เรื่องของนักเรียนเมืองอังกฤษ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิรประพาศประเทศยุโหรป เมื่อปีรัตนโกสินทรศก ๑๑๖ ข้าพเจ้าได้รับพระราชทานพระมหากรุณา ให้ตามเสด็จพระราชดำเนิรเปนนักเรียนด้วยคนหนึ่ง แลเรื่องที่ข้าพเจ้าจะพยายามเรียบเรียงต่อไปนี้ เปนเรื่องนักเรียนไปเล่าเรียนที่ประเทศอังกฤษ ส่วนที่ข้าพเจ้าได้เห็นมาเอง จะเหมือนกับนักเรียนคนอื่นไปทั้งนั้นหามิได้ ข้าพเจ้าต้องขอออกตัวเสียแต่แรกก่อนว่า ข้าพเจ้าได้อยู่ที่เมืองอังกฤษสองปีครึ่งเท่านั้น เพราะฉนี้ทางที่ข้าพเจ้าเล่าเรียนนั้น อยู่ข้างจะตัดย่อ ๆ อยู่สักหน่อย หาได้เรียนกับครูไปรเวต แล้วไปไปรเวตสกูล แล้วไปปับลิกสกูล แล้วไปยุนิเวอซีตี อย่างธรรมดานักเรียนที่อยู่ ๘ หรือ ๑๐ ปีได้ไม่ ตามธรรมเนียมนักเรียนชาติอังกฤษเอง เขาก็มักไปโรงเรียนไปรเวตสกูล ปับลิกสกูลเสียก่อน แล้วจึงจะไปยุนิเวอซีตีต่อภายหลัง นักเรียนที่เรียนอย่างลัด ๆ เมื่อขึ้นไปอยู่ยุนิเวอซีตีใหม่ ๆ มักจะอยู่ฃ้างเอี้ยต้องทำการจัดมาก แต่ถึงอย่างนั้นกว่าจะไล่เขาให้ทันได้ก็ต้องนานทีเดียว.

เรื่องที่ข้าพเจ้าจะเรียบเรียงต่อไปนี้ ข้าพเจ้าหวังใจว่าจะให้เปนที่แนะนำ นักเรียนที่จะออกไปเล่าเรียนประเทศยุโหรปต่อไปบ้างเล็กน้อยด้วย เพราะฉนั้นต้องขึ้นต้นตั้งแต่อยู่ในเมืองไทยไป ข้าพเจ้าต้องกล่าวเสียแต่ต้นอิกครั้งหนึ่งว่า อะไร ๆ ที่ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไปนี้ เปนความเห็นของเอกชนทั้งนั้น จะถือเอาเปนตำราไม่ได้

เมื่อนักเรียนได้รู้ตัวว่าจะไปเมืองนอกแล้ว ธุระชั้นต้นก็คือหาเครื่องแต่งตัว ข้าพเจ้าต้องขอแนะนำว่า เสื้อผ้าที่จะหาไปแต่กรุงเทพ ฯ นั้น ยิ่งน้อยได้เท่าไรก็ยิ่งดี ขอให้พอใช้ตามทางเดือนหนึ่งกว่า ๆ เท่านั้น ข้าพเจ้าได้เคยเห็นมามากแล้ว ที่นักเรียนไปแต่กรุงเทพ ฯ ใหม่ ๆ หอบเอาเสื้อผ้าไปมาก ๆ แล้วไปเสียหมด ไม่ใช่เพราะตัดไม่ดีพอเท่านั้นเปนด้วยมักสั้นไปหรือคับไปหรือตึงตรงบ่า หรืออะไรอย่างหนึ่งเสมอ เสื้อของข้าพเจ้าเองที่ตัดออกไปนั้น แขนสั้น ตัวสั้น ตึงบ่า ฅอแบะลงไปข้างหลัง มีอาการประหลาดต่าง ๆ จนใช้ไม่ได้เอาจริง ๆ ต้องเก็บเข้าหีบหรือแจกคนที่ใส่ได้ต่อไป การที่เสื้อผ้าไปคับเช่นนี้ จะเปนด้วยไปตามทางอากาศทเลดีหรืออะไรไม่ทราบ แต่กว่าจะไปถึงยุโหรปมักอ้วนขึ้นไม่มากก็น้อยเสมอ ส่วนการที่ตัดดีหรือไม่ดีนั้น ไม่เปนปัญหา เพราะช่างเมืองฝรั่ง คงตัดเสื้อฝรั่งตามแบบฝรั่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอนั้น ดีกว่าช่างในเมืองไทยเปนแน่ ไม่ใช่เท่านั้นราคาที่ตัดในกรุงเทพฯนี้ก็ไล่เลี่ยกันกับราคาที่ยุโหรปด้วย เพราะฉนั้นข้าพเจ้าต้องแนะนำอย่างแน่นแฟ้นว่า ให้หาไปแต่พอใช้ตามทางเท่านั้น เก็บเงินไว้ไปหาเอาเมื่อไปถึงโน่นแล้วดีกว่า นักเรียนบางคนจะคิดว่าพวกที่ใช้เสื้อที่ตัดไปจากกรุงเทพ ๆ ไม่ได้นั้น เปนพวกฟุ่มเฟือยหาประโยชน์มิได้ ตัวเองเมื่อไปถึงจะขมิดชเมี้ยนใช้เสื้อเมืองไทยเสมอ จะตั้งหน้าเล่าเรียน ไม่ธุระเรื่องเสื้อผ้าแลเครื่องประดับกายต่าง ๆ เช่นนั้น ข้าพเจ้า ขอกล่าวว่าการที่นึกจะถนอมเงินให้ดีกว่าคนอื่นเช่นนั้นไม่ใคร่สำเร็จ เพราะข้าพเจ้าเมื่อก่อนออกไปก็ได้คิดอวดดีเช่นนั้นเหมือนกัน แต่หาได้ไปดีอยู่อย่างที่คิดไม่ เพราะเสื้อผ้าไปคับไม่สบายดังที่กล่าวมานั้นแล้วยังมิหนำซ้ำรู้สึกว่า เขาดูถูกว่าเปนคนปอนแลอะไรต่าง ๆ ด้วย.

ส่วนที่ว่าอะไรจึงจะพอไปใช้ตามทางนั้น ต้องเปนตามฤดูแลเปนตามคนขี้หนาวหรือไม่ ถ้าท่านผู้จะออกไปยุโหรปมีพวกพ้องที่เคยไปอยู่แล้ว ขอให้ท่านพวกพ้องแนะนำเปนดีกว่าอื่น ส่วนคนที่ไม่มีพวกพ้องเคยไปอยู่ยุโหรปแล้วนั้น ข้าพเจ้าขอแนะนำให้อ่านวชิรญาณเล่มหนึ่งฉบับหนึ่งตอนกิจการ มีแนะนำเรื่องเสื้อผ้าอยู่เสร็จแล้ว จะเปลี่ยนบ้างเล็กน้อยก็ตามความต้องการของท่านผู้ออกไปเอง เพราะคนหนึ่งก็ต้องใช้ของอย่างนี้มากกว่าอย่างนั้น ไม่เหมือนกับผู้อื่นไปทุกคน ถ้าท่านผู้ใดยังไม่พอใจ อยากจะขอให้ข้าพเจ้าช่วยแนะนำในเรื่องนี้บ้างแล้ว ข้าพเจ้าจะมีความยินดีช่วยโดยเต็มปัญญา.

เรื่องบรรทุกของลงหีบ มีข้อสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องระวังให้มาก คือในเรือเมล์เขาไม่ได้ยกหีบไปวางให้อย่างเรียบร้อย เพราะของมากต่อมากด้วยกัน ต้องจับโยน ๆ ราวกับลำเรือจะถล่มทลายหมด แต่ที่จริงเรือไม่ทลายมิได้ หีบของเรานั่นเองจะทลาย เพราะฉนั้นต้องยัดให้แน่นที่สุดที่จะแน่นได้ มีช่องตรงไหนก็ต้องใช้ผ้าหรืออะไรยัดให้หมด ถ้าไม่อย่างนั้นไปหีบแตกตามทางจะเกิดความใหญ่ หีบนั้นถ้ามีหีบผ้าหรือหนังก็ดี หีบสังกสีทนไม่ไหว ข้าพเจ้าจำได้ว่าเมื่อข้าพเจ้าออกไปเปนคราวไปกันมาก หาหีบอื่นไม่ได้ต้องใช้หีบสังกสี เปนเคราะห์ดีที่ได้ไปเรือพระที่นั่งมหาจักรกรีจนถึงยุโหรป ไม่ต้องเปลี่ยนเรือหีบไม่ใคร่ถูกโยน แต่อย่างนั้นกว่าจะถึงเมืองอังกฤษก็บอบแบบเต็มที.

นอกจากเสื้อผ้านักเรียนไม่ต้องคิดถึงอะไรอีก เว้นแต่เที่ยวลาพวกพ้องพี่น้องแลเจ้าขุนบุญนายตามธรรมดา เมื่อข้าพเจ้าไปเที่ยวลาได้ฟังอะไรแปลก ๆ มาก จนถึงบางทีต้องกลั้นหัวเราะ เช่นที่ว่าไปเมืองฝรั่งมันให้อดจนถึงต้องกินเนื้อลา เนยแขงเก่าจนมีตัว แลการที่ข้าพเจ้าจะออกไปนั้นกล้ามาก เพราะทราบอยู่แล้วว่าลำบากเท่าไร ไหนจะพลัดบ้านพลัดเมืองอิกเล่า เพราะฉนั้นให้เงิน ๓๐ หรือ ๔๐ บาทจะได้ซื้อขนมปังไปกินเมืองนอกดังนี้เปนต้น ที่ท่านผู้ใหญ่ปรารภเช่นนี้ก็เปนด้วยความกรุณา ข้าพเจ้าก็ทราบเต็มใจอยู่ แต่เมื่อกล่าวถึงอดต้องกินเนื้อลาคงจะหิวแลอะไร ๆ ที่น่ากลัวต่าง ๆ แล้วมิหนำซ้ำให้หอบขนมปังไปกินที่ยุโหรปด้วยแล้ว ถึงเราจะรู้สึกบุญคุณในการที่พลอยเปนทุกข์ไปด้วยเท่าไร ก็ยังอดเห็นขันไม่ใคร่ได้อยู่ดี เมื่อเราบอกว่าเมืองฝรั่งมันไม่อดเหมือนอย่างนั้นดอกก็ไม่เชื่อ เพราะแม่สีแกไปได้พอสาเปนผ้ว ฟอสาเปนพี่แม่แสงผัวแม่แสงชอบกับนายสน ๆ รู้จักคนเคยไปเมืองนอก ๆ เล่าให้นายสน ๆ เล่าให้ผัวแม่แสงต่อ ๆ กันมาเช่นนี้จะว่าไม่จริงได้หรือ คนที่ไม่เคยไปจะมารู้มากกว่าเพื่อนนายสนที่เคยไปอย่างไรได้ เมื่อถูกเข้าดังนี้ เราก็ต้องยอม เพราะถ้าจะเถียงว่าเมื่อเพื่อนนายสนเล่าให้นายสน ๆ เล่าให้ ฯลฯ ฯลฯ มาถึงหลายต่อดังนี้ จะยอมเชื่อว่าจริงหมดทั้งนั้นหรือก็จะเกิดไฟลุก เพราะฉนั้นเลยให้ท่านปรารภไปตามใจท่านดีกว่า สุภาษิตฝรั่งเขาว่านิ่งเสียนั้นเสมอกับได้ทอง.

ส่วนการที่เดิรทางไปมาในเรือเมล์อย่างไรนั้น ข้าพเจ้าไม่พรรณนาในที่นี้ ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ เรื่องโดยสารเรือเมล์ไปยุโหรป เคยลงมาในวชิรญาณเล่ม ๑ ดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาข้างต้นแล้วอย่าง ๑ ข้าพเจ้ายังไม่เคยโดยสารเรือเมล์ไปยุโหรปเองอย่าง ๑ เมื่อขากลับข้าพเจ้าได้มาเรือเมล์จริง แต่ข้าพเจ้าอยู่ข้างจะเคยกับฝรั่งรู้จักธรรมเนียมเสียมากแล้ว หาได้สังเกตไม่ว่ามีอะไรที่คนยังไม่เคยจะควรรู้บ้าง ถึงอย่างไรก็ดีต่อไปข้างหลัง ข้าพเจ้าตั้งใจจะเล่าถึงโดยสารเรือเมล์กลับเปนรายวันรยะทางของข้าพเจ้าบ้างเล็กน้อยเหมือนกัน.

คราวนี้ข้าพเจ้าต้องขึ้นต้น มาจะกล่าวบทไปถึงตัวข้าพเจ้าเอง. เมื่อออกจากกรุงเทพฯ เรือพระที่นั่งออกจากท่าราชวรดิตถ์ วันพุฒที่ ๗ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๖ เวลาเที่ยงครึ่ง ข้าพเจ้าได้ขนหีบเข้าของลงเรือแต่คืนวันที่ ๖ แล้ว เพราะฉนั้นวันที่ ๗ เช้า จึงออกจากบ้านแต่ตัวเปล่าไม่ต้องหอบหิ้วอะไร อยู่ข้างออกจะรู้สึกอกเต้นไม่ใช่น้อย ไหนจะตื่นที่จะไปยุโหรป ไหนจะออกลงมือคิดถึงบ้าน ดูรู้สึกสบายใจกับเสียใจพอก้ำกึ่งกัน ไม่ทราบว่าจะอย่างไรแน่ นอกจากว่าถ้าในเวลานั้นให้เลือกเอาว่าจะไปหรืออยู่ ก็เห็นจะเลือกไปเปนแน่ การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลง แลออกเรือพระที่นี่งมีเจ้านายแลข้าราชการตามส่งเสด็จนั้นมีอยู่ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว แลถึงข้าพเจ้าจะจดไว้ในสมุดรายวันก็ไม่มีบริบูรณ์ ต้องตกลงไม่เอามาพรรณนาในที่นี้.

ในระหว่างกรุงเทพ ฯ กับเมืองสิงคโปร์ ข้าพเจ้าจำอะไรที่จะพอเล่าไม่ได้ แลเมื่อตรวจดูในสมุดรายวันก็ไม่มีอะไรเหมือนกัน นอกจากว่าข้าพเจ้ายังเก่งมากไม่รู้สึกเมาคลื่นเลย ไม่ใช่เปนด้วยข้าพเจ้าเมาคลื่นไม่เปนมิได้ เปนด้วยไม่มีคลื่นจะเมานั้นเอง ถึงอย่างไรก็ดีข้าพเข้าออกรู้สึกอยู่เสมอว่ามีคลื่นเมื่อไรก็เมาเมื่อนั้น ไม่ต้องรอให้ช้าเสียเวลาไปเลย.

วันที่ ๑๑ เมษายนถึงเมืองสิงคโปร์ เสียงยิงสลูดหูแทบลั่น ดูเหมือนข้าพเจ้ายังไม่เคยได้ยินสลูดดังเท่านั้นเลย เปนด้วยข้าพเจ้าไม่เคยอยู่ในเรือที่ยิงสลูตก่อนวันถึงสิงคโปร์นั้นดอกกระมัง ที่จริงเห็นจะเปนอย่างนั้นเสียมาก แลเมื่อไปถึงเมืองสิงคโปร์เปนเมืองที่ไม่เคยไปรู้สึกอกเต้น ดูที่สุดจนสลูดก็พลอยดังกว่าธรรมดาไป.

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับที่เฮอริกันเฮ้าซ์เปนที่ใหญ่โต พวกเราตามเสด็จขึ้นอยู่ด้วยกันหมด ข้าพเจ้าเปนคนขี่ไบซิกลเปนอยู่แล้ว ไปเห็นถนนสิงคโปร์เข้าออกกระหยิ่มใจนึกอยากขี่เต็มที พอเวลาบ่ายกินเข้ากลางวันเสร็จแล้วยังไม่ทันไร ก็รีบผลัดสวมกางเกงสักหลาดอ่อน เลือกรถถีบ ที่มีอยู่ในเฮอริกันเฮ้าซ์ได้พอเหมาะ ขึ้นขี่ออกไปตามถนนดูสบายมาก ที่จริงข้าพเจ้ายังไม่สู้ชำนาญ แต่เผอินเคราะห์ดีผีคุ้ม หาโดนรถเจ๊กหรือเสาโคมอะไรไม่ เปนแต่ตรงเลี้ยวจวนจะขี่ลงท้องร่องครั้งหนึ่งเท่านั้น ถนนสิงคโปร์อยู่ข้างจะเรียบพอใช้ได้ ข้าพเจ้าเลยออกสนุกไม่ขี่แต่ไป ๆ มา ๆ อยู่ใกล้ ๆ ไพล่เข้าไปในเมือง ตั้งใจว่าจะไปซื้อของตามห้างฝรั่ง แต่หาไปห้างฝรั่งไม่ เลยไปทางถนนอะไรไม่ทราบเต็มไปด้วยรถเจ๊กทั้งนั้น เหลียวไปซ้ายก็เจ๊กขวาก็เจ๊ก ข้าพเจ้าก็เลยหันรถกลับจะไปบ้าน แต่ไปไม่ถูกเลยเที่ยววนเวียนอยู่นานเต็มที หยุดถามทางที่ไม่มีใครพูดอังกฤษได้ ถูกส่งภาษามาลายูบ้าง ภาษาจีนบ้าง ข้าพเจ้าไม่เข้าใจสักคำเดียว ต้องเที่ยววุ่นอยู่นาน จนไปพบฝรั่งเข้าคนหนึ่ง ข้าพเจ้าหยุดรถถามเปนภาษาอังกฤษ เขาเข้าใจแต่ครั้นเขาพูดมาบ้างดูเสียงแปลกนัก ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่ากระไร ได้ความเปนเค้า ๆ แต่ว่าไม่ทราบเฮอริกันเฮ้าซ์อยู่ที่ไหน ข้าพเจ้าเลยตกลงในใจว่า อีตานี่พูดอังกฤษเสียงออกเปนกะเหรี่ยงก็แค่นจะพูดกับเขาด้วย หนีแกไปเสียดีกว่า เลยขึ้นรถเที่ยววงเวียนต่อไป จนไปพบพ่อเจ้าประคุณอังกฤษแท้ ๆ เข้าคนหนึ่ง ข้าพเจ้าหยุดถามทางเขาชี้ให้ไปทางนั้น ๆ แล้วเลี้ยวทางนั้นลงถนนนั้นโดยจะแจ้ง ข้าพเจ้าแทบจะยกมือไหว้ ตั้งแต่นั้นไม่ช้าก็ไปถึงที่พัก.

รุ่งขึ้นเปนวันสุดท้ายที่พักอยู่ในเมืองสิงคโปร์ ตัวข้าพเจ้าเอง พอตื่นเช้าก็ลืมเรื่องความลำบากที่ถูกมาเมื่อวานนี้หมด ขึ้นรถถีบไปเที่ยวขี่ไปขี่มาอีก แต่คราวนี้รวังตัวมาก ไม่ถึงกับหลงกลับบ้านถูก กลางวันวันนี้มีพระราชทานเลี้ยงเข้าแช่ ด้วยเปนวันสงกรานต์ พวกเรากินเข้าแช่วันนั้นเปนครั้งที่สุด เพราะกว่าจะได้กินอิกหลายปีทีเดียว ไม่ใช่เพราะเราทำเข้าแช่ที่เมืองนอกไม่ได้ เพราะถึงเราจะหาของทำเครื่องเข้าแช่ไม่ได้พร้อมก็คงหาได้บ้าง แลเมื่อเอาน้ำเย็นใส่ลงไปในเข้า จะกินกับอะไรก็เรียกเช้าแช่ได้เหมือนกัน แต่ว่าเมืองหนาวกินเข้าแช่ไม่อร่อยอย่างหนึ่ง แลอยู่เมืองนอกกินกับเข้าเช่นเข้าแช่แล้วมักเกิดความทำให้ไม่สบายภายหลังด้วย แต่กินเข้ากับกับธรรมดาก็ไม่ใคร่จะได้การอยู่แล้ว เมื่อถึงกินผักดิบมากๆ แล้วยังมิหนำซ้ำมีพริกชุบไข่ แลของเช่นนั้นด้วยแล้วยิ่งไม่ได้การใหญ่.

เวลาบ่ายวันนั้น ข้าพเจ้าได้ไปเล่นลอนเต็นนิซกับคนรู้จักคนหนึ่ง ที่คลับเมืองสิงคโปร์ ไม่ได้เล่นมาหลายวันดูออกสนุกมาก ข้าพเจ้าจำได้ว่าคนที่เล่นด้วยนั้นสู้ข้าพเจ้าไม่ได้ ออกดูพื้นเสียใหญ่.

รุ่งขึ้นออกจากสิงคโปร์ เรือมกุฎราชกุมารตามออกมาหน่อยหนึ่ง แล้วยิงสลูดดูทำให้ละเหี่ยใจมากเต็มที ข้าพเจ้าเห็นถึงกับมีข้าราชการท่านหนึ่งหรือสองท่านยืนทำตาคลอๆ จะเปนด้วยคิดถึงใครข้างบ้าน ข้าพเจ้าไม่ทราบด้วย.

ระหว่างสิงคโปร์กับลังกา ข้าพเจ้าเปิดดูสมุดรายวันไม่มีอะไรเลยบอกแต่ว่าเมาคลื่นเท่านั้น ทเลที่เรียกอ่าวเบงกอล ไม่ใช่ทเลที่สร้างไว้สำหรับให้ข้าพเจ้าเปนสุขเปนแน่ เพราะตลอดตั้งแต่วันออกจากสิงคโปร์ไป จนเวลาในเมืองกอลที่เกาะลังกา ข้าพเจ้าไม่ได้รู้สึกสนุกสักนิดเดียว เมื่อวันแรก ๆ ทเลดูราบเปนแก้วคลื่นอยู่ที่ไหนแลหาก็ไม่ใคร่พบ แต่มีคลื่นใต้น้ำซัดข้าง ๆ เรือโคลงไปข้างโน้นทีข้างนี้ที ทำให้เราคิดว่าแคมจะตักน้ำทุกทีต้องภาวนาเกือบตายแล้วก็ไม่หาย ดูเหมือนอะไรไม่สนุกกว่านี้คงจะไม่มีแล้ว ตัวข้าพเจ้าเองยังดำรงกายไปกินเข้าในห้องเลี้ยงได้เสมอ เพราะฉนั้นจะเรียกว่าเมามากนักก็ไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็พออยู่แล้ว พวกที่เมามาก ๆ กว่าข้าพเจ้าไม่ใช่ลงไปกินเข้าในห้องเลี้ยงไม่ได้อย่าง เดียวซ้ำลุกไม่ขึ้น กินไม่ได้เสียทีเดียว เลยไม่ต้องลำบากไปอย่างหนึ่ง เขาว่าเมาคลื่นไม่กินเข้าเท่าไรก็ไม่ตาย แต่ข้าพเจ้ายังไม่เชื่อตรงข้อนี้นัก.

วันที่ ๑๙ ถึงเมืองกอล เปนเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่งในเกาะลังกา คลื่นตรงนี้จัดมาก เรือพระที่นั่งต้องทอดไกลฝั่ง เพราะตื้นเข้าไปมีก้อนหินเที่ยวเกะกะอยู่ทุกหนทุกแห่ง เวลาเรือแล่นก็ว่าโคลงพอใช้ได้อยู่แล้ว ครั้นทอดสมอเข้าดูยิ่งโคลงใหญ่ ตัวข้าพเจ้าเองถึงจะเมาคลื่นก็ไม่สู้กระไรนัก เพราะตื่นว่าจะได้เปนพวกขึ้นบก กินเข้าในเรือไม่ได้ก็ไปกินบนบก ไม่โคลงไปโคลงมาสบายใจออก ถึงกับสงสารพวกเดียวกันที่ไม่ได้ขึ้น อยู่ข้างจะทำท่าโตมาก เมื่อเรือพระที่นั่งทอดเสร็จแล้ว ไม่ช้าก็เอาเรือโบดลง พวกที่จะขึ้นฝั่งลงเสร็จแล้ว ออกตีกรรเชียงอยู่นานกว่าจะถึงตลิ่ง ต้องเดิรตามซอกหินไปมาลำบากมาก พวกชาวลังกาพอเห็นพวกเรามาถึงก็รีบออกเรือมาพบตามทาง ชูกระดาดคล้ายกับว่าถือหนังสือมาให้ แต่ไม่ใช่มิได้เปนแต่ก๊าดว่ามิศเตอร์คนนั้น เปนคนนำทางจะขอพาไปเที่ยวในเมืองแล้วแต่จะโปรด พวกเราก็ไม่ธุระด้วย ตีกรรเชียงเฉื่อยไปจนถึงตลิ่งเข้าไปในอ่าวจอดเรือขึ้นบกแล้ว มีคนมาตอมเหมือนมด เปื้อนโคลนก็มี เปนแผลเน่าๆ ก็มี อยู่ข้างจะอุจาดโดยมาก ต่างคนต่างเข้ามาทำตาพองพูดว่ากระไรไม่ทราบ บางคนพูดอังกฤษ บางคนพูดภาษาสิงหฬ ราวกับว่าพวกเราจะไปเข้าใจภาษาเช่นนั้น ตกลงใจความว่าต่างคนต่างจะขอชี้ทางให้ หรือจะเรียกรถหรือเกวียนวัวให้ ดูเหมือนถ้าจะขี่ฅอก็คงจะรับ พวกเราลงท้ายถูกกลุ้มรุมเหลือกำลังที่ทนได้ ตกลงต้องเลือกเอาอีตาคนหนึ่งรูปร่างค่อยหมดจดหน่อย แล้วพูดอังกฤษได้เสียงคล้าย ๆ กับนกปรอต ให้เปนคนนำทางแล้วให้ไล่คนอื่นที่มาสามิภักดิ์เหล่านั้นไปเสียด้วย.

เมื่อเราได้คนนำเช่นนั้น แลเจ้าพวกคนอื่นเห็นท่าจะหากินไม่ได้แล้ว ก็กระจายกันออกไปพอมีทางให้เราเดิรไปโดยสดวก ไม่มีคนนั้นขวางคนนี้ขวางอย่างเมื่อแรกขึ้น แต่ถึงกระนั้นไม่ว่าเราจะก้าวย่างไปทางไหน ยังมีคนตามกันยืดราวกับดูอิเหนาเข้าเมือง อยู่ข้างจะรู้สึกไม่เปนศุขเต็มที ถึงอย่างไรก็ดีเราก็ไปตีโทรเลข แลซื้อเข้าของตามที่ต้องการเสร็จแล้ว ก็ไปที่โฮเต็ลชื่ออะไรก็ลืม เพื่อจะได้พักกินอาหารกลางวัน พบคนมาขายของเปนอันมาก ตั้งที่เฉลียงโฮเต็ล คล้ายกับภูเขาทองเรานี่เอง ของที่เอามาขายนั้นมีช้างรูปคล้ายๆ หมู แกะด้วยไม้ดำ ๆ บ้าง งาบ้าง ตั้งแต่ตัวเล็กไปจนตัวใหญ่ สูงเกือบคืบ ๖ นิ้วก็มี หรือบางทีจะใหญ่กว่านั้น เจ้าของบอกว่าเปนของงามที่สุดแลเหมือนช้างจริง ๆ ราวกับว่าพวกเราเกิดมายังไม่เคยเห็นช้างฉนั้น ! เครื่องกระต่าง ๆ อยู่ข้างจะทำดี ๆ น่าดูพอใช้ได้ มีหวี กล่องไม้ขีดไฟ แลหีบสำหรับใส่ก๊าดชื่อเปนต้น หวีแลกล่องไม้ขีดไฟนั้นจะใช้ได้จริง ๆ หรือไม่ ข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่หีบใส่ก๊าดนั้นข้าพเจ้าทราบแน่ว่าใช้ไม่ได้มากกว่าได้ เพราะข้าพเจ้ามีอยู่ใบหนึ่งใช้ไม่ได้ยังอยู่จนป่านนี้ เพราะทำผิดส่วนก๊าดที่ใช้กันอยู่ตามธรรมดา ใส่ก๊าดเข้าแล้วปิดไม่ได้ ถ้าจะสั่งก๊าดให้เล็กลงหีบนั้นได้ก็เปนเหลือกำลัง ซ้ำจะเปนการอุดหนุนการช่างอันไม่ถูกส่วนไปด้วย นอกจากของเบ็ดเตล็ตเช่นนั้น ยังมีเครื่องเพ็ชรพลอยมาก เขาว่าพลอยที่เรียกว่ามูนสโตน (ดูเหมือนเราเรียกเพ็ชรจันทร์หรือพลอยจันทร์ อะไรอย่างหนึ่ง) กับนิลหาได้ดีๆ พอใช้ได้ แต่ข้าพเจ้าเกรงว่า ข้าพเจ้าเองหามีความรู้จะชี้ว่าดีหรือไม่ดีได้ไม่ ส่วนเครื่องตุ้มหูกำไลมือนั้น เขาว่าเปนแต่หลอกว่าของลังกาเท่านั้น ที่จริงมาจากเมืองเบอมิงแฮมโดยมาก การที่ว่ามาจากเมืองเบอมิงแฮมนั้น แปลว่าเปนของเก๊ เพราะเมืองเบอมิงแฮม เปนเมืองมีชื่อเสียงว่าทำของเก๊เช่นนั้นเก่งมาก ในภาษาอังกฤษ ถ้าออกชื่อว่าเพ็ชรเบอมิงแฮมแล้วก็แปลว่าเพ็ชรเก๊เรานี่เอง.

พวกที่จะออกไปจากยุโหรปจะซื้อของเบ็ดเตล็ดลังกาที่มาขายเช่นนี้ไปบ้างก็ควร เพราะไปไว้ตั้งโต๊ะเปนของต่างประเทศเอาไว้ดูเล่นได้ แลจะได้เปนที่อวดว่าข้านี้เปนคนเคยไปเมืองลังกาด้วย เพราะฝรั่งถ้าเคยไปไหนมาแล้ว มักจะเก็บของไม่ว่ากระโหลกกระลาหรือรูปต่าง ๆ ในเมืองนั้นมาอวดว่าตนได้เคยไปเที่ยวสำหรับผู้ที่ไม่มีทุนพอจะไปเที่ยวได้ จะได้ยกมือท่วมหัวว่าเจ้าประคุณท่านเคยไปเที่ยวเมืองโน้นเมืองนี้มา.

การที่จะซื้อของเช่นนั้น ต้องจำตำราซื้อของสำเพ็งไว้ คือถ้าบอกว่าราคา ๑๐ รูปี ก็ตอบว่า ๓ รูปีเถิด ถ้าเกี่ยงงอนไม่ให้ก็ขึ้นไปอิกครึ่งรูปีเช่นนี้ จึงจะเปนการเสียเปรียบน้อยเข้า เราต่อของเจ๊กสำเพ็งฉันใด ก็ต้องต่อพวกลังกาฉันนั้น ว่าที่จริงพวกเราไปจากทางตวันออกนี้ ไม่สู้เสียเปรียบเรื่องนี้เท่าไร เพราะเราเคยซื้อของถูกผ่านมามากแล้ว เปนอันเข้าใจที่จะต่อลดราคาลงมาได้ พวกฝรั่งที่เคร่งมาจากลอนดอนใหม่ ๆ เปนต้นนั้น อยู่ข้างจะถูกเข้ายับเยิน เพราะจะต่อก็ดูเปนเสียเกียรติยศไป ออกขยะแขยงในใจ ช้างแกะเปนตัวแล้วราคาก็เพียงเท่านั้น ถ้าเทียบกับราคาลอนดอนก็ถูก ถึงจะต่อก็ไม่ลดลงไปเท่าใด ตกลงซื้อตามราคาที่ผ่านนั้น บางทีถ้าต่อสักคำเดียวจะลดลงไปได้ครึ่งหนึ่ง ราคาที่บอกก็บอกสำหรับให้ต่อ จะเสียหายไปตรงไหนข้าพเจ้าเองก็แลไม่เห็นเหมือนกัน.

กับเข้าในโฮเต็ลที่เมืองกอลนั้น เปนกับเข้าฝรั่งแกมแขกเรียกว่ากับเข้าฝรั่ง แต่ดูเหมือนจะแขกมากกว่าฝรั่งกิน ดูอร่อยเต็มที่ ด้วยได้นั่งกินตรง ๆ ไม่โยกไปโยกมาอย่างในเรือ ถึงจะเห็นคลื่นอยู่ใกล้ ๆ นั้นก็ไม่ต้องธุระ ถ้าเทียบกับที่ถูกมาในวันสองวันนั้นแล้วเปนความศุขพิเศษมาก.

พอเรากินอาหารจวนจะเสร็จ ก็มีพวกขึ้นมาจากเรืออิกพวกหนึ่ง เปนพวกที่จะขึ้นรถไฟไปโกลัมโบในวันนั้น ข้าพเจ้าก็ได้เปนพวกไปทางบกด้วย รู้สึกสบายใจเห็นจะคล้ายกับเมื่อจะขึ้นสวรรค์นี่เอง แต่ไม่ใช่เพราะคิดว่าเมืองโกลัมโบเปนเมืองสวรรค์มิได้ เปนด้วยออกคร้ามทเลเหลือกำลังแล้ว เมื่อจะได้อยู่บนบกอิกสามสี่วันเช่นนั้น ใครเลยจะอดรู้สึกสบายใจได้.

รถไฟออกจากเมืองกอลเวลาบ่ายโมง ๑๕ นาที มีคนโดยสารมากพอใช้ได้ ในห้องที่เราอยู่มีด้วยกันถึงเจ็ดแปดคน พวกเราก็สามคนเท่านั้น มีฝรั่งนายทหารสามหรือสี่คนเห็นเราเข้าไปก็แลดู แล้วก็มไปพูดกระซิบกระซาบกันอยู่ข้างจะเปนกิริยาดีเหลือรับ พวกเราเลยพูดไทยนินทาเจ้าดัง ๆ นั่นเอง ดูท่าเจ้าพวกนั้นก็ไม่ใคร่ชอบเหมือนกัน.

นอกจากพวกฝรั่งนั้น มีแขกสองคนแต่งตัวหรูหรา จนข้าพเจ้าอดที่จะกล่าวในที่นี้ไม่ได้ เข็มปักฅอทับทิมมีเพ็ชรรอบใหญ่สักครึ่งผ้าผูกฅอ แล้วมิหนำซ้ำใส่แหวนกบมือมีลูกดุมข้อมือเพ็ชรแลอะไร ๆ เพ็ชร ไปจนแทบจะเกือกประดับเพ็ชร เลยเราต้องตกลงว่า ที่ฝรั่งเขาว่าชาวตวันออกเรามักจะแต่งตัวหรูหราใช้เพ็ชรพลอยเกินที่สมควรกับผู้ชายไปนั้น อยู่ข้างจะจริงมากกว่าไม่จริง ถึงพวกเราเองว่าที่แท้แล้วก็อดใส่ลูกดุมเพ็ชรไม่ใคร่ได้เหมือนกัน ตรงนี้ข้าพเจ้าขอกล่าวแก่นักเรียนที่จะออกไปเมืองอังกฤษต่อไปหน่อยว่า เครื่องเพ็ชรพลอยนั้นเอาเงินไปซื้อเสื้อหรือเกือกดี ๆ ใส่เสียดีกว่า เพราะถ้าเราใส่ดุมเพ็ชรเปนต้นไปแล้ว เขาไม่ใช่แต่เห็นไม่งามอย่างเดียว กลับเห็นเปนหยาบเปนไพร่อะไรไปต่าง ๆ ด้วย ชาวอังกฤษมักชอบแต่งตัวให้สอาด แต่ไม่ให้หรูหราไปด้วยเพ็ชรพลอย แลเมื่อเราไปอยู่ในเมืองใดควรจะประพฤติตามอย่างเมืองนั้น.

แขกสองคนที่กล่าวมานั้น มีแต่งตัวประหลาดที่ข้าพเจ้าสังเกตอิกอย่างหนึ่ง คือเมื่อนุ่งกางเกงอย่างฝรั่งแล้ว มีสักหลาดผืนๆ พันข้างนอกอย่างแขกมาลายูหรือแขกที่ตัดหญ้าอยู่ตามบ้านเรานี้อิกชั้นหนึ่ง ผ้าที่พันนั้นไม่ใช่โสร่งเปนสักหลาดอย่างเดียวที่ตัดกางเกงนั้นเอง ข้าพเจ้าเกิดสงสัยเลยสังเกตต่อไปก็เห็นบางคนพัน บางคนไม่พันอยู่ข้างจะยุ่งเหยิงกันอยู่ ในเวลานั้นข้าพเจ้าหาได้ไต่ถามไม่ แต่เมื่อไปถึงเมืองอังกฤษแล้วขึ้นไปอยู่ยุนิเวอซีตี ไปพบแขกลังกาเปนลูกเศรษฐีคฤหบดีอะไรชิ้นหนึ่ง ถามเรื่องผ้าพันนี้จึงได้ความว่า แต่เดิมเมื่อชายชาวลังกาลงมือใช้เครื่องแต่งตัวอย่างทิศตวันตกใหม่ ๆ ที่ไม่ได้ใช้ผ้าพันนี้ ภายหลังมาเจ้าพวกชิ้น ๆ มารำพึงว่า พวกตัวผู้เปนชาติผู้ดี คือชาติสิงหฬแท้ที่ใส่กางเกง พวกครึ่งชาติที่ถือว่าเปนชาติต่ำ ก็ใส่กางเกงดูไม่มีแปลกกันดังนี้ ทำไมจะให้มนุษย์อื่นรู้ได้ว่าใครเปนสิงหฬแท้ ใครเปนครึ่งชาติ จะมิปะปนกันไปหมดหรือ เพราะฉนั้นพวกสิงหฬควรจะแต่งตัวอย่างไร ให้ผิดออกไปเสียอย่างหนึ่ง ตกลงเลยเอาสักหลาดพัน ดังที่กล่าวมานั้น นี่เปนเคราะห์ดีที่พวกสิงหฬเหล่านี้ ไม่ได้มาอยู่ตามเมืองเราเหล่านี้ หาไม่จะมาเหมือนแขกตัดหญ้าเข้าอิก บางทีจะต้องใส่เสื้อไม่มีแขน หรือมีแขนใหญ่ หรือไว้หางเปียอะไรให้ผิดกับคนอื่นอิกต่อไป.

เมื่อไปถึงโคลัมโบบ่ายวันนั้น ได้ไปพักอยู่ที่โฮเต็ลชื่อ แกรนด์ โอเรียนแตล ซึ่งสมมุติว่าเปนโฮเต็ลใหญ่ที่สุดในเมืองนั้น รุ่งขึ้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิรถึงมีการรับเสด็จครึกครื้น ตามที่แจ้งอยู่ในรายงานเสด็จพระราชดำเนิรแล้วนั้น

รุ่งขึ้นเสด็จพระราชดำเนิรแกนดี วันที่ ๒๒ เสด็จพระราชดำเนิรกลับโกลัมโบ วันที่ ๒๓ เรือพระที่นั่งออกจากเกาะลังกา ต้องทนคลื่นไปอิกหลายวัน เมื่อแรกออกทเลอยู่ข้างจะร้ายอยู่ด้วย ข้าพเจ้าเชื่อว่าทเลที่ลังกาเปนบ้าไม่มากก็น้อยอยู่เสมอ เพราะเมื่อซ้าพเจ้ากลับมาก็ถูกพยุจัดเต็มทีเหมือนกัน.

เมืองแกนดีที่กล่าวมานี้ เปนเมืองงามเมืองหนึ่งในเกาะนั้น ถ้าใครไปลังกาไม่ไปดูแกนดีแล้วเปนเสียไปมาก ทางรถไฟเลียบไปตามเขาแลลึกลงไปเห็นสวนชา แลการเพาะปลูกอื่น ๆ ดูงามมาก เมืองแคนดีสูงกว่าเมืองโกลัมโบขึ้นไปเท่าไรก็จำไม่ได้ แลเวลานี้หาหนังสือที่จะค้นดูยังไม่พบ เปนอันยอมไม่รู้ไปคราวหนึ่ง ถึงอย่างไรก็ดี ทางตั้งแต่โคลัมโบไปแคนดีนั้นต้องขึ้นเขาตลอด ขาลงรถไฟไม่ต้อง เดิรเครื่องจักรก็แล่นไถลลงไปเอง เร็วเท่ากับเดิรเครื่องจักรเหมือนกัน ถ้าเปนรถไบซิกลจะดีมาก ในเมืองแกนดีมีทเลสาปอยู่ทเลหนึ่ง ดู ๆ เหมือนสระมากกว่าทเลสาป แลทำไมเขาถึงไม่เรียกสระเอาง่าย ๆ ข้าพเจ้าไม่ทราบ ในทเลสาปนี้จะมีผี หรือเงือก หรือยักษ์ หรือจรเข้อะไรอย่างหนึ่งก็ไม่ทราบแน่ แต่ปีหนึ่งต้องมีคนไปตายเสียสองคน ถ้าไม่โดดน้ำตายก็ตกน้ำตาย หรือแมลงอะไรกัดตายอย่างหนึ่ง เขาว่าเมื่อปีที่แล้วมานี้จนจะสิ้นปีอยู่แล้วยังไม่มีใครไปตาย ดูท่าจะเกิดความใหญ่ พอมีคนเจ้ากรรมอะไรสองคนไปโดดน้ำตายเสียทัน เลยปีนั้นเปนอันแล้วกันไป แขกลังกาที่อยู่ที่ยุนิเวอซีตีกับข้าพเจ้านั้น มีเค้าค่อนข้างเชื่อเรื่องคนต้องตายปีละสองคนนี้อยู่ด้วย ถ้าพูดอย่างล้อ ๆ เข้าแล้วดูเหมือนจะไม่ใคร่ชอบ.

ระหว่างวันศุกร์ที่ ๒๓ เมษายน กับวันเสาร์ที่ ๑ พฤษภาคมนั้น ในวันตั้งแต่ออกจากโกลัมโบไป ถูกคลื่นตีข้างอย่างตำราเก่าข้าพเจ้าเองต้องนอนไปตลอดเวลา นึกเศร้าโศกถึงตัวว่าชีวิตมนุษย์เรานี้ ก็เมื่อยังมีความลำบากโงหัวไม่ขึ้น มาปะปนอยู่กับความสนุกสบายอยู่เช่นนี้ จะเรียกว่าการที่เกิดมานั้นเปนการดีแท้ได้แล้วหรือ มนุษย์เราในเวลานี้ก็มีความรู้สูงมากแล้ว ทำไมไม่คิดทำอะไรขึ้นสักอย่างหนึ่งให้การไปทเลไม่เปนการทนทุกขเวทนาเช่นนี้ เมื่อไม่มีใครคิดแล้วเราลองคิดดูเองบ้างจะได้กระมัง เลยลงมือคิดว่าจะเอาอะไรมาทำเปนอย่างไร จึงจะให้เรือทนคลื่นไม่โคลงเคลงไปมาเช่นนั้นก็ไม่สำเร็จ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเปนการดีไปอย่างหนึ่ง เพราะไม่เอาใจไปทำวนเรื่องคลื่นอยู่ได้เปนครั้งเปนคราว ดูค่อยยังชั่วขึ้น.

เมื่อใกล้เมืองเอเด็นเข้าไปแล้วทเลก็เรียบเข้า ข้าพเจ้าเลยลืมแปลนที่จะประดิฐอะไรให้เปนเครื่องกันเมาคลื่นนั้น การไปทเลนี้เมื่อทเลเรียบลงหรือขึ้นบกเสียแล้วเมื่อใด ก็เปนอันลืมทุกขเวทนาหมด แต่ส่วนคราวนั้น ๆ เมื่อข้าพเจ้าหายเมาคลื่นแล้วกลับเกิดไม่สบายขึ้นอิกอย่างหนึ่ง ซึ่งจะได้นำมากล่าวในที่นี้ด้วย สำหรับผู้ที่ไม่เคยจะได้จำไว้ระวังตัว.

การเดิรทเลทางไกล ๆ นั้นถ้าเมาคลื่นเสียก็แล้วไป ถ้าไม่เมาคลื่นแล้วไม่มีอะไรทำ มีแต่นึกถึงอาหารอยู่อย่างเดียว กินก็ได้ครั้งละมาก ๆ ด้วย ในเรือไม่มีอะไรจะทำที่พอจะให้เลือดเดิรเร็วเข้า ให้อาหารละลายทันกำหนดที่กินบ่อย ๆ นั้นได้ เลยเกิดโรคที่เรียกอาหารไม่ละลายเปนการลำบากมาก แลเมื่อกินเนื้อซ้ำ ๆ เข้าไปแล้วอาจจะพาให้เปนบิดเอาใหญ่โต.

คนที่อยู่บนบกก็ไม่ใคร่วิ่งเต้นเอ๊กเซอร์ไซซ์อยู่เสมอนั้น ถึงจะไปถูกเปนกินรหรือกินนอนอยู่ในเรือนาน ๆ ก็ไม่สู้กระไรนัก เพราะเปนไปตามเคยเกือบเหมือนที่อยู่บนบกอยู่แล้ว ส่วนคนที่อยู่บนบกเอยกระโดดโลดเต้นอยู่เสมอนั้น ครั้นไปถูกแซ่วอยู่ในเรือไม่มีเอ๊กเซอร์ไซซ์พอแล้ว ถ้าไม่ระวังตัวให้ดีไม่ช้าไม่นานก็เกิดโรคที่เรียกอาหารไม่ละลายนี้ขึ้น บางทีถึงผอมตาโรยได้ง่าย ๆ.

ส่วนตัวข้าพเจ้าเองนั้น พอทเลเรียบหายเมาคลื่นก็เกิดกินเข้าได้ใหญ่ ไม่ว่าเช้า กลางวัน เย็น ดูอร่อยเสียนักหนา เลยป่วยเปนโรคอาหารไม่ละลายดังที่ว่ามานั้น ต้องลำบากอยู่ถึงสองวันจึงหาย ดูทำให้อ่อนกำลังไปมาก.

การที่ข้าพเจ้ากล่าวมาข้างต้นว่าต้องระวังตัวให้ดีนั้น คือต้องดูอยู่เสมอว่าท้องปรกติอยู่ดอกหรือไม่ ถึงจะอย่างไรก็ดี วันสองวันควรกินยาอีโน หรือยาอื่น ๆ เช่นเดียวกันนั้นเสียครั้งหนึ่ง ตื่นขึ้นเช้าก็กินเสียสองช้อนดังนี้ จึงจะกันการอาหารไม่ละลายเช่นนั้นได้ บางคนเขาถึงกับกินยาเช่นนั้นทุก ๆ วัน เขาว่าเมื่อท้องเราปรกติอยู่แล้วถึงเมาคลื่นก็น้อยเข้าด้วย ข้อนี้ข้าพเจ้าก็ต้องยอมว่าจริง.

วันที่ ๑ เดือนพฤษภาคมถึงเมืองเอเด็นประมาณ ๒ โมงเช้า เวลาเย็นวันนั้นก็ออกเรือพระที่นั่งต่อไป.

เมืองเอเด็นเปนเมืองเเขกแอฟริกัน ขึ้นอังกฤษมาแต่คฤตศักราช ๑๘๓๙ เปนเมืองเต็มไปด้วยเขาทั้งนั้น อังกฤษเลยตั้งป้อมมีทหารแขงแรงมาก ฝรั่งที่อยู่เมืองเอเด็นนี้เปนพวกเจ้าเมืองหรือพวกทหารทั้งนั้นคนอื่นไม่มีใครไปอยู่ เพราะเปนเมืองไม่สบายเกินเหตุ ปีหนึ่งฝนเสียไม่ได้ก็จะตกให้สักซ่าหนึ่ง ก็เปนอันพอไปคราวหนึ่ง เพราะฉนั้นคนที่อยู่เอเด็นจะได้มีน้ำดี ๆ กินแลอาบอย่างมนุษย์ทั้งหลายนั้นหามิได้ ต้องใช้น้ำกลั่นอยู่เสมอ แล้วยังมิหนำซ้ำไม่มีใช้ฟุ่มเฟือยอย่างมนุษย์ธรรมดาด้วย หญ้าแลต้นไม้นั้นต้องนับว่าเปนของประหลาด เพราะต้นไม้นั้นนับต้นได้ แลหญ้าก็ดูเหมือนจะพอนับเส้นได้เหมือนกัน ในฤดูหนาวนั้นพอจะหายใจออกบ้าง แต่ฤดูร้อนเปนอันเหลือกำลัง เพราะที่เหล่านั้นเปนหินแลทรายทั้งนั้น เมื่อพระอาทิตย์ส่องกล้าแล้วถูกแต่ไอหินก็เต็มที เพราะเหตุเหล่านี้ เมืองเอเด็นจึงได้ชื่อจากพวกทหารว่าอเวจีฝ่ายทิศตวันออก ถ้าทหารกองไหนถูกสั่งให้มาอยู่แล้ว ก็ไม่รู้สึกชอบพระไทยพระผู้เปนเจ้าเลย.

แขกชาวเอเด็นนั้นมีชื่อเสียงปรากฎอยู่สองอย่าง คือ การดำน้ำอย่างหนึ่ง การโกงในการค้าขายอย่างหนึ่ง พอเรือไปถึงยังไม่ทันทอดสมอดี ก็มีเรือเล็ก ๆ เต็มไปด้วยเด็กผู้ใหญ่ ดำ หน้ากล้อน ผมหยิก มีของมาขายบางอย่างมาล้อมเรือเปนหมู่ ๆ ร้องส่งภาษาอังกฤบว่า “ชักกะได” ถ้าเราไม่รู้ ก็แทบจะนึกว่าพูดไทยว่าให้เอากะไดเรือนั้นขึ้นเสียเถิด ที่จริงเขาว่าเปนภาษาอังกฤษ หรือเปนความพยายามที่จะพูดภาษาอังกฤษ จะแปลว่ากระไรก็ไม่มีใครรู้แน่ เห็นจะเปนด้วยไม่มีใครพากเพียรที่จะเข้าใจนั่นเอง คำว่า “กะได” นั้นพอจะเข้าใจได้ ด้วยเรารู้ว่าเจ้าพวกนั้นต้องการจะดำน้ำ คงจะเปนคำว่า “เอไดฟ” นั่นเอง แต่คำว่า “ชัก” นั้นบางคนคิดว่าคงเปนคำที่ว่าทิ้ง (Chuck) แปลว่าฃอให้ทิ้งเงินลงในทเลเถิด จะได้ดูคนดำตาม แต่บางคนเข้าใจว่าเปนคำว่า “ยัชต์” (just) แปลรูปออกไป ข้างไหนจะถูกข้าพเจ้าก็ไม่ยอมเปนคนตัดสิน แลถึงจะไปถามเจ้าพวกแขกนั้นเองก็คงตัดสินไม่ได้เหมือนกัน คำว่า “ชัก” นั้นจะแปลว่ากระไรก็ตามที เราเข้าใจได้แล้วว่าให้โยนเงินลงมาเถิด จะได้ดูดำน้ำดังนี้ เราก็เอาเงินโยนลงไปในทเลจริง ๆ เจ้าพวกที่เรืออยู่ใกล้ ๆ ก็กระโดดดำตามลงไปแย่งกัน สักครู่หนึ่งก็ต่างคนต่างโผล่ขึ้นมา เจ้าคนที่แย่งได้ก็ชูเงินขึ้นมาอวดแล้วเอาใส่ปากอมไว้ ร้องขอให้ทิ้งอิกต่อไป.

ส่วนของขายในเมืองนี้ ของที่ดีมีอยู่สองสามอย่างแต่เพียงขนนกกระจอกเทศ ไข่นกกระจอกเทศ แลอำพันเปนต้นเท่านั้น ของเหล่านี้เมื่อไปถึงยุโหรปราคาแพงขึ้นไปอิกมาก แต่ต้องซื้อให้ถูกอย่างเพราะขนนกกระจอกเทศ แลของเหล่านี้ไม่ใช่เหมือนกันไปหมด ขนนกกระจอกเทศนั้นบางอันก็ดี บางอันก็ใช้ได้สองสามวัน พอถูกฝนหรือเก่าเข้าก็เสียหมด คนที่ต่างหน้าไปเช่นเรานี้ ที่เจ้าพวกพ่อค้าแขกเหล่านั้นจะเอาของดีมาขายให้นั้นหามิได้ เปนแต่เอาของเลวมาหลอกบอกว่าของดีโดยมาก เมืองเอเด็นจะทำการค้าขายได้แต่กับคนที่โดยสารเรือผ่านไปผ่านมาเท่านั้น เพราะฉนี้การที่พวกพ่อค้าเหล่านั้นเอาแต่ของเลวมาจะขายให้นั้น จะเปนด้วยต้องการจะเอาของดีไปเก็บไว้สุมอะไรไม่ทราบ.

