๏ แสนรักร้อนฤทัยใครจะเห็น |
ดั่งแขกตีอกครวญกำสรวญเซ็น |
มิได้เว้นวันเทวษเพราะเจตนา |
แต่เวียนปรามห้ามใจอาลัยสวาท |
อย่าหมายมาดตรุณเรศกับเชษฐา |
ไม่ควรปรองดองชื่นชูชีวา |
จึงสู้ฝ่าฝืนจิตต์คิดตริตรอง |
ก็เหลือดำรงทรงใจอาลัยรัก |
จนอินทรีย์ฉวีพักตรก็คล้ำหมอง |
ประมาณปีก็ถึงสี่ปีปอง |
แต่น้องครองทุกข์เทวษถวิลครวญ |
หวังจะฝากชีวาลัยไว้ในพี่ |
ด้วยภักดีเดียวมุ่งบำรุงสงวน |
จึงพร้องสาราร่ำแต่คร่ำครวญ |
น้องรัญจวนใจสวาทเพียงขาดใจ |
แม้นเชษฐามิได้ปราณีสนอง |
จะมีแต่หมองหม่นจิตต์ด้วยพิสมัย |
เหมือนวนว่ายอยู่ในสายสมุทร์ไท |
จะพึ่งไม้ขอนยุดก็สุดมือ |
ดั่งบุรุษมุ่งสมรอับสรสวรรค์ |
ที่ไหนนั่นจะได้ต้องประคองถือ |
วิหคหาญผ่านสมุทร์ให้โลกลือ |
แต่กระพือปีกบินก็สิ้นแรง |
ดั่งเฉาชายหมายเจาะไศลหลวง |
จะหาดวงวิเชียรรัตนจำรัสแสง |
เหมือนมยุเรศกระสันตวันแดง |
กระต่ายแขย่งแขไขน้ำใจจง |
ถึงเพียรพากยากที่จะสำเร็จ |
ตราบบรรลัยก็ไม่เสร็จสมประสงค์ |
ประหนึ่งน้องปองฝากชีวันปลง |
ก็เห็นคงจะไผ่ผอมด้วยกรอมใจ |
ชรอยวาสนาหลังทั้งสองสร้าง |
เคยเปนน้องพี่นางแล้วหรือไฉน |
จึงดลจิตต์อนุชาให้อาลัย |
แต่จะใคร่ได้สนิทชิดชวนเชย |
ทุกเช้าค่ำพร่ำเทวษถวิลถึง |
นึกคนึงแต่เชษฐานิจจาเอ๋ย |
ช่างกะไรไม่เห็นอกวิตกเลย |
ยามนอนกรเกยก่ายพักตรา |
ยามกินกินระกำกล้ำกลืนแค้น |
กำสรดแสนเศร้าโทมนัสสา |
จนลืมเล่นกลอนละคอนแลสักรวา |
ลืมเวลาเฝ้าแหนแสนสำราญ |
อันสัตรีคู่เชยเคยเริงรื่น |
จะชวนชื่นก็ไม่ชอบฤดีสมาน |
เคยกลั้วกลิ่นบุบผาสุมามาลย์ |
พอกลิ่นพานนาสาก็เสียวใจ |
ถวิลถึงพี่นางของน้องนัก |
ยิ่งแรงรักแรงร้อนถอนใจใหญ่ |
ต้องทิ้งกลิ่นประทิ่นหอมออมอาลัย |
ดั่งเนาในกองอัคคีจี้จุดกาย |
ถึงจะเอาอมฤตมารินรด |
ซึ่งกำสรดโศกฤทัยนั้นไม่หาย |
แม้นวันใดได้เห็นพักตรพี่ทักทาย |
นั่นแลคลายร้อนรักที่หนักทรวง |
เมื่อมีแต่เกรียมกรมอารมณ์หมอง |
ชีวิตน้องนี้เห็นคงจะลับล่วง |
พี่อย่าแหนงเลยว่าแสร้งแต่งลิ้นลวง |
นี่หากห่วงอยู่ด้วยพี่จึงมิตาย |
เปรียบประหนึ่งพลอยเพ็ชรสิบเจ็ดกะหรัด |
นายช่างตัดเจียรนัยให้สลาย |
ถึงผูกเรือนรจนาลงยาระบาย |
ราคาขายคงต่ำค่าเพราะราคี |
จะสอดใส่ใครเห็นก็คงติ |
ด้วยเปนตำหนิในเนื้อเจือรัศมี |
อันความวิตกอกน้องหมองฤดี |
ก็แสนสลายคล้ายมณีที่เปรียบปราย |
ถ้าเชษฐาเอนดูช่วยอุปถัมภ์ |
ก็จะไม่ชอกช้ำสล่ำสลาย |
ถึงมีเรือนก็เหมือนไร้เพราะเรือนคลาย |
ไม่เพริศพรายเคียงคู่ชมพูนุท |
จงเห็นทุกข์เถิดที่กรมอารมณ์หมอง |
จงเห็นว่าน้องรักพี่เปนที่สุด |
ขอร่วมชีพชีวันด้วยตราบม้วยมุด |
ขอเปนนุชน้องพี่แต่นี้ไป |
เปนความสัตย์มิได้คัดวาทีแถลง |
ถ้านึกแหนงแคลงความจงถามไถ่ |
ขอเชิญตอบสารสวัสดิ์อย่าขัดใจ |
