาน จึงเกิดนายทาสขนาดใหญ่ เกิดกลุ่มนายทาส เกิดรัฐทาส ซึ่งทาสทั้งมวลในรัฐทาสนี้แหละจะกลายมาเป็นเลกของยุคศักดินาเมื่อรัฐทาสทลายลง ถ้าไม่มีทาสมาก่อนแล้ว “เลก” ของศักดินาจะมาจากไหน? พระอินทร์ประทานลงมาจากสวรรค์กระนั้นหรือ?
การวิเคราะห์สังคมมนุษย์ โดยมิได้ยึดถือปัจจัยแห่งการผลิตหรือเครื่องมือในการทำมาหากินเป็นหลักและมิได้ยึดพัฒนาการของการผลิตเป็นแนวทางแล้ว ผลที่ได้ก็คือการโผล่ผลัวะขึ้นมาของระบบสังคมต่างๆ เช่นที่ปราชญ์ของศักดินาได้กระทำนี้อย่างไม่ต้องสงสัย
เท่าที่กล่าวมานี้เป็นเพียงการชี้ให้เห็นว่า ระบบศักดินาจำเป็นต้องเกิดขึ้นโดยผ่านพัฒนาการของสังคมทาสตามกฏทางภววิสัยของการผลิต นักประวัติศาสตร์กลุ่มศักดินาอาจจะสงสัยว่า มีร่องรอยอะไรบ้างไหมที่แสดงว่าไทยเคยมีระบบทาส และมีอะไรบ้างเป็นร่องรอยที่ยืนยันได้จริงจังว่ายุคสุโขทัยนั้นมีทาส ความสงสัยนี้ อาจขจัดให้หายไปได้โดยไม่ยาก หลักฐานที่จะแสดงว่าในยุคสุโขทัยเราก็มีทาส ก็คือศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงนั่นเอง
ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงตอนหนึ่งบรรยายถึงลักษณะการสืบมรดกว่า “ไพร่ฟ้าหน้าใส ลูกเจ้าลูกขุนผู้ใด” เกิดล้มหายตายจากลง สมบัติของพ่อไม่ว่าจะเป็นเหย้าเรือนก็ดี ช้างก็ดี ขอสับหัวช้างก็ดี ลูกเมียก็ดี ฉางข้าวก็ดี “ไพร่ฟ้า ข้าไท ป่าหมาก ป่าพลู” ก็ย่อมตกทอดไปเป็นสมบัติของลูกทั้งสิ้น
ขอให้สังเกตคำว่า “ไพร่ฟ้าข้าไท” ในที่นี้ให้ใกล้ชิด “ไพร่ฟ้า” ในที่นี้มิได้แปลว่า “ประชาชน” อย่างที่เราเข้าใจในภาษาปัจจุบันเด็ดขาด จารึกเล่าอวดไว้ว่า พ่อมันตายให้ยก ไพร่ฟ้า ของพ่อมันให้ลูกมันรับมรดกไป พ่อมันจะมี “ประชาชน” เป็นสมบัติได้อย่างไร ไพร่ฟ้าในที่นี้ก็คือพวก ไพร่สม, ไพร่หลวง หรือ พวกเลกสักสมกำลังในสังกัดของพ่อ เมื่อพ่อตาย “เลก” ก็ต้องโอนไปเข้าสังกัดของลูกต่อไปตามธรรมเนียม ขอให้สังเกตด้วยว่าศิลาจารึกนี้ใช้คำว่า ไพร่ฟ้า ในความหมายดังกล่าว พยานอีกอันหนึ่งก็คือ ตอนที่จารึกเล่าถึงเล่าถึงการรบระหว่าง ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด กับ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ตอนนี้ ได้กล่าวถึงขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดมาตีเมืองตาก “พ่อกูไปรบขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดหัวซ้าย (คือโอบเข้าทางปีกซ้าย) ขุนสามชนขับเข้ามาหัวขวา ขุนสามชนเกลื่อนเข้า (คือกระจายกำลังล้อมเข้ามา) พ่อกูหนีญะญ่าย ไพร่ฟ้าหน้าใสพ่าย จะแจะ (คือหนีกระจัดกระจาย) ในที่นี้ ไพร่ฟ้าหน้าใส ก็คือ ไพร่หลวง หรือ ทหาร ในระบบศักดินานั่นเอง หาได้แปลว่า ประชาชน อย่างในภาษาปัจจุบันไม่ ในกฎหมายลักษณะลักพาสมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1899) ก็เรียกพวกนี้ว่า “ไพร่ฟ้าข้าหลวง” บ้าง หรือ “ไพร่ฟ้าข้าคนหลวง” บ้าง
การตีความคำว่า ไพร่ฟ้า ในที่นี้เป็นข้อพิสูจน์ทางภาษาที่จะแสดงถึงระบบศักดินาของสุโขทัย ยังไม่เกี่ยวกับร่องรอยของทาสที่พวกนักปราชญ์ทางประวัติศาสตร์ของระบบศักดินาปรารถนา ร่องรอยของการมีทาสอยู่ที่คำว่า “ข้าไท”
พ่อขุนรามคำแหงเล่าอวดไว้ว่า พ่อมันตายก็ต้องยก “ไพร่ฟ้าข้าไท” ให้ลูกมันไป ข้าไท นี้ คืออะไร? ไพร่ฟ้า ก็คือ ไพร่ของฟ้า และแน่นอน ข้าไท ก็คือ ข้าของไท นั่นก็คือ ทาส นั่นเอง! ข้าไท ก็คือ ทาสของเสรีชน
การพิสูจน์ว่า ข้า ก็คือ ทาส โดยใช้เหตุผลเพียงเท่านี้ บางทีจะยังไม่จุใจพวกนักพงศาวดารศักดินาจึงขอเสนอด้วยหลักฐานอีกอันหนึ่ง นั่นก็คือกฎหมายลักษณะโจรสมัยสุโขทัย ซึ่งเข้าใจได้ว่าได้จารึกลงในปี พ.ศ. 1916 ในกฎหมายนั้น มีตอนหนึ่งว่าด้วยการยักยอก “ข้า” ซึ่งจะขอคัดมาให้ได้อ่านและพิจารณากันดังนี้
“ครั้นรู้ว่า ข้า ท่านไปสู่ตนวันนั้นจวนค่ำ และบ่ทันส่งคืน ข้า ท่าน...บ่เร่งเอาไปเวน (=คืน) แก่จ่าข้า ในรุ่งนั้น จ่าข้าสุภาบดีท่านหากรู้ (จงติดตาม) ไปหา (ข้า) ให้แก่ เจ้าข้า หากละเมิดและไว้ ข้า ท่านพ้นสามวัน... ...ท่านจักให้ปรับไหมวันละหมื่นพัน...
