รำพันพิลาป
๏ สุนทร[๑]ทำคำประดิษฐ์นิมิตฝัน | |
พึ่งพบเห็นเป็นวิบัติมหัศจรรย์ | จึ่งจดวันเวลาด้วยอาวรณ์ |
แต่งไว้เหมือนเตือนใจจะได้คิด | ในนิมิตเมื่อภวังค์วิสังหรณ์ |
เดือนแปดวันจันทวา[๒]เวลานอน | เจริญพรภาวนาตามบาลี |
ระลึกคุณบุญบวชตรวจกสิณ | ให้สุขสิ้นดินฟ้าทุกราศี |
เงียบสงัดวัดวาในราตรี | เสียงเป็ดผีหวีหวีดจังหรีดเรียง |
หริ่งหริ่งเรื่อยเฉื่อยชื่นสะอื้นอก | สำเนียงนกแสกแถกแสกแสกเสียง |
เสียงแมงมุมอุ้มไข่มาใต้เตียง | ตีอกเพียงผึงผึงตะลึงฟัง |
ฝ่ายฝูงหนูมูสิกกิกกิกร้อง | เสียวสยองยามยินถวิลหวัง |
อนึ่งผึ้งซึ่งมาทำประจำรัง | ริมบานบังบินร้องสยองเย็น |
ยิ่งเยือกทรวงง่วงเหงาซบเซาโศก | ยามวิโยคยากแค้นสุดแสนเข็ญ |
ไม่เทียมเพื่อนเหมือนจะพาเลือดตากระเด็น | เที่ยวซ่อนเร้นไร้ญาติหวาดวิญญาณ์ ฯ |
[ระลึกความหลัง] | |
๏ แต่ปีวอก[๓]ออกขาดราชกิจ | บรรพชิตพิศวาสพระศาสนา |
เหมือนลอยล่องท้องชะเลอยู่เอกา | เห็นแต่ฟ้าฟ้าก็เปลี่ยวสุดเหลียวแล |
ดูฟากฝั่งหวังจะหยุดก็สุดเนตร | แสนเทวษเวียนว่ายสายกระแส |
เหมือนทรวงเปลี่ยวเที่ยวแสวงทุกแขวงแคว | ได้เห็นแต่ศิษย์หาพยาบาล |
ทางบกเรือเหนือใต้เที่ยวไปทั่ว | จังหวัดหัวเมืองสิ้นทุกถิ่นฐาน |
เมืองพริบพรี[๔]ที่เขาทำรองน้ำตาล | รับประทานหวานเย็นก็เป็นลม |
ไปราชพรี[๕]มีแต่พาลจังทานพระ | เหมือนไปปะบระเพ็ดเหลือเข็ดขม |
ไปขึ้นเขาเล่าก็ตกอกระบม | ทุกข์ระทมแทบจะตายเสียหลายคราว ฯ |
๏ ครั้งไปด่านกาญจน์บุรีที่กะเหรี่ยง | ฟังแต่เสียงเสือสีห์ชะนีหนาว |
นอนน้ำค้างพร่างพนมพรอยพรมพราว | เพราะเชื่อลาวลวงว่าแร่แปรเป็นทอง |
ทั้งฝ่ายลูกถูกปอบมันลอบใช้ | หากแก้ได้ให้ไปเข้ากินเจ้าของ |
เข้าวัสสามาอยู่ที่สองพี่น้อง[๖] | ยามขัดข้องขาดมุ้งริ้นยุงชุม |
ทุกเช้าค่ำลำบากแสนยากยิ่ง | เหลือทนจริงเจ็บแสบใส่แกลบสุม |
เสียงฉู่ฉู่หวู่ว่อนเวียนร่อนรุม | เป็นกลุ่มกลุ่มกลุ้มกัดนั่งปัดยุง |
โอ้ยามยากอยากใคร่ได้เหล็กไหลเล่น | ทำทองเป็นปั้นเตาเผาถลุง |
ลองตำราอาจารย์ทองบ้านจุง | จดเกลือหุงหายสูญสิ้นทุนรอน ฯ |
๏ คราวไปคิดปริศนาตามตาเถร | เขากาเพน[๗]พบมหิงส์ริมสิงขร |
มันตามติดขวิดคร่อมอ้อมอุทร | หากมีขอนขวางควายไม่วายชนม์ |
เดชะบุญคุณพระอนิสงส์ | ช่วยดำรงรอดตายมาหลายหน |
เหตุด้วยเคราะห์เพราะว่าไว้วางใจคน | จึ่งจำจนใจเปล่าเปลืองเข้าเกลือ ฯ |
๏ โอ้ยามอยู่สุพรรณกินมันเผือก | เคี้ยวแต่เปลือกไม้หมากเปรี้ยวปากเหลือ |
จนแรงโรยโหยหิวผอมผิวเนื้อ | พริกกับเกลือกลักใหญ่ยังไม่พอ |
ทั้งผ้าพาดบาตรเหล็กของเล็กน้อย | ขโมยถอยไปทั้งเรือไม่เหลือหลอ |
เหลือแต่ผ้าอาศัยเสียใจคอ | ชาวบ้านทอถวายแทนแสนศรัทธา ฯ |
๏ คิดถึงคราวเจ้านิพพาน[๘]สงสารโศก | ไปพิศีโลก[๙]ลายแทงแสวงหา |
ลงหนองน้ำปล้ำตะเข้หากเทวดา | ช่วยรักษาจึ่งได้รอดไม่วอดวาย |
วันไปอยู่ภูผาเขาม้าวิ่ง[๑๐] | เหนื่อยนอนพิงเพิงไศลหลับใจหาย |
ครั้นดึกดูงูเหลือมเลื้อยเลื่อมลาย | ล้อมรอบกายเกี้ยวตัวกันผัวเมีย |
หนีไม่พ้นจนใจได้สติ | สมาธิถอดชีวิตอุทิศเสีย |
เสียงฟู่ฟู่ขู่ฟ่อเคล้าคลอเคลีย | แลบลิ้นเลียแล้วเลื้อยแลเฟื้อยยาว |
ดูใหญ่เท่าเสากระโดงผีโป่งสิง | เป็นรูปหญิงยืนหลอกผมหงอกขาว |
คิดจะตีหนีไปกลัวไม้ท้าว | โอ้เคราะห์คราวขึ้นไปเหนือเหมือนเหลือตาย ฯ |
๏ เมื่อขาล่องต้องตอเรือหล่อล่ม | เจียนจะจมน้ำม้วยระหวยระหาย |
ปะหาดตื้นขึ้นรอดไม่วอดวาย | แต่ปะตายหลายหนหากทนทาน |
แล้วมิหนำซ้ำบุตรสุดที่รัก | ขโมยลักหลายหนผจญผลาญ |
ต้องต่ำต้อยย่อยยับอัประมาณ | มาอยู่วิหารวัดเลียบยิ่งเยียบเย็น |
โอ้ยามจนล้นเหลือสิ้นเสื่อหมอน | สู้ซุ่มซ่อนเสียมิให้ใครใครเห็น |
ราหูทับยับเยินเผอิญเป็น | เปรียบเหมือนเช่นพราหมณ์ชีมณีจันท์[๑๑] ฯ |
๏ จะสึกหาลาพระอธิฐาน | โดยกันดารเดือดร้อนสุดผ่อนผัน |
พอพวกพระอภัยมณีศรีสุวรรณ | เธอช่วยกันแก้ร้อนค่อยหย่อนเย็น |
อยู่มาพระสิงหะไตรภพโลก[๑๒] | เห็นเศร้าโศกแสนแค้นสุดแสนเข็ญ |
ทุกค่ำคืนฝืนหน้าน้ำตากระเด็น | พระโปรดเป็นที่พึ่งเหมือนหนึ่งนึก |
ดังไข้หนักรักษาวางยาทิพย์ | ฉันทองหยิบฝอยทองไม่ต้องสึก[๑๓] |
ค่อยฝ่าฝืนชื่นฉ่ำดั่งอำมฤก | แต่ตกลึกเหลือที่จะได้สบาย ฯ |
๏ ค่อยเบาบางสร่างโศกเหมือนโรคฟื้น | จะเดินยืนยังไม่ได้ยังไม่หาย |
ได้ห่มสีมีหมอนเสื่ออ่อนลาย | ค่อยคลายอายอุตส่าห์ครองฉลองคุณ |
เหมือนพบปะพระสิทธาที่ปรารภ | ชุบบุตรลพเลี้ยงเหลือช่วยเกื้อหนุน |
สนอมพักตร์รักษาด้วยการุญ | ทรงสร้างบุญคุณศีลเพิ่มภิญโญ |
ถึงยากไร้ได้พึ่งหมือนหนึ่งแก้ว | พาผ่องแผ้วผิวพักตร์ขึ้นอักโข |
พระฤๅษีที่ท่านช่วยชุบเสือโค[๑๔] | ให้เรืองฤทธิ์อิสโรเดโชชัย |
แล้วไม่เลี้ยงเพียงแต่ชุบช่วยอุปถัมภ์ | พระคุณล้ำโลกาจะหาไหน |
ช่วยชี้ทางกลางป่าให้คลาไคล | หลวิชัยคาวีจำลีลา |
