ตำหรับนางนพมาศซึ่งเปนท้าวศรีจุฬาลักษณ์

๏ นพมาศนามแม่นี้ เดิมมา
โปรดเปลี่ยนศรีจุฬา ลักษณล้ำ
อุดดมรูปปรีชา ชาญยิ่ง นแม่
หญิงภพใดจักก้ำ กว่านี้ ฤๅมี

๏ ตำหรับโปราณาจาริย์ พระศรีจุฬาลักษณ์ท่านกล่าวความสวัสดิ์เจริญของสัตรีภาพ ผู้ประพฤติตามโอวาทแห่งท่านไว้ แต่ไสมยจุลศักราชแรกตั้ง ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระร่วงเจ้าโดยนิยมดั่งนี้ จักกล่าวเรื่องต้นจับเดิมแต่ตั้งภัทรกัลปขึ้น มีมนุษย์ชายหญิงด้วยอำนาจพรหมให้บังเกิด กาลครั้งนั้นมนุษย์ชาติเจรจาภาษามคธพากย์อย่างเดียวกันสิ้นด้วยกัน จะได้นับว่าต่างภาษานั้นหามิได้ ครั้นล่วงเดือนปีอันตรากัลปมาเปนอันมาก จนถึงพุทธอันตรากัลปอันนี้ ไสมยเมื่อมนุษย์มีอายุต่ำน้อยกว่าร้อยปีแล้วนั้น ข้าน้อยผู้ได้นามบัญญัติชื่อว่าศรีจุฬาลักษณ์ อันมีอุปนิไสยสมบัติกล่าวคือปัญญา จักจำแนกชาติภาษามนุษย์ตามโปราณาจาริย์ ท่านสมมุติเรียกชาติภาษาต่าง ๆ ให้พิศดารตามสติปัญญา ซึ่งได้สดับฟังไตรเพทแลคดีโลกย์ คำโปราณาจาริย์สืบ ๆ กันมา บันดาบ้านเมืองมนุษย์ซึ่งตั้งอยู่ภายนอกมัชฌิมประเทศสิ้นทั้งสกลชมพูทวีปนั้น ก็มีชาติแลภาษาต่างกันเปนอันมาก โปราณาจาริย์ท่านก็รวบเข้าบัญญัติ เรียกว่าประจันตะประเทศเปนสยามภาษาทั้งสิ้น แลบ้านเมืองบันดาตั้งอยู่ในเกาะลังกาทวีป แลเกาะซึ่งเปนบริวารแห่งเกาะลังกาก็ดี มนุษย์ก็ต่างชาติต่างภาษา โปราณาจาริย์ท่านก็รวบเข้าบัญญัติ เรียกว่าสิงหลประเทศสิ้นด้วยกัน จึ่งเปนประเทศสามประเทศ ภาษาก็แตกสามภาษาดั่งนี้แท้จริง หนึ่งโสดนักปราชญ์ผู้มีปัญญา ซึ่งเรียนรู้คณะฉันท์มีอินทรวิเชียรฉันท์เปนต้น ท่านพึงใจจะนิพนธ์ตกแต่งกาพย์โคลงฉันท์ลิลิตเปนบททำนุกนิ์ทำเนียบ คำสังวาศคำนิราศคำสรรเสริญคำสุภาสิต ท่านมักใช้ภาษาต่าง ๆ เปนถ้อยคำโดยคณะพากย์ฉันท์ เหตุดั่งนั้นท่านจึ่งจัดพากย์ภาษาแยกออกโดยต่างกัน อันมคธพากย์นั้นคือคำบาฬีภาษาแขกซึ่งในมัชฌิมประเทศเจรจากัน ถูกต้องกับมคธพากย์โดยมาก แลสยามพากย์นั้นท่านว่าเปนคำไทย สิงหลพากย์นั้นท่านว่าเปนคำชาวสิงหลลังกาทวีป แลคำพราหมณชาตินั้น ท่านว่าสังสกฤตพากย์ ตะเลงพากย์นั้นท่านว่าเปนคำฝรั่ง ภุกามะพากย์นั้นท่านว่าเปนคำพม่า ตะลุมะพากย์นั้นท่านว่าเปนคำรามัญ หริภุญไชยพากย์นั้นท่านว่าเปนคำลาวน้ำหมึก กัมพุชพากย์นั้นท่านว่าเปนคำเขมร แต่นี้ข้าน้อยผู้ชื่อศรีจุฬาลักษณ์ จะพึงจำแนกชาติภาษาต่าง ๆ ต่อออกไป คือภาษาไทย ๑ ลาวภาษา ๑ ลาวน้ำหมึกภาษา ๑ ลาวลื้อภาษา ๑ ลาวเงี้ยวภาษา ๑ ลาวทรงดำภาษา ๑ ลาวทรงขาวภาษา ๑ เขมรกัมพุชภาษา ๑ เขมรดงภาษา ๑ เขมรละมาตภาษา ๑ เขมรซวยภาษา ๑ พม่าภาษา ๑ รามัญภาษา ๑ ทวายภาษา ๑ กระแซภาษา ๑ ยะไข่ภาษา ๑ ไทยใหญ่ภาษา ๑ ตองซู่ภาษา ๑ พราหมณ์ไวยธึกภาษา ๑ พราหมณ์เวรำมะเหศรภาษา ๑ พราหมณ์อะวะดารภาษา ๑ พราหมณ์บรมเทสันตรีภาษา ๑ พราหมณ์พญารีภาษา ๑ พราหมณ์พฤทธิบาศภาษา ๑ พราหมณ์พาราณสีภาษา ๑ พราหมณ์อรรคีคะณเวศภาษา ๑ แขกอาหรับภาษา ๑ แขกมะห่นภาษา ๑ แขกสุหนีภาษา ๑ แขกมั่งกะลี้ภาษา ๑ แขกมะเลลาภาษา ๑ แขกขุร่าภาษา ๑ แขกฮุยหุยภาษา ๑ แขกมะลายูภาษา ๑ แขกมุหงิดภาษา ๑ แขกชะวาภาษา ๑ แขกจามภาษา ๑ แขกพฤกษภาษา ๑ ฝรั่งเสศภาษา ๑ ฝรั่งวิลันดาภาษา ๑ ฝรั่งอังกฤษภาษา ๑ ฝรั่งพุทะเกตภาษา ๑ ฝรั่งมะริกันภาษา ๑ ฝรั่งอิศะบันหยอดภาษา ๑ ฝรั่งการะหนี่ภาษา ๑ ฝรั่งสี่ส้องภาษา ๑ หรูดภาษา ๑ สิงหลภาษา ๑ ญี่ปุ่นภาษา ๑ ลิขิ่วภาษา ๑ เกาหลีภาษา ๑ คิชะส่านภาษา ๑ จีนห้อภาษา ๑ จีนตาดภาษา ๑ แกวญวนภาษา ๑ ม้วยภาษา ๑ ยางแดงภาษา ๑ กะเหรี่ยงภาษา ๑ ละว้าภาษา ๑ ข่าบกภาษา ๑ ข่าน้ำภาษา ๑ เงาะภาษา ๑ แลมนษย์ภาษาเล็กน้อยมีบ้านเมืองบ้าง อยู่ป่าอยู่เขาอยู่เกาะบ้าง ยังมีมากกว่ามากเปนแต่สมมุติเรียกกันว่าชาติภาษา นอกจากคำภีร์ไตรเพทหาพึงจะกล่าวพิศดารไว้ในที่นี้ไม่ อันว่าสกลชมพูทวีปนอกจากป่าพระหิมพานต์ แลพระมหาสมุทอันเปนที่อยู่แห่งมนุษย์นั้น ประเทศใดที่ควรจะตั้งเปนบ้านเมืองหมู่มนุษย์ชาติภาษาต่าง ๆ มีพระมหากษัตรเปนต้น ก็ตกแต่งตั้งเปนพระนครแลราชธานี ประดับด้วยนิคมคามแว่นแคว้นเปนเมืองใหญ่บ้างเมืองน้อยบ้าง มีเขตรแดนกว้างยาวประมาณได้ห้าสิบโยชน์ก็มี ร้อยโยชน์ก็มี สองร้อยโยชน์ก็มีบ้าง เปนเมืองดอนบ้างเปนเมืองชายชรเลบ้างเกาะบ้าง ต่างประดับด้วยจตุรงคเสนางคไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินลูกค้าพานิชมีสมบัติอันเปนแก่นสาร แลศฤงคารบริวารยศ เปนขัติยมหาศาลพราหมณมหาศาลคะหะบดีมหาศาลบริบูรณ์ด้วยสุวรรณหิรัญญรัตน์ต่างๆ ตามประเทศเมืองใหญ่ แลเมืองน้อย แลพระนครใดสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้า ซึ่งมีพระเดชเดชานุภาพมาก สพรั่งพร้อมไปด้วยนิกรโยธา ทะแกล้วทหารอันเข้มแขงในการณรงค์สงคราม ทั้งเสนางคนายกพลก็รอบรู้ตำหรับพิไชยยุทธ สามารถอาจมล้างข้าศึกศัตรูได้ทุกทิศแล้ว ก็สร้างสมสรรพสาตราวุธเรือรบเรือไล่ ช้างม้าโคกระบือล้อเกวียนไว้สำหรับพระนครเปนอันมาก เที่ยวปราบปรามบ้านน้อยเมืองใหญ่อันมีกำลังไพร่พลแลสติปัญญาไม่เทียบเทียม ให้อยู่ในอำนาจเปนเมืองขึ้นเมืองออกแผ่ผ้านพระราชอาชญาอาณาเขตรกว้างขวางออกไปดั่งกล่าวนี้ เหตุดั่งนั้นไซ้ประเทศภาษาสองภาษาสามภาษาบ้าง สี่ภาษาห้าภาษาบ้าง รวบรวมกันเข้าจึงเรียกว่าเปนพระมหานคร ประเทศเอกราชมีในสกลชมพูทวีปหลายพระนคร หนึ่งโสตอันว่าพระนครประเทศเอกราชดังกล่าวนี้ แม้ตั้งอยู่ในที่ไกลกันก็ดี แต่เมืองขึ้นเมืองออกปลายเขตรแดนตั้งติดต่อกันในระหว่าง มีป่าใหญ่ภูเขาลำห้วยธารกั้นทางไกลกันยี่สิบสามสิบวันคืนก็ดี ถ้ามนุษย์สองฝ่ายฟ้าสัญจรไปมาถึงกันได้โดยทางบกแลทางน้ำ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองฝ่ายฟ้าต่างมีพระเดชานุภาพแลบุญบารมีเปนอันมาก ทั้งเสนาบดีทแกล้วทหารก็เข้มแขงในการศึกสงครามอย่างกัน ถึงมาตรว่ากำลังพาหนรี้พลสาตราอาวุธสเบียงอาหารจะยิ่งหย่อนกว่ากันก็ดี เจ้าพระนครใหญ่ทั้งสองฝ่ายฟ้าต่างปราถนาสมบัติแลบ้านเมืองเขตรแดนซึ่งกันแลกัน จึงกระทำการสงครามตอบโต้ขับเขี้ยวกันไปจนหลายชั่วอายุมนุษย์ ลูกค้าพานิชทั้งสองฝ่ายก็มิได้ไปมาค้าขายถึงกัน นาๆ ประเทศทั้งปวงก็รู้ว่าเมืองนั้นๆ เปนข้าศึกแก่กัน ประการหนึ่งพระนครประเทศเอกราชสองสามพระนครก็มีบ้าง มากกว่าสิบราชธานีก็มีบ้าง อาณาเขตรใกล้แลไกลกันก็ดี สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินต่างประพฤติตามราชประเพณี ย่อมนับถือว่าเปนราชสัมพันธไมตรีแลมิตรไมตรีซึ่งกันแลกัน ต่างแต่งทูตานุทูตจำทูลพระราชสารส่งเครื่องราชบรรณาการไปมาจำเริญทางพระราชไมตรี เยี่ยมเยียนกันตามกำหนดมิได้ขาดทั้งสองฝ่ายฟ้า โดยน้ำพระไทยไม่มีความรังเกียจว่าต่างชาติต่างภาษา ความสวัสดีจำเริญก็บังเกิดแก่พระมหานคร บรรดาซึ่งเปนทางไมตรีกันนั้น อันว่าสมณชีพราหมณ์ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินก็อยู่เย็นเปนศุข ลูกค้าพานิชก็ได้ไปมาซื้อขายถึงกันโดยสดวก หาความวิบัติอันตรายสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ บ้านเมืองก็บริบูรณ์ไปด้วยสรรพสิ่งของเครื่องใช้สอยต่างๆ มีเงินแลทองเปนต้น นรชนชาติภาษานานาประเทศทั้งปวงก็เล่าฦๅสรรเสริญพระเกียรติยศ มีความนิยมยินดีชักชวนกันมาสู่พระบรมโพธิสมภาร สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทุกปีเดือนมิได้ขาดโดยนิยมดังนี้ แลพระนครราชธานีใหญ่น้อย บรรดามีในสกลชมพูทวีปทั่วไปนั้น กาละบัดนี้พระบวรพุทธสาสนาพระสัมมาสัมพุทธสัพพัญญูเจ้า ยังประดิษฐานตั้งอยู่เปนอันดีนั้นน้อย ซึ่งเสื่อมสูญอันตรธานเสียแล้วนั้นมีโดยมาก เหตุด้วยพระเจ้าแผ่นดินแลประชาชาวชนบทประเทศทั้งปวง ยังนับถือพระรัตนัตตะยาธิคุณเปนสัมมาทฤษฐินั้นประมาณสักส่วนหนึ่งสองส่วน เปนมฤจฉาทฤษฐิเชื่อถือลัทธิครูต่าง ๆ นั้น คณนานับได้สักเก้าส่วนสิบส่วนโดยประมาณ

๏ แต่นี้จะพึงกล่าวสรรเสริญพระเกรียดิยศสมเด็จพระร่วงเจ้า อันถวัลยราชไอศูรย์สมบัดติ เปนบรมกษัตรอันประเสริฐ ปราบดาภิเศกเสวยราช ณกรุงพระมหานครศุโขไทยราชธานีบูรีรมย์สถาน เปนปิ่นอาณาประชาราษฎรชาวชนบทนิคมคามสยามประเทศทั้งมวน มีเมืองขึ้นออกเอกโทตรีจัตวาช่วงเมืองกึงเมือง แผ่ผ้านพระราชอาชญาอาณาเขตรขอบขัณฑสีมากว้างขวางนับด้วยโยชน์ยิ่งกว่าร้อย มั่งคั่งไปด้วยสมณชีพราหมณ์ชนประชาชายหญิงอยู่เปนภูมลำเนาติดต่อกันไปโดยระยะย่านบ้านเมือง สร้างสมสวนผลไม้ไร่นาแลที่ทำกินต่าง ๆ เปนผาศุกสบายทั่วทุกหน้า ปราศจากพาลไภยอันตรายมีโจรเปนต้น แล้วก็งามไปด้วยหมู่ลูกค้าพานิชจีนจามแขกฝรั่ง อเนกนานาประเทศภาษาต่าง ๆ ตั้งตึกเตี้ยมบ้านเรือนโรงร้านพ่วงแพเปนถ้องแถวตามวิถีสถลมารค ซื้อขายสรรพสิ่งของเครื่องทองเงินแก้วเก้าเนาวรัตน์อลังกาภรณ์ ทั้งพรรณผ้านุ่งห่มควรแก่บุรุษสัตรีมีหลายอย่าง ผ้าสุพรรณพัตร ผ้าลิขิตพัสตร์ ผ้าจินะกะพัตร ผ้าตะเลงพัตร ผ้าเทวะครี ผ้ารัตครี ผ้าเจตครี แลพรรณภาชนะเครื่องใช้สอยต่าง ๆ อันควรกับตระกูลทั้งสิบตระกูล ก็มีซื้อขายแก่กันเปนอันมากกว่ามาก บริบูรณ์ไปด้วยโภชนามัจฉะมังษาผลาหารของพึงจะบริโภคโอชารศอันมีมาแต่ประเทศต่าง ๆ ก็ซื้อขายเต็มไปในท้องตลาดพิศาลทุกแห่งทุกตำบล บันดาลูกค้าพานิชในประเทศก็ดี นอกประเทศก็คี ที่ไปมาค้าขายณะจังหวัดแว่นแคว้นกรุงเทพฯพระมหานครศุโขไทยราชธานีนั้น ย่อมบันทุกสินค้าไปมาด้วยสลุปกำปั่นเภตราสัดจอง เกวียนโคเกวียนกระบืออานช้างอานอูฐ ต่างม้าต่างฬ่อต่างฬา เรือถ่อเรือพายเรือแจวเรือกันเชียงเรือแล่นเรือโล้ บ้างก็ไปบ้างก็มาทุกฤดูเดือนมิได้ขาด อันไพร่ฟ้าประชาชาวนิคมคามทั่วแว่นแคว้นเมืองขึ้นออกก็ดี แลในราชธานีก็ดี ย่อมนับกันเปนตระกูลประพฤติตามโปราณาจาริย์สืบ ๆ ต่อมา อันตระกูลฝ่ายทหารนั้นมีสี่ตระกูล คือทหารบกตระกูลหนึ่ง ทหารเรือตระกูลหนึ่ง ทหารช้างตระกูลหนึ่ง ทหารม้าตระกูลหนึ่ง ฝ่ายพ่อเรือนก็มีสี่ตระกูลเหมือนกัน คือตระกูลพราหมณ์หนึ่ง ตระกูลเสรษฐีหนึ่ง ตระกูลพ่อค้าหนึ่ง ตระกูลชาวนาหนึ่ง แต่คะหะบดีตระกูลนั้นมีทั้งฝ่ายทหารฝ่ายพ่อเรือน บันดาตระกูลซึ่งกล่าวนี้ แม้จะแต่งการอาวาหะวิวาหะมงคล ก็ตกแต่งกันตามแต่ตระกูล จะได้กระทำมงคลการให้ต่างชาติตระกูลไปนั้นหามิได้ แต่ฝ่ายบุรุษซึ่งเปนคนมีทรัพย์สมบัตินั้น ย่อมหาอนุภริยาด้วยสินจ้างสินถ่ายไว้เปนบริวาระยศ แม้มีบุตรธิดาก็นับเปนตระกูลบิดาฝ่ายเดียว อันว่าฝ่ายสัตรีภาพนั้น แม้เปนคนบริบูรณ์ด้วยทรัพย์ ผู้ใดน้ำจิตรโลเลลุอำนาจแก่กามคุณ ไปร่วมสังวาศด้วยบุรุษสินจ้างสินถ่าย ซึ่งใช้สอยการงานในบ้านเรือนก็ดี แลเปนหญิงงามเมืองก็ดี อันบุตรธิดาของหญิงสองจำพวกนี้ มหาชนมีความรังเกียจนัก เรียกว่าคนอนาจารย่อมจ้างถ่ายไปใช้เปนคนเลี้ยงช้างม้าโคกระบือ ซักตากผ้าผ่อนเก่าเสียโดยมาก หนึ่งโสตอันว่าขัตติยะตระกูลนั้นเปนตระกูลสูงศักดิ์ประเสริฐกว่าตระกูลทั้งปวง ถ้าจะแต่งการอาวาหะวิวาหะมงคลกับตระกูลใด ๆ ก็ได้ มหาชนไม่มีความรังเกียจ ย่อมนับถือขัตติยะตระกูลสิ้นด้วยกัน เหตุดังนั้นขัตติยะชาติจึงเจือไปในตระกูลทั้งเก้าตระกูล แต่ทะว่าบุตรธิดาก็นับเปนตระกูลบิดาฝ่ายเดียวดุจกัน ในไสมยะนั้นนรชาติชายหญิงสิ้นทั้งมวน ย่อมมีความผาศุกสบายด้วยอำนาจฤดูโลกย์ธรรมดา เปนไปโดยเสมอมิได้ยิ่งมิได้หย่อน พยาธิโรคาก็เบาบาง หมู่มนุษย์ก็ประกอบไปด้วยสติปัญญาโดยมาก ต่างร่ำเรียนสรรพวิชชาต่าง ๆ ฝ่ายทหารก็เรียนรู้ศิลปะสารทเพลงอาวุธ คือวิชชาช้างม้ากระบี่กระบองโล่ดั้งดาบสั้นดาบยาวกฤชกั้นหยั่นโตมรศรกำทราบปืนไฟใหญ่น้อย มวยปล้ำตำหรับตำราพิไชยยุทธ์เวทมนตร์คงกพันธ์ชำนิชำนาญเปนอันดี บันดาพวกพ่อค้าเรือนก็ต่างเล่าเรียนคำภีร์ไตรเพทไตรวิชชา คือกลบทกลกลอนทำนุกนิ์ทำเนียบอักขะระอักษรครุลหุสูตรกรณฑ์สูตรฉวาง ตำหรับโหราสาตรทักษาพยากรณ์สมผุษอินทพาดบาทจันทร์สารำ อาจรู้จักรราษีดาราฤกษนพเคราะห์สุริยะคราธจันทรคราธโดยพิศดาร บ้างก็เรียนรู้เวชชกรรม คือโอสถแพทย์สำพันธแพทย์เนตรแพทย์วรรณะโรคแพทย์อาคมะแพทย์อุรุคะแพทย์ บางพวกก็เรียนวิชชาเปนช่างสุวรรณหิรัญรัตน์ วัฒกีวาคเขียนแกะจำหลักปั้นกลึงหล่อหลอมสรรพวิชชาช่างต่าง ๆ ชำนิชำนาญโดยมาก ฝ่ายสัตรีก็ต่างร่ำเรียนวิชชาช่างสุวรรณลายแล่นเลขาแกะปั้นปักทอร้อยกรองเย็บย้อมเปนที่ทำกิน เกษมศุขทุกทั่วหน้า นรชาติชายหญิงบ้างก็เล่นพนันทายบุตรในครรภ์ว่าจะเปนหญิงหรือชาย เล่นโคชนโคเกวียนคนแล่นรอบแล่นธงคลีช้างคลีม้าคลีคนเปนตามนักขัตตะฤกษ์ บ้างก็เล่นระเบงปี่ระเบงกลองฟ้อนแพนขับพิณดุริยางคบันเลงเพลงร้องหนังรำระบำโคม ทุกวันคืนมิได้ขาด เอิกเกริกไปด้วยสำเนียงนิกรประชา เสสรวลสำรวลเล่นแลซื้อขายจ่ายแจก จนราษราตรีมัชฌิมยามจึงค่อยสงัดเสียง แล้วก็รุ่งเรืองไปด้วยพระบวรพุทธสาสนา รตนัตยาธิคุณอันเปนนิยานิกะธรรม อาจนำสัตว์ให้พ้นจากวัฏทุกข์ ถึงซึ่งสวรรค์นิพพานด้วยเนื้อนาบุญ แลในจังหวัดพระนครก็ดี แขวงเมืองขึ้นออกทั่วนิคมคามก็ดี พื้นภูมิภาคปรถพีย่อมแน่นเนื่องไปด้วยมหาอาวาศสังฆารามใหญ่น้อยนับบมิถ้วน เปนราชอารามก็มี ขัตติยารามก็มี คะหะบดีรามก็มี กูละประชารามก็มี มีวัดหน้าพระธาตุราชบุรณะเปนต้น แลพระราชอารามหลวงแลพระอารามต่าง ๆ ซึ่งไพศาลกว้างใหญ่นั้น ย่อมประดับไปด้วยไม้พระมหาโพธิแลพระวิหารการเปรียญ พระมหาสถูปเจดีย์สูงใหญ่ยิ่งกว่าร้อยศอก แล้วก็ล้อมด้วยพระวิหารยาว มณฑปทิศสถูปรายแวดวงด้วยเสาไต้ไพที่ซุ้มทวาร มีศาลารายเปนระยะตามขอบกำแพงชั้นนอก เปนที่ประชุมบรรสัษย์ ซึ่งไปกระทำสักการบูชา ดูเดียรดาษเยียดยัดไปด้วยเสนาศนะกุฎีสงฆ์ กล้วนกระทำด้วยอิฐปูนเปนหมู่เปนแถว มีทั้งที่จงกรมที่สบายกลางคืนกลางวันหอฉันหอปริตหอสัทธรรมมณเฑียรโรงควงโรงกรักโรงน้ำร้อนน้ำเย็นซุ้มน้ำสรงน้ำชำระเท้า ส้วมสระบ่อตระพานข้ามคูคันคะณะปักเสาหงษ์ธงปะฎากปลูกพรรณไม้ดอกผลร่มรื่นพื้นลานลาดด้วยแผ่นศิลาเลี่ยนสอาดตา มีพระอุโบสถสังฆกรรมผูกพัทธสีมาไว้ในระวางบริเวณคณะสงฆ์ กว้างยาวยี่สิบห้าห้องวิจิตรไปด้วยซุ้มทวารบานประตูหน้าต่าง ฝาผนังพิดานดอกอัจกลับวาดเขียนล้วนลายสุวรรณ์ เปนรูปเทพอินทร์พรหมอสุรครุธนาคแลเครื่องพญาศักะมันธาตุราช พญามหาสุทัศน์จักรพรรดิราชาธิราชเปนต้น อันว่าเจดียถานแลเครื่องประดับพระอารามทั้งมวลเปนที่สุดจนศาลาแลตระพาน ก็อร่ามไปด้วยแสงสุวรรณเลขาลวดลายจิตรกรรมลดากรรม ห้อยย้อยพนมพวงแก้วประทีปแก้วแสงประภัศร ควรจะทอดทัศนายิ่งนัก แลเชิงอัฒจันท์บันไดนั้น ก็กระทำด้วยศิลาลายมีรูปไกรสรคชสีห์คชินทรพาชี โตสิงห์อสุรเสี้ยวกางกินนร ล้วนหล่อด้วยทองประสม บ้างก็ทำด้วยศิลาวางไว้เปนคู่ ๆ ทุก ๆ ทวารเข้าออก หนึ่งโสดควรจะอัศจรรย์ด้วยพระพุทธปฏิมากร ซึ่งประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ แลพระวิหารใหญ่น้อยอันเปนที่สักการะบูชา ทั่วไปทุกพระอารามย่อมหล่อด้วยตามพะโลหะ พระพุทธรูปเปนประธานนั้น หน้าสมาธิกว้างยี่สิบศอกก็มี สิบหกศอกก็มี สิบสองศอกก็มี ยิ่งหย่อนอยู่ในระหว่างนี้ก็มี แลพระพุทธสถารศสูงสี่สิบแปดศอกก็มี หย่อนลงมาในระหว่างจนสิบสองศอกก็มี อันพระพุทธปฏิมากรใหญ่ ๆ ดั่งกล่าวนี้มีเปนหลายพระองค์ แลพระพุทธรูปน้อย ๆ กับพระอรหันตรูปนั้น ย่อมมีเปนอันมากกว่ามากเหลือที่จะนับจะประมาณ บางพระองค์ก็หล่อด้วยตามพะโลหะ บางพระองค์ก็กระทำด้วยศิลาทั้งแท่ง ล้วนแต่งามด้วยพระพุทธลักษณะ แล้วก็ย่อมไปด้วยสุวรรณแปดน้ำ รัศมีรุ่งเรืองสถิตย์บัลลังก์ทอง ควรจะเปนที่เลื่อมใสศรัทธาแก่ผู้ได้นมัศการ อนึ่ง อันว่าพระกูลบุตรพุทธชิโนรสสังฆรัตนะ คามวาสีอรัญญวาสีสิ้นทั้งมวน ล้วนแต่ปฏิบัติตามพระวิไนยบัญญัติประเสริฐด้วยศีละคุณ ธุดงคคุณ กิจจะสมณคุณ ต่างเล่าเรียนคันถธุระวิปัศนาธุระ ที่มีพระวรรษาอายุเปนพระมหาเถรท่านรอบรู้ในข้อวัตประฏิบัติก็ได้เปนพระอุปัชฌาย์อำจารย์สั่งสอนภิกษุสามเณร มีอันเตวาสิกสัทธิงวิหาริกนับด้วยสิบด้วยร้อยเปนเจ้าหมู่เจ้าคณะ พระภิกษุบางพระองค์ก็ทรงจำไว้ได้ ซึ่งพระองค์คัมภีร์พระวิไนยปิฎกคัมภีร์หนึ่งบ้าง สองคัมภีร์บ้าง สี่ห้าพระคัมภีร์ก็มีบ้าง บางพระองค์ก็ทรงไว้ซึ่งพระสุตตันตระปิฎกสี่สิบห้าสิบพระสูตร ร้อยพระสูตร ยิ่งกว่าร้อยพระสูตรก็มีบ้าง บ้างก็ทรงไว้ได้ซึ่งพระอภิธรรมปิฎกนับด้วยสิบภาณวารบ้าง ยิ่งกว่าร้อยภาณวารบ้าง บางพระภิกษุก็เปนพระวินัยธร บางพระภิกษุก็เปนพระธรรมกถึก สำแดงพระสัทธรรมเทศนาไพเราะห์ อาจยังน้ำจิตรบรรสัษย์ให้มีประสาทโสมนัศศรัทธา ยิ่งขึ้นไปได้ร้อยเท่าพันทะวี บันดากุลบุตรในตระกูลทั้งปวง ก็ออกบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธสาสนาเปนอันมากทุกเดือนบีมิได้ขาด จนมฤจฉาทิษฐิ บ้างก็เลือมใสมานับถือพระรัตนัตตะยาธิคุณเปนที่พึ่ง ให้บุตรนัดดาออกบวชเปนภิกษุสามเณรก็โดยมาก อันพระบวรพุทธสาสนานั้นรุ่งเรือง พระรัตนไตรยก็บริบูรณด้วยเครื่องสักการบูชา แลจตุปัจไจยซึ่งทานะทายก มีพระมหากษัตรเปนต้น บริจาคทรัพย์กะละปะนาถวายไว้ในพระอารามใหญ่น้อยทั่วไป มิให้พระภิกษุสามเณรได้ความลำบากขัดสนด้วยกับปิยของฉันไตรจีวรแลบริขารต่าง ๆ ประการหนึ่งพราหมณาจารย์อันทรงประวิชกุณฑาลธุรำซึ่งมีชาติแลตระกูลมิได้เจือ ก็ย่อมวิเศษด้วยไตรเพทเวทมนต์ รู้ลักษณผูกพรตกระทำการพระราชพิธี ทั้งสิบสองเดือน เพื่อให้สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงพระจำเริญในราชสมบัติปราศจากไภยันตะราย อันว่าพระมหากษัตรขัตติยะราชตระกูลก็ดี แลนรชาติชายหญิงตระกูลทั้งหลายก็ดี แลนรชาติประชาชายหญิงตระกูลทั้งหลายก็ดี ย่อมเชื้อเชิญพราหมณ์หมู่นี้ไปในกาลมงคลต่าง ๆ มีการทำอาวาหะมงคลเปนต้น พราหมณ์ก็บันฦๅเสียงสังข์รดน้ำอ่านอิศวรเวทวิศณุมนตร์อวยไชยให้พรโดยคัมภีร์ไสยสาตร แล้วก็รับเอาเครื่องสักการะ คือทรัพย์อันเปนแก่นสารควรแก่พราหมณ์จะพึงบริโภคใช้สอย หนึ่งโสตสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้า กับหมู่พราหมณชาติทั้งปวงย่อมสร้างสถานที่เทวรูปไว้ในราชธานี แลนิคมคามเมืองขึ้นออก เปนหลายแห่งหลายตำบล อันพระเทวะสถานนั้นมีสามอย่าง คือสถานพระสยมภูวนารถนั้นหนึ่ง สถานพระนารายณ์นั้นหนึ่ง สองเทวะสถานนี้พราหมณ์พิธีทั้งห้าชาติ มีชาติไวยธึกเปนต้น ย่อมนับถือกระทำสักการบูชา แลสถานพระเทวะกรรมอีกสถานหนึ่งนั้น เปนที่นับถือแห่งพราหมณ์ชาติพฤทธบาศ ย่อมกระทำสังเวยบวงสรวงตามตำหรับพระคชกรรม อันสถานเทวะรูปทั้งสามสถานดังกล่าวนี้ ก็ย่อมวิจิตรไปด้วยเลขาเขียนวาดเปนลวดลายต่าง ๆ มีศาลารายเปนทีอาไศรยแลโรงมานพสำหรับพราหมณ์ทั้งหลายนั่งสาธยายมนตร์ แล้วก็แวดวงไปด้วยกำแพงแก้วเปนบริเวณวัดพื้นลานราบรื่นโรยทรายพรรณอันขาว ปลูกต้นพฤกษเวฬูเปนพญาไม้ ปลูกต้นชุมแสงต้นระงับเปนไม้บริวาร ปลูกทั้งพรรณไม้ดอกเจ็ดอย่างไว้บูชาในการพิธีทุก ๆ แห่ง แลพระเทวะสถานแห่งใดที่กว้างขวางเปนสถานใหญ่ ก็มีศิลากระทำเปนไกรลาศบรรพต มีรูปศิวลึงค์ตั้งอยู่บนยอดภูผา ล้วนหล่อด้วยทองสัตตะโลหะสูงแปดศอกบ้างสิบศอกบ้าง ในเชิงบรรพตนั้นก็ล้อมด้วยเขื่อนเสาศิลามีลายแลสีต่าง ๆ แล้วก็มีปัญจะมหาสระน้ำใสสะอาด ปลูกบัวสัตบุษบ์สระหนึ่ง บัวสัตบรรณสระหนึ่ง บัวเผื่อนสระหนึ่ง บัวลิญจงสระหนึ่ง บัวจงกลนีสระหนึ่ง สำหรับพราหมณ์เชิญปัญจมหานทีมีเบญจะประทุมลอย มาสรงพระเปนเจ้าแล้วแลรินน้ำลงสู่สังข์นำไปรดมหาชนซึ่งกระทำมงคลต่าง ๆ แลพระเทวะรูปซึ่งพราหมณ์ทั้งหลายนับถือนั้นคือพระปรเมศวร พระพิฆเนศวร พระวิศณุจักร พระอุมาภควดี พระลักษมี พระมเหศวรี พระเทวะกรรม พระสัทธาสิทธิ์ พระอิษีสิงค์ พระไพศพ พระพลเทพย์ แลเทวะรูป มีพระนามนอกจากนี้ก็ยังมากโดยคัมภีร์ปางต่าง ๆ มีปางพระปรเมศวรเหยียบมงกุฎพรหมแลมูลาคนีเปนต้น ล้วนแต่หล่อด้วยทองเนาวโลหะสัตตะโลหะ ที่ใหญ่นั้นสูง ๕ ศอก ๖ ศอก ที่เล็กนั้นประมาณเท่าผลสบ้าวานร ในระหว่างใหญ่แลเล็กนั้นก็มีโดยมาก จะกำหนดศอกนิ้วนั้นมิได้ อันพระเทวะรูปนี้ มหาชนชาติสยามภาษาสัมมาทฤษฐิเรียกว่าพระไสยสาตร บางคนก็นับถือบางคนก็มิได้นับถือ หนึ่งโสดพวกมฤจฉาทฤษฐิชาติภาษาต่าง ๆ ก็กระทำที่สักการะบูชา อันควรแก่นับถือของตน ไว้ในเขตรแคว้นพระนครก็เปนหลายแห่งหลายตำบล บันดาพวกจีนห้อ จีนตาดก็ชุมนุมกันสร้างศาลเทพารักษ์ใหญ่บ้างเล็กบ้าง ย่อมตกแต่งผนังหลังคาเขียนวาดลวดลายต่าง ๆ ตามภาษาของตน แล้วก็ทำรูปจังเหวดวางไว้ในศาลทุก ๆ ศาล ถึงเดือนปีก็เอาออกแห่แหนเปนการเอิกเกริกตามชาติภาษา แลพวกแขกฝรั่ง ก็ก่อสร้างปั้นหย่าสุเหร่ากะฎี เปนปะริพาชะการามวงล้อมด้วยกำแพงรอบบริเวณ มีศาลาแลที่อาไศรยให้ยี่หว่านไส้หยัดบาดหลวงอยู่ บอกกล่าวตำหรับตำราเล่าเรียนกันตามลัทธิภาษาของตน ๆ ถึงฤดูเดือนปีก็เอาชำระ ขัดปั้นหย่าซ่าด่าฝ้าระฝ้ากาดก้นคนออกแห่แหน เต้นรำตีกลองระฆัง อื้ออึงทั้งกลางวันกลางคืน ตามโคมปทีปเทียนสว่าง เปนเครื่องประดับพระนคร ควรจะยังน้ำจิตรประชาราษฎร ให้รื่นเริงเปนผาศุกสิ้นกาลทุกเมื่อ อันกรุงพระมหานครศุโขไทยราชธานี บูรีรัตนนั้นกว้างใหญ่ไพศาล มีแม่น้ำรอบเมือง ป้อมกำแพงเชิงเทินซุ้มทวารบานประตู แน่นหนาสูงตระหง่าน อาจกันเสียซึ่งข้าศึกศัตรู มีปืนใหญ่วางประจำช่องสีมา ทหารรักษาอยู่โดยรอบ มีคลองน้ำลำหลอดก็หลายสาย ทำตระพานช้างช่องเรือเดินสามช่องบ้างสี่ช่องบ้าง ตามคลองกว้างแลแคบ ประดับด้วยตึกกว้านบ้านเรือนราชบุรุษคะหะบดี แลรั้ววังลูกหลวงหลานหลวงราชตระกูล ติดเนื่องกันไปเต็มทั้งฝ่ายในพระนคร มีโรงช้างโรงม้าโรงรถโรงเรือรบฉางเข้าฉางเกลือ คลังลูก คลังดิน คลังส่วย คลังการเรือนตรุเรือนตะราง เรือนไชยเภรีย์ จวนกลาง จวนประจำกอง จวนทวารเวียง สถานพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระหลักเมือง มีศาลหลวงกระทรวงความ ศาลหน้าพระกาล ลานสนามหลวงสำหรับประลองช้างม้า ซ้อมหัดนิกรทวยหาญให้ชำนิชำนาญในการศึกสงคราม อันพระราชนิเวศวังสถานนั้น มีปราการป้อมประตู ชั้นในชั้นนอก ประดับด้วยสิบสองพระคลัง มีพระคลังเงินทองแก้วเก้าเนาวรัตน พระคลังสรรพพรรณผ้า เครืองอุปโภคบริโภคเปนต้น มีจวนสนามมาตยา จวนประจำเวร จวนประจำซอง ทิมแถวทิมท้องฉนวน ทิมองครักษ์ ตึกตำแหน่งพระเครื่องต้น เครื่องพระอภิรมย์ เครื่องราชูปโภค ตึกตำแหน่งช้างต้นม้าต้น ราชยานราเชนท์ โรงปืนใหญ่ปืนยาว มีตำแหน่งชื่อเสียง หนักร้อยหาบ สองร้อยหาบ ห้าร้อยหาบ พันหาบก็มี อันปรางคปราสาทราชมณเฑียรสถานเปนที่สมเด็จพระร่วงเจ้า เสด็จทรงสถิตย์อยู่นั้นมีจตุรมุขสี่ด้าน ๆ หน้านั้นมีพระที่นั่งมุขกระสัน ติดเนื่องกันกับสนามมาตยาหน้ามุขเด็จ ขนานนามเรียกว่าพระที่นั่งอินทราภิเศก มีโรงระบำอยู่กลางฉะลาหน้าพระลาน วงด้วยไพทีบริสุทธิ์ ย้อมน้ำมันทองคู ประดับด้วยของทรงประพาศต่าง ๆ มีไม้ดัดปลูกกะถางทองเปนต้น ฝ่ายขวาพระที่นั่งอินทราภิเศกมีมรฎปปะริตอาคม ฝ่ายซ้ายมรฎปอิศวรอาคม แลหน้ามุขปรางคปราสาท ซ้ายขวาสองด้านนั้นเปนที่ข้างในเบื้องขวา มีมณเฑียรปฏิมามรฎป ฝ่ายซ้ายมีมณเฑียรเทพย์ปิตรมรฎป มุขหลังปรางคปราสาทนั้น มีมุขกระสันติดเนื่องกันกับพระราชมณเฑียรทั้งสองสถาน จึ่งขนานนามเรียกว่าพระที่นังอดิเรกภิรมย์ พระที่นังอุดดมราชศักดิ์ เบื้องขวามีหอพระนารายน์ เบื้องซ้ายมีหอพระเทวกรรม์ แล้วก็มีพระปรัสทั้งสองเปนลำดับต่อพระที่นั่งพระปรัสขวา ขนานนามเรียกว่ารัตนนารีมณเฑียร พระปรัสซ้ายเรียกว่าศรีอับษรมณเฑียร มีจวนเครื่องจวนคลังจวนชาวแม่ประจำเวรตึกตำแหน่งพระสนมเอก ลูกหลวงหลานหลวงราชตระกูล นักสนมกำนัลนางบำเรอห์เปนหมู่เปนแถวตามท้องสถลมารคร้อยยี่สิบสาย หน้าตึกมีจวนเย็นสำหรับนั่งร้อยกรองวาดเขียนขับร้องเล่น เปนที่สบายทุกตำแหน่งนางใน มีทิมรายทิมรอบ จ่าชาประจำซองรักษาด้านทางกระท่อมไพรใช้งานขาดการกวาดถนนหนทางเปนต้น มีเรือนจำสำหรับพระสนมกำนัล ต้องพระไอยการมิควรจะส่งราชมัน แลมีทางท้องพระฉนวนอยู่สี่พระฉนวน ๆ หนึ่งออกวัดหน้าพระธาตุ ฉนวนหนึ่งออกพระเทวะสถาน ฉนวนหนึ่งออกพระที่นั่งไชยชุมพล เปนที่ทอดพระเนตรการพระราชพิธีแลแห่แหน ฉนวนหนึ่งลงพระที่นั่งชลพิมาน เปนที่สบายเมื่อเทศกาลฤดูน้ำ แล้วก็มีราชอุทยานอยู่ในพระนิเวศแห่งหนึ่ง ปลูกแต่พรรณไม้ดอกผล อันวิเศษคด้วยกลิ่นแลรศ ควรจะนำมาซึ่งความโสมนัศน้ำจิตรพระสนมกำนัลทั้งปวง แลมีพระที่นั่งพิศาลเสาวรศอยู่ปากสระแก้ว เปนที่ทอดพระเนตรพรรณมัจฉาชาติต่าง ๆ คือปลาหน้าคนเปนต้น มีศาลาธาระกำนัลสี่ศาลา สำหรับนางในนั่งร้อยกรองบุบผชาติบูชาพระรัตนไตรยแลพระเทวะรูปเปนนิจ อันว่าปรางคปราสาทราชมณเฑียรสถาน คือพระที่นั่งอินทราภิเศก อดิเรกภิรมย์ อุดดมราชศักดิ์ แลพระที่นั่งไชยชุมพล ชลพิมาน พิศาลเสาวรศก็ดี พระปรัสทั้งสอง คือรัตนนารี ศรีอับษรก็ดี มรฎปพระพุทธรูปแลพระเทวะรูปก็ดี ตึกตำแหน่งเรือนหลวงเรือนพระสนมกำนัลก็ดี แต่ล้วนวิจิตรไปด้วยลายปูนปั้น ลายจำหลักวาดเขียน ลงรักปิดทองแลอร่ามตา มีพระแท่นที่ฉากกั้นเครื่องปูลาดอาศนบัลลังก์กั้นเสวตรฉัตร ห้อยย้อยด้วยระย้าประทีปชวาลาเครื่องราชูปโภคงามยิ่งนัก เรือนหลวงเรือนสนมก็ตกแต่งเตียงตั้งที่นั่งนอนเครื่องใช้สอย ตามถานาศักดิ์โดยตำแหน่งยศทุก ๆ นางใน ดังกล่าวนี้แท้จริง ๚ะ