ตามที่ปรากฏในกฎหมายนี้ ข้า ก็คือ ทาส อย่างไม่ต้องสงสัย จ่าข้า ก็คือผู้มีหน้าที่เกี่ยวแก่การควบคุมดูแลทาส และ “เจ้าข้า” ก็คือ “เจ้าทาส” กฎหมายตอนนี้ก็คือกฎหมายว่าด้วยการละเมิดทรัพย์สิน นั่นก็คือการยักยอกทาสโดยแท้
ตามความจัดเจนเท่าที่ได้ผ่านมา พอยกหลักฐานอันนี้ พวกนักพงศาวดารของศักดินาก็โต้กลับมาว่ากฎหมายนี้ เป็นกฎหมายของกรุงสุโขทัยชั้นหลัง ทาสที่มีกล่าวถึงนั้น อาจจะเป็นการมีทาสที่รับเอาแบบอย่างขึ้นไปจากทางอยุธยาก็ได้ เขาโต้เช่นนี้จริงๆ
เมื่อเช่นนี้ ก็ขอพิสูจน์อีกครั้งหนึ่ง เอกสารที่จะพิสูจน์ก็คือ ศิลาจารึกครั้งสุโขทัยที่เพิ่งพบใหม่ อันเป็นจารึกที่ทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1935 ตอนหนึ่งในจารึกนั้นมีว่า
“ผิ (=แม้ว่า) ไพร่ ไท ช้าง ม้า ข้า... (จารึกลบ...)”
ประโยคนี้แม้ไม่จบ แต่มันก็บอกเราว่าในสุโขทัยมีทั้ง ไพร่ ทั้ง ข้า สองอย่าง และอย่างที่สามคือ ไท (เสรีชน) ไพร่ นั้นต้องเป็นคนละอย่างกับข้า เมื่อไพร่ก็คือเลกดังได้พิสูจน์มาแล้ว ข้า มันก็ต้องเป็น ทาส จะเป็นอื่นไปไม่ได้ จริงอยู่เอกสารชิ้นนี้เป็นเอกสารยุคปลายสมัยสุโขทัยลงมาก็จริง โดยตัวของมันเองแล้วพวกศักดินาก็แย้งได้ตามเคยว่า ระบบข้าหรือทาสในที่นี้ สุโขทัยรับขึ้นไปจากอยุธยา แต่สิ่งที่เราต้องการพิสูจน์ให้พวกนักพงศาวดารศักดินาเห็นประจักษ์ก็คือ ในภาษาสมัยสุโขทัยนั้น ไพร่ กับ ข้า แปลผิดกันแน่นอน ที่ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง อันทำขึ้นตอนต้นของยุคสุโขทัยกล่าวถึง ไพร่ ด้วย ข้า ด้วยนั้นมันต้องหมายถึง เลก และ ทาส ตามคำแปลสมัยนั้นอย่างไม่มีข้อเถียง เมืองสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหงก็ปรากฏว่ามีทาสอย่างเถียงไม่ขึ้น
เมืองสุโขทัยที่ปราชญ์ฝ่ายศักดินาอวดอ้างว่ามีแต่ไทนั้น มี ทาส อยู่ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย ข้าก็คือ ทาส และทาสก็คือข้า ข้าเป็นภาษาไทย ทาสเป็นภาษาบาลี เดี๋ยวนี้ เราก็ยังพูดกันว่า “ข้าทาสบริพาร”
สรรพนามของไทยเรามีคำคู่กันอยู่สองคำคือ ข้า (กู) และ เจ้า (มึง) ผู้พูดเรียกตัวเองว่าข้า ก็เพราะเป็นการพูดเพื่อถ่อมตนลงว่าตนเองเป็น ทาส เป็น ขี้ข้า ผู้ต่ำต้อยและขณะเดียวกันก็ยกย่องผู้ที่เราพูดด้วยว่า “เจ้า” อันหมายถึงผู้เป็น นาย เป็น เจ้าของทาส จะพูดกันอย่างมีภราดรภาพว่ากูว่ามึงก็เกรงใจกันเต็มที ไม่รู้ว่าคนที่พูดด้วยนั้นเป็นใครแน่ ถ้าได้รู้แน่ว่าเป็นชนชั้นทาสด้วยกัน เขาก็เป็นซัดกันด้วยคำกูคำมึงอย่างไม่มีปัญหา ส่วนคำตอบรับว่า เจ้าข้า พระเจ้าข้า (ซึ่งเลื่อนมาเป็น ค่ะ, เจ้าค่ะ, พะยะค่ะ) ก็แปลได้ว่า นายทาส อีกนั่นเอง เช่นพูดว่า “ไม่กินเจ้าข้า” ก็เท่ากับ “ผมไม่กินดอกท่านนายทาส” (เทียบ don't eat, my lord.) คำว่าเจ้าข้านี้ได้ใช้ในกฎหมายลักษณะลักพา (พ.ศ. 1899) ด้วยความหมายตรงกับคำว่า เจ้าทาส (เจ้าของทาส)
ถึงในภาษาของประชาชนลาวก็เช่นกัน ลาวเรียกทาสว่า ข้อย เช่น “อนึ่งข้อยพาของเจ้ามันลักหนี”