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิรขึ้นเมืองเอเด็นแล้ว ประมาณสี่โมงเศษพวกเราก็ขึ้นบกถูกกลุ้มรุมขอชี้ทาง ขอเรียกรถ แลบางคนจะขอให้ขี่ฅอหรืออุ้มบ้างกระมัง ลงท้ายพวกเราต้องจ้างเจ้าคนหนึ่งให้คอยแผดสิงหนาทไล่เจ้าพวกอื่นที่จะมาสวามิภักดิ์นั้น อย่างเดียวกับที่ลังกา เลยเดิรไปมาได้โดยความศุขสดวก เที่ยวซื้อจ่ายบ้างเล็กน้อยแล้วก็ไปพร้อมกันที่โฮเต็ลแห่งหนึ่ง กินอาหารกลางวัน มีกับเข้าฝรั่งปนแขกหรือแขกปนฝรั่ง อย่างที่เมืองกอลเหมือนกัน ในโฮเต็ลนี้ถึงของอื่น ๆ จะเลวเต็มทีก็ยังมีของดีอยู่อย่างหนึ่ง คือติดพัดชักไปแทบทุกหนทุกแห่ง มีคนชักประเดี๋ยวผลัดๆ ดูท่าจะเรียบร้อยดีมาก ข้าพเจ้านึกสงสัยว่าโฮเต็ลแห่งนี้มันช่างมีบ่าวมากจริง ๆ เมื่อกินอาหารเสร็จแล้วพอเราจะออกมา กลับมีคนมาล้อมหน้าล้อมหลังอิก ต่างคนต่างบอกว่าได้ชักพัดให้ต้องขอรางวัลเท่านั้นเท่านี้ ตกลงเปนเจ้าพวกชักพัดที่เปลี่ยนหน้าไม่ได้หยุดนั้น หาใช่บ่าวในโฮเต็ลไม่ กลายเปนเจ้าพวกนอก ๆ ตามเข้ามาหากินนั่นเอง.

ทเลในระหว่างเอเด็นกับเมืองซูเอ๊ซ ในประเทศอิยิปต์ที่เรียกว่าทเลแดงนั้น อยู่ข้างจะร้ายจัดมากถูกคลื่นตีข้างหัวเรือถึงกับน้ำเข้าเปียกกันมาก คนที่ไม่ใคร่เมามาแต่แรกก็มาเริ่มเมาขึ้นหลายคน แต่ตัวข้าพเจ้านั้นอยู่ดี ๆ ก็กลายเปนคนเก่งเอาเฉย ๆ อย่างนั้นเอง เรือฟาดโครม ๆ ก็ไม่เมากลับเห็นสนุก กลับไต้หัวเราะเยาะคนเมาเปนหลายคนที่เคยหัวเราะเยาะข้าพเจ้ามาแต่ก่อนนั้นเปนการแก้แค้นได้ถึงใจ การที่ข้าพเจ้าไม่เมาเมื่อมีคลื่นใหญ่เช่นนี้ เปนด้วยคลื่นมาทางหัวเรือไม่ทำให้ข้าพเจ้าเมาเท่าไรอย่างหนึ่ง เปนด้วยข้าพเจ้าเคยทเลเข้าแล้วอย่างหนึ่ง คนไปทเลนั้นเขาว่ามี ๓ จำพวก คือ พวกที่เมาคลื่นไม่เปนเสียทีเดียวพวกหนึ่ง พวกที่เมาไม่รู้แล้วรู้รอดตั้งแต่เกิดจนตายพวกหนึ่ง พวกที่เมาแต่แรกแล้วหายได้พวกหนึ่ง.

วันที่ ๖ พฤษภาคม เวลาบ่าย ๕ โมงครึ่งเศษถึงเมืองชื่อซูเอ๊ซในประเทศอิยิปต์ เปนเมืองปากคลองสำคัญที่เรียกคลองซูเอ๊ซนั้น เมืองซูเอ๊ซนี้เปนเมืองไม่สำคัญอะไร เพราะเมล์ก็เดิรผ่านไปเสีย คนที่จะไปเที่ยวเมืองไกโรคือเมืองหลวง หรือที่จะไปเที่ยวทางฝ่ายเหนือของประเทศอิยิปต์ ก็ไปจากเมืองปอตไซด์หรือเมืองอิซไมเลียเสียโดยมาก.

เมืองซูเอ๊ซตั้งอยู่ในที่ทรายราบเปนทเลทรายกลาย ๆ ข้างเหนือของอ่าวที่ชื่ออ่าวซูเอ๊ซหรือปลายทเลแดงข้างโน้น น่าร้อน ๆ มากแต่น่าหนาวกำลังพอสบายดี กลางคืนอยู่ข้างจะหนาวอยู่สักหน่อย ชาวยุโหรปที่ป่วยทนหนาวไม่ได้มาอยู่ที่เมืองนี้ก็มีบ้างแต่ไม่มากนัก.

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิรขึ้นบกแล้ว ข้าพเจ้ากับอิกสองคนมีการต้องขึ้นบกไปที่ออฟฟิศโทรเลขประมาณเวลาทุ่มเศษ เรือพระที่นั่งจอดห่างฝั่งออกมาไกล ต้องลงเรือไฟเล็กแล่นไปถึงฝั่งขึ้นไปทำส่งโทรเลขเสร็จแล้ว ก็มารำพึงกันว่าพวกเรายังไม่ได้กินเข้าเย็น ถ้ากลับไปเขากินกันเสียหมดแล้วจะลำบาก เพราะฉนั้นเรามาไปกินเข้าตามโฮเต็ลอะไรเสียก่อนเถิด เมื่อตกลงกันดังนี้แล้วก็เรียกเช่าลา ๓ ตัวขึ้นนั่งบนหลังให้เจ้าของลาพาไปโฮเต็ลใหญ่ที่สุดในเมืองนั้น เปนทางเข้าซอกออกแซกไปห่างจากท่าที่ขึ้นนั้นหลายสิบเส้น เราเห็นท่าไม่ได้การจะกลับเสียหลายครั้ง แต่พวกเจ้าของลาสามคนช่วยกันพูดบุ้ยใบ้ว่า จะถึงอยู่เดี๋ยวนี้แล้ว เราก็เลยขับลาเรื่อยต่อไปอิกจนถึงเข้าจริง ๆ แต่หาได้ถึงในเร็ว ๆ ตามที่เจ้าของลาทำให้เราเข้าใจไม่ โฮเต็ลนั้นเจ้าของเปนฝรั่งหรือแขกหรือแมลงอะไรก็ไม่แน่ แต่ท่าดูเหมือนจะเปนฝรั่งจะพูดภาษาอะไรไม่ทราบเสียงกะเว่า ๆ เพื่อนที่ไปกับข้าพเจ้าคนหนึ่งเขาเข้าใจว่าเปนภาษาอังกฤษ แต่เขาหรือข้าพเจ้าจะได้เข้าใจนั้นหามิได้ พวกเราพูดภาษาสากลหรืออะไรก็จำไม่ได้ถนัด แต่ลงท้ายได้เข้ากินตามประสงค์.

เมื่อกินเข้าแล้ว เราก็ขึ้นที่นั่งลารีบขับกลับมาถึงท่าเรือ พบพลตระเวรท่าผึ่งผายเดิรไปมาอยู่คนหนึ่งแต่หามีเรือไม่ ตรงนี้แหละออกสนุกใหญ่ เพราเรือพระที่นั่งก็ทอดอยู่ไกล แล้วจะออณแต่ดึกหรือแต่สางอะไรด้วย พวกเราจึงเรียกพลตระเวรนั้นมาพูดภาษาสากลคือใช้ใบ้ว่าเรือเราไม่อยู่ แต่เราจะต้องกลับไปขึ้นเรือพระที่นั่งโดยเร็วจะทำอย่างไรดี เจ้าพวกเจ้าของลาก็มาช่วยเอะอะด้วย ลงท้ายไปเรียกเรือใบมาลำหนึ่ง มีคนแจวสองคนกับนายเรือคนหนึ่งพูดอังกฤษได้เล็กน้อย พวกเราขอบใจพลตระเวรคนนั้นแลได้รับสลามแล้ว ก็ออกเรือแจวแลแล่นใบตั้งเข็มไปทางเรือพระที่นั่ง ซึ่งแลเห็นไฟอยู่ลิบ ๆ นั้น

พอออกไปถึงกลางทเล เจ้านายเรือก็สั่งให้คนแจวหยุด แล้วตรงเข้ามาทำตาพองจ้องหน้าพวกเรา แล้วถามเปนเสียงที่จะให้เรากลัวว่า “จะให้อะไร ?” พวกเราออกพื้นเสียแลดูเหมือนจะออกคร้ามหน่อยๆ แต่ตอบว่าไม่ต้องถามดอก ไปถึงเถิดจะให้ ๆ พอ อ้ายตาผีนั่นไม่พอใจบอกว่าต้องให้คนละ ๓ ชิลลิงจึงจะได้ ที่จริงเรากะไว้ว่าจะให้มากกว่านั้น แต่เมื่อแกผ่านแต่ ๓ ชิลลิงเท่านั้น เราก็ตกลงยินยอมรับว่าเมื่อไปถึงเรือพระนั่งเถิดจะให้ตามที่ว่านั้น อ้ายตานั่นไม่พอใจอิก กลับบังคับว่าให้เอาเงินมาให้เดี๋ยวนี้ ไม่อย่างนั้นไม่ได้ เมื่อดังนี้พวกเราก็เข้าใจเอาเปนแน่ว่า ถ้าเราให้มันองจะเอาอิก เพราะฉนั้นจึงตอบว่าไม่ให้ ต้องไปให้ถึงเสียก่อน อ้ายเจ้าของเรือทำเสียงอย่างดุร้ายบังคับว่า “ต้องให้เดี๋ยวนี้” แล้วเดิรไปข้างท้ายเรือเปิดกระดานค้นอะไรแกรกกราก คล้ายกับว่าจะหาอีโต้มาเชือดฅอเราหรืออะไรอย่างหนึ่ง พวกเราที่จริงก็ออกคร้ามหน่อย ๆ แต่ทำเปนไม่กลัวนิ่งเฉยเสีย ลงท้ายอ้ายตานั่นก็ไม่ยักลากอีโต้ออกมาจริง ๆ เปนแต่บอกเราว่า ถ้าไม่ให้จะเอากลับไปส่งขึ้นบกเสีย เมื่อขู่เราท่านี้เรากลัวมากกว่าอีโต้จึงต้องให้เงิน คิดว่าถ้าจะเอาอิกก็ได้เถียงกันใหม่ อีตาเจ้าของเรือนั้นจะเห็นท่าเราองอาจหรืออย่างไรไม่ทราบ ไม่กล้าทำอำนาจอิกพาไปส่งอย่างดีๆนี่เอง เมื่อเราขึ้นเรือพระที่นั่งแล้วกลับร้องสลามแลอำนวยพร “เจริญเวลากลางคืน” ราวกับว่าไม่ได้เคยพูดจาข่มขี่พวกเราฉนั้น.

รุ่งขึ้นวันศุกร์ที่ ๗ พฤษภาคมถึงเมืองชื่ออิซไมเลีย เปนเมืองที่มีผู้คนไปเที่ยวแลผ่านไปผ่านมามาก พวกเราขึ้นไปเที่ยวเดิรเกร่อยู่สักครู่ใหญ่ ๆ ก็กลับมานอนในเรือ รุ่งขึ้นประมาณ ๒ โมงเช้าก็ออกจากอิซไมเลีย ไปถึงเมืองปอตไซด์บ่าย ๓ โมงเศษ.

เมืองปอตไซด์นี้ เปนเมืองที่เกิดขึ้นเพราะคลองซูเอ๊ซที่กล่าวมาข้างน่า ด้วยเปนเมืองอยู่ปากคลองข้างฝ่ายเหนือทางทเลมิดิตเตอเรเนียน ซึ่งเปนทเลคั่นยุโหรปออกไปจากแอฟริกานั้น เมืองปอตไซด์นี้เปนเมืองหยาบสกปรกที่สุดที่ข้าพเจ้าเคยได้เห็นได้ยินมา แลข้าพเจ้าไม่รู้สึกสนุกพอที่จะนำเอามา เล่าได้.

ร้านในเมืองนี้มีดี ๆ พอใช้ได้ แลถ้าจะต้องการเครื่องใช้ของฝรั่งอะไรก็มักได้โดยมาก ด้วยมีร้านใหญ่ติดอยู่กับโฮเต็ลแห่งหนึ่ง ข้าพเจ้าจำได้ว่าได้ซื้อของสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าควรจะแนะนำผู้จะออกไปข้างน่าให้มีทุกคนเสียตั้งแต่แรกแล้ว แต่นึกไม่ได้ ของสำคัญอันนี้คือถุงสำหรับใส่เสื้อผ้าที่จะไปซัก เรียกว่า Soiled linen bag ไปตามทางอะไร ๆ ที่เปื้อนเปรอะแล้วต้องบรรทุกลงไปในถุงนี้ทั้งนั้น.

ของอื่น ๆ ที่จะซื้อจากเมืองปอตไซต์ได้นั้น ก็คล้ายกับที่เมืองเอเด็น แต่มีผ้าไหมถักที่เรียกเลซสำหรับผู้หญิงใช้ดี ๆ มาก บุหรี่กระดาดอิกอย่างหนึ่งควรจะซื้อในเมืองนี้ เพราะบุหรี่ที่ราคาร้อยละ ๓ ชิลลิงนั้น ไปถึงดอนลอนราคาไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๖ ชิลลิงเพราะภาษีแรงมาก การที่เราจะซื้อบุหรี่ไปนั้นจะได้แต่ไปตามเสด็จหรือไปกับราชทูต จึงจะไม่ต้องเสียภาษี ถ้าเราไปแต่ลำพังเราเองถึงยุโหรปจะต้องถูกเสียอิกมาก.

ข้าพเจ้าขอแนะนำพวกที่จะออกไปต่อไปว่า เมื่อไปถึงปอตไซด์แล้ว ขึ้นบกอย่าให้ไปเดิรนอกถนนใหญ่ไปมากนัก เพราะถ้าไม่อย่างนั้นจะได้ฟังภาษาที่ไม่สมควรเปนแน่ ถ้าใครมาชวนไปดูอะไร หรือที่สุดคนชาวร้านมาชวนเข้าไปดูของหลังร้านก็ไม่ควรจะไป เพราะอาจถูกต้มได้ การที่จะซื้อเข้าของนั้นต้องต่อกันหลาย ๆ เท่า (นอกจากร้านใหญ่ ๆ) เมื่อข้าพเจ้ากลับมาจากยุโหรปคราวนี้ซื้อของชนิดหนึ่ง ที่ถูกผ่านอันละ ๑๒ ชิลลิงได้แต่เพียงวันละชิลลิงครึ่งเท่านั้น.

เมื่อออกจากปอตไซต์แล้ว เข้าทเลมีดิตเตอเรเนียน แปลว่าทเลอยู่กลางแผ่นดิน เปนทเลในระหว่างทวีปยุโหรปกับทวีปแอฟริกา ออกรู้สึกยุโหรปเข้าหน่อย ๆ เพราะถูกหนาวเข้าบ้างเล็กน้อย บางคนถึงต้องใส่เสื้อสักหลาดหนาเปนการใหญ่ ทเลตามเหล่านี้เรียบร้อยไม่ประพฤติตัวเปนพาลถึงทำให้พวกเราเมาคลื่นทนทุกข์ไปอีก เวลาเช้าแลเห็นเมืองกรีตซึ่งเปนเมืองที่ทำให้เกิดการสงคราม ในระหว่างประเทศกรีซกับเตอรกีในเวลานั้น เวลาบ่ายผ่านเมืองนั้นไปเห็นเรือรบทอดอยู่หลายลำ แต่ไม่มีใครมารบราฆ่าฟันกันในเหล่านั้น.

วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ถึงเมืองเวนิซในประเทศอิตาลีถูกหนาวมาก ประรอทต่ำถึง ๕๒ ดีกรี เมืองเวนิซจะหนาวไปมากกว่านั้นนักไม่ได้.

เมืองเวนิซนี้เปนเมืองอ่าวอันหนึ่งในประเทศอิตาลี อยู่ในมณฑลที่ชื่อลอมบาดีแลวีนีเซีย มีพลเมืองประมาณ ๑๓๖,๐๐๐ เศษ แต่คนทั้ง ๑๓๖,๐๐๐ เศษนี้ เปนคนขอทานไม่ต่ำกว่า ๓๔,๐๐๐ คน เปนอันน่าประหลาดมาก.

เมืองเวนิซแต่โบราณเปนเมืองรีปับลิก มีพลเมืองประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ มีอำนาจสูงที่สุดในทางทเลในเวลานั้น คือมีเรือรบที่เดิรทเลได้ถึง ๓๐๐ ลำ บรรทุกพลเรือได้ ๘,๐๐๐ เศษ แล้วยังมีเรือเล็กเรือน้อยอีกไม่ต่ำกว่า ๓,๐๐๐ ลำ บรรทุกพลเรือได้เกือบ ๓๐,๐๐๐ คน ไม่มีใครจะมาขันสู้ได้ในเวลานั้น การค้าขายของเมืองเวนิซในเวลานั้นจำเริญมาก ด้วยเปนเมืองมีกำลัง แลในเวลานั้นถ้าเมืองไหนมีกำลังก็สามารถจะทำการค้าขายใหญ่โตได้โดยสดวก ไม่มีใครจะมาตีปล้นแย่งชิงได้ ข้าพเจ้าไม่เคยได้ศึกษาพงษาวดารการค้าขายของเมืองนี้ แต่ในพงษาวดารการค้าขายอังกฤษ มีกล่าวถึงเรือบรรทุกสินค้าของเมืองเวนิซข้ามไปเมืองอังกฤษปีละครั้ง แต่เมื่อเรืออังกฤษเองยังไม่กล้าโผล่ออกไปไกลได้ เพราะฉนั้นเมืองเวนิซในเวลานั้นคงจะทำการค้าขายใหญ่โตมาก.

มาภายหลังเกิดมีเมืองที่เปน “ท่ามกลางของการค้าขาย” ขึ้นอิกแห่งหนึ่ง เมืองเวนิซเลยเปนเมืองสำคัญน้อยเข้าทุกที จนบัดนี้เปนเมืองที่มีกิจธุระน้อย จึงมียาจกนับด้วยหมื่นดังที่กล่าวมาแล้ว.

เมืองเวนิซเปนเมืองประหลาดเมืองหนึ่งในโลกนี้ คือเปนเมืองที่มีคลองแทนถนนไปทุกแห่งทุกหน คนบางจำพวกเขาว่ากรุงเทพ ฯ เรานี้เปนเมืองเวนิซในทิศตวันออก เพราะมีคลองมากเหมือนกัน ส่วนตัวข้าพเจ้าเองนั้นจะได้เห็นกรุงเทพ ๆ เหมือนเมืองเวนิซมากกว่าเหมือนเรือนยายกะตาในดวงพระจันทร์นั้นหามิได้ ถ้าจะเรียกกรุงเทพ ฯ ว่าเหมือนเวนิซเหตุต่างเมืองต่างมีคลองแล้ว จะเรียกกรุงเทพฯ ว่าเหมือนลอนดอนก็ได้ เพราะต่างเมืองก็ต่างมีถนนเหมือนกัน.

คลองในเมืองเวนิซนั้นมีประมาณ ๑๕๐ คลอง มีสพาน ๓๗๘ สพาน ทำให้เมืองที่ยาว ๑๐,๐๐๐ เส้น กว้าง ๓,๖๐๐ เส้นนั้นเปนเกาะเล็ก ๆ ๆ ๆ ไปถึง ๑๑๗ เกาะ เรือที่ใช้นั้นคือเรือโบดหัวงอนท้ายงอน ที่เรียกกอนโดลา มีประมาณ ๕,๐๐๐ ลำ ทาดำทั้งสิ้น ด้วยมีกฎหมายบังคับให้เปนดังนั้น เวลามีงานอะไรแล้วเรือเหล่านี้มาประชุมกันดูงามมาก ตึกบ้านเรือนทั้งหลายนั้นเปนอย่างที่เขาเรียกว่าหัวกะไดลงน้ำโดยมาก แลขอให้ท่านผู้อ่านคิดดูว่าคลองแคบ ๆ ขนาดสักครึ่งคลองตลาดดังนี้ มีกำแพงเรือนลงมาจดน้ำทั้งสองข้าง แลกำแพงนั้นเปนกำแพงสูงอย่างเกลี้ยง ๆ ไกลจากความสอาดเปนอันมากดังนี้ คลองนั้นจะงามหรือไม่.

คลองทั้งเวนิซเปนคลองเล็ก ๆ เช่นนี้ทั้งนั้น มีใหญ่อยู่ที่เรียกแกรนด์คแนลคลองเดียว ใครจะเห็นว่าเวนิซเปนเมืองงามก็ตามใจ ข้าพเจ้าเองเปนไม่เห็นด้วยคนหนึ่ง ถ้าจะไปเที่ยวแต่สามวันสี่วันแล้วจะว่าสนุกก็ตามที แต่ถ้าไปอยู่ตั้งสองอาทิตย์ขึ้นไปแล้ว ถ้าใครชอบคนนั้นก็ไม่มีความเห็นอย่างเดียวกับข้าพเจ้า.

ถนนในเมืองเวนิซนั้นใหญ่สักเท่าถนนสำเพ็งเรานี่เอง มีที่เขื่องหน่อยอยู่แต่ถนนริมคลองที่เรียกแกรนด์คแนลเท่านั้น ร้านขายของมีดีๆ พอใช้ได้ เพราะการช่างประเทศอิตาลีเปนเก่งทีเดียว ของที่ซื้อนั้นราคาไม่สู้เสมอกันนัก บางร้านก็ยังต่อลดราคากันได้อยู่.

เมืองเวนิซนี้เปนเมืองมีชื่อเสียงมีคนไปมามาก แลเปนเมืองมีอำนาจมาแต่โบราณดังที่กล่าวมาแล้ว เพราะฉนั้นถ้าจะเล่าให้ละเอียดแล้ว เห็นจะเต็มสมุดสามก๊ก เปนอันต้องเขียนแต่เล็กน้อยที่ระลึกได้ในเวลานี้เท่านั้น.

แต่เดิมพวกนักเรียนทั้งปวงที่ตามเสด็จพระราชดำเนิรไปรวมทั้งข้าพเจ้าด้วย ว่าจะให้อ้อมไปเมืองอังกฤษทางเรือ ยังต้องอ้อมไปทางอ่าวบิสเคที่หม่อมราโชไทย (กะต่าย) เรียกว่าทเลร้ายนั้น ข้าพเจ้าเมื่อได้ยินออกชื่ออ่าวบิสเคก็ดูเหมือนจะออกรู้สึกเมาคลื่นเสียหน่อย ๆ แล้ว เลยขึ้นบกไปเที่ยวซื้อของบางอย่างจะไปกันความหนาวในทเลเอเดรียติก ทเลมิดิตเตอเรเนียน มหาสมุทแอดแลนติก แลทเลอังกฤษที่จะหนาวเข้าไปทุกทีนั้น พอเวลาบ่ายกลับลงมาเรือได้ข่าวว่า มีพระบรมราชโองการให้ข้าพเจ้ากับนักเรียนอิกคนหนึ่งตามเสด็จพระราชดำเนิรทางบก ไปเมืองยินีวาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์แล้วเลยไปเมืองอังกฤษทางบกทีเดียว เปนข่าวอันดีมากรู้สึกสบายใจขึ้นอิกหลายเท่า เลยจัดการบรรทุกของลงหีบแล้ว ประมาณ ๔ ทุ่มครึ่งก็ไปขึ้นรถไฟที่สเตชั่น เวลาประมาณ ๕ ทุ่มครึ่ง รถไฟออกจากเมืองเวนิซ รุ่งขึ้นประมาณโมงเช้าถึงเมืองมิแลน เปนเมืองมีชื่อเสียงอิกเมืองหนึ่งในประเทศอิตาลี ด้วยมีโบถศิลาอ่อนใหญ่ที่สุดแลงามที่สุดในโลกนี้.

เมืองมิแลนเปนหัวเมืองใหญ่ในมณฑลลอมบาดี มีพลเมือง ๓๗๓,๐๐๐ เศษ เมืองทั้งประเทศอิตาลีมีพลเมืองมากกว่าเมืองมิแลน อยู่แต่เมืองเนปลซ์ซึ่งเปนเมืองท่าเมืองเดียวเท่านั้น ส่วนการค้าขายนั้นเมืองมิแลนเปนเมืองที่เรียก “ท่ามกลางการค้า” อันสำคัญที่สุดในประเทศนั้น ของสำคัญที่เมืองมิแลนอวดมากกว่าอื่นนั้น คือโบถที่กล่าวมาแล้วทำด้วยหินอ่อนทั้งสิ้น จนที่สุดหลังคามุงด้วยหินอ่อนเหมือนกัน โบถหลังนี้ทั้งโลก มีใหญ่กว่าอยู่สองโบถที่เรียกเซ็นปีเตอร์ที่เมืองโรม กับโบถที่เมืองเซวิลเท่านั้น แต่การงามแล้วเปนไม่มีที่ไหนสู้ได้เลย ถ้าจะดูแต่รูปถ่ายก็บอกได้ว่างามเสียแล้ว.

ที่เมืองมิแลนนี้ได้พักอยู่สองสามชั่วโมงเท่านั้น พอเวลา ๔ โมงเช้ารถไฟก็ออก ไปถึงเมืองยินีวาประมาณ ๔ ทุ่มวันเดียวกัน.

เมื่องยินีวานี้เปนเมืองหลวงของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตั้งอยู่ริมแลสาปที่เรียกทเลสาปยินีวา เขาว่าเปนเมืองสบาย แลอากาศดีนักหนาทีเดียว ถึงฤดูมีชาวประเทศอื่นมาพักอยู่ปีละมาก ๆ เมื่อข้าพเจ้ายังอยู่ในประเทศอังกฤษนั้น ถ้าพบคนที่เคยไปเที่ยวมาแล้วคงเคยไปเมืองยินีวาแทบทุกคน ถ้าคนไหนไม่เคยไปก็มักพูดว่าจะต้องไปเสียสักครั้งหนึ่ง.

วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ข้าพเจ้ากับนักเรียนที่ตามเสด็จพระราชดำเนิรมาทางบกด้วยกันนั้น กราบถวายบังคมลาเลยไปลอนดอนกับผู้ว่าการทูตในเวลานั้น รถไฟออกจากยินีวาเวลา ๒ ทุ่ม ๑๕ นาที ถึงปารีศรุ่งขึ้นประมาณโมงเช้าเศษ.

เมืองปารีศเปนเมืองหลวงประเทศฝรั่งเศสใครๆก็ทราบอยู่แล้ว แต่ข้าพเจ้าต้องกล่าวว่าเมืองปารีศเปนเมืองงามมาก ในระหว่างที่อยู่วันกับคืนหนึ่งนั้นได้ไปเที่ยวหลายแห่ง แต่ไม่ใคร่สนุกเท่าใด ด้วยไม่รู้ภาษาฝรั่งเศสเองอย่างหนึ่ง เปนด้วยอยากจะรีบไปถึงลอนดอนเสียรู้แล้วรู้รอดไปอย่างหนึ่ง

รุ่งขึ้นวันที่ ๒๕ พฤษภาคมออกจากปารีศเวลา ๕ โมงเช้า ข้ามตั้งแต่เมืองกาเลซ์ (ฝรั่งเศส) ไปถึงเมืองโดเวอ (อังกฤษ) ประมาณบ่าย ๕ โมงเศษ ขึ้นรถไฟต่อไปถึงสเตชั่นชื่อวิกตอเรียในลอนดอนสักเวลา ๒ ทุ่ม.

เมื่อเขียนมาถึงตรงนี้ ก็เปนอันหมดระยะทางที่ข้าพเจ้าไปจากกรุงเทพ ฯ ถึงเมืองอังกฤบแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีมากที่ไปถึงเสียดังนี้ เพราะถึงการเดิรทางนั้นสนุกแลได้ดูที่ต่าง ๆ สำหรับเปนความรู้ได้ก็จริง แต่เมื่อต้องถูกประเดี๋ยวรื้อหีบประเดี๋ยวบรรทุกหีบไม่หยุดแล้ว ยังมิหนำซ้ำต้องนั่งแกร่วอยู่ในรถไฟคราวละหลาย ๆ ชั่วโมงเช่นนั้น ก็เปนการเบื่อง่ายที่สุด การเที่ยวเช่นนั้นเวลาที่กำลังเที่ยวจะได้ออกรศออกชาติอย่างที่หมายใจไป หรือที่ไปรู้สึกทีหลังเมื่อเที่ยวเสร็จแล้วนั้นหามิได้.

ที่สเตชั่นวิกตอเรีย ซึ่งเปนสเตชั่นสำคัญแห่งหนึ่งในลอนดอนนั้น ได้พบพวกไทยที่อยู่ในลอนดอนมารับหลายคน ดูเขาแต่งตัวสวมเสื้อฟร๊อกโก๊ตหมวกสูงเก๋มาก ผิดกับเราที่ไปถึงใหม่หลายเท่า นึกออกอายตัวหน่อย ๆ รอดตัวแต่ที่มีเสื้อนอกคลุมอยู่ รถสถานทูตมาคอยรับอยู่ที่สเตชั่นขึ้นขับไปประมาณ ๑๕ นาที (ตามถนนที่เวลานี้ข้าพเจ้าเกือบจะหลับตาเดิรได้) ไปถึงสถานทูตรีบขึ้นไปล้างหน้าล้างมือเสร็จแล้วลงมากินอาหารเย็นเปนอันเสร็จธุระในคืนวันนั้น.

รุ่งขึ้นในวันสองวันนั้นไม่ได้ทำอะไรนอกจากเที่ยวตัดเสื้อแลจำหน่ายของใช้ต่าง ๆ ที่ยังไม่มีไปนั้นเปนอันมาก กับมีพิธีให้หมอตรวจว่า ร่างกายเราจะแขงแรงพอทนความหนาวได้หรือไม่.

ธรรมเนียมนักเรียนที่ไปถึงลอนดอนใหม่ ๆ ราชทูตมักให้คนที่สถานทูตหรือใคร ๆ คนเก่าคนหนึ่ง ช่วยรับธุระพาไปตัดเสื้อแลซื้อจ่ายเข้าของที่ต้องการนั้น ตัวนักเรียนเองไม่สู้ต้องมีธุระเท่าไร.

การขนบธรรมเนียมไม่ต้องเรียนอะไรมากนัก แต่ข้าพเจ้าต้องขอกล่าวของสำคัญสองสามอย่าง เปนของที่ไม่น่าจำเปนจะต้องบอก แต่มีคนเคยเซอะมาแล้ว เช่นที่นอนฝรั่งมีโปงผ้าห่มเหน็บข้าง ๆ หมด เมื่อจะนอนต้องเสือกตั้งแต่เท้าเข้าจนตลอดตัวจึงจะอุ่น ถ้าหาไม่ไปนอนทับผ้าห่มที่เขาทำเปนโปงไว้ข้างในดังที่เคยมีตัวอย่างมาแล้ว ถ้าน่าหนาวไม่ตายเสียแต่ในกลางคืน รุ่งขึ้นที่เปนหวัดใกล้ตายไปเหมือนกัน ยังมีอิกอย่างหนึ่งเปนของไม่ควรต้องบอก แต่มีคนเคยทำมาแล้วเหมือนกัน คือเป่าไฟแก๊ซดับเอาอย่างกับตะเกียงเรานี้เอง หาบิดให้แก๊ซหยุดเดิรเสียไม่ เมื่อเปนดังนั้นถ้านอนหลับไปแก๊ซมาอบเต็มห้อง ไม่มีใครได้กลิ่นมาช่วยเปิดน่าต่างประตูแล้ว ประเดี๋ยวเดียวก็รู้สึกเหมือนผีอำหายใจไม่ออก เลยตายเอาง่าย ๆ เหมือนกัน การที่ปล่อยให้แก๊ชมาเช่นนั้น ถ้าเปนแต่เพียงขีดไฟขึ้นในห้อง ก็อาจแตกระเบิดให้สถานทูตละเอียดไปได้ คนที่ไม่เคยใช้ไฟแก๊ซมีตัวอย่างดับเป่าเอาอย่างตะเกียงไม่หมุนให้แก๊ซหยุดเดิร แต่บังเอินเคราะห์ดีมีคนข้างนอกได้กลิ่นมาช่วยทัน ถ้าไม่อย่างนั้นป่านนี้สถานทูตเดี๋ยวนี้จะปลิวไปอยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบ.

ยังมีอิกอย่างหนึ่ง คือนักเรียนออกไปใหม่ ๆ มักไม่รู้จะทำอะไร ไปนั่งแกร่วอยู่ในห้องนอนชุมเต็มที ถ้าน่าหนาวก็ถึงกับเปนหวัดได้อิก เพราะฉนั้นถ้าไม่มีธุระอะไรในห้องนอนแล้วลงมานั่งอยู่ในห้องพักหรือห้องอื่น ๆ ดีกว่าไปอยู่ในห้องนอน เพราะที่ไปอยู่ดังนั้นฝรั่งเขามักเห็นขัน แลเราทำไม่ให้เขาเห็นว่าเปนคนขันดีกว่าทำให้เขาเห็นดังนั้น.

การกิริยาบถฝรั่งที่นอกก็ไม่ผิดกับที่ในเมืองเรา มีแต่ว่าที่โน่นจะต้องประพฤติตามกิริยาบถฝรั่งเช่นนั้น มากกว่าในเมืองเราหน่อยหนึ่ง การที่จะทำการสั่งสนทนาได้มากหรือน้อย แลโดยเรียบร้อยหรือไม่เรียบร้อยนั้น ก็เปนตามความรู้ในภาษาอังกฤษของเราที่รู้มากหรือน้อย.

นักเรียนเมื่อไปถึงเมืองอังกฤษแล้ว ถ้าเปนนักเรียนไปรเวต ก็คงมีผู้รับรองจัดแจงตามที่ผู้ใหญ่ในกรุงเทพ ฯ ได้ฝากฝังไป แต่ถ้าเปนนักเรียนหลวงก็มีเจ้าพนักงานที่สถานทูตคอยดูแลจัดการเสร็จ เจ้าพนักงานผู้นี้มีน่าที่อย่างเดียว แต่ดูแลทั้งการเล่าเรียนแลการเงินทองของนักเรียนทั้งสิ้น ต่อไปนี้ เรียกว่าผู้ดูแลนักเรียน.

เมื่อนักเรียนหลวงไปถึงแล้ว ท่านผู้ดูแลนักเรียนคนนี้ก็เรียกตัวเข้าไปไต่ถามอะไรต่ออะไรต่าง ๆ ท่าทางเปนการสำคัญคล้ายเจรจาความเมือง ต้องเรียกผลัดกันเข้าไปทีละคน ประหนึ่งว่าเปนความลับ เมื่อนักเรียนเข้าไปถึงแล้วก็ถามชื่อ ถามอายุ ถามชื่อบิดา แลอื่น ๆ ละเอียด จนรู้อะไรหมดที่อาจรู้ได้ในเรื่องของนักเรียนคนนั้น ที่จะเกี่ยวกับการเล่าเรียนต่อไป แล้วบอกว่าความเห็นของเขาเปนอย่างไรในการที่นักเรียนคนนั้นจะเล่าเรียนนั้น แลเมื่อนักเรียนจะมีธุระปะปังในส่วนหนึ่งส่วนใดก็ดี ให้มาพูดกับเขาให้ชัดเจนดังที่นักเรียนผู้นั้นจะพูดกับผู้ใหญ่ญาติของตนฉนั้น.

ความเห็นของท่านผู้ดูแลนักเรียนในเรื่องร่ำเรียนนั้น มักจะเปนให้นักเรียนไปอยู่กับแฟมิลีอะไรแห่งหนึ่ง ที่พ่อบ้านเปนครูสอนได้ด้วยเสร็จ หรือถ้าพ่อบ้านสอนไม่ได้ก็ให้มีครูสอนเปนเวลาวันละเท่านั้น หรืออาทิตย์ละเท่านั้นตามแต่จะสมควร.

การที่ไปอยู่กับแฟมิลีนั้น ไม่ใช่แต่เปนการร่ำเรียนหนังสือภาษาหรือวิชาอื่น ๆ อย่างเดียว เปนการเรียนขนบธรรมเนียมของบ้านเมืองโน้นด้วย ถ้านักเรียนคนไหนถูกตรงไปโรงเรียนทีเดียวแล้ว ก็เปนอันไม่มีโอกาศที่จะศึกษาทางนี้ แลเมื่อไปเข้าที่ประชุมเมื่อใดก็อดเท่อท่าไม่ได้ ข้าพเจ้าเห็นว่าการรู้ขนบธรรมเนียมฝรั่งนั้น เปนการศึกษาของนักเรียนที่ออกไปยุโหรปแพนกหนึ่งเหมือนกัน แลนักเรียนที่ออกไปยุโหรปแล้ว แต่ไปเข้าที่ประชุมยังไม่ทราบจะพูดว่ากระไร หรือเมื่อจูงเลดีเข้าไปนั่งกินเข้าแล้วไม่รู้จะทำท่าไหน หรือเมื่อไปในที่เลี้ยงน้ำชาแล้วไม่รู้จักจะทำตัวให้เปนประโยชน์อย่างไรเช่นนี้ จะเรียกว่าได้รับความศึกษาอย่างยุโหรปมาพร้อมนั้น ไม่ควรเปนอย่างยิ่ง การที่จะเก่งในทางเช่นนี้มากหรือน้อยนั้นก็เปนนิสัยในตัวนักเรียนเอง ถึงไปอยู่ในที่ ๆ มีโอกาศจะสังเกตสังกามาก แต่ไม่ใคร่เอาใจใส่ก็มี ด้วยไม่เห็นประหลาดในการเช่นนั้น ที่ถือว่าเปนแต่การเล็กน้อย ถึงอย่างไรก็ดีข้าพเจ้าเห็นแน่ว่า ถ้าได้ไปอยู่ในบ้านกับแฟมิลีที่ดีแล้ว ก็คงสังเกตเห็นของเช่นนี้ได้ไม่มากก็น้อย ดีกว่าตรงไปอยู่โรงเรียนมาก เพราะเหตุนิดเดียวที่โรงเรียนมีแต่เด็กเปนพื้น แลใครจะเรียนขนบธรรมเนียมจากเด็ก ๆ นั้นไม่ได้มิได้ การขนบธรรมเนียมแลกิริยาวาจาอ่อนหวานทั้งปวงนั้น จะเรียนมากได้ก็จากผู้หญิง แลถ้าไม่ได้อยู่กับแฟมิลีแล้วก็นาน ๆ จึงจะได้พบผู้หญิงสักครั้งหนึ่ง เปนการเหลือที่จะสังเกตสังกาได้.

เพราะเหตุฉนี้ ข้าพเจ้ามีความเห็นไม่ต้องกับความคิดที่ว่านักเรียนที่ไปจากกรุงเทพ ฯ นี้ ควรจะเรียนไปให้พอตรงไปเข้ายุนิเวอซีตีทีเดียว จะได้ไม่ไปเสียเวลาที่จะต้องไปอยู่กับแฟมิลีก่อน แล้วไปอยู่โรงเรียน แล้วจึงไปอยู่ยุนิเวอซีตีภายหลัง

การที่ว่าให้มีความรู้ไปให้พอนั้น ก็เปนการชอบแล้ว แต่ที่ว่าให้ตรงไปอยู่ยุนิเวอซีตีนั้น แปลว่ายังไม่รู้ขนบธรรมเนียมไปเท่าใดก็ตรงไปอยู่ยุนิเวอซีตี ไม่มีโอกาศที่จะเรียนขนบธรรมเนียมเสียก่อน ที่ยุนิเวอซีตีนั้นก็มีขนบธรรมเนียมที่ควรจะศึกษาเหมือนกันในส่วนผู้ชาย ๆ แต่เมื่อไปถึงผู้หญิงเข้าแล้วก็เปนการจนแต้ม การที่รู้จักจะพูดแลประพฤติตัวกับผู้ชายอย่างไรนั้น ไม่สำคัญเหมือนการที่รู้จักพูดแลประพฤติตัวกับผู้หญิง ตามที่เราทราบกันอยู่ทุกคน ถ้าเรารู้จักว่าจะประพฤติตัวกับผู้หญิงอย่างไรแล้ว ก็รู้จักประพฤติตัวกับผู้ชายด้วย แต่เมื่อรู้จักประพฤติกับผู้ชายแล้ว จะได้รู้จักประพฤติตัวกับผู้หญิงด้วยนั้นหามิได้.

ท่านที่เปนทนายของการที่ไม่ให้นักเรียนไปอยู่กับแฟมิลีก่อนนั้น บางท่านจะเถียงว่า การที่ขึ้นไปอยู่ยุนิเวอซีตีนั้นไม่ได้อยู่เสมอไปตลอดปี มีเวลาหยุดเรียนที่เรียกวะเคชันถึงประมาณ ๖ เดือนในปีหนึ่ง เพราะฉนั้นเวลาวะเคชันคราวละ ๗ อาทิตย์ ๘ อาทิตย์ ให้นักเรียนไปอยู่กับแฟมิลีก็อาจศึกษาขนบธรรมเนียมได้เหมือนกัน ถ้าท่านคนไหนว่าอย่างนี้แล้ว ท่านผู้อ่านกองทราบได้ว่าท่านผู้นั้นไม่เคยไปอยู่ยุนิเวอซีตีมากับตัวเอง หาทราบว่านักเรียนยุนิเวอซีตีกับนักเรียนอื่นผิดกันอยู่อย่างไรไม่ การที่นักเรียนไปอยู่กับแฟมิลีแต่แรกไปนั้น พวกผู้ใหญ่ในแฟมิลีเขาถือว่า เราเปนคนต่างประเทศไม่รู้จักภาษีภาษา แลขนบธรรมเนียมอันใด ถึงจะทำผิดเท่อท่าอะไร ก็ช่วยบอกสั่งสอนให้ถือคล้ายๆ กับบุตร แต่ถ้าเราเคยไปอยู่ยุนิเวอซีตีมาแล้วเขาไม่ถือเช่นนั้น เพราะนักเรียนยุนิเวอซีตี เขาถือว่าเปนคนโต ๆ แล้ว แลเปนคนเรียนวิชาชั้นสูง จะมากล่าวแนะนำขนบธรรมเนียมให้นั้นไม่ควร ถึงเราจะไปอยู่ด้วยที่ถือเท่ากับแขกไปอยู่ด้วยคนหนึ่ง จะทำเซ่อซ่าอะไรก็ชั่งเจ้าเปนไร ที่จะบอกให้รู้จักประพฤติตัวอย่างไรนั้น เปนการตขิดตขวงอยู่ ถึงท่านผู้ดูแลนักเรียนจะขอไปว่าให้ช่วยสั่งสอนด้วย ก็เปนการเปนไปไม่ใคร่ตลอด เพราะมันอย่างไร ๆ อยู่ เรานึกดูก็พอเห็นได้ด้วยกันทุกคน.

ตามที่ข้าพเจ้ากล่าวมาดังนี้ จะได้กล่าวโดยไม่มีพยานช่วยในข้อเถียงของข้าพเจ้านั้นหามิได้ เมื่อข้าพเจ้าอยู่ยุนิเวอซีตีนั้น ได้รู้จักกับนักเรียนยี่ปุ่น แลนักเรียนจีนพวกตัดหางเปียหลายคน เปนพวกที่มาถึงก็เลยขึ้นไปยุนิเวอซีตีทั้งนั้น นักเรียนพวกนี้เมื่อเวลาอยู่ยุนิเวอซีตี ก็ประพฤติตัวอย่างนัก เรียนเรียบร้อยดีอยู่ แต่ครั้นเวลาหยุดเรียนลงไปจากยูนิเวอซีตีแล้ว ก็หาใครรู้จักประพฤติตัวให้ถูกกาละเทศะไม่ ดังนี้ ข้าพเจ้าจะอ้างพยานได้อยู่ เรื่องขัน ๆ ที่นักเรียนพวกนี้บางคนไปทำโก๋ต่าง ๆ ก็มีเล่า แต่ข้าพเจ้าจะเก็บไว้เสียไม่นำมาเล่าในที่นี้

เพราะเหตุดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ถ้าข้าพเจ้ามีบุตรหรือหลานชาย ที่จะส่งออกไปเล่าเรียนที่ประเทศอังกฤษแล้ว จะให้เล่าเรียนทั้งภาษาไทยแลภาษาอังกฤษอยู่ในกรุงเทพ ฯ เสีย จนอายุได้ ๑๖ หรือ ๑๗ ปี จึงจะส่งออกไป เพราะที่จะส่งออกไปแต่เล็ก ๆ นั้น ยังต้องคิดถึงที่จะต้องอยู่นาน ต้องเสียเงินมาก แลการที่จะห้ามไม่ให้ลืมภาษาตัวเองนั้นก็ไม่ใช่ของง่ายเหมือนกัน ถ้าไม่ต้องคิดถึงเงินแล้วก็เปนอย่างหนึ่ง ให้อยู่นานหน่อยก็ได้.

เมื่อไปถึงเมืองอังกฤษแล้ว ให้ไปอยู่กับแฟมิลีแห่งใดแห่งหนึ่งที่เห็นสมควรในระหว่าง ๖ เดือนกับที่หนึ่ง ตามความรู้ที่จะต้องเรียนกับครูไปรเวตมากหรือน้อย เพราะถึงเราจะมีความรู้ไปมากแล้ว จะไปกับความรู้ให้คมขึ้นอิกกับครูไปรเวต ก็ไม่เปนการเสียเวลาอันใด แลจะได้ดูขนบธรรมเนียมด้วย.

เมื่อไปอยู่กับแฟมิลีพอแล้วให้ไปอยู่โรงเรียนชั้นปับลิกสกูลอย่างน้อยเทอมหนึ่ง เพื่อจะได้รู้จักทางของโรงเรียนแลมีโอกาศคบเพื่อนฝูง เมื่อขึ้นไปอยู่ยุนิเวอซีตีแล้วมีประโยชน์ดังที่จะได้กล่าวเมื่อได้เขียนไปถึงการขึ้นไปอยู่ยุนิเวอซีตีนั้น.

ไปอยู่โรงเรียนพอแล้วจึงให้ขึ้นไปอยู่ยุนิเวอซีตี จะเรียนอะไรก็แล้วแต่จะเลือก แลเมื่อได้ดีกรีแล้วจะให้อยู่ทำการหาความชำนาญ ตามทางวิชาที่เรียนมาหรือไม่ ก็ตามแต่จะตกลงภายหลัง.

ส่วนตัวข้าพเจ้าเองนั้น เมื่อได้ตกลงจัดให้ไปอยู่กับแฟมิลีแล้ว ท่านผู้ดูแลนักเรียนได้เลือกแฟมิลีแห่งหนึ่งอยู่ข้างลอนดอน ห่างสถานทูตไปประมาณ ๖ ไมล์ ท่านขรัวครูเปนสมภารอยู่ในหมู่บ้านนั้น

วันที่ ๓๑ พฤษภาคม เวลาบ่ายท่านครูได้มาพบกับข้าพเจ้าที่สถานทูตเพื่อดูตัวข้าพเจ้า แลให้ข้าพเจ้าดูตัวว่า จะต่างคนต่างไม่เกลียดกันแต่เมื่อแรกพบ พอจะไปอยู่ด้วยกันได้หรือไม่ ตกลงว่าได้ จะไปลองอยู่เดือนหนึ่งก่อน ถ้าไม่พอใจจะได้หาที่อื่นต่อไป.

รุ่งขึ้นเวลาเช้า ข้าพเจ้าออกไปลองเสื้อแลซื้อของสองสามอย่างแล้วกลับมากินเข้ากลางวัน (เข้ากลางวันที่เมืองอังกฤษเรียกลันเชิน ไม่เรียกติฟฟินเหมือนที่นี่ ไปแรกๆ ไปเรียกติฟฟินบางทีเขามักไม่เข้าใจ ดูก็น่าขัน) เวลาบ่าย ท่านขรัวครูมารับขนเข้าของขึ้นบรรทุกรถขับไปสเตชั่นรถไฟ แล้วขึ้นรถไฟไป ๑๕ นาทีถึงสเตชั่นข้างโน้น เช่ารถขับต่อไปอิกประมาณ ๓ ไมล์จึงถึงบ้าน.

วันนั้นเปนวันฝนตกมาแต่เวลาเช้าพึ่งหยุดใหม่ ๆ เมื่อขับรถไปนั้นถนนเปรอะไปด้วยโคลน ข้าพเจ้านึกถึงรถไบซิกลที่ได้ซื้อมาใหม่ ๆ ออกไม่เปนที่พอใจเลย นึกว่าไปอยู่เดือนหนึ่งก็คงเบื่อพอเสียแล้ว จะไม่ถึงเดือนเสียอิก ถนนที่ขับรถไปนั้นบางแห่งก็มีทุ่งนาอยู่สองข้าง เขาถือกันว่าเปนที่งามที่สุด แลอยู่สบายที่สุดในเหล่านั้น เพราะอากาศโปร่งแลเปนที่ว่าง หามีเรือนไปทุกหนทุกแห่งอย่างในลอนดอนไม่ ส่วนตัวข้าพเจ้าเองนั้นไปถึงเมืองอังกฤษใหม่ ๆ ยังหาจืดลอนดอนไม่ แลทุ่งนาเช่นนั้นเปนของที่เรามีถมไป ไม่เห็นประหลาดอันใด จะงามตรงไหนก็แลไม่เห็นนึกไม่ชอบเหมือนกัน ต่อไปเมื่ออยู่ไปนาน ๆ จึงเห็นว่าทุ่งเช่นนั้นสบายกว่าลอนดอนหลายเท่า แลในหมู่ลอนดอนที่เต็มไปด้วยเรือนโรงร้านอะไรต่าง ๆ นั้น ทุ่งต้องเปนของดีอยู่เอง.

เวลาบ่าย ๔ โมงครึ่งถึงบ้านที่จะไปอยู่ใหม่ ดูให้เขาขนเข้าของขึ้นห้อง แลล้างหน้าล้างมือเสร็จแล้วก็ลงไปในห้องรับแขก ท่านขรัวครูแนะนำให้รู้จักกับภรรยาเปนคนอย่างที่ฝรั่งเรียกว่าสาว คืออายุประมาณ ๓๐ เศษ เขาจับมือว่า “ท่านสบายหรือ” กับข้าพเจ้าแล้ว กล่าวต่อไปว่า หวังใจว่าข้าพเจ้าจะชอบอยู่กับเขาที่บ้านนั้น แต่ขอให้ข้าพเจ้าทำตัวให้เหมือนกับอยู่บ้านข้าพเจ้าเองเหมือนกัน การที่เขาว่าอย่างนั้นก็เปนตามธรรมเนียม ข้าพเจ้าได้นึกเตรียมตอบไปแล้ว คือขอบใจเขาในการที่ขอให้ข้าพเจ้าทำตัวเหมือนกับอยู่บ้านตัวเองนั้น แลข้าพเจ้าเชื่อในใจว่าข้าพเจ้าจะชอบอยู่กับเขาเปนแน่.

เมื่อกินน้ำชาเสร็จแล้ว ตาครูมีธุระจะต้องขี่ไบซิกลไปที่แห่งหนึ่ง ประมาณสามไมล์กว่า ๆ จึงชวนข้าพเจ้าไปด้วย เพราะคิดว่าข้าพเจ้าอยู่คนเดียวกลัวจะเหงา แลข้าพเจ้าจะไม่รู้จักคุยกับยายเมีย หรือยายเมียมีธุระจะต้องทำอื่นที่จะต้องทิ้งให้ข้าพเจ้าอยู่คนเดียว หรืออะไรอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้าไม่นึกอยากจะไป เพราะโคลนออกเปรอะไปทุกหนทุกแห่ง ไม่เห็นออกสนุก แต่ข้าพเจ้ายังไม่รู้พอที่จะกล้าบอกได้ว่าไม่ไปหละ เปนอันเขาชวนไปก็ไปกับเขา ต้องไปทรมานตัวในการที่ไม่รู้สึกสนุกอยู่เกือบชั่วโมง

รุ่งขึ้นข้าพเจ้าลงมือทำการ คือทำเลขบวกลบคูณหารเหล่านี้เองอยู่ตั้งสองสามชั่วโมง เพราะข้าพเจ้าออกจากโรงเรียนมานานแล้ว ของที่เคยเรียนมาเช่นเลขเช่นนั้นก็ลืมหมด ต้องไปเสียเวลาตั้งต้นใหม่อยู่หลายวัน

คำว่า “ทำการ” นั้นในที่นี้แปลว่าเรียน เปนคำที่ใช้ชุมในภาษาอังกฤษ แต่ในภาษาเราดูเหมือนจะขัดอยู่หน่อย ตัวข้าพเจ้าเองเคยใช้คำว่า “เวอก” มาจนเคยหู มาแผลงเปน “ทำการ” เข้าก็ดูไม่ขัดอันใด แลเคยใช้มามากเปนอันอดไม่ได้ด้วย ยังมีคำอยู่อีกหลายคำที่ฟังดูประหลาดเช่นนี้ เช่น คำว่า “อ่าน” แปลว่าเรียน อ่านกฎหมายหรืออ่านพงษาวดาร แปลว่าเรียนกฎหมายหรือเรียนพงษาวดารเปนต้น ที่จริงคำว่าอ่านนี้เปนคำใช้อยู่แต่ในยุนิเวอซีตีเท่านั้น บางที่ไปบอกคนนอก ๆ ว่าเรา “อ่าน” กฎหมายดังนี้ดูทำเลิกลากประหนึ่งว่าไม่เข้าใจก็มี บางคนเห็นจะเข้าใจว่าเราเปนคนต่างประเทศ ไม่เข้าใจใช้ภาษาอังกฤษให้ถูกคำก็เปนได้.