เหมือนพี่ได้เมตตาการุญรัก |
เหมือนพี่พร้องสนองเรื่องกลับเคืองแค้น |
ก็จะแสนสุดวิตกเพียงอกหัก |
ด้วยหวังสวาทเชษฐาหนักหนานัก |
จงแจ้งประจักษ์ใจจริงทุกสิ่งเอย ฯ ๔๒ คำ ฯ |
๏ แสนเทวษถวิลถึงคนึงสมร |
ให้ด่าวดิ้นวิญญาด้วยอาวรณ์ |
จะนั่งนอนถอนฤทัยอยู่ไม่รู้วาย |
ครั้นคิดความเมื่อยามรื่นก็ชื่นจิตต์ |
ครั้นคืนคิดข้างโพยภัยก็ใจหาย |
อุราร้อนรุมสวาทไม่คลาดคลาย |
แต่ไกลสายสมรพี่ปิ่มปีเกิน |
มิได้พานพบน้องสนองถ้อย |
ต้องม้วนม่อยพักตรหมางระคางเขิน |
เพราะเกรงความจึงต้องจำทำสเทิน |
เห็นการเกินแล้วจึงก่อรังเกียจกัน |
เมื่อแรกรักก็ได้ว่าสัญญามิตร์ |
คงจะคิดให้เสร็จสมภิรมย์ขวัญ |
ถึงฉาวเรื่องก็จะรับในราชทัณฑ์ |
แต่อย่าหันเหิรห่างระคางเคือง |
พี่อุส่าห์เพียรพากสู้ยากจิตต์ |
เห็นชอบผิดจึงอภิปรายขยายเรื่อง |
ก็รับรวยว่าจะช่วยทุกข์ประเทือง |
ค่อยปลดเปลื้องร้อนฤทัยตั้งใจเตือน |
พอเปนเคราะห์เพราะเวรสร้างแต่ปางหลัง |
ความชอบลับกลับชังจึงกลายเกลื่อน |
ทั้งต้องเมินหมางเมียงเบี่ยงเบือน |
เห็นความเชือนก็กลับช้ำระกำใจ |
โอ้อกเอ๋ยอนิจจาน่าสงสาร |
แต่ก่อนกาลเราได้ทำกรรมไฉน |
เคยพรากสัตว์ให้พลัดกันหรือฉันใด |
จึงเปนไปได้ดั่งนี้เพื่อมีกรรม |
เมื่อจวนจะเสร็จสมปองประคองชื่น |
หรือคงคืนมาได้ทุกข์ถึงความขำ |
สารพัดจะเปนพิษจนผิดระยำ |
ทุกเช้าค่ำมีแต่ตรอมออมอาลัย |
ครั้งนี้นะชะช้าอิกสักนิด |
ก็จะได้สมคิดที่พิสมัย |
แต่นี้ตั้งแต่โศกวิโยคใจ |
เหมือนหมายไม้สุดมือจะถือชม |
จะเปรียบปรายคล้ายอิเหนาเยาวลักษณ์ |
เมื่อแรมรักร้อนฤทัยจะใคร่สม |
แต่วันเห็นพระน้องนึกตรึกนิยม |
จะนั่งนอนร้อนอารมณ์ไม่สมฤดี |
วันไหว้พระบนกุหนุงก็มุ่งหมาย |
ได้แนบกายกนิษฐายาหยี |
เอาคำมั่นสัญญาพาที |
มะดีหวีก็รับสัตย์ปัฏิญาณ |
ว่าจะช่วยกว่าจะสมอารมณ์มุ่ง |
ครั้นกลับกรุงก็แกล้งล่อแต่พอหวาน |
แต่ตักเตือนเลื่อนผัดจนนัดการ |
แล้วกลับราญรอนสวาทขาดอาลัย |
พระยังหม่นหมองหมางไม่ห่างเหือด |
ก็พ่างเลือดตากระเด็นจนเปนไข้ |
ประหนึ่งเรียมเกรียมกรมระทมใจ |
จะพึ่งใครไม่หยั่งเห็นจะเปนการ |
ยิ่งสลดฤทัยอาลัยรัก |
ด้วยแหล่งหลักก็เปนคาวร้าวฉาน |
สงสารน้องจะต้องทิ้งไว้นิ่งนาน |
จะมีแต่ทานทนทุกข์ฉุกใจกรอม |
โอ้อกเราสองรานิจจาเอ๋ย |
ได้ชื่นเชยสามสี่ราตรีถนอม |
ยังจำท่วงทีเคารพนบประนอม |
อันกลิ่นหอมนั้นยังติดนาสารวย |
แม้นเบื้องหน้าถ้าได้พบพานบ้าง |
เจ้าอย่าหมางหมองเมินเขินขวย |
อย่าลืมที่คำชอ้อนอ่อนรทวย |
อย่าลืมสัตย์ซึ่งจะม้วยด้วยรักแรง |
อันฝ่ายพี่นี้มิลืมถ้อยคำพร้อง |
เปนความจริงสิ่งนี้น้องอย่านึกแหนง |
แม้นแจ้งประจักษ์พจมานในสารแสดง |
เจ้าอย่าแพร่งพรายความไม่งามพักตร์ |
สงวนกายสายสมรไว้ก่อนนะเจ้า |
