อธิบายเรื่องท้าวมหาชมพู

นิทานวัตถุเรื่องท้าวมหาชมพูนี้ อ้างว่าเปนเรื่องพระพุทธประวัติ ปางเมื่อพระพุทธองค์ทรงกระทำปาฏิหาริย์ทรมานท้าวมหาชมพู ผู้มีฤทธานุภาพหาตัวสู้มิได้ ให้ละพยศยอมเปนพุทธสาวก พวกจีนแลญวนที่ถือพระพุทธสาสนาตามลัทธิมหายานกล่าวกันว่า ท้าวมหาชมพูเปนนายทหารเอกของจัตุโลกบาล ครั้นพระพุทธองค์ทรงทรมานให้เลื่อมใสพระรัตนไตรยแล้ว แต่นั้นก็รับเปนผู้รักษาพระธรรมวินัยต่อมา เพราะฉนั้นจึงมักทำรูปไว้ตามวัดจีนแลวัดญวน จีนเรียกว่าอุยท่อเอี๋ย ญวนเรียกว่าหยีด้ายา แต่ตามเรื่องทางข้างไทยเราว่าท้าวมหาชมพูเปนกระษัตริย์ครองเมืองปัญจาลราษฐ แลเมื่อพระพุทธองค์ทรงทรมานให้เลื่อมใสแล้ว ท้าวมหาชมพูศรัทธาถึงละราชสมบัติออกทรงผนวชเปนภิกษุภาวะ แล้วเพียรบำเพ็ญสมณธรรมจนได้บรรลุพระอรหัตเปนพระอริยสาวกพระองค์หนึ่งในครั้งพุทธกาล ผิดกันอยู่ดังนี้

ไทยเราถือเปนคติกันมาแต่โบราณ ว่าพระพุทธรูปทรงเครื่องเปนพระปางเมื่อพระพุทธองค์ทรงกระทำปาฏิหาริย์ บันดาลให้ท้าวมหาชมพูเห็นพระองค์ทรงเครื่องต้นเปนพระเจ้าจักรพรรดิราชาธิราช แลนับถือกันว่าสร้างพระทรงเครื่องมีอานิสงส์มาก เห็นจะเปนเพราะเหตุที่อาจบริจาคแก้วแหวนเงินทองของมีค่าอันเปนที่รักมาแต่ก่อน เปนพุทธบูชาปรากฏอยู่ยั่งยืนประการ ๑ แลการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องต้องมีช่างฝีมือดีแลมีทุนทรัพย์มากจึงจะสร้างได้ สร้างยากกว่าพระพุทธรูปปางอื่นๆ จะเปนเพราะเหตุนี้ด้วยอิกประการ ๑ ผู้มียศศักดิ์แลทรัพย์สมบัติมากแต่กาลก่อน นับแต่สมเด็จพระราชาธิบดีเปนต้น จึงมักสร้างพระพุทธทรงเครื่อง เรื่องท้าวมหาชมพูก็เปนเรื่องที่นับถือกันสืบมา โดยฐานที่เปนตัวตำนานของพระพุทธรูปทรงเครื่องทั้งปวงนั้น

ความที่กล่าวมานี้ มีเรื่องเปนอุทาหรณ์ปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุ ครั้งกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานีเรื่อง ๑ เมื่อราชทูตลังกาพาพระสงฆ์ไทย ที่ไปให้อุปสมบทตั้งสาสนะวงศ์ในลังกาทวีป กลับมาส่งเมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๒๙๘ เวลาเมื่อทูตลังกาพักอยู่ในกรุงศรีอยุธยานั้น สมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์โปรดให้พาไปชมพระอารามหลวง ทูตลังกาไปเห็นพระพุทธรูปทรงเครื่องที่ในวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ถามเจ้าพนักงานผู้พาไป ว่าเหตุไฉนที่ในเมืองไทยจึงสร้างพระพุทธปฏิมากรทรงเครื่องอย่างเทวะรูป ที่ในลังกาทวีปหาเคยมีพระพุทธรูปเช่นนี้ไม่ ความที่ทูตลังกากล่าวทราบถึงพระกรรณสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์ จึงมีรับสั่งให้เสนาบดีชี้แจงไปในสุภอักษรซึ่งมีถึงเสนาบดีลังกาว่า :-

