คำนำ

อำมาตย์เอก พระยาราชธนพิทักษ์ (สังข กฤษณาพระ) มาแจ้งความต่อกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครว่า มีศรัทธาจะรับพิมพ์หนังสือในหอพระสมุด ฯ เปนของแจกในงานปลงศพสนองคุณขุนราชพิจิตร (จุ้ย กฤษณามระ) บิดาสักเรื่อง ๑ ขอให้กรรมการช่วยเลือกเรื่องหนังสือให้ ในเวลาพระยาราชธนพิทักษ์มาขอให้เลือกเรื่องหนังสือนั้น ข้าพเจ้ากำลังปรารภจะใคร่พิมพ์หนังสือมหาชาติคำเฉียงอยู่ จึงแนะนำให้พระยาราชธนพิทักษ์พิมพ์หนังสือมหาชาติคำเฉียงเฉพาะกัณฑ์มหาพนเปนของแจก พระยาราชธน ฯ อนุมัติตาม ข้าพเจ้าจึงได้จัดฉบับมหาชาติคำเฉียงกัณฑ์มหาพนกัณฑ์ ๑ หนังสือเทศน์มหาพนความพระเทพโมลี กลิ่น วัดราชสิทธิ์แต่ง ซึ่งเทศน์กันอยู่เปนพื้นเมืองอิกกัณฑ์ ๑ สำหรับเปนคู่เปรียบให้รวมพิมพ์ในสมุดเล่มนี้ เหตุใดข้าพเจ้าจึงปรารภจะพิมพ์หนังสือมหาชาติคำเฉียง จะชี้แจงต่อไป

ประเพณีเทศน์มหาชาติ ได้ความว่ามีแต่ในเมืองไทยกับเมืองมอญ ๒ แห่งเท่านี้ ในลังกาก็ดีพม่าก็ดี หามีประเพณีเทศน์มหาชาติอย่างเมืองเราไม่ พิเคราะห์ดูโดยทางโบราณคดี เข้าใจว่าประเพณีการเทศน์มหาชาติ คือที่พระเทศน์เวสสันดรชาดกโดยทำนองต่าง ๆ เห็นจะมีขึ้นทางเมืองลาวก่อน แล้วจึงแพร่หลายลงมาข้างใต้ มอญจะได้ไปจากไทยฤๅไทยฝ่ายเหนือจะได้มาจากมอญข้อนี้ยังสงสัยอยู่

หนังสือมหาชาติที่แต่งเทศน์กันในเมืองลาว หอพระสมุด ฯ รวบรวมไว้ได้มาก ที่แต่งเก่าแก่แต่ครั้งกรุงศรีอยุทธยาเปนราชธานีที่มีหลายความ ในทางภาษาก็เปนภาษาไทย ผิดกับข้างใต้แต่ถ้อยคำบางคำ ข้าพเจ้าคิดเห็นว่าถ้าพิมพ์หนังสือมหาชาติสำนวนเก่าทางฝ่ายเหนือออกให้ปรากฏ ก็เห็นจะเปนประโยชน์ในทางความรู้ แลจะมีผู้ชอบที่จะได้อ่าน จึงได้ปรารภว่าจะพิมพ์ ได้เลือกสำนวนที่ดีรวบรวมไว้ทั้ง ๑๓ กัณฑ์ แต่เห็นหนังสือมากนัก จึงคีดมาพิมพ์เฉภาะกัณฑ์พอให้ได้เห็นกันก่อน ที่เลือกกัณฑ์มหาพนมาพิมพ์ เพราะเชื่อว่าเปนกัณฑ์ที่คนรู้กันแพร่หลายกว่ากัณฑ์อื่น ๆ

มหาชาติคำเฉียงกัณฑ์มหาพนที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ พระธรรมวโรดมวัดเบญจมบพิตรได้มาจากเมืองเชียงใหม่ให้ไว้แก่หอพระสมุด ฯ เห็นจะแต่งเก่าแก่ช้านาน มีจารึกในคัมภีร์ลานที่ได้มาว่า ได้จานคัมภีร์นั้นเมื่อจุลศักราช ๑๐๔๘ ตรงกับปีขาล พ.ศ. ๒๒๒๙ ก่อนสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคต ๒ ปี ข้าพเจ้าเชื่อว่าบรรดาท่านที่เปนนักเทศน์ฤๅผู้ชอบอ่านมหาชาติคงจะเห็นว่าแปลกแลแต่งดี

หนังสือมหาพนความพระเทพโมลี กลิ่น วัดราชสิทธิ์ ที่พิมพ์ต่อไว้ข้างท้ายในสมุดเล่มนี้ คัดจากฉบับหลวงในหอพระมณเฑียรธรรม มีความในแหล่สระอยู่ตอน ๑ เปนความแปลกกับฉบับอื่น ๆ ความที่แปลกนี้ได้มาจากฉบับเมืองไชยา พระชยาภิวัฒน์ หนู ราชาคณะวัดสมุหนิมิตรผู้เปนเจ้าของชี้แจงว่า พระครูการามผู้เปนอาจารย์ของท่านเข้ามาเล่าเรียนในกรุงเทพ ฯ เปนนักเทศน์มหาชาติเมื่อในรัชกาลที่ ๓ ได้ฉบับนี้ออกไปยังเมืองไชยาตั้งแต่ตัวท่านยังเล็ก ๆ ข้าพเจ้าเห็นว่าความแปลกอยู่ ทิ้งเสียก็สูญเปล่า จึงให้พิมพ์แทรกลงไว้ด้วย ได้บอกเปนสำคัญไว้ที่ตรงที่แทรกนั้นแล้ว แต่จะเปนของพระเทพโมลี กลิ่น แต่งแล้วนักเทศน์ตัดเสีย ฤๅจะเปนของผู้อื่นแต่งแทรกลง ข้อนี้ข้าพเจ้าไม่สามารถจะยืนยัน แล้วแต่ท่านผู้อ่านจะพิเคราะห์ดูเถิด.

ข้าพเจ้าขออนุโมทนาในกุศลบุญราษีทักษิณานุปทาน ซึ่งพระยาราชธนพิทักษ์ ได้ทำการปลงศพสนองคุณขุนราชพิจิตร ผู้บิดา ด้วยความกตัญญูกตเวที ทั้งได้พิมพ์หนังสือเรื่องนี้ให้ได้อ่านกันแพร่หลาย เชื่อว่าท่านทั้งหลายที่ได้รับสมุดเล่มนี้ไปอ่านคงจะอนุโมทนาทั่วกัน.

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพสภานายก

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๒

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