สุธนูกลอนสวด
สุรางคนางค์
๑ ยอกรประนม | |
ยกขึ้นบังคม | เหนือเกล้าเกศา |
วันทาบรมบาท | โลกนาถศาสดา |
เป็นปิ่นโลกา | ไตรภพทั้งสาม |
๒ ไหว้โลกุตรธรรม | |
ทั้งเก้าเลิศล้ำ | นพโลกทรงนาม |
ได้แจ้งประจักษ์ | ไตรลักษณ์ทั้งสาม |
โปรดสัตว์ให้ข้าม | ลุล่วงนิฤๅพาน |
๓ ข้าไหว้พระสงฆ์ | |
สาวกพระองค์ | ทรงศีลาจาร |
เป็นเนื้อนาบุญ | สืบสาวแน่นาน |
ได้บำเพ็งทาน | จำศีลภาวนา |
๔ ข้าไหว้ทั้งสาม | |
จิตจงปลงงาม | ด้วยความปรารถนา |
ขอให้กำจัด | ทุกข์ภัยโรคา |
อย่าให้บีฑา | แก่ข้าสืบไป |
๕ ครั้งหนึ่งพระบาท | |
สมเด็จโลกนาถ | สถิตอยู่ใน |
พระเชตุพน | วิหารเรืองไชย |
แทบใกล้กรุงไกร | เมืองสาวัตถี |
๖ พระยอดไตรภพ | |
ทรงพระปรารภ | พญามารไพรี |
ให้เป็นมูลเหตุ | แห่งพระชินศรี |
เบื้องหน้าจึงมี | พระธรรมเทศนา |
๗ วันหนึ่งหมู่สงฆ์ | |
โอรสพระองค์ | นั่งในศาลา |
ชวนกันสรรเสริญ | สมเด็จศาสดา |
ทรมานมารา | เห็นเป็นอัศจรรย์ |
๘ ฤทธิ์เดชพญามาร | |
กับทั้งบริวาร | ยิ่งยวดกวดขัน |
พ่ายแพ้อานุภาพ | พระเจ้าด้วยพลัน |
ดั่งหมู่แมลงวัน | บินเข้ากองไฟ |
๙ เมื่อสงฆ์สนทนา | |
สมเด็จศาสดา | เสด็จอยู่ใน |
มหาวิหาร | ทรงแจ้งทันใด |
พุทธลีลาไคล | สู่ธรรมศาลา |
๑๐ สมเด็จพระชินศรี | |
พระองค์จึงมี | พระพุทธฎีกา |
ตรัสถามพระสงฆ์ | ว่าสงฆ์สนทนา |
ด้วยมูลกิจจา | นุกิจสิ่งใด |
๑๑ พระสงฆ์เถรา | |
รับพุทธฎีกา | กราบทูลฉลองไป |
ตามเรื่องนุสนธิ์ | แต่ต้นแถลงไข |
ให้ทราบพระทัย | ที่ได้สนทนา |
๑๒ สมเด็จทศพล | |
ได้ฟังอนุสนธิ์ | จึงตรัสเทศนา |
ว่าตถาคต | ทรมานมารา |
ครั้งนี้แลนา | ไม่สู้อัศจรรย์ |
๑๓ แรกสร้างบารมี | |
หน่อเนื้อชินศรี | ทรมานโกนดัน[๑] |
ยักษาธิราช | ก็เป็นอัศจรรย์ |
พระชาติครั้งนั้น | ชื่อสุธนู |
๑๔ ตรัสธรรมเทศนา | |
สังเขปกถา | แล้วทรงนิ่งอยู่ |
(สงฆ์ปองสดับ) | เรื่องสุธนู |
สมเด็จสัพพัญญู | จึงตรัสเทศนา |
๑๕ ฟังพระชินศรี | |
ภิกขุภิกขุณี | อุบาสกสีกา |
ประชุมพร้อมกัน | ในธรรมศาลา |
จึงตรัสเทศนา | รื้อเรื่องสืบไป |
๑๖ ว่าสงฆ์บริวาร | |
ยังมีนิทาน | ล่วงลับแล้วไกล |
มีกระษัตรา | อานุภาพชาญไชย |
ได้ผ่านโภไคย | กรุงสาวัตถี[๒] |
๑๗ มีนามบัญญัติ | |
ชื่อท้าวพรหมทัต | ฦๅทั่วธรณี |
มหึมาปรากฏ | พระยศเรืองศรี |
จบสกลธานี | ไม่มีเทียมทัน |
๑๘ มีพระมเหสี | |
ชื่อเกศนี | เป็นศรีสุดาจันทร์ |
มีนางพระสนม | ถ้วนหมื่นหกพัน |
อรองค์นางนั้น | ล้วนกัลยาณี |
๑๙ ท้าวเสวยไอศวรรย์ | |
ทศพิธเที่ยงธรรม์ | ตามราชประเพณี |
ราษฎรไพร่ฟ้า | เป็นมหาสุขี |
สุขเขษมเปรมปรีดิ์ | ทั่วทั้งพารา ๚ะ |
ฉบัง
๒๐ บัดนั้นไพร่ฟ้าประชากร | นั่งพร้อมสโมสร |
แล้วชวนกันสังสนทนา | |
๒๑ เถิงพระปิ่นปกเกศา | ไร้พระธิดา |
ทั้งโอรสาสืบสาย | |
๒๒ พระองค์สิ้นชีพวางวาย | เราท่านทั้งหลาย |
บ่ายหน้าไปพึ่งผู้ใด | |
๒๓ คิดแล้วชวนกันคลาไคล | ถือธูปเทียนไป |
พร้อมกันในหน้าพระลาน | |
๒๔ ร้องทูลบังคมในสถาน | โปรดข้าสมภาร |
อย่าให้เป็นคนอนาถา | |
๒๕ บัดนั้นพระปิ่นกระษัตรา | เปิดแกลแลมา |
ก็เห็นฝูงราษฎร์ประชาชน | |
๒๖ ตรัสถามอำมาตย์บัดดล | ว่าฝูงประชาชน |
ทุกคนปรารถนาสิ่งอันใด | |
๒๗ อำมาตย์บังคมทูลไป | จงทราบพระทัย |
ไพร่ฟ้ามีใจปรารถนา | |
๒๘ พระราชโอรสธิดา | หน่อเนื้อกระษัตรา |
สืบพระวงศาต่อไป | |
๒๙ สดับสารโองการตรัสไข | ว่าชอบขอบใจ |
จงชวนกันไปถิ่นฐาน | |
๓๐ ขับแล้วจึงมีโองการ | ตรัสแก่เยาวมาลย์ |
พระสนมทั้งหมื่นหกพัน | |
๓๑ ท่านจงประชุมชวนกัน | คำรพอภิวันท์ |
บวงสรวงฝูงเทพเทวา | |
๓๒ ให้มีโอรสธิดา | ตามความปรารถนา |
อย่าได้ประมาทลืมตน | |
๓๓ ชวนกันบวงสรวงทุกคน | ทุกเทพพิมล |
วิมานแห่งเทพเทวา | |
๓๔ อันสิงสู่อยู่ในพฤกษา | กราบไหว้บูชา |
บวงสรวงทั้งหมื่นหกพัน | |
๓๕ นางใดมิได้ทรงครรภ์ | ไม่เห็นอัศจรรย์ |
ชวนกันละห้อยน้อยใจ | |
๓๖ สมเด็จเกศนีศรีใส | นางปลงพระทัย |
ในอุโบสถศีลา | |
๓๗ แล้วตั้งปณิธานปรารถนา | ขอให้อาตมา |
มีราชโอรสสดศรี | |
๓๘ ด้วยเดชะศีลเทวี | แท่นทิพโกสีย์ |
ให้ร้อนกระด้างบันดาล | |
๓๙ บัดนั้นสมเด็จมัฆวาน | ท้าวเธอส่องญาณ |
ก็รู้ด้วยทิพนัยนา | |
๔๐ ควรเราช่วยทุกข์นางพญา | จงอาราธนา |
เทวบุตรให้มาปฏิสนธิ์ | |
๔๑ แล้วเสด็จจากทิพไพชยนต์ | ลงมาบัดดล |
ลุเถิงปราสาทเรืองศรี | |
๔๒ นั่งแนบพระกรรณเทวี | ใกล้สว่างสูรย์ศรี |
บอกแถลงให้แจ้งทันใจ | |
๔๓ เพลาออกบัญชรไชย | มีเหยี่ยวตัวใหญ่ |
คาบพุทรามาตกลง | |
๔๔ นางเสวยชอบใจประสงค์ | เม็ดในนางทิ้งลง |
นางลาก็กินเข้าไป | |
๔๕ เกิดบุตรเป็นอาชาไนย | จงชอบพระทัย |
บอกแล้วเหาะไปไพรชน | |
๔๖ นางประทมตื่นขึ้นบัดดล | แหนงจิตคิดฉงน |
แล้วกลับทรงศีลสังวร | |
๔๗ ครั้นเช้านั่งหน้าบัญชร | เหลือบเล็งอัมพร |
เห็นเหยี่ยวคาบผลพุทรา | |
๔๘ ตกลงตรงพักตร์นางพญา | เสวยผลพุทรา |
แล้วทิ้งเม็ดในทันใด | |
๔๙ นางลาพบกินเข้าไป[๓] | เหมือนท้าวสหัสนัยน์ |
บอกไว้ให้แจ้งเที่ยงธรรม์ | |
๕๐ เทวบุตรจุติจากสวรรค์ | ปฏิสนธิ์ในครรภ์ |
สมเด็จน้องท้าวเกศนี | |
๕๑ ฝ่ายท้าวพรหมทัตเรืองศรี | จัดให้นารี |
รักษามิ่งมิตรเมียขวัญ | |
๕๒ แล้วให้จัดนางกำนัล | รักษาพระครรภ์ |
จนเถิงถ้วนทศมาสา | |
๕๓ จึงประสูติหน่อเนื้อกระษัตรา | ฝูงเทพเทวา |
มาช่วยรักษาพร้อมกัน | |
๕๔ โฉมเฉิดเลิศลบจบสวรรค์ | ไม่มีใครทัน |
ด้วยพระลูกแก้วสบสมัย | |
๕๕ นางลาคลอดลูกทันใด | เป็นอาชาไนย |
ร่วมคืนร่วมวันทันยาม | |
๕๖ เที่ยวอยู่กลางกรุงไม่ขาม | พาชีมีนาม |
ชื่อมณีกากอาชา[๔] | |
๕๗ ฝ่ายท้าวพรหมทัตราชา | สมโภชลูกยา |
มหรสพครบครัน | |
๕๘ ตั้งบายศรีทองเชิญขวัญ | พระลูกทรงธรรม์ |
เป็นมิ่งมงกุฎกรุงศรี | |
๕๙ ถวายนามตามลักษณ์อันมี | พระลูกโฉมศรี |
ชื่อสุธนูกุมาร | |
๖๐ เลี้ยงโลมโฉมลูกสงสาร | ทุกข์ภัยไม่พาน |
สำราญสุขสวัสดิอัตรา | |
๖๑ ทรงลักษณ์เลิศล้ำนาถา | ทรงจำเริญวัฒนา |
ชันษาก็ได้สิบหกปี | |
๖๒ สรรเสริญพระยศทุกกรุงศรี | จบสกลธานี |
ไม่มีใครเปรียบเทียบไท | |
๖๓ เชี่ยวชาญพระแสงธนูไชย | หมู่อรินทร์บรรลัย |
สยบแสยงเข็ดขาม | |
๖๔ ฝ่ายท้าวพรหมทัตทรงนาม | ตรัสให้โหรพราหมณ์ |
หาฤกษ์พระราชพิธี | |
๖๕ จะเสกพระยอดกรุงศรี | กับกเรณุวดี |
แลนางร้อยเอ็ดกรุงไกร | |
๖๖ ตั้งการพิธีโรงไชย | เสร็จแล้วท้าวไท |
ให้เชิญพระยอดเสนหา | |
๖๗ แล้วผูกม้าต้นรจนา | จะให้พระลูกยา |
เสด็จไปโรงพิธี | |
๖๘ ฝ่ายพระสุธนูเรืองศรี | ตรัสว่าม้านี้ |
ไม่เหมือนมณีกากอาชา | |
๖๙ เกิดใต้ตำหนักพระมารดา | เรืองฤทธิ์อิศรา |
ดีกว่าม้าต้นตัวทรง | |
๗๐ บัดนั้นนายม้าฤทธิรงค์ | ผูกอัสดรทรง |
จำนงมณีกากอาชา | |
๗๑ ประดับเครื่องเรืองรัตน์อัสสา | ใสสดรจนา |
หูตาเพริศพริ้งยิ่งยง | |
๗๒ ทรงพระแสงธนูไชยบรรจง | เยื้องย่างอย่างหงส์ |
ทรงมณีกากอาชา | |
๗๓ โฉมเฉิดเลิศลบเลขา | ดังองค์อินทรา |
เสด็จมาสู่สวนอุทยาน | |
๗๔ เสนามนตรีทวยหาญ | ตั้งแห่กุมาร |
จะไปสู่โรงพิธี | |
๗๕ ม้าแก้วมณีกากเรืองศรี | พาพระภูมี |
เหาะไปในกลางอัมพร | |
๗๖ ตกตะลึงแลดูสลอน | สิ้นทั้งพระนคร |
เอิกเกริกเป็นโกลาหล | |
๗๗ สงสารไพร่ฟ้าประชาชน | เมื่อหน่อทศพล |
ม้าแก้วพาเหาะหนีไป | |
๗๘ ตีอกร้องไห้ร่ำไร | วิ่งลนลานไป |
มิได้จะเป็นสมประดี | |
๗๙ สมเด็จนางนาฏมเหสี | ผู้เป็นชนนี |
ตีทรวงแล้วทรงโศกา | |
๘๐ ทั้งพระบิตุเรศนาถา | พระญาติวงศา |
พระสนมทั้งหมื่นหกพัน | |
๘๑ กันแสงเถิงพระทรงธรรม์ | เพียงจักอาสัญ |
ด้วยพระมงกุฎกรุงศรี | |
๘๒ ฝ่ายท้าวพรหมทัตภูมี | ปลอบแก้วเกศนี |
ผู้เป็นมิ่งมิตรเมียขวัญ[๕] | |
๘๓ เจ้าอย่าโศกาจาบัลย์ | บุตรเราทรงธรรม์ |
กฤษฎาธิการมหึมา | |
๘๔ อาจปราบมนุษย์ยักษา | เจ้าอย่าโศกา |
ไม่ช้าจะคืนยังกรุงศรี ๚ะ |
ยานี
๘๕ บัดนั้นพระลูกยา | เห็นอาชาพาเหาะหนี |
กริ้วโกรธคืออัคคี | จะฟาดฟันให้บรรลัย |
๘๖ คิดแล้วพระทรงธรรม์ | ชักพระขรรค์ออกทันใด |
จะฆ่าอาชาไนย | ให้เศียรขาดลงทันที |
๘๗ ม้าแก้วทูลทันใด | พระอย่าได้โกรธพาชี |
ใช่ว่าจะพาหนี | ให้เสียทีที่ประสงค์ |
๘๘ จะพาพระเหาะไป | ให้ท้าวไทได้อนงค์ |
หานางให้พระองค์ | เป็นเมียมิ่งปิ่นสุดา |
๘๙ บิดาหามาไว้ | จะเสกให้ครองพารา |
ไม่เหมือนเท่าข้าหา | ยิ่งสุดาทั้งแดนไตร |
๙๐ ไปเถิดพระยอดรัก | พ่อบุญหนักอย่าสงสัย |
จะพาพระองค์ไป | ให้ที่ดียิ่งแดนดิน |
๙๑ พระฟังพาชีว่า | พระราชาคิดถวิล |
จะใคร่ได้พระยุพิน | ให้เลิศล้ำในโลกี |
๙๒ คิดแล้วพระภูธร | ยอพระกรอัญชุลี |
กราบลาพระชนนี | ทั้งบิตุเรศแลวงศา |
๙๓ ลูกรักจักลาไป | หาอรไทดังจินดา |
ได้แล้วจักกลับมา | กราบบาทาพระชนนี |
๙๔ พระองค์กราบลาแล้ว | เตือนม้าแก้วผู้เรืองศรี |
จะไปให้ได้ดี | ตามพาชีจะพาไป |
๙๕ ม้าแก้วรับพจนารถ | พาพระบาทเหาะคลาไคล |
กราบทูลพระภูวไนย | ข้าเคยไปทุกตำบล |
๙๖ ม้าพาทุกธานี | ทุกกรุงศรีเหาะเหิรหน |
เที่ยวเสาะสิ้นตำบล | ให้จุมพลประจักษ์ใจ |
๙๗ กรุงหนึ่งมหึมา | กระษัตราผ่านโภไคย |
พระนามของท้าวไท | ชื่อเสตราชผู้เรืองศรี |
๙๘ ท้าวไทได้ผ่านภพ | เลื่องฦๅจบทุกธานี |
เป็นปิ่นปักกรุงศรี | ชื่อเสตราชพระนคร |
๙๙ มีอัครชายา | ทรงลักขณายิ่งอัปสร |
เป็นศรีพระนคร | ชื่อประทุมคัพภา |
๑๐๐ มีราชบุตรี | เลิศนารีในโลกา |
ชื่อนางจีรัปภา | ยิ่งธิดาในแดนไตร |
๑๐๑ ม้าแก้วจึงกราบทูล | นเรนทร์สูรจงวินิจฉัย |
ในโลกไม่มีใคร | จะเปรียบได้เทียมทันนาง |
๑๐๒ กราบทูลให้แจ้งใจ | พระภูวไนยอย่าคิดหมาง |
รัศมีที่กายนาง | หกศอกสว่างรุ่งเรืองศรี |
๑๐๓ พระองค์จงเสด็จไป | หาอรไทในราตรี |
เล้าโลมโฉมมารศรี | ให้เทวีเสนหา |
๑๐๔ กุมารสดับสารตอบ | ว่านี้ชอบนะอาชา |
มาตรแม้นนางกัลยา | ไม่กรุณาทำไฉน |
๑๐๕ ไปทูลพระบิดุเรศ | ให้แจ้งเหตุในทันใด |
จะจับกุมเราไว้ | คิดไฉนนะพาชี |
๑๐๖ ม้าแก้วจึงตอบสาร | พระกุมารผู้โฉมศรี |
ไว้ข้าผู้พาชี | ปราบไพรีให้บรรลัย |
๑๐๗ จะเชิญพระภูมี | กับเทวีในทันใด |
ขึ้นหลังอาชาไนย | พาเหาะไปยังกรุงศรี[๖] |
๑๐๘ พระองค์เสด็จไป | หยุดอาศัยร่มพฤกษา |
ตรัสสั่งม้าอาชา | จงกินหญ้ารักษาองค์ |
๑๐๙ แล้วสั่งม้าอาชา | หามาลาตามประสงค์ |
ทรงร้อยค่อยบรรจง | เป็นมาลัยได้ครบครัน |
๑๑๐ ครั้นย่ำค่ำราตรี | ปลอบพาชีแล้วรับขวัญ |
สหายเกิดร่วมวัน | ดั่งดวงเนตรอาตมา |
๑๑๑ พาข้าเหาะเข้าไป | หาอรไทในพารา |
ส่งข้าแล้วกลับมา | คอยรับข้าอย่าไปไกล |
๑๑๒ ตรัสแล้วพระยอดฟ้า | ขึ้นอาชาแล้วเหาะไป |
ยอกรขึ้นกราบไหว้ | เทพไททุกเทวา |