๏ ข้าพระองค์ผู้ชื่อศรีจุฬาลักษณ์ น้อมเศียรศิโรตม์กราบถวายบังคมพระบาทบรมนารถบรมบพิตรสมเด็จพระร่วงเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณแก่ไพร่พ้าข้าแผ่นดินเหลือที่จะบรรยาย พระองค์ย่อมทรงซึ่งทศพิธราชธรรมมีน้ำพระไทยเมตตากรุณา กอบไปด้วยพระปัญญาสอดส่องในราชกิจการบ้านเมือง หยั่งเห็นศุขทุกข์ของอาณาประชาราษฎรทั่วทั้งขอบขัณฑสีมา มิได้เรียกร้องส่วยสาอากรให้เหลือเกิน ชุบเลี้ยงท้าวพระยาข้าเฝ้าฝ่ายทหารพลเรือน แลผู้รั้งเมือง ครองเมืองเอกโทตรีจัตวา บรรดาข้าราชบุรุษทุกกระทรวงพนักงานโดยฝีมือแลความคิด ถ้าผู้ใดมีความชอบก็สักการะรางวัลให้ถึงขนาด แม้กระทำความผิดก็ลดหย่อนผ่อนโทษให้เบาลง บำรุงรักษพระราชบุตรพระราชธิดาพระบรมวงษานุวงษ์ให้บริบูรณ์ด้วยศฤงคารบริวารยศ ทั้งพระอรรคมเหสีพระสนมกำนัลก็พระราชทาน เครื่องอลังกาภรณ์ แลเครื่องอุปโภคบริโภคตามยศถาศักดิ์มิให้อนาทร เปนที่สุดจนจ่าชาคนใช้ประจำการ ก็ได้ผ้านุ่งห่มเงินประจำขวบปี ทั่วทุกตัวคนตามสมควร แล้วก็ทรงพระมหากรุณามีพระราชโอวาทสั่งสอน พระบรมวงษาข้าเฝ้าฝ่ายนอกแลฝ่ายใน มิให้ผู้ใดเกียจคร้านกระทำทุจจริตประพฤติน้ำใจพาล สันดานโลภเบียดเบียฬไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้ได้ความเดือดร้อน หนึ่งโสดสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชศรัทธา ทำนุบำรุงพระบวรพุทธสาสนาให้ถาวรวัฒนารุ่งเรือง ด้วยเอาน้ำพระทัยใส่ในการพระราชกุศลต่างๆ บริจาคพระราชทรัพย์แจกจ่ายสักการะบูชาพระรัตนไตรย เปนอาวาศทาน เปนธรรมทาน เปนนิจจะภัตรทาน เปนสังฆทาน บุคคะลิกทาน เปนนิจจะนิรันตรทุกวันคืนเดือนปีมิได้ขาด ทรงสถาปะนาพระมหาเถรเจ้าผู้รู้ธรรมโดยยิ่ง ขึ้นสู่ที่สมเด็จพระสังฆราชามะหาคะณิศร เปนประธานคามะวาสีอรัญญวาสีอธิบดีสงฆ์ ทั้งเจ้ามหาคณะโดยลำดับ สถาปะนานามบัญญัติเถรมุนี ฝ่ายคันถธุระ วิปัศนาธุระ ถวายจตุปัจจัยเปนไวยาวัจกร แลทรงขอโอกาศเผดียงแก่พระภิกษุสามเณรทั่วไป ให้บอกกล่าวเล่าเรียนธุระทั้งสอง อันเปนอายุพระพุทธสาสนามิให้เสื่อมทราม แล้วก็ชี้ชวนราชบริษัทชายหญิงให้ยินดีในศีลทานการกุศล ซึ่งเปนผลประโยชน์ในชั่วนี้ชั่วหน้า อนึ่งพระองค์ทรงสักการะ แก่พราหมณ์ผู้ประพฤติพรหมพรตพิธี ด้วยพระราชทานรางวัลแลการคารวะมิได้ลบหลู่ดูแคลน ย่อมดำรัสไต่ถามซึ่งเหตุแลใช่เหตุ อันจะพึงมีกับบ้านเมืองโดยนิมิตรต่าง ๆ แลมีพระกมลสันดานกอบไปด้วยอนิจจะลักษณ ทรงสงเคราะห์แก่คนชราพยาธิอะนาถาหาญาติมิได้ด้วยพระราชทรัพย์ ให้มีอาหารบริโภคแลผ้านุ่งห่มทั่วทั้งพระราชอาณาเขตร กับโปรดพระราชทานอไภยแก่ชีวิตรสัตว์ ห้ามมิให้ผู้ใดฆ่าช้างม้าโคกระบืออันเปนของมีคุณกับมนุษย์เปนอันขาดทีเดียว เดชะผลอานิสงส์ ซึ่งทรงสร้างสมกองการพระราชกุศลต่าง ๆ เปนทฤษฐธรรมเวทนีย์ บันดาลให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระจำเริญศุขสวัสดิ เสวยศิริสมบัติบริบูรณ ด้วยพระโชคลาภต่าง ๆ มีกุญชรเสวตรแลสุวรรณหิรัญรัตน์ แล้วก็รุ่งเรืองพระเกียรติยศ มีพระเดชเดชานุภาพแผ่ผ่านไปในอเนกนา ๆ ประเทศทั้งปวง มีแต่พระนครเปนมหามิตรไมตรี จะได้มีเมืองเปนข้าศึกศัตรูนั้นหามิได้ กรุงพระมหานครศุโขไทยราชธานีก็มีแต่ความเกษมศุข ประดุจเทพยนครก็ปานกัน อันว่าพระบรมวงษาภิมุขมาตยาข้าทูลธุลีพระบาทฝ่ายหน้าฝ่ายใน แลสมณชีพราหมณ์ลูกค้าพานิชราษฎรประชาชายหญิงไพร่พ้าข้าแผ่นดินสิ้นทั้งมวน ต่างมีกมลจิตรสวามิภักดิ์สร้องสาธุการ สรรเสริญพระเดชพระคุณอวยไชยถวายพร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงพระจำเริญศุขสิ้นกาลทุกเมื่อ แลข้าพระองค์ผู้ชื่อศรีจุฬาลักษณ์ มิได้กล่าวความบรรยายว่าสมเด็จพระร่วงเจ้าจะเปนสมมุติวงษ์แลราชอสัมภินนะวงษ์ดั่งฤๅ พระอรรคมเหษีทั้งสองพระองค์นั้นจะเปนประยูรวงษ์ดั่งฤๅ จะมีพระราชโอรสชายหญิงมากแลน้อยเปนดั่งฤา แลพระบารมีบุญฤทธิศักดาเดชย่อมอัศจรรย์ในโลกย์เปนดั่งฤๅนั้น ด้วยเหตุเห็นว่านักปราชญผู้มีปัญญาท่านกล่าวพิศดารไว้แล้ว ถ้าผู้ใดจะใครรู้ใคร่ฟังจงไปเสาวนาในตำหรับจามเทวีวงษ์โน้นเทอญ ข้าพระองค์พึงใจจะกล่าวแต่ที่เปนความสวัสดิจำเริญ แก่สัตรีภาพทั้งปวงโดยเอกเทศให้พิศดาร ๚ะ

๏ เบื้องหน้าแต่นี้จะพึงพรรณาโดยอุปนิไสยสมบัติ ซึ่งข้าน้อยได้สร้างสมกองการกุศลมาแต่อดีตชาติ จึงตกแต่งรูปศิริวิลาศให้เปนที่จำเริญตา ทั้งได้กำเนิดในตระกูลวงษ์อันสูงศักดิ์บริบูรณ์ด้วยสมบัติ และศฤงคารบริวารยศกอบไปด้วยสติปัญญา ว่าจะกล่าวคำสุภาสิตตั้งตำหรับ สหายเทวีวงษ์ไว้ในสยามประเทศ ให้จฤฐิติกาลอยู่ในโลกย์ได้ชั่วฟ้าแลดิน อันว่าบิดามารดาข้าน้อยนี้เปนตระกูลพราหมณมหาศาลชาติเวรามเหศร์ ทั้งวงษาคณาญาติก็มีเปนอันมาก นามบิดาชื่อโชตะรัตน์มารดาชื่อเรวะดี สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินชุบย้อมบิดาข้าน้อยนี้เปนพระมหาปะโรหิต ตำแหน่งนามนั้นออกพระศรีมโหสถ ยศกมเลศครรไลยหงษ์ พงษ์มหาพฤฒาจาริย์ มีเกียรติยศยิ่งกว่านักปราชญราชบัณฑิตย์ทั้งปวง ได้บังคับบัญชากิจการตกแต่งพระนคร มีทำการพระราชพิธีสิบสองเดือน เปนต้น แลเมื่อข้าน้อยนี้ปฏิสนธิในครรภ์มารดา ๆ นิมิตรฝันว่า ได้เยี่ยมบัญชรพระเจ้าแผ่นดินชมแสงพระจันทร์อยู่จนตื่น บิดาฝันว่าพรรณดอกไม้ต่าง ๆ แย้มบานเกษรใช่ฤดูการ หอมกลิ่นรวยรื่นไปทั่วทั้งจังหวัดพระนคร เหตุนิมิตรดั่งนี้ท่านทั้งสองก็ได้ทำนายไว้ ว่าจะได้บุตรเปนธิดา จะมีบุญพาศนาพร้อมด้วยสติปัญญาแลเกียรติยศเปนที่พึ่งแก่วงษ์ญาติได้เปนแท้ วันข้าคลอดจากครรภ์มารดา พื้นอากาศก็ปราศจากเมฆ พระจันทร์ก็ทรงกลดแสงประภัศร รัศมีขาวเจือสีเหลืองอ่อน เสวยฤกษบุษยะวันเพ็ญเดือนสามปีชวดสัปตศกจันทะวาระดฤถี ซึ่งมีในกำหนดศักราชไว้ในที่นี้ ด้วยปีนั้นยังใช้โบราณศักราช สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินยังหาได้ลบศักราชตั้งตยุลศักราชขึ้นใหม่ไม่ ประการหนึ่งหมู่ญาติสัมพันธมิตรต่างมีน้ำใจเบิกบาน บ้างก็นำมาซึ่งดอกไม้ทอง สนอบเกล้าทอง จุธาทอง ประวิชทอง กุณฑลทอง ธุรำทอง วะไลยทอง ของเจ็ดสิ่งเฉลิมขวัญข้าน้อยนี้โดยมากกว่าของทั้งปวง พระศรีมโหสถผู้บิดาเห็นเปนมงคลนิมิตร ประกอบกับลักษณข้าน้อยอันมีฉวีวรรณเรื่อเหลือง ประดุจฉะโลมลูบด้วยแป้งสารภีทั่วทั้งกะรัชกาย จึ่งให้นามกรข้าน้อยนี้ชื่อนพมาศ แล้วหยิบยกเอาสุวรรณแปดน้ำร้อยตำลึงออกให้เปนของโลมขวัญ ทั้งท่านให้อาราธนาพระมหาเถรานุเถรแปดสิบพระองค์ เชิญพระพุทธปฏิมากรมาประดิษฐานเปนประธาน นิมนต์พระมหาเถรเจ้า จำเริญพระมงคลสูตร พระรัตนสูตร พระมหาสมัยสูตร ถ้วนคำรบเจ็ดวันเจ็ดครั้ง เพื่อจะให้เปนสวัสดิมงคลแก่ข้าน้อยนี้ แล้วท่านให้อัญเชิญพระครูพรหมพรตพิธีกับหมู่พราหมณาจารย์หกสิบคน ล้วนแต่ชำนาญในไตรเพทมาประชุมกันตั้งพระเทวะรูปประจำทิศทำการพิธีระงับสรรพไภย พิธีไชยมงคลสิ้นสามทิวาราตรีถ้วนสามครั้ง ท่านถวายไทยธรรมแก่พระมหาเถรเจ้าให้บริบูรณ์ด้วยไตรจีวรสมณบริขารกับปิยะการก สิ้นทุก ๆ พระองค์ สักการะหมู่พราหมณ์ด้วยทรัพย์อันเปนแก่นสารก็พอเพียง แล้วท่านอุทิศส่วนกุศลให้อุปถัมภ์บำรุงข้าน้อย ผู้เปนบุตรให้เจริญชนมายุมีความศุขปราศจากโรคันต์อันตรายต่าง ๆ สิ้นกาลทุกเมื่อ อันผู้สำหรับอภิบาลบำเรอเลี้ยงข้าน้อยนี้ บิดามารดาท่านเลือกสรร เอาแต่คนมีศีลาจาระวัต ทั้งฉลาดในการวิชชาช่างต่าง ๆ ให้พิทักษ์รักษาอยู่เปนนิตย์ จนข้าน้อยค่อยจำเริญรู้พูดรู้เล่น หมู่ชนซึ่งเปนผู้เลี้ยง จะได้ให้เล่นสิ่งนั้น ๆ เหมือนเด็กทั้งหลายหามิได้ สอนให้เล่นแต่ร้อยกรองวาดเขียน แลชวนพูดเปนกลบทกลกลอนเจือด้วยคำสุภาสิตทุกวันคืน จนข้าน้อยมีชนมายุศม์ได้เจ็ดขวบ พระศรีมโหสถผู้บิดาก็ให้เล่าเรียนอักษรสยามพากย์ แลอักษรสังสกฤต ได้ชำนิชำนาญ แล้วจึ่งให้เรียนพระพุทธวัจนะพอรู้ศัพท์รู้แปลตามกลประโยคที่ตื้น ๆ แล้วท่านก็ให้เรียนคัมภีร์ไตรเพท ให้รู้ลักษณะเอกโทตรีจัตวากากะบาททัณฑฆาฎไต่คู้ สศษไม้ม้วนไม้มลายประวิสัญชนีฝนทองฟองดันนฤคหิต ทีฆะรัสสะสิถิลธนิตครุละหุอักขระสระพยัญชะนะ เห็นรู้จะแจ้งเจนใจเปนอันดี แล้วจึ่งสอนให้แต่งกลบทกลกลอน กาพย์โคลงฉันทลิลิตไว้วางถ้อยคำสำนวนตามคะตินักปราชญ์ ทั้งท่านให้เรียนคัมภีร์ไตรวิชชาตามตำหรับโหราสาตร สอนให้ดูดาวนพเคราะห์นักขัตฤกษ์จนรู้ลักษณะทายร้ายแลดี ๚ะ

๏ แต่ข้าน้อยร่ำเรียนสรรพวิชาการทั้งมวน ตั้งแต่เจ็ดขวบจนจำเริญชนมายุศม์ได้สิบห้าปี ก็ถึงซึ่งชำนิชำนาญสิ้นเสร็จนับว่าเปนสัตรี นักปราชญ์ฉลาดรู้คดีโลกย์คดีธรรมในแผ่นดินได้คนหนึ่งแท้จริง เบื้องหน้าแต่นั้นท่านบิดามารดา ก็มอบทรัพย์แสนตำลึงให้เพื่อประโยชน์จะได้เปนสินสำหรับใช้สอยซื้อจ่ายเครื่องแต่งกาย แลข้าน้อยนี้มีกระมลจิตร์กอบด้วยศรัทธาอุสาหบำเพ็ญทานการกุศล บริจาคทรัพย์ออกปฏิสังขรณ์ เจดียฐานต่าง ๆ มีพระวิหารทานแลสถานพระเทวะรูปเปนต้น อันว่าความเคืองเข็ญสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะได้บังเกิดมีแก่ข้าน้อยนี้ก็หามิได้ อยู่ในตระกูลบิดามารดาเปนผาสุกสบายสิ้นกาลเปนนิจ ฝ่ายว่าหมู่คะณาญาติทั้งหลาย ซึ่งได้เห็นข้าน้อยนี้บริบูรณ์ไปด้วยสมบัติทั้งสาม คือรูปะสมบัติปัญญาสมบัติทรัพย์สมบัติ ก็ชวนกันพูดจาสรรเสริญทุกเช้าค่ำ จนประชาชนชาวพระนครรู้กิติศัพท์แพร่หลายเล่าฦๅต่อ ๆ กันไป มีทิสาปาโมกขนักเลงขับผู้หนึ่งคิดนิพนธ์ผูกเปนกลอนเพลงขับ สรรเสริญข้าน้อยนี้ไว้ว่า ๚ะ

๏ พระศรีมะโหสถ ยศกมเลศครรไลหงษ์ มีธิดาประเสริฐเฉิดโฉมยง ชื่ออนงค์นพมาศวิลาศลักษณ์ ละไมละม่อมพร้อมพริ้งยิ่งนารี จำเริญศรีสมบูรณ์ประยูรศักดิ์ เนื้อเหลืองเล่ห์ทองผ่องผิวภักตร์ เปนที่รักดังดวงจิตรบิดรเอย ๚ะ

๏ โฉมนวลนพมาศ เปนนักปราชญ์ฉลาดด้วยบิดาสอน ช่างกล่าวถ้อยมะธุรศบทกลอน ถวายพรพรรณาพระพุทธคุณ สาระพัดจะพึงใจไปครบสิ่ง เปนยอดหญิงยิ่งธิดาทุกหมื่นขุน แต่ก่อนปางสร้างกุศลผลบุญ มาเกื้อหนุนให้งามวิไลเอย ๚ะ

๏ ดวงดอกอุทุมพร ทั่วนครหายากฉันใดไฉน จะหาสารศรีเสวตรในแดนไพร ยากจะได้ดั่งประสงค์ที่จงจินต์ จะหานางกัลยาณีนารีปราชญ์ ประหนึ่งอนงค์นพมาศอย่าหมายถวิล จะหาได้ในท้องพระธรณิน ก็ด้วยบุญเจ้าแผ่นดินอย่างเดียวเอย ๚ะ