แต่ละองค์ทรงพรตพระยศยิ่ง | เป็นยอดมิ่งเมืองมนุษย์นี้สุดหา |
จงไพบูลย์พูนสวัสดิ์วัฒนา | พระชันษาสืบยืนอยู่หมื่นปี ฯ |
๏ เป็นคราวเคราะห์ก็ต้องพรากจากวิหาร | กลัวพวกพาลผู้ร้ายจำย้ายหนี |
อยู่วัดเทพธิดา[๑๕]ด้วยบารมี | ได้ผ้าปีปัจจัยไทยทาน |
ถึงยามเคราะห์ก็เผอิญให้เหินห่าง | ไม่เหมือนอย่างอยู่ที่พระวิหาร[๑๖] |
โอ้ใจหายกลายกลับอัประมาณ | โดยกันดารเดือดร้อนไม่หย่อนเย็น |
ได้พึ่งพระปะแพรพอแก้หน้า | สองวัสสาสิ้นงามถึงยามเข็ญ |
คิดขัดขวางอย่างจะพาเลือดตากระเด็น | บันดาลเป็นปลวกปล่องขึ้นห้องนอน |
กัดเสื่อสาดขาดปรุทะลุสมุด | เสียดายสุดแสนรักเรื่องอักษร |
เสียแพรผ้าอาศัยไตรจีวร | ดูพรุนพลอนพลอยพาน้ำตาคลอ |
ถึงคราวคลายปลายอ้อยบุญน้อยแล้ว | ไม่ผ่องแผ้วพักตราวาสนาหนอ |
นับปีเดือนเหมือนจะหักทั้งหลักตอ | แต่รั้งรอร้อนรนกระวนกระวาย ฯ |
๏ ถึงเดือนยี่มีเทศน์สมเพชพักตร์ | เหมือนลงรักรู้ว่าบุญสิ้นสูญหาย |
สู้ซ่อนหน้าฝ่าฝืนสะอื้นอาย | จนถึงปลายปีฉลู[๑๗]มีธุระ |
ไปทางเรือเหลือสลดด้วยปลดเปลื้อง | ระคางเคืองข้องขัดสลัดสละ |
ลืมวันเดือนเชือนเฉยแกล้งเลยละ | เห็นแต่พระอภัยพระทัยดี |
ช่วยแจวเรือเกื้อหนุนทำบุญด้วย | เหมือนโปรดช่วยชูหน้าเป็นราศี |
กลับมาถึงผึ้งมาจับอยู่กับกระฎี | ทำรังที่ทิศประจิมริมประตู |
ต้องขัดเคืองเรื่องราวด้วยคราวเคราะห์ | จวบจำเพาะสุริยาถึงราหู |
ทั้งบ้านทั้งวังวัดเป็นศัตรู | แม้นขืนอยู่ยากเย็นจะเห็นใคร |
เครื่องกระฎีที่ยังเหลือแต่เสื่อขาด | เข้าไสยาศยุงกัดปัดไม่ไหว |
เคยสว่างกลางคืนขาดฟืนไฟ | จะโทษใครเคราะห์กรรมจึ่งจำทน ฯ |
๏ โอ้อายเพื่อนเหมือนเขาว่ากิ่งกาฝาก | มิใช่รากรักเร่ระเหระหน |
ที่ทุกข์สุขขุกเข็ญเกิดเป็นคน | ต้องคิดขวนขวายหารักษากาย |
ได้พึ่งบ้างอย่างนี้เป็นที่ยิ่ง | สัจจังจริงจงรักสมัครหมาย |
ไม่ลืมคุณพูนสวัสดิ์ถึงพลัดพราย | มิได้วายเวลาคิดอาลัย ฯ |
๏ จะลับวัดพลัดที่กระฎีตึก | สุดแต่นึกน้ำตามาแต่ไหน |
เฝ้านองเนตรเช็ดพักตร์สักเท่าไร | ขืนหลั่งไหลรินร่ำน่ารำคาญ |
คิดอายเพื่อนเหมือนเขาเล่าแม่เจ้านี่ | เร่ไปปีละร้อยเรือนเดือนละร้อยบ้าน |
เพราะบุญน้อยย่อยยับอัประมาณ | เหลือที่ท่านอุปถัมภ์ช่วยบำรุง |
ต่อเมื่อไรไปทำทองสำเร็จ | แก้ปูนเพชพบทองสักสองถุง |
จะผาสุกทุกสิ่งนอนกลิ้งพุง | กินหมูกุ้งไก่เป็ดจนเข็ดฟัน |
ขอเดชะพระมหาอานิสงส์ | ซึ่งรูปทรงสัจศีลถวิลสวรรค์ |
จะเที่ยวรอบขอบประเทศทุกเขตคัน | ขอความฝันวันนี้บอกดีร้าย ฯ |
[หลับฝัน] | |
๏ แล้วร่ำภาวนาในพระไตรลักษณ์ | ประหารรักหนักหน่วงตัดห่วงหาย |
หอมกลิ่นธูปงูบระงับหลับสบาย | ฝันว่าว่ายสายชะเลอยู่เอกา |
สิ้นกำลังยังมีนารีรุ่น | รูปเหมือนหุ่นเหาะเร่ร่อนเวหา |
ช่วยจูงไปไว้ที่วัดได้ทัศนา | พระศิลาขาวล้ำดั่งสำลี |
ทั้งพระทองสององค์ล้วนทรงเครื่อง[๑๘] | แลเลื่อมเหลืองเรืองจำรัสรัศมี |
พอเสียงแซ่แลหาเห็นนารี | ล้วนสอดสีสาวน้อยนับร้อยพัน |
ล้วนใส่ช้องป้องพักตร์ดูลักขณะ | เหมือนนางสะสวยสมล้วนคมสัน |
ที่เอกองค์ทรงศรีฉวีวรรณ[๑๙] | ดั่งดวงจันทร์แจ่มฟ้าไม่ราคี |
ทั้งคมขำล้ำนางสำอางสะอาด | โอษฐ์เหมือนชาดจิ้มเจิมเฉลิมศรี |
ใส่เครื่องทรงมงกุฎดั่งบุตรี | แก้วมณีเนาวรัตน์จำรัสเรือง |
รูปจริตพิศไหนวิไลเลิศ | เหมือนหุ่นเชิดโฉมแช่มแฉล้มเหลือง |
พอแลสบหลบชะม้ายชายชำเลือง | ดูปลดเปลื้องเปล่งปลั่งกำลังโลม |
ลำพระกรอ่อนชดประณตน้อม | แลละม่อมเหมือนหนึ่งเขียนวิเชียรโฉม |
หรือชาวสวรรค์ชั้นฟ้านภาโพยม | มาประโลมโลกาให้อาวรณ์ |
แปลกมนุษย์ผุดผ่องละอองพักตร์ | วิไลลักษณ์ล้ำเลิศประเสริฐสมร |
ครั้นปราศรัยไถ่ถามนามกร | ก็เคืองค้อนขามเขินสะเทิ้นที |
ขืนถามอีกหลีกเลี่ยงหลบเมียงม่าย | เหมือนอายชายเฉยเมินดำเนินหนี |
นางน้อยน้อยพลอยตามงามงามดี | เก็บมาลีเลือกถวายไว้หลายพรรณ |
แล้วชวนว่าอย่าอยู่ชมพูทวีป | นิมนต์รีบไปสำราญวิมานสวรรค์ |
แล้วทรงรถกลดกั้งนางทั้งนั้น | นั่งที่ชั้นลดล้อมน้อมคำนับ |
ที่นั่งทิพย์ลิบเลื่อนคล้อยเคลื่อนคล้าย | พรรณรายพรายเรืองเครื่องประดับ |
ประเดี๋ยวเดียวเฉียวฉิบแลลิบลับ | จนลมจับวับใจอาลัยลาน ฯ |
๏ ซึ่งสั่งให้ไปสวรรค์ฤๅชันษา | จะมรณาในปีนี้เป็นปีขาล[๒๐] |
แม้นเหมือนปากอยากใคร่ตายหมายวิมาน | ขอพบพานภัคินีของพี่ยา |
ยังนึกเห็นเช่นโฉมประโลมโลก | ยิ่งเศร้าโศกแสนสวาทปรารถนา |
ได้แนบชมสมคะเนสักเวลา | ถึงชีวาม้วยไม่อาลัยเลย |
อยู่หลัดหลัดพลัดพรากไปฟากฟ้า | ให้ดิ้นโดยโหยหานิจจาเอ๋ย |
ถึงชาตินี้พี่มิได้บุญไม่เคย | ขอชื่นเชยชาติหน้าด้วยอาวรณ์ |
แม้นรู้เหาะก็จะได้ตามไปด้วย | สู้มอดม้วยมิได้ทิ้งมิ่งสมร |
เสมอเนตรเชษฐาเวลานอน | จะกล่าวกลอนกล่อมประทับไว้กับทรวง |
สายสุดใจไม่หลับจะรับขวัญ | ร้องโอดพันพัดชาช้าลูกหลวง[๒๑] |
