เรื่องเที่ยวมณฑลเพ็ชรบูรณ์

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียง

----------------------------

ข้าพเจ้าตั้งใจมาหลายปี ว่าจะหาโอกาศไปดูมณฑลเพ็ชรบูรณ์สักครั้งหนึ่ง แต่การที่จะไปมณฑลเพ็ชรบูรณ์จะต้องใช้เวลากว่าเดือน และจะต้องไปในระดูแผ่นดินแห้งให้ปราศจากความไข้เจ็บ แต่ว่าต้องไปให้ทันเวลาลำน้ำสักยังมีน้ำพอล่องเรือได้สดวก ในราวเดือนมกราคม คอยหาเวลาว่างราชการในน่าที่ให้สบเหมาะกับระดูกาลที่จะไปมณฑลเพ็ชรบูรณ์ยังไม่ได้ จึงต้องเฝ้าผัดมา พึ่งไปได้ในรัตนโกสินทรศก ๑๒๓ นี้ไม่ทันชีวิตรพระยาเพ็ชรรัตนสงคราม (เฟื่อง) ข้าหลวงเทศาภิบาลคนแรก ซึ่งได้อุส่าห์จัดการทำนุบำรุงมณฑลนั้น และเปนผู้ที่ได้วิงวอนให้ข้าพเจ้าไปดูมณฑลเพ็ชรบูรณ์เสมอมา พระยาเพ็ชรรัตนสงครามลงมากรุงเทพ ฯ มาเปนอหิวาตกะโรคถึงอนิจกรรมเมื่อก่อนข้าพเจ้าจะขึ้นไปไม่นานนัก ครั้งได้ไปเห็นมณฑลเพ็ชรบูรณ์ คิดถึงพระยาเพ็ชรรัตน จึงรู้สึกเสียใจในข้อนี้เปนอันมาก

ทางที่จะไปมณฑลเพ็ชรบูรณ์ไปได้หลายทาง จะไปเรือทางลำน้ำสักขึ้นไปจนถึงเมืองเพ็ชรบูรณ์ทีเดียวก็ได้ แต่กินเวลาเดินเรือราวเดือน ๑ ถ้าไม่ไปเรือ จะเดินบกไปจากเมืองนครราชสิมาฤๅเมืองสระบุรีเมืองลพบุรีก็ได้ ระยะทางเดินราว ๑๑, ๑๒ วันก็ถึงเมืองเพ็ชรบูรณ์ แต่เขาว่าทางอยู่ข้างจะกันดารและไม่มีสิ่งใดน่าดู สู้ไปทางแม่น้ำเจ้าพระยาไปขึ้นเดินบกที่แขวงเมืองพิจิตรตัดไปเมืองเพ็ชรบูรณ์เมืองหล่มสัก แล้วล่องน้ำสักลงมาเมืองสระบุรีอย่างนี้ไม่ได้ ทางนี้ว่าเปนทางสดวกและจะได้เห็นภูมิลำเนามากกว่าทางอื่น ข้าพเจ้าจึงได้เลือกไปตามทางอย่างว่าข้างหลังนี้ ได้ออกจากกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม รู้สึกว่าช้าไปสัก ๑๕ วัน น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาแห้งงวดลงเสียมาก แม้ใช้เรือไฟอย่างกินน้ำตื้นแล้วก็ยังขึ้นไปได้ด้วยยาก เดินเรือ ๘ วันจึงถึงบางมูลนาคอันเปนท่าที่จะขึ้นเดินทางบกไปเมืองเพ็ชรบูรณ์

บางมูลนาคนี้เดิมเรียกกันว่า “บางขี้นาค” พึ่งเปลี่ยนเรียกให้เปนคำผู้ดีว่า “บางมูลนาค” เมื่อตั้งมณฑลพิศณุโลก คนเลยเรียกแปรไปเปน “บางบุนนาค” ชุกชุม เปนหมู่บ้านเก่าอยู่ใกล้ปากคลองบุษบง อันเปนทางสำหรับใช้เรือขนสินค้าเมืองภูมิ์ขึ้นลงในระดูน้ำ แลเปนท่าเกวียนของเมืองภูมิ์ในระดูแล้งด้วย จึงเปนทำเลการค้าขายมาแต่ก่อน แต่นับว่าเปนท้องที่ของเมืองพิจิตร ครั้นตั้งมณฑลพิศณุโลกจึงย้ายที่ว่าการเมืองภูมิ์มาตั้งที่บางมูลนาค จัดเปนอำเภอ ๑ ของเมืองพิจิตรแต่นั้นมา

วันที่ ๓๑ มกราคม ออกเดินจากบางมูลนาคไปตามทางที่ทำโทรเลข บ่ายหน้าขึ้นทิศตวันออกเฉียงเหนือ การเดินทางใช้ม้าเปนพาหนะและมีช้างบรรทุกกับผู้คนหาบหามสิ่งของตามประเพณีการเดินป่าไม่แปลกปลาดอันใดนัก มีปลาดอยู่หน่อยหนึ่งแต่ที่ราษฎรชาวเมืองพิจิตรบรรดาอยู่ที่แถวริมน้ำไม่มีใครอยากไปทางเมืองเพ็ชรบูรณ์เลย คนเหล่านี้เคยไปค้าขายเที่ยวเตร่ทางข้างตวันตกจนถึงเมืองกำแพงเพ็ชร แลเมืองศุโขไทยโดยมาก แต่จะหาผู้ใดที่เคยไปทางดอนข้างตวันออกห่างแม่น้ำเพียงกว่าวันเดียวขึ้นไปไม่ใคร่มี เพราะเคยได้ยินเลื่องฦๅถึงความไข้เจ็บทางเพ็ชรบูรณ์ ก็เลยหวาดหวั่นครั่นคร้ามกันมาเสียช้านาน ครั้งนี้ก็ได้กำหนดว่าจะให้พวกชาวพิจิตรไปส่งเพียงพรมแดนเมืองพิจิตร มิใช่จะต้องเข้าไปในแดนเพ็ชรบูรณ์ แต่ถึงกระนั้นก็ยังพากันสทกสท้านถึงเข้ามาวิงวอนข้าพเจ้า ขอให้ผ่อนผันอย่าให้ต้องไปก็มี ข้าพเจ้ามิรู้ที่จะทำประการใด ก็ได้แต่ชี้แจงว่าตัวข้าพเจ้าก็เปนชาวเมืองอื่นและรู้จักเจ็บไข้ตายล้มเหมือนกับพวกเขา ที่จะไปเมืองเพ็ชรบูรณ์ก็เพราะเปนราชการของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิใช่จะไปเที่ยวเตร่หาความสนุกสบายเมื่อไร จงนึกเสียว่าไปราชการด้วยกันเถิด คนเหล่านั้นก็จำเปนต้องไปด้วยความเกรงอำนาจ เมื่อแรกออกเดินทางสังเกตดูจะหาใครหน้าตาสดชื่นไม่มีเลย จนไปได้ ๓ วัน ถึงที่ซับมาแสนบนเขาพรมแดนเมืองเพ็ชรบูรณ์ รุ่งขึ้นจะปล่อยให้กลับบ้าน วันนั้นจึงได้เห็นอาการรื่นเริงของพวกชาวเมืองพิจิตร ถึงกับเล่นหัวเฮฮากันอื้ออึงจนต้องห้ามในคืนหลัง ครั้งถามก็ได้ความว่าเมื่อคนเหล่านั้นได้ไปเห็นป่าดงดูไม่น่ากลัว และไม่เห็นมีใครเจ็บไข้ร้ายแรงดังคาดก็สิ้นความกลัว บางคนถึงกับเข้ามาขันอาสาว่า ถ้าทีหลังข้าพเจ้าจะไปทางนั้นอิกจะมาไปด้วยไม่ต้องให้เรียกทีเดียว แต่ฝ่ายข้างพวกชาวบ้านดอนซึ่งไปพบ เช่นที่บ้านกระปาง อยู่ห่างแม่น้ำขึ้นไปเพียง ๒ วัน ความนิยมกับตรงกันข้าม คนพวกนี้ชำนาญเที่ยวเตร่ทางเมืองเพ็ชรบูรณ์ นายม, หล่มศักดิ์ ตลอดจนเมืองวิเชียร แต่ครั่นคร้ามความไข้ทางที่ลุ่มริมแม่น้ำเมืองพิจิตร ไม่มีใครอยากลงไปเลย บางคนบ่นแก่ข้าพเจ้าว่ากลัวเรือนัก ได้เคยลงเรือครั้งหนึ่ง พอเขาออกเรือก็ให้เวียนศีร์ษะเปนกำลัง เลยไม่กล้าขี่เรือแต่นั้นมา หมู่คนอยู่ห่างกันทางเพียงสองวัน ภูเขาเลากาอันใดก็ไม่มีคั่น มีความกลัวกลับกันข้ามอย่างนี้ดูก็ปลาดอยู่

