คำนำ

ในจำพวกสุภาษิตด้วยกัน มีสุภาษิตของเล่าจื๊ออยู่หมวดหนึ่ง คล้ายสุภาษิตโบราณของไทยจำพวกที่เรียกกันว่าประดลธรรมของเก่า สุภาษิตพระร่วง สวัสดิรักษา และอื่นๆ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องยกมาเทียบเคียงโดยท่านผู้ใดใคร่รู้ก็พอจะค้นหาอ่านได้ไม่ยาก จึงนับว่าเป็นคติควรรู้ควรจำ เพราะเป็นคำสอนที่ดีอันหนึ่ง.

เล่าจื๊อเป็นศาสดาต้นลัทธิเต๋าหรือเต๋ากย่าวอันเป็นลัทธิสำคัญอันหนึ่งในประเทศจีน. หลักของลัทธิเต๋าเป็นอย่างไร จะไม่กล่าวในที่นี้. ขอเล่าแต่ประวัติส่วนตัวเล่าจื๊อเท่าที่ค้นหามาได้จากหนังสือต่างๆ เพื่อประกอบความรู้ในการอ่านสุภาษิตบ้างเท่านั้น.

ประวัติเล่าจื๊อรู้ได้น้อยเต็มที. เท่าที่ทราบคร่าวๆ ว่า บิดาเป็นชาวนา แต่งงานเมื่ออายุ ๗๐ ฝ่ายหญิงคือมารดาเล่าจื๊ออายุ ๓๕ ปีเศษ. ปีเกิดของเล่าจื๊อว่า ๖๓ ปีก่อนพุทธศกบ้าง ๒๒ ปีก่อนพุทธศกบ้าง (สมัยเดียวกับพระพุทธเจ้า) หมู่บ้านที่เกิดเรียกว่าคูยิ้ง อยู่ในแขวงลี่ มณฑลโค้ว แคว้นขู่. ตามตำนานกล่าวว่าเล่าจื๊ออยู่ในครรภ์ ๗๒ ปี อีกแห่งหนึ่งว่า ๖๒ ปี แต่บางแห่งว่า ๗๑ ปี. เมื่อคลอดออกมาผมหงอกขาวหมดทั้งศีร์ษะ จึงได้ชื่อว่า เล่าจื๊อ แปลว่า เด็กแก่. เล่าจื๊อมีชื่อจริงว่าอี๋ แซ่ลี้. ชื่อที่เรียกกันในขณะเล่าจื๊อมีชีวิตอีกชื่อหนึ่งว่า ลี้โปยัง เมื่อถึงแก่กรรมแล้วเรียกกันว่า ลี้ตัน.

