เรื่องสาวิตรี

(จาก “ปติวฺรตามาหาตฺมฺยปรฺว” ใน “วนปรฺว” แห่ง “มหาภารต”)

ยุธิษเฐียรกล่าวว่า – ดูกรมหามุนี, ฃ้าเจ้านี้ไม่ร้อนใจเพื่อตนเอง หรือเพื่ออนุชาเหล่านี้ของฃ้าเจ้า หรือเพื่อการเสียรัชของฃ้าเจ้านั้น มากเท่าร้อนใจเพื่อเทฺราปที (กฤษณา). เมื่อฃ้าเจ้าทั้งหลายได้พ่ายแพ้ผู้ใจร้ายนั้นๆ ในการเล่นดวด, แม่กฤษณาเทียวได้เปนผู้ช่วยฃ้าเจ้าทั้งหลายให้รอดพ้นได้. และนางนั้นสิได้ถูกชยัทฺรถลักเอาไปจากในป่า. พระคุณได้เคยพบเห็นหรือทราบถึงสตรีใดบ้างละหรือ ที่สุจริตและเลิศอย่างเช่นเทฺราปที?

พระมรรกัณเฑยะตอบว่า – ดูกรราชะ, จงฟังเถิด, ยุธิษเฐียร, ว่าคุณสมบัติอันเลิดได้มีโดยบริบูรณอย่างในตัวแห่งนางสาวิตรี. มีราชาองค์หนึ่งในมัทระชนบท, ซึ่งทรงคุณสมบัติและทรงธรรมล้ำเลิศ. และพระองค์ได้บำรุงเหล่าพราหมณ์เป็นนิตย์, และทรงกอปรด้วยคุณธรรมและซื่อสัตย์สุจริต, และพระองค์มักทรงข่มกิเลสและมักกระทำพลีกรรม. และพระองค์เปนหัวหน้าในทางบำเพ็ญทาน, และทรงพระปรีชาสามารถ, และทั้งชาวพระนครและชาวชนบทย่อมรักใคร่พระองค์. และพระนามแห่งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นปรากฏว่าอัศวบดี. และพระองค์มีพระหฤทัยใฝ่ดีต่อสัตว์ทั้งหลาย. และพระผู้ทรงการุณยะภาพ, ผู้ดำรงสัตยวาท, และรู้ข่มกิเลสนั้นหาพระบุตราบุตรีมิได้. และครั้นเมื่อพระองค์ทรงพระชราภาพลง. พระองค์ก็ทรงพระโทมนัสยิ่งเพราะเหตุนี้. และด้วยพระประสงค์ที่จะได้พระบุตราบุตรี, พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญตะบะอันเข้มงวด และเริ่มยังพระชนม์อยู่ด้วยพระอาหารอันไม่เหลือเฟือ, ทรงบำเพ็ญพรหมจรรย์. และข่มกิเลส. และพระผู้เปนเอกในราชานั้นทรงกระทำพลีไฟวันละหมื่นครั้ง, ทรงเล่ามนตร์สรรเสริญพระสาวิตรี (มเหษีของพระพรหมา) และเสวยแต่น้อยๆ ในยามที่ ๖. และพระองค์ได้บำเพ็ญตะบะเช่นนั้นอยู่สิบแปดพรรษา. ครั้นเมื่อครบสิบแปดพรรษาบริบูรณ์แล้ว, พระสาวิตรีก็มีความพอพระหฤทัย. และครานั้นหนอ, ราชะ, พระเทวีได้ทรงพระรูปอันปรากฏ, ผุดขึ้นด้วยความยินดี จากกลางกองไฟที่กระทำพิธีอัคนิโหตระ, ปรากฏจำเพาะพระพักตร์แห่งพระราชาองค์นั้น. และพระหฤทัยมุ่งในทางอำนวยพร, พระเทวีจึ่งตรัสแด่พระราชาองค์นั้นด้วยถ้อยคำว่า –– “ราชะ, เราได้มีความพอใจมากด้วยความประพฤติพรหมจรรย์ของท่าน, ความบริสุทธิของท่าน, และความสำรวม, และศีล, และความอุตสาหะทั้งปวง, และความเคารพของท่าน. ดูกรอัศวบดีมหาราช, ท่านจงขอพรตามที่ท่านปรารถนาเถิด. แต่ขอท่านอย่าได้แสดงความหลงลืมคลองธรรมโดยสถานใดๆ เลย.”–– ครานั้นท้าวอัศวบดีจึ่งทูลว่า, –– “ก็เพราะความปรารถนาในการกุศลนั่นเทียว ฃ้าพระบาทจึ่งได้บำเพ็ญตะบะตลอดมา. เทวิ, ขอให้บุตรเปนอันมากได้กำเนิดแก่ฃ้าพระบาทเพื่อเฉลิมวงศ์สกุลข้องฃ้าพระบาท. ถ้าฃ้าพระบาทได้ทำให้พระองค์โปรดแล้ว, เทวิ, ฃ้าพระบาทก็ขอประทานพรอันนี้. ทวิชาได้กล่าวแล้วแก่ฃ้าพระบาทว่า การมีบุตรเปนบุญกุศลอันประเสริฐ.” –– พระสาวิตรีตรัสว่า, –– “ราชะ, โดยเหตุที่เราได้ทราบความประสงค์ของท่านอยู่แล้ว, เราจึ่งได้กราบทูลพระสวามี, พระองค์ผู้เปนพระมหาบิดร, เรื่องบุตร์ของท่าน. โดยพระกรุณาของพระสวยัมภู, มีบุตรีผู้มีศักดิ์มากจะได้มากำเนิดแก่ท่านในเร็วๆนี้. ท่านไม่ควรโต้ตอบสถานใด. ตัวเราพอใจแท้ที่ได้เล่าพระบัญชาของพระมหาบิดรให้ท่านฟัง.”

เมื่อได้รับพระดำรัสของพระสาวิตรี และทูลตอบว่า “เปนเช่นนั้นเถิด” แล้ว, พระราชาทูลพระเทวีต่อไปว่า, –– “ขอให้เปนไปเช่นนั้นโดยเร็วเถิดพระเจ้าข้า.” –– ครั้นเมื่อพระสาวิตรีได้อันตรธานไปแล้ว, พระราชาองค์นั้นก็เสด็จกลับยังราชธานีของพระองค์. และพระวีระบุรุษองค์นั้นก็เริ่มทรงราชย์อีก, ทรงปกครองพศกนิกรโดยธรรม. และเมื่อเวลาได้ล่วงไปบ้างแล้ว, พระราชาผู้ทรงศีลวัตนั้นก็ทรงมีพระกุมารีด้วยพระอัคระมเหษีผู้ทรงคุณธรรมเลิศ ต่อนั้นหนอ, ภารตปุํควะ, พระบุตรีในพระครรภ์แห่งพระนางมาลวีเต่งเต็มขึ้นประดุจพระนักษัตรบดีในฟากฟ้าระหว่างชุษณปักษ์. ครั้นถึงกำหนดพระนางก็ประสูติพระธิดาอันมีพระเนตร์แม้นดอกบัวหลวง. และพระนรเศรษฐนั้นก็ได้ทรงกระทำกิจพิธี ตามธรรมเนียมสำหรับพระธิดานั้น. และเพราะเหตุที่พระสาวิตรีได้โปรดประทานกุมารีนั้นเปนบำเหน็จแห่งพลีที่ได้ถวายแด่พระเทวี, ทั้งพระราชธิดาและพราหมณาจารย์จึ่งขนานนามกุมารีนั้นว่า สาวิตรี. และพระราชธิดาองค์นั้นได้ทรงพระเจริญขึ้นงดงามราวกับพระศรีเสด็จมาอวตาร. และเมื่อถึงกาลอันควร, ราชนารีนั้นก็ทรงถึงซึ่งวัยเปนสาว และเมื่อได้เห็นนางดรุณีงามกอปรด้วยบั้นพระองค์เรียว และพระโสณีอวบ, และดูประดุจรูปอันหล่อด้วยทอง, ชนทั้งหลายต่างกล่าวว่า, “เราได้นางฟ้ามาไว้เทียวหนอ.” และเพราะเหตุที่หาผู้ใดจะทนศักดิ์ของนางนั้นมิได้. จึ่งไม่มีผู้ใดได้เปนภรรดาของนางผู้มีตาดุจดอกบัว, และผู้มีสง่ายิ่ง.

อยู่มาณกาลครั้งหนึ่ง, เปนวันนักษัตรฤกษ์, เมื่อได้อดอาหารและสระเกศาแล้ว, นางได้ไปยังหน้าเทวดาประจำสกุล และให้พราหมณ์กระทำพลีกรรมแด่พระเพลิงเต็มตามพิธี. แล้วนางจึ่งเก็บดอกไม้ที่ได้บูชาเทวดาแล้วนั้น, และนางดรุณี, ผู้ทรงศรีวิลาศแม้นพระศรี, ได้ไปเฝ้าพระราชบิดา, และเมื่อนำดอกไม้ที่ถือไปด้วยนั้นถวายแล้ว, นางดรุณีผู้งามเลิศก็ยืนประณมหัดถ์อยู่ที่ข้างพระราชาองค์นั้น. และเมื่อทอดพระเนตร์เห็นพระราชธิดาของพระองค์งามราวกับนางฟ้าว่าทรงเจริญวัยเปนสาวแล้ว, และยังมิได้มีผู้ใดขอเลยดั่งนั้น, พระราชาก็ทรงสลดพระหฤทัยยิ่งนัก. พระราชาจึ่งตรัสว่า, ––– “นี่แน่ลูกหญิง, ถึงเวลาแล้วหนอที่พ่อจะควรยกลูกให้แก่เขา, แต่ก็ยังหามีผู้ใดขอแก่พ่อไม่.ลูกจงหาภรรดาที่มีคุณสมบัติเสมอกันกับลูกเองเถิด. ถ้าแม้ว่าลูกประสงค์ผู้ใด ลูกก็จงบอกให้พ่อทราบเถิด. ลูกจงเลือกหาภรรดาตามใจของลูกเอง. พ่อจะยกตัวลูกให้เมื่อได้ไคร่ครวญดูแล้ว. ดูกรดรุณีผู้มีคุณสมบัติงาม, ลูกจงฟังพ่อเล่าถึงถ้อยคำที่พ่อได้ยินเหล่าทวิชากล่าวมาแล้ว.บิดาใดที่ไม่ยกธิดาให้แก่เขาย่อมได้ความอาย, และภรรดาใดที่ไม่สมพาศด้วยภรรยาในการอันเหมาะย่อมได้ความอาย. และบุตรใดที่ไม่ระวังรักษามารดาของตน เมื่อภรรดาของนางนั้นตายแล้ว ก็ย่อมได้ความอายเช่นกัน. เมื่อได้ฟังคำของพ่อเช่นนี้แล้วลูกจงตั้งใจหาภรรดาเถิด. ลูกจงปฏิบัติอย่าให้เทวดาติเตียนเราได้เลย.”