ประโลมแก้วแววตาสุดาดวง | ให้อุ่นทรวงไสยาศไม่คลาดคลาย |
ยามกลางวันบรรทมจะชมโฉม | ขับประโลมข้างที่พัดวีถวาย |
แม้นไม่ยิ้มหงิมเหงาจะเล่านิยาย | เรื่องกระต่ายตื่นตูมเหลือมูมมาม |
ไม่รู้เหาะก็มิได้ขึ้นไปเห็น | แม้นเหมือนเช่นชาวสุธาภาษาสยาม |
ถ้ารับรักจักอุตส่าห์พยายาม | ไปตามความคิดคงได้ปลงทอง ฯ |
๏ นี่จนใจไม่รู้จักที่หลักแหล่ง | สุดแสวงสวาทหมายไม่วายหมอง |
เมื่อยามฝันนั้นว่านึกนั่งตรึกตรอง | เดือนหงายส่องแสงสว่างดั่งกลางวัน |
เห็นโฉมยงองค์เอกเมขลา | ชูจินดาดวงสว่างมากลางสวรรค์ |
รัศมีสีเปล่งดังเพ็งจันทร์ | พระรำพันกรุณาด้วยปรานี |
ว่านวลระหงองค์นี้อยู่ชั้นฟ้า | ชื่อโฉมเทพธิดามิ่งมารศรี[๒๒] |
วิมานเรียงเคียงกันทุกวันนี้ | เหมือนหนึ่งพี่น้องสนิทร่วมจิตใจ |
จะให้แก้วแล้วก็ว่าไปหาเถิด | มิให้เกิดการระแวงแหนงไฉน |
ที่ขัดข้องหมองหมางเป็นอย่างไร | จะผันแปรแก้ไขด้วยใกล้เคียง ฯ |
๏ สดับคำฉ่ำชื่นจะยื่นแก้ว | แล้วคลาดแคล้วคลับคล้ายเคลิ้มหายเสียง |
ทรงปักษาการเวกแฝงเมฆเมียง | จึ่งหมายเสี่ยงวาสนาอุตส่าห์คอย |
เหมือนบุปผาปารึกชาติชื่น | สุดจะยื่นหยิบได้มีไม้สอย |
ด้วยเดชะพระกุศลให้หล่นลอย | ลงมาหน่อยหนึ่งเถิดนะจะประคอง |
มิให้เคืองเปลื้องปลดเสียยศศักดิ์ | สนอมรักร้อยปีไม่มีหมอง |
แม้นมั่งมีพี่จะจ้างพวกช่างทอง | หล่อจำลองรูปวางไว้ข้างเคียง ฯ |
[ตื่นนึกถึงความฝัน] | |
๏ คิดจนตื่นฟื้นฟังระฆังฆ้อง | กลองหอกลองทึ้มทึ้มกระหึ่มเสียง |
โกกิลากาแกแซ่สำเนียง | โอ้นึกเพียงขวัญหายไม่วายวัน |
วิสัยเราเล่าก็ไม่สู้ใฝ่สูง | นางฟ้าฝูงไหนเล่ามาเข้าฝัน |
ให้เฟือนจิตกิจกรมพรหมจรรย์ | ฤๅสาวสวรรค์นั้นจะใคร่ลองใจเรา |
ให้รักรูปซูบผอมตรมตรอมจิต | เสียจริตคิดขยิ่มง่วงหงิมเหงา |
จะได้หัวเราะเยาะเล่นทุกเย็นเช้า | จึงแกล้งเข้าฝันเห็นเหมือนเช่นนี้ |
แม้นนางอื่นหมื่นแสนแดนมนุษย์ | นึกกลัวสุดแสนกลัวเอาตัวหนี |
สู้นิ่งนั่งตั้งมั่นถือขันตี | อยู่กระฎีดั่งสันดานนิพพานพรหม |
รักษาพรตปลดปละสละรัก | เพราะน้ำผักต้มหวานน้ำตาลขม |
คิดรังเกียจเกลียดรักหักอารมณ์ | ไม่นิยมสมสวาทเป็นขาดรอน ฯ |
๏ แต่ครั้งนี้วิปริตนิมิตฝัน | เฝ้าผูกพันมั่นหมายสายสมร |
สาวสวรรค์ชั้นฟ้าจงถาวร | เจริญพรพูนสวัสดิ์กำจัดภัย |
ซึ่งผูกจิตพิศวาสหมายมาดมุ่ง | มักนอนสะดุ้งด้วยพระขวัญจะหวั่นไหว |
เสวยสวรรค์ชั้นฟ้าสุราลัย | ช่วยเลื่อมใสโสมนัสสวัสดี ฯ |
๏ ขอเดชะพระอุมารักษาสวาท | ให้ผุดผาดเพียงพักตร์พระลักษมี |
วิมานแก้วแววฟ้าฝูงนารี | คอยพัดวีแวดล้อมอยู่พร้อมเพรียง ฯ |
๏ ขอเดชะพระอินทร์ดีดพิณแก้ว | ให้เจื้อยแจ้วจับใจแจ่มใสเสียง |
สาวสุรางค์นางรำระบำเรียง | คอยขับกล่อมพร้อมเพรียงเคียงประคอง |
ขอพระจันทร์กรุณารักษาศรี | ให้เหมือนมณีนพเก้าอย่าเศร้าหมอง |
เหมือนหุ่นเชิดเลิศล้วนนวลละออง | ให้ผุดผ่องผิวพรรณเพียงจันทรา ฯ |
๏ ขอพระพายชายเชยรำเพยพัด | ให้ศรีสวัสดิ์สว่างจิตกนิษฐา |
หอมดอกไม้ในทวีปกลีบผกา | ให้หอมชื่นรื่นวิญญาณ์นิทรารมณ์ ฯ |
๏ ขอเดชะพระคงคารักษาสนอม | อย่าให้มอมมีระคายเท่าปลายผม |
ให้เย็นเรื่อยเฉื่อยฉ่ำเช่นน้ำลม | กล่อมประทมโสมนัสสวัสดี ฯ |
๏ ด้วยเดิมฝันฉันได้ยลวิมลพักตร์[๒๓] | สุดแสนรักลักประโลมโฉมฉวี |
ถวิลหวังตั้งแต่นั้นจนวันนี้ | ขออย่ามีโทษโปรดยกโทษกรณ์ |
ด้วยเกิดเป็นเช่นมนุษย์บุรุษราช | มาหมายมาดนางสวรรค์ร่วมบรรจถรณ์ |
ขอษมาการุญพระสุนทร[๒๔] | ให้ถาพรภิญโญเดโชชัย ฯ |
๏ อนึ่งโยมโฉมยงพระองค์เอก | มณีเมขลามาโปรดปราศรัย |
จะให้แก้วแล้วอย่าลืมที่ปลื้มใจ | ขอให้ได้ดั่งประโยชน์โพธิญาณ |
จะพ้นทุกข์สุขสิ้นมลทินโทษ | เพราะพระโปรดโปรยปรายสายสนาน |
ให้หน้าชื่นรื่นรสพจมาน | เหมือนนิพพานพ้นทุกข์เป็นสุขสบาย |
บวชตะบึงถึงตะบันน้ำฉันชื่น | ยามดึกดื่นได้สังวรอวยพรถวาย |
เหมือนพระจันทร์กรุณาให้ตายาย | กับกระต่ายแต้มสว่างอยู่กลางวง |
เหมือนวอนเจ้าสาวสวรรค์กระสันสวาท | ให้ผุดผาดเพิ่มผลาอานิสงส์ |
ได้สมบูรณ์พูนเกิดประเสริฐทรง | ศีลดำรงร่วมสร้างพุทธางกูร |
อันโลกีย์วิสัยที่ในโลก | ความสุขโศกสิ้นกายก็หายสูญ |
เป็นมนุษย์สุดแต่ขอให้บริบูรณ์ | ได้เพิ่มพูนผาสุกสนุกสบาย |
ขอบุญพระจะให้อยู่ชมพูทวีป | ช่วยชุบชีพชูเชิดให้เฉิดฉาย |
ไม่ชื่นเหมือนเพื่อนมนุษย์ก็สุดอาย | สู้ไปตายตีนเขาลำเนาเนิน ฯ |
๏ โอ้ปีนี้ปีขาล[๒๕]บันดาลฝัน | ที่หมายมั่นเหมือนจะหมางระคางเขิน |
ก็คิดเห็นเป็นเคราะห์จำเพาะเผอิญ | ให้ห่างเหินโหยหวนรำจวนใจ |
จึงแต่งตามความฝันรำพันพิลาป | ให้ศิษย์ทราบสุนทราอัชฌาสัย |
จะสั่งสาวชาวบางกอกข้างนอกใน | ก็กลัวภัยให้ขยาดพระอาชญา[๒๖] |
จึ่งเอื้อมอ้างนางสวรรค์ตามฝันเห็น | ให้อ่านเล่นเป็นเล่ห์เสน่หา |
ไม่รักใครในแผ่นดินถิ่นสุธา | รักแต่เทพธิดาสุราลัย[๒๗] ฯ |