ถ้าบุญเราคงจะได้สมานสมัค |
ทุกวันนี้พี่คนึงถึงน้องนัก |
อาลัยรักสมรมิตรเปนนิจเอย ฯ ๓๖ คำ ฯ |
๏ หวังวิโยคโศกสร้อยละห้อยโหย |
ได้เห็นกันเมื่อวันเสด็จโดย |
เจ้าเซ็นโอยอกอ้อนอาดูรแด |
ได้นัดนวลว่าจะชวนไปเปนเพื่อน |
ยังอ้ำเอื้อนอยู่ไม่วางอารมณ์แน่ |
ถึงวันไปไปเตือนก็เชือนแช |
ช่างคิดแก้ว่าจับไข้มาหลายวัน |
ยิ่งถามเจ็บก็ยิ่งเจ็บนั้นสุดจิตต์ |
เห็นโรคผิดใจจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
ยิ่งวอนว่าก็ยิ่งว่าไม่รักกัน |
จะไปนั้นไม่ได้แล้วอย่าวอนชวน |
พอขาดคำจำลาเจ้ามาบ้าน |
เร่งทยานยวนใจให้โหยหวน |
พอพานพบเพื่อนชายภิปรายชวน |
ให้ดูขบวรแห่มาแล้วพาจร |
ดาดาษด้วยราษฎรมี |
รัศมีเพลิงสว่างกระจ่างสมร |
ประชาชายลอยชายกรายกร |
เห็นเจ้าจรเจียนถือข้อมือชาย |
ถามข่าวได้แต่ตาประสารัก |
นี่ไข้หนักจริงหรือพึ่งรื้อหาย |
จะใคร่เคียงเข้าไปถามเอาความชาย |
เกรงจะกลายเปนวิวาทใช่ชาติพาล |
เออก็ควรหรือจะชวนให้ชื่นรัก |
ไม่คิดศักดิ์เลยว่าศักดิ์นั้นสมสถาน |
รักจะทำก็อย่าทำทุราจาร |
นี่สันดานหรือจึงดานฤดีเปน |
ใช่ว่าชายนั้นจะเชยแต่พอชื่น |
ไม่ขาดคืนไยจึงคืนมาให้เห็น |
หรือจะลองดูที่คลองวารีเย็น |
ถึงเปนก็ไม่เปนให้ลับตา |
ได้เห็นใจแล้วที่ใจอาลัยนัก |
ไม่เห็นรักพารักมาใส่หน้า |
พอใจชมก็ได้ชมกิริยา |
อันสัจจาสัตย์จริงทุกสิ่งแสดง |
ถึงเสียรู้ก็ได้ดูประหลาทเนตร |
หวังเทวษก็ได้เวทนาแหนง |
ไม่แคลงใจทีนี้ใจจะจำแคลง |
จะเอาเหล็กสักแทงไว้ดูรอย |
มาดแม้นหญิงใดประไพพิศ |
อย่าควรคิดเร่งคิดขยั้นถอย |
จงเจียมใจอย่าเศร้าใจอาลัยลอย |
อย่าน้อยใจใช่ชายจะหมิ่นชาย |
นี่ถือเยี่ยงอย่างดุเหว่าหรือเยาวลักษณ์ |
จะไข่ให้กาฟักอย่าพักหมาย |
เสียแรงรักไม่ควรรักจักเคลื่อนคลาย |
แสนเสียดายเพียรพากสู้ยากเย็น |
ชะกะไรเชื่อถ้อยชรอยจิตต์ |
ไหนจะย้อนซ้อนคิดไม่คิดเห็น |
ถึงเสียชู้ก็ได้รู้เชิงชู้เร้น |
ชื่อว่ามิตรมิดเม้นเช่นนี้เจียว |
ประหนึ่งหงส์หลงเล่นชลาสินธุ์ |
มุจลินท์สระสนานไม่ดาลเฉลียว |
เที่ยวซอกซนจนกาเข้ากลมเกลียว |
ทั้งหนามเหนี่ยวเกี่ยวขนหล่นหลุดยับ |
ก็ยังแต่จะรบัดผลัดขนใหม่ |
จะงามวิลัยคมขำดำขลับ |
ถ้าใครโยนเหยื่อตรงก็คงรับ |
จึงจะนับแล้วว่าหงส์นี้วงศ์กา |
หรือใจหวังดั่งโฉมอนงค์นาฎ |
กากีศรีวิลาศเสนหา |
เมื่อหน่ายในกรุงกษัตริย์ภัศดา |
จึงตามพญาเวนไตยไปฉิมพลี |
ครั้นได้รู้รสภิรมย์สมสนิท |
ก็เบื่อจิตต์จางรักในปักษี |
พอเห็นนายนาฎกุเวนก็ยินดี |
แสร้งทำทียียวนชักชวนเชย |
ในเวลาทิวาวันคนธรรพ์สม |
ปางปฐมยามครุฑร่วมเรียงเขนย |
ไม่จางใจในรสสังวาสเลย |
นิจจาเอ๋ยช่างมาเหมือนนิทานพาล |
หรือจะเห็นดีแก่ใจอย่างไรอยู่ |
ก็ย่อมรู้อยู่ทีเดียวว่าเปรี้ยวหวาน |
เมื่อมิเศร้าแล้วก็สรวลไม่ควรการ |