เรื่องราวเล่าจื๊อตามคัมภีร์ในลัทธิเต๋าคล้ายคลึงกับเรื่องราวของพระนารายณ์ในลัทธิพราหมณ์มาก. ในที่นี้จะเขียนเรื่องราวของลัทธิพราหมณ์ลงเป็นเค้าเพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจเสียชั้นหนึ่งก่อน. ลัทธิพราหมณ์แบ่งยุคของโลกออกเป็นสี่ คือ กฤตะยุค ไตรดายุค ทวาบรยุค กลียุค. กฤตะยุคเป็นยุคที่มีสัตยธรรมมั่นคง โลกไม่มีสิ่งใดบกพร่อง. ชนมีความสัตย ความรู้ เหมือนกันหมด ปราศจากทุกข์โศกโรคภัย. โลภะ โทษะ โมหะ ฤษยา พยาบาทไม่มี. ในยุคนี้ไม่มีเทวดา ยักษ์รากษสเลย (มีแต่พระปรพรหมองค์เดียวเป็นที่นับถือของนรชน) ชนประกอบกรณียะ เลื่อมใสมั่นคงในองค์พระปรพรหมองค์เดียว กำหนดเวลาในยุคนี้มี ๑,๗๒๘,๐๐๐ ปี. ไตรดายุค สัตยธรรมเสื่อมลง ๑ ใน ๔. เกิดมีพลีกรรมต่างๆ ชนหวังผลานิสงส์จากพลีกรรมและบำเพ็ญทาน มิได้พอใจในการบำเพ็ญตบะหรืออวยทานโดยมุ่งต่อกรณียะอย่างเดียวเช่นในกฤตะยุค. กำหนดเวลาในยุคนี้มี ๑,๒๙๖,๐๐๐ ปี. ทวาบรยุค สัตยธรรมเสื่อมลง ๒ ใน ๔. พยาธิ ตัณหา ภัย เกิดขึ้นเบียดเบียฬมนุษย์. กำหนดเวลาในยุคนี้มี ๘๖๔,๐๐๐ ปี. กลียุค สัตยธรรมเหลืออยู่เพียง ๑ ใน ๔. ทุกข์ โศก โรค ภัย อุปัทวอันตรายต่างๆ เกิดขึ้นเป็นลำดับ. นรชนเสื่อมลงทุกที. กำหนดเวลาในยุคนี้มี ๔๓๒,๐๐๐ ปี. เนื่องจากสัตยธรรมเสื่อมถอยลงเช่นนี้ ได้บังเกิดมีเหตุภัยต่างๆ ขึ้นในโลก. พระนารายณ์มีหน้าที่บริหารโลกจึงต้องอวตารลงมาเพื่อดับเข็ญ ตามความนิยมโดยมากว่ามีสิบปางคือ ในกฤตะยุค ๔ ปาง ในไตรดายุค ๒ ปาง ในทวาบรยุค ๒ ปาง ในกลียุค ๒ ปางคือเป็นพระพุทธเจ้าปางหนึ่ง กับที่จะมีมาข้างหน้าอีกปางหนึ่ง. ตามคัมภีร์ในลัทธิเต๋าก็มีเรื่องราวว่า เล่าจื๊อได้อวตารลงมาเกิดในสมัยวงศ์กษัตริย์ดึกดำบรรพ์ที่ครองประเทศจีนเป็นลำดับกันลงมาสิบวงศ์ทุกๆวงศ์ โดยเป็นรูปต่างๆ และมีนามต่างๆ เหมือนกัน. ทั้งนี้เป็นด้วยเล่าจื๊อรู้ว่าความเสื่อมของเต๋าได้มีมาตั้งแต่กฤตะยุค จึงอวตารลงมาเพื่อดับเข็ญ. ปางแรกทีเดียวได้เป็นบุรุษมีนามว่ายวนชุงฟาเส ปรากฎในรัชชสมัยแรกของยุคซามอ๋อง คือสามราชาธิราช (三皇 มีพระเจ้าเทียนวั่งสี พระเจ้าตีวั่งสี พระเจ้ายิ่นวังสี) ซึ่งเป็นยุคต้นของพงศาวดารจีนดึกดำบรรพ์อันนับว่าเป็นยุครุ่งเรืองยิ่ง (เทียบกฤตะยุค). ต่อจากนั้นก็อวตารเรื่อยมาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสิบปางจนกระทั่งได้เป็นเล่าจื๊อในยุคใหม่ของจีน.