๏ บรรดาหญิงชายนักเลงขับทั้งหลาย ต่างก็ขับพิณด้วยกลกลอนเรื่องสรรเสริญข้าน้อยดั่งนี้ทั่วไปทุกแห่งทุกตำบล ครั้นนานมาหมู่นางพนักงานบำเรอสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ได้ฟังเพลงขับก็จำได้ เวลาวันหนึ่งนางบำเรอขับเพลงพิณขึ้นบำเรอโดยกลบทกลอนดังนี้ ขณะนั้น สมเด็จพระร่วงเจ้าได้ทรงสดับ จึงดำรัสถามนางบำเรอทั้งปวงว่าเพลงขับเรื่องนี้ ผู้ใดตกแต่งให้ ได้มาแต่ที่ดั่งฤา นางบำเรอก็กราบทูลว่า ข้าพระองค์จะได้ทราบว่าผู้ใดนิพนธ์ผูกเพลงขับเรื่องนี้นั้นหามิได้ แต่ข้าพระองค์ได้ฟังหญิงคนขับนอกพระราชฐาน เข้ามาขับก็จำได้ จึงขับถวายด้วยสำคัญใจว่าไพเราะห์ สมเด็จพระร่วงเจ้าก็ทรงดุษณีภาพนิ่งอยู่ แล้วก็พระราชทานรางวัลเปนต้นว่าเครื่องแต่งกายให้นางพนักงานบำเรอทั้งปวงตามสมควร อยู่มาวันหนึ่งเปนเวลาราตรีพระจันทร์ส่องแสงสว่าง สมเด็จพระร่วงเจ้าเสด็จยังพระที่นั่งพิศาลเสาวรศในพระราชอุทยาน ทรงประพาศพรรณดอกไม้อันมีกลิ่นรวยรื่นด้วยพระพายรำเพยพัดสำราญราชหฤไทย จึงดำรัสสั่งให้นางพนักงาน บำเรอขับเพลงพิณเรื่องสรรเสริญรูปศรีวิลาศธิดาพระศรีมโหสถถวายจนสิ้นบท แล้วจึงมีพระราชบัญชาตรัสถามนางท้าวชาวชะแม่ทั้งปวง ว่าเพลงขับดั่งนี้ผู้ใดจะยังรู้บ้างว่าพระศรีมโหสถมีธิดาประกอบไปด้วยรูปลักขณะ และฉลาดรู้สรรพวิชาต่าง ๆ ดังนี้จริงและฤๅ ๆ จะเปนผู้ซึ่งผูกเพลงขับแสร้งประดิษฐสรรเสริญให้แต่พอไพเราะแก่โสตมหาชน ขณะนั้นท้าวจันทรนารถภักดี ผู้เปนใหญ่ในชะแม่จ่าชาจึงกราบบังคมทูลว่าข้าพระองค์ทราบอยู่ว่าพระศรีมโหสถมีธิดารูปงามคนหนึ่งฉวีวรรณ์เรื่อเหลือง บิดาจึงให้นามชื่อนพมาศ มีอายุศม์ได้สิบห้าปีปลาย เรียนรู้ไตรเพทไตรวิชาเฉลียวฉลาดมีมารยาตร์เปนอันดีพร้อมด้วยศีลาจารวัต ควรจะเปนพระสนมกำนัลอยู่ในพระราชถาน ผู้นิพนธ์เพลงขับจะได้แสร้งสรรเสริญแต่พอเพราะเหมือนเพลงขับต่าง ๆ นั้นหามิได้ สมเด็จพระร่วงเจ้าครั้นได้ทรงสดับทราบดังนั้น จึงดำรัสสั่งท้าวจันทรนารถภักดี ว่าจงนำธิดาโชตรัตน์ผู้เปนพระศรีมโหสถ มาไว้เปนนางพระสนมอยู่ในพระราชวังให้เปนเกียรติยศแก่บิดาเถิด ท้าวจันทรนารถภักดีก็รับพระราชบัญชา ไปสั่งออกญามณเฑียรบาลวัง ให้มาแจ้งความแก่พระศรีมโหสถ ผู้บิดาข้าน้อยนี้โดยพระราชบริหาร ครั้นพระศรีมโหสถได้ทราบประพฤติเหตุดังนั้น ก็มีความอาไลยในข้าน้อยผู้ธิดานี้ยิ่งนัก แต่ทว่าได้เห็นนิมิตรแต่หลังรู้อยู่ว่าธิดาคนนี้เกิดสำหรับบุญบารมีจะได้เปนบาทบริจาร์พระมหากษัตร์ จึงมิได้คิดที่จะแก้ไขเกียดกัน ท่านจึงกำหนดวันอันเปนมงคล ต้องด้วยชะตาราศรีข้าน้อยนี้กับราชบุรุษ ว่าจะนำนางนพมาศผู้ธิดา ขึ้นทูลถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยพระราชหฤไทยประสงค์ แล้วท่านบิดามารดาก็จัดแจงการซึ่งจะให้เปนสวัสดิ์จำเริญ แก่ข้าน้อยผู้เปนธิดาโดยความรัก เปนต้นว่าให้ตั้งน้ำวงด้ายอาราธนาพระภิกษุสงฆ์ มาจำเริญพระปริตรดน้ำพระพุทธมนต์ เพลาเช้าก็อังคาสพระภิกษุสงฆ์ด้วยโภชนิยะขาทะนิยะ แล้วให้ข้าน้อยถวายไชยทานอันประณีตแก่พระสงฆ์เจ้าเปนอันมาก หนึ่งโสตท่านให้อัญเชิญหมู่พราหมณาจารย์ มาบันฦๅเสียงสังข์อ่านอิศวรเวทวิศณุมนต์ ให้ข้าน่อยนั่งเหนือตั่งไม้ไชยพฤกษ์ ผันหน้าต่อบูรพทิศเสียดแซมช้องผมด้วยใบชุมแสง ทัดทรงใบพฤกษเวฬู สองเท้าเหยียบไม้รงับ หมู่พราหมณ์ก็นำปัญจะมหานทีอันลอยด้วยเบญจอุบล โสรดสรงพระเทวะรูปแล้วและเชิญขึ้นสู่สังข์ มารินรดกะรัชกายข้าน้อยนี้ เพื่อจะให้เปนสวัสดิมงคล ครั้นแล้วท่านบิดาก็ให้เงินแลทองของต่าง ๆ แก่พราหมณ์ทั้งหลายเปนเครื่องบูชาสักการะ อนึ่งท่านบิดามารดาให้เชื้อเชิญหมู่ญาติและมิตร์มาประชุมกันในเคหะสถานพรักพร้อมแล้ว ท่านจึงให้ข้าน้อยนี้กระทำคำรพนบไหว้บันดาหมู่ญาติและมิตร์ของบิดาก็อวยไชยให้พรแก่ข้าน้อย ว่าแม่จะไปอยู่ในพระราชนิเวศวังสถาน เปนบาทบริจาริกสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ให้มีแต่ความผาสุกสบายทุก ๆ อิริยาบถปราศจากทุกข์ไภยไข้เจ็บแลอันตรายต่าง ๆ จงมีบุญพาศนาภิญโญยิ่ง ให้ได้เปนที่พึ่งแก่ฝูงญาติ เปนเกียรติยศปรากฎชื่อเสียงไปทั่วกัลปาวสาน ข้าน้อยก็น้อมเศียรเกล้าลงคำนับรับพรด้วยน้ำจิตร์โสมนัศยินดี ขณะนั้นพระศรีมโหสถผู้บิดาปราถนาจะลองปัญญาข้าน้อยนี้ ในที่ประชุมแห่งญาติและมิตร์ทั้งปวง จึงว่าดูกรนางนพมาศ อันสกุณชาติชื่อว่านกเบญจวรรณนั้น ย่อมประดับด้วยขนมีสีห้าสีอยู่ยังป่าใหญ่ ครั้นมนุษย์ได้มาเลี้ยงไว้ในนิคมคามหมู่มหาชนก็ชวนกันรักใคร่นกเบญจวรรณ ว่างามด้วยสีห้าสี ซึ่งเจ้าจะจากเคหาเหย้าเรือนไปอยู่ในพระราชนิเวศ ยังจะประพฤติตนให้นางท้าวชาวชะแม่พระสนมกำนัล สิ้นทั้งพระราชฐานรักใคร่ตัวได้แลฤๅ ข้าน้อยก็สนองคำบิดา ว่านกเบญจะวรรณ ปราศจากป่ามาอยู่ด้วยมนุษย์ หมุ่มนุษย์ทั้งหลายย่อมเปนที่จำเริญใจจำเริญตาในนกเบญจะวรรณอันงามด้วยสีห้าสี อันตัวข้าน้อยนี้จากญาติพงษ์พันธุ์ไปอยู่ในพระนิเวศเรือนหลวง ก็จะประพฤติตนให้ต้องด้วยคำสุภาสิตท่านกล่าวไว้ทั้งห้าอย่าง คือจะประพฤติวาจาให้อ่อนหวานมิได้เกินเลยแก่ท่านผู้ใดผู้หนึ่ง ที่จะควรเรียกแม่ก็จะเรียกว่าแม่ ควรจะเรียกว่าพี่ว่าป้าว่าน้าว่าอาก็จะเรียกว่าพี่ว่าป้าว่าน้าว่าอา มิให้ท่านผู้ใดรำคาญเคืองโสต ด้วยวาจากำเริบดังนี้อย่างหนึ่ง หนึ่งข้าน้อยจะประพฤติกายให้ละมุนละม่อมมิได้เย่อหยิ่งกรุยกรายผ้านุ่งห่มให้เสียดสีท่านผู้ใด และจะมิได้ดัดจริตเล่นตัวให้เคืองระคายไนยนาท่านทั้งหลาย ด้วยกำเริบกายดังนี้อย่างหนึ่ง ประการหนึ่งข้าน้อยจะประพฤติน้ำจิตรมิได้มีความอิจฉาฤษยาพยาบาท ปองร้ายหมายมาดหมิ่นแคลนท่านผู้ใด ให้น้ำจิตรเปนเวรแก่กันเลยดังนี้อย่างหนึ่ง ประการหนึ่งถ้าท่านผู้ใดมีน้ำใจ เมตตากรุณาข้าน้อยนี้โดยฉันสุจริต ข้าน้อยก็จะผูกพันรักใคร่มิให้กินแหนง ประพฤติตามคดีโบราณ ท่านย่อมว่าถ้าใครรักให้รักตอบดังนี้อย่างหนึ่ง ประการหนึ่งถ้าข้าน้อยเห็นท่านผู้ใด ทำความดีความชอบในราชกิจก็ดี แลทำถูกต้องด้วยขนบธรรมเนียม คดีโลกย์คติธรรมก็ดี ข้าน้อยก็จะถือเอาเปนเยี่ยงอย่าง กระทำสิ่งที่ดีตามท่านให้สมด้วยคำโบราณ ว่าถ้าใครทำชอบให้ทำตาม จะประพฤติดังนี้อย่างหนึ่ง และนกเบญจะวรรณย่อมประดับด้วยขนมีสีห้าสี จึงเปนที่รักแก่หมู่คนทั้งหลายฉันใด อันตัวข้าน้อยนี้จะประพฤติแต่ความดี ให้ต้องตามสุภาสิตทั้งห้าอย่าง ก็ย่อมจะเปนที่รักแก่นางท้าวชาวพระสนม ทั่วทั้งพระนิเวศเช่นนกเบญจะวรรณฉันนั้น ขอท่านอย่าได้มีความวิตกด้วยเหตุอันนี้เลย ครั้นหมู่ญาติและมิตรของบิดา ได้สดับฟังคำข้าน้อยก็ยินดีปรีดาชวนกันสรรเสริญ ว่าแม้นแม่ประพฤติตนได้ดังนี้แล้ว ก็จะมีแต่ความจำเริญดียิ่งนัก ลำดับนั้นท่านบิดาจึงถามข้าน้อยนี้ต่อไป ว่านี่แน่นางนพมาศบัดนี้ตัวเจ้า จะไปเปนข้าบาทพระเจ้าแผ่นดินเหมือนด้วยบุตรนัดดาตระกูลทั้งปวง มีตระกูลขัติยะและคะหะบดีเปนต้น อันธรรมดาพระมหากษัตร ย่อมมีพระราชอาชญาเหมือนด้วยกองเพลิง มีพระเดชเดชานุภาพเหมือนด้วยอสรพิศม์ มิได้สนิทสนมคุ้นเคยด้วยตระกูลทั้งหลายเลย ถ้าผู้ใดมีความประมาทแลหาปัญญามิได้ ประดุจตั๊กแตนแมลงเม่าบินเข้าไปในกองเพลิง ๆ ก็สังหารให้ถึงซึ่งมรณาสิ้น บางทีเพลิงนั้นลุกลามไหม้เผาบ้านเรือนทรัพย์สิ่งสินให้พินาศฉิบหายสิ้นทั้งเจ็ดตระกุล อนึ่งบุทคลอันอยู่ใกล้เคียงคัวยอสรพิศม์นั้นเล่า ถ้าลืมความกลัวทำบังอาจหมิ่นแคลนเมื่อใด อสรพิศม์ก็จะพิโรธขบเอาให้ถึงกาลมรณะเปนแท้ ดูกรนางนพมาศอันสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน เสวยศิริราชสมบัติบริบูรณ์ด้วยบาทบริจาริก มีพระอัคมะเหษีก็สองพระองค์ พระสนมกำนัลนางบำเรอก็มีเปนอันมาก ล้วนแต่ทรงลักษณะรูปศิริวิลาศ เปนที่จำเริญพระหฤไทย ตัวเจ้ายังจะประพฤติในราชกิจให้ทรงพระเมตตาแก่ตัวได้ฤๅจะมิได้เปนดังฤๅ ครั้นข้าน้อยได้สดับดังนั้นจึงสนองคำท่านบิดาว่า มนุษย์ในโลกย์นี้พระมหากษัตรถึงซึ่งเปนใหญ่ ทรงอิศรภาพมีพระราชอาชญาเปนที่ยำเยงเกรงขาม แห่งหมู่มหาชนทั่วทั้งพระราชอาณาเขตร บุทคลผู้ใดจะเข้าเปนข้าท้าวบ่าวพญา ยากที่จะหยั่งใจตนได้ว่าพระมหากษัตรจะทรงพระเมตตาแลไม่เมตตามิควรจะพึงคิด แม้ผู้ใดมีอุปนิไสยวาศนากุศลหนหลังช่วยอุดหนุน ทั้งประกอบด้วยความพากเพียร มีสติปัญญารู้จักสิ่งผิดและสิ่งชอบ อย่าเกียจคร้านในราชกิจราชการทั้งปวง ย่อมสอดส่องปัญญาหยั่งดูให้รู้พระราชอัชฌาไศรย แล้วจงประพฤติตามน้ำพระไทยให้ทุกสิ่ง อย่าเอาแต่ใจตัวเปนประมาณ พึงมีอุสาหะทุกเช้าค่ำทำราชการจงสม่ำเสมอ อย่าทำบ้างไม่ทำบ้างเปนหมู่ ๆ วับ ๆ แวม ๆ เหมือนแมลงหิ่งห้อย อย่ารักผู้อื่นมากกว่ารักตัว อย่ากลัวคนมีบุญมากกว่าเกรงเจ้า อย่าเข้าด้วยผู้กระทำความผิด จะพิททูลความสิ่งใดอย่าได้กล่าวเท็จแกมจริง อย่านำพระราชดำริห์อันเปนความลับฝ่ายในออกไปไขฝ่ายนอก อย่าพึงทำน้ำใจโลเลริแรแชเชือน เช่นตั๊กแตนแล่นไปแล่นมา ราชกิจหลวงและประโยชน์ตนก็จะขาดลาภสักการของราษฎรก็จะพลอยสูญ จงมีใจสวามิภักดิ์รักใคร่ในพระเดชพระคุณสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันเปนที่พึ่งที่พำนัก แก่สรรพสัตว์ทุกหย่อมหญ้าแลใบไม้ ถ้านรชนชายหญิงจำพวกใด ซึ่งเปนข้าเฝ้าท้าวพญาประพฤติได้ ดุจคำสุภาสิตซึ่งข้าน้อยกล่าวนี้แล้ว ก็ย่อมจะเปนที่ชอบพระอัชฌาไศรย ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คงจะทรงพระกรุณาเมตตาชุบย้อมด้วยยศถาศักดิ์แท้จริง อันตัวข้าน้อยนี้ก็พึ่งจะไปเปนข้าบาท ยังหารู้ขนบธรรมเนียมสิ่งใดไม่ มีแต่จะตั้งใจรักษาตัวกลัวความผิด อนึ่งจะคอยสังเกตดูแบบแผนเยี่ยงอย่าง ท่านที่เปนคนคุ้นเคยชอบพระอัชฌาไศรยมาแต่ก่อน จะประพฤติในราชกิจทั้งมวนเปนดังฤๅ ครั้นอยู่นานไปพอเห็นเช่นได้รู้เงื่อนกระแสทราบในกิจราชการบ้างแล้ว ก็จะตั้งใจพากเพียรเพียงแต่เฝ้าแหนมิให้ขาด เมื่อใดพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงดำรัสใช้การงานสักเล็กน้อย มิมากแต่เพียงร้อยกรองบุบผชาติและวาดเขียนอันควรกับวิชาซึ่งข้าน้อยได้ศึกษาไว้ ก็จะมีความอุสาหะกระทำให้ถูกต้อง ตามพระราชหฤไทยประสงค์จงทุกสิ่ง แม้เห็นว่าค่อยทรงพระกรุณาเมตตาอยู่บ้างแล้ว ในราชกิจสิ่งใดถึงจะมิได้ดำรัสสั่งการควรพึงจะกระทำข้าน้อยก็จะกระทำ มิให้ขาดแคลนโดยใจภักดีให้เปนนิจ จะได้คิดแก่ลำบากยากเหนื่อยนั้นหามิได้ พอสอดส่องปัญญาหยั่งน้ำพระไทยได้ว่าทำดั่งนี้และชอบดั่งนี้มิได้ชอบถนัดแน่แก่ใจแล้ว ก็จะชักชวนพวกพ้องช่วยกันกระทำให้ชอบพระอัชฌาไศรยไปทุกอย่าง แม้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงพระเมตตา ก็เมื่อว่ากรรมของข้าน้อยนพมาศได้ทำไว้แต่ชาติหลัง ซึ่งจะประพฤติน้ำใจโลเลริแรแชเชือน ทำบ้างไม่ทำบ้างแล่นไปแล่นมาให้ขาดผลประโยชน์ทั้งพวกพ้อง เช่นนิทานนางนกกระต้อยติวิด อันนักปราชญ์ท่านกล่าวไว้ในสุภาสิตนั้น หาควรกับชาติมนุษย์ไม่ หนึ่งเล่าซึ่งจะทำแง่งอนเปนชั้นเชิงเล่นตัวไปต่างๆ ให้ต้องนิรเทศจนได้แต่ความโทมนัศเปนนิจ เช่นนิทานนางคชสารสองตัว อันมีในตำหรับกลสัตรีนั้นก็ไม่ควรกับชาติมนุษย์จะพึงกระทำ อันนิทานนางนกกระต้อยติวิดนั้น ว่ายังมีต้นไทรใหญ่อยู่ริมฝั่งคงคาต้นหนึ่ง มีกิ่งร่มปรกลงไปในแม่น้ำ หมู่มัจฉาชาติตัวน้อยๆ เข้าอาไศรยว่ายวนอยู่เปนอันมาก ภายใต้ต้นไทรนั้นมีสุมทุมอ้อแขม เปนที่อาไศรยแห่งฝูงนกกระต้อยติวิด มีรุกขเทวะดาองค์หนึ่งสิงสถิตย์อยู่บนต้นไทร อันว่านกกระต้อยติวิดทั้งหลายนั้น ถึงเพลาแสบท้องก็ลงไปหาปลาบริโภคตามชายเฟือยริมฝั่งน้ำใต้ร่มไม้ไทรเปนนิจ และนางนกกระต้อยติวิดตัวหนึ่งนั้น มีดำริห์จิตร์คิดเห็นว่า ต้นพระไทรใหญ่ต้นนี้มีพระคุณกับเรายิ่งนัก ได้อาไศรยร่มกิ่งใบเปนที่หลับนอน และเที่ยวหาอาหารเปนผาสุก ด้วยมิได้ต้องแสงพระอาทิตย์ให้ได้ความร้อนรน นางนกกะต้อยติวิดจึงประสารปีกทั้งสองยกขึ้นกระทำอัญชุลีแล้ว ก็ส่งเสียงอันไพเราะห์ร้องสรรเสริญคุณต้นพระไทรตามภาษาของตนวันละสามเพลา และเมื่อนางนกลงไปหาอาหารที่ริมฝั่งน้ำครั้งใด ครั้นได้อาหารบริโภคอิ่มแล้ว เมื่อจะกลับขึ้นมายังที่สุมทุมเคยอาไศรย ก็อมน้ำขึ้นมารดลงที่ใต้ต้นไทรใหญ่ทุกครั้ง ด้วยนางนกปราถนาว่าจะให้ต้นพระไทรงามบริบูรณ์ขึ้นกว่าเก่า เดชะผลซึ่งนางนกกระทำคำรพต้นพระไทรนั้น ก็บันดานให้ขนข้างหางปีกงดงามบริบูรณ์ด้วยสีสรรพ์วรรณะและมีกำลังกายยิ่งกว่านกกระต้อยติวิดทั้งหลาย ก็ถึงซึ่งสมมุติว่าเปนใหญ่กว่านกฝูงนั้นอันเปนบริวาร ดัพนั้นพฤกษเทเวศซึ่งสถิตย์อยู่ต้นพระไทรใหญ่ ครั้นเห็นนางนกกระต้อยติวิดประพฤติคำรพต้นพระไทรดั่งนั้นก็มีจิตร์เมตตากรุณา เมื่อนางนกลงไปแสวงหาอาหารตามชายเฟือยริมฝั่งน้ำเพลาใด เทวะดาก็บันดานให้มัจฉาอันถึงแก่มรณะ มาลอยวนอยู่จำเพาะหน้านางนกเปนอันมาก มิให้นางนกได้ความลำบาก ด้วยต้องเที่ยวแสวงหาอาหาร แต่นางนกนั้นน้ำใจโลเล มักรีแรแชเชือน ได้บริโภคอาหารจนอิ่มท้องบ้างครึ่งท้องค่อนท้องบ้าง ครั้นได้เห็นและได้ฟังฝูงนกอันเปนบริวารตัวใดตัวหนึ่งลงเล่นน้ำก็ดี และนอนแผ่หางกางปีกผึ่งแดดเล่นก็ดี แลวิ่งไปวิ่งมาร้องหยอกกันเล่นก็ดี นางนกก็ละอาหารเสีย แล่นไปดูไปเล่นไปนอนไปทำต่าง ๆ ตามนกทั้งหลายในฝูงของคนประพฤติ อันว่านกตัวอื่นครั้นเห็นนางนกนายฝูงละอาหารเสียแล้ว ก็ชวนกันบริโภคมัจฉาเปนประโยชน์แห่งตน ๆ เสียสิ้น แต่กาลก่อนนางนกเคยกระทำคำรพต้นพระไทรมิได้ขาด ครั้นนางนกสำคัญใจว่าตัวประเสริฐกว่านกทั้งปวงซึ่งเปนบริวาร ทั้งได้อาหารบริโภคก็โดยง่าย จิตร์นางนกก็สูงขึ้นข้างการกำเริบร่าเริง ได้คำรพพระไทรบ้างลืมเสียบ้าง พวกบริวารจะชักเชือนแชก็แร่รี่ไปตามใจ จนนกในฝูงของตัวก็รู้อัชฌาไศรย ว่าน้ำจิตร์นางนกนั้นโลเล เมื่อถึงเพลาไปหาอาหารบริโภคก็แสร้งกระทำต่าง ๆ ให้นางนกละอาหารเสียประดุจกล่าวแล้ว กาลนั้นรุกขเทพยุดา เห็นนางนกกะต้อยติวิดมีสันดานกำเริบกลับประพฤติน้ำจิตร์โลเลไปดังนั้น จึงคิดว่านางนกตัวนี้ได้กระทำความดีไว้แต่หลังมาเปนอันมาก จำเราจะไปให้โอวาทสั่งสอนดูสักครั้งหนึ่งจึ่งจะควร เทพยเจ้าดำริห์แล้วก็แปลงเพศเปนนกกระต้อยติวิดตัวผู้ มีรูปร่างงามพึงใจมาเจรจาประโลมนางนกให้ยินดีในการสังวาศ แล้วก็กล่าวคำชี้แจงสั่งสอนนางนกว่า ดูกรเจ้าผู้เปนที่รัก แต่ก่อนเราเห็นว่า เจ้ากระทำอัญชุลีคำรพนบนอบต้นพระไทรเปนนิจกาล อันความจำเริญก็บังเกิดมีแก่ตัวเจ้า จนรุกขเทวะดาซึ่งสถิตย์อยู่บนต้นพระไทรนี้ มีแต่ความเมตตากรุณาหวังจะมิให้เจ้าได้รับความลำบากยากเหนื่อย ช่วยบันดานอาหารให้บริโภคทุกเพลาไม่รู้ขาด บัดนี้เจ้ามาละเลยการคาระวะอันเปนความจำเริญของเจ้าเสีย มาประพฤติขาดบ้างเหลือบ้าง ทำจิตร์ใจเงื่อยโคลงประดุจขอนไม้อันลอยละลอกกลอกกลิ้งอยู่กลางน้ำ ไม่ควรที่จะดูเช่นเห็นอย่างกลับเอาสิ่งชั่วมาเปนดี ช่างไต่ตามหมู่นกอันธพาลสันดานสิ้นคิด แต่ละตัวมีลูกตาเหมือนด้วยนกฮูกนกเค้า และเหมือนด้วยในตาหุ่นยนต์คนเขาซักไขว่ขวัก ทำร่างกายจริตกิริยาเหมือนด้วยนกตัวผู้แลมีเหนียงแห้ง พอใจรับประทานอาหารจะบริโภคมิได้ดูก็น่านิรเทศเสียจากฝูง ควรฤๅเจ้ามานิยมยินดีข้างรีแรแชเชือน ถือเยี่ยงอย่างนกเหล่านี้หาชอบไม่ ฝ่ายนางนกก็ผินหน้าตอบคำเทวะวิหค ว่าข้าน้อยก็กระทำคำรพอยู่ แต่ขาดบ้างเหลือบ้างด้วยเคลิ้มสติหลงลืมไป นางนกว่าเท่าดังนั้นแล้วก็นิ่งเสีย เทพวิหคจึ่งว่าแต่นี้ไป เจ้าอย่าได้มีความประมาท ซึ่งเจ้าได้ร่วมรศฤๅดีด้วยเราครั้งนี้คงจะเกิดบุตร อันดรุณโปดกนั้นจะมีบุญพาศนา ประเสริฐกว่านกกระต้อยติวิดทั้งสกลชมพูทวีป จะได้เปนพญานกมีบริวาร นับด้วยร้อยแลพันเปนอันมาก เจ้าจงอุส่าห์ฟักฟองอย่าให้มีอันตรายสิ่งใดได้ เทวะวิหคสั่งเท่านั้นแล้วก็อันตรธานหายไป ขณะนั้นนางนกครั้นได้เห็นก็คิดอัศจรรย์ใจนัก จึงคนึงนึกหมายมั่นว่าชรอยรุกขเทวดา แสร้งแปลงเพศมาสั่งสอนเราเปนทางกระทบกระเทียบ นางนกจะได้เชื่อถ้อยถือคำไว้มั่นใจนั้นหามิได้ แต่ว่าค่อยได้สติสู้ทรมานจิตร์ ให้ยั่งยืนแน่นอนประพฤติตามโอวาทวิหคเทเวศได้สักสี่ห้าวัน ครั้นได้เห็นนกบริวารลางตัวก็เต้นตามกันไปข้างโน้นมาข้างนี้เปนที่สบายใจเริงรื่น นางนกก็กลับใจโลเลกระทำตามหมู่นกอันธพาลไปประดุจหนหลัง อยู่มาไม่นานนางนกก็ตกฟองของตนใบหนึ่งมีสีดุจแสงแก้วไพฑูรย์ นางนกก็ฟักฟองตามประเพณีนกกระต้อยติวิด ธรรมดานกกะต้อยติวิดนั้นจะนอนก็ดีจะฟักฟองก็ดี ย่อมนอนหงายเอาเท้าทั้งสองข้างขึ้นชี้ฟ้าด้วยสำคัญใจกลัวว่าฟ้าจะทุ่มทับลงมาจะได้เอาเท้าทั้งสองนั้นรับไว้ และเมื่อนางนกนอนหงายฟักฟองอยู่ได้เจ็ดแปดวัน เพลาวันหนึ่งเปนเพลาชายแสงพระอาทิตย์ นกในหมู่บริวารตัวหนึ่งนั้น มาร้องบอกพวกกันอื้ออึงว่าพญาหงษ์สีกะรัชกายเหลืองงามประดุจทอง มาจับอยู่ที่กิ่งพฤกษาริมสุมทุมตรงนี้ นกทั้งหลายต่างตนก็ตะลีตะลาน พากันไปดูพญาราชหงษ์ทอง นางนกครั้นได้ฟังดั่งนั้นก็มีจิตร์เสียวกระสันจนลืมสติ หาทันที่จะกลับตัวเอาเท้าลงเหยียบแผ่นดินไม่ ด้วยใจจะใคร่ไปให้ทันพวกพ้อง ก็แผ่หางกางปีกผกเผ่นขึ้นโดยกำลังเร็ว ฟองก็กลิ้งตกแตกเสียในขณะนั้น นางนกหาทันรู้ไม่ ลนลานรีบแร่ไปเชยชมรูปโฉมพญาหงษ์ อันเหลืองงามดั่งพรรณแห่งทอง ครั้นพญาหงษ์บินไปจากสถานที่นั้นแล้ว นางนกก็ยังเจรจาสรรเสริญรูปทรงพญาหงษ์อยู่กับพวกพ้องอีกช้านาน จะได้คิดระฦกถึงฟองที่ตนฟักอยู่นั้น สักขณะจิตร์หนึ่งนั้นก็หามิได้ ครั้นกลับมาที่อยู่เห็นฟองแตกทำลายก็ตกใจ ยืนเหลียวซ้ายแลขวาพอเห็นนกตัวหนึ่งอยู่ที่นั้นหาได้ไปดูพญาหงษ์ทองไม่ นางนกโทมนัศพลางโกรธพลาง ๆ ร้องว่ากับนกตัวนั้น ว่าทำไมอยู่กับที่นี้จึ่งไม่ช่วยระวังไข่ของเรา หารู้ไม่ฤๅว่าเราจะไปดูพญาหงษ์ทอง นกตัวนั้นหาปัญญามิได้ก็ไม่เถียงทะเลาะ หลีกไปเสียจากที่นั้นพอพ้นปาก ในเพลานั้นนางนกคิดเสียใจนัก ก็เที่ยวกระสับกระส่ายเสือกสนอยู่ตัวเดียว ขณะนั้นเทพยดารุกขะพระไทร เห็นความชั่วของนางนกกระต้อยติวิด จึ่งร้องลงมาว่าดูกรนางนก ตัวเจ้ามีรูปก็งดงามทั้งสำเนียงเสียงร้องก็ไพเราะห์ แต่น้ำใจนั้นลามกดูประดุจใบไม้อันต้องลม มีแต่หวั่นไหวอยู่เปนนิจนิรันดร์ อันสันทัศปาปะมิตร์ย่อมอับประมงคล หาควรจะอยู่ที่ใต้ต้นพระไทรใกล้เคียงกับเราไม่ เทพยเจ้าร้องว่าเท่านั้นแล้วก็บันดานให้เพลิงป่ามาไหม้สุมทุมและให้น้ำพัดชายเฟือย ซึ่งนกกระต้อยติวิดทั้งฝูงเคยอาไศรยหลับนอนและหาอาหาร ให้อันตระธานสาบสูญเสียสิ้น อันว่านกกะต้อยติวิดฝูงนั้น ก็ถึงซึ่งอับประภาคยากแค้น ได้ความเดือดร้อนด้วยอาหารการกิน เที่ยวระเหระหนทนเทวศอยู่สิ้นทั้งฝูง ต่างติเตียนนางนกผู้เปนนายว่าสันดานโลเลเร่ร่อน ทำให้เราพลอยอนาถาหาที่อยู่ที่กินมิได้ แต่นางนกกะต้อยติวิดตัวต้นเหตุนั้น ครั้นสิ้นคิดเข้าแล้วก็ได้แต่โทมนัศ นึกในใจขอให้รุกขะเทวะดาองค์นี้จุติไปเสียจากต้นพระไทร เราจะได้กลับคืนเข้าอยู่ยังถิ่นถาน เปนผาสุกสบายใจเช่นกาลก่อน แลนิทานนกกะต้อยติวิดซึ่งข้าน้อยบริยายนี้ ไม่ควรจะถือเช่นเอาเปนอย่าง ถ้ามนุษย์ชาติหญิงชายจำพวกใดประพฤติน้ำจิตร์เปนพาลสันดานโลเลแล่นไปแล่นมา เช่นนางนกกะต้อยติวิดตัวนั้นแล้ว ชื่อชั่วก็จะปรากฎเปนนิยายอยู่สิ้นกัลปาวะสาน

