มหาชมพูปติสูตร

เอวมฺเม สุตํ เอกํ สมยํ ภควา ราชคเห วิหรติ เวฬุวเน ตทา ชมฺพูปติราชานาม อโหสิ ตสฺส ปฏิสนฺธิกาเล อฏฺารสหตฺถุพฺเพโพ สุวณฺณถมฺโภ อุฏฺหิ ตสฺส คพฺภโต นิกฺขมนกาเล ปถวิตเล นิธิกุมฺภาทโย อุฏฺฐหึสุ รุกฺขโต จ ปน นิธิโย ปตึสุ อุทกตลโต สพฺพนิธิโย อุคฺคนฺตวา ปสวนฺติ เวปุลฺลปพฺพตา เทฺว มณิโชติรตนานิ อาคนฺตฺวา ตสฺส ชมฺพูปติสฺส เหฏฺาปาเท สมฺปติจฺฉึสุ.

“เอตํ สุตฺตํ” อันว่าสูตรนี้ เม เมาะ มยา อันข้าพระพุทธเจ้า “อานนฺทตฺเถเรน” ผู้ชื่อว่าอานนทเถร “สุตํ” หากได้ฟังมา “ภควโต สมฺมุขา” จำเภาะพระภักตร์สมเด็จพระมหากรุณาสัมมาสัมพุทธเจ้า “เอกํ สมย์” ในสมัยครั้งหนึ่ง สมเด็จพระบรมโลกนารถศาสดาจารย์ สำเร็จอิริยาบถวิหารอยู่ในเวฬุวนารามใกล้กรุงราชคฤห์มหานคร “ตทา ชมฺพูปติราชา อโหสิ” ครั้งนั้นยังมีกระษัตริย์พระองค์หนึ่ง ทรงพระนามชื่อว่าชมพูบดี เสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองปัญจาลราษฐ พระยาชมพูบดีนี้ แรกเริ่มเดิมทีเธอจะปฏิสนธิ์ในครรภ์พระมารดานั้น เสาทองอันใหญ่สูงได้ ๑๘ ศอกก็บังเกิดขึ้นภายในพระนคร “นิกฺขมนกาเล” กาลเมื่อเดิมประสูตรจากครรภ์พระมารดา ขุมทองอันอยู่ในแผ่นดิน ก็ผุดขึ้นมาจากแผ่นดิน ขุมทองอันอยู่บนปลายไม้ ก็ตกลงมาสู่พื้นแผ่นพสุธา “อุทกตลโต สพฺพนิธิโย อุคฺคนฺตฺวา” ขุมทองอันอยู่ในน้ำก็ผุดขึ้นมาจากน้ำลอยไปสู่ท่าเมืองปัญจาลราษฐ “วิปุลฺลปพฺพตา เทฺว มณิโชติรตนานิ” ฉลองพระบาทอันแล้วด้วยแก้วมณีโชติทั้งคู่ ก็ลอยมาแต่ภูเขาวิบูลยบรรพต แล้วก็มาสอดสรวมเข้าในพระบาทพระเจ้าชมพูบดี ในขณะเมื่อประสูตรจากครรภ์พระมารดา ฯ “ตทา พฺราหฺมณา ทิสฺวา” ครั้งนั้นเนมิตกะพราหมณทั้งหลายเห็นอัศจรรย์ จึงพยากรณ์ทำนายว่า “อยํ กุมาโร” พระราชกุมารพระองค์นี้ มีบุญญาภิสมภารยิ่งนัก จะได้เสวยสมบัติเปนพระยาเอกราช เปนใหญ่ในสกลชมพูทวีปแลนาคพิภพ “วิปุลฺลมณิยํ ตฺวา” พระราชกุมารนี้ จะสอดสรวมฉลองพระบาทแก้วมณีอันมาแต่เขาวิบุลยบรรพต แล้วก็เสด็จเที่ยวไปในนภาไลยประเทศอากาศ สูงแต่แผ่นดินขึ้นไป ประมาณได้โยชน์หนึ่ง เนมิตกะพราหมณ์ทั้งหลายก็ทำนายพระราชกุมารฉนี้แล้ว ก็ถวายพระนามพระราชกุมารนั้น ชื่อว่าชมพูบดีราชกุมาร ฯ “โสชมฺพูปติ กุมาโร” เจ้าชมพูบดีราชกุมารนั้น เมื่อทรงพระวัฒนาการจำเริญขึ้นแล้ว แลประพาศเล่นตามกุมารัชฌาไศรยนั้น “อฺสุํ คเหตฺวา” ทรงซึ่งธนูศรแล้วก็ยิงไปในอากาศ ยิงไปในน้ำ ยิงไปในแผ่นดิน “โสฬสวสฺสานิ สิปฺปํ สิกฺขติ” เจ้าชมพูบดีราชกุมารนั้นเรียนศิลปสาตรธนูอยู่ถึง ๑๖ พระพรรษา แรกเรียนนั้นยิงลูกธนูไปไกลได้โยชน์หนึ่ง ครั้นล่วงเข้าสองปียิงไปได้สองโยชน์ ล่วงเข้า ๓ ๔ ๕ ๖ } ปี ยิงลูกธนูไปไกลได้ ๓ ๔ ๕ ๖ } โยชน์ ครั้นล่วงเข้า ๗ ปี ยิงไปไกลได้ ๗ โยชน์ ถ้ายิงลงไปในแผ่นดินนั้น ลูกธนูเดิรเปนทางไปไกลได้โยชน์หนึ่ง ถ้ายิงไปในนาคพิภพ ก็อาจยังนาคพิภพให้ยับย่อยเปนจุณวิจุณไป มีอุประมาดุจดังว่าเท่าในกำมือ ถ้ายิงไปในน้ำ น้ำก็เดือดเปนควันพลุ่งขึ้นมามีอุประมาดังควันเพลิง ลูกธนูอันเดิรทางไปในน้ำนั้นไปไกลได้โยชน์หนึ่ง “อุสุํ ทูตํ กตฺวา เปเสสิ” เจ้าชมพูบดีราชกุมารนั้น เมื่อได้ผ่านพิภพแล้ว ก็ตรัสใช้ให้ลูกธนูนั้นเปนราชทูตเที่ยวไปในสกลชมพูทวีป ให้ไปหาท้าวพระยาทั้งปวงในสกลชมพูทวีปนั้นมาสู่ที่เฝ้า ถ้าท้าวพระยาองค์ใดแขงขัดอยู่มิได้มาสู่ที่เฝ้า ลูกธนูนั้นก็ร้อยพระกรรณแห่งพระยาองค์นั้น แล้วก็นำพระยาองค์นั้นมาสู่สำนักนิ์แห่งเจ้าชมพูบดี ตกว่าท้าวพระยาสามนต์ในสกลชมพูทวีปเกรงกลัวพระเดชพระคุณ สมเด็จพระเจ้าชมพูบดียิ่งนัก สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีนี้มีพระอรรคมเหษีทรงพระนามชื่อว่า กาญจนราชเทวี “ปณฺณรสี ทิวเส” อยู่มาวันหนึ่งเปนวันเพ็ญอุโบสถพระจันทรส่องแสงสว่างกระจ่างแจ้งในนภาไลยประเทศอากาศ สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีราชทอดพระเนตรเห็นปริมณฑลพระจันทรอันขึ้นมาในอากาศแล้วแลเดิรเข้าไปใกล้ดาวนักขัตฤกษ์นั้น จึงทรงพระปริวิตกว่าดวงจันทรนี้เปนใหญ่กว่าดาว มีอุประมาดังตัวเราเปนใหญ่กว่าพระยาทั้งร้อยเอ็จพระองค์ๆ นั้น มีอุประมาดังว่าหมู่ดาวนักขัตฤกษ์ พระจันทรเทพบุตรเดิรเข้าไปใกล้ดาวนักขัตฤกษ์นั้นโดยทางอากาศแลมีฉันใดอาตมาก็จะเข้าไปสู่สำนักนิ์แห่งพระยาทั้งร้อยเอ็จพระองค์โดยทางนภาไลยประเทศเวหาส์ ให้เหมือนดังปริมณฑลพระจันทร อันเข้าไปสู่ที่ใกล้แห่งดาวนักขัตฤกษ์นั้น สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีทรงพระดำริห์ฉนั้นแล้ว ก็สรวมสอดฉลองพระบาทแก้วมณีโชติ อันมาแต่เขาวิบุลยบรรพตนั้นแล้ว ก็เหาะไปโดยทางครรคณะอุลยประเทศ เที่ยวไปทอดพระเนตรดูพระยาทั้งร้อยเอ็จ ดูบ้านดูเมืองแห่งพระยาร้อยเอ็จพระองค์แล้ว ก็นิวัตนาการกลับมาโดยทางนภาไลยประเทศอากาศ เสด็จมาถึงเมืองราชคฤห์ทอดพระเนตรเห็นยอดกุฎาคารปราสาท สมเด็จพระเจ้าพิมพิสาร ก็ทรงพระดำริห์ว่า “อยํ ปาสาโท” ปราสาทนี้สูงนัก ใครหนอเปนเจ้าของปราสาทอันนี้ ดำริห์ฉนี้แล้วก็ทรงพระพิโรธ ยกพระบาทขึ้นถีบเอายอดปรางค์ปราสาทของสมเด็จพระเจ้าพิมพิสารในกาลครั้งนั้น “พุทฺธอุปาสกสฺส เตเชน” ด้วยอำนาจพระบารมีของพระเจ้าพิมพิสาร เปนพุทธอุบาสก คุณนั้นก็คุ้มครองรักษายอดปรางค์ปราสาทนั้นก็มิได้กัมปนาทหวาดหวั่นไหวจลาจล พระบาทแลพระชาณุของพระเจ้าชมพูบดีนั้นก็แตกทำลายโลหิตไหลอาบทั้งพระบาทได้ความลำบากเวทนา “กิลมนฺโต กุชฺฌนฺโต” พระยาชมพูบดีนั้นก็เร่งทรงพระพิโรธ จึงฟาดฟันยอดปรางค์ปราสาทนั้นด้วยพระแสงขรรค์สำหรับราชาภิเศก “พุทฺธานุภาเวน” ด้วยอานุภาพคุณแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าคุ้มครองรักษากรุงพิมพิสาร เทพยดาก็บันดาลให้ยอดปรางค์ปราสาทนั้นเปนเหล็กเพ็ชร์ เมื่อพระยาชมพูบดีฟาดฟันในครั้งนั้นพระแสงขรรค์แห่งพระยาชมพูบดี ก็บิ่นย่อยยับไปสิ้นทั้งนั้น “โส กุชฺฌนฺโต” พระยาชมพูบดีนั้น ขัดแค้นพระไทยนัก ทรงพระดำริห์ว่า แล้วก็แล้วไปเถิด ถ้ากูไปถึงที่อยู่แห่งกูแล้ว กูจะให้วิษศรมาร้อยกรรณของพระยาผู้เปนเจ้าของปราสาทนี้ นำไปสู่สำนักนิ์ของกู “อิติจินฺเตตฺวา” ครั้นทรงพระดำริห์ฉนี้แล้ว พระยาชมพูบดีก็เหาะไปสู่ที่อยู่แห่งพระองค์ ครั้นถึงจึงลงในที่เฉภาะหน้าแห่งอำมาตย์ราชเสนาทั้งปวง แล้วก็กวัดแกว่งพระแสงขรรค์ ฯ “อมจฺจา ต๋ํ ทิสฺวา” อำมาตย์ทั้งหลายเห็นพระเจ้าชมพูบดีกระทำการดังนั้นก็กราบทูลว่า ขอพระราชทานเหตุอไรพระองค์จึงกระทำอาการดังนี้ ฯ “อเมฺห กุชฺฌิตฺถ” พระองค์ทรงพระพิโรธแก่กระหม่อมฉันทั้งปวงนี้ฤๅประการใด กราบทูลพลางทางหมอบลงด้วยอุระเกรงกลัวพระบารมีพระเจ้าชมพูบดีนั้น มีอุประมาดังมฤคชาติอันกลัวแก่สิงหนาทของพระยาไกรสรราชสีห์ สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีจึงมีพระโองการตรัสว่า “อยํ ตุเมฺห น กุชฺฌามิ” เราหาขึ้งโกรธแก่ท่านทั้งปวงไม่ เราโกรธแก่ผู้อื่น ตรัสฉนี้แล้วก็ยกขึ้นซึ่งวิษศรย้อมด้วยพิษนาค วางศรนั้นไว้เหนือพื้นแห่งพระหัดถ์ แล้วก็มีพระโองการตรัสว่า ดูกรวิษศร ท่านจงไปสู่เมืองราชคฤห์มหานครข้างบูรพทิศตวันออก ร้อยกรรณแห่งพระยาเจ้าเมืองนั้นนำมาสู่สำนักนิ์แห่งเราบัดนี้ ตรัสแล้วก็สละวิษศรนั้นไป ฯ “สโร อากาสํ คนฺตวา” วิษศรนั้นก็เหาะลอยขึ้นไปในอากาศเวหาส์ มีอุประมาดังพระยาครุธ อันยกขึ้นซึ่งนาคกระทำอาการดุจดังว่ามีจิตรวิญญาณ แผดร้องก้องสำเนียงสนั่น ดุจหนึ่งว่าเสียงไกรสรราชสีห์ “พิมฺพิสารสีสํ ภินฺทามิ อุรํ ผาเลมิ” กูนี้เปนราชทูตแห่งสมเด็จพระเจ้าชมพูบดีราช กูจะทำลายเสียซึ่งสีสะแห่งพระยาพิมพิสาร กูจะผ่าเสียซึ่งอุระแห่งพระยาพิมพิสาร ใคร ๆ อย่ามาอยู่ขวางหน้ากู เสียงวิษศรร้องอื้ออึงคนึงมาในอากาศเวหาส์ ด้วยประการฉนี้ “ตทา พิมฺพิสารราชา” พระเจ้าพิมพิสาร ครั้นได้ทรงสวนาการเสียงวิษศรร้องอื้ออึงคนึงมาในเวลาปัจจุสมัย มาถึงยอดปรางค์ปราสาทแล้วแลพระหึมครึมคร่ำ ขู่คำรนอยู่ณยอดปรางค์ปราสาทดังนั้น “ภีตตสิโต หุตฺวา” สดุ้งตกพระไทยนัก เสด็จออกจากพระนครแต่ภายในอรุณ เข้าไปสู่สำนักนิ์สมเด็จพระมหากรุณาเสด็จอยู่ในเวฬุวันมหาวิหาร ถวายนมัสการสมเด็จพระพุทธองค์เจ้าแล้ว ก็กราบทูลถามว่า “ภนฺเต ภควา” ข้าแต่พระสรรเพ็ชญ์พุทธองค์ กระหม่อมฉันได้ยินเสียงคุกคามอื้ออึงคนึงอยู่ในที่ยอดปรางค์ปราสาท จะเปนเสียงอันใดพระพุทธเจ้าข้า ฯ จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูกรบพิตรพระราชสมภาร เสียงร้องอื้ออึงอยู่ที่ยอดปราสาทนั้น คือเสียงวิษศรแห่งพระยาชมพูบดี อันเสวยสมบัติในเมืองปัญจาลราษฐ์ ขึ้งโกรธแก่พระองค์ ใช้ให้วิษศรมาจะให้ร้อยกรรณแห่งบพิตรนำไปสู่ที่เฝ้าแห่งตน ฯ “ภิตตสิโต หุตฺวา” สมเด็จพระเจ้าพิมพิสารได้ทรงฟัง ก็ยิ่งสดุ้งตกพระไทยสทกสท้านยิ่งขึ้นกว่าเก่า จึงกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า กระหม่อมฉันนี้คิดอ่านเปนประการใด จึงจะพ้นไภย ดูกรบพิตรพระราชสมภาร พระองค์อย่าโศกเศร้าไปเลย ตถาคตจะช่วย เมื่อสมเด็จพระมหากรุณามีพระพุทธฎีกาตรัสจำนรรจาอยู่ด้วยกรุงพิมพิสารด้วยประการฉนี้ ๚