๑๑๓ เดชะพระบารมี | คุณชนนีแลบิดา |
จงช่วยเกล้าเกศา | พบกัลยาจงประสงค์ |
๑๑๔ ม้าแก้วพาเหาะไป | ส่งภูวไนยดังจำนง |
เถิงปรางค์นางโฉมยง | ส่งท้าวแล้วเหาะกลับมา |
๑๑๕ พระองค์จึงขึ้นไป | ที่ปรางค์ในกัลยา |
เจ็ดชั้นมหึมา | ดังเทวามาสาปสรร |
๑๑๖ นักสนมมานอนเรียง | พระพี่เลี้ยงแลกำนัล |
เทียนยามตามทุกชั้น | นางนั่งยามงามไสว |
๑๑๗ นั่งยามทั้งเจ็ดชั้น | จ่าโขลนคั่นทุกชั้นไป |
ท้าวนางเอาใจใส่ | เป็นสารวัตรจัดแจงการ |
๑๑๘ เดชะพระบารมี | หน่อชินศรีสร้างสมภาร |
เสด็จเถิงพระทวาร | ไม่มีผู้จะทักทาย |
๑๑๙ หลับใหลไปหมดสิ้น | หน่อนรินทร์ (เธอเยื้องกราย) |
เสด็จได้ง่ายดาย | ทั้งเจ็ดชั้นอันลับตา |
๑๒๐ เสด็จเถิงชั้นในแล้ว | มีฉากแก้วงามรจนา |
เห็นองค์จีรัปภา | นางนิทราบนแท่นทอง |
๑๒๑ ประทุมพระพี่เลี้ยง | นอนแอบเคียงแท่นเป็นสอง |
พระนั่งริมเขนยทอง | ชมพักตร์น้องงามมีศรี |
๑๒๒ งามจริงยิ่งมนุษย์ | โฉมบริสุทธิ์เฉลิมโลกี |
สมคำม้าพาชี | ที่ว่าไว้ไม่ผิดเลย |
๑๒๓ บรรทมเหนือแท่นทอง | พระท้าวน้องมานิ่งเฉย |
แสนสวาดิของเรียมเอย | พระทรามเชยมาหลับใหล |
๑๒๔ พระถดบนแท่นทอง | ใกล้พระน้องในทันใด |
ชมโฉมนางอรไท | ยอดพิสมัยในโลกี |
๑๒๕ พิศพักตร์พักตร์ผ่องแผ้ว | ดั่งดวงแก้วรุ่งรัศมี |
พระปรางนางเทวี | ดั่งปรางทองผ่องพิศวง |
๑๒๖ พระเกศนางนีฤๅมล | ดุจกลกลีบบุษบง |
พิศสองพระขนง | กงกลมค้อมดังเกาทัณฑ์ |
๑๒๗ นาสาดูพรายแพรว | เปรียบขอแก้วงามสรรพสรรพ์ |
พระเต้าทั้งสองนั้น | ดั่งประทุมมาศดอกบัวทอง |
๑๒๘ ไหนไหนเรียมหาจบ | ไม่พานพบเปรียบเถิงสอง |
หาไหนได้เหมือนน้อง | ไม่มีสองในโลกี |
๑๒๙ ชมพลางพลางรับขวัญ | วรแจ่มจันทร์มิ่งมารศรี |
ปฐมยามราตรี | จนปัจจุสมัยใกล้ทิวา |
๑๓๐ พระจับพวงมาลัย | คล้องเข้าในพระหัตถา |
พระกรแก้วกัลยา | ม้ามารับพระกลับไป |
๑๓๑ ค่ำค่ำพระกลับมา | ชมพนิดายอดพิสมัย |
แล้วคล้องพวงมาลัย | มาแล้วไปสามราตรี ๚ะ |
สุรางคนางค์
๑๓๒ นางจีรัปภา | |
ตื่นจากนิทรา | เห็นพวงมาลี |
คล้องข้อพระหัตถ์ | แห่งนางโฉมศรี |
ตรัสเรียกนารี | พี่เลี้ยงทันใด |
๑๓๓ ประทุมพี่เลี้ยง | |
อันอยู่ใกล้เคียง | รับสั่งทรามวัย |
นางว่าพี่ค่อม | ผู้ร่วมหฤทัย |
จงเข้ามาใกล้ | น้องนี้หน่อยนา |
๑๓๔ พี่ร้อยมาลัย | |
แกล้งทำลองใจ | ข้าหรือไรนา |
คล้องกรน้องไว้ | หลากใจหนักหนา |
พี่จงบอกข้า | อย่าได้อำพราง |
๑๓๕ พี่เลี้ยงกราบทูล | |
แม่อย่าอาดูร | ปลงจิตคิดขนาง |
พี่นี้มิได้ | ลอบล่วงใจนาง |
นอนคอยเคียงข้าง | ไม่เห็นผู้ใด |
๑๓๖ นางปิ่นกระษัตริย์ | |
ทราบสารแล้วตรัส | พิศวงสงสัย |
พี่ว่าดั่งนี้ | จะมีผู้ใด |
เข้ามาเถิงใน | เจ็ดชั้นปรางค์ศรี |
๑๓๗ ข้าสงสัยนัก | |
จะได้ท้วงทัก | ผู้ใดไม่มี |
ฤาว่าครุฑา | กินรายักษี |
ฤาว่ามาตุลี | ลอบลักรักเรา |
๑๓๘ พี่เจ้าจงนึก | |
รักน้องตรองตรึก | ตื้นลึกหนักเบา |
น้องนี้เฉาโฉด | หืฤๅโหดเคลิ้มเขลา |
ใครจะเชื่อเรา | พี่น้องสองคน |
๑๓๙ รำพึงคำนึงนัก | |
ใคร่แจ้งประจักษ์ | น้อยจิตคิดฉงน |
แต่เช้าเท่าค่ำ | ย่ำฆ้องบัดดล |
จนพระสูริยน | ลับเหลี่ยมยุคุนธร |
๑๔๐ เพลาราตรี | |
สมเด็จเทวี | ทรงพระอนุสร |
มิได้เว้นวาย | หายความอาวรณ์ |
จนทรามบังอร | บรรทมหลับใหล |
๑๔๑ ครั้นเช้าเพลา | |
ตื่นจากนิทรา | เห็นพวงมาลัย |
นางเร่งกลุ้มกลัด | อัศจรรย์ใจ |
ฤๅองค์เทพไท | ครุฑานาคี |
๑๔๒ ถามพี่ร่วมจิต | |
คำนึงพึงคิด | เถิงพวงมาลี |
มีผู้ลักลอบ | เข้ามาปรางค์ศรี |
ชายผู้มานี้ | บารมีหนักหนา |
๑๔๓ เพลาราตรี | |
พี่คอยท่วงที | ชายเคยเข้ามา |
จับกุมตัวไว้ | จะได้เจรจา |
พี่พึงน้องว่า | อย่าได้หลับใหล |
๑๔๔ พี่เลี้ยงรับสั่ง | |
แล้วคอยระวัง | มิได้นอนใจ |
หาวนอนล้างหน้า | ใส่ยาตาไป |
จะจับให้ได้ | ดังใจจินดา |
๑๔๕ บัดนั้นพระแก้ว | |
ร้อยมาลัยแล้ว | รัญจวนครวญหา |
เมื่อไรจะค่ำ | ย่ำแสงพระสูริยา |
จะได้ไปหา | วรนุชดวงสมร |
๑๔๖ ยกมือขึ้นไหว้ | |
พระสูริโยทัย | เร่งขับรถจร |
จะได้คลาไคล | ไปหาบังอร |
เชิญพระภูธร | อย่าช้าเร่งไป |
๑๔๗ เพลาราตรี | |
พระขึ้นพาชี | เหาะเข้าวังใน |
มิ่งม้ากราบทูล | พระผู้เลิศไกร |
ราตรีนี้ไซร้ | พระให้ได้ความ |
๑๔๘ แม้นนางอรไท | |
ตื่นขึ้นจับได้ | ซักไซ้ไถ่ถาม |
ตรัสตอบจงดี | ถี่ถ้อยทางความ |
อย่าให้โฉมงาม | ระคายเคืองใจ |
๑๔๙ สั่งแล้วมิช้า | |
ม้าแก้วอาชา | สั่งพระภูวไนย |
เสร็จแล้วอาชา | กลับมาทันใด |
พระภูวไนย | ขึ้นสู่ปรางค์ศรี |
๑๕๐ ชมโฉมนางแล้ว | |
สมเด็จพระแก้ว | คล้องพวงมาลี |
ไว้เป็นสำคัญ | กำนัลโฉมศรี |
แห่งนางเทวี | นางจีรัปภา |
๑๕๑ ใกล้รุ่งราตรี | |
สมเด็จภูมี | จะยุรยาตรา |
พี่เลี้ยงนอนคอย | แทบที่กัลยา |
ยึดพระหัตถา | เข้าไว้ทันใด |
๑๕๒ ร้องปลุกประทม | |
เชิญเสด็จทรามชม | ลุกขึ้นเร็วไว |
ดูชายคนนี้ | บังอาจเหลือใจ |
ขึ้นมาเถิงใน | ห้องทองปรางค์ศรี |
๑๕๓ ฝ่ายพระนางนาฏ | |
ตื่นจากไสยาสน์ | ลุกขึ้นทันที |
เหลือบเล็งเพ่งพิศ | พินิจทรงศรี |
เห็นผิดท่วงที | จะเป็นเข็ญใจ |
๑๕๔ สมศรีสมศักดิ์ | |
อรองค์ทรงลักษณ์ | จับจิตพิสมัย |
ทรงพระแสงขรรค์ | เกาทัณฑ์ธนูไชย |
ไม่เข็ดขามใคร | องอาจฤทธี |
๑๕๕ ถ้าชาติต่ำศักดิ์ | |
จะเกรงกลัวนัก | ลุกแล่นหลีกหนี |
นี้ไม่เกรงขาม | ครั่นคร้ามไพรี |
กิริยาชายนี้ | ดูหลากนักหนา |
๑๕๖ ตรัสถามทันใด | |
ว่าท่านนี้ไซร้ | เชื้อชาติกระษัตรา |
ฤๅเทพไท | ในฉ้กามา |
ฤๅอสูรา | ครุฑานาคี |
๑๕๗ ท่านขึ้นมาไย | |
ประสงค์สิ่งไร | ในปราสาทศรี |
ตรัสบอกข้าน้อย | ท่วงถ้อยคดี |
อย่าให้ข้านี้ | วิมุติสงสัย |
๑๕๘ พระปิ่นกระษัตริย์ | |
สดับสารแล้วตรัส | ตอบถ้อยทันใด |
เรียมมาบัดนี้ | ใช่เทพไท |
ใช่สูราลัย | ครุฑานาคี |
๑๕๙ เป็นหน่อกระษัตริย์ | |
ครอบครอบสมบัติ | กรุงสาวัตถี |
สมเด็จบิดา | ตั้งการพิธี |
จะเสกเรียมนี้ | ให้ผ่านโภไคย |
๑๖๐ ด้วยราชบุตรี | |
ทุกราชธานี | ร้อยเอ็ดกรุงไกร |
นางร้อยเอ็ดนี้ | พี่มิเต็มใจ |
ให้อาชาไนย | เหาะเที่ยวแสวงหา |
๑๖๑ ม้าแก้วกลับไป | |
บอกข้าว่าได้ | พบแก้วกัลยา |
ยอดมิ่งไม่พบ | จบทุกทิศา |
ไม่มีธิดา | ใดเปรียบเทียบไท |
๑๖๒ เรียมได้สดับสาร | |
ระรื่นชื่นบาน | ดาลจิตพิสมัย |
ทูลลาชนนี | บิดุเรศท้าวไท |
ขึ้นอาชาไนย | เหาะมาบัดดล |
๑๖๓ ความจริงของพี่ | |
พระยอดมารศรี | จงแจ้งอนุสนธิ์ |
เรียมทรมานองค์ | ประสงค์นีฤๅมล |
อย่าได้ฉงน | จงมีกรุณา |
๑๖๔ ประทุมพี่เลี้ยง | |
ค่อยยอบหมอบเมียง | นอกม่านกัลยา |
นิ่งนึกตรึกคิด | เห็นผิดหนักหนา |
กลัวสองกระษัตรา | อัดอั้นตันใจ |
๑๖๕ พระยอดเยาวมาลย์ | |
ครั้นได้สดับสาร | ปลื้มจิตพิสมัย |
ทั้งอายทั้งรัก | เบือนพักตร์หนีไป |
นางจึ่งคลาไคล | เข้าแฝงม่านทอง |
๑๖๖ ขวยเขินสะเทิ้นนัก | |
ด้วยพระทรงลักษณ์ | เข้ามาลอบลอง |
แล้วกลับสนทนา | พูดจาแต่สอง |
เห็นผิดทำนอง | คลองประเวณี |
๑๖๗ นางตอบคำสาร | |
ว่าพระภูบาล | ไม่มีสารศรี |
อุกอาจขึ้นมา | หาข้าผิดที |
กล่าวคำดั่งนี้ | มิควรนักหนา |
๑๖๘ พจมานขานตอบ | |
ตรัสมานี้ชอบ | ขอบคุณกัลยา |
ครั้นเรียมจะให้ | มีราชสารตรา |
ทำไมตรีมา | ตามประเพณี |
๑๖๙ เสตราชกรุงไกร | |
กับด้วยราชัย | กรุงสาวัตถี |
ไม่เคยมีทาง | พระราชไมตรี |
ด้วยสองธานี | ไกลกันหนักหนา |
๑๗๐ อันเรียมนี้ไซร้ | |
กับอาชาไนย | พากันเหาะมา |
หานางอรไท | จงได้กรุณา |
ช่วยชีวิตข้า | อย่าให้อาสัญ |
๑๗๑ ตรัสนี้มิชอบ | |
อันจะลักลอบ | ร่วมรู้รักกัน |
แม้นเหตุนี้แจ้ง | เถิงองค์ทรงธรรม์ |
พาน้องอาสัญ | สู่สวรรคาลัย |
๑๗๒ ถ้าราชสารศรี | |
เถิงพระชนนี | บิตุเรศท้าวไท |
พระองค์เป็นเอก | อุปภิเษกอวยไชย |
เห็นว่าจะได้ | ดังใจจินดา |
๑๗๓ ตรัสมิชอบนี้ | |
อย่าได้พาที | ให้เสียวาจา |
ป่วยการเสียเปล่า | เห็นไม่เข้ายา |
เชิญพระราชา | กลับไปเวียงไชย |
๑๗๔ พระหน่อนรินทร์ | |
ทราบสารแล้วถวิล | พิศวงสงสัย |
นางตรัสทั้งนี้ | มีความพิสมัย |
แกล้งตรัสขัดไว้ | เชิงชั้นมารยา |
๑๗๕ พระจึงตอบสาร | |
พระยอดเยาวมาลย์ | จงได้กรุณา |
ความรักโฉมตรู | จึ่งสู้ชีวา |
หวังจะพึ่งพา | บุญเจ้าสืบไป |
๑๗๖ เรียมมาทั้งนี้ | |
สู้เสียชีวี | มิได้อาลัย |
ประสงค์องค์นุช | สุดจิตพิสมัย |
หวังองค์อรไท | เป็นปิ่นสุดา |
๑๗๗ โปรดเถิดบุญหนัก | |
เจ้าจงผินพักตร์ | เยื้อนแย้มเจรจา |
เสียแรงเรียมรัก | บ่ายพักตร์มาหา |
เจ้าจงกรุณา | ชูชีพสืบไป |
๑๗๘ สมเด็จเทวี | |
ตรัสตอบคดี | ถ้วนถี่แถลงไข |
สมเด็จบิดา | เลิศลบภพไตร |
ไม่ลับจับได้ | จะลงอาญา |
๑๗๙ ตรัสไว้แต่หลัง | |
ที่ข้าได้ฟัง | ใหญ่ยิ่งหนักหนา |
กระษัตริย์องค์ใด | ทรงฤทธิ์อิศรา |
ข้าศึกยกมา | เพียบแผ่นแดนดิน |
๑๘๐ ปราบข้าศึกได้ | |
ฝูงอรินทร์บรรลัย | เกลื่อนกลาดปัฐพิน |
จะยกข้านี้ให้ | เป็นบาทนรินทร์ |
ให้ครองกรุงสิ้น | เป็นปิ่นนคร |
๑๘๑ไม่เห็นสิงใด | |
แค่นว่าไปได้ | เฝ้าวิงเฝ้าวอน |
จะพาข้าตาย | เป็นลายนคร |
พระอย่าอาวรณ์ | เชิญพระกลับไป |
๑๘๒ พระตอบวาจา | |
อรินทร์ราชยกมา | เต็มแน่นแดนไตร |
ไว้ธุระข้า | กับอาชาไนย |
ปราบให้บรรลัย | ยับยุ่ยผุยผง |
๑๘๓ ให้พระบิดุเรศ | |
ท้าวทอดพระเนตร | หน้าที่นั่งพระองค์ |
ฝ่ายฝูงอรินทร์ราช | วินาศปลดปลง |
ให้พระบิดุรงค์ | ทรงเดชเรืองไชย |
๑๘๔ ถ้าจริงอย่างว่า | |
ไปทูลอาสา | ให้ข้าแจ้งใจ |
มาล่อลวงเล่น | เห็นจริงที่ไหน |
เชี่อฟังไม่ได้ | ลิ้นลมคมสัน |
๑๘๕ อนิจจายอดมิ่ง | |
สัจจาที่จริง | ไม่ล่อลวงกัน |
จิตเรียมรุ่มร้อน | เจ้าไม่ผ่อนผัน |
ความทุกข์อนันต์ | อเนกคณนา |
๑๘๖ อกเรียมจะคราก | |
แตกเป็นสองภาค | ด้วยความเสนหา |
ช่างเฉยเสียได้ | ไม่มีกรุณา |
จงชายเนตรมา | ดูบ้างขวัญเมือง |
๑๘๗ ตรัสพลางเข้าใกล้ | |
ว่าแก้วกลอยใจ | กอดอุ่นบุญเรือง |
เชิญเจ้าร่วมจิต | มิ่งมิตรเฉลิมเมือง |
พี่ไม่ให้เคือง | ระคายขุ่นใจ |
๑๘๘ จับข้อพระหัตถ์ | |
กรเกี่ยวกระหวัด | ชมชิดพิสมัย |
เจ้าอย่าโศกสร้อย | นึกน้อยพระทัย |
ชูชีพเรียมไว้ | อย่าให้มรณา |
๑๘๙ นางเกศกระษัตริย์ | |
ชักกรสะบัด | ผลักทรวงราชา |
อย่าลวนลามไป | ข้าไม่กรุณา |
มาล่อลวงข้า | แล้วจะหน่ายหนี |
๑๙๐ ควรฤๅบุญหนัก | |
อกเรียมรุ่มรัก | สู้เสียชีวี |
ได้แก้วนงนาฏ | นิราศหน่ายหนี |
ไม่จริงสิ่งนี้ | อย่าได้แคลงใจ |
๑๙๑ กอดแก้วเข้าแล้ว | |
จะวางน้องแก้ว | อย่าได้สงสัย |
ดวงเนตรของพี่ | จงมีอาลัย |
เชิญเจ้าขึ้นไป | แท่นทองเรืองศรี |
๑๙๒ ตรัสแล้วจอมนาถ | |
อุ้มองค์สุดสวาดิ | วรนุชนารี |