๏ อนึ่งโสตอันว่านิทานนางคชสารสองตัว ซึ่งมากไปด้วยมารยาสาไถย และเล่นตัวไปต่าง ๆ นั้น ข้าน้อยก็พึงใจจะกล่าวให้ท่านทั้งหลายฟังโดยพิศดาร แต่กาละก่อนโพ้นยังมีพญากุญชรชาติสุประดิษฐช้างหนึ่ง มีสีกายงามดั่งสีเมฆสนธยา ทรงพาหลกำลังอาจประจญพญาไกรสรราชสีห์ให้ถึงซึ่งอัปราไชยพ่ายแพ้ฤทธิ์ ทั้งดำเนิรมรรคาก็รวดเร็วได้วันละร้อยโยชน์โดยกำหนด เปนคเชนทรชาติอาชาไนยตัวประเสริฐ จะได้รู้สดุ้งตกใจเกรงกลัวไภยอันตรายสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้นหามิได้ ประกอบไปด้วยสติปัญญาสามารถจะหยั่งรู้ วาระน้ำจิตร์คชพังพลายซึ่งเปนบริวาร ว่ามีหมู่นี้เปนมิตร์หมู่นี้เปนศัตรู ทั้งฉลาดรู้ในคชธรรมสี่ประการ ให้โอวาทสั่งสอนช้างบริษัท ว่าท่านจะเจรจาสิ่งใดอย่าได้มุสาประการหนึ่ง ท่านอย่ารู้ถือโทษโกรธขึ้งฉะเลาะวิวาทกันประการหนึ่ง ท่านจงมีจิตร์เมตตากรุณา รู้รักใคร่กันประการหนึ่ง ท่านจงประพฤติสิ่งที่ดีดูเยี่ยงอย่างกันประการหนึ่ง เปนธรรมสี่ประการดังนี้ แลพญาคชสุประดิษฐนั้นมีสิ่งพิเสศในกายสามประการ คือหาโรคโรคามิได้นั้น ด้วยได้เสพโอสถอันเปนทิพย์ที่เขาคันธมาทน์ แลมีพลพหลกำลังมากนัน ด้วยได้บริโภคผลไม้หว้าประจำทวีป ซึ่งมีสีสรรพ์วรรณแดงงาม ประดุจแสงพระอาทิตย์เมื่อสนธยานั้น ด้วยได้ลงอาบน้ำชำระกายในอโนดาตสระ และมีสิ่งซึ่งสำราญหฤไทยพญาช้างนั้นก็สามประการ คือเร่ร่ายเชยชมสมพาศนาง กุญชรชาติตระกูลต่าง ๆ ซึ่งเปนบริวารนั้นประการหนึ่ง คือนางคชสารอันเปนอากาศจารี ซึ่งสัญจรอยู่ยังนภดลเวหาลงมาร่วมสังวาศด้วยพญาช้างนั้นประการหนึ่ง หนึ่งคือพญาช้างมาเที่ยวร่วมรศฤๅดี ด้วยนางกริณีอันอยู่ในแดนมนุษย์นั้นประการหนึ่ง และพญาคเชนทรชาติสุประดิษฐนี้ สถิตย์อยู่ยังแดนพระหิมพานต์อันบริบูรณ์ด้วยโป่งป่าโตรกเตริน เนินบรรพตเถื่อนถ้ำห้วยละหานธารท่านทีอันประดับด้วยตรุณคณานางไม้ ทั้งติณะชาติต่าง ๆ เขียวขจิตพึงใจ และพญาช้างนั้นมีบริวารคชพังพลายหลายตระกูล คะณะนานับมากกว่าหมื่น ล้วนประกอบไปด้วยรูปร่างต้องลักษณนามตามพะกระมุทบุษปะทันต์ปัณฑะเสาวโภมเผือกเนียม ซึ่งจะมีช้างโทษเข้าระคนปนอยู่แต่สักตัวหนึ่งนั้นหามิได้ อันว่าโอวาทของพญาช้างทั้งสี่ประการ หมู่คชบริพารก็ประพฤติสามัคคีรศ สโมสรพร้อมเพรียงกันเปนอันดี แลพญาสุประดิษฐนั้นจะได้มีความลำบาก ด้วยต้องแสวงหาภักษหญ้าอาหารหามิได้ ด้วยช้างโคตรพลายเพรียวอันเปนบริวารปันเวรกันไปเที่ยวหักกิ่งโพบายไตรตร่างรวกรังแขมข่อยอ้อยช้าง กล้วยป่าหญ้าลมานมากองไว้ในที่อันสมควรเปนนิจนิรันดรมิได้ขาด จึงมีนางกริณีอันเปนที่พึงใจพญาคชสารเปลี่ยนเวรกันวันละสองช้าง สำหรับนำพฤกษาหารเข้ามาให้พญาช้างบริโภค ถ้าและนางคชสารตัวใดได้เปนเวรบำเรอพญาช้างแล้ว ก็ถึงซึ่งบริบูรณ์ด้วยลาภสักการะ คือได้บริโภคกิ่งไม้และใบหญ้า ในส่วนอันเปนอาหารพญาช้างนั้นด้วย หนึ่งเล่าแม้นพญาช้างสารไปเสพโอสถทิพย์ก็ดี ไปบริโภคผลหว้าประจำทวีป แลน้ำในสระอะโนดาตก็ดี พญาช้างบริโภคแล้วย่อมนำของวิเสศมาด้วยปากด้วยงวงให้กับนางกริณี ซึ่งเปนเวรปฏิบัติด้วยทุกครั้ง เหตุดั่งนั้นนางคชคะชินทร์อันเปนผู้บำเรอ จึงจำเริญรูปศิริและศรีสรรพ์วรรณะ ประเสริฐยิ่งกว่าคชบริวารทั้งมวน อันว่าพญาหัศดินสุประดิษฐ สถิตย์ยังแดนป่าพระหิมพานต์ ย่อมบริบูรณ์ด้วยน้ำหญ้าพฤกษาหารมิได้ขัดสน สะพรั่งพร้อมด้วยคชาชาติพลายพังทั้งหลายซึ่งเปนยศบริพาร ก็ปราศจากไภยอันตราย มีแต่ความเกษมศุขบันเทิงเริงรื่นสิ้นกาลเปนนิจ สมัยหนึ่งปลายระดูคิมหันต์ วัษวะลาหกพึ่งจะตกประปราย เปนเทศกาลพรรณหมู่ไม้ระบัดใบอ่อนทั้งผลิดอกออกผล มัคะมรรคาก็ดาดาษด้วยติณะชาติต่าง ๆ มีพรรณอันเขียว จึงพญาคชลักษณะสุประดิษฐ คิดจะไปบริโภคผลไม้หว้าประจำทวีป ก็สัญจรออกจากฝูงไต่เต้าไปแต่ผู้เดียว เหตุว่าพญาช้างทรงพหลกำลังมาก แม้จะไปทางไกลยิ่งด้วยร้อยโยชน์โดยด่วน คชบริวารพลายพังทั้งหลายไม่สามารถจะติดตามไปได้ ด้วยว่ามีกำลังน้อย พญานาเคนทรสุประดิษฐจึงต้องดำเนิรแต่ผู้เดียวเปนธรรมดาดังนี้ทุกเมื่อ ครั้นพญาช้างไปถึงสถานที่ต้นไม้หว้าประจำทวีป ก็บริโภคผลสุกห่ามตามปราถนาพอควรกับประโยชน์แล้ว ก็นำมาซึ่งผลหว้าขอนหนึ่งอันใหญ่ประมาณสามอ้อมบุรุษ เพื่อจะให้กับนางคชสารอันเปนเวรบำเรอนั้นบริโภค พญาช้างชาติสุประดิษฐเมื่อกลับมาถึงที่อยู่พอพระสุริยบ่ายชายแสง ในเพลาวันนั้นเปนเวรนางพัง อันมีนามชื่อว่าทันตะกุมภะ กับนางพังอันชื่อว่ามารมุขีทั้งสองช้างนี้จะได้บำเรอพญาสุประดิษฐ และนางพังซึ่งชื่อทันตะกุมภะนั้นเหตุว่ามีขนายใหญ่เหมือนด้วยรูปหวด สมกับโฉม จึงได้ชื่อทันตะกุมภะ หนึ่งนางพังอันชื่อมารมุขีนั้นแล่า เหตุว่ามีโทษะหน้าบึ้งเหมือนดังโกรธอยู่ตาปี จึงได้ชื่อว่ามารมุขีโดยลักษณะ แลนางคชสารทั้งสองนี้ไม่ประพฤติตามโอวาทพญาช้าง มีน้ำใจอิจฉาฤษยาซึ่งกันแลกันด้วยการบำเรออันนางทันตะกุมภะนั้นมีสันดานมากไปด้วยมารยา พึงใจที่จะทำเล่นตัวอวดช้างข้างนอกให้รู้ว่าพญาช้างต้องอ่อนง้อขอรักด้วยเหตุเรียกหาภาใจ เพลานั้นนางทันตะกุมภะทำนิ่งเฉยเสีย มิได้นำพฤกษาหารไปบำเรอพญาช้าง ด้วยใจคิดว่าพญาช้างไปประพาศทางไกล แรมค้างอยู่หลายทิวาราตรี เห็นจะมีฤๅไทยนึกคนึงถึงเราเปนอันมาก . เราจะนิ่งเสียให้นางพังมารมุขีเข้าไปบำเรอก่อนเรา พญาช้างก็มิได้พึงใจคงจะให้นางพังมารมุขีมาเรียกเรา ช้างข้างนอกก็จะเห็นว่าเราดีกว่านางพังมารมุขี ฝ่ายช้างนางมารมุขีนั้นเล่าก็เปนใจเจ้าแง่เจ้างอน คิดว่าเวลานี้พญาช้างได้ผลหว้ามา ก็คงจะให้กับนางพังทันตะกุมภะ ถ้าเราจะเข้าไปบำเรอบัดนี้ก็เห็นประหนึ่งว่า เราทยานหยากของวิเศษยิ่งนัก หนึ่งเล่าพญาช้างกลับใช้ให้เรามาเรียก นางทันตะกุมภะเข้าไปให้ผลหว้ากับเขา ตัวเราจะมิได้ความอับประยศ แก่ฝูงช้างข้างนอกเปนสองซ้ำสามซ้ำและฤๅ อันว่านางพังทั้งสองต่างทำมารยาแง่งอน ถือชั้นเชิงกันอยู่อย่างนี้ จนขาดการซึ่งจะนำพฤกษาหารเข้าไปบำเรอพญาช้างในเพลานั้น ฝ่ายพญาหัศดินสุประดิษฐเมื่อได้เห็น นางพังทันตะกุมภะและนางพังมารมุขี หานำพฤกษาหารมาให้บริโภคก็คิดอัศจรรย์ใจ จึงใช้นางพังตัวหนึ่งให้ไปถามนางคชสารทั้งสอง ว่าเหตุไรจึงไม่นำพฤกษาหารมาให้เราบริโภค นางพังผู้รับใช้ก็ไปถามสองนางกริณีดุจคำพญาช้างสั่ง นางทันตะกุมภะก็บอกว่าเพลานี้เราเปนไข้สารสนิศ คือเปนไข้ประจำตัวช้างให้หาวด้วยลมกำเริบ ข้างนางพังมารมุขีนั้นบอกว่า ครั้นเราจะไปรับการบำเรอเล่า ก็กลัวนางทันตะกุมภะจะว่าเราไปชิงของวิเศษซึ่งจะได้กับเขา ด้วยเขาเคยว่ากล่าวกระทบกระเทียบเปรียบปรายเรามาหลายครั้งแล้ว นางพังผู้รับใช้ก็กลับมาแถลงความดุจถ้อยคำนางคชสารทั้งสองให้พญาช้างทราบ ขณะนั้นพญาคเชนทรชาติสุประดิษฐได้สดับก็สอดส่องปัญญาหยั่งทราบโดยถ้อยคำนางพังทั้งสองกล่าวเห็นเปนชั้นเชิง ถือเปรียบแก่งแย่งกันดังนั้นพญาช้างมีความโกรธยิ่งนัก จึงร้องก้องโกญจนาทด้วยสุระเสียงเปนอันดัง ว่าช้างชาติชั่วสันดานลามก ดีแต่จะเล่นตัวหาชั้นเชิงไปทุกอย่าง ตั้งใจอิจฉาพยาบาทกันเหมือนดังช้างหาชาติหาตระกูลมิได้ เมื่อไม่ประพฤติสามัคคีรศตามโอวาทเราแล้ว ก็อย่าอยู่ในหมู่ในฝูงให้เปนอับประมงคล กับกุญชรชาติพลายพังทั้งหลายเลย พญาช้างจึงสั่งนางพังแม่หนัก ให้กัดหางนางพังทันตะกุมภะ กับนางพังมารมุขีเสียเพียงเข่าให้เสียโฉม แล้วก็ให้ช้างพลายโคตรที่พลายเพรียวไล่แทงนางคชสารทั้งสอง นิระเทศเสียจากฝูงในขณะนั้น อันว่านางพังทันตะกุมภะ และนางมารมุขี ทั้งสองคชกริณีนั้นก็ได้ความอายอับประยศแก่นางพังทั้งหลายผู้เพื่อนฝูง ทั้งต้องออกจากหมู่เที่ยวทนทุกขเวทนาอยู่แต่สองช้าง จะได้บริโภคน้ำหญ้าพฤกษาหารก็ยากแค้น ด้วยต้องอยู่ที่ชายป่าอันกันดาร ครั้นได้คิดก็เสียใจ คิดขึ้นมาทีไรก็ไห้ช้างครางครวญอยู่เปนนิจ ในลำดับนั้นอันว่านางกุญชรชาติอากาศะจารี เคยมาสู่สำนักพญาช้างแต่กาลก่อน วันหนึ่งนางอากาศะจารีเหาะมา ยังที่อยู่พญาคชาชาติสุประดิษฐ เมื่อมิได้เห็นนางพังทันตะกุมภะ แลนางมารมุขีในที่ใกล้เคียงพญาช้าง เหมือนด้วยนางพังผู้บำเรอทั้งปวงเช่นกาลก่อน จึงเที่ยวไต่ถามนางกริณีทั้งหลาย ก็ทราบความว่าต้องนิระเทศ เหตุด้วยการมิควรจะพึงประพฤติ นางอากาศะจารีจึงคิดแต่ในใจว่า แต่ก่อนนางคชสารทั้งสองนี้ถ้าเห็นเรามาสู่ที่พญาช้างครั้งใดแล้วก็มักทำลูบขนายส่ายงวง ทำตะปัดตะป่องแสร้งเล่นตัวอวดเรานี้ต่าง ๆ บัดนี้ต้องนิระเทศเสียจากฝูง เราจะไปว่ากล่าวถากถางให้สาใจ ครั้นคิดดั่งนั้นแล้วนางอากาศะจารี ก็ดำเนินเที่ยวแสวงมาจนพบนางพังทันตะกุมภะกับนางมารมุขี ยืนปรบหูอยู่ที่ใต้ต้นตะเคียนใหญ่ จึงเดินเข้าไปใกล้แล้วทำถามว่า เหตุไรท่านทั้งสองมาอยู่ในที่นี้ นางพังทันตะกุมภะมีความละอายใจ ก็เมินหน้าเสียหาตอบประการใดไม่ แต่นางพังมารมุขีนั้น ผินหน้าตอบว่ากรรมมาถึงแล้ว ใช่การท่าน ๆ อย่าได้ถามเราเลย นางอากาศะจารีจึงว่านี่แน่เจ้า ฉะช่างคิดชอบถูกชั้นเชิงกันนี่กระไร ข้างโน้นก็อวดดีข้างนี้ก็ไม่รับแพ้ ดีแต่จะเล่นตัวไปอย่างเดียว ยิ่งเห็นว่ารักก็ยิ่งหนักขึ้นเจียวจนต้องนิระเทศ ดูกรท่านทั้งสองผู้เปนชาติคชสารเหมือนด้วยตัวเรา เออจะยังปัญญาคิดบ้างก็เปนไร อันพญาหัสดินชาติสุประดิษฐนี้ มีบุญญาธิการมากประดุจเทพยดาในชั้นสวรรค์ ทั้งทรงพหลกำลังและเดชานุภาพ ก็เหมือนด้วยพญาไกรสรสีหราชมีสีกายแดงงามปานดังแสงพระอาทิตย์เมื่ออัสดงคต งาทั้งสองสลวยงามเปรียบประหนึ่งท่อนแก้วมณี แล้วก็ทรงซึ่งปัญญาอาจหยั่งรู้น้ำจิตร์คชสารอันเปนบริษัทมากกว่าหมื่น ทั้งประดับด้วยนางกริณี อันมีตระกูลต่าง ๆ เปนบริพารยิ่งด้วยร้อย นี่แน่ท่านทั้งสองอันพญาช้างมีบุญประเสริฐเลิศล้ำถึงเพียงนี้ หรือจะให้เฝ้าวอนง้อขอรัก เรียกหาพาใจไปทั้งตาชาดตาปี ชั่งไม่เหลียวดูร่างกายและตระกูลของท่านบ้างว่ามีบุญพาศนาเปนดังฤๅ เราก็รู้อยู่ว่าท่านผู้มีนามทันตะกุมภะนี้ เกิดในตระกูลคังไคยคชสาร คือช้างสถิตย์อยู่ริมฝั่งน้ำ มีสีกายขาวแลเลื่อมประดุจสีน้ำไหล มีขนายใหญ่สมด้วยโฉมหน้า อันท่านผู้ปรากฎนามชื่อว่ามารมุขีนี้เล่า ก็กำเนิดในตระกูลกาฬหัษดี คือชาติช้างดำ แต่ถ้าว่าเปนอำนวยจึงมีสีกายขาวหลัวโฉมหน้าดูบึ้งบั้น เมื่อพาศนาอาภัพก็เพียงนี้ แต่ได้ดีเพียงนั้นก็เกินตัว ขออะไภยเสียเถิดเราว่าเปนความจริง ใช่จะแกล้งกล่าวให้เจ็บช้ำน้ำใจท่านนั้นหามิได้ อันธรรมดาเกิดมาเปนชาติคชสาร ดังตัวเราตัวท่านทั้งสองนี้ก็ดี และเกิดเปนสัตว์จัตุบาทมีตระกูลต่าง ๆ ก็ดี ครั้นเติบใหญ่หากินได้เองแล้วก็ย่อมลืมบิดามารดาคณาญาติ ถึงผู้ใดจะทำทุจริตผิดผันจนถึงต้องตัดหางนิระเทศเสียจากฝูงให้เที่ยวโซเซ โอ้เทวศอยู่อย่างท่านทั้งสองดังนี้ ก็คงได้อับประยศอดอายก็แต่ตัวของผู้นั้น แม้นเกิดเปนชาติมนุษย์แล้วข้างบิดามารดา ญาติวงษ์พงษ์พันธุ์ก็จะพลอยได้อับอายขายหน้า ทุกเช้าค่ำคืนวันเดือนปีจนกายตายแล้วก็ไม่สูญชื่อ ดูกรท่านทั้งสอง ซึ่งเกิดเหตุเภทไภยขึ้นทั้งนี้ อย่าได้โทษเอาผู้หนึ่งผู้ใดมีพญาช้างเปนต้น ท่านจงโทษเอาที่พึงใจจะเล่นตัวทำชั้นเชิงแง่งอนไปต่าง ๆ นั้นและจึงจะชอบ เออก็เมื่อรักอย่างนั้นแล้วมันก็ต้องเกรียมกรม ก้มหน้าน้ำตาตกตลอดปลายงวงสู้เสวยกรรมไปชาติหนึ่งเถิด ท่านค่อยอยู่จงดีเราจะขอลาไปแล้ว นางอากาศะจารีก็เหาะไปยังสถานที่อยู่ของตน ฯ และนิทานนางคชสารทั้งสองนี้ ข้าน้อยบรรยายให้ท่านผู้เปนวงษาคะณาญาติและมิตร์ของบิดาฟัง ด้วยหวังจะให้วายวิตกอย่าได้คิดกริ่งเกรงเลย ว่าข้าน้อยจะประพฤติสันดานลามกทำทุจริตไปต่าง ๆ เหมือนหนึ่งนางคชสารจนบิดามารดาญาติวงษ์พงษ์พันธุ์พลอยได้รับความอับอายขายหน้าด้วยนั้นหามิได้ ถึงคำบุราณท่านว่าคชสารสี่ตีนยังรู้พลาดนักปราชญ์ยังรู้ล้ม ใครอย่าได้ประมาท คำอันนี้ก็เปนคำจริง แต่ทว่าข้าน้อยไม่พึงใจที่จะท่ำชั้นเชิงแง่งอนเที่ยวค้าคารมข่มผู้อื่น ทำหน้าเปนเล่นตัว ดีดดิ้นด้วยกำเริบยศถาบันดาศักดิ์แล้ว มาทว่าพลั้งผิดสิ่งใดบ้าง ก็ไม่ถึงตัดหางปล่อยให้ชื่อชั่วปรากฎอยู่ในแผ่นดินโดยใจข้าน้อยคิดเห็นดังนี้ อันว่าหมู่มิตร์ของบิดาแลคะณาญาติบันดาได้สดับคำข้าน้อยบรรยาย นิทานนางนกกระต้อยติวิดและนางคชสาร ก็สรรเสริญว่าแม่มีปัญญาเปนนักปราชญ์ฉลาดรู้รอบคอบในสิ่งชั่วสิ่งดี ควรจะเปนที่พึ่งแก่หมู่ญาติได้เที่ยงแท้แล้ว ฯ ลำดับนั้น พระศรีมโหสถผู้บิดา จึงว่าดูกรนางนพมาศซึ่งเจ้าจะประพฤติแต่สิ่งที่ดี สิ่งใดชั่วจะละเสียดังกล่าวนั้น ก็ต้องตามสุภาสิตเปนอันดียิ่งนัก บิดาก็เห็นว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็จะทรงพระเมตตาเจ้าอยู่บ้างเหมือนท่านทั้งหลาย อันธรรมดาผู้มีกระตัญญูย่อมรู้พระคุณท่านผู้มีคุณ แลตัวเจ้านี้แม้นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงพระกรุณาชุบย้อมด้วยยศถาศักดิ์ พองามหน้าบิดามารดาคะณาญาติแล้ว ตัวเจ้ายังจะกระทำราชการฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยสติปัญญาให้จนถึงมีชื่อเสียงปรากฎอยู่ในแผ่นดิน จะได้ฤๅมิได้เปนประการดังฤๅ ลำดับนั้นข้าน้อยก็สนองคำบิดาว่า ประเพณีนรชาติชายหญิงทั้งหลายใด ถ้ามีปัญญาฉลาดรู้บาปบุญคุณโทษแล้ว ก็ย่อมคิดอยู่แต่ที่จะฉลองคุณบิดามารดาและท่านผู้มีพระคุณแต่ต้น เปนต้นคือพระมหากษัตรสิ้นกาลทุกเมื่อ อันเปนสัตรีเช่นข้าน้อยนี้ซึ่งจะทำราชกิจสิ่งใดในพระเจ้าอยู่หัวให้จนถึงมีชื่อเสียงอยู่ในแผ่นดินได้นั้นเปนอันยากยิ่งนัก ด้วยว่ากิจราชการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งจะเปนการใหญ่เหมือนด้วยราชกิจฝ่ายบุรุษจะพึงกระทำนั้นหามีไม่ อันเกิดมาเปนชายได้เปนราชบุรุษแล้วนั้น ถ้าท่านผู้ใดได้ทำการณะรงค์สงครามมีไชยชำนะแก่ข้าศึกก็ดีและทำการพระนครสิ่งซึ่งยาก ให้สำเร็จได้โดยเร็วก็ดี แลวินิจฉัยถ้อยความให้เปนยุติธรรม มีปัญญาสอดส่องจับสิ่งเท็จออกสำแดง ให้เห็นจริงด้วยกันทั่วโลกย์ได้ก็ดี เปนที่สุดจนชั้นแต่ได้ของวิเศษ อันควรจะเปนอัศจรรย์ มีช้างเผือกเปนต้นมาถวายก็ดี และความชอบต่าง ๆ ถ้าราชบุรุษผู้ใดทำฉลองพระคุณได้ดั่งข้าน้อยพรรณานี้ ก็ควรจะมีชื่อเสียงอยู่ในแผ่นดินได้ทุกสิ่ง อันราชกิจฝ่ายสัตรีจะพึงกระทำเปนการใหญ่ยิ่งนั้น ก็เห็นแต่สิ่งราชการเบ็ดเสร็จสิ้นทั้งพระราชวัง ซึ่งเปนตำแหน่งที่ของพระราชมเหษีทั้งสอง จะทรงกระทำฉลองพระคุณแท้จริง แลตัวข้าน้อยนี้มาทว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงพระเมตตาชุบย้อมให้มียศถาบรรคาศักดิ์ก็ดี แลจะเลี้ยงพอสมควรแก่พาศนาคุณานุรูปก็ดี อันน้ำใจข้าน้อยนี้ก็จะมีแต่สามิภักดิ์ ตั้งจิตรฉลองพระคุณโดยสุจริต แม้นราชการสิ่งใดเปนการอันควรกับข้าน้อย จะพึงกระทำแล้วถึงว่าราชการสิ่งนั้นจะสำเร็จด้วยต้องเสียทรัพย์สิ่งสินมากน้อยเท่าใดก็ดี ฤๅจะต้องเสียเลือดเสียเนื้อและเสียชีวิตจิตรใจฉันใดก็ดี คงจะสู้เสียฉลองพระคุณให้สำเร็จราชกิจของพระเจ้าแผ่นดินให้จงได้ ซึ่งพระพุทธฎีกาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสเทศนาจันทกินรีชาฎกแลพระเวสสันดรชาฎกไว้นั้น ข้าน้อยก็ได้สะดับตรับฟังจำได้เจนใจอยู่แล้ว คงจะประพฤติตามเยี่ยงอย่างท่าน ผู้มีกระตัญญูรู้ฉลองคุณให้มีชื่อเสียงไว้ ในแผ่นดินสิ้นกาลช้านานให้จงได้ อันซึ่งจะได้ดีมียศถาศักดิ์จนฝูงคนเลื่องฦๅนามทั่วทั้งพระนครด้วยการอันนักปราชญ์มิได้สรรเสริญ คือประพฤติจริตกิริยาวาจาเหลาะแหละ กล่าวแต่ให้ถูกต้องด้วยพระราชอัชฌาไศรยอย่างเดียวนั้น ถึงจะได้ดีประเสริฐเลิศลอยฟ้าสักปานใด ข้าน้อยก็ไม่มีน้ำใจปราถนาเลย ด้วยกลัวคำคนจะคะระหา ว่ามีวาศนาเพราะเวทมนต์แลกลมารยาต่าง ๆ ประการหนึ่งอันว่าความจงรักภักดี มีอุสาหพากเพียรในกิจราชการพระเจ้าอยู่หัวนั้น ข้าน้อยจะประพฤติให้เสมอต้นเสมอปลาย ใช่จะทำแต่พอได้ดีมียศถาบรรดาศักดิ์แล้วและจะละเมินเสีย จนกลับได้ความอัประภาคยากใจไว้หน้าไม่ถูก เช่นนิทานนางนกกระเรียนซึ่งนักปราชญ์ท่านกล่าวไว้ ในตำหรับลามกสัตรีนั้นหามิได้ อันตำนานนิทานฝ่ายข้างความเจริญดี โดยพระพุทธฎีกาสำแดงเทศนา มีพระเวศสันดรชาฎกแลจันทกินรีชาดกนั้น ท่านทั้งหลายก็ได้สดับฟังมามากแล้ว ข้าน้อยจะบรรยายแต่นิทานนางนกกะเรียน อันเปนฝ่ายข้างอัประมงคล บมิควรนรชาติชายหญิงจะพึงประพฤติให้พิศดาร ฯ ในกาลก่อนยังมีราชธานีเมืองหนึ่ง ชื่อเมืองวัฒนานคร สมเด็จพระมหากษัตรอันเสวยราชสมบัติ ทรงพระนามพระเจ้าวัฒนราช มีพระอัคมเหษีชื่อนางตรุณี ประดับด้วยพระสนมกำนัล และเสนางคนิกรช้างม้าสมะณะชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรเพียบพื้นภูมิมณฑล มีราชปะโรหิตผู้หนึ่งรู้พระเวท ผูกน้ำใจสกุณวิหคอันเปนของเลี้ยงแม้นได้ร่ายมนตร์เศกอาหาร เปนต้นว่าเข้าน้ำให้ทิชาชาติทั้งหลายซึ่งเลี้ยงไว้บริโภคแล้วก็เชื่องสนิท อาจให้ขันให้ร้องเมื่อใดก็ได้ดังปราถนา และพระเจ้าวัฒนะราชนั้น พึงพระไทยทอดพระเนตรนกกะเรียน และทรงฟังซึ่งสำเนียงนางนกกะเรียนร้อง ยิ่งกว่าการขับรำและดุริยางคดนตรี อันเปนพนักงานนางในจะพึงบำเรอต่าง ๆ จึงดำรัสสั่งราชบุรุษให้กระทำสระใหญ่ไว้ตรงน่าสิงหบัญชรแห่งหนึ่ง แล้วให้นำนกกะเรียนทั้งหลายมาเลี้ยงไว้ในราชอุทยานเปนอันมาก ประโรหิตก็เศกอาหารให้นกกะเรียนบริโภคจนเชื่องสนิทสิ้นทุกตัวทุกตัว ครั้นถึงเพลาเช้าและกลางวันเพลาเย็นแลเที่ยงคืนในยามสงัด พระเจ้าวัฒนะราชเสด็จสถิตย์สำราญพระไทยอยู่ในปรางปราสาท ฝูงนกกะเรียนก็พากันมาร้องด้วยสัทสำเนียงอันไพเราะห์ ให้เปนที่สบายพระหฤไทยมิได้ขาด บางทีก็เผยสิงหบัญชรออกทอดพระเนตร์ นกกะเรียนซึ่งลงเล่นน้ำอยู่ในสระ และพระเจ้าวัฒนะราชนั้นมีพระกมลหฤไทยผูกพัน ตั้งแต่ทอดพระเนตร์แลทรงฟังเสียงนกกะเรียนอยู่เปนนิจนิรันดร ทรงทราบสนัดในชาติธรรมดาสกุณโกญจาถ่องแท้ อาจตั้งเปนตำหรับไว้ได้ในแผ่นดิน อันนกกะเรียนตัวผู้นั้นมีสำเนียงมิได้ไพเราะห์ สั่งให้ราชบุรุษกำจัดเสียจากที่ อันจะร้องถวายเสียงคงให้มีอยู่แต่นางนกเปนอันมาก และสกุณโกญจานั้นมีประเภทเปนสองพันๆ หนึ่งนั้นมีขนสีแดงอยู่ห้าแห่ง คือที่สร้อยคอริมศีศะนั้นแห่งหนึ่ง ที่กลางอกตรงเหนียงนั้นแห่งหนึ่ง ที่หัวปีกทั้งสองข้างนั้นข้างละแห่ง ที่สนับหางนั้นแห่งหนึ่ง โลกย์สมมุติว่าเปนนกศักดิ์สูงดีกว่านกที่ไม่มีขนสีแดง เหตุว่าจะบินราร่อนเล่นลมบนกลางอากาศ ชาตินกที่มีสีแดงนั้น บินร่อนได้สูงกว่านกที่หาขนสีแดงมิได้ และนางนกกะเรียนบรรดาซึ่งมาเปล่งสัทสำเนียง ถวายเสียงร้องบำเรออยู่นั้น พระเจ้าวัฒนะราชบรมกษัตร ทรงจำรูปจำเสียงได้แจ้งประจักษ์ ทุก ๆ ตัวนางนก แม้ว่านางสกุณโกญจาตัวใดเปนนกชาติสูงศักดิ์ ด้วยมีขนสีแดงห้าแห่ง ถึงจะมิหมั่นมาร้องถวายเสียงก็ทรงไว้พระอารมณ์ ว่าเปนนกมีชาติมีตระกูล ก็จำจะเลี้ยงดูให้ดีสักหน่อย หนึ่งเล่านางนกตัวใดถึงเปนนกต่ำชาติต่ำกระกูลด้วยหาขนสีแดงมิได้ แต่ทว่าหมั่นมาบำเรอเสียงร้องทุกเพลา พระมะหากษัตรก็ทรงพระเมตตา ว่ามีอุสาหะไม่เกียจคร้าน นางนกทั้งสองจำพวกนี้โปรดประทานสร้อยทองวไลยทองให้สรวมคอใส่เท้า ให้บริโภคน้ำท่าอาหารด้วยภาชนะเงินทองทุก ๆ ตัว และนางนกตัวใดมีชาติตระกูลก็สูงศักดิ์ แล้วก็มีอุสาหะหมั่นมาร้องถวายเสียงมิได้ขาด กรุงกษัตรก็โปรดปรานประทานเครื่องตกแต่ง ให้ยิ่งขึ้นไปโดยมีพระไทยกรุณา หนึ่งเล่านางนกจำพวกที่มีชาติตระกูลอันต่ำ ทั้งเกียจคร้านมักป่วยเจ็บแช ๆ เชือน ๆ นาน ๆ มาร้องถวายเสียงบ้าง แต่สักครั้งสักคราวแล้วก็หายสูญไป พระเจ้าวัฒนะราชก็ทรงวางพระอารมณ์เสีย ว่าเปนธรรมดาเลี้ยงสัตว์เดระฉานแล้ว ก็ต้องให้ทานกินพออิ่มท้อง อันว่าความจำเริญแลมิจำเริญก็บังเกิดมี แก่นางสกุณโกญจาทั้งหลาย บันดามาบำเรอร้องถวายสัทสำเนียง ดุจกล่าวมาดังนี้แท้จริง ครั้นนานมานางนกกะเรียนตัวหนึ่งนั้น อันอยู่ในพวกหมู่หมั่นร้อง หาขนสีแดงมิได้เปนชาตินกต่ำตระกูล แต่ทว่าได้รับพระราชทานสร้อยทองวไลยทอง และภาชนะทองรองอาหารบริโภค และนางนกกะเรียนตัวนั้นไซร้ ชาวชะแม่พระสนมกำนัลทั้งปวง ชวนกันให้นามเรียกว่านางระย้าย้อย เหตุว่านายช่างทองทำสายสร้อยสรวมคอให้นั้น ยานย้อยลงไปถึงกลางอก วันหนึ่งนางระย้าย้อยคิดสะบายใจ จึงขึ้นบินร่อนร่าปีกหางในกลางอากาศ เล่นลมบนพอเหนื่อยแล้ว ก็ลงอาบน้ำในหนองแห่งหนึ่งอันมีอยู่ภายนอกพระนคร จึงเหลือบแลไปเห็นนางนกไส้ตัวหนึ่ง จับอยู่ที่กอสามหาวมีตัวอันน้อยเท่านกกะจาบ สีกายหม่น ๆ เหมือนหนึ่งสีผลหว้าแก่ จะงอยปากแดงดังสีดอกเซ่ง นางนกกะเรียนให้มีน้ำใจรักนางนกไส้เปนกำลัง จึงร้องถามไปว่าดูกรนางนกไส้ ถิ่นถานรวงรังของเจ้าอยู่ที่แห่งใด เจ้ามาบริโภคสิ่งไรเปนอาหารอยู่ที่นี้ เราได้เห็นเจ้าก็มีจิตรคิดรัก จะใครเข้าไปจับให้ใกล้เคียง สั่งสนทนาด้วยกับเจ้าตามวิไสยนก แต่หากกลัวว่าเจ้าจะมิรักก็จะบินหนี นางนกไส้จึงตอบไปว่าอันตัวข้านี้ ทำรังอยู่ยังต้นเต่าร้างริมขอบหนอง บัดนี้มาเที่ยวหาเกสรดอกสามหาวบริโภคเปนอาหาร ซึ่งท่านว่าให้มีใจรักตัวข้านี้ ฟังดูก็มิบังควรยิ่งนักด้วยตัวท่านเปนชาตินกใหญ่ อาจถาบถาราร่อนขึ้นไปได้ถึงกลางอากาศ อันข้านี้เปนแต่ชาตินกน้อย ได้แต่บินไปจับพฤกษาต้นโน้นแล้วมาต้นนี้ จะมักใหญ่ใฝ่สูงเข้าใกล้เคียงกับท่านนั้นเห็นไม่สมควร ข้าจะขอถามท่านบ้าง อันสถานที่รวงรังของท่านนั้นอยู่ยังด้าวแดนใด ท่านมาถึงหนองน้ำตำบลนี้ ด้วยประสงค์สิ่งไรหรือ ๆ จะแกล้งมาพูดล้อฬ่อลวงใจ ข้าผู้เปนนกน้อยเล่นแล้วก็จะกลับไป นางนกกระเรียนได้ฟังถ้อยคำนางนกไส้กล่าวดังนั้นก็ยิ่งมีจิตรคิดรัก จึงตอบว่าดูกรนางนกไส้ อันตัวเรานี้อยู่ในพระราชอุทยานของสมเด็จพระเจ้าวัฒนะราช เราสำหรับได้ถวายเสียงร้องบำเรอพระไทยกรุงกษัตรทุกทิวาวันคืนมิรู้ขาด จนได้รับพระราชทานสร้อยทองวไลยทอง ซึ่งเรามาถึงหนองน้ำในวันนี้ ใช่จะมาด้วยธุระอื่นนั้นหามิได้ เรามาด้วยมีความปรารถนาจะใคร่พบเจ้า หวังจะชวนพูดเล่นเจรจาให้สบายใจ อันธรรมดาเปนสกุณวิหคด้วยกัน ถึงจะเปนชาตินกใหญ่นกน้อยต่างภาษากันก็ดี สุดแต่ว่าน้ำจิตรคิดรักกันแล้ว ก็อยู่ร่วมรวงรังด้วยกันได้ เราว่านี้เปนความจริงใจมิใช่จะแกล้งพูดฬ่อลวงให้เจ้าลุ่มหลง อย่ามีความรังเกียจเลย เจ้าจงมาจับไม้กิ่งนี้ให้เราเชยชมรูปร่างให้อิ่มรัก จะได้เปนไมตรีกันไปในวันหน้า นางนกไส้ได้สดับถ้อยคำดังนั้น ก็ให้กระสันเสียวจิตร์คิดรักนางนกกระเรียนยิ่งนัก จึงนิ่งนึกในใจว่านางนกกะเรียนมาพูดจาอ่อนหวานเห็นปานดังนี้ น่าจะมีน้ำใจรักเราจริง อันตัวเราก็เปนชาตินกน้อย แม้นได้เปนมิตรไมตรี ด้วยนางนกกะเรียนชาตินกใหญ่ อันมีวาศนาได้สร้อยทองวไลยทอง เห็นทิชาชาติทั้งหลายก็จะนับถือเกรงกลัว สรรเสริญเราว่านางนกไส้ตัวนั้น ได้เปนมิตรกับนางนกกะเรียนดูน่าอัศจรรย์นัก คิดแล้วนางนกไส้ก็สนองวาจานางนกกะเรียนว่า อันตัวข้าน้อยนี้เปนนกน้อยก็ต้องเจียมตัว กลัวแต่ท่านจะลวงฬ่ออย่างเดียว แม้นข้าจะเข้าใกล้เคียงพูดเล่นเจรจา เปนมิตรไมตรีด้วยดั่งถ้อยคำของท่านว่า เห็นก็จะไม่ได้นานช้าสักเพียงใด ประเดี๋ยวหนึ่งท่านก็จะกลับเข้าไปยังราชอุทยาน ตัวข้านี้อยู่ภายหลังก็จะตั้งแต่รัญจวนจิตร์ คิดถึงท่านทุกคืนวันมิรู้วาย เพราะเหตุดังนี้จึงสู้ขัดแขงถ้อยคำท่านขอท่านอย่าได้ถือโทษเลย นางนกกะเรียนจึงตอบว่านี่แน่นางนกไส้ ซึ่งเจ้ามีความวิตกว่าเราจะทิ้งเจ้าเสียนั้นไม่ควรคิด อันความที่เรารักเจ้าแม้จะเปรียบก็เหมือนด้วยดวงจิตร์ใครฤๅจะให้จากร่าง