๏ ได้ครวญคร่ำร่ำเรื่องเป็นเครื่องสูง | พอพะยุงยกย่องให้ผ่องใส |
ทั้งสาวแก่แม่ลูกอ่อนลาวมอญไทย | เด็กผู้ใหญ่อย่าเฉลียวว่าเกี้ยวพาน |
พระภู่[๒๘]แต่งแกล้งกล่าวสาวสาวเอ๋ย | อย่าถือเลยเคยเจนเหมือนเหลนหลาน |
นักเลงกลอนนอนฝันเป็นสันดาน | เคยเขียนอ่านอดใจมิใคร่ฟัง |
จะฝากดีฝีปากจะฝากรัก | ด้วยจวนจักจากถิ่นถวิลหวัง |
ไว้อาลัยให้ละห้อยจะคอยฟัง | จะร่ำสั่งสิ้นสุดอยุธยา ฯ |
[รำพันถึงวัตถุสถานในวัด] | |
๏ โอ้ยามนี้ปีขาล[๒๙]สงสารวัด | เคยโสมนัสในอารามสามวัสสา[๓๐] |
สิ้นกุศลผลบุญการุณา | จะจำลาเลยลับไปนับนาน |
เคยเดินเล่นเย็นลมเลียบชมรอบ | ริมแขวงขอบเขตที่เจดียฐาน |
พระปรางค์มีสี่ทิศพิสดาร[๓๑] | โบสถ์วิหารการเปรียญล้วนเขียนทอง |
ที่หน้าบันปั้นอย่างเมืองกวางตุ้ง | ดูเรืองรุ่งรูปนกผกผยอง |
กระเบื้องเคลือบเหลือบสลับเหลี่ยมรับรอง | ศาลาสองหน้ารอบขอบกำแพง[๓๒] |
สิงโตจีนตีนตัวหน้ากลัวกลอก[๓๓] | ขยับขยอกแยกเขี้ยวเสียวแสยง |
ที่ตึกก่อช่อฟ้าใบระกาแดง | ริมกำแพงตะพานขวางเคียงข้างคลอง |
เป็นพลับพลาพาไลข้างในเสด็จ | เดือนสิบเบ็ดเคยประทานงานฉลอง |
เล่นโขนหนังฟังปี่พาทย์ระนาดฆ้อง | ละคอนร้องเรื่องแขกฟังแปลกไทย |
ประทานรางวัลนั้นไม่ขาดคนดาษดื่น | ทั้งวันคืนครื้นครั่นเสียงหวั่นไหว |
จะวายเห็นเย็นเยียบเหงาเงียบใจ | โอ้อาลัยแลเหลียวเปลี่ยววิญญาณ์ ฯ |
๏ เคยอยู่กินถิ่นที่กระฎีก่อ | เป็นตึกต่อต่างกำแพงฝากแฝงฝา[๓๔] |
เป็นสองฝ่ายท้ายวัดวิปัสสนา | ข้างโบสถ์บาเรียนเรียงเคียงเคียงกัน |
เป็นสี่แถวแนวทางเดินหว่างกุฎิ์ | มีสระขุดเขื่อนลงพระสงฆ์ฉัน |
ข้างทิศใต้ในจงกรมพรหมจรรย์ | มีพระคันธกุฎีที่บำเพ็ง[๓๕] |
ศาลากลางทางเดินแลเพลินจิต | ประดับประดิษฐ์ดูดีเป็นที่เก๋ง[๓๖] |
จะเริดร้างห่างแหสุดแลเล็ง | ยิ่งพิศเพ่งพาสลดกำสรดทรวง ฯ |
๏ หอระฆังดั่งทำนองหอกลองใหญ่ | ทั้งหอไตรแตรทอง[๓๗]เป็นของหลวง |
ปลูกไม้รอบขอบนอกเป็นดอกดวง | บ้างโรยร่วงรสรื่นทุกคืนวัน |
ชมพู่แลแต่ละต้นมีผลลูก | ดูดั่งผูกพวงระย้านึกน่าฉัน |
ทรงบาดาลบานดอกรีบออกทัน[๓๘] | เก็บทุกวันเช้าเย็นไม่เว้นวาย ฯ |
๏ เห็นทับทิมริมกระฎีดอกยี่โถ | สะอื้นโอ้อาลัยจิตใจหาย |
เห็นต้นชาหน้ากระไดใจเสียดาย | เคยแก้อายหลายครั้งประทังทน |
ได้เก็บฉันวันละน้อยอร่อยรส | ด้วยยามอดอัตคัดแสนขัดสน |
จะซื้อหาชาจีนทรัพย์สินจน | จะจากต้นชาให้อาลัยชา ฯ |
๏ โอ้ชาตินี้มีกรรมเหลือลำบาก | เหมือนนกพรากพลัดรังไร้ฝั่งฝา |
โอ้กระฎีที่จะจากฝากน้ำตา | ไว้คอยลาเหล่านักเลงฟังเพลงยาว |
เคยเยี่ยมเยือนเพื่อนเก่าเมื่อเราอยู่ | มาหาสู่ดูแลทั้งแก่สาว |
ยืมหนังสือลือเลื่องถามเรื่องราว | โอ้เป็นคราวเคราะห์แล้วจำแคล้วกัน[๓๙] ฯ |
[รำพันถึงเครื่องไทยทาน] | |
๏ ระดูร้อนก่อนเก่าทำเข้าแช่ | น่าชมแต่เครื่องกับสำรับฉัน |
ช่างทำเป็นเช่นดอกจอกเป็นดอกจันทน์ | งามจนชั้นกระชายทำเหมือนจำปา |
มะม่วงดิบหยิบดูจึ่งรู้จัก | ทำน่ารักรูปสัตว์เหมือนมัจฉา |
จะแลลับกลับกลายสุดสายตา | เคยไปมามิได้เห็นจะเว้นวาย ฯ |
๏ ตรุษสงกรานต์ท่านแต่งเครื่องแป้งสด | ระรื่นรสราเชนพุมเสนกระสาย |
น้ำกุหลาบอาบอุระแสนสบาย | ถึงเคราะห์ร้ายหายหอมให้ตรอมทรวง |
เหมือนแสนโง่โอ้เสียแรงแต่งหนังสือ | จนมีชื่อลือเลื่องทั้งเมืองหลวง |
มามืดเหมือนเดือนแรมไม่แจ่มดวง | ต้องเหงาง่วงทรวงเศร้าเปลี่ยวเปล่าใจ |
จำจากเพื่อนเหมือนจะพาน้ำตาตก | ต้องระหกระเหินหาที่อาศัย |
โอ้แสนอายปลายอ้อยเลื่อนลอยไป | เจ็บเจ็บใจไม่รู้หายซังตายทน ฯ |
๏ ที่อารีมีคุณการุญรัก | ได้เห็นพักตร์พบปะปีละหน |
เข้าวัสสามาทั่วทุกตัวตน | ถวายต้นไม้กระถางต่างต่างกัน |
ดูกิ่งใบไม้แซมติดแต้มแต่ง | ลูกดอกแฝงแกล้งประดิษฐ์ความคิดขยัน |
พุ่มสีผึ้งถึงดีลิ้นจี่จันทน์ | ต้นแก้วกรรณิการ์มีสารพัด |
ทำรูปพราหมณ์งามพริ้มแย้มยิ้มเยื้อน | กินนรเหมือนนางกินนรแขนอ่อนหยัด |
ดูนางนั่งปลั่งเปล่งดูเคร่งครัด | หน้าเหมือนผัดผ่องผิวกรีดนิ้วนาง |
รูปนกหกผกผินกินลูกไม้ | บ้างจับไซ้ขนพลิกพลิ้วปีกหาง |
นกยางเจ่าเซาจกเหมือนนกยาง | รูปเสือกวางกบกระต่ายมีหลายพัน |
ทำแปลกแปลกแขกฝาหรั่งทั้งเจ้าเงาะ | หน้าหวัวเราะรูปร่างคิ้วคางขัน |
สุกรแกะแพะโผนเผ่นโดนกัน | ล้วนรูปปั้นต่างต่างเหมือนอย่างเป็น |
จะแลลับนับปีครั้งนี้หนอ | ที่ชอบพอเพื่อนสำราญจะนานเห็น |
ด้วยโศกสุมรุมร้อนไม่หย่อนเย็น | จงอยู่เป็นสุขสุขทุกทุกคน |
ขอแบ่งบุญสุนทรถาวรสวัสดิ์ | ให้บริบูรณ์พูนสมบัติพิพัฒน์ผล |
เกิดกองทองกองนากอย่ายากจน | เจริญพ้นภัยพานสำราญเริง ฯ |
๏ โอ้สงสารหลานสาวเหล่าข้าหลวง | เคยมาลวงหลงเชื่อจนเหลือเหลิง |
ไม่รู้เท่าเจ้าทั้งนั้นเสียชั้นเชิง | เชิญบันเทิงเถิดนะหลานปากหวานดี |
ได้ฉันลมชมลิ้นเสียสิ้นแล้ว | ล้วนหลานแก้วหลอกน้าต้องล่าหนี |