ขึ้นส่แท่นทอง | ห้องแก้วเรืองศรี |
โลมเล้าเทวี | ปลอบแก้วจอมขวัญ |
๑๙๓ กอดจูบลูบพักตร์ | |
รับขวัญนงลักษณ์ | ปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
กรกอดกระหวัดนาง | พลางจูบดวงจันทร์ |
หฤทัยกระสัน | รัญจวนป่วนใจ |
๑๙๔ ภิรมย์สมพาล | |
สมสนิทพิศวาส | ยังจิตพิสมัย |
อันความยินดี | พ้นที่อุปไมย |
แสนสวาดิจะขาดใจ | สุขเขษมเปรมปรีดิ์ |
๑๙๕ ดังพญาปักษา | |
โผผินบินมา | เล่นน้ำนัที |
พบสินธุใหญ่ | ซอนไซ้สระศรี |
อันความยินดี | พ้นที่พรรณนา |
๑๙๖ บัดนั้นน้องแก้ว | |
ซบพักตร์ลงแล้ว | กับทรวงราชา |
นางทูลขอโทษ | ได้โปรดเกศา |
ผิดพลั้งข้างหน้า | พระอย่าถือความ |
๑๙๗ เมียผิดสิ่งไร | |
อย่าคุมโทษไว้ | จงได้ไต่ถาม |
เมียจะได้แจ้ง | ตามมีข้อความ |
พระผู้ทรงนาม | อย่าขุ่นเคืองใจ |
๑๙๘ พระจึงตอบสาร | |
ว่ายอดเยาวมาลย์ | มิ่งมิตรพิสมัย |
อย่าได้เคลือบแคลง | นึกแหนงในใจ |
ใช่เรียมนี้ไซร้ | เป็นคนโฉดเขลา |
๑๙๙ เจ้าอย่าพึงนึก | |
เรียมจะตรองตรึก | ตื้นลึกหนักเบา |
พี่ใช่คนโฉด | จะโกรธนงเยาว์ |
หวังโลมเลี้ยงเจ้า | เป็นปิ่นสุดา |
๒๐๐ สองสู่สมสนิท | |
แสนเสบยเชยชิด | ด้วยความเสนหา |
ใกล้รุ่งราตรี | มีจิตจินดา |
เถิงม้าอาชา | ผู้ร่วมหฤทัย |
๒๐๑ ฝ่ายว่าอาชา | |
ครั้นเถิงเวลา | จึงเหาะเข้าไป |
รับพระพันปี | ที่ปราสาทไชย |
คอยพระภูวไนย | อยู่หน้าชาลา |
๒๐๒ พระสุธนู | |
บอกนางโฉมตรู | ว่าพี่จะลา |
ไปหาพาชี | ที่หน้าชาลา |
อย่าให้มิ่งม้า | คอยท่าเคืองใจ |
๒๐๓ นางจีรัปภา | |
ได้ฟังราชา | ตรัสว่าจะไป |
ยึดภูษาทรง | สมเด็จท้าวไท |
ตามเสด็จออกไป | จนเถิงอาชา |
๒๐๔ นางเมืองตระบัด | |
เห็นม้าแล้วตรัส | กล่อมเกลี้ยงสุนทรา |
ว่าพี่พาชี | จงมีกรุณา |
อย่าพาผัวข้า | นิราศร้างหนี |
๒๐๕ พาชีตอบสาร | |
พระยอดเยาวมาลย์ | อย่าพักพาที |
พาท้าวเหาะมา | หามิ่งมารศรี |
ได้แล้วยินดี | จะหนีไปไย |
๒๐๖ นางว่าพี่ม้า | |
อยู่กับผัวข้า | อย่าไปเที่ยวไกล |
น้องนี้ทุกข์หนัก | เถิงพระภูวไนย |
เหตุการณ์ฉันใด | ไม่แจ้งเลยนา |
๒๐๗ แม่ทุกข์ไปไย | |
ข้ากับภูวไนย | ไม่ทิ้งกัลยา |
ทรงฤทธิ์เดชนัก | อาจปราบยักษา |
มนุษย์ครุฑา | ขามเดชภูมี |
๒๐๘ นางเลี้ยงมิ่งม้า | |
ให้ทอดนํ้าหญ้า | อยู่บนปรางค์ศรี |
บำเรอผัวรัก | ด้วยความยินดี |
เชิญพระสามี | เข้าที่สรงเสวย |
๒๐๙ ท้าวนางกำนัล | |
ร้อนโรคโศกศัลย์ | ไม่มีความเสบย |
เพียงชีพจากร่าง | เพราะนางทรามเชย |
คิดฉันใดเลย | จะพันโพยภัย |
๒๑๐ ครั้นจะนิ่งนาน | |
เกลือกพระภูบาล | กับแก้วอรไท |
ขึ้นหลังอาชา | พากันเหาะไป |
เราทั้งปวงไซร้ | จะสิ้นสุดปราณ |
๒๑๑ ท้าวนางกำนัล | |
คิดแล้วชวนกัน | ไปกราบทูลสาร |
สมเด็จบิดุเรศ | ให้แจ้งเหตุการณ์ |
ว่ายอดเยาวมาลย์ | คบชู้สู่ชาย |
๒๑๒ สมเด็จบิดุเรศ | |
ครั้นตรัสแจ้งเหตุ | พักตร์เผือดเหือดหาย |
พระศอเหือดแห้ง | เสโทโซมกาย |
เพียงชีพวางวาย | ทำลายสังขาร |
๒๑๓ ทรงพระโกรธนัก | |
อ้าโอษฐ์อักอัก | ตรัสถามออกมา |
ว่าอ้ายชายชู้ | สู่รู้นักหนา |
บิดามารดา | สูริย์วงศ์พงศ์ไหน |
๒๑๔ แรกมันขึ้นมา | |
มีผู้ชักพา | มันบ้างฤๅไร |
ฤๅมีอาคม | สะดมขึ้นไป |
ให้คนหลับใหล | ไม่ได้สมประดี |
๒๑๕ หน่อเนื้อนเรศ | |
เป็นมงกุฎเกศ | กรุงสาวัตถี |
บุตรท้าวพรหมทัต | นางเกศนี |
ทรงอิทธิฤทธี | มีศิลป์ธนูไชย |
๒๑๖ แสวงหามเหสี | |
ทรงม้าพาชี | เหาะมาทันใด |
ใครไม่ชักพา | หานางอรไท |
เข้าปราสาทไชย | เพลาราตรี |
๒๑๗ บันดาลดลจิต | |
ให้หลับสนิท | สิ้นทั้งปรางค์ศรี |
ครั้นข้าตื่นขึ้น | เห็นพระภูมี |
กับอรเทวี | นั่งเรียงเคียงกัน |
๒๑๘ ความจริงเท่านี้ | |
ขอพระพันปี | ผู้ทรงสัทธรรม์ |
ประทานโทษข้า | อย่าให้อาสัญ |
ชีวิตข้านั้น | อยู่ใต้บทศรี |
๒๑๙ เสตราชท้าวไท | |
ได้ฟังสาวใช้ | ทูลแจ้งคดี |
รับสั่งเร่งหา | หมู่มุขมนตรี |
อำมาตย์เสนี | กระวีโหรพราหมณ์ |
๒๒๐ หมู่มุขเสนา | |
เข้าเฝ้าราชา | โองการตรัสถาม |
ตรัสแจ้งแถลงไข | (ในคดีความ) |
สามนต์โหรพราหมณ์ | จะคิดฉันใด |
๒๒๑ เร่งรัดจัดกัน | |
พหลเข้มขัน | แว่นแคว้นกรุงไกร |
ให้ใด้พรักพร้อม | ล้อมปราสาทไชย |
จับตัวให้ได้ | อย่าไว้ชีวี |
๒๒๒ พระเดือดดับไว้ | |
กลับตรึกนึกได้ | กลัวจะเสียที |
อ้ายนี่ดีร้าย | เชื้อชายชาตรี |
มีอิทธิฤทธี | จึงองอาจมา |
๒๒๓ ตรัสใช้พระญาติ | |
วงศาฉลาด | ไปทูลกัลยา |
ว่าพระบิดุเรศ | รับสั่งให้หา |
แม่จีรัปภา | ไปเฝ้าภูวไนย |
๒๒๔ นางจีรัปภา | |
ตกใจหนักหนา | ให้หาข้าไย |
พระองค์กริ้วโกรธ | ทำโทษฤๅไฉน |
จองจำกรำไว้ | ให้ข้ามรณา |
๒๒๕ ฤๅขับจากเมือง | |
เขาจะฦๅเลื่อง | ทั้งกรุงพารา |
พระญาติทูลสาร | เดิมโกรธหนักหนา |
คลายแล้วตรัสว่า | จะถามโดยดี |
๒๒๖ นางจีรัปภา | |
เหลือบเล็งพักตรา | พระราชสามี |
แล้วพิศดูหน้า | มิ่งม้าพาชี |
ซบพักตร์เทวี | ลงแล้วโศกา |
๒๒๗ พระราชสามี | |
กับทั้งพาชี | ปลอบแก้วกัลยา |
ว่าพระบิดุเรศ | รับสั่งให้หา |
อย่าขัดอัชฌา | ไปเฝ้าท้าวไท |
๒๒๘ อันตัวเรียมนี้ | |
กับทั้งพาชี | เจ้าอย่าสงสัย |
สู้เสียชีวี | ไม่หนีนางไป |
แม้นพระภูวไนย | ไม่มีเสนหา |
๒๒๙ ข้ากับพาชี | |
จะเป็นอัคคี | ไหม้เมืองราชา |
ถ้าแม้นพระโปรด | ประทานโทษา |
มิให้ราชา | ขายเบื้องบทศรี |
๒๓๐ นางจีรัปภา | |
ลาพระภัสดา | ไปเฝ้าภูมี |
ซบเศียรกับบาท | แห่งพระพันปี |
พระราชเทวี | ไม่เงยพักตรา |
๒๓๑ ท้าวเสตราช | |
เห็นนางนงนาฏ | คิดแค้นนักหนา |
ตรัสว่ามึงดี | อีจีรัปภา |
เสียแรงเลี้ยงมา | มึงเป็นกระสี |
๒๓๒ มึงทำทรลักษณ์ | |
ไม่รักยศศักดิ์ | เป็นคนอัปรีย์ |
ชาติชั่วหนักหนา | คิดน่าบัดศรี |
มาเป็นเช่นนี้ | มิดีหนักหนา |
๒๓๓ มึงเกิดชาติหงส์ | |
ไม่รักเผ่าพงศ์ | ไปปนฝูงกา |
คบคนจับพลัด | ซัดจรซอนมา |
ร่วมรักเสนหา | คู่เคียงเรียงหมอน |
๒๓๔ ใจมึงชั่วจริง | |
เหมือนน้ำค้างกลิ้ง | บนใบบัวบอน |
ครั้นเพลาสาย | พระพายพัดจร |
ก็จะกระฉ่อน | กระฉอกกรอกไป |
๒๓๕ กระษัตริย์ทุกสถาน | |
ถวายบรรณาการ | มาเท่าใดใด |
ทั่วทุกกรุงศรี | พ่อมิเต็มใจ |
คิดว่าจะให้ | แก่พระนารายณ์ |
๒๓๖ มึงเป็นเช่นนี้ | |
ก่อการกระลี | ให้กูได้อาย |
เหมือนหมึกสักบาท | กี่ชาติจะหาย |
ได้ความอับอาย | ทั่วทุกพารา |
๒๓๗ ถ้าผัวมึงดี | |
ศักดิ์สิทธิ์ฤทธี | ทรงลักษณ์ศักดา |
มีอานุภาพ | ปราบทุกทิศา |
ให้ผัวมึงมา | สำแดงฤทธิไกร |
๒๓๘ ถ้าว่าอาจหาญ | |
ประเปรียวเชี่ยวชาญ | ชั้นเชิงศิลป์ไชย |
สำแดงฤทธา | อานุภาพเกรียงไกร |
กูจะเสกให้ | ครอบครองธานี |
๒๓๙ ถ้าไม่อาจหาญ | |
ไม่เชี่ยวไม่ชาญ | มาเข้าปรางค์ศรี |
กูจะผลาญให้ | มอดม้วยชีวี |
ชู้กับพาชี | จะม้วยชีวา |
๒๔๐ มึงนิ่งอยู่ไย | |
เร่งรัดกลับไป | บอกผัวมึงมา |
ให้เห็นปรากฏ | ยศศักดิ์นักหนา |
แก่ญาติวงศา | หมู่มุขมนตรี |
๒๔๑ พระราชธิดา | |
ถวายบังคมลา | แล้วกันแสงศรี |
กลับมากราบบาท | พระราชสามี |
สมเด็จเทวี | ทรงโศกโศกา |
๒๔๒ ฝ่ายพระพันปี | |
ปลอบถามเทวี | เกศแก้วขนิษฐา |
ตรัสโปรดฉันใด | จึงได้กลับมา |
อย่าทรงโศกา | บอกข้าฉันใด |
๒๔๓ สมเด็จบิดา | |
ให้เชิญราชา | ไปแผลงธนูไชย |
สำแดงอานุภาพ | ศักดิ์สิทธิ์ฤทธิไกร |
จะเสกท้าวไท | ครองไอศวรรย์ |
๒๔๔ ถ้าแผลงมิได้ | |
จะให้บรรลัย | กับข้าด้วยกัน |
ทั้งม้าพาชี | จะม้วยอาสัญ |
ขอพระทรงธรรม์ | จงทราบพระทัย |
๒๔๕ พระจอมกระษัตริย์ | |
ท้าวสรวลแล้วตรัส | ตอบนางทันใด |
เจ้าร่วมชีวิต | อย่าคิดสงสัย |
ว่าพี่นี้ไซร้ | ไม่เชี่ยวชาญสนาม |
๒๔๖ จะแผลงศิลป์ไชย | |
เลิศลบภพไตร | ชูหน้านางงาม |
ให้พระบิดุเรศ | คร้ามเดชเข็ดขาม |
ให้คลายหายความ | ที่ทรงโกรธา |
๒๔๗ กอดจูบลูบพักตร์ | |
ปลอบนางนงลักษณ์ | ให้เสวยโภชนา |
ปลื้มใจของพี่ | อย่ามีโศกา |
ชั่วแล้วจะมา | หาเจ้าไยมี |
๒๔๘ พระทรงเครื่องต้น | |
ประเสริฐเลิศล้น | จำรัสรัศมี |
เหน็บพระขรรค์แก้ว | แล้วเสด็จจรลี |
ทรงขรรค์ธนูศรี | ขึ้นอาชาไนย |
๒๔๙ จึงชวนนางน้อง | |
ขึ้นพระวอทอง | นำเสด็จพระไป |
พี่เลี้ยงสาวศรี | ตามเสด็จไสว |
สิ้นทั้งกรมใน | นักเทศขันที |
๒๕๐ พากันเสด็จไป | |
เถิงกลางกรุงไกร | พระลานไชยศรี |
ลงจากมิ่งม้า | คมคัลชุลี |
สมเด็จพันปี | บิดากัลยา |
๒๕๑ ฝ่ายท้าวเสตราช | |
สั่งให้อำมาตย์ | แต่งการมหึมา |
เอากระดานเหล็ก | เจ็ดชั้นโดยตรา |
เอาก้อนทองแดงมา | เจ็ดชั้นด้วยดี |
๒๕๒ ประดู่มะเดื่อ | |
ละแผ่นหนาเหลือ | เจ็ดองคุลี |
แล้วตั้งเกวียนทราย | เจ็ดเกวียนโดยมี |
ถัดนั้นเถิงที่ | มิคราชกวางยนต์ |
๒๕๓ ครั้นเสร็จสรรพแล้ว | |
จึงเชิญพระแก้ว | ทรงศรบัดดล |
แผลงให้ปล่งปลอด | ตลอดกวางยนต์ |
ให้หมู่ประชาชน | เอิกเกริกโกลา |
๒๕๔ บัดนั้นภูวไนย | |
ยกศรธนูไชย | ทูนเศียรราชา |
เสี่ยงพระบารมี | ที่ก่อสร้างมา |
กับคุณมารดา | บิดุเรศเรืองศรี |
๒๕๕ ข้าแผลงธนูไชย | |
ขอให้ฤทธิไกร | เลิศลบธาตรี |
เข็ดขามคร้ามเดช | ทุกนิเวศกรุงศรี |
ให้หมู่ไพรี | มันฦๅระบือนาม |
๒๕๖ ตรัสแล้วโฉมฉาย | |
พระทรงศรกราย | กุมเชิญชาญสนาม |
ดังองค์อินทรา | ปรากฏงดงาม |
พระผู้ทรงนาม | วางศรทันที |
๒๕๗ เสียงศรสนั่นเปรี้ยง | |
ประดุจหนึ่งเสียง | ฟ้าร้องอสุนี |
ทีเดียวปล่งปลอด | ตลอดมฤคี |
กวางยนต์ดัวดี | ล้มลงกลางสนาม |
๒๕๘ พระผู้ทรงธรรม์ | |
เห็นลูกเขยขวัญ | เชี่ยวชาญสงคราม |
ปรีดิ์เปรมเขษมสุข | สิ้นทุกข์สิ้นความ |
ยำเยงเกรงขาม | ลูกแก้วเขยขวัญ |
๒๕๙ สุธนูเรืองไชย | |
ส่งพระขรรค์ให้ | เมียมิ่งด้วยพลัน |
กราบถวายบังคม | บิดุเรศทรงธรรม์ |
คำรพอภิวันท์ | ลามาปรางค์ศรี |
๒๖๐ ฝ่ายท้าวเสตราช | |
อุปภิเษกจอมนาถ | ให้ครองบูรี |
เสกจีรัปภา | เป็นมิ่งมเหสี |
กับฝูงนารี | หมื่นหกพันนาง |
๒๖๑ ท้าวเสวยไอศวรรย์ | |
สมบัติอัศจรรย์ | สุขเขษมเปรมปรางค์ |
โลมเลี้ยงขวัญเมือง | ไม่เคืองใจนาง |
แสนสุขสว่าง | ทุกข์ร้อนโพยภัย |
๒๖๒ พระเดชพระยศ | |
ฦๅทั่วระทด | ทั่วทุกแดนไตร |
ยอยอบนอบนบ | คำรพท้าวไท |
เกรงนามขามไป | ทั่วทุกพารา |
๒๖๓ สมเด็จภูเบศร | |
โลมเลี้ยงอัคเรศ | เป็นช้านานมา |
ตรึกเถิงชนนี | พันปีบิดา |
ทรงพระโศกา | กันแสงโศกศัลย์ |
๒๖๔ นางจีรัปภา | |
เห็นพระภัสดา | โศกาจาบัลย์ |
ทรงพระทุกข์นัก | เพียงจักอาสัญ |
พระผู้ทรงธรรม์ | ขัดเคืองสิ่งไร |
๒๖๕ นางกราบกับบาท | |
สมเด็จจอมนาฏ | ทูลถามท้าวไท |
เมียไม่แจ้งเนตร | เหตุการณ์เป็นไฉน |
ฤๅเมียนี้ไซร้ | มีโทษโทษา |
๒๖๖ โทษผิดสิ่งใด | |
โปรดเถิดอย่าได้ | ทรงพระโศกา |
ระบมตรมจิต | ปิดซึ่งโทษา |
