คำนำ
บรรพชนไทยได้สร้างสรรค์วรรณกรรมร้อยกรองจำนวนมาก ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ วรรณกรรมดังกล่าวย่อมสะท้อนถึงความคิด ความเชื่อ วิถีชีวิตและความเป็นไปของสังคมในยุคสมัยที่แต่งเรื่องนั้นๆ อาจกล่าวได้ว่าวรรณกรรมเป็นจดหมายเหตุรูปแบบหนึ่งซึ่งกวีเป็นผู้บันทึก ดังนั้นข้อมูลต่างๆ ที่สอดแทรกอยู่ในวรรณกรรมแต่ละเรื่องจึงมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาสืบค้นเรื่องราวในอดีต
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ได้ตรวจสอบชำระและจัดพิมพ์เผยแพร่วรรณกรรมของชาติมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีวรรณกรรมโบราณอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้ตรวจสอบชำระ วรรณกรรมเหล่านี้บันทึกไว้ในเอกสารสมุดไทยซึ่งนับวันจะชำรุดสูญสลายไปตามกาลเวลา หลายเรื่องเคยเป็นที่นิยมแพร่หลายในอดีตกาล แต่กลับไม่เป็นที่รู้จักในสังคมปัจจุบัน
หนังสือ สุธนูกลอนสวด นี้ กรมศิลปากรยังไม่เคยจัดพิมพ์มาก่อน ต้นฉบับเป็นเอกสารสมุดไทย เก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าแต่งขึ้นเมื่อใดและใครเป็นผู้แต่ง กรมศิลปากรพิจารณาเห็นว่า เรื่องสุธนูกลอนสวด มีคุณค่าต่อการศึกษาด้านอักษรศาสตร์และวัฒนธรรมประเพณีไทยโบราณ จึงมอบให้นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ นักอักษรศาสตร์ ๘ ว. ข้าราชการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์เป็นผู้ตรวจสอบชำระและจัดพิมพ์เผยแพร่
อนึ่ง การพิมพ์ครั้งนี้ได้ปรับปรุงอักขรวิธีบางส่วนให้ใกล้เคียงกับปัจจุบันเพื่อความสะดวกแก่ผู้อ่านและได้นำสำเนาเอกสารต้นฉบับที่ใช้เป็นข้อมูลในการตรวจสอบมาพิมพ์ไว้เป็นภาคผนวกของหนังสือนี้ด้วย
กรมศิลปากรหวังว่า หนังสือสุธนูกลอนสวด จะอำนวยประโยชน์ต่อนักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจวรรณกรรมไทยโดยทั่วกัน
อธิบดีกรมศิลปากร
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๗