ลักษณะคำประพันธ์

คำประพันธ์ประเภทคำฉันท์กำเนิดขึ้นในประเทศอินเดีย แล้วจึงเผยแพร่เข้ามายังดินแดนสุวรรณภูมิ พร้อมกับลัทธิศาสนาทั้งพราหมณ์และพุทธ ฉันท์แต่เดิมนั้นใช้ประพันธ์ด้วยภาษาสันสกฤตและภาษาบาลี วิทยาการประพันธ์ดังกล่าวปรากฏในจารึกเขมรโบราณเป็นจำนวนมาก ฉันท์ในจารึกเหล่านั้นใช้ภาษาสันสกฤต มีความไพเราะถูกต้องตามหลักไวยากรณ์และเคร่งครัดฉันทลักษณ์ประกอบด้วยอลังการทางภาษาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าฉันท์ที่แต่งในประเทศอินเดียโบราณ จารึกคำฉันท์ภาษาสันสกฤตยุคเขมรโบราณที่สำคัญๆ ได้แก่ จารึกสด็อกก๊อกธม จารึกปราสาทพนมรุ้ง จารึกปราสาทพระขรรค์ เป็นต้น

จากหลักฐานที่ปรากฏในจารึกดังกล่าวแสดงถึงการเลือกใช้คณะฉันท์ชนิดต่างๆ ให้เหมาะสมกับเนื้อหา เช่น จารึกปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ข้อความจากจารึกที่เหลืออยู่แต่งเป็นฉันท์ ๒๙ บท จำแนกคณะฉันท์ออกได้ ๗ ชนิด โศลก อินทรวิเชียร อุเปนทรวิเชียร อุปชาติ วสันตดิลก มาลินีและอารยา จารึกปราสาทพระขรรค์ บริเวณเมืองพระนครในประเทศกัมพูชา แต่งเป็นฉันท์ภาษาสันสกฤต ๑๗๙ บท จำแนกคณะฉันท์ออกเป็น ๗ ชนิด ได้แก่ โศลก อินทรวิเชียร อุปชาติ วสันตดิลก มาลินี ศารทูลจิกกรีฑิตา (สัททุลวิกกีฬิต) และอารยา

จากตัวอย่างดังกล่าวแสดงว่าการเลือกใช้คณะฉันท์ให้เหมาะสมกับเนื้อหา นั้นมีมาก่อนในประเทศอินเดียและเขมรโบราณ ดังตัวอย่างที่ปรากฏในวรรณคดีสันสกฤต เช่น คัมภีร์พระเวท และ ศิลาจารึกต่าง ๆ เป็นต้น

เมื่อไทยเรารับรูปแบบคำประพันธ์ชนิดนี้มาแต่งเป็นฉันท์ ภาษาไทยก็ได้รับวิธีใช้คณะฉันท์ให้สอดคล้องกับเนื้อหาของเรื่องราวมาด้วย กวีผู้ประพันธ์ฉันท์ภาษาไทยระยะแรกๆ น่าจะเป็น “พระ” หรือ “พราหมณ์” ที่มีความรู้ภาษาบาลีหรือภาษาสันสกฤตและมีความเข้าใจคณะฉันท์ต่าง ๆ เป็นอย่างดี

ฉันท์ภาษาไทยที่มีอายุเก่าที่สุดเท่าที่พบหลักฐานคือในหนังสือมหาชาติคำหลวง ซึ่งแต่งเมื่อพุทธศักราช ๒๐๒๕ ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แต่ในมหาชาติคำหลวงนั้นนำฉันท์มาแต่งสลับเป็นตอนๆ ไม่ได้ประพันธ์ต่อกันเป็นเรื่องยาวอย่าง “คำฉันท์” มี การเลือกคณะฉันท์ให้เหมาะกับเนื้อหา เช่น มาลินีฉันท์ สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ เป็นต้น ส่วนการนำฉันท์หลายๆ ชนิดมาประพันธ์เป็นเรื่องยาว ในภาษาไทยตามรูปแบบของ “คำฉันท์” นั้น ยังไม่อาจสรุปได้ว่าเรื่องใดเป็นเรื่องแรก

หนังสือจินดามณี ของพระโหราธิบดี กล่าวถึงวรรณคดีเก่าที่มีมาก่อนหนังสือจินดามณี ความตอนหนึ่งว่า “...ผิเอากลอนห้าใส่ ให้เอาด้วยกันทังสี่บท อย่าได้ลดโคลงต้นคือ อุปาทวาทศ คำสวรสมุท สมุโฆษ พระนนทกษัตรีสังวาส ศรีอุมาธิการย พระยศราชาพิลาป อย่าได้เอาคำบูราณนั้นมาใส่...” วรรณคดีเก่าเหล่านี้บางเรื่องมีชื่อใกล้เคียงกับวรรณคดีสมัยอยุธยาที่มีต้นฉบับสืบทอดมาถึงปัจจุบันเช่นอุปาทวาทศ มีชื่อคล้ายกับ “โคลงทวาทศมาส” คำสวรสมุท ชื่อคล้ายกับ “โคลงกำสรวล (ศรีปราชญ์)” สมุโฆษมีชื่อคล้ายกับ “สมุทรโฆษคำฉันท์” และพระยศราชาพิลาป มีชื่อคล้ายกับ “ราชาพิลาปคำฉันท์” คำสวรสมุทนั้นนักวรรณคดีศึกษาลงความเห็นว่าน่าจะได้แก่ “โคลงคำสรวล (ศรีปราชญ์)”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวรรณคดีเก่าบางเรื่อง เช่น สมุโฆษ และพระยศราชาพิลาป จะมีชื่อใกล้กับวรรณคดีสมัยอยุธยาบางเรื่องที่มีต้นฉบับสืบมาถึงปัจจุบันก็ไม่อาจสรุปได้ว่า “สมุโฆษ” คือ สมุทรโฆษคำฉันท์ และ “พระยศราชาพิลาป” คือ ราชาพิลาปคำฉันท์ เพราะในจินดามณีมิได้ระบุว่าวรรณคดีเก่าดังกล่าวนั้นแต่งด้วยคำประพันธ์ชนิดใด “สมุโฆษ” อาจมีอีกสำนวนหนึ่งต่างหาก และอาจแต่งเป็นโคลง กาพย์ หรือฉันท์ก็ได้ เช่นเดียวกับกฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ซึ่งมีทั้งสำนวนสมัยกรุงธนบุรีและสำนวนพระนิพนธ์ใน กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส หรืออาจเป็นอย่างเรื่องสวัสดิรักษาซึ่งสุนทรภู่ นำเค้าเรื่องเดิมมาแต่งเป็น “กลอน” และยืนยันว่า “บทบูราณท่านทำเป็นคำฉันท์” อันแสดงว่าเรื่องสวัสดิรักษามีมาก่อนหน้านั้นแล้ว

ประเด็นเกี่ยวกับวรรณคดีโบราณที่มีชื่ออยู่ในหนังสือจินดามณีนั้น เป็นสิ่งที่นักวรรณคดีศึกษาพึงต้องค้นคว้าหาหลักฐานและเหตุผลที่หนักแน่นทั้งด้าน ภาษา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ฯลฯ เพื่อนำมาเป็นสมมุติฐานในการพิจารณาต่อไป

หนังสือจินดามณี ของพระโหราธิบดีนั้นเชื่อกันว่าเป็น ตำราเรียนภาษาไทยเล่มแรก ใช้เป็นแบบแผนมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสืบมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เนื้อหาส่วนมากในหนังสือนี้เน้นเรื่อง “การประพันธ์” มีการยกตัวอย่างคำประพันธ์จากวรรณคดีเก่ามาประกอบ และตัวอย่างที่ยกมานั้นย่อมเป็นสิ่งแสดงว่าวรรณคดีที่ยกมาเป็นตัวอย่างนั้นคงมีอายุเก่ากว่ารัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เช่น ตัวอย่างโคลงสี่สุภาพ น่ามาจากลิลิตพระลอคือ

เสียงฦๅเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหล ลืมตื่น ฤๅพี่
สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือ ฯ

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ยานี กาพย์ ๑๑ ซึ่งหนังสือจินดามณี นำมาจากมหาชาติคำหลวง กัณฑ์มัทรี คือ

๏ ครั้นเช้าก็หิ้วเช้า ชายป่าเต้าไปตามชาย
ลูกไม้ บ่ ครันงาย จำงายราชอดยืน
๏ เป็นใดจึ่งมาค่ำ อยู่จรล่ำต่อกลางคืน
เหนกูนี้โหดหืน มาดูแคลนนี้เพื่อใด
๏ นรนาถบังคม กรประนมกราบทูลไข
ข้าบาทมาจากไพร เสือสีห์ไล่มาขัดขวาง ฯ

ตัวอย่างจากลิลิตพระลอและมหาชาติคำหลวงที่หนังสือจินดามณียกมาเป็นตัวอย่างการแต่งคำประพันธ์นั้นน่าจะเป็นเรื่องที่รู้จักกันดีและได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในครั้งนั้น