เมื่อพูดถึงความเข้าใจผิดของคนไม่รู้พอที่คิดว่า เราไม่รู้ภาษาอังกฤษเท่าไรค่าที่เปนคนต่างประเทศเช่นนี้ ข้าพเจ้าอดกล่าวถึงภาษาพิเศษที่เรียกว่า “ค๊อกนี” ไม่ได้ ภาษาค๊อกนีนี้ไม่ใช่ภาษาอื่นไกลคือภาษาอังกฤษนี่เอง แต่เปนภาษาอังกฤษที่คนเลวพูด ไวยากรณ์อยู่ที่ไหนไม่ทราบแลสำเนียงก็ประหลาดเหลือที่คนไม่เคยจะเข้าใจได้ นักเรียนที่ไปใหม่ ๆ แล้วถึงจะเข้าใจภาษาอังกฤษดีเท่าใดก็เข้าใจค๊อกนีไม่ได้ ถ้าเราไม่เข้าใจแล้วเจ้าพวกนั้นบอกกันว่า E dunno nuff Hinglish แปลว่า “เขาไม่รู้ภาษาอังกฤษพอ” ดังนี้อะไรจะเจ็บกว่าเปนไม่มี มันพูดเลวจนเราไม่เข้าใจแล้ว ยังกลับมาเหมาว่าเราไม่รู้อังกฤษพอได้ เปนการเข้าใจผิดเต็มที่ทีเดียว.

ภาษาค๊อกนีนี้มีประหลาดอยู่สองสามอย่าง ยากที่จะตีความให้ออกได้ คือตัว H (ฮ) เปนต้นนี้ยุ่งกันไม่เปนท่า ถ้าคำไหนมี H นำหน้าเช่นคำว่า Hill (ฮิล) แปลว่า “เขา” เช่นนี้ เจ้าพวกค๊อกนีเอาตัว (ฮ) ออกเสีย ใช้แต่ตัว “อ” คือว่า อิล (ill) ถ้าไม่เข้าใจก็ต้องแปลว่าเจ็บไป ส่วนคำว่า “อิล” ที่แปลว่าเจ็บนั้นเจ้าพวกค๊อกนีเอา “ฮ” มาเติมเข้า เรียกว่า “ฮิล” ใครไม่รู้ก็นึกว่าพูดถึง “เขา” ต่อคนเคย ๆ แล้ว จึงจะทราบว่าถ้าพูดว่า “เขา” แล้วแปลว่า “เจ็บ” ถ้าว่าเจ็บแล้ว แล้วก็แปลว่า “เขา” เปนการกลับกันอยู่ ยากที่จะเข้าใจได้ว่าทำไมจึงเปนเช่นนั้น เพราะจะว่าๆ H ไม่ได้ก็ไม่ถูกหรือจะว่าทิ้ง H ไม่ได้ก็ไม่ถูกเหมือนกัน.

ยังมีอีกอย่างหนึ่งคือคำที่ลงท้ายว่า “อิง” เจ้าพวกค๊อกนีว่าไม่ได้ ใช้ว่า “อิน” เสมอตัว “g” เปนตัวเคราะห์ร้าย แทบจะถูกตัดออกเสียจากพวกพยัญชนะ.

บ้านครูที่ข้าพเจ้าไปอยู่ใหม่นั้น มีคนทำสวนอยู่คนหนึ่ง เปนคนพวกค๊อกนีนี้ วันหนึ่งข้าพเจ้าตื่นขึ้นแต่เช้าแต่งตัวเสร็จ แล้วเดิรออกไปในสวน พบอีตานั่นขุดดินอยู่ข้าพเจ้าจึงอำนวยพรสำหรับเวลาเช้าตามธรรมเนียมเสร็จแล้ว กล่าวต่อไปว่า เช้าวันนั้นอยู่ข้างหนาวมาก ตานั่นตอบว่า “จริงขอรับ เมื่อคืนมี “เอล” ตกมามาก ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่า “เอล” นั้นแปลว่ากระไร เพราะรู้อยู่แต่ว่า “เอล” นั้นแปลว่าเหล้าเบีย ทำไมเหล้าเบียจะไพล่มาตกกลางคืนดูกระไรอยู่ ข้าพเจ้าจึงย้อนถามว่า “อะไรตกนะ” ก็ได้รับตอบว่า “เอลขอรับ เอลที่ตกคล้าย ๆ ฝนนะอย่างไรเล่า” ข้าพเจ้ายังนึกถึงเหล้าเบียอยู่ คิดว่าฝนตกเปนเหล้าเบียนี่จะมิเกิดสนุกกันใหญ่หรือ ข้าพเจ้าจึงกลับถามอีกว่าเอลนะมันอะไรแน่ ก็ได้รับตอบอย่างเก่า ข้าพเจ้านึกสงสัยจัดขึ้นมาจึงถามว่าเอลนั้นสกดตัวอย่างไร ตานั่นก็สกดตัวให้ข้าพเจ้าฟังว่า “เอ็ช อี ไอ เอ็ล” ข้าพเจ้ากลั้นหัวเราะไม่ได้บอกว่า “อ้อ เฮลนะเองแหละหรือ” อีตานั่นทำหน้าซีดตอบว่า “พวกเราบางทีก็ยุ่งไปบ้างขอรับ.”

เรื่องนี้ท่านผู้อ่านจะไม่เห็นขันก็เปนได้ แต่ตัวข้าพเจ้าเองนั้นเห็นขันเต็มที่ทีเดียว ว่าที่จริงการที่เอามาเขียนเปนหนังสือลงนี้ฟังไม่สู้ประหลาดเท่าใด แต่ถ้าเล่าด้วยปากแล้วดูขันมาก.

ในแฟมิลีที่ข้าพเจ้าไปอยู่นั้น มีตาครูยายเมียดังที่กล่าวมาแล้ว กับลูก ๓ คน คนใหญ่เปนผู้หญิงอายุเวลานั้น ๙ ขวบ คนที่สอง ๕ ขวบ คนสุดท้องเปนผู้ชายอายุประมาณขวบหนึ่ง ลูกคนที่สองพูดอะไรดูขัน ๆ มากเปนเครื่องสนุกในบ้านนั้น พูดก็ลาก ๆ ถามอะไรก็ขัน ๆ ทำให้แม่จนบ่อย ๆ เช่นวันหนึ่งอยู่ดี ๆ ก็ถามว่า “แม่จ๋าทำไมเราถึงเอาไฟจุดน้ำไม่ได้” (Mother, why can't we set water on fire) ทำให้แม่สิ้นความรู้ไม่ทราบจะตอบว่ากระไร วันหนึ่งนางพี่เลี้ยงพาออกไปเดิรเล่น ถูกฝนเปียกกลับมารองเท้าเปื้อนโคลนไปทั้งนั้น แต่เมื่อถึงพรมเช็ดเท้าตรงกระไดเรือนก็หาเช็ดไม่ ไพล่เดิรขึ้นกระไดไป พรมกะไดเปื้อนโคลนเลอะขึ้นไปทุกคั่น จนถึงห้องนอนแล้วกลับเดิรลงกระไดมาอีก พอพบแม่ตามกลางทาง ถูกดุว่าไม่เช็ดเท้าจนพรมเปื้อนหมดแล้ว ยังกลับลงมาทำไมอิกเล่า เด็กคนนั้นตอบว่า “ฉันลืมเช็ดเท้าเมื่อขึ้นไป จึงกลับลงมาเช็ดเท้า” ทำให้พรมเคราะห์ร้ายถูกเปื้อนโคลนเปนสองทาง !

ส่วนการกินอยู่นั้น เมื่อแรกข้าพเจ้าไปอยู่วันสองวันออกไม่ถูกใจมาก วันแรกกินเข้าเย็นมีสุบ, เนื้อวัวย่าง, กับขนมรวมสามอย่างเท่านั้น ข้าพเจ้าคิดว่าช่างกินน้อยอย่างจริง ๆ เราอยู่บ้านหรือกินสำรับมีกับเข้าเปนหลายสิ่ง มาถูกอย่างนี้เข้าช่างเลวมาก ที่จริงกับเข้าดังที่ว่ามานั้นจะเรียกว่าเลวไม่ ได้ ต่อเคยเข้าหน่อยจึงจะออกชอบ เมื่อแรกไปใหม่ๆดูเหมือนจะไม่พอใจแทบทุกคน ครั้นอยู่นานเข้ากลับชอบที่กินแต่อย่างสองอย่างนั้น มากกว่ากินมากมายไปเสียอิก.

การกินที่เมืองอังกฤษนั้น มีแบ่งตามคนกินดีหรือเลว มีเงินมากหรือน้อย หรือตระหนี่หรือไม่ตระหนี่ เปนสามชั้น คือคนชั้นเลว (แลคนที่ข้าพเจ้าว่าเลวนั้นไม่ใช่คนชั้นกุลี เพราะคนชั้นกุลีกินกันอย่างไรก็ทราบไม่แน่ แลนักเรียนเราไม่มีช่องที่จะไปอยู่กับคนชั้นนั้น เปนอันไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้) กินเข้าเช้าเวลาประมาณสองโมงครึ่งหรือสามโมง (แต่มักเช้ามากกว่าสาย) กินดินเนอร์ที่เปนอาหารหรูที่สุด ประมาณบ่ายโมงครึ่ง หรือบ่ายสองโมง กินน้ำชาที่เรียกกันว่า “น้ำชาสูง” High tea (แปลว่ากินน้ำชากับเนื้อเย็นหรือเนื้อร้อน แลขนมไปพร้อมกันทีเดียวเปนอันเปลืองน้อยเข้า) ประมาณย่ำค่ำ พวกกินน้ำชาสูงนี้บางคนก็กินสับเปอร์ดึก ๆ มีแต่ขนมปังทาเนยกับเบียหรือน้ำเย็นบ้าง บางพวกก็ไม่กินอะไรอิก น่าจะผอมตาย.

พวกที่ถัดขึ้นไปหน่อยหนึ่ง กินเข้าเช้าตามธรรมเนียม แล้วกินดินเนอร์กลางวันบ่ายโมงหนึ่งหรือบ่ายโมงครึ่ง เวลาบ่ายประมาณ ๔ โมงครึ่งมีกินน้ำชา ที่เรียกน้ำชาเวลาบ่าย แปลว่ามีแต่น้ำชา, ขนมปังทาเนย, ขนมและเครื่องว่างบางอย่าง มักมีแขกมากินชุม เพราะพวกนี้จะทำฟุ่มเฟือยถึงเชิญคนมาดินเนอร์นักนั้นไม่ได้ เวลาทุ่มครึ่งหรือสองทุ่มมีกินสับเปอร์ มักจะเปนเนื้อที่เหลือแต่ดินเนอร์กลางวัน เอามาทำให้เปนเนื้อเย็นเข้ากันได้อิกทีหนึ่ง ขนมก็มักจะเหลือมาเเต่กลางวันโดยมากเหมือนกัน บางทีถ้าเนื้อกลางวันเหลืออยู่ไม่เปนก้อนใหญ่พอ ก็เอามาสับหรือหั่นทำให้ร้อนขึ้นบ้าง แต่ถึงอย่างไรก็ดี สับเปอร์ยังนับว่าเปนของเลวกว่าดินเนอร์.

ส่วนพวกที่พอมีอันจะกินนั้น กินเข้าเช้าตามธรรมดา กลางวันบ่ายโมงหรือบ่ายโมงครึ่งหรือสองโมง กินเข้ากลางวันที่เรียกลันเชิน ซึ่งเปนของไม่มีในโลกที่คนชั้นต่ำลงไปอยู่นั้น เวลาบ่าย ๔ โมงครึ่งหรือ ๕ โมงกินน้ำชาเวลาบ่าย เวลาทุ่มครึ่งหรือสองทุ่มกินดินเนอร์ ซึ่งเปนอาหารอย่างหรูหราฟุ่มเพือยมากกว่าอาหารเวลาอื่นหมด.

ว่าที่จริงการแบ่งอาหารกลางวันกับอาหารเย็น ให้เปนลันเชินกับดินเนอร์ หรือดินเนอร์กับสับเปอร์ที่เปนแต่ชื่อโดยมาก เพราะถ้าจะเอาสับเปอร์ไปไว้กลางวันให้เปนลันเชินเสีย แล้วเอาดินเนอร์มาไว้เย็นก็ได้ชื่อว่ากินดินเนอร์เวลาเย็น เปนการหรูหรามากขึ้น การที่แบ่งเช่นนี้ทำไมเขาจึงไม่ทำกันข้าพเจ้าก็อธิบายไม่ได้ เพราะถึงจะทำอย่างนั้นค่าของที่กินก็คงไม่ขึ้นไปนัก บางทีพวกที่ไม่เคยกินดินเนอร์เวลาเย็น จะถ่อมตัวหรือไม่เห็นจำเปนที่จะเปลี่ยนแปลงอันใด ก็จะเปนได้กระมัง ถึงอย่างไรก็ดีการกินดินเนอร์กลางวันหรือเย็นนั้น ข้าพเจ้า ว่าเปนแต่ชื่อเท่านั้นโดยมาก.

เมื่อพูดถึงเวลากินอาหารเช่นนี้ ข้าพเจ้าก็ต้องขอบอกนักเรียนที่จะออกไปใหม่อย่างหนึ่ง ว่าการกินอาหารที่เมืองโน้นเขาไม่ใคร่คอยกัน แลเราควรจะอยู่คอยกินให้ทันเวลาเสมอ อาหารเช้าเปนสำคัญควรจะตื่นให้ทัน เพราะถ้าเราสายไปแล้วเปนที่เจ้าของบ้านไม่ชอบ แลเปนการลำบากกับบ่าวเห็นได้ง่าย ๆ อยู่ การที่ทำให้ไม่ถูกใจเขาด้วยของเล็กน้อยเช่นนี้ไม่เปนของดี หาพอกับความศุขที่ได้รับเล็กน้อย คือได้นอนสายขึ้นอีกครึ่งชั่วโมงหรือต่ำกว่าครึ่งชั่วโมงไปเสียอีกนั้นไม่ การที่จะตื่นให้ทันกินเข้าเช้าทุกวันนั้น เมื่อแรกไปถึงใหม่ ๆ ไม่เปนการที่ต้องพยายามเลย เพราะถ้าเราไปอยู่ไหนใหม่มักตื่นเช้ากว่าธรรมดา แลเราจะตื่นเช้าดังนั้นเรื่อยไปแล้ว ก็ไม่เปนการลำบากอันใดกลับสบายดีไปเสียอิก หรือบางทีจะเปนลางเนื้อชอบลางยาบ้างกระมัง

ส่วนการเล่าเรียนนั้น ที่นักเรียนจะต้องการเรียนอย่างไร ผู้ดูแลนักเรียนก็คงให้ไปอยู่กับครูที่สอนได้อย่างนั้น แต่ตัวข้าพเจ้าเอง เมื่อแรกลงมือก็คือเลขบวกลบคูณหารเหล่านี้เอง เพราะข้าพเจ้าเรื้อไปเต็มที่แล้ว ถึงจะรู้จักวิธีเลขชั้นเตี้ย ๆ เช่นนั้นก็ทำไม่ใคร่ถูก แลจำสูตรคูณไม่ได้เหลวไหล ไม่เปน ท่า ต้องทำเลขเช่นนี้อยู่หลายวันจึงได้ลงมือแอลยิบราแลอื่น ๆ ต่อไป.

บ้านที่อยู่นั้น เมื่ออยู่เข้าหน่อยพอเคยเข้าแล้วก็ดูไม่เหงาเหมือนที่ข้าพเจ้าเข้าใจแต่แรก ตำบลนั้นใกล้ลอนดอนก็จริงแต่ไม่มีสเตชั่นอยู่ใกล้ ๆ ค่อนข้างลำบากเล็กน้อย รถเช่าก็ไม่ใคร่มีด้วย ข้าพเจ้ารอดตัวหน่อยที่มีรถไบซิกลขี่ไปสเตชั่นได้ ลำบาลแต่เวลาใส่ฟร๊อกโก๊ตหมวกสูงจะขี่ไบซิกลก็ไม่ได้ ต้องเดิรประมาณสามไมล์จึงจะถึงสเตชั่น ถ้าน่าร้อนแดดจัดแล้วไม่เปนการเล่นเลย เพราะจะกั้นร่มก็ไม่ได้ถูกเขายิ้มเมินเอา เปนธรรมเนียมบ้าน่าหัวเราะของอังกฤษอันหนึ่ง.

ธรรมเนียมบ้าเช่นนี้ข้าพเจ้าก็ได้เคยคิดมาแล้ว ว่าทำไมจึงมาถือกันได้ แต่ก็ยังตีความไม่ออกจนป่านนี้ ร่มนั้นเปนของสำหรับถือคล้าย ๆ ไม้เท้าเท่านั้น เพราะผู้ชายถึงแดดจะเปรี่ยงเท่าใดก็ไม่กางร่ม ด้วยเห็นว่าการกางร่มไม่สมกับที่ได้เกิดมาเปนผู้ชายทั้งที หรืออะไรอย่างหนึ่งก็ฟังไม่สู้แน่ ถ้าฝนตกแต่พอไม่สู้กระไรแล้ว ร่มก็หุบถือไปอย่างนั้นเอง เพราะถ้าจะกางร่มขึ้นก็ดูเปนทีขี้หนียว กลัวหมวกไหมจะเสียหรือเสื้อจะเสีย หาสมกับความเก๋ของผู้ชายไม่ ต่อเมื่อฝนตกซู่จนทนไม่ได้แท้ ๆ เมื่อไรจึงจะกางร่ม แต่ถึงอย่างนั้นก็รู้สึกเสียไปมากเหมือนกัน.

เรื่องผ้าเช็ดหน้าอิกอย่างหนึ่งเปนของควรรู้ คือที่เมืองนอกถึงจะร้อนเท่าไร เขาก็ไม่เอาผ้าเช็ดหน้าในกระเป๋ามาเช็ดหน้า เพราะผ้าเช็ดหน้าเปนแต่ของสำหรับจมูก แลถึงจะสอาดอย่างไร ก็เหมือนหนึ่งผ้าเช็ดมือใหม่ ๆ จะเอามาเช็ดหน้าไม่ควร เมืองเราเปนเมืองร้อนถึงฝรั่งที่เคยเคร่ง ๆ มาก็ทนเช็ดหน้าไม่ไหว แต่เมื่อไปถึงเมืองโน้นใหม่ ๆ แล้ว ควรจำไว้ให้แน่นอนว่า ไม่ควรเช็ดหน้าให้ใครเห็น เพราะการเช็ดหน้าในที่ประชุมชนนั้น เสียไปเท่ากับเอาชายพกเช็ดปากที่เมืองเรานี้เหมือนกัน.

เรื่องบ้าเช่นนี้ยังมีอิกอย่างหนึ่งในพวกคนหนุ่ม คือเสื้อโอเวอโก๊ตหรือเสื้อคลุมกันหนาวชั้นนอกนั้น ถ้าไม่หนาวจนทนไม่ได้ก็ไม่ใส่ เพราะเหตุใด เพราะเสื้อโอเวอโก๊ตดูไม่สวย สู้เสื้อฟร๊อกโก๊ตไม่ได้ ถ้าเสื้อฟร๊อกโก๊ตตัดดี ๆ ไปใส่โอเวอโก็ตคลุมเสียแล้ว เสื้อฟร๊อกโก็ตก็ดีเสียเปล่า อวดใครไม่ได้.

บ้านที่ข้าพเจ้าอยู่นั้นอยู่บนเขา หรือจะว่าให้ถูกก็กลางเขา คือหาอยู่สูงถึงยอดเขาไม่ เขานั้นเปนแต่เขาเตี้ย ๆ เปนเนินลาดขึ้นไปสักสามเส้นก็ไปถึงที่ราบแปลว่ายอดเขา ข้างโน้นก็มีลาดลงไปเหมือนกัน แต่ชันเข้าหน่อยหนึ่ง ข้างหลังบ้านเปนป๊ากที่เรียกริชมอนด์ป๊ากใหญ่โตมาก มีถนนเรียบสำหรับไบซิกลเปนดีอย่างเอกทีเดียว ในป๊ากนี้มีเนื้อแลกวางนับไม่ถ้วน ด้วยเปนของหลวงไม่มีใครไปฆ่าแกงได้ น่าออทัมคือฤดูใบไม้ร่วงก่อนฤดูหนาวเจ้าพวกเนื้อเหล่านั้นตกน้ำมัน ถึงกับไล่คนก็มี ข้างป๊ากข้างโน้นห่างไปอิกประมาณสามไมล์มีนักเรียนไทยเคยอยู่สองคน ข้าพเจ้าได้เคยไปหาเขา ๆ เคยมาหาข้าพเจ้าบ่อยๆ น่าร้อนเคยไปนั่งด้วยกันบนหญ้าในป๊ากคุยถึงเมืองไทย แกงเผ็ดน้ำพริกเลเรื่องตะกละทั้งปวง สนุกสบายดีมาก.

เมื่อข้าพเจ้าไปอยู่กับครูที่บ้านนั้นได้สองสามวัน ก็ได้รับจดหมายจากผู้ดูแลนักเรียนว่า การที่ข้าพเจ้าเรียนอยู่เดี๋ยวนั้น ยังไม่มีเเน่นอนว่าจะไปข้างไหน ผู้ดแลนักเรียนเห็นว่าควรจะเรียนสำหรับการไล่ของสำนักที่ชื่อคอเลชออฟปรีเซ็บเตอร์ในคราวสอบไล่น่านั้น ได้เขียนบอกไปยังครูแล้ว ขอให้ข้าพเจ้ากับครูตกลงกันดูว่าจะเรียนอะไรบ้าง เพราะในการไล่ของคอเลชนั้น ใครจะไล่อย่างไหนบ้างก็เลือกเอาได้ แต่ต้องไม่ต่ำกว่าเท่านั้นอย่าง ไม่สูงกว่าเท่านั้นอย่าง ที่ข้าพเจ้าไล่ครั้งนั้นอะไรบ้างที่จำไม่ได้ เคยมีประกาศนิยบัตรบอกอยู่ว่าสิ่งนั้น ๆ ก็หายไปไหนเสียแล้ว.

ส่วนข้อไล่ที่ว่าเลือกได้นั้น บางข้อจะเลือกเข้าไล่หรือไม่ไล่ก็แล้วแต่จะโปรด บางข้อจำเปนต้องไล่แต่ถึงกระนั้นก็ยังเลือกได้อยู่ดี คือภาษาอังกฤษแลไวยากรณ์อังกฤษเช่นนี้ ต้องเลือกเข้าไก่อย่างหนึ่ง คือถ้าจะไล่ภาษาอังกฤษก็ตาม แต่ถ้าไม่ไล่ภาษาอังกฤษ เปนต้องไล่ไวยากรณ์อังกฤษดังนี้เปนต้น การที่ว่าไล่ภาษาอังกฤษนั้นคือเขากะหนังสือหรือกาพย์กลอนอะไรให้อันหนึ่ง ให้ไปเรียนมาไม่ว่ามีอะไรที่จะรู้ได้ในหนังสือหรือกาพย์กลอนอันนั้นแล้วเปนต้องรู้หมด ต่างว่าเขากะให้เรียนรามเกียรติ์เช่นนี้ เวลาไล่เขาก็ถามว่าเมื่อพระลักษณ์ถูกนาคบาทนั้นเปนอย่างไรบ้าง ถูกเมื่อไรแลทำอย่างไรจึงแก้ได้ หรือต่างว่าพระลักษณ์ตายไปด้วยพิษศรนาคบาทนั้นแล้วการสงครามตามนางษีดาคราวนั้น จะตกลงเปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือไม่ เช่นนั้นเปนต้น การที่ทราบว่าอินทรชิตเปนคนแผลงครเปนนาคตั้งหมื่นตั้งแสนไปรัดพระลักษณ์แลพลลิงทั้งปวงสลบไป พระรามให้พิเพกไปหายาสวรรค์ที่ไหนมาแก้ แลออกความเห็นว่า ถ้าพระลักษณ์ตายบางทีพระรามจะท้อใจเลิกการสงคราม หรือจะกลับโกรธหนักยิ่งรบใหญ่ หรืออะไรก็ดีตามความเห็นของเรานั้นก็ไม่เปนการยากนัก แต่ต้องเข้าใจว่าการที่ตอบข้อถามเช่นนี้ ถ้าเขียนได้ยาว ๆ สำแดงความรู้ได้มากเปนดี แลเวลาที่เขากะให้นั้นก็ไม่มากเกินไปนัก เพราะฉนั้น คนเข้าไล่จะต้องแต่งแลเขียนให้รวดเร็วพอกับการ แลอย่าให้ผิดตัวสกด หรือผิดไวยากรณ์ให้มากนัก หาไม่ก็ตกง่าย ๆ การที่ข้าพเจ้ากล่าวมานี้เปนการไล่ภาษาอังกฤษทั่วไป ที่คอเลชออฟปรีเซ็บเตอร์นั่นง่ายหน่อย ที่อื่นบางแห่งก็ยากขึ้นไปเปนอันบอกยาก ข้าพเจ้าจำได้ว่าเมื่ออยู่ยุนิเวอซีตีเคยถูกไล่เช่นนี้คราวหนึ่งมีข้อถาม ๙ ข้อให้เวลาสามชั่วโมง ข้าพเจ้าได้นั่งเขียนเรื่อยอยู่ตลอดเวลา ได้ถึงประมาณ ๑๒ น่ากระดาดแต่ได้ตอบข้อถามได้ ๔ ข้อครึ่งเท่านั้น ได้คะแนนประมาณเพียง ๓๕ เปอร์เซนต์.

ส่วนข้ออื่นๆที่ไล่ในคอเลชออฟปรีเซ็บเตอร์นั้น มีเลข พงษาวดารอย่างเตี้ย ๆ แลภูมิสาตรเปนต้น ลงท้ายมักจะได้กันโดยมาก ถ้าใครตกก็อยู่ข้างจะเลว ยิ่งชั้นที่สามด้วยแล้ว ข้าพเจ้าเกือบจะอยากออกความเห็นว่า ถ้าใครตกถึงสองครั้ง ควรจะไม่ให้อยู่เล่าเรียนต่อไป แต่การที่จะกะดังนั้นก็คงต้องดูเวลาที่นักเรียนเรียนแลความรู้ที่มีออกไปจากกรุงเทพฯด้วย

คอเลชออฟปรีเซ็บเตอร์นั้น มีคำว่าคอเลชดูเหมือนโรงเรียน แต่คำว่าปรีเซบเตอร์นั้น แปลว่าผู้สั่งสอนหรือถ้าจะแปลให้ตรงแท้ต้องว่าผู้ชี้ทางหรือผู้ไปข้างน่า แต่คอเลชออฟปรีเซ็บเตอร์นี้ ถึงจะแปลว่าสำนักของผู้สั่งสอนก็จริงแต่ไม่ได้เปนเช่นนั้น เปนแต่ที่รวมกันของผู้สอบไล่ หรือถ้าจะว่าให้แท้ก็คือที่ประชุมของผู้หากินทางสอบไล่เท่านั้น ถ้าใครเข้าไล่ต้องเสียเงิน ๑๒ ชิลลิงครึ่ง ปีหนึ่งไล่สองครั้งมีคนเข้าไล่หลายพัน ได้เงินปีละมาก ๆ ท่านผู้ไล่นั้นถึงคราวก็หยุดการอื่นเสียสองสามวัน มาเกะกะเล็กน้อยตรวจบ้าง อะไรบ้างไปตามทีเปนการได้ผลประโยชน์.

การไล่ในคอเลชนี้แบ่งออกเปนสามชั้น คือชั้นหนึ่ง ชั้นสอง ชั้นสาม แล้วมีชั้นเตี้ยอิกชั้นหนึ่ง รวมเปนสี่ด้วยกัน ในประโยคสามชั้นนั้นแบ่งออกอีกเปนสามจำพวก คือถ้าไล่ได้ชั้นหนึ่งเช่นนี้ยังมีอิกว่าชั้นหนึ่งจำพวกไหน ถ้าได้ชั้นหนึ่งจำพวกที่หนึ่งก็เปนอันดี บางคนเข้าไล่ชั้นหนึ่ง แต่ความรู้ไม่ดีพอ เขายกให้ได้ประกาศนียบัตรเพียงชั้นสองก็ชุม นักเรียนบางคนมีประกาศนียบัตรชั้นสามถึงสองอันก็มี คือไล่ชั้นสามได้แล้วเข้าไปไล่ชั้นสองไม่ได้ เขายกประกาศนียบัตรชั้นสามให้อิกใบหนึ่ง.

การเข้าไล่ในคอเลชออฟปรีเซ็บเตอร์นี้ มีเสียเปนข้อใหญ่อยู่อย่างหนึ่ง คือไม่มีใครเขาเชื่อกี่มากน้อย แลถ้าเราจะไปบอกเขาว่า เราไล่ชั้นนั้นชั้นนี้คอเลชออฟปรีเซ็บเตอร์ได้แล้วเขาก็ไม่ใคร่ทราบว่าอะไรนัก การไล่อื่น ๆ เช่นอ๊อกซฟอดแอนด์เคมบริชโลแคลซ์นั้น ถึงประโยคสุดจะไม่ยากกว่าประโยคสุดของคอเลชออฟปรีเซ็บเตอร์ก็จริง แต่เมื่อไล่ได้แล้วมีคนเชื่อ ขยายประกาศนิยบัตรออกมาก็เปนการพอ แลเมื่อจะไปเข้ายุนิเวอซีตีหรือคอเลชชั้นสูงต่อไปแล้ว ไม่ต้องไล่เสียก่อน เพราะเขาเชื่อการสอบไล่เหล่านั้นพอแล้ว ส่วนคอเลชออฟปรีเซ็บเตอร์นั้นเปนของมหาชนไม่ใคร่รู้จัก เมื่อข้าพเจ้าอยู่ยุนิเวอซีตีขยายคอเลชออฟปรีเซ็บเตอร์ขึ้นแล้ว คนฟังก็มักสั่นหัวแลไม่เห็นว่าอะไรอยู่ที่ไหน ทำให้เรารู้สึกเสียไปมาก พวกที่เข้าไล่ในคอเลชออฟปรีเซ็บเตอร์นั้น คือพวกโรงเรียนเล็ก ๆ ที่ครูจะไล่เองก็ไม่เปนการเพียงพอ จึงนำมาไล่พอสักแต่ว่าได้ไล่ ดีกว่าที่ไม่ได้ไล่เลย ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่ามีพวกลูกผู้ดีมาไล่กี่คนนัก เพราะพวกลูกผู้ดีเขามักไปอยู่ปับลิกสกูล แลพวกปับลิกสกูลนั้นหาใคร่ทราบกันไม่ว่า คอเลชออฟปรีเซ็บเตอร์อยู่ในโลกนี้หรืออยู่ในดาวดวงใด แลถึงจะอยู่ไหนก็ไม่ผิดกันนักในส่วนพวกเขา.

การที่นักเรียนไทยมีไปเข้าไล่ในคอเลชออฟปรีเซ็บเตอร์กันชุมนั้น ส่วนนักเรียนไปรเวตจะเห็นดีอย่างไรไม่ทราบ แต่ส่วนนักเรียนหลวงนั้น ท่านผู้ดูแลนักเรียนมีความเห็นว่า การสอบไล่ของคอเลชออฟปรีเซ็บเตอร์ชั้นประโยคต้น ๆ นั้นง่ายกว่าการสอบไล่อื่น ๆ แลไปปลายที่ยากเท่ากัน.

การที่นักเรียนเข้าไปสอบไล่นั้นก็สมควรแล้ว แต่ข้าพเจ้ายังไม่สู้แน่ใจว่า ถ้าจะเรียนตพัดตั้งใจไปไล่เอาที่ยากทีเดียวแล้ว จะไม่ดีกว่าไล่ตั้งแต่น้อยไปจนมากเข้าหรือ เพราะเหตุว่าการที่ไล่ตั้งแต่น้อยไปจนมาก คือไล่ในคอเลชออฟปรีเซ็บเตอร์นั้นเปนการไม่เสร็จทีเดียว เพราะเมื่อถึงคราวจะเข้ายุนิเวอซีตี หรือคอเลชชั้นสูงตำบลไหนแล้วก็ต้องไล่อีกครั้งหนึ่ง แลส่วนที่ไปไล่เอายากทีเดียว เช่นอ๊อกซฟอดแอนด์เคมบริชโลแคลซ์นั้น เปนการแล้วไปทีเดียว เมื่อจะเข้ายุนิเวอซีตีหรือคอเลชดังที่กล่าวมาแล้วก็เปนอันไม่ต้องไล่อีก แลการที่จะต้องไล่ก่อนเข้ายุนิเวอซีตีหรือคอเลชชั้นสูงนั้นไม่ใช่ของเล่น ถ้าจะเอาเวลาที่ต้องตระเตรียมสำหรับการไล่นั้น ไปเรียนเรื่องที่ตั้งใจว่าจะเรียนเปนพิเศษในยุนิเวอซีตีหรือคอเลชชั้นสูง ก่อนที่จะเข้าไปแล้วดูก็น่าจะมีประโยชน์มาก.

การสอบไล่ที่เรียกอ๊อกซฟอดแอนด์เคมบริชโลแคลซ์ ซึ่งเปนการสอบไล่ภายนอกของยุนิเวอซีตีทั้งสอง คืออ๊อกซฟอดแลเคมบริช สำหรับคนที่ไม่ได้เปนนักเรียนอยู่ในยุนิเวอซีตีนั้นก็แบ่งออกเปนประโยคตามชั้นๆ อย่างเดียวกับคอเลชอ๊อฟปรีเซ็บเตอร์ แต่ที่ว่ายากกว่ากันนั้น คือประโยคชั้นสามชั้นสองของการสอบไล่ “โลแคลซ์” เหล่านี้ ยากกว่าของคอเลชอ๊อฟปรีเซ็บเตอร์ แต่ประโยคชั้นที่หนึ่งคือประโยคที่สุดนั้นยากง่ายพอไล่เลี่ยกัน เพราะฉนี้เมื่อเราไล่ได้ประโยคชั้นสุดของ “โลแคลซ์” หรือของคอเลชอ๊อฟปรีเซ็บเตอร์ก็ดี ส่วนความรู้ก็ไม่ใคร่ผิดกันนัก แต่ความเชื่อถือของคนอื่นในตัวเรานั้นมีผิดกันอยู่ แลยิ่งเราจะตั้งใจเรียนสูงขึ้นไปในยุนิเวอซีตีหรือคอเลชชั้นสูงแล้วก็ยิ่งผิดกันมาก.

เมื่อข้าพเจ้าเข้าไล่ในคอเลชอ๊อฟปรีเซ็บเตอร์คราวนั้นเปนคราวใกล้คริศมาศหนาวจัดไม่ใช่เล่น เวลาไล่สามโมงเช้าที่ตึกชื่ออะไรก็จำไม่ได้ อยู่ริมตพานวอเตอลูไกลบ้านที่ข้าพเจ้าอยู่ไปประมาณ ๑๒ ไมล์ ต้องตื่นแต่เช้าดูเหมือนยังมัว ๆ อยู่ (เพราะน่าหนาวสว่างสาย) กินเข้าเช้าอย่างรีบร้อน แล้วเดิรสองไมล์ไปถึงสเตชั่นขึ้นรถไฟไปอีกประมาณครึ่งชั่วโมงจึงจะถึง ไม่ใคร่มีเวลามากนัก กลางวันไปกินเช้าที่โฮเต็ลแห่งหนึ่ง ติดอยู่กับสเตชั่นใหญ่ชื่อแชริงคร๊อซ แล้วกลับมาไล่ไปจนค่ำมัว ๆ จึงกลับบ้าน เปนการน่าเบื่อหน่ายอย่างเอกทีเดียว

เมื่อไล่เสร็จแล้ว ข้าพเจ้าถึงกับยกมือท่วมศีศะว่าเจ้าประคุณแล้วไปเสียครั้งหนึ่ง ไม่ต้องตื่นแต่หัวไก่โห่ไปอิกนาน.

เมื่อไล่คราวนั้นเสร็จแล้ว ข้าพเจ้าลงไปเที่ยวชายทเลแห่งหนึ่ง ที่มีนักเรียนไทยหยุดฮอลิเดไปอยู่ด้วยกันหลายคน ครูข้าพเจ้ากับครอบครัวก็จะไปเที่ยวเมืองชายทเลอีกแห่งหนึ่ง แต่ไปช้าไปไม่ทันใจข้าพเจ้า ๆ จึงลงไปเมืองที่กล่าวมานั้นก่อน แล้วจะเลยตามครูไปภายหลัง.

เวลาที่นักเรียนได้หยุดเรียนเปนคราวฮอลิเดนั้น ต้องการจะไปไหนก็เขียนจดหมายไปยังผู้ดูแล ขอให้ช่วยจัดการให้ ถ้าที่ ๆ ต้องการจะไปนั้นมีแฟมิลีที่ผู้ดูแลนักเรียนรู้จักสมควรจะให้นักเรียนไปอยู่ได้แล้ว ก็เขียนหนังสือไปจัดการให้ ถ้าไม่มีแต่นักเรียนเปนผู้ใหญ่รู้จักรักษาตัวเองแล้ว ก็ยอมให้ไปอยู่เรือนสำหรับรับแขกที่เรียกบอดดิงเฮ้าซ์ หรือโฮเต็ลไปตามที.

คราวที่ข้าพเจ้าไปอยู่ชายทเลคราวนั้น เปนคราวแรกที่ข้าพเจ้าเคยได้อยู่ในบ้านเดียวกับคนไทย เปนการสนุกพิเศษมาก ถึงกับหุงเข้าต้มแกงทำการใหญ่ไม่ใช่น้อย ถ้าวันไหนเราจะทำกับเข้าไทย ก็ไปขออนุญาตเจ้าของบ้าน ให้เขามีเนื้อเย็นหรืออะไรไว้เปนของเผื่อเหลือเผื่อขาด แล้วอนุญาตให้บ่าว ไปเที่ยวหรือไปไหนก็ตาม แต่ต้องออกจากครัวไป ยกครัวให้เปนของเราเต็มที่ แล้วถอดเสื้อซาวเข้า ตำน้ำพริก แลอะไรขลุกขลักกันใหญ่ จนกว่าจะได้เข้าแกงแลกับต่าง ๆ สมความประสงค์.

ส่วนตัวข้าพเจ้าเองนั้น ข้าพเจ้ามีความอายที่จะกล่าวว่า ไม่มีความรู้อะไรในเรื่องนี้นัก บางคนเขาทำอะไรไม่ได้เขาก็ยังให้การได้บ้าง แต่ตัวข้าพเจ้านั้นแต่ชั้นจะชี้นิ้วให้การก็อยู่ข้างจะขัด ๆ ต้องยอมแล้วแต่ท่านผู้อื่นจะโปรด ไปติเอาแต่ภายหลังว่าหุงเข้าก็ไม่เปนเปียกไปหมด หรือแกงก็ไม่เปนดูพล่า ๆ ไม่มีรสชาติอันใด อยู่ข้างจะทำให้ท่านกุ๊กทั้งหลายพื้นเสียอยู่สักหน่อย.

เมื่องโน้นไม่ใช่เมืองสำหรับเครื่องโอชารศจริง เพราะจะทำกับเข้าของกินไทยไปทุกอย่างไม่ได้ ต้องทำแต่บางอย่างที่พอหาของได้ บางทีจะเปนด้วยพวกเราปัญญาตื้นก็เปนได้ ของจำเปนบางอย่าง เช่นมพร้าวเช่นนี้หาไม่ได้เสมอไปทุกหนทุกแห่ง บางทีถึงต้องใช้นมวัวสดแทนกะทิชุมทีเดียว เครื่องเทศทั้งหลายนั้นหาได้โดยมาก แต่ต้องซื้อจากร้านขายยานึกดูก็น่าขัน กับเข้าบางอย่างทำง่ายต้องทำกินบ่อย ๆ จนเบื่อ บางอย่างทำยากไม่ใช่เล่น ถ้าจะแกงไก่เช่นนี้ต้องทำการเท่ากับเลี้ยงพระสัก ๕๐ รูป.

ความสนุกของเมืองชายทเลนั้น มีหลายอย่างหลายสี เพราะเปนที่ประชุมชนมาก แลพวกที่ไปอยู่เมืองชายทเลเช่นนั้นเปนพวกหยุดฮอลิเดเกือบทั้งนั้น ย่อมเปนพวกหาความสนุกอยู่เอง ที่ประเทศโน้นในฤดูร้อน ถ้าพวกไหนไม่ไปเที่ยวประเทศอื่นก็มักไปเที่ยวตามชายทเลโดยมาก มีไปเที่ยวตามเมืองเหนือเช่นสก๊อตแลนด์เปนต้นก็ชุม แต่การที่ไปเที่ยวไกลเช่นนั้นเปนการลำบาก แลต้องการเงินมากขึ้นด้วย บางพวกเขาเห็นว่าอากาศที่อื่นสู้อากาศทเลไม่ได้ ดูท่าจะจริง ข้าพเจ้าไม่เห็นอะไรสู้ไปนั่งหายใจเอา “อากาศสด” เล่นตามชายทเลเลย.

ความสนุกของเมืองชายทเลนั้น มีสำหรับคนหลายจำพวก คือคนจำพวกต่ำเช่นนี้ก็ลงไปนั่งเล่นตามหาดทราย แลเฮฮาไปตามภาษาพวกเขา มีร้านคล้ายร้านภูเขาทองตั้งอยู่ตามหาดทรายมากด้วยกัน ใครจะซื้อลูกไม้ลูกกวาดหรือฟังหีบเพลงชักรูปอะไรก็ได้ บางเมืองมีลาผูกเครื่องพร้อมสำหรับใครอยากจะขี่ก็ได้ หรือใครอยากจะแล่นใบแลตีกรรเชียงตกปลาอะไรก็ได้ ตามเมืองชายทเลมักจะมีตะพานที่เรียก “เปีย” ก่อยื่นยาวออกไปในทเล ข้างปลายเปียมีโรงลครอย่างเตี้ยๆ มีลครเทียเตอร์บ้าง มีการเล่นต่าง ๆ คือร้องเพลง ไต่ลวด หกคะเมนที่เรียก “วะไรอาติ” บ้าง หรือมีแตรบ้างต่าง ๆ กัน ถึงวันดีคืนดีมีการสงครามกระดาดลูกปลา (คอนเฟตตี) เปนการครึกครื้น ถ้าใครชอบไปเบียดผู้หญิงชั้นเลวๆ บางทีถึงได้กอดรัดในการที่พบายามจะเอากระดาดยัดกระเป๋าหรืออะไรเช่นนั้นแล้ว การสงครามกระดาดก็คงเปนการสนุกมิใช่เล่น.

ส่วนพวกผู้ดีนั้นไม่พอใจในการสนุกเช่นนั้น เปนแต่ถึงเวลาก็ไปนั่งฟังแตรในสวนชายทเล เสียอัฐค่าเก้าอี้หรือค่าเข้าสวนบ้างเล็กน้อย สำหรับจะได้ดูคนอื่นแลแต่งตัวสวยๆ ไปให้คนอื่นดูด้วย เวลาบ่ายถ้าใครชอบการเล่นเช่นลอนเต็นนิซหรือคริ๊กเก๊ตเช่นนั้น ก็พอหาเล่นได้ เพราะตามเมืองชายทเลมักมีคลับสำหรับการเล่นเหล่านี้โดยมาก บางคนที่ไม่ชอบไปเที่ยววิ่งให้ร้อนถึงเหี่อไหลไคย้อย ก็เปนแต่นั่งฟังแตรหรืออ่านหนังสือไปตลอดเวลา.

เวลากลางคืนเมื่อกินเข้าแล้วก็เช่นเดียวกันอิก คือออกไปฟังแตรที่ ๆ เก่า เว้นแต่ต้องการจะไปดูลครหรือมีธุระอื่นเสีย เมื่อแตรเลิกแล้วต่างคนก็ต่างกลับบ้านนอนฝันถึงพรุ่งนี้ต่อไป.

ส่วนการเที่ยวนั้นก็มีมาก คือถ้าไปอยู่เมืองหนึ่งต่างว่าเมืองกรุงเช่นนี้ ถ้าไม่ไปดูพระที่วัดเกษไชโยก็เสียไป ต้องนัดกันไปวันหนึ่งสำหรับความสนุกตามทางด้วย ที่ประเทศโน้นมีถนนขี่ไบซิกลไปได้ทุกหนทุกแห่ง ถ้าใครไม่ชอบไปด้วยกำลังตนเองจะขี่รถม้าสี่ที่เรียกโค๊ช หรือรถที่เรียกชาระบองซึ่งคล้าย ๆ รถเมล์ก็ได้ ทางน้ำก็มีเรือไฟเขื่อง ๆ ประมาณสี่ร้อยตัน เดิรไปมาในระหว่างเมืองชายทะเลที่อยู่ใกล้ๆ กัน ใครอยากจะลองเมาคลื่นเล่นก็สำเร็จความประสงค์ เปนอันตกลงว่าเวลาไปอยู่เมืองชายทเล ถ้ามีเงินติดกระเป๋าแล้วจะบ่นว่าไม่มีอะไรทำไม่ได้ เว้นแต่ไม่ชอบสนุกอย่างที่มหาชนนิยมกัน.

ตัวข้าพเจ้าเองเมื่อไปเมืองชายทเลคราวนั้น เปนการที่ได้อยู่ในบ้านเดียวกับไทยด้วยกันเปนครั้งแรก ตั้งแต่ไปอยู่เมืองอังกฤษ ได้คุยกันในภาษาไทยเปนของโอชารศมิใช่น้อย ข้าพเจ้าเสียใจแต่ที่จะต้องกล่าวว่าภาษาไทยที่พูดกันในหมู่นักเรียนที่เมืองอังกฤษนั้น เปนภาษาใหม่ฟังข้อนข้างอย่างไรอยู่ มิรู้เสียโดยมาก คำที่ว่า “จับหนาว” แปลว่าเปนหวัด หรือประโยคที่ว่า “เช้าวันนี้หนาวแท้ ๆ ถ้าไม่ได้มาในเสื้อโอเวอโก๊ตแล้วคงจะจับหนาวเปนแน่” แปลว่า “เช้าวันนี้หนาวแท้ ๆ ถ้าไม่ได้สวมเสื้อโอเวอโอ๊ตมาแล้วคงเปนหวัดเปนแน่” ดังนี้ ถ้าใครไม่ค่อยจะเคยหรือพูดอังกฤษไม่ได้แล้ว ข้าพเจ้าไม่รับประกันว่าจะเข้าใจได้.

การที่ลืมภาษาตัวเองที่ประเทศโน้นนั้น จะว่าผิดธรรมชาติแท้ก็อยู่ข้างจะไม่กรุณามากไปสักหน่อย ข้าพเจ้าเปนคนเคยไปอยู่คนเดียวไม่ใคร่ได้พูดไทยมาเอง เห็นอกพวกที่ลืมภาษาตัวเต็มที่ทีเดียว ยิ่งพวกเด็ก ๆ ด้วยแล้วข้าพเจ้าเกือบแลไม่เห็นว่าทำไมจึงลืมไม่หมดเสียทีเดียว พวกที่โต ๆ แล้วนั้นที่ลืมก็เปนการไม่ควรจริง แต่ถ้าไม่ได้ซ้อมพูดอยู่เสมอแล้วก็คงเรื้อไปบ้างไม่มากก็น้อย การที่เรื้อภาษาไทยไปนั้นจะเรียกว่าลืมไม่ได้ เพราะเข้าหมู่ไทยเข้าสองสามวันก็กลับคล่องไปได้อิก ภาษาที่นักเรียนเมืองอังกฤษพูดคล่องที่สุดนั้น มิใช่ภาษาอังกฤษแลไม่ใช่ภาษาไทย เปนภาษาอังกฤษกับไทยปนกันเช่นว่า “แบนสะแตนต์อันนี้อยู่ไกลไม่คอลวีเนียนต์เลย” หรือ “วันนี้ขี่แฮนซ้ำไปธุระวิกตอเรียสตรีต แล้วอ้อมไปแคตช์เทรนที่แคนนอนสตรีต” เช่นนี้เปนต้น บางคนพูดใช้คำไทย ๆ แต่ใช้สำนวนอังกฤษเปนที่เข้าใจยากมาก ใช้คำอังกฤษเสียแท้ ๆ ยังง่ายกว่าเช่นคำว่า “จับหนาว” แปลว่าเปนหวัดดังที่กล่าวมาแล้วหรือว่า “จับรถไฟได้” แปลว่าไปทันรถไฟเปนต้น การที่พูดใช้ภาษาอังกฤษกับไทยปนกันเรื่อยไปนั้น เปนการสดวกจริงจะเถียงไม่ได้เช่นคำว่า “โปลีซีนี้เขาดี” หรือว่า “พูดอะไรอิลลอยิกกัลเหลือเกิน” เช่นนี้ จะพูดใช้แต่คำไทยล้วนให้จะแจ้งได้อย่างไร ข้าพเจ้าเองก็ไม่แน่ใจว่าจะพูดได้ เว้นแต่มีเวลาคิดอยู่นาน ๆ.

การลืมภาษาของตัวเองเมื่อเวลาเรียนภาษาอื่นอยู่นั้นเปนการเสียประโยชน์มากเท่าไรอย่างไรก็เห็นได้อยู่ง่าย ๆ แต่ถ้าจะกล่าวที่จริงแล้ว พวกที่ลืมเอาจริง ๆ จัง ๆ นั้นเปนด้วยไม่เคยเรียนภาษาไทยไปแต่กรุงเทพ ฯ เสียโดยมาก ต่อไปนี้กว่านักเรียนจะได้ออกไป ก็ต้องถูกสอบไล่ความรู้ทั้งภาษาอังกฤษภาษาไทยเสียสูงพอโดยมากแล้ว เพราะฉนั้นคงจะไม่ไปลืมภาษาตัวเองได้ง่าย ๆ นัก.

เมื่อไปอยู่ระหว่างฮอลิเดตามเมืองอื่นดังที่กล่าวมานั้น ถึงจะไปอยู่กับแฟมิลีหรืออยู่โฮเต็ลหรืออะไรก็ดี ต้องเสียเงินทั้งนั้นบางแห่งก็แพงบางแห่งก็ถูกหน่อย ผู้ดูแลนักเรียนเปนผู้จัดเสร็จแลทำบาญชีไว้ด้วย.

ส่วนการเงินทองของนักเรียนนั้น ผู้ดูแลคิดกะเสียแต่แรกเปนงบประมาณอย่างย่อ ๆ ว่านักเรียนได้รับพระราชทานเงินปี ๆ ละเท่าไร จะต้องเสียอย่างไรเท่าไร เหลือเปนค่าเงินเดือนนักเรียน ที่เรียกเงินสำหรับกระเป๋าเท่าใด เงินสำหรับกระเป๋านี้เขาคิดให้แปลกกันตามนักเรียนผู้ใหญ่และเด็ก หรือที่เรียนได้มากหรือน้อย เช่นนักเรียนยุนิเวอซีตี หรือนักเรียนที่เข้าศึกษาพิเศษแล้ว มักได้เดือนละ ๕ ปอนด์รวมเสื้อผ้าแลการใช้สอยเสร็จ ส่วนนักเรียนเด็ก ๆ ที่ยังอยู่โรงเรียนนั้น บางคนก็ได้อาทิตย์ละชิลลิง บางคนก็ได้อาทิตย์ละสองชิลลิงครึ่งต่าง ๆ กัน แต่หารวมค่าเสื้อผ้าด้วยไม่ ถ้าจะต้องตัดเสื้อหรือซื้อของจำเปนเช่นนั้นเมื่อใด ก็พูดกับผู้ดูแลช่วยหาให้ตามสมควร.

เมื่อข้าพเจ้าเข้าสอบไล่ในคอเลชออฟปรีเซ็บเตอร์ แลลงไปฮอลิเดที่เมืองชายทเลประมาณอาทิตย์เศษ ๆ เสร็จแล้ว ก็กลับไปบ้านครูเรียนไปอย่างเดิมอิก มีความคิดว่าจะขึ้นไปอยู่ยุนิเวอซีตี แต่ยังไม่ได้ขออนุญาตเปนการตกลงได้ต้องเรื่อยไปก่อน แลความรู้ของข้าพเจ้าก็ยังไม่ใกล้กับที่จะพอเข้ายุนิเวอซีตีได้เลย.