แต่อย่าประจานพักตรน้องให้หมองนวล |
ไม่รักตัวเลยว่าบัวบงกชรัตน |
ในจังหวัดสินธุวงศ์ไว้จงสงวน |
จะคลี่คลายขยายแย้มต่อยามควร |
อรุณจวนจะส่องแสงจึงแบ่งบาน |
มิได้เลือกเลยอุบลทุรนแบะ |
ให้ร่านบุ้งมุ่งแทะเปนอาหาร |
แมลงภู่นั้นว่ารู้รสสุมาลย์ |
ก็ควรบานกลีบรับสำหรับเชย |
เออเมื่อกบหลบร้อนเข้าอาศรัย |
จะแย้มให้กบกลั้วหรือบัวเอ๋ย |
มาเลียนเล่นเช่นนี้ยังมิเคย |
จะดมเตยต่างดอกรสสุคนธ์ |
เห็นว่าจะเปนแล้วกลับหาย |
คล้ายคล้ายเหมือนจะชังแล้วยังฉงน |
นี่เพราะรักร้อนร่านเหลือทานทน |
จึงนิพนธ์สารแสดงมาแจ้งเอย ฯ ๔๖ คำ ฯ |
๏ สารสัตย์สุจริตไม่คิดแหนง |
เห็นแล้วที่ว่าจริงทุกสิ่งแสดง |
ถึงมิแจ้งก็มาแจ้งว่ารักเรา |
นี่ผีบอกดอกกระมังชาววังเอ๋ย |
เห็นเชิงเชยผิดกระบวรสำนวนเจ้า |
ดูแหลมความออกที่ถามคดีเดา |
พี่มัวเมาเสน่ห์อยู่พึ่งรู้นาง |
ก็น่าสรวลควรหรือน้องเปนสองพักตร์ |
ไม่ทันคิดเลยว่ารักจะเร็วหมาง |
เมื่อหลายหูแล้วเขารู้เรื่องระคาง |
หาไม่ร้างรักน้องให้หมองนวล |
อย่าเสแสร้งแกล้งกล่าวให้ฉาวเรื่อง |
ก็จะรื้อลือเลื่องเครื่องคนสรวล |
เห็นสมศักดิ์สมนามทั้งงามกระบวร |
เห็นสมควรที่เปนชาติเชื้อชาววัง |
เห็นสมทั้งคารมรับช่างกลับกลอก |
ดั่งระลอกกลิ้งกลบกระทบฝั่ง |
เห็นสมคำสารพัดที่สัจจัง |
นี่สมหวังแล้วสิเจ้าจึงเมามัน |
เสียดายชื่นเมื่อยามเคยเชยสมร |
เสียดายที่ทำชอ้อนให้รับขวัญ |
เสียดายยศประดิพัทธจนอัศจรรย์ |
เสียดายชั้นเชิงกระบวรให้ยวนใจ |
ยังไม่ทันจืดจางในทางเสน่ห์ |
สิกลับเร่ร่ายรักยักอย่างใหม่ |
ยิ่งดูก็ยิ่งเห็นยิ่งเปนไป |
เอออะไรยังมาก่อให้ต่อความ |
ไม่รู้หรือว่ารักพ้องเปนสองรัก |
ไม่เห็นพักตรพี่หรือจึงรื้อถาม |
พี่ติดเชยอยู่จึงชวดไปชมงาม |
ใช่จะขามเคืองใจหาไม่เลย |
ก็จริงแล้วที่ว่าพี่นี้มีมาก |
เปนแต่หลากชมลองดอกน้องเอ๋ย |
ที่มั่นหมายแลกลายไปเปนเตย |
พี่จะเชยไปกระนั้นสักพันนาง |
กว่าจะต้องอารมณ์เราช่างเย้ายั่ว |
เช่นวันทองสองผัวเปนตัวอย่าง |
จะถนอมแนบกายไม่วายวาง |
ถึงขุนช้างจะชิงเชยไม่เฉยแช |
ถ้าอุประมาก็เหมือนลำแม่น้ำใหญ่ |
ร่วมรับชลาลัยได้หลายกระแส |
เปนที่จอดทอดสำเภาแลเรือแพ |
ออกเซงแซ่ขวักไขว่ทั้งไปมา |
คิดอย่างไรขึ้นหรือเจ้าจึงเดาถาม |
จะสมทบกลบความพองามหน้า |
น้อยหรือถ้อยคำมั่นที่สัญญา |
จะต้องว่าเสียให้สิ้นสำนวนกลอน |
แต่แรกเริ่มเดิมได้ภิรมย์รัก |
ถนอมนักมิให้ขัดมนัสสมร |
สุดแสนสวาทคำที่ร่ำชอ้อน |
ให้พาจรปลอมประชาทุกราตรี |
เมื่อครั้งฟังช้าหงส์ก็สงสัย |
เหมือนโกรธขึ้งจึงมิไปด้วยกับพี่ |
พอเลื่อมรู้ข่าวระคายว่าร้ายดี |
เขาบอกมี่ก็ไม่แหนงรแวงความ |
เพราะเชื่อใจอยู่ว่าใจเจ้าจงรัก |
เห็นเกินนักจึงมิได้ออกปากถาม |
สู้แค่นขืนฝืนฝ่าพยายาม |