เนื้อความบางตอนจากเรื่องราชาพิลาปคำฉันท์ปรากฏ เป็นตัวอย่างคำประพันธ์อยู่ในหนังสือจินดามณี จำนวน ๕ ชนิดคำประพันธ์ คือ

ฉันทฉบำดำเนินกลอน ๔ ๑๘ อักษร

ฉันทฉบำราชาพิลาปดำเนินกลอน ๔ ๑๖ อักษร

ฉันทฉบำนาคบริพันธ์ดำเนินกลอน ๔ ๑๖ อักษร

วิเชียรดิลก กลอน ๖ ๒๕ อักษร

ดิลกวิเชียร กลอน ๖ ๒๕ อักษร

อนึ่ง ชื่อฉันท์บางชนิดในหนังสือจินดามณีนั้นเรียกเป็น ๒ ชื่อ สัทธรา ฉันท์ ๒๑ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เยสันตา ฉันท์ ๒๑ กลอน ๗ สัททุลวิกกีฬิต ฉันท์ ๑๙ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า คัมภีรา ฉันท์ กลอน ๕ หรือมาลินี ฉันท์ ๑๕ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ชินวร ฉันท์ ๑๕ กลอน ๔ เป็นต้น

ต้นฉบับสมุดไทยเรื่องราชาพิลาปคำฉันท์ เรียกชื่อฉันท์ชนิดต่าง ๆ ลักลั่นกัน ในการตรวจสอบชำระครั้งนี้ได้ประมวลจากฉบับตัวเขียนสมุดไทยฉบับที่ ๘ เป็นเกณฑ์ เนื่องจากชื่อคำประพันธ์ตรงกับตัวอย่างที่ปรากฏในหนังสือจินดามณี ดังนี้

ฉันทฉบำ

ราชาพิลาปดำเนินกลอน ๔ ๑๖ อักษร

สุราคณาปทุมฉันท์ กลอน ๔ ๒๘ อักษร

วิเชียรดิลกฉันท์ กลอน ๖ ๒๕ อักษร

ชินวรฉันท์ กลอน ๔ ๑๕ อักษร

ฉันทฉบำดำเนินกลอน ๔ ๑๘ อักษร

มงคลรัตนฉันท์ กลอน ๖ ๒๒ อักษร

ฉันทฉบำนาคบริพันธ์ดำเนินกลอน ๔ ๑๖ อักษร

ประทุมรัตนฉันท์ กลอน ๔ ๓๕ อักษร

เยสันตาฉันท์ กลอน ๗ ๒๑ อักษร

มังกรฉันท์ ๑๔ อักษร

วสันตดิลกฉันท์ กลอน ๖ ๑๔ อักษร

มณีรัตนฉันท์ กลอน ๕ ๒๒ อักษร

รัตนมาลาฉันท์ กลอน ๕ ๒๒ อักษร

โตฎกฉันท์ กลอน ๖ ๑๒ อักษร

ดิลกวิเชียรฉันท์ กลอน ๖ ๒๕ อักษร

ฉมังโคลสิงฆฉันท์ กลอน ๔ ๑๖ อักษร

แม้ว่าเรื่องราชาพิลาปคำฉันท์จะมีความยาวตลอดเรื่องเพียง ๓๓๔ บทฉันท์แต่ใช้คำประพันธ์จำนวนมากถึง ๑๖ ชนิด ต่างกับวรรณคดีสมัยอยุธยาเรื่องอื่น ๆ ซึ่งมักใช้คำประพันธ์เพียง ๕-๗ ชนิด เช่น อนิรุทธคำฉันท์ สมุทรโฆษคำฉันท์ และเสือโคคำฉันท์ เป็นต้น การที่ผู้ประพันธ์เรื่องราชาพิลาปคำฉันท์ใช้คำประพันธ์มากชนิดนั้น อาจเป็นไปได้ว่าต้องการรวบรวมฉันท์ชนิดต่าง ๆ ไว้ในเรื่องนี้

การกำหนดชื่อคำประพันธ์ในเรื่องราชาพิลาปคำฉันท์ และในหนังสือจินดามณี มีคำว่า “กลอน ๔ ดำเนินกลอน ๔ กลอน ๖ กลอน ๗ ฯลฯ” นั้นมีความเกี่ยวเนื่องกับการกำหนดจำนวนคำ และการรับส่งสัมผัส ดังจะอธิบายต่อไปข้างหน้า

ลักษณะคำประพันธ์ที่ปรากฏในราชาพิลาปคำฉันท์มีรายละเอียดดังนี้

ฉันทฉบำราชาพิลาปดำเนินกลอน ๔ ๑๖ อักษร

คำประพันธ์ชนิดนี้มีลักษณะเดียวกับกาพย์ฉบังหรือฉบัง

กาพย์ ๑๖ หนังสือจินดามณีกำหนดแผนผังไว้ดังนี้

๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐
๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ฯ ๑๖ ฯ

บทหนึ่ง ๑๖ อักษร โบราณมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “กาพย์ ๑๖” แบ่งเป็น ๓ วรรค วรรคแรกกำหนด ๖ อักษร วรรคที่ ๒ กำหนด ๔ อักษร และวรรคปลายกำหนด ๖ อักษร สัมผัสจากปลายวรรคแรกส่งไปยังอักษรที่ ๔ ของวรรคที่ ๒ การส่งสัมผัสในอักษรที่ ๔ ของวรรคที่ ๒ นี้เองเป็นที่มาของ “กลอน ๔” หรือ “ดำเนินกลอน ๔” ในราชาพิลาปคำฉันท์มีคำประพันธ์ชนิดนี้ ดังตัวอย่าง

๏ เห็นนกเรียมอื้นโองการ ว่านกเอยวาน
มาช่วยทังวนโศกา  
๏ สูรักเร่งเร็วร่อนหา จงพบพนิดา
แลทูลจงรู้เรียมศัลย์  
๏ แล้วสูเร่งบินมาพลัน บอกข่าวจอมขวัญ
แก่กูจงรู้แห่งหา  
๏ นกบินไปแล้วบินมา ร้องโดยภาษา
จะแจ้วจะจ้อรอกัน  
๏ บ มิแจ้งกิจใดสักอัน เรียมเจ็บจาบัลย์
ป่วนหฤทัยทุกข์ทน  
๏ บ มิรู้ข่าวแก้วกับตน แต่เผือสองคน
พี่น้องพิลาปหฤทัย  
๏ ปานฉะนี้เนาฐานาใด จักกันแสงใส
พิโรทดตรอมเถิงเรียม  

หนังสือจินดามณีนำเนื้อความจากราชาพิลาปคำฉันท์ตอนดังกล่าวไปเป็นตัวอย่างฉันทบำราชาพิลาป ดำเนินกลอน ๔ มีคำบางคำแตกต่างไปจากเดิมบ้างคือ

๏ เห็นนกเรียมอื้นโองการ ว่านกเอยวาน
มาช่วยทำงลโศกา  
๏ สูรักเร่งเร็วร่อนหา จงพบพนิดา
แลทูลจงรู้เรียมศัลย์  
๏ แล้วสูเร่งบินมาพลัน บอกข่าวจอมขวัญ
แก่กูจงรู้แห่งหา  
๏ นกบินไปแล้วบินมา ร้องโดยภาษา
จะแจจะจรออกัน  
๏ บ มิบอกข่าวได้สักอัน เรียมเจ็บจาบัลย์
ป่วนหฤทัยทุกข์ทน  
๏ บ มิรู้ข่าวแก้วกับตน แต่เผือสองคน
พี่น้องพินาศหัวใจ  
๏ สองพี่น้องเสด็จคลาไคล ดั้นดงพงไพร
ลห้อยตรหวนโหยหา  

ความแตกต่างของถ้อยคำบางคำระหว่างราชาพิลาปคำฉันท์กับจินดามณีนั้นอาจเนื่องมาจากจินดามณีเป็นหนังสือแบบเรียน มีการคัดลอกสืบมาหลายชั่วอายุคน จึงเป็นไปได้ที่การคัดลอกแต่ละครั้งอาจมีข้อผิดพลาดบกพร่องและบางตอนมีการแต่งเพิ่มเข้าไปด้วย ดังจะเห็นได้จากบทสุดท้ายของตัวอย่างในหนังสือจินดามณีที่ยกมาข้างบนนี้

นอกจากตัวอย่างที่ปรากฏในหนังสือจินดามณีแล้ว เรื่องราชาพิลาปคำฉันท์ยังมีฉันทฉบำดำเนินกลอน ๔ ที่ไพเราะอีก หลายตอน เช่น

๏ โอ้แก้วกลอยสวาดิคู่ชม จำเรียมปรารมภ์
แสนโศกพ้นกามา  
๏ แต่เรียมแรกเริ่มนิรา เสวยแต่นํ้าตา
เร่งรู้เร่งแค้นจิตจล  
๏ ไว้แต่ภูษาให้ยล ต่างพักตร์พิมล
เร่งเห็นก็เร่งโศกา  
๏ กลิ่นแก้วติดพระภูษา ไว้แต่คนธา
ให้เรียมนี้รู้สำคัญ  
๏ เรียมได้แต่กลิ่นจาบัลย์ รสชานีสรรพ์
แต่องค์พระนุชฤๅเห็น  