จะนับเดือนเลือนลับไปนับปี | อยู่จงดีได้เป็นหม่อมให้พร้อมเพรียง[๔๐] ฯ |
๏ โอ้เดือนอ้ายไม่ขาดกระจาดหลวง | ใส่เรือพ่วงพวกแห่เซ็งแซ่เสียง |
อึกกระทึกครึกโครมคบโคมเคียง | เรือรายเรียงร้องขับตีทับโทน |
บ้างเขียนหน้าทาดำยืนรำเต้น | ลางลำเล่นงิ้วหนังมีทั้งโขน |
พวกขี้เมาเหล่าประสกตลกโลน | ร้องโย้นโหยนโย้นฉับรับชาตรี |
ล้วนเรือใหญ่ใส่กระจาดย่ามบาตรพร้อม | ของคุณหม่อมจอมมารดาเจ้าภาษี[๔๑] |
ทั้งขุนนางต่างมาด้วยบารมี | ปี่พาทย์ตีเต้นรำทุกลำเรือ |
ของขนมส้มสูกทั้งลูกไม้ | หมูเป็ดไก่กุ้งแห้งแตงมะเขือ |
พร้าวอ่อนด้วยกล้วยอ้อยนับร้อยเครือ | จนล้นเหลือเกลือปลาร้าสารพัน |
แล้วเราได้ไตรดีแพรสีแสด | สบงแปดคืบจัดเป็นสัตตขันธ์ |
โอ้แต่นี้มิได้เห็นเหมือนเช่นนั้น | นับคืนวันปีเดือนจะเลื่อนลอย |
เหลืออาลัยใจเอ่ยจะเลยลับ | เหลืออาภัพพูดยากเหมือนปากหอย |
ให้เขินขวยด้วยว่าวาสนาน้อย | ต้องหน้าจ๋อยน้อยหน้าระอาอาย |
ออกวัสสาผ้าสบงกระทงเข้า | พระองค์เจ้าจบพระหัตถ์จัดถวาย |
ไม่แหงนเงยเลยกลัวเจ้าขรัวนาย | สำรวมกายก้มหน้าเกรงบารมี |
สวดมนต์จบหลบออกข้างนอกเล่า | ปะแต่เหล่าสาวแซ่ห่มแพรสี |
สู้หลับตามาจนสุดถึงกุฎี | เหมือนไม่มีตาตัวด้วยกลัวตาย ฯ |
๏ ตั้งแต่นี้มิได้หลบไม่พบแล้ว | จงผ่องแผ้วพักตร์เหมือนดั่งเดือนหงาย |
จะเงียบเหงาเช้าเย็นจะเว้นวาย | โอ้ใจหายหมายมาดเคลื่อนคลาดคลา |
เหมือนใบศรีมีงานท่านสนอม | เจิมแป้งหอมน้ำมันจันทน์ให้หรรษา |
พอเสร็จการท่านเอาลงทิ้งคงคา | ต้องลอยมาลอยไปเป็นใบตอง |
เหมือนตัวเราเล่าก็พลอยเลื่อนลอยลับ | มิได้รับไทยทานดูงานฉลอง |
โอ้ทองหยิบลิบลอยทั้งฝอยทอง | มิได้ครองไตรแพรเหมือนแต่เดิม ฯ |
๏ พระสิงหะพระอภัย[๔๒]พระทัยจืด | ไม่ยาวยืดยกยอชะลอเฉลิม |
เมื่อกระนั้นจันทน์และกระแจะเจิม | ได้พูนเพิ่มเหิมฮึกอยู่ตึกราม |
ครั้นเหินห่างร้างเริดก็เกิดทุกข์ | ไพรีรุกบุกเบียฬเป็นเสี้ยนหนาม |
สู้ต่ำต้อยน้อยตัวเกรงกลัวความ | ด้วยเป็นยามยากจนจำทนทาน ฯ |
๏ ขอเดชะพระสยมบรมนาถ | เจ้าไกรลาสโลกามหาสถาน |
ทรงงัวเผือกเงือกหงอนสังวรสังวาล | ถือพัดตาลตาไฟประลัยกัลป์ |
ประกาศิตอิทธิเวทวิเศษประเสริฐ | ให้ตายเกิดสิ้นสุดมนุษย์สวรรค์ |
ตรัสอย่างไรไปเป็นเหมือนเช่นนั้น | พระโปรดฉันเชิญช่วยอำนวยพร |
เผื่อว่าจักรักใคร่ที่ไหนมั่ง | ให้สมหวังดังจำนงประสงค์สมร |
ทรงเวทมนตร์ดลประสิทธิ์ฤทธิรอน | เจริญพรภิญโญเดโชชัย |
ที่หวังชื่นกลืนกลั้นกระสันสวาท | อย่าแคล้วคลาดเคลือบแคลงแหนงไฉน |
มิตรจิตขอให้มิตรใจไป | ที่มืดไม่เห็นห้องช่วยส่องเทียน ฯ |
๏ ขอเดชะพระนารายณ์อยู่สายสมุทร | พระโพกภุชงค์เฉลิมเสริมพระเศียร |
มังกรกอดสอดประสานสังวาลเวียน | สถิตเสถียรแท่นมหาวาสุกรี |
ทรงจักรสังข์ทั้งคทาเทพาวุธ | เหยียบบ่าครุฑเที่ยวทวาทศราศี |
ขอมหาอานุภาพปราบไพรี | อย่าให้มีมารขวางระคางระคาย |
ที่คนคิดริษยานินทาโทษ | พระเปลื้องโปรดปราบประยูรให้สูญหาย |
ศัตรูเงียบเรียบร้อยจะลอยชาย | ไปเชยสายสุดสวาทไม่ขาดวัน ฯ |
๏ ขอเดชะพระมหาวายุพัด | พิมานอัศวราชเผ่นผาดผัน |
ทรงสีเหลืองเครื่องไฟประลัยกัลป์ | กุมพระขรรค์กรดกระหวัดพัดโพยม |
ขอเดชาวายุเวกจะเศกเวท | พอหลับเนตรพริบหนึ่งไปถึงโฉม |
จะสอพลอฉอเลาะปะเหลาะประโลม | เหมือนกินโสมโศกสร่างสว่างทรวง |
สุมามาลย์บานแบ่งแมลงภู่ | ขอสิงสู่สมสงวนไม่ควรหวง |
จะเหือดสิ้นกลิ่นอายเสียดายดวง | จะหล่นร่วงโรยรสต้องอดออม ฯ |
๏ โอ้อกเอ๋ยเชยอื่นไม่ชื่นแช่ม | เชยที่แย้มยิ้มพรายไม่หายหอม |
แต่หัสนัยน์ตรัยตรึงส์ท่านถึงจอม | ยังแปลงปลอมเปลื้องปลิดไพจิตรา |
ได้บุตรีที่รักยักษ์อสูร | สืบประยูรอยู่ถึงดาวดึงสา |
เราเป็นมนุษย์สุดรักต้องลักพา | เหมือนอินทราตรึงส์ตรัยเป็นไรมี ฯ |
[รำพึงฝัน] | |
๏ อย่าประมาทชาติหมู่แมงภู่ผึ้ง | ประสงค์ซึ่งเสน่หาสร้อยสาหรี |
ดูดอกไม้ในจังหวัดปัฐพี | ดวงใดดีมีกลิ่นรวยรินรส |
พอบานกลีบรีบถึงลงคลึงเคล้า | ฟุบแฝงเฝ้าเฟ้นฟอนเกสรสด |
สัจจังจริงมิ่งขวัญอย่ารันทด | ถ้ากลิ่นใกล้ได้รสเหลืออดออม |
อันโกสุมพุ่มพวงดอกดวงนี้ | สร้อยสาหรีรำเพยระเหยหอม |
ภมรมาดปรารถนาจึ่งมาตอม | ต้องอดออมอกตรมระทมทวี |
แม้นรับรักหักว่าเมตตาตอบ | เมื่อผิดชอบผ่ายหน้าจะพาหนี |
เหมือนอิเหนาเขาก็รู้ไม่สู้ดี | แต่เพียงพี่นี้ก็ได้ด้วยง่ายดาย |
อย่าหลบหลู่ดูถูกแต่ลูกยักษ์ | เขายังลักไปเสียได้ดั่งใจหมาย |
เหมือนตัวพี่นี้ก็ลือว่าชื่อชาย | รู้จักฝ่ายฟ้าดินชินชำนาญ |
ถึงนัทีสีขเรศขอบเขตแขวง | ป้อมกำแพงแหล่งล้อมพร้อมทหาร |
เดชะฤทธิ์วิทยาปรีชาชาญ | ช่วยบันดาลได้สมอารมณ์ปอง ฯ |
๏ จริงจริงนะจะไปอุ้มเนื้อนุ่มน่วม | ลงนั่งร่วมเรือกลพยนต์ผยอง |
อยู่ท้ายพระจะได้เรียงเคียงประคอง | ครรไลล่องลอยชะเลเหมือนเภตรา |