แต่ติดตามพากเพียรเจียนขวบปี |
แล้วยังซ้ำทำไถลมาให้เห็น |
ว่าจะไปดูเจ้าเซ็นแล้วแสร้งหนี |
ต่อตามพบจึงได้ล่วงรู้ท่วงที |
ทำหลบลี้เมียงเมินสเทิ้นอาย |
นี่หากกล้าฝ่าเข้าไปทักถาม |
จึงได้ความว่าเปนเนื้อในเชื้อสาย |
ก็นึกอางขนางใจอยู่ไม่วาย |
ด้วยเชิงชายนั้นสนิทผิดทำนอง |
ครั้นชวนเชิญเดิรเล่นอย่างเช่นหลัง |
ก็นิ่งนั่งเสียมิเยื้อนเหมือนหมางหมอง |
จะให้สลาสิเคยเลือกก็เสือกซอง |
แกล้งต้องลองก็สบัดว่าขัดใจ |
แต่หลีกเลี่ยงเบี่ยงเบือนทำเชือนเฉย |
เมื่อไม่เคยเลยเห็นผิดนี่คิดไฉน |
เปนสองครั้งแล้วยังไม่สิ้นอาลัย |
จนวันไปผ้าป่าเคยพาจร |
ได้นัดแนะว่าจะแวะมารับเจ้า |
อย่างไรเล่าเออไฉนจึงไปก่อน |
ประหลาทใจหรือจะแค้นหรือแสนงอน |
หรือจะซ้อนกลคิดปกปิดความ |
จึงรีบเรือตามมามหานาค |
ตั้งแต่ปากคลองเลี้ยวก็เที่ยวถาม |
ได้กลิ่นร่ำอบอายก็พายตาม |
จนพบงามฟังกลอนครึ่งท่อนฮา |
ให้แซกเรือเข้าไปชิดแล้วพิศทั่ว |
กำลังมัวอยู่เจียวหนอหัวร่อร่า |
จึงกระแอมให้ประจักษ์เบือนพักตรมา |
ได้ทัศนาหน้าพี่เปนที่อาย |
ให้ถอยเรือเสียไม่ฟังละช่างหยาบ |
พี่ก็ทราบเชิงเชือนในเงื่อนสาย |
อุส่าห์ฝ่าฝืนพักตรสู้ทักทาย |
ไม่ภิปรายตอบคำทำมึนตึง |
เมื่อรู้เช่นเห็นครบคำรบสาม |
ซึ่งแหนงความมาแต่หลังพึ่งหยั่งถึง |
คิดจะใคร่ฉาวชื่อให้ลืออึง |
ก็เหมือนหนึ่งสาวไส้ให้กากิน |
พี่สู้อดออมฤทัยอาลัยสวาท |
เห็นว่าวาสนาสร้างค่อยห่างถวิล |
นึกมานะในสันดานด้วยพาลทมิฬ |
อันแผ่นดินจะไร้หญ้านั้นอย่าคิด |
ซึ่งความขำล้ำลึกนั้นนึกไฉน |
ก็แจ้งใจเสียแล้วเจ้าอย่าเฝ้าปิด |
อันควันไฟใครห่อนจะงำมิด |
พอรู้ฤทธิรักซ้อนอย่าย้อนรอย |
นี่สิ้นปลื้มหรือจึงลืมอารมณ์ภ้อ |
สิ้นอาลัยไฉนหนอจึงท้อถอย |
เออก็ยังแต่จะเชิดให้เลิศลอย |
พี่ก็คอยชมวาสนาอนงค์ |
ทุกวันนี้มีแต่ยิ้มกระหยิ่มจิตต์ |
ด้วยว่าคิดไว้ก็สมอารมณ์ประสงค์ |
ฝ่ายเจ้าเหล่าเหมวราพงศ์ |
จะมาลงหนองน้อยเร่งถอยคืน |
คิดเสียใหม่ไปสถานที่ธารลึก |
เล็บจะสึกสั้นซ้ำเพราะน้ำตื้น |
จงบินร่อนกว่าจะอ่อนลงยั่งยืน |
อย่าได้คืนคิดหวังความหลังเอย ฯ ๕๘ คำ ฯ |
๏ คิดถึงแพรเลี่ยนแล้วเสียดายเหลือ |
เปนฝีมือของหม่อมย้อมมะเกลือ |
ได้ห่มสนิทแนบเนื้อมานมนาน |
เจ้าแล่งเพลาะเลาะให้เมื่อไปทัพ |
อุส่าห์หอบหิ้วกลับมาถึงบ้าน |
ฝากไปอบพบมือคนจัณฑาล |
นึกประจานคนจนไม่อนิจจา |
เมื่อคราวดีสิ่งดีก็มีมั่ง |
เมื่อคราวชังกะไรชังจนชั้นผ้า |
ทำได้ดูเถิดไม่เวทนา |
ถึงผุราก็ยังรักเพราะรอยกาย |
นี่ผิดชอบเปนกะไรไฉนหนอ |
จึ่งตั้งข้อเคืองแค้นไม่รู้หาย |
ถ้าไปได้ก็จะไปให้ใกล้กาย |
จะหยิกตีเสียให้ตายก็ตามบุญ |
สงสารหน้าที่ไปพาให้ผ้าขาด |
เหมือนตีวัวกระทบคราดคราวหันหุน |
แม้นผ้าอยู่ก็เหมือนดูยังการุญ |