ระยะทางแต่บางมูลนาคไปถึงเมืองเพ็ชรบูรณ์ประมาณ ๓,๐๐๐ เส้น ข้าพเจ้าเดินทางอย่างสงวนพาหนะแลผู้คนหาบหามไม่ให้บอบช้ำ เดิน ๕ วัน แต่ถ้าจะเดินโดยลำลองเพียง ๔ วันก็ถึงได้ไม่ลำบากอันใด เพราะหนทางที่เดินถ้าไปในระดูแผ่นดินแห้งแล้วเดินได้สดวก ท้องที่แต่บางมูลนาคขึ้นไปเปนที่ลุ่มราบไปประมาณ ๓๐๐ เส้นถึงเมืองภูมิ์เก่า เล่ากันมาว่าเปนที่ฤๅษีสำนักอยู่แต่โบราณ พระฤๅษีได้ประสาทพรแก่สานุศิษย์ไว้ จึงเปนท้องที่ทำเลทำนาดีนัก แต่ก่อนมาหาได้เก็บค่านาไม่ กล่าวกันว่ายกค่านาบูชาพระฤๅษี เหตุที่จริงจะอย่างไรหาทราบไม่ แต่ค่านาเมืองภูมิ์พึ่งเก็บเมื่อจัดมณฑลพิศณุโลกนี้เอง ออกจากเมืองภูมิ์พื้นที่ยังลุ่มเปนพรุเปนป่าไผ่ไปอิกสัก ๕๐๐ เส้นจึงขึ้นที่ดอน เปนโคกป่าไม้เต็งรัง ชายโคกริมห้วยเปนดงสลับกันไปสัก ๑,๐๐๐ เส้น จึงถึงเชิงเขาบรรทัด ที่ปันน้ำไหลลงแม่น้ำพิศณุโลกแลแม่น้ำสัก และเปนพรมแดนเมืองพิจิตรต่อกับเมืองเพ็ชรบูรณ์ หนทางตอนข้ามเขาบรรทัดเปนดงดิบเหมือนกับดงพระยาไฟ แต่เดินสดวกด้วยทางลาดค่อยๆ ขึ้นไปจนถึงสันเขาบรรทัด พอลงไหล่เขาข้างตวันออกไปสัก ๒๐๐ เส้น ก็ออกจากดงพ้นเทือกเขา ถึงบ้านล่องคล้าแขวงเมืองเพ็ชรบูรณ์ แต่นี้ไปทางเดินตัดขึ้นทิศเหนือไปประมาณ ๕๐๐ เส้นถึงบ้านนายม อันตั้งอยู่ริมลำน้ำสักใต้เมืองเพ็ชรบูรณ์ทางเรือล่องวัน๑ เดินบกจากบ้านนายม ๔๖๐ เส้นก็ถึงเมืองเพ็ชรบูรณ์ ข้าพเจ้าไปถึงเมืองเพ็ชรบูรณ์เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์.

ทำเลท้องที่เมืองเพ็ชรบูรณ์บอกสัณฐานได้ไม่ยากนัก คือ ลำน้ำสักไหลแต่เหนือลงมาใต้ ทั้งสองข้างลำน้ำสักมีภูเขาสูงเปนเทือกลงมาตามแนวลำน้ำ ข้างตวันออกเขาต่อแดนมณฑลนครราชสิมา ข้างตวันตกเขาต่อแดนมณฑลพิศณุโลก เทือกเขาทั้งสองข้างนี้ตอนเหนือสอบ ตอนใต้ผายออกไปโดยลำดับ ทำนองสัณฐานกรวย เมืองหล่มสักอยู่เหนือที่สุดในลำน้ำสัก ต่อลงมาถึงเมืองเพ็ชรบูรณ์ แลดูที่เมืองเพ็ชรบูรณ์เทือกเขาทั้งสองฟากห่างลำน้ำประมาณไม่เกินห้าร้อยหกร้อยเส้นทั้งสองฝ่าย พื้นที่เมืองเพ็ชรบูรณ์ตอนริมน้ำสักเปนที่ลุ่ม ระดูน้ำ ๆ ท่วมแทบทุกแห่ง ถัดขึ้นไปในระหว่างที่ลุ่มกับเชิงเขาบรรทัดเปนโคกสลับแอ่งเปนหย่อม ๆ ทั่วไป บนโคกเปนป่าไม้เต็งรัง ทำการเพาะปลูกอย่างอื่นไม่ได้ ในที่แอ่งเปนที่น้ำซับทำไร่นาเรือกสวนเพาะปลูกงอกงามดี เมืองเพ็ชรบูรณ์ตั้งอยู่ที่ลุ่ม ได้อาไศรยน้ำห้วยทำเปนเหมืองไขน้ำเข้าเรือกสวนไร่นาได้สดวก จึงบริบูรณ์ด้วยพืชพรรณธัญญาหาร คล้ายกับเมืองลับแลยิ่งกว่าที่อื่น

ข้อที่เลื่องฦๅว่าไข้เมืองเพ็ชรบูรณ์ร้ายแรงนั้น เมื่อได้ไปแลเห็นเมืองเพ็ชรบูรณ์ก็เข้าใจได้ว่าไข้ร้ายด้วยเหตุใด เพราะเหตุที่มีเทือกเขาสูงอยู่ใกล้เมืองทั้ง ๒ ข้าง เขาทั้ง ๒ เทือกนี้เปนเขาหินปูน ถึงระดูแล้งต้นไม้แห้งไม่มีใบ เวลาระดูร้อนจัดไอศิลาขึ้นลมจะพัดมาแต่ทิศใดๆ ก็พัดเอาไอศิลาเข้ามาในเมือง คนต้องถูกไอร้อนจากศิลาในระดูร้อนเปนไข้ได้ประการ ๑ ครั้นระดูฝนฝนชะใบไม้ที่เน่าเปื่อยไหลออกมาตามลำห้วย เมื่อบริโภคน้ำเช่นนี้ก็เปนเหตุให้เกิดไข้อิกประการ ๑ ครั้นถึงน่าฝนชุกระดูน้ำไหลหลากลงมา น้ำท่วมแผ่นดินที่ตั้งบ้านเรือนแฉะชื้นอยู่ช้านาน พอน้ำลดไอดินขึ้นก็เปนเหตุให้เกิดไข้ได้อิกประการ ๑ แต่เมื่อไล่เลียงไต่ถามคนในพื้นเมืองถึงเรื่องความไข้เจ็บที่เมืองเพ็ชรบูรณ์ เขาว่าไข้มีชุกชุมแต่ในเวลาเปลี่ยนระดู คือแรกระดูฝนต่อระดูร้อนคราว ๑ กับเมื่อเริ่มระดูแล้งต่อระดูฝนอิกคราว ๑ แลคราวหลัง คือไข้หัวลมเมื่อระดูแล้งต่อระดูฝนนั้นร้ายกว่าไข้คราวแรก นอกจากไข้ ๒ ระดูนี้แล้วก็เปนธรรมดา ตามความเห็นของพวกข้าราชการที่ไปจากที่อื่น เขาว่าความไข้เมืองเพ็ชรบูรณ์มีมากกว่ามณฑลอื่นบางมณฑล เช่นมณฑลกรุงเก่าเปนต้น จริงอยู่ แต่ไม่ร้ายแรงเหลือทนอย่างเช่นเล่าฦๅ ถ้ารู้จักรักษาตัวแล้วก็ไม่สู้กระไรนัก แต่ต้องรักษาใจด้วย ถ้ากลัวเกินไปก็อาจจะเจ็บไข้ได้มาก ๆ เขายกตัวอย่างว่ามีข้าราชการในกรุงเทพ ฯ คนหนึ่ง เจ้ากระทรวงให้ขึ้นไปประจำตำแหน่งที่มณฑลเพ็ชรบูรณ์เมื่อปีแล้ว เหตุใดจึงไปในระดูฝนหาทราบไม่ พอไปถึงเมืองเพ็ชรบูรณ์ไปเปนไข้สักเล็กน้อย ซึ่งเขารู้แน่ว่าไม่ใช่ไข้ร้ายแรงอย่างไร แต่ตัวคนเจ็บนั้นหวั่นไข้เพ็ชรบูรณ์ไปแต่กรุงเทพ ฯ เสียแล้ว พอเจ็บก็ใจเสีย เห็นแต่ว่าถ้าขืนอยู่จะไม่รอดอย่างเดียว ใครจะรับรักษาพยาบาลคนเจ็บก็ไม่ยอมอยู่ ขอเรือรีบล่องกลับลงมากรุงเทพ ฯ ได้ข่าวว่าเมื่อเรือลงมาถึงเมืองวิเชียรไข้เลยกำเริบจับไม่ส่างแต่ยังไม่ตาย จะเปนอย่างไรต่อไปหาทราบไม่ เขาเล่าให้ฟังอย่างนี้ เห็นว่าที่เขาว่าการรักษาตัวเปนสำคัญนั้นเปนความจริงแท้ทีเดียว