ฝ่ายวิษศรนั้น ก็ยิ่งร้องก้องสนั่นดุจหนึ่งว่าเสียงฟ้าผ่า ว่ากูนี้เปนทูตพระเจ้าชมพูบดี จะตัดเอาสีสะพระยาพิมพิสาร จะผูกพันธ์เอาตัวพระยาพิมพิสารบัดเดี๋ยวนี้ “สพฺเพ นาครา” ฝ่ายชาวพระนครทั้งปวง ได้ฟังเสียงวิษศรร้องกีกก้องดังนั้น ต่างคนต่างก็บังเกิดโลมหังสนังขนพองสยองสดุ้งตกใจกลัว “สโร พิมฺพิสารราชานํ อลภิตฺวา” วิษศรนั้น เมื่อเข้าไปค้นคว้าหาพระเจ้าพิมพิสารณภายในปรางค์ปราสาทมิได้พบได้ปะพระเจ้าพิมพิสารณภายในปราสาทนั้นแล้ว วิษศรนั้นก็ทำลายเสียซึ่งกัมภูฉัตรของพระเจ้าพิมพิสารให้หักกระจัดกระจาย แล้วก็บ่ายหน้าเฉภาะต่อเวฬุวันมหาวิหารร้องก้องสนั่นมา “ทูรโต อาคตํ สรํ ทิสฺวา” สมเด็จพระมหากรุณา เมื่อทอดพระเนตรเห็นวิษศรร้องก้องมาแต่ไกล จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสแก่พระเจ้าพิมพิสารว่า ดูกรบพิตรพระราชสมภาร วิษศรมานี่แล้ว วิษศรตามพระองค์มานี่แล้ว สมเด็จพระเจ้าพิมพิสารทอดพระเนตรเล็งแลไป เห็นวิษศรครั้งนั้น “สณฺาเรตุํ อสกฺโกนฺโต” มิอาจดำรงทรงพระกายอยู่ได้เปนปรกติ พระกายนั้นหวั่นไหว กราบทูลพระกรุณาว่า “ภนฺเต ภควา” ข้าแต่สมเด็จพระพุทธองค์พระพุทธเจ้าข้า ได้ทรงพระกรุณาโปรดเถิด ประทานชีวิตแก่กระหม่อมฉันด้วย สมเด็จพระเจ้าพิมพิสารกราบทูลพลางทางซบพระเศียรลงแทบพระบาทยุคลสมเด็จพระมหากรุณา “ภควา” องค์สมเด็จพระบรมโลกนารถศาสดาผู้ทรงสวัสดิโสภาคเปนอันงามเมื่อจะป้องกันเสียซึ่งไภยแห่งสมเด็จพระเจ้าพิมพิสารครั้งนั้น “เอกํ จกฺกํ มาเปตฺวา” พระองค์จึงนิมิตรจักรอันหนึ่ง ประกอปด้วยศักดาเดชานุภาพเปนอันมาก แล้วก็มีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูกรจักร ท่านจงไปมนีมนา “นิวาเรหิ” ท่านจงป้องกันกั้นกางห้ามปรามเสีย ซึ่งวิษศรแห่งพระยาชมพูบดี อย่าให้เข้ามาได้ในสถานที่นี้ ตรัสฉนี้แล้วพระพุทธองค์ก็ทิ้งจักรนั้นไป “พุทฺธจกโก เวหาสํ คนฺตวา” พุทธจักรนั้นก็กระทำอิทธิฤทธิ์ไปในอากาศเวหาส์ กระทำการดุจมีจิตรวิญญาณ ร้องก้องด้วยศรัพทสำเนียงเสียงเปนอันดังว่า “ชมฺพูปติสีสํฉินฺทามิ” กูจะตัดสีสะพระยาชมพูบดีเสียบัดนี้ กูจะทำวิษศรของพระยาชมพูบดีให้เปนเถ้าไปบัดเดี๋ยวนี้ “อิติ รวนฺโต” พุทธจักรร้องฉนี้แล้ว ก็ไล่ทุบวิษศรของพระยาชมพูบดี เสียงพุทธจักรไล่ทุบตีวิษศร ณ ครั้งนั้นดังสนั่น มีอุประมาดุจดังว่าเสียงฟ้าฟาด ข้างอากาศนั้นเปนหมอกเปนควันไป มีอุประมาดุจเพลิงไหม้ทั่วทั้งสกลโลกธาตุ “สโร ปราชิโต หุตฺวา” วิษศรนั้น มิอาจต่อสู้พุทธจักรนั้นได้ ก็ถึงซึ่งปราไชยพ่ายแพ้หนีไป พุทธจักรนั้นก็ประชิตไล่ติดตามวิษศรไปกราบเท่าถึงเมืองอุดรปัญจาลธานี วิษศรนั้นหนีเข้าอยู่ในยอดบราลีปรางค์ปราสาทแล้ว พุทธจักรจึงกลับมา “ชมพูปติ ตํ ทิสฺวา” พระยาชมพูบดีเห็นวิษศรแพ้แต่อำนาจจักร หนีมาณครั้งนั้น เสียน้ำพระไทยนัก ประหนึ่งอสรพิษอันบุทคลถอนเขี้ยวเสียแล้ว ท้าวเธอจึงสอดฉลองพระบาทแก้วมณีโชติอันมาแต่เขาวิบุลยบรรพตนั้นแล้วขว้างไปจึงตรัสว่า ดูกรฉลองพระบาท ท่านจงไปอย่าซ้า ไปผูกพันธ์ท้าวพระยาพิมพิสารได้แล้ว จงนำมายังสำนักนิ์เรา เมื่อพระเจ้าชมพูบดีตรัสสั่งฉนี้ ฉลองพระบาทแก้วมณีโชติทั้งคู่นั้นก็กลับกลายเปนนาคราชทั้งสอง แต่ละตัว ๆ มีสีสะได้ร้อยหนึ่ง นาคราชทั้งสองนั้นเลิกพังพานได้ละโกฏิ ๆ แล้วก็พ่นพิษเปนควันกลุ้มกลบตลบไป ประหนึ่งควันเพลิงในนรก “นาคราภิมุขา” เฉภาะหน้าสู่เมืองราชคฤห์ บัดเดี๋ยวใจก็บันลุถึงพระนครราชคฤห์ ครั้นถึงจึงเข้าไปในพระราชวังขึ้นสู่ปรางค์ปราสาทเข้าไปสู่ที่ตั้งแห่งราชบัลลังก์ มิได้พบพระเจ้าพิมพิสารณสถานที่นั้น นาคราชทั้งสองนั้น จึงทำลายเสียซึ่งบัลลังก์ให้หัก กระจัดกระจายเรี่ยรายแล้ว ก็บ่ายหน้าเฉภาะต่อเวฬุวันมหาวิหาร แล่นออกไปด้วยกำลังอันเร็ว “ภควา อาคเต ทิสฺวา” สมเด็จพระผู้มีพระภาคย์ ทอดพระเนตรเห็นนาคราชทั้งสองมาในครั้งนั้น จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสแก่พระเจ้าพิมพิสารว่าดูกรบพิตรพระราชสมภาร นาคราชทั้งสองอันมาโน่นเปนฆ่าศึกแก่พระองค์ มาเพื่อประทุษฐร้ายแก่พระองค์ในกาลบัดนี้ “เต ทิสฺวา” พระเจ้าพิมพิสาร ทอดพระเนตรไปเห็นนาคราชทั้งสองกระทำอิทธิฤทธิ์ติดตามออกมาครั้งนั้น ก็สดุ้งตกพระไทยหมอบลงด้วยอุระแทบใกล้พระบาทสมเด็จพระบรมโลกนารถศาสดา “ภควา” สมเด็จพระผู้มีพระภาคก็ตรัสเล้าโลมว่า “มาภายิมหาราช” ดูกรบพิตรพระราชสมภาร พระองค์อย่ากลัว พระองค์อย่าตกพระไทย ตรัสฉนั้นแล้วสมเด็จพระมหากรุณาก็กระทำอิทธิฤทธิ์ นฤมิตรซึ่งพระยาครุธ อันใหญ่หลวง ทรงมหิทธิศักดามีเศียรได้พันเศียร มีปีกได้แสนปีก ครั้นแล้วพระพุทธองค์ก็ปล่อยไป “โส อากาเสน อุปติตฺวา” พระยาครุธนั้นก็บินขึ้นยังอากาศเวหาส์มีเสียงปีกอันดังประหนึ่งเสียงสายฟ้าฟาด บินโผผาถาแถกไปดุจเพลิงประไลยกัลป์ บันฦๅด้วยสำเนียงเสียงสนั่นว่า กูจะทำลายเสียซึ่งสีสะแห่งนาคราชทั้งสอง จะเปนอาหารแห่งกูบัดนี้ ร้องกีกก้องดังนี้แล้ว พระยาครุธก็โผลง เพื่อจะโฉบฉาบคาบคั้นเอานาคราชทั้งสองไปกินเปนอาหาร ฯ นาคราชทั้งสองมิอาจต่อสู้อิทธิฤทธิ์แห่งพระยาครุธนั้นได้ สดุ้งตกใจกลัวนัก มิอาจทรงกายอยู่ได้ ก็ชำแรกแทรกลงไปในพื้นแผ่นดินแล้วก็ประลาศหนีไปสู่สำนักนิ์แห่งพระเจ้าชมพูบดี พระเจ้าชมพูบดีเห็นฉลองพระบาทแห่งอาตมา พ่ายแพ้หนีมาณครั้งนั้นเศร้าเสียน้ำพระไทยนัก มีอุประมาดุจดังว่าแขนขวาแขนซ้ายเท้าซ้ายขวานั้น ขาดไปสิ้นแล้ว สลดพระไทยยิ่งนัก เหตุว่าเห็นฤทธิ์ของตนมิได้ประสิทธิ์เหมือนแต่ก่อนๆ ฯ “กรุณาธิโก” ฝ่ายองค์สมเด็จพระมหากรุณา ผู้เปนที่เฉลิมแห่งนักปราชทั้งหลายในมณฑลแห่งไตรภพ พระพุทธองค์ทรงอาวัชนาการพิจารณาเห็นว่า พระเจ้าชมพูบดีนั้น มีวาศนาปัญญาบารมีแก่กล้า จะได้สำเร็จแก่พระอรหรรตผล จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสเรียกสมเด็จอมรินทราลงมาจากดาวดึงษพิภพแล้ว มีพระพุทธฎีกาดำรัสสั่งว่า ดูกรสมเด็จอัมรินทราธิราช บพิตรจงแปลงเพศเปนราชทูตแล้วจงไปยังสำนักนิ์ของพระเจ้าชมพูบดีว่าแก่พระเจ้าชมพูบดีว่า บัดนี้สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชตรัสใช้ให้เรามาหาตัวบพิตรไปยังที่เฝ้า ถ้าบพิตรไปยังที่เฝ้าสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชแล้ว ชีวิตรของบพิตรก็จะรอดอยู่คืนคง ถ้าบพิตรขัดแขงอยู่ไม่ไป ชีวิตรของบพิตรก็จะพินาศประไลย ด้วยอำนาจของสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชเปนอันแท้ ดูกรสมเด็จอัมรินทราธิราช บพิตรจงไปว่าแก่พระเจ้าชมพูบดีดังตถาคตตรัสฉนี้ สมเด็จอัมรินทราธิราช รับพระพุทธฎีกาแล้ว ก็นฤมิตรเพศเปนราชทูตไปยังเมืองปัญจาลราษฎ์ เปล่งรัศมีโอภาษสว่างทั่วไปทั้งพระนคร มีอุประมาดังสุริยเทพบุตรเมื่อแรกอุไทยประดิษฐานอยู่เฉภาะพระภักตรพระเจ้าชมพูบดี แลอำมาตย์แสนหนึ่ง อันอยู่ในที่เฝ้าของพระเจ้าชมพูบดีนั้นแล้วก็มีเทวบัญชาตรัสว่า ดูกรชมพูบดี ทำไมท่านนี้สำคัญว่าตัวใหญ่ฤๅ ไม่มีผู้เสมอแล้วฤๅ ท่านจึงมิได้ตกแต่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชเจ้านายของเรา ดูกรพระยาชมพูบดี ตัวของท่านนี้เปนพระยาอันเศร้าหมอง มีอุประมาดังพรานเนื้อเที่ยวฆ่าเนื้อในป่า “กสฺมา อคนฺตวา” เหตุอไรฤาท่านจึงมิได้ไปสู่ที่เฝ้าสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช มาตั้งเนื้อตั้งตัวว่าตัวเปนใหญ่อยู่ฉนี้ ด้วยเหตุผลอันใด นี่แน่พระยาชมพูบดี “อหํ ทูโต” ตัวของเรานี้เปนราชทูตแห่งสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชใช้ให้เรามาหาตัวท่าน ท่านเร่งไปสู่ที่เฝ้าอย่าช้า ถ้าท่านมิไปพระเจ้าราชาธิราชจะทรงพระพิโรธ สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีได้ทรงฟังเทวบัญชาดังนั้น มีพระไทยกัมปนาทหวาดหวั่นไหวทรงพระดำริห์ว่า บุทคลผู้นี้รูปโฉมงามนักงามหนา รัศมีศรีสรรก็รุ่งเรือง มีอุประมาดุจพระสุริยเทพบุตรเมื่อแรกอุไทย บุทคลผู้นี้เห็นทีจะประเสริฐกว่าเราเปนแท้ ทรงพระดำริห์ฉนี้แล้ว เมื่อจะตอบแก่ราชทูตโดยอันควรแก่อัชฌาไศรยแท่งพระองค์จึงมีโองการตรัสว่า ดูกรราชทูต อันธรรมดาบุทคลที่เขาเปนราชทูต จำทูลพระราชสาส์นเห็นปานดังตัวท่านฉนี้เขาย่อมจะประพฤติอ่อนน้อม ประกอบด้วยปัญญาฉลาดในการที่จะกระทำปฏิสัณฐาร เขายกอัญชลีกรประนมถวายบังคมแล้ว เขาจึงกราบทูลแจ้งประพฤติข่าวสาส์นที่ตนนำมา อันนี้แลธรรมดาประเพณีของราชทูต ก็ตัวของท่านนี้ ตั้งตัวว่าเปนราชทูตแล้ว เหตุไฉนจึงไม่รู้จักซึ่งวัตรประติบัติสำรับราชทูตเล่า ฯ ดูกรบพิตรพระราชสมภาร วัตรประติบัติสำรับราชทูตนั้นเรารู้แจ้งอยู่แล้ว แต่ทว่าที่ควรจะเคารพนั้นมีอยู่ ซึ่งจะไปเที่ยวไหว้เที่ยวเคารพทั่วไปนั้นหาควรแก่ราชทูตไม่ อันธรรมดาเปนราชทูตแล้วเขาก็ดูการเห็นควรจะเคารพเขาจึงเคารพ เห็นควรจะไหว้เขาจึงไหว้ แลพระยาอันมียศศักดิ์น้อยเปนพระยาบ้านนอกฤทธิ์เดชมิได้ประสิทธิ์ เห็นปานดังบพิตรฉนี้ หาควรที่เราจะกระทำเคารพนบนอบไม่ หาควรที่เราจะปฏิสัณฐารไม่ เหตุฉนี้เราจึงไม่ถวายบังคมพระองค์ท่าน สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีได้ทรงฟังราชทูตตอบดังนั้น ก็ทรงพระพิโรธว่า เรานี้เปนใหญ่ในสกลชมพูทวีป หาผู้จะเสมอมิได้ เหตุไฉนท่านจึงมาว่ากล่าวฉนี้ พระเจ้าชมพูบดีลุกขึ้นจากอาศน์แล้ว พระหัดถ์ฉวยเอาวิษศรขว้างไปจะให้ร้อยกรรณแห่งราชทูต ในกาลครั้งนั้น “ราชทูโต เอกํ มาเปตฺวา” ฝ่ายว่าราชทูตนั้นก็กระทำอิทธิฤทธิ์นฤมิตรจักรอันหนึ่งแล้วก็ขว้างมา จักรนั้นก็ตีสกัดน่าวิษศรนั้นไว้ เสียงวิษศรกับเสียงจักรตีรันกันครั้งนั้น ดังสนั่นมีอุประมาดุจสายฟ้าฟาดได้ร้อยที อานุภาพแห่งจักรนั้นกล้าหาญเชี่ยวชาญยิ่งนัก วิษศรมิอาจทนทานแก่อานุภาพจักรนั้นได้ ก็ถึงแก่ปราไชยพ่ายแพ้หนีเข้าอยู่ในพุ่มไม้อันหนึ่ง จักรนั้นก็เปล่งรัศมีเปนเปลวไฟไล่ติดตามเผาซึ่งพุ่มไม้อันนั้น วิษศรมิอาจทนทานในสถานที่นั้นได้ ออกจากพุ่มไม้แล้วก็ชำแรกแทรกลงไปในแผ่นดิน จักรก์ไล่เผาติดตามไปในแผ่นดิน วิษศรนั้นมิอาจอยู่ในแผ่นดินได้ ก็หนีไปในน้ำ จักรก็ไล่เผาติดตามไปในน้ำ วิษศรหนีไปในอากาศ จักรก็ติดตามไปในอากาศ วิษศรหนีเข้าไปในภูเขา จักรก็ติดตามไปในภูเขา วิษศรหนีไปในสถานที่ใดๆ ที่อันนั้นก็ไหม้เปนเถ้าเปนจุณไปด้วยอานุภาพจักรนั้น เมื่อหนีจักรไปในที่ทั้งปวงมิได้พ้นแล้ว ภายหลังก็กลับเข้าแล่งของพระเจ้าชมพูบดี ๆ เห็นจักรไล่ติดตามใกล้เข้ามา ก็มิอาจทรงแล่งธนูไว้ได้ทิ้งแล่งธนูลงเสีย แล้วก็วิ่งหนีออกไปไกลจากประเทศที่นั้น จักรนั้นติดตามวิษศรมาทันก็ทุบต่อยวิษศร เผาวิษศรเพลิงไหม้ช่วงโชติขึ้นในปรางค์ปราสาท อำมาตย์ทั้งหลายแสนหนึ่งนั้น ต่างคนต่างก็แล่นหนีเปลวอัคคีอันบังเกิดด้วยอำนาจจักรนั้น สว่างไปทั่วทั้งพระนคร “สพฺเพ ชนา” มหาชนทั้งปวงนั้น ต่างคนต่างก็ร้องด้วยศรัพทสำเนียงเสียงอันดัง สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีจึงมีพระราชโองการตรัสว่า ดูกรราชทูต ท่านนี้หยาบช้ากล้าแขงนักหนา เจ้าใช้ให้หาตัวต่างหาก เหตุไรท่านจึงมาเผาพระนครของเรา “มหาราช” ข้าแต่บพิตรพระราชสมภาร เหตุไฉนพระองค์จึงมาตรัสฉนี้เล่า พระองค์สิถือว่าพระองค์เปนใหญ่แล้ว เหตุไฉนพระองค์จึงย่อท้อสตุ้งตกพระไทยกลัวแก่สงครามเล่า ถ้าฤทธิ์ของพระองค์มีพระองค์ก็เร่งสำแดงไป ข้าพเจ้าจะขอดูฤทธิ์ของพระองค์ ฝ่ายข้าพเจ้านี้เล่า ก็จะสำแดงฤทธิ์ให้พระองค์เห็นเราอย่าย่อท้อกัน จึงมีพระโองการตรัสว่า ดูกรราชทูต ฤทธิ์ของท่านนั้นเราเห็นแล้ว ท่านจงดับเปลวเพลิงเสียเถิด สมเด็จอัมรินทราตรัสรับว่า สาธุแล้วก็ใช้ให้จักรนั้นดับเปลวเพลิงก็ดับลงทันใด ปรางค์ปราสาทแลสรรพสิ่งทั้งปวงบันดาที่เพลิงไหม้นั้น ก็คงคืนดีเปนปรกติด้วยอานุภาพของสมเด็จอัมรินทรา สมเด็จพระเจ้าชมพูบดี เมื่อแพ้ฤทธิ์ราชทูตครั้งนั้น บังเกิดทุกข์โทมนัศเปนกำลังนักหนา ทรงพระดำริห์ฉนี้แล้ว ก็ยิ่งสลดรทดพระไทยนั้นนักหนา ฝ่ายสมเด็จอัมรินทราผู้แปลงเพศเปนราชทูต จึงมีเทวบัญชาตรัสว่า ดูกรชมพูบดี เชิญบพิตรมาเถิดมาเราจะไปยังที่เฝ้าพระเจ้าราชาธิราชด้วยกัน ดูกรราชทูตเราหาไปไม่ เจ้าของท่านประเสริฐกว่าเราฤๅ เปนใหญ่กว่าเราอิกฤๅ ดูกรชมพูบดีสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชเจ้าของเรานี้ ประเสริฐกว่าท้าวพระยาทั้งปวง มีอุประมาดังพระยาไกรสรสิงหราชอันประเสริฐกว่าหมู่มฤคชาติทั้งปวง อันบพิตรจะตั้งอหังการมมังการอยู่ฉนี้หาได้ไม่ ถ้าบพิตรขัดแขงอยู่มิได้ไป น่าที่แลพระนครจะไหม้ยับยุ่ยเปนผุยผงด้วยอานุภาพจักรแห่งเรา นี่แน่บพิตร พระนครของบพิตรนี้ น้อยนักน้อยหนา นี่หากว่าชนทั้งปวงยังมิได้เห็นพระมหานครแทห่งสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช ถ้าชนทั้งปวงได้เห็นพระนครอันประเสริฐ เปนที่อยู่แห่งสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชนั้นแล้ว ใครเลยเขาจะอยู่ในพระนครอันนี้ เชิญบพิตรมาเถิด มาเราจะไปเชยชมพระนครอันใหญ่ ที่อยู่สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชนั้นด้วยกัน พระยาชมพูบดีจึงตรัสว่า ดูกรราชทูตท่านอย่าพักว่าพักกล่าวเราเลย เราหาไปไม่ เรานี้เปนใหญ่ในสกลชมพูทวีปไม่มีผู้เสมอ เราจะไปนั้นต้องการอะไร สมเด็จอัมรินทราธิราชจึงคุกคามว่า ดูกรพระยาผู้เศร้าหมอง พระยาประเทศราช ท่านอย่าตั้งตัวเปนใหญ่นักเลยลุกขึ้นไว ๆ ไปเร็ว ๆ เถิด ถ้าท่านขัดแขงมิไปสิท่านจะได้ความละอายบัดเดี๋ยวนี้แลหาช้าไม่ ตรัสแล้วก็ทิ้งจักรนั้นไปด้วยฉับพลัน จักรนั้นก็เข้าติดพันพระบาทแห่งพระเจ้าชมพูบดีราช แล้วก็ร้องด้วยศรัพทสำเนียงเสียงอันดังว่า “อุฏฺเหิ อุฏฺเหิ” ท่านจงลุกขึ้นๆ ร้องฉนี้แล้ว จักรนั้นก็คร่าเท้าแห่งพระเจ้าชมพูบดีออกมาจนพระเจ้าชมพูบดีตกลงจากพระแท่นทองในกาลครั้งนั้น พระเจ้าชมพูบดีได้ความละอายแก่อำมาตย์ทั้งหลายแสนหนึ่งนั้นเปนพ้นวิไสย มิอาจต่อสู้ได้ ก็ซบพระเศียรทรุดนั่งลงในสถานที่นั้นๆ จักรนั้นก็ลากไปมิให้นั่งอยู่ได้อำมาตย์ราชเสวกทั้งปวงนั้น ช่วยกันเข้าช่วยพระมหากระษัตริย์ บางคนจับพระหัดถ์ บางคนจับพระบาท บางคนจับท่ามกลางพระองค์ ช่วยกันยื้อยุดฉุดพระมหากระบษัตริย์ไว้ ก็มิอาจฉุดไว้ได้ จักรนั้นลากพระเจ้าชมพูบดีออกไปจากปรางค์ปราสาท กำหนดแต่บัลลังก์ที่เสด็จนั่งนั้นออกไปไกลได้อุศภหนึ่ง คือเส้นหนึ่งกับ ๑๕ วา พระเจ้าชมพูบดีได้ความลำบากเวทนานักหนา ผิวหนังในที่อันจักรคร่านั้นขาด โลหิตไหลอาบลงโทรมพระบาท มิอาจขึงขังตั้งอิศระอยู่ได้ จึงตรัสแก่สมเด็จอัมรินทราว่า ท่านจงรอท่าเราสักวันหนึ่งเถิด เราจะขอทุเลาอยู่จัดแจงรี้พลสักวันหนึ่งก่อน เวลารุ่งพรุ่งนี้เข้าเราจึงจะไปยังสำนักนิ์ของพระเจ้าราชาธิราช ดูกรบพิตร พระองค์จะทุเลาอยู่สักวันหนึ่ง เราก็จะยอมให้อยู่ แต่ทว่าบพิตรอย่าลวงเรา เวลาพรุ่งนี้เข้าบพิตรไปให้ได้ ถ้าบพิตรมิได้ไป ทำให้เราต้องกลับมาหาท่านเล่าไซ้ เราจะให้จักรของเราตัดพระบาทแห่งบพิตรเสียในเวลาพรุ่งนี้เช้า ตรัสคุกคามฉนี้แล้วสมเด็จอัมรินทราธิราชก็กลับมากราบทูล แจ้งประพฤติเหตุทั้งปวงแก่สมเด็จพระมหากรุณา ครั้งนั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงพระดำริห์ว่า แท้จริงสมัยอันพระตถาคตทรมานพระเจ้าชมพูบดีนี้ เปนมหาสมัยสมควรที่พระตถาคตจะให้เทวบุตร เทวธิดา อินทร พรหม แลคนธรรพ์ สุบรรณ์ นาคทั้งหลายมาประชุมให้พร้อมเพรียงกัน ทรงดำริห์ฉนี้แล้ว ก็มีพระพุทธฎีกาตรัสเรียกพระยากาฬนาคราชให้ขึ้นมาทั้งบุตรภรรยาทั้งปวงแล้ว ก็มีพระพุทธฎีกาตรัสสั่งว่า ดูกรพระยากาฬนาคราช ท่านจงไปนิมิตรแม่น้ำอันใหญ่แล้ว จงตั้งตลาดทางน้ำทางบกในประเทศมรรคาที่ท้าวชมพูบดีจะมาสู่สำนักนิ์แห่งพระตถาคตในกาลครั้งนี้ ฯ