คำว่า “ราชาพิลาปดำเนินกลอน” นั้น น่าจะมิได้มีความหมายถึงชนิดประพันธ์ เพราะ “ฉันทฉบำ” หรือ “ฉันทฉบัง” คือ “ฉบัง ๑๖” นั่นเอง “ราชาพิลาปดำเนินกลอน” น่าจะหมายถึงเนื้อหาของคำประพันธ์ที่เกี่ยวกับ “ความโศกเศร้าของพระราชา” วรรณคดีสมัยอยุธยาเรื่องท้าวยศกิต ซึ่งถือเป็นตำรากลบทครั้งกรุงเก่าเล่มหนึ่ง มีคำว่า “ราชาพิลาปดำเนินกลอน” กำกับอยู่บนเนื้อหาที่แต่งเป็น“ฉบัง ๑๖” คือ

๏ ราชาฟังเจ้ากล่าวทรง สวมสอดกอดองค์
อรรถโอรสร่ำรำพัน  
๏ อ้าพ่ออย่าเพ่อดับขันธ์ ดับขาดชีวัน
ชีวาตม์จะม้วยบรรลัย  
๏ พ่อเอยพ่อผู้ดวงใจ พ่อดวงเนตรนัยน์
ของบิตุรงค์องค์เดียว  
๏ อ้าพ่อพ่อแก่แลเหลียว แลบุตรสุดเปลี่ยว
ก็ค่อยปลื้มจิตบิดา  
๏ พ่อเอยแม้นพ่อมรณา ชีวิตบิดา
ก็ถึงซึ่งบรรลัยลาญ ฯ  

จากตัวอย่างแสดงให้เห็นว่า “ราชาพิลาปดำเนินกลอน” มิได้หมายถึงชนิดของคำประพันธ์ แต่หมายถึงลักษณะของเนื้อหา

ฉันทฉบำนาคบริพันธ์ดำเนินกลอน ๔ ๑๖ อักษร

คำประพันธ์ชนิดนี้คือฉันทฉบำดำเนินกลอน ๔ หรือ ฉบัง ๑๖ นั่นเอง แต่ประกอบด้วยลักษณะของ “กลบทนาคบริพันธ์” อยู่ในคำประพันธ์แต่ละบท กล่าวคือ ๒ อักษรสุดท้ายของวรรคแรก กับ ๒ อักษร ต้นวรรคที่ ๒ และ ๒ อักษรสุดท้ายของวรรคปลาย กับ ๒ อักษรต้นวรรคของบทต่อไป ต้องมีรูปหรือเสียงเดียวกัน โดยเหมือนหรือซํ้ากันทั้งเสียงพยัญชนะต้น สระ และมาตราตัวสะกดในอักษรที่ ๑ และเหมือนเฉพาะเสียงพยัญชนะต้นในอักษรที่ ๒ ตัวอย่างในราชาพิลาปคำฉันท์ คือ

๏ เรียมเสียสมบัติเสด็จจร เสด็จจากนคร
นัครามาพบชายา  
๏ ชาเยศแล้วฤๅนิรา นิราศสีดา
เสียทังสมบัติแมนสวรรค์  
แมนสวัสดิ์สมบัติอนันต์ อเนกแจจัน
พิพิธโภไคศูรย์  
โภไคศวรรยามากมูล มากมายเพิ่มพูล
อนันตเนืองบริพาร  
บริโภคยประดับนิฤมาณ นิฤมลแกมกาญจน์
ปัทมเพริศพรายพรรณ  
พรายพรัศรัศมีจรัสจันทร์ จรัสแจ่มกำนัล
ทรงโฉมประภาคยพิมล  
พิมานทองทิพยโสภณ โสภาคยไหรญ
มณีประดับชัชวาล  
ชัชวัดประดาแกมกาญจน์ แกมแก้ววิสดาร
วิมลมาศดำเกิง  
ดำกลยิ่งเทพยบันเทิง บันทำสำเริง
สำราญสัมฤทธิสมบูรณ์  
สมบัติพิพัฒน์เพียบพูน เพียบเพ็ญไพบูลย์
ช้อยโชติเสวยสุขศานติ์  
สุขสวัสดิ์สรรพแสนศฤงคาร สฤงคีตตระการ
ดุริยดนตรีบำเรอ  
บำรัดพยัชนีรมเยอ รมเยศสุขเลอ
สมบัติใด บ มิปาน  
บ มิเปรียบด้วยรัตนพิมาน พิมลโอฬาร
ดิเรกพ้นพรรณนา ฯ  

เนื้อความตอนนี้ปรากฏในหนังสือจินดามณีมีแต่มีคำบางคำแตกต่างออกไปบ้าง ทั้งยังมีการแปลงความโดยรวมให้เป็นบทสรรเสริญพระพุทธคุณ (พระโพธิสัตว์สันดุสิตเทวราช) คือ

๏ ปางพระศาสดาจอมไตร เสด็จประดิษฐานใน
ดุสิตมิ่งแมนสวรรค์  
๏ แมนสวัสดิสมบัติอนันต์ อเนกแจจรร
พิพิธโภไคสูรย์  
๏ โภไคสวรรยามากมูล มากมายเพิ่มภูล
อนันตเนืองบริพาร  
๏ บริโภคประดับนฤมาลย์ นฤมลแกมกาญจน์
ปัทมเพรอศพรายพรรณ  
๏ พรายเพริศรัศมีจรัสจรัญ จรัสแจ่มสาวสวรรค์
โฉมประภาพพิมล  
๏ พิมานทองเทียรทิพยโสภณ โสภาคย์ไหรญ
มณีประดับชัชวาล  
๏ ชัชธวัชประดาแกมกาญจน์ แกมแก้วพิศดาร
วิมลมาศดำเกอง  
๏ ดำกลยิ่งเทพบันเทอง บันทางสำเรอง
สำราญสำฤทธิสมบูรณ์  
๏ สมบัติพิพัฒเพียบภูล เพียบเพ็ญไพบูลย์
โชดิเสวยศุขสานต์  
๏ ศุขเกษมสมแสนศฤงคาร สังคีตตระการ
ดุริยดนตรีบำเรอ  
๏ บำรัศพยัชนีรมเยอ รมเยศศุขเลอ
ฉกามเทพ บ มิปาน  
๏ บ มิปูนดุสิตพิมาน พิมลโอฬาร
ดิเรกพันพรรณนา  
๏ พรรณอักษรฉันทา ฉันทเทียบอักขรา
เปนบทนาคบริพันท์ ฯ  

ฉันทฉบำดำเนินกลอน ๔ หรือ ฉบัง กาพย์ ๑๖ ปรากฏ ในวรรณคดีไทยสมัยอยุธยาเป็นจำนวนมาก รูปแบบคำประพันธ์ลักษณะด้งกล่าวนอกจากจะมีใช้ในวรรณคดีไทยแล้ว ยังมีในวรรณกรรมเขมรที่อายุร่วมสมัยกับวรรณคดีอยุธยาอีกด้วย

ฉันทฉบำดำเนินกลอน ๔ ๑๘ อักษร

คำประพันธ์ชนิดนี้ยังไม่พบว่ามีในวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์หรือไม่ แต่ปรากฏตัวอย่างอยู่ในหนังสือจินดามณีและตำรากลบทสมัยอยุธยา ฉันทฉบำดำเนินกลอน ๔ ๑๘ อักษร มีลักษณะใกล้เคียงกับฉบัง กาพย์ ๑๖ คือ วรรคต้นกำหนด ๖ อักษร วรรคที่ ๒ กำหนด ๔ อักษร วรรคปลายกำหนด ๘ อักษร (เพิ่มจากฉบัง ๑๖ อีก ๒ อักษร) ส่งและรับสัมผัสในลักษณะเดียวกันคีอ อักษรสุดท้ายของวรรคต้น ส่งสัมผัสไปยังอักษรที่ ๔ ของวรรคที่ ๒ และอักษรสุดท้ายของวรรคปลายส่งไปยังอักษรสุดท้ายของวรรคต้นในบทต่อไป

ชื่อคำประพันธ์ที่มีคำว่า “กลอน ๔” อยู่ด้วยนั้นหมายความว่า มีการส่งสัมผัสจากท้ายวรรคต้นไปยังอักษรที่ ๔ ของ วรรคที่ ๒ ในบทเดียวกัน

หนังสือจินดามณีมีกำหนดแผนผังและนำตัวอย่างไปจากเรื่องราชาพิลาปคำฉันท์ ดังนี้

๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐
๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ฯ ๑๘ อักษร
๏ เมี่อนั้นเบื้องบั้นเขียวขาว หมอกมัวดินดาว
ครวนชรอ่ำชรอื่อลมฝน  
๏ ฟ้าฟื้นหลั่งหล่อโชรชล อับแสงสุริยพล
คะคฤ้นคึกกึกกเกรอกเวหา ฯ  