อันวิธีที่จะรักษาตัวไม่ให้เปนไข้ป่า ตามที่ได้ทราบแลสังเกตมาตามหัวเมือง ดูก็ไม่สู้ยากเพียงใดนัก วิธีป้องกันไข้ คือ ข้อ ๑ น้ำกินถ้าหาน้ำฝนไม่ได้ ควรต้มน้ำให้เดือดแลกรองเสียก่อนจึงกิน ข้อ ๒ เครื่องนุ่งห่มแลเครื่องปูลาดหลับนอนอย่าให้ชื้น ต้องตากแดดฤๅเอาอุเตารีดให้แห้งสนิทจึงใช้ ข้อ ๓ อย่านอนกับพื้นแผ่นดิน ถ้าจำเปนจริงก็หาหญ้าฟางรองเสียพอให้พ้นไอดิน วิธีระวังตัวคือ ข้อ ๔ ถ้าสังเกตเห็นว่าอุจจาระผูกไปวันหนึ่งสองวันต้องระบายเสีย เพราะไข้ป่าถ้าจะเปนมักจับด้วยอุจจาระผูกก่อน ข้อ ๕ ถ้ารู้สึกครั่นตัวต้องรีบกินยาควินินเสียสักสี่ห้าเกรนทันที ถึงหูอื้อก็ทนเอาหน่อยหนึ่ง ถ้าระวังตัวเช่นว่านี้ก็ไม่ใคร่เปนไข้

การทำมาหากินของชาวเมืองเพ็ชรบูรณ์ ทำเรือกสวนไร่นาได้ผลดี เพราะมีน้ำเหมืองบริบูรณ์ดังกล่าวมาแล้ว แต่ว่าโดยปรกติทำแต่พอบริโภคกันในพื้นบ้านเมืองเท่านั้น เช่นทำนาก็มักทำปี ๑ เว้นเสียปี๑ เพราะจะทำเปนสินค้าไปจำหน่ายถึงมณฑลอื่นทนค่าบรรทุกไม่ไหว เข้าเปลือกขายกันในเมืองเกวียนละ ๑๖ บาท แต่ถ้าจะบรรทุกเอาไปขายเมืองพิจิตรก็ดี ฤๅเอามาขายเมืองสระบุรีก็ดี เมื่อคิดค่าบรรทุกบวกเข้า ราคาก็แพงเท่าเข้าในเมืองนั้น ๆ หากำไรไม่ได้ เพราะฉนั้นสิ่งซึ่งเปนสินค้าสำคัญออกจากเมืองเพ็ชรบูรณ์มีแต่ยาสูบอย่างเดียว เพราะเปนยาดีกว่าที่อื่นๆ ในพระราชอาณาจักรนี้

การทำไร่ยาในมณฑลเพ็ชรบูรณ์นั้น ราษฎรไปเที่ยวทำตามที่แอ่งอันน้ำท่วมขังในระดูฝน พอตกแล้งน้ำแห้งก็ไปถากถางทำไร่ยาในที่เหล่านั้น ทำเพียง ๖ ปี ๗ ปีดินจืดก็ต้องย้ายไปทำที่อื่น พักแผ่นดินเสีย ๖ ปี ๗ ปีจึงกลับมาทำได้ใหม่ ยาที่เปนยาอย่างดีมีแต่ในเมืองเพ็ชรบูรณ์ ยาเมืองหล่มสัก แลยาที่ปลูกข้างใต้ห่างเมืองเพ็ชรบูรณ์ลงมาเพียง ๒วันรศยาคลายไป สู้ที่เมืองเพ็ชรบูรณ์ไม่ได้ ราษฎรปลูกยาเก็บหั่นเสร็จแล้วพวกพ่อค้าไปรับซื้อถึงบ้านเรือนราษฎร บรรทุกโคต่างไปขายทางมณฑลนครราชสิมาแลมณฑลอุดรบ้าง แต่โดยมากนั้นบรรทุกเรือล่องลงมาขายกรุงเทพ ฯ

เวลาข้าพเจ้าไปถึงกำลังเกิดความเข้าใจผิดด้วยเรื่องสินค้ายาเปนข้อใหญ่ อย่างได้เคยพบที่เมืองพิจิตรแลเมืองพิศณุโลกมาแต่ก่อนครั้งหนึ่ง ถึงเปนเหตุให้ฉิบหายกันมาก คือธรรมดายาที่ขายกันโดยปรกติ ย่อมคัดยาเปน ๓ ชนิด คืออย่างดี อย่างกลาง แลอย่างเลว ขายราคาลดกันโดยลำดับ ใน ๒ ปีมานี้ยาเพ็ชรบูรณ์ขายดีมีผู้ซื้อมาก ข้างพวกที่ปลูกยาอยากจะได้กำไรแรง เอายาทั้ง ๓ อย่างคละกันปลอมขายเปนยาอย่างดี พวกพ่อค้าไม่รู้เท่ารับเอาลงมาขาย เมื่อปีแล้วคนไม่ใคร่ซื้อขาดทุนกันหลายราย เมื่อศก ๑๑๙ ที่เมืองพิจิตรเมืองพิศณุโลกก็เปนอย่างนี้ จนพ่อค้าเข็ดไม่กล้ารับซื้อยาลงมาขาย พวกราษฎรก็ต้องเก็บยาไว้ผุคาเรือนเปล่าตลอดปี ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปพบเมื่อศก ๑๒๐ ครั้นไปพบที่มณฑลเพ็ชรบูรณ์เริ่มต้นจะเปนอย่างเดียวกันในปีนี้ จึงได้สั่งให้รีบประกาศเล่าเรื่องยาเมืองพิจิตรพิศณุโลกให้ราษฎรเมืองเพ็ชรบูรณ์ฟัง แลให้คอยตรวจตราห้ามปรามทั่วไป แต่จะมีผลแก้ทันได้ในปีนี้ฤๅไม่ยังไม่ทราบแน่ ถ้าท่านผู้ใดสูบยาเพ็ชรบูรณ์ในปีนี้รู้สึกว่ารศคลายไปแล้ว ขอให้เข้าใจเถิดว่าเปนด้วยเหตุดังข้าพเจ้าเล่ามานี้