ยุคใหม่ของจีน (เทียบกลียุคของพราหมณ์) ตั้งต้นในสมัยพระเจ้าฟูฮี (ฮกฮีสี) ที่จีนถือว่าเป็นปฐมกษัตริย์ในประวัติศาสตร์จีน ทรงราชย์ณเมืองเชน ในแคว้นโฮน่านราว ๒๓๐๙ ปีก่อนพุทธศก. พระเจ้าฟูฮีเป็นผู้นำความเจริญมาให้แก่จีนหลายอย่าง เช่น (๑) วางระเบียบการสมรสให้เป็นหลักฐาน (ซึ่งแต่ก่อนไม่มี มนุษย์รู้จักแต่แม่ ไม่รู้จักพ่อ) (๒) แบ่งพลเมืองออกเป็นแซ่เป็นเหล่า (๓) คิดตัวอักษรขึ้นแทนวิธีขอดเชือกเป็นปมซึ่งใช้เป็นเครื่องหมายในกิจการต่างๆ มาแต่โบราณดึกดำบรรพ์. อักษรที่คิดแบ่งออกเป็น ๘ เหล่า เป็นเครื่องหมายแทน ๑. ฟ้า ๒. น้ำ ในบึงและทะเลสาป ๓. ไฟ ฟ้าแลบและแสงตะวัน ๔. ฟ้าร้อง ๕. ลม และไม้ ๖. น้ำ เช่นที่มีอยู่ในฝน น้ำพุ ลำธาร เมฆ และดวงเดือน ๗. ภูเขา ๘. แผ่นดิน. นอกจากนั้นพระเจ้าฟูฮียังสอนให้พลเมืองไหว้ผี. พระองค์เองทำพิธีเซ่น นับว่าเป็นครั้งแรกที่ได้มีการเซ่นไหว้ผีปีศาจขึ้นในประเทศจีน. ในสวนของพระองค์เลี้ยงสัตว์บ้านไว้ ๖ ชะนิด ทำพิธีเส้นปีละ ๒ ครั้ง คือในวันที่ ๒๑ มิถุนายนครั้งหนึ่ง กับในวันที่ ๒๑ ธันวาคมครั้งหนึ่ง (วันที่กล่าวนี้เป็นวันที่อาทิตย์โคจรไปสุดทางเหนือและสุดทางใต้ ข้าพเจ้าเคยอธิบายเรื่องนี้ไว้ในไทยเขษมฉะบับพฤศจิกายน ๒๔๗๒ แล้ว) เนื่องจากพระเจ้าฟูฮีเป็นกษัตริย์องค์แรกที่เปลี่ยนแปลงแบบแผนประเพณี มีทำการเซ่นไหว้ผีปีศาจ จนพวกเต้าหยินเต้าสือหรือพวกที่ถือลัทธิเต๋าทั้งหลายพากันโทษว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ที่ประพฤติผิดทำนองคลองธรรมโบราณ อันเป็นผลทำให้นรชนเสื่อมลง และกษัตริย์องค์หลังๆ ก็ “ขัดขืนฟ้าและดิน”[๑] นรชนเสื่อมจากคุณงามความดี กลายเป็นชั่วช้าสามานย์. ฉะนั้นเล่าจื๊อจึงอวตารลงมาล้างความชั่วร้าย โดยเกิดเป็นเล่าจื๊อ. มีความกล่าวในคัมภีร์เต๋าว่า เล่าจื๊อร้องว่า “เราจะทำให้นรชนกลับไปใช้เชือกปม” การอวตารของเล่าจื๊อในยุคใหม่นี้ เมื่อเทียบกับข้างลัทธิพราหมณ์แล้วจะเห็นว่าตรงกับปางพุทธาวตารของพระนารายณ์ในกลียุคที่อวตารลงมาเป็นพระพุทธเจ้า. สมัยของพระพุทธเจ้ากับเล่าจื๊อร่วมกันด้วย.

ตามคัมภีร์ในลัทธิเต๋า มีความกล่าวว่า มารดาเล่าจื๊อตั้งครรภ์ในขณะที่เห็นดาวจุติ เป็นดาวดวงหนึ่งในกลุ่มดาว Great Bear คือดาวจรเข้. (ดาว Great Bear เรามักแปลกันไปเสียว่าดาวหมีใหญ่. แท้จริง Great Bear นั้นตรงกับที่ไทยเรียกว่าดาวจรเข้. ที่อังกฤษเรียกว่า Great Bear นั้นเรียกตามคำสันสกฤตที่เรียกดาวกลุ่มนี้ว่า “ฤกษ” ซึ่งแปลได้ว่า “หมี”. ดาวกลุ่มนี้เรียกเป็นคำละตินว่า Ursa Major มี ๗ ดวง ซึ่งข้างลัทธิพราหมณ์กำหนดเป็นฤๅษี ๗ ตน เป็นฤๅษีชั้นสูงสุดในลัทธิพราหมณ์ เรียกว่าประชาบดีพรหมฤๅษี นับเป็นโอรสของพระพรหมาซึ่งเทียบได้กับพระยโฮวาของฝรั่ง หรือพระอ้าหล่าของแขก. ความเชื่อข้างจีนถือว่ามนุษย์คือดาวในท้องฟ้าจุติลงมาเกิด ฉะนั้นการที่ดาวจรเข้มาเป็นเล่าจื๊อ หรือเล่าจื๊อคือดาวจรเข้ลงมาเกิด จึงเข้ากันดีกับที่จีนเขานับถือว่าเล่าจื๊อคือท้าวมหาพรหม) เล่าจื๊ออยู่ในครรภ์ ๘๐ ปี คลอดใต้ต้นลี้ พอคลอดออกมาก็พูดได้ ชี้มือไปยังต้นลี้พลางกล่าวว่า “ลี้จะเป็นแซ่ของเรา” ผู้แต่งคัมภีร์ในชั้นหลังๆ กล่าวว่า พอเล่าจื๊อคลอดก็แสดงปาฏิหาริย์เหาะขึ้นไปบนอากาศ มือซ้ายชี้ไปบนฟ้า มือขวาชี้ลงยังแผ่นดิน ออกอุทานวาจาว่า “ในฟ้าเบื้องบน และดินเบื้องล่าง เต๋าเท่านั้นควรเป็นที่สักการะ”. ลักษณะของเล่าจื๊อปรากฎว่าผิวขาวเหลือง หูใหญ่ ตาโต คิ้วงาม ฟันหลอ จมูกขึ้นเป็นสันคู่ ปากสี่เหลี่ยม เท้ามีนิ้วข้างละ ๑๐ นิ้ว มือมีลายข้างละ ๑๐ เส้น.

