วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ น

ท่าพระ กรุงเทพฯ

วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙

กราบทูล กรมพระดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ของฝากซึ่งทรงพระเมตตาโปรดประทานมากับลายพระหัถได้รับแล้ว ขอบพระเดชพระคุณเปนอันมาก

กระเบื้องลายสวรรคโลกนั้น ให้ผลดีอย่างยิ่ง คือ เกล้ากระหม่อมสงไสยมานานแล้ว ว่าเรือนแก้วพระชินราชนั้น มีอายุแก่อ่อนสักเพียงไร านตอนล่างที่ก่ออิฐปั้นลายนั้น เห็นได้ตามทำนองลายว่าเปนของใหม่ ฝีมือช่างกรุงเทพฯ เดิมคงเปนฐานเดียวกับพระรเบียง เปนปูนเกลี้ยง ๆ จึงมีบังอวดทองบังหน้าให้ดูงาม ยักษ์ที่รองเรือนแก้วถึงเปนถ้วยสังคโลกก็จริง แต่มันก็มีอยู่ครึ่งตัวหัวทลุ เอาฐานเรือนแก้วตำลงไปในช่องทลุ เห็นได้ว่ามาจากพระปราง ใครเอามายัดเฃ้าทีหลัง แต่ตัวเรือนแก้วนั้นเดิมจะตั้งอยู่กับอะไรก็ไม่ทราบ แต่ทรงงามลายแปลกที่กรุงเทพฯ ก็ไม่เคยเห็น ที่กรุงเก่าก็ไม่เคยเห็น จะหมายว่าเกิดมาสำหรับกับองค์พระก็กลัวจะหมายยาวเกินไป แต่กระเบื้องที่ประทานมานี้ มายืนยันให้แน่ใจว่า เรือนแก้วนั้นเกิดสำหรับมากับองค์พระแท้แล้ว ตั้งแต่ครั้งเมืองเหนือยังรุ่งเรืองอยู่ เพราะลายเปนอย่างเดียวกันกับกระเบื้อง เปนอันได้ความรู้อายุลายขึ้นอีกอย่างหนึ่ง

รูปยักษ์ที่ประทานมา ได้เคยเห็นมีอย่างนั้นอยู่ ณ ที่ว่าการมณฑลพิษณุโลก ๒ ตัว ดูเหมือนว่าเจ้าพระยาสุรสีห์เอามาจากสวรรคโลก ฤๅจะเปนตัวนี้เองเอาคืนไปไว้ ถ้ามีช่องโปรดรับสั่งถามดูสักทีก็ดี ถ้าอยู่ในที่ซึ่งจัดว่าเปนมิวเซียมแล้วหายยาก อยู่ที่ว่าการถูกเจ้าพนักงานที่ไม่ชอบ เห็นว่าเกะกะจะเอาไปทิ้งเสีย น่าเสียดายอยู่

รูปเทวดามงกุฎยาว ทรงพระดำริห์เห็นว่าเปนแบบเอามาแต่ลังกานั้น แต่พอเห็นรูปก็นึกได้ทันที ว่าเทวดาในรูปโปสตก๊าดเรื่องปฐมสมโพธิมีเหมือนกันอย่างนี้ เข้าใจว่าตีพิมพ์มาจากอินเดีย นึกว่าจะเถียงให้สนุก ลุกขึ้นค้นๆ กุกกักชักเอาออกมาดู เห็นมีหนังสือ Colombo เลยวาง ยอมแพ้ มงกุฎรูปนี้เหมือนทรงพระมหาพิไชยมงกุฎไม่ผิดเลย แต่รูปนั้นจะแก่สักเพียงไร กลัวจะไม่ใช่ทำเวลาเมื่อเมืองศุโขไทยยังรุ่งเรือง ได้ทรงกำหนดพระไทยไว้ฤๅเปล่าว่าเมืองศุโขไทยได้ทิ้งร้างเมื่อไร