บ้านที่ข้าพเจ้าอยู่นั้นเมื่อเคยเข้าแล้วก็ออกสนุก เพราะมีเพื่อนบ้านมากรู้จักเกือบหมด ด้วยตาครูเปนสมภาร คนที่ไปวัดของแกก็ต้องเปนอันคุ้นเคยกันทั้งนั้น เมื่อเขาเชิญครูกับภรรยาไปเลี้ยงก็มักเชิญข้าพเจ้าด้วย แลเมื่อเขามีการเล่นฮ๊อกกีหรือลอนเต็นนิชเชิญข้าพเจ้าไปบ่อย ๆ เพราะตามบ้านเหล่านั้นผู้ชายเปนของหายาก ด้วยเขาไปทำการกันเสียหมดกลับต่อค่ำ ๆ ข้าพเจ้าเปนคนไม่มีอะไรทำเวลาบ่ายๆ เล่นได้เกือบเสมอเปนคนมีประโยชน์ในทางนั้น.

การไล่ของคอเลชออฟปรีเซ็บเตอร์คราวนั้น กว่าจะพิมพ์บอกรายตัวคนไล่ได้ก็ต้องคอยอยู่นาน ข้าพเจ้าเลยเรียนเพิ่มเติมที่เคยเรียนมาแต่เดิมขึ้นไป มีแถมบางอย่างขึ้นเล็กน้อย เช่นภาษาลาตินเปนต้น ความคิดของผู้ดแลนักเรียนเวลานั้นเห็นว่า ข้าพเจ้าควรจะเรียนเข้าไล่ประโยคที่ ๒ ของคอเลชอ๊อฟปรีเซ็บเตอร์ต่อไป แลควรจะออกจากบ้านครูที่อยู่เวลานั้นไปเข้าปับลิกสกูล เพราะเห็นว่าข้าพเจ้าก็เคยกับภาษาอังกฤษแลเมืองอังกฤษพอแล้ว ส่วนความคิดของข้าพเจ้าเองนั้นไม่ตรงกับความเห็นของผู้ดูแล เพราะข้าพเจ้าเห็นว่าไล่ได้ชั้นที่สองแล้ว ก็คงให้ไปไล่ชั้นที่หนึ่ง ๆ แล้วก็แปลว่าหมดในส่วนคอเลชอ๊อฟปรีเซ็บเตอร์ จะทำอะไรต่อไปจะต้องดำริห์ต่อภายหลัง แปลว่ายังอิกอย่างน้อยปีหนึ่งจึงจะตกลงได้ว่า ข้าพเจ้าจะตั้งเข็มศึกษาพิเศษไปทางใด เวลาที่ข้าพเจ้าได้รับกะไว้ว่า จะได้อยู่ในเมืองอังกฤษก็ไม่สู้มากนัก ถ้าต้องรอทำอะไรก็ช้า ๆ ดังนั้นก็ดูน่าจะเปนการขลุกขลักภายหลัง ความคิดของข้าพเจ้านั้นทยานว่า ควรจะขึ้นไปยุนิเวอซีตีอ๊อกซฟอด หรือเคมบริชแห่งหนึ่ง แล้วไปเรียนอะไรต่ออะไรตามแบบยุนิเวอซีตี แลตามอย่างที่เราจะเลือกนั้น เหตุสำคัญที่ทำให้การจะขึ้นไปยุนิเวอซีตีเปนการลำบากนั้นมีอยู่สองข้อ คือเรื่องเงินที่ข้าพเจ้าได้รับพระราชทาน ยังหาพอใช้ในยุนิเวอซีตีไม่อย่างหนึ่ง ความรู้ข้าพเจ้ายังไม่เปนอะไรใกล้เคียงกับที่พอจะไล่เข้ายุนิเวอซีตีได้อย่างหนึ่ง.

ส่วนเรื่องเงินนั้นข้าพเจ้าได้รับพระราชทานอยู่แล้ว ปีละ ๒๐๐ ปอนต์จะต้องได้อีก ๑๐๐ ปอนด์จึงจะพอ มีอยู่อย่างเดียว แต่จะต้องพูดกับราชทูตให้เห็นด้วยในการที่จะขึ้นไปยุนิเวอซีตีนั้นเสียก่อน จะได้จัดขอเงินเพิ่มเติมภายหลัง

การเล่าเรียนที่ข้าพเจ้าว่ายังไม่เปนการพอเพียงนั้น อยู่ข้างจะเปนการลำบาก เพราะเวลามีน้อย แลถ้าเข้าไล่ได้ไม่ทันขึ้นไป (“ขึ้นไป” เปนภาษายุนิเวอซีตี ไม่ว่าจะมาแต่ด้านเหนือหรือด้านใต้เรียกกันว่าขึ้นไปทั้งนั้น) ในเดือนตุลาคมนั้นแล้วก็จะเหลวไหลเสียเวลาไปอิกนาน เกือบเท่ากับเรียนเข้าไล่ในคอเลชออฟปรีเซ็บเตอร์ต่อไปอิกเหมือนกัน การที่ข้าพเจ้าได้เรียนมาแล้วไม่ได้ครึ่งข้อน เปนได้ตั้งต้นมาแล้วแต่เลขแอลยิบรา กับยุคลิดสามอย่างเท่านั้น ส่วนไวยากรณ์อังกฤษแลภูมิสาตรแปนต้นนั้น ถึงได้ลงมือเรียนบ้างแล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะที่ยูนิเวอซีตีเขาไม่เรียนของเช่นนั้น แลการสอบไล่สำหรับเข้ายุนิเวอซีตีนั้น ก็เดิรตามแบบที่จะต้องเข้าไปเรียนในยุนิเวอซีตี เพราะฉนี้ข้าพเจ้าจะ ต้องเรียนเพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง ตามข้อที่จะได้กล่าวทีหลังต่อไป แลอะไรที่เรียนไว้ได้บ้างแล้วก็จะต้องเพิ่มเติมขึ้นด้วย.

เมื่อตกลงในใจว่าจะขึ้นไปยุนิเวอซีตี แลตาครูก็เห็นด้วยแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้ปฤกษาต่อไปว่าจะไปอ๊อกซฟอดหรือเคมบริชดี ตาครูเปนคนอยู่เคมบริช เกี่ยงว่าอ๊อกซฟอดสู้ไม่ได้ แลแนะนำต่อไปว่า ถ้าข้าพเจ้าขึ้นไปแล้ว ควรจะไปอยู่ตรินิตีคอเลชหรือกิงซ์คอเลชสองแห่งเท่านั้น ข้าพเจ้าเองชอบตรินิตีเพราะเปนคอเลชใหญ่แลหรูหรากว่ากิงซ์ ชอบใจไปทุกอย่าง คนที่ข้าพเจ้าเคยรู้จักอยู่เวลานั้นเปนคนเคมบริชทุกคน ต่างคนก็ต่างร้อง “เคมบริช, เคมบริช” เต็มเสียงทีเดียว ไม่ใช่เท่านั้นคนที่ข้าพเจ้ารู้จักเปนนักเรียนอยู่นั้น อยู่เคมบริชมากกว่าอ๊อกซฟอดมาก เปนอันตกลงว่าจะไปเคมบริช แลเวลานั้นข้าพเจ้าตั้งใจว่าจะเรียนเลข (แมธีแมติกซ์) เปนศึกษาพิเศษของข้าพเจ้า ที่เคมบริชไม่มีที่ไหนจะเรียนเลขได้ดีกว่าไปเลย.

เมื่อตกลงดังนี้เสร็จแล้ว ข้าพเจ้าก็ไปที่สถานทูตในลอนดอนพูดกับราชทูตเสียก่อน เพราะข้าพเจ้าทราบแน่ว่า ถ้าพูดกับผู้ดูการก่อนแล้ว คงจะขัดข้องอย่างนั้นอย่างนี้ไม่มากก็น้อย ตกลงท้ายก็คงว่าต้องพูดกับราชทูตเสียก่อน ข้าพเจ้าเข้าไปลอนดอนเช้าหน่อย ผู้ดูแลนักเรียนยังไม่มาจึงเลยไปหาราชทูต แสดงเหตุทั้งหลายที่ทำให้ข้าพเจ้าตกลงในใจอยากจะขึ้นไปยุนิเวอซีตี ขอราชทูตได้อนุญาตแลจัดเรื่องเงินด้วย ความคิดที่จะขึ้นไปยุนิเวอซีตีนั้นท่านราชทูตเห็นด้วย แลเรื่องเงินที่รับจะจัดให้เปนอันสำเร็จทุกอย่าง ข้าพเจ้าลงมาพบผู้ดูแลนักเรียน บอกเรื่องข้าพเจ้าตกลงอยากจะขึ้นไปยุนิเวอซีตีแล้วได้รับตอบว่า ยังเปนการขัดอยู่หน่อย ๆ ควรจะต้องพูดกับราชทูตเสียก่อน ข้าพเจ้ากลับแจ้งความว่า ได้พูดกับราชทูตมาเดี๋ยวนี้เองเปนการตกลงแล้ว เรื่องเงินทองราชทูตรับจะจัดให้เสร็จ ท่านผู้ดูแลว่า ถ้าอย่างนั้นก็เปนการดี เขาเองก็เห็นชอบเต็มที่ ๆ ข้าพเจ้าจะขึ้นไปอยู่ยุนิเวอซีตีนั้น แต่เขายังเห็นขัดเรื่องเงินอยู่ เมื่อราชทูตรับแล้วก็เปนอันใช้ได้ ส่วนยุนิเวอซีตีนั้นข้าพเจ้าต้องการจะไปอยู่เเห่งไหน ข้าพเจ้าตอบว่าเคมบริช เพราะข้าพเจ้ามีเพื่อนอยู่ที่นั่นแล้วหลายคน ผู้ดูแลนักเรียนนค่อนข้างไม่เห็นด้วย (เขาเองเปนคนอ๊อกซฟอด) อ้างเหตุว่า ถ้าจะไปเคมบริชที่ควรไปอยู่แต่คอเลชใดคอเลชหนึ่งในสองคอเลชคือตรินิตีนับกิงซ์ แต่ที่กิงซ์นั้นมีนักเรียนไทยอยู่แล้ว ที่ตรินีตีก็ใหญ่โตเหลือเกินเกรงว่าท่านพวกครูบาอาจารย์จะดูแลไม่ทั่วถึง ถ้าจะไปอยู่ไคร๊ชเชิชหรือเบเลียลที่อ๊อกซฟอดจะดีกว่ากระมัง ข้าพเจ้าตอบว่าได้ตกลงตรินีตีที่เคมบริชเสียแล้ว แถข้าพเจ้าชอบเคมบริชมากกว่า แต่ถ้าช้าไปตรินีตีเต็มกันเสียหมดเข้าไม่ได้ จะให้ไปอ๊อกซฟอดภายหลังก็ตาม ที่แท้ข้าพเจ้ายังไม่เคยเห็นตรินีตีเต็มจนรับใครไม่ได้เลย.

เท่านั้นก็เปนตกลงเสร็จในการที่จะขึ้นไปยุนิเวอซีตี ข้าพเจ้าเดิรกลับบ้านนึกพอใจในตน ๆ เองแลโดยทั่วไปเปนอันมาก คงจะได้เรียนอย่างไร สนุกสนานอย่างไร ก็เก็บมารำพึงเสียในเวลานั้นหมด ไม่คิดถึงเลยว่ากว่าจะเข้ายุนิเวอซีได้จะต้องร่ำเรียนตรากตรำอย่างไรบ้าง.

รุ่งขึ้นเช้าครูข้าพเจ้าได้รับจดหมายจากผู้ดูแลนักเรียนว่า ได้ตกลงจะให้ข้าพเจ้าขึ้นไปยุนิเวอซีตีในเดือนตุลาคมน่านั้น ขอให้ครูตระเตรียมความรู้ข้าพเจ้า ให้พอเข้าไล่สำหรับเข้ายุนิเวอซีตีได้ แลขอให้สืบสวนดูเองเถิดว่าจะต้องขึ้นไปเมื่อไรแลทำอย่างไรบ้างเมื่อไร.

ครูข้าพเจ้าได้เขียนหนังสือไปถึงครู (ติวเตอร์) ที่ตรินิตีคนหนึ่ง ได้รับตอบว่ายังมีเวลาอิก ๕ เดือนจะต้องให้ข้าพเจ้าไล่ ถ้าไล่ไม่ได้ยังมีได้ไล่อีกคราวหนึ่งในประมาณ ๓ เดือน ภายหลังที่ไล่ครั้งแรกนั้น ถ้าไล่ไม่ได้คราวที่สองนี้ก็เปนอันเข้ายุนิเวอซีตีนั้นไม่ได้ จะต้องรอไปอีกปีหนึ่ง หรือขออนุญาตพิเศษเข้ากลางปี เปนของไม่ควร ส่วนที่ข้าพเจ้าจะต้องไล่อะไรบ้างนั้น ก็ส่งใบพิมพ์บอกมาชัดเจนทุกอย่าง ข้าพเจ้าจึงลงมือท่อง เม็นซา เม็นซี เม็นซี (ขึ้นต้นของไวยากรณ์ลาติน) แลเรียนอื่น ๆ ตามที่จะต้องการในการสอบไล่ใน ๕ เดือนนั้น ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปข้างน่า.

ในระหว่าง ๕ เดือนนั้น ข้าพเจ้าต้องทำการอย่างที่อังกฤษเรียกว่า “ไม่มีอะไรจะเลือก” คือจำเปนต้องก้มหน้าใหญ่เอาพักหนึ่ง จนที่สุดได้ขึ้นไปทันเดือนตุลาคมดังที่จะได้เล่าต่อไป

ก่อนที่จะลงมือเล่าถึงเรื่องยุนิเวอซีตีอังกฤษ (เคมบริช) ในที่นี้นั้นข้าพเจ้าต้องขอกล่าวว่า “เรื่องเปนนักเรียนที่ยุนิเวอซีตีอังกฤษ” ได้ออกมาครั้งหนึ่งแล้วในวชิรญาณตอนที่ ๑๒ ตอนที่ ๑๓ จำนวนเดือนกันยายนกับตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๔ เพราะถึงเรื่องยุนิเวอซีตีอังกฤษเรื่องนั้นเปนเรื่องอ๊อกซฟอดก็จริง แต่ถ้าจะเทียบกับเรื่องเคมบริชแล้ว ก็ไม่สู้จะผิดกันนัก เพราะการเรียน การเล่น แลการกินอยู่ทั้งปวง ที่เรียกว่า “ไลฟ” ที่ยุนิเวอซีตีนั้นไม่ผิดกันเท่าไร แลถ้ารู้เรื่องอ๊อกซฟอดแล้ว ก็รู้เรื่องเคมบริชมากทีเดียว ไม่สู้แน่อยู่แต่ของเล็กน้อยบางอย่าง แลธรรมเนียมบางอย่างซึ่งผิดกันอยู่บ้างเท่านั้น

ยูนิเวอซีตีทั้งสอง คืออ๊อกซฟอดแลเคมบริชนี้เปนยุนิเวอซีตีใหญ่โตแลหรูหราที่สุดในประเทศอังกฤษ ไม่ใช่แต่เท่านั้น ชาวอังกฤษยังถือว่าเปนที่ดีเยี่ยมยิ่งกว่าศึกษาสถานแห่งใด ๆ ในโลกนี้ทั้งสิ้น ตัวข้าพเจ้าเองก็ข้อนข้างจะเห็นอย่างนั้นอยู่สักหน่อย เห็นจะเปนด้วยเคมบริชได้เปนอย่างที่อังกฤษ เรียก “ยุนิเวอซีตีมารดา” กล่าวคือที่เกิดแห่งความศึกษา ส่วนยุนิเวอซีตีซึ่งข้าพเจ้าได้รับมา หรือจะเข้าแบบนิทานในอิศปปกรณำเรื่องกบในบ่อน้อยก็เปนได้ ถึงอย่างไรก็ดียูนิเวอซีตีทั้งสอง คืออ๊อกซฟอตแลเคมบริชนี้ เปนยุนิเวอซีตีดีที่สุดในประเทศอังกฤษโดยจะเถียงไม่ได้เลย แลก็เมื่อเราได้เลือกประเทศอังกฤษเปนประเทศที่ออกไปร่ำเรียนแล้ว ถึงอ๊อกซฟอดกับเคมบริช จะเปนยุนิเวอซีตีดีที่สุดในโลกนี้หรือไม่ก็ดี ถ้าเราได้เข้าอยู่แล้วก็ต้องนับว่าเราได้เข้าอยู่ในยุนิเวอซีตีดีที่สุดแห่งหนึ่งที่จะเข้าได้ เพราะถ้าไม่อย่างนั้นจะมิต้องไปเล่าเรียนที่ประเทศอื่นผิดความคิดเดิมเสียหรือ.

ส่วนปัญหาที่ว่าอ๊อกซฟอดกับเคมบริช ใครจะดีกว่ากันนั้น ข้าพเจ้าเกรงว่าข้าพเจ้าหามีความหมั่นพอที่จะตอบไม่ ที่แท้พวกยุนิเวอซีตีด้วยกัน ไม่เห็นใครเขาคิดสักขณะเดียวว่าใครจะดีกว่าใคร เห็นมีอยู่แต่เด็ก ๆ กับพวกไม่เคยรู้จักมักจี่อะไรเท่านั้น พวกเด็ก ๆ ที่มีพี่ชายหรือบิดาเคยอยู่เคมบริชมาก็ยกเคมบริชว่าดีกว่าอ๊อกซฟอตหลายเท่า แลพวกที่พวกพ้องอยู่อ๊อกซฟอดก็ยกว่าอ๊อกซฟอดดีเหมือนกัน บางคราวถึงกับอาจต่อยกันได้ เช่นเดียวกับเด็ก ๆ เมืองเราที่เกิดวิวาทกันด้วยเขียนวงแลลบวงซึ่งสมมุติว่าศีศะฉนั้น ในโรงเรียนบางโรงเด็กเปนพวธเคมบริชจัด ถ้าเด็กคนไหนถือท้ายออกซฟอดหลุดเข้าไปอยู่แล้ว ก็ต้องได้รับความเดือดร้อนถึงบางทีทนไม่ได้ก็มีชุม แลบางโรงเรียนถ้าเด็กหัวเปนอ๊อกซฟอดไปหมดแล้ว เด็กหัวเคมบริชมีอยู่น้อยคน ก็ต้องได้รับทุกข์ไม่ใช่น้อยเหมือนกัน พวกเด็ก ๆ ที่ถืออ๊อกซฟอดหรือเคมบริชเหล่านี้นึก ๆ ดูก็น่าขัน แต่ดูน่าสงสารมากกว่า เพราะกระไรช่างโง่จัดเสียจริง ๆ.

ว่าที่แท้แล้ว อ๊อกซฟอดกับเคมบริชจะจัดว่าข้างไหนดีกว่ากันไม่ได้ เพราะถ้าจะว่าทางเรียนแล้ว ยุนิเวอซีตีทั้งสองเขาก็ไม่แข่งขันอันใดกันเลย คือถ้าอ๊อกซฟอดได้จัดการศึกษาส่วนหนึ่งได้เรียบร้อยดีแล้ว เคมบริชก็ไม่แข่งทางนั้น ไพล่ไปจัดส่วนอื่นที่อ๊อกซฟอดยังไม่เรียบร้อยแท้นั้นเสีย แลอ๊อกซฟอดก็ทำอย่างนั้นเหมือนกัน เช่นภาษาโบราณเช่นนี้ อ๊อกซฟอดว่าที่เคมบริชสู้ไม่ได้ แลที่จริงก็ข้อนข้างจะเปนอย่างนั้น แต่ครั้นพูดถึงวิชาเลขเข้า อ๊อกซฟอดก็กลับสู้ไม่ได้ดังนี้เปนต้น การอินเยอเนียในเวลานี้เคมบริชเปนเยี่ยมทีเดียว เพราะได้จัดการแลมีโรงอินเยอเนียขึ้นใหม่ ๆ ดีที่สุดในทางเรียนที่จะดีได้อยู่แล้ว เพราะฉนั้นอ๊อกซฟอตก็ไม่มาขันแข่งในทางนั้น เปนแต่ทำกันบ้างเล็กน้อยพอสักแต่ว่ามี การอินเยอเนียเหมือนกันเท่านั้น สิ่งอื่นบางสิ่งที่อ๊อกซฟอดทำดีแล้ว เคมบริชก็ไม่ไปขันสู้ให้ป่วยการ เปนอันแบ่งกันทำอยู่ดังนี้ ความคิดของสามัญชนนั้นว่าอ๊อกซฟอดดีกว่าเคมบริชในเรื่องภาษาทั้งปวงทั้งเก่าแลใหม่ เคมบริชดีกว่าอ๊อกซฟอดในทางเลขแลทางวิทยาทั้งปวงที่เกี่ยวด้วยเลขมีการอินเยอเนียเปนต้น รวมทั้งวิชา “ไซแอนซ” ทั้งหลายด้วย ส่วนของบางอย่างที่เปนก้ำกึ่งกันอยู่เช่นพงษาวดาร แลกฎหมายเปนต้นนั้น ต่างคนก็ต่างเรียนสูงที่สุดที่จะสูงได้ แลเมื่อเวลาไล่ก็มักมีคนเคมบริชไปเปนผู้ไล่ที่อ๊อกซฟอด คนอ๊อกซฟอดไปเปนผู้ไล่ที่เคมบริช เปนการสับเปลี่ยนกันอยู่อย่างนี้ ใครจะถือว่าใครดีกว่าใครก็แล้วแต่จะโปรด.

ส่วนการเล่นต่อสู้กันในระหว่างยูนิเวอซีตีทั้งสองนั้น จะว่าใครดีกว่าใครก็ไม่ได้เหมือนกัน เพราะบางปีข้างนั้นก็แพ้บางปีข้างนี้ก็แพ้เปนการไม่เที่ยงอยู่ เมื่อปีก่อนข้าพเจ้าขึ้นไปอยู่เคมบริชนั้น อ๊อกซฟอดชนะการเล่นที่นับกันว่าเปนของสำคัญเกือบหมดทุกอย่าง คือแข่งเรือ ฟุตบอล (สองอย่าง) คริ๊กเก๊ต การวิ่งแข่ง แลกระโดดขันกันเปนต้น เคมบริชชนะอยู่แต่ฮ๊อกกีกับลอนเต็นนิซเท่านั้น ครั้นปีที่ข้าพเจ้าขึ้นไปอยู่สิ เคมบริชกลับชนะหมดทุกอย่าง รวมทั้งฮ๊อกกีกับลอนเต็นนิซด้วย ดูเหมือนเว้นแต่โก๊ฟอย่างเดียวเท่านั้น การที่เคมบริชชนะใหญ่ปีนั้น จะว่าเปนด้วยข้าพเจ้าขึ้นไปอยู่ก็เห็นจะไม่สู้ถูกแท้ เพราะข้าพเจ้าไม่ได้ไปช่วยเล่นได้แต่สักอย่างเดียว ถึงอย่างไรก็ดี เคมบริชชนะใหญ่ปีแรกที่ข้าพเจ้าไปอยู่ ทำให้ข้าพเจ้ายินดีมาก แต่จะยินดีด้วยเหตุใดก็บอกไม่ได้ เพราะข้าพเจ้าไม่ได้ไปเกี่ยวข้องด้วยเลย.

ที่จริงถึงเคมบริชจะดีกว่าอ๊อกซฟอด หรืออ๊อกซฟอดจะดีกว่าเคมบริชในการเล่นนี้ ก็ไม่เห็นเปนข้อสำคัญอะไร เว้นแต่ตามความเห็นนักเรียนไทยที่เมืองอังกฤษคนหนึ่ง ซึ่งเดี๋ยวนี้ได้กลับมาอยู่ในกรุงเทพฯ แล้ว

เมื่อข้าพเจ้าได้ตกลงจะขึ้นไปเคมบริชใหม่ ๆ นั้น ข้าพเจ้าได้ไปพบนักเรียนคนนี้ในลอนดอน พูดกันถึงเรื่องจะขึ้นไปยุนิเวอซีตีสักครู่หนึ่ง นักเรียนคนนั้นก็บอกกับข้าพเจ้าโดยทางกรุณาว่า “ขึ้นไปเคมบริชเถิดจะเสียใจทีหลัง” ข้าพเจ้าแลไม่ใคร่เห็นว่าจะไปเสียใจอย่างไร จึงขอให้อธิบาย ก็ได้ รับตอบว่า “แข่งเรือแพ้เขามาไม่รู้จักกี่ปีต่อกี่ปี” นี่แหละ ถ้าข้าพเจ้าควรจะไปอยู่อ๊อกซฟอด ด้วยอ๊อกซฟอดชนะการแข่งเรือแล้ว เวลานี้ข้าพเจ้าก็ควรจะไปทำการอยู่ที่แบงก์ปากคลองขุดใหม่ เพราะเมื่อแข่งม้าคราวก่อนนี้ ม้าของนายแบงก์นั้นชนะมากกว่าม้าคนอื่น !!

ส่วนร่างกายภายนอกของยุนิเวอซีตีทั้งสองนั้น อ๊อกซฟอดได้สร้างมาก่อนเคมบริช ตึกตามคอเลชทั้งหลายเก่าแลงามกว่าที่เคมบริชโดยมาก เว้นแต่ตรินีตีกับกิงซ์สองแห่งเท่านั้น เพราะตรินิตีกับกิงซ์ที่เคมบริชงามไม่เลวกว่าไคร๊ซเชิชหรือมอดลิน ที่นับว่าเปนอย่างงามที่สุดที่อ๊อกซฟอดนั้นเลย ไคร๊ซเชิชเปนคอเลชใหญ่ที่สุดที่อ๊อกซฟอด แต่มีคนน้อยกว่าตรินิตีที่เคมบริชกว่าสามส่วน เพราะฉนั้นตัวตึกที่เปนตรินีตีคอเลชใหญ่กว่าไคร์ซเชิชมาก เมื่อปีกลายมีนางลครคนหนึ่งมาเล่นที่เคมบริช เล่าให้พวกเราฟังว่าเมื่อไปเล่นที่อ๊อกซฟอด ได้พบนักเรียนคนหนึ่งบอกว่า ถ้าจะเที่ยวให้รอบตรินีตีที่เรียก “โอลด์ค๊อต” แล้วจะต้องขี่รถ ไม่อย่างนั้นเดิรไม่รอบ แต่ที่จริงโอลด์ค๊อตที่ตรินีตีใหญ่สักครึ่งทุ่งพระเมรุเท่านั้น

เมืองอ๊อกซฟอดใหญ่กว่าเมืองเคมบริชหลายเท่า พลเมือง (ไม่นับพวกยุนิเวอซีตี) ก็มีมากกว่า แลร้านรวงก็มากกว่าทั้งนั้น อ๊อกซฟอดบางถนนดูคล้ายๆ ลอนดอน ถ้าเอาเมืองเคมบริชไปเทียบแล้ว ก็ดูเคมบริชเปนเมืองบ้านนอกอะไรไปเมืองหนึ่ง ร้านในอ๊อกซฟอดจะหาอะไรดี ๆ ก็ได้เกือบทุกอย่าง แต่ร้านในเคมบริชนั้นมีของดีๆ อยู่แต่สำหรับผู้ชาย พวกผู้หญิงมักจะบ่นกันมากว่าจะหาหมวกดีๆ ใส่สักใบก็ยากไม่ใช่น้อย บางคนถึงต้องแพ่นลงไปลอนดอน ส่วนของผู้ชายนั้นร้านทางส่วนตวันออกของลอนดอน ที่นับว่าเปนร้านดี ๆ นั้น ก็ไม่มีของดีไปกว่าผ้าผูกคอ จะซื้อให้อย่างสวรรคหรืออย่างที่ภาษายูนิเวอซีตีเรียกว่า “เลือด” อย่างไรก็ได้ ของบางอย่างเช่นกล้องสูบยาเช่นนี้ ไปเที่ยวหาในลอนดอนเสียเกือบตายก็สู้ที่เคมบริชไม่ได้ เพราะร้านที่เคมบริชเปนร้านสำหรับคนหนุ่ม ๆ ย่อมสะสมหาของสำหรับคนหนุ่มทั้งปวงที่จะพึงหาได้ แลมีดี ๆ อยู่แต่ฉะเพาะของสำหรับคนหนุ่มเท่านั้น

ส่วนที่ว่าเมืองใหญ่หรือเมืองเล็ก จะเปนเมืองยุนิเวอซีตี (ยุนิเวอซีตีเทาน์) ดีนั้น ความเห็นก็แปลกกันอิก แต่คนเคมบริดเห็นว่า เมืองอ๊อกซฟอดใหญ่ไปสักหน่อย คอเลชไปเที่ยวอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไกล ๆ กันออกไปมาก ๆ ทำให้ความสมัคสมาคมในระหว่างคอเลชเหล่านั้น น้อยเข้าเปนธรรมดา เมืองเคมบริชนั้นเปนเมืองเล็กกว่า คอเลชอยู่ติดๆ เปนหมู่ จะไปมาหากันก็เปนการสดวกตามความต้องการของ “ไลฟ” ในยุนิเวอซีตี พลเมืองที่เรียก “เทานี” คือไม่ใช่พวกยูนิเวอซีตีนั้น ยิ่งมีน้อยก็ยิ่งดีไม่เกะกะ เพราะพวกนักเรียนยุนิเวอซีตีดูถูกแลเกลียดพวก “เทานี” เข้ากันไม่ได้ ประหนึ่งน้ำกับน้ำมันฉนั้น การที่พวกนักเรียนยุนิเวอซีตีเล่นหัวอยู่แต่ในพวกตัวนั้นก็เปนการสมควรแล้ว เพราะพวกนักเรียนเปนพวกผู้ดี พวก “เทานี” เปนพวกไพร่ จะไปปะปนกันอย่างไรได้ แต่เดิม ๆ มาคนทั้งสองจำพวกนี้เกลียดโกรธเปนศัตรูกันถึงสาหัศ จนถึงต้องรบใหญ่กันเสียปีละครั้ง ดูเหมือนวันที่ ๑๔ พฤศจิกายนหรือเดือนอะไรก็จำไม่สู้แน่ มีวันที่เรียก “เทาน์แอนด์เกาท์ไนต์” (เทาน์แปลว่าเมือง เกาน์แปลว่าเสื้อหรือผ้าคลุมข้างนอกสำหรับนักเรียนยุนิเวอซีตี ไนต์แปลว่ากลางคืน) จนเดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ ถ้าถึงคืนวันนั้นแล้วนักเรียนยุนิเวอซีตีเที่ยวซอก ๆ เปนหมู่ ๆ นับด้วยร้อย ถ้าเจ้าพวกเทานีมาขวางแล้ว ต้องถูกทุบหรือถูกลูกมะเขกเจ็บ ๆ ทีเดียว เวลานั้นโปลิศมาเกะกะก็ไม่มีประโยชน์ เพราะถ้าโปลิศมาจับพวกนักเรียนเข้าแล้วก็ช่วยกันตั้งร้อยวิ่งมาเกรียวใหญ่ โดนโปลิศให้ล้มลงแล้วพากันหนีเลยไปเสีย คนมากกว่ามาก จะไปเอาตัวกับใครได้ จำหน้าก็ไม่ได้เพราะเปนเวลากลางคืน

ข้าพเจ้าได้กล่าวเรื่อยเปื่อยมาจนถึงเพียงนี้แล้ว ก็ยังไม่เปนอันตอบปัญหาที่ว่า เคมบริชดีกว่าอ๊อกซฟอด หรืออ๊อกซฟอดดีกว่าเคมบริชได้ ที่จริงข้าพเจ้าไม่ได้ตั้งใจจะตอบดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ใครจะเห็นข้างไหนดีก็ช่างใครเปนไร ความเห็นของข้าพเจ้าที่แท้ทีเดียวนั้น ข้าพเจ้าจะเก็บเอาไว้เสียเอง นอกจากว่า ถ้าข้าพเจ้ามีบุตรหรือหลานที่จะให้ไปอยู่ยุนิเวอซีตีอังกฤษได้แล้ว ก็คงให้ไปเปนบุตรของ “อาละมาเมเตอร์” (ตามที่เขาให้ชื่อยุนิเวอซีตี) ซึ่งข้าพเจ้าเคยอยู่มาเปนแน่

ส่วนการเล่าเรียนสำหรับไล่เข้าคอเลชในยุนิเวอซีตีตามที่กล่าวมาในตอนก่อนนั้น เมื่อครูแลข้าพเจ้าได้ทราบเรื่องที่จะต้องเรียนแลกำหนดเวลาที่จะต้องไล่จากติวเตอร์ (ครู) ที่คอเลชแล้ว ข้าพเจ้าก็ลงมือเรียนอย่างที่เขาเรียกกันว่า “บันทุก” หรือยัดของมากลงไปในที่น้อย หรือเวลาน้อย ไปสำหรับใช้ชั่วคราวหนึ่ง ไม่ช้าไม่นานถ้าไม่ได้ใช้อยู่เสมอแล้วก็ลืมหมด เพราะไม่ได้จำขึ้นอกขึ้นใจเอาจริง ๆ จำสำหรับแต่ใช้คราวหนึ่งเท่านั้น อะไรที่ใช้ต่อไปก็ดีอยู่ อะไรที่ไม่ได้ใช้ไม่ช้าก็สักแต่ว่าได้เรียนมาเท่านั้น ยังดีกว่าไม่ได้เรียนอยู่หน่อยเดียวที่ยังมีความคิดหรือที่เรียกไอเดียอยู่บ้าง ไม่สู้จะมืดตื้อแท้ทีเดียว.

ข้อที่ได้เรียนสำหรับไล่คราวนั้นคือ เลข, แอลยีบรา, ยูคลิด, เตรกอนอเม็ตตรี, เม็กแกนนิกซ, ไวยากรณ์ลาติน, แปลร้อยแก้วลาตินเปนอังกฤษ, โคลงลาตินที่เรียก “โอดซ ฮอเรซ” สองเล่ม, การแต่ง “เอซเซ” หรือเรียงความอังกฤษ นับดูเหมือนมีอะไรอิกอย่างหนึ่งหรือสองอย่างจำไม่ได้.

นักเรียนเคมบริชที่ไปจากทิศตวันออกเรานี้ ได้อนุญาตพิเศษอย่างหนึ่ง คือหาต้องเรียนภาษาโบราณคือภาษากรีกหรือสังสกฤตเพิ่มลาตินเข้าอิกภาษาหนึ่งไม่ ยอมให้เรียนภาษาอังกฤษแทนในการไล่ที่เรียก “ลิตตลโก” (Little Go) ซึ่งเปนการไล่ครั้งแรกของยุนิเวอซีตีนั้น แต่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนภาษาโบราณอีกภาษาหนึ่งนี้ เวลาไล่จำเปนจะต้องเอาดีกรี (คือเปรียญชั้น บี, เอ,) ที่เปน “ออนเนอร์” ซึ่งเรียกว่า “ไตรปอซ” นั้น ดีกรีที่เคมบริช (แลที่อ๊อกซฟอดก็เหมือนกัน) มีสองอย่าง คือ “ออนเนอร์ดีกรี” อย่างหนึ่ง ดีกรีที่ไม่มีออนเนอร์เรียกว่า “ออดินนารี” หรือ “ปอล์” ดีกรีอย่างหนึ่ง ตามที่จะได้กล่าวถึงต่อไปภายหลัง.

นักเรียนไปจากทิศตวันออกที่ได้อนุญาตให้เรียนภาษาอังกฤษแทนภาษากรีกหรือสังสกฤตนั้น อย่าเข้าใจว่าจะง่ายเข้า เพราะถึงนักเรียนเหล่านั้นต้องจำเปนรู้ภาษาอังกฤษทุกคนแล้วก็จริง แต่หนังสือที่เขากะให้เรียนนั้นไม่ใช่ของเล่น แลคำถามในข้อไล่ก็เที่ยวซอกแซกถามจนทำให้ยากที่สุดที่จะยากได้ แลถ้าเขากะให้เรียนหนังสือ ๕ เล่มเช่นนี้ อย่าเข้าใจว่าจะต้องอ่านแต่ ๕ เล่มเท่านั้น อะไรที่หนังสือ ๕ เล่มนั้นกล่าวถึงแล้วจะต้องรู้ไว้ทั้งนั้น ส่วนภาษากรีก หรือภาษาสังสกฤตนั้น เขาไม่ถามสูงเท่าใด เราไม่ต้องรู้ให้มากนัก ถ้าข้าพเจ้าทราบว่าเรียนอังกฤษเปนการใหญ่ดังนี้แล้ว ก็เห็นจะยอมเรียนกรีกเสียทีเดียวเปนแน่ เพราะเมื่อเรียนภาษาลาตินนั้น ถ้าเทียบกับที่ต้องเรียนอังกฤษแล้ว ก็ไม่เปนการลำบากเท่าไรเลย กรีกก็จะไม่ลำบากมากกว่านั้นนัก ที่แท้ถึงครูข้าพเจ้าก็เห็นด้วยเหมือนกัน.

หนังสืออังกฤษที่ข้าพเจ้าต้องเรียนคราวนั้น คือประวัติ ๓ เล่ม เปนประวัติของท่านจินตกระวี ๓ คน กับโคลง “เอ็ซเซ” ของท่านจินตกระวี “โป๊ป” สองเล่ม (รวมทั้งประวัติของ “โป๊ป” ที่ต้องทราบบ้าง) กับ “เอ็ซเซ” ของหลอดแมกกอเลเรื่อง “ไคล๊ฟ” แล “วอเร็นเฮนติงซ์” ซึ่งเปนผู้ตั้งหัวเมืองอังกฤษในประเทศอินเดียนั้นด้วย นอกจากนี้ยังต้องเขียน “เอ็ชเซ” อีกอย่างหนึ่ง ไปทราบเรื่องเอาเมื่อเวลาไล่ทีเดียว เรื่องของหลอดแมกอเล ๒ เล่มนั้นก็สำหรับเขียน “เอซเซ” เหมือนกัน แต่เขาไปบอกเอาเวลาไล่ว่าให้เขียนตรงไหน หรือเขียนอย่างไร.

ในระหว่าง ๕ เดือนดังที่กล่าวมานั้น ข้าพเจ้าต้องทำการตรากตรำใหญ่ ประหนึ่งว่าถ้าไล่ไม่ได้แล้วจะต้องปรับโทษหนักอะไรอย่างหนึ่งฉนั้น มานึกดูเดี๋ยวนี้ก็น่าขี้เกียด แต่ข้าพเจ้าจะกล่าวได้ว่าเวลานั้นข้าพเข้าไม่ได้ออกเบื่อหน่ายเลย เปนด้วยจึงอยากจะไปขึ้นยุนิเวอซีตีเหลือกำลังเท่านั้น เมื่อข้าพเจ้าได้ขึ้นไปอยู่สมปราถนาแล้ว ข้าพเจ้าก็หาได้หมั่นจัดอย่างเมื่อขึ้นไปยังไม่ได้ไม่ เมื่อไล่เข้ายังไม่ได้นั้นที่สุดจนกำลังเล่นลอนเต็นนิซหรือฮ๊อกกี้ก็ไพล่ไปคิดถึงเรื่องที่เรียนอยู่นั้นบ่อย ๆ แต่ครั้นขึ้นไปอยู่ยุนิเวอซีตีแล้วสิ ที่สุดจนกำลังเรียนก็ไพล่ไปนึกถึงลอนเต็นนิซหรือฮ๊อกกี หรือการเล่นอื่น ๆ เปนการตรงกันข้ามอยู่เช่นนี้ ว่าที่แท้การที่เรียนแลเล่นไปด้วยกันนั้น ฝรั่งว่าเปนทางให้เรียนได้ดีที่สุด เพราะทำให้มันขมองโปร่งอยู่ได้เสมอ แลถ้าเปนแต่เรียนอย่างเดียวแล้ว มักทำให้หัวไม่ดี บางที่อาจทำให้เจ็บหรือหัวเสียไปได้ ด้วยไม่มีเอ๊กเซอไซซ์พอกับการที่ต้องนั่งอยู่กับที่ครั้งละนาน ๆ นั้น คนอังกฤษมักกล่าวกันว่า “ทำการไม่มีเล่น แย๊กต้องเปนคนซึม” ดังนี้ ต้องเชื่อว่าเปนการจริงทีเดียว.

เมื่อถึงเดือนมิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๗ คือเวลากำหนดไล่นั้น ครูข้าพเจ้าก็พาข้าพเจ้าขึ้นรถไฟตั้งแต่สเตชั่นใกล้บ้านไปถึงสเตชั่นชื่อวอเตอลู แล้วขึ้นรถไปขับไป “จับ” รถไฟที่สเตชั่นชื่อลิบเวอปูลสตรีต ไปถึงเคมบริชเวลาบ่ายประมาณ ๓ โมง ต้องขึ้นรถขับไปอิกหลายนาทีจึงถึงคอเลช เพราะสเตชั่นที่เคมบริชนั้นอยู่นอกเมือง ไกลจากที่ซึ่งคอเลชต่าง ๆ อยู่นั้นไปไม่ต่ำกว่าสองไมล์ เปนการไม่สู้สดวกมาก ท่านพวกหัวหน้ายุนิเวอซีตีแต่โบราณเห็นว่า ยุนิเวอซีตีควรจะอยู่ฉะเพาะตัวเอง หาควรให้มนุษย์สามัญมาอยู่ใกล้เคียงไม่ เกรงจะเสียรัศมีของยุนิเวอซีตีไปหรืออะไรอย่างหนึ่ง จึงไม่ยอมให้สเตชั่นรถไฟมาอยู่ใกล้ หาคิดถึงความลำบากของมนุษย์อื่นที่ยังต้องไป ๆ มา ๆ อยู่ไม่ แลท่านหัวหน้าแต่โบราณลืมคิดไปอย่างหนึ่งว่า เมืองเคมบริชนั้นจะโตใหญ่ขึ้นทุกทีแลเมืองคงจะมาเกาะอยู่กับคอเลช หาไปอยู่เกาะกับสเตชั่นรถไฟได้ไม่ แลถ้าเมืองมาตั้งอยู่ดังนั้นแล้ว ความต้องการจะให้ยุนิเวอซีตีอยู่สันโดฏฐ์โดยตัวเองก็เปนการไม่สำเร็จ ถ้าท่านพวกหัวหน้าเหล่านั้นยังอยู่จนป่านนี้ ก็คงเสียใจเหมือนกัน ที่ไล่สเตชั่นไปอยู่ไกลออกเปนกองสองกองดังนั้น.

เมื่อข้าพเจ้าเข้าไปในตรินิตีคอเลชครั้งแรกนั้น ข้าพเจ้ามีความรู้สึกทึ่งแลคร้ามอะไรหน่อย ๆ ไม่ทราบจะอธิบายอย่างไรได้ ประตูทางเข้าเปนประตูที่มีชื่อเสียงโด่งดังว่า “ประตูใหญ่ตรินิตี” ข้างขวามือขาเข้ามีห้องพวกนายประตู (ปอเตอร์) ข้างซ้ายเปนออฟฟิศสำหรับคอเลช คือที่ทำการของพวก เสมียนลูกจ้างที่ทำบาญชีแลการต่าง ๆ สำหรับคอเลชนั้น ห้องพวกนายประตูว่าที่จริง ก็เปนออฟฟิศ นายประตูก็เหมือนกัน เพราะพวกนายประตูนั้นมีธุระอื่น ๆ มากไม่ใช่แต่เฝ้าประตูอย่างเดียว คือเปนคนแจกหนังสือที่ไปรสนีย์บุรุษย์นำมาส่ง เปนคนช่วยขนของหีบปัดต่าง ๆ ให้พวกคอเลช, เปนคนเก็บเงินสำหรับคลับต่าง ๆ (โดยได้รับค่าจ้างต่างหาก), เปนคนจดชื่อเวลาที่นักเรียนกลับเข้าคอเลชเกินสี่ทุ่ม แลทำการเบ็ดเตล็ดอิกหลายอย่าง เปนพวกมีประโยชน์มาก.

เมื่อเข้าประตูไปแล้ว ก็เข้าไปใน “ค็อต” คือสนามหญ้ามีทางเดิรปูหินเปนทาง ๆ ไป รอบสนามหญ้านั้นมีตึกคล้าย ๆ ตึกแถว แบ่งเปนส่วน ๆ เรียกว่า “กระได เอ” “กระได บี” ฯลฯ ฯลฯ หันหน้าเข้าค๊อตทั้งนั้น ตึกแถวเหล่านี้ดูเหมือนป้อมมีเชิงเทินใบเสมาพร้อม บางแห่งมีต้นไอวี (ดูเหมือนเราเรียกคั้งคาว) เลื้อยขึ้นตามกำแพงดูงามมาก กลางค๊อตมีน้ำพุอันหนึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังเหมือนกัน กับนาฬิกาแดดอิกอันหนึ่ง นอกจากนี้ก็เปนแต่หญ้าเตียนโล่งไปตลอด มีทางเดิรเปนสาย ๆ ไปหลายสาย เพราะหญ้านั้นเปนของวิเศษ ถ้าใครไปเหยียบเข้าแล้วต้องถูกปรับถึง ๒ ชิลลิงครึ่ง (เว้นแต่ไม่มีใครเห็น) แลคนที่จะเดิรข้ามสนามหญ้าได้ก็มีแต่ท่านพวกถานานุกรมของคอเลชที่เรียกกันว่า “ดอน” กันพวกปอเตอร์เท่านั้น เห็นจะเปนด้วยพวกนั้นเท้าเย็นเดิรเหยียบหญ้าไม่ตาย พวกเราเท้าร้อนเดิรเหยียบหญ้าตายนั่นเอง แต่ทำไมท่านพวกนั้นเท้าจึงเย็นกว่าพวกเรา ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ นอกจากเขาว่าน้อยตัวกว่าเรา หรือจะเปนด้วยคนมีความรู้อาจเหยียบหญ้าให้ไม่ตายโดยตำรา “ไซแอนซ์” อย่างหนึ่งอย่างใดที่พวกเราเรียนยังไม่ถึงดอกกระมัง แต่ก็ถ้ากระนั้นทำไมพวกปอเตอร์จะไปรู้ไซแอนซ์อะไรด้วยเล่า ? ถึงอย่างไรก็ดี ถ้าข้าพเจ้าเห็นท่านพวกถานานุกรมเดิรฝ่านสนามหญ้าเมื่อไร ก็ออกพื้นเสียเสมอว่าเห็นว่าบังคับเราได้แล้ว ยังมีหน้าไม่อายมาเอาเปรียบเราได้ ลืมคิดไปหน่อยว่าถ้าปล่อยให้พวกเราเดิรอย่างนั้นบ้างแล้ว หญ้าในค๊อตที่ชมกันว่างามนั้น ก็คงกลับตรงกันข้ามไป.

ในค๊อตใหญ่ที่ข้างขวามือมีโบถที่เรียก “แช็ปเปล” ข้างหลังโบถมีห้องสำหรับให้อ่านหนังสือ ล้างหน้า ฯลฯ เปน คลับอย่างเตี้ย ๆ สำหรับคอเลช เรียกว่า “คอมบิเนชั่นรูม” นักเรียนในคอเลชต้องเสียค่าบำรุงทุกคน เทอมละ ๒ ชิลลิง เปนของมีประโยชน์ แก่ชนที่ไม่ได้เปนสมาชิก ตามคลับอื่น ๆ แลพวกที่ห้องอยู่นอกคอเลช สำหรับได้เปนที่อ่านหนังสือพิมพ์แลเปนที่พักไปตามที.

ตรงประตูใหญ่ข้ามค๊อตไปนั้น มีตึกใหญ่เรียกว่า ตรินีตีล๊อดซ์เปนที่สำนักของมาสเตอร์ คือท่านสมภารในคอเลช มีลูกเมียอยู่พร้อม พวกเราบางคนที่เปนคนหรูหราหรือมีพวกพ้องรู้จักมักจี่กับพวกท่านสมภารแล้ว ก็ได้เชิญไปดินเนอร์ หรือลันเชินบ้าง แลวันพฤหัสบดีเปนวันที่ท่านสมภารินีคอยรับแขก (ตามที่เรียกกันว่า “วันอยู่บ้าน”) ถ้าคนไหนได้รับก๊าดบอกกำหนดวันแล้ว จะไปกินน้ำชาวันพฤหัศไหนก็ได้ แต่พวกเราไม่ใคร่เห็นสนุกกี่คนนัก เพราะเวลาไปกินเข้าแล้ว ท่านสมภารไม่มีบุหรี่ให้สูบ เพราะจะควักของเราออกมาเองก็ดูอย่างไรอยู่ เพราะท่านสมภารไม่ชอบ ต้องอดบุหรี่ไม่ใช่ของเล่น กับบางทีถ้าใครถูกเคราะห์ร้ายต้องนั่งใกล้ท่านสมภารแล้ว ตะแกก็ชักคุยถึงฮอเรช, เปกโต, แลโบราณสาตรทั้งหลาย เปนของที่พวกเรามักมืดแปดด้านมองไม่ใคร่เห็นว่าอะไรอยู่ที่ไหน แลถึงเราจะรู้อยู่บ้างก็ตามขรัวไม่ใคร่ทัน ด้วยเราหารู้สูงพอไม่ เท่ากับไปฟังกะเหรี่ยงเล่านิทานที่หนึ่ง ฟังไม่ใคร่ออกว่าเล่าว่ากระไร แลไม่ทราบว่าจะหัวเราะหรือว่า “เยซ” หรือ “โน” ตรงไหน.

ตรินิตีล๊อดซ์ที่กล่าวมานี้ กวีนวิกตอเรียเคยมาค้างอยู่เมื่อเจ้าอาลเบิตเปน “ชานเซ็ลเลอร์” คือหัวหน้าของเคมบริช มีห้อง ๆ หนึ่งเรียกว่าห้องของกวีน มีเตียงนอน ฟูกหมอนพร้อม ไม่มีใครนอนมาไม่รู้จักกี่ปีแล้ว แต่ก็ยังอยู่อย่างนั้นเองเปนของสำหรับอวด ที่นอนนั้นก็คือที่นอนอย่างเรา ๆ นี้เอง นึกว่าเปนถึงกวีนเมืองอังกฤษทั้งทีจะนอนที่นอนสวรรค์บ้างก็เปล่าทั้งนั้น แต่เมื่อเรามาคิดดูแล้วเจ้าเมืองอังกฤษก็คน ๆ เราเหมือนกัน หาเปนเทวดาองค์หนึ่งอย่างเจ้าเมืองกรีกแต่ดึกดำบรรพ์ หรือเปนราชโอรสหรือราชธิดาแห่งสวรรค์ดังพระเจ้ากรุงจีนไม่.

ต่อตรินิตีล๊อดซ์ไปมี “ฮอล์” หรือหอสำหรับกินเข้า เปนตึกใหญ่คล้ายป้อมทำนองเดียวกับตึกอื่นๆ ในคอเลช เปนแต่สูงกว่าหน่อย ข้างในมีรูปเขียนท่านพวกสมภารเก่า ๆ กับพวกที่เคยเปนนักเรียนในคอเลชผู้ได้มีชื่อเสียงปรากฎมา เข้ากับฝาไม้โอ๊ก, เพดานสูง และเครื่องประดับอย่างโบราณ ทำให้ดูขรึมมาก ถ้าไม่เคยเห็นแลเคยไปกินมาเองแล้ว ถ้าจะบอกว่าหอนี้เปนที่กินเข้าของพวกหนุ่มลำพอง แลพวกที่เรียก “เลือด” ทั้งหลายแล้ว ก็เกือบจะไม่เชื่อ เพราะดูไม่สมกันเลย.

หลังหอมีค๊อตอิกค๊อตหนึ่ง มีห้องสมุดสำหรับคอเลชอยู่ด้วย ห้องสมุดก็อย่างเดียวกับหอเหมือนกัน คือดูช่างขรึมเสียแท้ ๆ ห้องสมุดนี้จะมีหนังสืออังกฤษที่จะพออ่านสนุกได้สักเล่มเดียวก็ทั้งยาก มีแต่หนังสือกรีกลาตินแลภาษาโบรมโบราณทั้งสิ้น ไม่ทราบไปขุดมาจากไหน ถ้าให้เราไปเปนเสมียนอยู่ในห้องสมุดนี้แล้ว ก็แทบจะลืมว่าปีนี้เปนปีคฤศศักราช ๑๙๐๐ เข้าไปอยู่แต่ในหมู่ของโบราณทั้งนั้น บางทีอาจเผลอไปคิดว่าเราเปนคนโบราณเกิดก่อนพระเยซู หรืออะไรเช่นนั้น.