จงตั้งทุนรักรักให้แรมคลาย |
ถึงสิ้นผ้าไปก็ดียังมีเล็บ |
ฉันกอดเก็บซ่อนไว้ยังไม่หาย |
เมื่อทุกข์ระทมจะได้ชมไปต่างกาย |
หรือจะซื้อเล่าจะขายให้เต็มแพง |
เพราะว่าเปนสำคัญมั่นกว่าผ้า |
ตามประสาภักดีไม่มีแหนง |
นิจจาเอ๋ยทำเยียมิเสียแรง |
เหมือนจะแกล้งให้อัประมานคน |
เสียดายนักอนิจจาผ้าเพื่อนยาก |
ได้ห่มตรากแดดน้ำกรำฟ้าฝน |
แต่จะไปไหนนิดก็ติดตน |
มิให้คนอื่นต้องถึงสองเลย |
เมื่อยามนอนก็เอาห่มชมถนอม |
ยังหวนหอมกลิ่นอายไม่หายระเหย |
เหมือนจะนำความสนิทให้คิดเคย |
ถึงคราวช้ำก็ได้เชยเพราะชูใจ |
ทีนี้สาบสูญแน่แล้วแพรดำ |
จะระยำย่อยยับเปนไฉน |
จะถ่วงน้ำหรือเจ้าจะเผาไฟ |
กรรมอะไรของข้ามาตามทัน |
ที่ให้ไปนั้นด้วยใจสุจริต |
คิดจะให้ดูผ้าต่างหน้าฉัน |
ตามประสายากใจที่ไกลกัน |
ไม่สำคัญว่าจะคิดเคืองระคาย |
เห็นเปลี่ยนผ้ามาให้ห่มสมคิด |
หรือจะผิดที่ของหม่อมนั้นหอมหาย |
จึงตอบแทนทำได้จะให้อาย |
อนิจจาน่าเสียดายแพรดำเอย ฯ ๒๔ คำ ฯ |
๏ เคราะห์เอ๋ยเคราะห์จำเพาะพ้องตรงของขำ |
คิดต่อคิดไม่ผิดเลยกรรมเอ๋ยกรรม |
มาซ้ำซ้ำแซกรักสลักทรวง |
ยิ่งหนักแน่นแสนช้ำกระหน่ำหนัก |
ดั่งพลิกผลักเมรุไกรไศลหลวง |
ต้องยากเย็นเช่นเหมือนหมายเดือนดวง |
ไหนจะล่วงละฟ้าลงมาดิน |
เปรียบวิหคนกน้อยต้อยติวิด |
หรือจะคิดข้ามมหาชลาสินธุ์ |
จะอ่อนจิตต์อิดโรยด้วยโบยบิน |
ถ้าจะสิ้นสุดกำลังชีวังวาย |
แม้นนกน้อยต้อยติวิดฤทธิดั่งครุฑ |
คงข้ามสมุทร์ไทถึงเหมือนหนึ่งหมาย |
ด้วยแรงราชปักษิณบินสบาย |
พวกพระพายจะพัดวุ่นกะตุ้นเตือน |
โอ้อกนกเหมือนอกนี้ไม่มีผิด |
ถึงจะคิดแข่งไปก็ไม่เหมือน |
ต้องเสงี่ยมเจียมจนเพียงพลเรือน |
จะเอื้อมเอื้อนออกปากก็ยากเย็น |
สู้ห้ามรักหักใจไว้ในหน้า |
ยิ่งห้ามตาตาชวนให้หวนเห็น |
ครั้นห้ามใจให้สวาทขาดกระเด็น |
ใจก็เปนเห็นงามไปตามตา |
ใจเอ๋ยอดสกดใจลงไว้มั่ง |
ใจไม่ฟังเฝ้ารักนั้นหนักหนา |
ใจยิ่งคิดพิศวาสไม่คลาดคลา |
ทุกเวลาหลงครวญรัญจวนใจ |
อกเอ๋ยอกโอ้ยากลำบากอก |
ดั่งกลิ้งครกระหกระเหิรขึ้นเนินไศล์ |
จะทุกข์ทับคับอกวิตกไป |
อกจะไหวหวั่นว้าให้อาวรณ์ |
อันทุกข์เราเท่าพระลอพอเหมือนเหมือน |
ทุกข์ถึงเพื่อนแพงทองสองสมร |
จนเคลิ้มองค์หลงคลั่งไม่นั่งนอน |
ละนครเข้าสู่สวนของนวลนาง |
ได้ร่วมห้องสองอนงค์ทรงเกษม |
ต่างปรีดิ์เปรมประดิพัทธไม่ขัดขวาง |
ครั้นถึงกรรมจำตายต้องวายวาง |
ทั้งสองนางพินาศแนบอยู่แอบองค์ |
อิกนิยายตายด้วยรักสมัคสมาน |
เรื่องบุราณนานครันสุวรรณหงส์ |
ได้ร่วมรักอัคเรศเกศสุริยงค์ |
หอกยนต์ตรงตรึงอุราชีวาวาย |
ถึงกษัตริย์สององค์ปลงชีวิต |
ได้เชยชิดพิสมัยเหมือนใจหมาย |
โอ้องค์ท้าวเจ้าลมานสงสารกาย |
มาต้องตายวายวางด้วยนางลเวง |
รักวันลาอาสาทัพเขาจับได้ |