พระเจดีย์รูปทนาน ซึ่งทรงสันนิฐานว่าเปนอย่างลังกาเหมือนกันนั้น ถ้าว่าตามทางจดหมายเหตุก็เห็นจะถูก เข้าใจว่าความรู้ของเราชั้นหลังได้จากลังกาหมด ทั้งทางพุทธศาสนแลไสยศาสตร์ ใครว่าพราหมณ์เรานี้พืชพันธุมาจากพาราณสี อย่าได้ทรงเชื่อเลย “สัมภุน์ธเรส์เน์เตร จตุวัก์เตร ตติล เมาสิน์เตร วัก์เตร” ไม่ใช่สันสกฤตเลย คุณติลก เปนคุณติเลเก อุภยเศขร เปน โอภเยเสเกเร เปนตัวอย่าง ลิ้นลังกาแท้ๆ ถ้าว่าตามทางช่างลังกา ต้องไม่มีออริยิแนล เพราะเปนเมืองป่ารับแบบอย่างมาจากมัชฌิมประเทศทั้งนั้น ที่เรียกพระเจดีย์ลังกานั้น เปนเรียกศิเนมาโตกราฟว่าหนังญี่ปุ่น ที่เจ้าในมัชฌิมประเทศทั้งนั้น ที่พุทธคยามีถมไป ไม้สิบสองซึ่งเราเรียกว่า “บากเปนไม้สิบสอง” นั้นเข้าใจผิด ที่จิงเดิมไม่ใช่บากเปนเสาสิบสองต้น ทรงรฤกถึงธรรมาศนวัดพระชินราช บุษบกพระพุทธบาท แลบุษบกพระแท่นศิลาอาศน์จะทรงเห็นความจริงทันที ที่มาบากกันนั้น เปนทำอย่างมักง่าย เท่านั้น ธรรมดาเรือนจะต้องเปนสี่เหลี่ยมทั้งนั้น ไม่ใช่แต่ที่ลังกา เมื่อยกมุขออกมาสี่ด้าน ก็เปนเสาเพิ่มขึ้นอีก ๘ ต้น รวมทั้งเสาเรือนเดิม ๔ เปน ๑๒ ต้น ถ้ายกมุขลดอีกชั้นหนึ่ง ก็เปนเสา ๒๐ ต้น เตมภูมของพระปรางอย่างที่ทำถูกต้อง รูปพระเจดีย์สวรรคโลกที่ประทานมา ถ้าทอดพระเนตรแต่ทรงนอก จะเห็นได้ทันทีว่ารูปพระปรางค์นั้นเอง ฐานไม้ ๒๐ สองชั้น ก็คือ ฐานพระปรางนั้นเอง ฐานชั้นบนซึ่งมีส่วนสูงมากก็คือตอนน่าบันชั้นสิงห์ เว้นแต่ไม่ได้แขวะช่องสิงหบัญชรเท่านั้น บรรพแถลงนาคปักยังคงมีอยู่ ตัวทนานก็คือยอดปราง แต่โกลนไว้ไม่ได้บากเหลี่ยมยกกลีบขนุนเท่านั้น ยอดที่เหมือนยอดพระเจดีย์ลังกาก็คือว่าฉัตร ซึ่งเรียกว่าฉัตรมันทิร เฃ้าแบบทีเดียว ฐานล่างซึ่งเปนสี่เหลี่ยมไม่ได้บากตามานบน เข้าใจว่าเพราะติดกับวิหาร แลบางทีจะมีพระระเบียงล้อมด้วย เปนฐานที่ไม่แลเห็น เปนแต่หนุนให้สูงอย่างพระธาตุพิษณุโลกจึ่งทำแต่ง่ายๆ

เรื่องกำเนิดพระเจดีย์ ได้ฝันไว้ตลอดแล้ว จะเรียบเรียงมาถวายวันน่า

รูปปรางสามยอดลพบุรี พิจารณาดูลายเห็นเปนทำสามหน หนแรกฝีมือขอมแท้ ถัดมามีปันซ่อมโมโยโมเย ทึกทักเอาว่าเปนฝีมือไท ซ่อมเมื่อพระนารายณ์เสด็จไปอยู่ ทีหลังคงเปนคุณแม่อะไรใครศรัทธาปฏิสังขรณ์ชั่วแต่เอาเกรียงขีดปูนเปนลายเท่านั้นก็ไม่สำเร็จ ตกลงได้แต่ถอนเปล่า ๆ พอกันทุเรศตา ซึ่งเห็นเหลือแต่แลงเท่านั้น.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