พระยากาฬนาคราชรับพระพุทธฎีกาแล้วก็ไปนิมิตร ซึ่งแม่น้ำอันใหญ่ในประเทศที่ใกล้มรรคา ที่สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีราชจะเสด็จมานั้น “สหสฺสนาวํ มาเปตฺวา” แล้วก็นฤมิตรซึ่งเรือทั้งหลายพันหนึ่งงามวิจิตรบรรจงต่างๆ เปนต้นว่าเรือเงินพายทองพายเงินเรือทอง เรือแก้วมณี พายแก้วมุดา เรือแก้วมุดาพายแก้วประภาฬ เรือแก้วประพาฬพายแก้วมุดา เรือแก้ววิเชียรพายแก้วอินทนิล เรือแก้วอินทนิลพายแก้ววิเชียร เรือแก้วเจ็ดประการพายแก้วเจ็ดประการ สินค้าในเรือนั้น แต่ล้วนแล้วไปด้วยเครื่องทิพย์ทุกสิ่งสรรพ์ มีครบในท้องตลาดนั้น นางนาคกัญญาทั้งหลายที่จำแลงกายเปนแม่ค้าลงค้าขายในเรือนั้นเล่า แต่ละคนๆ รูปโฉมงามยิ่งนัก พระนางวิมลาราชเทวีผู้เปนพระอัคมเหษี พระยากาฬนาคราชนั้น เปนแม่ค้าใหญ่ได้จัดแจงตลาดข้างท้องน้ำ ฝ่ายข้างตลาดบกนั้น พระยากาฬนาคราชได้จัดแจงร้านตลาดทั้งหลายนั้นตั้งสองฟากข้างมรรคา ที่สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีราชเสด็จมานั้น สิ่งของในร้านตลาดนั้นสารพันจะมีทุกสิ่งทุกประการ แต่ล้วนแล้วไปด้วยเครื่องทิพย์เห็นแล้วใครเลยจะมิปลื้มอกปลื้มใจ ใครเลยจะมิพิศวงงงงวย จะดูร้านตลาดเล่าก็งามวิจิตรไปด้วยแก้วแลทอง จะดูของที่ร้านเล่าก็ควรจะจับเอาซึ่งน้ำใจ จะดูแม่ค้าที่นั่งร้านนั้นเล่าแต่ล้วนเทพธิดามีนางสุชาตาเปนต้น งามดังหนึ่งจะทำขวัญตา ฯ “ภควา” ฝ่ายองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคย์เจ้ากระทำอิทธิฤทธิ์ บันดาลให้เวฬุวันมหาวิหารนั้น เปนพระนครอันใหญ่หลวง ประกอบด้วยกำแพงถึงเจ็ดชั้น กำแพงเพ็ชร์ชั้นในนั้นแล้วไปด้วยทองสูงได้ ๑๘ ศอก พื้นภูมิภาคนั้นแล้วไปด้วยแก้วผลึก กำแพงถัดออกมาชั้นสองนั้นแล้วไปด้วยแก้วผลึก พื้นภูมิภาคนั้นแล้วไปด้วยทอง กำแพงถัดออกมาชั้น ๓ นั้นแล้วไปด้วยแก้วมณี พื้นภูมิภาคนั้นแล้วไปด้วยแก้วแดง กำแพงถัดออกมาชั้น ๔ นั้นแล้วไปด้วยแก้วลาย พื้นภูมิภาคนั้นแล้วไปด้วยแก้ววิเชียร กำแพงถัดออกมาชั้นห้านั้นแล้วไปด้วยเหล็ก พื้นภูมิภาคนั้นแล้วไปด้วยทองแดง กำแพงถัดออกมาชั้นหกนั้นแล้วไปด้วยทองแดง พื้นภูมิภาคนั้นแล้วไปด้วยทองเหลือง กำแพงถัดออกมาชั้นเจ็ดนั้นแล้วไปด้วยทองเหลือง พื้นภูมิภาคนั้นแล้วไปด้วยหิงคุชาติ สมเด็จพระบรมโลกนารถ ตรัสเรียกพระยาครุธกับทั้งบุตรภรรยามาแล้ว ก็ให้พระยาครุธนั้นถือเพศเปนนายช่างทองตั้งโรงทองภายนอกพระนคร แล้วให้ตีสิ่งของรูปพรรณต่างๆ นั้น ได้สำเร็จทุกสิ่งทุกประการ ฯ “ฉทฺทนฺตคณา อสีติสหสฺสนาคา” ครั้งนั้นหมู่ช้างทั้งหลายอันเกิดในตระกูลฉัตทันต์คณนาได้แปดหมื่น ก็เหาะมาแต่พระหิมพานต์มาประดิษฐานอยู่ในโรงช้างอันเปนมงคล อันสมเด็จพระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้านฤมิตรไว้ ฯ “พลาหกาทโย อสฺสา” อันว่าม้าทั้งหลายมีม้าพลาหกเปนต้นนั้นเล่า ก็เทาะมาแต่ป่าพระหิมพานต์มาอยู่ในโรงม้าอันเปนมงคล “กรวิกาทโย สกุณา” นกทั้งหลายมีนกการเวกเปนต้นก็มารำร้องถวายเสียงไพเราะเสนาะสนั่น ใช่แต่เท่านั้น “สุวคณา” หมู่นกแขกเต้าทั้งหลาย ก็คาบเอาดวงดอกบุบผาชาติ อันมีกลิ่นหอมต่าง ๆ มาเรี่ยรายโปรยปรายลงไว้ให้หอมฟุ้งขจรตระหลบ กลบกลุ้มไปทั่วทั้งพระนครภารา “กินฺนรีกินฺนรา” ฝูงกินรีกินรคนธรรพ์ทั้งหลาย ก็ชวนกันมาขับร้องรำฟ้อนประโคมแตรสังข์เครื่องทิพย์ดุริยางค์ดนตรีอันมีองค์ต่าง ๆ เสียงคระครึกกึกก้อง ควรจะนำมาซึ่งความชื่นชมโสมนัศยินดีปรีดา “ภควา” สมเด็จพระผู้มีพระภาคย์เจ้า เมื่อพระองค์นฤมิตรพระนครแล้ว จึงนฤมิตรวิมานทองนับได้ถึงแสนวิมาน แลพระมหาปราสาทอันสมเด็จพระศาสดาเสด็จอยู่นั้น ประดิษฐานอยู่ในท่ามกลางแห่งวิมานทั้งปวง พระมหาปราสาทนั้นสูงกว่า มีพื้นนั้นนับได้ถึงพันชั้นแล้วไปด้วยแก้วเจ็ดประการ แวดล้อมไปด้วยระเบียบแห่งแก้วไพรฑูริย์ระเบียบพรวนแลกระดึง ระเบียบเสวตรฉัตรขั้นใหญ่ชั้นน้อย ประดับไปเปนท่องเปนแถวเปนหลั่นเปนชั้น ฝ่ายสมเด็จพระพุทธองค์เจ้านั้นนฤมิตรพระบวรกายเปนบรมกระษัตริย์ทรงพระรูปพระโฉมงามดุจดังว่าท้าวมหาพรหม เสด็จสถิตย์อยู่เหนือรัตนบัลลังก์ภายในพระมหาปราสาท มีนางราชกัลยาอันทรงรูปโฉมอันอุดมนั้นเฝ้าอยู่เบื้องซ้ายเบื้องขวา เบื้องพระปฤษฎางค์นั้นท้าวมหาพรหมถือทิพย์เสวตรฉัตร ลำดับท้าวมหาพรหมออกไปนั้น ถึงหมู่คนธรรพ์ทั้งหลายแสนหนึ่ง อันเปนชาวพนักงานดุริยางค์ดนตรี ใช่จะมีแต่แสนเดียวเท่านั้นหามิได้ คนธรรพ์ทั้งหลายอันถือเพศเปนชาวดุริยางค์ดนตรี จับประจำการอยู่ข้างหน้าก็แสนหนึ่ง “ตโต ปรํ” ถัดนั้นจึงถึงพระราหุลผู้มีอายุ พระราหุลนั้นเอาเพศเปนขุนคลังผู้ใหญ่ มีอาการดุจดังว่าขุนคลังแก้วแห่งสมเด็จบรมจักรพัตราธิราช พระมหากปิลเถร กับทั้งบริวารนั้น เอาเพศเปนชาวพนักงานรักษาพระราชทรัพย์ทั้งปวง “ตโต ปรํ” เบื้องน่าแต่นั้นจึงถึงสาวกหมื่นหกพันเอาเพศเปนพระยาประเทศราช นั่งสั่งสนทนากันอยู่โดยอันควรแก่อัชฌาไศรยของตน “ตโต ปรํ” เบื้องน่าแต่นั้น จึงถึงพระอาทิตย์แลพระจันทร์ อันถือเพศเปนนายทวาร เฝ้าพระทวารเบื้องซ้ายเบื้องขวา “เหฏฺาโสปาเณ” ในที่ใกล้เชิงพระอัฒจันท์เบื้องต่ำนั้น นางเทพธิดาทั้งหลายอันเปนอรรคมเหษีแห่งอากาศจารินีเทวบุตรทั้งปวงนั้น ถือเพศเปนนางช่างเก็บช่างปักช่างหูกช่างสดึง กระทำการหูกการสดึงการเก็บการปักการร้อยการกรองเปนเหล่าๆ กัน ตกว่านางทั้งหลายนั้น กระทำการอยู่เหนือพื้นอันแล้วไปด้วยแก้วผลึกภายในกำแพงทอง “ทฺวีสุ ปสฺเสสุ” สองกราบข้างกำแพงแก้วผลึก ที่อยู่ถัดออกมาชั้นสองนั้นเล่า มีเสนากุญชรพิทักษ์รักษาอยู่นั้น คณนาได้แสนหนึ่ง เสนากุญชรทั้งหลายอยู่ในพื้นอันแล้วไปด้วยทอง “ทฺวีสุ ปสฺเสสุ” สองกราบข้างกำแพงแก้วมณีที่อยู่ถัดออกมาชั้นสามนั้นเล่า มีเสนาม้าสินธพชาติรักษาอยู่ได้แสนหนึ่ง เสนาม้าทั้งหลายนั้น อยู่ในพื้นอันแล้วไปด้วยแก้วแดง “ทฺวีสุ ปสฺเสสุ” สองกราบข้างกำแพงแก้วลาย ที่อยู่ชั้นสี่นั้นเล่ามีเสนารถทั้งหลายพิทักษ์รักษาอยู่ ชั้นนั้นก็คณนาได้แสนหนึ่ง ตกว่าเสนารถทั้งหลายอยู่ในพื้นอันแล้วไปด้วยแก้ววิเชียร “ทฺวีสุ ปสฺเสสุ” สองกราบข้างกำแพงแห่งชั้นห้านั้นเล่า มีเสนาขมังธนูเฝ้าอยู่ได้แสนหนึ่ง เสนาขมังธนูเหล่านี้ อยู่ในพื้นอันแล้วไปด้วยทองแดง “ทฺวีสุ ปสฺเสสุ” สองกราบข้างกำแพงทองแดงชั้นหกนั้นเล่า ก็มีเสนารักษาอยู่แสนหนึ่ง เสนาทั้งหลายเหล่านั้นแต่ล้วนห่มเกราะถือสาตรายืนอยู่เหนือพื้นอันแล้วไปด้วยทองเหลือง ถัดออกมาชั้นเจ็ดนั้นถึงกำแพงทองเหลืองสองกราบข้างกำแพงทองเหลืองนั้น มีเสนาดาบโล่ห์เฝ้าอยู่เหนือพื้นอันแล้วไปด้วยทองเหลือง ถัดออกมาชั้นเจ็ดนั้น ถึงกำแพงทองเหลือง สองกราบข้างกำแพงทองเหลืองนั้น มีเสนาดาบโล่ห์เฝ้าอยู่เหนือพื้นแล้วไปด้วยหิงคุชาตินั้น ก็คณนาได้แสนหนึ่งเหมือนกัน ภายนอกกำแพงเปนคำรบเจ็ดนั้น ก็มีเสนาพิทักษ์รักษาอยู่เปนอันมากกว่ามาก “ทกฺขิณปสฺเส สาริบุตฺตตฺเถโร” พระสารีบุตรเถรเจ้าผู้มีอายุนั้น ถือเพศเปนเสนาบดีผู้ใหญ่ มีบริวารแวดล้อมนั้นแสนหนึ่ง ประดิษฐานอยู่ในข้างเบื้องขวาแห่งมรรคาหนทางที่พระเจ้าชมพูบดีเสด็จมานั้น “วามปสฺเส โมคฺคลฺลาโน” พระมหาโมคคัลลานเถรเจ้านี้อยู่ในเบื้องซ้าย พระโมคคัลลานนั้น ก็ถือเพศเปนเสนาบดีผู้ใหญ่ มีบริวารแวดล้อมนั้นก็คณนาได้แสนหนึ่งเหมือนกัน “ตสฺส พหิ” ภายนอกพระอรรคสาวกทั้งสองออกไปนั้น จึงถึงหมู่พรหมทั้งหลายอันถือเพศเปนช่างทอง กิริยาว่าหมู่พรหมกับครุธนั้นถือเพศเปนนายช่างทองเหมือนกัน ข้างพระยาครุธนั้นเปนช่างทองโรงนอก ข้างหมู่พรหมทั้งปวงนั้น เปนช่างทองโรงใน โรงทองแห่งพรหมทั้งหลายแต่ละโรง ๆ นั้นประดับประดาวิจิตรบรรจงหนักหนา “ตโต ปรํ” เบื้องน่าแต่โรงทองออกไปนั้น ถึงร้านตลาดนางสุชาตา กับนางฟ้าบริวารทั้งปวงนั้น ถือเพศเปนแม่ค้านั่งร้านตลาดขายเครื่องทองเปนท่องเปนแถวเรียบเรียงเคียงกันไป แต่ล้วนร้านตลาดขายเครื่องทอง ตกว่าตลาดขายทองนั้น แต่ล้วนพวกพ้องของนางสุชาตา เบื้องน่าแต่ตลาดขายทองนั้น ถึงตลาดขายเงิน นางฟ้าทั้งหลายแต่บรรดาที่เปนบริวารนางสุธรรมา มีนางสุธรรมาเปนประธานนั้นถือเพศเปนแม่ค้านั่งร้านขายเครื่องเงินเปนท่องแถวเรียบเรียงเคียงกันไปทั้งสองข้างกราบมรรคา “ตโต ปรํ” เบื้องน่าแต่นั้นจึงถึงร้านตลาดป่าช้า แม่ค้าทั้งหลายนั้นแต่ล้วนนางฟ้าอันเปนบริวารนางสุจิตรา นั่งขายผ้าเรียบเรียงเคียงกันไปสองกราบข้างมรรคา ผ้าทั้งหลายนั้นแต่ล้วนผ้าทิพย์วิจิตรต่าง ๆ เปนอย่าง ๆ ปลาด ๆ กัน นางสุจิตรานั้นเปนแม่ค้าผ้าอันใหญ่กว่าแม่ค้าผ้าทั้งปวงตกว่าตลาดป่าช้านั้น เปนตลาดของนางสุจิตรา “ตโต ปรํ” เบื้องน่าแต่นั้น ตลาดขายผลไม้ชั้นใหญ่ชั้นน้อยสาระพัดจะมีทุกสิ่งทุกอัน ผลาผลไม้ทั้งหลายนั้น แต่ล้วนแล้วไปด้วยทิพย์ ตลาดขายผลไม้นั้น เปนตลาดของนางสุนันทาแม่ค้าขายผลไม้ทั้งปวงนั้น แต่ล้วนนางฟ้าเปนบริวารของนางสุนันทา นางสุนันทานั้นเปนแม่ค้าผลไม้อันใหญ่กว่าแม่ค้าผลไม้สิ้นทั้งปวง “ตโต ปรํ” เบื้องน่าแต่นั้นจึงถึงตลาดป่าดอกไม้ เปนท่องแถวไปทั้งซ้ายขวา ที่ขายดอกไม้นั้น แต่ล้วนนางฟ้าของพระสุริยเทพบุตร “ตโต ปรํ” เบื้องน่าแต่นั้น จึงถึงร้านตลาดขายเข้าสาร ตั้งเปนท่องแถวเรียบเรียงเคียงกันไปแต่ล้วนร้านขายเข้าสาร แล้วแม่ค้าขายเข้าสารทั้งปวงนั้น คือนางฟ้าที่เปนบริวารของพระจันทรกับนางเทวธิดาที่เปนอรรคมเหษีของพระจันทรนั้น เบื้องน่าแต่นั้นจึงถึงร้านตลาดขายเข้าสุกเปนท่องแถวไปแต่ล้วนขายเข้าสุก แม่ค้าขายเข้าสุกนั้น แต่ล้วนนางฟ้าอันเปนบริวารของคนธรรพ์ กับนางเทวธิดาอันเปนอรรคมเหษีของคนธรรพ์เทพบุตรนั้น เบื้องน่าแต่นั้นถึงตลาดขายปลา ตั้งเปนแถวติดเนื่องกันไปสองกราบข้างมรรคา แม่ค้าขายเนื้อขายปลาทั้งปวงนั้น แต่ล้วนนางกินรีบริวารของพระยากินร กับนางกินรีที่เปนอรรคมเหษีของพระยากินรนั้น ภายนอกร้านตลาดออกไปนั้น ฝูงนาคทั้งหลายชายหญิงถือเพศเปนคนตักน้ำแล้วก็เดิรไปเดิรมา ขึ้นน้ำลงท่าตักน้ำอาบสับสนอยู่ใกล้มรรคาที่พระยาชมพูบดีเสด็จมานั้น ภายนอกไปจากฝูงนาคทั้งหลายที่ถือเพศเปนคนตักน้ำนั้น สมเด็จพระมหากรุณานฤมิตรซึ่งสวนอุทยานแลสระโบกขรณี อันประกอบด้วยภูมิประเทศอันเสมอ ประกอบด้วยพฤกษาประทุมชาติอันแล้วไปด้วยแก้วแลทอง ทรงดอกทรงผลวิจิตรบรรจงต่าง ๆ สระโบกขรณีนั้นเล่า มีน้ำอันใสสอาดดาษไปด้วยดอกดวงประทุมชาติมีพรรณห้าประการ บ้างตูมบ้างบานสล้างสลอน หอมฟุ้งขจรตระหลบอบเอาใจ ทั้งสิ่งสรรพทั้งปวงนั้นงามไม่มีที่จะติเลย แต่ล้วนงามเลิศประเสริฐทุกสิ่งทุกประการ ด้วยอำนาจอานุภาพพระฤทธิ์พระเดชแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ฯ