จนบรรลัยอยู่ในเกาะไม่เหมาะเหม็ง |
ฟังเรื่องราวเจ้าลมานนึกพานเกรง |
ให้วังเวงหวั่นจิตต์หวิดหวิดใจ |
ตรองดูรักรวนเรคเนแหนง |
ยังไม่แจ้งนี่จะแท้แน่หรือไฉน |
แม้นลมปี่บิดนิ้วพลิกพลิ้วไป |
คงบรรลัยเล่ห์ลมานไม่ทานเลย |
ถ้าสมคิดชีวิตวายไม่อายเขา |
เกรงแต่เปล่าเปล่าตายน่าอายเอ๋ย |
คำคนคงเลียมเลียบว่าเปรียบเปรย |
จะยิ้มเย้ยยิ่งจะรับแต่อัประมาน |
ทั้งที่พึ่งพวกพ้องมองหาหาย |
คิดถึงกายกำพร้าน่าสงสาร |
มีแต่คนคุมชังด้วยจังฑาล |
ปองจะรานเรื่องสวาทให้ขาดลอย |
สู้โน้มน้อมเหนี่ยวรักฉุดชักกิ่ง |
ยังรังแกแร่วิ่งมาชิงสอย |
ช่างชอ้อนอ่อนฅอเข้าผลอพลอย |
ขึ้นหน้าลอยคอยขัดสกัดสแกง |
เจ็บจิตต์ใจประมาทปิศาจซ้ำ |
จะต้องทำกระบานบัตรปัดแสลง |
ปอบชมบหมู่พรายที่ร้ายแรง |
อย่าให้แฝงเฝ้าประจำอยู่กล้ำกราย |
จงไปสู่ไม้ยูงสูงไม้ใหญ่ |
ที่แน่นเหน็บเจ็บไข้จะได้หาย |
พี่เส้นวักสักเท่าไรก็ไม่คลาย |
ช่างเคราะห์ร้ายหลายอย่างต่างต่างเปน |
ทั้งหย่อนยศถดถอยทั้งน้อยหน้า |
ทั้งพาสนาสารพัดจะขัดเข็ญ |
จะริรักมักลำบากยอดยากเย็น |
มิได้เว้นวันร่ำที่คร่ำครวญ |
เหมือนหมายชมบุบผชาติไกลาสลิบ |
มณฑาทิพย์เทพบุตรสุดสงวน |
ขจรกลิ่นรินรื่นให้ชื่นชวน |
วายุหวนหอมอบตระหลบดิน |
สาโรชรื่นพื้นสุธาฟากฟ้าฟุ้ง |
ภมรมุ่งหมายคนึงพึงถวิล |
ลืมดอกไม้ในจังหวัดปัถพิน |
เฝ้าเพียรบินโบกปีกหลีกลมบน |
แมงภู่น้อยถอยกำลังปีกยังอ่อน |
สุดจะร่อนเร่ฟ้าเวหาหน |
ไม่กลัวยากพากเพียรเฝ้าเวียนวน |
มิได้พ้นพุ่มไม้ขึ้นไปเลย |
ถึงจะอ่อนหย่อนกำลังไม่ยั้งหยุด |
จนปีกหลุดหล่นตกแลอกเอ๋ย |
แม้นบุญหลังแมลงภู่เปนคู่เคย |
คงได้เชยช่อบุบผามณฑาทอง |
เพี้ยงเอ๋ยเพี้ยงเสี่ยงกุศลช่วยดลให้ |
เทพไทที่เฝ้าเปนเจ้าของ |
ประทานทิพยมาลยดั่งใจปอง |
ให้ลิ่วล่องลอยฟ้าลงมามือ |
จะยื่นกรกรีดก้อยค่อยค่อยหยิบ |
มณฑาทิพย์ที่ประทิ่นประคิ่นถือ |
ประคองหัดถ์ไว้มิให้สัมผัสมือ |
จะรักรื้อร่ำภิรมย์เฝ้าชมเชย |
เมื่อยามนอนนั้นจะยกขึ้นอกแอบ |
ประทับแทบทรวงถนอมหอมระเหย |
เมื่อยามนั่งนั้นไม่วางให้ห่างเลย |
สงวนเชยชิดชื่นทุกคืนวัน |
จะพูลเพิ่มพิศวาสไม่ขาดรัก |
ให้สมศักดิ์สุมาลัยในสวรรค์ |
อย่าให้คอยลอยฟ้ามาพลันพลัน |
จะรับขวัญขวัญฟ้าลงมาเอย ฯ ๕๖ คำฯ |
๏ โฉมทิพยประทุมโกสุมสวรรค์ |
พึ่งผุดพ้นชลชูเคียงคู่กัน |
อยู่ในวันโนทยานสถานอินทร์ |
ขึ้นบังใบใกล้ฝั่งอยู่ทั้งคู่ |
ยากที่หมู่แมงภู่ผึ้งจะพึงถวิล |
ไปไม่ถึงเทวโลกเฝ้าโบกบิน |
ตามแต่กลิ่นอยู่แต่ไกลไม่ใกล้กราย |
ยังไม่บานแบ่งผกาสร้อยสาโรช |
อยู่ในโบษขรณินกระสินธุ์สาย |
อุบลอื่นดื่นระดะในสระราย |
มีมากมายหลายหลามไม่งามเกิน |
อันสองอุบลพ้นกระสินธุ์ส่งกลิ่นกลบ |
หอมตระหลบลอยฟ้าเวหาเหิร |