เรื่องราวเล่าจื๊อตามคัมภีร์เต๋าจะอย่างไรก็ตาม แต่เล่าจื๊อก็มีประวัติที่ปรากฎตามประวัติศาสตร์ที่สุมาเจี๋ยนนักประวัติศาสตร์คนแรกของจีน (ราว พ.ศ. ๔๐๐ เศษ) แต่งไว้เป็นที่ควรเชื่อได้ไม่น้อย. ประวัติเล่าจื๊อตอนปฐมวัยไม่ปรากฎ ได้ความในตอนหลังเพียงว่าได้เข้ารับราชการในตำแหน่งซิ้วชั้งจือกี้ซือ ซึ่งจะแปลเป็นไทยว่าผู้รักษาจดหมายเหตุ หรืออาลักษณ์ หรือผู้รักษาหอพระสมุดหลวง หรือผู้รักษาพิพิธภัณฑ์อย่างหนึ่งอย่างใดข้างไทยไม่ชัด ในราชสำนักของกษัตริย์ราชวงศ์จิว. สมัยกษัตริย์ราชวงศ์จิวนี้เป็นสมัยที่แผ่นดินจีนแยกออกไปเป็นแคว้นๆ คือยุคที่จีนเรียกว่าเลียดก๊ก มีเจ้าปกครองแคว้นเหล่านั้นสิทธิ์ขาดดุจพระราชา และพวกเจ้าต่างแคว้นเหล่านี้ได้พยายามที่จะขยายอำนาจของตน จึงเกิดการต่อสู้รบพุ่งซึ่งกันและกันปั่นป่วนไปทั้งแผ่นดิน. ดังนั้นเพื่อประสานสามัคคีธรรมในระหว่างชาติ เล่าจื๊อจึงประกาศสอนธรรมแก่ประชาชนชาวจีนและประกาศลัทธิเต๋าด้วย. ในสมัยเดียวกันนี้ได้เกิดมีนักปราชญ์ขึ้นอีกคนหนึ่งคือขงจื้อ ซึ่งพยายามสอนธรรมเพื่อหวังให้จีนสามัคคีดีกันอีกคนหนึ่ง. ขงจื๊อผู้นี้นับเป็นศาสดาผู้หนึ่งของจีน เป็นต้นศาสนาที่เรียกกันว่าขงจื๊อหรือขงจู๊อันเป็นศาสนาสำคัญอันหนึ่งในประเทศจีน.