ในกาลครั้งนั้น เมื่อเวลารุ่งเช้า สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีบรมกระษัตริย์ พระองค์มีพระยาร้อยเอ็จแลอำมาตย์ทั้งหลายแสนหนึ่งแวดล้อมแล้ว ก็เสด็จออกจากพระนครกับด้วยจตุรงค์พลเสนาทั้งปวง เมื่อพระองค์เสด็จมาสู่สำนักนิ์พระเจ้าราชาธิราชในครั้งนั้น จึงทรงพระปริวิตกว่าถ้าอาตมาจะไปโดยนภาไลยประเทศอากาศ จะสำแดงฤทธิ์ไปแต่ต้นมือบัดนี้ เมื่อไปถึงสำนักนิ์พระเจ้าราชาธิราชแล้ว ก็จะสำแดงฤทธิ์ได้น้อยไป อิทธิฤทธิ์จะไม่เจริญเมื่อปลายมือ ถ้าอาตมาไปโดยพื้นแผ่นพสุธา อาตมาไม่สำแดงฤทธิ์แต่ต้นมือเลย ไปถึงสำนักนิ์พระเจ้าราชาธิราชแล้ว จึงสำแดงฤทธิ์ทีเดียว อย่างนี้เห็นว่าฤทธิ์ของอาตมาจะจำเริญเมื่อปลายมือ ทรงพระดำริห์ฉนี้แล้วสมเด็จพระเจ้าชมพูบดี ก็เสด็จเหนือฅอช้างพระที่นั่งเสด็จไปโดยพื้นแผ่นพสุธา ตามมรรคาโดยอนุกรมลำดับ “เอวํ จินฺเตสิ” สมเด็จพระเจ้าชมพูบดี จึงทรงพระดำริห์สืบต่อไปเล่าว่า เมื่ออาตมาสำแดงฤทธิ์ในสำนักนิ์พระเจ้าราชาธิราชนั้น ถ้าอาตมามีไชยชนะแล้ว ก็อาจสามารถจะรบกับพระจันทรพระอาทิตย์ได้ ถ้าแลอาตมาสำแดงฤทธิ์นั้นแพ้แก่พระเจ้าราชาธิราชแล้ว ก็จะถวายพระยาทั้งร้อยเอ็จนี้ แก่พระเจ้าราชาธิราช เมื่อพระเจ้าชมพูบดีทรงพระดำริห์ฉนี้แล้ว แลเสด็จมาณครั้งนั้นสมเด็จพระมหากรุณาก็พิจารณาเห็นด้วยทิพจักษุ “มาฆสามเณรํ ปกฺโกสิตฺวา” พระพุทธองค์จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสเรียกมาฆสามเณรเข้ามาแล้ว ก็มีพระพุทธฎีกาตรัสสั่งว่า ดูกรสามเณร หนทางที่พระยาชมพูบดีจะมาสู่สำนักนิ์ตถาคตนี้ไกลถึง ๒๐ โยชน์ ท่านจงไปย่นทางเข้าให้ใกล้ให้พระยาชมพูบดีมาถึงเร็วพลัน เจ้ามาฆสามเณรรับพระพุทธฎีกาแล้ว ก็ไปย่นหนทางนั้นเข้าให้ใกล้บันดาลให้หนทางนั้นราบคาบเสมอ ปราศจากหลักตอแลเสี้ยนหนามทั้งปวง ด้วยอานุภาพอิทธิฤทธิ์ของอาตมา “ราชา ตํ มคฺคํ ปาโตว คนฺตฺวา” สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีเสด็จออกจากพระนครแต่อรุโณไทย เสด็จมายังมิทันถึงเวลาแดดขึ้นกล้า ก็บันลุถึงประเทศที่ใกล้พระนครภารา ที่สมเด็จพระมหากรุณาเจ้านฤมิตรนั้น ฝ่ายสมเด็จพระพุทธองค์เจ้าเมื่อรู้แจ้งว่าพระเจ้าชมพูบดีมาถึงประเทศใกล้แดนพระนครแล้ว จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสเรียกเจ้ามาฆสามเณรมาสั่งอิกเล่าว่า ดูกรมาฆสามเณร ท่านจงแปลงเพศเปนราชทูตแล้วจงเข้าไปว่ากล่าว ให้พระยาชมพูบดีลงจากหลังช้างพระที่นั่ง เจ้ามาฆสามเณรรับพระพุทธฎีกาแล้ว ก็กระทำอิทธิฤทธิ์ไปด้วยฉับเฉียว ประมาณลัดมือเดียวก็บันลุถึงสำนักนิ์ของพระเจ้าชมพูบดี ครั้นถึงจึงสำแดงกายเปนราชทูตแล้ว ไปประดิษฐานอยู่ตรงน่าข้างพระที่นั่งแล้วก็ร้องว่า “มหาราช” ดูกรบพิตรพระราชสมภาร เชิญบพิตรลงจากช้างพระที่นั่งดำเนิรเข้ามาจึงจะควร อันบพิตรทรงช้างเข้ามาถึงเชิงพระนครสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมนารถพระเจ้าราชาธิราชนี้หาควรไม่ บพิตรเร่งลงจากฅอช้าง “ชมพูปติราชา” สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีได้ทรงฟังก็โทมนัศ ทรงพระพิโรธตรัสบังคับพวกพลนิกายทั้งปวงว่า เหวยสูชาวเจ้าทั้งปวงเร็ว ๆ อย่าช้า จับเอาตัวราชทูตผู้นี้ให้จงได้ฆ่าเสียให้ถึงแก่ความตาย โยธาทั้งหลายก็กลุ้มรุมกันเข้ามาจับตัวเจ้าสามเณร เจ้าสามเณรก็กระทำอิทธิฤทธิ์ นฤมิตรกายใหญ่หลวง น่าพิฦกพึงกลัวยิ่งนัก กระทืบพื้นแผ่นพสุธา ให้กัมปนาทหวาดหวั่นไหว แล้วก็แล่นเข้าไปจับหางช้างพระที่นั่ง ไสช้างพระที่นั่งให้ล้มกลิ้งไปในสถานที่นั้น พวกพลนิกายทั้งหลายนั้น ต่างคนต่างสดุ้งตกใจกลัว ต่างคนต่างก็แล่นหนี มิอาจเข้าต่อสู้เจ้าสามเณรได้ พระยาชมพูบดีนั้น ก็สดุ้งตกพระไทย มิอาจทรงช้างพระที่นั่งต่อไปได้ จึงสรวมสอดฉลองพระบาทแก้วมณีแล้ว พระหัดถ์ก็ทรงวิษศรเสด็จดำเนิรไปตามมรรคา มีพระยาร้อยเอ็จพระองค์แวดล้อม อำมาตย์แสนหนึ่งนั้นติดตามเสด็จไปในเบื้องหลัง พวกพลนิกายทั้งปวงนั้น เจ้าสามเณรให้ยับยั้งอยู่ภายนอกแดน พระเจ้าชมพูบดีเสด็จดำเนิรตามเข้ามาตามมรรคาถนนหลวง ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นนางนาคทั้งหลายอันทรงรูปโฉมมีพรรณอันอุดม ที่ถือเพศเปนแม่ค้า ลงเรือเงิน เรือทอง เรือแก้ว พายไปพายมาซื้อเข้าขายของในท้องตลาดน้ำ อันเปนตลาดของนางวิมลาผู้เปนพระอรรคมเหษีพระยากาฬนาคราชนั้น ฝ่ายนางวิมลาราชเทวีนั้น เมื่อแลเห็นพระเจ้าชมพูบดีดำเนิรมาจึงร้องว่า “มหาราช” ดูกรบพิตรยับยั้งก่อน พระองค์เดิรทางเหน็ดเหนื่อยมา ถ้าอยากน้ำก็เชิญมาเสวยน้ำเสียให้สบายก่อนเถิดจึงค่อยไป พระเจ้าชมพูบดีได้ทรงฟังนางวิมลาร้องเรียก ทอดพระเนตรไปดูนางวิมลาแล้ว ก็บังเกิดพิศวงงงงวยไปด้วยรูปโฉมแท่งนางวิมลา ดำริห์ว่า นางคนนี้รูปร่างกะไรเลยงามนักงามหนางามเลิศประเสริฐยิ่งนัก ดำริห์ฉนี้แล้ว ฯ “ปุรโต คนฺตวา” พระเจ้าชมพูบดีเสด็จไปเบื้องน่าแต่นั้น ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นโรงทองของพระยาครุธ ก็มีพระไทยกระหนกทรงพระดำริห์ว่า เครื่องประดับประดาอาภรณ์ของเขาในโรงทองนี้ ดีกว่าเครื่องประดับของเรานี้อิก พระเจ้าชมพูบดียืนอยู่เชยชมเครื่องประดับประดาอาภรณ์ในโรงทองของพระยาครุธแล้วเสด็จไป เบื้องน่าแต่นั้น ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นช้างทั้งหลายแปดหมื่น แต่พื้นตระกูลฉัททันต์ อันเทวบุตรทั้งหลายถือเพศเปนนายช้างแล้วแลขับขี่นำมาเพื่อจะให้อาบน้ำ พระเจ้าชมพูบดีเห็นแล้วก็บังเกิดพิศวงงงงวยยืนยับยั้งอยู่เชยชมช้างทั้งหลายแล้วก็ตรัสแก่พระยาร้อยเอ็จพระองค์ว่า ท่านทั้งปวงแลดูเอาเถิด ช้างเหล่านี้ประเสริฐกว่าช้างของเรานักหนา “ตโต คนฺตวา” ชมช้างแล้วเสด็จไปเบื้องน่าแต่นั้น ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นม้าทั้งหลายมีม้าพลาหกเปนต้นเปนประธานก็ทรงพระดำริห์ว่า ม้าทั้งหลายเหล่านี้ประเสริฐกว่าม้าของเรา ว่าเท่าดังนั้นแล้วก็เชยชมม้าทั้งปวง “ตโต คนฺตวา” เสด็จไปเบื้องน่าแต่นั้น ก็ได้ทรงฟังเสียงนกการเวกทั้งหลาย อันส่งเสียงร้องก้องในอากาศเวหาส์ ไพเราะระรี่เรื่อยจะเจื้อยแจ้วจับน้ำพระหฤทัย สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีมิอาจดำเนิรไปได้ก็หยุดยืนอยู่ฟังเสียงนกการเวก จึงตรัสว่า เสียงอันใดนี้หนอไพเราะนักหนา เพราะกว่าเสียงดุริยดนตรีของเราร้อยเท่าพันเท่า “มาฆสามเณโร อาห” เจ้ามาฆสามเณรนั้นตักเตือนว่า “มหาราช” ดูกรบพิตรผู้ประเสริฐเชิญบพิตรเสด็จไปเร็ว ๆ เข้าเถิด อย่ายืนฟังเสียงอยู่นักเลย พระเจ้าชมพูบดีรู้แจ้งว่าเปนเสียงนกแล้วยิ่งพิศวงในน้ำพระไทย “ปุรโต คนฺตวา” เสด็จไปเบื้องน่าแต่นั้น ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นนกแขกเต้าทั้งหลายอันคาบดอกพฤกษาชาติ เปนต้นว่าดอกจันทน์ มาแต่หิมวันตประเทศ บินตามกันมาเปนหมู่ๆ “ตโต คนฺตวา” เสด็จไปเบื้องน่าแต่นั้น ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นกินรกินรีทั้งหลายอันตั้งสนามฟ้อนแล้วขับร้องรำฟ้อนเล่นโดยอันควรแก่อัชฌาไศรย เมื่อท้าวเธอเห็นโฉมนางกินรีทั้งหลายในครั้งนั้น ก็บังเกิดความพิศวงทรงพระดำริห์ว่า นางทั้งหลายเหล่านี้ รูปงามกว่าภรรยาของเราอิก ภรรยาของเรานี้ งามเหมือนนางเหล่านี้ไม่มี ท้าวเธอทอดพระเนตรเชยชมโฉมนางกินรีทั้งหลายแล้ว “ปุรโต คนฺตวา” เสด็จมาเบื้องน่าแต่นั้น ก็ได้ทรงฟังเสียงดุริยางคดนตรีของคนธรรพ์ทั้งหลายอันประชุมกันแล้วแลดีดสีตีเป่า บรรเลงเล่นโดยอันควรแก่ความปราถนาแห่งตน ๆ ท้าวเธอได้ทรงฟังดุริยางคดนตรี ก็มีความรื่นเริงบันเทิงในพระหฤทัย ยิ่งฟังก็ยิ่งเพราะยิ่งฟังก็ยิ่งพิศวง มิใคร่จะเสด็จดำเนิรสืบต่อไปได้ เจ้ามาฆสามเณรนั้นตักเตือนว่า บพิตรอย่าอยู่ช้านักเชิญเสด็จไปไว ๆ เร็ว ๆ เข้าเถิด สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีเสด็จมาเบื้องน่าแต่นั้น “จาตุมหาราชิเก ทิสฺวา” ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นท้าวจาตุมหาราชทั้งหลาย อันตั้งกองรายกองซุ่มพิทักษ์รักษาอยู่ในทิศทั้งสี่แห่งพระนครภาราแต่พระองค์ ๆ สพรั่งพร้อมไปด้วยบริวารแสนหนึ่ง แต่ล้วนถือเครื่องสาตราวุธครบมือกัน พระเจ้าชมพูบดีทอดพระเนตรเห็นท้าวจาตุมหาราชครั้งนั้น สำคัญว่าพระเจ้าราชาธิราช มีพระไทยสดุ้งตกประหม่า ปรารภเพื่อจะทรุดนั่งลงในสำนักนิ์แท่งท้าวจาตุมหาราชนั้น เจ้ามาฆสามเณรจึงร้องห้ามว่า ดูกรบพิตร พระองค์อย่านั่ง นี้นายกองซุ่มพิทักษ์รักษาประจำทิศแห่งพระนครต่างหาก มิใช่องค์สมเด็จพระเจ้าราชาธิราช พระเจ้าชมพูบดีได้ทรงฟังก็บังเกิดพิศวงทรงพระดำริห์ว่า ดูแต่นายกองซุ่มรักษาประจำทิศ แห่งพระนครยังมียศมีศักดิ์มีตระบะเดชะถึงเพียงนี้แล้ว สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชนั้นจะประเสริฐยิ่งกว่านี้สักเพียงใดหนอ พระเจ้าชมพูบดีดำริห์ฉนี้แล้ว เสด็จไปเบื้องน่าแต่นั้น ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นสวนอุทยานและสระโบกขรณี อันเปนที่สนุกสบายดุจพรรณนามาแต่หลัง ทอดพระเนตรเชยชมสวนอุทยานแลสระโบกขรณีแล้ว เสด็จไปเบื้องน่าแต่นั้นก็ได้ทอดพระเนตรเห็นหมู่นาคทั้งหลาย อันถือเพศเปนคนตักน้ำเดิรขึ้นเดิรลงเปนพวก ๆ กันแต่ล้วนหนุ่ม ๆ สาว ๆ รูปร่างนี้ไม่ชั่วเลยแต่สักคน แต่ล้วนงาม ๆ ดี ๆ ถือกละออมน้ำนั้นแต่ล้วนแล้วไปด้วยเงินแล้วไปด้วยทองแล้วไปด้วยแก้ว พระเจ้าชมพูบดีทอดพระเนตรเชยชมฝูงสาวเหล่าตักน้ำนั้นแล้ว “ตโต คนฺตฺวา” เสด็จไปเบื้องน่าแต่นั้น ก็บันลุถึงตลาดเนื้อปลา ฝูงกินรกินรีทั้งหลายที่นั่งร้านอยู่สองข้างมรรคานั้น ต่างคนต่างก็ร้องว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เปนกระษัตริย์ เชิญพระองค์เสด็จมาซื้อเนื้อปลาณร้านนี้ก่อนเถิด มาประเดิมเนื้อประเดิมปลาเสียก่อนเถิดจึงค่อยไป “ราชา ตํ ทิสฺวา” พระเจ้าชมพูบดีทอดพระเนตรดูนางกินรีทั้งหลายแล้ว ก็บังเกิดพิศวงงงงวยหนักหนา ทรงพระดำริห์ว่า แท้จริงพระนครสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชนี้มีของวิเศษมากกว่ามาก รูปร่างชาวเมืองนี้ไม่มีชั่วเลยแต่สักคน จนแต่แม่ค้าเนื้อแม่ค้าปลาเห็นปานฉนี้ยังว่ามีรูปร่างงามกว่าภรรยาเราอิกเล่า “อิติ จินฺเตตฺวา” ทรงพระดำริห์ฉนี้แล้ว เสด็จไปเบื้องน่าแต่นั้น ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นร้านตลาดทั้งหลายอันขายเข้าสุกเปนท่องแถวไปทั้งสองกราบข้างมรรคา นางฟ้าบริวารแลอรรคมเหษีแห่งคนธรรพ์เทวบุตรนั้น ร้องเรียกว่าดูกรบพิตรผู้เปนกระษัตริย์ เชิญบพิตรเสด็จมาซื้อโภชนาหารในร้านตลาด เสวยกับด้วยอำมาตยทั้งปวงให้อิ่มหนำสำเร็จแล้วจึงค่อยเสด็จไป พระเจ้าชมพูบดีทอดพระเนตรเห็นนางทั้งหลายอันนั่งร้านขายเข้าสุกนั้นก็ทรงพระดำริห์ว่า นางทั้งหลายนี้รูปโฉมกะไรเลยงามนักงามหนา งามเลิศประเสริฐกว่านักสนมกรมชาวที่ แลพระอรรคมเหษีแห่งเราทรงพระจินตนาการฉนี้แล้ว เสด็จพระราชดำเนิรไปเบื้องน่าแต่นั้น ก็บันลุถึงตลาดเข้าสาร ฝ่ายว่าเทวธิดาอันเปนพระอรรคมเหษีพระจันทรเทวบุตร กับบริวารที่ถือเพศเปนแม่ค้าขายเข้าสารนั้น ต่างองค์ต่างก็ร้องเรียกว่า “มหาราช” ข้าแต่บพิตรผู้ประเสริฐ เชิญบพิตรมาซื้อเข้าสาร เชิญบพิตรมาประเดิมเข้าสารก่อน ข้างโน้นก็ร้องเรียก ข้างนี้ก็ร้องเรียก สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีนั้น ขวยเขินละอายพระไทยเดิรแกว่งไปแกว่งมาถอยหลังถอยหน้า “ปุรโต คนฺตฺวา” เสด็จไปเบื้องน่าแต่นั้น จึงบันลุถึงตลาดป่าดอกไม้ นางเทวธิดาที่เปนพระอรรคมเหษีพระสุริยเทวบุตรนั้นก็ร้องเย้ยว่า ดูกรบพิตรพระราชสมภาร เชิญบพิตรมาที่ร้านประดับประดาดอกไม้ ทัดทรงดอกไม้ ที่ร้านนี้ก่อนเถิดจึงค่อยเสด็จไป เชิญบพิตรมาซื้อดอกไม้ประเดิมสักน้อยหนึ่งเถิด “ราชา ตํ สุตฺวา” สมเด็จพระเจ้าชมพูบดี ได้ยินนางเทวธิดาร้องเรียกหาครั้งนั้น ละอายก็ละอาย พิศวงก็พิศวง ทรงพระดำริห์ว่า แท้จริงรูปร่างพระสนมกรมชาวที่ แลพระอรรคมเหษีของเรานี้ ถ้าเอามาเปรียบเทียบกับนางผู้นี้แล้ว มีครุวนาดุจดังว่าเจ้ากับข้า ภรรยาของอาตมานี้ดุจดังว่าทาษีแห่งนางผู้นี้ ทรงพระดำริห์ฉนี้แล้ว เสด็จไปเบื้องน่าแต่นั้นจึงบันลุถึงตลาดผลไม้ อันเปนตลาดนางสุนันทา ๆ นั้นก็ร้องเรียกว่า ดูกรบพิตรพระยาประเทศราชพระองค์อย่าเพ่อไปก่อน เชิญมาที่ร้านเสวยผลไม้ที่ร้านนี้ก่อนเถิดจึงค่อยไป อันผลาผลไม้เช่นนี้ในเมืองของพระองค์หามีไม่ เชิญมาซื้อเสวยให้สบายพระไทยก่อนเถิด “ตํ สุตฺวา ลชฺชมาโน” พระเจ้าชมพูบดีได้ทรงฟังนางสุนันทาร้องเย้ยดังนั้น ละอายพระไทยนักหนาเดิรตรงไปมิใคร่จะได้ ให้ขวยเขินเดิรซรวนไปซรวนมา เห็นรูปเข้าแล้วก็รัก รักก็รักอายก็อาย ท้าวเธอเสด็จไปเบื้องน่าแต่นั้น ก็บันลุถึงตลาดผ้า นางสุจิตราผู้เปนใหญ่ในตลาดผ้านั้น จึงเรียกเล่าว่า “เอหิ วตฺถมูลํ ทตฺวา อลงฺกโรหิ” ดูกรบพิตร มาซื้อผ้าที่ร้านนี้ก่อนเถิด ผ้าดี ๆ เช่นนี้ บ้านนอกเมืองนอกหามีไม่ บพิตรมาซื้อเอาไปประดับพระองค์เถิด “ราชา ตํ สุตฺวา” สมเด็จพระเจ้าชมพูบดี ได้ทรงฟังนางสุจิตราร้องเรียกร้องหาดังนั้น ก็บังเกิดมีจิตรประฏิพรรธรักใคร่ผูกพันธ์นักหนา ท้าวเธอมิอาจเดิรตรงพระองค์ไปได้ ก็เอียงข้างเดิรตะแคงข้างแซะไปแซะมาในกาลครั้งนั้น เมื่อไปบันลุถึงตลาดขายเงินนั้นเล่า นางสุธรรมาอันเปนใหญ่ในตลาดขายเงินนั้นเล่าก็ร้องเรียกว่า ดูกรพระยาประเทศราช เชิญบพิตรมาที่ร้าน ประดับประดาดอกไม้เงินเสียก่อนเถิดจึงค่อยไป ถึงมูลราคาจะหามิได้ เอาไปประดับเปล่า ๆ ก็เอาไปเถิด “ราชา ตํ ทิสฺวา” พระเจ้าชมพูบดีแลเห็นนางสุธรรมาก็มีจิตรประฏิพรรธรักใคร่นักหนา รักก็รักอายก็อาย จิตรนั้นระส่ำระสายสิ้นสติสมปฤดี เดิรเอียงข้างแซะไปแซะมา ยกบาทนั้นต่ำ ๆ สูง ๆ ไป “สุวณฺณํ ปณํ ปาปุณิ” เมื่อไปบันลุถึงตลาดขายทองนั้นเล่า นางสุชาตาอันเปนใหญ่ในตลาดขายทองนั้น จึงร้องเรียกว่า ดูกรพระยาคนยากพระยาคนจน เชิญมาที่ร้านประดับประดาดอกไม้ทองที่ร้านนี้ก่อนเถิดจึงค่อยไป สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีทอดพระเนตรเห็นนางสุชาตาวันนั้น สิ้นสติไปด้วยรูปโฉมนางสุชาตา ท้าวเธอมิอาจเดิรตรงไปได้ก็ค่อย ๆ ถอยหลังเดิรตะเก้ตะกังไป ในกาลนั้นเจ้ามาฆสามเณรจึงว่า ดูกรบพิตร บพิตรเดิรให้ตรงไป อย่าถอยหลังเดิรดังนั้น สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีครั้งนั้น สิ้นสติสัมปชัญญะ มีครุวนาดุจดังวานรอันหลงแล้วแลสิ้นสติสมปฤดี ครั้นเจ้ามาฆสามเณรว่าขึ้นดังนั้นรู้ตัวว่าถอยหลังเดิร ก็มีความอัประยศอดอายนักหนา พระเสโทนั้นซึมซาบออกมาโทรมพระองค์ เมื่อเสด็จไปเบื้องน่าแต่นั้น ก็บันลุถึงโรงทองแห่งท้าวมหาพรหม ท้าวมหาพรหมทั้งปวงร้องว่า ดูกรบพิตรผู้เปนพระยารักษาขอบขันธเสมาปลายแดนปลายด่าน เชิญบพิตรมานั่งเล่นที่โรงทองนี้แน่ สมเด็จพระเจ้าชมพูบดี แลเห็นหมู่พรหมทั้งปวงนั้น สำคัญว่าเปนพระเจ้าราชาธิราชมีพระไทยสดุ้งตกประหม่าเหลียวหาที่จะนั่งลงในสถานที่นั้น เจ้ามาฆสามเณรก็ห้ามว่าอย่านั่ง นี่มิใช่พระเจ้าราชาธิราช เปนข่างทองต่างหาก เชิญเสด็จไปข้างน่าโน้น สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีเสด็จไปเบื้องน่าแต่นั้นก็บันลุถึงประเทศที่ใกล้แห่งกำแพงทองเหลืองชั้นนอกก็ได้ทอดพระเนตรเห็นพระสาริบุตรเถรเจ้าผู้มีอายุอันถือเพศเปนนายเสนาบดีผู้ใหญ่ แวดล้อมไปด้วยบริวารแสนหนึ่ง นั่งอยู่ข้างเบื้องขวา แล้วก็เห็นพระมหาโมคคัลลาน์อันถือเพศเปนเสนาบดีผู้ใหญ่ แวดล้อมไปด้วยบริวารแสนหนึ่งนั่งอยู่ข้างเบื้องซ้าย เมื่อท้าวเธอได้ทอดพระเนตรเห็นพระอรรคสาวกทั้งสองนั้น บังเกิดความสดุ้งตกพระไทยนักหนา ดุจหนึ่งว่าพระอรรคสาวกทั้งสองนั้นจะครอบงำจะย่ำยีให้บังเกิดความเกรงความกลัวนักหนา มีอุประมาดังว่าท่านทั้งสองนั้นจะมาทิ่มแทงฟาดฟันตัดเสียซึ่งชีวิตรแห่งอาตมา “กํสปาการํ ปวิสิตฺวา” เสด็จเข้าไปในกำแพงทองเหลือง ดำเนิรไปเหนือพื้นอันแล้วไปด้วยหิงคุชาตินั้น ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นเสนาดาบโล่ห์ทั้งหลายแสนหนึ่ง อันพิทักษ์รักษาอยู่เบื้องซ้ายเบื้องขวา ทอดพระเนตรดูเสนาดาบโล่ห์ทั้งหลายแล้ว ล่วงเสียซึ่งกำแพงชั้นนอก เสด็จเข้าไปในกำแพงทองแดงอันเปนคำรบ ๒ ดำเนิรเหนือพื้นอันแล้วไปด้วยทองเหลือง ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นโยธาทั้งหลาย อันห่มเกราะถือสาตราวุธแล้วแลพิทักษ์รักษาในชั้นนั้น ทอดพระเนตรดูโยธาทั้งหลายนั้นแล้วก็ตกประหม่า มีอุประมาดังว่าโยธาทั้งหลายนั้น จะลุกแล่นมาตัดเสียซึ่งเศียรเกล้าของพระองค์ด้วยสาตราวุธอันคมกล้า เมื่อเสด็จล่วงเข้าไปในกำแพงเหล็กเปนคำรบ ๓ ดำเนิรไปเหนือพื้นอันแล้วไปด้วยทองแดง ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นเสนาขมังธนูแสนหนึ่ง อันพิทักษ์รักษาอยู่ในชั้นนั้น สดุ้งตกประหม่าคุกเข่าลงเดิรเข้าไป ก็ถึงเหล่าคนธรรพ์ทั้งหลายแสนหนึ่ง อันถือเพศเปนคนดุริยดนตรี แล้วแลขับร้องรำฟ้อนประโคมแตรสังข์เครื่องดุริยดนตรี มีประการต่างๆ นาๆ “โอโลเกตฺวา” ทอดพระเนตรนายขมังธนูแล้ว ก็มีพระไทยประพรั่นหวั่นไหว อย่างประหนึ่งว่าเสนาขมังธนูทั้งปวงนั้น จะมุ่งหมายยิงเอาพระปรัศของพระองค์ ท้าวเธอมิอาจสามารถจะเดิรตรงไปได้ก็เดิรระวังตะแคงข้างเข้าไปกราบท้าวถึงกำแพงแก้วลาย เมื่อเข้าไปในกำแพงแก้วลาย ดำเนิรไปเหนือพื้นอันแล้วไปด้วยแก้ววิเชียร ก็ทอดพระเนตรเห็นเสนารถทั้งหลายแสนหนึ่ง อันพิทักษ์รักษาอยู่ในชั้นนั้น “โอโลเกตฺวา” ทอดพระเนตรดูเสนารถทั้งหลายนั้นแล้ว ก็มีพระไทยสดุ้งตกประหม่าอิกเล่า ครั้นล่วงเข้าไปเบื้องน่าถึงกำแพงแก้วมณี เข้าไปในกำแพงแก้วมณีแล้วก็เหยียบไปเหนือพื้นอันแล้วไปด้วยแก้วแดง ทอดพระเนตรเห็นเสนาม้าทั้งหลายแสนหนึ่งอันพิทักษ์รักษาอยู่ในชั้นนั้น ก็มีพระไทยสดุ้งตกประหม่าอิกเล่า ครั้นล่วงเข้าไปถึงกำแพงแก้วผลึก เหยียบไปเหนือพื้นอันแล้วไปด้วยทองนั้น ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นเสนาช้างทั้งหลายแสนหนึ่ง อันพิทักษ์รักษาอยู่ในชั้นนั้นทอดพระเนตรดูเสนาช้างทั้งหลายนั้นแล้ว ก็สดุ้งตกพระไทยอิกครั้งหนึ่งเล่า ครั้นล่วงเข้าไปถึงกำแพงทองแล้ว ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นพื้นอันแล้วไปด้วยแก้วผลึก ท้าวเธอมิอาจย่างเหยียบดำเนิรสืบต่อไปได้ พระไทยสำคัญว่าเปนน้ำมิได้รู้ว่าแก้วผลึก ก็หยุดยั้งยืนอยู่ในสถานที่นั้น เจ้ามาฆสามเณรนั้นก็ร้องเรียกว่า “มหาราช” ดูกรบพิตรพระราชสมภารเชิญบพิตรเสด็จมาจงเร็วพลันอย่าได้ช้า สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีก็ถกเขมนโจงกระเบนเหน็บรั้ง หมายในใจว่าจะลงข้ามน้ำ เจ้ามาฆสามเณรก็บอกว่า ที่นี้มิใช่แม่น้ำดอกนะบพิตร นี้พื้นแก้วผลึกต่างหาก อย่าโจงกระเบนเหน็บรั้งเลย เดิรเฉยมากระนั้นเถิด หาจมลงไปไม่ พุทธบริษัททั้งหลาย ถือเพศเปนอำมาตย์ราชเสนาเดิรไปเดิรมาในสถานที่นั้น ครั้นเห็นพระเจ้าชมพูบดีถกเขมนโจงกระเบนดังนั้น ต่างองค์ต่างก็แลดูข้างนี้ก็แลไปข้างโน้นก็แลมา พระเจ้าชมพูบดีได้ความอัประยศอดสูนั้นนักหนา พระเสโทนั้นไหลออกโทรมทั่วพระสกลกาย “ปุรโต คนฺตวา” ท้าวเธอเสด็จไปเบื้องน่าแต่นั้น ก็ทอดพระเนตรเห็นนางเทวธิดาทั้งหลายอันเปนพระอรรคมเหษีแห่งอากาศจารีเทวบุตร อันถือเพศเปนช่างหูก ช่างสดึง ช่างเก็บ ช่างปัก ช่างเย็บ ช่างร้อย แล้วแลประชุมกันเปนหมู่ ๆ ในที่ใกล้แห่งเชิงอัฒจันท์พระมหาปราสาทนั้น นางเทวธิดาทั้งหลายนั้น ครั้นเห็นพระเจ้าชมพูบดีเดิรเข้ามา ต่างองค์ต่างก็ร้องเย้ยว่า ดูกรพระยาชาวนาพระยาชาวไร่ มาเอาผ้ากาสิกพัตรไปนุ่งสักผืนหนึ่งก็เปนไร พระเจ้าชมพูบดีได้ทรงฟังก็ทรงพระพิโรธ ทรงพระดำริห์ว่า ฉิฉะนางนี้เยาะเย้ยเราทีเดียว ถ้าเราชนะแก่พระเจ้าราชาธิราชแล้ว เราได้เสวยราชสมบัติในสถานที่นี้แล้ว เรากับนางเหล่านี้จะได้เห็นกัน เมื่อไรหนอเราจะได้เสวยสมบัติ ทรงพระดำริห์ฉนี้แล้วเสด็จขึ้นสู่เชิงอัฒจรรย์ เข้าไปในทวารแห่งพระมหาปราสาท ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นพระจันทรพระอาทิตย์ถือเพศเปนนายพระทวาร แล้วแลนั่งอยู่ในเบื้องซ้ายเบื้องขวา ก็สดุ้งตกพระไทยสำคัญว่าเปนพระเจ้าราชาธิราช ซุดนั่งลงในสถานที่นั้น เจ้ามาฆสามเณรก็ห้ามว่า อย่านั่ง นี่มิใช่องค์พระเจ้าราชาธิราช เปนคนรักษาพระทวารต่างหาก ว่าพลางทางพาพระยาชมพูบดีเสด็จเข้าสู่ปรางค์ปราสาท “ราชาปวิสิตฺวา” สมเด็จพระเจ้าชมพูบดี เสด็จเข้าไปในภายในทอดพระเนตรเห็นสาวกหมื่นหกพัน อันถือเพศเปนพระยาประเทศราชแล้วแลสั่งสนทนากันโดยอันควรแก่อัชฌาไศรยแห่งตน ๆ “เอเต ราชาธิราชา โหนฺติ นนูนาติ จินฺเตตฺวา” เมื่อท้าวเธอได้ทอดพระเนตรเห็นสาวกครั้งนั้นก็สำคัญว่าพระเจ้าราชาธิราช ปราถนาจะซุดนั่งลงในสถานที่นั้น เจ้ามาฆสามเณรก็บอกว่านี่เปนพระยาประเทศราชต่างหาก มิใช่สมเด็จพระเจ้าราชาธิราช เสด็จไปก่อนเถิด สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีเมื่อเสด็จเข้าไปในระหว่างแห่งพระสาวกหมื่นหกพัน มีพระไทยประพรั่นหวั่นไหวกลัวเกรงตบะเดชะแห่งพระสาวกทั้งหลายนักหนา พระเสโทนั้นไหลเปนเม็ดๆ ออกมาโซมทั่วทั้งพระองค์ เหลียวหาแต่ที่จะนั่งลงไปนั้นทีเดียว บัดเดี๋ยวก็ซุดลงนั่งในที่นั้น ๆ เจ้ามาฆสามเณรนั้นคอยห้ามคอยปรามให้เดิรหนักไป สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีเข้าไปทอดพระเนตรเห็นพระกระบิลเถร อันถือเพศเปนนายธนบาล เปนเจ้าพนักงานรักษาพระราชทรัพย์ครั้งนั้นก็สำคัญว่าเปนพระเจ้าราชาธิราช ก็หยุดยืนเหลียวหาที่จะนั่งลงในสถานที่นั้น เจ้ามาฆสามเณรก็บอกว่าท่านคนนี้เปนนายพนักงานรักษาพระราชทรัพย์ต่างหาก จะได้เปนองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมนารถพระเจ้าราชาธิราชนั้นหามิได้ พระเจ้าชมพูบดี เมื่อเสด็จพระราชดำเนิรสืบต่อเข้าไปถึงสำนักนิ์พระราหุล อันถือเพศเปนขุนคลัง ดุจดังว่าขุนคลังแก้วแห่งบรมจักรพัตราธิราชครั้งนั้น ท้าวเธอก็สำคัญว่าเปนพระเจ้าราชาธิราช ก็มีพระไทยสดุ้งตกประหม่า ปราถนาจะซุดลงนั่งเจ้ามาฆสามเณรก็ท้ามว่า บพิตรอย่าเพ่อนั่งก่อน นี่เปนขุนคลังต่างหาก จะเปนองค์สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชทามิได้ ว่าแล้วเจ้ามาฆสามเณร ก็พาพระเจ้าชมพูบดีเข้าไปถึงที่อยู่แห่งพระอนุรุทธเถร สมเด็จพระเจ้าชมพูบดี เมื่อได้เห็นพระอนุรุทธเถร อันมีรูปทรงงามเปรียบดุจดังว่ารูปพรหมก็บังเกิดสดุ้งตกประหม่า สำคัญว่าเปนพระเจ้าราชาธิราชจะซุดลงนั่งในสถานที่นั้น เจ้ามาฆสามเณรก็บอกว่ามิใช่พระองค์สมเด็จพระเจ้าราชาธิราช ท่านผู้นี้เปนที่เสนาบดีผู้ใหญ่ เอาใจใส่พิทักษ์รักษาพระราชมณเฑียรเชิญบพิตรเสด็จเข้าไปอิกก่อน พระเจ้าชมพูบดีก็เสด็จพระราชดำเนิรสืบต่อไป ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นพรหมทั้งหลาย ๑๐ องค์ ก็สำคัญว่าพระเจ้าราชาธิราช จะทรุดลงนั่งในสำนักนิ์แห่งพรหมทั้งหลาย ๑๐ องค์ เจ้ามาฆสามเณรก็ห้ามว่าอย่านั่ง เชิญบพิตรเข้าไปอิกก่อน ท่านเหล่านี้เปนเสนาบดีต่างหาก มิใช่องค์สมเด็จพระเจ้าราชาธิราช พระเจ้าชมพูบดีก็เสด็จเข้าไปในระหว่างพรหมทั้งหลายสองนั้น บางพระองค์ก็จับจงอยบ่าแห่งพระยาชมพูบดีนั้นกดลงว่า บพิตรเปนแต่ผู้รักษาไว้ซึ่งขอบขันธเสมา เชิญบพิตรก้มพระกายลง ๆ อย่าเดิรเทิ่ง ๆ เข้าไปใกล้จะถึงสำนักนิ์สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชอยู่แล้ว สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีได้ฟังว่าใกล้อยู่แล้วก็มีพระไทยสดุ้งตกประหม่า ก็คุกเข่าลงเดิรเข้าไปก็ถึงคนธรรพ์ทั้งหลายแสนหนึ่ง อันถือเพศเปนชาวดุริยดนตรี แล้วแลขับร้องรำฟ้อนประโคมแตรสังข์ เครื่องดุริยางคดนตรีบำรุงบำเรอ สมเด็จพระมหากรุณา เมื่อเข้าไปพ้นคนธรรพ์แล้ว สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีก็ได้ทอดพระเนตรเห็นองค์สมเด็จพระมหากรุณา อันทรงพระรูปพระโฉมงามยิ่งกว่าท้าวมหาพรหม ประดับไปด้วยพระทวดึงษมหาปุริสลักษณะ แลพระอสีตยานุพยัญชนะแปดสิบประการ รุ่งเรืองไปด้วยฉัพพรรณรังษี พระรัศมีหกประการอันเปล่งออกจากพระสริรกายสว่างกระจ่างแจ้งงามประดุจดังว่าแก้วมณีโชติได้แสนดวง เสด็จอยู่เหนือรัตนบัลลังก์อันประเสริฐ มีท้าวมหาพรหมถือทิพเสวตรฉัตรกางกั้นอยู่ในทิศาภาคย์ข้างพระปฤษฎางค์ เมื่อท้าวเธอทอดพระเนตรเห็นองค์สมเด็จพระมหากรุณาครั้งนั้นมิอาจดำรงทรงพระกายอยู่ได้ พระกายนั้นหวั่นไหวกลัวเกรงพระเดชพระคุณนั้นเปนพ้นกำลัง “มาณวํ ปุจฺฉิ” มีพระโองการตรัสถามเจ้ามาฆสามเณรว่า ดูกรมาณพนี้แลฤๅคือองค์สมเด็จพระเจ้าราชาธิราช “อาม” เออ ดูกรบพิตรนี้แลคือองค์พระเจ้าอยู่หัวบรมนารถพระเจ้าราชาธิราชแล้ว “ภีโต หุตฺวา” สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีได้ยินว่าพระเจ้าราชาธิราช มีความสดุ้งตกพระไทยกลัวยิ่งนัก มีอุประมาดังว่าสุนักข์จิ้งจอกอันกลัวแต่เสือโคร่ง ท้าวเธอก็ซุดนั่งลงในสถานที่นั้น พระยาทั้งร้อยเอ็จแลอำมาตย์แสนหนึ่งนั้นก็นั่งอยู่แต่ภายนอก ขณะนั้นองค์สมเด็จพระมหากรุณา ก็มีพระพุทธฎีกาตรัสเรียกว่า ดูกรพระยาชมพูบดี ท่านอย่านั่งอยู่แต่เพียงนั้นเลย เข้ามาสู่สำนักนิ์ตถาคตเถิด เข้ามาให้ใกล้พระตถาคตเถิด ฯ แท้จริงพระยาชมพูบดี ถ้าสมเด็จพระพุทธองค์เจ้า มิได้ทรงพระกรุณาตรัสเรียกตรัสหาฉนั้น น่าที่ท้าวเธอจะมีพระไทยเหือดแท้ง จะถึงซึ่งพินาศไปในสถานที่นั้น นี่หากว่าพระพุทธองค์เจ้าตรัสเรียก พระยาชมพูบดีจึงได้สติสมปฤดีค่อยคลายพระไทย ผ่อนอัศสาสะประสาศออกได้โดยสดวกจึงคลานเข้าไปสู่สำนักนิ์แห่งพระมหากรุณาด้วยเข่าทั้งสองแล้ว “ภควนฺตํ น อภิวนฺทิตฺวา” จะได้ถวายนมัสการสมเด็จพระมหากรุณานั้นหามิได้ นั่งในที่อันสมควรแล้ว ก็ตั้งพระเนตรแลดูพระรูปพระโฉม พระศิริวิลาศสมเด็จพระมหากรุณา ดู ๆ แล้วก็ทรงพระปริวิตกว่า สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชนี้ มีถ้อยคำอันไพเราะยิ่งนัก เพราะทั้งถ้อยคำน้ำสุรเสียงรูปเล่าก็งาม บริวารก็งามแล้วก็มีมาก น่าที่จะประเสริฐกว่าเรา น่าที่จะมีฤทธิ์กว่าเราเที่ยงแท้ เมื่อสมเด็จพระเจ้าชมพูบดีทรงพระปริวิตกฉนี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็รู้แจ้งด้วยปรจิตรวิชาญาณ จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า “มหาราช” ดูกรบพิตรพระราชสมภาร เหตุไฉนดังฤๅบพิตร จึงคิดว่าพระตถาคตมีถ้อยคำอันไพเราะห์ มีรูปอันงาม มีบริวารเปนอันมาก มีอิทธิฤทธิ์ล้ำเลิศประเสริฐ เหตุใดจึงคิดดังนั้น เมื่อมีพระพุทธฎีกาตรัสฉนี้ พระเจ้าชมพูบดีได้ฟังแล้วก็พิศวง มาดำริห์ว่า พระเจ้าราชาธิราชผู้นี้เธอรู้ในใจผู้อื่นด้วย อาตมาคิดแต่ในใจทีเดียว เธอยังรู้จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูกรบพิตรพระราชสมภาร เหตุไฉนบพิตรจึงคิดว่าพระตถาคตรู้น้ำใจผู้อื่น นี่แน่บพิตรพระราชสมภารพระตถาคตนี้ เปนอรรคบุทคลอันเลิศในโลกนี้กับทั้งเทวโลก หาผู้ใดจะเปรียบมิได้ อย่าว่าแต่บพิตรคิดบัดนี้เลย ถึงเมื่อบพิตรแรกจะมาสู่สำนักนิ์พระตถาคตนั้น ตถาคตก็รู้แจ้งเสียสิ้น เมื่อบพิตรจะมาสู่สำนักนิ์ตถาคตนั้น เมื่อบพิตรทรงพระดำริห์ว่า ถ้าอาตมาจะเหาะไปโดยอากาศเวหาส์ จะสำแดงฤทธิ์ไปแต่ต้นมือบัดนี้ เมื่อไปถึงสำนักนิ์ของพระเจ้าราชาธิราชแล้ว จะสำแดงฤทธิ์ได้น้อยไป อิทธิฤทธิ์ของอาตมาจะมิได้เจริญเมื่อปลายมือ ถ้าอาตมาไปโดยพื้นแผ่นพสุธา ครั้นไปถึงสำนักนิ์ของสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชแล้วจึงจะสำแดงฤทธิ์ทีเดียว ฤทธิ์นั้นจะสำแดงได้เปนอันมาก ฤทธิ์ของอาตมาเห็นจักเจริญเมื่อปลายมือ ถ้าอาตมามีไชยชนะแก่พระเจ้าราชาธิราชแล้ว อาตมาก็อาจสามารถจะต่อยุทธสู้รบกับพระจันทรแลพระอาทิตย์ได้ ถ้าอาตมาพ่ายแพ้แก่พระเจ้าราชาธิราชแล้ว อาตมาก็จะให้พระยาทั้งร้อยเอ็จพระองค์ จะยกพระยาทั้งร้อยเอ็จพระองค์ให้บพิตรทรงพระดำริห์ฉนี้ จึงเสด็จมาสู่สำนักนิ์พระตถาคต บัดนี้ก็มาถึงสำนักนิ์พระตถาคตแล้ว บพิตรสำแดงฤทธิ์ไปเถิด ตถาคตจะดูฤทธิ์แห่งพระองค์ “ภนฺเต” ข้าแต่พระเจ้าราชาธิราช ข้อซึ่งพระองค์จะให้ข้าพเจ้าสำแดงฤทธิ์บัดนี้ ข้าพเจ้าก็จักสำแดง แต่ทว่าข้าพเจ้าจะขอถามน่อยหนึ่งก่อน ถ้าว่าพระองค์แพ้ฤทธิ์แก่ข้าพเจ้านี้ พระองค์จักกระทำเปนประการใด ดูกรบพิตรพระราชสมภาร ถ้าพระองค์ชนะพระตถาคตแล้ว ตถาคตจะบังคมแก่พระองค์ ถ้าแลพระองค์ไม่ชนะพระองค์แพ้แก่พระตถาคตเล่า พระองค์จะถวายบังคมแก่พระตถาคตฤๅ พระเจ้าชมพูบดีรับว่า “อาม” เออข้าพเจ้าแพ้พระองค์แล้ว ข้าพเจ้าจะบังคมแก่พระองค์ ตรัสฉนี้แล้ว พระเจ้าชมพูบดีก็ลุกขึ้น “วิสสรํ คเหตฺวา” พระองค์จับเอาวิษศรแล้ว ก็แผลงไปโดยสีหบัญชรช่องพระแกล สมเด็จพระมหากรุณา พระองค์ก็นฤมิตรจักรเพ็ชรอันหนึ่งให้กั้นกางตีสกัดน่าวิษศรนั้นไว้ วิษศรก็มิอาจสามารถจะกระทำอิทธิฤทธิ์ต่อสู้จักรเพ็ชรนั้นได้ ก็กลับหลังหนีจักรเพ็ชรนั้นมา “จกฺโก ธาวิตฺวา” จักรเพ็ชรนั้นไล่ทุบต่อยเผาลนวิษศรนั้นไป ตราบท้าวถึงสำนักนิ์พระเจ้าชมพูบดี พระเจ้าชมพูบดีเห็นวิษศรแพ้อิทธิฤทธิ์จักรเพ็ชรกลับเข้ามาสู่สำนักนิ์แห่งตนในครั้งนั้น เสียน้ำพระไทยหนักหนา มีอุประมาดุจดังว่าแขนขวานั้นขาดเสียแล้ว ได้ความอัประยศอดอายแก่บริษัทแห่งตน แลพวกพลพุทธบริษัทแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้า พระเสโทนั้นไหลโทรมทั่วพระองค์ “ภควา” สมเด็จพระผู้มีพระภาคย์ จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูกรบพิตรพระราชสมภาร บพิตรอย่ากลัว อย่าเสียน้ำพระไทยไปเลย บพิตรรับจะแผลงศรก็เอาศรของพระตถาคตนี่แน่แผลงไปเถิด มีพระพุทธฎีกาตรัสฉนี้แล้ว พระองค์ก็นฤมิตรศรทิพย์ มีประมาณเท่านิ้วมือส่งให้แก่พระเจ้าชมพูบดี พระเจ้าชมพูบดีรับเอาศรทิพย์แล้ว ก็มิอาจสามารถจะยกศรนั้นขึ้นได้ศรเท่านิ้วมือนั้นหนักมีอุประมาดังว่าเขาพระสุเมรุราช พระเจ้าชมพูบดียกสักเท่าใดๆ ก็มิอาจสามารถจะยกขึ้นได้ พระเจ้าชมพูบดีได้ความอัประยศอดสูนั้นนักหนา “มหาการุณิโก” สมเด็จพระมหากรุณาจึงมีพระพุทธฎีกาตรัสตักเตือนอิกเล่า ว่าดูกรบพิตรพระราชสมภาร บพิตรจะสำแดงฤทธิ์อิกก็เร่งสำแดงไป พระเจ้าชมพูบดีจึงตอบว่า ข้าแต่พระเจ้าราชาธิราช พระองค์อย่าพักตักเตือนไปเลย พระองค์จงคอยดูเถิด ข้าพเจ้าจักสำแดงให้พระองค์เห็นบัดนี้ ว่าแล้วพระเจ้าชมพูบดีก็สรวมสอดฉลองพระบาทแก้วมณีเหาะขึ้นไปสู่อากาศเวหาส์ เสด็จออกไปโดยสีหบัญชรช่องพระแกลปรางค์ปราสาท สมเด็จพระมหากรุณาเสด็จเข้าสู่เตโชกสิณสมาบัติ นฤมิตรเปนเปลวเพลิงอันใหญ่ มีอุประมาดังว่าเพลิงประไลยกัลป ให้บังเกิดเต็มไปทั่วทิศานุทิศน้อยใหญ่ ข้างโน้นข้างนี้ก็ไฟ ไหม้ไล่ล้อมเข้ามาโดยรอบ “ชมฺพูปติ ตํ ทิสฺวา” พระเจ้าชมพูบดีแลเห็นเปลวเพลิงก็สดุ้งตกพระไทย มิอาจสามารถจะเหาะผ่าเปลวเพลิงไปได้ ก็กลับหลังเข้ามานั่งอยู่ในสำนักนิ์ของสมเด็จพระมหากรุณา พระเจ้าชมพูบดีจึงทิ้งฉลองพระบาทออกไปโดยสีหบัญชรช่องพระแกล ให้ฉลองพระบาทนั้นสำแดงอิทธิฤทธิ์ ฉลองพระบาทแก้วกลับกลายเปนนาคราชทั้งสอง มีสีสะได้ร้อยหนึ่ง มีพังพานได้โกฏิหนึ่ง พ่นฤทธิ์เปนควันเพลิง กระทำอย่างเคยกระทำมาแต่ก่อน สมเด็จพระมหากรุณาก็นฤมิตรศรเพ็ชรอันหนึ่ง ให้ไล่สังหารราญรอนนาคราชทั้งสองๆ ก็มิอาจต่อฤทธิ์แห่งศรเพ็ชรนั้นได้ แพ้อำนาจแห่งศรเพ็ชรนั้นแล้ว ก็กลับกลายเปนฉลองพระบาทคืนดังเก่า สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีก็สิ้นฤทธิ์สิ้นเดช มีอุประมาดังพระยาครุธอันมีปีกซ้ายแลปีกขวาอันหักแล้ว ถ้ามิดังนั้นมีอุประมาดังอสรพิษ อันบุทคลถอดถอนเขี้ยวเสียแล้ว แต่ทว่าอาไศรยด้วยเธอมีมานะทิฐิอันกระด้างดื้อดึง ถึงแพ้แล้วก็ว่ายังไม่แพ้ ตั้งอิศระอยู่กระนั้น มิได้ถวายนมัสการสมเด็จพระศาสดาจารย์ สมเด็จพระมหากรุณา จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูกรบพิตรพระราชสมภาร เดิมสิ เราได้ให้สัญญาแก่กันไว้ ว่าใครแพ้ผู้นั้นจงบังคม มาบัดนี้ตถาคตชนะแก่พระองค์แล้ว เหตุไฉนจึงไม่ถวายบังคมพระตถาคตเล่า ไม่กระทำตามที่สัญญาว่าไว้แต่ก่อน ข้าแต่พระเจ้าราชาธิราช ข้าพเจ้าแพ้บัดนี้นี่ แพ้แต่ในถิ่นถานแห่งพระองค์ ถ้าอยู่ในถิ่นถานของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าหาแพ้พระองค์ไม่ พระองค์มีกำลังมากในที่อยู่ของพระองค์ ข้าพเจ้านี้ก็มีกำลังมากในที่อยู่ของข้าพเจ้า ถ้าสำแดงฤทธิ์ในที่อยู่ของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าหาแพ้ไม่ มีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูกรบพิตรพระราชสมภาร บพิตรว่ามีกำลังมากในที่อยู่แห่งตน ถ้าสำแดงฤทธิ์ในที่อยู่ของตนแล้วหาแพ้ไม่ ก็เหตุไรครั้งเมื่อตถาคตใช้ราชทูตไปสู่เมืองพระองค์นั้น ทำไมพระองค์จึงแพ้แก่ราชทูตเล่า จักรราชทูตคร่าพระบาทแห่งพระองค์ จนพระองค์ตกลงจากเตียงทอง แล้วคร่าออกมาไกลถึงเส้น ๑๕ วา เออนั่นเปนไรพระองค์จึงแพ้เล่า พระองค์อยู่ในถิ่นถานของพระองค์ทีเดียวว่ากะไรจึงแพ้ฤทธิ์ราชทูตเล่า มีพระพุทธฎีกาตรัสฉนี้แล้ว พระเจ้าชมพูบดีก็ว่าแชเชือนไปว่า ข้าแต่พระเจ้าราชาธิราช อันธรรมดาเปนพระยาเอกราช เห็นปานดังตัวข้าพเจ้าฉนี้ ถึงจะเสียชีวิตรก็ดี ก็สู้ตาย ที่จะได้ไหว้พระยาองค์อื่นนั้นหามิได้ มีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูกรบพิตรพระราชสมภาร บุทคลผู้เปนสับบุรุสนั้น ถึงจะเสียชีวิตรก็มิให้เสียสัตย์ อุส่าห์รักษาความสัตย์ไว้ให้จงได้ นี่แน่บพิตร อันธรรมดาเปนกระษัตราธิราชนี้ ถ้าจะกระทำการสิ่งใดๆ นั้น พินิจพิจารณาเสียก่อน เห็นปราศจากโทษแล้วจึงกระทำ พระยาพระองค์ใดตั้งอยู่ในความสัตย์ พระยาพระองค์นั้นมีสวรรค์เปนเบื้องน่า พระยาองค์ใดเจรจามุสาวาท พระยาองค์นั้นก็จะได้บังเกิดในนรกเปนอันเที่ยงแท้ เมื่อสมเด็จพระมหากรุณามีพระพุทธฎีกาตรัสฉะนี้ พระยาชมพูบดีได้ฟังจึงถามว่า ข้าแต่พระเจ้าราชาธิราช บุทคลอันกระทำทานนั้นได้ผลอยู่ฤๅ กระทำบาบนั้นได้บาบอยู่ฤๅ นรกมีอยู่ฤๅ ฤาว่าเปล่าดอกกระมัง มีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูกรบพิตรพระราชสมภาร บุทคลที่กระทำทานนั้นได้ผลอยู่ กระทำบาบนั้นได้บาบอยู่ กระทำแล้วจะได้สูญไปเปล่านั้นหามิได้ สวรรค์มีอยู่นรกก็มีอยู่เปนแท้ พระยาองค์ใดเจรจามุสาวาท เปลวเพลิงในนรกก็จะมาเบียดเบียฬเผาผลาญพระยาองค์นั้นเห็นประจักษ์แจ้งในอัตภาพชาตินี้ พระยาชมพูบดีก็ทรงพระสรวลเปนอันดัง ว่าข้าแต่พระเจ้าราชาธิราช ข้าพเจ้ายังไม่เชื่อไม่ฟังคำของพระองค์ก่อน ถ้าไฟในนรกไม่มาเบียดเบียฬเผาผลาญข้าพเจ้าบัดเดี๋ยวนี้ พระองค์เปนมุสาใหญ่ทีเดียวหาน้อยไม่เลย ดูกรบพิตรพระราชสมภาร บพิตรอย่าแคลงไปเลยที่จะไม่มาเบียดเบียฬเหมือนถ้อยคำพระตถาคต มีพระพุทธฎีกาตรัสฉนี้แล้ว “เตโชกสิณํ สมาปชฺชิตฺวา” สมเด็จพระมหากรุณาเสด็จเข้าสู่เตโชกสิณสมาบัติ นฤมิตรให้เปลวเพลิงนรกบังเกิดขึ้นมาแต่พื้นแผ่นพสุธา เดิมนั้นควันพลุ่งๆ ขึ้นมาก่อน สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีนั้นสงไสยว่า ควันอะไรหนอพลุ่งๆ ขึ้นมา “อโธ โอโลเกตฺวา” ทอดพระเนตรดูไปในเบื้องต่ำก็เห็นเปลวเพลิงกระหนกตกพระไทย แล้วก็เปลวเพลิงนรกขึ้นมาเบียดเบียฬเผาผลาญอาตมาจริงกระมัง แต่ทรงพระดำริห์ฉนี้ “ธุมคฺคิ” ควันไฟนั้นก็พลุ่งขึ้นมาเข้าหู เข้าตา เข้าปาก เข้าจมูกสมเด็จพระเจ้าชมพูบดีนั้นหายใจออกมิใคร่จะได้เลย แลดูคนนั้นคนนี้ ว่าคนอื่นอื่นนี้ จะเปนเหมือนอาตมาฉนี้ ฤๅเปนประการใด เมื่อทอดพระเนตรเลงแลดูไปข้างโน้นข้างนี้ ก็เห็นเขาสบายอยู่หมด ขณะนั้นเปลวเพลิงนรกอันบังเกิดขึ้นด้วยพุทธานุภาพนั้นกระทำเสียงคึกๆ แล้วก็สว่างช่วงโชติขึ้นมาโดยรอบคอบแห่งพระเจ้าชมพูบดี พระเจ้าชมพูบดีก็สดุ้งตกพระไทยนักหนา ก็ร้องหาสมเด็จพระพุทธองค์ว่า “ภนฺเต” ข้าแต่สมเด็จพระเจ้าราชาธิราช พระเจ้าข้าเพลิงไหม้ข้าพเจ้าแล้ว เพลิงนรกไหม้ข้าพเจ้าแล้ว “ตทา ภควา” ในกาลครั้งนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาค ก็บันดาลให้พระองค์นั้นอันตรธานหายไปกับทั้งบริวารทั้งปวง เปลวเพลิงนั้นก็หนักขึ้นปรากฏ ดุจหนึ่งว่าไหม้ซึ่งฝาแลปรางค์ปราสาท รุ่งโรจโชตนาการน่าพิฦกพึงกลัวนักหนา พระเจ้าชมพูบดีแลอำมาตย์ราชเสวกแต่บันดาที่ตามเสด็จไปนั้น ต่างคนต่างก็ร้องหาสมเด็จพระพุทธองค์ด้วยศรัพทสำเนียงเสียงเปนอันดัง สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีนั้นก็ร้องหาว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่สมเด็จพระเจ้าราชาธิราช ข้าพเจ้าจะขอเอาพระคุณของพระองค์ ตั้งไว้เหนือเศียรเกล้าของข้าพเจ้าแล้ว “วนฺทิสฺสามิ ปาเท ตุมฺหากํ” ข้าพเจ้าจะขอถวายบังคมพระบาทของพระองค์แล้ว สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงฟังพระยาชมพูบดีร้องหาสมเด็จพระพุทธองค์แสวงหาพระคุณของพระองค์เปนที่พึ่งดังนั้น พระพุทธองค์ก็สำแดงพระกายให้ปรากฏ กับทั้งบริวารเปลวเพลิงนั้นก็หายลงบัดเดี๋ยวใจ พระเจ้าชมพูบดีก็ได้อัสสาสะประสาศลมระบายหายใจเข้าออกโดยสดวก จึงกราบทูลพระกรุณาว่า ข้าแต่พระเจ้าราชาธิราชผู้เปนพระยาอันอุดมล้ำเลิศประเสริฐ ข้าพระพุทธเจ้าจะขอถวายบังคมแด่พระองค์บัดนี้แล้ว “อหํ อุตฺตโม อหํ เสฏฺโ” ข้าพเจ้าผู้เปนพระยาอันอุดมล้ำเลิศประเสริฐในสกลชมพูทวีปนี้ จะขอถวายบังคมพระบาทของพระองค์แล้ว “สุวณฺณกทฺทลีวิย โอนมิตฺวา” กราบทูลเท่านั้นแล้ว พระเจ้าชมพูบดีก็น้อมพระองค์ลง ดุจดังว่าลำกล้วยทองถวายนมัสการสมเด็จพระศาสดาจารย์ ด้วยเบญจางคประดิษฐ พระยาทั้งร้อยเอ็จพระองค์ แลอำมาตย์ราชเสวกทั้งปวงนั้น ก็ถวายบังคมสมเด็จพระมหากรุณาทิคุณเจ้าพร้อมเพรียงกัน “ตโต ปรํ” เบื้องน่าแต่นั้น พระพุทธองค์ก็โปรดประทานอัมฤตยรศไญยธรรมเทศนาว่า ดูกรบพิตรพระราชสมภาร บพิตรนี้มืดมนท์อนธการลุ่มหลง มีอุประมาดุจดังบุรุษอันหลงมรรคมรรคา บพิตรจงอุส่าห์ตั้งพระไทยสดับพระสัทธรรมเทศนาเถิด พระสัทธรรมนี้แลจะเปนประทีปทองส่องให้สว่างกล่าวคือ จะให้เห็นคุณแลโทษประโยชน์แลมิใช่ประโยชน์ นี่แลบพิตรพระราชสมภาร “อยํ กาโย” อันว่ารูปกายแห่งเราท่านทั้งหลายเกิดมาในโลกนี้ อันนักปราชญ์ควรจะพึงเกลียดพึงชัง ควรจะพึงพินิจพิจารณาเอาเปนอศุภกรรมฐาน ว่ารูปกายนี้เปนที่ประชุมแห่งกระดูกเปนกองแห่งเนื้อ เปนกองแห่งหนัง เปนกองแห่งเอ็น เปนกองแห่งเลือด เปนกองแห่งหนอง เปนกองแห่งเสมหะ เปนปฏิกูลพึงเกลียดนั้นนักหนา บรมบพิตรอย่าพึงลุ่มหลงอยู่ในรูปในกายนั้นเลย “ทานํ เทหิสีลํ รกฺขาหิ” บพิตรจงอุส่าห์ขวนขวายบำเพ็ญทานรักษาศีลจำเริญภาวนาสดับฟังพระธรรมเทศนา ดื่มกินซึ่งรศแห่งพระสัทธรรมเถิด เราท่านทั้งหลายเวียนตายเวียนเกิด เวียนทุกข์เวียนยากเวียนทนวิบากอยู่ในวัฏสงสารนี้ จะรู้จักว่าสักกี่ร้อยชาติ แต่หยาดน้ำตาที่ร้องไห้ร่ำไรมาทุกชาติๆ น้ำตามิได้เหือดแห้งมิได้สาบสูญไปประสมกันเข้าไว้ น้ำตาของบุทคลผู้เดียวร้องไห้มาทุกชาติๆ นั้น ก็จะมากกว่าน้ำในมหาสมุทนี้ได้แสนเท่า ขึ้นชื่อว่าเวียนอยู่ในวัฏสงสาร ก็ย่อมอากูลไปด้วยความโศกเศร้าแสนโศกาไลยร่ำไรไห้สอื้น มองมูลไปด้วยทุกข์ภัยอันตรายต่างๆ “เอหิ คมิสฺสาม” เชิญบพิตรมาเถิดเราจะไปด้วยกันยังทางอมตะมหานิพาน อันเปนที่ระงับทุกข์โศกโรคภัยทั้งปวง อันจิตรสันดานแห่งสรรพสัตวโลกทั้งปวงนี้ ย่อมหวั่นไหวอยู่ด้วยเหตุ ๔ ประการ คือหวั่นไหวอยู่ด้วยรักทรัพย์สมบัตินั้นประการหนึ่ง หวั่นไหวอยู่ด้วยรักอวัยวะน้อยใหญ่ในกายแท่งตนนั้นประการหนึ่ง หวั่นไหวอยู่ด้วยรักชีวิตรของตนนั้นประการหนึ่ง หวั่นไหวอยู่ด้วยรักพงศ์พันธุ์ บุตรภรรยานั้นประการหนึ่ง ประสมเปน ๔ ประการฉนี้ แลข้อซึ่งจะหวั่นไหวจะรักจะใคร่จะปราถนาอาไลยในธรรมชาติทั้ง ๔ ประการฉนี้ ก็อาไศรยแก่อภิชฌาแลตัณหา แท้จริงกระแสแห่งอภิชฌากระแสตัณหาหมักหมมอยู่ในสันดาน แห่งสัตวทั้งปวงนี้มากกว่ามากนัก อภิชฌาตัณหานี้ถ้าปรากฏเปนกระแสดุจกระแสน้ำ ถ้าปรากฏฉนั้นแล้ว ก็มากกว่ากระแสน้ำได้แสนเท่า อภิชฌาแลตัณหานี้ ถ้าบังเกิดกล้าหาญอยู่ในสันดานบุทคลผู้ใดแล้ว ก็จะชักจะพาบุทคลผู้นั้นไปสู่อะบายภูมิ เปนอันเที่ยงแท้นักหนา เชิญบพิตรมาเถิดมาเราจะไปสู่โลกอุดรภูมิ ตัดเสียซึ่งกระแสแห่งอภิชฌาแลตัณหา “กปฺปทาวคฺคิโต มโนปชฺชา” ดูกรบพิตรพระราชสมภาร เพลิงอันกล้า คือราคะ โทษะ โมหะ อันเผาผลาญอยู่ในสันดานแห่งสัตวทั้งปวงนี้ ร้อนยิ่งกว่าเพลิงประไลยกัลปที่สังหารแผ่นดินนี้อีก เชิญบพิตรมาเถิดมาไปอยู่ในเรือนแก้ว อันแล้วไปด้วยพระธรรม อันตถาคตตกแต่งไว้เปนอันดีเปนที่ระงับเสียซึ่งเพลิง ราคะ โทษะ โมหะ หมกมุ่นอยู่ในสันดาน ดูกรบพิตรพระราชสมภาร สัตวเกิดมาในวัฏสงสารนี้ รักตัวยิ่งกว่ารักทรัพย์ แลสัตว์ทั้งหลายนั้นย่อมรักชีวิตรยิ่งกว่ารักอวัยวะน้อยใหญ่ นัยหนึ่งสัตวทั้งหลายนั้นรักบุตรชายบุตรหญิงยิ่งกว่าดวงเนตร ดวงเนตรนั้นรักอยู่แล แต่ทว่ามิรักเท่าบุตรชายบุตรหญิง แลสัตวทั้งหลายย่อมรักใคร่ภรรยายิ่งกว่ารักบุตรชายบุตรหญิง “ภริยโต อตฺตานํ” อนึ่งสัตวทั้งหลายนั้น ย่อมรักใคร่ตัวเองยิ่งกว่ารักภรรยา เมื่อมีความรักความใคร่เอื้อเฟื้ออาไลยหมกมุ่นลงอยู่ในจิตรสันดานแล้วสารพัดทุกข์สารพัดไภย สารพัดโศกโสกาไลยทั้งปวง ก็บังเกิดมีแต่มูลคือความรัก ความรักมีเปนเค้าเปนมูลแล้ว ก็น่าที่จะให้มีทุกข์มีไภยมีความโศกเศร้าสอื้นอาไลยทั้งปวง “เอทิ นิพฺพานปทํ คมิสฺสามิ” เชิญบพิตรมาเถิดมาเราไปสู่คลองแห่งพระนฤพาน ระงับดับเสียซึ่งความรักความใคร่แลความเอื้อเฟื้ออาไลยทั้งปวง ดูกรบพิตรพระราชสมภาร สัตวทั้งหลายอันเวียนตายเวียนเกิดอยู่ในวัฏสงสารนี้ มีที่สุดเบื้องต้นมิได้ปรากฏแต่เวียนเอาปฏิสนธิมาทุกชาติๆ นั้น หยาดกัลละตั้งขึ้นในที่ปฏิสนธินั้น ถ้าจะประสมเข้าไว้ มากกว่าหยาดแห่งน้ำค้างในนภาไลยประเทศเวหาส์ อนึ่งพยาธิทุกข์อันมีลักษณะให้ป่วยให้ไข้ให้ลำบากกายลำบากจิตรนั้นเล่า บังเกิดแต่สัตวทั้งปวงนี้ก็มากนักมากหนา อนึ่งชราทุกข์อันมีลักษณะย่ำยี ให้อินทรีย์วิกลวิปริตนั้นเล่า ก็บังเกิดแก่สัตว์ทั้งปวงนี้มากมายยิ่งนัก ถ้าจะว่ามากก็มากกว่าต้นไม้แลภูเขา ที่บังเกิดเหนือพื้นแผ่นพสุธานี้ได้แสนเท่า ตายแล้วทิ้งซากศพไว้ทุกชาติๆ ถ้าซากศพมิได้เปื่อยมิได้เน่า มิได้ทรุดมิได้โทรมไปประสมกันเข้า ได้ซากศพของบุทคลผู้เดียวทิ้งไว้ทุกชาติๆ นั้น ก็จะมากจะสูงใหญ่ จะแน่นจะหนายิ่งกว่าพื้นแผ่นพสุธาได้แสนเท่า ดูกรบพิตรพระราชสมภารพระองค์จงสละเสียซึ่งธรรมชาติทั้งหลายห้าประการ คือ มาตุคามประการหนึ่ง ฆราวาศเย่าเรือนประการหนึ่ง อำนาจแห่งมัจุราชประการหนึ่ง กายแลจิตรประการหนึ่ง ปราปรเวทนิยกรรมประการหนึ่ง พระองค์สละธรรมชาติท้าประการนี้เสียได้ด้วยอำนาจพระโลกุตรธรรมแล้ว บพิตรก็ได้ชื่อว่าอยู่ในที่อันเกษม คืออมตะมหานฤพาน อันเปนเอกันตศุขล้ำเลิศกว่าศุขทั้งปวง นี่แน่บพิตรพระราชสมภาร “อปายทุกฺขโต มนุสฺสา สุขา” มนุษยโลกนี้ประกอบด้วยทุกข์ แต่ทว่าไม่มากเหมือนทุกข์ในอบายภูมิๆ นั้นมีมากกว่ามาก มนุษย์โดยเปนศุขกว่าอบาย แต่ทว่าไม่เปนศุขเท่าที่อยู่ของพระอินทร ที่อยู่ของพระอินทรไม่เท่าที่อยู่ของพรหม ที่อยู่ของพรหมนั้นไม่เปนศุขเท่าที่อยู่คือพระนฤพาน ที่อยู่คือพระนิพพานนั้น เปนศุขกว่าพรหมมากกว่ามากนัก บพิตรพระราชสมภาร จงยินดีที่จะไปยังอมตะมหานฤพาน ในกาลครั้งนั้น เมื่อสมเด็จพระมหากรุณาโปรดประทานพระธรรมเทศนาด้วยประการฉนี้ พระเจ้าชมพูบดีได้ทรงฟัง ก็มีพระหฤทัยชื่นชมยินดีโสมนัศทรงพระดำริห์ว่า สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชนี้ “ญาณสมฺปนฺโน” ประกอบไปด้วยพระปัญญาปรีชาอันล้ำเลิศประเสริฐด้วยคุณานุภาพแห่งบพิตร สมควรที่อาตมาจะทำสักการบูชา “อุณฺหิสํ โอมุฺจิตฺวา” ทรงพระดำริห์ฉนี้แล้ว พระเจ้าชมพูบดีก็ถอดพระมหามงกุฎอันเปนเครื่องราชาภิเศกแห่งพระองค์นั้นไปวางไว้แทบพระบาท บูชาสมเด็จพระพุทธองค์ด้วยพระมหามงกุฎ ฝ่ายอำมาตย์แสนหนึ่งแลพระยาร้อยเอ็จพระองค์นั้น ต่างองค์ต่างก็เปลื้องเครื่องประดับพระเศียรออกสักการบูชาแทบพระบาทสมเด็จพระบรมโลกนารถเจ้าทุกคน ๆ ฯ

อันดับนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาค มีพระพุทธฎีกาโปรดประทานพระธรรมเทศนาต่อไป “มหาราช” ดูกรบพิตรพระราชสมภาร สัตวทั้งหลายเกิดมาในมหรรณพภพสงสารนี้ มีสภาวะเปนอนิจจัง เกิดมาแล้วก็ถึงซึ่งดับสูญทำลายไป ๆ อายุแห่งสัตวทั้งหลายนี้ล่วงไป ๆ ทุกวันทุกเวลา ข้างน่านั้นน้อยเข้าๆ ข้างหลังนั้นมากขึ้น ๆ มีอุประมาดังว่าหูกอันสัตรีภาพทอ ข้างหลังนั้นจำเริญขึ้น ๆ ข้างน่านั้นน้อยเข้าๆ ทุกที ๆ ไป แลมีอุประมาฉันใด อายุแห่งสัตวทั้งปวงที่ล่วงไปนั้น ก็มากขึ้น ๆ ทุกวันทุกเวลา ข้างน่านั้นน้อยเข้า ๆ ทุกวันไป มีอุประไมยดังหูกนั้น สัตวเกิดมาในวัฏสงสารนี้ มีตัวเองเปนที่พึ่งแก่ตัวเอง ขณะเมื่อทำลายเบญขันธแล้วไปสู่ปรโลกนั้น บุตรภรรยาคณาญาติมิตรสหาย บันดาที่รักใคร่สนิทเสนหานั้น ผู้ใดผู้หนึ่ง มิอาจสามารถจะอนุพันธนาการติดตามไปช่วยทุกข์ของตนได้ จะได้ก็แต่กุศลแลอกุศลที่ได้กระทำไว้นั้นแลจะติดตามตัวไป กระทำไว้ดีก็ดีกระทำไว้ชั่วก็ชั่ว ใครจะตามไปช่วยได้ ตัวมีศรัทธาอุสาหะสร้างกุศล กุศลนั้นก็จะได้เปนที่พึ่งแก่ตัวเอง จะได้พ้นทุกข์ก็เพราะกุศลที่ตนได้กระทำไว้ อาไศรยเหตุฉนี้แลจึงได้ชื่อว่าตัวเองเปนที่พึ่งแก่ตัวเอง สิ่งอื่น ๆ นอกออกไปกว่ากุศลแล้ว แลจะได้เปนที่พึ่งที่อาไศรยแห่งตนเหมือนด้วยกุศลนั้นหามิได้ กุศลนี้เปนที่พึ่งแก่สัตวทั้งปวง บพิตรพระราชสมภาร จงอุส่าห์ส่ำสมในกุศลเปนต้นว่าให้ทานแลรักษาศีลนั้นเถิด