ตัวเมืองเพ็ชรบูรณ์เปนเมืองโบราณ พิเคราะห์ดูเห็นว่าเปนเมืองที่ได้สร้างมา ๒ ยุค แต่สร้างในที่อันเดียวกัน สิ่งสำคัญคือ พระมหาธาตุแลวัดวาของก่อสร้างซึ่งมีเปนที่สังเกต ทำให้เข้าใจว่าเมืองเพ็ชรบูรณ์ที่สร้างยุคแรกนั้น ดูเหมือนจะสร้างเมื่อเมืองเหนือ คือเมืองศุโขไทยฤๅพิศณุโลกเปนเมืองหลวง สังเกตตามแนวกำแพงเมืองซึ่งเอาลำน้ำไว้กลางเช่นเมืองพิศณุโลก จะกว้างยาวราวด้านละ ๒๐ เส้น เมื่อสร้างยุคที่ ๒ นั้นเข้าใจว่าจะได้สร้างในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ มีป้อมแลกำแพงก่อด้วยอิฐปนศิลา สัณฐานคล้ายเมืองนครราชสิมา แต่เล็กแลเตี้ยกว่า เอาแม่น้ำไว้กลางเมืองเหมือนกัน แต่ร่นแนวกำแพงเมืองเข้ามาเล็กกว่าเมืองเก่า เมืองเพ็ชรบูรณ์ที่ได้สร้างทั้ง ๒ ยุค พิเคราะห์ตามภูมิแผนที่เห็นว่าสร้างสำหรับป้องกันข้าศึกซึ่งจะมาทางฝ่ายเหนือเหมือนกัน เพราะสร้างเมืองประชิดโคกป่าข้างเหนือ เอาทำเลไร่นาไว้ข้างใต้เมืองทั้งสิ้น เมื่ออ่านดูพงษาวดารก็ได้ความสมจริง ด้วยทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตยกลงมาคราวใด ก็ยกมาทางริมน้ำสักนี้แทบทุกคราว

ข้าพเจ้าออกจากเมืองเพ็ชรบูรณ์ไปเมืองหล่มสักเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ทางแต่เพ็ชรบูรณ์ไปหล่มสัก ๑๒๐๐ เส้น ทำเลที่เปนแอ่งสลับเนินเหมือนกับพรรณามาแล้ว แต่มีระยะบ้านเรือนราษฎรถี่ หาเปลี่ยวเหมือนทางระหว่างพิจิตรกับเพ็ชรบูรณ์ไม่ แลมีป่าลานอยู่ทางนี้ ได้ผ่านไปป่าหนึ่งงามน่าดูนักหนา ค้างทางคืนหนึ่งถึงเมืองหล่มสักเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ รุ่งขึ้นวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ไปดูเมืองหล่มเก่าซึ่งอยู่ห่างเมืองหล่มสักทาง ๓๖๐ เส้น ไปทางตวันตกเฉียงเหนือ เมืองหล่มเก่าตั้งอยู่ในที่แอ่งใหญ่มีภูเขาล้อมรอบ แลมีห้วยผ่านกลางเมือง ห้วยนี้มาตกลำน้ำสักข้างใต้เมืองหล่มสัก ทำเลเมืองหล่มเก่าเปนที่ทำเรือกสวนไร่นาเพาะปลูกตลอดจนผสมโคกระบือดีมาก ดูภูมิแผนที่งามกว่าเมืองเพ็ชรบูรณ์ เมืองหล่มแต่เดิมตั้งอยู่ที่เมืองหล่มเก่านี้ ในจารึกพ่อขุนรามกำแหงเรียกว่าเมืองลุ่ม ตามตำนานที่เล่ากันในพื้นเมืองว่า เดิมพระพุทธองค์เสด็จมาประทับอยู่ที่เขาแห่งใดแห่งหนึ่งในที่เหล่านั้น แลมีพระยาวานรอยู่แห่งใดแห่งหนึ่งในที่เหล่านั้นเหมือนกัน พระยาวานรพาบริวารไปเฝ้าพระพุทธองค์ เมื่อไปถึงที่ตรงนั้นมีพระยานาคมาทำอุบายให้แผ่นดินถล่มลงไป จับวานรได้ทั้งฝูง พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณ จึงให้พระสาวกองค์ใดองค์หนึ่งไปทรมานพระยานาคจนเปนสัมมาทิฐิแล้ว ก็พาฝูงวานรไปเฝ้าพระพุทธองค์ด้วยกัน เหตุนี้เมื่อตั้งเมืองตรงนั้นจึงได้เรียกว่าเมืองหล่ม ตามมูลเหตุเดิมแลพระพุทธพยากรณ์ ดูเปนชื่ออันควรจะเรียกเมืองนั้นได้จริง ด้วยตั้งอยู่ในวงเขาเหมือนตั้งอยู่ในก้นกะทะ พิเคราะห์ดูตามเจดีย์สถานของโบราณที่มีอยู่ในเมืองหล่มเก่า ดูเหมือนจะเปนเมืองพวกราษฎรชาวศรีสัตนาคนหุตได้มาตั้งก่อน แต่คงจะเปนเมืองซ่อง คือพวกราษฎรที่หลบหลีกหนีไภยอันตรายต่างๆ มามั่วสุมกันตั้งภูมิลำเนาจนเปนบ้านเมืองขึ้นภายหลัง มิใช่เมืองที่รัฐบาลจัดตั้งอย่างเมืองเพ็ชรบูรณ์ จึงไม่มีเค้าเงื่อนกำแพงเชิงเทินฤๅภูมิฐานบ้านเมืองอย่างใด สืบถามก็ได้ความว่าไม่มีมาแต่เดิม ส่วนเมืองหล่มสักนั้น ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสักตรงที่สุดเพียงที่ใช้เรือในลำแม่น้ำนั้นได้เปนเมืองที่ตั้งใหม่ เขาบอกว่าตั้งมาได้ ๓ ชั่วเจ้าเมือง ดูเหมือนจะตั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้เอง ที่เรียกว่าเมืองหล่มสัก ข้าพเจ้าเข้าใจว่าจะเรียกให้ผิดกับเมืองหล่มเก่า ซึ่งเรียกมาว่าเมืองหล่มเฉย ๆ อาไศรยที่เมืองใหม่มาตั้งริมน้ำสัก จึงเรียกว่าเมืองหล่มสัก แต่ถ้าท่านผู้ใดจะถามต่อไปว่า แม่น้ำนี้เหตุไรจึงเรียกว่าน้ำสักฤๅน้ำป่าสัก ข้อนี้ข้าพเจ้ายอมจน สืบนักแล้วยังไม่ได้ความ ป่าไม้สักก็ไม่มี จะเอาเกณฑ์อันใดตั้งเปนชื่อเรียกว่าน้ำสัก ข้าพเจ้ายังรู้ไม่ถึง

ทำเลที่เมืองหล่มสักอยู่ระหว่างเขาเหมือนกัน แต่ภูเขาอยู่ห่างไม่ล้อมรอบเหมือนเมืองหล่มเก่า ท้องที่ทำเรือกสวนไร่นาก็ดีคล้าย ๆ กัน เปนที่สูงน้ำไม่ท่วมมากเหมือนเมืองเพ็ชรบูรณ์ ความไข้เจ็บก็ว่าไม่มากมายร้ายแรงเหมือนเมืองเพ็ชรบูรณ์ สินค้าที่ออกจากเมืองหล่มสักยาสูบก็มีบ้าง แต่โคกระบือเปนสินค้าใหญ่ พาเดินลงไปขายทางมณฑลนครสวรรค์แลเมืองลพบุรีปีละมาก ๆ สังเกตดูผู้คนมีทรัพย์สมบัติบริบูรณ์มากกว่าเมืองเพ็ชรบูรณ์ แลจำนวนผู้คนก็มากกว่าเมืองเพ็ชรบูรณ์ด้วย