ร่องรอยของระบบสังคมที่กล่าวมานี้ เป็นร่องรอยที่เหลืออยู่ในภาษา แน่นอน มันเป็นระเบียบวิธีพูดที่ตกทอดมาตั้งแต่ยุคทาสอย่างไม่ต้องสงสัย ถ้าไทยไม่ผ่านระบบทาส สรรพนามเช่นนี้คงไม่เกิดขึ้น
เท่าที่พยายามพิสูจน์มานี้ อย่างน้อยก็คงจะพบลบล้างคำเอ่ยอ้างของฝ่ายนักประวัติศาสตร์ศักดินาได้โดยสิ้นเชิงแล้วว่าในสมัยสุโขทัยนั้นมีทาสแน่ๆ
ส่วนร่องรอยของระบบทาสในสังคมไทยนั้น นอกจากเรื่องสรรพนามแล้ว ถ้าเราจะย้อนไปดูในประวัติศาสตร์เมื่อไทยเราตั้งมั่นอยู่แถบไทยใหญ่ พวกนั้นก็ปกครองกันเป็นรัฐเล็กรัฐน้อยจำนวน 19 รัฐ แต่ละรัฐมีหัวหน้าเรียกว่า เจ้าฟ้า รัฐทั้งสิบเก้านี้ ได้รวมกันเป็นรัฐเดียวแบบสหภาพ เรียกว่า “สิบเก้าเจ้าฟ้า” ลักษณะของการรวมกันแบบนี้ เป็นลักษณะของการปกครองแบบ “ประชาธิปไตยของนายทาส” ซึ่งเคยมีใช้มาแล้วในยุโรป เป็นต้นว่ารัฐทาสของโรมันและของกรีกตลอดจนอารยันในอินเดีย ในทางแคว้น “สิบสองเจ้าไทย” ก็มีลักษณะส่อไปในทางประชาธิปไตยของนายทาสเช่นเดียวกัน พ่อขุนบูลม (หรือที่ลากเข้าวัดเป็นบรม) ผู้เป็นบรรพบุรุษของไทยและลาว ตามพงศาวดารก็ว่าได้ส่งลูกชายเจ็ดคนไปสร้างบ้านแปงเมืองคนละแหล่งคนละทิศ นั่นก็คือคุมพวกข้าทาสไปตั้งกลุ่มชาติกุลใหม่แยกออกไปต่างหากอันเป็นลักษณะระบบชาติกุลในยุคทาส ซึ่งตกทอดมาจากปลายยุคชุมชนบุพพกาล นี่ยังนับว่าดีที่ส่งผู้ชายออกไปตั้งชาติกุลเพราะการใช้ผู้ชายไปตั้งชาติกุลนั้นย่อมแสดงว่าสังคมไทยพัฒนารวดเร็วผ่านพ้นคติถือสตรีเป็นใหญ่ (Mother Right) มาแล้วโดยสิ้นเชิง ในเมืองเขมรการส่งคนออกไปตั้งชาติกุลหรือขยายชาติกุลในยุคทาส (ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 15) พวกเขมรยังส่งผู้หญิงออกไปตั้งหรือขยายชาติกุลอยู่ด้วยซ้ำไป ซึ่งระบบการถือผู้หญิงเป็นใหญ่นี้เป็นระบบที่อยู่ในต้นยุคชุมชนบุพพกาลสมัยที่ยังสมรสหมู่เหมือนสัตว์นั่นทีเดียว
ร่องรอยของระบบทาสในสังคมไทยอีกแห่งหนึ่งก็คือ ข้อความในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงตอนหนึ่งเล่าว่า “ได้ข้าศึกข้าเสือหัวพุ่งหัวรบก็ดี บ่ฆ่า บ่ตี” จารึกวัดป่ามะม่วงก็เล่าสรรเสริญคุณงามความกรุณาของพญาลือไท (หลานพ่อขุนรามคำแหง) ไว้ว่า “ได้ข้าศึกข้าเสือหัวพุ่งหัวรบก็ดี บ่ฆ่า บ่ตีย่อมเอามาเลี้ยงมาขุน บ่ให้ถึงที่ฉิบที่หาย”
เท่าที่ได้อุตสาหะค้นหาหลักฐานมาแสดงยืดยาวในเรื่องทาสนี้ ก็เพื่อที่จะเลิกล้มความเชื่อถือในวงการศึกษาไทยปัจจุบันที่ยึดถือตามนักประวัติศาสตร์ศักดินาว่า ยุคสุโขทัยไม่มีทาสและไทยไม่เคยผ่านระบบทาส อันเป็นความเชื่อถือที่ไม่ตั้งอยู่บนรากฐานของกฏทางภววิสัยแห่งการพัฒนาสังคม เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญ
เมื่อข้ออ้างของนักปราชญ์ศักดินามีเพียงประการเดียวว่า ไทย แปลว่า อิสระ ฉะนั้นคนไทยไม่เคยมีระบบทาสมาก่อน มาเพิ่งมีเอาในยุคหลังเพราะคบกับเขมร แต่หลักฐานทั้งทางประวัติศาสตร์และภาษาที่ได้แสดงมาโดยลำดับมีมากมายหลายข้อเช่นนี้ ปราชญ์ทางพงศาสดารของศักดินาปัจจุบันจะยืนกรานเป็นกระต่ายขาเดียวอีกไหมหนอ?