ตรินิตีเปนคอเลชใหญ่มีค๊อตถึง ๔ ค๊อต กับตึกที่ไม่มีสนามหญ้าเรียกว่า “ฮ๊อซเตลซ์” อิกหมู่หนึ่ง น่าประตูใหญ่มีถนนผ่านไปเรียกว่าถนนตรินิตี แลฟากถนนข้างโน้น (ตรงประตูใหญ่) มีค๊อตชื่อ “ฮิเวียลซ์ค๊อต” แบ่งเปนสองตอน ซึ่งนักเรียนให้ชื่อกันว่า “โต๊ะบิลเลียด” ตอนหนึ่ง “กระโถน” ตอนหนึ่ง เพราะรูปค๊อตนั้นคล้ายโต๊ะบิลเลียดกับกระโถนจริง ๆ.

นอกจากค๊อต, หอ, โบถ แลอื่น ๆ ที่กล่าวมาแล้วนี้ ตรินิตียังมีของดีอีกสองอย่าง คือสวนสำหรับท่านสมภารแลถานานุกรมทั้งปวง ที่เรียกว่า “เฟลโลซ์กาเด็นซ์” อย่างหนึ่ง กับสวนคล้าย ๆ ที่อยู่หลังคอเลชเรียกว่า “แบ๊กซ์” คือเปนสนามมีต้นไม้ร่มเปนทางเข้าที่เรียกแอวินิว ตามริมแม่น้ำมีหญ้าลาดลงไปสำหรับนอนคุยเล่นกันน้ำร้อน ดูคนตีกรรเชียงพายเรือไปมา หรือดูเขาเล่นลอนเต๊นนิซหรือตีคลีไบซิกลตามฤดูที่เขาเล่นกัน.

เมื่อข้าพเจ้าขับรถไปถึงคอเลชกับครูดังที่กล่าวมาแล้ว แวะเข้าไปในห้องปอเตอร์เพื่อจะถามถึงห้องติวเตอร์ในคอเลช ปอเตอร์ก็แจ้งความว่า ท่านติวเตอร์ต้องการจะพบนักเรียนที่อยู่ “ข้าง” เขา (เพราะเรียกกันว่าอยู่ “ข้าง” ครูคนนั้นครูคนนี้) เวลาเท่านั้นที่ห้องบันไดตัวนั้นในค๊อตนั้นเสร็จแล้ว พอถึงเวลาครูกับข้าพเจ้าก็ไปพบกับติวเตอร์ ข้าพเจ้าถูกไล่เลียงชื่ออายุแลอะไรต่ออะไรเสร็จแล้ว ก็สิ้นธุระ ข้าพเจ้าเลยไปห้องที่เขาจัดไว้ให้พักเปนห้องของนักเรียนผู้หนึ่ง ซึ่งเจ้าของลงไปจากเคมบริชเสียแล้ว เวลานั้นมีนักเรียนไทยอยู่ที่เคมบริชสองคน ข้าพเจ้าเข้าไปกินเข้าในหอแล้ว ก็ได้ไปคุยกับเขาอยู่จนยามเศษต้องกลับเข้าคอเลช เพราะเขาบังคับให้เข้าก่อน ๔ ทุ่ม ข้าพเจ้าเปนคนใหม่ไม่กล้าจะขัดขืนข้อบังคับนั้น ต่อเก่าเข้าหน่อยแล้วจึงกล้าขึ้น.

ห้องที่ข้าพเจ้าไปอาศัยอยู่คราวนั้น ต้องเสียเงินวันละเล็กน้อยสำหรับค่าซักผ้าปูที่นอนแลของบางอย่าง ยายคนปูที่นอน (เรียกกันว่าเบดเดอร์) เปนคนรับเงิน แต่เอาเสียเอง ซักผ้าให้เสียหน่อย หรือบางทีเจ้าของห้องจะต้องเสียค่าซักซ้ำไปเสียอิก บ่าวในคอเลชนั้นมีเบดเดอร์ ผู้ช่วยเปนผู้หญิงแก่ ๆ กับบ่าวผู้ชายที่เรียกกันว่า “ยิบ” สำหรับใช้เปนครั้งคราว ซึ่งจะได้กล่าวถึงทีหลัง เพราะบ่าวในคอเลชนั้นไม่ใช่พวกไม่มีสนุกเปน การไล่คราวนั้นสองวันครึ่งหรือสามวันจึงจบ เมื่อตรวจเสร็จแล้ว เขาเขียนชื่อผู้ไล่ติดไว้น่าหอ พวกได้ก็ยินดีโลดโผนแทบจะออกไปเต้นรำกลางถนนตรินิตี พวกไม่ได้ก็หน้าเซาไปคราวหนึ่ง

พวกที่ไล่พร้อมกับข้าพเจ้าคราวนั้นได้หลายสิบเปอเซ็นต์ ตกไม่สู้มากนัก เห็นจะไม่สูงกว่า ๓๐ เปอเซ็นต์ แต่บางคนจะได้ก็ไม่แน่ ตกก็ไม่แน่ เขาว่าคราวน่ามาไล่เสียอิกทีหนึ่ง ชาวต่างประเทศนอกจากข้าพเจ้ายังมีเข้าไล่อิกสามคน แขกสิงหฬหลานชายมหามุดาลิยา (เรียกตามอังกฤษ) นายใหญ่ ในเกาะลังกาสองคน แขกอะไรก็ไม่ทราบอิกคนหนึ่ง ดูคล้าย ๆ คนอียิปต์ แต่ไม่แน่เพราะเวลานั้นไม่รู้จักกัน แลเขาตกไปเสีย หาเห็นโผล่ขึ้นไปอิกไม่.

รุ่งขึ้นเมื่อเสร็จการไล่แล้ว ข้าพเจ้าขึ้นรถมาลอนดอน ประมาณบ่ายโมงเศษ ขึ้นรถไฟต่อไปบ้านในบ่ายวันนั้น เลยเอาฮอลิเดเสียหลายวันด้วย.

เมื่อการไล่เสร็จไปแล้วดังนี้ ข้าพเจ้าก็หายหมั่นทันทีทีเดียว เลยไม่พอใจที่จะอยู่บ้านเดิมนั้นต่อไปด้วยเสียอีก ข้าพเจ้าจึงเขียนจดหมายไปถึงผู้ดูการบอกว่า จะขอไปเที่ยวชายทเลสักสองอาทิตย์ แล้วจะเปลี่ยนครูไปอยู่ข้างเคมบริชตามที่ผู้ดูการได้แนะนำกับข้าพเจ้าครั้งหนึ่งแล้วนั้น ถึงเดือนตุลาคม เมื่อยุนิเวอซีตีเปิด จะได้ขึ้นไปอยู่ทีเดียว.

รุ่งขึ้นอิกวันหรือสองวัน ได้รับจดหมายจากผู้ดูการว่าตกลงตามที่ข้าพเจ้าว่าไปนั้น ได้เขียนหนังสือบอกไปยังแฟมิลีเมืองชายทเลที่ข้าพเจ้าต้องการจะไปอยู่นั้นแล้ว อิกสองสามวันข้าพเจ้าก็บันทุกเข้าของลงหีบเสร็จแล้ว ก็ลาครูแลครอบครัวของเขา รับความแสดงความเสียใจที่ข้าพเจ้าจะไม่ได้อยู่กับเขาอิกต่อไป แลความยินดีที่ข้าพเจ้าจะขึ้นไปยุนิเวอซีตี รวมทั้งความหวังใจว่า ข้าพเจ้าจะได้สนุกสบายในเวลาฮอลิเด เสร็จแล้ว ข้าพเจ้าก็ลงไปอยู่เมืองชายทเลตามที่กล่าวมา.

ในเวลาที่ข้าพเจ้าลงไปอยู่ฮอลิเดที่เมืองชายทเลนั้น ผู้ดูแลนักเรียนได้จัดแจงตกลงจะให้ข้าพเจ้าไปอยู่กับครูใหม่ ตั้งบ้านอยู่ห่างเคมบริชไปประมาณ ๑๐ ไมล์ แต่เดิมเปนอาจารย์ใหญ่ มีชื่อเสียงอยู่ในปับลิกสกูลตำบลหนึ่ง ได้ลาออกปลดชรามาตั้งบ้านอยู่ริมเคมบริชซึ่งเปน ‘ยุนิเวอซีตีมารดา’ ของแก แลตามความต้องการของภรรยาที่จะมาอยู่ใกล้กับบุตรสาวคนใหญ่ ซึ่งมามีผัวเปนถานาอยู่ในคอเลชแห่งหนึ่งด้วย

วันที่ ๑ ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๗ ข้าพเจ้าออกจากเมืองชายทเลซึ่งไปพักอยู่อย่างที่อังกฤษเรียกว่า “ผีเสื้อ” แปลว่าได้รับแต่ความสนุกสนานเที่ยวเกร่ โดยมิต้องมีการทำให้เปนห่วงนั้นขึ้นรถไฟกลับขึ้นไปลอนดอน แล้วเปลี่ยนรถไฟขึ้นไปถึงเคมบริชเวลาประมาณบ่าย ๓ โมง เปลี่ยนรถไฟอิกครั้งหนึ่งไปประมาณ ๑๔ ไมล์ (ด้วยรถไฟเดิรอ้อมไปหน่อย) ถึงสเตชั่นสำหรับหมู่บ้านที่ข้าพเจ้าจะต้องไป อยู่โดยไม่มีความรื่นเริงประมาณ ๒ เดือนนั้น.

สเตชั่นนี้ มาเปนสเตชั่นเล็กที่สุดที่ข้าพเจ้าได้เห็นมาในประเทศอังกฤษ มีชาวนาสองสามคนยืนเกะกะอยู่ ข้าพเจ้าเที่ยวเหลียวหาว่าไม่มีใครมารับหรือ พอคนแก่คนหนึ่งใส่เสื้อฟรอกโก๊ดใส่หมวกอ่อนคล้ายพระ เดิรตรงเข้ามาจับมือกับข้าพเจ้าถามว่า ข้าพเจ้าเปนไทยที่จะมาอยู่กับมิสเตอร์โซ แอนด์โซหรือไม่ใช่ ข้าพเจ้าตอบว่าใช่ แลสังเกตได้ว่าตาแก่คนนั้นเปนตัวครูเอง เพราะได้ทราบไปแล้วว่ารูปร่งแกเปนอย่างไร แลเสียงที่แกพูดก็บอกนักปราชญ์ผิดชาวมณฑลเคมบริชธรรมดาที่มีสำเนียงแปล่งหน่อย ๆ นั้นเสียแล้ว.

บ้านที่อยู่นั้นห่างจากสเตชั่นไปเดิรสัก ๕ นาที (แต่ยายเมียครูเดิร ๑๐ นาที) แลเมื่อข้าพเจ้าไปถึงบ้านก็ได้รับแนะนำกับเมียครูเปนคนแก่ ผมขาว แต่งตัวอย่างเรียบๆ แต่มีคำว่า ‘เลดี’ แสดงอยู่ทุกสีเก้า พูดเสียงบอกเต็มที่ว่าเปนชาติสก๊อช เสียงตาครูเองก็บอก (แต่ไม่มากนัก) ว่าเปนชาติไอริช ปลาดแต่ลูกทำไมจึงเปนอังกฤษไปหมดได้ เห็นจะเปนด้วยเกิดในเมืองอังกฤษนั้นเอง.

บ้านนั้นช่างเงียบเสียแท้ ๆ ตาครูกับยายเมียมีลูกถึง ๘ คน ผู้ชายคนเดียว มีลูกสาวถึง ๓ คนดูน่าหนักอก เพราะนางทั้ง ๗ นั้นมีผัวอยู่คนเดียวแต่คนหัวปีเท่านั้น แลคนสุดท้องก็อายุถึง ๑๗ แล้ว เมื่อข้าพเจ้าไปถึงวันนั้น พวกลูกทั้งหลายไม่อยู่หมด เว้นแต่ลูกสาวคนที่สี่ซึ่งไปเปนสะเกรตารีของโปรเฟชเซอร์อะไรคนหนึ่งอยู่ในลอนดอน เวลานั้นได้ฮอลิเดลงมาอยู่บ้าน ต่อข้าพเจ้าไปอยู่ได้สองสามวัน จึงมีนักเรียนคนอังกฤษมาอยู่อิกคนหนึ่ง เปนคนที่จะขึ้นไปเคมบริชพร้อมกับข้าพเจ้า แต่ต่างคอเลชกัน เมื่อมีเพื่อนเด็ก ๆ มาอยู่ด้วยกันดังนี้ก็ค่อยหายเหงาเข้า แลเมื่อรู้จักเพื่อนบ้านที่พึงจะรู้จักได้ แล้วซ้ำบุตรสาวครูกลับมาบ้านอิกสองคนก็ยิ่งค่อยยังชั่วขึ้น ด้วยได้เฮ ๆ ฮา ๆ กันไปตามเพลง จนถึงเมื่อจะขึ้นไปยุนิเวอซีตีนั้น ดูเหมือนจะมีเสียใจเล็กน้อยเสียอิกในการที่ออกจากบ้านนั้นไป รอดตัวที่อยู่ใกล้ไบซิกลประมาณ ๔๕ นาทีเท่านั้นก็ถึง เวลาแล้ง ๆ ได้ไปเที่ยวบ่อย ๆ เพราะพวกเพื่อน ๆ ที่เคมบริชเปนลูกศิษย์เก่าของครูคนนั้นหลายคน ประเดี๋ยวคนโน้นชวนคนนี้ชวนบ่อย ๆ แลถนนทางที่ไปนั้นเปนถนนเดิมที่พวกโรมันสร้างขึ้นเมื่อมาตีเกาะอังกฤษเรียบดีมาก ทั้งไม่ใคร่มีขึ้นเขาลงห้วยเท่าใดนักด้วย.

วันที่ ๑ ตุลาคมเปนวันยุนิเวอซีตีเปิด ข้าพเจ้าอยู่ข้างเคมบริชรู้จักลู่ทางแล้วไม่ต้องเอะอะ จ้างให้เขาขนหีบปัดเข้าไปให้ แล้วรถไบซิกลเข้าไปถึงห้องที่จะไปอยู่พบหนังสือมาแต่ครู (ติวเตอร์) ว่าให้ไปหาในบ่ายวันนั้น แลเมื่อไปหาก็ไม่มีธุระอะไร นอกจากไปบอกครูให้ทราบว่ามาถึงแล้วพอเปนพิธีเท่านั้น.

ห้องที่ข้าพเจ้าไปอยู่นั้นนอกคอเลช เพราะห้องในคอเลชเต็มเสียหมด ข้าพเจ้าขึ้นไปกำลังคนเข้ามากด้วยกัน หาถูกช่องที่มีห้องในคอเลชว่างไม่.

ที่คอเลชใหญ่มีคนมากเช่นตรินิตีนั้น ห้องในคอเลชหาพอกับที่นักเรียนแลครูทั้งปวงจะอยู่ไม่ เพราะฉนั้นจึงมีธรรมเนียมต้องเช่าห้องนอก ๆ คอเลชที่เรียกไลเซ็นซ์สำหรับยุนิเวอซีตี จัดให้นักเรียนไปอยู่ตามมากแลน้อย บ้านบางบ้านมีห้องรับนักเรียนอยู่ได้ถึงสามสี่คน แบ่งห้องเรียกเปนสำรับ ๆ สำรับหนึ่งมีห้องนอนห้องหนึ่ง ห้องนั่งเล่นห้องหนึ่งเปนห้อง กินเข้าแลห้องรับแขกพร้อม เรือนที่รับไลเซ็นซ์เช่นนี้จะรับใครเข้ามาอยู่ไม่ได้ นอกจากคนที่ติวเตอร์ตามคอเลชส่งไปให้อยู่ แลต้องทำตามข้อบังคับหลายอย่าง เปนต้นว่าถึงเวลา ๔ ทุ่มจะต้องปิดประตูลั่นกุญแจ แลถ้านักเรียนคนไหนเข้าบ้านดึกไปแล้ว จะต้องจดชื่อแลเวลาที่เข้าบ้านนั้นไว้ทุกคนพอครบกำหนด ๗ วันต้องส่งไปฟ้องครูเสียครั้งหนึ่ง.

การอยู่ในคอเลชแลนอกคอเลชนั้น ที่อ๊อกซฟอดกับที่เคมบริชผิดกันตรงข้าม คือที่อ๊อกซฟอดนักเรียนใหม่มักได้อยู่ในคอเลช ต่อเก่าเข้าหน่อยจึงให้ออกไปอยู่ข้างนอกได้ อ้างเหตุ (ดังได้ยินมา) ว่านักเรียนใหม่นั้นให้รวมกันอยู่ในคอเลชจะได้รู้จักมักคุ้นกันง่าย ๆ เมื่อมีเพื่อนฝูงพอแล้วจะให้ออกไปอยู่นอกคอเลชก็ไม่เปนการง่วงเหงาอันใด เพราะเหตุที่นักเรียนเก่าได้อยู่นอกคอเลชเช่นนี้ นักเรียนที่ออกซฟอดจึงนิยมการอยู่ข้างนอกว่าเปนของดี ว่าสบายกว่าแลเปนไทยกับตัวมากกว่าอยู่ในคอเลช.

ส่วนที่เคมบริชนั้นตรงกันข้าม คือคนใหม่ ๆ มักให้อยู่นอกคอเลช (เว้นแต่นักเรียนที่ได้สคอลาชิปคือเงินรางวัลช่วยในการเรียน) ต่ออยู่เก่าเข้าหน่อยจึงจะเข้าอยู่ในคอเลชได้ เพราะเหตุที่นักเรียนเก่าได้อยู่ในคอเลชนี้เอง ที่เคมบริชจึงนิยมการอยู่ในคอเลช เช่นเดียวกับนักเรียนอ๊อกซฟอดนิยมการอยู่ข้างนอกเหมือนกัน เห็นว่าสบายกว่าแลเปนเกียรติยศด้วย.

ถ้าจะว่าอย่างกลาง ๆ แล้ว การอยู่นอกคอเลชหรือในคอเลชก็มีดีทั้งสองทาง แลคนชอบอยู่ข้างนอกหรือข้างในก็มีเหตุที่จะแสดงได้ทั้งสองข้าง จะเปนก็แต่ลางเนื้อชอบลางยา บางคนชอบอย่างนี้มากกว่าอย่างนั้น หรืออย่างนั้นมากกว่าอย่างนี้

การอยู่ในคอเลชมีข้อสำคัญอย่างหนึ่ง คือมีคนอยู่ในบริเวณด้วยกันมาก เราจะไปนั่งคุยเสียกับใครจนสว่างก็ได้ จะไปมาก็ง่ายเปรียบเหมือนห้องเราอยู่ในหอรัษฎา เวลา ๔ ทุ่มแล้วไป เราจะออกไปไม่ได้ก็แต่ (ต่างว่า) ประตูวิเศษไชยศรีเท่านั้น จะไปเที่ยวหาเพื่อนที่หอพระสมุด หรือที่วัดพระแก้วก็ไม่กีดขวางอันใด ส่วนอยู่นอกคอเลชนั้นเปรียบเหมือนอยู่ตึกเช่นถนนใหม่ พอถึงเวลาเขาปิดประตูบ้านเสียแล้ว เราก็เท่ากับเสือติดกรง ถ้ามีเพื่อนอยู่ในบ้านเดียวกันก็ดีอยู่ ถ้าไม่มีแล้วก็ได้แต่อ่านหนังสือหรือทำการไปเท่านั้น แลการที่ต้องทำการทุก ๆ คืนนั้นเราก็ไม่นิยมอยู่เสมอ จะหมั่นก็เปนครั้งเปนคราว เพราะฉนั้นจะต้องทนถูกฟ้องว่าเข้าบ้านดึกไป หรือชวนเพื่อนมาคุยกันอยู่ห้องเราเองจึงจะค่อยยังชั่วเข้า เพราะถ้านักเรียนเข้าไปอยู่ห้องคนอื่นเสียก่อนเขาปิดประตูบ้านแล้ว จะอยู่ไปเท่าใดก็ได้ แต่ต้องเข้าบ้านตัวก่อนสองยามถ้าไม่อย่างนั้นเกิดความ ถ้าเขาปิดประตูบ้านเสียแล้ว คนอื่นจะเข้าไม่ได้ เว้นแต่นักเรียนที่อยู่ในบ้านเท่านั้น.

การอยู่นอกหรือในคอเลชนั้นยังมีผิดกันเปนข้อสำคัญอยู่อีกอย่างหนึ่ง คืออยู่ข้างนอกมีบ่าวใช้ อยู่ในคอเลชหามีไม่ ในบ้านนอกคอเลชนั้นมีแลนด์เลดี (แม่บ้าน) อยู่ในบ้านเสมอ แลมักมีบ่าวหรือลูกหลานไว้ใช้ เวลานักเรียนจะต้องการกาแฟหรือน้ำชาก็สั่นระฆังเรียกเอาได้ แต่ส่วนในคอเลชนั้น ต้องชงน้ำชากาแฟด้วยตนเอง เพราะมีคนใช้มาทำที่นักเรียนเองทำไม่ได้ (เช่นปูที่นอน แลจัดโต๊ะเปนต้น) เปนเวลา ๆ ของเล็ก ๆ น้อย ๆ ต้องทำเอาเองโดยมาก ว่าที่จริงการชงน้ำชากาแฟหรือต้มไข่กันเองเปนต้นนั้น ก็ไม่ใช่ของลำบากยากเย็น อันใด ของเข้าก็มีอยู่พร้อม น้ำร้อนก็ต้มน้ำด้วยตะเกียงกอฮอ น่าหนาวก็ต้มด้วยไฟที่ใช้ผิงนั้นเอง ส่วนตัวข้าพเจ้านั้นชอบทำเองมากกว่าใช้บ่าว เพราะจะทำอะไรก็ได้อย่างใจ ถ้าทำเลอะเทอะก็เปนความผิดของเราเอง ไม่มีใครจะมากวนโทษะเราได้.

การมีบ่าวใช้ดีกว่าไม่มีบ่าวใช้อยู่อีกอย่างหนึ่ง คือเรื่องเข้าเช้าซึ่งนักเรียนมักสั่งให้มาส่งจากครัวคอเลช เวลาเท่านั้นเท่านี้ตามชอบใจคงจะอยู่ใน ๒ โมงครึ่งหรือ ๓ โมงโดยมาก การที่เราตั้งใจว่าจะตื่นให้ทันกินเข้าเช้าแต่เมื่อยังร้อน ๆ อยู่นั้น เปนไปไม่ได้เสมอ เพราะบางคืนเราก็นอนไม่หลับ หรือไม่นอนเสียจนเกือบ ๆ สว่าง และเมื่อเปนอย่างนั้นแล้ว การที่จะตื่นขึ้นให้ต้องเวลากินเข้าเช้านั้นไม่ใช่ของเล่น เมื่อเขามาปลุกรู้สึกแล้วก็คิดว่านอนเสียอิก ๕ นาทีเถิด เข้าเช้าเปนของเรา ๆ เอง เราตื่นสายก็ไม่ต้องมีใครมาคอยกินกับเรา ให้เข้าคอยเราหน่อยก็ได้ดังนี้ ก็หลับตานอนไปอิก ๔ นาทีครึ่ง ลืมตาขึ้นดูนาฬิกาเห็นยังมีเวลาอีกครึ่งนาที พอหลับตาได้อีกหน่อย ถึงจะสายไปอีกนาทีหนึ่งก็ไม่เปนไร แต่เมื่อหลับตาลงไปแล้วก็ไม่หลับแต่ตา พลอยนอนหลับเอาด้วย ไปรู้สึกเอา ๕ โมงครึ่งดังนี้ เข้าที่มาคอยอยู่ตั้งแต่ (ต่างว่า) ๓ โมงนั้น ก็เย็นชืดเท่าเข่งปลาทูแทบจะกินไม่ได้ดังนี้ ถ้าเรามีบ่าวแล้วบ่าวก็อุ่นกับเข้าไว้ให้จนบางทีแห้งไปกับที่ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังร้อน ดีกว่าเย็นหลายเท่า ส่วนคนอยู่ในคอเลช นั้นถ้าน่าหนาวมีไฟ คนที่เอาเข้ามาส่งก็เอาตั้งไว้น่าเตาไฟพอร้อนอยู่ได้ ที่จริงน่าร้อนเขาก็ตั้งไว้น่าเตาไฟเหมือนกันแต่ไฟไม่มี ถ้าวันไหนตื่นสายแล้ว ก็ต้องกินของเย็นไม่อร่อยเอาจริง ๆ จัง ๆ บางทีถึงสู้อดไปกินเอากลางวันทีเดียวรู้แล้วรู้รอดไป.

การอยู่นอกคอเลช แลในคอเลชยังมีผิดกันอยู่อิกอย่างหนึ่ง คือความรู้สึกของเรานั้นไม่เหมือนกัน เวลาอยู่นอกคอเลชเรารู้สึกไม่ลงที่คล้ายกับอยู่ตึกเช่า เวลาเข้าไปอยู่ในคอเลชแล้วรู้สึกเหมือนมีบ้านอยู่เอง ด้วยเข้าของตั้งแต่ที่หลับที่นอนโต๊ะเก้าอี้ลงไป จนเครื่องภาชนะเล็กน้อยที่อยู่ในห้องเรานั้นเปนของ ๆ เราเองทั้งนั้น เวลาอยู่นอกคอเลชนั้น ของบางอย่างก็ของเรา บางอย่างก็ของเจ้าของบ้าน เวลาเราไล่หนังสือได้ใหม่ ๆ จะหักเก้าอี้ (ด้วยความยินดี) เล่นสักตัวหนึ่งก็ไม่สดวก หารู้สึกเปนอิศระกับตนเต็มที่ไม่ บางทีถ้าเรามีโอกาศ (เช่นวันเกิดของเรา) จะชวนเพื่อนมาเลี้ยงกันใหญ่เสียคราวหนึ่งก็อยู่ไม่ได้นาน กำลังคุยหรือเล่นอะไรกันอยู่สนุก ๆ ก็จะถึงสองยาม ต่างคนต่างต้องไปเสียแล้ว ใน คอเลชนั้น พ่อจะเบิกตาอยู่เท่าไรก็ตามใจพ่อเจ้าประคุณทั้งนั้น บางทีจะถูกผู้ใหญ่ทำตาเขียวก็ต่อเมื่อรุ่งขึ้นตื่นไปฟังเล็กเชอร์ไม่ทันเท่านั้น.

ส่วนน่าที่เหรัญญิกของนักเรียน คือการเงินทองนั้นการอยู่ข้างนอกกับข้างในคอเลชไม่ผิดกันมากนัก ที่ตรินิตีดูเหมือนอยู่ในคอเลชจะแพงกว่าสักหน่อย เพราะค่าเช่าห้องในตรินิตีอยู่ข้างจะแพงจัดกว่าที่อื่น ถ้าจะคิดถัวตามคอเลชอื่น ๆ ทั่วไปแล้ว อยู่นอกหรือในก็ดูเหมือนจะเท่า ๆ กัน ผิดแต่เข้าอยู่ในคอเลชต้องลงทุนชั้นแรกมากหน่อย สำหรับซื้อเครื่องแต่งห้องของตัวเองรวมทั้งฟูก หมอน แลซ่อมช้อนถ้วยจานทุกอย่าง ในเรือนนอกคอเลชนั้นเจ้าของบ้านเขามีเครื่องจำเปนเหล่านี้พร้อม ต้องเสียค่าเช่ามากขึ้นเล็กน้อย อย่างเดียวกับเช่าของเขาใช้ไปในตัวทีเดียว นักเรียนที่ขึ้นไปอยู่ใหม่ ๆ ถึงจะไปอยู่นอกคอเลชก็มักมีผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดมือ แลของเช่นนั้นของตัวไปเอง แต่บางคนไม่เปนธุระเอาเงินฟาดศีศะแลนด์เลดีเสียเทอมละ ๒ กีนี ให้จัดหามาให้ใช้เสร็จ ต่อเมื่อจะเข้าคอเลชจึงไปหาของตัวเอาเองภายหลัง.

นอกจากที่กล่าวมานี้ การอยู่นอกหรือในคอเลชก็ไม่มีผิดกันอีกเท่าไรนัก แต่ถ้าจะว่าตามความชอบใจของข้าพเจ้าเองแล้ว อยู่ในคอเลชสบายกว่ามาก.

* * * * *

ความประสงค์ของนักเรียนที่ขึ้นไปอยู่ยุนิเวอซีตีนั้น ก็คือจะเอาดีกรี (เว้นแต่คนบางจำพวกที่ไปอยู่สำหรับสนุก) แลก่อนที่จะได้ดีกรีชั้น บี. เอ. นั้น นักเรียนจะต้องทำสำเร็จแล้วสองอย่างคือ

(๑) ต้องไล่ได้ตลอดชั้นตามที่กะไว้ ในกฎของยูนิเวอซีตี.

(๒) ต้องได้อยู่ในเคมบริชมาแล้ว ไม่บกพร่องอย่างน้อยที่สุด ๙ เทอม (สามปี)

(๑) การสอบไล่สำหรับดีกรีหรือเปรียญชั้น บี. เอ. นั้นมีอยู่สองอย่างคือ.

(ก) บี. เอ. ที่มีออนเนอร์.

(ข) บี. เอ. ที่ไม่มีออนเนอร์ เรียกว่า “ดีกรีอย่างธรรมดา”

(ก) ก่อนที่จะเข้าไล่สำหรับ บี. เอ. ที่มีออนเนอร์ได้นั้น นักเรียนธรรมดาจะต้องไล่ความรู้ทั่วไปที่เรียก “ลิตตลโก” ให้ได้เสียก่อน แลจำเปนต้องไล่เพิ่มเติมข้อที่เลือกได้เปนพิเศษอิกข้อหนึ่ง จะเลือกเอาภาษาเยอรมัน หรือภาษาฝรั่งเศส หรือเลข (เม็กแกนนิกซ์กับเตรกอนอเมตตรี) อย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้.

เมื่อไล่ความรู้ทั่วไปนี้ได้แล้ว ก็เปนหมดในส่วนยุนเวอซีตีคือไม่ต้องไล่อะไรอิกก่อนไล่เอาดีกรี จะเข้าไล่สำหรับ บี. เอ. ที่เรียกว่า “ไตรปอซ” เมื่อไรก็ได้ แต่กว่าที่จะเข้าไล่ไตรปอซได้นั้นต้องมีความรู้สูง เพราะฉนั้นนักเรียนต้องเรียนอยู่ถ้าอย่างเก่งก็สองนี้ แต่มักจะสามปีเสียโดยมาก (เว้นแต่ไตรปอซบางอย่าง ซึ่งบังคับให้ไล่ในสองปี) แลเมื่อถึงกำหนดสามปี (๙ เทอม) แล้ว นักเรียนจำเปนจะต้องเข้าไล่ ถ้าไม่อย่างนั้นก็เท่ากับไล่ตก จะเข้าไล่ไตรปอซอิกต่อไปไม่ได้ เพราะการเข้าไล่ไตรปอซนี้คนหนึ่งก็ไล่ได้ครั้งเดียว ถ้าตกแล้วก็ต้องหันไปหาดีกรีที่ไม่มีออนเนอร์ ส่วนไตรปอซบางอย่างนั้นถ้านักเรียนคนไหนเรียนแล้ว จะต้องเข้าไล่ภายใน ๖ เทอม (๒ ปี) ถ้าครบกำหนดไม่เข้าไล่แล้วก็ต้องไปไล่ไตรปอซบางอย่าง (ถ้าเรียนไม่ทัน) ดูเปนทีว่าตัวไม่ได้เรียนไตรปอซอย่างที่ต้องเข้าไล่ในสองปีนั้นมาดอก.

ไตรปอซที่ว่าแบ่งเปนอย่าง ๆ นั้น คือแบ่งตามหัวข้อของการเรียน คือไตรปอซเลข, ไตรปอซภาษาโบราณ, ไตรปอซอินทเนีย, ไตรปอซพงษาวดาร, ไตรปอซกฎหมาย, ไตรปอซทางศาสนา, ไตรปอซภาษาทิศตวันออก, หรือไตรปอซภาษาปัจจุบัน (ยุโหรป) เปนต้น.

ในระหว่างการไล่ลิตตลโกกับไตรปอซนั้น ในส่วนยุนิเวอซีตีไม่มีต้องไล่อะไรก็จริง แต่คอเลชหาใจดีดังนั้นไม่ เพราะเมื่อสิ้นปีของยุนิเวอซีตี (อะแคเด็มมิแกลเยีย) ต้องมีการไล่ส่วนคอเลชครั้งหนึ่ง เรียกว่าการไล่ในระหว่างคอเลช หรือเรียกสั้น ๆ ว่าการไล่พฤษภาคม ดูก็น่าขัน เพราะการไล่นั้นไล่ในเดือนมิถุนายนเกือบเสมอ ทำไมจึงเรียกพฤษภาคมก็บอกยาก นอกจากตามคำพวกคนองที่กล่าวว่า เขาเรียกการไล่ปลายปีว่าการไล่พฤษภาคม เพราะเหตุนิดเดียวที่ไม่ได้ไล่ในเดือนพฤษภาคมเท่านั้น.

การไล่พฤษภาคมนี้ถ้าคนไตรปอซ (คือนักเรียนที่เรียกจะเข้าไล่ไตรปอซ) คนไหนยังไม่ถึงคราวไล่ไตรปอซแล้ว ต้องเข้าไล่ทั้งสิ้น ความประสงค์ของคอเลชนั้นคือต้องการจะสอบซ้อมดูว่า ใครจะดีพอหรือไม่ดีพอที่จะไปไล่ไตรปอซบ้าง ถ้าใครไล่ได้ในเดือนพฤษภาคมนี้แล้ว ก็กะว่าจะไล่ไตรปอซได้ ถ้าใครไล่พฤษภาคมไม่ได้ แต่ตกเล็กน้อยก็ยอมให้เรียนต่อไป แต่ถ้าตกไม่มีถ้าแล้ว ก็มักถูกไล่ให้ไปเรียนเอาดีกรีไม่มีออนเนอร์เสียทีเดียว เพราะคอเลชไม่อยากจะส่งนักเรียนไปไล่ไตรปอซตกให้เสียชื่อ.

การไล่พฤษภาคมนี้เขามักกะให้ยากกว่าไตรปอซ หรือพอไล่เลียงกันกับไตรปอซ (แต่มักน้อยข้อกว่า) แลคะแนนที่ได้นั้นต้องสูงกว่าคะแนนที่กะในไตรปอซ เพราะฉนั้นต้องเรียกว่ายากกว่าเล็กน้อย เมื่อข้าพเจ้าไล่ครั้งสุดท้ายนี้คนในตรินิตีมีได้ ๗ คนเท่านั้น นอกจากนั้นตกหมด ตัวข้าพเจ้าเองได้คะแนนมากเปนคนที่ ๘ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังน้อยกว่าที่เขากะไป ๕ คะแนนออกโกรธตัวเต็มที เพราะวันสุดท้ายที่ไล่นั้นเวลาบ่ายมีแข่งเรือเปนการใหญ่ เวลาที่เขาอนุญาตให้ตอบข้อถามนั้นถึง ๓ ชั่วโมง ถ้าเราไปแกร่วอยู่หมดเวลาที่อนุญาตแล้วก็ไม่ได้ดูแข่งเรือดังนี้ใครจะไปอยู่ได้ ถึงอยู่ก็ใจไม่อยู่กับตัว เลยทิ้งเวลาเสียถึง ๒ ชั่วโมง ตอบคำถามได้ไม่ถึงครึ่ง ลงท้ายคะแนนน้อยไป ๕ คะแนนทำให้เสียใจภายหลัง นักเรียนที่รู้จักกับข้าพเจ้าตกด้วยเรื่องแข่งเรือนี้ก็หลายคน ที่จริงเมื่อเราไปเสียนั้นก็กะว่าได้ทำพอจะได้แล้ว ถึงกระไรก็ดี ตกห้าหกคะแนนไม่ถูกไล่ออกจากไตรปอซ เพราะฉนั้นเปนอันใช้ได้.

(ข) ส่วนดีกรีอย่างธรรมดา คือดีกรีที่ไม่มีออนเนอร์นั้น ชั้นต้นนักเรียนจะต้องไล่ลิตตลโกเหมือนกัน แต่จะไล่ข้อเพิ่มเติม (ตามที่ได้กล่าวมาแล้วใน ก.) หรือไม่ก็ได้ เมื่อไล่ลิตตลโกเสร็จแล้ว ต้องไล่เช่นเดียวกันอิกครั้งหนึ่ง แต่สูงขึ้นไป เรียกว่าการไล่เย็นเนอราลคือความรู้ทั่วไป ในการไล่เย็นเนอราลนี้นักเรียนจำเปนจะต้องไล่กรีก หรือสํสกฤตเพิ่มลาตินเข้าอิกภาษาหนึ่ง ถึงนักเรียนที่ไปจากเมืองทางตวันออกนี้ก็เหมือนกัน การที่ข้าพเจ้ากล่าวมาข้างน่าว่า นักเรียนชาวตวันออก จำเปนจะต้องเอาดีกรีออนเนอร์นั้น เพราะเหตุที่จะหนีการไล่เย็นเนอราลนี้ เปนอันสิ้นลำบากส่วนภาษากรีกหรือสํสกฤตไปส่วนหนึ่ง แลการที่จะเข้าไล่ไตรปอซนั้นเปนการเก๋ด้วยถือว่าเปนของยาก คนไตรปอซมักจะดูถูกคน “ปอล์” คือคนที่ไม่เอาออนเนอร์ว่าเปนคนเลวทราม มักจะทำกิริยาอย่างที่อังกฤษเรียกว่าชูจมูกเอาโดยมาก.

เมื่อไล่เย็นเนอราลได้แล้ว นักเรียนพวก “ปอล์” นี้ก็ลงมือเรียนสำหรับเรียกว่าการไล่สะเปซเชียล (พิเศษ) คือเรียนคล้าย ๆ ไตรปอซแต่น้อยกว่ามาก พวกไตรปอซถือว่า การไล่สะเปซเชียลเปนของง่ายเสียเต็มที ๆ เดียว ดูเหมือนแทบจะว่าเด็ก ๆ ก็ทำได้ เพื่อจะยกตัวเองว่าข้าเปนคนไตรปอซเท่านั้น.

(๒) นักเรียนจะต้องขึ้นไปอยู่เคมบริชให้ครบ ๙ เทอม ไม่บกพร่องในวันเดียวเสียก่อนจึงจะรับดีกรีได้ ความประสงค์ที่กำหนดเวลาดังนี้ คือต้องการจะให้คนที่ได้รับดีกรีนั้น มาเปนพวกของตัวแท้ ๆ เสียก่อน เพราะถ้าไม่อย่างนั้น ประเดี๋ยวใครมีความรู้ที่จะมาไล่เอา ๆ ใครต่อใครบ้างก็ไม่รู้ หาใช่ลูกชายของ “อาละมาเมเตอร์” (ยูนิเวอซีตี) แท้ไม่ การที่ให้นักเรียนต้องอยู่เสีย ๙ เทอมก่อนนั้น ก็เพราะต้องการจะดูตัวนักเรียนว่าเปนคนสมควรจะได้รับดีกรี กล่าวคือ ไม่เปนคนมีความชั่วช้าสามานย์แน่แล้วเสียด้วย

คำว่า “เทอม” นั้นแปลว่ากำหนด คือระหว่างที่ต้องขึ้นไปอยู่ที่ยุนิเวอซีตี ปีหนึ่งแบ่งเปน ๓ เทอม ๆ หนึ่งสิบอาทิตย์หรือเก้าอาทิตย์ผิดกันเล็กน้อย เทอมทั้งสามนั้นเทอมที่หนึ่งตั้งต้นแต่เดือนตุลาคม เรียกกันว่า “มิกกลมาซเทอม” หรือ “เทอมตุลาคม” เมื่อสิ้นเทอมนี้แล้วหยุดประมาณ ๙ วิกจึงขึ้นเทอมใหม่เรียกว่า “เล็นต์เทอม” เปนเทอมสั้นที่สุด ดูเหมือนประมาณ ๘ วิกเท่านั้น ก็หยุดอิกประมาณ ๗ วิก จึงขึ้นเทอมใหม่เรียกว่า “อีซเตอร์เทอม” หรือ “เทอมพฤษภาคม” หรือ “เทอมฤดูร้อน” นอกจากนี้ที่เคมบริชยังมีเทอมพิเศษอีกเทอมหนึ่งเรียกกันว่า “เทอมลองวะเคชัน” คือเทอมที่ขึ้นไปเรียนได้ในระหว่างเวลาหยุด ๔ เดือน พวกไตรปอซมักขึ้นไปเรียนกันโดยมาก แต่ต้องได้อนุญาตจากครูก่อน ในระหว่างเทอมนี้ยุนิเวอซีตีไม่เปิดคือไม่มีเล็กเชอร์ตามธรรมดา นักเรียนที่ขึ้นไปอยู่นั้นต้องเรียนกับครูไปรเวตที่เรียกโค๊ช หรือเรียนโดยตัวเอง การขึ้นไปอยู่ในระหว่างเทอมพิเศษ (เรียกกันว่า “ลอง”) นี้ ต้องประพฤติตามข้อบังคับ จัดเต็มที คือถ้าไม่เข้าคอเลชให้ทัน ๔ ทุ่มสักคืนเดียวก็อาจถูกไล่กลับบ้านได้ เพราะเวลา “ลอง” นี้ไม่มีปร๊อกเตอร์ (จะได้กล่าวถึงทีหลัง) คอยตรวจตรา นักเรียนจะไปเที่ยวซุกซนกลางคืนก็ไม่มีช่องที่ใครจะจับได้.

เวลาหยุดที่ยุนิเวอซีตีนั้น เรียกว่าวะเคชันที่พวกนักเรียนใช้คำสั้นว่า “แว๊ค” เปนคำไม่สุภาพจะไปพูดกับครูบาอาจารย์ไม่ได้ คำว่าวะเคชันนี้นักเรียนยุนิเวอซีตีถือว่าเปนคำดี ถ้าคนอื่นไปเรียกฮอลิเดเข้าแล้วก็พื้นเสีย เพราะเห็นว่าฮอลิเดเปนคำสำหรับเด็กโรงเรียนไป ไม่มีสง่าพอ ไม่สมแก่นักเรียนยุนิเวอซีตี ในระหว่างวะเคชันนี้นักเรียนต้องไปจากเคมบริช จะไปอยู่บ้านหรือไปอยู่ไหนก็ตาม แต่ขึ้นไปอยู่เคมบริชไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตพิเศษก่อน เคมบริชเปนเมืองสำหรับยุนิเวอซีตี ถ้าไม่ใช่เวลาเทอมแล้วก็เงียบเหมือนป่าช้า ร้านเปิดบ้างปิดบ้าง ไม่มีสนุกอันใด ไม่ใคร่มีใครขึ้นไปอยู่ นอกจากนักเรียนต่างประเทศบางคนที่ยังไม่รู้จักจะไปไหน.

* * * * *

ส่วนวิธีเรียนที่ยุนิเวอซีตีนั้นผิดกับตามโรงเรียน คือ นักเรียนเปนอิศระแก่ตนเต็มที่ จะเรียนหรือไม่เรียนก็ไม่มีใครมาว่ากระไรได้ เพราะเราเรียนของเราเองโดยมาก ผู้ใหญ่ทราบไม่ได้ว่าเราเรียนมากน้อยเท่าใด.

ทางที่จะเรียนนั้นมีสามอย่างทำไปด้วยกัน คือ

(๑) ฟังเล็กเชอร์

(๒) อ่านหรือทำการเอาเองจากสมุดตำรา.

(๓) เรียนจากโค๊ต หรือครูไปรเวต.

(๑) การฟังเล็กเชอร์นั้นเปนทางเรียนอย่างที่ต้องทำกันทุกคน คือถึงกำหนดต้องไปนั่งฟังเสียชั่วโมงหนึ่ง มีสมุดโน๊ตกับปากกาหรือดินสอไปด้วย เขาเล็กเชอร์ว่ากระไรเราก็จดตามที่จะจดได้ การจดเล็กเชอร์ไม่ใช่ของเล่น เพราะท่านผู้เล็กเชอร์ท่านมาถึงท่านก็ถก ๆ ๆๆ เสียชั่วโมงหนึ่ง บางท่านพูดเร็วจนจดไม่ใคร่ทัน แล้วยังมิหนำซ้ำฟังไม่ใคร่ทันด้วย ยิ่งไม่ใคร่มีความรู้ในข้อที่เล็กเชอร์ด้วยแล้ว ก็อยู่ข้างจะหาวนอนเสียโดยมากกว่าอื่น หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องหัดเปนช่างเขียน คือนั่งวาดรูปท่านผู้เล็กเชอร์ หรือพวกผู้หญิงซึ่งมาฟังเล็กเชอร์อยู่ด้วยกันนั้นไปตั้งแต่ต้นจนปลาย บางทีชั่วโมงหนึ่งได้รูปหลายรูป สมุดโน๊ตของนักเรียนบางคนเต็มไปด้วยรูปทั้งนั้น ไม่ว่ารูปผู้เล็กเชอร์ รูปผู้หญิง รูปสำเภาเสากระโดงมีพร้อม หาตัวหนังสือไม่ใคร่เห็นเลย หรือเขาจะใช้จดด้วยรูปแทนตัวหนังสือได้บ้างกระมัง การที่นักเรียนนั่งหาวนอน หรือนั่งเขียนรูปเล่นเช่นนี้ ถึงท่านผู้เล็กเชอร์จะเห็นก็ไม่ว่ากระไร เปนการแล้วแต่จะโปรด เพราะบางทีเขาจะรู้เรื่องที่เล็กเชอร์นั้นตลอดแล้ว ไม่ต้องจดเอาไปอิกให้ป่วยการ ทำไมท่านผู้เล็กเชอร์จะทราบได้ว่าเขาไม่จดด้วยขี้เกียจ หรือไม่จดด้วยเขาทราบอยู่ตลอดแล้ว.

ส่วนคนที่หมั่นจดนั้น ต้องเขียนเสียเกือบตายไม่ใคร่ได้หยุด หูก็ฟัง มือก็เขียนไปพร้อมกัน ถ้าตรงไหนจดไม่ทัน แต่ไม่สู้สำคัญก็ทิ้งเสียบ้าง ถ้าวันไหนถูกคราวต้องฟังเล็กเชอร์นี้ แล้วไปฟังเล็กเชอร์นั้น แล้วไปฟังเล็กเชอร์นั้นต่อๆ กันไปสามชั่วโมงดังนี้แล้ว ช่างเมื่อยข้อมือจะหักเสียให้ได้ ถ้าเช้าวันไหนถูกเข้าอย่างนั้น ก็อย่าหมายเลยว่าจะทำอะไรได้อิก เพราะรู้สึกเหนื่อยมือเหนื่อยหัวอย่างที่ฝรั่งเขาเรียกมันขมองเหนื่อย จะลงมือทำการได้อิกก็ต่อกลางคืน สมุดโน๊ตของข้าพเจ้านั้นมาเดี๋ยวนี้มาอ่านไม่ออกก็มีมาก เพราะเวลาจดต้องชุ่ย ๆ ไปให้เร็วพอตามคำเล็กเชอร์ทัน อย่าให้หลุดไปเสียได้ เพราะฉนั้นลายมืออยู่ข้างจะไม่สู้ได้การอยู่สักหน่อย.

การที่จดเล็กเชอร์ได้ดีหรือไม่ได้ดีนั้น ไม่เปนด้วยเขียนเร็วหรือไม่เร็วอย่างเดียว เปนด้วยเข้าใจคำที่ผู้เล็กเชอร์กล่าวนั้นซึมหรือไม่ด้วย เพราะฉนั้นถ้าคนเขียนช็อตแฮนด์เปนเช่นนี้ อย่าคิดว่าจะจดดีกว่าคนอื่น ๆ บางทีจะกลับเลวได้เสียอิก.

ความรู้แลความชำนาญย่อมเปนข้อสำคัญในการจดเล็กเชอร์นี้ เมื่อแรกเมื่อยังไม่มีความรู้ในเรื่องที่เล็กเชอร์นั้นเลย แลยังไม่ชำนาญจดด้วยนั้นก็จำเปนต้องจดไม่ได้ หรือจดได้ก็ไม่รู้ว่าจดเอาอะไรมาไม่ใคร่มีประโยชน์เท่าไรนัก เกือบเท่าไปนั่งวาดรูปผู้เล็กเชอร์หรือวาดรูปผู้หญิงเล่นเหมือนกัน ผิดแต่ความพยายามมีประโยชน์กว่าความไม่พยายามเท่านั้น.

พวกผู้หญิงที่มาฟังเล็กเชอร์กับพวกนักเรียนผู้ชายนั้น คือพวกนักเรียนในคอเลชผู้หญิง (เกอตันกับนิวแนม) ซึ่งทำการเล่าเรียนอย่างเดียวกับพวกผู้ชายหมด ผิดกันแต่เขาไม่ให้ดีกรีเท่านั้น กับเขามักเชื่อกันว่าต้องใส่แว่นตาทุกคน แลเปนพวกที่เรียก “ถุงเท้าสีนิล” คือผู้หญิงที่ไม่แลดูอันใดนอกจากการเรียน ย่อมไม่เอาใจใส่ในเครื่องนุ่งห่มปล่อยตัวให้รุ่มร่ามผิดผู้หญิงทั้งหลาย ว่าที่แท้การที่ว่ากันอย่างนั้นก็เกินไปอยู่หน่อย เพราะถึงพวกนักเรียนผู้หญิงเหล่านั้นอยู่ข้างจะใส่แว่นตาหรือใส่ถุงเท้าสีนิลอยู่หน่อยก็จริง แต่มีคนหรูหราแสนงิ่นแสนงอนถมไป พวกผู้หญิงนี้มักจะถือตัวว่าเรียนดีกว่าผู้ชาย แลที่จริงก็เปนอย่างนั้นอยู่สักหน่อย เพราะเขาเอาใจใส่แลไม่ยกการเล่นขึ้นเปนของสำคัญ เสียไม่ได้นาน ๆ ก็เล่นฮ๊อกกีกันเสียครั้งหนึ่ง หรือไปขี่ใบซิกลเสียหน่อยเท่านั้น

แต่การที่นักเรียนผู้หญิงยกตัวว่าดีกว่าผู้ชายดังนี้ นักเรียนผู้ชายบางคนก็ออกยอม ๆ บางคนก็หัวเราะแต่ไม่ว่ากระไร บางคนก็หัวเราะแล้วตอบว่าให้เรียนจนใส่แว่นตาสองชั้นก็ไม่เห็นจะดีกว่าเราไปได้ เราอ่านหนังสือน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง แต่เวลาไล่ได้คะแนนเท่า ๆ กันดังนี้ จะดีกว่าเราได้หรือ ตามที่ข้าพเจ้าเคยเห็นมากมักเปนอย่างนั้นอยู่โดยมาก เช่นข้อถามที่ท่านผู้เล็กเชอร์บางท่านให้เราเขียนตอบนั้น ถ้าตอบดีที่สุดก็ได้คะแนน ๓ คะแนนเปนอย่างสูง เราตอบสักน่าครึ่งก็ได้ ๓ คะแนน แต่พวกผู้หญิงมักตอบตั้ง ๕ น่า แลคะแนนได้อย่างมากก็เพียง ๓ ดังนี้ คะแนนก็ได้เท่ากันแต่เราไม่ต้องเขียนถึง ๕ น่าจะไม่เข้าเราดีกว่าอย่างไรได้.

เรื่องโรงเรียนผู้หญิงที่เคมบริชนั้นมีเรื่องสนุก ๆ หลายเรื่อง เช่นเรื่องดีกรีผู้หญิงเปนต้นที่ข้าพเจ้าจะเว้นเล่าไม่ได้ แต่ต้องขอไปเล่าภายหลัง ตรงนี้จะกล่าวถึงวิธีเรียนต่อไป.