เมื่อเที่ยว ๆ ไปในมณฑลเพ็ชรบูรณ์คราวนี้ ไปเกิดความสลดใจขึ้นอย่างหนึ่ง ด้วยเรื่องพระสงฆ์ในมณฑลนั้น ดูมีแต่พระหนุ่มๆ ที่พึ่งบวชราว ๒ พรรษา ๓ พรรษาเปนอย่างผู้ใหญ่โดยมาก วัตตปฏิบัติก็อยู่ข้างจะเสื่อมทราม แม้สวดมนต์เย็นตามวัดก็สวดเพียงในพรรษา นอกพรรษาไม่ต้องทำอันใดกัน ข้าพเจ้าได้ค้นคว้าจะวิสาสะกับพระผู้ใหญ่ ๆ ที่เปนอุปัชฌาย์อาจารย์ ที่ได้พบปะก็เปนผู้มีอัธยาไศรยดี แต่ว่าความรู้น้อยเหลือประมาณ ความดีของพระสงฆ์ในมณฑลนี้มีอยู่ที่อุส่าห์รักษาวัดแลที่ทำการปฏิสังขรณ์ เรื่องสงฆมณฑลในมณฑลเพ็ชรบูรณ์ เมื่อพระยาเพ็ชรรัตนยังอยู่ได้ปรารภแลตั้งใจจะเอาเปนธุระทำนุบำรุง แต่ไปขัดข้องเสียที่หาพระเถระที่มีความรู้สมัคไปอยู่มณฑลเพ็ชรบูรณ์ยังไม่ได้ แต่พระยาเพ็ชรรัตนก็ได้อุส่าห์จัดพระสงฆ์ส่งลงมาศึกษาอยู่ในกรุงเทพ ฯ หลายรูป กว่าจะได้พระสงฆ์เหล่านั้นขึ้นไปทำนุบำรุงสงฆมณฑลในมณฑลเพ็ชรบูรณ์เห็นจะยังนาน

นอกจากความเสียใจเรื่องสงฆมณฑล ยังรู้สึกเสียใจอิกอย่างหนึ่ง เมื่อได้ไปเห็นลำน้ำสักที่เมืองเพ็ชรบูรณ์เล็กแลเลวกว่าคาดหมายไว้เปนอันมาก ข้าพเจ้าได้เคยตามเสด็จขึ้นไปตามทางลำน้ำสักจนถึงหินซ้อน เห็นว่าเปนแม่น้ำสนุกน่าเที่ยวเขาได้บอกแล้วว่าแม่น้ำสักตอนบนไม่น่าเที่ยวเหมือนทางข้างใต้ มักมีตอแลขอนไม้ล้มกีดขวางทางเรือ แต่ก็นึกว่าจะไม่สู้ลำบากเท่าใดนัก ด้วยคาดว่าเปนแม่น้ำใหญ่ เพราะเคยเห็นเรือที่บรรทุกสินค้าล่องลงมาทางลำน้ำสัก ในระดูน้ำเห็นเขาใช้เรือมอขนาดใหญ่ล่องลงมาได้ นึกว่าเราลงมาระดูแล้งใช้เรือเล็กๆ ล่องลงมาก็จะยากเย็นอะไรนักหนา ครั้นไปแลเห็นแม่น้ำสักที่เมืองเพ็ชรบูรณ์เข้าจริง ก็ได้แต่สั่นศีร์ษะไปตามกัน ด้วยไม่ได้คาดเลยว่าจะเล็กแลตื้นถึงเพียงนั้น บางแห่งถึงชายไม้ตะไคร้น้ำประเรือทั้ง ๒ ข้างก็มี นี่ว่าเขาถากถางให้ข้าพเจ้าบ้างแล้วเสียอิก ที่หลงเข้าใจว่าเรือมอล่องลงมาได้ในระดูน้ำนั้น ที่จริงเมื่อถึงระดูน้ำ ๆ ท่วมตลิ่งเข้าไปไกล พวกที่ใช้เรือบรรทุกสินค้าขึ้นลง เขาแล่นเรือไปบนตลิ่งไม่ต้องอาไศรยแม่น้ำสักเท่าใด เวลาที่ล่องเขาเลือกเวลาน้ำหลากก็ล่องลงมาประมาณ ๑๕ วันถึงกรุงเทพ ฯ ครั้นจำหน่ายสินค้าแลซื้อสินค้าบรรทุกใหม่เสร็จแล้ว กลับขึ้นไป ๒เดือนจึงถึง พอถึงก็พอน้ำแห้งเอาเรือขึ้นคานคอยน่าน้ำปีน่าใหม่ เปนอันขึ้นล่องได้ปีละเที่ยวเดียวเท่านั้น นอกจากเวลานั้นใครไปมาทางน้ำก็ใช้ได้แต่เรื่องพายม้าเล็ก ๆ แต่กระนั้นจะขึ้นล่องก็แสนยาก ความจริงของแม่น้ำสักตอนบนเปนดังนี้

แต่เดิมข้าพเจ้าหมายใจว่าขากลับจะล่องเรือลงมาแต่เมืองหล่มสัก แต่ไปช้าไม่ทันน้ำ จึงต้องเดินบกย้อนกลับมาลงเรือที่เมืองเพ็ชรบูรณ์ ให้หาซื้อเรือพายม้ามีประทุนอย่างย่อม ๆ สำหรับบรรทุกของแลให้พวกพ้องอาไศรย ส่วนตัวข้าพเจ้าเองได้ให้ส่งเรือมาดเก๋ง ๖ แจวอย่างย่อมขึ้นไปคอยรับลำ ๑ ได้มาในเรือนั้น แต่ก็นึกเสียดายเพราะเหมือนเอาเรือลำนั้นขึ้นไปยับเยินเสียทั้งลำเรือแลเก๋ง แต่บุญหน่อยที่เปนเรือมาดโดนตอโดนหินเท่าใดพอทนได้ไม่แตกหัก ถ้าเปนเรือต่อเช่นเรือบดก็เห็นจะไม่ได้เปนเรือกลับมาถึงบ้าน ไปแลเห็นคุณเรือพายม้าในเที่ยวนี้เอง ว่าเปนเรือที่เขาคิดทำสำหรับใช้ในแม่น้ำที่เดินเรือยากเช่นลำน้ำสักนี้ ท้องเรือใช้มาดถึงจะเข็นลากลู่ถูโดนอย่างใดก็พอทนทาน ส่วนข้างเรือที่ขึ้นกระดานทำให้เปนเรือเบาบรรทุกได้ดีกว่าเรือมาดทั้งตัวเปนอันมาก เปนความคิดฉลาดไม่น้อยทีเดียว

ข้าพเจ้าล่องเรือจากเมืองเพ็ชรบูรณ์เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ทางลำน้ำสักตั้งแต่เมืองเพ็ชรบูรณ์ลงมาทั้ง ๒ ฟากเปนป่าชัฏ ต้นไม้ร่มครึ้มไม่ใคร่ร้อน มีต้นตะเคียน ต้นยาง ต้นสะตือใหญ่ ๆ โดยมากที่แห่งใดตลิ่งพังต้นไม้ใหญ่ก็ล้มลงแม่น้ำ ทั้งต้นทั้งรากแลกิ่งสาขากีดขวางทางเรือขึ้นล่องลำบากมาก บางต้นล้มทอดข้ามแม่น้ำอย่างสพานเรือลอดมาได้ก็มี บางต้นล้มลงมาราน้ำต้องเข็นเรือข้ามมาก็มี บางแห่งจะลอดฤๅจะเข็นข้ามไม่ได้ทั้ง ๒ สถาน ต้องขุดตลิ่งเอาเรือหลีกมาทางโคนต้นก็มีบ้าง ด้วยขอนที่ไม้ล้มทับกีดทางอยู่เหล่านี้ล้วนเปนต้นไม้ใหญ่โต เหลือกำลังพวกถางทางจะตัดทอน จึงต้องพากเพียรเข็นเรือหลีกแลข้ามขอนมาไม่รู้ว่าวันละกี่ครั้ง เปนเครื่องลำบากแลท้อใจในการล่องลำน้ำสักยิ่งกว่าอย่างอื่น ยังอิกอย่างหนึ่ง การที่ลงมาด้วยเรือเล็ก ๆ แรก ๆ ล่องก็ดูขบขันดี แต่ครั้นหลายวันเข้าชักออกอัดใจ ด้วยได้แต่นอนกับนั่งพับขามาสองท่าเท่านั้น ก็เกิดอาการเมื่อยแลปวดหัวเข่าเปนกำลัง เรือมาดเก๋งของข้าพเจ้ามีที่พอเอาเก้าอี้ผ้าใบเข้าไปตั้ง ได้นั่งเอนมาบนเก้าอี้พอหายปวดหัวเข่าได้บ้าง แต่ผงกตัวเวลาเผลอศีร์ษะก็โดนหลังคาเก๋งหลายครั้ง ส่วนพวกเพื่อนฝูงที่มาเรือพายม้านั้นต้องแซ่วมาในปะทุนเรือ พากันบ่นกันว่าราวกับนอนมาในโลง บางคนเหลือทนเข้าก็ออกไปขอเขาแจวเรือเสียเอง พอได้ยืนให้หายเมื่อยขา ที่บางคนเจาะหลังคาปะทุนเรือแล้วลุกขึ้นยืนโผล่ปะทุนไปครึ่งตัวให้หายเมื่อยก็มี แต่รอดด้วยเรือหลายลำด้วยกัน ต่างบ่นบอกเล่นหัวกันมาก็เลยสนุกไป