พระจงบอกข้า | อย่าได้อำพราง |
๒๖๗ พระตอบเสาวนีย์ | |
ว่ามิ่งมารศรี | อย่าได้คิดขนาง |
พี่ไม่คุมโทษ | กริ้วโกรธนวลนาง |
พี่ไห้ครวญคราง | ทุกข์เถิงชนนี |
๒๖๘ อันพี่จากมา | |
มณีกากอาชา | พาพี่เหาะหนี |
พี่สงสารนัก | เถิงพระชนนี |
เพียงสิ้นชีวี | ลงในทันใด |
๒๖๙ พี่ห้ามอาชา | |
ไม่ฟังคำข้า | พาข้าเหาะไป |
จึงได้ท้าวน้อง | ครอบครองกรุงไกร |
พิศวงหลงใหล | ราคดำฤษณา |
๒๗๐ พี่รำพึงไป | |
โลกจะว่าได้ | ติฉินนินทา |
หลงด้วยมิ่งมิตร | ไม่คิดเลยนา |
เถิงพระมารดา | บิดุเรศท้าวไท |
๒๗๑ เจ้าดวงนัยนา | |
พี่นี้คิดว่า | จะลาเจ้าไป |
เยี่ยมพระชนนี | บิดุรงค์ทรงไชย |
ให้คลายพระทัย | แล้วจักกลับมา |
๒๗๒ พระยอดเยาวมาลย์ | |
ครั้นได้ทราบสาร | สมเด็จพระภัสดา |
ขุ่นหมองข้องขัด | พระอัธยา |
พ่างเพียงชีวา | จะม้วยอาสัญ |
๒๗๓ ทูลพระภัสดา | |
บุญเรืองเฟื่องฟ้า | ทรงยศทศธรรม์ |
ทรงวิตกไย | เราจะไปด้วยกัน |
เยี่ยมพระทรงธรรม์ | ปิ่นเกล้าธรณี |
๒๗๔ กระษัตริย์ทั้งสอง | |
ปรึกษาปรองดอง | ปรีดิ์เปรมเกษมศรี |
ชวนกันทูลลา | พระชนนี |
ลาพระพันปี | ผู้เป็นบิดา |
๒๗๕ พระคุณปกเกล้า | |
ข้าพระพุทธเจ้า | กราบบังคมลา |
ไปเยียนชนนี | บิดุเรศนาถา |
ในพระพารา | ชื่อสาวัตถี |
๒๗๖ ลูกไปไม่ช้า | |
จะกลับคีนมา | ยังพระบูรี |
องค์พระบิดา | รักษากรุงศรี |
ครอบครองธานี | กว่าลูกกลับมา |
๒๗๗ พระคุณทั้งสอง | |
พระองค์จงครอง | พระชันษา |
พระชนม์พันปี | อย่ามีโรคา |
ทรงพระอุตส่าห์ | ก่อสร้างสมภาร |
๒๗๘ แล้วตรัสอำลา | |
พระญาติวงศา | ผู้เฒ่าโบราณ |
อย่าทรงพระโกรธ | โปรดเกล้าดีฉัน |
ประณตบทมาลย์ | น้อมเกล้าเกศี |
๒๗๙ พระญาติวงศา | |
บิดามารดา | ฟังพจน์วาที |
พระลูกกราบลา | สิ้นสมประดี |
เพียงสิ้นชีวี | สวรรคตครรไล |
๒๘๐ ครั้นจะตรัสห้าม | |
เกรงพระโฉมงาม | จะเคืองพระทัย |
ทรงพระโทมนัส | ขัดสนจนใจ |
ขืนพระทัยไว้ | ให้พรโฉมศรี |
๒๘๑ พระลูกทั้งสอง | |
เจ้าจงปกครอง | ใจกันจงดี |
อย่ามีโรคา | เป็นมหาสุขี |
ให้หมู่ไพรี | ย่อยยับอัปรา |
๒๘๒ ฝ่ายพระมเหสี | |
มีพระเสาวนีย์ | ตรัสห้ามลูกยา |
เจ้าดวงชีวิต | ของพระมารดา |
เจ้าจะลินลา | ไปตามสามี |
๒๘๓ สงสารอกแม่ | |
ทีนี้ตั้งแต่ | จะทรงโศกี |
โศกสร้อยคอยหา | ทิวาราตรี |
เจ้าลาสามี | อยู่ด้วยมารดา |
๒๘๔ พระราชบุตรี | |
ตอบพระชนนี | พลางทรงโศกา |
พระคุณล้นเหลือ | ทูนเหนือเกศา |
ข้าขอกราบลา | ไปตามสามี |
๒๘๕ ลูกอยู่ภายหลัง | |
จะมีใครมั่ง | จะว่าลูกดี |
เห็นว่าลูกชั่ว | ผัวจึงหน่ายหนี |
ขอลาชนนี | ลินลาคลาไคล |
๒๘๖ พระมารดาสิ | |
ห้ามพระบุตรี | เป็นเท่าใดใด |
ไม่ฟังแม่แล้ว | จึงสอนทรามวัย |
เจ้าตามผัวไป | ครององค์จงดี |
๒๘๗ คิดการสิ่งใด | |
อย่าให้เคืองใจ | พระราชสามี |
ครอบครองพระสนม | เป็นบรมสุขี |
ใจเจ้าอย่ามี | หวังคิดอิจฉา |
๒๘๘ คำรพสามี | |
ทั้งพระชนนี | แลพระบิดา |
จงสงวนศักดิ์ | รักยศอาตมา |
อย่าอหังการ์ | ฝากตัวจงดี |
๒๘๙ สอนอื่นสอนไกล | |
อันอัธยาศัย | ดูแต่ท่วงที |
สุดที่สอนสั่ง | ชั่งใจจงดี |
เจ้าดวงชีวี | ฟังคำมารดา |
๒๙๐ รสสิ่งใดใด | |
ไม่หวานชื่นใจ | เหมือนรสพจนา |
หวานนอกหวานใน | หวานทุกเวลา |
หวานด้วยวาจา | เป็นสัตย์อุดม |
๒๙๑ หอมรสใดใด | |
หอมกลิ่นฟุ้งไป | ได้แต่ตามลม |
หอมกลิ่นสัตย์ศีล | เป็นกลิ่นอุดม |
หอมหวนชวนชม | ไปทุกทิศา |
๒๙๒ ลาแล้วกลับไป | |
ยังปราสาทไชย | โองการให้หา |
นางสนมกำนัล | หมื่นหกพันมา |
เล้าโลมแล้วลา | สิ้นทั้งปรางค์ศรี |
๒๙๓ จึงชวนเมียแก้ว | |
สรงเสวยเสร็จแล้ว | ได้ฤกษ์นาที |
ทรงเครื่องเรืองรัตน์ | แจ่มจรัสรังสี |
อุ้มองค์เทวี | ขึ้นขี่อาชา ๚ะ |
ฉบัง
๒๙๔ เหาะโดยอากาศเวหา | ทักษิณพารา |
สามรอบแล้วลาเสด็จไป | |
๒๙๕ กันแสงครวญหาเวียงไชย | โศกาอาลัย |
บ้างถวายพระพรไชยศรี | |
๒๙๖ สงบเสียงแล้วเงียบทังบูรี | ดังป่าช้าผี |
มีแต่โศกาอาวรณ์ | |
๒๙๗ ม้าแก้วเหาะโดยอัมพร | ไกลพระนคร |
ได้สิบหกโยชน์วิถี | |
๒๙๘ นางจีรัปภานารี | เคยอยู่ธานี |
ไม่มีแดดลมพัดพาน | |
๒๙๙ เมื่อม้าพาเหาะทะยาน | ขึ้นสู่คัคนานต์ |
แดดลมพัดต้องหมองศรี | |
๓๐๐ ปวดเศียรไม่เป็นสมประดี | พระเศียรเทวี |
พ่างเพียงจะแตกทำลาย | |
๓๐๑ นํ้าเนตรนางย้อยหยดพราย | ปิ้มชีพจะวาย |
สวรรคตปลดปลง | |
๓๐๒ จึงองค์อัคเรศอนงค์ | กราบทูลพระองค์ |
ผู้ภัสดาสามี | |
๓๐๓ ปวดเศียรเสียบจิตผิดที | ชีวิตเมียนี้ |
จะสิ้นเสียกลางเวหน | |
๓๐๔ เชิญเสด็จลงจากอัมพล | อาศัยไพรสณฑ์ |
พักอยู่ใต้ต้นพฤกษา | |
๓๐๕ ฝ่ายพระสุธนูราชา | ตรัสสั่งมิ่งม้า |
เร่งพาลงสู่พงไพร | |
๓๐๖ แลเห็นศาลาไรไร | เร่งม้าให้ไป |
อาศัยศาลาทันที | |
๓๐๗ ฝ่ายว่าอาชาตัวดี | กราบทูลภูมี |
ว่าศาลานี้เป็นสำคัญ | |
๓๐๘ อินศวร[๗]ประสาทโกนดัน | ยักษากุมภัณฑ์ |
ใครอยู่ให้เป็นภักษา | |
๓๐๙ พระกริ้วโกรธม้าอาชา | เร่งไปศาลา |
ยักษาจะกลัวมันไย | |
๓๑๐ พญาม้ากลัวว่าจะขัดใจ | แล้วเห็นอรไท |
ก็ทรงประชวรหนักหนา | |
๓๑๑ พาลงหยุดในศาลา | มณีกากอาชา |
พิทักษ์รักษาไม่วางใจ | |
๓๑๒ พระอ่านพระเวททันใด | พระโรคอรไท |
ก็ค่อยระงับดับลง | |
๓๑๓ เพลาลับแสงสูริยง | ชวนนาฏอนงค์ |
วรนุชประทมในราตรี | |
๓๑๔ ฝ่ายว่ามิ่งม้าพาชี | ทูลพระภูมี |
เข้าที่ประทมอย่าหลับใหล | |
๓๑๕ ถ้ายักษ์ถามขานทันใด | ยักษ์จักกลับไป |
ไม่ขานจะกินเป็นภักษา | |
๓๑๖ ท้าวเธอรับคำอาชา | ระวังแก้วกัลยา |
บรรทมไม่สู้หลับใหล | |
๓๑๗ เที่ยงคืนได้ยินเสียงเกรียงไกร | ถามว่าคือใคร |
มานอนอยู่ในศาลา | |
๓๑๘ ภูบาลขานว่าอาตมา | อาศัยศาลา |
ยักษาได้ยินกลับไป | |
๓๑๙ คืนหนึ่งบรรทมหลับใหล | ผลกรรมทำไว้ |
ยักษ์ถามมิได้เจรจา | |
๓๒๐ ยักษ์จักกินเป็นภักษา | ทั้งสองกระษัตรา |
อาชาเข้าห้ามทันใด | |
๓๒๑ เจ้านายกูนอนหลับใหล | กูรักษาไว้ |
เร่งไปอย่าได้เข้ามา | |
๓๒๒ ฝ่ายท้าวโกนดันยักษา | ตอบคำอาชา |
มึงมาถุ้มเถียงทันใด | |
๓๒๓ ศาลานี้ใครอาศัย | นิ่งนอนหลับใหล |
ไถ่ถามมิได้พาที | |
๓๒๔ เป็นภักษาหารยักษี | ตามคำภูมี |
อินศวรประสาทให้กู | |
๓๒๕ มึงอย่าเจรจาสู่รู้ | ไปเสียพ้นกู |
จะเข้าไปกินอาหาร | |
๓๒๖ พาชีโกรธยักษ์เดือดดาล | โลดโผนทะยาน |
เข้าถีบเอาท้าวยักษี | |
๓๒๗ ยักษ์ล้มลงกลางธรณี | คิดแค้นพาชี |
เข้าสัประยุทธชิงชัย | |
๓๒๘ เสียงยักษ์เสียงม้าเกรียงไกร | แล้วเหาะขึ้นไป |
รบกันในกลางเวหา | |
๓๒๙ พาชีศักดิ์สิทธิ์ฤทธา | ถีบกัดยักษา |
โลหิตตกกลาดปฐพี | |
๓๓๐ ยักษาสู้ม้าพาชี | มิได้ถอยหนี |
เสียทีแทบอัปราชัย | |
๓๓๑ พระตื่นประทมทันใจ | เสียงอาชาไนย |
สัประยุทธกับท้าวยักษา | |
๓๓๒ จึงปลุกเกศแก้วกัลยา | ไพรีมีมา |
ฉายาจงตื่นฟื้นองค์ | |
๓๓๓ นางจีรัปภาโฉมยง | ตื่นขึ้นพระองค์ |
ตกใจประพรั่นขวัญหาย | |
๓๓๔ พระทรงแสงศรธนูกราย | ยกศิลป์พาดสาย |
จะยิงพญายักษี | |
๓๓๕ แล้วกลัวจะถูกพาชี | เพลาราตรี |
ไม่รู้จะทำฉันใด | |
๓๓๖ พระร้องกำชับขึ้นไป | ว่าอาชาไนย |
ระวังบังเหียนจงดี | |
๓๓๗ กลัวไยกับอ้ายยักษี | รุ่งราษตรี |
กูจะห้ำหั่นให้บรรลัย | |
๓๓๘ ยักษ์ได้ฟังเสียงภูวไนย | สำคัญในใจ |
ว่าอ้ายนี่นายพาชี | |
๓๓๙ ยักษ์สำคัญเพราะภูมี | ร้องบอกพาชี |
ยักษีก็คิดเต็มใจ | |
๓๔๐ เผ่นโผนโจนจับอาชาไนย | ฉวยบังเหียนได้ |
ม้าไม่รู้ที่จะต่อตี | |
๓๔๑ บังเหียนที่ผูกพาชี | เป็นประเวณี |
สาปสรรแต่โบราณมา | |
๓๔๒ พญายักษ์กลับไปพารา | จึงเอามิ่งม้า |
ใส่กรงเหล็กไว้ท้ายเมือง | |
๓๔๓ ม้าแก้วเจ็บจิตคิดเคือง | คิดเถิงบุญเรือง |
ร้องไห้คร่ำครวญร่ำหา | |
๓๔๔ เสียแรงพาท้าวเหาะมา | ทนทุกขเวทนา |
เพราะกูก่อกรรมทำเข็ญ | |
๓๔๕ ได้ความลำบากยากเย็น | ทีนี้จะเห็น |
หน้าใครพาไปกรุงศรี | |
๓๔๖ ชวนมาหวังว่าให้ดี | กรรมสิ่งใดมี |
จึงมาพลัดพรากจากไป | |
๓๔๗ บัดนั้นพระปิ่นกรุงไกร | เห็นอาชาไนย |
ปักษามันพาเหาะหนี | |
๓๔๘ กันแสงโศกสิ้นสมประดี | แทบพระภูมี |
จะสิ้นชีวันทันใด | |
๓๔๙ กอดมิ่งมารศรีสายใจ | ทรงโศกาลัย |
แล้วตรัสละห้อยโหยหน | |
๓๕๐ เจ้าพี่ครั้งนี้ยากจน | ไม่มีผู้คน |
จะชี้ตำบลต้นทาง | |
๓๕๑ มีแต่ตัวพี่กับนาง | หันหวนครวญคราง |
กันแสงอยู่ในไพรสณฑ์ | |
๓๕๒ สงสารอกเราสองคน | ไม่เคยยากจน |
ครั้งนี้จะทนเวทนา | |
๓๕๓ เคยขี่ม้าแก้วอาชา | เราทั้งสองรา |
จะทรงเศร้าโศกโศกี | |
๓๕๔ อกเอ๋ยจะคิดไฉนดี | พามิ่งมารศรี |
แก้วพี่มาให้อับปาง | |
๓๕๕ ตกเข็ญใจจนกลางทาง | ลำบากบาทนาง |
ระหกระเหินเดินดง | |
๓๕๖ กรซ้ายพี่อุ้มอนงค์ | กรขวาพี่ทรง |
พระแสงศรแก้วธนูไชย | |
๓๕๗ อุ้มองค์นงลักษณ์เดินไพร | เลี้ยวลัดพนาลัย |
กว่าชีพสิ้นในพงพี | |
๓๕๘ บัดนั้นนางนาฏมเหสี | เอาใจพันปี |
ภูมีอย่าทรงโศกา | |
๓๕๙ เมียรักจักขออาสา | บุกแฝกแหวกคา |
นำหน้าเสด็จภูมี | |
๓๖๐ มิให้ขุ่นข้องหมองศรี | เชิญพระภูมี |
เสด็จในป่าพนาลัย | |
๓๖๑ บัดนั้นจึงพระภูวไนย | ค่อยคลายพระทัย |
ด้วยพจนารถเมียขวัญ | |
๓๖๒ สองกระษัตริย์เสด็จในไพรวัน | ดัดดั้นพนาสัณฑ์ |
คิรีละหานเหวธาร | |
๓๖๓ ชมสกุโนไก่แก้วขันขาน | กลมเกลี้ยงเสียงหวาน |
แลนกคุ่มเค้าสกุณี | |
๓๖๔ ชมมยูรยูงทองปักษี | กระเหว่าโนรี |
จับอยู่เคียงคู่สู่สม | |
๓๖๕ เหมือนพี่กับเจ้าทรามชม | เปรมปรีดิ์ภิรมย์ |
ใต้ร่มพฤกษาไทรทอง | |
๓๖๖ ชมหมู่มฤคราชผันผยอง | กระต่ายเต้นเมียงมอง |
แลโตกิเลนเลียงผา | |
๓๖๗ ชมคชสารสิงหรา | เต้นตามกันมา |
โลดไล่มหิงส์กระทิงทอง | |
๓๖๘ เหมือนเราพี่น้องทั้งสอง | เดินเคียงเมียงมอง |
ระวังหมู่ราชไพรี | |
๓๖๙ ชมผลพฤกษามาลี | สนสักกรักขี |
มีทั้งจิกแจงแสลงพัน | |
๓๗๐ กรรณิการ์เกดแก้วอินจัน | ประดู่แดงฉัน |
พิกุลบุนนากมาลี | |
๓๗๑ พระเด็ดดอกไม้สดสี | ยื่นให้เทวี |
แก้วพี่จงชมดมลอง | |
๓๗๒ เหมือนพวงมาลีพี่กรอง | คล้องกรนวลน้อง |
ที่ในห้องแก้วปรางค์ศรี | |
๓๗๓ แล้วเสด็จลงสรงวารี | สระโบกขรณี |
มีประทุมมาศหลายพรรณ | |
๓๗๔ อุบลจงกลนีสรรพสรรพ์ | บงกชสัตตบรรณ |
สาหร่ายสายติ่งลินจง | |
๓๗๕ พระเด็ดยื่นให้โฉมยง | เข้าเคียงเอียงองค์ |
แล้วสรงสนานวารี | |
๓๗๖ สรงเสร็จแล้วเสด็จจรลี | เข้าสู่พนาศรี |
ภูมีหลีกลัดไพรวัน | |
๓๗๗ เสวยผลพฤกษาป้อนปัน | กันกินทุกวัน |
ได้ความยากเย็นเข็ญใจ | |
๓๗๘ ข้ามห้วยเหวทางกลางไพร | บุกแฝกแหวกไป |
เสโทซึมซาบอาบองค์ | |
๓๗๙ ฝ่ายนางนิ่มน้อยโฉมยง | ลำบากบาทบงสุ์ |
ให้แตกพุพองหนองใน | |
๓๘๐ อัสสุชลหยดย้อยหลั่งไหล | ทูลพระภูวไนย |
ผู้เป็นพระราชสามี | |