เมื่อได้ตรัสแก่พระธิดาและอมาตย์ผู้มีอายุทั้งหลายแล้ว, พระองค์ก็ดำรัสสั่งข้าเฝ้าให้ตามพระธิดาไป. บัดนั้น. เมื่อได้กราบโดยเรียบร้อยแทบพระบาทของพระบิดาแล้ว, ราชบุตรีผู้สงบเสงี่ยมก็ได้ออกไปโดยมิได้รอรั้ง, ตามกระแสร์รับสั่งแห่งพระบิดา. นางขึ้นทรงสุวรรณราชรถ, ออกไปสู่อาศรมรมณียสถานแห่งราชฤษีหลายตน, มีพฤฒิอมาตย์ของพระราชบิดาไปด้วย. ณที่นั้นๆ นางได้กระทำความเคารพแทบบาทแห่งพระฤษีผู้มีอายุ, และได้ท่องเที่ยวทั่วไปในแนวป่า. ดั่งนี้ราชบุตรีได้นำทักษิณาไปเที่ยวจำแนกตามสถานที่ทำบุญหลายแห่ง. เที่ยวไปในที่ต่างๆ อันเปนถิ่นแห่งทวิชาชั้นสูงๆ.

อยู่มาณกาลหนึ่งหนอ, ภารตะ, เมื่อพระราชา, ผู้เปนใหญ่ในมัทระชนบท, ประทับอยู่พร้อมด้วยพระนารทในท่ามกลางราชบริพาร, สนทนาด้วยกันอยู่ไซร้, นางสาวิตรี, พร้อมด้วยอมาตย์ทั้งหลาย, ได้มาถึงยังที่ประทับแห่งพระราชบิดาเมื่อได้ไปเยี่ยมสถานที่บำเพ็ญบุญและอาศรมต่างๆ เสร็จแล้ว. และเมื่อนางเห็นพระราชบิดาประทับอยู่กับพระนารท, นางจึ่งเข้าไปกราบแทบเท้าทั้งสององค์นั้น. และณเมื่อนั้นพระนารทจึ่งถามว่า, –– “พระธิดาของพระองค์นี้ได้เสด็จไปแห่งใด? และนางเธอกลับมาจากแห่งใดเล่าราชะ? อนึ่งฉันใดเล่าพระองค์จึ่งมิได้ทรงหาภรรดาประทานนาง, เมื่อนางทรงเจริญวัยเปนสาวแล้วเช่นนี้?” –– ท้าวอัศวบดีตอบว่า, –– “ก็เพื่อเหตุนั้นเทียว ฃ้าเจ้าจึ่งได้ส่งลูกไปและซึ่งกลับมาแล้วณบัดนี้. ขอพระพรหมฤษีจงโปรดฟังจากลูกหญิงเองเถิด ว่าได้เลือกผู้ใดเปนภรรดา.”

ฝ่ายศุภลักษณนารีนั้น, เมื่อพระบิดาได้ดำรัสสั่งแล้วว่าให้ทูลเล่าคดีจงถี่ถ้วน, ถือว่าพระบัญชาของพระบิดาเสมอด้วยเทพบัญชา, จึ่งทูลตอบดังนี้, –– “ในศาลวะชนบทมีขัตติยราชพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า ทยุมัตเสน. และพะเอินเมื่อกาลล่วงมาพระองค์พระเนตร์มืด. และพระราชาผู้พระเนตร์มืดผู้ทรงพระปรีชานั้นมีพระโอรสองค์เดียว. และพะเอินมีประจามิตร์เดิมผู้หนึ่งซึ่งอยู่ใกล้เคียง, ถือเอาโอกาสที่พระราชาประชวรลงนั้น, เพื่อชิงเอาราชสมบัติ. และเมื่อนั้นพระราชา, พร้อมด้วยพระมเหษีซึ่งอุ้มพระกุมารแนบพระอุระ, จึ่งเสด็จออกสู่ป่า. และเมื่อพระองค์ได้ถึงดงแล้ว, พระองค์ได้บำเพ็ญศีลวัตอันเลิศ และเริ่มบำเพ็ญตะบะต่างๆ. และพระราชบุตร, ซึ่งประสูติที่ในกรุง, ก็ทรงพระเจริญวัยขึ้นที่ในพระอาศรม. พระกุมารนั้น, ผู้สมควรเปนภรรดาของกระหม่อมฉันนั้นแล, กระหม่อมฉันได้รับแล้วในใจว่าเปนสวามีแห่งกระหม่อมฉัน.” –– เมื่อได้ฟังถ้อยคำเหล่านั้น พระนารทจึ่งกล่าวขึ้นว่า, –– “อโห, ราชะ นางสาวิตรีได้กระทำพลาดมากถนัด, เพราะ, โดยมิรู้เรื่อง, นางได้เลือกสัตยวานผู้มีคุณสมบัติเลิศนั้นเปนสวามี. ทั้งพระบิดาและพระมารดาของกุมารนั้นเปนสัตยวาที. และเพราะเหตุนั้นเทียวพราหมณาจารย์จึ่งได้ขนานนามพระโอรสว่าสัตยวาน. เมื่อยังเปนทารกเธอมีความพอใจชอบม้าเปนอันมาก, และเคยชอบปั้นม้าด้วยดิน. และเธอได้เคยชอบเขียนภาพม้าด้วย, และเพราะเหตุนี้กุมารนั้นจึ่งได้มีผู้เรียกอยู่บ้างว่าจิตราศวะ” –– พระราชาจึ่งตรัสถามขึ้นว่า, –– “แล้วก็สัตยวานกุมาร, ผู้ภักดีต่อพระบิดานั้น, เปนผู้กอปรด้วยศักดิ์และปัญญาและกรุณาและวิริยภาพฉนั้นหรือ?” –– พระนารทตอบว่า, ––“สัตยวานมีศักดิ์แม้นพระอาทิตย์ และปัญญาแม้นพระพฤหัสบดี, และเธอมีความกล้าแม้นท้าวอมรินทร, และกรุณาแม้นพระธรณีเองเทียว.” –– ท้าวอัศวบดีจึ่งตรัสว่า –– “แล้วก็สัตยวานกุมารนั้นชอบบำเพ็ญทาน และรักใคร่พราหมณาจารย์ฉนั้นหรือ? รูปของเธอนั้นงามและสง่าและน่าพิศวงฉนั้นหรือ?” –– พระนารทตอบว่า, –– “ในการอวยทานตามที่สามารถจะกระทำได้นั้น, ราชบุตรผู้เรืองฤทธิ์แห่งท้าวทยุมัตเสน เปรียบเหมือนรันติเทวะผู้เปนโอรสแห่งสังกฤติ. ในส่วนสัตยวาทีและรักใคร่ในพวกพราหมณาจารย์นั้น, เธอเปรียบเหมือนศีวิผู้เปนโอรสแห่งอุศินร. และเธอกอปรด้วยความสง่าเหมือนยะยาตี, และงามเหมือนพระจันทร์. และโฉมของเธอนั้นสรวยแม้นพระอัศวิน. และเธอผู้รู้จักข่มกิเลส, เธอเรียบร้อย, กล้าหาญ, และสุจริต. และเธอข่มโทษะได้, ซื่อตรงต่อมิตร์, ปราศจากพยาบาท, เจียมตัว, และมีขันตี, ที่แท้, กล่าวโดยย่อ, บรรดาผู้ที่กอปรด้วยศีลและมีคุณธรรมสูงกล่าวว่าเธอกอปรด้วยสัมมาจารวัตร์เปนนิตย์ และว่าคุณวิเศษปรากฏอยู่แน่นหนาที่นลาศของเธอ.” –– เมื่อได้ทรงฟังดังนี้ท้าวอัศวบดีจึ่งตรัสว่า, –– “ดูกรพระมุนีผู้เจริญ, พระคุณกล่าวแก่ฃ้าเจ้าว่าเธอนั้นกอปรด้วยคุณสมบัติทุกประการ. ขอได้โปรดแถลงความเสียของเธอนั้นเถิด, ถ้าหากเธอมี.” –– พระนารทตอบว่า, –– “ เธอมีข้อบกพร่องอยู่อย่างเดียวซึ่งลบล้างคุณสมบัตินั้นๆ เสียสิ้น. ความบกพร่องนั้นไม่สามารถจะเอาชำนะได้แม้ด้วยความพยายามอย่างยวดยิ่ง. เธอมีความบกพร่องอยู่เพียงอย่างเดียว, ไม่มีอย่างอื่นอีกเลย. ภายในหนึ่งปีนับแต่วันนี้ไป, สัตยวาน, ผู้มีอายุสั้น, จะทอดทิ้งกายของเธอ.” –– ครั้นเมื่อได้ทรงฟังคำของพระมุนีเช่นนี้แล้ว พระราชาจึ่งตรัสว่า, –– “นี่แน่, สาวิตรี, ลูกจงไปเลือกหาสวามีใหม่เถิดนะ, ศุภลักษณนารี. ความบกพร่องอันเดียวนั้นลบล้างคุณสมบัติของเขาเสียได้หมด. พระมหานารทเปนเจ้า, ซึ่งแม้เทวดาก็เคารพ, ได้กล่าวแล้วว่าสัตยวานจะต้องทอดทิ้งกายของเธอไปภายในหนึ่งปี, มีอายุอยู่ได้นับวันถ้วน” –– เมื่อได้ฟังพระราชบิดาตรัสเช่นนั้น นางสาวิตรีจึ่งทูลตอบว่า, –– “อันลูกบาศก์จะตกได้ก็เพียงครั้งเดียว: บุตรีก็ยกให้เขาได้เพียงครั้งเดียว; และคนเราจะพูดว่า “ฉันยกให้” ดั่งนี้ ก็ได้แต่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น. ทั้งสามอย่างนี้จะเปนไปได้แต่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น. ดั่งนี้, เธอจะมีอายุยาวหรือสั้นก็ดี, มีคุณสมบัติหรือไร้คุณสมบัติก็ดี, กระหม่อมฉันได้เลือกภรรดาของกระหม่อมฉันครั้งหนึ่งแล้ว. กระหม่อมฉันจะเลือกสองครั้งหาได้ไม่. เมื่อได้ตกลงข้อใดข้อหนึ่งในใจแล้ว, จึ่งแสดงออกมาด้วยถ้อยคำ. แล้วจึ่งลงมือกระทำด้วยกาย. ใจของกระหม่อมฉันเปนตัวอย่างในข้อนี้.” –– พระนารทจึ่งกล่าวว่า, –– “ดูกรพระนรเศรษฐ, พระหฤทัยของนางสาวิตรีราชบุตรของพระองค์หาความหวั่นไหวมิได้. ไม่มีสิ่งใดแล้วที่จะสามารถทำให้นางแยกอกพ้นจากธรรมวิถี. คุณสมบัติเช่นนี้หาที่อื่นอีกมิได้แล้ว นอกจากในจิตของสัตยวาน. ฉนั้นฝ่ายอาตมะนี้ขอถวายอนุโมทนาในการที่พระองค์จะยกพระราชธิดาประทาน.” –– พระราชาจึ่งตรัสว่า, –– “ข้อใดที่พระผู้เปนเจ้าได้กล่าวมาแล้วจะขัดขืนหาได้ไม่, เพราะพระคุณเคยเปนอาจารย์ของฃ้าเจ้า.” –– พระนารทจึ่งกล่าวว่า, –– “ขอการอาวาห์แห่งสาวิตรีราชบุตรีจงเปนไปโดยเกษมสุข. อาตมะขอถวายพระพรลา.” –– ครั้นเมื่อพูดดั่งนี้แล้วพระนารทก็เหาะขึ้นสู่ฟากฟ้าและไปยังสวรรค์. ฝ่ายพระราชานั้นก็ทรงเริ่มเตรียมงานสมรสแห่งพระราชบุตรี.