แต่ถ้าจะว่าไปการล่องลำน้ำสักก็สนุกจริง ๆ ด้วย สนุกที่รู้สึกว่ามาในป่าจริง ๆ จะแลดูไปในสรรพทิศใดๆ เห็นแต่ต้นไม้ใหญ่น้อยแทรกแซมกันเหมือนแกล้งแต่งให้สง่างามน่าพิศวง แวะขึ้นที่ไหนก็ได้เห็นรอยสัตว์ ตั้งแต่ช้างเถื่อน เสือ กวาง สุกรป่า ตลอดจนรอยจรเข้ใหญ่ๆ เกลื่อนกล่นไปแทบทุกคุ้งน้ำ จะหาแม่น้ำใดที่ข้าพเจ้าได้เคยเห็นมาแล้วอุดมด้วยสัตว์ใหญ่เหมือนลำน้ำสักนี้ไม่มีเลย นกยุงก็มีชุมจับอยู่ตามยอดไม้ แลเห็นไม่ขาดวัน แลยังมีสัตว์แปลกๆ เช่นตัวบ่างเปนต้น รูปร่างเหมือนกระรอกตัวเกือบเท่าแมว หนังตัวยืดได้ เวลาจะโดดกางขา ๔ ขาให้หนังยืดเปนแผ่นถึงกันแล้วบินร่อนจากต้นไม้นี้ ไปลงต้นไม้โน้นได้ไกลๆ ข้าพเจ้าพึ่งเห็นตัวจริงเมื่อคราวนี้ เพราะระดูแล้งท้องที่ตอนใต้เมืองเพ็ชรบูรณ์ ป่าที่ห่างลำน้ำขึ้นไปเปนป่าแดงน้ำแห้งขาด เหล่าสัตว์ป่าต้องอาไศรยน้ำแต่ในลำน้ำสัก ผู้คนก็ไม่ใคร่มีใครไปมาทำอันตราย จึงเปนที่สบายของสัตว์ทั้งปวง แต่ถ้าว่าสำหรับคนเดินทาง ทางลำน้ำสักนี้เปลี่ยวเปนอย่างยิ่ง พอพ้นบ้านนายมลงมาวัน ๑ ก็ไม่มีบ้านเรือนผู้คนเปนแต่ป่าเถื่อน ถึงบางแห่งถามพวกนำทางว่าที่ตรงนี้เขาเรียกว่ากะไร บอกว่าไม่มีชื่อเรียกฉนี้ก็มี เมื่อล่องลงมาได้ ๒ วันคนทำทางบอกว่าวันนี้จะถึงท่าแดง ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเห็นจะมีบ้านช่อง ครั้นมาถึงเข้าเห็นไร่อยู่ริมตลิ่ง แต่ตัวเจ้าของไร่ขึ้นไปขัดห้างอยู่บนกอไผ่ ให้ไต่ถามได้ความว่า มาจากบ้านดอนระยะทางวัน ๑ มาทำไร่อยู่ชั่วคราว จะปลูกทับกระท่อมอยู่ก็กลัวเสือ จึงขึ้นไปขัดห้างอยู่บนกอไผ่ เพราะทางเปลี่ยวเช่นนี้ เรือที่ขึ้นล่องต้องมีสะเบียงอาหารไปด้วยให้พอเพียง จะหวังหาซื้อตามระยะทางไม่ได้ ขึ้นล่องถึงเวลาจะพักหลับนอน ก็แล้วแต่จะเห็นหาดตรงไหนเหมาะก็จอดนอน เวลาค่ำต้องกองไฟรายไว้กันสัตว์ป่ามิให้ทำอันตรายด้วย

ล่องจากเมืองเพ็ชรบูรณ์ ๖ วันลงมาถึงเมืองวิเชียร ทางตอนนี้น้ำตื้นล่องเรือต้องถ่อ ต่อบางแห่งจึงแจวพายได้บ้าง เปนตอนอุดมด้วยขอนไม้กีดทางดังกล่าวมา แต่ไม่สู้มีแก่งกี่แห่งนัก ที่เรียกว่าเมืองวิเชียรนั้น คือบ้านหมู่เดียวตั้งอยู่บนที่ดอนทางฝั่งตวันออกห่างลำน้ำสัก ๒๐ เส้น เพราะตอนริมน้ำเปนที่ลุ่ม การทำมาหากินที่เมืองวิเชียรอัตคัดเพราะอยู่ห่างเทือกภูเขา ไม่มีห้วยที่จะไขน้ำมาทำเรือกสวนไร่นาเหมือนที่เมืองเพ็ชรบูรณ์ เพราะฉนั้นถึงเขตรแดนกว้างใหญ่ก็เปนป่าเปล่าเปนพื้น ที่ดินทำไร่นาได้มีน้อย เมืองวิเชียรนี้เดิมเรียกว่าเมืองท่าโรง ครั้นเมื่อเมืองเวียงจันท์เปนขบถในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ว่าราชการเมืองท่าโรงมีความชอบในปราบขบถครั้งนั้น ถึงทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ยกเมืองท่าโรงขึ้นเปนเมืองตรี เอานามเขาแก้วอันเปนที่สำคัญในแดนเมืองนี้มาขนานเปนนามเมือง เรียกว่าวิเชียรบุรี แต่เปลี่ยนนามผู้ว่าราชการเมือง ซึ่งแต่ก่อนเปนที่พระศรีถมอรัตน ตามนามเขาแก้วนั้น มาเปนพระยาประเสริฐสงคราม ใช้เปนทำเนียบตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ มาจนเมื่อจัดการเทศาภิบาลมณฑลเพ็ชรบูรณ์ จึงได้ลดเมืองวิเชียรบุรีลงมาเปนอำเภอขึ้นเมืองเพ็ชรบูรณ์ เข้าใจว่าเมืองหล่มสักคือเมืองหล่มใหม่ ก็คงตั้งคราวเดียวกับเมื่อยกเมืองท่าโรงเปนเมืองวิเชียรนั้นเอง