จากระบบชุมชนไทยบุพพกาลมาสู่ระบบทาส
ในตอนที่กล่าวถึงคำ ไพร่ฟ้า ได้วิเคราะห์กันแล้วว่า ไพร่ฟ้าเป็น เลกพวกไพร่ ซึ่งเป็นทั้งไพร่สม ไพร่หลวง เป็นทั้งเลกสักสมกำลัง อันเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของรูปแบบทางการเมืองในระบบศักดินา จึงทำให้น่าเชื่อว่า ระบบศักดินาได้เกิดขึ้นแล้วในยุคสุโขทัย แต่เมื่อคำนึงถึงระบบทาสในรัฐสิบเก้าเจ้าฟ้า รัฐสิบสองเจ้าไทย และรัฐของขุนบูลม ที่กล่าวมาแล้วก็น่าคิดว่าระบบศักดินาคงไม่เกิดก่อนสมัยสุโขทัยนานนัก ทั้งนี้เพราะพวกรัฐสิบเก้าเจ้าฟ้า สิบสองเจ้าไทย และขุนบูลมเหล่านี้อยู่ถัดสมัยสุโขทัยขึ้นไปไม่นานเท่าใดนัก (ราว 400 ปี)
การวิเคราะห์ความคลี่คลายแห่งระบบผลิตของสังคมไทยที่เรากำลังพยายามค้นคว้าสันนิษฐานกันอยู่นี้ บางทีอาจจะช่วยให้กระจ่างขึ้น ถ้าเราจะมองออกไปยังสังคมของชนเชื้อชาติไทยในดินแดนอื่นๆ สังคมของชนชาติไทยที่จะพิจารณาเป็นลำดับแรกก็คือ สังคมของชนชาติไทยในตังเกี๋ย สมัยก่อนที่จะมีการแบ่งปันประเทศเวียตนามออกเป็นสองภาค คือเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้
ในสังคมของพวกไทยที่อาศัยอยู่ในตังเกี๋ย ความสัมพันธ์ในการผลิตของเขามีดังนี้คือ “ผู้เป็นกวานเจ้า
ระบบผลิตของชุมชนเชื้อชาติไทยที่กล่าวมานี้ ลักษณะของมันใกล้เคียงไปในทางระบบชมรมกสิกรรมของชาติกุลในปลายยุคชุมชนบุพพกาล (Primitive Commune) ซึ่งถือกันว่าเป็นระบบคอมมิวนิสต์ยุคดึกดำบรรพ์ ระบบของชาติกุลในปลายยุคชุมชนบุพกาลนี้ จะมีหัวหน้าชาติกุลใหญ่เทียบได้กับกวานเจ้า หัวหน้าชาติกุลใหญ่จะแบ่งปันที่ดินออกให้หัวหน้าครอบครัวแต่ละครัวไปทำมาหากินโดยมีกำหนดระยะเวลาและมีการแบ่งปันกันใหม่ทุกกำหนดระยะ เดิมทีเดียวหัวหน้าชาติกุลยังคงไถนาด้วยตนเอง แต่มาในตอนท้ายพวกที่มีหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยของชุมชนและหัวหน้าชาติกุลใหญ่จะทำหน้าที่ทางบริหารของตนแต่ประการเดียว พวกสมาชิกในชาติกุลจะช่วยทำนาแทนให้ ซึ่งการนี้มิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งการขูดรีด จึงจะเรียกว่าระบบงานเกณฑ์อย่างของศักดินาไม่ได้ การเป็นผู้แบ่งปันที่ดิน ทำให้หัวหน้าชาติกุลและหัวหน้าหมู่บ้านเริ่มมีอภิสิทธิ์ในการเลือกที่ดินไว้ก่อน อันนี้ตรงกันกับลักษณะของชุมชนไทยในตังเกี๋ย และเมื่อได้แบ่งที่ดินกันเช่นนี้นานเข้า ก็เกิดความเคยชินในการครอบครองถาวรกันขึ้น และในที่สุดก็มีการรับช่วงมรดก เกิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนตนขึ้น
หัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงมาสู่ยุคของการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เป็นทรัพย์สินเอกชน พอจะมองเห็นได้จากชุมชนชาติไทยในบริเวณหัวพันประเทศลาว ในบริเวณนั้นยังคงใช้วิธีแบ่งปันที่ดินอยู่ แต่มิได้กระทำเป็นกำหนดระยะสม่ำเสมออย่างไทยขาว แต่ทำกันตามกรณีที่เกิดขึ้น เช่นทำเมื่อผู้อยู่ในครอบครัวแยกครัวออกไปตั้งครัวใหม่ต่างหากหรือเมื่อมีคนเพิ่มเข้ามาสู่ชมรมใหม่ หรือในกรณีที่ชาวบ้านร้องค้านว่าที่ดินที่ตนทำกินอยู่นั้นทำประโยชน์ได้ยาก