ต้นฉบับสมุดไทยเรื่องราชาพิลาปคำฉันท์ที่ใช้ในการตรวจสอบชำระครั้งนี้มีความแตกต่างกับตัวอย่างที่ปรากฏในหนังสือจินดามณี คือ จำนวนอักษรในวรรคปลายถูกแก้ไขปรับเปลี่ยนให้เป็น ฉบัง ๑๖ โดยลดจำนวนคำในวรรคปลายเหลือเพียง ๖ อักษรเป็นส่วนมาก แต่ยังคงเหลือร่องรอยว่าคำในวรรคปลายแต่เดิมนั้นมี ๘ อักษร การแก้ไขดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นเมี่อมีการคัดลอกเรื่องนี้ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งผู้คัดลอกอาจไม่คุ้นกับ “ฉันทฉบำ ๑๘ อักษร” ที่เคยมีในสมัยอยุธยา คือ

๏ ป่างนั้นเบื้องบั้นเขียวขาว หมอกมัวเดือนดาว
สุริยะชรอื้อชรอ่ำลมฝน  
๏ ฟ้าฟื้นหลั่งหล่อโชรกชรล อับแสงสุริยพล
ครครึกครครืนเวหา  
๏ เมฆังติมิรังคมืดอา กาศทังชิมุตตา
ก้องฟ้าอัคนาอัสสุนี  
๏ กึกก้องโอโฆษณศรับทศรี ปาวกาวจรี
บัพภารร้องเริงเสียงสาร  
๏ ฟังศรับท์เพียงชีพวายปราณ ฉ่ำพิศจิตดาล
กระเหม่นกระเมริมหนังพองสยองขน  
๏ คณาสัตวตาวิจล ทุกเทพยทุกข์ทน
กระหนกระหายเดื่องเดือดแด  
๏ ยักษาก็รักษาซรับแซร ภูชกวิหคแห
ตะทึกตะถึกตะเถิกถอยใจ  

ฯลฯ

ตำรากลบทสมัยอยุธยาปรากฏตัวอย่างฉันทฉบำดำเนิน กลอน ๔ ๑๘ อักษรที่ค่อนข้างชัดเจน เช่น

๏ อิลุ้มขุ้มเขากรเหว่าลาย ยูงย่องเยื้องย้าย
กระต่ายกระแตก็เต้นตามกัน  
๏ ไก่ฟ้าพญาลอขานขัน นกกระหิดผิดผัน
กะตั้วไก่เตี้ยก็เต้าตามทาง  
๏ นางนวลเกาะกิ่งขานาง ยางจับต้นยาง
จากกะพรากก็จับต้นจากจร  

ฯลฯ

นอกจากฉันทฉบำดำเนินกลอน ๔ ๑๖ อักษรและ๑๘ อักษรแล้ว ในตำรากลบทสมัยอยุธยายังปรากฏ ฉบัง ๑๗ ดำเนิน กลอน ๕ หรือ ฉันทฉบำดำเนินกลอน ๕ ๑๗ อักษร วรรคต้นกำหนด ๖ อักษร วรรคที่ ๒ กำหนด ๕ อักษร และวรรคปลาย กำหนด ๖ อักษร

๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐
๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ฯ ๑๗ อักษร ฯ

การส่งและรับสัมผัสภายในบท ปลายวรรคต้นส่งสัมผัสไปยังอักษรที่ ๕ ของวรรคที่ ๒ (กลอน ๕) ดังตัวอย่าง

๏ งามสุดดุจแสงสุริยฉัน เฉกฉายลายสุวรรณ
สุกแววสีแวมแสงวาว  
๏ ลายกระเด็นเส้นเขียวสีขาว ก้านแพร้วประกายพราว
สีทองสดแท้สรรทำ  

ฯลฯ

ฉบังโคลสิงฆฉันท์ กลอน ๔ ๑๖ อักษร

หนังสือจินดามณีอธิบายไว้เพียงสั้นๆว่า “โคลสิงฆฉันท์ มิได้กำหนดครุลหุ แต่นิยมกลอนฟัดอันอย่างกาพย” และบอกแผนผังบังคับไว้ดังนี้

๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐
๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ฯ ๑๖ ฉบัง ฯ

คำว่า “๑๖ ฉบัง” ที่กำกับอยู่ท้ายแผนผังดังกล่าว แสดงว่าคำประพันธ์ชนิดนี้น่าจะคือ “ฉบัง ๑๖” หรือ “ฉันทฉบำ ดำเนินกลอน ๔ ๑๖ อักษร” นั่นเอง ในตำรากลบทสมัยอยุธยาให้คำจำกัดความของฉบังโคลสิงฆฉันท์ไว้เหมือนกับหนังสือจินดามณี และมีตัวเลขกำกับอยู่บนแผนผังว่า ๖- ๔- ๖ ตัวอย่างจากหนังสือจินดามณีมีดังนี้

๏ ส่ำสัตวคณาโจษจน มฤคาอนนต์
อเนกมฤคีเคียง  
๏ พยัคฆาพยัคฆีรายเรียง ชมคู่หมู่เมียง
แลด้อมครหึมครึมคราง  
๏ หัศดินทรกิรินทรฉวัดฉวาง ตรแตร้นแล่นพลาง
แลบ้างจรวดชมกัน  
๏ ระมั่งระมาดผาดผัน เคล้าคู่คลอพัน
แลลูกนะน้อยแล่นแนม  
๏ กาสรตัวโตรดมาแกม เพลาะพรรณมาแปม
ก็ปนด้วยโคถึกเถลิง  
๏ สิงสีห์หมีเหม้นร่านเริง วิ่งเลี้ยวลองเชิง
กระต่ายกระแตแจจน  
๏ สบสัตวคณาอนนต์ ในพื้นอรญ
อรัญญิกาอาไศรย ฯ  

ตัวอย่างจากราชาพิลาปคำฉันท์ เช่น

๏ ชัยชัยถามัศฤทธิศร ชัยเดชขจร
แลจงไปมล้างอริรา  
๏ ชัยชัยอุตมางคผลา ชัยฤทธิมหา
มหิทธิเรืองขจร  
๏ ชัยชัยเดชาพลาศร ชัยนาถบวร
ศัตรูพินาศอัปรา  
๏ ชัยชัยเรืองเดชมหา ชัยเกียรดิปรา-
กฏมั่วพิภพสบสถาน  

ฯลฯ

สุราคณาปทุมฉันท์กลอน ๔ ๒๘ อักษร

คำประพันธ์ชนิดนี้คือ สุรางคนา หรือ สุรางคนางค์ ๒๘ ในหนังสือจินดามณี มีคาถาประจำบทและอธิบายไว้ย่อ ๆ ดังนี้

  ๏ สุราคณา
สุโสภณา รปีรโก
สมานสิ ภิวนฺทโน
สเรนโก รตฺตินฺทิวํ ฯ ๒๘ ฯ

ชื่อวิสาลวิกฉันท์ ในกาพย์สารวิลาสินีมิได้กำหนดครุ ลหุ กำหนดแต่กลอนฟัดกัน โดยนิยมนี้”

พิจารณาจากคำอธิบายดังกล่าว คำประพันธ์ชนิดนี้มีชื่อว่า “สาลวิกฉันท์” และเรียกเป็นอย่างอื่นอีกว่า “สุราคณา” หรือ “สุรางคณางค์ (สุรางคณ+ องค์) ซึ่งน่าจะมีที่มาจาก “สุราคณา” ในวรรคแรกของคาถาประจำบท เช่นเดียวกับ ยานี กาพย์ ๑๑ ซึ่งมีที่มาจากคาถาประจำบทว่า

๏ ยานีธภูตานิสมาคตานิ ภุมฺมานิวายานิวอนฺตลิกฺเข

สุราคณาปทุมฉันท์กลอน ๔ ๒๘ อักษร ปรากฏตัวอย่างอีกตอนหนึ่งในหนังสือจินดามณี บอกคาถาประจำบทไว้ว่า

  ๏ สุสารโท
มหิทฺธิโก มหาอิสี
สุปาทจกฺ กลกฺขณี
วราหรี วรนุททา
  ๏ สุสีลเสฏฺ
ฐโลกเชฏฺ ฐโกรหา
กเลสโล ภโทสมา
นโมหกา วิมุตฺติโก ฯ

คาถาประจำบทดังกล่าว มีลักษณะของเสียงหนักเบาหรือครุลหุในแต่ละวรรคเสมอกันคือ ุ ั ุ ั แตกต่างไปจากที่อ้างถึงในตอนแรก และมีสัมผัสภายในบทด้วย แต่ตัวอย่างที่แต่งด้วยคำประพันธ์ไทยในจินดามณีกลับไม่มีลักษณะแสดงถึงบังคับครุลหุ คือ