แม้นเจ้ากับเราได้เปนมิตรไมตรีกันแล้ว เราก็จะพาเจ้าเข้าไปอยู่ยังราชอุทยานด้วยกัน ให้เปนผาสุกสนุกสนานสำราญใจ แม้เจ้าปราถนาบริโภคอาหารสิ่งใด ก็สาระพัดจะมีบริบูรณทุกสิ่ง ครั้นว่าเท่านั้นแล้ว นางสกุณโกญจาก็ขึ้นจากน้ำสลัดขนแผ่หางกางปีกออกผึ่งแดดพลาง ทางเรียกนางนกไส้ ให้มาไซ้ขนต่างพูดจาตามวิไสย โดยชั้นภาษาวิหคเพลิดเพลินใจ ไปจนพระสุริฉายบ่ายแสงจวนจะย่ำสนธยา นางนกกะเรียนคิดจะกลับคืนมายังรวงรัง จึงให้นางนกไส้ขึ้นเกาะหลัง แล้วก็พาบินมายังราชอุทยาน ตั้งแต่นั้นมานางนกกะเรียนกับนางนกไส้ก็อยู่หลับนอนร่วมรังเดียวกัน อันว่าความบันเทิงเริงรื่นก็บังเกิดมีแก่นางนกทั้งสองทุกทิวาราตรี นางนกกะเรียนนั้นก็ลืมเพลา ที่จะร้องถวายเสียงแก่กรุงกษัตร ลางเวลาระฦกก็ได้มา ลางเวลาก็มาทันแต่ครึ่งแต่กลาง มิได้เปนใจที่จะเปล่งสัทสำเนียง ส่งเสียงร้องบำเรอให้ไพเราะห์ ด้วยน้ำจิตรคิดแต่จะใคร่กลับคืนไปรวงรังอยู่กับนางนกไส้จนพระสนมกำนัลทั้งหลายต่างติเตียน ว่านางระย้าย้อยเดี๋ยวนี้ร้องไม่ไพเราะห์ สุ้งเสียงเราฟังดังกะตะ ๆ เรียกตามภาษามนุษย์ว่าให้ไอให้จาม อันว่านางระย้าย้อยนั้นครั้นสิ้นเพลาบำเรอแล้ว ก็รีบกลับไปรังมิได้ยั้งหยุด พึงใจแต่จะให้นางนกไส้เข้าซอกไซ้ใต้ปีกใต้หางไม่ว่างเว้น กับฝูงนางสกุณโกญจาทั้งหลายซึ่งเปนชาติภาษาเดียวกัน เคยพูดเล่นเจรจามาแต่ก่อนก็ละลืมเสียสิ้น ฝ่ายว่านางนกไส้ก็อุส่าห์ประพฤติตามน้ำใจ นางนกกะเรียนไปทุกอย่างมิให้ขัดเคือง ครั้นถึงเพลาแสบท้องก็ไปบริโภคดอกเต่าร้าง และยางบัวใบยาวเปนอาหารทุกๆ วัน อยู่มานางนกไส้ให้มีจิตร์กำเริบขึ้น ด้วยถือตัวว่าได้เปนที่รักของนางระย้าย้อย จึงออกเที่ยวพูดพลอดฉอดฉ่อยป้อยปากถากถางกระทบกระเทียบเปรียบปรายร่ายเร่ยุแยงแสร้งใส่ความ บ้างให้ถามนางระย้าย้อยก็พลอยรับ กลับเอาความข้างนี้ไปชี้ข้างนั้น จนเกิดเฉลาะวิวาทกันอื้อ ๆ ฉาว ๆ แตกร้าวปราศจากสามัคคีรศกันไปสิ้น ทั้งฝูงนางสกุณโกญจา ใครเห็นหน้านางนกไส้ก็ให้รังเกียจเกลียดกลัวไม่พ้องพาล ตั้งแต่นั้นมานางนกกะเรียนทั้งหลายก็มิได้มีความผาสุกสนุกสบายเหมือนเช่นหลัง ใช่แต่เท่านั้นอันว่าความวิบัติอุบาทว์บ้านอุบาทว์เมือง ก็บังเกิดมีแก่กรุงกษัตร์วัฒนะนคร เปนต้นว่าน้ำมากท่วมสวนผลไม้ไร่นาประชาราษฎรให้สูญเสียจนเข้ายากหมากแพง ทั้งมงคลคชสารและสินธพชาติ อันเปนพระที่นั่งต้นก็ล้มเสียมากหลาย จนชั้นมยุราปลาเต่าเปนของเลี้ยง สำหรับทรงประพาศก็พลอยฉิบหายตายสิ้น ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าวัฒนะราชบรมกษัตร์ เห็นไภยอันตรายก็หลากพระไทยนัก จึงดำรัสถามราชประโรหิต ว่าอาณาประชาราษฎรได้ความยากแค้น ด้วยบ้านเมืองวิบัติคือน้ำมาก ท่านอาจหยั่งปัญญาพิเคราะห์ เห็นว่าจะเปนด้วยเหตุดังฤๅ ราชประโรหิตจึงกราบทูลว่าข้าพระองค์ ก็ได้คำนวนสวนสอบชะตาพระนครกับนพเคราะห์ฤกษ์บนและเหตุลางต่างๆ จะเห็นวิบัติสักสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็หามิได้ แต่มาสงไสยใจอยู่ด้วยฝูงสกุณโกญจา ในราชอุทยานนั้นเห็นหาเปนปรกติเหมือนแต่ก่อนไม่ ข้าพระองค์เคยเสกอาหารไปให้บริโภคครั้งใดก็ย่อมมารับพระราชทานพร้อมมูลกันทุกครั้ง กาละบัดนี้นางนกกะเรียนซึ่งเรียกชื่อว่าระย้าย้อยนั้น เห็นแตกร้าวกับนางนกทั้งหลาย ถ้านางนกทั้งหลายมาบริโภคอาหารอยู่ก่อนแล้ว แต่พอเห็นนางระย้าย้อยมาก็พากันไปเสียสิ้น บางทีแม้นนางระย้าย้อยมาบริโภคอาหารอยู่ก่อน นางนกทั้งหลายจะได้มาบริโภคด้วยนั้นหามิได้ ข้าพระองค์พิเคราะห์ดูเห็นว่า เหตุจะมีสักสิ่งเปนแม่นมั่น แต่ยังมิได้ขึ้นค้นคว้าดูที่รวงรังให้เห็นเหตุไม่ ด้วยกลัวว่าฝูงสกุณโกญจาจะตกใจแตกตื่นไปเสียสิ้น พระเจ้าวัฒนะราชได้ทรงสดับดังนั้น จึงสั่งราชประโรหิตว่าท่านเร่งไปคิดอ่านจับเอาเหตุวิบัติให้จงได้ในกาละบัดนี้ ราชประโรหิตรับราชบรรหารแล้วก็ไปยังราชอุทยาน เรียกยายมาลาการมาไต่ถามว่า ดูกรยาย บัดนี้เราเห็นฝูงนางนกกะเรียนทั้งหลาย หามาบริโภคอาหารพร้อมมูลกันโดยฉันปรกติประดุจหนหลังไม่ ยายอยู่ในราชอุทยานเปนนิจยังจะเห็นเหตุเพศผลเปนประการใดบ้างแลฤๅ ยายมาลาการก็สนองคำราชประโรหิต ว่าข้าแต่ท่านในสองสามเดือนนี้ ข้าพเจ้าเห็นนกน้อยตัวหนึ่ง มาอยู่ด้วยนางระย้าย้อยที่ในรัง เข้าไซ้ปีกไซ้หางให้วันละสองเพลาสามเพลา ถ้านางระย้าย้อยจะบินไปเข้าฝูงนางนกกะเรียนตัวใดแล้ว นกน้อยตัวนั้นก็บินตามไปด้วยทุกครั้ง แล้วก็เห็นนกน้อยตัวนั้นพูดพลอดด้วยเสียงเปนอันดัง นางนกกะเรียนทั้งหลายต่างตัวก็บินหนีไปสิ้น และนกน้อยตัวนั้นสีกายม่วงหม่น ๆ ขนข้างยาวยุ่งหยอง มีจะงอยปากแดงดังแต้มชาด เที่ยวจิกกินดอกเต่าร้างยางบัวใบยาวเกสรสามหาวในสระนี้ทุกเพลาเช้าเย็น ข้าพเจ้าได้เห็นสิ่งประหลาดในราชอุทยานแต่เท่าที่แถลง นอกจากนี้จะได้เห็นสิ่งใดแปลกสังเกตตากว่าแต่ก่อนนั้นหามิได้ ราชประโรหิตครัน้ได้ฟังคำยายมาลาการแจ้งดังนั้น ก็พึงนึกตรึกตรองเห็นว่าชะรอยนางระย้าย้อยจะบินไปเที่ยวถึงป่าชักพาเอานกไส้ อันเปนของอุบาทว์ใหญ่เข้ามาไว้ในราชอุทยาน จึงให้เกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ดังนี้ ครั้นเพลาพลบค่ำราชประโรหิต ก็ให้บุรุษอันมีกำลังปีนต้นพฤกษาขึ้นไปค้นดูในรังนางระย้าย้อย ก็จับได้นางนกไส้ตัวนั้นลงมาส่งให้ประโรหิต ราชประโรหิตก็ให้เอานางนกไส้ใส่กระโปรงขังไว้จนเพลารุ่งเช้า แล้วจึงเข้าไปเผ้าพระเจ้าวัฒนะราช ทูลแถลงแจ้งประพฤติเหตุซึ่งจับตัวนางนกไส้อันเปนอุบาทว์เมืองได้นั้น ให้บรมกษัตรทรงทราบทุกประการ พระเจ้าวัฒนะราชก็สิ้นสิ่งวิตก จึงดำรัสถามราชประโรหิตว่า บัดนี้เราก็จับตัวอุบาทว์ได้แล้ว ท่านจะให้ทำเปนประการดังฤๅ บ้านเมืองจึงจะพ้นไภยอันตรายให้มีความจำเริญสวัสดิมงคล ทั่วทั้งไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินได้ความศุขเปนปรกติเหมือนแต่หลัง ราชประโรหิตก็กราบทูลว่า ขอพระองค์จงโปรดให้กระทำการพระราชพิธีเสียเคราะห์พระนคร แล้วให้ทำแพด้วยไม้สะเดาปักกิ่งชะบา เอานางนกไส้ใส่กระโปรงให้มีน้ำท่าอาหารบริโภค แล้วแขวนประจานลอยไปตามกระแสน้ำไหล กับขอให้เขียนอักษร เปนพระราชบัญญัติห้ามอย่าให้นรชนชายหญิงเอานางนกไส้ตัวนี้ขึ้นเลี้ยงไว้ ในบ้านในนิคมเปนอันขาด แม้แพจะเข้าติดเข้าเกยอยู่แห่งใดตำบลใดใครเห็นก็ให้เสือกไสลอยไปเสีย จนตกท้องพระมหาสมุท กับขอให้เนรเทศนางนกระย้าย้อย เสียจากพระราชอุทยานด้วย แม้นได้กระทำการเสียเคราะห์เมืองดังนี้แล้ว อันว่าอุบาทว์จังไรก็จะอันตระธานสูญหาย กรุงวัฒนะราชมหานครคงจะคืนไพบูลย์พูนศุขเหมือนเช่นหลัง ทั้งพระองค์ก็จะทรงพระจำเริญด้วยพระโชคลาภบริบูรณ์ยิ่งกว่าแต่ก่อน สมเด็จพระเจ้าวัฒนะราชได้ทรงฟัง จึงสั่งราชบุรุษอันเปนชาวพนักงานให้จัดแจงการทั้งปวง กระทำตามราชประโรหิตกราบทูลทุกประการ แล้วบรมกษัตรจึงตรัสถาม ราชประโรหิตสืบต่อไปว่า อันนกไส้นี้ไซ้ก็นับเข้าในหมู่ทิชาชาติ เหตุใดจึงได้เปนตัวอุบาทว์แรงร้ายเห็นปานดั่งนี้ หนึ่งเล่าสรรพสัตว์จำพวกดังฤๅ ก็จัดเปนอุบาทว์ร้ายแรงอีกบ้าง ท่านจงบรรยายไปตามตำหรับไตรเพท ให้เราสิ้นวิมุติสงไสยจงพิศดาร ราชประโรหิตจึ่งกราบทูลว่า สัตว์จัตุบาททวิบาทอันเปนตัวอุบาทว์บ้านเมืองนั้นมีอยู่ ๒ จำพวก คือนกไส้นี้จำพวกหนึ่ง เปนสัตว์สองเท้า คือเหี้ยจะกวดอีกจำพวกหนึ่งเปนสัตว์สี่เท้า ควรจะอยู่แต่ในป่าในท่าน้ำ แม้นเข้ามาในราชธานีได้แล้ว ก็เปนอุบาทว์ให้บังเกิดวิบัติต่าง ๆ ทั่วทั้งราชอาณาเขตร์พระนครนั้น ถ้าเข้าบ้านแลนิคมใด ๆ บ้านนั้นนิคมนั้นก็ย่อมจะเกิดไภยอันตรายมีไฟไหม้เรือนเปนต้น และลักษณนกไส้นั้นมีร่างกายผอม สีหม่นขนดกกระด้างหยาบยาวยุ่งหยุกหยุย ถ้าถูกเนื้อมนุษย์เข้าแล้ว ก็เจ็บแสบไปสิ้นวันยังค่ำ อันน้ำใจก็มักกำเริบโทโสร้าย มีแต่จะแช่งชักสาบาลจนคชสารก็ไม่ละลด แม้นวิหคจำพวกใดไปคบหาอยู่ร่วมรังเช่นนางนกระย้าย้อยฉนี้แล้ว นกไส้ก็มีจิตรกำเริบหยิ่งเย่อขึ้นเทียวพูดพลอดฉอดฉ่อยไปต่าง ๆ ด้วยว่าบริโภคดอกเต่าร้างยางบัวใบยาวเกสรสามหาวเปนอาหาร จึงให้คันปากอยากพูดพล่อยอยู่เปนนิจ อนึ่งเหี้ยจะกวดนั้นเล่ามีลิ้นเปนสองลิ้น สันดานง่วงงุนน้ำใจไม่ยั่งยืน ถึงมาตรว่าจะมีผู้เอามาเลี้ยง ให้ประเสริฐเลิศล้ำสักปานใดก็ดี สัญชาติว่าเหี้ยจะกวดแล้ว ที่จะเจรจาสัจจริงนั้นหาได้ไม่ ด้วยว่าลิ้นเปนสองลิ้นมีแต่จะกล่าวเท็จเปนธรรมดา แล้วก็พึงใจแต่ที่จะซุกซ่อนนอนหลับ จนลืมเวลาแสวงหาอาหารบริโภค ทั้งประเวณีการสังวาศก็ไม่เปนคู่ๆ กันยั่งยืน เหมือนสัตวบกสัตวน้ำทั้งหลาย ย่อมปนละวนกันไปโดยน้ำใจมักมาก เพราะเหตุดังนั้นอันสัตวสองจำพวก คือนกไส้แลเหี้ยจะกวดนี้ จึงได้เปนสัตวอัปมงคล แม้เข้าบ้านเมืองใดก็เกิดอุบาทว์ ให้วิบัติด้วยไภยอันตรายต่างๆ ขอจงทราบเบื้องบาทดังข้าพระองค์กราบทูล เหตุลามกสัตว์สองจำพวกโดยคัมภีร์ไตรเพท สมเด็จพระเจ้าวัฒนะราชได้ทรงสดับก็สิ้นวิมุติกังขา จึ่งออกพระโอฐตรัสสรรเสริญราชประโรหิตว่าท่านมีปัญญารู้เหตุการรอบคอบประเสริฐนัก สมควรที่เปนราชประโรหิต สำหรับแก้กันไภยันตรายอันเกิดกับบ้านเมือง ให้สมณซีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรได้อยู่เย็นเปนศุข ด้วยอำนาจปัญญาของท่าน แล้วบรมกษัตรก็พระราชทานรางวัลให้แก่ราชประโรหิตเปนอันมาก ตั้งแต่นั้นมา กรุงวัฒนานัคเรศก็เปนปรกติ บริบูรณด้วยธัญญาหาร ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินก็พ้นจากทุกข์ไภยคือไข้เจ็บ สมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้า ก็ทรงพระจำเริญด้วยโชคลาภต่าง ๆ มีนรชาติชายหญิงอันอยู่ภายนอกพระราชอาณาเขตร สามิภักดิ์พาครอบครัวมาสู่พระบรมโพธิสมภารมากกว่าแสน ทั้งได้พระยาคชสารศรีเสวตรอันเปนมงคล เฉลิมพระเกียรติกรุงกษัตร สารพัดจะบริบูรณภูลเกิดทุกสิ่งทุกประการ ฯ แลนิทานนางนกกะเรียนซึ่งข้าน้อยกล่าวนี้ก็ควรบุทคลได้สดับตรับฟัง จะพึงจำไว้สั่งสอนใจ อย่าได้ประพฤติต้นตรงปลายคด ประหนึ่งนางสกุณโกญจาระย้าย้อย เสียแรงอุสาหะพากเพียรจนมีวาศนาได้ใส่สร้อยทองวะไลยทอง แล้วแลกลับทำทุจริตไปคบมิตรอันเปนบาปะมิตร นักปราชญ์ท่านย่อมติเตียน อันธรรมดาเกิดมาเปนสัตว์ก็ดีเปนบุทคลก็ดี ก็ควรจะมีมิตรสหายสิ้นด้วยกัน ถ้าผู้ใดคบมิตรซึ่งเปนกัลยาณะมิตรแล้วนักปราชญ์ท่านก็พึงสรรเสริญว่าผู้นั้นกระทำชอบ อันว่าคิดถูกแลคิดผิด พูดจริงแลพูดเท็จ ใจซื่อแลใจคด ยั่งยืนแลโลเล เรียบร้อยแลเล่นตัว สุภาพแลดีดดิ้น ปรกติแลมารยา มักตื่นแลมักหลับ มีสติแลลืมหลง อุสาหะแลเกียจคร้าน ทำดีแลทำชั่ว กัลยาณมิตรแลปาปะมิตร คำสุภาสิตสองประการนี้ ข้าน้อยก็จะพึงประพฤดิอย่างหนึ่ง จะละเสียอย่างหนึ่ง อันจะทำโลเลแล่นไปแล่นมา เช่นนิทานนางนกกะต้อยติวิด แลจะทำชั้นเชิงมารยาเล่นตัวเหมือนอย่างนิทานนางคชสารทั้งสอง แลจะทำทุจริตลุอำนาจแก่ความรรักดังนิทานนางสกุณโกญจาระย้าย้อย ไม่ถือตัวว่าเปนชาตินกใหญ่ ไปคบนางนกไส้อันเปนนกตัวน้อย จนได้ความอัประภาคยากที่จะไว้หน้า อย่าว่าแต่ชาตินี้เลย ข้าน้อยจะพึงกระทำ ได้สร้างกุศลครั้งใดก็ตั้งใจกรวดน้ำ ไม่ขอภบขอเห็นเช่นสัตว์สามจำพวกนี้เลย ตราบเท่าเข้านิพาน แลข้าน้อยผู้ชื่อว่านพมาศ จะตั้งใจทำกิจราชการให้มีชื่อเสียงปรากฎอยู่ในแผ่นดินให้จงได้ ฯ ขณะนั้นพระศรีมโหสถผู้เปนบิดาก็ออกวาจาว่าดีแล้ว ๆ เจ้าจงประพฤติให้ได้คงถ้อยคำของเจ้าให้จงทุกสิ่ง ครั้นเพลาบังควรหมู่ญาติแลมิตรของบิดาต่างก็กลับไปยังบ้านเรือน ในราษราตรีวันนั้นมารดาข้าน้อยผู้มีนามชื่อเรวดี จึ่งให้โอวาทสั่งสอนว่า แม่ผู้เปนที่รักของมารดา เจ้าจะไปอยู่ในพระราชนิเวศน์แต่ผู้เดียวไกลบิดามารดร เจ้าจงอุส่าห์รักษาตัวทุกเช้าค่ำอย่าได้ประมาท ควรจะคาระวะยำเกรงท่านผู้ใดจงนบนอบ แม่จะทำกิจราชการเฝ้าแหนจงประพฤดิจริตกิริยาหมอบคลานให้เรียบร้อยต้องที่ต้องทาง อย่าทำรี ๆ ขวาง ๆ ให้เขาว่า อย่าทำเซ่อ ๆ ซ่า ๆ ให้ท่านหัว อย่าประพฤดิตัวเก้อ ๆ ขวย ๆ ให้คนล้อ อย่าทำลับ ๆ ฬ่อ ๆ ให้เขาถาก อย่าทำโปก ๆ ปาก ๆ ให้ท่านว่ากิริยาชั่ว จงแต่งตัวให้งามต้องตาคน จงประพฤติตนให้ต้องใจท่านทั้งหลาย จงฝากตัวมุลนายให้กรุณา คอยระวังเวลาราชการอย่าเมินประมาท ให้พระเจ้าแผ่นดินต้องเรียกหาคอยท่าตัวหาควรไม่ อันธรรมดาพระมหากษัตร ย่อมมีพระราชธุระมากด้วยกิจการบ้านเมือง ถ้าผู้ใดทำใจเฉื่อยช้าจะไปมารับราชกิจมิได้ทันเพลานาที ก็มักขุ่นเคืองจะรังเกียจพระไทยเสียว่า คน ๆ นี้จะแกล้งให้เสียงานเสียการก็หาใช้สอยต่อไปไม่ หนึ่งเล่าถ้าจะรับราชบรรหารหูก็ให้ไว ฟังจงเข้าใจให้ทุกคำจำก็ให้มั่น อย่าเอาสิ่งนั้นไปเปนสิ่งนี้อย่าแร่รี่ไปให้เกินพระราชบัญญัติ อันน้ำพระไทยพระมหากษัตรแล้วมากไปด้วยขัติยมานะ มิได้รู้อ่อนง้อขอรักบุทคลผู้ใดเปนธรรมดา ถ้าใครจงรักภักดีมีปัญญาหยั่งรู้พระอัธยาไศรย จะตรัสใช้สิ่งใดก็ได้ราชการ ก็ย่อมจะชุบเลี้ยงให้มียศถาบรรดาศักดิ์ทั้งพึงพระไทยที่จะใช้สอย ถึงมาทว่าจะพลั้งผิดด้วยจิตรประมาทขาดหน่อยเหลือหน่อยหนึ่งก็ดี แม้น้ำพระไทยยังเห็นว่าเปนด้วยเคลิ้มสติไปบ้างแต่อย่างนี้แล้ว ถึงจะผิดมากจนโทษควรจะขุ่นเคืองเปนสาหัส พระมหากษัตรก็จะยังทรงคิดถึงความดีซึ่งมีมาแต่หลัง เห็นภอจะหยุดยั้งพระไทยได้โดยทรงพระเมตตา ถ้าแม้นทำขาด ๆ เหลือ ๆ เปนไปเนือง ๆ แล้วก็คงจะเฉลียวพระไทยระแวง ว่าแกล้งจะให้อ่อนง้อขอรักด้วยเชื่อรูปเชื่อวาศนาเชื่อทรัพย์สมบัติเชื่อเวทมนตร์แลเชื่อดี แม้นจะมีสิ่งผิดแต่สักน้อยความก่อนเก่าก็จะพลอยเกิดขึ้นด้วยมานะกษัตร อาจจะตัดความรักความอาไลยความเกรงใจความดีให้เด็ดขาดได้เปนสิน ดังตัดหยวกตัดปลี เจ้าอย่ามีความประมาทนะแม่ผู้เปนที่รักของมารดา ประการหนึ่งอันพระมหาราชเทพีก็ควรหมู่พระสนมกำนัลจะฝากตัวกลัวเกรง ด้วยว่าเปนใหญ่อยู่ในพระราชนิเวศวังสถาน ได้บัญชากิจราชการสิ้นเสร็จ เจ้าจงดูถ้าเห็นว่ามากไปด้วยฤษยาพยาบาทเคียดขึ้งหึงหวง มักเก็บถ้อยมาร้อยเปนความแล้ว เจ้าอย่าได้เอาตัวเข้าพัวพัน ให้เกิดกุลียุคขุ่นเคืองเบื้องบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเปนอันขาดทีเดียว ซึ่งมารดาให้โอวาทสั่งสอนแต่สิ่งละอันพันละน้อยนี้ ด้วยเห็นว่าเจ้ามีปัญญาเฉลียวฉลาดรอบคอบรู้ชอบผิดชั่วดีอยู่กับใจเจ้าแล้ว ข้าน้อยได้สดับก็มีความยินดีจึ่งคำนับรับคำสอนจำใส่ใจไว้มั่นคง ครั้นเพลารุ่งเช้าเปนวันสุกรเดือนสิบสองขึ้นสิบค่ำจุลศักราชปกปีมะโรงฉอศกถึงวาระกำหนดข้าน้อยจะจากเคหะสถานไปอยู่ในพระราชนิเวศเปนข้าบาทสมเด็จพระร่วงเจ้า แลข้าน้อยมีอายุสม์นับตามปีได้สิบเจ็ดตามเดือนได้สิบห้าปีกับแปดเดือนยี่สิบสี่วัน ในขณะเพลาเช้าวันนั้นเปนวาระมหาสิทธิโชคฤกษดี จึ่งท่านมารดาแลหมู่ญาติทั้งหลายก็ตกแต่งกรัชกายให้ข้าน้อยตามตระกูลคะหะบดี เจือด้วยเพศพราหมณ์ คือให้ใส่ประวิชสอดสายธุหร่ำสร้อยอ่อนสามสาย ทัดจันทรจุฑามาศ แล้วข้าน้อยก็มาคำนับลาบิดรกับวงศาคะณาญาติโดยสัจเคารพ พระศรีมโหสถผู้เปนบิดาก็อวยไชยให้พรว่า เจ้าจงไปอยู่เปนข้าบาทให้ปราศจากไภยันตราย ทุกข์โศกโรคร้อนสรรพสิ่งมิดี อย่าได้บังเกิดมีแก่เจ้าสักขณะจิตรหนึ่งเลย จงมีความจำเริญศุขทุก ๆ อิริยาบถให้ยิ่งด้วยเกียรติยศไปชั่วกัลปาวสาน อันว่าญาติพงษ์พันธุ์ก็อวยพรต่าง ๆ ตามปราถนาของตนจะให้เปนไปโดยความรัก ข้าน้อยก็มีจิตรโสมนัศยินดีรับพรใส่เศียรเกล้าแล้วก็คำนับลา มาขึ้นยานระแทะประเทียบกับมารดาเล่มเดียวกัน บ่าวไพร่ก็ติดตามมาภอสมควร ครั้นถึงทวารพระราชนิเวศข้าน้อยก็นบนิ้ววันทนาสังเวยเทพยดาซึ่งรักษาพระทวารว่า ข้าแต่เทพยเจ้าผู้มีทิพยโสตทิพยจักษุจงเปนสักขีพยาน แต่บันดาสัตรีภาพทั้งหลายซึ่งอยู่ในพระราชนิเวศวังสถาน ข้าพระองค์มิได้มีจิตรคิดเปนเวรชิงชังบุทคลผู้ใดเลย ขอให้ชนทั้งหลายจงอย่าได้เปนเวรชิงชังข้าพระองค์ ด้วยอำนาจเทพยเจ้าอภิบาลรักษา แล้วข้าน้อยก็ลงจากยานระแทะดำเนินตามมารดาเข้าในพระราชวัง ไปยังจวนตำแหน่งนั่งแห่งท้าวจันทรนาถภักดี และท้าวศรีราชศักดิโสภา อันเปนใหญ่ในชะแม่พระกำนัล ท่านก็เรียกหาให้นั่งยังที่สมควร แล้วก็โอภาปราไสโดยฉันน้ำจิตรเมตตากรุณา ข้าน้อยก็คำรพนบไหว้เปนอันดี ครั้นเพลาขึ้นเฝ้าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ท่านก็ถือเอาพานเข้าตอกกับดอกมลิ ให้ท่านมารดาถือพานเข้าสาร ให้ข้าน้อยถือพานเมล็ดพรรผักกาด ให้ชาวชะแม่ผู้หนึ่งถือพานดอกหญ้าแพรก ของห้าสิ่งนี้โลกย์สมมุติว่าเปนมงคล ท่านจึ่งพามารดากับข้าน้อยขึ้นสู่มุขกระสันอันเปนที่เฝ้า ดูเดียรดาษไปด้วยหมู่พระสนมกำนัล เฝ้าทุลธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามตำแหน่งผู้ใหญ่ผู้น้อย งามประดุจดาวล้อมเดือน ขณะนั้นท้าวจันทรนาถภักดีก็น้อมเศียรเกล้ากราบทูลเบิกว่า ข้าสรวมชีพย์ข้าพระบาทออกพระศรีมโหสถ ยศกัมเลศครรไลยหงษ์ พงษมหาพฤฒาจารย์ ให้เรวะดีอัคภรรยานำนพมาศผู้ธิดามาถวายเปนข้าบาทบงกช โดยใจสวามิภักดี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดำรัสด้วยมารดาข้าน้อยตามพระราชอัชฌาไสย แล้วก็ให้พระราชทานรางวัลภอเปนเกียรติยศ ดำรัสสั่งให้ข้าน้อยนี้รับราชการอยู่ในตำแหน่งนางพระสนม ฯ ตั้งแต่วันนั้นมาข้าน้อยก็ได้เฝ้าแหนคอยสังเกตดูแบบแผน เยี่ยงอย่างท่านทั้งหลายซึ่งเคยกระทำราชกิจต่าง ๆ ที่ถูกต้องตามพระอัชฌาไสย อยู่ได้ห้าวัน ภอถึงการพระราชพิธีจองเปรียงในวันเพ็ญเดือนสิบสอง เปนนักขัตฤกษ์ชักโคมลอยโคม บรรดาชนประชาชายหญิงต่างตกแต่งโคมชักโคมแขวนโคมลอยทุกตระกูลทั่วทั้งพระนคร แล้วก็ชวนกันเล่นมโหระสพสิ้นสามราตรีเปนเยี่ยงอย่าง แต่บรรดาข้าเฝ้าฝ่ายราชบุรุษนั้นต่างทำโคมประเทียบบริวารวิจิตรด้วยลวดลายวาดเขียนเปนรูปแลสันถานต่าง ๆ ประกวดกัน มาชักมาแขวนเปนระเบียบเรียบรายตามแนวโคมไชยเสาระหงตรงหน้าพระที่นั่งชลพิมาน ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงพระราชอุทิศสักการบูชาพระมหาเกษธาตุจุฬามณีในชั้นดาวดึงษ์ ฝ่ายพระสนมกำนัลก็ทำโคมลอยร้อยด้วยบุบผาชาติเปนรูปต่าง ๆ ประกวดกัน ถวายให้ทรงอุทิศบูชาพระบวรพุทธบาทซึ่งประดิษฐานยังนัมมทานที แลข้าน้อยก็กระทำโคมลอยคิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมพระสนมกำนัลทั้งปวง จึงเลือกผะกาเกสรศรีต่าง ๆ ประดับเปนรูปดอกกระมุทบานกลีบรับแสงพระจันทร์ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนศรีสลับให้เปนลวดลาย แล้วก็เอาผลพฤกษาลดาชาติมาแกะจำหลักเปนรูปมยุระคะณานกวิหคหงษ์ ให้จับจิกเกสรบุบผชาติอยู่ตามกลีบดอกกระมุทเปนระเบียบเรียบเรียง วิจิตรไปด้วยศรีย้อมสดส่างควรจะทอดทัศนายิ่งนัก ทั้งเสียบแซมเทียนธูปแลประทีปนำมั้นเปรียงเจือด้วยไขข้อพระโค ครั้นเพลาพลบค่ำสมเด็จพระร่วงเจ้าเสด็จลงพระที่นั่งชลพิมาน พร้อมด้วยพระอัคชายา พระบรมวงษาแลพระสนมกำนัลนางท้าวชาวชะแม่ทั้งปวง พราหมณ์ก็ถวายเสียงสังข์อันเปนมงคล ชาวพนักงานก็ชักสายโคมไชยโคมประเทียบบริวารขึ้นพร้อมกัน เพื่อจะให้ทรงพระราชอุทิศสักการบูชาพระจุฬามณี ฝ่ายนางท้าวชาวชะแม่ก็ลอยโคมพระราชเทพีพระวงษานุวงษ์ โคมพระสนมกำนัลเปนลำดับกันลงมา ถวายให้ทอดพระเนตรแลทรงพระราชอุทิศ ครั้นถึงโคมรูปดอกกระมุทของข้าน้อย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรพลางทางตรัสชมว่าโคมลอยอย่างนี้งามประหลาดยังหาเคยมีไม่ เปนโคมของผู้ใดคิดกระทำ ท้าวศรีราชศักดิโสภาก็กราบบังคมทูลว่าโคมของนพมาศธิดาพระศรีมโหสถ ครั้นได้ทรงทราบก็ดำรัสถามข้าน้อยว่าทำโคมลอยให้แปลกประหลาดจากเยี่ยงอย่างด้วยเห็นเหตุเปนดังฤๅ ข้าน้อยก็บังคมทูลว่าข้าพระองค์สำคัญใจคิดเห็นว่าเปนนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือนสิบสองพระจันทร์แจ่มแสงปราศจากเมฆมลทิน อันว่าดวงดอกชาติโกสุมภ์ประทุมมาลย์มีแต่จะแบ่งบานกลีบรับแสงพระอาทิตย์ ถ้าชาติอุบลเหล่าใดบานผกาเกสรรับแสงพระจันทร์แล้ว ก็ได้ชื่อว่าดอกกระมุท ข้าพระองค์จึ่งทำโคมลอยเปนรูปดอกกระมุท ซึ่งบังเกิดมีอยู่ยังนัมมะทานที อันเปนที่พระบวรพุทธบาทประดิษฐาน กับแกะรูปมยุราคณานกวิหคหงษ์ประดับ แลมีประทีปเปรียงเจือด้วยไขข้อพระโค ถวายในการทรงพระราชอุทิศครั้งนี้ ด้วยจะให้ถูกต้องสมกับนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือนสิบสอง พระราชพิธีจองเปรียง โดยพุทธสาสน์ไสยสาตร ครั้นสมเด็จพระร่วงเจ้าได้ทรงสดับ ก็ดำรัสว่าข้าน้อยนี้มีปัญญาฉลาดสมที่เกิดในตระกูลนักปราชญ์ กระทำถูกต้องควรจะถือเอาเปนเยี่ยงอย่างได้ จึ่งมีพระราชบริหารบำหญัดสาปสันว่า แต่นี้สืบไปเบื้องหน้าโดยลำดับกษัตรในสยามประเทศ ถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือนสิบสอง พระราชพิธีจองเปรียงแล้ว ก็ให้กระทำโคมลอยเปนรูปดอกกระมุท อุทิศสักการะบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที กราบเท่ากลปาวสาน อันว่าโคมลอยรูปดอกกระมุทก็ปรากฎมาจนเท่าทุกวันนี้ แต่คำโลกย์สมมุติเปลี่ยนชื่อเรียกว่าลอยกระทงทรงประทีป เหตุดังนี้ข้าน้อยผู้ชื่อว่านพมาศก็ถึงซึ่งมีชื่อเสียงปรากฎอยู่ในแผ่นดินได้อย่างหนึ่ง อันราชประเพณีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยทรงประพฤติมาแต่ก่อน ถ้าทอดพระเนตรชักโคมลอยโคมแล้ว ก็เสด็จทรงเรือพระที่นั่งไปถวายดอกไม้เพลิง บูชาพระรัตนไตรยทุกพระอารามหลวง บรรดาที่อยู่ริมฝั่งนทีจนรอบกรุง ทั้งทรงทอดบังสุกุลจีวร ทรงพระราชอุทิศถวายพระภิกษุสงฆ์อันพึงปราถนานั้นด้วย แล้วก็ทรงทอดพระเนตรทรงฟังประชาชนชายหญิงร้องรำเล่นนักขัตฤกษ์เปนการมโหรสพต่าง ๆ สำราญราชหฤไทยทั้งสามราตรี แลเมื่อจะเสด็จนั้น ลางทีก็ดำรัสเรียกพระอัคชายา พระบรมวงษา ลงเรือพระที่นั่งไปด้วย บางที่ก็สั่งให้นางบำเรอสำหรับขับร้อง แลนางพระสนมผู้สนิท ไปลงเรือพระที่นั่งตามเสด็จ แลในราตรีขึ้นสิบสี่ค่ำวันนั้น สมเด็จพระร่วงเจ้าทรงลอยโคมแล้ว ก็ลงเรือพระที่นั่งชื่อประพาศแสงจันทร์ เสด็จด้วยนางบำเรอ จึ่งมีพระราชบรรหารดำรัสเรียกให้ข้าน้อยลงเรือพระที่นั่งไปด้วย ครั้นเสด็จไปถึงหน้าพระอารามแห่งใดชาวพนักงานก็จุดดอกไม้เพลิง พุ่มพะเนียงพลุระทากระถาง แสงสว่างกระจ่างจับผนังหลังคาพระพิหารการบุเรียน อร่ามงามชวนน้ำจิตรให้มีประสาทศรัทธาเลื่อมใสโสมนัศ ทั้งน่าชมเรือร้านม้าผ้าบังสุกุลประดับด้วยโคมปักโคมห้อยสว่างไสว จอดเรียงรายถวายให้ทรงจบพระหัตถ์ มีทุกท่าพระอารามหลวง แลหน้าบ้านร้านแพเหล่าตระกูลทั้งหลาย ก็ตกแต่งห้อยแขวนโคมประทีปพวงบุบผามาไลยผูกระใบศรีต่าง ๆ ตั้งโต๊ะแต่งเครื่องสักการบูชาประกวดกันทั้งสองฝากฝั่งนที แสงสว่างดุจทิวาวัน เดียรดาษด้วยนาวาประชาราษฎร ตีฆ้องกลองขับร้องเพลงเกริ่นเพลงกรายโชยชายเห่ช้าชมเดือน ทั้งดนตรีดีดสีสังคีต อันเหล่าเรือประเทียบท้าวพระยาพระหลวงก็แห่ผ้าบังสุกุล ไปเที่ยวทอดถวายพระสงฆ์เจ้าในพระอารามต่าง ๆ ล้วนแต่แต่งกรัชกายนุ่งผ้ารัตครีห่มสีแดงสุกแดงแสดแซมช้องผมด้วยพวงผกาเกสร แสงพระจันทร์จับนวลหน้าลออเอี่ยม บ้างก็ขับเพลงพิณเพลงแพนเพลงดุริยางค์โหยหวนสำเนียงเสียงเสนาะน่าพึงฟัง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดทัศนามหาชนเล่นนักขัตฤกษ์สำราญราชหฤไทย จึงดำรัสให้ข้าน้อยนิพนธ์ผูกกลอน เปนเพลงขับให้นางบำเรอร้องถวายในขณะนั้น ข้าน้อยให้คิดเกรงพระราชอาญายิ่งนัก แต่อุส่าห์แขงใจนิพนธ์กลกลอนว่า