ในระหว่างเวลาที่เล่าจื๊อรับราชการมีความปรากฎว่าเล่าจื๊อได้พบกับขงจื๊อ. เหตุที่คนทั้งสองพบกันมีความกล่าวไว้หลายนัย แห่งหนึ่งว่าขงจื๊อไปพบเล่าจื๊อเพื่อไต่ถามถึงจารีตประเพณี และพิธีโบราณเก่าๆ ของแคว้นจิว ซึ่งจะค้นได้ก็ที่หอหลวงเท่านั้น. แห่งหนึ่งว่าขงจื๊อไปพบเล่าจื๊อเพื่อมอบหนังสือเล่มหนึ่งให้เก็บรักษาไว้ในหอสมุดหลวง. แห่งหนึ่งว่าขงจื๊อไปหาเล่าจื๊อเพื่อขอศึกษาลัทธิหรือรับคำสั่งสอนจากเล่าจื๊อโดยตรง. อย่างไรก็ตามได้ความทางประวัติขงจื๊อว่า ขงจื๊อได้ไปเที่ยวเมืองหลวง (คือแคว้นจิว) คราวหนึ่ง และความมุ่งหมายสำคัญก็เพื่อไปพบเล่าจื๊อ ปีที่พบกันอยู่ใน พ.ศ. ๒๖ อายุขงจื๊อราว ๓๕ ปี ส่วนอายุเล่าจื๊อปรากฏตามคำชวังจื๊อผู้เป็นศิษย์ของเล่าจื๊อว่า ๕๑ ปี จึงน่าเชื่อว่าขงจื๊อไปหาเล่าจื๊อเพื่อศึกษา เพราะเล่าจื๊อนั้นถ้าพิจารณาตามตำนานต่างๆ จะเห็นว่าเป็นศาสดาเจ้าลัทธิอันหนึ่งโดยตรงทีเดียว. คำสอนของเล่าจื๊อเป็นไปในทางคดีธรรมแท้ๆ ส่วนขงจื๊อไม่ใช่เจ้าลัทธิ เป็นแต่เพียงนักปราชญ์สั่งสอนนิกรชนให้ประพฤติดีเพื่อประโยชน์ความศุขในชาตินี้ นับว่าเป็นไปในทางคดีโลกเท่านั้น. อนึ่งการพบปะสนทนาของคนทั้งสองก็ปรากฎว่า ขงจื๊อเคารพและยกย่องเล่าจื๊ออยู่ เช่นเมื่อมาพบกันในตอนหนึ่งขงจื๊อได้กล่าวสรรเสริญเยินยอคนโบราณให้เล่าจื๊อฟังยืดยาว เล่าจื๊อพูดตัดบทว่า “คนที่ท่านพูดถึงแหลกเป็นผงไปหมดแล้วจนกระทั่งกระดูก ยังคงอยู่ก็แต่คำพูดของเขาเท่านั้น คนขั้นสูงถ้าประสบช่อง เขาก็ได้ขึ้นรถมีตำแหน่งแห่งที่ ถ้าไม่ประสพช่อง ชีวิตรก็เป็นไปประดุจฟ่อนฟางกะจ้อยร่อยที่กลิ้งอยู่บนทราย ข้าพเจ้าเคยได้ยินว่าพ่อค้าดีคนหนึ่งมีสินค้าเต็มโรงไม่มีทุนสำรองเลย กับคนชั้นสูงประเสริฐพร้อมมีลักษณความโง่เขลาอยู่ภายนอก ข้าแต่ท่าน จงละความทะเยอทะยาน ความปราถนาดิ้นรน ละความเห็นชั่วแล่น ความคิดฟุ้งส้านต่างๆ ของท่านเสียเถิด สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นผลดีแก่ท่านเลย ข้อที่ข้าพเจ้าจะพูดกับท่านก็มีเท่านี้แหละ” ขงจื๊อหมดทางที่จะพูดต่อไปก็ลากลับออกมาพูดกับพวกศิษย์ว่า “เรารู้ว่านกบินได้ รู้ว่าปลาว่ายน้ำได้ รู้ว่าสัตว์วิ่งได้ แม้กระนั้นสัตว์ที่วิ่งได้ก็อาจติดบ่วง ปลาก็อาจติดเบ็ด นกก็อาจถูกลูกธนู แต่มีมังกรอีกอย่างหนึ่ง เราบอกไม่ได้ว่ามังกรนั้นเหาะตามลมเข้ากลีบเมฆขึ้นบนสวรรค์อย่างไร วันนี้เราได้มาเห็นเล่าจื๊อ เห็นว่าพอจะเปรียบกับมังกรได้ทีเดียว” ในตอนหลังขงจื๊อยังได้กล่าวกับศิษย์ของตนอีกว่า “เวลาท่านพูดเราอ้าปากหวอ ลิ้นร่อ จิตต์ใจป่วนชอบกล”.

เล่าจื๊อรับราชการอยู่นานเท่าใดไม่ปรากฎ ในตอนสุดท้ายได้ความว่า เล่าจื๊อสังเกตเห็นความเสื่อมของกษัตริย์ราชวงศ์จิว (เวลานั้นเจ้าแคว้นจิ๋น แคว้นลู้ แคว้นเจ่ กำลังมีอำนาจมาก) ก็เลยลาออกจากราชการ ออกเดิรทางมุ่งตรงไปทางทิศตะวันตก โดยความเชื่อมั่นว่าจะได้พบ “พระผู้ศักดิสิทธิ์ที่สุด” ในทิศตะวันตก (ลัทธินิยมของชาติโบราณในสมัยดึกดำบรรพ์ โดยมากถือว่าแดนทางตะวันตกเป็นแดนที่วิญญาณของผู้ตายไปสู่ แต่ “พระผู้ศักดิสิทธิ์ที่สุด” จะหมายถึงใคร จำเป็นจะต้องค้นหนังสืออธิบายนอกเรื่องกันมาก ของด) เมื่อมาถึงด่านหั้นกูกวน[๒] ยินสีนายด่านผู้เป็นเต้าหยินก็ออกมากระทำปัจจุคมนาการ ต้อนรับท่านศาสดาจารย์เป็นอันดี และได้ยกที่น้ำชาออกมาตั้งรับ เล่าจื๊อจึงนั่งลงดื่มน้ำชาสนทนากันเป็นที่สำราญ (ประเพณีเจ้าบ้านรับแขกด้วยน้ำชาในประเทศจีนเกิดมีขึ้นตั้งแต่ครั้งนี้เป็นทีแรก ชานั้นถือกันว่าเป็นยาอายุวัฒนะ).