(๒) การที่อ่านหนังสือหรือทำการเอาเองจากสมุดตำรานั้นเปนของสำคัญที่สุด นักเรียนจะเรียนได้ดีหรือไม่ได้ดีก็เปนด้วยข้อนี้โดยมาก เพราะฉนั้นจึงได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ว่าการเรียนที่ยุนิเวอซีตีนั้น นักเรียนเปนอิสระแก่ตน จะเรียนมากหรือน้อยก็ได้ หนังสือที่อ่านนั้นท่านผู้เล็กเชอร์บอกให้เสร็จว่าให้ซื้อเล่มนั้น ๆ แลให้อ่านเล่มไหนก่อน เพราะฉนั้นถ้านักเรียนอ่านได้หมดตามที่กะให้แล้ว ก็คงเข้าใจความที่เล็กเชอร์ได้ซึมดี อะไรที่จดมาได้จากเล็กเชอร์มักเปนของที่ไม่มีในหนังสือ แลถ้าเราจดมาได้แล้วมาเทียบกันก็เห็นตลอดได้ ทำให้สว่างออกไปมาก การเล็กเชอร์นั้นถ้าข้อไหนมีอยู่ในหนังสือแจ่มแจ้งดีแล้ว ท่านผู้เล็กเชอร์ก็ไม่ใคร่กล่าว ต่อตรงไหนอยู่ข้างจะมืด ๆ จึงจะให้ละเอียดละออมากขึ้นดังนี้ ก็เปนที่เห็นได้อยู่ว่าการอ่านหนังสือเอาโดยตัวเอง กับการฟังเล็กเชอร์นั้นเปนของต้องทำไปด้วยกัน แต่ถ้าจะว่าที่จริงแท้ ๆ แล้ว การอ่านเอาเองดูเหมือนจะสำคัญกว่าการฟังเล็กเชอร์สักหน่อย เพราะการอ่านโดยตัวเองนั้นเปรียบเหมือนเนื้อ การฟังเล็กเชอร์จะว่าเปนแต่ทรงเครื่องก็ว่าได้

นอกจากการอ่านไปสำหรับฟังเล็กเชอร์นี้ ยังมีการที่ต้องทำไปให้ผู้เล็กเชอร์หรือครูไปรเวตตรวจอีกอย่างหนึ่ง ต้องนับว่าเปนงานส่วนที่ทำเองเหมือนกัน เพราะไม่ทำก็ได้ วิกหนึ่งท่านผู้เล็กเชอร์มักให้ข้อถามประมาณ ๓ ข้อ ให้ไปสำหรับไปส่งคราวเล็กเชอร์น่า จะไปค้นทำจากตำราหรือสมุดโน๊ตหรืออะไรก็ตาม ขอแต่ให้ทำเท่านั้น บางคนถ้าไม่สุจริตจะไปวานใครเขาทำมาก็ได้ แต่เห็นจะไม่มีใครทำอย่างนั้น เพราะถ้าไม่ทำทีเดียวก็ได้เหมือนกัน แลว่าที่แท้ถึงไปวานใครทำมาก็ยังมีประโยชน์อยู่นั้นเอง เพราะนักเรียนคงต้องมาคัดเอง จะอดจำทีละเล็กละน้อยไม่ได้ กระดาดที่เราเขียนตอบข้อถามนั้นผู้เล็กเชอร์รับเอาไปตรวจ ต่อคราวเล็กเชอร์น่าจึงเอากลับมาแจก ถ้าใครทำดีก็ได้คะแนนมากหรือจดมาว่าดีไม่ดีตามควร ถ้าข้อไหนทำผิดกันมาก ๆ ก็กลับอธิบายข้อนั้นใหม่ให้แจ่มแจ้งทั่วกัน การตอบข้อถามเช่นนี้เปนการสนุกมาก เพราะเรารู้สึกว่าทำขันกับคนอื่น ยิ่งเราได้คะแนนเต็มที่หรือมีตัวดินสอเขียนว่า “ดีนัก” อยู่ข้างท้ายแล้ว เราก็รู้สึกปลื้มมิใช่น้อย.

เวลาที่เราทำการในห้องเราเองนั้น ก็คือเวลาเช้าในระหว่างที่ไม่ต้องไปฟังเล็กเชอร์ (เล็กเชอร์มีแต่เวลาเช้าเท่านั้น) กับเวลากินเข้าเย็นแล้ว บางคนที่หมั่นจัดแถมในระหว่างเวลากินน้ำชากับเวลากินเข้าเย็นเข้าด้วย เวลาบ่ายไม่มีใครทำงานเลย ไม่ว่าน่าร้อนน่าหนาวคงมีเล่นอะไรหรือไปไหนอย่างหนึ่ง การเล่นที่เคมบริชมีทุกอย่างไม่ว่าเล่นอะไรเปนคงได้เล่นทั้งนั้น ถ้าใครเล่นอะไรไม่เปนแล้วอยู่ข้างจะไม่ได้การต้องอยู่ในพวกที่เรียกกันว่า “สะมัค” คือพวกที่มุดหัวอยู่แต่ในห้อง ไม่ใคร่มีใครชอบแลน่าจะเปนลมอำมพาตตาย.

(๓) การเรียนกับครูไปรเวตที่เรียกว่าโค๊ชนั้น เปนเครื่องหมายว่าเปนการรีบร้อนอยู่หน่อย เพราะความประสงค์ที่ไปเรียนกับโค๊ชนั้น ก็คือจะหาความแนะนำส่วนพิเศษเพิ่มเติมกับความที่เราเรียนมาจากเล็กเชอร์ แลจากหนังสือที่เราอ่านเอง หรือว่าอีกอย่างหนึ่งก็คือมีโค๊ชไว้ช่วยอธิบายการที่เราจะทำโดยตนเองไม่ได้ นักเรียนไตรปอซมักมีโค๊ชกันโดยมาก แลถ้าจะกล่าวที่ตรงแล้วคนที่ไม่มีโค๊ชนั้น ก็คือคนเก่งที่สุดหรือไม่เปนเรื่องที่สุดเท่านั้น เพราะคนเก่งเขาเรียนได้ดังใจโดยตนเอง แลคนไม่เปนเรื่องที่สุดนั้นไม่ต้องมีโค๊ชไว้ให้เสียเงินเปล่า เพราะอย่าว่าแต่โค๊ชคนเดียวเลย ให้สิบคนก็ทำให้พ่อเจ้าประคุณดีขึ้นไม่ได้ บางคนโค๊ชต้องระอาไม่สอนต่อไปได้ เพราะให้ทำอะไรพ่อก็ไม่ทำ โค๊ชจะไปเฆี่ยนด่าพ่อได้เมื่อไร.

เวลาที่เรียนกับโค๊ชนั้นจะว่าเวลาไรก็ตามแต่จะมีช่องว่าง จะเช้าหรือกลางคืนก็ได้ แต่ต้องกะกันให้ลงระเบียบ เปนต้นว่าวิกละ ๓ ครั้ง คือวันจันทร์ วันพุธ วันศุกร์ ตั้งแต่สองทุ่มไปจนยามหนึ่งเปนต้น ค่าสอนโค๊ชอยู่ข้างจะแพงมาก เพราะเอาเทอมละถึง ๑๐ กินี (ที่จริงข้าพเจ้าก็จำไม่ถนัด แต่ดูเหมือนเท่านั้น) แลราคาโค๊ชไม่ว่าสอนอย่างต่ำอย่างสูงเหมือนกันหมดทั้งนั้น.

ท่านพวกโค๊ชนั้นคือพวกเปรียญเก่า ๆ มักเปนถานานุกรมอยู่ในคอเลชใดคอเลชหนึ่งมีการอื่นทำโดยมาก รับโค๊ชนักเรียนพอเปนประโยชน์พิเศษ แต่บางคนไม่หากินทางอื่นก็มี โค๊ชทั้งเช้าทั้งเย็น ถ้าเปนคนเก่งบางทีได้ถึงเทอมละ ๒๐๐ ปอนด์ แต่กระนั้นก็ยังรับนักเรียนที่มาหาได้ไม่หมด เพราะไม่มีเวลาพอ พวกโค๊ชนี้เปนมนุษย์ที่ควรมีในโลกแท้ เพราะเปนคนมีประโยชน์มาก พวกนักเรียนเช่นที่ไล่ตก ๕ คะแนนนั้น ถ้าไม่ได้โค๊ชช่วยแล้วคงจะตกหลายสิบคะแนนทีเดียว

* * * * *

คำว่ายุนิเวอซีตีนั้นคือคำลาตินว่า “ยูนิเวอซิเตซ” มาจากคำว่า “ยูนัซ” (หนึ่ง) “เวอซัซ” (หัน) รวมความ ว่าหันเข้าเปนหนึ่ง แปลว่า “รวมทั้งสิ้น” แต่ส่วนความเข้าใจนั้นยุนิเวอซีตีคือที่รวมกันของคอเลช (คือโรงเรียนชั้นสูง มาจากลาติน “คอลิยิอัม” แปลว่าที่รวมกัน คือที่ประชุมสำหรับการอันหนึ่งอันใด คือการสั่งสอนวิชา แลการให้ดีกรี เปนต้น ความเข้าใจของมหาชนบางจำพวกเช่นคนหนุ่ม ๆ เปนต้นนั้นก็ไปอย่างหนึ่ง คือถือยุนิเวอซีตีว่าเปนที่สำหรับสนุก ดังจะได้กล่าวถึงภายหลัง.

ส่วนหัวน่าแลผู้ใหญ่ในยุนิเวอซีตี แลคอเลชทั้งปวงนั้น ที่เคมบริชก็อย่างเดียวกับที่อ๊อกซฟอด (ดูวชิรญาณกันยายน ๑๑๔) แต่ชื่อตำแหน่งผิดกันบ้าง หัวน่าของยุนิเวอซีตีก็คือ ชานเซลเลอร์ เปนคนไม่สู้มีธุระมากนัก แลไม่ได้เปนคนอยู่ที่เคมบริชด้วย รองชานเซลเลอร์ลงมามีไวซ์ชานเซลเลอร์ เปนผู้ดูการแทนชานเซลเลอร์พร้อม ปีหนึ่งเลือกกันครั้งหนึ่ง จากพวกหัวน่าคอเลชต้องประจำอยู่ที่ยนเวอซีตีนั้นเอง ผู้เลือกไวซ์ชานเซลเลอร์นั้น คือพวกที่ประชุมที่เรียก “เซ็นเนต” (แปลว่าคนแก่ แต่ที่จริงยังหนุ่มก็มี) คือที่ประชุมสำหรับบัญชาการยุนิเวอซีตีทั่วไป พวก “เซ็นเนต” ทั้งหลายนี้ เลือกจากถานานุกรมของคอเลชอิกชั้นหนึ่ง.

นอกจากเจ้าพนักงานทั้งสองที่กล่าวมาแล้วนี้ ยังมีเจ้าพนักงานอื่น ๆ อิกหลายคน เปนพวก “เซ็นเนต” ทั้งนั้น เช่นเจ้าพนักงานสำหรับจดทะเบียฬ แลปร๊อกเตอร์เปนต้น.

เจ้าพนักงานยุนิเวอซีตีอื่น ๆ นั้น จะมีหรือไม่มีพวกนักเรียนก็ไม่ใคร่ธุระด้วย เพราะไม่เกี่ยวข้องส่วนตัวด้วยเท่าไรนัก เพราะปร๊อกเตอร์นั้นต้องธุระด้วยมาก เพราะปร๊อกเตอร์มีน่าที่อย่างตำรวจสำหรับยุนิเวอซีตี ต้องผลัดเปลี่ยนกันไปเที่ยวเดิรตรวจเสมอ ถ้าพบนักเรียนออกไปนอกบ้านโดยไม่ใส่เสื้อคลุมกับหมวกกระเบื้องน่างัว (แก๊ปแอนด์เกาน์) ซึ่งเปนยุนิฟอร์มของนักเรียนยุนิเวอซีตี หรือพบนักเรียนใส่แก๊ปแอนด์เกาวน์แต่สูบบุหรี่ หรือพบนักเรียนกำลังยืนพูดใฝ่ฝันกับผู้หญิงซึ่งไม่เปนคนดีแล้ว ก็จดชื่อตัวแลชื่อคอเลชไป รุ่งขึ้นเช้าถ้าควรปรับก็ปรับ (มักปรับเองแพง ๆ ด้วย) ถ้าควรสั่งให้ต้องกักอยู่ในบ้านแต่หัวค่ำไปเท่านั้นวันก็สั่ง หรือถ้าทำผิดเปนข้อใหญ่เห็นควรจะไล่ออกจากยุนิเวอซีตีทีเดียวก็มีอำนาจไล่ได้ เพราะฉนั้นต้องเข้าใจว่า ปร๊อกเตอร์เปนเจ้าพนักงานสำคัญทีเดียว

นอกจากน่าที่ตำรวจนี้ ปร๊อกเตอร์ยังมีน่าที่สำคัญอีกหลายอย่าง เช่นเปนคนจัดการสอบไล่เปนต้น แต่น่าที่ของปร๊อกเตอร์ตามที่นักเรียนจำเปนต้องรู้เห็นอยู่ทุกคนนั้น ก็คือ น่าที่ตำรวจดังที่กล่าวมาแล้ว เพราะถ้าใครไม่รู้จักน่าที่ปร๊อกเตอร์แลไม่ระวังให้ดีแล้วจะต้องเสียใจ แลบางทีจะต้องเสีย เงินด้วย.

ปร๊อกเตอร์ในยุนิเวอซีตีเปลี่ยนกันเสมอทุกปี มีปีละ ๒ คน กับโปรปร๊อกเตอร์คือผู้ช่วยปร๊อกเตอร์อิกสองคนรวมเปนสี่ พอผลัดเปลี่ยนกันเที่ยวเดิรตรวจได้ เวลาเที่ยวเดิรนั้น ปร๊อกเตอร์ต้องใส่เกาน์ยาวแต่งตัวอย่าง เอ็ม. เอ. เต็มที่ แลมีลูกสมุนใส่หมวกสูงตามหลังสองคน นักเรียนขนานนามกันว่า “บูลด็อก” ถ้านักเรียนคนไหนวิ่งหนีแล้ว เปนถูกบูลด็อกไล่ตาม ถ้าจับได้ถูกปรับเพิ่มขึ้นอีกถึงสองหรือสามเท่า พวกบูลด็อกนี้ไม่ใช่คนเลว ก่อนที่จะรับตำแหน่งได้เขาว่าต้องไปศึกษากับนายประตูคอเลช ดูคนเข้าออกเสียให้รู้จักโดยมาก ถ้าคนไหนได้ข่าวว่าเปนคนไม่ค่อยจะเรียบร้อยต้องหมายหน้าแลจำชื่อไว้ เรื่องราวของพวกปร๊อกเตอร์ บูลด็อกกับพวกนักเรียนนั้นมีสนุก ๆ มาก แต่ข้าพเจ้าเกรงว่าไม่มีน่ากระดาดที่จะนำมากล่าวในที่นี้

ส่วนคอเลชนั้นมีเจ้าพนักงานคล้าย ๆ กับยุนิเวอซีตี แลคนสำคัญนั้นก็คือหัวน่า (เรียกเปรซิเดนต์บ้าง, มาสเตอร์บ้าง, โปรโวซต์บ้าง) กับ “ดีน” (ครูทางศาสนา) เบอซา (ปฏิคมของคอเลช) ติวเตอร์ (ครูผู้ดูแลนักเรียนส่วนตัว) ไดเรกเตอร์ออฟสตัดตี (ผู้อำนวยการเรียนของนักเรียน) รวมทั้งท่านพวก “เฟลโลว์” หรือ “ดอน” คือพวกถานานุกรมทั้งปวงด้วย ที่ตรินิตีเปนคอเลชใหญ่ต้องมีเจ้าพนักงานเพิ่มเติมมากกว่าคอเลชอื่น คือมีไวซมาสเตอร์ (ผู้รองหัวน่า) ๑, ยูเนียดิน (ครูสอนศาสนารอง) ติวเตอร์ ๔ คน (คอเลชอื่นอย่างมากก็ ๒ คน) รวมทั้งผู้อำนวยการเรียนด้วยเปนหลายคน.

ท่านพวกเจ้าพนักงานแลถานานุกรมเหล่านี้ ได้เงินเดือนจากคอเลชทุกคน แลเปนพวกนักเรียนเก่าที่ไล่ได้ดี ๆ สมควรจะเปนครูต่อไปได้ บางคอเลชถ้านักเรียนของตัวเองดีไม่พอไปยืมคนคอเลชอื่นมาเปน “ดอน” ก็ชุมเต็มที.

นักเรียนตามคอเลชที่ยุนิเวอซีตีแบ่งเปนสามจำพวกเรียกว่า “สะคอลา” พวกหนึ่ง, “เปนชันเนอร์” พวกหนึ่ง, “ไซซา” พวกหนึ่ง.

พวก “สคอลา” นั้น คือพวกนักเรียนที่ไล่สคอลาชิปได้ ปีหนึ่งมีกำหนดเท่านั้นคน พวกเข้าไล่ต้องขันกัน บางคนถึงมีความรู้ดีถ้าถูกคราวที่มีคนอื่นเขาดีกว่าแล้ว ก็เปนอันไม่ได้ พวกสคอลานี้ได้รับเงินอุดหนุนจากคอเลชปีหนึ่ง ตั้งแต่ร้อยปอนด์ลงมา แลมีกรรมสิทธิมากกว่านักเรียนอื่น ๆ คืออาจ เลือกเข้าอยู่คอเลชได้ก่อนเปนต้น พวกสคอลานี้ส่วนการเรียนก็เก่งกว่าพวกอื่น เพราะก่อนจะได้สคอลาชิปก็ต้องไล่เสียสูงแล้ว.

พวก “เปนชันเนอร์” นั้น คือพวกที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากคอเลชเปนแต่ไล่เข้าได้ก็เข้าอยู่ มักเปนพวกที่มีเงินทองพอแล้ว แลความรู้ก็ไม่สู้สูงนัก นักเรียนทั้งหลายเปนพวกเปนชันเนอร์นี้โดยมาก รวมพวก “ปอล์” คือพวกที่ไม่เรียนเอาดีกรีออนเนอร์นั้นด้วย เพราะนักเรียนที่ได้เงินอุดหนุนจากคอเลชนั้นจะต้องเรียนไตรปอซทุกคน.

พวก “ไซซา” นั้น คือพวกนักเรียนคนจนที่ไม่ได้เปนสคอลา แต่ได้รับเงินอุดหนุนจากคอเลชเหมือนกัน แล้วยังมิหนำซ้ำเสียเงินค่ากินอยู่ แลค่าอื่น ๆ น้อยกว่านักเรียนอื่น ๆ เพราะเวลาใช้เงินแก่คอเลชเมื่อปลายเทอมนั้น ได้ลดหลายเปอเซ็นต์ทีเดียว.

นอกจากการแบ่งนักเรียนดังที่กล่าวมานี้ ยังมีแบ่งเปนปีที่ได้อยู่มาอิกอย่างหนึ่ง คือคนปีที่ ๑ เรียกว่า “แฟร็ชแมน” แปลว่าคนใหม่ คนปีที่ ๒ เรียกว่า “ยูเนียซอฟ” แปลว่านักปราชญ์น้อย คนปีที่ ๓ เรียกว่า “ซีเนียซอฟ” แปลว่านักปราชญ์ใหญ่ นักเรียนที่ต่อ “ซีเนียซอฟ” ขึ้นไปนั้น ก็คือพวก บี. เอ. นับเข้าในพวกนักเรียนเหมือนกัน เพราะ บี. เอ. กับพวกนักเรียนที่ยังไม่ได้ บี. เอ. นั้น เรียกว่ายูเนียเม็มเบอร์ (สมาชิกรุ่นเล็ก) ของยุนิเวอซีตี ต่อได้ เอม. เอ. แล้วจึงจะนับเข้าในพวกซีเนียเม็มเบอร์ คือสมาชิกรุ่นใหญ่.

ส่วนนักเรียนปีที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ นั้น ก็ย่อมมีเกียรติผิดกัน คือใครยิ่งอยู่นานก็ยิ่งได้รับเกียรติยศมากขึ้น ไม่แต่จากคอเลชอย่างเดียว ถึงในพวกนักเรียนด้วยกันเอง นักเรียนใหม่ย่อมลงนักเรียนเก่าเปนธรรมดา ที่เคมบริชมีธรรมเนียมต่าง ๆ ซึ่งเปนเครื่องถือกันจัด เช่นนักเรียนใหม่จะไปหานักเรียนเก่าก่อน หรือเชิญเขามาเลี้ยงก่อนที่เขาเชิญตัวไม่ได้ แต่ที่ว่ามานี้ก็เปนแต่กล่าวทั่วไป เพราะนักเรียนใหม่บางคนที่เก่งในการเล่นซึ่งถือว่า เปนของสำคัญในพวกนักเรียนนั้นก็กลับเปนคนโต นักเรียนเก่าต้องเกรงใจมากๆ ถ้าเราเล่นอะไรเก่งถึงได้รับเกียรติยศให้เล่นแทนคอเลชแล้ว ถึงเราจะเปนคนใหม่ก็ไม่เปนไร เราอาจทำภูมได้ พวกเก่า ๆ ต้องเกรงเราโดยมาก ตามที่กล่าวมานี้ก็เปนที่เห็นได้ว่าที่เคมบริช (หรืออ๊อกซฟอด) นั้น การเรียนไม่เปนของสำคัญที่สุดอย่างเดียวต้องมีการเล่นเพิ่มด้วย ดังที่จะได้กล่าวถึงทีหลังเมื่อเล่าถึงการสนุก, การกินอยู่, การคบเพื่อนฝูง แลการเปนไปทั้งปวงของนักเรียน ที่เรียกว่า “ไลฟ” ที่ยุนิเวอซีตีนั้น.

ในยุนิเวอซีตีเคมบรชมีคอเลชหลายแห่งก็จริง แต่ยังมีพวกนักเรียนที่ไม่มีคอเลชอิกพวกหนึ่ง เปนนักเรียนยุนิเวอซีตีเหมือนกัน แต่ไม่ได้อยู่คอเลชใด มักดูถูกกันว่าเปนพวกไม่มีตำแหน่งแห่งโคน หาใคร่จะคบกับพวกคอเลชได้เท่าใดไม่ นักเรียนพวกนี้เรียกว่า “นอนคอลีเยียต” แปลว่าไม่มีคอเลช แต่มักเรียกกันสั้น ๆ ตามภาษานักเรียนว่า “นอนคอล์” โดยมาก พวกนอนคอล์นี้ เวลาเข้าอยู่ในยุนิเวอซีตีไม่ต้องไล่เสียก่อน เพราะการไล่เข้านั้นเปนของคอเลช ความสนุกของผีไม่มีศาลคงจะมีน้อยอย่างไร ความสนุกของพวกนอนคอล์ก็น้อยอย่างนั้น เพราะไม่มีคอเลชจะเข้าอยู่ ไม่มีหอจะไปกินเข้า แลสิ้นความรื่นเริงที่นักเรียนคอเลชได้รับนั้นโดยมาก การที่ข้าพเจ้าเทียบนักเรียนนอนคอล์กับผีไม่มีศาลนั้น ไม่ใช่เปนการติเตียนอันใด เปนเหตุด้วยไม่มีอื่นจะกล่าวเทียบให้ง่ายกว่านั้น.

ส่วนโรงเรียนผู้หญิงสองโรงเรียนที่กล่าวมานั้น ว่าที่แท้ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอันใดกับยุนิเวอซีตีเลย แต่ถ้าไปพูดอย่างนั้นให้พวกนักเรียนผู้หญิงได้ยินแล้ว เขามักไม่ใคร่ชอบบางทีถึงทำกิริยาสะบัดสะบิ้งเอาเสียอิก คอเลชผู้หญิงทั้งสองแห่ง คือเกอตันกับนิวแนมนั้น ไม่ได้รวมอยู่ในจำนวนคอเลชของยุนิเวอซีตี แลพวกนักเรียนก็ต้องไม่ได้เปนเม็มเบอร์ของยูนิเวอซีตีอยู่เอง เมื่อประมาณ ๒ ปีมานี้ พวกผู้หญิงทั้งสองคอเลชยื่นเรื่องราวต่อยุนิเวอซีตีขอให้ๆ ดีกรีแก่ตน แต่หาสำเร็จไม่ ท่านพวกเจ้าพนักงานยุนิเวอซีตีบางคนก็เห็นควรจะอนุญาต แต่ครั้นมาประชุมโหวตกันเข้าพวกนั้นก็แพ้ เพราะพวกไม่เห็นควรให้มีมากกว่าหลายส่วน เมื่อกำลังประชุมท่านพวกเจ้าพนักงานทั้งหลายนั้น พวกนักเรียนผู้ชายวุ่นวายกันใหญ่ ด้วยกลัวจะยอมให้ดีกรีแก่ผู้หญิง เลยเอะอะไม่ใช่น้อยเพื่อการสนุกด้วย ดังที่ข้าพเจ้าหวังใจว่าจะได้เล่าถึงภายหลัง หัวข้อใหญ่ที่ว่าไม่ควรจะให้ดีกรีแก่พวกนักเรียนผู้หญิงนั้น ก็คือนักเรียนผู้หญิงหาได้เปนพวกยุนิเวอซีตีไม่ แลถ้ายอมให้ดีกรีแล้ว ก็จะต้องเปนอันล้างกฎที่ว่านักเรียนจะต้องอยู่ยุนิเวอซีตี ๙ เทอมก่อนจึงจะรับดีกรีได้นั้นไป.

แต่การที่ยุนิเวอซีตีไม่ยอมให้ผู้หญิงรับดีกรีได้นั้น จะได้สิ้นความกรุณาทีเดียวหามิได้ เพราะก็ยอมให้มาฟังเล็กเชอร์แลยอมให้เข้าไล่อย่างเดียวกับนักเรียนผู้ชายอยู่ ผิดกันแต่เมื่อออกจากคอเลชไปแล้ว นักเรียนผู้หญิงไม่มี บี. เอ เติมท้ายชื่อ (อย่างเดียวกับคนที่ไล่ไม่ได้หรือไม่ได้ไล่) แลเมื่อเวลาอยู่คอเลชนั้น ไม่ได้ใส่แก๊ปแลเกาน์อย่างพวกนักเรียนผู้ชาย.

ส่วนกฎแลค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ยุนิเวอซีตีแลคอเลชนั้น ไม่มีอะไรจะกล่าวมากนัก ชั้นต้นนักเรียนต้องฝากเงินประกันตัวไว้กับคอเลช ๑๕ ปอนด์ (คอชันมันเน) มีค่าธรรมเนียมยุนิเวอซีตีดูเหมือน ๕ ปอนด์ แต่จำไม่ใคร่ถนัด เวลาไล่คราวหนึ่งต้องเสียเงินคราวหนึ่ง อยู่ข้างจะแพงจัดอยู่สักหน่อย เวลาเปน บี. เอ. ก็ต้องเสียเงินค่ารับดีกรี แลเมื่อถึงกำหนดจะรับ เอม. เอ. (สามปีตั้งแต่เปน บี. เอ. ไป) ก็ต้องเสี เงินซ้ำอิก ๒๕ ปอนด์.

เวลาแรกเข้าอยู่นั้นนักเรียนต้องลงชื่อในสมุดสำหรับคอเลช เพื่อแสดงตัวว่าเปนเม็มเบอร์แล้ว แต่ส่วนยูนิเวอซีตีนั้นต้องมีพิธีเรียกว่าแมตริคิวเลชัน คือเซ็นชื่อในสมุดยุนิเวอซีตีเปนที่หมายว่าเปนเม็มเบอร์ยุนิเวอซีตีอิกชั้นหนึ่ง.

ก่อนจะหยุดพรรณาเรื่องยุนิเวอซีตีตอนนี้ ข้าพเจ้าขอกล่าวว่า ขนบธรรมเนียมแลกฎของยุนิเวอซีตีทั้งปวงที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น หาสู้จะบริบูรณ์เต็มที่ไม่ เพราะข้าพเจ้าได้พรรณามาตามที่นึกได้ในขณะหนึ่งเท่านั้น คงจะเว้นบกพร่องไม่ได้ ส่วนความสนุกแลความเปนไปของนักเรียนยุนิเวอซีตีนั้นจะได้กล่าวต่อไป.

ความรื่นเริงที่ยุนิเวอซีตีมีมากมายก่ายกอง เหลือจะพรรณาให้ละเอียดทั่วไปทุกอย่างได้ แลที่ข้าพเจ้าจะนำมากล่าวในที่นี้ก็คงมีแต่ที่นึกได้ในระหว่างที่เรียบเรียงอยู่นั้นเอง เพราะฉนั้นก็คงบกพร่องอิกตามเคย แต่เดิมข้าพเจ้าได้จดโน๊ตลงไว้พอเปนทางที่จะช่วยให้เขียนติดต่อกันได้ แต่โน๊ตนี้เมื่อต้องการเข้าก็พเอินมาทำหายตัวเปนวิรุณจำบังไป ข้าพเจ้าได้ค้นมานักแล้วก็หาพบไม่ ด้วยไม่มีนางวานรินจะช่วยให้ว่าโน๊ตไปซ่อนตัวอยู่ในฟองน้ำฟองใด เพราะนางวานรินคนเก่าที่ชี้วิรุณจำบังนั้นก็ขึ้นสวรรค์ไปเสียแล้ว เหตุฉนี้ข้าพเจ้าต้องเขียนตามแต่จะเขียนได้ โดยไม่มีโน๊ตเปนผู้นำทาง จะเปนอย่างไรบ้างก็ไปทราบเอาต่อภายหลัง.

ใครบ้างจะเปนผู้แปลคำว่า “เคมบริชไลฟ” (ไลฟ แปลว่าชีวิต) ให้ถูกต้องแน่นอนรวมอะไรต่ออะไรให้หมดได้? ข้าพเจ้าเองไม่รับว่าจะแปลได้ ถ้าถูกเกณฑ์แล้วจะทำได้อย่างมากก็เพียงพยายามดูที จะสำเร็จหรือไม่ก็บอกไม่ได้ แต่นี่ก็หามีผู้ใดมาเกณฑ์ข้าพเจ้าไม่ เพราะฉนั้นข้าพเจ้าจึงกระทำดุษณีภาพในส่วนแปลนั้นไว้ จะรับแต่เพียงอธิบายว่า “ชีวิตที่เคมบริช” นั้นเข้าใจกันอย่างไร.

เคมบริชเปนที่ ๆ คนเข้าใจต่าง ๆ กัน คือคนจำพวกหนึ่งเข้าใจว่า ยุนิเวอซีตีเปนบ้านของการสอบไล่ไตรปอซแลปอล์; เปนโรงงานสำหรับสร้าง “แร็งเกลอซ์” คือคนที่ไล่ได้ชั้นที่หนึ่งในวิชาเลข; เปนที่อยู่ของการเล็กเชอร์ต่าง ๆ; แลเปนผู้ให้ดีกรีเปนอย่าง ๆ ไป คนจำพวกนี้คิดว่าเคมบริชเปนมิวเซียมสำหรับนักปราชญ์ซึ่งกินเข้าแล้วก็เรียน ๆ แล้วก็กินเข้า มีที่อยู่สัณฐานคล้าย ๆ ถ้ำ อยู่ในหอโบราณ มีรูปนักปราชญ่มีชื่อเสียงที่ล่วงไปแล้วติดอยู่ตามฝา คอยจ้องดูนักปราชญ์ใหม่ที่สืบเชื้อทางวิชาต่อไป หรือถ้าจะเปรียบอิกอย่างหนึ่งก็คือว่า คนจำพวกนี้เข้าใจว่าเคมบริชเปนที่สำนักของคนเรียนจำพวกที่เรียนอย่างเดียวกับพระสงฆ์ชั้นโบราณ ที่ต้องก่อไฟลุกขึ้นฮือหนึ่งแล้วท่องหนังสือได้บันทัดหนึ่ง แล้วก่อขึ้นอีกฮือหนึ่งท่องหนังสือได้อีกบันทัดหนึ่งฉนั้น.

คนอิกจำพวกหนึ่งเข้าใจว่า เคมบริชเปนที่สำหรับหัดแลอวดความเก่งในการการเล่นทุกอย่าง เปนที่ ๆ ต้องตีกรรเชียง, เล่นฟุตบอล์, ยิงปืน, แลกระโดดโลดเต้นทั้งปวงให้เก่งเพื่อจะได้ชนะในการขันแข่งต่าง ๆ; เปนที่สนุกไม่หยุดหย่อน มีคลับ, ลคร, ดินเนอร์, เต้นรำ, เฟลิต แลสรรพเครื่องรื่นเริงทั้งหลาย; เปนบ้านของความหนุ่มอันมิได้ย่างไปสู่ความแก่; เปนที่ ๆ ไม่ควรมีผู้ใหญ่ไว้ขัดขวางความสนุกของเด็ก แลเปนที่ ๆ การเล่นเปนของสำคัญกว่าอะไรหมดในโลก.

ใครจะตัดสินในระหว่างความเข้าใจทั้งสองอย่างนี้ก็ตาม แต่ข้าพเจ้าไม่ยอมตัดสินเปนแน่ เพราะความคิดสองทางต่างอย่างก็ต่างถูก แต่ไม่ถูกทีเดียว เพราะเคมบริชเปนมิวเซียมสำหรับเก็บนักปราชญ์จริง แต่ก็เปนที่สำหรับการละเล่นจริงเหมือนกัน

ถ้าจะพูดอย่างกลาง ๆ แล้ว เคมบริชก็คือโรงเรียนสำหรับการที่จะอยู่ต่อไปข้างหน้า; เปนโรงเรียนสำหรับการวิสาสะในระหว่างเพื่อนฝูง; เปนที่ ๆ คนตระเตรียมตัวคือลับดาบหรืออาบว่านไว้สำหรับต่อสู้กับความลำบากที่จะมีต่อไปข้างน่านั้น ในหอกินเข้าหรือ “ค๊อต” (คำเหล่านี้ได้อธิบายมาในตอนก่อนแล้ว) ก็ดี ในห้องนักเรียนด้วยกันก็ดี ในคลับต่าง ๆ ก็ดี ในสนามคริกเกตหรือในเรือตีกรรเชียงก็ดี พวกนักเรียนที่คบค้าซึ่งกันแลกันอย่างฟรี คือไม่มีถือโทษโกรธขึ้งต่อกัน เปนการสำคัญในชีวิตต่อไปข้างน่า แลเพราะเหตุที่พวกนักเรียนแลหาความวิสาสะต่อกันนี้เอง จึงทำให้เคมบริชเปนที่นิยมโดยมิได้มีเวลาเปลี่ยนแปลงเลย.

นักเรียนเคมบริชมีเกือบทุกชาติทุกภาษา คนอังกฤษมาจากไหนต่อไหนทั่วเมืองอังกฤษ; คนสก๊อชแลไอริชก็มากกว่ามาก; คนออซเตรเลียนก็มี; แขกที่ข้อนข้างหาเพื่อนยากก็มี; ยี่ปุ่นที่มักทำกริยาอ่อน ๆ ชักขนหยองง่าย ๆ ก็มี; เจ๊กที่ตัดหางเปียจนเกือบลืมว่าตัวเปนเจ๊กก็มี; ชาวแอฟริกันหน้ากล้อผมหยิกก็มี; คนที่ชื่อเปนชื่อเยอรมัน ตัวเปนคนฝรั่งเศส แต่ถ้าใครว่าไม่ใช่อังกฤษก็โกรธก็มี; เจ้าก็มี ไพร่ก็มี; มั่งมีก็มี จนก็มี; เก่งในการเรียนก็มี เก่งในการเล่นก็มี; เก่งในการโลกก็มี เก่งในการธรรมก็มี; นักเลงสปีชก็มี นักเลงลครก็มี; คนที่แต่งตัวเปนเจ้าชู้; คนที่ใส่แว่นตาวาวเปนแมวขะโมย; นักปราชญ์ทางฟิลอซอฟี; คนที่รวมกันเปนหมู่แล้วไม่เล่าเรียนอะไรแลเมื่อไล่ก็ตก; คนที่เห็นว่าไล่ไม่ได้ออนเนอร์ก็เสียไป; คนที่เห็นว่าไม่ต้องได้ออนเนอร์ก็ยังดีกว่าไม่ได้ดีกรีเสียเลย เปนพวกที่ไม่หมายสูง; แลยังมีพวกอื่น ๆ ที่จะนำมากล่าวหมดไม่ได้ นี่แหละเปนพวกนักเรียนเคมบริชเปนพวกที่ยังหนุ่มทั้งนั้น เพราะฉนี้จึงแลดูชีวิตต่อไปข้างน่าโดยมิได้พรั่นเลย มีแต่ความสนุกในขณะนี้ไม่ต้องนึกถึงอะไรในขณะน่า บางจำพวกเห็นเล็กเชอร์เปนของเด็กเล่น แต่การตีกรรเชียงเปนของสำคัญที่ต้องทำให้ดีให้ได้ คำที่ครูหรือถานานุกรมอื่น ๆ ว่ากล่าวสั่งสอนนั้นไม่ต้องจำไว้ก็ได้ แต่คำที่ครูตีกรรเชียงว่านั้นต้องจดไว้ในใจ โบถไม่ต้องไปลงก็ไม่เปนไร แต่การเลี้ยงเมื่อแข่งเรือชนะนั้นไม่ไปไม่ได้เปนอันขาด การที่นักเรียนบางจำพวกเปนดังนี้ไปนั้นก็เปนของที่ควรด่าว่าจริง แต่ก็ได้เปนมาอย่างนั้นแต่โบรมโบราณ แลลูกหลานเราไปก็คงจะเปนอย่างนั้นเหมือนกัน นักเรียนเคมบริชชั้นบิดาก็เคยเปนมาอย่างนักเรียนเคมบริชชั้นบุตร แต่บิดาก็คงร้อนใจอยู่เสมอว่าเกรงบุตรจะเปนไปตามที่ตนเองได้เปนมา แลที่ทราบว่ายังจะเปนต่อไปนั้น.

ตรงนี้พาให้ข้าพเจ้าพูดเรื่อยไปถึงบิดานักเรียนที่เคมบริช คือพูดทั่วไปไม่คิดถึงชาติถึงภาษา เพราะนักเรียนที่ไปจากต่างประเทศมีน้อยแลก็ย่อมไม่ใคร่มีบิดาอยู่ที่โน่นอยู่เอง บิดานักเรียนที่เคมบริชนี้ไม่ว่าจะเปนเจ้าหรือไพร่ มีหรือจน พ่อค้าหรือสมาชิกปาเลียเม็นต์ก็ดี ก็มีอาการเหมือนกันหมดทุกคน คือเปนคนที่ทำให้นักเรียนมีความครั่นคร้ามหาที่สุดมิได้ ความสูงหรือความต่ำ ความอ้วนหรือความผอม ความสวยหรือความไม่สวยของบิดานั้นเปนเปลือกหุ้มภายนอก ถ้าเลิกกาบออกเสียแล้วก็เหมือนกันหมด คือเปนคนมีออฟฟิศ เปนเหรัญญิกของบุตรชาย แลเวลาที่จ่ายเงินให้นั้นมักจะใช้ภาษาที่บุตรไม่ใคร่ชอบฟังมากนัก มักจะกล่าวคำแสนงอนไม่ใคร่หยุดหย่อน แลบางทีก็เปลี่ยนเปนความดุบ้าง พวกบิดาจะชอบอะไรเหมือนกันทุกคนหรือไม่ ๆ ทราบ แต่มีของที่ไม่ชอบเหมือนกันหมดคือดอกไม้ปักอก รองเท้าเหลือง เสื้อกางเกงใหม่เปนต้น ของเหล่านี้บิดาจะไม่ชอบเองก็หามิได้ แต่ไม่ชอบให้บุตรชายชอบ ด้วยทราบอยู่ว่าของเหล่านั้นเจาะอุมงค์ให้เงินไหลออกได้มาก ๆ แลบิดาเปนคนที่ทราบว่าเงินนั้นมีอยู่เท่าใด บิดาไม่ใคร่ขึ้นไปเยี่ยมบุตรที่เคมบริชบ่อย ๆ นัก แต่ถ้าขึ้นไปเมื่อใดแล้วบุตรก็ต้องจัดการรับรอง คือต้องเก็บรูปผู้หญิงที่ใส่กรอบตั้งอวดไว้บนหิ้งเหนือเตาไฟนั้นเสีย ขวดเครื่องดื่มก็ต้องเข้าที่ลับ เสื้อผ้าใหม่ก็ต้องลงหีบ หนังสือก็ต้องออกเที่ยวล่อหน้ามาก ๆ บิลเก็บเงินทั้งปวงก็ต้องเข้าเตาไฟหรือเข้ากุญแจอย่าให้เที่ยวโผล่หน้าอยู่ได้ แลเพื่อนฝูงก็ต้องทราบหมดว่า “พ่อแกไม่ชอบคำแสลงโว้ย” ดูก็ประหลาด แต่บิดาเปนคนสุดท้ายที่นักเรียนจะไปขอเงินในเวลาที่มีความลำบากเรื่องหนี้สินต่าง ๆ เมื่อขอหรือยืมใครไม่ได้แน่แล้วจึงจะไปถึงบิดา แลพวกบิดาทั้งหลายนั้นมีพิธีอย่างเดียวกันหมดในการที่จะใช้เงินบิลของบุตรชายนั้น คือดุเอ็ดใหญ่ว่าใช้เงินราวกับทำนาด้วยช้าง แลเห็นว่ากระไรก็ว่าออกมาตรง ๆ จะได้ปิดบังความเห็นนั้นหามิได้ เสียแต่ความเห็นนั้นฟังไม่ใคร่สนุกเท่านั้น.

พี่น้องฝ่ายผู้หญิงของนักเรียนนั้น เปนพวกสำหรับอวดโดยมาก เวลาที่พี่น้องผู้หญิงของนักเรียนขึ้นไปเยี่ยมนักเรียนที่เคมบริชก็มีแต่เวลาเทอมฤดูร้อน คือเทอมสนุกที่สุดที่เคมบริช มีมารดาเปนเถ้าแก่ มีลูกสาวหลานสาวแต่งตัวสวยไปอวดด้วย ปลายเทอมฤดูร้อนเปนเวลาแข่งเรือในระหว่างคอเลชต่าง ๆ พวกพี่น้องนักเรียนขึ้นไปด้วยกันมาก จึงมีการรับรองกันหลายอย่างหลายสี ตั้งแต่เต้นรำคอนเสิตลงมาจนเพียงกินน้ำแลกาเด็นปาตี เปนเวลารื่นเริงกันใหญ่เสียคราวหนึ่ง พวกนักเรียนมักชอบให้พี่สาวหรือน้องสาวขึ้นไปเคมบริชในระหว่างเทศกาล เพราะถ้าพวกนักเรียนด้วยกันมีความชื่นตาในรูปพี่สาวหรือน้องสาวแล้ว ก็ย่อมเปนเกียรติยศแก่น้องชายหรือพี่ชายด้วย ส่วนพวกผู้หญิงนั้นก็คงทำตัวให้สวยที่สุดที่จะทำได้ จะว่าเปนด้วยอยากจะหรูเอง หรืออยากจะไม่ให้น้องชายถูกติเตียนว่ามีพี่สาวไม่สวยก็ได้ทั้งนั้น

“เมวีก” คือในระหว่างแข่งเรือนั้นมีรื่นเริงมาก พวกผู้หญิงก็ชอบที่จะเที่ยวให้เขาต้อนรับ พวกผู้ชายที่ชอบที่จะต้อนรับ เช้าไม่มีอะไรทำก็ไม่ลุกขึ้น ตื่นเอาสายหน่อยพอให้ทันไปเที่ยวกินเลี้ยงกลางวัน บ่ายก็ไปดูแข่งเรือ แข่งเรือแล้วกลับลงเรือเที่ยวพายหรือตีกรรเชียง เพื่อใส่หมวกสวย ๆ แลแต่งตัวสวย ๆ ไปให้คนอื่นดูแลดูคนอื่น ถึงเวลาก็ไปแต่งอิวนิงเดรสไปกินเลี้ยงเวลาเย็นแล้วเลยไปฟังคอนเสิต หรือไปเต้นรำต่อไปจนดึก รุ่งขึ้นก็แผนเดียวกันเรื่อยไปจะไม่เรียกว่าสนุกอย่างไรได้ เวลาวะเคชั่นคือหยุดเรียนไปเที่ยวที่อื่นนั้น ข้าพเจ้าได้พบผู้หญิงหลายคน พอออกชื่อ “เมวีก” ที่เคมบริชเข้าแล้วก็เนื้อเต้นราวกับพูดถึงขนมให้เด็กฟัง.

ในตอนก่อนข้าพเจ้าได้กล่าวมาบ้างแล้วถึง “เบดเมกเคอร์” หรือ “เบ็ดเดอร์” หรือผู้ปูที่นอนนักเรียน แลข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ว่ายังจะมีเรื่องพวกนี้ต่อไปอีก คือจะมีเดี๋ยวนี้.

เบ็ดเดอร์นั้นคือผู้หญิงแก่ ๆ มักจะอ้วนตุ๊ต๊ะแลไม่ใคร่จะสอาดนัก เบ็ดเดอร์คนหนึ่งมีนายหลาย ๆ คน คือปูที่นอนแลทำการที่นักเรียนทำเองไม่เปน มีล้างถ้วยล้างชามเปนต้น ให้นักเรียนที่อยู่ห้องติด ๆ กันไปในระหว่าง ๔ คนกับ ๖ คน ได้รับค่าจ้างจากคอเลชเปนรายเทอม คือนักเรียนเสียให้คอเลชแล้วคอเลชไปแจกอิกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้พวกเบ็ดเดอร์ยังได้รับ “ทิป” หรือรางวัลจากพวกนักเรียนอยู่เสมอ ๆ แลเปนธรรมเนียมที่จะริบขนมปัง เนย แลของเล็กน้อยเช่นนั้นที่นักเรียนกินเหลือไว้ เปนอันไม่ต้องซื้อขนมปังกันตลอดชาติ พวกนักเรียนมักสงสัยเบ็ดเดอร์ว่าแบ่งเอาของ ๆ ตัวเช่น กาแฟ ใบชา ฯลฯ ไปเสียเสมอ ๆ แต่ที่สงสัยกันดังนั้นก็เพราะเปนธรรมเนียมที่สงสัยกันมาแต่โบรมโบราม ข้าพเจ้ายังไม่เคยรู้สึกว่าเบ็ดเดอร์โกงใบชากาแฟของข้าพเจ้าแต่สักขณะเดียว นอกจากฉวยเอาไปให้นักเรียนคนอื่นที่ขาดใบชากาแฟลง แลถ้าของข้าพเจ้าเองหมดแกก็ไปเอาของคนอื่นมาให้เหมือนกัน บางวันข้าพเจ้าเคยตกใจว่าซ่อมช้อนหายไปเกือบหมด แต่ครั้นถามยายเบ็ดเดอร์เข้าก็ได้ความว่านายคนนั้นห้องตรงข้ามเขาเลี้ยงเพื่อน ของ ๆ เขาไม่พอแกเอาไปให้เขายืม แลบางทีถ้าข้าพเจ้ามีธุระเข้าของมีเองไม่พอ แกก็ไปฉวยเอาของคนอื่นมาต้มให้สุกดีเหมือนกัน เพราะฉนั้น นักเรียนจึงไม่รังเกียจที่ยายเบ็ดเดอร์เอาของไปแบ่งให้คนอื่นใช้บางคราวดังนั้น พวกเบ็ดเตอร์เปนผู้ใหญ่มักมีลูกหลานอายุคราวพวกเรา ๆ มาก เพราะฉนั้นถ้าเรามีเสื้อผ้าถุงเท้าหรือเครื่องประดับกายที่เราไม่ต้องการแล้ว แกก็เปนกระโถนท้องพระโรงคอยรับอยู่เสมอ บางวันแกก็เก็บดอกไม้มาปักขวดเปนของตอบแทนให้บ้าง.

เบ็ดเดอร์คนหนึ่ง ๆ คงได้มีนายเปลี่ยนกันมาแล้วตั้งร้อยแลนายคนหนึ่ง ๆ ยายเบ็ดเดอร์ก็คงทำการรับใช้สอยโดยเต็มใจเหมือนกัน ถ้านายเก่าได้ไปเปนคนใหญ่คนโตขึ้นแล้ว แกก็ทึ่งเล่าถึงไม่ใคร่หยุด ทำให้นายใหม่รู้สึกเตี้ยไปมาก ในคอเลชคงไม่มีใครทราบความดีแลความเสียของนักเรียนมากกว่าเบดเดอร์ แต่เบ็ดเดอร์จะเห็นนายเปนคนเก่งก็ต่อเมื่อออกจากคอเลชไปแล้ว มักจะเห็นนายเก่าดีกว่านายใหม่อยู่เสมอ แลมักจะประมาณความดีของนักเรียนโดยจำนวนดินเนอร์ที่เลี้ยงนั้นโดยมาก คือคนที่เลี้ยงอาทิตย์ละ ๓ ครั้งมีความดีมากกว่าคนที่เลี้ยงอาทิตย์ละครั้งเดียวเปนต้น นักเรียนที่เรียนจัด ๆ นั้น ถึงพวกเบ็ดเดอร์จะชอบก็ไม่ชอบเหมือนพวกที่ไม่เรียนเอาแต่สนุก ต่อเมื่อนายที่เรียนจัดไล่ได้ชั้นที่หนึ่งแล้ว จึงจะรำแพนอวดพวกกันที่นายไล่ไม่ได้.

เบ็ตเดอร์โดยมากเปนคนเอาใจใส่ต่อนายดียิ่งนัก ถ้าเจ็บก็ปฏิบัติอย่างเรียบร้อย แต่เวลาพูดด้วยมักจะเล่าให้ฟังว่านายวิลเลียมหรือนายโยเสพบุตรชายของแกนั้น เมื่อจับไข้หรือเมื่อออกหัดก็มีอาการกระสับกระส่ายยิ่งนัก นักเรียนคนเจ็บดูไม่ผิดบุตรชายของแกเลยเปนต้น พวกเบ็ดเดอร์เปนเพื่อนอย่างซื่อสัตย์ของนักเรียน ใครจะติเตียนก็ออกรับ ถ้านักเรียนซนก็บ่นว่าเปนเพราะยังหนุ่ม ถ้านักเรียนขัดขวางต่อสู้ครูหรือพวกถานานุกรมก็ชมว่าเก่ง ถ้าดื่มแชมเปญมากก็ชมว่าไม่ขี้เหนียวเปนต้น เราพวกเคมบริชเข้าใจไม่ได้ว่าที่อ๊อกซฟอดเขาไม่มีเบ็ดเดอร์กันนั้น เขาตั้งอยู่ได้อย่างไร !

นอกจากเบ็ดเดอร์นักเรียนยังมีบ่าวอยู่อิกชนิดหนึ่ง คราวนี้เปนบ่าวผู้ชาย เรียกกันว่า “ยิ๊ป” เปนภาษากรีกแปลว่าแร้ง เห็นจะเปนด้วยเจ้าบ่าวพวกนั้น กินไม่ว่าอะไรที่เหลือไว้นั้นเอง ยิ๊ปนี้ไม่ใช่เครื่องจำเปน นักเรียนบางคนก็มี บางคนก็ไม่มี ใครใช้ยิ๊ปก็เสียเงินมากขึ้น พวกยิ๊ปมักเปนพวกบ่าวของคอเลชที่ใช้เดิรโต๊ะอยู่ในหอ มีเวลาก็มาเที่ยวหากินปลีกได้เงินเทอมหนึ่งมาก ๆ ก็มี พวกยิ๊ปแลบ่าวในคอเลชทั้งหลายนี้ ก็มีหัวเต็มไปด้วยเล่นคล้าย ๆ นักเรียน คือมีคลับการเล่นในส่วนเขา ถึงฤดูก็เล่นขันกับพวกบ่าวที่อ๊อกซฟอดเหมือนกัน.

วันที่ ๑ ตุลาคมรัตนโกสินทรศก ๑๑๗ คือวันแรกที่ข้าพเจ้าเข้าไปในยุนิเวอซีตีนั้น เมื่อข้าพเจ้าไปถึงห้องก็พบจดหมายไปรสนีย์มาคอยอยู่ประมาณ ๕๐ ฉบับ นึกออกทึ่งว่านี่อะไรได้รับจดหมายทีเดียวมากมายถึงเพียงนี้ พอเปิดออกอ่านพบจดหมายชาวร้านแนะนำว่าเสื้อผ้าของกระผมดีกว่าใคร ๆ ทั้งโลก ขอรับ ๒๐ ฉบับ กระบวนชักรูปทั้งโลกไม่มีใครสู้กระผมขอรับ ๓ ฉบับ เชิญใต้เท้ามาพิจารณาเครื่องบริโภคร้านกระผมขอรับ ๗-๘ ฉบับ กระผมเปนร้านหนังสือใหญ่ที่สุดในเคมบริช ขอ ส่งบาญชีหนังสือมากราบเท้าขอรับ ๕-๖ ฉบับ แลยังมีอะไรต่ออะไรอิกมาก รวมทั้งจดหมายเลขานุการคลับต่าง ๆ อิก ๒-๓ ฉบับ บอกว่าถ้าจะเข้าจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้เปนต้น.

ในระหว่างวันนั้น ไม่ได้ทำอะไรนอกจากเที่ยวซื้อใบชา กาแฟ พริก กะปิ หอม กระเทียม แลปลาทู ปูเค็ม คือเครื่องจำเปนทั้งปวงสำหรับกัปปิยะกุฏิ์อย่างฝรั่ง ประเดี๋ยวลืมนั่นประเดี๋ยวลืมนี่ต้องวิ่งเข้าวิ่งออกไม่ใคร่หยุด ยังต้องจัดแต่งห้องอิกเล่า เปนวันที่มีธุระไม่ใช่น้อย เวลาค่ำมีนักเรียนไทยที่ไปอยู่เก่า กลับขึ้นไปถึงเคมบริชสิ้นเวลากินเข้าในหอเสียเล้ว เลยไปห้องข้าพเจ้าถามว่ามีอะไรกินบ้าง ข้าพเจ้าก็เปิดกัปปิยะกุฏิ์มาเลี้ยงกันเปนครั้งแรก แต่หามีเวลาหุงเข้าต้มแกงกันไม่.