เมื่อได้รำพึงถึงถ้อยคำของพระมุนีเรื่องการสมรสของพระบุตรีแล้ว, พระราชาเธอก็เริ่มเตรียมการสำหรับพิธีนั้น. และเมื่อได้อาราธนาพราหมณ์ผู้เฒ่าทั้งปวง, อีกทั้งพ่อพราหมณ์ประจำสำนักพร้อมแล้ว, ถึงวันฤกษ์งามเธอก็พาพระราชธิดาไป. และเมื่อถึงที่อาศรมของท้าวทยุมัตเสนที่ในป่าขลังนั้นแล้ว, พระราชาทรงพระดำเนินเข้าไปเฝ้าราชฤษี, พร้อมด้วยพวกทวิชา. และณที่นั้นท้าวเธอได้ทอดพระเนตร์เห็นพระยาพระเนตร์มืด ผู้ทรงปัญญามากประทับอยู่เหนืออาสนะหญ้าคา ซึ่งได้ปูไว้ภายใต้ต้นรังต้น ๑. และเมื่อได้ทรงกระทำการเคารพต่อพระราชฤษีตามสมควรแล้ว, พระราชาจึ่งทูลด้วยพระวาจาอันอ่อนหวาน. ณบัดนั้นราชฤษีก็กระทำประจุคมนาการด้วยน้ำล้างพระบาท, ด้วยการเชิญให้ประทับ และด้วยโคนม, แล้วจึ่งตรัสถามผู้ที่ไปเฝ้านั้นว่า, “พระองค์เสด็จมาเยี่ยมเราครั้งนี้เพื่อเหตุอันใด?” เมื่อได้ทรงฟังปุจฉาเช่นนั้น, พระราชาก็ได้ทรงสำแดงให้ปรากฏซึ่งพระราชประสงค์และกิจอันเนื่องด้วยพระสัตยวาน. และท้าวอัศวบดีตรัสชี้แจงว่า, –– “ฃ้าแต่ราชฤษี, ศุภลักษณนารีนี้ เปนธิดาของฃ้าพระเจ้ามีนามว่าสาวิตรี. ฃ้าแต่พระองค์ผู้ทรงธรรม, ขอพระองค์จงทรงพระกรุณารับธิดาของฃ้าพระเจ้าไว้เปนพระสุณิสา ตามขัตติยราชประเพณีเถิดพระเจ้าฃ้า.” –– เมื่อได้ทรงฟังถ้อยคำนั้นๆ แล้ว ท้าวทยุมัตเสนจึ่งตรัสตอบว่า, –– “เมื่อไร้ราไชศวรรย์แล้ว, และได้มาอาศรัยอยู่ในดง, เราก็มาบำเพ็ญพรหมจรรย์อยู่อย่างเช่นโยคีผู้รักษาศีลเปนนิตย์. เมื่อไม่คุ้นเคยแก่การอยู่ป่า, พระธิดาของเธอจะต้องมาอยู่ในอาศรมกลางดง, ไฉนเล่าจะทนความลำบากได้?” –– ท้าวอัศวบดีทูลว่า –– “เมื่อธิดาของฃ้าพระเจ้าทราบอยู่. เช่นฃ้าพระเจ้าเองก็รู้, ว่าความสุขและความทุกข์เปนอนิจจํ, พระองค์หาควรไม่ที่จะตรัสเช่นที่ตรัสมาแล้วแก่ฃ้าพระเจ้า. ราชะ, ฃ้าพระเจ้าได้มาณที่นี้ด้วยจิตต์อันตั้งมั่นมาก่อนแล้ว. ฃ้าพระเจ้าได้กระทำความเคารพต่อพระองค์ด้วยไมตรี; ฉนั้นพระองค์จะทรงตัดความหวังของฃ้าพระเจ้าเสียนั้นหาควรไม่, อีกประการหนึ่งพระองค์ไม่ควรที่จะเพิกเฉยต่อฃ้าพระเจ้าผู้มาเฝ้าด้วยความจงรัก. พระองค์ดำรงพระยศเสมอกับฃ้าพระเจ้าและสมควรที่จะเปนสัมพันธ์กับฃ้าพระเจ้า, เช่นฃ้าพระเจ้าเปนผู้มียศเสมอกับพระองค์และสมควรจะเปนสัมพันธ์กับพระองค์ ฉนั้นจงโปรดรับธิดาของฃ้าพระเจ้าไว้เปนพระสุณิสา และเปนชายาของพระสัตยวานผู้ทรงคุณ.” –– ครั้นได้ทรงฟังถ้อยคำนั้นๆ แล้ว ท้าวทยุมัตเสนจึ่งตรัสว่า. –– “เมื่อก่อนนี้เราก็ปรารถนาอยู่ที่จะเปนสัมพันธ์กับเธอ. แต่เราชงักอยู่, เพราะต่อมาเราได้ถูกเขาชิงรัช. ฉนั้นขอให้กิจการที่เราได้เคยปรารถนาอยู่แต่เดิมนั้น ได้เปนผลสำเร็จในวันนี้เทียว. เธอเปนแขกที่เราเต็มใจ ต้อนรับโดยแท้.”

แล้วจึ่งให้นิมนต์บรรดาทวิชาที่อยู่ตามอาศรมในดงนั้น, และพระราชาทั้งสองก็ได้ทรงจัดการอภิเษกสมรสด้วยพิธีเต็มบริบูรณ์. ฝ่ายท้าวอัศวบดี, เมื่อได้ประทานเครื่องผ้าและอาภรณ์แก่พระราชธิดาตามสมควรแล้ว. ก็เสด็จกลับคืนสู่ราชสำนักของพระองค์ด้วยพระหฤทัยเต็มไปด้วยปีติ. และพระสัตยวาน, เมื่อได้ชายาผู้ทรงคุณสมบัติทุกสถานเช่นนั้น, ก็ทรงยินดียิ่ง, และนางนั้นหรือก็มีความปราโมทย์ยิ่งนัก เพราะได้พระภรรดาผู้สมพระหฤทัย. และเมื่อพระราชบิดาได้เสด็จพ้นไปแล้ว นางก็เปลื้องบรรดาอาภรณวิภูษิตทั้งปวง, และทรงแต่คากรองและผ้าย้อมฝาด. และโดยกรณียและคุณธรรม. โดยความเอื้อเฟื้อและอดทน, และโดยมรรยาทอันงามต่อชนทั้งปวง, นางได้ทำพระองค์ให้เปนที่พึงใจแก่ชนทั่วไป. และนางได้ทำให้พระมารดาของพระสวามีพอพระหฤทัยโดยปฏิบัติรับใช้และจัดภูษาอาภรณให้ทรง. และนางทำให้พระบิดาของพระสวามีพอพระหฤทัย โดยกระทำสักการเหมือนอย่างบูชาเทวดาและสำรวมในวาจา. และนางทำให้พระภรรดาพอพระหฤทัยด้วยมธุรวาจา, ด้วยความชำนิชำนาญในการงานทุกอย่าง, ด้วยความไม่โกรธ, และโดยสำแดงความเสนหาในที่ระโหฐาน. และดั่งนี้แล, ภารต, คู่นั้นได้อยู่อาศรัยในอาศรมแห่งผู้ยินดีอยู่ในป่า, บำเพ็ญตะบะบารมีอยู่เสมอ. แต่ถ้อยคำที่พระนารทได้กล่าวทำนายไว้นั้น ได้ฝังอยู่ทั้งกลางคืนกลางวันในจิตต์ของนางสาวิตรีผู้มีทุกข์.