๏ ข้าน้อยนพมาศ อภิวาทบาทบงสุ์ด้วยจงจิตร์ ยังนิพนธ์กลกลอนอ่อนความคิด อันชอบผิดขอจงโปรดซึ่งโทษกรณ์ เปนบุญตัวได้ตามเสด็จประพาศ นักขัตฤกษ์ประชาราษฎร์สโมสร สว่างไสวไปทั่วทั้งนคร ทิฆัมพรก็แจ่มแจ้งแสงจันทร์เอย ๚

๏ หน้าแสนสำราญจิตร์ ทั้งสิบทิศรุ่งเรืองดังเมืองสวรรค์ สงสารแต่พระสนมกำนัล มิได้เห็นเปนขวัญไนยนา แม้นเสด็จด้วยที่นั่งบัลลังก์ขนาน เวรอยู่งานแลเจ้าจอมมาพร้อมหน้า จะชวนกันเกษมเปรมปรีดา ขอประทานโทษาข้าน้อยเอย ๚

๏ สมเด็จพระร่วงเจ้าได้ทรงสดับกลกลอนดังนั้น ก็แย้มพระโอฐทรงพระสรวล แล้วดำรัสว่าข้าน้อยกล้าว่ากล่าว จะให้พาพวกพ้องมาเที่ยวดูการนักขัตฤกษ์เล่น โดยน้ำใจคิดเห็นว่าจะได้ผลได้ประโยชน์ดังฤๅ ข้าน้อยก็ทูลสนองพระราชบัญชาว่า ข้าพระองค์ได้เห็นเรือประเทียบท้าวพระยา ล้วนแต่ตกแต่งเนื้อตัวนุ่งห่มสีสันต่าง ๆ ประกวดกันดูก็งดงาม อันพระสนมกำนัลทั้งปวง ย่อมได้รับพระราชทานสรรพเครื่องอลงกาภรณ์ทั่วกัน แลเมือมิได้ตกแต่งกรัชกายในการนักขัตฤกษ์แล้ว ก็จะทอดทิ้งให้เสร้าหมองเสียสีสันอันตระธานเสียด้วยสิ้นรัก ขึ้นชื่อว่าเปนสัตรีมีอิศริยยศแล้ว ย่อมรักใคร่ในการที่จะตกแต่งกายาสิ้นทุกตัวคน ถึงจะตกแต่งอยู่ในพระราชสถานสักร้อยครั้ง ก็ไม่สบายใจเท่าได้แต่งในการออกหน้าแต่ครั้งหนึ่ง แลนักขัตฤกษ์จะมีก็ปีละครั้งละคราว ข้าน้อยอยากจะใคร่ได้เห็นทั่ว ๆ กัน จึ่งกล้ากราบทูลดังนี้ สมเด็จพระร่วงเจ้าก็ทรงดุษณีภาพในความเรื่องนี้ ดำรัสกิจอันอื่นโดยพระราชอัชฌาไสย ครันบังควรกับเพลาแล้วก็เสด็จกลับยังพระราชนิเวศ จึ่งมีพระบัญชาสั่งชาวพนักงานทั้งหลายว่า ยังนักขัตฤกษ์อิกสองราตรี เราจะไปเที่ยวประพาศเล่นด้วยนาวาขนาน ท่านจงเตรียมการไว้ให้พร้อม ฝ่ายพระสนมกำนัลครั้นได้ทราบว่าจะได้โดยเสด็จก็ยินดีปรีดา ไม่ว่าเปนเวรอยู่งานของผู้ใด แต่เพลาเย็นต่างก็จัดแจงแต่งกรัชกาย นุ่งห่มผ้าลิขิตพัตรผ้าสุวรรณพัตรปกปิดด้วยเครื่องอลงกาภรณ์ เสียบแซมผกามาศผกาเกสรในช้องผม ผัดผิวหน้านวลงามดังนางเขียนแต่งคิ้วให้ค้อมดุจเส้นวาด อันพระสนมกำนัลจำพวกหนึ่งเปนคนรู้มากมักบอกแต่เจ็บไข้ พึงใจจะทำราชกิจแต่เมื่อคราวจวน ๆ จะแจกจ่าย ก็ได้รับพระราชทานสรรพสิ่งที่อย่างเลว ภอสมกับเกียจคร้าน ครั้นถึงที่จะมีการออกหน้าต้องตกแต่งก็คิดอายด้วยไม่เทียมเพื่อน จะนั่งอยู่ก็ไม่ได้ด้วยอยากจะใคร่เห็น ต้องเสือกสนขวนขวายจนสิ้นฤทธิ ไม่สมความปราถนาแล้วก็ต้องจนใจ กลับได้คิดโทมนัศติเตียนตัว ว่ากูเอ้ยรูปร่างหน้าตาก็เทียมท่าน แต่มาประพฤติสันดานเปนคนแชเชือนจะได้สิ่งใดก็ไม่เหมือนเขา จนต้องนอนนิ่งอยู่กับวัง น่าอัประยศอดสูแก่ผู้คนบ่าวไพร่ ตั้งแต่นี้ไปเบื้องหน้าจะอุส่าห์พากเพียรให้เสมอพวกพ้อง เปนคนดีให้จงได้ ถ้าท่านผู้ใดกลับใจได้คิดเมื่อครั้งนั้น ก็นับว่ากลับตัวได้ด้วยเหตุคือปัญญาของข้าน้อยนพมาศ แลในเพลาราตรีอันเปนคำรบสองคำรบสามนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงประพาศการนักขัตฤกษ์ ด้วยเรือพระที่นั่งบัลลังก์ขนานพร้อมด้วยพระอรรคชายา พระราชประยูรวงษา พระสนมกำนัลซึ่งสนิทแลประจำเวรอยู่งาน ทั้งนางบำเรอสำหรับขับร้องสำราญราชหฤไทยด้วยสโมสรพร้อมเพียง จึ่งดำรัสให้ข้าน้อยนิพนธ์กลกลอนเปนเพลงขับ ให้นางบำเรอร้องเชยชมพระนครบ้าง แลชมแสงพระจันทร์ดวงดาวนักขัตฤกษ์ยี่สิบเจ็ด อันเดินประจำจักระราษีคือ อัสสนี ภรณี กัตติกา โรหิณี มิคเศียร อัทระ บุนพสุ บุษยะ อสิเลส มาฆะ บุพผล อุตรผล หัตถะ จิตระ สวัสดิ วิสาขะ อนุราธะ เขฏฐะ มูละ บุรพาสาธ อุตราสาธ สาวนะ ธนิฏฐะ สัตภิสชะ บุพภัทะ อุตราภัทะ เรวดี โดยตำหรับข้าน้อยได้เล่าเรียน บันดาพระบรมวงษาแลพระสนมกำนัล ต่างบันเทิงเริงรื่นด้วยได้เห็นได้ฟังหมู่มหาชนชาวพระนครเล่นการนักขัตฤกษ์ ทั้งได้ตกแต่งกรัชกายประกวดกัน ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรลูกหลวงหลานหลวงนางสนมกำนัล แต่งกายงามกว่าแต่งตามธรรมดา ก็พึงภอพระราชหฤไทย จึ่งพระราชทานเครื่องอลงกาภรณ์พรรณ์ผ้านุ่งผ้าห่มล้วนแต่อย่างดีมีค่า เพิ่มเติมให้ทุกหน้าคณานาง ข้าน้อยก็ได้รับพระราชทานสองเท่าพระสนมกำนัลทั้งปวง ต้องเปนคนใหม่ ตั้งแต่นั้นมาถึงพระราชพิธีจองเปรียงแล้ว สมเด็จพระร่วงเจ้าก็เสด็จทรงประพาศการนักขัตฤกษ์ พร้อมด้วยนางในทุกครั้ง จนได้เปนตำราว่าเกิดขึ้นด้วยปัญญาข้าน้อยนพมาศ อันว่าหมู่พระสนมกำนัลทั้งหลาย ก็มีน้ำจิตรรักใคร่ข้าน้อยด้วยเหตุสองประการ คือพระเจ้าแผ่นดินชุบเลี้ยงเสมอกันนั้นประการหนึ่ง คือเห็นความดีของข้าน้อยนั้นประการหนึ่ง แต่นั้นมาข้าน้อยก็ได้ทำกิจราชการรับใช้สอยในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งวิสาสะคุ้นเคยกับพระสนมกำนัลสิ้นทั้งพระราชนิเวศ ฯ ครั้นล่วงมาถึงเดือนอ้าย กาลกำหนดพระราชพิธีตรียำพวายแลตรีปวาย เปนการนักขัตฤกษ์ประชุมหมู่ประชาชนชายหญิงยังหน้าพระเทวสถานหลวง บรรดาหมู่ชะแม่นางในทั้งหลายก็ตกแต่งกรัชกายไปตามเสด็จสมเด็จพระร่วงเจ้า ดูไกวนางกระดานสาดน้ำรำเสนง แลทัศนาชีพ่อพราหมณ์แห่พระอิศวรพระนารายน์ในเพลาราตรี ณะพระที่นั่งไชยชุมพล เกษมสานต์สำราญใจถ้วนทุกหน้า เปนธรรมเนียมพระนคร ฯ เดือนยี่ถึงพระราชพิธีบุษยาภิเศกเถลิงพระโคกินเลี้ยงเปนนักขัตฤกษ์ หมู่นางในก็ได้ดูชุดชักว่าวหง่าว ฟังสำเนียงเสียงว่าวร้องเสนาะลั่นฟ้าไปทั้งทิวาราตรี ฯ เดือนสามประชุมชาวพระนครเล่นเปนนักขัตฤกษ์พระราชพิธีธานยเทาะห์ขนเข้าเข้าลาน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จณะพระพลาไชย ให้พระสนมกำนัลนางระบำนางบำเรอ ที่มีรูปศิริวิลาศเปนอันงาม แต่งตัวใส่เสื้ออย่างเทศอย่างมะลายู ออกชักระแทะทองระแทะเงินระแทะศรีต่าง ๆ เปนคู่ ๆ กันสิบคู่ ลากฝ้อนเข้าเข้าสู่ลานอันแวดวงด้วยราชวัตรฉัตรธง มีพิดานห้อยย้อยด้วยพวงบุบผามาไลย แลการมโหรสพก็เล่นระเบงระบำจิริกางแทงเขนนางกะอั้วผัวแทงควาย หกขะเมนไต่ลวดลอดบ่วงรำแพน เสียงฆ้องกลองนี่สนั่นน่าบันเทิงใจ แล้วชาวพนักงานก็นำพระโคอุศุภราชโคกระวินเข้ามาเทียมเกวียนพราหมณาจารย์ถือประตักเงิน อ่านมนต์ขับพระโคให้บ่ายบาทเวียนนวดเข้า ครั้นสำเร็จเปนสังเขปแล้วนายนักการพระสุรัศวดีก็สงฟางขนไปกองไว้ในยัญะกระลากูณฑ์ จึ่งพระครูพรหมพรตพิธีบูชาสะมิทธิพระเพลิงด้วยสุคันธของหอม อ่านอิศวรเวทโหมกุณฑ์บันฦๅเสียงสังข์สามวาระแล้ว จึ่งเชิญพระเพลิงออกจุดเผาฟางแลซังเข้า สมมุติว่าคลอกทุ่งเผาป่ากันอุปัทวะจรรไร ฯ ครั้นเดือนสี่ถึงการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินโลกย์สมมุติเรียกว่าตรุศ ฝ่ายพุทธสาสน์ชาวพนักงานก็ตั้งบาตรน้ำบาตรทรายจับด้ายมงคลสูตรใส่ลุ้งไว้ในโรงราชพิธีทั้งสี่ทิศพระนครแลในพระราชนิเวศ จึ่งอัญเชิญพระพุทธปฏิมากรมาประดิษฐาน อาราธนาพระมหาเถรานุเถร ผลัดเปลี่ยนกันมาจำเริญพระปริต ในโรงราชพิธีทุกตำบล สิ้นทั้งทิวาราตรีสามวาร แลด้ายมงคลสูตรนั้น ชาวพนักงานแจกให้พระบรมวงษานุวงษ์ทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน เมื่อวันพระมหาเถระเจ้าจำเริญพระอาฏานาฏิยสูตรในราตรี หมู่ทหารยิงปืนใหญ่รอบพระนคร ฝ่ายพราหมณาจารย์ประชุมกันผูกพรตกระทำการพระราชพิธีในพระเทวะสถานหลวง ตั้งเครื่องพลีกรรมสังเวยบวงสรวงพระเทวะรูปทั้งมวล มีพระปรเมศวรเปนต้น แล้วก็เปลี่ยนเวรกันอ่านอาคมในทิวาราตรีทั้งสาม ครั้นถึงวันขึ้นสิบสี่ค่ำเพลาบ่ายชายแสง พระครูพรหมพรตพิธี กับชีพ่อพราหมณ์ทั้งหลาย ก็เชิญจตุโลกยปาลาเทวะรูปขึ้นเสลี่ยงงาแห่เข้ามายังโรงราชพิธี ในพระราชนิเวศ กระทำประทักษิณสิ้นวาระสามรอบ แล้วพราหมณาจารย์ทั้งหลายก็สมาทานบัญจางคิกะศีล ในสำนักสมเด็จพระสังฆราชา เสร็จแล้วก็แห่พระเทวรูปทั้งสี่ออกไปประดิษฐานไว้บนเกย อันกระทำไว้หน้าโรงราชพิธีทั้งสี่ทิศพระนคร ครั้นเพลาพลบค่ำสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จ พร้อมด้วยพระราชเทพีแลพระบรมวงษา พระสนมกำนัลนางท้าวชะแม่จ่าชา ยังหน้าพระลานด้านประจิมทิศโรงราชพิธีในอันมีม่านกั้งกำบัง สว่างไปด้วยแสงโคมประทีปชะวาลา ทรงสถิตในมาฬกดัดพิดานผ้าขาวเปนพระที่นั่ง แล้วก็ทรงสมาทานบัญจางคิกะศีล พร้อมด้วยหมู่ข้าเฝ้าฝ่ายหน้าฝ่ายใน ต่างสดับฟังพระมหาเถรเจ้าจำเริญพระรัตนสูตรแลพระอาฏานาฏิยสูตรโดยสัจเคารพ ชาวพนักงานฝ่ายทหารก็ยิงปืนน้อยใหญ่รอบราชธานี สำหรับขับภูตปิศาจจนสิ้นราษราตรี นับได้ร้อยแปดคราวปืน ครั้นรุ่งขึ้นเปนวันสิ้นปีก็ทรงปรนิบัติพระมหาเถรเจ้าด้วยของคาวหวานอันประณีต ถวายไตรจีวรบริขารสมณะสิ้นทุกพระองค์ แล้วก็ตั้งกระบวนแห่เปนปัญจะพยุหะ หมู่ทหารแต่งกายใส่เสื้อหมวกศรีต่าง ๆ ถือธงฉานธงชาย สรรพสาตราวุธครบมือ ประดับด้วยเครื่องพระอภิรมแลกลองอินทเภรีแตรสังข์มะโหระทึกกังสดาลฉาบแฉ่ง จึ่งเชิญพระพุทธปฏิมาขึ้นทรงพระราชยานมีฉัตรกั้งบังพระสูรย์ อาราธนาพระมหาเถรเจ้าทั้งหลาย ขึ้นสถิตยานราชรถแลรถประเทียบเรียบเรียง กระบวนแห่นั้นเปนห้ากระบวน ประน้ำพระพุทธมนต์แลโรยทรายรอบพระราชนิเวศนั้นกระบวนหนึ่ง รอบพระนครตามท้องสถลมารคนั้นสี่กระบวน ดูเปนสง่างามยิ่งนัก เหล่านักเลงก็เล่นมโหรสพเอิกเกริกสมโภชบ้านเมืองเปนการนักขัตฤกษ์ บรรดานิกรประชาราษฎรชายหญิงก็แต่งตัวนุ่งห่มประดับกายอ่าโถง พากันมาเที่ยวดูแห่ดูงาน นมัสการพระในวันสิ้นปีแลขึ้นปีใหม่เปนอันมาก แลหมู่พระสนมกำนัลนางในทั้งหลาย ก็ประดับกายาด้วยเครื่องสรรพาภรณ์ ตามเสด็จสมเด็จพระร่วงเจ้า ออกทางท้องฉนวนวัดหน้าพระธาตุ ถวายเข้าบิณฑ์บูชาพระรัตนไตรย แล้วประโคมดุริยางคดนตรีขับร้องพ้อนรำสมโภชพระพุทธปฏิมากรโดยนิยมดังนี้ ฯ เดือนห้าถึงการพระราชพิธีสนามใหญ่ ประชุมหมู่มุขมาตยาฝ่ายทหารพ่อเรือนท้าวพระยาพระหลวง ผู้รั้งเมืองครองเมืองเอกโทตรีจัตวาและฉ้องเมืองกิ่งเมืองปากใต้ฝ่ายเหนือ บรรดาเปนเมืองขึ้นออก แลเศรษฐีมีหน้ามีหน้ามีทรัพย์ในตระกูลต่าง ๆ มากราบถวายบังคมสมเด็จพระร่วงเจ้าพร้อมกัน ต่างถวายเครื่องราชบรรณาการ เปนต้นว่าดอกไม้ทองเงินสรรพสิ่งของอันประณีตแลเปนแก่นสาร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เสด็จออกณะมุขเด็จพระที่นั่งอินทราภิเศก ชาวพนักงานก็ประโคมแตรสังข์กลองมะโหระทึก จึ่งพระศรีมโหสถบิดาข้าน้อยนี้ท่านแต่งกรัชกายตามตำแหน่งยศบรมหงษ์ ขึ้นสถิตย์นั่งเหนือตั่งอันหุ้มด้วยแผ่นเงิน น้อมเศียรศิโรตม์กราบบังคมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทูลเบิกนามท้าวพระยาพระหลวงในกรุงนอกกรุงและเศรษฐีมีชื่อบันดาถวายเครื่องราชบรรณาการ ให้สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงทราบใต้พระบาทบงกช แล้วก็รับพระราชปฏิภาณฉลองพระโอฐโดยข้อพระราชประดิสันถารปราไสยเสวะกามาตย์ทั้งมวญสิ้นวาระสามคาบ ครั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชดำเนินขึ้นแล้ว ขณะนั้นชาวพนักงานระเบงก็รำขับร้องให้ท้าวพระยาทั้งหลายทอดทัศนาจนสิ้นเพลาเลี้ยง เปนประเพณีพิธีสนานใหญ่ ชาวพระสนมกำนัล ต้องร้อยกรองร้อยบุบผาชาติเปนรูปสัณฐานต่าง ๆ ใส่เมี่ยงหมากถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงพระราชทานลูกขุนซึ่งมาประชุมกัน การอันนี้ก็เปนการนางในทั้งปวง กระทำประกวดฝีมือกันทุก ๆ ครั้ง แต่ก่อนข้าน้อยก็ยังหาเคยกระทำไม่ แต่ทว่าเคยได้เห็นได้ฟังว่าท่านทั้งหลายร้อยกรองดอกไม้ เปนรูปสิงสัตว์จัตุบาททวิบาทชาติมัจฉาผลาผล ข้าน้อยจึ่งเลือกพรรณบุบผชาติที่มีสีอันเหลือง มีดอกการะเกดแลดอกกรรณนิการ์เปนต้นมาคิดกรองร้อยเปนรูปพานสองชั้นรองขัน แล้วซ้อนสลับประดับดอกไม้ศรีแดงศรีขาวแลศรีต่าง ๆ แก่อ่อนประสารกันเปนระย้าระบาย จึ่งแต่งเมี่ยงหมากอบรมด้วยเครื่องหอม ใส่ลงในขันมีตาข่ายดอกไม้ปกคลุม ครั้นแล้วก็นำขึ้นถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมกันกับพวงมาลาพระสนมกำนัลทั้งปวง สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงทอดทัศนาทั่วไป ครั้นทรงเห็นพวงดอกไม้รูปพานขันหมากของข้าน้อยนี้ ก็ชอบพระราชอัชฌาไสย จึ่งดำรัสว่า อันคนมีปัญญาแล้วจะกระทำการสิ่งใดก็ถูกต้อง เปนที่จำเริญใจจำเริญตาหมู่ชนชายหญิง อันดอกไม้ร้อยรูปพานขันหมากนี้ ควรจะเปนแบบอย่างไว้ในแผ่นดินได้ จึ่งดำรัสสั่งชาวพนักงานให้ยกพานขันหมากไปตั้งให้พระยามหาอุปราชบริโภค แลดอกไม้ร้อยรูปต่าง ๆ ของนางในทั้งหลายนั้น โปรดให้พระราชทานหมู่มุขมนตรีทั้งสองฝ่าย แล้วสมเด็จพระร่วงเจ้าทรงปกาสิตสาบสรรว่า แต่นี้สืบไปเบื้องน่า กษัตริยก็ดี คหบดีเศรษฐีแลตระกูลทั้งหลายก็ดี ทั่วทุกราชธานีนิคมคามสยามภาษา แม้นผู้ใดจะทำการรับแขกเปนการสนานใหญ่ มีการอาวาหวิวาหมงคลเปนต้น จะร้อยกรองบุบผชาตใส่เมี่ยงหมากสู่แขก ก็ให้ร้อยกรองเปนรูปพานขันหมากดังนี้ ฤๅจะเอาสิ่งใด ๆ กระทำใส่เมี่ยงหมากก็ดี ก็จงกระทำเปนรูปพานมีชั้นสองรองขัน ให้เรียกนามว่าพานขันหมากกราบกัลปาวสาน เหตุดังนี้ พระมหากษัตราธิราชเจ้าสืบ ๆ กันมา จึ่งได้มีพานพระขันหมากเปนพระเครื่องต้น แลมีพานขันหมากสำหรับรับแขกต่างเมือง ฝ่ายตระกูลนรชนชาติประชาชายหญิงทั้งหลาย มีคหบดีแลเศรษฐีพราหมณาจารย์เปนต้น ผู้ใดกระทำการอาวาหวิวาหมงคล ก็ย่อมตกแต่งเมี่ยงหมากแลของบริโภคต่าง ๆ ใส่พานใส่เตียบนับด้วยสิบด้วยร้อยไปประชุมรับแขกแลบวงสรวงเลี้ยงดูกัน ก็เรียกนามตามราชบริหารสรรสาบ ว่ากระทำขันหมาก จนเท่าถึงกาลทุกวันนี้ อันว่าข้าน้อยนพมาศคิดกรองร้อยพวงผกาเกสรเปนรูปพานขันหมาก ต้องพระราชอัชฌาไสยสมเด็จพระร่วงเจ้า ก็ได้รับพระราชทานสักการะรางวัลเปนอันมาก แล้วก็ถึงซึ่งมีชื่อเสียงปรากฎอยู่ในแผ่นดิน ครั้นแพลาบ่ายชายแสงในวันนั้น พระมหาราชครูพราหมณ์พฤทธิบาศราชบรมหงษ์ก็ประชุมหมู่พราหมณ์พฤทธิบาศในสถานพระเทวกรรม์ บันฦๅเสียงสังข์บูชาธนญไชยบาศบวงสรวงพร้อมด้วยพระยาพระหลวงนายทหารช้างทหารม้า ต่างโปรยปรายเข้าตอกดอกไม้สมิทธิสังเวย พระเทวกรรม์อังกุษาวุธแลบ่วงบาศ โดยตำหรับพระคชกรรมคะเชนทรสนาน ครั้นเพลารุ่งเช้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกณพระที่นั่งไชยชุมพล พร้อมด้วยพระอัคชายาพระราชบรมวงษาแลพระสนมกำนัลนางท้าวชาวซะแม่ อันงามด้วยตกแต่งกรัชกายนุ่งห่มประกวดกันหน้าพระที่นั่งก็สพรั่งพร้อมมาตยาข้าเฝ้านั่งบนร้านม้าห้าชั้น เปนหลั่นลดตามผู้ใหญ่ผู้น้อย อันว่าประเทียบท้าวพระยาทั้งหลายฝ่ายทหารพ่อเรือนต่างแต่งตัวมานั่งเปนพวกเปนเหล่ากัน ตามระหว่างช่องสีมาหน้าพระกาลศาลหลวง ดาดเพดานผ้าขาวร่มแสงพระอาทิตย์แลวิถีทางท้องสนามในนางเรียงนั้น ก็แน่นนันไปด้วยหมู่ราษฎรประชาชายหญิงนุ่งหุ่มแพรม้วนตกแต่งตามตระกูลของตน ต่างคอยทอดทัศนาขบวนแห่คเชนทรสนาน ฝ่ายพระครูพราหมณ์พฤทธิบาศก็เบิกโขลนทวาร เดินขบวนแห่ช้างอันทรงพระเทวกรรมนำริ้วมาตามวิถีท้องสนามหญ้าหน้าพระที่นั่ง งามทหารเดินแห่ล้วนแต่ใส่เสื้อหมวกศรีต่าง ๆ ถือธงฉานธงชายไม้เส้าส้อมธนูศร เสียงกลองอินทเภรีแตรสังข์ดังเสนาะสนั่นเดียรดาษด้วยกระชิงกลิ้งกลดเครื่องคชาเฉลิมเกียรติ พระยาช้างระวางต้นเดินสนานงามด้วยลักษณรูป มีเผือกสามตระกูลเนียมสามตระกูลสมพงษ์สุประดิฐดามพะจุมปราสาทอำนวยกมุทบุษปะทันต์ไอยราทั้งสารทรงพระคชาธารที่นั่งเคนตะพัดล้วนประดับด้วยเครื่องคชาภรณ์สุพรรณพิจิตร อันนายจำนำประจำขี่คชพลายพังทั้งมวญห่มเสื้อศรีแดงแต่งตัวสง่างามอ่าโถง ถือขอเกราะของ้าวขอไม้ท้าวขอกะละเม็ด ขบวนสารซับมันมีช้างนำช้างแทรกช้างผะชดชายให้บำรูสู้งาผัดพาฬฬ่อแพนถวายหน้าพระที่นั่ง แล้วก็เดินขบวนแห่ม้าระวางต้นมาเปนขนัดล้วนประดับด้วยเครื่องอาชาสุวรรณวิไลย มีจำนำประจำจูงประจำขี่แต่งตัวสะใส่เสื้อศรีแดงโพกผ้าขลิบ ถือทวนทองเกาทัณฑ์แส้หอกซัด บ้างก็ขี่ให้พยศย่าง บ้างก็ขี่ขับควบ อันว่าคชสารแลอัศดรแต่ละตัวย่อมงามรูปและงามเครื่องแต่งจำเริญตายิ่งนัก สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตรขบวนคเชนทรสนานสำราญราชหฤไทย ทั้งพระอัคชายาบรมวงษาพระสนมกำนัล ท้าวพระยาข้าเฝ้าชาวประชาราษฎรทั้งหลายต่างเริงรื่นชื่นชมพระบรมโพธิสมภาร เปนการนักขัตฤกษ์คเชนทรสนานสามทิวาวัน และวันเปนประถมนั้น เดินพระยาช้างแลม้าระวางต้น วันเปนคำรบสอง เดินช้างม้าระวางวิเศษ วันเปนคำรบสาม เดินช้างม้าระวางเพรียว ครั้นเพลาตวันบ่ายชายแสงและราษราตรีชาวพนักงานก็เล่นเพลงไก่ป่าช้าหงษ์แลหนังรำ จุดดอกไม้พุ่มพะเนียงพลุระทากระถาง เปนการมโหรสพสมโภชพระเทวกรรมที่หน้าพระเทวะสถานหลวง เปนธรรมเนียมถ้วนคำรบสามราตรีตามตำหรับ ฯ ครั้นถึงณะวันพระบรมทินกรจรจากมินราษีประเวศขึ้นสู่เมษราษีเถลิงศกขึ้นปีใหม่ แต่บรรดาข้าเฝ้าพระบาททั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน ก็ประชุมพร้อมกันรับพระราชทานน้ำพระพัฒ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งเจ้าพนักงานโปรดให้พระราชทานเงินประจำปีแลพัตราภรณ์ แก่พระราชวงษาท้าวพระยาข้าเฝ้าทั้งสองฝ่ายในกรุงนอกกรุงตลอดลงไปจนไพร่ประจำซอง ทั้งพระสนมกำนัลท้าวชาวชะแม่จ่าชาตามตำแหน่งถานาศักดิ์ถ้วนทุกหน้า เสร็จการพระราชพิธีสนานใหญ่ดังนี้ ฯ ครั้นถึงเดือนหกเปนการนักขัตฤกษ์ในพระราชพิธีไพศาขจรดพระนังคัล จึ่งพระครูพรหมพรตพิธีศรีบรมหงษ์ก็ประชุมพราหมณ์ผูกพรตอัญเชิญพระเทวะรูปเข้าสู่โรงราชพิธีอันแวดวงด้วยราชวัตรฉัตรธงณะท้องทุ่งละหานหลวงหน้าพระตำหนักห้าง ครั้นถึงกำหนดวันอุดมฤกษ์วันอาทิตย์เปนวันสำหรับกระทำมงคลการแรกนาขวัญ จึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเครื่องต้นอย่างเทศขัดพระแสงกั้นหยั่น เสด็จทรงพระอัศวราชเปนพาหนะยานพร้อมด้วยพระหลวงขุนหมื่นนายทหารม้าประจำขี่อัศคร โดยเสด็จพยุหบาทตราขบวนเพชร์พวง แลพระอัคชายาพระราชวงษาพระสนมกำนัล เลือกแต่ที่ต้องพระราชหฤไทยให้โดยเสด็จ ล้วนแต่ตกแต่งกรัชกายอย่างนางเขียนขึ้น รถประเทียบตามไปในขบวนหลัง ครั้นเสด็จถึงพระพลาห้องประทับณะตำหนักห้าง จึ่งดำรัสสั่งออกยาพหลเทพย์ธิบดีให้เข้าสู่โรงราชพิธีถือเอาพัตราภรณ์ เพศกษัตรแต่งกายอย่างลูกหลวงเอกยิ่งด้วยอิศริยยศในวันเดียวนั้น