“ทูตทั้ง ๓ นายได้เห็นพระพุทธรูปสุวรรณมัยอันทรงมงกุฎแลเครื่องต้นประดับด้วยเนาวรัตน์ ประดิษฐานอยู่ในพระมณฑปพร้อมด้วยมหรรคภัณฑ์ อันเปนของมีค่ามาก คือมณีมุกดาแลไพฑูรย์เปนต้น ทั้งได้เห็นพระพุทธรูป (ทรงเครื่อง) พระองค์อื่นอันขจิตรงามล้วนสร้างด้วยทองแลเงิน หากมีใจสงไสยว่า พระพุทธรูปทรงเครื่องประดับอย่างนี้ (เหมือนเทวะรูป) ที่ในลังกาทวีปไม่มีเลย (ดังนี้) อันพระพุทธรูปทรงเครื่องประดับอย่างนี้อย่า (ให้ชาวลังกา) พากันกล่าวว่าเหมือนเทวะรูป พระเจ้าราชาธิราชผู้อุดม (ของเรา) นั้น หาทรงประพฤติพระราชกิจ ซึ่งเปนพระราชกุศลอย่างยวดยิ่งให้ผิดครองพระพุทธวัจนะไม่ พระพุทธรูปที่ทรงพระมหามงกุฎอย่างนี้ ได้มีปรากฏในชมพูบดีวัตถุ (เรื่องท้าวมหาชมพู) เหตุนั้นราชบุรุษผู้ได้เล่าเรียนนิทานทราบชัดเจน จึงบอกเล่ามาอย่างนี้โดยแท้จริง”

“เราได้ส่ง (หนังสือ) ชมพูบดีวัตถุมาให้ท่านอรรคมหาเสนาบดีลังกา เพื่อจะได้สั่งสอนพวกพราหมณ์ในลังกาทวีป แล้วขอให้ทูลเรื่อง (ชมพูบดีวัตถุ) นี้แก่พระเจ้าอุดมมหาราชแห่งลังกาทวีปด้วย เมื่อเราจะส่ง (หนังสือ) วัตถุเรื่องชมพูบดีนี้มา ก็ได้ถวายพระสังฆวรนายกอุดมให้พิจารณาด้วยแล้ว เพื่อจะแก้วิมัติของพราหมณ์ทั้งหลาย”

“ขอให้พระเจ้ากรุงลังกาทรงสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องเนาวรัตน์ล้วนเหมือนอย่างที่สร้างในกรุงเทพมหานครนี้เถิด พระราชกุศลจะได้เจริญวัฒนาในกรุงศิริวัฒนบุรีตลอดแว่นแคว้นลังกาทวีป”

จะเห็นได้ตามความในศุภอักษรที่กล่าวมานี้ ว่าเมื่อครั้งกรุงเก่า มีความนิยมในการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องเพียงไร ความนิยมนั้นมีสืบต่อมาจนกรุงรัตนโกสินทรนี้ เพราะฉนั้นพระพุทธรูปสำคัญเช่นพระฉลองพระองค์ก็ดี แลพระพุทธรูปสำหรับแผ่นดิน เช่นพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแลพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามก็ดี จึงมักสร้างเปนพระพุทธรูปทรงเครื่อง ส่วนเรื่องนิทานท้าวมหาชมพู อันเปนต้นตำนานของพระพุทธรูปทรงเครื่องก็เขียนรูปภาพไว้ ในพระอารามหลวงหลายแห่ง จะยกตัวอย่างที่พอจะดูได้ง่าย คือที่ในพระอุโบสถวัดราชบุรณะ เขียนไว้ที่ฝาผนังด้านน่า เปนฝีมือช่างเขียนครั้งรัชกาลที่ ๑ งามกว่าที่ไหนๆ หมด