ต่อมา, เมื่อกาลได้ล่วงไปนานแล้ว, กาลกำหนดที่พระสัตยวานจะต้องสิ้นชนมชีพก็มาถึง. และเพราะเหตุที่ถ้อยคำซึ่งพระนารทกล่าวได้ฝังอยู่เปนนิตย์ในจิตต์ของนางสาวิตรี, นางนั้นจึ่งนับวันที่ล่วงไปนั้นทุกวัน. และเมื่อนางคำนวณได้แน่แล้วว่าต่อไปอีกสี่วันพระภรรดาจะสิ้นพระชนม์. นางจึ่งอดอาหารทั้งกลางวันกลางคืน, บำเพ็ญตรีราตระธุดงค์. และเมื่อได้ทรงทราบถึงธุดงคะวัตร์ของนางนั้น, ราชฤษีก็บังเกิดความสงสาร จึ่งเสด็จลุกไปตรัสปลอบนางสาวิตรีด้วยถ้อยคำว่า, –– “ราชบุตรี, อันธุดงค์ที่เธอเริ่มขึ้นนี้เปนของลำบากอย่างยิ่ง; เพราะเปนการยากนักหนาที่จะอดอาหารถึงสามราตรีติดๆ กัน.” –– เมื่อได้ฟังพระดำรัสดังนั้นนางสาวิตรีก็ทูลว่า, –– “พระบิดาอย่าทรงพระวิตกเลย. กระหม่อมฉันจะถือธุดงค์นี้ให้จงได้ กระหม่อมฉันได้ตั้งใจเริ่มกิจนี้แล้วด้วยความเพียร; และความเพียรนั้นเทียวเปนเหตุแห่งการบำเพ็ญตะบะทั้งปวงให้สำเร็จได้.” –– และเมื่อได้ทรงฟังนางทูลดังนั้นแล้ว ท้าวทยุมัตเสนจึ่งตรัสว่า, –– “พ่อจะกล่าวแก่ลูกว่า ‘จงงดธุดงค์นี้เสียเถิด’ ฉนี้หาได้ไม่, บุคคลเช่นพ่อนี้ควรจะกล่าวตรงกันข้ามว่า “จงถือธุดงค์นี้ไปให้ตลอดเถิด,” –– และเมื่อได้ตรัสแก่นางเช่นนี้แล้ว ท้าวทยุมัตเสนผู้ทรงพรตก็ทรงสงบ. และสาวิตรีก็คงอดอาหารต่อไปจนพระกายของนางนั้นเริ่มจะคล้ายหุ่นไม้. ดูกรภารตะปํุควะ, เมื่อนึกอยู่ว่าพระสวามีจะต้องสิ้นพระชนม์ลงในวันรุ่งขึ้นนั้น, นางสาวิตรีผู้เต็มไปด้วยความทุกข์โศก, อดอาหาร, จึ่งรับทุกขเวทนาแสนสาหัสในคืนสุดท้าย. และเมื่อตะวันได้ขึ้นสูงราวสองฝ่ามือแล้ว, นางสาวิตรีรำพึงอยู่ในจิตต์ว่า “วันนี้แล้วเปนวันกำหนด” ดั่งนี้พลาง, นางก็กระทำกิจกรณีย์สำหรับเวลาเช้า, และถวายเครื่องสังเวยแด่พระเพลิง. และเมื่อนางได้กราบพราหมณ์ผู้เฒ่าทั้งหลาย, และกราบพระบิดาและพระมารดาของพระสวามีแล้ว, นางจึ่งยืนประณมหัดถ์อยู่ตรงพระพักตร์แห่งสององค์, หฤทัยแน่วแน่สกดอารมณ์อยู่. และเพื่อความสุขแห่งนางสาวิตรี, บรรดาชีพราหมณ์ทั้งหลายที่อยู่ในเขตต์พระอาศรมนั้นจึ่งสวดประสาทพรขออย่าให้นางนั้นต้องเปนหม้าย. และนางสาวิตรี, ซึ่งแน่วอยู่ในสมาธิ, ก็รับพรพระฤษีทั้งหลาย, และนึกในใจว่า, “ขอให้เปนเช่นนั้นเถิด.” –– และราชบุตรี, รำพึงถึงคำของพระนารท, ก็รอคอยเวลาและขณะ.

ดูกรภารตะเศรษฐ, บัดนั้นพระบิดาและมารดามีความพอพระหฤทัยมาก, จึ่งตรัสแก่ราชบุตรีผู้ประทับอยู่ที่มุมห้องว่า, –– “ลูกก็ได้ถือธุดงค์เต็มตามที่กำหนดแล้ว. ถึงเวลาแล้วที่จะเสวย; ฉนั้นลูกจงกระทำตามที่สมควรเถิด.” –– ฝ่ายสาวิตรีจึ่งทูลตอบว่า, –– “เมื่อกระหม่อมฉันได้ถือธุดงค์เต็มตามที่จำนงไว้แล้ว, กระหม่อมฉันจะรับประทานอาหารต่อเมื่อตวันตกดิน. นี้เปนความตั้งใจ และเปนความอธิษฐานของกระหม่อมฉัน.”

ครั้นเมื่อนางสาวิตรีได้ตรัสเรื่องเสวยเช่นนั้นแล้ว, พระสัตยวานฉวยได้ขวานแบกเหนือพระอังศา, ก็เริ่มจะออกไปสู่ป่า. บัดนี้นางสาวิตรีจึ่งทูลพระสวามีว่า, –– “พระองค์หาควรที่จะเสด็จพระองค์เดียวไม่. หม่อมฉันจะตามเสด็จไป. หม่อมฉันเหลือที่จะทนอยู่ห่างพระองค์ได้.” –– เมื่อได้ฟังนางทูลเช่นนั้น พระสัตยวานจึ่งตรัสว่า, –– “น้องยังมิได้เคยเข้าไปในดงเลย. ดูกรภัฏฏินี, อันทางเดินในดงย่อมกันดารนัก. อีกประการหนึ่งน้องหรือก็อิดโรยด้วยความอด เพราะธุดงควัตรของ น้อง. ดั่งนั้นฉันใดเล่าน้องจะทรงดำเนินไหว?” –– เมื่อได้ฟังตรัสเช่นนั้นนางสาวิตรีก็ทูลว่า, –– “หม่อมฉันจะรู้สึกอ่อนเพลียเพราะการอดนั้นก็หามิได้, และความเหน็ดเหนื่อยก็หารู้สึกไม่. และหม่อมฉันได้ตั้งใจเสียมั่นแล้วว่าจะไป. ฉนั้นพระองค์มิควรเลยที่จะตรัสห้ามหม่อมฉัน.” –– บัดนี้พระสัตยวานจึ่งตรัสว่า, –– “ถ้าเมื่อน้องมีความปรารถนาจะไป พี่ก็จะยอมตามใจปรารถนาของน้อง. แต่ว่าน้องจงทูลลาพระบิดาพระมารดาเสียก่อน, เพื่อพี่นี้จะได้ปราศจากความผิด.”

เมื่อได้ฟังพระสวามีตรัสดั่งนั้น นางสาวิตรีผู้มีศีลเลิศจึ่งไปถวายบังคมพระบิดาและพระมารดาของพระสวามีและทูลว่า, –– “พระภรรดาของกระหม่อมฉันจะเสด็จไปสู่ป่าเพื่อหาผลไม้, ถ้าแม้ว่าพระบิดาและพระมารดาโปรดประทานอนุญาตแล้ว, หม่อมฉันจะขอตามเสด็จไปด้วย. เพราะในวันนี้กระหม่อมฉันไม่สามารถจะทนอยู่ห่างพระภรรดาได้เลย. พระราชบุตรของพระองค์จะเสด็จออกไปก็เพื่อประโยชน์ในทาง (หาฟืนมา) บำเรอพระอัคนี และเพื่อรับใช้ผู้ใหญ่ที่นับถือของเธอ. ฉนั้นจึ่งหาควรที่จะหวงห้ามเธอไว้ไม่. ถ้าแม้ว่าเธอจะเสด็จเข้าสู่ป่าเพื่อเหตุอื่นๆ ไซร้ หากจะห้ามปรามก็ควรอยู่. ขอพระองค์อย่าทรงห้ามกระหม่อมฉันนี้เลย. กระหม่อมฉันใคร่จะไปในป่ากับพระภรรดา. เกือบปีหนึ่งมาแล้วกระหม่อมฉันยังมิได้ออกไปพ้นเขตต์พระอาศรมนี้เลย จริงๆ, กระหม่อมฉันปรารถนาที่จะได้เห็นป่าอันดาษดาด้วยดอกไม้.” –– เมื่อได้ทรงฟังคำทูลดั่งนี้ ท้าวทยุมัตเสนจึ่งตรัสว่า, –– “ตั้งแต่พระบิดาได้ยกสาวิตรีให้เปนสุณิสาของเรา, เรารำลึกไม่ได้เลยว่าหล่อนได้เคยพูดคำใดอันเปนไปในทางขอ. ฉนั้นสุณิสาของเราควรได้สมปรารถนาในเรื่องนี้. แต่ว่า, ลูกเอย, ลูกจงประพฤติอย่าให้เปนเครื่องขัดขวางแก่กิจธุระของสัตยวานนั้นเลย.”

เมื่อได้รับอนุญาตทั้งสองพระองค์แล้ว, นางสาวิตรีผู้ทรงศรีวิลาศก็เสด็จตามพระสวามีไป, ภายนอกดูยิ้มแย้มแต่พระหฤทัยเต็มไปด้วยความเศร้าโศก. และนางผู้มีพระเนตร์งามนั้นดำเนินพลางทางชมป่าอันวิจิตร์และรมยา, เปนที่สถิตแห่งฝูงมยุรา. และพระสัตยวานตรัสด้วยพระสุรเสียงอ่อนหวานแก่นางสาวิตรีว่า, –– “แม่จงดูลำธารอันบริสุทธิ์เลิศเหล่านี้ และเนินงามอันเต็มไปด้วยบุษปะชาติ.” –– ฝ่ายนางสาวิตรีนิรมลเฝ้าแต่พิศดูพระสวามีทุกขณะ, และเมื่อรำลึกถึงคำของพระพรหมฤษี, นางก็นึกว่าพระภรรดาเหมือนหนึ่งผู้ที่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว. และด้วยดวงหทัยอันแยกออกเปนสองเสี่ยง, นางทูลตอบพระสวามีพลางทางดำเนินตามไปด้วยความหนักพระหฤทัยในกาลอันจวนจะถึง.