๓๘๑ เมียเจ็บปวดบาทบทศรี | พ่างเพียงชีวี |
ชีวิตจะจากเจียนกาย | |
๓๘๒ พระพักตร์สลดเลือดเหือดหาย | ฉีกภูษาลาย |
แล้วพันพระบาทนวลนาง | |
๓๘๓ อุ้มองค์นงลักษณ์เดินทาง | เหนื่อยหนักพระวาง |
พระน้องในร่มประทมไพร | |
๓๘๔ ระงับร้อนแล้วอุ้มสายใจ | บทจรคลาไคล |
ในจังหวัดเขาลำเนาเกิน | |
๓๘๕ เย็นเช้าเจ้าอตส่าห์เดิน | ตามแถวแนวเนิน |
ห้องห้วยละหานธารทาง | |
๓๘๖ พระเล้าโลมน้องนวลนาง | สุดดินสิ้นทาง |
ก็ลุเถิงฝั่งสาคร | |
๓๘๗ ไม่เห็นเรือแพพายจร | ในท้องสาคร |
สงบสงัดฝูงคน | |
๓๘๘ พระเสด็จไต่ตามฝั่งชล | กับแก้วนีฤๅมล |
แล้วหยุดอยู่ใต้ร่มไทร | |
๓๘๙ กอดมิ่งมารศรีสายใจ | ทรงโศกาลัย |
ตกไร้ผัวเมียสองคน | |
๓๙๐ แก้วพี่ครั้งนี้เครื่องจน | เห็นจะสิ้นชนม์ |
เสียแล้วที่ฝั่งคงคา | |
๓๙๑ ใครเลยจะมาช่วยพา | ให้ข้ามซึ่งสา |
คเรศล่วงลุกรุงศรี | |
๓๙๒ บัดนั้นสมเด็จเทวี | เอาใจสามี |
พันปีอย่าทรงโศกา | |
๓๙๓ กุศลเราได้สร้างมา | จะช่วยรักษา |
ให้เราคืนคงยังสถาน | |
๓๙๔ เดชะกุศลสมภาร | ตรัสมิทันนาน |
ก็บันดาลพบสบสมัย | |
๓๙๕ พอสำเภามาบัดใจ | พบพาภูวไนย |
จะส่งให้เถิงกรุงศรี | |
๓๙๖ ใช้ใบไปกลางชลธี | เพลาราตรี |
สำเภาอับปางกลางชล | |
๓๙๗ จมลงในกลางชเลวน | (คราวเคราะห์หมู่คน) |
เป็นเหยื่อแก่ฝูงมัจฉา | |
๓๙๘ ฉนากฉลามเหรา | กินเป็นภักษา |
โลหิตฟูมฟองนองชล | |
๓๙๙ บัดนั้นพระหน่อทศพล | อุ้มแก้วนีฤๅมล |
ขึ้นเสากระโดงทันใจ | |
๔๐๐ อันกำลังพระภูวไนย | แม้นจะอุปไมย |
ได้เจ็ดกำลังช้างสาร | |
๔๐๑ พระอุ้มเกศแก้วเยาวมาลย์ | กับทั้งกระดาน |
โดดไปได้เส้นสิบห้าวา | |
๔๐๒ พ้นหมู่เงือกงูเหรา | ฉลามโลมา |
มิได้เบียดเบียนยายี | |
๔๐๓ อุ้มองค์นงนุชมารศรี | ผู้ร่วมชีวี |
ขึ้นขี่กระดานลอยไป | |
๔๐๔ พระชักภูษาทันใด | ผูกองค์อรไท |
ชายหนึ่งผูกองค์ภูมี | |
๔๐๕ คลื่นระลอกกระฉอกฉานวารี | เพลาราตรี |
ภูมิกลุ้มกลัดอัดใจ | |
๔๐๖ กระดานที่ขี่ข้ามไป | คลื่นซัดบัดใจ |
ก็แตกในกลางทะเลวน | |
๔๐๗ ภูษาก็ขาดบัดดล | ปิ้มจะสิ้นชนม์ |
ได้คนละซีกลอยไป ๚ะ |
ยานี
๔๐๘ บัดนั้นนางกระษัตริย์ | คลื่นฟองฟัดพลัดผัวไกล |
เรียกผัวอยู่ไจ้ไจ้ | ไปข้างไหนพระพันปี |
๔๐๙ มืดมนจนใจหนัก | อกจะหักพระภูมี |
พลัดผัวกลางชลธี | พระภูมีทิ้งเมียเสีย |
๔๑๐ เมียเรียกเท่าใดใด | เหตุไฉนไม่ขานเมีย |
ฤๅพระดับสูญเสีย | สิ้นชีวังกลางสายชล |
๔๑๑ มาด้วยกันผัวเมีย | ทั้งเมียเสียที่กลางหน |
เห็นหน้ากันสองคน | พระไปแล้วจะพึ่งใคร |
๔๑๒ ระลอกเป็นขนัด | คลื่นฟองฟัดกระดานไป |
สององค์จึงขึ้นได้ | คนละฟากฝั่งสาคร |
๔๑๓ เรื่องผัวยังยักไว้ | จะกล่าวไปเถิงนางก่อน |
แสนโศกแสนอาวรณ์ | ทอดองค์ลงกับหาดทราย |
๔๑๔ ผัวรักเมียหายไป | ทิ้งเมียไว้คนเดียวดาย |
ทูลกระหม่อมมาสูญหาย | แห่งหนใดไม่รู้เลย |
๔๑๕ เมียเรียกเท่าใดใด | นิ่งเสียได้ทูนหัวเอ๋ย |
เมียเรียกอยู่เบยเบย | เพื่อนเข็ญใจไม่ขานเมีย |
๔๑๖ รักผัวจึงติดตาม | พระโฉมงามทิ้งเมียเสีย |
ทีนี้อกของเมีย | จะบ่ายหน้าไปพึ่งใคร |
๔๑๗ เห็นหน้าท่านผูอื่น | เมียจะชื่นขึ้นที่ไหน |
เหมือนพึ่งผัวเมื่อไร | ไม่มีแล้วนะอกอา |
๔๑๘ คิดมาน่าอนาถ | เถิงพระญาติวงศา |
บิตุเรศแลมารดา | ตรัสห้ามปรามเมียไม่ฟัง |
๔๑๙ ทูลหัวมาปลดปลิด | พระไม่คิดความแต่หลัง |
ฤๅว่าพระชิงชัง | ละเมียไว้ในกลางหน |
๔๒๐ ไม่มีใครกล้ำกราย | จะถ่อพายแต่สักคน |
ขึ้นล่องตามสายชล | จะไถ่ถามเถิงภูมี |
๔๒๑ แม้นพระตายด้วยคลื่น | จะลอยคืนเห็นซากผี |
ฤาว่ายกลางชลธี | สุดความคิดจะติดตาม |
๔๒๒ นางไหว้วอนเทวา | ช่วยรักษาพระโฉมงาม |
จงช่วยบอกเนื้อความ | ว่าเมียเถิงฝั่งคงคา |
๔๒๓ รู้ว่าเมียไม่ตาย | จะค่อยคลายซึ่งโศกา |
จะได้เที่ยวค้นหา | กว่าจะพบประสบกัน |
๔๒๔ กันแสงแล้วครวญคร่ำ | พิไรร่ำเถิงผัวขวัญ |
เวรใดมาตามทัน | ฤาเราพรากลกนกกา |
๔๒๕ ร้องไห้พลางเดินไป | ตามแนวไพรฝั่งคงคา |
พระเนตรนางแสวงหา | เกลือกราชาจะลอยวน |
๔๒๖ เหลือบเล็งชลาสินธุ์ | มุจลินท์ริมฝั่งชล |
ไม่เห็นพระจุมพล | นางข้อนอกเข้าร่ำไร |
๔๒๗ ฤๅหนึ่งพระปิ่นแก้ว | เถิงฝั่งแล้วตามเมียไป |
บุกป่าพนาลัย | จังหวัดเขาลำเนาเถิน |
๔๒๘ นางจึงเข้าพงไพร | ความยากไร้อตส่าห์เดิน |
สุรเสียงนางเกรียงเกริ่น | เรียกหาผัวในไพรวัน |
๔๒๙ นกแก้วจับกิ่งแก้ว | พูดแจ้วแจ้วนางอัศจรรย์ |
เหมือนเสียงพระทรงธรรม์ | เรียกเมียขวัญในปรางค์ทอง |
๔๓๐ สาลิกาจับเพกา | บินร่อนมาเป็นคู่สอง |
ผัวเมียเข้าปรองดอง | จับคลึงเคล้าคู่คลอเคียง |
๔๓๑ เหมือนข้ากับราชา | พากันมานั่งนอนเรียง |
ลางทีเข้านั่งเคียง | ใต้ร่มไม่ในไพรวัน |
๔๓๒ นางเห็นฝูงเนื้อนก | น้ำตาตกเร่งกระศัลย์ |
คิดเถิงพระทรงธรรม์ | ไม่วายเว้นสักเวลา |
๔๓๓ อัสสุชลนางซึมซาบ | ไหลเอิบอาบพระนัยนา |
คิดเถิงพระภัสดา | ทุกค่ำเช้าแลเพรางาย |
๔๓๔ เดินพลางนางแลเหลียว | ตัวคนเดียวน่าใจหาย |
เสือหมีแลผีพราย | ช้างแรดร้ายไม่ยายี |
๔๓๕ เถิงแดนบุรีรัฐ | อินทปัตอันเรืองศรี |
พระราชเทวี | เข้าอาศัยยายกับตา |
๔๓๖ ตายายคือเศรษฐี | แต่ก่อนมีทรัพย์หนักหนา |
ครั้นอยู่ช้านานมา | กรรมซัดให้ตกเข็ญใจ |
๔๓๗ สองเฒ่าเลี้ยงจอมขวัญ | ลูกบุญธรรม์รักสบสมัย |
นางเรียกสองเฒ่าไซร้ | ว่าบิดาแลมารดา |
๔๓๘ ปรนนิบัติทั้งสองเฒ่า | ทุกค่ำเช้าเป็นอัตรา |
ไม่วายเว้นเพลา | นางกัลยาคิดเจียมตัว |
๔๓๙ นางคิดรำพึงไป | ทำไฉนจะพบผัว |
ธำมรงค์สำหรับตัว | ค่าควรเมืองไม่มีทัน |
๔๔๐ ครั้นนางจะเอาไว้ | ไม่รู้ที่จะผ่อนผัน |
ธำมรงค์วงเดียวนั้น | นางขายได้เงินสี่เกวียน |
๔๔๑ นางจึงช่วยผู้คน | นางนีฤๅมลทำความเพียร |
จ้างช่างแลเสมียน | สร้างปราสาทศาลาทาน |
๔๔๒ นางคิดสร้างศาลา | คนไปมานิจกาล |
แต่งโภชนาหาร | ให้บริบูรณ์ในศาลา |
๔๔๓ จ้างช่างให้เขียนไว้ | เรื่องท้าวไทแต่ต้นมา |
จนเถิงพระราชา | พาขึ้นลำสำเภาไป |
๔๔๔ นางเชิญทั้งสองเฒ่า | ให้ขึ้นเฝ้าปราสาทไชย |
ผู้คนทั้งนั้นไซร้ | ให้ปรนนิบัติเป็นอัตรา |
๔๔๕ นางจัดพนักงาน | ประจำการในศาลา |
ผู้คนจะไปมา | จงเลี้ยงดูให้บริบูรณ์ |
๔๔๖ ถ้าใครดูฉากแก้ว | โศกเศร้าแล้วพาไปทูล |
ตบแต่งให้บริบูรณ์ | ทุกทิวาแลราตรี |
๔๔๗ ส่วนนางทรงผนวช | บวชพระองค์เป็นนางชี |
ทรงศีลทุกราตรี | แผ่บุญให้ทุกเทวา |
๔๔๘ ให้บุญเทพไท | อันอยู่ในห้วยเหวผา |
เถื่อนถํ้าแถวคงคา | ช่วยผัวข้าให้คืนคง |
๔๔๙ จงช่วยบอกราชา | ให้พระมาโดยจำนง |
อย่าให้เธอลุ่มหลง | บอกทางตรงให้ตามมา ๚ะ |
๔๕๐ คิดน่าสงสารนัก | เถิงจอมจักรทรงโศกา |
เมื่อเถิงฝั่งคงคา | ไม่เห็นเมียเพียงอาสัญ |
๔๕๑ เจ้าพี่ผู้เพื่อนไร้ | ตกเข็ญใจมาด้วยกัน |
ครั้งนี้มิ่งเมียขวัญ | มาหายจากอกผัวไป |
๔๕๒ ปานนี้นางเมียแก้ว | ดับเสียแล้วฤๅไฉน |
ฤๅยังว่ายอยู่ใน | กลางสาครทะเลวน |
๔๕๓ ความยากพี่ครั้งนี้ | พี่ยิ่งคิดก็ยิ่งจน |
ไฉนหนอเจ้านีฤๅมล | ดวงเนตรพี่จะคืนพลัน |
๔๕๔ ความทุกข์พี่ครั้งนี้ | สุดที่พี่จำรำพัน |
ยิ่งคิดยิ่งกระศัลย์ | ยิ่งสังเวชพ้นคณนา |
๔๕๕ เงือกงูฤๅมังกร | อันสัญจรในคงคา |
จระเข้แลเหรา | ขบเคี้ยวเจ้ากินทั้งเป็น |
๔๕๖ แต่พี่มาจากเจ้า | ทุกค่ำเช้าแลยามเย็น |
ยามค่ำพี่เคยเห็น | ไม่เห็นเจ้าพี่โศกา |
๔๕๗ แต่นี้แลเพื่อนไร้ | ชลนัยน์พี่โหยหา |
อากาศคงคา | ก็น้อยกว่าเรียมรำพึง |
๔๕๘ จะหาให้เหมือนเจ้า | ตายเกิดเล่าไม่มีเถิง |
แสนทุกข์แสนคำนึง | เป็นอเนกแลอนันต์ |
๔๕๙ ความพี่ทุกข์เถิงเจ้า | แต่ก่อนเก่าไม่มีทัน |
ยิ่งคิดก็ยิ่งศัลย์ | ยิ่งโศกเศร้าในวิญญาณ์ |
๔๖๐ เจ้าพี่เอ่ยเถิงจะตาย | จะวอดวายพระชนมา |
พระศพจงลอยรา | พอพี่เห็นเป็นสำคัญ |
๔๖๑ ถ้าชีพเจ้าวอดวาย | พี่จะตายไปตามกัน |
จะอยู่ก็เครื่องศัลย์ | แสนโศกอยู่ไปไยมี |
๔๖๒ จะตายไปตามเจ้า | เป็นคู่เคล้าในเมืองผี |
อยู่ไปไยใครว่าดี | จะติฉินแล้วนินทา |
๔๖๓ ว่าพี่คนโฉดนัก | หม้ายเมียรักยิ่งโศกา |
ควรฤๅพาเมียมา | ทิ้งเสียได้ในกลางทาง |
๔๖๔ ครั้งก่อนจากพาชี | คราทีนี้พี่จากนาง |
เข็ญใจจนอับปาง | ตัวคนเดียวจะอยู่ไย |
๔๖๕ พระพิโรทพิไรร่ำ | ริมฝั่งนํ้าคงคาไหล |
สุดสิ้นพระแรงไป | เอียงองค์ลงกับปฐพี |
๔๖๖ ตรัสเรียกพระยุพิน | คำเดียวสิ้นสมประดี |
พระกายอินทรีย์ | สยองเส้นศิร์โลมา |
๔๖๗ สิ้นเสียงพิไรร่ำ | ริมฝั่งน้ำพระคงคา |
แทบท้าวจะมรณา | สวรรคตริมฝั่งชล |
๔๖๘ บุญกรรมทำทั้งนี้ | พระชินศรีตรัสอนุสนธิ์ |
แต่ก่อนทั้งสองคน | ลงอาบน้ำในคงคา |
๔๖๙ เห็นเจ้าสามเณรเด็ก | ขี่เรือเล็กพายลงมา |
ไม่เกรงลูกศาสดา | จับเรือโคลงหยอกเจ้าเณร |
๔๗๐ ผลกรรมทำเท่านั้น | ตามมาทันพระภูเบนทร์ |
ใช้กรรมหยอกเจ้าเณร | ห้าร้อยชาติตามเวรา |
๔๗๑ ครั้งนี้หน่อทศพล | จึงได้ทนเวทนา |
ครั้นฟื้นองค์ขึ้นมา | ทรงโศการ่ำรักเมีย |
๔๗๒ ร่ำเรียกทุกต้นไม้ | เจ้าเพื่อนไร้ทิ้งผัวเสีย |
เพื่อนยากกันผัวเมีย | มาจำจากอกผัวไป |
๔๗๓ พระเที่ยวหานีฤๅมล | ทุกตำบลเนินแนวไพร |
ตามฝั่งคงคาไหล | เถิงท่าน้ำเมืองยักษา |
๔๗๔ พระคอยดูท่วงที | จะมีคนเดินไปมา |
อาศัยสวนยักษา | ที่ดงกล้วยไม่มีใคร ๚ะ |
สุรางคนางค์
๔๗๕ นางกเรณุวดี | |
กับฝูงนารี | ทั้งเจ็ดเดินไป |
คิดว่าจะลง | สรงคงคาลัย |
พอพระภูวไนย | เหลือบเห็นทันที |
๔๗๖ พระทรงสงสัย | |
อนงค์นี้ไซร้ | ชื่อกเรณุวดี |
เป็นบุตรพระอา | กรุงสาวัตถี |
สมเด็จพันปี | ผู้เป็นบิดา |
๔๗๗ จะเสกนางนี้ | |
เป็นพระมเหสี | มิ่งมิตรขนิษฐา |
สมสู่นางน้อง | ครอบครองพารา |
ไฉนนางกัลยา | มาเมืองยักษี |
๔๗๘ ใคร่แจ้งประจักษ์ | |
จึงตรัสถามทัก | แม่กเรเนุวดี |
เจ้ามาอยู่ไย | ในเมืองยักษี |
ฤๅนางนารี | ติดตามพี่มา |
๔๗๙ นางกเรณุวดี | |
เห็นพระภูมี | แล้วทรงโศกา |
บอกว่าพญายักษ์ | ลักพาข้ามา |
ให้เลี้ยงรักษา | นางอัญชวดี |
๔๘๐ ทุกวันนี้ไซร้ | |
(ข้าอยู่รับใช้) | นางมารยักษี |
เคืองแค้นแสนเข็ญ | ไม่เป็นสมประดี |
เลี้ยงน้องสาวศรี | โกนดันยักษา |
๔๘๑ พระปลอบทรามวัย | |
เจ้าพี่อย่าได้ | กันแสงโศกา |
คิดเถิงร่วมจิต | พี่ติดตามมา |
หวังเชิญกัลยา | คืนยังกรุงศรี |
๔๘๒ ตอบกันไปมา | |
สุธนูราชา | กับกเรณุวดี |
ภิรมย์สมสู่ | ร่วมรู้ประเวณี |
ปรีดิ์เปรมเกษมศรี | ด้วยความเสนหา |
๔๘๓ ตรัสถามต่อไป | |
เจ็ดนางนี้ไซร้ | เป็นฉันใดนา |
เจ้าเป็นมนุษย์ | ฤๅนางยักษา |
เจ้าจงบอกข้า | อย่าได้อำพราง |
๔๘๔ นางกระษัตริย์ทั้งเจ็ด | |
บอกความสิ้นเสร็จ | มิได้อางขนาง |
โกนดันยักษา | ลักพานวลนาง |
มาไว้ในปรางค์ | เลี้ยงน้องสาวศรี |
๔๘๕ ข้าเป็นมนุษย์ | |
กระษัตริย์บริสุทธิ์ | ใช่ยักขิณี |