แต่วัตถุนิทานเรื่องท้าวมหาชมพูนี้ หามีในพระไตรปิฎกคัมภีร์หนึ่งคัมภีร์ใดไม่ ต้นหนังสือที่ปรากฏในประเทศนี้ มีตัวอรรถภาษาบาฬีตลอดเรื่องเปนหนังสือผูก ๑ นับในหมวดสุตตสังคหะ คือพวกหนังสือซึ่งสงเคราะห์เข้าในพระสุตันตปิฎก หนังสือชมพูบดีวัตถุที่สมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์โปรดให้คัดส่งไปเมืองลังกาก็คงเปนหนังสืออรรถนี้นั้นเอง ผู้ชำนาญภาษาบาฬีได้ตรวจสำนวน เห็นว่าจะเปนหนังสือแต่งในแถวประเทศของเรานี้ ภายหลังหนังสือจามเทวีวงศ์แลรัตนพิมพวงศ์ทำนองจะได้เรื่องวัตถุนิทานมาแต่คัมภีร์ทางลัทธิมหายาน เอามาแต่งอรรถเปนภาษาบาฬีขึ้นในสยามประเทศนี้ เพราะฉนั้นหนังสือเรื่องชมพูบดีวัตถุ จึงมิได้มีในลังกาทวีป แลไม่ปรากฏว่ามีในประเทศพม่ารามัญ แต่ทราบกันแพร่หลายในสยามประเทศตั้งแต่ฝ่ายใต้ตลอดขึ้นไปจนฝ่ายเหนือ ถึงพระสงฆ์ใช้เปนเรื่องสำหรับเทศนาในทางปุจฉาวิสัชนาเรื่องหนึ่ง อย่างเช่นเทศน์มิลินทปัญหา แต่เทศน์เรื่องชมพูบดีวัตถุนี้พระเทศน์ ๓ องค์สมมตกันเปนพระพุทธองค์ เมื่อทรงจำแลงเปนพระเจ้าจักรพรรดิราชาธิราชองค์ ๑ เปนพระเจ้าพิมพิสารองค์ ๑ เป็นท้าวมหาชมพูองค์ ๑ เทศน์ไต่ถามตอบโต้กันด้วยเรื่องพระธรรมวินัยแลบาปบุญคุณโทษ ทำนองเดียวกับเทศน์เรื่องมโหสถ แลมาลัยเถรวัตถุฉนั้น

หนังสือเรื่องท้าวมหาชมพูที่แต่งเปนภาษาไทย เปนสำนวนแปลอรรถภาษาบาฬีที่กล่าวแล้วมาแต่งเปนเทศนา เปนสำนวนเก่าแต่จะแต่งเมื่อครั้งไหนหาทราบชัดไม่ ในหอพระสมุด ฯ มีหลายฉบับ แต่เปนสำนวนเดียวกันทั้งนั้นยังไม่เคยพบหนังสือเรื่องท้าวมหาชมพูสำนวนอื่น เข้าใจว่าจะมีแต่ความเดียวเท่านี้ จึงเห็นสมควรจะพิมพ์ให้ได้อ่านกันแพร่หลาย ทั้งจะได้รักษาไว้อย่าให้สูญไปเสีย.

  1. ๑. ต้นศุภอักษรนี้แต่งเปนภาษาบาฬี มีความหลายเรื่อง คัดมากล่าวในหนังสือนี้แต่เฉภาะเรื่องพระพุทธรูปทรงเครื่องสำเนาศุภอักษร แลคำแปลได้พิมพ์แล้วโดยพิศดาร อยู่ในหนังสือเรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