นั่นก็คือเกิดการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินระยะยาวไม่มีกำหนด พวกชุมชนชาติ “เมือง” ที่กล่าวมาข้างต้น ก็มีการแบ่งปันที่ดินโดยพวกที่เป็น กวานลาง และ ท้าว ถืออภิสิทธิ์เลือกที่ดินไว้ก่อน นาที่เหลือจึงปันไปสู่ครอบครัวมากบ้างน้อยบ้างตามกำลังผลิตและความต้องการของครอบครัวนั้นๆ แต่การแบ่งปันก็มิได้มีกำหนดระยะสม่ำเสมอ หากทำในแบบเดียวกันแถบหัวพันของลาว ฉะนั้น ครอบครัวหนึ่งๆ จึงอาจครอบครองที่นาไปจนตลอดชีวิตของพ่อ เมื่อพ่อตายลง ลูกก็รับช่วงครอบครองที่ดินต่อไป นี่ก็คือกำเนิดของทรัพย์สินเอกชนและการสืบมรดก แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีการแบ่งใหม่ได้ในกรณีที่จำนวนครอบครัวเปลี่ยนไป และการแบ่งใหม่นี้ โดยมากก็ไม่รวมเอานาทุกรายเข้ามารวมกันแล้วแบ่งกันใหม่ หากมักใช้วิธีนำเอานาบางรายมาแบ่งเท่านั้น
ลักษณะของการครอบครองที่ดินของชุมชนเชื้อชาติไทยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ตามการสำรวจปรากฏว่า อำนาจการครอบครองมักจะเริ่มมีระยะยาว ไม่เปลี่ยนมือกันบ่อยครั้งนัก ชาวบ้านเริ่มมีความรู้สึกขึ้นบ้างเล็กน้อยว่ามีกรรมสิทธิ์เหนือที่นา ในที่นี้พึงสังเกตไว้ว่า ที่ดินที่จะต้องเวนคืนมาแบ่งปันกันใหม่นั้น มีแต่ที่นาแต่อย่างเดียวเท่านั้น ที่ๆใช้สำหรับปลูกเรือนพร้อมด้วยทำสวนครัวโดยมากไม่ต้องเวนคืนแบ่งปันใหม่ ผืนดินที่ตั้งบ้านเรือนจึงเป็นกรรมสิทธิ์ถาวรตกทอดไปสู่ลูกหลาน ในบางหมู่ก็ยอมให้ซื้อขายกันได้ด้วย ส่วนป่าดงรกร้าง ประมุขก็ถืออภิสิทธิ์ยึดเอาเป็นเจ้าของ ถ้าใครจะไปแผ้วถาง ก็จะมีสิทธิ์ครอบครองเด็ดขาด แต่ต้องเสียภาษีให้แก่ประมุข ในชั้นหลังๆ ที่สุดนี้ แม้ที่นาก็ชักจะไม่ค่อยแบ่งปันกันนัก ระบบการแบ่งปันก็กำลังสูญหายไป ดังที่ได้เคยสูญไปแล้วในชุมชนไทยขาว นานๆ การแบ่งปันจึงจะเกิดขึ้นสักครั้ง โดยมากมักเป็นในกรณีที่ครอบครัวหนึ่งๆ มีกำลังแรงลดน้อยลงไม่สามารถทำนาเต็มเนื้อที่ของตนได้ หรือในกรณีทึ่ครอบครัวสูญสิ้นไป เกิดมีที่นาว่างเปล่าขึ้น จึงแบ่งปันกันไปให้แก่ครัวเรือนที่มีกำลัง (หรือพลังการผลิต) มาก ในตอนนี้พวกสกุลที่มีอิทธิพลมากจึงมักฉวยโอกาสยึดถือเอาที่นาว่างเปล่านั้นมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตน แล้วใช้ทาสทำนาบนที่ดินนั้น หรือไม่ก็จ้างเขาทำ
นี่คือระยะช่วงต่อระหว่างชุมชนบุพพกาลกับสังคมทาส ลักษณะของชุมชนเชื้อชาติไทยที่ระบบการแบ่งปันที่นากำลังสูญ ระบบกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชนกำลังเริ่มขึ้นนี้ ก็คือการสลายตัวของ “ชมรมกสิกรรม” อันเป็นรูปแบบสุดท้ายของชุมชนบุพพกาลนั่นเอง และจากจุดนี้เองเมื่อมีการทำสงครามระหว่างชาติกุลหรือชมรมเกิดขึ้น เชลยที่จับได้มาก็จะได้รับการไว้ชีวิตกดลงเป็นทาสเพื่อทำการผลิตในที่นาของแต่ละครัว ต่อจากนั้นสกุลโตๆ ที่ได้ใช้อิทธิพลขยายเขตที่นาดังกล่าว ก็จะขยายเขตของตนออกไป จะโดยแย่งชิงขับไล่ราษฎรออกจากที่ทำกินเพื่อเข้าครอบครองเสียเอง
เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่า ชมรมของชนชาติไทยดั้งเดิมมีลักษณะเป็นชมรมกสิกรรมของปลายยุคชุมนุมชนบุพพกาล หรือคอมมิวนิสต์ยุคดึกดำบรรพ์นี้ด๊อกเตอร์ แลงกาต์ อาจารย์ผู้ปาฐกถาวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายไทย สำหรับชั้นปริญญาโท ได้ให้ความเห็นไว้ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย” ว่า
“ควรสังเกตว่า ระบอบที่ดินของชนเชื้อชาติไทยนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่ถือว่า ที่ดินเพาะปลูกควรเป็นของกลาง ในหมู่ชนที่ผู้เป็นประมุขมิได้แทรกแซงแบ่งปันโดยเห็นแก่บุคคล แต่เอาใจใส่ให้การแบ่งปันไปตามระเบียบเรียบร้อย ก็เสมือนหนึ่งว่าที่ดินเป็นของประชาชนร่วมกัน นอกจากนี้โดยเหตุที่ชาวนาร่วมแรงกันทำนายืมปศุสัตว์และเครื่องมือซึ่งกันและกันและดำข้าวเกี่ยวข้าวด้วยกัน นักศึกษาขนบธรรมเนียมบางคนจึงกล่าวว่า ชุมชนเชื้อชาติไทยปฏิบัติตามลัทธิโซเชียลิสม์..................”
ตามการศึกษาข้อเท็จจริงของชุมชนไทยที่ยังล้าหลังเช่นนี้ ทำให้เราพอจะสันนิษฐานได้ว่า ในยุคที่ไทยทั้งมวลแตกแยกออกจากกัน เพราะการรุกรานของจีนนั้น คงจะได้แยกออกมาในลักษณะของชมรมกสิกรรม อันเป็นระบบของชุมชนที่แยกกันอยู่เป็นชาติกุลใหญ่ มีลักษณะเป็นการปกครองแบบ พ่อครัว (Patriachal Family) ของปลายยุคชมรมบุพพกาล
พวกที่แตกแยกไปทางตะวันตก ได้พุ่งไปสู่แคว้นไทยใหญ่ตั้งเป็นชมรมขึ้น พวกนี้ต้องต่อสู้กับชนพื้นเมืองเดิมและอำนาจการปกครองของพม่า มอญ ระบบทาสจึงเกิดขึ้น และปรากฏออกมาในรูปรัฐประชาธิปไตยของนายทาสที่เรียกว่ารัฐ “สิบเก้าเจ้าฟ้า” และต่อจากนี้ ก็ได้แยกออกจากรัฐสิบเก้าเจ้าฟ้า มุ่งเข้าสู่แคว้นอัสสัม กลายเป็นอาหม ซึ่งพัฒนาระบบผลิตไปเป็นระบบศักดินา อันมีลักษณะคล้ายคลึงกับศักดินาของไทยสมัยอยุธยา
ส่วนพวกที่กระจายไปทางตะวันออก ได้เลยไปสู่ดินแดนตังเกี๋ย ไปหมกอยู่ในทำเลป่าเขา การรบพุ่งกับอำนาจปกครองเดิมของท้องถิ่นไม่สู้มีปรากฏ จึงไม่เกิดระบบทาสขึ้น และยังคงพัฒนาระบบชมรมกสิกรรมของตนต่อไป จนมีลักษณะชนชั้นและการขูดรีดขึ้นภายในชมรม อันเป็นเงื่อนไขที่จะผ่านไปสู่ระบบทาสดังได้กล่าวมา
ทางฝ่ายพวกที่พุ่งลงมาทางลำน้ำโขง เข้าสู่ดินแดนของแคว้นลานนา พวกนี้ต้องต่อสู้กับชนพื้นเมืองเดิมอย่างหนักหน่วง และขณะเดียวกันก็ต้องต่อสู้กับรัฐทาสของเขมรที่แผ่ขึ้นไปจนเลยเวียงจันทร์
คราวนี้ก็มาถึงไทยพวกที่แตกกระเจิงลงมาทางลุ่มแม่น้ำปิงคือแคว้นลานนา และลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คือแคว้นอยุธยา ไทยพวกที่ลงมาในทางนี้ ต้องปะทะกับชนพื้นเมืองเดิมหลายชนชาติ เป็นต้นว่าชาติละว้าที่รบรับขับเคี่ยวกับไทยอยู่ได้พักหนึ่งก็ต้องอพยพหนีเข้าป่าเข้าดงไป นอกจากนั้นก็ต้องปะทะกับอำนาจการปกครองของมอญในแคว้นลำพูน (หริภุญชัย) ซึ่งพวกมอญนี้เองได้ถ่ายทอดกฎหมาย “ธรรมศาสตร์” อันเป็นแม่บทสำคัญในยุคนั้นไว้ให้ไทย นอกจากมอญอำนาจที่เราต้องต่อสู้ขับเคี่ยว เดี๋ยวแพ้เดี๋ยวชนะไม่หยุดหย่อนก็คือเขมร พวกเขมรยกกองทัพออกตีต้อนเอาคนไทยคนมอญกลับไปเป็นทาสคราวละมากๆ ทั้งนี้เพื่อใช้ในการสร้างเทวสถานหินขนาดใหญ่น้อยของตน พวกไทยที่ลงมาอาศัยและถูกกดขี่อยู่ในแคว้นมอญ คงจะถูกกวาดต้อนไปเป็นทาสเชลยของเขมรสำหรับการที่ว่านับด้วยจำนวนไม่ถ้วน