มาเป็นข้าใช้ | นางอัญชวดี |
อาภัพอัปรีย์ | พ้นที่คณนา |
๔๘๖ ความทุกข์ครั้งนี้ | |
ไว้ธุระพี่ | จะขออาสา |
พานางนีฤๅมล | ให้พ้นเวทนา |
กลับคืนพารา | ครอบครองไอศวรรย์ |
๔๘๗ พระผู้บุญหนัก | |
สมสนิทนงลักษณ์ | ทั่งเจ็ดด้วยกัน |
มิความยินดี | ปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
แล้วลาทรงธรรม์ | กลับไปปรางค์ศรี |
๔๘๘ แต่งตัวขึ้นเฝ้า | |
แม่อยู่หัวเจ้า | นางอัญชวดี |
เหม็นกลิ่นมนุษย์ | ในปราสาทศรี |
มีพระเสาวนีย์ | ตรัสถามทันใด |
๔๘๙ เหม็นกลิ่นมาณพ | |
นาสาสูบสบ | ใครมาแต่ไหน |
พบพานมนุษย์ | เข้าบ้างฦๅไร |
เจ้าเร่งบอกไป | อย่าคิดบิดความ |
๔๙๐ ฝ่ายนางนารี | |
ได้ฟังเสาวนีย์ | ซักไซ้ไถ่ถาม |
ไม่รู้ที่คิด | ปกปิดเนื้อความ |
จึงทูลนางงาม | ตามสัตย์จริงไป |
๔๙๑ ข้าพบมนุษย์ | |
ทรงโฉมบริสุทธิ์ | เลิศลบภพไตร |
ไม่มีเทียมเทียบ | เปรียบสุราลัย |
มาอยู่อาศัย | สวนกล้วยริมทาง |
๔๙๒ โฉมเฉิดเลิศลบ | |
ข้าไม่เคยพบ | เห็นอย่างนี้นาง |
แทบจะสลบ | ล้มลงกลางทาง |
ข้าบอกนวลนาง | สุจริตสัจจา |
๔๙๓ นางอัญชวดี | |
ได้ฟังสาวศรี | เสกสรรพรรณนา |
เถิงโฉมพระองค์ | ทรงลักษณ์ศักดา |
มีความเสนหา | ซาบเส้นสมองเศียร |
๔๙๔ สั่งนางสนิท | |
ให้เร่งพินิจ | ทำตามจำเนียร |
ตบแต่งเครื่องเสวย | สถิตเสถียร |
จงเฉลิมเจิมเศียร | ส่งให้สาวศรี |
๔๙๕ สั่งนางสาวใช้ | |
พี่เชิญเครื่องไป | ถวายพระพันปี |
เสวยสรรพเสร็จแล้ว | จึงเชิญภูมี |
ให้เสด็จจรลี | ขึ้นมาชมปรางค์ |
๔๙๖ สาวศรีกำนัล | |
รับสั่งแจ่มจันทร์ | มิได้คิดขนาง |
ไปถวายภูมี | ตามเสาวนีย์นาง |
แต่งตัวสำอาง | เข้าเฝ้าท้าวไท |
๔๙๗ ครั้นพระเสวยเสร็จ | |
นางกระษัตริย์ทั้งเจ็ด | ทูลแจ้งแถลงไข |
นางอัญชวดี | ให้เชิญภูวไนย |
บทจรคลาไคล | ยังปราสาทศรี |
๔๙๘ ตื้นลึกหนักเบา | |
นางชวนกันเล่า | ถี่ถ้วนถ้วนถี่ |
จนเพลาค่ำ | ย่ำแสงสูรีย์ศรี |
เจ็ดนางนารี | เชิญพระเสด็จไป |
๔๙๙ พระเสด็จยุวยาตร | |
ขึ้นเถิงปรางค์มาศ | นางอรทรามวัย |
นางทำผินพักตร์ | ไม่ทักถามไถ่ |
กลับเข้าอยู่ใน | ห้องทองเรืองศรี |
๕๐๐ พระเสด็จเข้าใกล้ | |
ว่านางอรไท | จงได้ปรานี |
เรียมหวังอัคเรศ | แก้วเกศมารศรี |
ไม่คิดชีวี | พี่อตส่าห์มา |
๕๐๑ เลื่องฦๅระบือไป | |
เถิงโฉมอรไท | พี่คร่ำครวญหา |
ควรฤๅโฉมศรี | ไม่มีกรุณา |
เจ้ายอดเสนหา | จงได้พาที |
๕๐๒ โปรดเถิดอรไท | |
ทำคุณพี่ไว้ | อย่าได้หน่ายหนี |
เสียแรงเรียมรัก | อย่าผลักไมตรี |
ช่วยชูชีวี | เรียมไว้กัลยา |
๕๐๓ นางมารตระบัด | |
ฟังสารแล้วตรัส | ด้วยความเสนหา |
เดิมทีซัดจร | ซอกซอนหลงมา |
เป็นคนอนาถา | ให้ทานอาหาร |
๕๐๔ กลับมาเซ้าซี้ | |
เจรจาพาที | เลี่ยงเลี้ยวเกี้ยวพาน |
สุนทรวาที | ไม่มีใครปาน |
ให้เหล่าเยาวมาลย์ | งวยงงหลงใหล |
๕๐๕ ลิ้นลมแหลมหลัก | |
ให้เราหลงรัก | แล้วจักหนีไป |
ตรัสมาทุกสิ่ง | เห็นจริงที่ไหน |
อย่าน้อยพระท้ย | ไม่เชื่อวาที |
๕๐๖ อนิจจาร่วมจิต | |
เจ้าอย่าพึงคิด | เคลือบแคลงไยมี |
เรียมรักบุญเรือง | มาเมืองยักษี |
สู้เสียชีวี | พี่อตส่าห์มา |
๕๐๗ ละถิ่นละฐาน | |
ละแสนศฤงคาร | เข้าเมืองยักษา |
ได้แก้วยอดมิ่ง | ไม่ทิ้งกัลยา |
เจ้าดวงนัยนา | จงได้ปรานี |
๕๐๘ นางมารได้ยิน | |
สดับสารแล้วถวิล | ซาบเส้นเกศี |
แกล้งทำมารยา | ว่าไม่ยินดี |
ถอยถดขยดหนี | แฝงพักตร์ม่ายเมียง |
๕๐๙ ขยดเข้าใกล้ | |
แอบองค์อรไท | คลึงเคล้าคลอเคียง |
โลมลูบจูบพักตร์ | นางยักษ์เอนเอียง |
องค์ลงเหนือเตียง | แท่นทองผ่องศรี |
๕๑๐ ภิรมย์สมสนิท | |
นางยักษ์ปลื้มจิต | เพลิดเพลินยินดี |
แสยงเส้นโลมา | กายายักษี |
อันความยินดี | พ้นที่รำพัน |
๕๑๑ สมพาสนางยักษ์ | |
โอบอุ้มฟูมฟัก | อยู่สองสามวัน |
คิดเถิงอาชา | กัลยาเมียขวัญ |
พระทรงโศกศัลย์ | เศร้าสร้อยโศกา |
๕๑๒ นางยักษ์ทูลถาม | |
ว่าพระโฉมงาม | กันแสงไยนา |
ขัดแค้นสิ่งใด | พระได้กรุณา |
อย่าทรงโศกา | จงได้พาที |
๕๑๓ พระจึงแสดงสาร | |
ว่ายอดเยาวมาลย์ | มิ่งมิตรมารศรี |
เคยอยู่กรุงไกร | ได้ทรงพาชี |
ในเมืองยักษี | ไม่มีอาชา |
๕๑๔ นางยักษ์ตอบสาร | |
ว่าพระภูบาล | อย่าทรงโศกา |
สมเด็จพระพี่ | ได้พาชีมา |
ใส่กรงตรึงตรา | จำไว้ท้ายเมือง |
๕๑๕ จะให้สาวใช้ | |
ไปทูลขอให้ | ท้าวไทบุญเรือง |
ทรงพาชีเล่น | เป็นปิ่นปักเมือง |
อย่าได้แค้นเคือง | ครวญคร่ำร่ำหา |
๕๑๖ มีพระเสาวนีย์ | |
ใช้กเรณุวดี | ไปเฝ้าราชา |
ทูลขอพาชี | ที่พี่ได้มา |
พี่จงไคลคลา | อย่าช้าเร่งไป |
๕๑๗ นางกเรณุวดี | |
รับพระเสาวนีย์ | ไปทูลทันใด |
ว่าพระท้าวน้อง | ให้มาทูลไท |
ขออาชาไนย | ที่ท้าวได้มา |
๕๑๘ โกนดานยักษี | |
ได้ฟังพาที | จึงมีบัญชา |
พาชีฉิบหาย | มันร้ายหนักหนา |
บอกพระน้องยา | อย่าขี่ขับมัน |
๕๑๙ นางกเรณุวดี | |
รับสั่งภูมี | กลบมาทูลพลัน |
ตรัสว่าพาชี | มีพยศกวดขัน |
จึงท้าวกุมภัณฑ์ | ไม่ให้ข้ามา |
๕๒๐ นางมารยักษี | |
ใข้กเรณุวดี | ไปทูลราชา |
พาชีสาหส | พยศหนักหนา |
ขอขี่อาชา | ตัวนี้ลองดู |
๕๒๑ นางกเรณุวดี | |
รับพระเสาวนีย์ | ไปทูลโฉมตรู |
ขอพาชีไป | พระไม่เอ็นดู |
พระแม่อดสู | นึกน้อยพระท้ย |
๕๒๒ บอกว่าพาชี | |
มันร้ายผิดที | ขี่ขับมันไย |
ห้ามแล้วห้ามเล่า | ขืนจะเอาไป |
จะขี่ให้ได้ | ตามใจน้องยา |
๕๒๓ กเรณุวดี | |
รับสั่งภูมี | ไปหาอาชา |
บอกความถ้วนถี่ | มิได้กังขา |
ว่าพระราชา | มาตามพาชี |
๕๒๔ บอกแล้วกัลยา | |
จับจูงพญาม้า | เดินมาด้วยดี |
เถิงหน้าที่นั่ง | พญายักษี |
ตรัสว่าม้านี้ | สตรีชอบกัน |
๕๒๕ นางกเรณุวดี | |
จูงม้าพาชี | ไปถวายทรงธรรม์ |
พระพบพาชี | มีความกระศัลย์ |
ความแต่หลังนั้น | พรางนางยักษี |
๕๒๖ พระบอกอาชา | |
ข้ากับกัลยา | มาตามพาชี |
พลัดกันกับนาง | ในกลางชลธี |
เป็นตายร้ายดี | ยังมิรู้เลย |
๕๒๗ จะอยู่แห่งใด | |
ขัดสนจนใจ | นะพาชีเอ๋ย |
กรรมแต่ก่อนปาง | พลัดนางทรามเชย |
ข้าไม่รู้เลย | เถิงนางกัลยา |
๕๒๘ เวลาราตรี | |
นางอัญชวดี | รัญจวนครวญหา |
พระเข้าไปปรางค์ | พลางปลอบสุดา |
ด้วยความเสนหา | เชยชิดพิสมัย |
๕๒๙ เพลาราตรี | |
นางอัญชวดี | บันทมหลับใหล |
พระลอบออกมา | หาพาชีไชย |
ขึ้นหลังม้าได้ | พากันเหาะหนี ๚ะ |
ยานี
๕๓๐ บัดนั้นพระทรงธรรม์ | ปรึกษากันกับพาชี |
จะไปแห่งใดดี | จึงจะพบประสบนาง[๘] |
๕๓๑ ม้าว่าจะพาไป | หาทรามวัยทุกธานี |
ถ้าไม่สิ้นชีวี | ข้าเห็นทีจะพบพาน |
๕๓๒ ไหนไหนเที่ยวหาจบ | ไม่พานพบนางนงคราญ |
มิ่งม้าพาเหาะทะยาน | หาทุกราชธานี |
๕๓๓ แลเห็นศาลาทาน | ที่หน้าบ้านแห่งเศรษฐี |
พระตรัสแก่พาชี | หยุดอาศัยใกล้ศาลา |
๕๓๔ แปลงองค์เป็นพราหมณ์เทศ | ไทธิเบศเดินเข้ามา |
คนงานที่ศาลา | ร้องเชื้อเชิญพราหมณ์เข้าไป |
๕๓๕ มาเถิดเจ้าพราหมณ์เทศ | ผู้ทรงเพทมาแต่ไหน |
เชิญขึ้นมานั่งใน | บริโภคให้สำราญ |
๕๓๖ เสวยเครื่องกระยาบวช | ล้วนประกวดทั้งเปรี้ยวหวาน |
เสร็จแล้วเชิญภูบาล | ชมฉากแก้วในศาลา |
๕๓๗ พระเสด็จชมฉากแก้ว | จับเรื่องแล้วแต่ต้นมา |
จนเถิงพระราชา | ขึ้นเภตราข้ามนัที |
๕๓๘ พระคิดเถิงทรามวัย | พระภูวไนยทรงโศกี |
คนงานเห็นภูมี | เชิญพันปีไปถวายนาง |
๕๓๙ สองกระษัตริย์ได้พบกัน | พาทรงธรรม์ขึ้นบนปรางค์ |
สงสารแต่นวลนาง | กันแสงพลางเล่าความผัว |
๕๔๐ ข้าเที่ยวหาผัวรัก | เพียงอกหักไม่คิดตัว |
เมียนี้ทุกข์เถิงผัว | อกจะครากทุกเพลา |
๕๔๑ พระปลอบนางน้องแก้ว | กรรมเราแล้วอย่าโศกา |
ผัวเที่ยวติดตามมา | แล้วถามเถิงม้าอาชา |
๕๔๒ พระบอกนางทันใด | พี่ตามไปเมืองยักษา |
พี่ถามเถิงอาชา | เรียมลวงยักษ์ลักม้าหนี |
๕๔๓ ตัวพี่กับอาชา | พากันมาหาเทวี |
จึงพบประสบศรี | ไว้พาชีริมโรงทาน |
๕๔๔ นางจึงให้ทาสี | เชิญพาชีอันกล้าหาญ |
เข้ามาหานงคราญ | นางกอดม้าเข้าร่ำไร |
๕๔๕ พี่ม้าผู้ร่วมจิต | น้องนี้คิดว่าบรรลัย |
นํ้าตาน้องหลั่งไหล | ไห้รักผัวแลอาชา |
๕๔๖ จะประมวลความไว้ | ชลนัยน์ไห้โหยหา |
แม่น้ำยมนา | ก็น้อยกว่าข้าทุกข์กรอม |
๕๔๗ ความทุกข์ไม่เหือดหาย | จนวรกายข้าเผือดผอม |
แสนทุกข์ที่ข้าตรอม | แต่ก่อนเก่าไม่เท่าทัน |
๕๔๘ ความทุกข์ข้าครั้งนี้ | พ้นที่น้องจะรำพัน |
ยิ่งคิดก็ยิ่งศัลย์ | แสนเทวษนักพาชี |
๕๔๙ อาชาจึงตอบสาร | ยอดเยาวมาลย์มิ่งมารศรี |
ความทุกข์ข้าพาชี | ก็พ้นที่จะพรรณนา |
๕๕๐ ตัวตายไม่รำพึง | ข้าทุกข์เถิงศรีสุดา |
กับทั้งพระราชา | อกข้าตรมระบมหนอง |
๕๕๑ คิดคิดแล้วร้องไห้ | น้ำตาไหลลงฟูมฟอง |
อ้ายยักษ์ก็จองหอง | มันจำจองแล้วทุบตี |
๕๕๒ พระแปลงจากพราหมณ์เทศ | องค์อัคเรศสึกจากชี |
แสนสุขแสนเปรมปรีดิ์ | แสนสว่างสร่างโศกา |
๕๕๓ ปรีดิ์เปรมเกษมสุขนัก | วรลักษณ์นางกัลยา |
ความชื่นสิ่งใดมา | เหมือนพบผัวไม่เทียมทัน |
๕๕๔ พระทรงสโมสร | สัถาวรด้วยแจ่มจันทร์ |
หยุดอยู่สองสามวัน | กลับเศร้าสร้อยทรงโศกา |
๕๕๕ ปรับทุกข์กับเมียรัก | เรียมทุกข์หนักขนิษฐา |
บิตุเรศแลมารดา | ไม่รู้ว่าเป็นฉันใด |
๕๕๖ จะทรงพระทุกข์นัก | ประชวรหนักฤๅไฉน |
ฤๅว่าจะบรรลัย | สิ้นพระชนม์ไม่รู้เลย |
๕๕๗ จะอยู่ช้าไปนัก | อกเรียมรักไม่เสบย |
ทูลกระหม่อมของลูกเอย | จะโศกเศร้าทุกเพรางาย |
๕๕๘ พระกายจะซูบผอม | จะทุกข์ตรอมเถิงลูกชาย |
คิดมาน่าใจหาย | ปรึกษานางกับพาชี |
๕๕๙ พาชีจึงตอบสาร | ยอดเยาวมาลย์แลพันปี |
รำพึงเถิงชนนี | ใครจะทุกข์เหมือนอาชา |
๕๖๐ เหตุผลเพราะพาชี | พาภูมีเหาะหนีมา |
จะทรงพระโศกา | ด่าอาชาไม่วายวัน |
๕๖๑ จะพาพระภูวไนย | กับอรไทไปพร้อมกัน |
เฝ้าองค์พระทรงธรรม์ | จะค่อยคลายซึ่งโกรธา |
๕๖๒ จะชมพระภูวไนย | ศรีสะใภ้สุดเสนหา |
ซึ่งโทษของอาชา | จะทุเลาเบาบางลง |
๕๖๓ จะช้าอยู่ไม่ได้ | พาอรไทไปโดยจง |
เกลือกว่าพระบิตุรงค์ | กับชนนีสิ้นพระชนม์ |
๕๖๔ ทราบสารแล้วกัลยา | สั่งยายตาทั้งสองคน |
อตส่าห์สร้างกุศล | เร่งจำศีลแลทำทาน |
๕๖๕ ทรัพย์สินยกไว้ให้ | ปราสาทไชยแลคนงาน |
อตส่าห์บำเพ็ญทาน | ข้าทั้งสองจะลาไป |
๕๖๖ สงสารทั้งสองเฒ่า | เข้ามาเฝ้านํ้าตาไหล |
ทูลกระหม่อมจะเสด็จไป | ทิ้งข้าไว้เวทนา |
๕๖๗ พระสั่งทั้งสองเฒ่า | อย่าโศกเศร้าร้องไห้หา |
สั่งแล้วอุ้มกัลยา | ขึ้นอาชาพาเหาะไป |
๕๖๘ เหาะไปโดยอัมพร | ไม่อาทรสิ่งใดใด |
กระเษมเปรมพระทัย | ไท้ทั้งสองกับพาชี |
๕๖๙ เหาะมาไม่เร็วนัก | ค่อยแรมพักตามวิถี |
พาเจ้าดวงชีวี | หยุดประทับรอนแรมไพร |
๕๗๐ พระอัครเทวี | ถามพาชีทุกวันไป |
เมืองยักษ์อยู่แห่งใด | ไม่ไว้ใจเลยอาชา |
๕๗๑ บัดนั้นจึงพาชี | ตอบเสาวนีย์ศรีสุดา |
มาพ้นแดนยักษา | อย่ากลัวเลยแม่อยู่หัว |
