คำนำ

ในงารศพพระครูธรรมวิธานาจารย์ (สอน) ข้าพเจ้ารับเปนเจ้าภาพตามประสงค์ของท่านซึ่งได้แสดงไว้ช้านาน เพราะได้รู้จักกันมาตั้งแต่ข้าพเจ้ายังเด็กอยู่ แต่ที่ได้วิสาสะคุ้นเคยกันนั้น ตั้งแต่ข้าพเจ้าเปนอธิบดีกรมธรรมการ ย้ายที่พระสงฆ์สามเณรเรียนพระปริยัติธรรม จากพระพุทธปรางค์ปราสาทและศาลาราย ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ออกมาตั้งมหาธาตุวิทยาลัยที่ศาลารายหน้าวัดมหาธาตุ เมื่อก่อนรื้อสร้างเปนตึกหอพระสมุดสำหรับพระนครเดี๋ยวนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ ครั้งนั้นอยากจะหาพระสงฆ์วัดมหาธาตุเปนผู้ดูแลรักษาสถาน ข้าพเจ้าได้รู้จักพระครูธรรมวิธานาจารย์ เวลานั้นเปน พระพิธีธรรม จึงชวนก็ยินดีรับดูแลสถานที่วัดมหาธาตุวิทยาลัย เมื่อรับตำแหน่งแล้วย้ายจากกุฏิลงมาอยู่ที่วิหารโพธิลังกาหน้าวัด แต่ในตอนนั้นพระครูธรรมวิธานาจารย์ได้ทำการอยู่กับข้าพเจ้าไม่ช้า เพราะข้าพเจ้าย้ายไปรับราชการกระทรวงมหาดไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ ก็ห่างกันไปเสียคราวหนึ่งกว่า ๒๐ ปี เปนแต่ได้พบปะกันบ้าง ในตอนนี้ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนเปนพระครูธรรมวิธานาจารย์ ตำแหน่งพระครูพิเศษสำหรับหัตพระพิธีธรรม ครั้นเมื่อข้าพเจ้าออกจากกระทรวงมหาดไทย มาเปนสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ย้ายหอพระสมุด ฯ ออกมาตั้งที่ตึกใหญ่หน้าวัดมหาธาตุ จึงได้มาใกล้กับพระครูธรรมวิธานาจารย์อีกครั้งหนึ่ง ในตอนนี้พระครูธรรมวิธานาจารย์ไม่ได้ทำกิจการอันใด นอกจากฝึกหัดพระพิธีธรรมและหัดพระเทศน์มหาชาติ ตัวก็ย้ายไปอาศรัยอยู่ที่โรงพระเบญจา บอกข้าพเจ้าว่าอยากจะมาอยู่ด้วยอิก ข้าพเจ้าจึงขออนุญาตต่อเจ้าอาวาส ให้ย้ายมาอยู่ที่วิหารโพธิลังกาอย่างเดิมตามประสงค์ แล้วช่วยดูแลสถานที่หอพระสมุดฯ มาจนตลอดอายุของท่าน

พระครูธรรมวิธานาจารย์อาพาธจวนจะถึงมรณภาพก่อนนี้หลายครั้ง ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าไปเยี่ยมได้ออกปากว่า ถ้าถึงมรณภาพ ขอให้ช่วยเผาศพด้วย ข้าพเจ้าได้รับปากไว้ จึงได้จัดการศพพระครูธรรมวิธานาจารย์ในครั้งนี้

เรื่องประวัติของพระครูธรรมวิธานาจารย์นั้น ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคมปีกุญ พ.ศ. ๒๓๘๒ ได้อยู่วัดมหาธาตุมาตั้งแต่เปนเด็กลูกศิษย์วัด บวชเณรบวชพระก็อยู่วัดมหาธาตุตลอดมาจนมรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ อายุ ๘๖ ปี พรรษา ๖๔ ว่าโดยวุฒิพระครูธรรมวิธานาจารย์ เปนพระวัดมหาธาตุอย่างสมัยเก่าเหลืออยู่แต่องค์เดียว ที่เรียกว่าพระวัดมหาธาตุสมัยเก่าเปนอย่างไร จะต้องอธิบายยืดยาวสักหน่อย

