คำนำ

หนังสือเรื่องนี้เรียกกันเปน ๓ ชื่อ เรียกว่าเรื่องนางนพมาศชื่อ ๑ เรียกว่าเรื่องเรวดีนพมาศชื่อ ๑ เรียกตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ชื่อ ๑ แต่ที่จริงก็หมายความอันเดียวกัน เพราะผู้ที่ว่าแต่งหนังสือเรื่องนี้กล่าวกันว่าชื่อนางนพมาศ บิดาเปนพราหมณ์รับราชการในตำแหน่งที่พระศรีมโหสถ ครั้งนครศุโขไทยเปนราชธานีของสยามประเทศ มารดาของนางนพมาศชื่อนางเรวดี บิดามารดาได้นำนางนพมาศถวายทำราชการในสมเด็จพระร่วงเจ้า ได้เปนพระสนมเอกตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์ อาไศรยปวัติของนางที่ปรากฏดังนี้ จึงเรียกชื่อหนังสือนี้ต่าง ๆ กันดังกล่าวมาแล้ว ส่วนข้อความของหนังสือเรื่องนี้ ตอนต้นกล่าวด้วยมนุษชาติ และต่อมากล่าวแสดงเหตุที่บิดามารดานำเข้าไปถวายตัวเปนพระสนม แล้วพรรณาถึงน่าที่ข้าราชการฝ่ายในตลอดไปจนแบบวิธี ๑๒ เดือน ซึ่งมีเปนราชประเพณีในครั้งกรุงศุโขไทยเปนที่สุด

ว่าโดยทางโวหาร ใคร ๆ อ่านหนังสือเรื่องนี้ด้วยความสังเกต จะแลเห็นได้โดยง่าย ว่าเปนหนังสือแต่งในครั้งกรุงรัตนโกสินทรนี้เอง แต่งในระหว่างรัชการที่ ๒ กับที่ ๓ ไม่ก่อนนั้นขึ้นไป ไม่ทีหลังนั้นลงมาเปนแน่ ถ้าจะหาพยาน จงเอาสำนวนหนังสือเรื่องนี้ไปเทียบกับสำนวนหนังสือจาฤกครั้งศุโขไทย หรือหนังสือที่เชื่อว่าแต่งครั้งกรุงศุโขไทย เช่นหนังสือไตรภูมิพระร่วงเปนต้น หรือแม้ที่สุดจะเอาไปเทียบกับหนังสือที่แต่งเพียงในชั้นกรุงเก่า ก็จะเห็นได้แน่นอนว่า สำนวนหนังสือเรื่องนางนพมาศเปนหนังสือแต่งใหม่เปนแน่ และยังซ้ำมีความที่กล่าวผิด ที่จับได้โดยแจ่มแจ้งว่าเปนของใหม่หลายแห่ง ยกตัวอย่างดังตรงว่าด้วยชนชาติต่าง ๆ หนังสือนี้ออกชื่อฝรั่งหลายชาติ ซึ่งที่จริงไม่ว่าชาติใดยังไม่มีเข้ามาในประเทศนี้เมื่อครั้งนครศุโขไทยเปนราชธานีเปนแน่ อิกข้อ ๑ ที่ว่าครั้งกรุงศุโขไทยมีปืนใหญ่ขนาดหนักนับด้วยหลายหาบ ปืนใหญ่ในครั้งนั้นก็ยังไม่เกิดขึ้นในโลก แต่ที่ผิดน่าพิศวงยิ่งกว่าอย่างอื่นนั้นมีแห่ง ๑ ที่ลงชื่อว่าชาติฝรั่งอเมริกันลงไว้ในนั้นด้วย ชาติอเมริกันพึ่งเกิดขึ้นยังไม่ถึง ๒๐๐ ปี จะมีในครั้งพระร่วงอย่างไรได้ แม้แต่คำว่าอเมริกันเองก็พึ่งเกิดขึ้นในครั้งกรุงเก่าเปนราชธานี เพราะฝรั่งช่างทำแผนที่คน ๑ ไปทำแผนที่ให้ปรากฎรู้ได้ชัด ว่าเปนทวีป ๑ ต่างหาก มิใช่อินเดียฝ่ายตวันตก ดังเข้าใจกันมาแต่ก่อน จึงได้เรียกทวีปนั้นว่าอเมริกัน ตามชื่อช่างแผนที่ผู้ที่ไปพบความข้อนี้ เมื่อสำนวนหนังสือเห็นได้ว่าเปนหนังสือครั้งกรุงรัตนโกสินทร ด้วยเหตุต่าง ๆ ดังกล่าวมานี้ประการ ๑ ยังซ้ำหนังสือเรื่องนี้ฉบับที่ข้าพเจ้าเคยได้พบมาแต่ก่อน ล้วนเปนฉบับที่ผู้ร้ายในทางหนังสือ ได้แทรกแซงแปลงปลอมเสียจนเลอะเทอะด้วยอิกประการ ๑ ข้าพเจ้าจึงมิได้มีความนิยมต่อหนังสือเรื่องนางนพมาศ จนถึงได้นำความกราบบังคมทูล ฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในที่ชุมนุมโบราณคดีสโมสร ว่าข้าพเจ้าไม่เชื่อหนังสือเรื่องนี้ว่าเปนหนังสือของนางนพมาศจริงดังอ้างไว้ในตัวเรื่อง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายว่า หนังสือเรื่องนี้ได้เคยทอดพระเนตรฉบับหลวง แต่ถึงฉบับหลวงก็เปนหนังสือแต่งใหม่ในชั้นกรุงรัตนโกสินทร อย่างข้าพเจ้าคิดเห็นนั้นเปนแน่ไม่มีที่สงไสย แต่ท่านผู้ศึกษาโบราณคดีแต่ก่อนมา มีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแลกรมหลวงวงษาธิราชสนิทเปนต้น ทรงนับถือหนังสือเรื่องนี้อยู่ ชะรอยเรื่องเดิมเขาจะมีอยู่บ้าง แต่ฉบับเดิมจะบกพร่องวิปลาศขาดหายไปอย่างไร จึงมีผู้ใดในชั้นกรุงรัตนโกสินทรนี้แต่งใหม่ โดยตั้งใจจะปฏิสังขรณ์ให้เรียบร้อย แต่ผู้แต่งนั้นเผลอไป มิได้พิเคราะห์ความจริงเท็จในทางพงษาวดารอย่างเรานิยมกันทุกวันนี้ แต่งแต่จะให้ไพเราะเพราะพริ้ง เรียงลงไปตามความที่รู้ที่มีอยู่ในเวลาแต่งหนังสือ เรื่องหนังสือจึงวิปลาสไป