พระสัตยวานผู้ทรงกำลัง, ยามดำเนินไปพร้อมด้วยพระชายา, ก็เก็บผลไม้นานาลงใส่ย่ามจนเต็ม. แล้วเธอจึ่งเริ่มตัดกิ่งไม้. และเมื่อตัดไม้นั้นเธอเริ่มมีพระเสโทออก. และเพราะการออกกำลังนั้นก็เริ่มปวดพระเศียร. และเมื่อรู้สึกแสนเหน็ดเหนื่อย เธอจึ่งเสด็จมาใกล้พระชายา และตรัสว่า, –– “อ้า สาวิตรี, เพราะเหตุที่ได้ทำงานหนัก หัวของพี่ปวด, และอวัยวะทั้งปวงและหทัยของพี่ไม่สบายยิ่งนัก. อ้าน้องผู้สำรวมวาจา, พี่เฃ้าใจว่าพี่นี้ไข้เสียแล้ว. พี่รู้สึกประหนึ่งว่าหัวของพี่ถูกประหารด้วยศรหลายเล่ม. ฉะนั้น, อ้าน้องผู้งามชื่น, พี่อยากใคร่หลับนอน, เพราะพี่ไม่สามารถจะยืนอยู่อีกได้แล้ว.” –– พอได้ฟังถ้อยคำนี้ นางสาวิตรีก็รีบเฃ้าไปใกล้พระภรรดา, พยุงพระองค์มานั่งลงยังพื้นดิน. หนุนพระเศียรไว้บนตักของนาง. และนางผู้หมดทางคิด, รำพึงถึงคำของพระนารท, ก็เริ่มคำนวณส่วนวัน ยาม, และขณะ.อีกครู่หนึ่งนางก็เห็นบุรุษผู้หนึ่งซึ่งแต่งกายสีแดง เศียรเกล้าแต่งด้วยมกุฎ. และกายนั้นมีส่วนล่ำสันและรุ่งโรจน์ราวกับพระอาทิตย์. และบุรุษผู้นั้นมีผิวคล้าม, มีตาสีแดง, ถือบ่วงอยู่ในมือ, และแลดูน่าสยดสยอง. และบุรุษนั้นยืนอยู่ข้างพระสัตยวานและเพ่งดูอยู่. และเมื่อเห็นดั่งนั้น นางสาวิตรีจึ่งค่อยๆ วางพระเศียรพระภรรดาลงกับพื้นดิน, และลุกขึ้นยืนโดยพลัน, ด้วยพระหฤทัยอันสั่น ระรัว, ตรัสด้วยเสียงอันเต็มไปด้วยความโศกว่า, –– “เมื่อได้เห็นพระรูปโฉมอันผิดจากรูปมนุษเช่นนี้ ฃ้าพระบาทมาสำคัญว่าพระองค์คงเปนเทพเจ้า. อ้าพระเทวราช, ขอพระองค์จงโปรดตรัสแก่ฃ้าพระบาทว่า พระองค์คือเทพเจ้าพระองค์ใด และมีพระประสงค์อย่างไร?” –– บัดนั้นพระยมจึ่งตรัสตอบว่า, –– “ดูกรสาวิตรี, เธอเปนผู้จงรักภักดีต่อพระภรรดาเสมอมา, และเธอกอปรด้วยโยคะสมบัติ. เพื่อเหตุนี้แล เราจึ่งยอมสนทนากับเธอ. จงทราบเถิด, ภัทรา, ว่าเราคือพระยม. สัตยวานผู้นี้ที่เปนสวามีของเธอ, เปนราชบุตร, สิ้นเขตต์แห่งอายุแล้ว. เหตุฉนั้นเราจะเอาบ่วงนี้มัดเฃาไป. จงทราบเถิดว่าเรามาด้วยกิจนี้แล.” –– เมื่อฟังคำเหล่านี้แล้ว นางสาวิตรีจึ่งทูลว่า, –– “พระผู้ควรบูชา, ฃ้าพระบาทเคยได้ยินแต่ว่าทูตของพระองค์เปนผู้มาพาเอามนุษไป. เหตุไฉนเล่า, พระผู้เปนเจ้า, พระองค์จึ่งเสด็จมาเองในครั้งนี้?”