พอลมดีพี่จะให้ใช้ใบแล่น | ไปตามแผนที่ประเทศเพศภาษา |
แสนสบายสายสมุทรสุดสายตา | เห็นแต่ฟ้าน้ำเขียวเปล่าเปลี่ยวทรวง |
ในสาชลวนลึกโครมครึกคลื่น | สุดจะฝืนฝ่าชะเลหลวง[๔๓] |
เห็นฝูงปลานาคินสิ้นทั้งปวง | เกิดในห้วงห้องมหาคงคาเค็ม |
แขกฝาหรั่งมังค่าพวกพาณิช | สังเกตทิศถิ่นทางต้องวางเข็ม |
เข้าประเทศเขตแดนเลียบแล่นเล็ม | เขาไปเต็มไปตามทางกลางนัที |
ถ้าแม้นว่าปลาวาฬผุดผ่านหน้า | เรือไม่กล้าใกล้เคียงหลีกเลี่ยงหนี |
แนวชลาน่าชมแม้นลมดี | ดูเร็วรี่เรือเรื่อยไม่เหนื่อยแรง |
เย็นระรื่นคลื่นเรียบเงียบสงบ | มหรณพพลิบเนตรในเขตแขวง |
แม้นควันคลุ้มกลุ่มกลมเป็นลมแดง | เป็นสายแสงเสียงลั่นสนั่นดัง |
บัดเดี๋ยวคลื่นครื้นครึกสะทึกโถม | ขึ้นสาดโทรมดาดฟ้าคงคาขัง |
เสียงฮือฮืออื้ออึงตูมตึงตัง | ด้วยกำลังลมกล้าสลาตัน ฯ |
๏ แต่เรือเราเบาฟ่องถึงต้องคลื่น | ก็ฝ่าฝืนฟูสบายแล่นผายผัน |
แม่เห็นคลื่นครื้นเครงจะเกรงครัน | จะรับขวัญอุ้มน้องประคองเคียง |
จะเขียนธงลงยันต์ปักกันคลื่น | ให้หายรื่นราบเรียบเงียบเซียบเสียง |
จะแย้มสรวลชวนนั่งที่ตั่งเตียง | ให้เอนเอียงแอบอุ่นละมุนทรวง |
จะแสนชื่นรื่นรสแป้งสดหอม | เห็นจะยอมหย่อนตามไม่ห้ามหวง |
เหมือนได้แก้วแววฟ้าจินดาดวง | ไว้แนบทรวงสมคะเนทุกเวลา ฯ |
๏ ออกลึกซึ้งถึงที่ชื่อสะดือสมุทร | เห็นน้ำสุดสูงฟูมดั่งภูมผา |
ดูพลุ่งพลุ่งวุ้งวงหว่างคงคา | สูดนาวาเวียนวนไม่พ้นไป |
เรือลูกค้าพาณิชไม่ชิดเฉียด | แล่นก้าวเสียดหลีกลำตามน้ำไหล |
แลชะเลเภตราบ้างมาไป | เห็นไรไรริ้วริ้วเท่านิ้วมือ |
แม้นพรายน้ำทำฤทธิ์นิมิตรูป | สว่างวูบวงแดงดั่งแสงกระสือ |
ต้องสุมไฟใส่ประโคมให้โหมฮือ | พัดกระพือเผาหนังแก้รังควาน ฯ |
๏ แต่ตัวพี่มีอุบายแก้พรายผุด | เศกเพลิงชุดเช่นกับไฟประลัยผลาญ |
ทิ้งพรายน้ำทำลายวอดวายปราณ | มิให้พานพักตร์น้องอย่าหมองมัว |
ดูปลาใหญ่ในสมุทรผุดพ่นน้ำ | มืดเหมือนคล้ำคลุ้มบดสลดสลัว |
พุ่งทะลึ่งถึงฟ้าดูน่ากลัว | แต่ละตัวแต่ละโขดนับโยชน์ยาว |
จะหยอกเย้าเฝ้ายั่วให้หวัวเราะ | ชวนชมเกาะกะเปาะกลมชื่อนมสาว |
สาคเรศเขตแคว้นทุกแดนดาว | ดูเรือชาวเมืองใช้ใบไปมา |
เรือสลัดตัดระกำร้อยลำหวาย | ทำเรือค่ายรายแล่นล้วนแน่นหนา |
น้าวกระเชียงเสียงเฮสุเรสุรา | ใส่เสื้อผ้าโพกนั้นลงยันต์ราย |
เหมือนเรือเปล่าเสากระโดงลดลงซ่อน | ปลอมเรือจรจับบรรดาลูกค้าขาย |
ตัวคนได้ไม่ล้างให้วางวาย | เจาะตีนหวายร้อยส้นทุกคนไป ฯ |
๏ โดยหากว่าถ้าไปปะเรือสลัด | ศรีสวัสดิ์แววจะพรั่นประหวั่นไหว |
จะอุ้มวางกลางตักสะพักไว้ | โบกธงชัยให้จังงังกำบังตา |
แล้วจะใช้ใบเยื้องไปเมืองเทศ | ชมประเภทพวกแขกแปลกภาษา |
ทั้งหนุ่มสาวเกล้ามวยสวยโสภา | แต่งกายาอย่างพราหมณ์งามงามดี |
ล้วนนุ่งห่มโขมพัสตร์ถือสัจศิล | ใส่เพชรนิลแนมประดับสลับสี |
แลพิลึกตึกตั้งล้วนมั่งมี | ชาวบุรีขี่รถบทจร ฯ |
๏ จะเชิญแก้วแววเนตรขึ้นเขตแคว้น | จัดซื้อแหวนเพชรรัตน์ประภัสสร |
ให้สร่างทรวงดวงสุดาสถาวร | สว่างร้อนรับขวัญทุกวันคืน |
จะระวังนั่งประคองเคียงน้องน้อย | ให้ใช้สอยสารพัดไม่ขัดขืน |
กลืนไว้ได้ในอุระก็จะกลืน | ให้แช่มชื่นชมชะเลทุกเวลา ฯ |
๏ แล้วจะชวนนวลละอองตระกองอุ้ม | ให้ชมเพลินเนินมะงุมมะงาหรา |
ไปเกาะที่อิเหนาชาวชะวา | วงศ์อสัญแดหวาน่าหวัวเราะ |
จมูกโด่งโง้งงุ้มทั้งหนุ่มสาว[๔๔] | ไม่เหมือนกล่าวราวเรื่องหูเหืองเจาะ |
ไม่เพริศพริ้งหญิงชายคล้ายคล้ายเงาะ | ไม่มีเหมาะหมดจดไม่งดงาม |
ไม่แง่งอนอ้อนแอ้นแขนไม่อ่อน | ไม่เหมือนสมรเสมอภาษาสยาม[๔๕] |
รูปก็งามนามก็เพราะเสนาะนาม | จะพาข้ามเข้าละเมาะเกาะมาลากา |
เดิมของแขกแตกฝาหรั่งไปตั้งตึก | แลพิลึกครึกครื้นขายปืนผา |
เมื่อครั้งนั้นปันหยีอุ้มวียะดา | ชี้ชมสัตว์มัจฉาในสาคร ฯ |
๏ แม้นเหมือนหมายสายสุดใจไปด้วยพี่ | จะช่วยชี้ชมตลิ่งเหล่าสิงขร |
ประคองเคียงเอียงเอกเขนกนอน | ร้องละคอนอิเหนาเข้ามาลากา |
แล้วจะใช้ใบบากออกจากฝั่ง | ไปชมละเมาะเกาะวังกัลพังหา |
เกิดในน้ำดำนิลดั่งศิลา | เหมือนรุกขาขึ้นสล้างหว่างคีริน |
ชะเลรอบขอบเขาเป็นเงาง้ำ | เวลาน้ำขึ้นกระเพื่อมถึงเงื้อมหิน |
เห็นหุบห้องปล่องชลาฝูงนาคิน | ขึ้นมากินเกยนอนชะอ้อนเนิน |
ภูเขานั้นวันหนึ่งแล่นจึ่งรอบ | เป็นเขตขอบเทพเจ้าจอมเขาเขิน |
จะชื่นชวนนวลละอองประคองเดิน | เลียบเหลี่ยมเนินเพลินชมพนมนิล |
จริงนะจ๊ะจะเก็บทั้งกัลพังหา | เม็ดมุกดาคลื่นสาดกลางหาดหิน |
เบี้ยอี้แก้[๔๖]แลรอบขอบคีริน | ระรื่นกลิ่นไม้หอมมีพร้อมเพรียง |
สะพรั่งต้นผลดอกออกไม่ขาด | ศิลาลาดลดหลั่นชั้นเฉลียง |
จะค่อยเลียบเหยียบย่องประคองเคียง | เป็นพี่เลี้ยงเพียงพี่ร่วมชีวา |
จำปาดะองุ่นหอมกรุ่นกลิ่น | ก้าแฝ่ฝิ่นสินธุต้นบุหงา |
ด้วยเกาะนี้ที่ทำเลเทวดา | แต่นกกาก็มิได้ไปใกล้กราย ฯ |