ในการสนทนา ยินสีได้ทราบว่าเล่าจื๊อลาออกจากราชการจะไปอยู่ป่าแสวงหาความสุขส่วนตัว ก็ขอให้เล่าจื๊อรจนาคัมภีร์ขึ้นเล่มหนึ่งก่อนที่จะไป. เล่าจื๊อก็รับคำและได้รจนาคัมภีร์ที่เรียกว่า เต้าเต็กเก็งขึ้นเล่มหนึ่ง แบ่งออกเป็นสองหมวด หมวดหนึ่งว่าด้วยเต๋า (แปลว่าทาง) อิกหมวดหนึ่งว่าด้วยเต็ก (แปลว่าความดี) เป็นอักษรราว ๕๐๐๐. เมื่อเขียนเสร็จแล้วเล่าจื๊อก็มอบคัมภีร์ให้ไว้กับยินสี กล่าวคำอำลา เสร็จแล้วก็ออกเดิรทาง สาปศูนย์ไปตั้งแต่นั้น.

เรื่องราวข้างฝ่ายคัมภีร์เต๋าในตอนหลังนี้ มีความว่า เมื่อเล่าจื๊อไปถึงด่านหั้นกูกวน เห็นยินสีนายด่านมีอุปนิสสัยจะเป็นสาวกได้ ก็ยอมพักอยู่ชั่วคราวเพื่อสั่งสอนลัทธิเต๋าให้. ครั้นเล่าจื๊อบอกลา ยินสีก็วิงวอนขอตามไปด้วย แต่เล่าจื๊อห้ามไว้ ยินสีจึงขอให้เล่าจื๊อแต่งคัมภีร์ว่าด้วยลัทธิเต๋าขึ้น คือคัมภีร์เต้าเต็กเก็ง.

ในตอนจะออกเดิรทาง มีอุปสัคเกิดขึ้น โดยคนใช้ชื่อซิวเกียซึ่งรับใช้เล่าจื๊อมา ๒๐๐ ปีโดยไม่ได้รับค่าจ้าง รู้ว่านายจะเดิรทางไปโดยไม่มีกำหนด ก็ทวงค่าจ้างที่ค้าง คิดเป็นเงินราว ๑๑๖,๐๘๐ บาท แต่เรื่องนี้ซิวเกียกลัวเล่าจื๊อ ไม่กล้าเข้าหน้า ได้ขอให้ผู้ชอบพอคนหนึ่งไปพูดกับยินสีให้ช่วยจัดการให้. ผู้ชอบพอคนนั้นคิดว่าซิวเกียรวยก็จะยกบุตรสาวสวยให้เป็นภรรยา ซึ่งทำให้ซิวเกียมีน้ำใจมั่นคงขึ้น. เมื่อความทราบถึงเล่าจื๊อ เล่าจื๊อเรียกตัวซิวเกียไปว่า “เราจ้างเจ้าทำงานอย่างเบาที่สุด ฐานะของเจ้ายากจน ไม่มีใครที่เขาจะจ้างเจ้าเช่นนี้ เราได้ให้เครื่องรางอายุวัฒนะแก่เจ้า เพราะของนี้อันเดียวเจ้าจึงอยู่มาได้จนทุกวันนี้ แล้วเหตุไฉนเจ้าจึงลืมบุญคุณที่เรามีอยู่กับเจ้าเป็นนักเป็นหนา โดยทำให้เราได้รับคำครหานินทาเช่นนี้. บัดนี้เราจะออกเดิรทางไปสู่ทะเลตะวันตก (ทะเลคัสเปียน) ตั้งใจจะแวะอาณาจักร์ตาจิ๋น (โรมันเอมไปร์) อาณาจักร์เคปิน (คาบูล) อาณาจักร์ตินชู (อินเดีย) อาณาจักร์กันเซ (ปาร์เทีย) ให้เจ้าทำหน้าที่สารถีขับรถไป เมื่อกลับมาเราจะใช้ที่เราเป็นหนี้เจ้าให้หมด” แต่ซิวเกียก็คงปฏิเสธไม่ยอมรับ. เมื่อเป็นเช่นนี้ เล่าจื๊อจึงสั่งให้ซิวเกียเอนตัวเข้าไป แล้วให้อ้าปากขึ้น ทันใดนั้นเครื่องรางก็หลุดออกมาจากริมฝีปาก ร่างกายกลายเป็นกองกระดูกขาวไปในทันที.