เมื่อได้ฟังนางทูลถามเช่นนั้น พระปิตฤบดีผู้ทรงเดช, โดยพระเมตตาต่อนาง, จึ่งได้ตรัสแถลงตามจริงถึงความตั้งพระหฤทัยของพระองค์. พระยมตรัสดั่งนี้, –– “พระกุมารนี้กอปรด้วยคุณสมบัติและพระโฉมอันงาม, และเปนประหนึ่งห้วงแห่งกฤตการ. เธอไม่สมควรที่จะถูกทูตของเราพาไป. ดั่งนี้แลเราจึ่งได้มาด้วยตนเอง.” ตรัสดั่งนั้นแล้ว พระยม, ด้วยแรงฤทธิ์, ก็รึ้งเอาบุรุษอันมีกายขนาดเท่าหัวแม่มือออกมาจากกายของพระสัตยวาน, มัดแล้วด้วยบ่วงและอยู่ในอำนาจโดยบริบูรณ์. และเมื่อพระชนมชีพของพระสัตยวานได้ถูกคร่าห์ออกเช่นนั้นแล้วไซร้, อันพระกาย, ซึ่งไร้ลมปราณ, และสูญแล้วซึ่งเดช, และปราศจากอาการกระดิก, ก็เปนที่น่าชังแก่ตา. และเมื่อได้มัดปราณของพระสัตยวานแล้ว, พระยมก็เสด็จไปสู่ทิศทักษิณ. ณเมื่อนั้น, ด้วยพระหฤทัยอันเต็มไปด้วยความโศก, นางสาวิตรีนารีรัตน์, ผู้ภักดียิ่งต่อพระสวามี และผู้สมบูรณแล้วด้วยศักดิ์อันเกิดแต่กิจวัตร์ของนาง, ก็ดำเนินตามพระยมไป. และณบัดนี้พระยมจึ่งตรัสว่า, –– “หยุดเถิด, สาวิตรี. เธอจงกลับไปและกระทำศารทธพรตเพื่อพระสวามีเถิด. เธอปลอดแล้วจากบรรดากรณีย์อันพึงมีต่อพระสวามี. เธอได้มาไกลที่สุดที่ควรจะมาได้อยู่แล้ว.” –– สาวิตรีทูลตอบว่า, –– “พระภรรดาจะถูกพาไปณหนใด, หรือเธอจะเสด็จเองณหนใดก็ดี, กระหม่อมฉันจะขอตามเสด็จไปณหนนั้น. นี้เปนธรรมเนียมอันยั่งยืน. ด้วยอำนาจแห่งตะบะของกระหม่อมฉัน, แห่งเชษฐาประจายนะธรรมของกระหม่อมฉัน, แห่งศีลของกระหม่อมฉัน, อีกทั้งโดยพระการุณยภาพของพระองค์, จะมีสิ่งใดกีดขวางในปฏิปทาของกระหม่อมฉันก็หามิได้. ปราชญ์ผู้มีปัญญาแท้จริงได้กล่าวแล้วว่า บุคคลอาจจะกระทำมิตรภาพกับเพื่อนร่วมทางได้โดยเดินไปด้วยกันแม้เพียงเจ็ดก้าว. เมื่อคำนึงมิตรภาพซึ่งกระหม่อมฉันมีต่อพระองค์ฉนั้นแล้ว กระหม่อมฉันขอประทานทูลอะไรสักอย่างหนึ่ง. ขอได้โปรดทรงสดับฟังด้วยเถิด. ผู้ใดมิได้ทรมานจิตต์ของตน, ผู้นั้นจะได้ถึงซึ่งกุศลธรรมหาได้ไม่ แม้โดยวิธียังชีพทั้งสี่สถาน คือ พรหมจรรย์ (ไม่มีผัวมีเมียและเล่าเรียน) ๑, ปริศฺรม (การครองเรือนและมีครอบครัว) ๑, วานปรัสถ์ย์ (ออกไปอยู่ป่า) ๑, สันฺนฺยาส (สละโลก) ๑, สิ่งซึ่งเรียกว่ากุศลธรรมแท้ก็คือความรอบรู้จริง. ฉนั้นปราชญ์จึ่งกล่าวว่าธรรมเปนสิ่งเลิศกว่าสิ่งทั้งปวง. หาใช่การยังชีพทั้งสี่สถานนั้นไม่. โดยปฏิบัติกรณีย์แห่งสถานใดสถานหนึ่งแม้เพียงสถานเดียวให้ถูกต้องตามคำสอนของผู้รอบรู้, เราสามารถได้รับผลเปนกุศลอันไพบูลย์ ฉนั้นเราจึ่งไม่จำเปนต้องปรารถนาสถานที่ ๒ หรือที่ ๓, กล่าวคือ พรหมจรรย์หรือสันฺนฺยาส. เพื่อเหตุนี้ด้วย ปราชญ์จึ่งกล่าวว่าธรรมเปนสิ่งเลิศกว่าสิ่งทั้งปวง.” –– เมื่อได้ทรงฟังถ้อยคำของนางดั่งนี้แล้ว พระยมจึ่งตรัสว่า, –– “หยุดเถิด. เราพอใจมากอยู่ในถ้อยคำของเธออันได้กล่าวมาแล้วโดยถูกต้องตามสำนวนและโวหาร, และสมเหตุสมผล. เธอจงขอพรประการหนึ่งเถิด. เว้นเสียแต่ชีวิตของภรรดาของเธอเท่านั้น, นะเจ้านิรมล, เราจะยอมประสาทพรใดๆ ให้ทั้งสิ้น ตามแต่เธอจะขอ.” –– เมื่อได้ฟังดังนั้น นางสาวิตรีจึ่งทูลว่า, –– “พระบิดาแห่งพระสวามีของกระหม่อมฉันได้ถูกเขาชิงราไชศวรรย์และพระเนตร์มืด, มาทรงประทับสงัดอยู่ณพระอาศรมในกลางป่า. ขอให้พระราชาพระองค์นั้นได้มีพระเนตร์คืนดี, โดยพระกรุณาของพระเปนเจ้า, และให้ท้าวเธอนั้นทรงมีพระเดชานุภาพเหมือนพระอัคนีหรือพระสุริยเถิด.” –– พระยมตรัสตอบว่า, –– “ดูกรนิรมล, เราประสาทพรนี้ให้. คงจะได้เปนไปเช่นเธอขอนั้นเทียว. เราดูๆ เห็นว่าตัวเธอเหน็ดเหนื่อยแล้วด้วยการเดินทาง. ฉนั้นจงหยุดและกลับเถิด. อย่าทนกรากกรำอีกต่อไปเลย.” –– สาวิตรีทูลว่า, –– “กระหม่อมฉันจะรู้สึกความเหน็ดเหนื่อยฉันใด เมื่ออยู่จำเพาะพระพักตร์พระภรรดา? เมื่อพระภรรดาตกอยู่ในสภาพใด สภาพนั้นก็เปนของกระหม่อมฉันด้วยเหมือนกัน. พระองค์จะทรงพาพระภรรดาของกระหม่อมฉันไปณหนไหน กระหม่อมฉันก็จะตามไปณหนนั้นด้วย. อ้าเทวราช, โปรดทรงฟังกระหม่อมฉันอีกครั้งหนึ่งเถิด. การสนทนาแม้ครั้งเดียวด้วยผู้กอปรด้วยบุญเปนสิ่งที่พึงปรารถนายิ่ง; ความเปนมิตรกับบุคคลเช่นนั้นเปนสิ่งที่พึงปรารถนามากกว่าอื่น. และการคบธรรมจารีจะไร้ผลนั้นมิได้เลย. ฉนั้นเราจึ่งควรคบกับธรรมจารี.” –– พระยมตรัสว่า –– “ถ้อยคำที่เธอได้กล่าวมาแล้ว, อันเต็มไปด้วยข้อควรศึกษาเปนประโยชน์, ทำความปิติและเพิ่มพูนปัญญาแม้ของผู้ที่รอบรู้. ฉนั้น, ดูกรภัฏฏินี, เธอจงขอพรเปนประการที่ ๒, เว้นเสียแต่ชีวิตของสัตยวานเท่านั้น.” –– นางสาวิตรีจึ่งทูลว่า, –– “ก่อนนี้นานมาแล้ว พระบิดาแห่งสวามีของกระหม่อมฉัน, พระองค์ผู้ทรงพระปัญญาและเปนวิญญู, ได้ถูกแย่งราชสมบัติ. ขอให้พระราชาพระองค์นั้นได้คืนครองราชสมบัติ. และขอพระองค์ผู้เปนที่นับถือของกระหม่อมฉันนั้นจงอย่าได้ละเลยราชธรรมจรรยาเปนอันขาด. นี้เปนพรประการที่ ๒ ที่กระหม่อมฉันทูลขอ.” –– พระยมจึ่งตรัสว่า, –– “ในไม่ช้า พระราชาองค์นั้นจะได้ราชสมบัติคืน. และท้าวเธอจะไม่ละเลยราชธรรมจรรยาเปนอันขาด. ดั่งนี้นะราชบุตรี, เราได้ทำตามความปรารถนาของเธอแล้ว. บัดนี้เธอจงระงับเถิด. กลับเถิด. อย่ากรากกรำลำบากต่อไปอีกเลย.” –– นางสาวิตรีทูลว่า, –– “พระองค์ย่อมทรงกำราบสัตว์ทั้งหลายด้วยวินัย, และการที่พระองค์ทรงคร่าห์สัตว์ทั้งหลายไปก็โดยอาศรัยวินัย, หาใช่ทรงประพฤติตามพระหฤทัยของพระองค์ไม่. เพราะเหตุนี้เอง, เทวะพระเปนเจ้า, ชนจึ่งออกพระนามว่า พระยม, (แปลว่า “ผู้ที่ปกครองตามแบบแผน.”) ขอพระองค์จงทรงฟังคำของกระหม่อมฉันเถิด. นิตยกรณีย์ของคนดีอันพึงกระทำแก่สัตว์ทั้งหลาย คือไม่ประทุษร้ายด้วยจิตต์, วาจา, และกาย, แต่ตรงกันข้าม ต้องแผ่เมตตา และประพฤติต่อสรรพสัตว์โดยสมควร. ส่วนโลกนี้ไซร้, สิ่งทั้งปวงล้วนต้องเปนเช่นนี้. บุถุชนมักไร้ทั้งศรัทธาและปฏิปทา. แต่ผู้ที่เปนธรรมจารีย่อมจะกรุณาแม้แก่ศัตรูผู้มาอ่อนน้อมขอพึ่ง.” –– พระยมตรัสว่า, –– “ถ้อยคำที่เธอกล่าวแก่เรานี้เปรียบเหมือนน้ำเย็นมาถึงผู้กระหาย. ฉนั้นนะ, ภัทรา, ถ้าเธอมีความปรารถนาก็จงขอพรอีกประการหนึ่ง. นอกจากชีวิตของสัตยวาน.” –– เมื่อได้ฟังพระ ดำรัสดั่งนั้น นางสาวิตรีจึ่งทูลว่า –– “พระธรณินทร์ผู้เปนพระราชบิดาของกระหม่อมฉันนี้ หาพระโอรสมิได้. ขอให้พระบิดาได้มีโอรสร้อยพระองค์, เพื่อจะได้ดำรงพระราชวงศ์สืบไป, นี้เปนพรที่ ๓ ที่กระหม่อมฉันทูลขอต่อพระองค์.” –– พระยมตรัสว่า, –– “ดูกรศุภนารี, พระบิดาของเธอจะได้พระโอรสร้อยพระองค์ล้วนแต่มีศักดิ์, ซึ่งจะเปนผู้ดำรงและเพิ่มพูนพระสกุลวงศ์แห่งพระบิดาของเธอ. บัดนี้หนอ, ราชบุตรี, เธอก็จะได้สมปรารถนาแล้ว. จงระงับเถิด. เธอได้มาไกลพอแล้ว.” –– สาวิตรีทูลว่า, –– “เมื่อกระหม่อมฉันอยู่ข้างพระภรรดา กระหม่อมฉันจะรู้สึกความไกลแห่งหนทางที่เดินมาแล้วนั้นก็หามิได้. แท้จริงใจของกระหม่อมฉันนี้ยังวิ่งไปไกลกว่านี้เสียอีก. ในระหว่างเวลาที่เสด็จต่อไปนี้ ขอพระองค์จงทรงฟังคำที่กระหม่อมฉันจะทูลต่อไปนี้ด้วยเถิด. พระองค์ทรงเปนพระโอรสอันเรืองเดชแห่งพระวิวัสวัต (พระอาทิตย์). เพราะเหตุนี้บัณฑิตจึ่งออกพระนามพระองค์ว่า พระไววัสวัต. และ เทวะ, เพราะเหตุที่พระองค์ทรงประสาทธรรมโดยสม่ำเสมอแก่สัตว์ทั้งปวง, พระองค์จึ่งทรงพระนามว่า พระธรรมราช. แม้ในตนเองชนก็มิได้ไว้วางใจเท่าที่ไว้วางใจในผู้ประพฤติธรรม. ฉนั้น ทุกคนจึ่งมีความปรารถนานักที่จะเปนมิตร์กับผู้ประพฤติธรรม. ความใจดีอย่างเดียวเท่านั้นเปนเครื่องเพาะความไว้วางใจแห่งสัตว์ทั้งหลาย. และเพราะเหตุนี้เอง ชนทั้งหลายจึ่งมักไว้ใจผู้ที่ประพฤติธรรม.” –– เมื่อได้ทรงฟังถ้อยคำเหล่านี้แล้ว พระยมจึ่งตรัสว่า, –– “ดูกรภัทรา, ถ้อยคำที่เธอได้กล่าวมาแล้วนั้น เรายังมิได้เคยฟังผู้ใดกล่าวเลย. เราพอใจมากในถ้อยคำของเธอ. นอกจากชีวิตของสัตยวาน, เธอจงขอพรเปนประการที่ ๔, แล้วจงกลับไปเถิด.” ––– สาวิตรีจึ่งทูลว่า. –– “กระหม่อมฉันขอประทานบุตรร้อยคน, ให้กำเนิดแต่หม่อมฉันกับพระสัตยวาน, ให้บุตร์นั้นล้วนมีกำลังและฤทธิ์ และสามารถดำรงวงศ์สกุลของกระหม่อมฉันสืบไป.” –– เมื่อได้ทรงฟังคำของนางดั่งนั้น, พระยมก็ตรัสว่า –– “ดูกรภัฏฏินี, เธอจะได้มีโอรสร้อยองค์, ทรงกำลังและฤทธิ์, และเปนผู้ก่อความยินดีแก่เธอเปนอันมาก. ดูกรราชบุตรี, จงอย่าทนความเหน็ดเหนื่อยอีกเลย. จงระงับเถิด. เธอได้มาไกลเกินไปแล้ว.” –– เมื่อได้ฟังดั่งนั้น นางสาวิตรีจึ่งทูลว่า, –– “ผู้เปนธรรมจารีย่อมประพฤติธรรมเปนนิตย์ และการเสวนาระหว่างชนผู้กอปรกุศลธรรมย่อมไม่ไร้ผล. อันตรายจะมีมาสู่บัณฑิตจากบัณฑิตหาได้ไม่. และจริงแท้ธรรมจารีย่อมเปนผู้ที่ทำให้พระสุริยโคจรไปในฟากฟ้าโดยอำนาจความสัตย์. และธรรมจารีสิเปนผู้ค้ำจุนโลกไว้ด้วยตะบะ. ราชะ, ทั้งอดีตและอนาคตย่อมเปนไปโดยอำนาจแห่งธรรมจารี. เหตุฉนั้นผู้เปนธรรมจารีย่อมไม่มีความโทมนัสในเมื่อเสวนากับธรรมจารี. เมื่อรู้อยู่แล้วนี่เปนนิจจะปฏิปทาของบัณฑิตและธรรมจารี, ผู้ที่เปนธรรมจารีจึ่งหมั่นกระทำประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยมิได้มุ่งหาบำเหน็จตอบแทน. การอุปการะแก่บัณฑิตและธรรมจารีจะเปนอย่างของที่ทิ้งเสียเปล่านั้นหามิได้. ทั้งประโยชน์และอิศริยะจะเสื่อมทรามไปเพราะเหตุนั้นก็หามิได้. และโดยเหตุที่ความปฏิบัติเช่นนั้นย่อมฝังอยู่ในสันดานของธรรมจารี, ผู้เปนธรรมจารีจึ่งมักเปนนาถะแห่งชนทั้งหลาย.” –– เมื่อได้ทรงฟังถ้อยคำเหล่านี้แล้ว พระยมจึ่งตรัสตอบว่า –– “เธอยิ่งกล่าวถ้อยเช่นนี้อันเต็มไปด้วยคติสำคัญ, เต็มไปด้วยมธุรวาท, พร้อมด้วยธรรมะ, และเปนที่เจริญจิตต์, เราก็ยิ่งมีความเคารพในตัวเธอยิ่งขึ้นเปนลำดับ. ดูกรนางผู้ภักดียิ่งต่อพระสวามี, เธอจงขอพรอันหนึ่งซึ่งประเสริฐหาที่เปรียบมิได้เถิด.” เมื่อได้ฟังดังนั้น นางสาวิตรีก็ทูลว่า, –– “ข้าแต่พระองค์ผู้ประสาทสิริสวัสดิ์, พระพรที่พระองค์ได้ประทานหม่อมฉันแล้วนั้นมิสามารถจะถึงซึ่งความสำเร็จได้โดยปราศจากพระภรรดาของกระหม่อมฉัน. ฉนั้น นอกจากพระพรอื่นๆ, กระหม่อมฉันขอประทานประการนี้, คือขอให้พระสัตยวานได้กลับมีพระชนมชีพขึ้นใหม่. เมื่อเสียพระภรรดาแล้ว, กระหม่อมฉันเองก็เท่ากับผู้ที่ตาย. หากไร้พระภรรดา กระหม่อมฉันจะใยดีต่อความสุขก็หามิได้. การไร้พระภรรดา แม้สวรรค์กระหม่อมฉันก็หาปรารถนาไม่. หากไร้พระภรรดา กระหม่อมฉันก็มิได้ปรารถนาซึ่งความเจริญ. หากไร้พระภรรดากระหม่อมฉันจะบังคับใจให้คงมีชีวิตอย่างไรได้. พระองค์ได้ประทานพระพรแล้ว ว่าให้กระหม่อมฉันได้มีโอรสร้อยคน: แต่พระองค์สิทรงคร่าห์พระภรรดาของกระหม่อมฉันไป. กระหม่อมฉันจึ่งขอประทานพระพรดั่งนี้, คือขอให้พระสัตยวานได้กลับมีพระชนมชีพขึ้นใหม่ พระวาจาของพระองค์จะได้เปนไปสมจริงได้.”