  ๏ โอ้อกกูเอ๋ย
เมื่อก่อนกูเคย สมบัติครามครัน
ทำบุญ บ่ เบื่อ เชื่อชอบทุกอัน
จึ่งได้จอมขวัญ ลูกน้อยนงพาล
  ๏ ถึงบุญเราถอย
สิ่งสินยับย่อย ยากพ้นประมาณ
บาปใดมาให้ พ่อเจ้าบันดาล
กำจัดสงสาร สิบสองเสียไกล ฯ

ตัวอย่างข้างบนนี้นำมาจากกาพย์เรื่องพระรถเสน ซึ่งคงมีอายุเก่ากว่าหนังสือจินดามณี ส่วนสุราคณาปทุมฉันท์กลอน ๔ ๒๘ อักษรที่ปรากฏในราชาพิลาปคำฉันท์ เช่น

  ๏ วาตาส่งรส
มาลัยรวยจรด นาสิกกัลเหา
ระหวยกลิ่นบุษป- ผาชาติทวนเทา
นึกเถิงกลิ่นเภา พะงาชานี
  ๏ อ้ารสมฤธุเรศ
คือกลิ่นชาเยศ พระภัควดี
องค์อยู่ไหนเล่า แต่กลิ่นกลิ่นมี
โอ้พระชานี จำเรียมเรียมหา

บทต่อจากนี้ไปกวีประพันธ์เป็นกลบทบุษบารักร้อย โดยซํ้าคำในแต่ละวรรค ทำให้มีความไพเราะยิ่งขึ้นและนับเป็นบทที่ประกอบด้วยสุนทรียภาพทางวรรณศิลป์สูงตอนหนึ่งในราชาพิลาปคำฉันท์

  ๏ โอ้โฉมเฉลิมภาคย์
จักหาหายาก ยากแลแลมา
มาจากจากไกล ไกลแก้วแก้วอา
อาดูรดูรหา หาไหนจักปาน
  ๏ โอ้โฉมประไพ
หายากยากได้ ได้แล้วแล้วดาล
ดาลจากจากไกล ไกลรัติรัติวาร
วารใดได้พาน พบจึ่งวายศัลย์
  ๏ โอ้โฉมไพบูลย์
คือแก้วแก้วพูน พูนพรายพรายพรรณ
พรรณรัตน์รัตน์พิศ พิศเพียงเพียงจันทร์
จันทรอภิกรรตร์ กรรตราราศี ฯ

ประทุมรัตนฉันท์กลอน ๕ ๓๕ อักษร

หนังสือจินดามณีกำหนดแผนผังและอธิบายลักษณะของคำประพันธ์ชนิดนี้ สรุปได้ว่าบทหนึ่งมี ๓๕ อักษร แบ่งออกเป็น ๗ วรรค วรรคละ ๕ อักษร

  ๐ ๐ ๐ ๐ ๐
๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐
๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐
๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐
  ๏ แต่อาทิยังมี
ราชาธิบดี ธิบดินทรมหา
กษัตราธิกชาติ ธิกไชยเชษฐา
ทรงนามสมญา พรหมทัตภูมิ
  ๏ ท้าวนั้นเฉลียวฉลาด
รู้ศิลปศาสตร์ ธนูศรศรี
หมู่ขัตติยพรรค กลัวเดชฤทธี
ทั่วท้องธาษตรี เลื่องฦๅฤทธิไกร

ประทุมรัตนฉันท์กลอน ๕ ในเรื่องราชาพิลาปคำฉันท์ มีลักษณะแตกต่างไปจากตัวอย่างในจินดามณี กล่าวคือ วรรคที่ ๑, ๒, ๔ และ ๖ มี ๔ อักษร ส่วนวรรคที่ ๓, ๕ และ ๗ จะมี ๕ อักษร รวมแล้วเป็น ๓๑ อักษร แต่ระบุไว้ในต้นฉบับว่า “๓๕ อักษร” ดังตัวอย่าง

  ๏ ตรัสว่ารโส
บุษปผารุกโข ใดมฤธุรสจรดส่ง-
กลิ่นเรียมบอกพรรณ บุษปผาชาติอันบรรจง
ปางหนึ่งเมื่อสรง ชลสระสุทธิใส
  ๏ เพ่งพิศบงกช
คลี่กลีบรวยรส ภุมรีเอาซาบใน
ตรัสว่าสัตว์นั้น เขาภักษสิ่งอันใด
เรียมสัชนีให้ ภุมรีภักษรสมาลย์
  ๏ ทฤษาคณามัจฉ์
แถกว่ายไล่ฉวัด เฉวียนในกลางชลธาร
พิศพลางตรัสถาม เรียมแจ้งจิตกังขาน
โดยในอาการ หมู่มัจฉมีทังหลาย

ฯลฯ

ข้อสังเกตจากความแตกต่างระหว่างตัวอย่างในหนังสือจินดามณีกับในราชาพิลาปคำฉันท์ อาจตั้งเป็นสมมุติฐานเบื้องต้นได้ว่า คำประพันธ์ตอนนี้ในราชาพิลาปคำฉันท์ไม่ใช่ “ประทุมรัตนฉันท์ กลอน ๕ ๓๕ อักษร” ตามที่ระบุชื่อไว้ในต้นฉบับสมุดไทย หรือมิฉะนั้นเมื่อมีการคัดลอกในระยะหลัง ผู้คัดลอกไม่คุ้นกับคำประพันธ์ดังกล่าวจึงปรับเปลี่ยนเป็นสุรางคนางค์ ๒๘ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกัน

โตฎกฉันท์กลอน ๖ ๑๒ อักษร

ฉบับตัวเขียนเรื่องราชาพิลาปคำฉันท์สมุดไทยเลขที่ ๘ บอกชนิดคำประพันธ์ไว้แต่ต้นฉบับลบเลือนมาก อ่านได้ความว่า “ปฐมัง” ตรงกับหนังสือจินดามณี “ปฐมัง ๑๒ ชื่อโตฎกฉันท์ กลอน ๖” ซึ่งบอกรายละเอียดของคณะฉันท์ไว้ว่า “ส ส ส ส ฯ ๑๒ ปฐมัง ฯ ผิแล ส คณะทังสี่อยู่ดับกันดั่งนี้ชื่อโตฎกฉันท” มี คาถาประจำคณะดังนี้

๏ อิธโตฎกมมฺพุธิเสหิมิตํ ปฐมํสกลกฺขณเมกปทํทุติยาทิปทสฺสนโต ฯ

ุ ุ ั ุ ุ ั ุ ุ ั ุ ุ ั
ุ ุ ั ุ ุ ั ุ ุ ั ุ ุ ั
๏ วรเดชผริต วรสิทธิพิศาล
วรฤทธิดราน รณรงควิไชย
๏ วรเกียรดิดโบ บวโรสุประไพ
วรองควิไล ยวิลาศประภา
๏ วรคุณธเรศ สุวิเศษชยา
วิยวิศณุมหา จตุภุชมหันต์ ฯ

ตัวอย่างโตฎกฉันท์กลอน ๖ จากหนังสือจินดามณีดังกล่าวค่อนข้างจะอยู่ในกรอบของครุลหุใกล้เคียงกับโตฎกฉันท์ปัจจุบัน แต่ที่ปรากฏในเรื่องราชาพิลาปคำฉันท์นั้นค่อนข้างอิสระถือเอาน้ำหนัก เสียงเป็นเกณฑ์ คือ

๏ ตูก็กล่าวแสดงอรร- ถมหิทธิอจล
ว่าตูเรืองฤทธิพล ฤๅจะกลัวอาวุธไพรี
๏ ตูกลัวแต่วรรัตน สุวรรณนารถมณี
อันทรงนิ้วพระกรศรี คือเพชรอาวุธนารายณ์
๏ อสุราครั้นสดับ กรจับรัตนมณีหมาย
ซัดต้องข้าลำบากกาย ไว้แต่จิตจักพบองค์

ฯลฯ

มังกรฉันท์ ๑๔ อักษร

คำประพันธ์ชนิดนี้ผู้ตรวจชำระยังไม่พบในตำราการประพันธ์เล่มใด ต้นฉบับตัวเขียนเรื่องราชาพิลาปคำฉันท์สมุดไทยฉบับที่ ๘ ระบุว่า “มังกรฉันท์ ๑๔ อักษร” แต่ฉบับตัวเขียนอื่นๆ ระบุชื่อคำประพันธ์เป็น “สัททุลวิกกีฬิต ฉันท์ ๑๙” แต่นับจำนวนคำแล้วไม่ครบ ๑๙ อักษร หนังสือจินดามณีมีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึง “กาพย์มังกรพันธ์” รวมอยู่ในชื่อฉันท์ชนิดต่างๆ คือ

  ๏ หนึ่งวสันตดิลก
คู่ฉันทโตฎก กาพย์มังกรพันธ์
บทอินทวิเชียร คู่อาริยฉันท์
ผูกไว้ทุกสรรพ์ ทุกพรรณเกี้ยวการณ์ ฯ

กาพย์มังกรพันธ์กับมังกรฉันท์ ๑๔ อักษรจะเป็นคำประพันธ์ชนิดเดียวกันหรือไม่นั้นยังไม่สามารถสรุปได้ในที่นี้ ในเรื่องราชาพิลาปคำฉันท์ใช้คำประพันธ์ดังกล่าวเพียงตอนเดียวคือ

