คำนำ

ลิลิตยวนพ่าย เป็นวรรณคดีที่แต่งเป็นลิลิตประกอบด้วยร่ายดั้นสลับกับโคลงดั้นบาทกุญชร มีถ้อยคำสำนวนลึกซึ้งเข้าใจยาก อีกทั้งคำโบราณและภาษาสันสกฤตก็ปะปนอยู่มาก นอกจากเป็นหนังสือที่ใช้บทพรรณนาโวหารได้ละเอียดไพเราะงดงามแล้ว ยังให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีอย่างมากแก่ผู้อ่านอีกด้วย ประวัติและความสำคัญของหนังสือเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในคำอธิบาย พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพในฉบับพิมพ์ครั้งแรก ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ โปรดให้พิมพ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ ว่า

“หนังสือลิลิตยวนพ่ายนี้ นับอยู่ในหนังสือซึ่งแต่งดีอย่างเอกในภาษาไทยเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องพงศาวดารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ครั้งเมื่อพระเจ้าติโลกราชเมืองเชียงใหม่ลงมาชิงหัวเมืองฝ่ายเหนือ ทรงพยายามทำสงครามจนมีชัยชนะเอาหัวเมืองเหล่านั้นคืนมาได้ จึงเรียกชื่อเรื่องว่ายวนพ่าย มีมาแต่เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มาในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงแต่งลิลิตพงศาวดารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ครั้งทรงทำยุทธหัตถีมีชัยชนะพระมหาอุปราชหงสาวดี อีกเรื่องหนึ่ง จึงทรงเรียกชื่อเรื่องว่า เตลงพ่าย ให้เป็นคู่กัน

หนังสือยวนพ่ายนี้ แต่งเมื่อศักราชเท่าใด และใครเป็นผู้แต่งหาปรากฏไม่ สังเกตดูโดยทางสำนวน ดูเป็นสำนวนเก่ามาก ทั้งความรู้เรื่องพงศาวดารในตอนที่แต่งนั้น ก็รู้ถ้วนถี่กว่าที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารและหนังสือพงศาวดารเชียงใหม่ เพราะฉะนั้นน่าที่จะแต่งในเวลาใกล้กับเหตุการณ์ที่กล่าวถึง จึงยังสามารถรู้เรื่องได้ถ้วนถี่ สันนิษฐานว่า เห็นจะแต่งในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ซึ่งเป็น พระราชโอรสสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสวยราชย์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๓๒ จน พ.ศ. ๒๐๗๒ แต่สังเกตโดยทางสำนวนรู้ได้แน่อย่างหนึ่งว่าผู้แต่งลิลิตเรื่องยวนพ่ายนี้เป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญทั้งในทางภาษาและแบบแผนขนบธรรมเนียมราชการคงเป็นกวีที่เป็นคนสำคัญในสมัยเมื่อแต่งหนังสือเรื่องนี้ หนังสือเรื่องยวนพ่าย จึงเป็นที่นับถือกันว่าเป็นตำราเรื่องหนึ่ง ทุกสมัยสืบมาจนกาลบัดนี้

แต่หนังสือเรื่องยวนพ่าย ถ้าจะกล่าวแล้วเป็นหนังสืออาภัพผิดกับกลอนตำราเรื่องอื่น เช่น ลิลิตพระลอและเตลงพ่าย เป็นต้น เพราะมิใคร่จะมีใครอ่าน เหตุด้วยในคำนมัสการและคำยอพระเกียรติตอนต้นยวนพ่าย ผู้แต่งใช้ศัพท์และแสดงอรรถอันลึกซึ้งเข้าใจยาก ผู้อ่านอ่านแต่ต้นไปไม่ได้เท่าใดก็มักฉงนสนเท่ห์แล้วเลยเบื่อหน่าย ปิดหนังสือทิ้งเสียไม่อ่านไปจนถึงเรื่องพงศาวดาร เป็นดังนี้โดยมาก เห็นจะเป็นมาช้านาน จึงมีผู้รู้แต่จะเป็นผู้ใดหาทราบไม่ อุตส่าห์แปลอรรถในหนังสือยวนพ่ายเขียนบอกไว้ในต้นฉบับอันหนึ่ง ซึ่งหอพระสมุดฯ ได้มา เป็นฝีมืออาลักษณ์ ครั้งรัชกาลที่ ๒ เขียน จึงเข้าใจว่าจะเป็นฉบับซึ่งคัดไว้ในหอหลวง หาปรากฏว่ามีที่อื่นอีกไม่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ทรงพระดำริเห็นว่า ถ้าพิมพ์หนังสือยวนพ่ายฉบับนี้ให้แพร่หลายคงจะเป็นประโยชน์แก่ นักเรียน ทั้งในความรู้วรรณคดีและความรู้พงศาวดาร จึงโปรดให้พิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในสมุดเล่มนี้”

อนึ่ง ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ ได้ทำการตรวจสอบโดยยึดถือต้นฉบับสมุดไทย ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติเป็นหลัก แต่ได้แก้ไขอักขรวิธีที่ยังลักลั่นกันอยู่บ้างให้เป็นแบบเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อให้เห็นร่องรอยของภาษาโบราณ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