บุทคลอันอุสาหะบำเพ็ญทานนั้น มีอุประมาดุจดังว่าบุทคลอันประดับด้วยเครื่องประดับอันงามสอาด บุทคลอันมิได้บำเพ็ญทานนั้น มีอุประมาดังว่าบุทคลอันหาเครื่องประดับมิได้ ดูกรบพิตรพระราชสมภาร ตถาคตจะขอถามพระนครแห่งสมเด็จบพิตรนั้น มีประมาณใหญ่กว้างสักกี่โยชน์ “สฏฺิโยชนิกํ ภนฺเต” ข้าแต่พระเจ้าราชาธิราช พระนครแห่งข้าพเจ้านี้ มีประมาณกว้างใหญ่ ๖๐ โยชน์ ดูกรบพิตรพระราชสมภาร วงศ์กษัตริย์ในพระนครแห่งสมเด็จบพิตรนั้น มีประมาณมากน้อยสักเท่าใด ข้าแต่พระเจ้าราชาธิราช วงศ์กระษัตริย์ในพระนครแห่งข้าพเจ้านี้ มีประมาณได้ ๑๐ โกฏิ ดูกรบพิตรพระราชสมภาร กาลบัดนี้ กระษัตริย์ทั้งปวงนั้นยังอยู่พร้อมเพรียงกันฤๅประการใด ข้าแต่พระเจ้าราชาธิราช วงศ์กระษัตริย์ทั้งปวงนั้นหามิได้แล้ว ดูกรบพิตร กระษัตริย์ทั้งปวงอยู่ในสถานที่ใดเล่า ข้าแต่พระเจ้าราชาธิราช วงศ์กระษัตริย์ทั้งปวงนั้น ถึงแก่อนิจกรรมล่วงไปสิ้นแล้ว ดูกรบพิตร วงศ์กระษัตริย์ทั้งหลายที่ถึงอนิจกรรมล่วงไปนั้น พาเอาทรัพย์สมบัติเครื่องราชกกุธภัณฑ์ไปได้อยู่ฤๅ ท่านเอาลูกรักเมียรักช้างม้าที่รักนั้นไปได้อยู่ฤๅ ฤๅเปนประการใด ข้าแต่พระเจ้าราชาธิราช วงศ์กระษัตริย์ทั้งหลายแต่บันดาที่ถึงอนิจกรรมล่วงไปนั้น มิอาจสามารถจะพาทรัพย์สมบัติสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปได้ ถึงบุตรภรรยายอดรักยอดใคร่ช้างม้าที่ยอดรักยอดใคร่นั้นก็ดี กระษัตริย์ทั้งหลายนั้นมิอาจสามารถจะชักจะพาเอาไปกับตนได้ “เอกิกาวคจฺฉนฺติ” ถ้าจะไปนั้นไปแต่ผู้เดียวแท้แท้ ดูกรบพิตรพระราชสมภาร บพิตรจงพิจารณาปลงปัญญาให้เห็นธรรมสังเวชในความตายนี้เถิด มัจจุราชนี้จะได้เลือกหน้าว่าผู้ดีเข็ญใจนั้นหามิได้ ย่อมครอบงำกระทำให้อยู่ในอำนาจแห่งตนนั้นเสมอทุกคน ๆ ไป จะได้สังเกตว่าข้ายังหนุ่มยังสาวอยู่ ข้ายังไม่เจ็บไข้ข้ายังไม่ตายก่อนต่อแก่ชราอายุถึงเพียงนั้น ๆ แล้วข้าจึงจะตาย จะสังเกตดังนั้นมิได้ “โก ชฺา” คือใครนั้นจะรู้จักความตาย จะรู้จักสังเกตสังกัดผัดเพี้ยนพระยามัจจุราชได้ ว่าพรุ่งนี้เถิด ประรืนนี้เถิด ใครผัดเพี้ยนดังนั้นได้ ถึงมีทรัพย์สมบัติมากจะให้แก่พระยามัจจุราช พระยามัจจุราชก็ไม่รับสินบน ถึงว่าจะมีเสนารี้พลมากจะต่อยุทธกับพระยามัจจุราช ก็มิอาจสามารถจะต่อยุทธได้ มีแต่พระยามัจจุราชนั้น จะครอบงำย่ำยีจะหักจะรานผลาญชีวิตรให้ถึงพินาศฉิบหาย ฯ “ภนฺเต” ข้าแต่พระเจ้าราชาธิราช พระองค์นี้รู้ว่าสัตวทั้งปวงนี้จะตายเหมือนกันสิ้นทุกรูปทุกนาม ไม่พันจากความตาย พระองค์ผู้ทรงฤทธิ์ทรงเดชเห็นปานดังนี้ จะถึงแก่ความตาย ฤาหามิได้ประการใด จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูกรบพิตรพระราชสมภาร อันเกิดมาเปนรูปธรรมแล้ว อย่าหมายเลยที่ว่าจะพ้นจากความตาย สัตวทั้งหลายถึงแก่ความตายฉันใดก็ดี ตถาคตนี้ก็เหมือนกัน ฯ ข้าแต่พระเจ้าราชาธิราช พระองค์ตรัสฉนี้ จริงทีเดียว คำนี้เปนคำสัตย์ นี่แน่ข้าแต่พระเจ้าราชาธิราช ดังข้าพเจ้าจะขอถาม บุทคลอันเกิดมาในโลกนี้ บางจำพวกก็เปนคนเข็ญใจไร้ทรัพย์ บางจำพวกก็บริบูรณ์ด้วยสมบัติพัศถานไม่เหมือนกัน อาไศรยแก่เหตุผลเปนประการใดพระเจ้าราชาธิราชรู้ฤๅไม่ “ชานามิ มหาราช” ดูกรบพิตรพระราชสมภาร พระตถาคตรู้แจ้งอยู่ สัตวที่แปลกกันไม่เหมือนกันนั้น ก็อาไศรยแก่กุศลแลอกุศลสองประการนี้แล จำแนกให้สัตวทั้งหลายต่างกัน จะว่าอื่นไกลไปไยเล่า ว่าแต่ญาติของบพิตรนี้เถิด ญาติของบพิตรที่ถึงอนิจกรรมล่วงไปทั้งหลายนั้น บางจำพวกที่ประพฤติสุจริตตั้งอยู่ในสัตยในธรรมนั้น ก็ได้ไปบังเกิดในสุคติภูมิเสวยรมย์ชมสมบัติอันโอฬาริกภาพ บางจำพวกที่ประพฤติมิได้ตั้งอยู่ในสัตย์ในธรรมนั้น ครั้นทำลายเบ็ญจขันธิ์แล้ว ก็ได้ไปบังเกิดในนรกทนทุกขเวทนา “ภนฺเต ราชาธิราช” พระเจ้าข้า ข้าแต่พระเจ้าราชาธิราช พระองค์ตรัสฉนี้ ข้าพเจ้ายังสงไสยอยู่ยังไม่สิ้นสงไสยก่อน ถ้าข้าพเจ้าได้เห็นนรกแล้ว นั่นแลข้าพเจ้าจึงจะสิ้นสงไสย ดูกรบพิตรพระราชสมภาร ญาติของบพิตรที่ทนทุกขเวทนาอยู่ในนรกนั้น ถ้าบพิตรได้เห็นแล้วนี้บพิตรจะดูไม่ได้ “ภีโต น ภวิสฺสามิ” ข้าแต่พระเจ้าราชาธิราช ข้าพเจ้าหากลัวไม่ พระองค์อย่าปริวิตกเลย ดูกรบพิตรพระราชสมภาร ถ้าดังนั้นพระตถาคตจะสำแดงให้พระองค์เห็นบัดนี้ ตรัสเท่านั้นแล้วพระพุทธองค์เข้าสู่ปถวีกสิณ บันดาลแผ่นดินให้แยกเปนช่องลงไปตราบเท่าจนถึงอเวจี สำแดงนรกทั้งหลายให้ปรากฏแล้ว จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูกรบพิตรพระราชสมภาร พระองค์จงทอดพระเนตรดูพระญาติพระวงศ์แห่งบพิตรบัดนี้ เถิด ฯ