๕๗๒ มาเถิงแดนมนุษย์ | การยั้งหยุดไม่มีกลัว |
ท้าวไทไม่ใช่ชั่ว | หากเวรกรรมจึงจำเป็น |
๕๗๓ สิ้นทุกข์สิ้นความยาก | สิ้นลำบากสิ้นแสนเข็ญ |
ไม่มีความยากเย็น | ยังเป็นทุกข์แต่อาชา |
๕๗๔ บิดาทรงพระโกรธ | จะลงโทษข้านักหนา |
อำมาตย์แลเสนา | ทั้งไพร่ฟ้าว่าไม่ดี |
๕๗๕ ปองแต่จะทำโทษ | ว่าข้าโหดพาพระหนี |
เกรี้ยวโกรธข้าพาชี | ไม่วายเว้นสักเวลา |
๕๗๖ ทูนกระหม่อมทั้งสององค์ | จงได้ทรงพระเมตตา |
แม้นทรงพระโกรธา | ขอโทษข้าให้พันภัย |
๕๗๗ ชีวิตข้าพาชี | เห็นจะมีสืบต่อไป |
เพราะบุญพระภูวไนย | ทั้งสององค์ปกเกศา |
๕๗๘ ทูลแล้วอาชาไนย | นํ้าตาไหลร่ำโศกา |
อกใครเหมือนอกข้า | ความรักเจ้าจนตัวตาย |
๕๗๙ สองกระษัตริย์เห็นอาชา | โศกโศกาน่าใจหาย |
ปลอบว่าอย่ากลัวตาย | ไว้ธุระข้าผัวเมีย |
๕๘๐ ข้ารักม้าจริงจริง | ข้าไม่ทิ้งมิ่งม้าเสีย |
ชีวิตข้าผัวเมีย | กับพาชีอันเดียวกัน |
๕๘๑ จะกอดบาทพระชนนี | พระพันปีผู้ทรงธรรม์ |
ผัวเมียจะช่วยกัน | ทูลขอโทษพี่อาชา |
๕๘๒ แม้นทูลขอพาชี | ไม่ปรานีโปรดเกศา |
จะตายด้วยอาชา | อยู่ไปไยนะพาชี |
๕๘๓ แม้นข้าผ่านโภไคย | ปราสาทไชยอันเรืองศรี |
มณีกากร่วมชีวี | ขึ้นโรงทองอันผ่องใส |
๕๘๔ ห้อยย้อยด้วยพวงพู่ | กลิ่นเรณูขจรไป |
ครวญคร่ำร่ำไปไย | พาชีไชยอย่าโศกา |
๕๘๕ พระปลอบพาชีแล้ว | อุ้มน้องแก้วขึ้นอาชา |
ชวนกันเสด็จคลา | บ่ายพักตรายังกรุงศรี ๚ะ |
๕๘๖ สมเด็จบิดุเรศ | ทนเทวษโศกโศกี |
กับแก้วเกศนี | พิไรร่ำคร่ำครวญหา |
๕๘๗ แล้วเข้าที่ไสยาสน์ | ในปรางค์มาศอันโอฬาร์ |
ลงสู่ที่นิทรา | จนเพลาปัจจุสมัย |
๕๘๘ ท้าวทรงพระสุบิน | ว่าเทวินทร์เรืองฤทธิไกร |
มือถือพวงดอกไม้ | เหาะมาในกลางนภา |
๕๘๙ แล้วยกดอกบัวทอง | ขึ้นประคองเหนือเกศา |
สองดอกงามโสภา | เข้ามาถวายพระทรงธรรม์ |
๕๙๐ ในฝันว่าพระบาท | รับประทุมมาศอันเรืองฉัน |
กอดไว้กับอกพลัน | เกษมสันต์บานพระทัย |
๕๙๑ รัศมีดอกบัวหลวง | งามโชติช่วงรุ่งเรืองไป |
หอมกระลบทั้งภพไตร | ให้ชมชื่นทั้งกรุงศรี |
๕๙๒ พระตื่นจากไสยาสน์ | เห็นประหลาดเร่งยินดี |
ให้หาหมู่เสนี | ทั้งโหรพราหมณ์เร่งทำนาย |
๕๙๓ พระโหรพราหมณ์ผู้ปรีชา | รู้ตำรากราบทูลถวาย |
ให้แจ้งโดยบริยาย | ในลักขณะนิมิตฝัน |
๕๙๔ นิมิตฝันว่าเทวา | ทรงศักดาเหาะมาพลัน |
ถือดอกบัวเรืองฉัน | สองดอกนั้นมาถวาย |
๕๙๕ เทวาล้ำเลิศแล้ว | คือม้าแก้วบันเพริศพราย |
จะพาพระโฉมฉาย | ยอดโอรสกลับคืนมา |
๕๙๖ ดอกบัวสองดอกนั้น | พระทรงธรรม์ไปเที่ยวหา |
ได้แก้วเกศสุดา | จะกลับมาเป็นสององค์ |
๕๙๗ ฝันว่าพระภูวไนย | กอดเข้าไว้กับทรวงทรง |
พระทัยของพระองค์ | ให้เบิกบานสำราญใจ |
๕๙๘ จะได้ชมเจ้าฟ้า | โอรสายอดพิสมัย |
กับทั้งศรีสะใภ้ | ทรงนรลักษณ์เลิศโลกี |
๕๙๙ ฝันว่าดอกบัวหลวง | อันโชติช่วงรุ่งรัศมี |
สว่างทั่วทั้งธานี | ในไตรภพจบเวียงไชย |
๖๐๐ อานุภาพหน่อนเรศ | ศักดาเดชปกแผ่ไป |
ไม่มีผู้เทียมไท | จะเข็ดขามทุกธานี |
๖๐๑ ไม่ช้านานนักแล้ว | พระลูกแก้วรุ่งรัศมี |
มาถึงพระบูรี | วันพรุ่งนี้เป็นมั่นคง |
๖๐๒ ถ้าแม้นมิกลับมา | ดังวาจาข้าพระองค์ |
ถวายชีพให้ปลดปลง | สิ้นทั้งโคตรอย่าโปรดปราน |
๖๐๓ พระได้ฟังโหรทาย | โดยบริยายให้เบิกบาน |
สั่งให้ตระเตรียมการ | ทุกพนักงานจงพร้อมกัน |
๖๐๔ โขนหนังแลเทพทอง | เพลงขับร้องให้ครบครัน |
หกคะเมนไต่ลวดนั้น | ทั้งละครแลหุ่นยนต์ |
๖๐๕ ระเบ็งแลโมงครุ่ม | จัดหนุ่มหนุ่มจีนเล่นกล |
ระบำรำทุกคน | เพลงครึ่งท่อนสักรวา |
๖๐๖ ตั้งโรงให้รายรอบ | เป็นระบอบรอบพารา |
แต่งตัวให้โอ่อ่า | ตระเตรียมไว้จงทุกโรง |
๖๐๗ แล้วจัดละครรำ | จับระบำให้โอ่โถง |
มโหรีขับไม้โคลง | ทั้งพิณพาทย์แลแตรสังข์ |
๖๐๘ ฆ้องไชยแลกลองไชย | รำมอญไทยแขกฝาหรั่ง |
พระลูกกูเถิงวัง | จงประโคมให้พร้อมกัน ๚ะ |
๖๐๙ บัดนั้นพระยอดฟ้า | เตือนอาชาร่วมชีวัน |
เร่งให้เหาะมาพลัน | เถิงกรุงแก้วพระบูรี |
๖๑๐ ทักษิณพระนคร | โดยอัมพรรุ่งรัศมี |
เอิกเกริกทั้งธานี | เสียงประโคมเป็นโกลา |
๖๑๑ เสียงสนั่นลั่นครึกครื้น | พ่างเพียงพื้นพสุธา |
จะทรุดด้วยวาจา | ร้องอวยไชยถวายพร |
๖๑๒ ชมโฉมพระภูวไนย | โฉมอรไทยิ่งอัปสร |
เปล่งปลั่งดังจันทร | อันลอยเลื่อนกลางเวหา |
๖๑๓ งามองค์พระภูวไนย | งามอรไทเลิศลักขณา |
งามม้าแก้วอาชา | ดูเพริศพริ้งยิ่งแดนไตร |
๖๑๔ ทักษิณสามรอบแล้ว | ชวนน้องแก้วพิสมัย |
เข้าเฝ้าพระภูวไนย | ปิ่นพิภพผู้บิดา ๚ะ |
พิลาป
๖๑๕ กราบลงกับบาทา | |
สมเด็จพระบิตุราช | กันแสงโศกา |
พระราชเทวี | กราบกับบาทา |
แห่งนางกัลยา | ผู้เป็นชนนี |
๖๑๖ สงสารสี่กระษัตริย์ | |
ความโศกกลุ้มกลัด | สุดสิ้นสมประดี |
กอดลูกเข้าไว้ | ไม่ได้พาที |
แทบดับชีวี | สิ้นทั้งสี่องค์ |
๖๑๗ ฟื้นองค์ขึ้นได้ | |
ทรงกันแสงไห้ | พระทัยใหลหลง |
กอดจูบลูบพักตร์ | ลูกรักโฉมยง |
แล้วท้าวกลับทรง | โศกเศร้าโศกา |
๖๑๘ พระสุธนู | |
พระองค์หยั่งรู้ | พระทัยบิดา |
โศกซวนปวนปั่น | หวนหันไปมา |
แกล้งกริ้วอาชา | ว่าพากูหนี |
๖๑๙ จึงทูลขอโทษ | |
บิดุเรศจงโปรด | ข้ากับพาชี |
โทษผิดนักหนา | พากันเหาะหนี |
ความผิดทั้งนี้ | เถิงสิ้นชีวา |
๖๒๐ ตรัสว่าคิดไว้ | |
ถ้าบิดาได้ | อ้ายพาชีมา |
จะให้เชือดเนื้อ | แล้วเอาเกลือทา |
ให้สมนํ้าหน้า | พาลูกกูหนี |
๖๒๑ ครั้นเจ้ากลับมา | |
ทูลว่ากัลยา | ได้เพราะพาชี |
โทษผิดอาชา | ที่พาลูกหนี |
ความชอบข้อนี้ | พอกลบลบกัน |
๖๒๒ ต่างองค์ต่างเล่า | |
ความทุกข์ก่อนเก่า | ร้อนโรคโศกศัลย์ |
เถิงความทุกข์ยาก | พลัดพรากจากกัน |
แสนเศร้าโศกศัลย์ | ยิ่งพ้นคณนา |
๖๒๓ คลายโศกขึ้นได้ | |
เฝ้าชมศรีสะใภ้ | สุดสวาดิบาดตา |
รัศมีโชติช่วง | ดั่งดวงจันทรา |
ไม่มีธิดา | ใดเปรียบเทียบทัน |
๖๒๔ สั่งให้เสนี | |
แต่งการพิธี | อุปภิเษกจอมขวัญ |
ตรัสการสมโภช | ให้ถ้วนเจ็ดวัน |
จะเสกทรงธรรม์ | ให้ครองโภไคย |
๖๒๕ พรหมทัตราชา | |
แต่งพระยอดฟ้า | สุธนูเรืองไชย |
นางจีรัปภา | ให้กรมฝ่ายใน |
ตบแต่งทรามวัย | ให้เลิศเลขา |
๖๒๖ ครั้นได้ฤกษ์ดี | |
จึงเชิญบายศรี | เจ็ดชั้นออกมา |
ตั้งโรงพิธี | วิจิตรรจนา |
เชิญองค์กระษัตรา | มาทั้งสองศรี |
๖๒๗ แหนแห่แออัด | |
จัดเป็นขนัด | ตามเสด็จภูมี |
สนั่นครั่นครื้น | เพียบพื้นปัฐพี |
พ่างเพียงธรณี | จะทรุดโทรมลง |
๖๒๘ โหราพฤฒามาตย์ | |
กับทั้งพระญาติ | บรมวงศ์ |
เชิญสองกระษัตริย์ | ขึ้นแท่นทองทรง |
เข้าประคององค์ | เคียงคู่สู่สม |
๖๒๙ จับข้อพระกร | |
ทั้งสองบังอร | เข้าคู่ประนม |
วางลงถาดทอง | ปรองดองชื่นชม |
ฝ่ายพระบรม | ญาติถวายพร |
๖๓๐ ศรีศรีมีสวัสดิ์ | |
ให้สองกระษัตริย์ | ทรงพระสโมสร |
ปราศจากทุกข์ภัย | อย่าได้อาทร |
ให้สองบังอร | ร่วมจิตใจกัน |
๖๓๑ เสกสององค์เอก | |
ปราบดาภิเษก | ล้ำเลิศเฉิดฉัน |
ครอบครองบูรี | โดยคดีธรรม์ |
ฝูงอรินทร์แพ้ผัน | ฟายแพ้แต่ไกล |
๖๓๒ พระญาติวงศา | |
บิดามารดา | ได้พึ่งบุญไป |
ดังเสตฉัตรแก้ว | เย็นทั่วภพไตร |
ให้สองสายใจ | ยืนได้พันปี |
๖๓๓ แล้วเวียนเทียนไชย | |
ฝ่ายหน้าฝ่ายใน | นั่งล้อมภูมี |
ประโคมแตรสังข์ | ดุริยางคดนตรี |
ขับไม้มโหรี | ปี่พาทย์ฆ้องไชย |
๖๓๔ เสียงโห่สนั่น | |
ดังสุธาลั่น | กัมปนาทหวาดไหว |
เพียงพระสุเมรุ | จะเอนเอียงไป |
ฝูงเทพไท | มาทุกราศี |
๖๓๕ เป็นปิ่นนคเรศ | |
ทรงศักดาเดช | ฦๅทั่วธรณี |
เกรงขามคร้ามเดช | ทุกนิเวศกรุงศรี |
สุขเขษมเปรมปรีดิ์ | สิ้นทั้งพระนคร |
๖๓๖ ฝ่ายอัครฉายา | |
เป็นปิ่นสุดา | ยิ่งเทพอัปสร |
ทรงสวัสดิ์รัศมี | เป็นศรีนคร |
ปกเกล้าสายสมร | หมื่นหกพันนาง |
๖๓๗ ท้าวเสวยไอศวรรย์ | |
สมบัติอนันต์ | อเนกเปรมปรางค์ |
เป็นปิ่นปักเมือง | ไม่เคืองใจนาง |
ประพฤติตามทาง | ธรรมแต่โบราณ |
๖๓๘ ร้อยเอ็ดพารา | |
เกลื่อนกล่นกันมา | ถวายบรรณาการ |
เข้าเฝ้าภูวไนย | พระทัยโปรดปราน |
สอนให้ทำทาน | จำศีลภาวนา |
๖๓๙ พระราชโอวาท | |
ตรัสมิได้ขาด | สิ้นทุกข์พารา |
อำมาตย์มนตรี | พราหมณ์ชีพฤฒา |
ฝ่ายในฝ่ายหน้า | สอนทุกวันไป |
๖๔๐ ให้ปลูกโรงทอง | |
ฉลักฉลุกุก่อง | เรืองรองสุกใส |
จำรัสรัศมี | ให้พาชีไชย |
เข้าอยู่แทบใกล้ | ปราสาทราชา |
๖๔๑ ทรงศีลทรงสัตย์ | |
สมบูรณ์พูนสวัสดิ์ | ใหญ่ยิ่งหนักหนา |
เดชานุภาพ | ปราบด้วยธรรมา |
ทั่วทุกพารา | เป็นมหาสุขี |
๖๔๒ ฝ่ายพระบิดา | |
ออกทรงบรรพชา | สืบสร้างบารมี |
มอบเวนสมบัติ | พัสถานกรุงศรี |
ไม่มีราคี | ปลิโพธอาลัย |
๖๔๓ พระจอมกระษัตริย์ | |
พระองค์ทรงตรัส | ด้วยยอดพิสมัย |
ผู้มิ่งมเหสี | กับพาชีไชย |
ว่าทุกกรุงไกร | ประณตบทมาลย์ |
๖๔๔ รับราชโอวาท | |
มิได้ประมาท | บำเพ็งศีลทาน |
แต่ท้าวยักษี | ฤทธีกล้าหาญ |
ชื่อว่าโกนดาน | อยู่กรุงยักษา |
๖๔๕ จะเสด็จทรมาน | |
ให้ท้าวโกนดาน | รักษาศีลา |
พานางกระษัตริย์ | ทั้งเจ็ดนั้นมา |
กับนางยักษา | ชื่ออัญชวดี |
๖๔๖ เราเป็นกระษัตริย์ | |
วาจาได้ตรัส | ไว้แก่นารี |
จะพามาไว้ | ให้พ้นยักษี |
ครั้นได้พาชี | เหาะหนีนางมา |
๖๔๗ ลาเจ้ากลับไป | |
พานางมาให้ | สมกับวาจา |
กเรณุวดี | เป็นลูกพระอา |
โกนดานยักษา | ลักพานางไป |
๖๔๘ พระอัครเทวี | |
ตรัสแก่ภูมี | กับพาชีไชย |
จะไปครั้งนี้ | พี่อาชาไนย |
เกลือกอัปราชัย | อายแก่ยักษา |
๖๔๙ ขอพระภูมี | |
กับพี่พาชี | เร่งนึกตรึกตรา |
อันการทั้งปวง | ข้าห่วงนักหนา |
จงมีบัญชา | ให้ข้าแจ้งใจ |
๖๕๐ พระตอบเสาวนีย์ | |
ว่ามิ่งมารศรี | อย่าคิดสงสัย |
เรียมเรืองฤทธี | กับพาชีไชย |
จะปราบมันให้ | อยู่ใต้บาทา |
๖๕๑ ม้ากราบทูลเล่า | |
แม่อยู่หัวเจ้า | อย่าได้กังขา |
ครั้งก่อนเสียที | ด้วยมีวาจา |
ตรัสกำชับมา | ยักษาได้ที |
๖๕๒ ครั้งนี้อาชา | |
จะขออาสา | แก้เผ็ดยักษี |
พาตัวมันมา | ให้เถิงธานี |
พระอัครเทวี | อย่าได้แคลงใจ |
๖๕๓ พระยอดเยาวมาลย์ | |
ครั้นได้สดับสาร | กำชับภูวไนย |
ระมัดองค์จงดี | มีอัธยาศัย |
อันพาชีไชย | แค้นอ้ายโกนดาน |
๖๕๔ จะโถมเข้าสู้ | |
สำคัญว่ากู | ฤทธากล้าหาญ |
เสียทางท่วงที | ยักษีใจพาล |
พระจงคิดอ่าน | อย่าฟังอาชา |
๖๕๕ ตรัสแล้วพระบาท | |
สั่งให้อำมาตย์ | รักษานครา |
ครั้นได้ฤกษ์ดี | ภูมียาตรา |
ขึ้นหลังอาชา | พาท้าวเหาะไป |
๖๕๖ ไม่ช้านานนัก | |
ใกล้เถิงเมืองยักษ์ | ถามพาชีไชย |
จะลักพานาง | ก่อนฤๅฉันใด |
ฤๅจะเข้าไป | รบอ้ายยักษี |
๖๕๗ พาชีตอบสาร | |
ว่าพระภูบาล | อย่าเกรงไพรี |
มันจะนินทา | ว่าพานางหนี |
ถ้าอยู่ต่อตี | กลัวแพ้ยักษา |
๖๕๘ เหาะไปในเมือง | |
ให้ยักษ์ฦๅเลื่อง | ทั่วทั้งพารา |
มันอวดตัวดี | ว่ามีฤทธา |