ไปมณฑลเพ็ชรบูรณ์ครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้เอาเปนธุระสืบถามถึงเรื่องเมืองโบราณ ด้วยเข้าใจว่าทางแม่น้ำสักนี้เมืองโบราณก่อนครั้งกรุงเก่าแลศุโขไทย คือเมืองของพวกขอมที่สร้างปราสาทหิน เช่นที่มีในแขวงนครราชสิมาแลเมืองพิมายเปนต้น คงจะมีอยู่บ้าง เพราะอยู่ในระหว่างเมืองโคราชแลเมืองลพบุรีเมืองศุโขไทย ซึ่งมีรอยเมืองโบราณสมัยนั้นอยู่ทุกแห่ง สืบถามที่เมืองเพ็ชรบูรณ์ได้ความว่า ในระหว่างเมืองเพ็ชรบูรณ์กับเมืองหล่มสัก ข้างฝั่งตวันออกมีเมืองโบราณเมือง ๑ เรียกว่าเมืองนครเดิด แต่อยู่ในป่าทึบ ผู้ที่เคยไปบอกว่าเมืองนครเดิดนั้นไม่มีอันใดเหลืออยู่นอกจากเทือกเนินดิน พอเปนเค้ากำแพงเมือง แลมีสระอยู่สระ ๑ เรียกว่าสระคงคา แลมีรอยพูนดินเปนถนนลงมาทางข้างใต้ แต่จะลงมาถึงไหนหาทราบไม่ มีคำของพวกชาวบ้านที่ใกล้เคียงพูดกันอิกอย่างหนึ่งว่า บางคราวคนไปหาฟืนพบศีร์ษะยักษ์ทำด้วยศิลามีอยู่ในเมืองนครเดิดนั้น แต่ไปวันดีคืนดีจึงจะพบ บางทีไปทีหลังก็ไม่พบ ได้ความดังนี้จึงสันนิษฐานว่า เมืองนครเดิดนั้นที่จริงคงจะมีของโบราณยังเหลืออยู่บ้าง แต่เพราะไม่มีใครเอาใจใส่ค้นคว้าจึงไม่ปรากฎว่ามีอะไรมาก ถ้าจะพากเพียรค้นดูให้ได้ จะต้องไปตั้งแรมให้ถากถางกันดูสัก ๗ วันจึงจะได้ความ เปนอันจนใจด้วยไม่มีเวลาพอข้าพเจ้าจึงไม่ได้ไปเมืองนครเดิด

ได้ความว่ามีเมืองโบราณอิกเมืองหนึ่งอยู่ใต้เมืองวิเชียรลงมาข้างฝั่งตวันออกเหมือนกัน เมืองนี้เรียกว่าเมืองศรีเทพชื่อ ๑ อิกชื่อ ๑ เรียกตามคำพระธุดงค์ว่าเมืองอภัยสาลี อยู่ห่างลำน้ำขึ้นไปทางประมาณ ๑๕๐ เส้น แลอยู่ในที่ป่าแดงพอจะไปดูได้ไม่ยากนัก เมื่อจะล่องจากเมืองเพ็ชรบูรณ์ ข้าพเจ้าจึงได้สั่งให้เอาม้าเดินลงมาคอยรับที่ท่านาตะกุด อันเปนที่จะขึ้นไปดูเมืองศรีเทพ แลสั่งให้เรียกราษฎรชาวบ้านศรีเทพที่ได้เคยไปเที่ยวเตร่ในเมืองนั้นมาคอยพบ หมายว่าจะสืบถามหาเบาะแสแลสิ่งซึ่งควรดูในเมืองศรีเทพ ครั้นลงมาถึงบ้านนาตะกุดพบราษฎรชาวบ้านศรีเทพไต่ถามจะเอาความพอใจแต่อย่างไรก็ไม่ได้ ด้วยราษฎรเหล่านั้นพากันสทกสท้าน ตั้งใจปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็นแลไม่มีอะไรเสียทั้งนั้น คงได้ความแต่ว่ามีเมืองโบราณจริง แลมีปรางอยู่ในเมืองนั้นปราง ๑ ในปรางนั้นมีพระพุทธรูปอยู่บ้าง นอกจากนี้จะซักไซ้ต่อไปก็ไม่ได้ความ ข้าพเจ้านึกปลาดใจ ว่าเหตุไรราษฎรเหล่านี้จึงพูดเปนเชิงปฏิเสธเสียด้วยกันทุกคน นึกขึ้นได้ว่าทีราษฎรจะเข้าใจความปราถนาของข้าพเจ้าผิด เพราะยังไม่เคยพบปะใครที่ไปค้นคว้าหาความรู้เห็นเช่นข้าพเจ้า บางทีจะเข้าใจว่าข้าพเจ้าได้ลายแทงมาค้นคิดปฤษณา ถ้าบอกว่ารู้เห็นพาไปขุดไม่ได้ทรัพย์ก็จะเอาโทษ เห็นจะเข้าใจไปอย่างนี้เปนแน่ นึกได้จึงระงับการไต่ถามไว้เสียพัก ๑ จนกระทั่งกินอาหารเย็นแล้วจึงเรียกราษฎรเหล่านั้นมานั่งเข้าแถวสนทนากันต่อไป ข้าพเจ้าพยายามอธิบายให้ฟังว่า ข้าพเจ้าไม่มีประสงค์ที่จะค้นคิดปฤษณา อยากแต่จะเห็นของโบราณ คือของอย่างนั้น ๆ มีเครื่องศิลาเปนต้น เหมือนอย่างที่ข้าพเจ้าได้เคยเที่ยวดูมาแล้วหลายเมือง ครั้นเมื่อราษฎรเข้าใจคำชี้แจงแล้ว ต่างคนต่างก็บอกว่ามีสิ่งนั้นสิ่งนี้ อยู่นอกเมืองบ้างในเมืองบ้าง มีจนกระทั่งศิลาจารึกแลเทวะรูปซึ่งข้าพเจ้าเสาะแสวงอยากจะพบเห็น เปนอันได้ความรู้ตามต้องการทุกอย่าง ครั้นรุ่งขึ้นจึงได้ไปดูเมืองศรีเทพ มีพวกราษฎรพากันไปช่วยถากถางแลนำดูของโบราณต่างๆ ด้วยเปนอันมาก

เมืองศรีเทพนี้ตั้งอยู่ในป่าแดงที่ราบ ก่อนจะถึงเมืองมีโคก เห็นแท่งศิลาแลงทิ้งอยู่หลายแห่ง เข้าใจว่าคงเปนเทวะสถานขนาดย่อม ๆ เทวะรูปแลศิวลึงค์ศิลาก็มีจมดินอยู่ตามโคกเหล่านี้ ครั้นถึงเมืองมีสระใหญ่อยู่นอกเมืองสระ ๑ เรียกว่าสระแก้ว ตัวเมืองมีกำแพงเปนเนินดิน แลมีคูลึกรอบเมือง ตรงประตูเข้าเมืองมีศิลาแลงแผ่นใหญ่ ๆ กองเรี่ยรายยื่นออกมาเปนทีป้อม ข้างในเมืองมีโคกมีอิฐบ้างศิลาแลงบ้างหลายแห่ง บางแห่งกองศิลาแลงซึ่งทำเปนแท่งพังสุมกันสูงกว่า ๓ วาก็มี ที่กลางเมืองมีสระสี่เหลี่ยมอิกสระ ๑ กว้างประมาณสักเส้น ๑ ยาวสัก ๓ เส้น ออกจากสระไปผ่านกำแพงอิกชั้นหนึ่ง จึงถึงเทวะสถานทำเปนปราง ๓ ยอด แลมีปรางประตูอิกปราง ๑ มีสระใหญ่อยู่ใกล้บริเวณปรางอิกสระ ๑ เรียกว่าสระปราง ตามลานในบริเวณปรางพบรูปพระนารายน์ รูปยักษ์ แลเปนเทพารักษ์ทำด้วยศิลามีหลายรูป แลมีแท่งศิลาสลักลวดลายอย่างเดียวกับที่เมืองพิมายแลวัดพนมวันเมืองนครราชสิมาทิ้งอยู่มาก ถ้าขุดดูเห็นจะได้เครื่องศิลาโบราณที่นี้มีเหลืออยู่อิกมาก ฐานทักษิณปรางก่อด้วยศิลาแลงปนศิลาทราย แต่ตัวปรางนั้นก่อด้วยอิฐสนิทสนม ฝีมือดีดูเหมือนยังทำค้าง ด้วยมีรอยถือปูนแล้วบ้างยังมิได้ถือปูนบ้าง พิเคราะห์ดูเครื่องศิลาที่ปรางเปนของอย่างเดียวรุ่นเดียวแลขนาดเดียวกับที่วัดพนมวันแลที่เมืองพิมาย เก่าแก่กว่าอิฐที่ก่อปราง ทั้งน้ำหนักดูก็เหลือกำลังที่ปรางอิฐจะทานเครื่องศิลาเหล่านั้นได้ จึงเปนเหตุให้คิดเห็นว่าเมืองศรีเทพนี้เห็นจะสร้างเปน ๒ ยุค คือ เปนเมืองขอมสร้างรุ่นเดียวกับเมืองพิมายยุค ๑ แล้วแลหักพังทรุดโทรมไป มีใครมาสร้างขึ้นอิกยุค ๑ แต่ทำค้างหาสำเร็จไม่ สัณฐานแลลวดลายปรางอิฐที่ทำขึ้นใหม่เหมือนกับปรางวัดศรีสวายเมืองศุโขไทย แลเทวะสถานที่เมืองลพบุรี1 ถ้าสันนิษฐานลงไปว่าสร้างเมื่อไรในชั้นหลัง คงเปนของไทยสร้างเมื่อตอนก่อนฤๅตอนต้นตั้งราชวงศ์พระร่วง สมัยเมื่อผู้ครองเมืองศุโขไทยเมืองลพบุรี แลเมืองศรีเทพทำนองจะเปนเจ้าด้วยกัน ศิลาจารึกพบที่เมืองศรีเทพครั้งนี้ เปนของแปลกมาก สัณฐานคล้ายตะปูหัวเห็ด ข้างปลายที่เสี้ยมแหลมเปนแต่ถากโกลนสำหรับฝังดิน ขัดเกลี้ยงแต่ที่หัวเห็ดจารึกอักษรไว้ที่นั้น เปนอักษรคฤนชั้นก่อนหนังสือขอม แต่ตรงที่จารึกแตกชำรุดเสียมาก ได้เอาศิลานี้ลงมากรุงเทพ ฯ2 ให้อ่านดูเปนภาษาสังสกฤตมีคำว่า “ขีลัง” ซึ่งแปลว่าหลัก จึงเข้าใจว่าศิลาแท่งนี้ คือหลักเมืองศรีเทพ แบบโบราณเขาทำเปนรูปตะปูตอกลงไว้ในแผ่นดิน ประสงค์ว่าให้มั่นคง แผนที่เมืองศรีเทพจะเปนอย่างไรต่อไปไม่มีเวลาพอตรวจทั่ว แต่ประมาณดูเห็นเมืองใหญ่ขนาดด้านละ ๒๕ ฤๅ ๓๐เส้น เมืองนี้เปนเมืองสร้างเมื่อครั้งถือสาสนาพราหมณ์ ไม่พบปะของโบราณในทางข้างพระพุทธสาสนาเลย