ข้าแต่พระเจ้าราชาธิราช ข้าพเจ้าแลลงไปหาเห็นญาติทั้งปวงไม่ เปลวเพลิงนี้หนักกว่าหนัก ข้าพเจ้าแลไม่เห็นญาติข้าพเจ้าเลย สมเด็จพระมหากรุณา ก็บันดาลให้เปลวเพลิงนั้นดับลงในทันใด สำแดงญาติแห่งพระเจ้าชมพูบดีให้ปรากฏแล้ว ก็มีพระพุทธฎีกาตรัสชี้แจงออกไปว่า ดูกรบพิตรพระราชสมภารสัตวนรกผู้นั้น ๆ มิใช่อื่นไกล คือพระไอยกา พระไอยกีของพระองค์ คนนั้นคือบิดา คือมารดา คนนั้นคือพี่น้องวงศาคณาญาติทั้งหลาย ตกว่าพระมหากรุณาเจ้าตรัสชี้แจงนั้นถี่ถ้วนไปทุกสิ่ง ๆ สมเด็จพระมหาชมพูบดีก็หายสงไสยสนเท่ห์ ทอดพระเนตรเห็นญาติทั้งหลายเสวยทุกขเวทนามีประการต่าง ๆ เปนต้นว่า นอนเหนือแผ่นดินเหล็กอันหนาได้ ๙ โยชน์เปลวเพลิงเผาผลาญอยู่ทั่วทั้งกรัชกาย ดิ้น ๆ รนทนทุกขเวทนาสาหัส บางจำพวกนายนิริยบาลแล่นไล่ติดตามทันแล้วก็แทงด้วยหอกแหลนหลาว แลต่อยสีสะด้วยค้อนเหล็กอันใหญ่ ตัตสีสะเสียด้วยดาบอันคมกล้า บางคาบก็ตัดมือเท้า กระทำกรรมกรณ์นั้นต่าง ๆ สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีเห็นฝูงญาติทั้งหลายเสวยทุกขเวทนาร้องไห้ร้องครางตายแล้วเกิดเล่าด้วยประการฉนี้ ก็มีพระไทยสดุ้งตกประหม่า กราบทูลว่าพระเจ้าข้า ข้าแต่พระราชาธิราช ข้าพเจ้ากลัวแล้ว ข้าพเจ้าดูไม่ได้แล้ว “นิรยํ อนฺตรธาเปสิ” สมเด็จพระผู้มีพระภาคบันดาลให้นรกนั้นอันตรธานหายไป พระเจ้าชมพูบดีจึงกราบทูลถามว่า พระเจ้าข้าสัตวทั้งปวงทนทุกขเวทนาอยู่ในนรกนี้อาไศรยกระทำอกุศลกรรมเปนประการใด ดูกรบพิตรพระราชสมภาร สัตวทั้งหลายเหล่านี้ แต่ปางก่อนลุอำนาจคติทั้ง ๔ ประการ คือลุอำนาจแก่ความรัก ลุอำนาจแก่โทโส ลุอำนาจแก่โมโห ลุอำนาจแก่ความกลัว เมื่อลุอำนาจแก่อคติทั้ง ๔ ประการฉนี้แล้ว กระทำอกุศลกรรมอันลามกนั้นต่าง ๆ เปนต้นว่าปาณาติปาตา อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสา ส้องเสพสุราเมรัย กระทำโทษประทุษฐร้ายแก่บิดามารดาปู่ย่าตายายผู้มีคุณแก่ตน กระทำอกุศลกรรมหยาบช้าเห็นปานฉนี้ ครั้นทำลายเบญจขันธ์จากมนุษย์แล้ว จึงลงไปบังเกิดในนรก ทนทุกขเวทนาสาหัสสากรรจ์ด้วยประการฉนี้ ฯ ข้าแต่พระเจ้าราชาธิราช ญาติข้าพเจ้าที่พระองค์บอกว่าไปสวรรค์นั้น ข้าพเจ้าจะใคร่เห็นสักน่อย “เต ทสฺเสสิ” พระองค์จงสำแดงญาติทั้งหลายอันได้ไปสวรรค์ให้ข้าพเจ้าเห็นประจักษ์แจ้งในกาลครั้งนี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาค กระทำอิทธิฤทธิ์บันดาลให้สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีนั้น แลเห็นชั้นจาตุมหาราชิกาดาวดึงษ์ยามาดุสิดานิมมานรดีประนิมิตตะวัสสวดี สำแดงให้เห็นวิมานทอง วิมานแก้วมณี วิมานแก้วประพาฬ วิมานแก้วลาย อันประดับประดาวิจิตรบรรจงต่าง ๆ สำแดงให้เห็นซึ่งองคาพยพของเทพบุตรแลเทวธิดาทั้งหลาย อันเสวยทิพยสมบัติสพรึบพร้อมไปด้วยทิพยแสนสุรางค์นางฟ้าทั้งปวง แต่ละพิมาน ๆ นั้น มีนางฟ้าพันหนึ่งบ้างหมื่นหนึ่งบ้างแสนหนึ่งบ้าง มากกว่าหมื่นกว่าแสนบ้าง วิมานทั้งปวงนั้น ที่สูงกึ่งคาพยุตรก็มี ที่สูงคาพยุตรหนึ่งคือร้อยเส้นนั้นก็มี ที่สูง ๒–๓ คาพบุตร สูงโยชน์ ๑ ๒ โยชน์ ๓ โยชน์ ๔ โยชน์ ๑๐๐ โยชน์ ๑๐๐๐ โยชน์ ก็มี ประกอบไปด้วยเสานั้น นับได้ละร้อยละพัน นับได้ละหมื่นละแสน ห้อยย้อยไปด้วยระเบียบแห่งพรวน แลกระดึงไว้ด้วยฉัตรแลธง สว่างไปด้วยรัศมีแก้วรุ่งโรจโชตนาการอื้ออึงไปด้วยเสียงทิพยบัญจางค์ดุริยดนตรีฆ้องกลองแตรสังข์สนั่นเสนาะจับในน้ำใจ เมื่อพระพุทธองค์สำแดงทิพยพิมานทั้งหลายด้วยประการฉนี้แล้ว พระพุทธองค์ก็ชี้แจงออกไปว่า ดูกรบพิตรพระราชสมภารพระองค์จงทอดพระเนตรดูเทวบุตรเทวธิดาทั้งปวงเถิด เทวบุตรองค์นั้นอยู่ในวิมานอันนั้น เทวบุตรองค์โน้นเปนญาติของพระองค์ ฝ่ายเทวธิดาที่อยู่ในวิมานอันนี้ เทวธิดาองค์นั้นอยู่ในวิมานอันนั้น เทวธิดาองค์โน้นอยู่ในวิมานอันโน้น เปนญาติของพระองค์ เมื่อสมเด็จพระมหากรุณาเจ้าชี้แจงออกไปด้วยประการฉนี้แล้ว พระเจ้าชมพูบดีทอดพระเนตรดูเทพยดาทั้งหลายแล้ว ก็มีปีติวัฒนาการผูกพันธ์รักใคร่ จะใคร่ได้ซึ่งทิพยสมบัติในชั้นฉกามาพจรสวรรค์ จึงกราบทูลถามว่าพระพุทธเจ้าข้า เทพยดาทั้งหลายนี้ แต่ปางก่อนได้กระทำการซึ่งเปนกุศลเปนประการใดจึงได้มาเสวยสมบัติอันเปนทิพย์เห็นสภาวปานนี้ “มหาราช” ดูกรบพิตรพระราชสมภาร เทพยดาทั้งหลายนี้ แต่ปางก่อนได้กระทำการกุศลนั้นต่าง ๆ เทพยดาที่อยู่ในวิมานอันนั้น แต่ปางก่อนได้สร้างกุฎีให้เปนทาน แก่สมณะพราหมณาจารย์ผู้มีศีล ที่อยู่ในวิมานอันโน้น แต่ปางก่อนได้ให้เพลิงเปนทาน ที่อยู่ในวิมานอันนี้ แต่ปางก่อนได้กระทำเพดานกั้นพระพุทธรูป ที่เสวยสมบัติในวิมานนั้นแต่ปางก่อนได้สร้างพระพุทธรูป เทวดาวิมานนั้นได้สร้างพระเจดีย์วิหาร องค์นั้นได้สร้างพระไตรปิฎก เทวดาองค์นั้นเปนอุบาสกในพระบวรพุทธสาสนา เทวดาวิมานนั้นได้สร้างศาลาโรงธรรม เทวดาวิมานนั้นได้ถวายประทีป เทวดาวิมานนั้นได้ปลูกไม้พระศรีรัตนมหาโพธิ เทวดาวิมานนั้นได้ถวายผ้าบังสุกุล เทวดาองค์นั้นได้ถวายคิลานปัจจัย เทวดาวิมานนั้นได้ถวายเข้ายาคูแลเข้าสรวย เทวดาวิมานนั้นได้ถวายกฐินทาน เทวดาวิมานนั้นได้ถวายเครื่องต่างๆ เทวดาวิมานนั้นได้สดับตรับฟังพระสัทธรรมเทศนา เมื่อสมเด็จพระมหากรุณาตรัสชี้แจงออกไปด้วยประการฉนี้ พระเจ้าชมพูบดีได้ทรงฟังประจักษ์ในน้ำพระไทย จึงกราบทูลว่าข้าแต่พระเจ้าราชาธิราชผู้ประเสริฐ “อหํ ปวโร” ข้าพเจ้านี้ประเสริฐในสกลชมพูทวีปอยู่แล้ว ยังว่าไม่ประเสริฐเหมือนพระองค์ พระองค์ประเสริฐกว่าข้าพเจ้ามากมายนัก พระพุทธเจ้าข้า ดังข้าพเจ้าถาม ข้าพเจ้านี้ปราถนาจะได้เปนเทวดาเสวยสมบัติในสวรรค์เทวโลก ทำไฉนข้าพเจ้าจึงจะได้สำเร็จมโนรถความปราถนา “สเจ อิจฺฉสิ” ดูกรบพิตรพระราชสมภาร ถ้าพระองค์ปราถนาแล้วจะได้สำเร็จเปนไรมี ถ้าพระองค์ปราถนา จงอุสาหะบำเพ็ญทานรักษาศีล อาจได้สวรรค์สำเร็จดังมโนรถความปราถนา ดูกรบพิตรพระราชสมภาร “ทานํ สคฺคสฺส โสปาณํ” ผลทานนี้ เปนบันไดสำหรับที่จะเดิรไปสู่สวรรค์เทวโลก “ทานํ เทติ อิสฺสรํ” ผลทานนี้ ย่อมติดตามตกแต่งให้ถึงซึ่งอิศรภาพเปนใหญ่ “ทานํ ปเวสนํ สคฺคํ” ผลทานนี้ เปนหนทางอันจะไปสู่ชั้นกามาพจรทั้งหก “ทานํ ทฺวารํ วิวริตํ” ผลทานนี้เปนที่จะเปิดออกซึ่งประตูแห่งฉกามาพจรเทวโลก ทานนี้เปนที่จะนำออกเสียซึ่งความเข็ญใจ เกิดมาในโลกนี้ที่จะเปนผู้ดี มีโภคสมบัติมิได้เข็ญใจไร้ทรัพย์ มิได้ขาดทรัพย์นั้น ก็อาไศรยแก่ผลทาน ผู้ใดอุสาหะบำเพ็ญทาน ผู้นั้นเกิดมาในอนาคตกาลจะมิได้เข็ญใจไร้ทรัพย์ มิรู้ขาดทรัพย์ ผลทานนี้เปนที่พึ่งที่พำนักที่คุ้มครองรักษา ซึ่งมนุษย์นิกรทั้งปวงอันเที่ยวท่องในวัฏสงสารนี้ ย่อมได้พึ่งพาอาไศรยซึ่งผลทาน ผลทานนั้นติดตามอุปถัมภ์ค้ำชูติดตามทำนุบำรุงอภิบาลรักษา ผลทานนี้เปนที่จะปลดเปลื้องตนให้พ้นจากนรก อุสาหะบำเพ็ญทานแล้ว อาจสามารถจะยกตนให้พ้นจากนรกได้ ผลทานนี้เปนที่จะยังโภคสมบัติให้บังเกิดบริบูรณ์ บุทคลอันได้บำเพ็ญทานนั้น ถ้าเกิดไปในอนาคตกาลภายภาคน่า จะมีโภคสมบัติอันบริบูรณ์พูนเกิดมิได้รู้บกพร่อง โภคสมบัติจะมิได้รู้ฉิบหาย ด้วยราชไภยโจรไภยอุทกไภยนั้นก็อาไศรยแก่ผลทาน ถึงในปัตยุบันชาตนี้ก็ดี ถ้ามีศรัทธาอุสาหะบำเพ็ญทานอยู่แล้ว ถึงว่าโจรจะมาฉกซิงก็ดี ได้รับทานแล้วก็จะกลับรักกลับใคร่ กลับเอนดูกรุณา จักมิได้มุ่งมองในที่จะฉกชิง เหตุฉนี้แลจึงว่าผลทานนี้เปนที่รักษาไว้ซึ่งโภคสมบัติ บุทคลผู้ใดบำเพ็ญซึ่งทานบารมีนั้น เกิดไปในอนาคตกาลภายภาคน่า จะมีอายุอันถาวรวัฒนาการ เจริญอายุให้ยิ่งยงตั้งอยู่สิ้นกาลอันช้านาน จะมิได้เปนคนอายุสั้น อายุน้อย “อตฺตสฺสาตฺถํ ททนฺติ” บุทคลอันอุสาหะบำเพ็ญทานนั้น ได้ชื่อว่าให้ซึ่งประโยชน์แก่ตน “อคฺคธมฺมสมา หิตา” ได้ชื่อว่ากระทำให้ตนประกอบไปด้วยธรรมอันเลิศ “เทวภูตา มนุสุสภาวํ อคฺคสุขํ ปโมทเร” บุทคลอันอุสาหะบำเพ็ญทานนั้น จะเกิดเปนเทวดาก็ดี จะเกิดเปนมนุษย์ก็ดี ก็ย่อมจะมีความศุขนั้นมาก กายแลจิตรนั้นจะแช่มจะชื่นจะรื่นจะเริงอยู่ด้วยความศุข ๆ นั้นจะมีมากด้วยอำนาจผลแห่งทานบารมี อันผลแห่งทานนี้ อาจสามารถจะให้สำเร็จความปราถนาสิ้นทั้งปวง มีอุประมาดังแก้วมณีโชติแห่งสมเด็จบรมจักรพัตราธิราช อันประกอบด้วยคุณอันล้ำเลิศประเสริฐ ให้บังเกิดทรัพย์สมบัติทั้งปวงดุจดังมโนรถความปราถนา ถ้ามิดังนั้นผลทานนี้มีอุประมาดุจดังว่าไม้กัลปพฤกษ์ ให้สำเร็จความปราถนาทั้งปวง แลมีอุประมาฉันใด ผลทานนี้ก็ให้สำเร็จสมบัติทั้งปวงดุจดังมโนรถความปราถนา มีอุประไมยดังนั้น ถ้ามิดังนั้น ผลทานนี้ มีอุประมาดุจดังว่าขุมทรัพย์ ๆ นั้นเมื่อมีบริบูรณ์แล้ว ก็อาจสามารถจะซื้อจ่ายสารพัดข้าวของทั้งปวงให้สำเร็จมโนรถความปราถนาแลมีฉันใด ผลทานนี้เปนขุมทรัพย์อันวิเศษ จะตกแต่งสมบัติอันเปนโลกิยแลโลกุตตร ให้บริบูรณ์สำเร็จดังมโนรถความปราถนา เมื่อสมเด็จพระมหากรุณาสำแดงหนทางสวรรค์ด้วยประการฉนี้ พระยาชมพูบดีได้ทรงฟังก็โสมนัศยินดีในที่จะปฏิบัติให้สำเร็จสวรรค์ ฯ

ฝ่ายองค์สมเด็จพระมหากรุณา ปราถนาจะยังพระยาชมพูบดีนั้นให้เหนื่อยหน่ายจากสวรรค์สมบัติ จะให้ชื่นชมโสมนัศยินดีในทางปฏิบัติอันจะให้สำเร็จพระอมตะมหานฤพาน จึงมีพระพุทธฎีกาโปรดประทานพระสัทธรรมเทศนาสืบต่อไปว่า “มหาราช” ดูกรบพิตรพระราชสมภาร “อยํ สมฺปตฺติ” อันว่าทิพยสมบัติในสวรรค์อันเปนที่ปราถนาที่ยินดีที่ชอบเนื้อจำเริญพระไทยแห่งสมเด็จบรมบพิตรนี้จะได้เที่ยงได้แท้จะได้มั่นคงหามิได้ ทิพย์สมบัติทั้งปวงแต่ล้วนเปนอนิจจัง เทพบุตรเทพธิดาทั้งหลายอันได้เสวยรมย์ชมสมบัตินสวรรค์เทวโลก มีรูปมีเสียงเปนทิพย์ มีกลิ่นมีรศเปนทิพย์ มีสัมผัศถูกต้องเปนทิพย์นั้น จะยั่งจะยืนจะเที่ยงจะแท้อยู่หามิได้ ย่อมจะจุติปฏิสนธิเคลื่อนคลาดจากทิพยสมบัติ ปราศจากทิพยสมบัติอันโอฬาริกภาพเห็นสภาวปานฉนี้ ที่จะเที่ยงแท้อยู่ในทิพยสมบัตินั้นหามิได้ “วยธมฺมา นิโรธธมฺมา” ทิพยสมบัติทั้งปวงนี้ มีสภาวะรู้ฉิบหายประไลยรู้ดับรู้สูญ ดูกรบพิตรพระราชสมภาร อันว่าเบ็ญจกามคุณทั้ง ๕ ประการ คือรูปเสียงกลิ่นรศสัมผัสถูกต้องนี้ย่อมลวงให้สัตวทั้งปวงลุ่มหลง ลุอำนาจตนจะเปนผลเปนประโยชน์จะมั่นจะคงจะเที่ยงจะแท้นั้นหามิได้ บุทคลผู้ใดลุ่มหลงรักใคร่กำหนัดยินดีอยู่ในเบ็ญจกามคุณทั้ง ๕ ประการฉนี้ บุทคลผู้นั้นก็จะเสวยซึ่งความโสกความเศร้าทุกข์ไภยมีประการต่าง ๆ “กามํ นิสฺสาย พหุทุกฺขา” ฝูงสัตวเกิดมาในโลกนี้ ถึงซึ่งความทุกข์ความร้อนเปนอันมากกว่ามากนั้น ก็อาไศรยแก่ลุ่มหลงอยู่ในกามคุณ บุทคลอันรักใคร่ลุ่มหลงอยู่ในกามคุณนั้น จะมีโรคาพยาธิอาพาธป่วยไข้เปนอันมาก อนึ่งจะมีฆ่าศึกสัตรูทั้งหลายมาพาลมองปองร้ายเปนอันมากกว่ามาก เกิดมาแล้วจะเปนคนเจ้าเล่ห์เจ้ากล เปนคนโกหกมายามากนั้น ก็อาไศรยแก่ลุ่มหลงด้วยกามคุณ บุทคลอันหลงด้วยกามคุณนั้น ย่อมจะมีสันดานอันกำเริบเอิกเกริก สันดานนั้นมิได้รงับ ประกอบไปด้วยทุกข์เปนอันมาก จะนั่งก็เปนทุกข์ จะยืนก็เปนทุกข์ จะเดิรก็เปนทุกข์ จะนอนก็เปนทุกข์ จะกินก็เปนทุกข์ รู้เหตุผลอะไรสักน่อยก็เปนทุกข์นี้เปนหนักเปนหนา ขึ้นชื่อว่าหลงอยู่ด้วยกามคุณนี้ มิได้รงับทุกข์ ๆ มากกว่ามากนัก ดูกรบพิตรพระราชสมภาร อันว่าสัตวทั้งหลายบันดาที่เกิดมาในวัฏสงสารเที่ยวท่องอยู่ในสงสารวัฏนี้ ถ้ามีสันดานนั้นลุ่มหลงด้วยกามคุณกำหนัดในกามคุณนั้นแล้ว ก็ย่อมกระทำอกุศลกรรมอันลามกต่าง ๆ กรรมอันหยาบช้าสาหัส มิควรที่จะกระทำเลย ลุอำนาจกามคุณแล้วก็ย่อมกระทำได้ทุกสิ่งทุกประการ บางทีพ่อฆ่าลูกเสียก็มี ลูกฆ่าพ่อเสียก็มี แม่ฆ่าลูกสาวก็มี ลูกสาวฆ่าแม่เสียก็มี พี่ฆ่าน้องเสียก็มี น้องฆ่าพี่เสียก็มี ลุงฆ่าหลาน ๆ ฆ่าลุงเสียก็มี ผัวฆ่าเมียเสียก็มี เมียฆ่าผัวเสียก็มี ขึ้นชื่อว่ากามคุณทั้งห้าประการนี้มีโทษมากกว่ามากนัก บพิตรพระราชสมภารอย่าพึงรักอย่าพึงใคร่ อย่าชอบเนื้อจำเริญพระไทยในกามคุณนั้น จงเหนื่อยจงหน่ายจงเกลียดจงอายแก่กามคุณ อย่าได้ติดข้องอยู่ด้วยกามคุณเลย จงสละเสียซึ่งเอื้อเฟื้ออาไลยในกามคุณอันมีโทษมาก เห็นปานดังพรรณนามาคฉนี้ “มหาราชาธิราช” ข้าแต่พระเจ้าราชาธิราชผู้ประเสริฐ “กี กมฺมํกํ รมณียํ” พระพุทธเจ้าข้า สิ่งดังฤๅที่สมควรข้าพเจ้าจะพึงรักใคร่ สิ่งดังฤๅที่สมควรข้าพเจ้าจะพึงปราถนา สิ่งดังฤๅที่สมควรข้าพเจ้าจะพึงชื่นชมยินดี จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูกรบพิตรพระราชสมภาร “นิพฺพานํ เปมํ นิพฺพานํ รมณียํ” พระอมตะมหานฤพานนี้แล สมควรที่พระองค์จะพึงรักพึงยินดี สมควรที่พระองค์จะพึงปราถนา พระอมตะมหานฤพานนี้ เปนที่รงับกิเลศ เปนที่รงับทุกข์รงับความโศกโสกาไลย รงับอุปทวะแลไภยอันตรายทั้งปวง พระนฤพานนี้เปนศุขอันประเสริฐ มีพระพุทธฎีกาตรัสฉนี้แล้วก็โปรดประทานพระธรรมเทศนาสืบต่อไปว่า

“สุโข วิเวโก ตุฏฺสฺส สุตธมฺมสฺ ปสฺสโต
อพฺยาปชฺฌํ สุขํ โลเก ปาณภูเตสุ สฺโม
สุขา วิราคตา โลเก กามานํ สมติกฺกโม
อสฺมิมานส์ส วินโย เอตํเว ปรมํ สุขํ”

อธิบายว่า ศุขวิเวกกล่าวคือ พระนฤพานอันสงัดจากกิเลศนั้น “สุโข” เปนศุขอันล้ำเลิศ ย่อมบังเกิดแก่บุทคลอันพิจารณาเห็นพระสัทธรรมยินดีในพระสัทธรรมนั้น “อพฺยาปชฺฌํ” ประการหนึ่งบุทคลอันมีสันดานปราศจากโทษหาพยาบาทฆาฏเวรมิได้นั้น “สุขํ” ก็เปนศุขอันล้ำเลิศประเสริฐ “ปาณภูเตสุ สฺโม” ประการหนึ่งบุทคลที่สำรวมวาจาสำรวมน้ำใจ มิได้ฆ่าสัตวตัดชีวิตรมิได้เบียดเบียฬแก่สัตวนั้น “สุโข” ก็เปนศุขอันวิเสศในโลกนี้ “วิราคตา” ประการหนึ่งบุทคลอันกระทำให้แจ้งซึ่งพระนฤพาน มีสันดานปราศจากราคะ มิได้ยินดีด้วยราคดำริษณานั้น “สุโข” ก็เปนศุขอันประเสริฐ “กามานํ สมติกฺกโม อสฺมิมานสฺส วินโย” ประการหนึ่งว่าบุคคลอันได้อุปธิวิเวกคือพระนฤพานแล้วแลล่วงเสียซึ่งกามคุณบันเทาเสียซึ่งมานะรงับได้สิ้นเสร็จ “ปรมํสุขํ” ก็เปนศุขอันอุดมล้ำเลิศประเสริฐเที่ยงแท้นักหนา “อชาติชรา” ดูกรบพิตรพระราชสมภาร บุทคลอันได้สำเร็จแก่พระอมตะมหานฤพานนั้น จะได้รู้เวียนตายเวียนเกิดเอากำเนิดสร้างรูปสร้างกายนั้นหามิได้ จะได้รู้แก่รู้ชรามีอินทรีย์อันวิกลวิปริตตามืดหูหนัก แก้มตอบผิวหนังหดหู่เปนเกลียวถอยกำลังวังชานั้นก็หามิได้ บุคคลอันสำเร็จแก่พระนฤพานนั้น มิได้รู้ป่วยรู้ไข้ มิได้รู้ความโสกาอาไลยร่ำไรไห้สอื้นเลย “สนฺตํ ปณีตํ” พระนฤพานนั้นเลอียดประณีตบรรจง ปราศจากทุกข์ปราศจากไภย “อจลํ” พระนฤพานนั้นมิได้หวั่นไหวด้วยอำนาจแท่งราคกิเลศ “รมฺมํ” พระนฤพานนั้นเปนอริยนิเวศน์ที่อยู่แห่งพระอริยเจ้าทั้งหลายประกอบไปด้วยความศุขสนุกนิ์สบาย “พฺรหฺมสุขํ” ศุขในพระนฤพานนั้นล้ำเลิศประเสริฐมิได้รู้แปรปรวน มิได้กลับกลายเหมือนศุขในสวรรค์ ศุขในพระนฤพานนั้นตั้งมั่นยั่งยืนเปนศุขละเอียดเปนศุขอันแท้ “นิพฺพานํ ปิยํ กโรหิปิ” บพิตรพระราชสมภาร จงรักใคร่ปราถนาในนฤพานศุขนั้นเถิด เมื่อมีพระพุทธฎีกาตรัสพระสัทธรรมเทศนาฉนี้แล้ว พระยาชมพูบดีได้ทรงฟังก็มีพระไทยเลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก ท้าวเธอก็เปลื้องเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้งห้าออกกระทำสักการบูชาสมเด็จพระมหากรุณา พระยาทั้งร้อยเอ็จพระองค์นั้นต่างองค์ต่างกระทำสักการบูชาสมเด็จพระมหากรุณาด้วยเครื่องสักการบูชาเปนอันมากกว่ามาก ฝ่ายพระยาชมพูบดีจึงกราบทูลถามสืบต่อไปเล่าว่า “ภนฺเต ราชาธิราช” ข้าแต่พระเจ้าราชาธิราชผู้ประเสริฐ พระเจ้าข้า ข้าพเจ้านี้ปราถนาจะใคร่ได้ซึ่งพระนฤพาน ทำไฉนข้าพเจ้าจึงจะได้พระนฤพานสำเร็จความปราถนา ดูกรบพิตรพระราชสมภาร ถ้าพระองค์จะปราถนาพระนฤพานจงสละสมบัติออกทรงบรรพชาเถิด “ปพฺพาเชสฺสามิ” พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าก็จะใคร่ทรงบรรพชาทำไฉนจะได้บรรพชาเล่า ดูกรบพิตรพระราชสมภาร บพิตรอย่าปริวิตกเลย ตรัสเท่าดังนั้นแล้ว พระองค์คลายเสียซึ่งอิทธาภิสังขาร พระนครอันใหญ่กว้างก็สูญหายกลับกลายเปนเวฬุวันมหาวิหารขึ้นดังเก่า ส่วนพระพุทธองค์นั้นกลับกลายเปนสมเด็จพระพุทธเจ้าโดยปรกติ ฯ

สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีเมื่อเห็นสมเด็จพระพุทธองค์อันยังเพศที่เปนกระษัตริย์ ให้อันตรธานหายกลับกลายเปนสมเด็จพระพุทธเจ้า ประดับด้วยทวดึงษมหาบุรุษลักษณะ แลพระอสีตยานุพยัญชนะรุ่งเรืองไปด้วยฉัพพรรณรังษีหกประการ ประดุจดังปริมณฑลพระจันทร์เมื่อวันเพ็ญเดือนสิบสอง พระยาชมพูบดีมีจิตรพิศวง ทรงพระราชดำริห์ว่า แท้จริงสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชนี้ท่านมีศักดานุภาพควรจะอัศจรรย์ยิ่งนัก ดูดู๋เปนคฤหัสถ์อยู่เมื่อตะกี้ บัดเดี๋ยวนี้มากลับกลายเปนบรรพชิตแล้วเล่า ฤทธิ์เดชนี้มากแท้จริงแล้ว ทรงพระดำริห์ฉนี้แล้วท้าวเธอก็ตั้งพระเนตรแลดูพระองค์สมเด็จพระมหากรุณาอยู่ในสถานที่นั้น

“ภควา” สมเด็จพระผู้มีพระภาคย์ ก็มีพระพุทธฎีกาตรัสสำแดงอานิสงส์บรรพชาว่า ดูกรบพิตรพระราชสมภาร บุคคลอันได้ทรงบรรพชาในบวรพุทธสาสนาพระตถาคตนี้ ผลานิสงส์นั้นมากกว่ามากนัก แม้นบุคคลผู้มีฤทธิ์ไปเก็บเอาดอกไม้สิ้นทั้งป่าพระหิมวันต์มากระทำสักการบูชาสมเด็จพระพุทธเจ้านั้นนับได้ถึงพันพระองค์ บูชาไปๆ ทุกวันๆ กว่าจะสิ้นชีวิตรของอาตมานั้นก็ดี อานิสงส์แห่งบูชานั้น ก็มิได้เท่าอานิสงส์แห่งบุคคลที่ทรงบรรพชาในพระบวรพุทธสาสนา “โกฏิพุทฺธานํ ททนฺโตปิ” แม้นถวายทานแก่สมเด็จพระพุทธเจ้า นับได้ถึงโกฏิพระองค์ก็ดี แลจะเอาผลนั้นมาเปรียบด้วยอานิสงส์แห่งบรรพชาในพระบวรพุทธสาสนานั้นเปรียบมิได้ ผลที่ทรงบรรพชาในพระสาสนานั้น ยิ่งกว่าผลที่ถวายทานแก่สมเด็จพระพุทธองค์ นับได้ถึงโกฏิพระองค์นั้นอิก แม้จะสร้างพระพุทธรูปอันใหญ่เท่าห้องจักรวาฬอันนี้แล้วแลบูชาด้วยแก้วเจ็ดประการสูงขึ้นไปเสมอเขาพระเมรุก็ดี เอาผลนั้นมาเปรียบด้วยผลแห่งบรรพชาก็เปรียบมิได้ ผลแห่งบรรพชาในพระสาสนานี้มากนัก แม้นผู้มีฤทธิ์จะเอาเขาพระเมรุมาเปนปากไก่ เอาท้องอากาศมาเปนใบลาน จะเอาแผ่นดินดาลมาเปนแท่งหมึก เอาน้ำในมหาสมุทเปนน้ำละลายจะจาฤกหมายซึ่งผลแห่งบุคคลทรงบรรพชาในพระบวรพุทธสาสนานั้นจนสิ้นดินฟ้ามหาสมุท ก็ยังไม่สิ้นผลแห่งบุคคลบรรพชาในบวรพุทธสาสนา “ปพฺพชิตผลํ อปริมาณํ” ผลแห่งทรงบรรพชาในบวรพุทธสาสนานี้จะนับจะประมาณมิได้ อาไศรยเหตุฉนี้ บรมบพิตรจงครองประเวณีสังฆรัตนะกล่าวคือทรงบรรพชาเปนภิกษุภาวะ เพื่อจะกระทำให้แจ้งซึ่งพระอมตะมหานฤพานกาลครั้งนี้ “เอหิ” เชิญบพิตรทรงพระภูษากาสาวพัตร อันเปนธงไชยแห่งพระอรหรรต์ แล้วเชิญบพิตรเสด็จไปทรงนั่งให้สบายในภายในพระอมตะมหานฤพานนี้เถิด นี่แน่บพิตรพระราชสมภาร ธรรมชาติอันบุคคลหายาก ๔ ประการ “พุทฺธุปฺปาโท ทุลฺลโภ” คือสมเด็จพระพุทธเจ้าได้มาตรัสในโลกนี้แต่ละพระองค์ ๆ นั้น บุคคลจะได้พบได้เห็นเปนอันยากนั้นประการ ๑ “ธมฺโม ทุลฺลโภ” พระสัทธรรมนี้ บุคคลจะได้พบจะได้เห็นจะได้สดับตรับฟังนั้น ก็ได้เปนอันยากประการหนึ่ง “ปพฺพชิโต ทุลฺลโภ” เกิดมาแล้วจะได้บวชได้เรียนในพระพุทธสาสนานี้ ก็ได้เปนอันยากประการหนึ่ง “สทฺธาสมปนฺโน ทุลฺลโภ” เกิดมาแล้วจะเปนคนดีมีศรัทธาเลื่อมใสเชื่อถือในคุณพระรัตนไตรย ยินดีในบวรพุทธสาสนานี้ก็ได้เปนอันยากประการหนึ่ง เปน ๔ ประการฉนี้ บพิตรพระราชสมภารได้ประสบพบเป็นพระธรรมชาตินี้หาได้ยากทั้ง ๔ ประการ ดังนี้ เชิญบพิตรมาไปสู่พระนฤพานกับด้วยพระตถาคตเถิด

“สตฺถุ ธมฺมกถํ สุตฺวา” ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าชมพูบดี เมื่อพระองค์ได้ทรงฟังพระสัทธรรมเทศนา ด้วยประการฉนี้ ก็ทรงพระดำริห์ว่า แท้จริง พระเจ้าราชาธิราชนี้ รักใคร่อาตมามากมาย บ้านเมืองร่างกายของเรานี้เราจะถวายแก่พระเจ้าราชาธิราชในครั้งนี้แล้ว พระเจ้าราชาธิราชนี้ ว่ากล่าวแต่ล้วนจะให้เปนประโยชน์แก่เราสำแดงหนทางอันเลิศรักเรานี้มากมายนักหนา ทรงพระดำริห์ฉนี้แล้ว ก็กราบทูลพระกรุณาว่า “อหํ อตฺตานํ นิยฺยาเทมิ” ข้าพเจ้านี้จะมอบเวรร่างกายถวายแก่พระองค์บัดนี้แล้ว สมบัติในเมืองปัญจาลราฐนั้น ข้าพเจ้าจะขอถวายแก่พระองค์ ตัวข้าพเจ้าก็จะบวชในสำนักนิ์แห่งพระองค์บัดนี้แล้ว “สพฺุพฺุตาเณน วิจาเรสิ” ขณะนั้นสมเด็จพระมหากรุณาก็ทรงอาวัชชนาการ พิจารณาดูอุปนิสสัยของพระยาชมพูบดี ด้วยพระสรรพพัญญุตญาณว่า พระยาชมพูบดีนี้จะได้สำเร็จ บาตรแลจีวรอันแล้วไปด้วยพระอิทธิฤทธิ์ ญาว่าหามิได้เปนประการใด พิจารณาไปก็แจ้งด้วยพระสรรพพัญญุตญาณว่า “อตีเตกาเล” ในอดีตกาลล่วงแล้วแต่หลัง “กสฺสปพุทฺธกาเล” ครั้งสาสนาพระพุทธกัศศปสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระยาชมพูบดีเธอบังเกิดเปนพ่อค้ากัมพล ครั้งหนึ่งพานิชนั้นเอาผ้ากัมพลไปเที่ยวขายในประเทศเมืองอื่น ไปพบสมเด็จพระพุทธกัศศปอันเสด็จไปทรงบาตร ก็มีจิตรปสันนาการเลื่อมใส จึงอาราธนาสมเด็จพระพุทธองค์เจ้าให้นั่งเหนืออาศนะอันตนตกแต่งด้วยผ้ากัมพลแล้ว ก็ถวายทานบิณฑบาตรแด่สมเด็จพระพุทธกัศศป ครั้นแล้วก็ถวายมีดเล่มหนึ่ง เข็มเล่มหนึ่ง ผ้ากัมพลผืนหนึ่งแด่สมเด็จพระพุทธเจ้า แล้วพานิชนั้นกระทำปนิธานความปราถนาว่า ข้าพเจ้ายังมิสำเร็จแก่พระอรหรรต์กราบใด อันความยาก ความทุกข์ ความเข็ญใจแล้วอย่าได้มีแก่ตัวข้าพเจ้าเลย พานิชปราถนาฉนี้ สมเด็จพระพุทธกัศศปเจ้าก็กระทำอนุโมทนาว่า ให้ท่านสำเร็จความปราถนาเถิด พานิชนั้นครั้นกลับมาเรือนก็บอกภรรยาให้อนุโมทนา ภรรยานั้นก็โสมนัศปรีดาอนุโมทนาทานแห่งสามีของตนแล้วก็ปราถนาว่า ขอให้ข้าพเจ้าได้พระนิพพานกับด้วยสามีนี้เถิด “ปจฺจุสกาเล” เวลาใกล้รุ่งวันนั้น สมเด็จอมรินทราธิราชก็ใช้ให้พระวิศุกรรมลงมานฤมิตรปรางค์ปราสาททั้ง ๔ ให้แก่พานิชผัวเมียในประเทศนั้น เมื่อพานิชผัวเมียได้เสวยสมบัติอยู่ในปรางค์ปราสาททั้ง ๔ นั้น เปนผาศุกกราบเท่าสิ้นอายุแล้ว ก็ได้ขึ้นไปบังเกิดในดาวดึงษ์สวรรค์ เสวยทิพยสมบัติในวิมานทอง สพรึบพร้อมด้วยแสนสุรางค์นางเทพธิดา “ยาวตายุกํ ตฺวา” อยู่ดาวดึงษ์นั้นกราบเท่าสิ้นอายุแล้ว ก็จุติจากสวรรค์ลงมาบังเกิดเปนพระยาชมพูบดีในครั้งนี้ ข้อซึ่งพระยาชมพูบดีได้ฉลองพระบาทแก้วมณีอันมีฤทธิ์เห็นปานดังนั้น ด้วยอำนาจอานิสงส์ที่ได้ถวายผ้ากัมพล แลข้อซึ่งได้พระขรรค์แก้วนั้น ด้วยผลานิสงส์ที่ถวายมีดตัดไม้สีฟัน ข้อซึ่งได้วิษศรนั้น ด้วยผลานิสงส์ที่ถวายเข็ม ตกว่าพระยาชมพูบดี ถึงซึ่งอิศรภาพในพื้นชมพูทวีปนี้ ด้วยผลานิสงส์แห่งกุศลผลบุญอันตนได้บำเพ็ญมาโดยนัยดังพรรณนามาฉนี้

สมเด็จพระมหากรุณา เมื่อพิจารณาเห็นว่าวาศนาบารมีของพระยาชมพูบดี สมควรแก่เอหิภิกษุบรรพชา “หตฺถํ ปสาเรตฺวา” สมเด็จพระพุทธองค์เจ้า จึงเหยียดออกซึ่งพระหัตถ์เบื้องขวา” จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า “มหาราช เอหิ นิพฺพานาภิมุโข” ดูกรบพิตรพระราชสมภาร เชิญบพิตรมานี่เถิด เชิญบพิตรผินพระภักตรเฉภาะสู่พระนฤพานบัดนี้เถิด “ตํ สุตฺวา” สมเด็จพระเจ้าชมพูบดี ได้ทรงฟังพระพุทธฎีกาตรัสดังนั้น ก็ได้ซึ่งปิตีอันมีพรรณห้าประการ บังเกิดแต่พื้นพระบาทกราบเท่าถึงพระเศียร “นิปติตฺวา” ท้าวเธอก็หมอบลงแทบพระบาทยุคลแห่งสมเด็จพระมหากรุณา งามเสมือนดังว่าลำกล้วยทองอันน้อมลงกราบทูลว่า ”ภนฺเต ภควา” ข้าแต่พระผู้ทรงพระภาคเปนอันงาม พระพุทธเจ้าข้า “มํปพฺพพาเชหิ” พระพุทธองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดประทานบรรพชาแก่ข้าพระองค์บัดนี้เถิด

สมเด็จพระมหากรุณามีพระพุทธฎีกาตรัสว่า “สฺวาขาเต ธมฺเม ทุกฺขสฺสนฺตํ พฺรหฺมจริยํ จเรหิ” ดูกรบพิตรพระราชสมภาร พระองค์จงประพฤติซึ่งสาสนพรหมจรรย์ในสาสนธรรม อันพระตถาคตตรัสเทศนาไว้ บพิตรจงกระทำให้สิ้นทุกข์สิ้นไภยวันนี้บัดนี้เถิด ฯ

ในกาลเมื่อสมเด็จพระมหากรุณามีพระพุทธฎีกาตรัสฉนี้ อันว่าบริกขารทั้งแปดประการก็ลอยมาสอดสรวมลงในกายของพระยาชมพูบดี ๆ ก็รับพระราชทานเอหิภิกษุบรรพชา ในบวรพุทธสาสนาในกาลครั้งนั้น

“ภควา ราชานํ ปพฺพาเชตฺวา” สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อบรรพชาพระยาชมพูบดีแล้ว ก็บรรพชาพระยาทั้งร้อยเอ็จพระองค์แลอำมาตย์แสนหนึ่งในลำดับนั้น ครั้นแล้วพระพุทธองค์ก็ทรงพระอาวัชนาการว่า กรรมฐานสิ่งใดหนอจะเปนที่สบายแห่งพระยาชมพูบดี พิจารณาไปก็เห็นแจ้งว่าพระยาชมพูบดีนี้ แต่ชาติก่อนได้บำเพ็ญกสิณบริกรรม ได้พิจารณาพระอนิจจังในกเฬวระทรากศพอันเน่าที่ลอยลงมาตามกระแสน้ำ พระยาชมพูบดีนี้มีวาศนาสมควรแก่อนิจกรรมฐาน สมเด็จพระบรมโลกนารถศาสดาจารย์พิจารณาเห็นฉนี้แล้ว ก็พระราชทานอนิจกรรมฐานว่า “ภิกฺขเว ปฺจกฺขนฺธา อนิจฺจา โหนฺติ สํขตา โหนฺติ ปฏิจฺจสมุปฺปนฺนา โหนฺติ” ดูกรสงฆ์ทั้งปวง “ปฺจกฺขนฺธา” อันว่าเบ็ญจขันธ์ทั้งห้า อันกุศลอกุศลกรรมประชุมตกแต่งอาไศรยกุศลอกุศลกรรม เปนปัจจัยแล้วแลบังเกิดนั้น ย่อมมีสภาวะเปนอนิจจังจะเที่ยงจะแท้นั้นหามิได้ “ขยธมฺมา วยธมฺมา” เบ็ญจขันธ์ทั้งห้านี้ มีสภาวะสิ้นสูญฉิบทายไปเปนอันเร็วพลันมิได้ตั้งอยู่นาน “พุพฺพุฬกราสิวิย” มีครุวนาดุจดังว่าฟองน้ำอันบังเกิดด้วยกำลังเกลียวน้ำ น้ำกระทบแล้วแลถึงซึ่งแตกทำลายไปเปนอันเร็วพลัน ถ้ามิดังนั้น “วิชฺชุปมา” มีอุประมาดังสายฟ้าแลบอันเร็วที่จะอันตรธานหาย “มายา โหติ” เบ็ญจขันธ์นี้ย่อมฬ่อลวงให้สัตวทั้งหลายลุ่มหลง “มริจิวิย” มีอุประมาดุจดังว่าพยับแดด อันฬ่อลวงซึ่งหมู่เนื้อ อันธรรมดาว่าหมู่เนื้อแลเห็นพยับแดดเมื่อเวลาตวันเที่ยงแลสำคัญว่าน้ำ แล่นไปด้วยกำลังอันเร็วพลันครั้นมิได้กินน้ำสำเร็จความปราถนา ก็ถึงซึ่งวิสัญญีภาพล้มกลิ้งอยู่กับที่ แลมีฉันใด สัตวทั้งหลายอันหลงด้วยเบ็ญจขันธ์นั้น ก็ถึงซึ่งวิสัญญีภาวะล้มกลิ้งอยู่ในไตรยภพโลก มิอาจยกตนออกจากสังสารโอฆนี้ได้มีอุประไมยดังนั้น ดูกรสงฆ์ทั้งปวง อย่าพึงประโยชน์ด้วยเบ็ญจขันธ์ พิจารณาให้เห็นว่า เบ็ญจขันธ์นี้หาแก่นสารมิได้ เปนเครื่องเปื่อยเครื่องเน่าสุจิอสุภัง เมื่อมีพระพุทธฎีกาตรัสบอกพระกรรมฐาน ด้วยประการฉนี้ พระยาชมพูบดีเถรได้รับประทานฟัง ก็บันลุถึงพระอรหัตตัดกิเลศธรรมทั้งปวงได้ขาดจากขันธสันดาน “สพฺเพราชาโนว อมจฺจา” ฝ่ายพระยาร้อยเอ็จพระองค์แลอำมาตย์แสนหนึ่ง แต่บันดาที่ได้บรรพชาในครั้งนั้นเมื่อได้รับพระราชทานฟังกรรมฐาน ได้สำเร็จพระอรหัตพร้อมสิ้นด้วยกัน

“พลนิกายา ชมฺพูปติตฺเถรํ วนฺทิตฺวา” ฝ่ายพวกพลนิกายทั้งหลายก็ชวนกันเข้าไปถวายนมัศการพระชมพูบดีเถรอำลาเพื่อจะกลับไปสู่บ้านเมืองแห่งตน พระชมพูบดีเถร ก็สั่งเนื้อความมาถึงพระราชบุตรแลพระอรรคมเหษีว่า ท่านทั้งปวงจงบอกว่าเรานี้ประพฤติซึ่งโลกุตตรประเวณีแล้ว ให้เจ้าศิริคุตรแลนางกาญจนเทวีแสวงหาซึ่งโลกุตตรประเวณีเหมือนเรานี้เถิด เมื่อพระชมพูบดีเถรสั่งเนื้อความฉนี้ พวกพลนิกายทั้งหลายนั้นกลับมาถึงพระนครแล้ว ก็กราบทูลแจ้งประพฤติข่าวสาส์นนั้นแก่นางกาญจนเทวี แลเจ้าศิริคุตรราชกุมาร นางกาญจนเทวีแลเจ้าศิริคุตรได้ฟังประพฤติข่าวสาส์น ก็เสด็จออกนอกพระนครกับด้วยเสนางคนิกรทั้งหลายเปนอันมากมาสู่สำนักนิ์พระชมพูบดีเถร สมเด็จพระมหากรุณาสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ใช้เจ้ามาฆสามเณรให้ย่อมรรคาเข้าให้ใกล้ นางกาญจนเทวีแลเจ้าศิริคุตรราชกุมารนั้น มาวันเดียวก็บันลุถึงสำนักนิ์ของสมเด็จพระมหากรุณา เมื่อเสด็จถึงจึงลงจากสุวรรณสีวิกากาญจน์ยานมาศมีนางทั้งหลายพันหนึ่ง เปนบริวารไปสู่สำนักนิ์สมเด็จพระมหากรุณา ถวายนมัศการสมเด็จพระพุทธองค์ แล้วก็กราบทูลถามว่า พระพุทธเจ้าข้า พระชมพูบดีเถรนี้อยู่ในสถานที่ใด ดูกรอุบาสิกาจงพิจารณาดูตามสำคัญแต่ก่อนนั้นเถิด ครั้งนั้นพระชมพูบดีเถรนฤมิตรรูปนั้นถึงพันหนึ่ง แล้วก็นั่งอยู่ในท่ามกลางแห่งรูปนฤมิตรทั้งปวงนั้น นางกาญจนเทวีนั้นทอดพระเนตรแสวงไปในระหว่างแห่งรูปนฤมิตร ก็มิรู้จักว่าองค์ไหนเปนพระชมพูบดีเถร เหตุว่ารูปนฤมิตรพันหนึ่งนั้น มีวรรณสัณฐานเหมือนกันกับพระชมพูบดีเถร สมเด็จพระมหากรุณาก็รู้แจ้งว่า นางกาญจนเทวีนั้นมิรู้จักพระองค์ พระชมพูบดีเถรจึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูกรพระราชเทวี “ปกฺโกสาหิ” ท่านจงร้องเรียกพระชมพูบดีเถรตามเคยเรียกแต่ก่อนนั้นเถิด นางกาญจนเทวีก็ร้องเรียกตามเคยเรียกมาแต่ก่อน เมื่อรู้จักองค์แห่งพระชมพูบดีเถรแล้ว นางกาญจนเทวีก็เข้าไปใกล้ถวายนมัศการพระชมพูบดีเถรโดยสัจเคารพ แล้วมาฟังพระสัทธรรมเทศนาในสำนักนิ์ของสมเด็จพระมหากรุณา พระนางมีศรัทธา จึงตัดมวยพระเกษแลปิ่นแก้วบูชาพระสัทธรรมเทศนาแล้วก็ขอบรรพซาอุปสมบท พระพุทธองค์ก็ส่งไปให้บวชในสำนักนิ์ของพระพิมพาเถรีภิกษุนี นางกาญจนเทวี ก็ได้สำเร็จพระอรหัตรผลในขณะที่ทรงบรรพชา ปรากฏในบวรพุทธสาสนา ได้บัญญัตินามชื่อว่านางกาญจนเถรี เจ้าศิริคุตรนั้นก็บรรพชาในสำนักนิ์แห่งพระชมพูบดีเถร ก็ได้สำเร็จพระอรหัต “สพฺเพ ปริสา” บริษัททั้งปวงอันเศษนั้น ก็ได้ประดิษฐานอยู่ในอริยมรรค ๔ มีโสดาเปนต้นเปนประธาน “พลนิกายา” อันว่าพลนิกายทั้งหลายนั้น ก็สมาทานเอาศีลห้าประการแล้วก็ชวนกันกลับมา

เอวํก็มี ด้วยประการฉนี้

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