ที่กล่าวว่าพวกเขมรเที่ยวทำสงครามชิงทาสไปสร้างเทวสถานศิลานั้นไม่ใช่ยกเมฆเอาดื้อๆ การก่อสร้างปราสาทหินของเขมร ได้ใช้พวกทาสเชลยจากแคว้นต่างๆ จำนวนมหึมาจริงๆ ตัวอย่างเช่น ปราสาทหินพระขัน เหนือเมืองนครธม ซึ่งสร้างในสมัยชัยวรรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724-หลัง 1744) มีคำจารึกของชัยวรรมันเล่าไว้ว่า ได้ใช้ทาสเชลยทั้งชายหญิงจากประเทศจาม, ญวน, พุกาม และมอญ เป็นจำนวนถึง 306,372 คน
สภาพของชีวิตอันเกิดมีการต่อสู้เพื่อช่วงชิงแหล่งทำเลทำมาหากินที่ไทยต้องทำกับชนพื้นเมืองเดิมก็ดี หรือการต่อสู้ช่วงชิงทาสระหว่างไทยกับรัฐทาสของเขมร ก็ดี เหล่านี้ เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้ระบบผลิตของสังคมไทย พัฒนาไปสู่ระบบทาสได้อย่างสมบูรณ์ การรบชนะเจ้าของดินถิ่นเดิม หรือรบชนะพวกชาติกุลอื่น ทำให้ไม่จำเป็นต้องผลิตรวมหมู่ แบบช่วยกันทำเหมือนสมัยชมรมกสิกรรมของยุคชุมชนบุพพกาลอีกต่อไป ทั้งนี้เพราะแต่ละครัวหรือสกุล ต่างมีทาสเชลยเป็นพลังแห่งการผลิต การผลิตโดยเอกเทศแบ่งแยกกันก็เกิดขึ้นได้บนพื้นฐานของการขูดรีดแรงงานทาส
แต่ถึงอย่างไรก็ดี แม้จะได้เกิดรัฐทาสขึ้นแล้ว ลักษณะของการปกครองแบบพ่อครัว (Patriacal Family) ที่ไทยพวกนี้เคยใช้มาแต่ยุคชุมชนบุพพกาลก็ยังหาได้สูญสิ้นทรากไปทีเดียวไม่ ไทยพวกนี้ยังคงเรียกประมุขว่า “พ่อ” ดังจะเห็นได้ตกทอดมาจนถึงสมัยสุโขทัย ในรัฐสุโขทัยเราก็ยังเรียกประมุขของรัฐว่า “พ่อขุน” และพวกข้ารัฐการ เราก็เรียกว่า “ลูกขุน” เป็นคำคู่กันอยู่ นี่คือร่องรอยของระบบชุมชนยุคบุพพกาลที่ตกทอดผ่านลงมาในสังคมทาส และในที่สุดก็มาสูญไปตอนที่สังคมได้กลายเป็นระบบศักดินาอย่างเต็มที่ และในยุคทาสนี้เอง ที่สรรพนามกูและมึงของเราเกิดถูกรังเกียจ เงื่อนไขของชนชั้นทางภาษาได้เกิดขึ้น กูและมึงใช้ได้เฉพาะกับผู้ที่เสมอกัน หรือผู้ที่โตกว่า เขื่องกว่าใช้กับผู้น้อย ถ้าเป็นทาสกับเจ้าทาส หรือข้ากับเจ้าข้าแล้ว พวกทาสต้องเรียกตัวเองว่า “ข้า” เรียกนายว่า “เจ้า” และเวลาตอบรับก็ต้องใช้คำว่า “เจ้าข้า” จะใช้คำว่า “เออ” อย่างมีภราดรภาพแบบเดิมไม่ได้เสียแล้ว
ด้วยหลักฐานอันยืดยาวประกอบกับข้อสันนิษฐานดังกล่าวมานี้เอง จึงทำให้น่าจะเชื่ออยู่ว่า สังคมไทยได้ผ่านยุคทาสมาแล้วช่วงระยะหนึ่ง อย่างน้อยก็ 400 ปี และสังคมของไทย ได้เริ่มคืบคลานไปสู่ระบบศักดินาในราวยุคสุโขทัย หรือแม้ก่อนหน้านั้นก็คงไม่กี่ปี
-
๑. ดู ‘พัฒนาการของสังคม’ โดยสุภัทร สุคันธาภิรมย์ ใน น.ส.พ. รายสัปดาห์ ประชาศักดิ์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 34, 7 พ.ค. 2500 ↩
-
๒. 1 ส้องเท่ากับ 10,000 ตารางฟุต เทียบ 5 โหม่วของจีน ↩
-
๓. ผู้สนใจรายละเอียดของศักดินาน่านเจ้าโปรดดู ‘เรื่องของชาติไทย’ โดยพระยาอนุมานราชธน (พิมพ์แล้วหลายครั้ง) ↩
-
๔. ดู ‘ลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ’ ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ฉบับโรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2470 หน้า 16-21 ↩
-