ได้ทราบพระกระแสพระราชดำริห์ดังกล่าวมาแล้ว ข้าพเจ้ายังหาหนังสือเรื่องนางนพมาศที่เปนฉบับดีไม่ได้ จึงยังมิได้พิจารณาหนังสือเรื่องนี้ต่อมา จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดให้จัดหอพระสมุดวชิรญาณขึ้นเปนหอสมุดสำหรับพระนคร เมื่อปีมเสงจุลศักราช ๑๒๖๗ พ.ศ. ๒๔๔๘ และโปรดให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จดำรงพระเกียรติยศเปนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เปนสภานายกของกรรมการ ได้หนังสือเก่ามารวบรวมไว้ในหอพระสมุดวชิรญาณอิกมาก ในพวกหนังสือที่หาได้ มีหนังสือเรื่องนางนพมาศนี้หลายฉบับ ฉบับ ๑ เปนของเจ้าพระยารัตนบดินทร์ แต่ยังเปนเจ้าพระยาพลเทพ ซึ่งเชื่อได้ว่าพวกผู้ร้ายปลอมหนังสือมิได้จับต้อง มีอยู่เล่มสมุดไทย ๑ เปนฉบับของพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดาทูลเกล้าถวาย ฯ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ทรงค้นได้มาอิก ๓ เล่ม ซึ่งเปนฉบับดีอย่างเดียวกัน แลบางทีจะเปนฉบับเดียวกับของเจ้าพระยารัตนบดินทร์ด้วยซ้ำไป เพราะรวมเข้ากันได้พอเต็มเรื่องแต่ต้นจนปลายบริบูรณ์ ข้าพเจ้าจึงเอามาอ่านพิจารณาดูโดยถ้วนถี่เมื่อในรัชกาลปัตยุบันนี้ เมื่ออ่านตลอดเรื่องแล้ว คิดเห็นความจริงงามจะเปนอย่างกระแสพระราชวิจารณ์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ หนังสือเรื่องนี้ของเดิมเขาจะมีจริง เพราะลักษณพิธีของพราหมณ์ที่กล่าวไว้ในหนังสือเรื่องนี้ โดยมากเปนตำราพิธีจริงแลเปนพิธีอย่างเก่า อาจจะใช้เปนแบบแผนก่อนครั้งกรุงศรีอยุทธยา ไม่ใช่เรื่องที่ผู้ใดจะมาคิดปลอมขึ้นใหม่ได้ทั้งหมด ดีร้ายหนังสือเรื่องนางนพมาศนี้ของเดิมจะมาในจำพวกหนังสือตำราพราหมณ์ ซึ่งเขียนด้วยตัวหนังสือพราหมณ์เปนภาษาไทย หนังสือจำพวกนี้แม้ในหอพระสมุดวชิรญาณทุกวันนี้ก็มีอยู่บ้าง หนังสือเรื่องนางนพมาศ ถ้ามาโดยทางตำราพราหมณ์ฉบับเดิมจะขาด ๆ วิ่น ๆ อยู่อย่างไร จึงมีผู้มาแต่งขึ้นใหม่ เมื่อรัชกาลที่ ๒ หรือที่ ๓ ในกรุงรัตนโกสินทร์ดังกล่าวมาแล้ว

พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ได้เคยทรงสดับกระแสรับสั่งในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ข้าราชการฝ่ายในที่เปนผู้เฒ่าผู้แก่ รับราชการมาแต่ในรัชกาลที่ ๓ ได้เคยกราบบังคมทูล ฯ ว่า หนังสือเรื่องนางนพมาศนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์แทรกไว้ตอน ๑ เปรียบเทียบกับกิริยาอาการของข้าราชการฝ่ายในเปนเชิงทรงบริภาษ แต่จะเปนตรงไหนไม่ปรากฎ เมื่อข้าพเจ้าได้ทราบความข้อนี้มาตรวจต้นฉบับดู เห็นความในตอนนางนพมาศเจรจากับบิดามารดาเมื่อก่อนจะเข้าไปรับราชการ คือตั้งแต่น่า ๒๗ จนน่า ๖๐ ในหนังสือที่พิมพ์ฉบับนี้เปนความว่าเปรียบเทียบนิสัยหญิง และโวหารที่แต่งดีมาก ตอนนี้อาจจะเปนพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ควรผู้อ่านจะสังเกตดู

หนังสือเรื่องนางนพมาศนับว่าเปนหนังสือสำคัญในภาษาไทยเรื่อง ๑ ด้วยเหตุดังกล่าวมาแล้ว และเปนเรื่องโบราณคดีซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนิยม ดังปรากฎอยู่ในในหนังสือพระราชนิพนธ์พิธี ๑๒ เดือน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงอ้างถึงหนังสือเรื่องนางนพมาศนี้ไว้ในที่หลายแห่ง เมื่อกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณหาฉบับดีได้ จึงเห็นว่าควรจะพิมพ์ขึ้นไว้มิให้สาบสูญ ครั้นถึงปีขาล พ, ศ, ๒๔๕๗ นี้ พระเจ้าบรมวงษ์เธอซึ่งเปนพระโอรสธิดาของเจ้าจอมมารดาสังวาลในรัชกาลที่ ๔ มีรับสั่งให้กรรมการหอพระสมุดหาเรื่องหนังสือที่จะพิมพ์แจกในงานศพเจ้าจอมมารดาสังวาล จึงได้ทูลแนะนำให้ทรงพิมพ์หนังสือเรื่องนางนพมาศ ซึ่งกรรมการเชื่อว่าจะพอใจแก่บรรดาผู้ที่จะได้รับแจกทั่วกัน และจะเปนถาวรประโยชน์ในทางพระกุศลสมกับซึ่งทรงเจตนานั้น

เมื่อได้อธิบายประวัติของหนังสือเรื่องนางนพมาศเสร็จแล้ว จะแสดงประวัติของเจ้าจอมมารดาสังวาล ซึ่งการศพของท่านเปนเหตุให้พิมพ์หนังสือเรื่องนางนพมาศฉบับนี้ต่อไป ข้อความในส่วนสกูลวงษ์ แลประวัติของเจ้าจอมมารดาสังวาล ที่จะกล่าวต่อไปนี้ ข้าพเจ้าได้กราบทูลขอให้พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจทรงจดประทานมา ท่านมีพระประสงค์จะให้กล่าวแต่ย่อ ๆ พอเปนปสาทสังเวชแก่ผู้ที่จะได้อ่าน ข้าพเจ้าเห็นว่าจะน้อยแลจืดนัก จึงได้ทูลขออนุญาตแต่งประวัติเพิ่มเติมตอนข้างท้าย ตามความจริงซึ่งข้าพเจ้าได้ทราบแลได้คิดเห็นเองโดยอัตโนมัติอิกบ้าง ขอท่านทั้งหลายผู้อ่านจงทราบความตามที่จะกล่าวต่อไปนี้