วัดมหาธาตุเปนวัดใหญ่ จำนวนพระสงฆ์มาก คู่กับวัดพระเชตุพนมาแต่รัชกาลที่ ๑ แต่วัดมหาธาตุเปนที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราชมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ตลอดมาจนในรัชกาลที่ ๓ จึงเปนต้นแบบฉบับกิจการทั้งปวงในส่วนคณะสงฆ์ ตั้งแต่การเล่าเรียนพระปริยัติธรรม การเทศนา การสวดมนต์ และการสวดทำนองต่าง ๆ ตลอดจนการช่างต่าง ๆ คงมีพระสงฆ์วัดมหาธาตุที่ชำนิชำนาญการนั้น ๆ ทุกอย่างไม่ขาด ถึงเมื่อมิได้เปนที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราชแล้ว เกียรติคุณเหล่านั้นก็ยังมีอยู่ในวัดมหาธาตุต่อมาอิกช้านาน ข้าพเจ้ายังเคยได้ยินกล่าวกันเปนภาษิตเมื่อครั้งรับราชการอยู่ในกรมทหารมหาดเล็กฯ ว่า ทหารมหาดเล็กนั้นเหมือนกับพระวัดมหาธาตุ เพราะจะหาผู้มีวิชาความรู้ไม่ว่าอย่างใด ๆ คงหาได้ในทหารมหาดเล็กทุกอย่าง ดังนี้ พระครูธรรมวิธานาจารย์ได้ฝึกหัดสันทัดเทศน์มหาชาติ และกระบวรสวดทำนองต่าง ๆ ได้เคยถวายเทศน์มหาชาติกัณฑ์มหาราช จึงได้เปนครูสอนทั้งพระเทศน์มหาชาติและพระพิธีธรรม จนได้เปนพระครูฯ แต่นอกจากนั้นยังรู้ศิลปศาสตรเบ็ดเตล็ดนอกจากที่เปนกิจของพระ แต่ถึงพระทำก็มิได้ถือกันว่าเปนความเสียหายมาแต่ก่อนอิกหลายอย่าง เปนต้นว่าผูกว่าวและหลาวจังหันลมนับว่าหาตัวสู้ยาก กระบวรดนตรีก็ว่าดีนัก แต่ข้าพเจ้าหาได้ฟังเองไม่ ที่ข้าพเจ้ายอมสรรเสริญว่าดีจริงนั้น คือกระบวรเอาใจใส่สังเกตและจดจำสิ่งซึ่งท่านได้รู้เห็น ไม่มีหลงใหลฟั่นเฟือนเลย เมื่อครั้งเจ้าคุณสมเด็จพระวันรัตน์ (ฑิต) กับเจ้าคุณพระธรรมไตรโลก ขอให้ข้าพเจ้าช่วยแต่งเรื่องประวัติวัดมหาธาตุ ก็ไต่ถามความเก่าได้จากพระครูธรรมวิธานาจารย์โดยมาก เมื่อข้าพเจ้าแต่งหนังสือเรื่องตำนานวังหน้า ก็ได้อาศรัยไต่ถามพระครูธรรมวิธานาจารย์ เพราะท่านอยู่วัดมหาธาตุเคยเดิรไปมาในวังหน้า ตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๓ ยังชั้นหลังต่อมาเมื่อแต่งหนังสือตำนานเครื่องดนตรี มีความบางข้อที่ข้าพเจ้าอยากทราบ สืบถามผู้อื่นไม่ได้ความ ไปได้จากพระครูธรรมวิธานาจารย์ก็มี จึงยอมสรรเสริญว่าความสังเกตแลความทรงจำดีจริง ผู้ที่ชอบพระครูธรรมวิธานาจารย์มีมาก่อนข้าพเจ้า หลายพระองค์หลายท่าน คือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์เปนต้น และกรมหมื่นปราบปรปักษ์ก็โปรด เจ้าพระยาวิชิตวงศวุฒิไกรก็ชอบ ส่วนเพื่อนพรหมจรรย์นั้น พระราชาคณะและพระครูเปรียญถานานุกรม ตลอดจนพระอันดับ ที่ชอบพ่อพระครูธรรมวิธานาจารย์ก็เห็นจะมีมาก ในงารศพครั้งนี้ในส่วนทางพระสงฆ์ เจ้าคุณพระธรรมไตรโลกรับเปนธุระ ข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะมีหนังสือพิมพ์แจกพอเปนที่ระลึกถึงพระครูธรรมวิธานาจารย์สักเรื่อง ๑ จึงได้เลือกแหล่เทศน์บายศรีในกัณฑ์มหาราช ซึ่งเปนกัณฑ์ของพระครูธรรมวิธานาจารย์ ๓ แหล่ให้พิมพ์แจก หวังใจว่าท่านทั้งหลายจะอนุโมทนาทั่วกัน.

กรมพระยาดำรงราชานุภาพสภานายก

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๑๗ มีนาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๗

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