บัดนั้น, เมื่อตรัสว่า “เปนไปเช่นนั้นเถิด” ดั่งนี้แล้ว พระไววัสวัตยมราช, ผู้ประสาทธรรม, ก็ทรงแก้บ่วงของพระองค์, และด้วยพระหฤทัยอันร่าเริง จึ่งตรัสแก่นางสาวิตรีด้วยถ้อยคำทั้งหลายนี้, –– “ดั่งนี้หนอ, ศุภลักษณะนิรมล, เราปล่อยพระภรรดาของเธอไป. เธอจงพาพระภรรดานั้นไปได้โดยปราศจากโรคาพาธ. และกุมารนั้นจะได้มีความเจริญยิ่ง. และพร้อมด้วยตัวเธอ, กุมารนั้นจะมีอายุยืนถึงสี่ร้อยพรรษา. และโดยกระทำพลีกรรมถูกต้องตามวิธี กุมารนั้นจะได้มีเกียรติกระฉ่อนโลก และพระสัตยวานจะได้มีโอรสด้วยเธอร้อยองค์. และกษัตริย์เหล่านี้ อีกทั้งบุตรและหลานจะได้เปนพระราชา, และจะมีชื่อเสียงเสมอไปเนื่องด้วยพระนามของเธอเอง. และพระราชบิดาของเธอก็จะได้มีพระโอรสร้อยองค์ เกิดแต่นางมาลวีผู้เปนพระมารดาของเธอ. และขัตติยะภาตาทั้งหลายนี้จะได้นามว่ามาลวะ, จะมีฤทธิ์เดชคล้ายเทวดา, และจะมีเกียรติกว้างขวางตลอดถึงบุตราบุตรีด้วย.” –– และเมื่อได้ประทานพรเหล่านี้แก่นางสาวิตรีแล้ว และทำให้นางระงับด้วยเหตุนี้แล้ว, พระปิตฤบดีก็เสด็จคืนสู่ที่สถิตของพระองค์.

ครั้นเมื่อได้พระสวามีคืนแล้ว, นางสาวิตรี, เมื่อพระยมเสด็จผ่านพ้นไปแล้ว, จึ่งกลับไปยังที่ซึ่งพระศพสีเทาของพระภรรดานอนอยู่ และเมื่อเห็นพระสวามีนอนอยู่กับดินเช่นนั้น, นางก็เข้าไปใกล้ นั่งลงกับดินแล้ว และยกพระเศียรของพระสวามีขึ้นหนุนบนตัก. ณบัดนั้นพระสัตยวานก็คืนสมฤดี, ทอดพระเนตรนางสาวิตรีด้วยความเสนหาเปนหลายครั้ง, เหมือนบุคคลที่กลับถึงบ้านจากการไปอยู่ช้านานในไพรัชประเทศ, แล้วจึ่งตรัสแก่นางดั่งนี้, –– “โอ้โอ๋, พี่นี้ได้หลับไปนาน. เหตุไฉนน้องจึ่งมิได้ปลุกพี่เล่า? และบุรุษผิวคล้ามผู้ที่กำลังคร่าห์ตัวพี่ไปนั้น เขาอยู่ที่ไหน?” –– เมื่อได้ฟังถ้อยคำเหล่านี้แล้ว นางสาวิตรีจึ่งทูลตอบว่า, –– “อ้าพระนราศภ, พระองค์ได้บรรทมหลับอยู่นานบนตักของกระหม่อมฉัน. พระยมผู้ควรบูชา, พระผู้กำราบสัตว์ทั้งหลาย, ได้เสด็จไปพ้นแล้ว. อ้าพระผู้ทรงสวัสดิ์, พระองค์ทรงพระสำราญแล้ว, และนิทราได้ผ่านพ้นไปจากพระองค์แล้วนะ, ราชบุตร. ถ้าหากว่ามีพระกำลังก็โปรดเสด็จลุกขึ้นเถิด. จงทอดพระเนตรเถิด, เวลานี้ถึงราตรีกาลแล้ว.”

เมื่อได้คืนสมฤดีแล้ว, พระสัตยวานก็เสด็จลุกนั่งขึ้นประดุจบุคคลที่ได้หลับสบาย, และเมื่อแลไปเห็นแต่ป่าอยู่โดยรอบ, จึ่งตรัสว่า, –– “แม่เอวกลม พี่ได้มากับน้องเพื่อเก็บผลไม้. เมื่อพี่กำลังตัดไม้อยู่นั้น พี่รู้สึกปวดหัว. และเพราะเหตุที่พี่ปวดหัวแสนสาหัส พี่จึ่งไม่สามารถยืนอยู่ได้อีกนานปานใด, และเหตุฉนั้นพี่จึ่งได้นอนลงบนตักของน้องและหลับไป. ข้อความเหล่านี้นะ. แม่จอมขวัญ, พี่จำได้. ต่อนั้น, เมื่อน้องได้กอดพี่, นิทราได้มาลักเอาสมฤดีของพี่ไป. แล้วพี่จึ่งได้เห็นว่ามีความมืดอยู่โดยรอบ. ในท่ามกลางที่มืดนั้น พี่ได้เห็นบุรุษผู้หนึ่งซึ่งมีรัศมีแจ่มจ้าเหลือประมาณ ถ้าว่าน้องรู้คดีตลอดละก็, แม่เอวกลม, ขอจงบอกให้พี่รู้ด้วยเถิดว่า ที่พี่ได้เห็นนั้นเปนแต่เพียงความฝันหรือความจริง.” –– เมื่อนั้นนางสาวิตรีจึ่งทูลพระสวามีว่า, –– “นี่ก็ค่ำลงมากแล้ว, หม่อมฉันจะทูลเล่าความทุกประการณวันพรุ่งนี้. เสด็จลุกขึ้น, เสด็จลุกขึ้นเถิด, ขอให้ทรงพระเจริญ. อ้าพระองค์ผู้ทรงศีลเลิศ, เชิญเสด็จกลับไปเฝ้าพระชนกชนนีเถิด. ตะวันได้ตกนานแล้ว และราตรีมืดลง. ภูติผีผู้ท่องเที่ยวในราตรี, มีเสียงอันน่ากลัว, เดินไปมาอยู่ด้วยความร่าเริง. และได้ยินเสียงซึ่งมาจากสัตว์ป่าผ่านไปมาในดง. เสียงร้องอันดังแห่งหมาใน. ซึ่งมีมาจากทิศใต้และตวันออก, ทำให้ใจหม่อมฉันระริกระรัวอยู่.” –– พระสัตยวานกล่าวว่า, –– “เมื่อความมืดปกคลุมอยู่เช่นนี้ ดงก็ดูเปนที่น่ากลัวอยู่. ฉนั้นน้องคงจะแลไม่เห็นหนทาง, และด้วยเหตุนั้นจะไปหาได้ไม่.” –– สาวิตรีทูลตอบว่า –– “โดยเหตุที่ได้มีไฟไหม้ในป่าวันนี้ มีต้นไม้แห้งต้นหนึ่งมีเปลวไฟติดอยู่, และเปลวไฟนั้นเห็นได้เปนครั้งคราวเมื่อมีลมเป่า, หม่อมฉันจะไปหาไฟมาจุดฟืนเหล่านี้ที่อยู่โดยรอบ. พระองค์จงคลายความวิตกทั้งปวงเถิด. หม่อมฉันจะกระทำการนั้นๆ เอง ถ้าพระองค์ไม่โปรดเสด็จไป, เพราะหม่อมฉันเห็นอยู่ว่าพระองค์ยังไม่ทรงสบาย. พระองค์คงจะไม่ทรงสามารถหาพบทางผ่านดงนี้ในที่มืด ต่อพรุ่งนี้เมื่อป่ากระจ่างแล้ว, เราจึ่งค่อยไปจากที่นี้, ถ้าพระองค์โปรด, อ้าพระผู้ปราศจากบาป, ถ้าพระองค์มีพระประสงค์, เราจะแรมอยู่คืนนี้ณที่นี้เองก็ได้.” –– เมื่อได้ฟังคำนางดังนั้น พระสัตยวานจึ่งตรัสตอบว่า, –– “ความปวดในหัวของพี่ก็หมดไปแล้ว; และในอวัยวะของพี่ก็รู้สึกสบายดี. ถ้าน้องเต็มใจ, พี่อยากใคร่ไปเฝ้าพระบิดาและพระมารดา. พี่นี้ยังมิเคยกลับไปถึงพระอาศรมพ้นเวลาอันสมควรเลย. แม้ก่อนเวลาพลบพระมารดาก็มักจะตรัสให้พี่อยู่ภายในเขตต์พระอาศรม. แม้ในเวลาที่พี่ออกมาในกลางวัน, พระชนกชนนีก็มักทรงเปนห่วงพี่, และพระบิดาเสด็จเที่ยวหาพี่, พร้อมด้วยบรรดาท่านผู้ที่สถิตณอาศรมในดงนี้. เมื่อก่อนๆ นี้ เมื่อทรงมีความโศกอยู่, พระบิดาและพระมารดาเคยตรัสติโทษพี่หลายครั้งว่า, ‘ลูกไปเสียนานจึ่งได้กลับมา.’ พี่มาคำนึงอยู่ถึงพระหฤทัยแห่งทั้งสองพระองค์ในวันนี้เพราะเปนห่วงพี่; เพราะแน่ละ, เมื่อไม่ทรงเห็นตัวพี่กลับ, ทั้งสองพระองค์คงทรงมีความโศกมาก. เมื่อก่อนนี้คืนหนึ่ง, ทั้งสองพระองค์ผู้ทรงมีพระเมตตาต่อพี่ยิ่งนัก ได้ทรงพระกรรแสงและตรัสแก่พี่ว่า, ‘ลูกเอย, ถ้าเสียลูกไปแล้ว, เราทั้งสองจะครองชีวิตต่อไปมิได้แม้อีกขณะเดียว. ลูกมีชีวิตอยู่ตราบใด, เราทั้งสองก็จะมีชีวิตอยู่ได้ตราบนั้นเปนแน่ละ. ลูกเปนธารพระกรแห่งเราผู้ตามืด; ความยั่งยืนแห่งวงศ์สกุลของเราจะมีได้ก็แต่โดยลูกเท่านั้น. เราทั้งสองจะได้กินเครื่องเซ่นศพ จะมีเกียรติ, จะมีเชื้อวงศ์ต่อไป ก็ได้แต่โดยอาศรัยตัวลูกเท่านั้น.’ พระมารดาของพี่ทรงพระชราแล้ว, และพระบิดาก็เช่นกัน. พี่นี้เทียวเปนธารพระกรของท่าน. ถ้าท่านมิได้พบตัวพี่ในคืนนี้, อโห, ท่านจะเปนอย่างไร. พี่ชังนิทรานั้นของพี่จริงๆ, เพราะมันเปนสิ่งที่ทำให้พระมารดาและพระบิดาทั้งสองพระองค์ผู้หาผิดมิได้ต้องทรงเดือดร้อน, และตัวพี่เองก็เหมือนกัน ต้องตกอยู่ในความร้อนใจแสนสาหัส. ไร้พระบิดาและพระมารดาแล้ว พี่ก็คงอยู่ไม่ได้. แน่แล้วป่านนี้พระบิดาผู้มีพระเนตร์มืด, พระหฤทัยท่วมไปด้วยความโศก, คงจะกำลังตรัสถามบรรดาผู้อยู่ในพระอาศรมถึงตัวพี่. พี่นี่นะ, แม่งามชื่น ไม่ทุกข์ถึงตัวพี่เองเท่าเปนทุกข์ถึงพระบิดา, และถึงพระมารดาผู้อ่อนแอและภักดีต่อพระสวามีเปนนิตย์. แน่แล้วทั้งสองพระองค์คงจะทรงเปนทุกข์หนักเพราะตัวพี่. พี่คงถือชีวิตอยู่ก็แต่เมื่อทั้งสองพระองค์นั้นคงพระชนมชีพอยู่. และพี่รู้อยู่ว่าทั้งสองพระองค์ควรได้รับความบำเรอจากพี่และตัวพี่ควรจะประพฤติแต่สิ่งที่พอพระหฤทัยของท่าน.”