เจ้าจอมมารดาสังวาล ได้อุบัติมาในโลกนี้ เมื่อณวันอังคารเดือน ๓ แรม ๒ ค่ำปีกุญ จุลศักราช ๑๒๐๐ พ, ศ, ๒๓๘๑ ท่านเปนธิดาในนายศัลวิไชย (ทองคำ) บุตรเจ้าพระยากำแหงสงคราม รามภักดีอภัยพิริยปรากรมพาหุ (ทองอิน) ผู้สำเร็จราชการเมืองนครราชสิมา มารดาของนายศัลวิไชยชื่อท่านผู้หญิงทับทิม เจ้าพระยานครราชสิมา (ทองอิน) ถวายนายศัลวิไชย (ทองคำ) เปนมหาดเล็กรับราชการมาแต่ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อนายศัลวิไชยเข้ามาอยู่รับราชการในกรุงเทพฯ เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) จึงขอท่านน้อยธิดาพระยามหาเทพ (ทองปาน) ซึ่งท้าวเทพภักดี (ทองรอด) เปนมารดา ให้เปนภรรยานายศัลวิไชย (ทองคำ) เจ้าจอมมารดาสังวาลเปนธิดาของนายศัลวิไชย (ทองคำ) แลท่านน้อย จึงเนื่องด้วยตระกูลทั้งฝ่ายเมืองนครราชสิมาแลตระกูลพระยามหาเทพ (ทองปาน) แต่ผู้ชายซึ่งเปนใหญ่ในตระกูลของท่าน ทั้งฝ่ายบิดาแลมารดาล่วงลับไปเสียแต่ท่านยังเยาว์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ป้าของท่านซึ่งเปนธิดาเจ้าพระยานครราชสิมา (ทองอิน) จึงนำท่านถวายตัวทำราชการฝ่ายใน ต่อมาได้เปนเจ้าจอมมารดา มีพระราชกุมาร ๓ พระองค์ พระราชกุมารี พระองค์ ๑ โดยลำดับกันดังนี้ คือ

ที่ ๑ พระองค์เจ้าชายทองกองก้อนใหญ่ ได้รับพระสุพรรณบัฏในรัชกาลที่ ๕ เปนกรมหมื่นแล้วเลื่อนเปนกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมพระองค์ ๑

ที่ ๒ พระองค์เจ้าชายทองแถมถวัลยวงษ์ ได้ทรงรับพระสุพรรณบัตรในรัชกาลที่ ๕ เปนกรมหมื่นแล้วเลื่อนเปนกรมขุน มาในรัชกาลปัตยุบันนี้ ได้เลื่อนเปนกรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจพระองค์ ๑

ที่ ๓ พระองค์เจ้าชายเจริญรุ่งราษี สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔ แต่ยังทรงพระเยาว์พระองค์ ๑

ที่ ๔ พระองค์เจ้าหญิงกาญจนากรพระองค์ ๑

เมื่อในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานหีบหมากลงยาแลพานทองเครื่องยศ อันเปนเกียรติยศเจ้าจอมมารดาชั้นสูง แก่เจ้าจอมมารดาสังวาล รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาจนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสู่สวรรคต ท่านจึงกราบถวายบังคมลาออกมาอยู่วังกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ครั้นเมื่อกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมเสด็จขึ้นไปรับราชการเปนข้าหลวงต่างพระองค์อยู่มณฑลอุดร ท่านจึงมาอยู่กับกรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจจนตลอดอายุของท่าน

ในรัชกาลที่ ๕ เจ้าจอมมารดาสังวาลได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้า แลรัตนาภรณ์รัชการที่ ๔ ชั้นที่ ๒ เปนเกียรติยศ

ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว เจ้าจอมมารดาสังวาลก็สิ้นความนิยมด้วยยศศักดิ์แลศฤงฆารบริวารทั้งปวง ตั้งใจปฏิบัติแต่ในการ ๒ อย่าง คือ ที่จะทำบุญอุทิศส่วนกุศลถวายสนองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่าง ๑ แม้ในการส่วนนี้ ท่านก็พอใจที่จะทำแต่ด้วยกำลังของตนเอง ไม่ปราถนาที่จะไหว้วานผู้หนึ่งผู้ใด จนพระโอรสธิดามีความสงสาร หาคนไปช่วยแลวิงวอนให้ท่านทำเองแต่พอสมควรแก่กำลังแลอายุอย่าให้เกินกำลังไป อิกอย่าง ๑ นั้นท่านตั้งใจบำเพ็ญความภักดีต่อบรรดาพระราชโอรสธิดา แม้ที่สุดตลอดจนพระราชนัดดาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั่วไป นับแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเปนต้น จะมีของสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ว่าเล็กน้อยเท่าใดก็อุส่าห์นำไปทูลเกล้าฯ ถวายด้วยตนเองบ้าง ในเวลาท่านไม่สบายก็ให้หม่อมเจ้าที่เปนหลานนำไปทูลเกล้าฯ ถวายบ้าง รักษาความจงรักภักดีมาเนืองนิตย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบอัธยาไศรยของท่านอย่างนี้ จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ท่านเข้าเฝ้าแหนได้ตามปราถนาของท่านไม่ว่าเวลาใดๆ ความที่ท่านนับถือพระราชวงษ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่เฉภาะเพียงที่เปนพระราชโอรสธิดา ถึงจะเปนหม่อมเจ้าต่างกรมที่เปนราชนัดดา ไม่ว่าองค์หนึ่งองค์ใด จะมีชนมายุแก่อ่อนเพียงใดก็ตาม ในเวลาท่านพบปะ เช่นว่าไปรดน้ำสงกรานต์เปนต้น หรือในที่อืื่น ท่านก็แสดงอัธยาไศรยสนิทสนมมิได้เลือก แต่มิได้ยอมให้ยกย่องเกียรติยศของท่าน พวกหม่อมเจ้าย่อมทราบกันอยู่ทั่วไป ว่าเมื่อเรียกท่านว่า “คุณย่า„ ท่านขอให้เรียกว่า “คุณย่าปล้อง„ ดังนี้มาเสมอ บางองค์ก็เห็นขัน บางองค์ก็เห็นไปเปนอย่างอื่น แต่ที่จริงเกิดแต่ที่ท่านไม่นิยมต่อยศศักดินั้นเองเปนเหตุ อิกส่วน ๑ ในเวลาเมื่อท่านมีกิจธุระอย่างใดๆ โดยมากเนื่องด้วยการที่ท่านจะบำเพ็ญการกุศล ถ้าจะต้องการความอนุเคราะห์ของพระราชโอรสธิดาแลพระราชนัดดา ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่มีที่ีท่านจะคิดว่าที่ห่างแลชิด เวลาท่านสบายก็ไปเฝ้าเอง เวลาไม่สบายให้ผู้อื่นไปเฝ้าต่างตัวบ้าง จดหมายไปบ้าง ทูลขออนุเคราะห์ตามธุระของท่าน เพียงเท่าที่ท่านเห็นว่าจำเปน แลจะทรงสงเคราะห์ได้ทั่วทุกพระองค์ไป ไม่มีเจ้านายพระองค์หนึ่งพระองค์ใดที่จะรังเกียจ หรือที่จะไม่อยากอนุเคราะห์แก่ท่าน เพราะทุกพระองค์ทรงทราบอัธยาไศรยของท่านดังว่ามานี้

เจ้าจอมมารดาสังวาลมีอาการป่วยเปนโรคบิดเมื่อเดือนสิงหาคม พ,ศ, ๒๔๕๖ อาการทรุดลงโดยลำดับ ถึงอาสัญญกรรมเมื่อวันที่ ๘ กันยายน เวลาเช้า ๓ โมง ๔๗ นาที คำนวนอายุได้ ๗๔ ปีกับ ๗ เดือน ๒๒ วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกษฐ ๘ เหลี่ยมทรงศพมีฉัตรเบญจาแลกลองชนะเครื่องประโคมเปนเกียรติยศ แลพระราชทานผ้าไตรผ้าขาวบังสุกุลตามบรรดาศักดิ์ มีผู้ที่ได้ไปแสดงความเคารพแลช่วยงานศพเปนอันมาก ทั้งพระบรมวงษานุวงษ์แลข้าราชการ ตลอดจนบรรดาผู้ที่ได้รู้จักคุ้นเคยกับท่านมาแต่ก่อน พระเจ้าบรมวงษ์เธอซึ่งเปนพระโอรสแลธิดาของท่าน มีพระประสงค์ขอให้แสดงความขอบพระเดชพระคุณแลขอบใจไว้ในคำนำหนังสือนี้ด้วยโดยเฉภาะ เพื่อให้บรรดาผู้ที่ได้ช่วยเหลือในงานศพเจ้าจอมมารดาสังวาลทราบทั่วกัน.

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๑ เดือนพฤษภาคม พ, ศ, ๒๔๕๗

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