เมืองโบราณในแถวนี้ยังมีอิกเมือง ๑ อยู่ที่ซับจำปาในดงพระยากลางแขวงเมืองไชยบาดาล ใต้เมืองศรีเทพลงมาทางเดินสัก ๒ วัน แต่อยู่ห่างฝั่งตวันออกขึ้นไปทางสัก ๕๐๐ เส้น ข้าพเจ้าไม่มีเวลาพอจึงไม่ได้ไปดู ถามราษฎรที่เคยไปมา เขาบอกว่ามีกำแพงศิลา ข้าพเจ้าได้พบเครื่องปรางศิลาที่เขาขนมาทิ้งไว้ที่วัดเมืองไชยบาดาล จึงเชื่อว่าเมืองในพระยากลางนี้คงมีปรางเทวะสถานอิกเหมือนกัน แต่เมืองนี้สืบไม่ได้ชื่อ ชาวบ้านบอกแต่ว่าได้ยินเขาว่าเมืองพระเตมีย์ใบ้ในทศชาติ ก็เห็นว่าจะเปนคำพระธุดงค์บอกอย่างเช่นเรียกเมืองศรีเทพว่าเมืองอภัยสาลีอิกชื่อหนึ่งฉนั้น

ออกจากเมืองวิเชียรล่องเรือค้างทาง ๒ คืนถึงเมืองบัวชุม แต่เมืองบัวชุมลงมาวัน ๑ ถึงเมืองไชยบาดาล ลำน้ำตอนนี้ค่อยกว้างขวางพอแจวเรือได้ถนัด ตอแลขอนไม้ไม่มากเหมือนตอนบน แต่มีแก่งกรวดแก่งหินถี่ขึ้น เมืองบัวชุมแลเมืองไชยบาดาล ๒ เมืองนี้แต่ก่อนเปนเมืองขึ้นเมืองวิเชียร เดี๋ยวนี้แยกออกเปนอำเภอเรียกว่าอำเภอไชยบาดาล ขึ้นเมืองเพ็ชรบูรณ์ ผู้คนมากกว่าอำเภอวิเชียร ด้วยพื้นที่ทำไร่นาดีแลมีเสามีไม้แดงทั้งใบลานแลสีเสียดเปนสินค้าหาผลประโยชน์ได้มาก เพราะขึ้นล่องไปมากับเมืองสระบุรีได้สดวกไม่อัตคัดเหมือนตอนบน ตั้งแต่เมืองไชยบาดาลลงมาบ้านเรือนตามริมน้ำก็มีหนาขึ้นจนตลอดถึงแขวงสระบุรี ออกจากเมืองไชยบาดาลค้างคืน ๑ ก็เข้าเขตรเมืองสระบุรี

ข้าพเจ้าเคยจำได้ในครั้งเมื่อตามเสด็จประพาสลำน้ำสักขึ้นไปจนหินซ้อนนั้น ได้ยินท่านผู้ใหญ่ที่จัดการรับเสด็จครั้งนั้น ท่านว่าลำน้ำสักสนุกเพียงหินซ้อนเท่านั้น เกินนั้นขึ้นไปไม่มีอะไรน่าดู ข้าพเจ้าได้สงสัยไม่เชื่อว่าเปนความจริง จนได้มาเห็นแก่ตาเองในครั้งนี้ จึงนึกขึ้นได้ว่าที่ท่านว่านั้นเปนความจริง ด้วยเทือกเขาทางโคราชแลเทือกเขาทางพิศณุโลกซึ่งอยู่สองฟากลำน้ำสักนี้ กลับโอบเข้ามาบรรจบกันที่หินซ้อน ลำน้ำสักแต่หินซ้อนลงมาจนแก่งคอยตอนนี้ผ่านมาในกลางภูเขา เพราะฉนั้นตั้งแต่หินซ้อนลงมาจึงได้มีเขาตกถึงลำน้ำ แลมีถ้ำธารอันน่าดูน่าพิศวงตลอดลงมาในระหว่างทาง ๒ วันจนถึงแก่งคอย ข้าพเจ้าขอกล่าวซ้ำเปนคำรับรองถ้อยคำของท่านผู้ใหญ่ที่ได้ยินมานั้น ว่าลำน้ำสักนี้ ตั้งแต่แก่งคอยขึ้นไปจนถึงหินซ้อน เปนลำน้ำที่สนุกน่าเที่ยวจริง ๆ แต่เหนือนั้นขึ้นไปต้องแล้วแต่อัธยาไศรยบุคคลซึ่งจะเห็นว่าอย่างไรเปนความสนุก ถ้าหากว่าจะยอมทนความลำบากเที่ยวหาความรู้ในกระบวนเที่ยวดูบ้านเมืองของตนเช่นข้าพเจ้าไปก็สนุกน่าไป ฤๅถ้าหากว่าเปนนักเลงปืนจะเที่ยวหาสัตว์ใหญ่ยิงเช่นนั้นแล้ว เที่ยวทางแม่น้ำสักนี้ก็เห็นจะสนุก แต่ถ้าจะเที่ยวหาความสบายเพลิดเพลินแล้วอย่าขึ้นไปให้เกินหินซ้อนเลย

ตั้งแต่เมืองไชยบาดาลล่องเรือมา ๓ วัน ถึงเมืองสระบุรีซึ่งเคยไปด้วยกันมากแล้ว ไม่ต้องพรรณาว่าเปนอย่างไร รวมระยะทางข้าพเจ้าล่องเรือแต่เมืองเพ็ชรบูรณ์มา ๑๔ วัน ถึงปากเพรียวที่ตั้งเมืองสระบุรี แล้วขึ้นรถไปกลับมาถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๓ รวมวันที่ไปในครั้งนี้ ๓๖ วัน ได้รู้เห็นมาเล่าสู่กันฟังดังกล่าวมา.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