เมื่อได้ตรัสเช่นนี้แล้ว พระกุมารผู้ทรงคุณธรรมมีความจงรักภักดีต่อพระชนกชนนี, เต็มไปด้วยความโศก, ก็ยกพระกรขึ้น และทรงปริเทวะด้วยความทุกข์, และเมื่อเห็นพระสวามีเต็มไปด้วยทุกขเวทนาดั่งนั้น, นางสาวิตรีผู้มีธรรมก็เช็ดพระอัสสุชลจากพระเนตรของพระภรรดาแล้วทูลว่า, –– “ด้วยอำนาจการที่หม่อมฉันได้บำเพ็ญตะบะมาแล้ว, และได้อวยทานแล้ว, และได้กระทำพลีกรรมแล้ว, ขอราตรีนี้จงเต็มไปด้วยสิริสวัสดิ์แด่พระบิดา, พระมารดา, และพระภรรดาของหม่อมฉัน. หม่อมฉันจำไม่ได้เลยว่าได้เคยกล่าวมุสาจนคำเดียว, แม้ในเมื่อพูดเล่น. ขอพระบิดาและมารดาจงทรงพระเจริญพระชนมายุด้วยอำนาจความสัตย์อันนี้เถิด.” –– พระสัตยวานจึ่งตรัสว่า –– “พี่อยากจะได้เฝ้าพระบิดาและพระมารดาของพี่. ฉนั้นนะ, สาวิตรี, มาไปเถิดอย่าช้า. อ้าแม่รูปงาม, พี่ปฏิญญาโดยตนเองว่า ถ้าแม้พี่พบเห็นอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งได้เปนไปแก่พระบิดาและพระมารดาแล้ว, พี่จะไม่ขอคงชีวิตอยู่ต่อไป. ถ้าน้องมีความเคารพต่อธรรม, ถ้าน้องปรารถนาให้พี่คงมีชีวิต, ถ้าเปนกรณียของน้องที่จะประพฤติให้ถูกใจพี่, จงไปยังพระอาศรมเถิด.” –– นางสาวิตรีศรีวิลาส ณบัดนั้นจึ่งลุกขึ้น, มุ่นเกศา, และพะยุงพระภรรดาให้ลุกยืนขึ้น. และเมื่อพระสัตยวานได้ลุกยืนขึ้นแล้ว, จึ่งทรงคลึงไคลพระอวัยวะด้วยพระหัตถ์. และเมื่อทอดพระเนตรไปโดยรอบ, ก็ทอดพระเนตรเห็นย่ามของพระองค์. บัดนั้นนางสาวิตรีจึ่งทูลว่า, –– “พรุ่งนี้เถิดจึ่งค่อยเสด็จมาเก็บผลไม้. กระหม่อมฉันจะถือขวานไปเพื่อไม่ลำบากแก่พระองค์.” –– บัดนั้นเมื่อได้แขวนย่ามไว้ที่กิ่งไม้และหยิบขวานขึ้นแล้ว, นางก็กลับไปยังพระภรรดาและนางผู้มีพระเพลางาม ยกพระกรซ้ายของพระภรรดาขึ้นพาดไว้บนพระอังศาซ้ายของนางแล้ว, และกอดบั้นพระองค์ด้วยพระกรขวาแล้ว, ก็ดำเนินโดยสง่าดุจพระยาช้างสาร. บัดนั้นพระสัตยวานจึ่งตรัสว่า –– “อ้าภีรุ, โดยความชำนาญ, พี่รู้จักทางสัญจรในดงนี้ทั้งหมด. และอีกประการหนึ่ง, โดยแสงเดือนที่ส่องลงมาระหว่างต้นไม้, พี่อาจและเห็นหนทางได้. บัดนี้เราได้มาถึงแล้วซึ่งทางเก่าที่เราได้ดำเนินมาเมื่อเวลาเช้าเพื่อเก็บผลไม้. ศุภลักษณนารี, น้องจงดำเนินไปตามทางที่เราได้ผ่านมาแล้วนั้นเถิด. ใกล้ทางซึ่งมีต้นปะลาศปกคลุมอยู่, ทางแยกเปนสองแพร่ง. จงดำเนินไปทางที่แยกไปทิศเหนือเถิด บัดนี้พี่สบายขึ้นแล้วและได้กำลังคืนมาแล้ว. พี่อยากใคร่ได้เฝ้าพระบิดาและพระมารดาจริงๆ.” –– เมื่อตรัสดั่งนี้แล้วพระสัตยวานก็รีบดำเนินสู่พระอาศรม.

[เรื่องนางสาวิตรีแท้จริงก็จบเพียงเท่านี้, แต่ในฉะบับเดิมยังมีต่ออีก ๒ สรรค, ซึ่งเห็นว่าไม่จำเปนต้องแปลมาไว้ในที่นี้โดยพิสดาร, แต่ขอเล่าความไว้โดยย่อๆ. ต่อจากที่ได้แปลไว้แล้วข้างบนนี้ จับกล่าวถึงท้าวทยุมัตเสน, ซึ่งได้กลับพระเนตร์สว่างขึ้นแล้ว, จึ่งชวนนางไสพยาผู้มเหษีออกเที่ยวตามหาพระสัตยวาน, แวะถามตามอาศรมที่ใกล้เคียง, พวกฤษีชีไพรพากันทำนายว่าพระสัตยวานหาได้เปนอันตรายไม่, เพราะอำนาจแห่งคุณสมบัติของนางสาวิตรีคุ้มเกรงรักษาอยู่. เมื่อได้ฟังคำทำนายของพวกฤษีดั่งนั้น ท้าวทยุมัตเสนกับนางไสพยาก็ค่อยคลายความวิตก, จึ่งกลับไปยังพระอาศรม. ในคืนนั้นเอง พระสัตยวานกับนางสาวิตรีก็กลับไปถึงพระอาศรม, ซึ่งทำให้มีความยินดีโดยทั่วกัน, และต่างถามและเล่าข่าวคราวสู่กันและกัน ครั้นรุ่งขึ้นมีชาวศาลวะเปนอันมากไปยังพระอาศรม และทูลฃ่าวแก่ท้าวทยุมัตเสนว่า ศัตรูผู้ชิงราชสมบัตินั้น ได้ถูกอมาตย์ฆ่าตายเสียแล้ว และบรรดาไพร่พลของศัตรูก็ได้หนีไปหมดแล้ว, และพศกนิกรได้พร้อมใจกันอัญเชิญพระราชาเดิมเสด็จกลับเข้าไปทรงราชย์ในศาลวะนคร. ท้าวทยุมัตเสนก็เสด็จกลับคืนเข้าสู่พระนคร, พร้อมด้วยเสนานิกรแห่ห้อม, พระนางไสพยาและนางสาวิตรีทรงวอทองไปในกระบวน. ชีพ่อพราหมณ์จึ่งกระทำพิธีราชาภิเษกท้าวทยุมัตเสนและประดิษฐานพระสัตยวานไว้ในตำแหน่งพระยุพราช. ต่อนั้นมานางสาวิตรีก็ได้มีโอรสอันกล้าหาญร้อยองค์, และท้าวอัศวบดีมัทรราชก็ได้มีพระโอรสด้วยพระนางมาลวีร้อยองค์, เปนอันได้ผลเต็มตามพระพรที่พระยมได้ประสาทแด่นางสาวิตรีนั้นด้วยทุกประการ.]

จบเรื่องสาวิตรีเท่านี้.

[หมายเหตุ แปลจากฉะบับคำแปลภาษาอังกฤษของ ประตาป จันทระรอย, ซึ่งยืมมาจากหอพระสมุดวชิรญาณ. – ราม. ร.]

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