ตามคำอ้อนวอนของยินสี ซิงเกียกับมีชีวิตใหม่ ได้รับค่าจ้างราว ๑๗,๘๐๐ บาทแล้วก็ออกจากหน้าที่. เมื่อหมดอุปสัคแล้ว เล่าจื๊อก็ลาผู้รักษาด่าน ขึ้นขี่เมฆหายไปในท้องฟ้า.

มีข้อความในบางคัมภีร์กล่าวถึงเล่าจื๊อในตอนออกจากด่านหั้นกูกวนไปสู่ป่า ซึ่งควรจะนำมาเล่าไว้ในที่นี้อีกเล็กน้อย. ในนั้นกล่าวว่าเมื่อเล่าจื๊อออกจากด่านไปแล้ว ได้ไปนั่งบำเพ็ญฌาณอยู่ใต้ต้นหม่อน ๓ ราตรี มีสตรีทรงโฉมสคราญตาพากันไปยั่วยวนเล่าจื๊อแต่เล่าจื๊อรำพึงว่า “นางงามเหล่านี้เป็นแต่เพียงถุงหนังใส่เลือดเข้าไว้เต็ม หากไม่มองและไม่พูดด้วยเสียอย่างเดียว เต๋าก็ย่อมสำเร็จได้. ทุกวันนี้นารีรุ่นกำดัดกับสัตรีทรงโฉมเป็นเหมือนของประเสริฐของโลก ส่วนการเลี้ยงชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยกับเหล้าก็ทำให้จรรยาของประเทศเสียหมด”

เรื่องราวของเล่าจื๊อตามคัมภีร์เต๋า เราจะเห็นว่าเป็นไปในทำนองเดียวกับลัทธิพราหมณ์ มีกล่าวถึงอวตารปางต่างๆ ของเล่าจื๊อดังกล่าวแล้ว แต่ประวัติส่วนตัวเล่าจื๊อโดยมากกลายมาคล้ายคลึงกับลัทธิพุทธศาสนาแทบทั้งหมด. ตอนเล่าจื๊อเกิด มีกล่าวถึงว่าคลอดใต้ต้นลี้แล้วเหาะขึ้นไปบนอากาศ ร้องว่า “ในฟ้าเบื้องบนและดินเบื้องล่าง เต๋าเท่านั้นควรเป็นที่สักการะ” ก็คล้ายกับตอนพระพุทธเจ้าประสูติ ซึ่งมีความกล่าวไว้ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาว่าประสูติใต้ต้นรัง ย่างพระบาทไปเจ็ดก้าวตรัสออกมาว่า “อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺมี” แปลว่า “อาตมานี้ประเสริฐใหญ่ยิ่งในโลก หาผู้จะประเสริฐเสมอบมิได้”. ตอนเล่าจื๊อออกไปสู่ป่าที่กล่าวไว้ข้างบนก็คล้ายคลึงกับตอนพระพุทธเจ้าเสด็จออกสู่มหาภิเนษกรม ได้ตรัสรู้แก่พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เสด็จไปประทับภายใต้ไม้โพธิ์ มีนางตัณหา นางราคา นางอรดี มาฟ้อนรำยั่วยวน และพระพุทธองค์ได้ยกเอาเหตุนี้ขึ้นกล่าวในเรื่องนางสามาวดี ตอนพราหมณ์มาคัณฑียะพาลูกสาวไปถวายว่า “ทิสฺวาน ตัณฺหํ อรติญฺจ ราคํ นาโหสิ ฉนฺโท อปิ เมถุนสฺมี กิเมวิทํ มุตฺต กรีสปุณฺณํ ปาทาปิมํ สมฺผุสิตุํ น อิจฺเฉ” แปลว่า “แม้ได้เห็นนางตัณหา ราคา อรดี เราก็ยังไม่มีความพอใจในเมถุน ร่างกายธิดาของท่านเต็มไปด้วยมูตรและคูธ ไฉนจักมีความพอใจเล่า แม้แต่เท้าก็ไม่อยากแตะต้อง.” การที่ประวัติของเล่าจื๊อในลัทธิเต๋ามาคล้ายกับลัทธิพราหมณ์และลัทธิพุทธศาสนาดังว่ามานี้ จะถือว่าถ่ายจากกันหรือไม่ ก็แล้วแต่ท่านผู้อ่านจะวินิจฉัย.