๏ ขอท้าวทังโสฬสแมนพรหม  
คุ้มภัยทุกกรม กันนุชมาลย์
๏ อย่าให้มีอริพาธาพระสุนงค์คราญ  
เทพยจงดาล คุ้มรักษา
๏ ทั่วเทพยเนาในอำมรฉกามา  
ทุกทั่ววิมานา อันเรืองเดช
๏ ขอจงมาก้างกันพาลสัตวภัยเภท  
อย่าระได้มีเหต ตุพาธา
๏ จงพระจัตดูรเทพยทศทิศเทวา  
ศิขรเวหา แลสาคร

ฯลฯ

จากตัวอย่างข้างบน อาจนำมาเขียนแผนผังได้ดังนี้

๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐  
๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐

คำประพันธ์ชนิดนี้ยังไม่มีความกระจ่างชัดจึงยังไม่สามารถสรุปลักษณะที่แน่นอนได้ว่าแต่เดิมเป็นมังกรฉันท์หรือสัททุลวิกกีฬิตฉันท์

วสันตดิลกฉันท์กลอน ๖ ๑ อักษร

วรรณคดีคำฉันท์สมัยอยุธยานิยมใช้คำประพันธ์ชนิดนี้มาก หนังสือจินดามณีบอกคาถาประจำคณะและอธิบายลักษณะไว้ดังนี้

๏ วุตฺตาวสนฺตติลกา ตภชาชคาโค ฯ
ั ั ุ ั ุ ุ ุ ั ุ ุ ั ุ ั ั
ั ั ุ ั ุ ุ ุ ั ุ ุ ั ุ ั ั

“ผิแล ต คณะหนึ่ง ภ คณะหนึ่ง แล ช คณะสอง ครุสองอยู่ดับกันดั่งนี้ชื่อวสันตดิลกฉันท์”

๏ ปางเสด็จประพาศวนวนานต์ ศิขรินทรโจษจรร
พฤกษาวลีวิวิธพรร ณประดับประดาษเดียร
๏ ช่อช้อยระเบียบกลประกิต นุประกอบประดับเขียน
บานแบ่งสุมาลยนุรเมียร ดุจประนมประนังถวาย
๏ ใบบัดตระการกลประดับ แลชรอื้อชรอุ่มหมาย
คือเสวตรฉัตรบวรราย รัตนกั้งกำบังสูรย์ ฯ

และ

๏ ยํมงฺคลํมุนิวรสฺสมหาปริจฺจาเค ปญฺจทุกฺกรตเรสุมุนาทิเตเท ฯ

ชื่อวสันตดิลกกลอน ๖

๏ นบบาทพระบวรตถา คตนพฦๅไกร
นบธรรมพระมกุฏิไตร ปิฎกุตมาจารย์
๏ นบพระอัษฎางควรศิ- ลวิสุทธิยอดญาณ
เสร็จอัญชุลีนมัสการ พระวรศรีรัตนไตรย ฯ

ตัวอย่างที่ใช้ในราชาพิลาปคำฉันท์ได้แก่

๏ ปางนั้น ธ ก็ดลมยุรา สกุณกลางริมธาร
ทังสองสัตว์กล่าวพจนการ ที่ไทเสด็จ บ ได้ยล
๏ นกยางว่ายังมีกระษัตริย์หนึ่ง แลมีภรรยาอนนต์
อุโรธานเรียบโจษจน แล บ ได้อิ่มจิตจง
๏ เจตนแก่เมียท่านผู้อื่น แลมองลักภักพายง
หญิงธานาพาลาฤอนงค์ แล บ ควรคิดเวรา

ฯลฯ

ชินวรฉันท์กลอน ๔ ๑๕ อักษร

ฉันท์ชนิดนี้คือ “มาลินี ฉันท์ ๑๕” หนังสือจินดามณีระบุคาถาประจำคณะไว้ดังนี้

น น ม ย ย ยุตายํมาลินีโภคิสีหิ ฯ ๑๕ ฯะ

ผิแล น คณะสอง ม คณะหนึ่ง ย คณะสอง อยู่ดับกันดั่งนี้ ชื่อ ชินวรฉันท์ ชื่อ มาลินีฉันท อันว่า ยติ มีในอักษร ๗, ๘”

ตัวอย่าง

๏ นิกรวิหคมั่วมูน  
ร้องจะแจ้วจูร จรุงใจ
๏ นิกรวิหคสบไสมย  
ร้องระวังไพร วนิศถาน
๏ นิกรวิหคชื่นบาน  
ชมพระสมภาร เสด็จจร
๏ นิกรวิหคปรเอียงอร  
บิน ณ อัมพร ก็ร่อนเรียง
๏ นิกรวิหคเมิลเมียง  
ศัพทจำเรียง ธราดล ฯ

และ

๏ ชินวรคุณยุตฺตา โสตฺถิคาถาอิมาเม ฯ
๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐  
๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐

ชินวร ๑๕ กลอน ๔ ทำนุก

๏ นมัสสุบทพระศาสดา  
เกตพฤกษา ธเสด็จสถิตย์
๏ พฤกกนิฐพานิช  
ยลบำเทองจิต- รจินดา
๏ มฤธุรศวรหรรษา  
ดลศรัทธา ก็ทูลถวาย ฯ ๑๕ ฯ

ชื่อ “ชินวรฉันท์” น่าจะนำมาจากต้นบทคาถาประจำคณะที่ปรากฏในหนังสือจินดามณี เช่นเดียวกับฉันท์ชนิดอื่นที่ใช้ในเรื่อง ราชาพิลาปคำฉันท์ ตัวอย่างชินวรฉันท์จากเรื่องราชาพิลาปคำฉันท์ เช่น

๏ ป่างครวญพิไรถึงโฉมเฉลา  
ทั่วสัตวเหงา บ ได้จร
๏ คณสกุณซรับซรนซรอน  
จิตวิจลอร ก็พิโรทต์
๏ จับรุกข บ มิศรับทตรับโสต  
ฟังสราโรทต์ ละห้อยใจ
๏ บ มิหาผลภักษพลอยพิไร  
เน่ง บ ศรับท์ใด ก็ตริตรอง

ฯลฯ

เยสันตาฉันท์กลอน ๗ ๒๑ อักษร

ฉันท์ชนิดนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าสัทธรา ฉันท์ ๒๑ หนังสือจินดามณีอธิบายรายละเอียดและคาถาประจำคณะไว้ ๒ ตอน คือ

มฺรามฺนาโยโยตฺรเยนตฺ ติมนิยติยุตา
สทฺธรากิตฺติตายํ ฯ  

ม ร ภ น ย ย ย ฯ ๒๑ ฯ เยสันตา

ผิแล ม คณ ร คณ แล ภ คณ น คณ ย คณ สามอยู่ดับกัน แลมียติในอักษร ๗ ตัวๆ ชื่อ สัทธราฉันท

๏ โกมลเดียรดาษนทีธาร ปทุมกุสุมบาน
งามตระการปาน ประดับดา
๏ บัวเผื่อนลินจงอเนกกา วิวิธวิจิตรมา-
รุตรำเพยพา ก็หอมขจร
๏ เฟื่องฟุ้งเสาวคนธเกสร สกลคณภมร
บินปรเอียงอร ววีชม ฯ

และ

เยสนฺตาสนฺตจิตฺตา ติสรณสรณา
เอตฺถโลกนฺตเรวา
 
๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐
๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐  
๏ ปางนั้นอินทรนุเทวา นิกรอมรมา
มาปรชุมนุมประชุมใน  
๏ ยังถานาถานุเลอศไกร ครั้นแล้วสดับยุบลใน
เจตนานิตยบันดาล ฯ  

ในหนังสือจินดามณีกำหนดฉันท์ลักษณ์ของสัทธราฉันท์ ว่า บทหนึ่งมี ๒๑ อักษร แบ่งเป็น ๓ วรรค วรรคละ ๗ อักษร แต่ ตัวอย่างคำประพันธ์บทแรกแบ่งเป็น ๔ วรรค ทั้งนี้ถือเอาจุดสัมผัสบังคับภายในบทเป็นตัวกำหนดคือ

ั ั ั ั ุ ั ั ุ ุ ุ ุ ุ ุ ั
ั ุ ั ั ุ ั ั

ตัวอย่างคำประพันธ์ตอนที่ ๒ แบ่งเป็น ๓ วรรค และกำหนดสัมผัสบังคับเพียง ๒ แห่งคือ

ั ั ั ั ุ ั ั ุ ุ ุ ุ ุ ุ ั
ั ุ ั ั ุ ั ั  

การกำหนดสัมผัสในลักษณะดังกล่าว น่าจะแสดงว่าคำประพันธ์ในตัวอย่างตอนที่ ๒ มีอายุเก่ากว่าแบบแรก เพราะมีความซับซ้อนน้อยกว่า เยสันตาฉันท์กลอน ๗ ๒๑ อักษร ที่ใช้ในเรื่องราชาพิลาปคำฉันท์มีลักษณะประสมระหว่างแบบแรกกับแบบที่ ๒ ดังตัวอย่าง