พูดถึงเรื่องหุงเข้าต้มแกง ข้าพเจ้ายังนึกออกสนุกอยู่จนเดี๋ยวนี้ เทอมที่สุดที่ข้าพเจ้าอยู่นั้นมีไทยอยู่ด้วยกันถึง ๕ คนคนหนึ่งเปนคนช่างต้มขาหมูกับถั่วชอบต้มบ่อยๆ ข้าพเจ้าก็แลไม่เห็นว่าอะหร่อยตรงไหน จะเอาเนื้อหมูที่อื่น ๆ ก็ไม่ได้ ไพล่ไปเอาขาฟังเสียงคล้ายเจ๊กมากกว่าไทย แต่เขาเปนคนทำ เขาชอบขาหมูเราก็ต้องยอม เปนอันว่าอะไรว่าตามกันไป กับเข้าอิกอย่างหนึ่งชอบทำกินกันบ่อย ๆ คือเอาปลาซาดินมาทอด แทนปลาทูใช้ใบผักกาดหอมกับผักอิกอย่างหนึ่งเรียก เซลลารี เปนผัก แล้วตำน้ำพริกขึ้น เก่งพอใช้ทีเทียว คำที่ว่าตำน้ำพริกนั้นก็ไม่ใคร่จะถูกแท้ เพราะวิธีทำหาถูกกับที่ทำกันที่นี้ไม่ เราก็อยากจะทำให้เหมือนที่นี่แต่ไม่สำเร็จด้วยเครื่องมือไม่มีพร้อม วิธีทำน้ำพริกนั้นคือเอาหัวหอมมาหั่นเข้า (เวลาหั่นต้องหลับตาหรือใส่แว่นตา) แล้วเอาใส่ลงในถ้วยน้ำชา เอาพริกใส่ลงไปสองสามเมล็ด (ใส่หลายเมล็ดนักก็เผ็ดเกิดความ) เอาน้ำปลาหรือเยื่อปลา (ไม่ใช่เยื่อเคย) ชนิดหนึ่ง เรียกว่าแอนโชวีใส่ แล้วบีบมะนาวเอาช้อนกวนๆ ก็เปนอันสำเร็จ นั่นแหละเราเรียกกันว่าน้ำพริก ใครจะเรียกว่าอะไรก็ตาม แต่เราก็กินของเราอะเหร็ดอะหร่อยดี การกินน้ำพริกเสียอยู่อย่างเดียวแต่ล้างปากอย่างไรก็ไม่เชื่อว่าหมด นึกไม่สบายใจอยู่เกือบคืนยังรุ่ง ที่จริงเมื่อเราล้างอย่างประณีตเต็มที่อยู่แล้วมันก็คงหมด แต่เรารู้สึกว่าไม่หมดร่ำไป วันหนึ่งช่างต้มขาหมูกับถั่วเขาทำกับเข้าเลี้ยง มีขาหมูแลน้ำพริกปลาซาดินทอดเต็มที่ คืนวันนั้นพเอินมีเต้นรำด้วย เวลาเลี้ยงกันแล้วไปแปรงฟันอยู่สักเกือบครึ่งชั่วโมง ถึงอย่างไรก็คงสอาด แต่มันให้นึกไม่แน่ใจไปร่ำไป จนถูกคนที่เต้นรำด้วยกันคนหนึ่งถามว่า “คืนวันนี้ทำไมท่านนิ่งไม่ใคร่พูดอะไร ?” เราสิ้นแต้มไม่รู้ว่าจะตอบว่ากระไรก็เลยรวม ๆ !

ของที่ทำกินง่ายที่สุดก็คือเข้าต้ม บางเวลามีกุ้งไม้ผัดอยู่ข้างจะเก่งจัดทีเดียว แต่เวลาที่ผัดกุ้งไม้นั้นต้องเลือกเวลาที่พวกนักเรียนเขาไปลงโบถกันหมด หรือเวลาฝนตกจึงจะผัดได้ ถ้าไม่อย่างนั้นคงเหม็นไปสามคุ้งน้ำ เพราะเตาที่ผัดนั้น ก็คือเตาสำหรับผิงในห้องรับแขกหรือห้องนั่งเล่นนั้นเอง เมื่อข้าพเจ้าขึ้นไปเคมบริชใหม่ ๆ นั้นมีกุ้งไม้ขึ้นไปด้วยประมาณหีบขนมปังขนาดกลาง เมื่อปิ้งเลี้ยงกับกาแฟกันนั้นทำให้ไทยอิกคนหนึ่งติดใจว่าอะหร่อยไม่มีสิ้นสุด ถึงกับเขียนหนังสือมาถึงมารดาข้างบ้านว่าได้กินกุ้งไม้ของข้าพเจ้าอะหร่อยยิ่งนัก ขอให้มารดารีบส่งออกไปให้สักปีบน้ำมันหนึ่ง กุ้งไม้เต็มปีบน้ำมันนั้นก็ไม่ใช่น้อย แต่ความตะกละของมนุษย์นั้นหาที่สุดมิได้ แลท่านมารดาข้างบ้านก็เก่งถึงที่ส่งกุ้งไม้ไปให้บุตรชายปีบน้ำมันหนึ่ง แล้วมิหนำซ้ำมีหมูหยองอิกปีบน้ำมันหนึ่งด้วย หมูหยองที่ส่งไปนั้นข้าพเจ้าขอใส่ซองทิ้งไปรสนีย์ส่งไปให้นักเรียนไทยอยู่ที่อื่นอิกแห่งหนึ่ง รุ่งขึ้นสองสามวันได้รับจดหมายตอบขอบใจมาว่า “ปลาแห้งผัดที่ใส่ซองส่งมานั้น อะหร่อยดีมาก !”

นึก ๆ ก็ดูขัน แต่เจ้าพวกกุ้งไม้ หมูหยองเหล่านี้ ถ้าให้ฝรั่งกินก็กินเข้าไปคำหนึ่ง ทำหน้าเหยแต่บอกว่าอะหร่อยดี แต่ครั้นให้กินอิกก็หายอมไม่ แต่ส่วนเจ้าพวกเจ๊ก ยี่ปุ่น แลแขกนั้นถ้าให้กินก็ขม้ำราวกับอะไรดี.

ขนบธรรมเนียมที่เคมบริชนั้นมีหลายอย่างหลายสี ไม่มีใครตั้งเปนกฎหมายก็จริงแต่นับถือกันอย่างกฎหมาย เพราะว่าถ้าใครไม่เดิรตามธรรมเนียมเหล่านี้แล้ว ก็ถือกันว่าเปนพวกอะลัชชีเข้ากับใคร ไม่ใคร่ได้ นักเรียนปีแรกที่เรียกกันว่า “เฟรชแมน” หรือ “เฟรชเชอร์” นั้น จะไปหานักเรียนแก่อาวุโสไม่ได้ ต้องคอยให้เขามาเยี่ยมเสียก่อน จึงไปเยี่ยมตอบภายหลัง พวกแก่อาวุโสนั้นถ้าไปหานักเรียนใหม่ไม่พบ จะเอาก๊าดชื่อทิ้งไว้ให้ก็ได้ แต่ถ้านักเรียนใหม่ไปหานักเรียนเก่าไม่พบก็จะต้องไปอิกให้พบ เพราะจะทิ้งก๊าดไว้ไม่ได้ ในเทอมที่หนึ่ง นักเรียนใหม่จะเชิญใครมาเลี้ยงในห้องตัวไม่ได้ เว้นแต่พวกใหม่ ๆ ด้วยกัน นักเรียนใหม่มักจะเปนเครื่องหัวเราะของนักเรียนเก่าในการทำผิดขนบธรรมเนียมต่าง ๆ เช่นไม่ตัดภู่หมวกให้สั้น หรือใส่ถุงมือเวลาใส่แค๊ปแลเกาน์ (ยูนิฟอร์มของยูนิเวอซีตี) หรือกั้นร่มเวลาใส่แก๊ปแลเกาน์ เปนต้น นักเรียนปีหนึ่งจะต้องเปนคนหดศีศะไว้เสมอ ต่อเปนคนเก่งในการเล่นดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนก่อน จึงจะทำโตได้.

เรื่องนิทานที่เคมบริชมีมากกว่ามาก เรียกกันว่า “เคมบริชเช็ชต์นัตซ์” แปลว่าลูกเก๋าลัดเคมบริชหรือมะม่วงหิมพานต์เคมบริชอะไรอย่างหนึ่งก็ได้ เวลาคนปีใหม่ขึ้นไปถึงมักมีคนเล่าให้ฟังว่า เมื่อเทอมก่อนมีนักเรียนเมาเหล้าตกลงไปในท้องร่องถนนเซ็นต์แอนดรูส์น้ำลึกสัก ๔ นิ้ว ลงไปนอนเรื่อยอยู่ พอปร๊อกเตอร์คือเจ้าพนักงานตรวจนักเรียนมาพบเข้า ก็ถามชื่อตัวแลชื่อคอเลชจดลงสมุดไว้สำหรับปรับในวันรุ่งขึ้นแล้ว ก็บอกนักเรียนคนนั้นให้ลุกขึ้นกลับบ้าน แต่นักเรียนคนนั้นตอบว่า “ไปช่วยคนอื่นเถิดขอรับ ผมว่ายน้ำเปน” เรื่องนี้เมื่อข้าพเจ้าขึ้นไปถึงมีคนเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่าเกิดเมื่อเทอมก่อนที่ข้าพเจ้าขึ้นไป แลอีกปีหนึ่งเมื่อข้าพเจ้าเล่าให้คนใหม่ฟังก็เล่าว่าเกิดเมื่อเทอมก่อนที่ผู้นั้นขึ้นไปเหมือนกัน เพราะเปนธรรมเนียมเขาเล่ากันอย่างนั้น ที่จริงจะเกิดแต่แผ่นดินพระนารายน์ก็เปนได้ ยังมีอิกเรื่องหนึ่งคือเวลากลางคืน ปร๊อกเตอร์เดิรไปเจอะคน ๆ หนึ่งไม่ได้ใส่แค๊ปแลเกาน์ พอเห็นปร๊อกเตอร์ก็ออกวิ่งหนี เจ้าบูลด็อกสองตัวคือลูกสมุนปร๊อกเตอร์ก็ออกไล่กวด ปร๊อกเตอร์ก็ตามไปด้วย ไล่กันอยู่ครู่ใหญ่ ๆ ก็จับตัวได้ แต่ครั้นปร๊อกเตอร์ถามชื่อตัวแลคอเลชก็ได้รับตอบว่า “ผมไม่ได้เปนนักเรียนดอกขอรับ” ครั้นปร๊อกเตอร์ถามว่าวิ่งหนีทำไม เจ้าคนนั้นก็ตอบว่า “ผมวิ่งเล่นต่างหากอยากมาไล่เองนี่” เรื่องนี้ก็เกิดเมื่อเทอมก่อนเหมือนกัน.

ธรรมเนียมเคมบริชยังมีดีอยู่อิกอย่างหนึ่ง คือคีมสำหรับหยิบก้อนน้ำตาลกับนวมสำหรับคลุม กาน้ำชานั้นใครใช้ไม่ได้เปนอันขาด นักเรียนขึ้นไปใหม่ ๆ บางคนไม่รู้ทีมีคีมคีบน้ำตาลไว้ เวลาชวนเพื่อนมากินน้ำก็มีเพื่อนคนหนึ่งหยิบคีมขึ้นดูชมว่าสวยแท้ ๆ เพื่อนอีกคนหนึ่งขอดูบ้าง เพื่อนคนที่ถือไว้นั้นไม่ให้ ตกลงแย่งกันจนคีมหักต่างคนก็ต่างแสดงความเสียใจยิ่งนัก เจ้าของบอกว่าไม่เปนไรดอกหาใหม่ถมไป รุ่งขึ้นซื้อมาอีกก็มีคนแย่งกันชมอีก หักอิก ซื้ออีก หักอิก จึงจะเกิดสงสัยขึ้นว่านี่อย่างไรกันหนอ ต่อสังเกตดูคนอื่นเขาไม่ใช้จึงจะรำพึงว่า เออ ! นี่เขาไม่ใช้กันกระมัง ส่วนนวมคลุมกาน้ำชานั้นแย่งกันไม่ใคร่ขาด เพราะฉนั้นเวลาเจ้าของเผลอก็ปาฏิหารเข้าเตาไฟกันดื้อ ๆ อย่างนั้นเอง.

การเลี้ยงที่เคมบริชมีได้ทุกเวลาตั้งแต่ตื่นจนนอน เข้าเช้าเปนของที่ชอบเลี้ยงกันโดยมาก เพราะง่าย คนบางจำพวกมักไม่ใคร่กินอะไรกลางวัน แลจะเลี้ยงดินเดอร์ที่ค่อนข้างจะแพงจัดอยู่สักหน่อย น้ำชากับกาแฟเปนของต้องมีไว้ให้ถูกเวลา ถ้าใครโผล่เข้ามาในห้องเราเวลาบ่ายก็ต้องเลี้ยงน้ำชา (เวลาบ่ายในที่นี้แปลว่าเมื่อเลิกเล่นมาแล้ว) ถ้าใครโผล่เข้ามาเวลากลางคืนก็ต้องเลี้ยงกาแฟ ด้วยเปนธรรมเนียมดังนั้น บางทีเราไปกินน้ำชาที่ห้องเพื่อน ครั้นสิ้นเวลากลับมาห้องสิที่ไหนล่ะ เครื่องน้ำชาของเราขึ้นไปเกลื่อนอยู่บนโต๊ะแล้ว แปลว่าคนอื่นเขาจะมากินน้ำชากับเรา แต่ครั้นไม่พบเราก็ค้นกัปปิยะกุฏิ์มาหากินกันเอาเอง กินแล้วก็ไม่เก็บทิ้งไว้เกลื่อนห้อง บางทีถึงกับยกขวดดอกไม้แลรูปบนหิ้งลงเสีย เอาเครื่องขนมแลส้มสุกลูกไม้ขึ้นประดับไว้แทน เปนการทำโทษว่าเราไม่อยู่ห้องเวลาที่เขามา แลเมื่อเปนดังนั้นเราจะทำอย่างไรก็ไม่ได้ นอกจากไปแก้ตัวกับคนอื่นต่อไป.

ความซนของนักเรียนไม่มีที่สุด ถ้ามีโอกาศช่วยกันซนเมื่อไรแล้วก็ไม่มีใครจะปราบให้หยุดได้ คือเมื่อคราวหลอดคิชเช็นเนอร์ขึ้นไปเคมบริชเปนตัวอย่าง หลอดคิชเช็นเนอร์นั้นคือแม่ทัพผู้หนึ่งที่รบอยู่ในตรานชวาลเดี๋ยวนี้ เมื่อไปรบแขกซูดานในอียิปต์ชนะมาใหม่ ๆ ได้รับเชิญขึ้นไปรับดีกรีพิเศษที่เคมบริช เปนช่องที่นักเรียนสนุกกันใหญ่ ตามทางที่รถหลอดคิชเช็นเนอร์ขับไปเซ็นเนตเฮ้าซ์ คือที่รับดีกรีนั้นคนหลามไปทั้งสองข้างเปนการเฮฮาถึงที่ เวลาที่รับดีกรีกันอยู่นั้นพวกนักเรียนดูอยู่ตามเฉลียงข้างบน ร้องพูดกับหลอดคิชเช็นเนอร์ไม่ได้หยุด จนอ่านประกาศเกือบไม่ได้ยิน ประเดี๋ยวมีรูปหุ่นแขกอาหรับตัวใหญ่ ห้อยลงมาจากหลังคา จนที่สุดหลอดคิชเซ็นเนอร์ แลพวกสมณะพราหมณาจารย์ทั้งหลายที่กระทำพิธีให้ดีกรีอยู่นั้นก็อดหัวเราะไม่ได้ นั่นแหละเปนความคนองของคนหนุ่ม ที่สุดจนเขาทำพิธีกันออกขรึมอย่างนั้นก็อดเล่นไม่ได้.

เมื่อรับดีกรีเสร็จแล้ว หลอดคิชเช็นเนอร์ไปรับตั้งเปนสมาชิกที่ยูเนียนคือที่ประชุมสำหรับดีเบต มีสนุกอย่างเดียวกัน แต่เวลาที่หลอดคิชเช็นเนอร์ขึ้นรถจะขับกลับไปที่พักนั้น พวกนักเรียนไม่ยอมให้ไป แก้ม้าปล่อยเสียลากรถไปเอง เฮกันใหญ่ แต่เมื่อถึงที่พักหลอดคิชเช็นเนอร์ลงแล้วก็หักรถคันนั้นเล่นเสียด้วย.

กลางคืนวันนั้นเปนวันสนุกใหญ่ คือมีสุมไฟสมโภชหลอดคิชเช่นเนอร์กลางตลาด เปลวไฟลุกท่วมหลังคาน่ากลัวไหม้ ไม่ว่าอะไรที่จะเปนฝอยใส่ไฟได้ก็ช่วยกันไปพามาทั้งนั้น รั้วก็มี เสาก็มี เพิงร้านก็มี ต้นไม้ที่พอถอนได้ก็มี ไม่ว่าประตูน่าต่างของใครที่จะพามาได้ก็พามาทั้งนั้น ตำรวจมาจะจับก็ช่วยกันวิ่งโดนตำรวจให้ล้มแล้วพากันเลยไปเสีย ปร๊อกเตอร์ทำอวดดีออกมาปร๊อกเตอร์ก็หกล้ม แลยังจะซ้ำถูกพวกเทานี คือชาวเมืองที่มาดูนักเรียนเผาไฟเล่นนั้นบ้อมเอาด้วย พลุอย่างเล็ก ๆ ที่เรียกเทียนโรมันนั้นมีอยู่ตามร้านเท่าไรก็ขายหมด เพราะพวกนักเรียนซื้อมายิงกัน น่าต่างไหนถ้าเผลอเปิดไว้ก็เอาพลุยิงระดมเข้าไป แต่เคราะห์ดีไม่เกิดไฟไหม้ขึ้น นักเรียนบางคนที่ห้องอยู่สูง ๆ พลุยิ่งขึ้นไปไม่ใคร่ถึงก็เปิดน่าต่างจุดไฟสว่างล่อให้คนข้างล่างยิงแล้วยิงตอบลงมา เล่นเอาเสื้อคนข้างล่างไหม้ไปสองสามคน รุ่งขึ้นเช้าตามน่าต่างดำเปนรอยดินปืนไปทั้งนั้น.

ครั้นสิ้นเวลานักเรียนเลิกเผาไฟกันแล้ว พวกทหารดับไฟก็พาเครื่องสูบแลเครื่องมืออื่นมาดับไฟกองกลาง แต่กว่าจะดับได้ก็ดึก เพราะถ้าจะพยายามดับแต่เวลาที่นักเรียนยังเฮกันอยู่แล้ว พวกทหารดับเพลิงก็จะหกล้มหมดอย่างหนึ่ง สายสูบก็จะขาดป่นปี้หมดอย่างหนึ่ง.

การจลาจลที่นักเรียนทำคืนวันนั้น ท่านพวกครูแลถานานุกรมทั้งปวงโกรธยิ่งนัก เพราะพวกชาวร้านแลชาวบ้านทั้งหลายที่ถูกเอาเพิงร้านแลฝาไปเข้าไฟเสียนั้นก็ร้องขอเงินคืนค่าที่เสียไป ที่คอเลชข้าพเจ้าแต่เดิมมีรั้วไม้ปักห่าง ๆ กันเขตร์นอกรั้วเล็กออกไปอีกทีหนึ่ง รั้วไม้นั้นรุ่งขึ้นก็หายไปหมด กระดานป้ายบอกชื่อถนนก็หายไปมากกว่ามาก แลต้นไม้ในสวนของคอเลชบางสวนก็ค่อนข้างจะเบาบางลงไป.

ท่านไวซ์ชานเซ็ลเลอร์ คือพระครูปลัดของยุนิเวอซีตี เปนคนโกรธมากกว่าคนอื่น ถึงกับกล่าวคำเด็ดขาดว่ายุนิเวอซีตีจะไม่ยอมให้เหตุชนิดนี้เกิดอิกเปนอันขาด แต่ท่านไวซ์ชานเซลเลอร์หาได้อธิบายไม่ว่าจะป้องกันอย่างไร เพราะฉนั้นก็ยังมีคนสงสัยอยู่ว่าจะห้ามได้แน่แล้วหรือ ฝ่ายท่านครูบาอาจารย์ตามคอเลชนั้น ก็คอยระวังห้ามปรามนักเรียนของตัว ไม่ให้เปนขบถต่อท่านไวซ์ชานเซ็ลเลอร์ขึ้นได้ เมื่อมีการสมโภชตาครูแก่คนหนึ่งภายหลังหลอดคิชเช็นเนอร์มานั้น จะมีจุดไฟอิกเสียให้ได้ พวกครูห้ามกันใหญ่แต่เสียงก็ไม่ใคร่หยุด ต่อมีพวกนักเรียนด้วยกัน คือพวกหัวน่าคลับต่าง ๆ ห้ามจึงหยุด ในเรื่องการจลาจลเหล่านี้พวกหัวน่าของคลับต่าง ๆ ซึ่งเปนพวกนักเรียนด้วยกันนั้นมีเสียงดีกว่าครูหลายเท่า.

เมื่อข้าพเจ้าเล่าถึงการจลาจลคราวหลอดคิชเช็นเนอร์ขึ้นไปเคมบริชมาแล้วดังนี้ ก็พาให้พูดต่อไปถึงการจลาจลอิกครั้งหนึ่ง เมื่อคราวผู้หญิงขอดีกรี เปนการใหญ่โครมครามยิ่งไปกว่าคราวหลอดคิชเช็ลเนอร์นี้ คอเลชผู้หญิงที่เคมบริชมีอยู่สองคอเลชดังที่กล่าวมาแล้วในตอนก่อน แลที่อ๊อกซฟอดก็ดูเหมือนมีสองคอเลชเหมือนกัน แต่เดิมพวกผู้หญิงไปขอต่อยุนิเวอซีตีอ๊อกซฟอดว่าให้ ๆ ดีกรีแก่ตน แต่อ๊อกซฟอดไม่ยอม จึงมาขอที่เคมบริชทีหลัง พวก “เซ็นเนต” คือ พวกถานานุกรมของยุนิเวอซีตีนั้นบางคนก็เห็นควรให้ แต่บางคนเห็นไม่ควรให้ วันที่ประชุมโหวตกันนั้นเปนวันที่พวกนักเรียนผู้ชายบ้ากันใหญ่ ผูกหุ่นรูปผู้หญิงแขวนตามถนนหนทางหลายแห่ง ใส่แค๊ปแลเกาน์ขี่จักรยานก็มี ทำอย่างอื่นก็มีสุดแต่จะให้หัวเราะได้ ตามถนนที่ไม่สู้กว้างนักก็เอาผ้าขึงข้างโน้นข้างนี้แล้วเขียนหนังสือว่า “นางผู้หญิง ! เจ้าจงไปอยู่เกอตันเถิด เจ้าจงไปอยู่นิวแนมเถิด ที่นี่ไม่ใช่ที่สำหรับตัวเมีย” แลอะไรต่ออะไรต่าง ๆ เกอตันแลนิวแนมนั้นคือโรงเรียนผู้หญิงทั้งสองโรง เวลาที่ท่านพวกถานาเข้าไปโหวตกันอยู่นั้น ข้างนอกพวกนักเรียนอยู่หลามกันไปทั้งนั้นมีประทัดเปนอาวุธโดยมาก แลบางคนถึงกับพาหมอนแลผ้าปูที่นอนไปคอยอยู่ตามน่าต่าง ในว่า ๆ ถ้าโหวตให้ผู้หญิงรับดีกรีได้แล้ว ก็จะทุ่มหมอนแลผ้าปูที่นอนเข้าไปในตึกที่ประชุมโหวตกัน ฝังท่านพวกถานาไว้เสียในนั้นให้สั้น เวลาโหวตกันแล้วตกลงว่าไม่ยอมให้ผู้หญิงรับดีกรีได้ การฝังท่านพวกถานาด้วยหมอนแลผ้าปูที่นอนจึงเปนการเลิก แต่เวลาที่ออกมาจากตึกที่ประชุมนั้นมีผู้จุดประทัดโยนเข้าไปแตกโปงปางรอบข้าง ทำให้ท่านพวกโหวตไม่สบายใจอยู่นาน และเมื่อเลิกโหวตกันแล้ว พวกนักเรียนที่แห่หุ่นรูปนักเรียนผู้หญิงไปเดิรผ่านโรงเรียนผู้ หญิงมากกว่ามากด้วยกัน พวกนักเรียนผู้หญิงต้องปิดประตูลั่นกุญแจกันหมด เพราะถ้าทำเลินเล่อไว้แล้วพวกผู้ชายแห่กันเข้าไปข้างในจะไปทำอะไรกับใครได้ รูปที่แห่ไปนั้นพอถึงน่าโรงเรียนผู้หญิง ก็ตัดศีศะทิ้งไว้แล้วพากันเลยไป.

คลับที่เคมบริชมีทุกอย่างทุกสีดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ขึ้นต้นก็คือ “ยูเนียน” เปนคลับสำหรับการดีเบต คือมีคนสองจำพวกพูดแสดงความเห็นตรงกันข้ามในข้อความอันใดอันหนึ่ง เช่นพวกหนึ่งพูดชักชวนที่ประชุมให้ “มีความเชื่อในรัฐบาล (อังกฤษ) ทุกอย่างในเรื่องเมืองตรานซวาน” อิกจำพวกหนึ่งชักชวนที่ประชุมว่าไม่ควรมีความเชื่อในรัฐบาล ตามที่ข้างโน้นชักชวนนั้น ใจความที่ดีเบตกันนั้นไม่เกี่ยวด้วยราชการเสมอไป บางทีคำชักชวนหรือที่เรียก “โมชัน” นั้นก็เกี่ยวเรื่องเล่นแลบางทีถึงเรื่องผู้หญิงบ้าง เช่นเมื่อคราวดีกรีผู้หญิงมีคนชักชวนที่ประชุมให้เห็นว่า “ไม่ควรให้ดีกรีแก่ผู้หญิง” แลเมื่อเทอมฤดูร้อนคราวเทศกาลมีผู้หญิงมาฟังมาก มีผู้ชักชวนที่ประชุมให้ “เชื่อคอมมอนเซ็นซ์ของผู้หญิงให้มากกว่าที่เชื่ออยู่แล้ว” เปนต้น คลับดีเบตตามคอเลชมักสนุกกว่าที่ “ยูเนียน” เพราะมีเล่นมากกว่า ที่คอเลชข้าพเจ้าเปนคอเลช “ใหญ่ มีคลับดีเบตใหญ่ทีเดียว เมื่อเทอมที่ข้าพเจ้าจะลงมาจากเคมบริชมีผู้วาง “โมชัน” ต่อที่ประชุมที่ยูเนียนว่า ตรินิตีเปนคอเลชใหญ่เกินมนุษย์นัก ควรจะตัดออกให้เปนท่อนเล็กท่อนน้อยเสีย” ไปอิกสองสามวันที่ติรนิตีมีดีเบตตามโมชันว่า “ยูเนียนไม่มีประโยชน์ควรจะรื้อเสีย” เปนการโต้ตอบกันสนุกมาก.

คลับดีเบตเปนของมีประโยชน์ใหญ่ยิ่ง เพราะเปนโรงเรียนสำหรับโวหาร เปนประโยชน์ต่อไปข้างน่า นักเรียนที่ยังใหม่ ๆ หรือที่เรียกกันว่ายัง “เขียว” อยู่นั้น ก็พูดดีเบตตามคลับในคอเลชของตัว ที่เก่งขึ้นไปหน่อยก็พูดที่ยูเนียน เมื่อออกจากยุนิเวอซีตีไปถ้าได้เข้าปาเลียเมนต์ซึ่งคล้าย ๆ รัฐมนตรีก็นับได้ว่าได้เคยหัดพูดราชการมาบ้างแล้ว.

นอกจากนี้ยังมีคลับสำหรับการวิสาสะที่เรียก “โซเซียลคลับ” เช่น “แอธีเนียม” “พิตต์” เปนต้น แลยังมี “เอ. ดี. ซี.” คือคลับเล่นลครด้วย ส่วนการเล่าเรียนก็มีคลับไม่รู้จักเท่าไรต่อเท่าไร คลับเอซเซคือคลับสำหรับแต่งหนังสือไปอ่านอวดกันก็มี คลับสำหรับอ่านหนังสือคือเวลาประชุม ก็มีสมาชิกคนหนึ่งยืนขึ้นอ่านหนังสือให้ที่ประชุมฟัง แลให้ที่ประชุมติก็มี คลับว่ายน้ำก็มี คลับจักรยานก็มี คลับดินเนอร์ คือพวกสมาชิกเปลี่ยนเวรกันเลี้ยงอาทิตย์ละเท่านั้นเท่านี้ครั้งก็มี คลับที่เวลาจะเข้าต้องสอบไล่คือกินขนมชนิดหนึ่งให้หมดสามอันในนาทีเดียวก็มี คลับชื่อ “พวกมุสา” แต่เปนคลับอ่านหนังสือก็มี คลับชื่อ “นกกระตั้ว” ก็มี คลับชื่อ “หิงห้อย” แต่เปนคลับลอนเต็นนิซก็มี คลับเล็กก็มี คลับใหญ่ก็มี คลับ “ทิศตวันออกโน้น” ก็มี นับเสียวันยังค่ำก็แทบจะไม่ถ้วน.

คลับ “ทิศตวันออกโน้น” หรือจะแปลให้ตรงกว่า “ทิศตวันออกไกล” นั้นคือคลับไทย ยี่ปุ่น จีนรวมกัน มีไทยเปนนายก ยี่ปุ่นเปนเลขานุการ ประชุมกันตามห้องสมาชิกเปนเวร ๆ ถ้าใครถูกเปนเจ้าของห้องก็ต้องเลี้ยงด้วย คราวประชุมคราวแรกมีปฤกษากันด้วยเรื่องห้อง “ตลิปปลแอลไลอานซ์” คือเรื่องประเทศสหายสามประเทศ ตกลงพวกคลับนั้นมีความเห็นว่า ไทย ญี่ปุ่น กับจีน ควรจะรวมช่วยกันจัดในฝ่ายตวันออก แต่ที่ประชุมกันนั้นก่อนเวลาวุ่นวายในเมืองจีน แลเมื่อประชุมตกลงกันแล้ว ก็เก็บความเห็นลงสมุดรายงานของคลับไว้เปนอันเลิกกัน.

การประชุมปฤกษากันเล่นเช่นนั้นเปนของง่าย ด้วยไม่มีใครต้องรับผิดชอบอันใด จะออกความเห็นว่ากระไรก็ได้ ถึงผิดก็ไม่เปนไร ดีเบตแพ้เขาก็คอยไปสู้เอาข้างน่าต่อไป.

กระบวนการเล่นที่ยุนิเวอซีตีการตีกรรเชียงเห็นจะสำคัญกว่าอื่นหมด ถ้าใครได้เปน “พวกสีฟ้า” คือพวกที่ได้เปนผู้แทนของยุนิเวอซีตีในการแข่งเรือกับอ๊อกซฟอดแล้ว ก็เปนคนโตทีเดียว การขันแข่งในระหว่างเคมบริชแลอ๊อกซฟอดมีหลายอย่าง บางอย่างเรียกกันว่าเปนของสำคัญผู้แทนได้เปนสีฟ้า บางอย่างผู้แทนก็เปนแต่เพียง “ครึ่งสีฟ้า” บางอย่างก็ไม่ได้สีฟ้าเลย สีฟ้านั้นคือสีเสื้อที่ใส่ ถ้าใครไม่ได้เล่นอะไรแทนยุนิเวอซีตีก็ใช้สีฟ้าไม่ได้เปนอันขาด อย่าว่าแต่ถึงกับตัดเสื้อใส่เลย แต่เพียงทำผ้าผูกคอหรือพันพุงก็ไม่ได้เสียแล้ว.

ข้าพเจ้าอยากจะเล่า “ไลฟ” ที่เคมบริชหรือความเปนไปของนักเรียนทุก ๆ วันนั้นให้จะแจ้ง แต่จะกินน่ากระดาดแลเวลายืดยาวนัก เพราะฉนั้นข้าพเจ้าขอแปลรายวันมาเล่าเปนตัวอย่างสักวันหนึ่งว่าทำอะไรกันบ้างในชั่ววันหนึ่ง ๆ สมุดรายวันของข้าพเจ้าก็ย่อมมีของที่ข้าพเจ้าไม่ต้องการจะให้แพร่หลายนั้นมากกว่ามาก จำเปนที่ข้าพเจ้าจะต้องเลือกจัดว่าจะนำวันไหนมาแปลลงได้ ข้าพเจ้าหวังใจผู้อ่านว่าจะเข้าใจดีกว่าการที่ข้าพเจ้านำรายงานมาแปลลงนี้ ก็เพราะจะตัดน่ากระดาด แลเวลาที่จะต้องใช้ในการเขียน “ไลฟ” ที่เคมบริชนั้นให้น้อยลง แลเมื่อข้าพเจ้าได้เขียนถึงเคมบริชมาจนเพียงนี้แล้ว ถ้าจะไม่กล่าวถึงว่าวันหนึ่ง ๆ ทำอะไรกันบ้างเล่า ข้าพเจ้าก็รู้สึกเสียน่าที่ไป เพราะฉนั้นจะขอนำรายวันมาลงบ้างดังนี้.

๑๐ พฤศจิกายน : เมื่อคืนอยู่ดึกก็จริงแต่วันนี้ตื่นเช้าพอใช้ได้.

ไปรสนีย์ตอนเช้าไม่มีจดหมายมาถึง มีแต่แค๊ดล๊อกมาจากไหนอันหนึ่งก็ไม่ทราบ.

รับจดหมายจาก อี. บี. โดยไปรสนีย์ ๕ โมงเช้า กล่าวถึงคนหนึ่งชื่อ ร. ว่า ได้เคยไปเที่ยวกรุงเทพ ๆ ใครก็ไม่ทราบ นึกไม่ออก.

ทำงานอยู่ในห้องจนถึงเวลาไปหาปีเตอร์ (โค๊ช) กลับมาแวะกินเข้ากลางวันกับ ส. แล้วเลยมาสูบบุหรี่ที่นี่.

เวลาบ่ายไปเล่นลาคร๊อซพร้อมกับ บี. แล “ยัคโค” มีคนไปหลายคน เล่นแล้วไปกินน้ำชาห้อง บ. ต. กินเข้าเย็นแล้วไปยูเนียนกลับมาอ่านหนังสือเล็กน้อย แล้วเขียนจดหมาย อี. บี. เขียนถึง เค. เอฟ. แลถึง ซี. สี่ทุ่มแล้ว บี. เข้ามากินกาแฟ คุยกันเรื่อยอยู่จน ๗ ทุ่มเศษ พรุ่งนี้น่ากลัวตื่นสาย.

นี่แหละเปนตัวอย่างว่าที่เคมบริชวันหนึ่ง ๆ ทำอะไรกันบ้าง คงจะเห็นได้ว่าไม่ใคร่มีอื่นนอกจากเรียนเวลาเช้า กินแลเล่นตลอดเวลาบ่าย ถ้ามีเวลาที่ไม่ไปกวนคนอื่นหรือมีคนอื่นมากวนก็ทำงาน หรือเขียนจดหมายหรืออ่านหนังสือพิมพ์ในเวลาเย็น เว้นแต่มีงานในส่วนการเรียนที่เปนการเร่งร้อน

เมื่อเดือนกรกฎาคมปี ๑๑๘ คือเวลาหยุดเรียนประมาณสี่เดือน ซึ่งเปนเวลาที่นักเรียนบางคนก็ขึ้นไปอยู่ยุนิเวอซีตี เพื่อทำการกับครูไปรเวตนั้น เปนเวลาที่ข้าพเจ้าก็ขึ้นไปอยู่ด้วย การที่ขึ้นไปอยู่เวลายุนิเวอซีตีปิดนี้ ผิดกับเวลายุนิเวอซีตีเปิด เพราะความรื่นเริงต่างกัน แลนักเรียนยังมีความผูกพันธ์ในส่วนการเรียนน้อยกว่าเวลายุนิเวอซีตีเปิดไปเสียอิก ถึงกระนั้นก็ดี นักเรียนที่ขึ้นไปอยู่ยุนิเวอซีตีฤดูร้อนในระหว่างยุนิเวอซีตีปิดนี้ ถือตัวว่าเปนพวกเรียนจัดกว่าพวกที่ไม่ขึ้นไป เพราะมักเปนที่เข้าใจกันว่า นักเรียนที่จะไม่เรียนเอาออนเนอร์ขึ้นไปไม่ได้ หรือไม่ต้องขึ้นไปอะไรอย่างหนึ่ง แลนักเรียนออนเนอร์ย่อมดูถูกนักเรียนไม่เอาออนเนอร์ในส่วนทางเรียนดังที่ได้กล่าวมาบ่อย ๆ แล้ว.

เมื่อข้าพเจ้าขึ้นไปอยู่ยุนิเวอซีตีได้สองสามวัน ยังไม่ได้คิดได้ฝันถึงเรื่องจะได้กลับกรุงเทพ ฯ เลย อยู่ดี ๆ ก็ได้รับจดหมายจากผู้บัญชาการนักเรียนฉบับหนึ่งว่า ราชทูตได้รับจดหมายจากเสนาบดีกระทรวงที่ข้าพเจ้าทำการอยู่เมื่อก่อนไปยุโหรปแลที่ทำการอยู่เดี๋ยวนี้ มีใจความว่าต้องการให้ข้าพเจ้ากลับเข้ามารับราชการในกรุงเทพ ฯ แลต้องการให้ข้าพเจ้ากลับเร็วที่สุดที่จะเปนได้ ข้าพเจ้าได้เคยประหลาดใจมาหลายครั้งแล้ว แต่ไม่ใคร่ประหลาดใจมากเหมือนครั้งนั้น เพราะข้าพเจ้าเข้าใจเเน่เสียว่า คงจะต้องอยู่ยุนิเวอซีตีเสียให้ครบกำหนด ๙ เทอมก่อนจึงจะคิดถึงการกลับบ้านได้ และเมื่อข้าพเจ้าอยู่ดี ๆ ก็ได้รับจดหมายบอกชัดว่าข้าพเจ้าเข้าใจผิดเต็มที่ดังนั้น ก็ย่อมรู้สึกประหลาดใจอยู่เอง เวลานั้นข้าพเจ้าจะรู้สึกดีใจก็ไม่ใช่ เสียใจก็ไม่เชิง เปนการอิหลักอิเหลื่ออยู่ ต่อเมื่อข้าพเจ้าอ่านจดหมายนั้นอิกครั้งหนึ่ง แล้วจุดกล้องนั่งลงในเก้าอี้กระจาดตัวใหญ่ ตรึกตรองเรียงระเบียบการที่เปนอยู่ ทั้งในส่วนการเรียนแลการอื่น ๆ รอบคอบแล้ว จึงมาออกเสียใจหน่อย ๆ ว่าถ้าเราได้อยู่อิก ๖ เทอมหรือ ๙ เทอมแล้ว บี. เอ กับ เอ็ล. เอ็ล. บี จะไปไหนเสีย จะหรูขึ้นอิกมาก แลถึงข้าพเจ้าจะเห่อจัดถึงนับตัวเองว่าทราบภาษาอังกฤษ แลภาษาของเราพอจะรับราชการฉลองพระเดชพระคุณตามตำแหน่งเตี้ย ๆ ได้บ้างก็จริง แต่ก็ยังออกเสียดายดีกรีอยู่นั่นเอง ที่แท้ถึงข้าพเจ้าจะกลับตามเวลาที่เรียกกลับนั้นก็คงทำการได้เท่า หรือเกือบเท่ากับอยู่ต่อไปอีกสองปี เพราะความรู้ชั้นสูงนั้น จะใช้เปนประโยชน์ในการที่ทำทุกวัน ๆ ได้ก็เปนบางอย่างดอก ตกลงดีกรีดีกาอะไรก็ไม่ทำให้ดีในทางออฟฟิศขึ้นนัก.

แต่ถึงกระนั้นก็ดี ข้าพเจ้ายังเห็นว่ามีอะไรอิกสองสามอย่างที่ควรข้าพเจ้าจะเรียนเสียเล็กน้อยก่อนกลับกรุงเทพฯ คือ เปนของที่ไม่ได้เกี่ยวกับดีกรี เพราะฉนั้นจึงยังหาได้ลงมือไม่ ดังนี้ข้าพเจ้าก็มีจดหมายไปถึงราชทูต ว่าข้าพเจ้ามีอะไรสองสามอย่างที่ควรจะเรียนเสียบ้างพอเปนเลา ๆ ก่อนกลับกรุงเทพ ๆ เพราะฉนั้นถ้าได้อยู่ต่อไปอิกเทอมหนึ่งแล้วจะเปนการดี ทูตเห็นด้วย เปนอันตกลงจะอยู่ต่อไปอิกประมาณสี่เดือน รวมทั้งเวลาหยุดด้วย.

รุ่งขึ้นอิกสองสามวัน ข้าพเจ้าได้รับจดหมายจากเสนาบดีทางกรุงเทพฯ มีใจความอย่างราชทูตแจ้งความให้ข้าพเจ้าทราบแล้วนั้น แต่เรื่องอยู่อิกเทอมหนึ่งนั้นเปนการตกลงแล้ว เพราะฉนั้นเปนอันไม่ต้องทำอันใดอิก การที่ทำสำหรับเอาดีกรีก็เปนอันเลิก ลงมือทำการอื่น ๆ สำหรับกลับมาใช้กรุงเทพฯ

วันที่ ๑๐ สิงหาคมสิ้นเวลาเรียนกับครูไปรเวต ข้าพเจ้าก็ลงไปเที่ยวชายทแลแลไปพักอยู่ในลอนดอนรวมด้วยกันเดือนหนึ่งก็กลับขึ้นไปเคมบริช คราวนี้มีนักเรียนไทยเพิ่มขึ้นไปอิกสองคนอยู่คอเลชเดียวกัน

งานที่ทำในเทอมนี้ไม่มีอะไรจะนำมาเล่าได้ เพราะพิธีเรียนก็ได้กล่าวมาหมดแล้ว แต่ถ้าจะนำเอาตัวการที่ทำจริง ๆ มาเล่าก็กลัวคนอ่านจะหลับหมด แลข้าพเจ้าเองก็คงจะหลับเหมือนกัน เพราะการที่ทำที่เคมบริชนั้น บางอย่างก็เบื่อราวกับยากรี ที่เห็นสนุกก็แต่บางอย่างที่พอได้กับนิสัยใจคอเราเท่านั้น ตกลงที่เคมบริชไม่มีอะไรจะเล่าแล้ว หรือมีก็นึกไม่ได้อย่างเดียวกับไม่มีนั้นเอง.

วันที่ ๕ พฤศจิกายน เวลาเช้าเที่ยวลาเพื่อนฝูงที่ยังไม่ได้ลาแต่วันก่อน ๆ เสร็จแล้วก็ลายุนิเวอซีตีกลับลอนดอน ใจค่อนข้างเหี่ยวมาก เพราะทิ้งเพื่อนฝูงแลที่เล่นที่ทำการไว้ข้างหลังเปนอันเลิก “ไลฟ” ชนิดนั้นกันทีเดียว เวลานั้นถ้าใจข้าพเจ้าไม่แขงหรือถ้าไม่เปนเวลาที่ข้าพเจ้าตั้งหน้าว่าจะได้กลับบ้านเมืองของเราแล้ว ถ้าไม่ร้องไห้ก็เกือบไป.

ข้าพเจ้าพักอยู่ในลอนดอนสองอาทิตย์ เที่ยวซื้อเข้าของแลตระเตรียมตัวเสร็จแล้ว วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๑๑๘ เวลาเช้าสี่โมงเศษ ก็ขึ้นรถกับพวกพ้องที่ตามมาส่งลงเรือขับไปขึ้นรถไฟพิเศษสำหรับพาพวกโดยสารไปส่งเรือ เช้าวันนั้นหมอกมันช่างจัดเสียจริง ๆ ถนนบางถนนเล็กจำเพาะรถหลีกกันพอดี แต่แลข้ามถนนไปก็ไม่เห็นอะไรเสียแล้ว ไฟที่จุดตามเสาโคมริมถนนนั้น ดูเหมือนแสงหิ่งห้อยก็จะสว่างกว่า รถรัดหัดถีจะทำอวดดีไม่ได้ ต้องค่อยๆ คลานไปทีละคืบ หาไม่จะโดนกันคอหักสิ้น เวลานั่งไปในรถข้าพเจ้านึกดีใจว่าได้กะเวลาไว้มาก หาไม่ไปไม่ทันรถไฟจะเกิดความใหญ่มิใช่เล่น เพราะในกรุงเทพ ฯ มีตัวอย่างครั้งหนึ่งแล้ว คือมีนักเรียนคนหนึ่งไล่ได้ ๆ รับพระราชทานพระมหากรุณาให้ออกไปเล่าเรียนที่เมืองอังกฤษ มีคนกะเรือให้ว่าให้ออกจากกรุงเทพ ฯ ด้วยเรือลำนั้น เพื่อให้ไปถึงสิงคโปร์ทันเรือยุโหรปต่อไป จึงซื้อตั๋วแลตระเตรียมไว้ทุกอย่าง.

แต่นักเรียนคนนั้นหาไปลงเรือในกรุงเทพ ฯ นี้ให้ง่าย ๆ ไม่ จะมีเหตุอะไรอย่างหนึ่งหรืออย่างไรไม่ทราบ ตั้งใจจะไปลงเรือเราต่อปากน้ำทีเดียว แต่ถึงเวลาก็หาไปลงไม่ เพราะไปขึ้นรถไฟไม่ทัน เลยเปนอันไม่ทันเรือไฟไปสิงคโปร์ ไม่ทันเรือไฟไปยุโหรป ต้องช้าไปอิกหลายวัน.

ส่วนข้าพเจ้าในลอนดอนวันนั้น หาเคราะห์ร้ายด้วยเรื่องรถไฟดังนักเรียนที่จะไปลอนดอนคนนั้นไม่ ข้าพเจ้าไปทันรถไฟเรียบร้อยดี ไม่ใคร่ได้การแต่เบียดกันจัดอยู่หน่อยเท่านั้น ข้าพเจ้าก็ได้เคยเห็นรถไฟแน่นมามากแล้ว แต่ที่แน่นกว่าวันนั้น ก็มีครั้งเดียวแต่เมื่อไปดูแห่สุวรรณาภิเษกกวีนวิกตอเรียเท่านั้น เพราะคราวสุวรรณาภิเษกคราวนั้น ห้องรถไฟที่ข้าพเจ้าไปเปนห้องสำหรับคนโดยสารแปดคน แต่เบียดกันเข้าไปได้ถึง ๑๗ คน ปลาซาดีนในหีบก็เห็นจะสู้ไม่ได้ นึกถึงงานในลอนดอนคราวนั้นก็ออกอยากเล่า แต่ไม่มีน่ากระดาดเสียแล้ว.

ประมาณเวลาเที่ยงไปถึงเรื่อไฟชื่อ “โรม” ของบริษัท ปี. แอนด์ โอ. จอดเทียบท่าอยู่ในอู่ “อาละเบิต” เข้าไปดูเข้าของที่ส่งมาแต่วันก่อน ถูกต้องแล้วก็ขึ้นไปเที่ยวเดิรอยู่บนดาดฟ้ากับพวกเพื่อนหกเจ็ดคนที่ตามมาส่ง ดูหน้าค่อนข้างเศร้าไปทั้งนั้น จะเปนด้วยเศร้าสำหรับยอข้าพเจ้าหรือจะเศร้าด้วยเหตุอื่นก็ไม่ทราบ ส่วนพวกโดยสารอื่น ๆ นั้นที่สิ้นเรื่องดูแลหีบปัดของตนแล้ว ก็มาเที่ยวยืนเที่ยวเดิรอยู่เปนพวก ๆ อย่างเดียวกับพวกเรา ที่หน้าตาชื่นบานก็มี ที่ร้องไห้ก็มาก มีอาการต่าง ๆ กัน แต่เปนคนอังกฤษหรือออซเตรเลียนทั้งนั้น.

เรือ “โรม” เปนเรือเก่าต่อเมื่อปี ๑๘๘๑ แต่เดิม ๕,๐๑๓ ตัน กำลัง ๕,๐๐๐ กำลังม้า แต่เมื่อปี ๑๘๙๒ บริษัทเอาตัดเปนสองท่อน แล้วต่อกลางเข้าให้ยาวออกไปอิก ใส่เครื่องแลหม้อน้ำใหม่กลายเปนเรือใหญ่ถึง ๕,๕๔๕ ตัน กำลัง ๖,๐๐๐ กำลังม้า คนโดยสารไม่ใคร่นิยมนักเพราะเปนเรือเก่า แต่ถึงกระนั้นก็อดแน่นไม่ได้ เปนที่เห็นได้ว่าการค้าขายแลความติดต่อในระหว่างประเทศตวันออกแลประเทศตวันตกเวลานี้ มากมายผิดกับแต่ก่อนอย่างไร.

ที่จริงข้าพเจ้าก็ไม่ได้ตั้งใจจะมาเรือลำนี้ คือได้ไปซื้อติเก็ดเรือชื่อ “อาเคเดีย” ซึ่งจะออกในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน แต่เวลานั้น อังกฤษกำลังลงมือทำสงครามกับชาวแอฟริกาใต้ใหม่ ๆ เรียกเอาเรือ “อาเคเดีย” ไปบรรทุกทหารเสียตามสัญญาซึ่งรัฐบาลกับบริษัทมีไว้ต่อกัน เพราะฉนั้นบริษัทจึงเอาเรือ “โรม” มาเดิรแทนเรือ “อาเคเดีย” แลพวกโดยสารเรือ “โรม” คราวนั้นก็พวกโดยสารเรือ “อาเคเดีย” ทั้งนั้น.

เรื่องโดยสารเรือเมล์ข้าพเจ้าได้อ่านที่ลงพิมพ์มาแล้วสองครั้ง (ในวชิรญาณแล่มหนึ่งแลใน “ลักวิทยา”) จะมีที่อื่นอิกหรือไม่ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ แต่สองครั้งก็พอแล้ว เพราะฉนั้น ข้าพเจ้าไม่ตั้งใจจะเล่าถึงเรื่องโยนห่วง แทงหวย ฉลากรยะทางที่เรือเดิรในระหว่างวัน ฯลฯ ฯลฯ ในที่นี้อิก เว้นไว้แต่ถ้าปากกาจะพาไป แลถ้าเปนอย่างนั้นข้าพเจ้าก็ยอมรับผิดว่าพูดซ้ำพูดซาก.

ส่วนเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายนนั้น เมื่อพวกเราขึ้นไปเดิรอยู่บนดาดฟ้าไม่สู้นานนัก เขาก็สั่นระฆังให้ผู้มาส่งลงจากเรือ เปนที่ว่าเรือจะออก พวกเราก็จับมือสั่นแลเจริญพร “บองวอยาช” เสร็จแล้ว พวกส่งก็ลงจากลำเรือไปยืนโบกผ้าเช็ดหน้าแลร้องไห้อยู่บนฝั่ง แลพวกในเรือก็ทำอาการเช่นกัน สักครู่หนึ่งได้ยินเสียงหวีดรถไฟ พวกที่มาส่งก็รีบกลับไปสิ้น.