อย่างไรก็ตาม ความจริงมีอยู่ว่า เล่าจื๊อได้ออกจากราชสำนักกษัตริย์ราชวงศ์จิวไปสู่ป่า แล้วก็สาปศูนย์ไปไม่ปรากฎเรื่องราวมาแต่นั้น. มีความบางแห่งกล่าวว่าเล่าจื๊อมีบุตร์ชายคนหนึ่ง ชื่อ จุง ได้เป็นแม่ทัพในแคว้นไหว ต่อมาได้รับที่ดินเป็นบำเหน็จความชอบที่ตำบลตวนกัน. สกุลของเล่าจื๊อนับตั้งแต่จุง สืบลงมาโดยตรงได้ห้าชั่วคน คนสุดท้ายตั้งภูมิลำเนาอยู่ในแคว้นเจ่ ต่อจากนั้นก็ขาดตอน รู้ไม่ได้ว่าไปอย่างไรต่อไป.

ตรงบ้านเกิดของเล่าจื๊อที่ตำบลคูยิ้ง มีศาลสร้างไว้เป็นที่ระลึกในท่านศาสดาจารย์ผู้นี้. ในรัชชสมัยของพระเจ้าฮวนตี่กษัตริย์องค์ที่ ๑๐ ในราชวงศ์ตั้งฮั่นซึ่งทรงราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๖๙๐ ถึง พ.ศ. ๗๑๑ ลัทธิเต๋าเฟื่องฟูขึ้น จึงมีพิธีเซ่นไหว้เป็นของหลวงณที่ศาลมาตั้งแต่ครั้งนั้น.

สุภาษิตเล่าจื๊อที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ อยู่ในคัมภีร์กันยิงปิน แปลเป็นคำไทยว่า คัมภีร์รางวัลและโทษทัณฑ์. ใครเป็นผู้รวบรวมและรวบรวมขึ้นเมื่อไรไม่ได้ความชัด แต่นักปราชญ์ฝรั่งสันนิษฐานว่าคงรวบรวมมากว่า ๔๐๐ ปี เป็นของที่นับถือกันว่าดีที่สุดเรื่องหนึ่งในจำพวกคำสอนของจีน ตามโรงพิมพ์ต่างๆ พิมพ์กันไม่ขาด โดยมีผู้ศรัทธาสร้างขึ้นแจกคนขัดสนที่ไม่มีเงินซื้อเรื่อยอยู่เสมอ. ภาษาไทยนี้แปลจากภาษาฝรั่ง ซึ่งเขาแปลจากภาษาจีนอิกต่อหนึ่ง จึงหวังว่าจะได้รับอภัยในข้อผิดพลั้งคลาดเคลื่อน.

กาญจนาคพันธ์



[๑] ประวัติเล่าจื๊อนี้ข้าพเจ้าแต่งจากหนังสือหลายเล่ม และฉะเพาะประโยคนี้วรรคเดียว ข้าพเจ้าตัดตอนแปลจากภาษาอังกฤษว่า “disturbed the harmonies of heaven and earth” ซึ่งที่จริงไม่ตรงเลย แต่เห็นว่าถ้าแปลอย่างอื่นจะยืดยาวเข้าใจยาก จึงใช้สำนวนเก่า ซึ่งพวกเราออกจะเข้าใจกันดี.

[๒] คำฝรั่งเรียก Gate ตรงกับประตูเมือง แต่ขอเรียกว่าด่าน เพราะมีคำว่า “กวน” อนึ่งคำว่าด่านนั้นฟังเข้าที เปนจีนๆ ดีด้วย ทุกวันนี้อยู่ในเมืองลิวเปา ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลไฮนาน.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