๕. ดูกฎหมายลักพาในกฎหมายตราสามดวง มาตรา 20 ↩
-
๖. จารึกกฎหมายลักษณะโจร, ฉ่ำ ทองคำวรรณ อ่าน, วารสารศิลปากร ฉบับ 3 พ.ศ. 2498 ↩
-
๗. “คำจารึกภาษาไทย” ของ ฉ่ำ ทองคำวรรณ, วารสารศิลปากร ฉบับ 3 พ.ศ. 2497 ↩
-
๘. ประชุมกฎหมายไทยโบราณ ภาคที่ 1, โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. 2482 หน้า 66 (กฎหมายที่พิมพ์เป็นกฎหมายจากอีสาน) ↩
-
๙. ดูเรื่อง “กระลาโหม” ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ในหนังสือ อักษรานุสรณ์ฉบับต้อนรับน้องใหม่ 2497 ↩
-
๑๐. ประชุมจารึกสยามภาค 1, โรงพิมพ์พระจันทร์, 2477 หน้า 81 ↩
-
๑๑. “กวานเจ้า” คำกวานก็คือนาย คำนี้มีใช้แม้ในภาษาลาวทางเหนือ กวานเจ้าคือประมุขใหญ่ ↩
-
๑๒. “กวานบ้าน” คือนายบ้านเป็นตำแหน่งรองมาจากกวานเจ้า ในลิลิตยวนพ่ายของไทยก็มีคำเรียกนายบ้านของไทยพายัพว่ากวานบ้าน ↩
-
๑๓. E. Diguet, Etude de la langue Tai (คือ-ศึกษาภาษาตระกูลไท) ↩
-
๑๔. Ch. Robequain, Le Than Hoa ↩
-
๑๕. Lunet de La Jonquière, Étienne-Edmond, Ethnographie du Tonkin septentrional (มานุษยชาติวิทยาของตังเกี๋ยส่วนเหนือ) ↩
-
๑๖. หลักฐานเกี่ยวกับชุมชนไทยที่กล่าวมาทั้งหมดได้จาก “ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย” กฎหมายที่ดินโดย ร. แลงกาต์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พิมพ์ 2491 น. 6-11 ↩
-
๑๗. ประมุขของชุมชนไทยต่างๆ ในดินแดนอินโดจีนที่กล่าว มีสิทธิอำนาจพอที่จะขับไล่ราษฎรออกจากที่ดินเพื่อครอบครองเสียเอง หรือเพื่อยกให้ครอบครัวใหม่ได้ด้วย-ดูหนังสือเล่มเดียวกัน หน้า 10 ↩
-
๑๘. ไทยอาหมเข้าไปสู่อัสสัม โดยแยกพวกออกไปจากไทยใหญ่ อาหมรุกเข้าไปในอัสสัมเมื่อปี 1771 จนถึง พ.ศ. 2198 กษัตริย์ไทยอาหมก็หันไปนับถือศาสนาพราหมณ์ ในที่สุดเลยถูกวัฒนธรรมอินเดียกลืนเสียทั้งชาติ รัฐไทยอาหมเพิ่งมาเสียอำนาจตกอยู่ในอารักขาของพม่าเอาเมื่อกลางศตวรรษที่ 23 (สมัยอยุธยาตอนกลาง) ระบบศักดินาของไทยอาหมมีกล่าวอย่างย่อๆ อยู่ใน “ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย” กฎหมายที่ดิน ของ ร. แลงกาต์ หน้า 6-7 ↩
-
๑๙. อาณาจักรเขมรโบราณเคยแผ่ขึ้นไปจนถึงแคว้นลานช้าง หลักฐานที่ยังมีปรากฏก็คือศิลาจารึกประกาศตั้งโรงพยาบาล (อโรคยศาลา) ของพระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 แห่งเขมร (พ.ศ. 1724-หลัง พ.ศ. 1744) อยู่ ณ บ้านทรายฟองริมฝั่งโขงใต้เมืองเวียงจันทน์ ตรงข้ามบ้านเวียงคุก จังหวัดหนองคายบัดนี้ ดู “กระลาโหม” ของจิตร ภูมิศักดิ์ ในอักษรานุสรณ์ฉบับต้อนรับน้องใหม่ 2497 ↩
-
๒๐. La stèle du Prah Khan d’ Angkor, G. Cœdès, Bulletin de l'École française d'Extrême-Orient เล่ม 41, หน้า 295 ↩
-
๒๑. Le royaume de Champa par Georges Maspero ↩
-
๒๒. ผู้ที่ไม่เคยไปและไม่มีท่าทีว่าจะไปนครวัด หรือไปแล้วอ่านคำบรรยายภาพไม่ออกเพราะเป็นภาษาเขมรโบราณ แต่อยากจะดูหลักฐานให้มั่นใจก็หาดูได้จากเรื่อง “Les bas-reliefs d'Angkor-Vat” ของ G. Cœdès ใน Bulletin de la Commission archéologique de l'Indochine เล่มประจำปี 1911 ↩