คำนำ

เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๘๖ ประเทศไทยได้สูญเสียบุคคลสำคัญของชาติไป ๑ ท่าน คือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ การสูญเสียครั้งนี้ นับว่าเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญยิ่งครั้งหนึ่งของประชาชาติไทย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นพระบรมวงศ์ที่ทรงบำเพ็ญคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองเป็นอเนกประการ พระกรณียกิจที่เด่นก็คือ ทรงริเริ่มให้กำเนิดกระทรวงศึกษาธิการ ทรงปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น และทรงเป็นปรมาจารย์ในทางประวัติศาสตร์ไทยและโบราณคดี ได้ทรงนิพนธ์หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา และชีวประวัติบุคคลสำคัญๆ ไว้เป็นจำนวนมากยิ่งกว่าบุคคลอื่นๆ พระนิพนธ์ในทางประวัติศาสตร์ยังคงเป็นที่เชื่อถือและค้นคว้าของนักศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ไทย ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จนทรงได้รับพระสมญานามว่า “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย”

ในปัจฉิมวัย ซึ่งเป็นวัยที่บุคคลส่วนมากจะหยุดพักผ่อนหาความสุขสบายตามอัตภาพ แต่สมเด็จกรมพระยาพระองค์นั้นหาได้ทรงพักผ่อนเช่นนั้นไม่ หากได้ทรงใช้เวลาที่ว่างทรงมีลายพระหัตถ์ถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงโต้ตอบวิจารณ์ ประทานคำอธิบายในระหว่างสมเด็จทั้งสองพระองค์ เกี่ยวกับวิทยาการต่างๆ เช่นประวัติศาสตร์ โบราณคดี วรรณคดี ศิลปะ และอักษรศาสตร์เป็นต้น เริ่มแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จออกไปประทับอยู่ ณ เกาะปีนัง จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ซึ่งเป็นปีเสด็จกลับมาประทับในประเทศไทย ลายพระหัตถ์ที่ทรงมีโต้ตอบระหว่างสมเด็จทั้งสองพระองค์นั้น จึงมีคุณค่าต่อนักศึกษาวิทยาการต่างๆ ดังกล่าวแล้วเป็นอย่างมาก ลายพระหัตถ์ดังกล่าวนี้ทายาทของสมเด็จกรมพระยาทั้งสองพระองค์ ได้ประทานให้เป็นสมบัติของหอสมุดแห่งชาติ และกรมศิลปากรได้อนุญาตให้เอกชนจัดพิมพ์ขึ้นบางภาคแล้วโดยให้ชื่อว่า “สาส์นสมเด็จ”

ในโอกาสจะครบรอบวันประสูติ ปีที่ ๑๐๐ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๐๕ นี้ ทายาทของสมเด็จกรมพระยาพระองค์นั้นได้ทรงมอบหนังสือ “สาส์นสมเด็จ” ให้แก่คุรุสภาจัดพิมพ์โดยแสดงพระประสงค์ว่าถ้าหากมีผลประโยชน์เกิดจากการพิมพ์หนังสือชุดนี้บ้างแล้ว ก็จะได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนและอุปกรณ์ในการศึกษาเล่าเรียนในชั้นอุดมศึกษา

คุรุสภาได้พิจารณาเห็นว่าหนังสือ “สาส์นสมเด็จ” นี้ถ้าหากได้รวบรวมไว้เป็นชุดพอจะหาซื้อได้สะดวกและในราคาพอสมควรแล้ว จะมีคุณค่าแก่วงการศึกษาต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วกว้างขวางออกไปอีกเป็นอันมาก จึงได้รับสนองตามพระประสงค์ของทายาทของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นั้น โดยจัดพิมพ์ลายพระหัตถ์ “สาส์นสมเด็จ” นี้ไว้ในหนังสือชุดภาษาไทยของคุรุสภาชุดที่ ๑๗ และจัดรวมเล่มใหม่ตามมาตรฐานของหนังสือชุดภาษาไทยของคุรุสภา และเมื่อจัดพิมพ์จำหน่ายแล้วก็จะได้มอบค่าลิขสิทธิ์ถวายทายาทเพื่อนำไปจัดตามพระประสงค์ต่อไป

อนึ่งในการรวบรวมลายพระหัตถ์ “สาส์นสมเด็จ” เพื่อให้คุรุสภาจัดพิมพ์คราวนี้ ทายาทได้ทรงพบว่า ยังมีลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอทั้งสองพระองค์อยู่ก่อน พ.ศ. ๒๔๗๕ อีก คือ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๗ ทรงเห็นเป็นโอกาสที่จะได้นำมารวบรวมไว้เป็นชุดเดียวกัน จึงได้ทรงมอบให้คุรุสภาจัดพิมพ์ ตั้งแต่เริ่มมีมาทั้งหมด.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