๏ แล้วจะใช้ใบไปดูเมืองสุหรัด[๔๗] | ท่าคลื่นซัดซึ้งวนชลสาย |
ตั้งตึกรามตามตลิ่งแขกหญิงชาย | แต้มผ้าลายกะลาสีพวกตีพิมพ์ |
พื้นม่วงตองทองช้ำย่ำมะหวาด | ฉีกวิลาศลายลำยองเขียนทองจิ้ม |
ทำที่อยู่ดูพิลึกล้วนตึกทิม | เรียบเรียงริมฝั่งสมุทรแลสุดตา |
จะตามใจให้เพลินเจริญเนตร | ชมประเภทพราหมณ์แขกแปลกภาษา |
ได้แย้มสรวลชวนใช้ใบลีลา | ไปมังกล่า[๔๘]ฝาหรั่งระวังตระเวน |
กำปั่นไฟใหญ่น้อยออกลอยเที่ยว | ตลบเลี้ยวแลวิ่งดั่งจิ้งเหลน |
ถ้วนเดือนหนึ่งจึงจะผลัดพวกหัศเกน | เวียนตระเวนไปมาทั้งตาปี ฯ |
๏ เมืองมังกล่าฝาหรั่งอยู่ทั้งแขก | พวกเจ๊กแทรกแปลกหน้าทำภาษี |
แลพิลึกตึกรามงามงามดี | ตึกเศรษฐีมีทรัพย์ประดับประดา |
ดูวาวแววแก้วกระหนกกระจกกระจ่าง | ประตูหน้าต่างติดเครื่องรอบเฝืองฝา |
ล้วนขายเพชรเจ็ดสีมีราคา | วางไว้หน้าตึกร้านใส่จานราย |
แล้วตัวไปไม่นั่งระวังของ | คนซื้อร้องเรียกหาจึ่งมาขาย |
ด้วยไม่มีตีโบยขโมยขมาย | ทั้งหญิงชายเช้าค่ำเขาสำราญ |
นอกกำแพงแขวงเขตประเทศถิ่น | เป็นสวนอินทผาลัมทับน้ำหวาน |
รองอ่างไว้ใช้ทำแทนน้ำตาล | ต้องแต่งงานขันหมากเหลือหลากจริง |
ถึงขวบปีมีจั่นทำขวัญต้น | แต่งเหมือนคนขอสู่นางผู้หญิง |
แม้นถึงปีมีลูกใครปลูกทิ้ง | ไม่ออกจริงจั่นหล่นลำต้นตาย |
บ้านตลาดกวาดเลี่ยนเตียนตะล่ง | ถึงของหลงลืมไว้ก็ไม่หาย |
ไปชมเล่นเช่นฉันว่าประสาสบาย | บ้านเมืองรายหลายประเทศต่างเพศพันธุ์ ฯ |
๏ จะพาไปให้สร้างทางกุศล | ขึ้นสิงหล[๔๙]เห็นจะได้ไปสวรรค์ |
ไหว้เจดีย์ที่ทำเลเวฬุวัน | พระรากขวัญอันเป็นยิ่งเขาสิงคุดร์ ฯ |
๏ คิดจะใช้ใบข้ามไปตามเข็ม | เขียนมาเต็มเล่มแล้วจะสิ้นสมุด |
เหมือนหมายทางต่างทวีปเรือรีบรุด | พอสิ้นสุดสายมหาอารณพ |
เหมือนเรื่องรักจักประเวศประเทศถิ่น | มิทันสิ้นสุดคำก็จำจบ |
แม้นขืนเคืองเปลื้องปลิดไม่คิดคบ | จะเศร้าซบโศกสะอื้นทุกคืนวัน |
เหมือนยักษีที่สิงขรต้องศรกก[๕๐] | ปักตรึงอกอานุภาพซ้ำสาปสรร |
อยู่นพบุรี[๕๑]ที่ตรงหว่างเขานางประจัน | เสียงไก่ขันขึ้นนนทรีคอยตีซ้ำ |
แสนวิตกอกพญาอุณาราช | สุดหมายมาดไม่มีที่อุปถัมภ์ |
ศรสะเทือนเหมือนอุระจะระยำ | ต้องตีซ้ำช้ำในฤๅทัยระทม ฯ |
๏ ถึงกระไรได้อุตส่าห์อาสาสมัคร | ขอเห็นรักสักเท่าซีกกระผีกผม |
พอชื่นใจได้สว่างสร่างอารมณ์ | เหมือนนิยมสมคะเนเถิดเทวัญ |
ถวิลหวังสังวาสสวาทแสวง | ให้แจ่มแจ้งแต่งตามเรื่องความฝัน |
ฝากฝีปากฝากคำที่สำคัญ | ชื่อรำพันพิลาปล้ำกาพย์กลอน |
เปรียบเหมือนกับขับกล่อมสนอมเสน่ห์ | สำเนียงเห่เทวัญริมบรรจถรณ์ |
เสวยสวัสดิ์วัฒนาสถาวร | วานฟังกลอนกลอยแก่[๕๒]เถิดแม่เอย ฯ |
[๑] สุนทร คือ พระภิกษุสุนทรภู่ เวลานี้บวชมาราว ๑๘ หรือ ๑๙ พรรษา
[๒] “เดือน ๘ วันจันทวาร์” วันจันทร์ เดือน ๘ ปีขาล พ.ศ. ๒๓๘๕
[๓] ปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗
[๔] เมืองเพชรบุรี
[๕] เมืองราชบุรี
[๖] สองพี่น้อง ตำบลและที่ตั้งอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
[๗] มีเขากาเผ่น อยู่ในท้องที่ตำบลดอนแสลบ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี สูง ๓๘๓ เมตร เขาพ่อปู่ ก็เรียก
[๘] หมายถึง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สวรรคต เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗
[๙] หมายถึง เมืองพิษณุโลก
[๑๐] มีเขาหนองม้าวิ่ง อยู่ที่ท้องที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
[๑๑] คามณิจันทชาดก ติกนิบาต ในนิบาตชาดกแปล เล่ม ๖ น. ๖๐
[๑๒] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดประทานอธิบายว่า พระสิงหะไตรภพ หมายถึง เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระอภัยมณี หมายถึง สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ และศรีสุวรรณ หมายถึง เจ้าฟ้าปิ๋ว
[๑๓] ข้อความตอนนี้ แสดงว่า พระภิกษุสุนทรภู่เคยคิดจะสึกเมื่ออยู่วัดเลียบ แต่แล้วไม่สึก คงบวชอยู่ต่อมา
[๑๔] ดูเรื่องเปรียบเทียบในเสือโคคำฉันท์ และคาวี
[๑๕] พระภิกษุสุนทรภู่ ย้ายจากวิหารวัดเลียบมาอยู่วัดเทพธิดา ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๘๓-๒๓๘๕
[๑๖] ที่ว่ากันว่า สุนทรภู่โจทเจ้า อาจเป็นตอนนี้ เคยพึ่งพระบารมีเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีและพระโอรส มาก่อน เมื่ออยู่วิหารวัดเลียบ แล้วย้ายไปอยู่วัดเทพธิดา พึ่งพระบารมีกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ
[๑๗] ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๘๔
[๑๘] คงหมายถึง พระพุทธรูปศิลา ซึ่งเป็นพระประธาน และพระพุทธรูปทรงเครื่องยืน ปางห้ามสมุทร (ประทานอภัย) ในพระอุโบสถ วัดเทพธิดา
[๑๙] หมายถึง กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ?