มีชีพ่อพราหมณ์บันฦๅเสียงสังข์แลโปรยเข้าตอกนำหน้า แลเมื่อออกจากโรงราชพิธีนั้นก็แห่ด้วยกระชิงบังสูรย์ ครั้นเข้าสู่มณฑลท้องละหานที่จะจรดพระนังคัล ชาวพระโคก็นำพระโคอุศุภราชมาเทียมไถทอง พระครูพรหมพรตพิธีก็มอบยามไถแลประตักทองให้ออกยาพหลเทพย์ ออกยาพหลเทพย์กราบถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแล้วก็รับยามไถไม้ประตัก อันว่าออกพระศรีมโหสถยศกมเลศครรไลยหงษ์ผู้เปนบิดาข้าน้อยนี้ ท่านแต่งกรัชกายบริสุทธิเสวตรพัตราภรณ์ พร้อมเครื่องอัษฎาพรตเปนพราหมณ์มหาศาลประเสริฐศักดิ์ถือเอาไถเงินอันเทียมด้วยพระโคเสวตรพระพร จึ่งออกพระวัธนะเศรษฐีอันบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัตินับเข้าในมหาศาล ท่านแต่งกายอย่างคะหะบดีถือเอาไถอันหุ้มด้วยผ้ารัตกัมพลแดง เทียมด้วยพระโคกระวิน กับทั้งไม้ประตัก พระโหราจารย์ก็ลั่นฆ้องไชยประโคมดุริยางคดนตรี นายจำนำก็จับจูงพระโคอุสุภราชอันเทียมไถเอก ซึ่งออกยาพหลเทพย์ธิบดีถือนั้น บ่ายบาทดำเนินจรดพระนังคัลเวียนซ้ายไปขวา ไถโทออกพระศรีมโหสถดำเนินที่สอง ไถตรีพระวัธนะเศรษฐีดำเนินที่สาม ตามกันเปนลำดับ พร้อมด้วยชีพ่อพราหมณ์ปรายเข้าตอกดอกไม้ บันฦๅเสียงสังข์ตีไม้บันเดาะนำหน้าไถ ขุนบริบูรณ์ธัญญากับนายนักการนาหลวง แต่งตัวนุ่งเพลาคาดประคตใส่หมวกสานถือกระเช้าโปรยปรายหว่านพรรณพืชธัญญาหารตามทางไถ จรดพระนังคัลถ้วนคำรบสามรอบ อันว่าชาวพนักงานก็เล่นการมโหรสพระเบงระบำโหม่งครุ่มหกขะเมนไต่ลวดลอดบ่วงรำแพนแทงวิไสไก่ป่าช้าหงษ์ รายรอบที่ปริมณฑลกระทำการแรกนาขวัญ เอิกเกริกไปด้วยหมู่มหาชนชายหญิงพาบุตรนัดดามาทอดทัศนาเล่นสำราญใจ ครั้นเสร็จการไถหว่านแล้วก็ปลดปล่อยพระโคอุศุภราชโคเสวตรพระพรโคกระวินออกให้กินเลี้ยงเสี่ยงทายของห้าสิ่ง ถ้าพระโคบริโภคเข้าแลถั่วงาหญ้าน้ำสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ดี และมิได้บริโภคก็ดี โหราพราหมณาจารย์ก็ทำนายทายทักว่าธัญญาหารจะได้ผลมิได้ผลน้ำมากน้ำน้อยตามตำหรับไตรเพท ขณะนั้นพระอัคชายาดำรัสสั่งนางพระสนม ให้เชิญเครื่องพระสุพรรณภาชนมธุปายาศขึ้นถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงเสวย แล้วก็ให้ชาวราชมันเลี้ยงลูกขุนทั้งหลายด้วยเข้ามธุปายาศแลของคาวหวานตามลำดับ เสร็จการพระราชพิธีจรดพระนังคัลดังนี้ ฯ ครั้นถึงวันวิสาขะบูชาพุทธสาสน์ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแลราชบริรักษ์ฝ่ายหน้าฝ่ายใน ทั้งอาณาประชาราษฎรทั่วทุกนิคมคามชนบท ก็ประดับพระนครแลพระราชวังข้างหน้าข้างใน จวนตำแหน่งท้าวพระยาพระหลวงแลเศรษฐีชีพราหมณ์ บ้านเรือนโรงร้านพ่วงแพชนประชาชายหญิง ล้วนแต่แขวนโคมประทีปชวาลาสว่างไสว ห้อยย้อยพวงบุบผชาตประพรมเครื่องสุคันธรศ อุทิศบูชาพระรัตนไตรยสิ้นสามทิวาราตรี มหาชนชักชวนกันรักษาพระอุโบสถศีลสดับฟังพระสธรรมเทศนาบูชาธรรมะ บ้างก็ถวายฉลากภัตตาหารสังฆทานเข้าบิณฑ์ บ้างก็ยกขึ้นซึ่งธงผ้าบูชาพระสถูปเจดีย์ บ้างก็บริจาคทรัพย์จำแนกแจกทานแก่ยาจกทะลิทกคนกำพร้าอะนาถาชะราพิการ บ้างก็ซื้อถ่ายชีวิตรสัตวจัตุบาททวิบาทชาติมัจฉาต่าง ๆ ปลดปล่อยให้ได้ความศุขสบาย อันว่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแลราชตระกูลก็ทรงศีลบำเพ็ญการพระราชกุศลต่าง ๆ ในวันวิสาขะบูชาพุทธสาสน์เปนอันมาก เพลาตระวันชายแสงก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยราชสุริยวงษ์นางในออกวัดหน้าพระธาตุราชอารามหลวงวันหนึ่ง ออกวัดราชบูรณะพระพิหารหลวงวันหนึ่ง ออกวัดโลกยสุธาราชาวาศวันหนึ่ง ต่างนมัสการพระรัตนัตยาธิคุณ โปรยปรายผกาเกสรสุคันธรศสักการบูชาถวายประทีปธูปเทียนเวียนแว่นรอบรัตนบัลลังก์ ประโคมดุริยางคดนตรีดีดสีตีเป่าสมโภชพระชินศรีพระชินราชพระโลกนาถสัตถารถ โดยมีกระมลโสมนัศศรัทธาทุกตัวคน อันพระมหานครศุโขไทยราชธานีถึงวันวิสาขะนักขัตฤกษ์ครั้งใค ก็สว่างไปด้วยแสงประทีปเทียนดอกไม้เพลิง แลสล้างสลอนด้วยธงชายธงปะฎาก ไสวไปด้วยภู่พวงดอกไม้กรองร้อยห้อยแขวน หอมตระหลบไปด้วยกลิ่นสุคันธรศรวยรื่นเสนาะสำเนียงพิณพาทย์ฆ้องกลองทั้งทิวาราตรี มหาชนชายหญิงพากันกระทำกองการกุศล เสมือนจะเผยซึ่งทวารพิมานฟ้าทุกฉ้อชั้น ฯ ครั้นถึงเดือนเจ็ดนักขัตฤกษ์พระราชพิธีเคนทะ ชาวพนักงานก็ตกแต่งสถานพระสยมภูวนารถอันเปนพระเทวสถานหลวงให้สอ้านสอาด ชาวพระนครก็มาสันนิบาตประชุมกันคอยดู พราหมณาจารย์จะทิ้งข่างเสี่ยงทาย จึ่งพระครูเพทางคสาตรราชไตรเพทกับหมู่พราหมณ์ ก็ผูกพรตบูชาสมิทธิพระเปนเจ้าเป่าสังข์ถวายเสียง แล้วสังเวยบวงสรวงข่าง อันกระทำด้วยทองเนาวะโลหะใหญ่ประมาณเท่าผลแตงอุลิด สมมุติว่าพรพระสยมสามกำลังบุรุษ จึ่งชักสายทิ้งข่างให้หมุนไปได้ อันข่างนั้นเปนที่เสี่ยงทายตามตำหรับไตรเพท ถ้าข่างดังเสียงเสนาะหมุนนอนวันได้บาทนาฬิกามีแต่ยิ่งมิได้หย่อน ก็กล่าวว่าเปนมงคลประเสริฐนัก พระมหากษัตราธิราชเจ้าจะทรงสุรภาพพระเกียรติยศปรากฎไปในนานาประเทศทั้งปวง สมณะชีพราหมณ์คะหะบดีเศรษฐีและไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินสิ้นทั้งพระนครขอบขัณฑสีมาอาณาเขตร อันกว้างใหญ่ไพศาล จะอยู่เย็นเปนศุขปราศจากไภยอันตรายต่าง ๆ หนึ่งโสดแม้นว่าข่างหมุนมิได้นอนวัน ทั้งสำเนียงก็ไม่เสนาะสนั่นอันตรายด้วยเหตุต่าง ๆ พราหมณาจารย์ทำนายว่าบ้านเมืองจะมิสบาย ในขวบปีนั้นโดยนิยมดังข้าน้อยกล่าวนี้ ครั้นได้เพลาฤกษ์พระครูเพทางคสาตรราชไตรเพท ก็ให้นาลิวันนายนักงานเชิญข่างขึ้นภัทรบิฐ หมู่พราหมณ์ทั้งมวญก็ดำเนินแห่ห้อมออกจากเทวสถาน ไปยังหน้าพระลานไชยอันแวดวงด้วยรั้วราชวัตรเปนที่ทิ้งข่าง จึ่งเอาสายไหมเบญพรรณยาวสิบสองศอกพันคันข่างร้อยช่องผัง ตั้งเท้าลงกับนางกระดานอันวางเหนือหลังภูมิภาคปัถพี พระครูพรหมพรตพิธีศรีบรมหงษ์ ก็อ่านอิศวรมนตร์กำเนิดข่างสิ้นวาระสามคาบ นาลิวันสามนางชำนาญข่างก็ประจำข่างคอยทิ้ง ครั้นได้ฤกษ์โหราลั่นฆ้องไชยนาลิวันก็ทิ้งข่างวางสายเสียงข่างดังกังวานเสนาะสนั่นดุจเสียงสังข์ หมุนนอนวันคันไม่สบัดได้บาทนาฬิกาเสศ ข่างสำแดงความจำเริญให้เห็นประจักษ์ถ้วนคำรบสามครั้ง ชีพ่อพราหมณ์และท้าวพระยาบรรดาราษฎร ซึ่งประชุมกันทอดทัศนาข่างหมุนดังนั้น ก็ยินดีปรีดาโห่ร้องเต้นรำบอกเล่ากันต่อ ๆ ไป ว่าในปีนี้บ้านเมืองจะอยู่เย็นเปนศุข หมู่พราหมณาจารย์ก็เชิญช่างคืนเข้าสู่พระเทวะสถาน อันว่าการพระราชพิธีเคนทะทิ้งข่างนี้ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินมิได้เสด็จไปทรงทอดพระเนตร แต่กาลก่อนก็มิได้โปรดให้นางในไปทอดทัศนา ครั้นเมื่อข้าน้อยนี้เข้าไปรับราชการ เปนข้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชบรรหารดำรัสว่า ข้าน้อยเปนชาติเชื้อตระกูลพราหมณ์ จึ่งโปรดให้ไปทอดทัศนาการพระราชพิธีเคนทะ กับพระสนมกำนัลซึ่งเปนเชื้อพราหมณ์ด้วยกัน แลที่นางในไปสถิตย์ดูทิ้งข่างนั้นเรียกชื่อโรงมานพที่พราหมณ์สวดมนต์ เสร็จการพระราชพิธีเคนทะทิ้งข่างดังนี้ ฯ ครั้นเดือนแปดถึงนักขัตฤกษ์บูชาใหญ่การพระราชพิธีอาสาธะมาสพระวรบุตรพุทธชิโนรศในพระสาสนา จะจำพระวรรษาเปนมหาสันนิบาตทุกพระอาราม ฝ่ายพราหมณาจารย์ก็จะเข้าพรตสมาทานศีลบริโภคกระยาบวชบูชากุณฑพิธีกึ่งเดือน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึ่งดำรัสสั่งนายนักการให้จัดแจงตกแต่งเสนาศนทุกพระอารามหลวง แล้วก็ทรงถวายบริขารสมณะ เปนต้นว่าเตียงตั่งที่นั่งนอนเสื่อสาดลาดปูเปนสังฆทาน แลผ้าวรรษาวาสิกพัตรฉลากภัตคิลานะภัตร ทั้งประทีปเทียนจำนำพระวรรษาบูชาพระบรมธาตุ พระพุทธปฏิมากรพระปริยัตติธรรมสิ้นไตรมาศ ถวายธูปเทียนชวาลาน้ำมันตามไส้ประทีป แก่พระภิกษุสงฆ์บรรดาจำพระวรรษาในพระอารามหลวง ทั้งในกรุงนอกกรุงทั่วถึงกันตามลำดับ ประการหนึ่งทรงพระราชอุทิศเครื่องกระยาสังเวยพลีกรรมพระเทวะรูป ในพระเทวสถานหลวงทุกสถาน ทั้งสักการะหมู่พราหมณาจารย์ซึ่งจำพรต อ่านอิศรเวทเพทางคสาตรบูชาพระเปนเจ้าด้วยเสวตรพัตราภรณ์ แลเครื่องกระยาบวช ทั้งประทีปธูปเทียนวิเลปะนะให้บูชากูณฑ์โดยทรงพระราชศรัทธาในพระพุทธสาสน์ไสยสาตรเจือกัน อันว่ามหาชนชายหญิงในตระกูลทั้งหลายมีตระกูลกษัตรและพราหมณ์และคหบดีเปนต้น ก็ชักชวนกันกระทำกองการกุศลต่าง ๆ บันดาผู้ใดได้สถาปะนะพระอารามไว้ในพระสาสนา ก็บอกกล่าวป่าวบุญในหมู่ญาติแลมิตร ช่วยกันตกแต่งเสนาศนถวายพระภิกษุสงฆ์ ทั้งถวายอาคันตุกะภัตรวรรษาวาสิกภัตรคิลานะภัตร ทั่วทุกพระอารามราษฎรทั้งในกรุงนอกกรุงแลมีนิคมเมืองขึ้นออกสิ้นพระราชอาณาเขตร ถ้าและผู้ใดนับถือไสยสาตรด้วย ก็บูชาพระเทวะรูปในเทวะสถานใหญ่น้อยทุกตำบล ทั้งสักการพราหมณ์อันจำพรตด้วยผ้าและประทีปเทียน ครันถึงณวันจาตุทสีสุกปักษ์เปนธรรมเนียมฤกษ์ นายนักการทหารบกทหารเรือก็ตั้งกระบวนแห่ เชิญเทียนประทีปจำนำพระวรรษาขึ้นตั้งบนคานหาม แลลงเรือเอกไชยใส่บุษบกบัลลังก์ทอง ประโคมกลองอินทเภรีแตรสังข์ธงทิวไสว แห่ไปตามท้องสถลมารคแลชลมารค ประชาราษฎรก็ซ้องสาธุการอนุโมทนาพระราชกุศล ครั้นประทับถึงพระราชอารามหลวงตำบลใด ชาวพนักงานก็เชิญเทียนประทีปเข้าในพระพิหารหอพระสธรรมมณเฑียรโรงอุโบสถจุดตามไว้ในที่นั้น ๆ ทุกพระอาราม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระราชอุทิศสักการะบูชาพระรัตนไตรยสิ้นไตรมาศสามเดือน ฝ่ายมหาชนประชาชายหญิงในตระกูลต่าง ๆ ทั่วไปทั้งพระราชอาณาเขตรขอบขัณฑสีมา ประชุมกันเปนพวกเปนเหล่าตามวงษ์ญาติแลมิตร์ ต่างตกแต่งกรัชกายประกวดกัน แห่เทียนจำนำพระวรรษาของตน ๆ ไปทางบกบ้างทางเรือบ้างเสียงพิณพาทย์ฆ้องกลองสนั่นไปทุกแห่งทุกตำบล เอิกเกริกด้วยประชาชนคนแห่คนดูทั้งทางบกทางน้ำเปนมหานักขัตฤกษ์ ในวันพระราชพิธีอาสาธะมาศบูชาใหญ่ ครั้นถึงอาวาศอารามของผู้ใดก็เลี้ยงดูกัน แล้วเชิญเทียนประทีปจำนำพระวรรษาเข้าตั้งในอุโบสถพิหาร จุดตามบูชาพระรัตนไตรยสิ้นไตรมาศสามเดือนทุก ๆ อารามราษฎร ครั้นณะวันกาลปักษ์เอกะดิถีเพลาตระวันชายแสง พระพุทธชิโนรสก็สันนิบาตประชุมกันเข้าพระวรรษาณะพระอุโบสถทั่วทุกพระอาราม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินออกวัดหน้าพระธาตุ พร้อมด้วยพระอัคชายาและพระบรมวงษาพระสนมกำนัล บรรดาชนทั้งหลายในตระกูลต่าง ๆ มีขัตติยตระกูลแลพราหมณตระกูลคหบดีตระกูลเปนต้น ซึ่งมีประสาทศรัทธาเชือถือพระพุทธสาสนาต่างชักนำประเทียบบริวารทั้งบุตร์หลานญาติแลมิตร์ออกไปสโมสรสันนิบาตพร้อมเพรียงกัน ณะพระอารามใหญ่น้อยทั่วทุกแห่งทุกตำบล อุทิศถวายอุทกะสาฎกแลปัจจัยการกถวายแก่พระภิกษุสงฆ์สามเณรทั่วถึงกัน แล้วมหาชนชายหญิงต่างตั้งบัญจางคประดิษฐสมาทานอุโบสถศีลอันมีองค์แปด ในสำนักนิ์พระมหาเถระเจ้าทั้งหลาย บ้างก็ออกวจีเภทว่าข้าพเจ้าจะรักษาอุโบสถเปนปาฏิหาริยะปักข์อุโบสถสิ้นวสันตรดูสี่เดือน บ้างก็สมาทานเปนเตมาสิกะนิพัทธะอุโบสถ คือรักษาศีลในพระวรรษาสิ้นไตรมาศสามเดือน บ้างก็สมาทานเปนเอกะมาสิกะนิพัทธะอุโบสถ คือรักษาศีลตั้งแต่เพญเดือนสิบเบดไปจนถึงเพญเดือนสิบสองเสมอทุกวัน บ้างก็สมาทานเปนอัฑฒะมาสิกะนิพัทธะอุโบสถ คือรักษาศีลเสมอทุกวันในสุกปักษ์กาลปักษ์กึ่งเดือน บ้างก็รักษาแต่ปรกติอุโบสถเดือนละแปดวันพระ บ้างก็สมาทานเปนปฏิชาคะระอุโบสถมีวันรับวันส่งเดือนหนึ่งรักษาศีลสิบเก้าวัน ทั้งสดับฟังพระธรรมกถึกสำแดงธรรมเทศนา แลพระภิกษุสงฆ์สาธยายปพระปริตในที่นั้น ๆ เสมอเปนนิจทุกวันมิได้ขาด ตราบเท้าสิ้นไตรมาศสามเดือนโดยนิยมดังนี้ อันว่าพระราชพิธีอาสาธมาศบูชาใหญ่ข้าน้อยได้คิดกระทำพนมดอกไม้ทอง และกอโกสุมประทุมทองอันวิจิตร์ด้วยวาดเขียน นำขึ้นถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงสักการะบูชาพระรัตนไตรยบ้างพระเทวะรูปบ้าง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็พึงภอพระอัชฌาไสย จึ่งดำรัสชมข้าน้อยว่าเปนคนฉลาดคิด โปรดพระราชทานสักการะรางวัลเปนอันมาก แต่นั้นมามหาชนชายหญิงทั่วทั้งพระนคร ก็ถือเอาเปนอย่างต่างกระทำพนมดอกไม้แลกอประทุมชาติมีพรรณต่าง ๆ บูชาพระรัตนไตรยในพระราชพิธีอาสาธะมาศมากขึ้นทุกปี ฝ่ายนางในทั้งหลายก็ถืออย่างกระทำพนมดอกไม้ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับพระราชทานรางวัล ตามฝีมือและปัญญาด้วยกันเปนอันมาก จึ่งพระบาทสมเด็จพระร่วงเจ้าแผ่นดินมีพระราชบริหารสาปสรรว่า เบื้องหน้าแต่นี้ไปชนชายหญิงในพระราชอาณาเขตร์ประเทศสยามภาษา บรรดาเปนสัมมาทฤฐิให้กระทำพนมดอกไม้กอบัวบูชาพระรัตนไตรยในพระราชพิธีอาสาธะมาศให้เรียกนามพนมดอกไม้ว่าพนมพระวรรษาอย่ารู้สาบสูญตราบเท้ากัลปาวะสาน ข้าน้อยนพมาศก็ถึงซึ่งมีชื่อเสียงว่าเปนคนฉลาดปรากฎนามอยู่ในแผ่นดินได้ อิกอย่างหนึ่งเสร็จการพระราชพิธีอาสาธมาศบูชาใหญ่ดังนี้ ฯ ครั้นถึงเดือนเก้าพราหมณาจารย์ก็พร้อมกันกระทำการพระราชพิธีพรุณสาตร ตั้งเกยสี่เกยที่ลานหน้าพระเทวสถานหลวง ประดับด้วยฉัตรธงอันกระทำด้วยหญ้าคา หญ้าตีนนก อ่างทองสัตโลหะสี่อ่าง ๆ หนึ่งเต็มไปด้วยเปือกปลูกชาติสาลีมีพรรณ์สองคือเข้าเจ้าเข้าเหนียว สามอ่างนั้นใส่มูลดินอันเจือด้วยโคไมยปลูกถั่วงาอย่างหนึ่ง ปลูกม่วงพร้าวอ่างหนึ่ง ปลูกหญ้าแพรกหญ้าละมานอ่างหนึ่ง ลงยันตร์พรุณสาตรปักกลางอ่าง ๆ ละคันตั้งไว้บนนางกระดานแป้นปักตรงหน้าเกย ครั้นถึงวันกำหนดฤกษ์หมู่พราหมณ์ทั้งหลายมีพระครูพรหมพรตพิธีศรีบรมหงษ์เปนประธาน ต่างน้อมบัญจางค์บวงสรวงสังเวยพระเจ้าตั้งสัตยาธิษฐานขอฝนให้ตกชุกชุมทั่วทุกนิคมอาณาเขตรขอบขัณฑสีมา กรุงพระมหานครศุโขไทยราชธานีบุรีรัตน์ ให้ชุ่มแช่ชาติสาลีอันมีพรรณ์ต่าง ๆ ซึ่งเปนของเลี้ยงชีพชนประชาชายหญิงสมณะพราหมณาจารย์ทั่วทั้งแผ่นดินจงบริบูรณ์ด้วยเมล็ครวงปราศจากด้วงแมลง ด้วยอำนาจวัษวะลาหกแลพรพระสยม หนึ่งโสดอันว่าลดาชาติทั้งหลายมีถั่วงาเปนต้น ขอจงบริบูรด้วยพืชผลให้ล้นเหลือ จะได้เปนเครื่องกระยาบวชบำบวงสรวง หนึ่งเล่าพรรณรุกขชาตต่าง ๆ มีม่วงพร้าวเปนต้น ขอจงบริบูรณ์ด้วยดอกดวงพวงผล จะได้เปนอาหารแห่งหมู่มนุษยนิกรทั้งผอง ประการหนึ่งติณะชาตต่างพรรณ์อันเขียวขจิตงามด้วยยอดแลใบ มีหญ้าแพรกหญ้าละมานเปนต้น สำหรับเปนภักษาหารช้างม้าโคกระบือ ขอจงงอกงามตามชายหนองคลองน้ำไหล ด้วยอำนาจวัษวะลาหกให้บริบูรณ์ ครั้นกล่าวคำอธิษฐานแล้ว จึ่งพราหมณาจารย์ทั้งสี่ผู้ทรงไว้ซึ่งพระเวทเพทางคสาตรแต่งกายสยายมวยผม นุ่งอุทกสาฎกถือเอาธงประฏากศรีมอดุจเมฆมืดฝน อันรายยันตร์พะรุณะสาตรตามขอบข้างละสี่คู่ ซึ่งปักบูชาไว้คนละคันโดยสัจเคารพ พระครูพรหมพรตพิธีเป่าสังข์ดำเนินนำหน้า หมู่พราหมณ์ทั้งหลายก็แห่ห้อมออกจากพระเทวะสถานไปยังเกย ขึ้นสถิตย์ยืนอยู่นนเกย ๆ ละคน ต่างอ่านโองการประกาศแก่วัษวะลาหกตามตำหรับอิศวรเวทขอฝน สิ้นวาระสามคาบโบกธงธวัชกวัดแกว่งบริกรรมอิศวรเวทขอฝน ตามตำหรับไตรเพทสิ้นวาระสามคาบแล้วก็ลงจากเกยคืนเข้าสู่พระเทวะสถาน พราหมณ์ทั้งหลายผู้รู้พระมนตร์พะรุณะสาตร์ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นยืนบนเกย โบกธงร่ายเวทขอฝนวันละสองเพลา คือเช้าแลเย็น ถ้วนคำรบสามทิวาในวันนักขัตฤกษ อันว่าการพระราชพิธีพะรุณะสาตรนี้ เมื่อข้าน้อยมีอายุเจ็ดขวบปลาย ได้ตามพระศรีมโหสถผู้เปนบิดาไปทอดทัศนาครั้งหนึ่งจึ่งจำไว้ได้ ฯ ครั้นเดือนสิบถึงการพระราชพิธีภัทระบทเปนนักขัตฤกษ์มหาชนกระทำมธุปายาศทาน และจะเด็ดรวงเข้าสาลีเปนปฐมเก็บเกี่ยว ชีพ่อพราหมณ์ทั้งปวงก็เริ่มการพลีกรรมสรวงสังเวยบูชาพระไหศพ ตั้งปัญจะมหาสาครเตมด้วยน้ำในพระเทวะสถาน อบรมน้ำด้วยเครื่องสุคันธชาตแลบุบผชาตให้มีกลิ่นหอมเปนอันดี แล้วจึ่งเชิญพระเทวรูปสิบสองปางลงโสรจสรง อ่านพระเวทเผยศิวาไลย เพื่อจะให้บำบัดอุปัทวะจังไรไภยพยาธิทุกข์โทษต่าง ๆ อันว่าหมู่พราหมณ์บรรดาซึ่งได้เล่าเรียนไตรเพทย่อมถือลัทธิว่าเดือนสิบเปนปฐมครรภสาลี มหาชนจะเก็บเกี่ยวมากระทำมธุปายาศยาคูเลี้ยงพราหมณ์ เพื่อจะให้เปนมงคลแก่เข้าในนา อันเมล็ดรวงเข้านี้เปนปางพระไพศพ แม้นชาติพราหมณ์ผู้ใดยังมิได้ลอยบาป จะพึ่งบริโภคมธุปายาศแลยาคู อันบุทคลกระทำด้วยปฐมครรภชาติสาลี ก็บังเกิดทุกข์โทษอุปัทวจรรไรแก่ตน ทั้งปราศจากความสวัสดิมงคลแก่นรชาติทั้งหลาย เหตุดังนั้นพราหมณาจารย์ผู้รู้เพทางคสาตรจึ่งกระทำพิธีภัทระบทลอยบาป ฝ่ายข้างพุทธสาสน์พระราชพิธีภัทระบทนี้เปนสมัยหมู่มหาชนกระทำมธุปายาศยาคู อังคาสพระภิกษุสงฆ์และเลี้ยงพราหมณ์ ทั้งบูชาพระรัตนไตรยด้วยพรรณผ้ากระทำเปนธง แล้วแลอุทิศส่วนกุศลผลบุญให้แก่ญาติอันไปสู่ปะระโลกย์เปนปะระทัตตูปชีวีเปรต และนักขัตฤกษ์พระราชพิธีภัทรบทนี้ พุทธสาสน์ไสยสาตรเจือกันโดยโบราณราช ครั้นถึงณวันขึ้นสิบสี่สิบห้าค่ำแรมค่ำหนึ่ง หมู่พราหมณาจารย์ผู้ซึ่งจะลอยบาป มีพระศรีมโหสถบิดาข้าน้อยนี้เปนต้น ต่างถือสังข์บ้างกลดสัมฤทธิ์บ้างมายังพระเทวะสถานบูชาพระเปนเจ้าแล้ว จึ่งเชิญปัญจะมหานทีในขันสาคร ซึ่งสมมุติว่าเปนน้ำล้างบาปใส่สังข์ใส่กรด แล้วก็นำลงไปยังท่าน้ำพร้อมด้วยบริวารยศ แหงนหน้าดูดวงพระอาทิตย์อันส่องแสง แม้นเห็นบริสุทธิปราศจากเมฆหมอกจึ่งเอาเปนฤกษ์ต้องที่จะล้างลอยบาป บางคนก็กระทำในเพลาราตรี เอาบริสุทธิแห่งดวงพระจันทร์เปนฤกษ์ พราหมณ์ทั้งหลายนั่งห้อยเท้าเหยียบสายน้ำไหล อ่านอิศวรอาคมสิ้นวาระสามคาบแล้ว จึ่งรินวารีในสังข์ในกรดลงในลำคงคา แล้วก็จุ่มกายสยายมวยผมอาบน้ำดำเกล้าชำระขัดสีกรัชกายาให้ปราศจากเหื่อไค บริสุทธิสบายทั้งกายแลจิตรเปนอันดีแล้วจึ่งยืนยังฝั่งน้ำ ผลัดอุทกสาฎกทั้งนุ่งห่มออกจากกาย วางเหนือแพหยวกบ้าง  วางเหนือเฟือยสวะบ้าง ขอนไม้บ้าง ไสเสือกให้ลอยไปตามกระแสน้ำไหล ซ้ำร่ายพระเวทลอยบาปบอกบริสุทธิต่อพระคงคา แล้วก็กลับคืนยังเคหะถานแห่งตนและตน อันพิธีลอยบาปนี้ทำได้แต่ในสามวัน วันเปนประถมนั้น พราหมณ์มหาศาลตระกูล ยิ่งด้วยทรัพย์สมบัติศฤงคารบริวารยศลงลอย วันเปนคำรบสองนั้นหมู่พราหมณาจารย์ผู้ชำนาญเพทางคสาตรอาคมลงลอย วันเปนคำรบสามนั้น พราหมณ์ภิกขาจารย์ซึ่งประพฤติวัตรประนิบัติต่าง ๆ ลงลอย