คราวนี้ ถึงคราวต้องอยู่คนเดียวในระหว่างคนที่เกิดมายังไม่เคยเห็นหน้าแต่สักครั้งเดียว ตกลงเขาแลดูเรา ๆ แลดูเขา ต่างคนต่างเดิรไป ๆ มา ๆ เปนการเกริ่นกันอยู่ ใครมีเสื้อหนาวหนาเท่าใดที่ต้องไปค้นเอามาใช้ เพราะหมอกคืนวันนั้นหนาวจัดเต็มที แลเมื่ออยู่ริมแม่น้ำก็ต้องหนาวกว่าธรรมดา อยู่เอง หมอกคืนวันนั้นไม่มีอาการว่าจะหมด แลเมื่อไปถามกับตันว่าจะออกเวลาไรก็ได้รับตอบแต่ว่า “หมอกยกเมื่อไรก็ออกเมื่อนั้น” คอย ๆ เท่าไรพ่อเจ้าประคุณหมอกก็ไม่ยก ตกลงคืนวันนั้นต้องนอนค้างอยู่ในอู่คืนหนึ่ง ตั้งแต่ข้าพเจ้าเกิดมายังไม่เคยถูกหนาวอย่างคืนวันนั้น ไฟจะผิงก็ไม่มี ที่ทางก็อุดอู้ อากาศก็เปนน้ำไปทั้งนั้น ช่างกระไรมันไม่มีสุขเสียเลย เสียงแต่บ่นกันรอบข้าง เพื่อนคนแรกที่ข้าพเจ้ารู้จักคืนวันนั้นก็คือตานายพันเอกคนหนึ่ง เปนคนคุมกองทหารออกไปอินเดีย อยู่ข้างจะเปนคนเขื่อง เพราะมีนายทหารหนุ่ม ๆ อยู่ใต้บังคับแกมาก ชั้นต้นเดิรไปเดิรมาสวนกันได้สองสามเที่ยวแกก็หยุดตรงหน้าข้าพเจ้า ๆ ก็หยุด แกเจริญพรเวลาเย็น ข้าพเจ้าตอบแกแล้วแกก็ถามว่า “ท่านเปนไทยไม่ใช่หรือ?” ข้าพเจ้าตอบว่าใช่ แลกลับถามว่าทำไมแกจึงทราบ แกตอบว่าแต่แรกแกคิดว่า ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้เปนยี่ปุ่นก็คงเปน ไทย แต่แทสังเกตว่าข้าพเจ้าสูงไปหน่อย หายี่ปุ่นสูงไม่ใคร่มี เพราะฉนั้นข้าพเจ้าต้องเปนไทย เมื่อข้าพเจ้าได้ยินดังนี้ก็รู้สึกสูงขึ้นอิกประมาณคืบหนึ่ง เลยเปนเพื่อนกับอีตาคนนั้นไปจนวันแยกเรือกันก็เปนอันลืม ต่อเมื่อมาเห็นรูปแกในหนังสือพิมพ์เมื่อเร็ว ๆ นี้จึงนึกขึ้นได้.

ตานายพันเอกคนนี้แกเปนคนอังกฤษ (หรือถ้าจะว่าให้ถูกก็ไอริช) ก็จริง แต่ทนหนาวไม่ใคร่ได้ ช่างบ่นหนาวเสียนี่กระไรดูอาการแกก็จะหนาวจริง ๆ คางจะสั่นเสียให้ได้ ข้าพเจ้าเองเปนคนไม่แพ้ใครในการทนหนาว ดูตาคนนั้นแกประหลาดใจเสียเต็มที ที่ข้าพเจ้าอุ่นเรียบร้อยดีในขณะที่ข้าพเจ้าได้ใส่แต่เสื้อโอเวอโค๊ตธรรมดาตัวเดียว แลซ้ำไม่ได้ใส่กางเกงชั้นในด้วย ลงท้ายแกแนะนำให้ข้าพเจ้าใส่กางเกงชั้นในเสีย ไม่อย่างนั้นจะเปนหวัด แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ใส่เพราะข้าพเจ้าทราบตัวของข้าพเจ้าเองดีกว่าว่าทนความหนาวได้เพียงใด ตานายทหารคนนั้นพึ่งมารู้จักกันได้ประเดี๋ยวเดียว จะมาทราบดีกว่าข้าพเจ้าเจียวหรือ ?

ตานายทหารคนนี้ได้พูดกับข้าพเจ้าถึงเรื่องเล่าเรียนเล็กน้อย คือชั้นต้นแกเห็นว่าความศึกษาอย่างอังกฤษคงมีประโยชน์แต่ในเมืองอังกฤษ แลที่ข้าพเจ้าไปเล่าเรียนในเมืองอังกฤษนั้นจะได้ประโยชน์เจียวหรือ ? ตกลงว่าความคิดตาคนนั้นในเรื่องการเรือนอยู่ข้างสั้นเต็มที! ชั้นที่สองแกเข้าใจว่าข้าพเจ้าไปอยู่เมืองอังกฤษอย่างที่แกทราบว่านักเรียนแขกแลขาติอื่น ๆ อยู่ คือไปถึงเมืองโน้นเข้าก็เที่ยวอยู่ตามลำพังตัวเอง เที่ยวหาที่เรียนเอาแล้วแต่จะหาได้ ลงท้ายเรียนไม่ใคร่ได้ระเบียบแลมีช่องที่จะเสียการมาก แลเห็นว่านักเรียนต่างประเทศควรมีคนดูแลจัดการเรียนแลการอยู่กินให้พร้อม เพราะคนที่ไปจากบ้านเมืองอื่นย่อมไม่รู้จักที่จะเข้าทางแลรู้จักผู้คนที่สมควรได้ แกรำพึงว่าถ้าไทยจัดการให้เปนดังนั้นเสียจะดี แลถามข้าพเจ้าว่าทำไมไทยไม่จัดแจงเรื่องนักเรียนเสียให้เปนดังนี้ ข้าพเจ้าตอบว่าเดี๋ยวนี้เขาก็จัดแล้ว น่ากลัวแกจะพื้นเสียที่ข้าพเจ้าปล่อยให้แกโก๋ไปเสียเปนนาน.

พูดถึงเรื่องโก๋เช่นนี้ข้าพเจ้าจำได้อิกเรื่องหนึ่งในลอนดอนค่อนข้างสนุกมาก คือเวลานั้นเปนเวลาสุวรรณาภิเษกของกวีนวิกตอเรีย ข้าพเจ้าไปถึงเมืองอังกฤษได้ไม่สู้นานนัก บ้านข้าพเจ้าเวลานั้นอยู่ห่างลอนดอนไปสัก ๘ ไมล์ วันหนึ่งข้าพเจ้ามีธุระขึ้นรถไฟเข้าไปในลอนดอน แลในห้องที่ข้าพเจ้าอยู่นั้นมีคนโดยสารคนเดียว เปนคนสูงอายุสักหน่อยแต่แต่งตัวเรียบร้อยเห็นจะเปนผู้ดี ทั้งเสียงที่พูดก็ไม่บอกเลวเลย เมื่อข้าพเจ้าโผล่ขึ้นรถไฟไปนั้นแกกำลังอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ สักครู่หนึ่งแกเหลียวมาเห็นข้าพเจ้าเช้าก็วางหนังสือแล้วนั่งยิ้มอยู่ สักครู่หนึ่งดูอาการอยากจะพูดด้วย ข้าพเจ้ารู้ที่ทำยิ้มบ้าง แกก็พูดว่า “เมื่อสักครู่นี้ฉันเห็นทหารเรือเมืองท่านหลายคน.”

ข้าพเจ้าตอบ “อินดีต !” (อย่างนั้นหรือ)

ตาคนนั้น “พวกเขาเปนคนแขงแรงน่าดูมาก.”

ข้าพเจ้า “ฉันยินดีที่ท่านเห็นดังนั้น”

ที่จริงข้าพเจ้าก็ทราบแล้วว่า แกนึกว่าข้าพเจ้าเปนยี่ปุ่น เพราะทหารเรือไทยในเวลานั้นหาได้มาอยู่ในลอนดอนไม่ และที่แท้ข้าพเจ้าก็ได้เห็นทหารเรือยี่ปุ่นพวกนั้นมาเองแล้ว แต่ข้าพเจ้าก็ชักให้แกโก๋เรื่อยไป เพราะเปนความผิดของแกเองที่มาเข้าใจเอาง่าย ๆ เปนการทำโทษไปในตัว.

ตาคนนั้น “ฉันเห็นในหนังสือพิมพ์ว่าประเทศท่านที่มีเรือรบมาเข้าริวิว” (ประชุมทัพเรือ)

ข้าพเจ้ารับว่าถูกแล้ว แลข้าพเจ้าก็ไม่ได้ปด เพราะเรือพระที่นั่งมหาจักรีก็ไปเข้าริวิวจริง ๆ เวลานั้นเปนเวลาเสด็จพระราชดำเนิรประพาศยุโรป.

ตาคนนั้น “เรือลำนี้เปนเรื่อใหม่ที่สุดของประเทศท่านไม่ใช่หรือ?”

ข้าพเจ้ารับว่าใช่ เพราะเวลานั้นเรือมหาจักรีเปนเรือใหม่ที่สุด เรือมุรธายังไม่ได้เข้ามา.

ตาคนนั้นพูดอะไรต่ออะไรโก๋ไปอิก แลข้าพเจ้าก็นำแกให้โก๋ไปสักครู่หนึ่งแกจึงว่า “เมืองยี่ปุ่นคงจะเปนเมืองงามมาก.”

ข้าพเจ้าตอบว่า “ชาวทิศตวันตกย่อมเห็นเมืองยี่ปุ่นแปลกตาอยู่เอง.”

ตาคนนั้น “ฉันอยากจะไปเที่ยวเมืองยี่ปุ่นสักครั้งหนึ่ง.”

ข้าพเจ้าเห็นว่าชักแกโก๋พอแล้วจึงตอบว่า “ฉันก็อยากไปเหมือนกัน”

ข้าพเจ้าตอบว่า “ไม่ใช่” พอรถไฟหยุดที่สเตชั่นตาคนนั้นก็ลุกขึ้นกระทำกิริยาลาข้าพเจ้า แลแสดงความเสียใจสองสามคำแล้วก็ลงจากรถไฟ ทิ้งให้ข้าพเจ้านั่งขันอยู่เปนนาน ออกเสียใจหน่อย ๆ ว่าไปล้อผู้หลักผู้ใหญ่ แต่มาออกพื้นว่าแกอยากมาว่าเราเปนยี่ปุ่นดี สมน้ำหน้า.

เพื่อนคนที่สองของข้าพเจ้าในเรือ “โรม” คืนวันนั้น คือตาพระองค์หนึ่ง เปนท่านสมภารเสียงดูเหมือนมีชื่ออยู่ในประเทศออซเตรเลีย ตาพระองค์นี้ยอเพราะเก่งพอใช้ แลฟังเสียงดูเปนทีว่าข้าพเจ้าพูดคล้าย ๆ บุตรชายของแกหน่อย ๆ ด้วย บุตรชายคนนี้แกรักของแกมาก ชมให้ข้าพเจ้าฟังเสียสักสิบคุ้งน้ำ แลเหตุที่ข้าพเจ้าพูดคล้ายบุตรชายของแกนั้นคงทำให้แกชอบข้าพเจ้าบ้าง คิดว่าถ้าจะขอเปนบุตรเขยก็เกือบแทบยอม เพราะแกคงชอบบุตรเขยที่พูดคล้าย ๆ บุตรชายของแก!! ที่แท้ข้าพเจ้าเข้าใจว่าตาพระคนนั้นมีบุตรคนเดียวเท่านั้น ส่วนยายสมภารินีนั้นก็ค่อนข้างเอาใจข้าพเจ้าเหมือนกัน ไม่ใช่เพราะพูดคล้ายบุตรชายอย่างเดียว เปนด้วยอยากได้สแตมป์ไทยด้วย.

นอกจากนี้มีคนที่แนะนำตัวกันเองรู้จักกันอีกหลายคนในคืนวันนั้น แต่เปนผู้ชายด้วยกันทั้งนั้นเปนธรรมดา เพราะแม่เจ้าประคุณผู้หญิงเปนอันต้องรู้จักกันยากหน่อย ไปทีหลัง ๆ ถึงเราจะไม่สู้ใคร่ที่จะรู้จักนักก็ยังอดรู้จักไม่ใคร่ได้อยู่เอง แลรู้จักไว้มีประโยชน์ในเวลาเต้นรำ ซึ่งมีกันบ่อย ๆ ในเวลาทเลราบแลฝนฟ้าอากาศไม่คอยขัดคอ.

ห้องที่ข้าพเจ้าอยู่นั้นเปนห้องขนาดกลาง ในว่า ๆ แต่เดิมสำหรับคนโดยสารสองคน แลถ้าเท่านั้นก็พอสบาย แต่หาเปนอย่างนั้นไม่ เพราะมาภายหลังไพล่เอาเตียงนอน (หรือถ้าจะเรียกให้ถูกต้องเรียกว่าหิ้งนอน) ติดเข้าอิกอันหนึ่ง กลายเปนห้องสำหรับสามคนจนปนต้องขลุกกันจัด เพราะที่ล้างหน้าก็มีสองที่ แต่งตัวก็ได้ทีละคน ถ้าไม่อย่างนั้นก็ต้องถองกันประมาณนาทีละ ๑๐ ครั้ง ที่ไว้หีบนั้นถ้าห้องอยู่สองคนก็พอรับ แต่ถ้าสามคนเข้าห้องก็แน่นแทบจะหายใจไม่ออก เวลาเข้าครั้งหนึ่ง ออกครั้งหนึ่ง ถ้าคลื่นจัด ๆ แล้วไม่คอหักก็หัวหวิ้นอะไรอย่างหนึ่งเปนแน่ ส่วนที่แขวนเสื้อผ้านั้นก็ค่อนข้างแน่นกันดีมาก เพราะขอแขวนเสื้อผ้านั้นเขามีไว้ให้ครบตัวกันก็จริง แต่เขาพูดกันว่าในเรือเมล์ถ้าที่ไหนพอจะแขวน สื้อผ้าได้แล้วเขาก็ปล่อยไว้เล่นเปล่า ๆ ต่อที่ไหนแน่นจะแขวนอะไรไม่ได้แล้วก็เอาขอไปติดไว้ตรงนั้น.

แต่ตามที่ข้าพเจ้าพรรณามาถึงความทุกข์ของการขลุกกันอยู่สามคนในห้องเล็ก ที่ถ้าจะอยู่ให้พอสบายได้เพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ของคนนี้ จะเปนด้วยข้าพเจ้าได้รับทุกข์เต็มที่มาเองก็หามิได้ เพราะฉนั้นเปนความร้องทุกข์อย่างที่เขาเรียก “เอไพรออไร” คือยกเหตุไปหาผลอยู่หน่อย ที่แท้ในระหว่าง ๗ วันก่อนถึงเมืองมาเซลล์อ่าวใหญ่ในประเทศฝรั่งเศสนั้น ข้าพเจ้าอยู่ในห้องนั้นคนเดียว ค่อนข้างเปนศุข เพราะถ้าจะว่าตามขนาดห้องที่กล่าวมาแล้ว ก็แน่นไปเศษสามส่วนสี่ของคน ๆ หนึ่งเท่านั้น คนโดยสารอีกสองคนที่จะมาเปนเพื่อนห้องเดียวกันกับข้าพเจ้านั้น จะมาลงเรือเอาที่เมืองมาเซลล์ยังจะสบายอยู่อิก ๗ วัน แต่เมื่อเห็นชื่อคนหนึ่งชื่อ “เบราน์” เข้าก็ออกหนักใจหน่อยๆ เพราะคนอังกฤษชื่อเบราน์มีตั้งหมื่นตั้งแสนคน เปนชื่ออย่างสามัญที่สุดทีเดียว พวกชิ้น ๆ ที่ ชื่อดังนั้นก็ย่อมมีน้อยตัวอยู่เอง ข้าพเจ้ออกหนักใจว่าถ้าเจ้าประคุณเบราน์มาพูดค๊อกนีหรือนาสิกชะ แลทำกิริยาค๊อกนีต่าง ๆ ในห้องเดียวกันแล้ว ถ้าไม่เปนบ้าก็คงเกือบไป บางทีจะต้องจับนายเบราน์โยนทเลหรือกระโดดลงทเลไปเอง.

ธรรมเนียมกินเข้าในเรืออังกฤษต้องแต่งตัวด้วยเครื่องแต่งสำหรับเวลาเย็น แต่คืนวันแรกนั้นมีคนเคร่งแต่งสักสองคนเท่านั้น ข้าพเจ้าเองมาภายหลังก็เคร่งในเรื่องนี้มาตลอดทาง แต่คืนวันนั้นก็ตีกินยอมให้พวกมากลากไป เพราะพื้นมันช่างเสียโกรธนั่นโกรธนี่หงุดหงิดใหญ่ เรือหรือก็ไม่ได้ออก หมอกหรือก็ราวกับจะหายใจไม่ได้ หนาวหรือก็หนาว ไฟหรือก็ไม่มี ใครจะไปนั่งรื้อหีบแต่งตัวอยู่ได้ กับเข้าในเรือค่อนข้างหรูหราพอกินได้ แต่พ่อเจ้าประคุณมันช่างช้าเสียเหลือช้า ตกลงเลยต้องลุกกันกลาง ๆ นั่นเอง เวลาดินเนอร์เสร็จแล้วขึ้นไปเดิรโกรธหมอกอยู่สักครู่ ไม่มีอะไรทำเลยไปเขียนจดหมายไปเล่าความทุกข์ของการที่ต้องจอดเรืออยู่ในอู่น่าหนาวเวลาหมอกลงไปให้เพื่อนในลอนดอนฟัง เมื่อเขียนแล้วเดิรขึ้นไปทิ้งไปรสนีย์บนบกมืดราวกับเข้าถ้ำ ประเดี๋ยวพบแขกกลาสี ประเดี๋ยวพบฝรั่งชนิดเดียวกัน ออกกลัวมันจะบีบคอแย่งนาฬิกา เพราะในตวันออกของลอนดอนนั้นเชื่อไม่ใคร่ได้ แลถนนรนแคมก็มืดดูช่างน่าวิ่งราวเสียแท้ๆ เวลากลับมาเรือไพล่ไปนึกถึงที่เคยอ่านในหนังสือพิมพ์เรื่องฆ่ากันตาย เรื่องบีบคอแลเรื่องทำร้ายต่าง ๆ จะได้ทำให้กล้าขึ้นหามิได้ นึกเสียใจว่านี่ถ้าถือไม้เท้าอันใหญ่มาด้วยจะดีทีเดียว นั่นแหละเปนความกล้าของข้าพเจ้าในคืนวันนั้น ควรข้าพเจ้าจะอายไม่เก็บมาเล่า แต่ก็ได้เล่ามาเสียแล้วเปนอันเลยตามเลย.

จะเปนด้วยเคราะห์ข้าพเจ้าที่หรือจะเปนด้วยการฆ่ากันตายแลการชกชิงวิ่งราวในแถบนั้นไม่มีก็ไม่ทราบ แต่ข้าพเจ้าก็กลับเรือได้ โดยไม่เกิดเหตุเภทภัยอย่างไร เมื่อมาใกถ้จะถึงเรือพบพลตำรวจคนหนึ่งทำให้ใจมาขึ้นมากถึงกับต้องว่า “กู๊ด อีบเวนนิง” ด้วย.

พูดถึงพาตำรวจอังกฤษอดชมไม่ใคร่ได้ เพราะเขาช่างเลือกคนได้ดีจริง ๆ ใคร ๆ ก็ต้องยอมทั้งนั้น พวกพลตำรวจใกล้ ๆ บ้านที่ข้าพเจ้าอยู่มักออกเปนเพื่อน ๆ กันโดยมาก เปนด้วยให้บุหรี่ไปไว้สูบเวลาออกยามบ้าง เปนด้วยอย่างอื่นบ้าง บ้านที่ข้าพเจ้าอยู่เดิมอยู่บนเขา ถนนค่อนข้างลื่นจัดเต็มที เวลาฝนตกจัด ๆ ตามเชิงเขาเปนโคลนเปรอะไปทั้งนั้น เวลาขี่ใบซิกลไปมาแต่ละทีมักลำบาก ขืนขี่ไปในทเลโคลนก็ไม่ใช่ของสนุก ลงจูงรถเดิรก็ยิ่งซ้ำร้าย เพราะต้องคิดถึงรองเท้าว่าเวลาบุกโคลนนั้นสะสวยอย่างไรบ้าง เพราะฉนี้มีอยู่อย่างเดียวแต่จูงรถเดิรบนถนนคนเดิร เปนของที่พลตำรวจคอยห้ามอยู่เสมอ แต่พลตำรวจเพื่อนข้าพเจ้าตรงเชิงเขาหาใคร่ห้ามไม่ เพราะถึงผิดกฎหมาย หรือข้อบังคับสำหรับถนนก็จริงแต่เห็นอกกันอยู่ เวลาเราจูงรถขึ้นถนนคนเดิรมาทางนั้น ถึงพลตำรวจจะอยู่ก็มักจำเพาะหันหน้าไปเสียทางอื่น หาใคร่เห็นไม่ว่าเราทำผิด ต่อเราเดิรมาตัวเปล่า ๆ จึงจะเจริญพร “กู๊ดมอนิง ขอรับ” หรือ “กู๊ดอีบเว็นนิง ขอรับ” ตามเวลา นั่นแหละเปนความดีของพลตำรวจอังกฤษ ดูค่อยเห็นอกเห็นใจกันหน่อย การจูงใบซิกลไม่ใช่ของเล่น และเมื่อเราจูงขึ้นถนนคนเดิรพอพ้นโคลนหน่อยก็ไม่เห็นกีดขวางกับใคร ถ้าอย่างอื่นก็ตามที.

ตัวอย่างประโยชน์ในการทำเพื่อนกับคนชั้นต่ำไว้ยังมีอิกเรื่องหนึ่ง พอจะเรียกว่าเปนเรื่องขันได้ คือริมบ้านที่ข้าพเจ้าไปอยู่เมื่อแรกไปถึงนั้นมีร้านอยู่ร้านหนึ่ง เปนร้านเดียวในหมู่บ้านนั้น แลตาเจ้าของร้านเปนเจ้าพนักงานไปรสนีย์ด้วย เพราะที่เมืองอังกฤษเขาเอาออฟฟิศไปรสนีย์เที่ยวฝากไว้ตามร้านตามแต่จะฝากได้.

เมื่อแรกข้าพเจ้าไปอยู่ได้วันหนึ่งหรือสองวัน ข้าพเจ้าเข้าไปในร้านชำร้านนั้นเพื่อซื้อสแตมป์ พอเปิดประตูระฆังสั่น (เพราะระฆังติดไว้ตรงประตู) ตเจ้าของร้านเดิรออกมาดู สีหน้าช่างไม่เอาการเสียเลย ดูอาการราวกับโกรธใครมาสักสองกัลป์ ข้าพเจ้าบอกแกว่าต้องการสแตมป์หกดวง แลเวลาที่แกหยิบสแตมป์อยู่นั้น นึกว่าลองใจอีตานี่ดูสักทีว่าจะหน้าบึ้งจริงหรือไม่ เลยหยิบซองบุหรี่ออกสูบ แล้วส่งซองให้เจ้าของร้านถามว่า “สูบซิการ์ (บุหรี่ฝรั่ง) ไหมล่ะ ?” อีตานั่นยิ้มทันทีบอกว่า “ขอบใจ ขอรับ” แล้วหยิบบุหรี่ไว้ตัวหนึ่ง นึกว่าแกจะสูบเดี๋ยวนั้น แกก็ไม่ยักสูบ บอกว่าจะเก็บเอาไว้สูบเวลาดินเนอร์แล้ว หรือบางทีจะไปสูบเอาต่อวันอาทิตย์ก็เปนได้ ตั้งแต่นั้นมาถ้าตาคนนั้นเห็นข้าพเจ้าเข้าก็ยิ้มแย้มแจ่มใส ถึงกับบางคราวยายเมียครูต้องการซื้อของต้องวานให้ข้าพเจ้าสั่ง เพราะตาร้านชำแกยอมให้เด็กนำของไปส่งที่บ้านง่าย ๆ ยายเมียครูเองแหละเมินเสียเถอะถึงแกขายของให้แกก็ไม่ส่งถึงบ้าน เพราะมีข้อขัดเคืองอะไรกันอย่างหนึ่ง ที่แท้ตาคนนั้นแกไม่ถูกกับคนเกือบทั้งหมู่บ้านดูก็น่าขันดี.

ในตอนนี้ขึ้นต้นข้าพเจ้าขอร้องทุกข์ถึงความกดขี่ที่ข้าพเจ้าได้รับจากผู้รวบรวมวชิรญาณลงพิมพ์โดยจะประมาณมิได้ เจ้าขุนมุลนายก็ไม่เสมอ เร่งเกือบทุกหายใจก็ว่าได้ ดูเหมือนหายใจก็จะช้าไปเสียอิก หนังสือที่ช้าไปนั้นเหมาว่าเปนด้วยข้าพเจ้าเขียนเรื่องนี้ไม่ใคร่แล้ว เวลาเช้าข้าพเจ้าตื่นขึ้นยังไม่ทันทำอไรประเดี๋ยวมีคนโผล่หน้าเข้ามาบอกว่า “คุณหลวงให้มารับประทานต้นฉบับวชิรญาณ” ข้าพเจ้าตอบว่า “ยังไม่แล้ว” แล้วไล่คนนั้นกลับไปเสีย สักครู่หนึ่งข้าพเจ้าอาบน้ำ แต่งตัวกินเข้าเสร็จแล้ว ลงเรือข้ามไปจะไปออฟฟิศ พอถึงท่าจอดเรือเข้าก็ที่ไหน พบเจ้าคนเก่ามาคอยอยู่ที่ตพานน้ำอิกแล้ว ข้าพเจ้ายังใจดีไม่โกรธบอกว่า “ก็บอกเมื่อตะกี้นี้เองว่ายังไม่แล้วทำไมมาคอยอิกเล่า” เจ้าคนนั้นตอบว่านายของเขาคิดว่าเผื่อข้าพเจ้าจะเขียนแล้วตอนเช้าบ้าง ข้าพเจ้าบอกว่า “ยังไม่แล้วดอก” แล้วข้าพเจ้าเลยไปออฟฟิศทำงานอยู่ได้สักสามชั่วโมง ประเดี๋ยวเจ้าคนเก่า (หรือบางทีคนใหม่เปลี่ยนหน้ากัน) มาเดิรกรีดอยู่น่าห้องทำงานอิกแล้ว คราวนี้ข้าพเข้าพื้นเสียดุเอ็ดใหญ่ว่าคุณแคนก็ช่างคุณเปนไร แต่ลงท้ายค่ำ ๆ กลับบ้านก็เปนอันต้องเขียนให้เขา เพราะถ้าไม่อย่างนั้นเขาคงส่งคนมาเตือนประมาณนาทีละสองครั้ง นี่แหละเปนความกดขี่ที่ข้าพเจ้าได้รับจากผู้รวบรวมหนังสือวชิรญาณ.

ส่วนคืนวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน คือคืนวันที่ข้าพเจ้าลงเรือจะกลับกรุงเทพ ฯ นั้น เมื่อข้าพเจ้าไปทิ้งหนังสือแล้วกลับมาเรือ เที่ยวเดิรไปเตรมากร็อกแกร็กอยู่บนดาดฟ้าสักครู่ใหญ่ ๆ ก็เข้าห้องนอน เวลาผลัดเสื้อผ้าเสร็จแล้วยังถูกลำบากอิกครั้งหนึ่ง คือดับไฟฟ้าไม่ได้ ธรรมดาไฟฟ้ามักมีที่บิดอยู่ตรงประตูสำหรับจะได้เปิดไฟเวลาโผล่เข้าห้อง หรือถ้าไม่อย่างนั้นก็อยู่ริมหัวนอนเตียงสำหรับเมื่อเข้าโปงแล้วจะได้บิดดับไฟง่าย ๆ ห้องนอนเล็ก ๆ เช่นห้องในเรือนั้นควรต้องมีที่บิดอยู่ตรงหัวนอนเตียงเพราะไฟข้างนอกก็สว่าง ถึงจะไปเปิดไฟเอาได้ต่อเมื่อถึงเตียงนอน ก็ไม่เตะอะไรคอหักตามทางอยู่นั่นเอง คืนวันนั้นเมื่อข้าพเจ้าเข้าโปงนอนเสร็จแล้วเที่ยวคลำหาที่บิดดับไฟฟ้าก็ไม่ยักพบ ช่างพื้นเสีย ๆ นี่กระไร ตกลงต้องลุกขึ้นค้นจนคิดว่าทั่วห้องแล้วก็ยังไม่พบ ห้องหรือก็เท่ากับกรงหนูมันช่างไปแอบอยู่ที่ไหนได้ เวลาใส่เสื้อนอน กางเกงนอนซึ่งเปนของบางไม่พอกับความหนาวในฤดูหนาว ถ้าจะอยู่นอกโปงนานนักก็อาจเกิดเหตุ คือเปนหวัดแลเปนอินฟลวนซาได้ จะเปิดหีบค้นเสื้อคลุมที่เรียกเดรซซิงเกาวน์ออกมาใส่ สำหรับค้นหาที่บิดไฟฟ้าก็ไม่พอกับประโยชน์ เลยตกลงนอนปล่อยไฟฟ้าสว่างโร่อยู่นั่นเองจนคืนยังรุ่ง เล่นเอานอนไม่ใคร่หลับ รุ่งขึ้นเช้าเวลาล้างหน้าสิ่งแรกที่พบตาข้างที่ล้างหน้านั้นก็คือที่บิดไฟฟ้านั้นเอง เมื่อคนหาเสียราวกับอะไรดี.

หิ้งที่นอนในเรือนั้นเปนธรรมดาจะต้องเล็ก แลมีไม้กันคล้าย ๆ เตียงนอนเด็ก ๆ สำหรับกันคอหักในเวลากลางคืน ตามที่เราท่านคงเคยได้เห็นหรือได้ยินอยู่แล้ว พูดถึงที่นอนนึกถึงอะไรขึ้นมาได้อันหนึ่ง เปนของกวนโมโหอย่างเอกทีเดียว คือข้างที่นอนมีหิ้งเล็ก ๆ อยู่อันหนึ่งสำหรับวางผ้า หมวก กระเป๋าหนังแลอะไรเล็ก ๆ ก็ได้ทั้งนั้น หิ้งเช่นนี้ที่นอนอันหนึ่งก็มีอันหนึ่ง เวลาไม่ใช้พับขึ้นไปเสียก็ได้ แต่เปนธรรมดาที่จะต้องใช้กันทุกคน เพราะห้องในเรือจะได้กว้างขวางใหญ่โตนักนั้นหามิได้ เสื้อผ้าเข้าของต้องเที่ยวอยู่ตามแต่จะอยู่ได้ เวลามาตามทางคืนวันหนึ่งนอนกำลังหลับอยู่ดี ๆ รู้สึกตัวกระเด็นตั้งแต่ข้างที่นอนข้างนอกเข้าไปกระทบฝา ศีศะวางเข้ากับหิ้งสนัดใจ เอามือไปลูบตรงหน้าผากออกเปียก ๆ แต่ก็ทำเปนไม่รู้ไม่เห็นแกล้งทำนอนเฉยเสีย สักครู่หนึ่งคลื่นมาลูกใหญ่ศีศะฟัดไปวางเข้ากับหิ้งอิกโป้งหนึ่ง คราวนี้จะนิ่งก็ไม่ไหวต้องเปิดไฟฟ้าลุกขึ้นย้ายของในหิ้งไปไว้ที่อื่น แล้วพับหิ้งเสีย เมื่อส่องกระจกดูหน้าก็ที่ไหนเล่า เปนรอยแตกออกไปสนัดใจ ตกลงหิ้งอันนั้นสิ้นประโยชน์มาตลอดทาง ข้าพเจ้าสงสัยแต่ว่าถ้าจะติดที่อื่นอย่าให้มาเกี่ยวข้องกับศีศะคนนอนจะไม่ได้หรือ ถ้าข้าพเจ้ามีอำนาจคงจะจับตัวคนติดหิ้งมาลงโทษให้พอแรง แต่ไม่ทำอย่างอื่น คือเปิดหิ้งไว้แล้วให้มานอนในที่นอนที่ข้าพเจ้านอนนั้นเวลาคลื่นจัด ๆ สักสามคืน ให้ศีศะแตกเล่นสักห้าสิบแผลให้สาแก่ใจ.

วันที่ ๑ ธันวาคม ตื่นขึ้นประมาณโมงเช้าหมอกหายหน้าไปเสียหมดแล้ว แต่จะ “ยก” หรือว่า “กู๊ดไบ” กับเราแต่กลางคืนเวลาไรก็หาทราบไม่ เช้าวันนี้อากาศปลอดโปร่ง ชะดีชะร้ายก็เแทบจะไม่เชื่อว่า เมื่อวันก่อนเปนวันหมอกลง เมื่อแต่งตัวเสร็จแล้วขึ้นไปบนดาดฟ้า พบพวกโดยสารผู้ชายขึ้นไปอยู่แล้วหลายคน แต่ยังไม่มีผู้หญิง เพราะยังไม่ถึงเวลา พวกผู้หญิงจะเที่ยวอวดดียังไม่ได้ เวลาเช้า ๆ เราจะใส่เสื้อนอนกางเกงนอน หรือใส่เสื้อสำหรับคลุมเวลาแต่งตัวขึ้นไปบนดาดฟ้าก็ได้ เพราะเปนที่เข้าใจกันว่าผู้หญิงยังไม่ขึ้นดาดฟ้า ถ้าผู้หญิงคนไหนทำอวดดีเร่อร่าขึ้นมา เราก็เมินหน้าทำไม่เห็นเสีย หรือจะสนัดแกล้งทำเปนคนตาสั้นเสียก็ได้ เวลาสองโมงเช้าเปนที่เข้าใจกันว่า สายพอที่ผู้หญิงจะขึ้นดาดฟ้าได้ (ดูเปนทีว่าผู้หญิงตื่นสายกว่าผู้ชาย หรือแต่งตัวช้ากว่า) พวกเราจำเปนจะต้องประดับกายแลกระทำตัวให้เรือบร้อย เพื่อให้เกียรติยศแก่แม่เจ้าประคุณทั้งหลาย ถ้าใครฝ่าฝืนบัญญัติอันนี้ ก็ต้องเปนพวกอะลัชชี.

วันนี้กินเข้าเช้ากว่าธรรมดาหน่อยหนึ่ง สักครู่หนึ่งเรือก็เลื่อนออกจากท่า แต่อย่าคิดว่าออกได้เอง ต้องมีเรือไฟลำเล็กมาฉุดออกไปจากอู่ เปนการใหญ่มิใช่เล่น เพราะถึงอู่ใหญ่ก็จริงแต่เรือมีด้วยกันหลายลำ แลช่องที่เรือออกจากอู่ไปเข้าลำแม่น้ำเท็มซ์นั้นก็พอดี ๆ กับลำเรือเท่านั้น การพาเรือไฟใหญ่ ๆ ออกจากอู่นั้นคงต้องทำกันมาแล้วหลายชั่วอายุคน จึงเรียบร้อยแลสดวกได้อย่างนั้น แต่แรก ๆ ถ้ากับตันเรือลำใดอวดดีพาเรือออกจากอู่โดยรวดเร็ว ดังที่เรือข้าพเจ้าออกวันนั้นแล้ว คงได้โดนกันตายเสียมากกว่ามากเปนแน่ เวลาเรือออกจากฟ้าไปลอยอยู่กลางน้ำแล้ว ยังมีคนที่นำหนังสือพิมพ์มาขายในเรือติดอยู่หลายคน นึกว่าเจ้าพวกนี้เสียท่าแล้วคงจะต้องโดดน้ำเปนแน่ แต่ครั้นเวลาเรือออกประตูน้ำซึ่งเกือบพอดีกับลำเรือนั้น เจ้าพวกขายหนังสือพิมพ์ก็กระโดดขึ้นบกไปหมด ทำให้ข้าพเจ้าพิศวงว่ามันช่างกล้าเสียจริง ๆ ถ้ากระโดดขึ้นไม่ทันจะทำท่าไร หรือถ้ากระโดดขึ้นไม่ดีไปพลังพลาดก็อาจคอหักได้ เรื่องพวกขายหนังสือพิมพ์กระโดดขึ้นบกได้โดยว่องไวนี้ ก็คงเปนได้ด้วยบุตรทำตามบิดาต่อ ๆ กันมาเหมือนกัน.

แม่น้ำเท็มซ์ คือแม่น้ำที่เดิรผ่าลอนดอนนั้นแต่เรกเข้าใจว่าเปนแม่น้ำสกปรกแลจะหาว่างามตรงไหนตั้งแต่เช้าจนเย็นก็ไม่ได้ แต่วันนั้นเมื่อห่างลอนดอนออกมา แม่น้ำเท็มซ์ยิ่งงามเข้าทุกที เรือใหญ่ ๆ แล่นขึ้นแล่นลงสวนกันดูงามดีมาก ออกเสียใจว่าเวลาอยู่เมืองอังกฤษไปเที่ยวเล่นบ้างจะดีทีเดียว.

วันนั้นแล่นเลียบฝั่งอังกฤษอยู่ตลอดวันแลตลอดคืน แต่คำว่าเลียบในที่นี้หมายความว่าแลเห็นฝั่งอังกฤษขาวอยู่ลิบ ๆ ค่อนข้างมัว ๆ เพราะเปนน่าหนาวเห็นไม่ใคร่ถนัด เวลาถึงเมืองที่เคยไปอยู่ก็จำได้บ้างค่อนข้างเหี่ยงใจได้หน่อย ๆ เห็นจะเปนด้วยหน้าตาพวกโดยสารเหี่ยวด้วยกันมาก จึงพาให้เราเหี่ยวตามเขาบ้าง ทเลตอนนี้จะว่าเรียบอย่างน้ำในสระทีเดียวก็ไม่ได้ ที่จริงเรือโคลงพอใช้ได้ทีเดียว พวกโดยสารลงมือเมากันบ้างก็มีแล้ว แต่ข้าพเจ้านั้นยังเรียบร้อยดีอยู่ เปนแต่รู้สึกหนักใจว่าจะไม่ได้การอยู่เร็ว ๆ แล้ว จะอ่านหนังสือก็เท่ากับมีก๊าดเชิญความเมาคลื่นมาสู่ตัว ตกลงต้องทำคึกคักตึงตังไว้เพื่อจะต่อสู้อำนาจทเลให้นานที่สุดที่จะต่อสู้ได้ เวลาผลัดอีบเว็นยิงเดร็สสำหรับกินเข้านั้นค่อนข้างเปนการใหญ่ เรือก็โคลง ทนคลื่นก็ไม่เก่ง กว่าจะเปิดหีบค้นเสื้อผ้าแลเสื้อเชิ้ตเวลาเย็นขึ้นมาได้ก็ออกเวียนศีศะหน่อย ๆ เสียแล้ว คืนวันนั้นผูกผ้าคอขาวเสียผ้าเปล่า ๆ ผืนหนึ่ง แลถึงผืนที่สองที่ผูกว่าใช้ได้แล้วนั้นก็ยังไม่ใคร่ได้การอยู่นั่นเอง นึก ๆ ดูก็น่าขัน เรือ โคลงเคลงหน่อยเดียวเท่านั้นก็ผูกผ้าผูกคอจนเสียผ้าผืนหนึ่งได้ ตรงนี้ข้าพเจ้าต้องกล่าวเสียหน่อยว่า กระบวนผูกผ้าผูกคอข้าพเจ้าเปนมือขวาทีเดียว เพราะฉนั้นที่เสียผ้าผืนหนึ่งวันนั้น เสียด้วยคลื่นจัดเกินความสามารถของข้าพเจ้าแท้จริง จะได้เสียด้วยผูกไม่เปนหามิได้.

รุ่งขึ้นวันที่ ๒ ธันวาคมเวลาบ่ายประมาณ ๔ โมงเช้า “อ่าวบิสเคทเลร้าย” เผอิญร้ายเอาจริง ๆ ด้วย ออกพื้นว่าจะร้ายแต่ชื่อก็ไม่ได้ออกสงสารหม่อมราโชทัย (กระต่าย) หน่อย ๆ แต่สงสารตัวเองมากกว่านั้น เพราะคืนวันนี้อย่าว่าแต่ผลัดอีบเว็นนิงเดร็สเลย แต่ให้ลงไปนั่งกินเข้าโดยไม่ต้องผลัดเสื้อผ้าก็ไม่ได้เสียแล้ว ถ้าใส่เสื้ออีบเว็นนิงเดร็สคงผูกผ้าผูกคอเสียนับเปนโหล ๆ ไปเปนแน่ ตั้งแต่บ่ายสี่โมงไปจนย่ำค่ำ ข้าพเจ้านอนอยู่กับเก้าอี้รู้สึกราวกับว่าโลกจะแตกเปนท่อน ๆ ออกไป พอถึงเวลาเป่าแตรสำหรับแต่งตัวกินเข้า พวกคนโดยสารเขาไปผลัดเสื้อผ้ากัน ข้าพเจ้าก็ไปผลัดบ้าง ผิดกับคนอื่น ๆ แต่ข้าพเจ้าหาได้ไปผลัดใส่อีบเว็นนิงเดร็สไม่ ผลัดใส่เสื้อนอนกางเกงนอนเสียทีเดียว แล้วเลยนอนตั้งแต่ทุ่ม ๑ วันที่ ๒ ไปตื่นเอาต่อบ่ายโมงเศษวันที่ ๓ คือเมื่อพ้นอ่าวบิสเคไปแล้ว.

เรื่องเมาคลื่นขากลับนี้ ข้าพเจ้าก็เมาอย่างเดียวกับขาไป คือเเรก ๆ ออกเมาใหญ่ แล้วค่อยเบาเข้าทุกทีจนหายเมากลับเปนคนเก่งไปกับที่ ในอ่าวบิสเคคราวนั้นถ้าจะว่าที่จริงก็ไม่สู้กระไรนัก แต่ก็พอทำให้ข้าพเจ้าเมาได้ ในทเลมีดีตเตอเรเนียน ถูกคราวคลื่นจัดกว่าในอ่าวบิสเค ข้าพเจ้าก็ยังเมา อยู่ในทเลแดงมีคลื่นกระซอกกระแซกเล็กน้อย ข้าพเจ้าค่อยเก่งเข้าไม่เมา แลเมื่อมาถึงอ่าวลังกาถูกพายุวันยังค่ำ เรือกระโดดลอย ๆ โคลงหรือก็ราวกับแคมจะตักน้ำ แต่ข้าพเจ้าก็เก่งได้เรื่อยอยู่ คืนวันจะเข้าลังกาเวลากินเข้า ข้าพเจ้าผลัดเสื้อผ้าเวลาเย็นแล้วเดิรออกมาจากห้อง พบนางคนหนึ่งนอนหน้าเซียวอยู่บนเก้าอี้ข้าพเจ้าก็แวะเข้าไปถามข่าว (ที่จริงตั้งใจแวะเข้าไปเย้ย เพราะเมื่อข้าพเจ้าเมา เขาไม่เมา เขาเคยเย้ยข้าพเจ้า) นางคนนั้นเห็นข้าพเจ้าเข้าที่ประหลาดใจเสียเต็มที บอกข้าพเจ้าว่า “นี่ทำไมท่านแต่งตัวลงไปกินเข้าได้ เมื่อตะกี้ฉันคิดว่าท่านคงกำลังนอนตายอยู่ในห้องท่าน” ข้าพเจ้าตอบว่าข้าพเจ้ายังมีชีวิตเรียบร้อยดีอยู่ เข้าใจว่ามีชีวิตมากกว่าเขาเสียอิก.

วันที่ ๕ ธันวาคมถึงเมืองยิบรอลตาร์ ซึ่งเปนป้อมสำคัญของอังกฤษ และเปนประตูน้ำในระหว่างทเลมีดีตเตอเรเนียนกับมหาสมุทแอตเลนติก เปนป้อมที่อังกฤษจำเปนจะต้องรักษา เพื่อจะกันไม่ให้เรือรบใครล่วงล้ำเข้าออกโดยขืนใจอังกฤษ แปลว่าอังกฤษจะตัดเรือรบของชาติอื่นที่อยู่ในทเลมีดีตเตอเรเนียนกับมหาสมุทแอตแลนติกไม่ให้ไปมาถึงกันก็ได้ ป้อมที่ยิบรอลตาร์เปนเขาเรานี่เอง ถ้าใครจะดียิบรอลตาร์ให้ได้จะต้องคิดหาปืนสวรรค์มายิงเขาให้ทลายลงได้เมื่อไร จึงจะสำเร็จ แลปืนที่อยู่บนป้อมนั้นเขาว่าถ้าวันไหนจะยิงลองดูแล้ว ก็จะต้องออกประกาศให้ชาวเมืองทราบทั่วกันเสียก่อน เพื่อจะได้ตระเตรียมตัวป้องกันความเสียทั้งหลายที่จะเกิดได้จากเวลาที่เมืองกระเทือนไปทั้งเมืองนั้น.

ยิบรอลตาร์เดิมเปนของสะเปน (ซึ่งเปนชาติมีอำนาจทางทเลแต่โบราณ) แต่อังกฤษตีเอาทางเรือได้เมื่อปี ค.ศ. ๑๗๐๔ แลตั้งแต่เปนของอังกฤษแล้วมา ก็มีชาติอื่นมาพยายามตีหลายครั้ง เช่นเมื่อปี ค.ศ. ๑๗๗๙ ฝรั่งเศสกับสะเปนช่วยกันจะตียิบรอลตาร์คืน แต่พยายามอยู่ถึง ๔ ปีก็ไม่สำเร็จ อังกฤษจึงเปนเจ้าของมาจนป่านนี้ แลอังกฤษคงจะต้องเปนเจ้าของยิบรอลตาร์ไปนานที่สุดที่จะเปนได้ ถ้าเสียยิบรอลตาร์เมื่อใด อำนาจอังกฤษทางทเลก็ลดลงไปทันที.

ยิบรอลตาร์มีพลเมือง ๒๕,๐๐๐ คน เปนทหารเสีย ๖,๐๐๐ คน เมืองแบ่งเปนสองตอนเรียกว่าเมืองตอนเหนือ เมืองตอนใต้ เมืองตอนเหนือเปนเมืองสำหรับการค้าขาย ตลาดร้านรวงอยู่ในถนนสองถนน ชื่อถนนวอเทอปอดกับเมืองไอริช ซึ่งอยู่ในตอนเหนือนี้ ตอนใต้เปนเมืองสำหรับความสวย หรือถ้าจะเรียกว่าห้องรับแขกของเมืองก็ได้.

เวลาเรือลงสมอแล้วมีร้านมาตั้งในเรือสองร้าน ขายของเบ็ดเตล็ดเช่นพัดแลผ้าเช็ดหน้าเปนต้น ของที่ขนมานั้นมิใช่เล่น ๆ สองร้านถ้าจะรวมกันเข้าก็คงมีของไม่เล็กกว่าร้านเจ๊กริมกำแพงวัดสามปลื้มร้านหนึ่ง คำที่ข้าพเจ้าเรียกว่าร้านนั้นหมายความว่าเอาผ้าผืนใหญ่ ๆ ผืนหนึ่งปูลงบนดาดฟ้า ของเข้ากวาง ๆ ลงดูรูปร่างคล้าย ๆ ร้านแผงท่าเตียนมากกว่าร้านวัดสามปลื้ม ผิดกันแต่ไม่ขายขนมเท่านั้น.

เรือหยุดที่ยิบรอลตาร์สามชั่วโมงเท่านั้น ไม่ใคร่มีเวลามากนัก เพราะทอดก็ห่างฝั่งจะไปเที่ยวอยู่นานนักก็ไม่ได้ เวลาประมาณเที่ยงก็ออกเรือต่อไป.

ทเลในระหว่างยิบรอลตาร์กับมาเซ็ลล์ คืออ่าวใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศสนั้นไม่สู้กระไรนัก หาประพฤติตัวเปนคนพาลนักไม่ เห็นจะเปนด้วยเลียบฝั่งสะเปนไปนั่นเอง.

วันที่ ๗ ธันวาคมถึงมาเซลล์เรือเข้าทอดท่าได้ ขึ้นไปเที่ยวเตร่เล่นครู่ใหญ่ ๆ ก็กลับลงเรือ เพราะหยุดแต่ชั่วรับคนโดยสารที่มาทางบก หาได้พักกี่ชั่วโมงนักไม่.

เมืองมาเซ็ลล์เปนเมืองโบราณเดิมชื่อแมซีเลีย ตั้งมาได้แล้วประมาณ ๒๕๐๐ ปี เดี๋ยวนี้เปนเมืองท่าใหญ่ที่สุดของประเทศฝรั่งเศส ในโคลงอังกฤษเรื่องโบราณเคยอ่านจำได้เรื่องเรือกรรเชียงสามชั้น ที่เรียกไตรรีมต์บันทุกทาษไปขายตลาดเมืองไพซีในประเทศอิตาลี คือทาษที่จับได้จากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งในเวลานั้นยังเรียกว่ากอลล์อยู่ เพราะฉนั้นเมืองมาเซ็ลล์เปนเมืองค้าขายมาแต่โบรมโบราณแล้ว แลเดี๋ยวนี้เปนเมืองใหญ่ทีเดียว ร้านรวงมีมาก แต่ใครจะเรียกว่าเมืองงามก็ตาม ข้าพเจ้าเองเปนไม่ยอมเรียกคนหนึ่ง.

พอเรือจอดเรียบร้อยดี ข้าพเจ้ากับคนโดยสารด้วยกันสองคนก็ขึ้นไปเดิรเล่นในเมือง เที่ยวเดิรเข้าซอกออกแซกอยู่นานจึงไปถึงหมู่ร้านใหญ่ ๆ เลยแวะเข้าไปในร้านหนังสือร้านหนึ่ง เห็นมีหนังสือพิมพ์อังกฤษก็หยิบเข้าแล้วถามยายแก่เจ้าของร้านเปนภาษาฝรั่งเศสว่าเท่าไร แต่แกจะเห็นท่าเราไม่ได้การ หรือเราจะพูดคำว่า “คอมเบียง” (เท่าไร) ชัดนักก็ไม่ทราบ แกไม่ยักตอบเปนภาษาฝรั่งเศส ไพล่ไปตอบเปนภาษาสากล คือยกนิ้วชูขึ้นสี่นิ้ว เปนการดูถูกภาษาฝรั่งเศสของเราจัดทีเดียว หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นที่เมืองอังกฤษราคาเปนนีเดียว แต่เราเห็นว่าไหน ๆ หนังสือก็ได้เดิรทางมาไกล แล้ว สีเปนนีก็ยอมให้ แต่ครั้นเราหยิบเปนนีออกส่งให้สี่อันสิ ยายนั่นกลับสั่นศีศะยกมือซ้ายชูขึ้นทั้ง ๕ นิ้ว มือขวานิ้วหนึ่ง รวมเปน ๖ นิ้ว แล้วอธิบายว่ากระไรก็ไม่ทราบ ช่วยกันฟังเปนสามคนก็ไม่เข้าใจ ลงท้ายแกหยิบอัฐทองแดงฝรั่งเศสมาวางลงบนโต๊ะสี่อัน แลดูตาเราเอามือกวาดเข้าไปหาตัว พยักหน้า กลับชี้อัฐอังกฤษ แล้วกลับยกนิ้วขึ้นชูอิก ๖ นิ้ว เราจึงเข้าใจว่า ถ้าอัฐฝรั่งเศสสี่อันก็พอ แต่อัฐอังกฤษจะต้อง ๖ อันจึงจะพอใจ ตกลงเราก็ยอม มานึกประหลาดแต่ว่าเราก็ได้พูดภาษาฝรั่งเศสถึงคำหนึ่งแล้ว ทำไมยายคนนั้นแกจึงมาเชื่อเอาว่าเราพูดไม่ได้เล่า.

เวลากลับมาลงเรือพบพวกโดยสารที่มาทางบกมากกว่ามากดูวุ่นกันไปทั้งนั้น ห้องของข้าพเจ้าที่เปนของข้าพเจ้าคนเดียวมาจนป่านนี้ก็เกิดมีคนอื่นมาช่วยเปนเจ้าของเข้า แต่เดิมในว่า ๆ จะมีคนมาอยู่อิกสองคน แต่ก็มีคนเดียว อิกคนหนึ่งตามไปลงเอาต่อปอตไซต์ (ทางเมืองบรินดีซี) แลเมื่อไปเห็นห้องแน่นเต็มทีเข้าก็ไปจัดการจนได้อยู่ห้องอื่น เพราะพวกโดยสารขึ้นเสียที่ปอตไซต์หลายคน.

พวกที่มาลงเรือที่มาเซ็ลล์นี้เปนพวกไปอินเดียมาก เมื่อถึงเอเด็นก็เปลี่ยนเรือไปขึ้นบอมเบต่อไป.

รยะทางต่อมามีเรื่องพอนำมาเล่าได้อิก แต่จำเพาะเวลาน้อยเสียแล้ว เพราะฉนั้นข้าพเจ้าขอลงเอยกันตรงนี้เอง มาถึงกรุงเทพ ฯ วันที่ ๑๑ มกราคม ๑๑๘ พร้อมกันกับเพื่อนไทยสองคนซึ่งตามมาทันกันที่สิงคโปร์.

จบ

  1. ๑. คือพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน) กับพระยาอจิรการประสิทธิ์ (นกยูง วิเศษกุล)

  2. ๒. ท้องสนามหลวงในเวลาที่แต่งหนังสือนี้ ไม่ใหญ่เท่าท้องสนามหลวงใน พ.ศ. ๒๔๕๙

  3. ๓. พระยาสวัสวรวิถี (ม.ว. สายหยุด สนิทวงษ์ ณกรุงเทพ) กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระยานรเนติบัญชากิจ (ลัด เศรษฐบุตร) กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม แลพระยาศรีวรวงษ์ (ม.ว.จิตร สุทัศน์ กรุงเทพ ฯ)

  4. ๔. นักเรียนทั้ง ๒ นี้ คือกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม กับพระยาศรีวรวงษ์ (ม.ว. จิตร สุทัศน์ ณกรุงเทพ)

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