๏ โอ้อกกูเอยแต่นี้ไป ฤๅจะเห็นวรภาคยอันประไพ
พระสุนงคนาฏจอม มเหสี  
๏ จักครวญร่ำหากี่เดือนปี กี่ยามทิวารตี
แลจักสมศรี พระนุชเลย  
๏ เราทังสามองคย่อมเคย ชมพนสณฑรำเพย
เคยบุจฉาเฉลย กันมีมา  
๏ เคยชมมูลชาติผลอา- เกียรณชาติบุปผา
เราเคยเก็บมา ทรงเกศกรรณ  
๏ เคยชมคณาปักษีแจจัน มี่ศรับทสนั่น
แลทั่วทังป่าวัน นุเวศนา  
๏ เคยชมโกญจมยุรา อุลุสุบรรณสุรา
กางปีกหางเต้น ตามคู่คาม  

ฯลฯ

มณีรัตนฉันท์กลอน ๕ ๒๒ อักษร

คำประพันธ์ชนิดนี้กำหนดเช่นเดียวกันกับอินทรวิเชียร ฉันท์ ๑๑ แต่นับอินทรวิเชียร ๑๑ จำนวน ๒ บาทรวมกันเป็น ๑ บท ๒๖ อักษร โดยแบ่งเป็น ๒ วรรค วรรคละ ๑๑ อักษร

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐ ๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐ ฯ

ตัวอย่างฉันท์ชนิดนี้ในหนังสือจินดามณีระบุว่า “๑๑ สมเด็จสุรางคณ” ซึ่งน่าจะมีความหมายว่า ตัวอย่างดังกล่าวนำมาจากเรื่อง “คีตยราคสมเด็จสุราคณประวัล” ที่กล่าวถึงในหนังสือจินดามณี และจากเนื้อหาที่ปรากฏ เรื่องนี้เป็นตอนหนึ่งจากเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่ง ต้นฉบับน่าจะสูญไปแล้ว

๏ เสียองคเสียไอ ศูริยฉิบทังลงกา
เสียญาติโยธา เสียพี่น้องแลลูกหลาน
๏ เพราะเหตุมานะ แลอำเภออหังการ
ใจโลภเผาผลาญ ดูท่านลูกก็ฉิบหาย
๏ ข้าห้ามข้าเตือนพี่ แลมิฟังคำน้องชาย
นบนิ้วบังคมถวาย กล่าวให้ชอบ บ่ ยอมยิน
๏ ขึ้งเคียดขับข้าหนี นิราศร้างพระภูมินทร์
เจียรจากเจ้าแผ่นดิน รอบรูปกาลใจดล
๏ มาถึงแก่ฉิบหาย วอดวายบังรี้พล
ย่อมญาติกายล ประไลยจักรพาลพัง ฯ ๑๑ ฯ

ตัวอย่างจากเรื่องราชาพิลาปคำฉันท์ เช่น

๏ ครั้นได้สดับพจน์ แห่งสองสัตวแจ้งสาร
มนทจิตคิดเดือดดาล ปลงศรไว้ไห้ร่ำไร
๏ โอ้แก้วกับตนเอย ดังฤๅน้องมาเจียรไกล
ราพณ์ร้ายพานุชไป เรียมได้รู้เพราะปักษี

ฯลฯ

มงคลรัตนฉันท์กลอน ๖ ๒๒ อักษร

หนังสือจินดามณีกำหนดแผนผัง คาถาประจำคณะ และ แสดงตัวอย่างไว้ดังนี้

มงฺคลรตนโชติวรํ ปวโรสุคติ
ปาฏิหารรํสี ฯ  
๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐
๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐  
๏ ข้าขอบังคมบทมหันต์ ไภยทุกขโรคสรรพ์
อุปัทวะอย่ามี  
๏ วรเดชสรรเพชญพุทธมุนี สุขสวัสดิอันมี
ศุขสมบัดิบน  
๏ ขอจงสัมฤทธิอิษฏิศุภผล เสวยศุขทิพยดล
บทโมกษนฤพาน ฯ  
ตัวอย่างคำประพันธ์ชนิดนี้ที่ปรากฏในราชาพิลาปคำฉันท์ เช่น  
๏ พระนุชเรียมฤๅนิราศจรลี ละเรียมจำบัลยศรี
จรพนาลัยเต้าตามองค์  
๏ ฤๅร้างเห็นวรพักตรพิมพงค์ จันทิมากรรตราสงค์
จะเปรียบพักตรนุชฤๅเสมอ  

ฯลฯ

รัตนมาลาฉันท์กลอน ๕ ๒๒ อักษร

ในเรื่องราชาพิลาปคำฉันท์ คำประพันธ์ชนิดนี้อยู่ต่อจาก มณีรัตนฉันท์กลอน ๕ ๒๒ อักษร และทั้งมณีรัตนฉันท์และรัตนมาลาฉันท์นั้นมีลักษณะใกล้เคียงกันมากทั้งจำนวนคำในแต่ละวรรคและสัมผัสภายในบทในต้นฉบับสมุดไทยฉบับที่ ๘ กำหนดชื่อคำประพันธ์ไว้ต่างกัน ทั้งนี้น่าจะเนื่องมาจากสถานการณ์ของเนื้อหาเปลี่ยนกวีจึงต้องเปลี่ยนชนิดคำประพันธ์

หนังสือจินดามณีกำหนดแผนผังบังคับรัตนมาลาฉันท์ กลอน ๕ ไว้ดังนี้

๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐
๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐
๏ สรวมชีพข้าไหง้ว สมเด็จเดชฦๅแสดง
ขุนนี้มันเข้มแขง ลูกรักษ์ราพนาสูร
๏ ได้ชื่อมหาบาศ องอาจระงับริปูร
รี่พลมันหนานูน เปนหัวหน้าทสานล
๏ เดชะมันแกล้วกล้า ปลอมปล้นฟ้าปราบดินดล
ออกมาหวังผจญ รณรงคพาธา ฯ ๑๑ ฯ

จากแผนผังบังคับและตัวอย่างคำประพันธ์ที่ยกมานี้มี ลักษณะคล้ายยานี กาพย์ ๑๑ หรืออินทรวิเชียร ฉันท์ ๑๑ ตัวอย่างรัตนมาลาฉันท์กลอน ๕ ๒๒ อักษรที่ใช้ในเรื่องราชาพิลาป เช่น

๏ พานรราชรับพจน์ แจ้งกำหนดจิตอันบง
จึ่งกล่าวว่าพระสุนงค์ อสุรราชทศศีรา
๏ ผู้ผ่านพิภพกรุง ไอศูริยแสนลงกา
ทรงวิชัยราชรถพา ผยองแทบฐานคีรี
๏ วรนาฏกัลยา ทฤษฎีข้าแล้วเทวี
เอาผ้ารัตกัมพลอันมี ทิ้งลงแล้วเธอตรัสสั่ง

ฯลฯ

ดิลกวิเชียรฉันท์กลอน ๖ ๒๕ อักษร

ฉันท์ชนิดนี้เป็นการประสมประสานฉันท์สองชนิดเช้าด้วย กันโดยการนำวสันตดิลก ฉันท์ ๑๔ และอินทรวิเชียร ฉันท์ ๑๑ แต่ง สลับกันบาทต่อบาท เริ่มบาทแรกเป็นวสันตดิลกฉันท์ บาทที่สองเป็น อินทรวิเชียรฉันท์ ตังแผนผัง

ั ั ุ ั ุ ุ ุ ั ุ ุ ั ุ ั ั
ั ั ุ ั ั ุ ุ ั ุ ั ั

หนังสือจินดามณีกำหนดแผนผังและแสดงตัวอย่างไว้ดังนี้

๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐
๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐
๏ อุรประทับอุรถนงง ปรามัศศิวรไว
จุมพิตริมไร โอษฐคัณฑะกัลยา
๏ บริสังคุติพระอรองค์ อนุชพนิดา
สมสนุกนิเสน่หา รศราคเอมอร ฯ ๒๕ ฯ

ฉันท์ชนิดนี้ ๑ บท มี ๒ บาท แต่ละบาทแบ่งออกเป็น ๒ วรรค วรรคที่ ๒ มี ๖ อักษร (กลอน ๖)

ตัวอย่างคำประพันธ์ดิลกวิเชียรฉันท์ในหนังสือจินดามณี น่าจะนำมาจากเรื่องราชาพิลาปคำฉันท์ แต่ในราชาพิลาปคำฉันท์คำประพันธ์ตอนนี้เป็น “วิเชียรดิลกฉันท์” คือ

๏ อุระบรรทับอุรา ราชถนงคทรงวัย
จุมพิตถนังคแลริมไร โอษฐคันธกัลยา
๏ ปริสังศตระกององค์ วรอนงควนิดา
สมสุขเสนหา วรภาคยเกี้ยวกร