ฝ่ายพุทธสาสน์ราชบุรุษชาวพนักงาน ก็ตกแต่งโรงราชพิธีในพระราชนิเวศน์ ตั้งก้อนเส้าเตาเพลิงแลสัมภาระเครื่องใช้เบ็ดเสร็จ นายนักการละหานหลวงก็เก็บเกี่ยวครรภสาลีและรวงเข้า มาตากตำเปนเข้าเม่าเข้าตอกส่งต่อมณเฑียรบาลวังเวรเครื่อง นายพระโคก็รีดน้ำขิรารศมาส่งดุจเดียวกัน ครั้นถึงวันรับพระราชพิธีภัทรบท คือวันขึ้นสิบสามค่ำเพลาเช้าเปนวันธรรมะดาฤกษ์ จึ่งสมเด็จพระอรรคชายาทั้งสองพระองค์ ทรงประดับพระบวรอินทรีย์ด้วยเครื่องขัติยอาภรณ์ เสด็จยังโรงราชพิธีพร้อมด้วยประเทียบลูกขุน ทรงสถิตสุวรรณบัลลังก์กั้นเสวตรฉัตรเจ็ดชั้น ดำรัสสั่งให้จ่าชาชาวเวนเครื่องทั้งมวนตกแต่งมธุปายาศปรุงปนคนระเจือล้วนแต่ของโอชารศมี ขัณฑสักกรและน้ำผึ้งน้ำอ้อยน้ำตาลทะธินมสดเปนต้น ใส่ลงในภาชนะซึ่งตั้งบนเตาเพลิง จึ่งให้สาวสำอางกวนมธุปายาศเปนฤกษ์โดยสังเขป ชาวดุริยางคดนตรีก็ประโคมพิณพาทย์ฆ้องกลองเป่าเล่นการมโหรสพระเบงระบำล้วนแต่นารี ครั้นกวนมธุปายาศสำเร็จแล้วก็กวนเข้ายาคู เอาถั่วงาระคนปนครรภสาลีที่แย้มยอดเจือด้วยขีรารศขัณฑสักกรน้ำตาลกรวด ให้โอชารศสำเร็จเปนอันดีในเพลาเช้าวันรุ่งขึ้นสิบสี่ค่ำเปนประถมภัทรบท จึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชดำเนินออกวัดหน้าพระธาตุ พร้อมด้วยราชสริยวงษ์และพระสนมกำนัลนางท้าวชาวชะแม่ โดยเสด็จทรงอังคาสพระมหาเถรานุเถรด้วยมธุปายาศยาคู ขาทะนิยะโภชะนียาหารอันประณีตสำเร็จแล้ว จึ่งทรงบูชาพระรัตนไตรยด้วยธงพรรณพัตร์สีต่าง ๆ อันชาวช่างฉลุฉลักเปนรูปจิตรกรรมลดากรรม ถวายทั้งสมณะบริขารและคิลานะเภสัชเปนบริวารทานทั่วไปแก่พระภิกษุสามเณร แล้วก็ทรงสิโนทกอุทิศส่วนพระราชกุศลส่งไปยัง พระบรมญาติทั้งหลายในปะระโลกย์ อันว่านางในทั้งปวงต่างคนต่างถวายทานด้วยมธุปายาศยาคูธงปะฎาก พวงบุบผามาไลย ตั้งจิตรแผ่ส่วนบุญไปให้แก่หมู่ญาติซึ่งมระณะ และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพญพระราชกุศลในนักขัตฤกษ์พระราชพิธีภัทระบท ถ้วนสามทิวาวันโดยนิยมดังกล่าวนี้แล้วจึ่งโปรดให้ประชุมพราหมณาจารย์มากกว่าร้อย ณะพระเทวะสถานหลวง ดำรัสสั่งชาวพนักงานให้เลี้ยงพราหมณ์ด้วยมธุปายาศยาคูต่อไป สิ้นคำรบสามวัน ทั้งพระราชทานคู่ผ้าสาฎกทั่วทุกตัวพราหมณ์ อันหมู่พระสนมกำนัลซึ่งถือไสยสาตรด้วยนั้น ก็สักการะหมู่พราหมณ์ด้วยมธุปายาศยาคู และผ้านุ่งห่มเพื่อจะให้เปนมงคลแก่ตัว หนึ่งโสดมหาชนชายหญิงมีขัติยตระกูลเปนต้นบรรดาซึ่งเปนสัมมาทฤษฐินับถือพระรัตนไตรยนั้น ที่มีไร่ละหานต่างก็เกี่ยวเก็บรวงเข้ามาตากตำกระทำเปนมธุปายาศยาคู เจือด้วยน้ำนมสดอังคาสพระภิกษุสงฆ์ เอิกเกริกไปทุกบ้านทุกเรือน บ้างก็ยกธงผ้าธงแพรขึ้นบูชาพระสถูปเจดีย์ บ้างก็อัญเชิญพราหมณ์มาเลี้ยงด้วยปายาศ ถึงว่าชาติตระกูลพราหมณ์ ถ้าผู้ใดถือพุทธสาสน์ด้วยก็ตกแต่งมธุปายาศยาคูอังคาสพระภิกษุสงฆ์ ทั้งยกธงบูชาพระรัตนไตรย และเลี้ยงพราหมณ์ตั้งแต่วันภัทระบทจนบันจบสิ้นเดือน ชนประชาชายหญิงชาวพระนครทุกตระกูล กระทำกองการกุศลด้วยมธุปายาศยาคูติดต่อกันไปมิได้ขาด วันเปนที่บันเทิงเริงรื่น ต่างคนต่างอุทิศส่วนกุศลผลบุญของตนซึ่งได้กระทำด้วยน้ำจิตรโสมนัศศรัทธา ไปให้แก่โบราณญาติกาทั้งหลายอันจุติไปกำเนิดในภพต่าง ๆ มีปะระทัตตูปะชีวีเปรตนั้นเปนต้น ฯ ครั้นระดูเดือนสิบเอ็ดชลาลดชายฝั่งถึงการพระราชพิธีอาศะยุชนักขัตฤกษ์ ชีพ่อพราหมณ์ก็สังเวยพระนารายน์ปางเกษียรสมุทรแลพระลักษมีพระมเหศวะดีโดยตำหรับ ชนประชาชาวพระนครต่างบอกกล่าวป่าวกัน พาบุตรนัดดาลงนาวาเปนพวกเปนเหล่า ตกแต่งกะรัชกายงามตามชาติตามตระกูล พายเนื่องแน่นกันมาจอดเรียงลอย คอยดูแข่งเรือพระที่นั่งเอกไชยทั้งสองฟากฝั่งตลอดเฉียบ จึ่งออกพระณรงค์ฤทธิรำบานชาญชลสินธุ ผู้ได้บังคับบัญชาเหล่าจำนำทหารเรือ ก็เบิกบายศรีสมโภชเชิญขวัญเรือพระที่นั่งเอกไชยอันงามงอนระหงทั้งสองลำสรรพเสร็จ พร้อมด้วยพลพายและเครื่องดนตรีสังคีตพระกันภิรมชุมสายตั้งรายตลอดลำ มีหมู่สิทธิไชยถือธงทองประจำหน้าท้ายเรือรูปตราตำแหน่งนายทหาร แห่ห้อมล้อมพายเห่ช้ามาสู่มณฑลทุ่นทอดท้องสนาม พระครูพราหมณ์พิธีศรีบรมหงษ์ก็อัญเชิญพระนารายน์ปางเกษียรสมุทร ลงทรงสถิตย์บุษบกเรือพระที่นั่งไชยเฉลิมธรณิน อันโลกสมมุติว่าเปนเรือพระยามีมาแต่โบราณ จึ่งพระครูเพทางคสาตรราชไตรเพทก็อัญเชิญพระลักษมีพระมเหศวะดี ลงทรงสถิตบุษบกเรือพระที่นั่งไชยสินธุพิมาน อันสมมุติว่าเปนเรือพระอรรคชายาราชมเหษีและคำกล่าวโดยตำหรับพระราชพิธีอาศะยุชว่า เรือพระที่นั่งไชยเฉลิมธรณินไชยสินธุพิมานทั้งสองลำนี้ เปนที่เสี่ยงทายแสดงความจำเริญและมิจำเริญแก่บ้านเมืองพลทหารชำนาญพาย ๆ แข่งกันมิได้ละลด ถ้าเรือทรงพระนารายน์คือเรือพระยามีไชยชำนะ ก็ทำนายว่าสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้าจะแผ่ผ้านพระเดชเดชานุภาพไปทั่วทิศานุทิศ ลูกค้าพานิชนานาประเทศ จะแตกตื่นกันมาเชยชมบรมโพธิสมภารพระเจ้าแผ่นดิน บ้านเมืองจะบริบูรณ์ด้วยสรรพสิ่งของต่างประเทศ ราคาซื้อขายจะย่อมเยาว์เบาค่าทุกสิ่งสินค้า ธัญญาหารมัจฉมังษาหารผะลาหารพานจะเสื่อมทรามฝืดเคืองไม่สู้อุดม เศษทำนายว่าสัตรีจะมีบุตรเปนชายโดยมาก หนึ่งโสดแม้ว่าเรือทรงพระลักษมี คือเรือพระอรรคชายามีไชยชำนะ ในตำหรับทำนายทายว่าบ้านเมืองจะบริบูรณ์ด้วยธัญญาหารมัจฉมังษาหารผะลาหาร น้ำอ้อยน้ำตาลสาระพัดของบริโภค อันลูกค้าพานิชซึ่งจะมาค้าขายชายจะเบาบาง สิ่งของต่างประเทศมิได้อุดมมัธยม เศษทำนายว่าสัตรีจะมีบุตรเปนธิดาโดยมาก ผิว่าเรือพระที่นั่งทั้งสองแข่งเสมอลำกันก็ทำนายว่า บ้านเมืองจะมิได้บริบูรณ์ทุกสิ่ง มีอาหารการกินเปนต้นในขวบปีนั้น แลธรรมเนียมทหารจำนำประจำพายนาวาคู่แข่ง ถ้าเรือพระที่นั่งลำใดได้ไชยชนะ ทหารพลพายประจำลำก็ได้รับพระราชทานขนอนในกรุงเช้าชั่วค่ำในวันนั้นเปนรางวัล ไปแบ่งปันกันตามบานพะแนกนายและไพร่ ครั้นเพลาตระวันชายแสง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกณะพระที่นั่งชลพิมานชานชลา พระอรรคชายาแลราชประยูรวงษานุวงษ์พระสนมกำนัล โดยเสร็จสพรั่งพร้อม หมู่มุขมาตยาขี่เรือตาริ้วล้อมวงจอดลอยคอยรับราชบริหารอยู่รายเรียง เรือเที่ยวข่าวก็พายขยุมสุม บอกให้ยกธงเรือทุ่นทุก ๆ ลำเปนสำคัญสัญญา ให้วางเรือพระที่นั่งคู่แข่งลงมาถวายทอดพระเนตร์ พระครูพรหมพรตพิธีบรมหงษ์ และพระครูเพทางคสาตรราชไตรเพทก็อ่านวิษณุมนต์บันฦๅเสียงสังข์ปรายเข้าตอกดอกไม้ ทหารเรือแห่ก็โห่เอาไชยขึ้นสามลา ชาวดุริยางค์ในพระที่นั่งลำแข่ง ก็ประโคมสังคีตประสานเสียงเสนาะเพราะบันเลงเพลงล่องเรือ โหราลั่นฆ้องฤกษ์สิทธิไชยก็โบกธงหน้าท้าย พลพายออกเรือพระที่นั่งทั้งคู่พร้อมกัน เสียงคนแห่คนดูโห่ร้องอวยไชยให้พรเอิกเกริกก้องโกลาหลทั้งสองฟากฝั่ง เรือพระที่นั่งเอกไชยคู่แข่งงอนระหงงามอร่ามด้วยแสงสุวรรณวิไลยเลขา บุษบกบัลลังก์แลระยับจับสายน้ำไหล เครื่องสูงสล้างรายเรียงหน้าท้ายธงทองธวัช พลพายใส่เสื้อแดงหมวกแดงดูงามสง่ากรายพรายทองดังจะบินฟ้าพาเรือแล่น ดูผาดโผนมากลางสายชลชะลาทั้งคู่แข่งกันขึ้นกันลดล่วงลงมาถึงหน้าฉาน เรือพระที่นั่งเอกไชยเฉลิมธรณิน ก็เหลื่อมลำแล่นเลยพระที่นั่งไชยสินธุพิมาน บรรดาคหบดีเศรษฐีพวกพ่อค้าก็ยินดีต่างตบมือโห่ร้องรำฟ้อนไปทั้งท้องน้ำ พลพายลำข่มมีน้ำใจพายหนีมาถึงเฉียบขาดพระที่นั่งเอกไชยเฉลิมธรณินมีไชยชำนะ ทหารแห่และพลพายก็เฮฮาบ่ายหน้าเรือพายกรายเห่ช้ามาลอยถวายลำอยู่ตรงหน้าฉาน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระโสมนัศเบิกบานสำราญราชหฤไทยตรัสประภาษเชยชม แล้วโปรดให้พระราชทานรางวัลอย่างแต่หลัง ฯ อันว่าข้าน้อยกล่าวการพระราชพิธีสิบสองเดือนเปนแต่สังเขปมิได้พิศดาร ด้วยเหตุว่าได้เห็นบ้างมิได้เห็นบ้าง จำได้บ้างจำมิได้บ้าง ทั้งเปนสัตรีสะติปัญญาก็น้อยกว่าบุรุษ แล้วก็ยังอ่อนหย่อนอายุกำลังจะรักรูปและแต่งกาย ซึ่งมีอุสาหะพากเพียรกล่าวเปนทำเนียบไว้ทั้งนี้ เพื่อหวังจะให้สัตรีอันมีประเภทเสมอด้วยตน แต่บรรดาได้ส่ำสมกองการกุศลผลบุญ จึ่งบริบูรณ์ด้วยอุปะนิไสยสมบัติทั้งสาม คือมีสะติปัญญานั้นหนึ่ง มีรูปสิริโสภาคย์นั้นหนึ่ง มีชาติตระกูลทั้งทรัพย์สมบัตินั้นหนึ่ง ได้เปนนางพระสนมกำนัลกอปไปด้วยอิศริยยศในสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้า ผู้ดำรงทรงพิภพพื้นปัถพีในภายภาคหน้า พึงให้ทราบว่าข้าน้อยนพมาศกระทำราชกิจในสมเด็จพระร่วงเจ้ากรุงพระมหานครสุโขไทย ตั้งจิตรคิดสิ่งซึ่งเปนการควรกับเหตุ ถูกต้องพระราชอัชฌาไสยพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ปรากฎชื่อเสียงว่าเปนสัตรีนักปราชญ์ฉลาดในวิชาช่างอยู่ชั่วกัลปาวสาน ก็เห็นว่าควรท่านทั้งหลายผู้ได้นามชื่อว่าพระสนมกำนัล จะพึงประพฤดิตามเยี่ยงอย่างข้าน้อยนี้บ้างในอนาคตเบื้องหน้า ฯ แต่นี้ข้าน้อยพึงใจจะกล่าวความดีและชั่วในหมู่มิตรเสมอหน้า อันเปนข้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสิ้นด้วยกันนับด้วยร้อยเปนอันมาก ทังนางบำเรอที่เปนขัติยตระกูลก็มี เปนตระกูลคหบดีฝ่ายทหารก็มี ฝ่ายพ่อเรือนก็มี เชื้อตระกูลพราหมณ์ก็มี ชาติตระกูลเศรษฐีก็มี เปนตระกูลพ่อค้าก็มี ชนมายุล่วงมัชฌิมะไวยก็มี อยู่ในมัชฌิมะไวยก็มี ยังประถมไวยก็มี พึ่งดะรุณรุ่นไวยก็มี ที่สืบราชสุริยวงษ์ก็มี เปนแต่ธรรมดาพระสนมกำนัลก็มี ได้แต่นามชื่อว่าพระสนมกำนัลนั้นก็มี งามทั้งรูปร่างจริตกิริยาวาจาก็อ่อนหวาน มีสติปัญญาวาศนาบรรดาศักดิ์สมด้วยชาติตระกูล ตั้งใจรับราชกิจทั้งเช้าค่ำสม่ำเสมอ ประพฤติตนอย่างมฤคจามรีรู้สงวนขนมิให้คำคนติฉินยินร้ายดังนี้ก็มี บางคนงามแต่รูปกับวาศนาอุสาหะเปนประมาณ ประพฤติตนเหมือนพระยามฤคราชสีห์จับสัตว์บริโภคแต่เพลากลางวัน กลางคืนแล้วก็นิ่งนอนอยู่ในถ้ำจะได้บริโภคอาหารนั้นหามิได้ดังนี้ก็มี บางคนงามรูปงามโฉมงามศรีงามศักดิ์ แต่ประพฤติตนเหมือนด้วยนกเค้านกแขวกออกหาอาหารบริโภคต่อเพลากลางคืน กลางวันเข้าซ่อนสุ้มตัวอยู่ในรกดังนี้ก็มี บางคนงามทรวดทรงตะละอย่างนางเขียน ประพฤติตนเหมือนเหยี่ยวหาอาหาร นาน ๆ ก็แต่งปีกแต่งหางฉาบฉวยมาเฉี่ยวโฉบได้อาหารบริโภคพอมันปากอิ่มท้องแล้ว ก็โผผินบินร่อนไปตามสบายใจดังนี้ก็มี บางคนงามรูปจริตกิริยาไว้ท่วงทีปั้นปึ่งเปนผู้ใหญ่ผู้สูง ประพฤติดังเสือเถ้าจำศีล แม้นได้เห็นมัจฉมังษาหารอันควรจะบริโภค ถึงใจจะนึกอยากก็ทำเหมือนไม่อยาก ชะม้อยแต่หางตาม่าย ๆ เมิน ๆ ดังนี้ก็มี บางคนงามคมงามขำงามชาติงามตระกูล แต่ประพฤติตนเหมือนด้วยรากดินตนก็อาไศรยแผ่นดิน แต่ไม่นับถือแผ่นดิน มันก็ต้องเลื้อยไปเลื้อยมาอยู่ในแผ่นดินนั้นเอง เหตุด้วยถือชาติถือตระกูลดังนี้ก็มี บางคนงามพิมพ์ภักตร์ผุดผ่องดังนวลเดือน ไนยเนตร์คมขำยิ้มแล้วจึ่งกล่าววาจา แต่ประพฤติตนเหมือนด้วยปอมข่าง ไว้จริตกิริยาสูงส่งดังนี้ก็มี บางคนงามสระสวยระทวยทอดกรกรายชายไนยนาดังศรแสลงแทงหไทย จะตกแต่งกายาช่างช้าเสียทุกอย่าง ออกจากจวนก็จวนจะไม่ทันเพลาเฝ้ารับราชกิจภอเปนกิริยาบุญบ้างเล็กน้อย ไม่นั่งนานตะหลิบแล่นเร็วเหมือนปูลมชมกันว่าดี ต่างถือเช่นเห็นอย่างย่อมประพฤติดังนี้ก็มีโดยมาก บางคนงามชะอ้อนงอนจริตกิริยาขวยเขิน เกล้ามวยวาดวงภักตร์ดำดังปีกแมลงภู่ วาดวงคิ้วค้อมดังคันศรสุดทางเนตร นะขายาวสามองคุลีดังศรีกลีบการะเกดกรายกรีดนิ้วเช็ดปาก ดูชดช้อยจะเชิญเครื่องสิ่งใดก็กลัวอันตรายเล็บ จะไกวจามรก็กลัวเหื่อจะย้อยหน้าจะดำ รับราชกิจได้แต่เพียงหมอบม่ายถวายโฉม หนักไม่เอาเบาไม่สู้ ประพฤติตนดังนี้ก็มีโดยมาก บางพวกงามเปนปรกติสัตรีฉวีวรรณขาวบ้างดำบ้างเนื้อสองสีบ้าง ดำแดงบ้างผอมบ้างพีบ้าง ประพฤติตนต่าง ๆ ตามแต่ใจจะเห็นดีเห็นงาม บ้างก็หมั่นเฝ้าแหนอยู่งานคลานใช้มิได้ขาดหน้า บ้างก็เลือกวันเลือกเวลามารับราชการภอกันตรวจ บ้างก็เดือนหนึ่งมาครั้งหนึ่งบ้างสองครั้งบ้าง บ้างก็บอกป่วยบอกไข้ไม่ภอใจจะเฝ้าแหน บ้างก็ถือทิฐิมานะนอนนิ่งอยู่เฉย ๆ บ้างก็มานั่งภอเปนชีเพื่อนท่านเพลาจวนรุ่ง บ้างก็รังเกียจใจในที่ควรว่าไม่ควร บ้างก็รับราชกิจสิ่งใดสิ่งหนึ่งแต่สักเลกสักน้อยมีร้อยกรองดอกไม้และวาดเขียนเปนต้น ที่จะได้มีใจมาอยู่งานคลานใช้สอยนั้น ปีหนึ่งจะมีสักครั้งก็เปนอันยากอย่าหาเลย อย่างหนึ่งเล่าที่พวกหมั่นประจำทำราชการอยู่เปนนิตยจะไกวจามรและตั้งเครื่องแต่งที่ก็ดี บ้างก็ดูเยี่ยงอย่างกันกระทำถูกต้องตามแบบแผน ใครได้เห็นก็ย่อมกล่าวคำสรรเสิญเยิรยอ บางคนก็ทำตามอำเภอใจตัวแต่งตั้งภอพ้นมือมิได้เปนที่ชอบพระราชอัชฌาไสยแต่สักสิ่ง พวกพ้องก็ช่างนิ่งดูได้ไม่รำคานในตา ยังพวกหนึ่งจะพรรณาก็กลับยิ้มมิใคร่ได้ ล้วนแต่ถือว่าเข้ามัชฌิมไวยแล้วไม่ควรทำ ได้เต่เฝ้าแหนอยู่กระนั้นเปนชั้นชนิด จะว่าไปที่จริงก็ดำยิ่งเสียกว่ารุ่นไวยห่มสะไบชอบแต่บางเบาเลี่ยนลื่นเปนธรรมดา อิกชนิดหนึ่งนั้นเล่าจะกล่าวก็เปนกลัวใจ ทำราชการมิได้คิดหาความชอบความจำเริญใส่ตัว ตั้งใจแต่จะเที่ยวเกบถ้อยมาร้อยให้เปนความไล่ยุแยงแกล้งกล่าวให้เกินเหตุบ้าง จัดจ้านพาลทะเลาะไม่เลือกหน้า แม้นผู้ใดเชื่อถ้อยถือคำแล้วก็ซ้ำเติมจนเกิดวิวาทวาทาอันอื้อ ๆ ฉาว ๆ เปนเหลือปัญญาข้าน้อยนพมาศจะร่ำรำพรรณ หนึ่งโสดอันว่านางบำเรอทั้งหลายนั้นล้วนแต่ทรงลักษณะวิลาศลออเอี่ยม ชำนาญในการบำรุงบำเรอพระราชหฤไทยสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสิ้นกาละทุกเมื่อ จะว่าข้างรูปร่างก็งามเหมือนหล่อเหลาเกลากลึง จะว่าข้างทรวดทรงก็งามประหนึ่งนางกินร จะดูดวงภักตร์ลักขณาก็งามเพราพริ้มยิ้มแย้ม จะพิศผิวพรรณวรรณะก็เปนนวลเหมือนนวลจันทร์ จะดูจริตกิริยาก็งามละไมละม่อมพร้อมพริ้ง จะฟังสำเนียงเสียงเจรจาก็เสนาะเพราะจับจิตร์ จะตกแต่งกายานุ่งห่มก็งามสมดูคมขำ จะใกล้เคียงกับผู้ใดก็หอมกลิ่นเสาวคนธรวยรื่น บ้างก็สันทัดในการสังคีตดีดสีขับไม้มโหรีพิณพาทย์แพนซอกลองชะวา บ้างก็ชำนาญในการบันเลงเพลงขับร้องสำเนียงเสียงอ่อนหวานโหยหวนยวนฤไทย บ้างก็เรียนรู้ฟ้อนรำทำบทบาทเปนน่าชม อ่อนระทวยทอดกรงามดังเทพสุรางค์รำ ถึงเพลาบำเรอก็พรักพร้อมไม่ขาดหน้า แต่ทะว่าที่เปนคนสันดานชั่วก็ประพฤติเชือน ประเพณีดีและชั่วย่อมระคนปนกัน เหมือนคำโบราณท่านว่าไม้ต่างปล้องพี่น้องต่างใจ ใครประพฤติอย่างไรเปนไปอย่างนั้น อันหมู่นางบำเรอทั้งหลายงามก็จริงดีก็จริง แต่ข้าน้อยคิดเห็นว่าเสียแรงรู้เสียแรงเรียนวิชาดังนี้มิได้เปนแก่นสารแต่สักอย่าง พระพุทธฎีกาตรัสพระธรรมเทศนาว่า สิ่งใดซึ่งจะผูกสัตว์ไว้ในสงสารทุกข์แล้วก็เปนบาป จะมาหลงประดิดคิดรำฟ้อนให้งดงามอยู่ดังนี้ แม้นมิเห็นโทษกลับตัวได้ในประถมไวย ต่อล่วงมัชฌิมไวยปราศจากงามแล้วจึ่งเลยละก็คงจะได้เสวยวิบากในอบายโดยกรรมนิยม ที่ยังมีน้ำจิตรรักใคร่ก็ตั้งตัวเปนครูบาอาจารย์ฝึกสอนศิษย์หาให้ฟ้อนรำต่อไปจนแก่เถ้าล้มตาย ควรจะนับว่าประพฤติบาปเปนอาจิณกรรมอำนาจกุศลจะนำตนให้ไปเกิดในอะบายภูมิ์อันชื่อโลหะกุมภี ซึ่งเปนบริวารอะเวจีนรก ต้องทนทุกขเวทนายืนยาวชั่วพุทธันดรหนึ่งคงแท้เที่ยง แต่ผู้หาปัญญามิได้ไม่เห็นพระไตรลักษณหลงรักในการฟ้อนรำจะให้งามให้ดีจำพวกเดียว อันเหตุซึ่งนางในทั้งหลายประพฤติตนต่าง ๆ กัน เห็นปานข้าน้อยพรรณนามาทั้งนี้ ใช่สมเด็จพระร่วงเจ้าจะไม่ทรงทราบ ก็ทรงทราบสิ้นทุกสิ่งทุกประการ อันได้โปรตพระราชทานโอวาทสั่งสอนทุกตัวคน พวกที่มีปัญญาก็รู้สำนึกกลับตัวได้เปนคนดี เหล่าพวกที่มากไปด้วยทิฐิมานะก็ไม่ประพฤติตามเหมือนยุให้กระทำต่าง ๆ หนักยิ่งขึ้นกว่าเก่า พระบาทสมเด็จพระร่วงเจ้าทรงดำรัสอยู่เนือง ๆ ว่า คนจำพวกนี้จะทรมานให้ถึงไม้แส้และประตัก อย่างช้างม้าโคกระบือกว่าจะสิ้นพยศก็จะได้แต่คนดีด้วยอาญา นักปราชญ์ไม่พึงสรรเสริญ เมื่อใครดีก็จะใช้ใครมิดีก็ชั่งใคร มิใช่เกิดในปล้องไม้ ล้วนแต่มีชาติมีตระกูล ในกาลนี้มาตุคามยังประพฤติชั่วแต่เพียงนี้ ไปภายภาคหน้าพระมหากษัตรซึ่งทรงแผ่นดินในสยามประเทศเหนปานดังเราฉะนี้ จะมีนางพระสนมกำนัลนับด้วยพันและร้อยจะหาที่ประพฤติดีนั้นจะได้โดยน้อยนักน้อยหนา จะมีแต่ประพฤติลามกต่าง ๆ ยิ่งขึ้นไปมากกว่าสมัยนี้สักร้อยเท่าพันทวีเที่ยงแท้ ไม่ต้องการที่จะเปนธุระกังวลด้วยคนสอนยาก ข้าน้อยนพมาศได้ฟังพระราชบริหารแล้วก็ให้สดุ้งจิตรคิดกลัวแต่สังสารวัฏ แม้ชาติหน้าเกลือกจะไปเกิดเปนพระสนมกำนัลพระมหากษัตราธิราชเจ้าในภายภาคหน้า ก็จะต้องใกล้เคียงด้วยคนพาลสันดานลามก จึงอุสาหะสร้างกุศลปราถนาไปเกิดในเทวโลกย์อย่างเดียว ฯ แต่นี้ข้าน้อยจะบรรยายสหายดำนานสืบไป ในเมื่อสมเด็จพระร่วงเจ้าเสวยศิริราชสมบัติโดยยุติธรรมตามราชประเพณี ล่วงจุลศักราชไปได้สิบแปดปีโดยกำหนด ทรงสำราญภิรมย์ยินดีสโมสร พร้อมเพรียงด้วยหมู่พระสนมกำนัลและราชบริรักษ์ ทั้งประยูรวงษาฝ่ายหน้าฝ่ายในเปนบรมศุขอาณาประชาราษฎรปราศจากไภยอันตราย ราชสัตรูภายนอกภายในก็มิได้กำเริบให้เดือดร้อน มีแต่การบำเพ็ญพระราชกุศล ทรงศีลจำแนกทานบันเทิงพระกระมลหฤไทยในทางพระโพธิญาณทุกเช้าค่ำคืนวันเดือนปีเปนนิจนิรันดร อันตัวข้าน้อยนี้ก็มีความผาสุกด้วยพระคุณสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตาชุบเลี้ยง พระราชทานยศถาบันดาศักดิ์ให้งามหน้าบิดามารดา ทั้งใช้สอยกิจราชการใหญ่น้อยสนิทชิดชม เปนที่ไว้วางพระราชหฤไทยในพระราชดำริห์ทุกประการ แม้นจะมีที่เสด็จพระราชดำเนินแห่งดค จะค้างแรมใกล้ไกลกันดารแลมิกันดารก็ดี ข้าน้อยก็ได้โดยเสด็จทุกครั้งประดุจเกือกทอง หนึ่งเล่ายามเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมิสบายพระสกลกายด้วยเหตุกำเริบพระโรค ข้าน้อยก็ได้ถนอมบาทบงกชมาศบำเรอรัก โดยใจสวามิภักดิ์มิได้เปนกินเปนนอนผ่อนสบาย ตั้งใจทำราชกิจจะได้คิดแก่ลำบากยากเหนื่อยแต่สักขณะจิตรหนึ่งก็หามิได้ ใช่ข้าน้อยนพมาศจะแกล้งกล่าวไว้อวดอ้างนรชาติซึ่งเกิดภายหลัง ผู้ใดอย่าพึงสงไสย อันความจงรักภักดีของข้าน้อยนี้ ควรจะเปนแบบอย่างไปได้ในแผ่นดินชั่วกลปาวะสาน ๚ะ

หมดเรื่องเท่านี้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