[๒๐] ปีขาล พ.ศ. ๒๓๘๕
[๒๑] โอดพัน พัดชา และช้าลูกหลวง เป็นศัพท์วิชาการ ในคีตศิลปะและดุริยางคศิลปของไทย ได้ขอให้นายมนตรี ตราโมท อธิบายไว้ดังนี้
โอดพัน - หมายถึงการบรรเลงหรือขับร้องเพลงโดยดำเนินทำสองเป็น ๒ อย่าง ตอนแรกหรือเที่ยวแรกใช้ทำนองเสียงยาวโหยหวน (โอด) ตอนหลังหรือเที่ยวหลังใช้ทำนองเสียงสั้นและถี่ (พัน) อีกนัยหนึ่ง เป็นการเปลี่ยนระดับเสียงให้ตอนแรกกับตอนหลังเป็นคนละระดับ (Key)
พัดชา - เป็นชื่อเพลงที่มีทำนองไพเราะเย็นๆ ในจำพวกขับกล่อมเพลงหนึ่งทางดนตรี รวมอยู่ในเพลงเรื่องทำขวัญ ในที่นี้หมายถึงการเห่กล่อมที่แยกออกไปเป็นทำนองเพลงพัดชา
ช้าลูกหลวง - เป็นทำนองเห่กล่อมอย่างหนึ่ง ซึ่งในโบราณใช้เห่กล่อมพระบรรทมพระเจ้าลูกเธอหรือเจ้านายบางพระองค์เวลาขึ้นพระอู่
[๒๒] คำกลอนตรงนี้ แสดงว่า นางเมขลา กับโฉมเทพธิดา เป็นคนละองค์ และอยู่ใกล้ๆ กัน ถ้าโฉมเทพธิดา หมายถึง กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ นางเมขลา จะหมายถึงใคร ดูต่อไป
[๒๓] ก่อนจะฝันก็เคยพบเคยเห็นหน้ากันมาแล้ว
[๒๔] พระภิกษุสุนทรภู่
[๒๕] ปีขาล พ.ศ. ๒๓๘๕
[๒๖] จะสั่งใครไปบอกก็กลัวจะทรงทราบถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งอาจต้องพระราชอาญา เพราะเคยเข็ดขยาดมาแล้ว
[๒๗] หมายถึง กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ?
[๒๘] พระภิกษุสุนทรภู่
[๒๙] ปีขาล พ.ศ. ๒๓๘๕
[๓๐] หมายถึงว่า พระภิกษุสุนทรภู่มาอยู่วัดเทพธิดาจนถึง ปีขาล พ.ศ. ๒๓๘๕ นี้ได้ ๓ พรรษา
[๓๑] หมายถึง พระปรางค์ ๔ ทิศของโบสถ์ในวัดเทพธิดา ยังเห็นได้ในปัจจุบัน
[๓๒] มีศาลาสองหน้า ตั้งคร่อมกำแพงล้อมวิหาร โบสถ์ และ การเปรียญ
[๓๓] สิงโตตั้งอยู่หน้าประตูเข้าโบสถ์ วิหาร และ การเปรียญ ประตูละ ๒ ตัว
[๓๔] กุฎีที่พระภิกษุสุนทรภู่อยู่จำพรรษา
[๓๕] ในหนังสือ Buddhist Art in India, Ceylon and Java ของท่าน J. PH. Vogel มีเชิงอรรถอธิบายไว้ในหน้า ๖๐ ว่า คำ ‘คันธกุฎี’ แต่เดิมเป็นชื่อกุฏิที่ประทับของพระพุทธเจ้า ในเชตวันมหาวิหาร ณ เมืองสาวัตถี ต่อมาใช้เป็นชื่อเรียกโบสถ์หรือวิหาร ที่ประดิษฐานพระปฏิมาของพระพุทธเจ้า แต่ในที่นี้คงหมายถึง กุฎีที่พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาอยู่ อาจหมายถึงพระวิหารน้อย ๒ หลัง ซึ่งตั้งอยู่บนมุมกำแพงล้อมวิหาร (ใหญ่) ด้านใต้ ก็ได้
[๓๖] เคยมีศาลาเก๋งคร่อมถนนทางเน ระหว่างแถวหมู่กุฎีกับโบสถ์ วิหาร และการเปรียญ ภายหลังชำรุดจึงรื้อไป ปัจจุบันไม่มี
[๓๗] แกลทอง หมายถึง หน้าต่างเขียนลายรดน้ำทอง ?
[๓๘] ต้นไม้เหล่านี้ ปัจจุบันไม่มีแล้ว
[๓๙] เล่ากันว่า เมื่อสุนทรภู่บวชอยู่ในวัดเทพธิดา รับอาสาแต่งเพลงยาวของผู้ชายให้ผู้หญิง และรับแต่งเพลงยาวให้ผู้หญิงตอบผู้ชาย
[๔๐] หมายถึง หลอกให้แต่งเพลงยาว หรือหลอกแอบอ้างรับสั่ง ?
[๔๑] คงหมายถึง เจ้าจอมมารดาบาง ซึ่งเป็นเจ้าจอมมารดา ของ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ และพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ
[๔๒] พระสิงหะไตรภพ และพระอภัยมณี ดูเชิงอรรถ ๒ หน้า ๑๙ ข้างต้น
[๔๓] ในต้นฉบับน่าจะขาดไปคำหนึ่ง อาจเป็น “สุดจะฝืนคลื่นฝ่าชะเลหลวง”
[๔๔] รูปร่างดังนี้ คงพรรณนาตามที่เห็นรูปตัวหนังชวา
[๔๕] ไม่เหมือนสมรเสมอหน้าภาษาสยาม ?
[๔๖] เบี้ยอีแก้ มีประดับซุ้มหน้าต่างโบสถ์ วิหาร และพระปรางค์ในวัดเทพธิดา
[๔๗] เมืองสุหรัด ในที่นี้คงจะหมายถึงเมืองสุราษฎร์ ปากแม่น้ำตาปี (Tapti) แถวฝั่งมลบาร์ตอนบน เหนือบอมเบย์
[๔๘] หมายถึง เบงคอล (Bengal)
[๔๙] เกาะลังกา ที่ตั้งประเทศลังกา
[๕๐] หมายถึงนิทานเรื่องท้าวกกขนาก
[๕๑] หมายถึง เมืองลพบุรี
[๕๒] ถึงเวลาที่แต่งนี้ พระภิกษุสุนทรภู่ มีอายุ ๕๖ ปี