จากการเปรียบเทียบคำประพันธ์ดังกล่าวระหว่างในหนังสือจินดามณีกับในราชาพิลาปคำฉันท์ มีข้อน่าสังเกตประการหนึ่ง คือใน บาทที่ ๒ ของตัวอย่างจากราชาพิลาปคำฉันท์ที่ว่า “สมสุขเสนหา วรภาคยเกี้ยวกร” นั้น แทนที่จะเป็นวสันตดิลกฉันท์เหมือนบทอื่น ๆ กลับเป็นอินทรวิเชียรฉันท์ ลักษณะดังกล่าวปรากฏในเรื่องเพียงบทเดียวเท่านั้น ตัวอย่างดิลกวิเชียรฉันท์จากเรื่องราชาพิลาปคำฉันท์ เช่น

๏ คิดไฉนแลหนออุกอาจคิด มนัสราชพาลอสูร
พาภัยเอาไปพูน ในพิภพฤๅควรเห็น
๏ โทษภัยจะได้แก่อาตมา เมื่อหน้าแลมีความเข็ญ
พาภัยเอาไปเป็น ภรรยาค่าใครยล
๏ คิดคือเอาสรพิศมอุบาทว์ แล บ คิดมาพาดล
ได้สุขแล้วทุกข์จน พินาศมรณ์ประลัยา
๏ อรองค์ทรงศุภลักษณะ คิดคือภัลปหูกา
มิรู้แลฤๅพา เอาไปไว้ในธานี

ฯลฯ

วิเชียรดิลกฉันท์ ๖ ๒๕ อักษร

คำประพันธ์ชนิดนี้มีลักษณะคล้ายกับดิลกวิเชียรฉันท์ คือเป็นการนำฉันท์ ๖ ชนิดมาแต่งประสมกันบาทต่อบาท โดยบาทแรก เป็นอินทรวิเชียร ฉันท์ ต๑ บาทที่ ๒ เป็นวสันตดิลก ฉันท์ ๑๔ หนังสือจินดามณีนำข้อความจากเรื่องราชาพิลาปคำฉันท์ไปเป็น ตัวอย่างการประพันธ์ฉันท์ชนิดนี้คือ

๏ เคยพาดพระหัตถ์เหนือ อุรราชกัญญา
กอดเกี้ยวคือกาญจนลดา อันโอบอ้อมทุมามาลย์
๏ พิศภักตรมณฑลศศิ บริสุทธเปรมปาน
เปรมร่วมฤธูรสูรบันดาล รดีดัศบันเจอดใจ ฯ

ตัวอย่างดังกล่าวในบทแรก บาทที่ ๑ เป็นอินทรวิเชียร ฉันท์ บาทที่ ๒ เป็นวสันตดิลกฉันท์ ตรงกับชื่อ “วิเชียรดิลกฉันท์” ดังแผนผัง

ั ั ุ ั ั ุ ุ ั ุ ั ั
ั ั ุ ั ุ ุ ุ ั ุ ุ ั ุ ั ั

แต่ตัวอย่างคำประพันธ์ในฉันท์บทที่ ๒ มีลักษณะเป็น วลันตดิลกฉันท์เต็มทั้ง ๒ บาท ดังแผนผัง

ั ั ุ ั ั ุ ุ ั ุ ั ั
ั ั ุ ั ุ ุ ุ ั ุ ุ ั ุ ั ั
ั ั ุ ั ุ ุ ุ ั ุ ุ ั ุ ั ั
ั ั ุ ั ุ ุ ุ ั ุ ุ ั ุ ั ั

ความคลาดเคลื่อนดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นในการคัดลอกหนังสือจินดามณีในระยะหลัง การตรวจสอบชำระเรื่องราชาพิลาปคำฉันท์ครั้งนี้ใด้พยายามสอบเทียบฉบับตัวเขียนที่มีอยู่ทั้งหมด และเลือกเอาความที่ตรงกับฉันทลักษณ์มากที่สุด ตัวอย่างวิเชียรดิลกฉันท์ที่ปรากฏในราชาพิลาปคำฉันท์ เช่น

๏ ป่างเรียมแรกสมสอง วรราชเทพี
รมเยอสุขเลศฤดี รสราคปรีดา
๏ เคยพาดพระหัตถ์เหนือ อุรราชกัญญา
กอดเกี้ยวคือกาญจนลดา อันโอบอ้อมทุมามาลย์
๏ พิศพักตรมณฑล ศศิสุทธิเปรมปราณ
เปรมร่วมมฤธูรสบันดาล ฤดีดัศบรรเจิดใจ

ฯ ล ฯ

เนื้อหาในหนังสือจินดามณีนั้นเน้นเรื่องการประพันธ์เป็นสำคัญ โดยเฉพาะในส่วนของคำประพันธ์ประเภท “ฉันท์” นั้นมีเนื้อหาแบ่งเป็น ๒ ตอน ตัวอย่างในตอนแรกระเบียบฉันทลักษณ์ค่อนข้างลงตัวกว่าตัวอย่างตอนที่ ๒ ตัวอย่างฉันท์หลายชนิดในตอนที่ ๒ นั้น เคร่งครัดครุลหุและสัมผัสน้อยกว่าตอนที่ ๑ เช่น เยสันตาฉันท์ หรือ สัทธรา ฉันท์ ๒๑ ตัวอย่างแรกบทหนึ่งแบ่งเป็น ๔ วรรค และกำหนดสัมผัสบังคับไว้ ๓ แห่ง ส่วนในตัวอย่างตอนที่ ๒ แบ่งเป็น ๓ วรรค และกำหนดสัมผัสบังคับเพียง ๒ แท่ง

ลักษณะดังกล่าวอาจอนุมานเบื้องต้นได้ว่า ตัวอย่างฉันท์ ในตอนที่ ๒ นั้นมีอายุเก่ากว่าตอนแรก ฉันท์ไทยนั้นมีที่มาจากต้นแบบฉันท์ภาษาบาลีและฉันท์ภาษาลันสกฤต ซี่งในแต่ละชนิดกำหนดเพียงเสียงหนักเสียงเบาหรือครุลหุ ไม่ได้กำหนดสัมผัสบังคับทั้งภายในบทและระหว่างบท เมื่อกวีไทยนำฉันท์มาประพันธ์เป็นภาษาไทย สิ่งซึ่งถือเป็นประดิษฐการทางวรรณศิลป์ที่สำคัญของฉันท์ภาษาไทย คือ การกำหนดสัมผัสทั้งภายในบทและสัมผัสระหว่างบท จึงเป็นที่แน่ว่าฉันท์ภาษาไทยที่แต่งขึ้นในระยะแรก ๆ นั้น อยู่ในลักษณะของการแสวงหาความเหมาะสม ทั้งการแบ่งจำนวนคำในแต่ละวรรคและการกำหนดสัมผัส

พยางค์และคำในภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตเหมาะกับการประพันธ์ฉันท์ซึ่งกำหนดเสียงครุและลหุ แต่พยางค์และคำในภาษาไทย มีลักษณะเป็นครุมากกว่าลหุ ฉันท์ภาษาไทยในระยะแรกๆ จึงมีทั้งการรวบเลียงและการยืดเสียงให้ตรงตามคณะฉันท์ที่กำหนด และมีอิสระในการใช้ถ้อยคำตามที่กวีเป็นว่าเหมาะสม

อนึ่ง มีหนังสือคำฉันท์รุ่นเก่าหลายเรื่องที่ใช้คำประพันธ์ อย่างที่ปัจจุบันเรียกว่า “กาพย์” ตลอดทั้งเรื่อง แต่เรียกชื่อเป็น “คำฉันท์” เช่น สวัสดิรักษาคำฉันท์ ตำราพิไชยสงครามคำฉันท์ ตำราช้างคำฉันท์ เป็นต้น แสดงว่าคำประพันธ์ที่ปัจจุบันกำหนดให้เป็นกาพย์นั้น แต่เดิมเรียกว่า “ฉันท์” เช่น ฉบัง กาพย์ ๑๖ แต่เดิมคือ “ฉันทฉบำ ๑๖ อักษร” สุรางคนางค์ กาพย์ ๒๘ แต่เดิมคือ “สุราคณา ปทุมฉันท์ ๒๘ อักษร” ดังนั้นความหมายของหนังสือคำฉันท์แต่เดิมนั้นคงหมายถึง เรื่องที่แต่งเป็นฉันท์ตลอดเรื่อง มิใช่แต่งเป็น “ฉันท์” และ “กาพย์” อย่างในปัจจุบัน

 

  1. ๑. สวัสดิรักษาคำฉันท์ แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทกาพย์ ๑๖ ตลอดทั้งเรื่อง เคยมีการพิมพ์เผยแพร่แล้ว

  2. ๒. ฉบำ หมายถึง ฉบัง (ในที่นี้คงอักขรวิธีตามสมุดไทย)

  3. ๓. นำมาจากบท “รัตนสูตร” ในบทสวดมนต์เจ็ดตำนาน

  4. ๔. นำมาจากบทสรรเสริญพระพุทธคุณในบทสวดมนต์เจ็ดตำนาน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