ให้มันออกมา | สัประยุทธโรมรัน |
๖๕๙ จะสังหารให้ | |
มันอัปราชัย | มอดม้วยอาสัญ |
ทั้งเสนายักษ์ | ยับย่อยด้วยกัน |
จึงเชิญทรงธรรม์ | เข้ารับนางไป |
๖๖๐ พระฟังม้าว่า | |
ด้วยโกรธยักษา | ไว้ในพระทัย |
ตรัสให้อาชา | พาเหาะเข้าไป |
แทบปราสาทไชย | โกนดันยักษี |
๖๖๑ เปล่งพระสุรเสียง | |
สุนทรสำเนียง | ตรัสเรียกด้วยดี |
ว่าเหวยยักษา | ลักพามารศรี |
ชื่อกเรณุวดี | เมียเรานี้นา |
๖๖๒ เจ็ดนางนั้นเล่า | |
เป็นภรรยาเรา | แต่เก่าก่อนมา |
นางอัญชวดี | น้องสาวยักษา |
ก็เป็นบริจา | เมียเราด้วยกัน |
๖๖๓ เรามาบัดนี้ | |
จะรับมารศรี | มิ่งมิตรเมียขวัญ |
เราบอกให้แจ้ง | ใจท้าวกุมภัณฑ์ |
ท่านคนอาธรรม์ | ไม่เกรงเวรี |
๖๖๔ แม้นขัดมิให้ | |
จะม้วยบรรลัย | สิ้นทั้งกรุงศรี |
ทั้งตัวพญายักษ์ | จักม้วยชีวี |
อันการต่อตี | ไม่เกรงยักษา |
๖๖๕ โกนดานยักษี | |
ได้ฟังพาที | กริ้วโกรธโกรธา |
มนุษย์เท่านี้ | พาทีอหังการ์ |
ว่าได้เสนหา | กับน้องสาวกู[๙] |
๖๖๖ พิกาศก้องไป | |
ป่าวพวกพลไกร | เสนาเสนี |
เหาะมาเกลื่อนกล่น | แต่ล้วนตัวดี |
ทหารยักษี | เข่นเขี้ยวขบฟัน |
๖๖๗ พระยายักษี | |
ได้ฟังวาที | กลุ้มกลัดอัดใจ |
ไฉนหนออกกู | จะสู้ฤๅไฉน |
ฤาจะยกให้ | ยังไม่รู้เลย |
๖๖๘ ครันจะชิงชัย | |
เขานินทาได้ | ว่าสู้น้องเขย |
คิดฉันใดดี | อีชาติชั่วเอ๋ย |
มึงนำน้องเขย | มาสู้พี่เมีย |
๖๖๙ ฝ่ายพระยอดฟ้า | |
ตรัสเตือนยักษา | ว่าเร่งออกเสีย |
ถ้าไม่ชิงชัย | จะไปหาเมีย |
เราไม่ให้เสีย | สูญศักดิ์ยักษา |
๖๗๐ ท่านเป็นคนชั่ว | |
โฉดเขลาเมามัว | มีแต่โกรธา |
ไม่รักษาศักดิ์ | ลักเมียเรามา |
แล้วลักธิดา | ทั้งเจ็ดเวียงไชย |
๖๗๑ เป็นคนใจพาล | |
จะตกนรกานต์ | ไม่รู้ฤๅไฉน |
เมียเอ็งเอ็งรัก | ลักเมียเขาไป |
ถ้าแม้นมิให้ | จะสิ้นชีวา |
๖๗๒ ตัวเป็นกระษัตริย์ | |
ไม่ปรนนิบัติ | โดยราชกิจจา |
ไม่คิดทำทาน | จำศีลภาวนา |
ถ้าฟังวาจา | จะช่วยยักษี |
๖๗๓ โกนดานยักษา | |
ได้ฟังพจนา | แห่งพระภูมี |
ด่าว่าสั่งสอน | สุนทรวาที |
มีใจยินดี | ต่อพระราชา |
๖๗๔ แล้วคิดในใจ | |
พาชีนั้นไซร้ | มีฤทธิ์นักหนา |
ครั้งหนึ่งกูจับ | แทบอัปรา |
ชัยแก่อาชา | ด้วยการต่อตี |
๖๗๕ ครั้งนี้อาชา | |
เจ็บอยู่ด้วยว่า | กูจำพาชี |
ถ้าได้ชิงชัย | เห็นไม่ถอยหนี |
ทั้งเจ้าพาชี | ก็มีฤทธา |
๖๗๖ เอาใจดีต่อ | |
อย่าให้เกิดก่อ | กรรมเวรเวรา |
คิดแล้วยักษี | จึงมีวาจา |
ร้องอาราธนา | ให้ว่าต่อไป |
๖๗๗ ถ้าท่านจงจิต | |
พญายักษ์นิมิต | ธรรมาสน์เรืองไชย |
เราจะเทศนา | ให้ฟังต่อไป |
โปรดพญายักษ์ให้ | พ้นจัตุราบาย |
๖๗๘ ฝ่ายท้าวทักษา | |
นิมิตโอ่อ่า | ธรรมาสน์เฉิดฉาย |
พระยี่ภู่ปูลาด | ราชอาสน์เพริศพราย |
หมู่มารทั้งหลาย | เกลื่อนกล่นคณนา |
๖๗๙ ทั้งนางมนุษย์ | |
กระษัตริย์บริสุทธิ์ | นางมารยักษา |
แต่งเครื่องมัสการ | วิจิตรรจนา |
จึงเชิญราชา | ลงจากอัมพร |
๖๘๐ ขึ้นสู่ธรรมาสน์ | |
พระยอดนักปราชญ์ | เทศนาสั่งสอน |
ทรมานยักษา | มิให้อาทร |
ให้ใจโอนอ่อน | ต่อพระภูมี |
๖๘๑ ตรัสโอวาทา | |
สอนพญายักษา | ให้มายินดี |
ศีลห้าประการ | ตามประเวณี |
ปฐมวาที | ปาณาติปาตา |
๖๘๒ อย่าได้ฆ่าสัตว์ | |
เร่งปรนนิบัติ | บิดามารดา |
ถ้าฆ่ามนุษย์ | มีจิตวิญญาณ์ |
กินเป็นภักษา | จะตกนรกานต์ |
๖๘๓ ถ้าตกลงไป | |
ยมบาลผู้ใจ | องอาจห้าวหาญ |
จะสับจะฟัน | ทิ่มแทงสามานย์ |
โยนลงในถ่าน | เพลิงไหม้เวทนา |
๖๘๔ ตายแล้วเกิดเล่า | |
ทนทุกข์ดังเก่า | สาหัสหนักหนา |
นับชาติหมื่นพัน | พ้นที่คณนา |
ด้วยกรรมเวรา | กินคนทั้งเป็น |
๖๘๕ ครั้นขึ้นมาได้ | |
เวรสิ่งนั้นไซร้ | ก่อกรรมทำเข็ญ |
เวียนฆ่าเวียนฟัน | กินกันทั้งเป็น |
ห้าร้อยชาติเห็น | สังเวชนักหนา |
๖๘๖ อทินนาทาน | |
ผู้ใดใจพาล | ลักทรัพย์ท่านมา |
ลักลูกลักเมีย | สัตว์มีวิญญาณ์ |
จะตกจัตุรา | บายอยู่ช้านาน |
๖๘๗ ครั้นขึ้นมาได้ | |
กรรมสิ่งนั้นไซร้ | พบโจรใจพาล |
ปองลักทรัพย์ลิน | ลูกเมียอาหาร |
เกิดความรำคาญ | เพราะทำมิดี |
๖๘๘ กาเมสุมิจฉา | |
เห็นเมียท่านมา | ปองร้ายราวี |
ร่วมรักเมียท่าน | โลภล่วงประเวณี |
ด้วยการโลกีย์ | รสราคดำฤษณา |
๖๘๙ จะได้ไปตก | |
โรรุพนรก | ทนทุกขเวทนา |
ปีนขึ้นต้นงิ้ว | ลำบากหนักหนา |
หนามยอกกายา | ลุกร้อนเปลวไฟ |
๖๙๐ นายนิริยบาล | |
ถือหอกทะยาน | โถมแทงขึ้นไป |
ทนทุกข์หมื่นปี | มิได้หวาดไหว |
ครั้นขึ้นมาได้ | ไม่สิ้นเวรา |
๖๙๑ เกิดชาติใดใด | |
มีคนตามไป | ปองร้ายริษยา |
ลอบลักเมียรัก | ของอาตมา |
ไปเป็นบริจา | จำจากอกผัว |
๖๙๒ ชิงชู้เมียกัน | |
เกิดฆ่าเกิดฟัน | ก่อกรรมใส่ตัว |
เพราะคนโฉดเขลา | โง่เง่าเมามัว |
ไม่คิดเกรงกลัว | จะเป็นเวรา |
๖๙๓ อันมุสาวาท | |
อย่าได้ประมาท | เจรจามุสา |
ส่อเสียดสับปลับ | ล่อลวงเจรจา |
จักตกนรกา | ทนทุกข์ช้านาน |
๖๙๔ ครั้นขึ้นมาได้ | |
เกิดชาติใดใด | พบแต่พวกพาล |
พูดจาหลอกหลอน | ล่อลวงสามานย์ |
ฟังคำคนพาล | ได้ความฉิบหาย |
๖๙๕ สุรานั้นเล่า | |
คบคนกินเหล้า | มัวเมาไม่อาย |
ประมาทครูบา | ปูย่าตายาย |
ประทุษร้าย | บิดามารดา |
๖๙๖ อึกอักในใจ | |
ดูหมิ่นเสียได้ | ไม่เกรงวาจา |
มึงวาพาเวย | ไม่เคยเจรจา |
ครั้นเมาสุรา | ว่าได้ทุกอัน |
๖๙๗ เสียศรีเสียศักดิ์ | |
เผ่าพงศ์นรลักษณ์ | เสียสิ้นสรรพสรรพ์ |
ชมกันว่าดี | ที่เมาด้วยกัน |
ผู้ไม่เมานั้น | เกลียดชังนักหนา |
๖๙๘ ตายตกนรก | |
ลงไปไหม้หมก | ทนทุกขเวทนา |
กินแต่นํ้ากรด | สาหสหนักหนา |
กรรมกินสุรา | ทนทุกข์ช้านาน |
๖๙๙ ครั้นขึ้นมาได้ | |
เกิดชาติใดใด | ได้ความอัประมาณ |
เป็นมาบ้าใบ้ | ยังเวียนสาธารณ์ |
เพราะคบคนพาล | กินแต่สุรา |
๗๐๐ โกนดานยักษี | |
ได้ฟังภูมี | ตรัสธรรมเทศนา |
ลบล้างลงหมด | พยศอาตมา |
กลับมีศรัทธา | เลื่อมใสยินดี |
๗๐๑ แก้วแหวนเงินทอง | |
ขนมาเนืองนอง | ถวายพระพันปี |
กับองค์พระน้อง | ชื่ออัญชวดี |
ถวายพระภูมี | เป็นมิ่งเมียขวัญ |
๗๐๒ นางกเรณุวดี | |
กับองค์นารี | ทั้งเจ็ดด้วยกัน |
พญายักษ์ถวาย | พระผู้ทรงธรรม์ |
ศีลห้าองค์นั้น | ท้าวเร่งรักษา |
๗๐๓ เสนามนตรี | |
พวกพลยักษี | อยู่ในศีลา |
นอบนบอภิวาท | บรมนาถนาถา |
สิ้นทั้งพารา | อยู่ใต้บทศรี |
๗๐๔ พระตรัสทรมาน | |
พญายักษ์โกนดาน | กับทั้งเสนี |
ประณตบทบาท | หน่อนาถชินศรี |
จึงมีวาที | ตรัสแก่ยักษา |
๗๐๕ แต่วันนี้ไป | |
พญายักษ์อย่าได้ | เอาเท็จเจรจา |
ประนิบัติตามราช | ประเวณีมา |
ครอบครองพารา | ตามคดีธรรม |
๗๐๖ ครอบครองกรุงไกร | |
ตบแต่งขึ้นให้ | แม้นมิ่งเมืองสวรรค์ |
ปรีดิ์เปรมเขษมสุข | โดยยุกติ์โดยธรรม์ |
เราลากุมภัณฑ์ | กลับไปกรุงศรี |
๗๐๗ โกนดานยักษา | |
กับทั้งเสนา | มาส่งภูมี |
พานางมนุษย์ | แลนางยักษี |
คืออัญชวดี | มาส่งราชา |
๗๐๘ แก้วแหวนเงินทอง | |
พลยักษ์เนืองนอง | ชวนกันขนมา |
ตระเตรียมพร้อมสรรพ | เชิญพระราชา |
ฝ่ายท้าวยักษา | ตามเสด็จภูมี |
๗๐๙ แห่แหนแน่นอัด | |
จัดเป็นขนัด | ห้อมล้อมพันปี |
บ่ายพักตร์จำเพาะ | ต่อพระบูรี |
ลุเถิงธานี | กรุงแก้วกระเษมศานต์ |
๗๑๐ ให้เชิญน้องแก้ว | |
ขึ้นปราสาทแล้ว | เลี้ยงดูพญามาร |
สอนให้รักษา | ศีลห้าประการ |
ฝ่ายท้าวโกนดาน | รับสั่งแล้วลา |
๗๑๑ เอิกเกริกทั้งเมือง | |
ว่าพระบุญเรือง | ทรมานยักษา |
พ่ายแพ้อานุภาพ | สิ้นทั้งพารา |
ตามส่งเจ้าฟ้า | สิ้นทั้งกรุงศรี |
๗๑๒ อัศจรรย์หนักหนา | |
มนุษย์ยักษา | มีความยินดี |
ไม่คิดกลัวกัน | พวกพลยักษี |
การร้ายราวี | ไม่มีเลยนา ๚ะ |
ฉบัง
๗๑๓ สองกระษัตริย์สุขเกษมเปรมปรา | ตรัสปลอบอาชา |
ม้าแก้วผู้ร่วมหฤทัย | |
๗๑๔ ท่านจงเหาะไปเวียงไชย | เยียนพระภูวไนย |
บิดุเรศแลพระชนนี | |
๗๑๕ ท่านทูลแต่ความตามดี | อย่าให้ชนนี |
บิดุเรศทรงพระโศกศัลย์ | |
๗๑๖ ทูลว่าช้าเพราะทรงธรรม์ | อ้ายยักษ์โกนดัน |
มันลักพระน้องนางหนี | |
๗๑๗ เสด็จปราบราบคาบทั้งบุรี | โกนดานยักษี |
ซบเกล้าเข้ากับบาทา | |
๗๑๘ สงบสงัดทั้งสองกระษัตรา | จักเสด็จกลับมา |
กราบบาทสมเด็จชนนี | |
๗๑๙ นอกนั้นตามแต่พาชี | อันการร้ายดี |
ก็อยู่แก่ใจอาชา | |
๗๒๐ ม้าแก้วรับราชสารา | แจ้งจิตกิจจา |
สืบไปก็เพราะพาชี | |
๗๒๑ สมเด็จโลกนาถชินศรี | ชักนิทานนี้ |
มาตรัสพระสธรรมเทศนา | |
๗๒๒ ว่าในอดีตกาลมา | สมเด็จศาสดา |
ทรมานยักษาโกนดัน | |
๗๒๓ ครั้งนั้นก็เป็นอัศจรรย์ | สิ้นสุดลงนั้น |
จึงตรัสพระธรรมเทศนา | |
๗๒๔ พระจตุราริยสัจจา | ยอดธรรมเทศนา |
แล้วชุมพระชาติชินศรี | |
๗๒๕ ดูราภิกขุภิกขุณี | เสตราชเรืองศรี |
กลับมาเป็นพระโมคคัลลาน์ | |
๗๒๖ อันองค์สมเด็จอินทรา | ครั้นกลับชาติมา |
คือพระอนุรุททรงญาณ | |
๗๒๗ นางค่อมพี่เลี้ยงนงคราญ | กลับมาช้านาน |
คือนางอุบลวรรณา | |
๗๒๘ อันนางประทุมคัพภา | ครั้นกลับชาติมา |
คือนางกีสาโคตมี | |
๗๒๙ นางยักษ์ชื่ออัญชวดี | กลับมาชาตินี้ |
คือว่านางจันทเถรา | |
๗๓๐ นางกเรณุครั้นกลับชาติมา | บวชในศาสนา |
ชื่อว่านางสุนทรี | |
๗๓๑ อันท้าวโกนดานยักษี | กลับชาติมานี้ |
คือว่าพระการเถรา | |
๗๓๒ อันว่ามณีกากอาชา | ครั้นกลับชาติมา |
คือพระยากัณฐัศว์เรืองศรี | |
๗๓๓ อันนางแก้วเกศนี | กลับชาติมานี้ |
คือสิริมหามายา | |
๗๓๔ ท้าวพรหมหัตนาถา | ครั้นกลับชาติมา |
ท้าวสิริสุทโธทน์ภูวไนย | |
๗๓๕ นางจีรัปภาทรามวัย | กลับชาติมาได้ |
เป็นนางพิมพาภิกขุณี | |
๗๓๖ พระสุธนูเรืองศรี | กลับชาติมานี้ |
คือพระสัพพัญญุตญาณ | |
๗๓๗ โปรดสัตว์ให้ข้ามสงสาร | ลุล่วงนิพพาน |
เมืองแก้วกระเษมสุขสวรรค์ ๚ะ |
๚ะ สุธนูนิทานํ อันว่านิทานพระสุธนู นิฏฺฐิตํ จบแต่เท่านี้แล ๚ะ
[๑] “โกนดัน” หรือ “โกดาน” หมายถึง “ฆันตารยักษ์” ที่กล่าวในปัญญาสชาดก
[๒] ปัญญาสชาดกว่า “พาราณสี”
[๓] ปัญญาสชาดกว่า นางม้าแก่
[๔] ปัญญาสชาดกว่า “จักษุทั้งสองของอัศวโปดกนั้น มีสัณฐานดังกุณฑลที่บุคคลทำด้วยแก้วมณี เพราะเหตุนั้นชนทั้งหลาย จึงเรียกชื่ออัศวโปดกลูกนางพาชีนั้นว่า มณีกักขิอัศวราช”
[๕] ในปัญญาสชาดกว่า เมื่อสุธนูกุมารมีพระชนม์ได้ ๑๖ ปี พระเจ้าพรหมทัตผู้เป็นพระบิดาก็สิ้นพระชนม์ ข้าราชการทั้งหลายจึงเตรียมการราชาภิเษกสุธนูกุมารจะให้เป็นกษัตริย์ต่อไป
[๖] สัมผัสไม่ส่งกับบทต่อไป น่าจะเป็น “พาเหาะไปยังพารา”
[๗] หมายถึงพระอิศวร ต่างกับในปัญญาสชาดกที่ว่า ฆันตารยักษได้รับพรจากท้าวเวสสุวรรณ
[๘] สัมผัสไม่ส่งกับบทต่อไป
[๙] บทที่ ๖๖๕ - ๖๖๗ สัมผัสไม่ส่งกับบทต่อไปทั้งเนื้อความไม่ต่อเนื่อง เข้าใจว่าความตอนต่อจากนี้เอกสารต้นฉบับคงคัดลอกตกไป