ระรื่นรินกลิ่นฟุ้งจรุงเจริญ |
ดั่งจะเชิญชวนหมู่แมงภู่ทอง |
ด้วยดอกไม้ไกลมนุษย์อยู่สุดสูง |
เหลือที่ฝูงภุมรินจะบินผยอง |
ครั้นจะลอยลมหลีกด้วยปีกปอง |
ให้ข้ามห้องคัคณานต์สถานทาง |
ปีกยังอ่อนหย่อนย่อท้อระทด |
จะต้องลมคมกรดหมดปีกหาง |
เกรงว่าไปจะไม่รอดตลอดปาง |
จะต้องคว้างกลางดินชวดบินโบย |
ใจหนึ่งรักหักจะไปใจหนึ่งรั้ง |
เปนครั้งครั้งคราวครวญให้หวนโหย |
สงสารพวงภุมรินที่ดิ้นโดย |
ประกอบโกยกองวิตกโอ้อกกรม |
ต้องกรอมเกรียมเจียมจิตต์ชนิดนี้ |
ป่วยการปีมิได้พบประสบสม |
ปองสวาทมาดหมายแต่ลายลม |
อกระทมเทวษเศร้าทุกเช้าเย็น |
แม้นเมื่อใดได้พุ่มประทุมทิพย์ |
ที่ลอยลิบลับฟ้ามาให้เห็น |
จะรื่นรสเรณูมาลย์ซ่านกระเซน |
พอวายเว้นวันรำลึกที่ตรึกตรอง |
โอ้นึกนึกตรึกไปก็ใจเปล่า |
เมื่อไรเล่าดวงประทุมที่หุ้มหอม |
จะแย้มขยายคลายคลี่ปราณีประนอม |
ประนมน้อมก้านผกาลงมามือ |
จะยื่นหยิบทิพยประทุมโกสุมสอง |
ใส่พานทองถมยาหัดถาถือ |
ถนอมไว้มิให้ช้ำด้วยน้ำมือ |
จะรักรื้อร่ำภิรมย์เฝ้าชมเชย |
เมื่อยามนอนนั้นจะยกขึ้นอกแอบ |
ประทับแทบทรวงถนอมหอมระเหย |
เมื่อยามนั่งนั้นไม่วางให้ห่างเลย |
จะชมเชยชูชื่นทุกคืนวัน |
แนบสนิทพิสมัยรักใคร่ครุ่น |
ให้สมบุญบัวหลวงในสรวงสวรรค์ |
จงเห็นใจที่รัญจวนคร่ำครวญครัน |
ขอเชิญขวัญเนตรน้องอย่าข้องเคือง |
จะรักใคร่ในนุชไม่สุดสิ้น |
จนม้วยดินสิ้นหล้าฟากฟ้าเหลือง |
คุ้งวันตายวายชีวิตปลดปลิดเปลือง |
มิได้เปลื้องปลิดสวาทนิราสแรม |
ที่กล่าวความตามธรรมเนียมเทียมประเทียบ |
อย่าระคายภิปรายเปรียบว่าเฉียบแหลม |
ใช่จะแกล้งแต่งนิพนธ์เปนกลแกม |
มาลอมแลมลองโฉมประโลมชม |
จงรู้รักประจักษ์จิตต์อย่าคิดขาม |
ล้วนคำงามความจริงทุกสิ่งสม |
อย่าคลางแคลงแหนงน้ำคำคารม |
จะมอบจิตต์สนิทสนมไว้นมนาน |
เปรียบดั่งลอหน่อไทตามไก่เถื่อน |
ไปสมเพื่อนแพงงามสามสมาน |
เคยได้ฟังมั่งหรือไม่ในนิทาน |
แม้นได้อ่านฟังเล่นก็เช่นกัน |
สองวิมลมณีศรีสวัสดิ์ |
อย่าสลัดตัดรอนจงผ่อนผัน |
ให้เปนคู่อยู่เหมือนเดือนตวัน |
เกิดสำหรับกัปป์กัลป์เช่นนั้นเอย ฯ ๓๖ คำ ฯ |
๏ คิดถึงหม่อมจอมอนงค์สุดสงสาร |
นิจจาเอ๋ยเคยเปนโสดเปรื่องโปรดปราน |
สถิตสถานสถาพรบวรวัง |
เพียงจอมเมรุพิมานนิพพานพ้น |
ก็เสื่อมสุขเศร้ากมลกว่าหนหลัง |
ใครจะชุบอุปถัมภ์เปนกำลัง |
ให้เหมือนครั้งคราวเดิมเปนเจิมจอม |
จะมีสุขสักเท่าไรก็ไม่ชื่น |
สมบัติอื่นไม่อิ่มใจคงไผ่ผอม |
ถึงบริสุทธิผุดผ่องเหมือนหมองมอม |
ต้องจำออมอดใจอยู่ในทรวง |
ชั้นจะชื่นชอบกับใครให้สนิท |
ต้องเสงี่ยมเจียมจิตต์ตขิดตขวง |
จะทาแป้งแต่งสกนธ์คนทั้งปวง |
ก็จะล่วงลักนินทาท่าเจ็บใจ |
อันชาวในไหนจะสิ้นขมิ้นแป้ง |
ก็ต้องแต่งตัวงามตามวิสัย |
ครั้นไม่ทาจะว่าเนื้อล้วนเหื่อไค |
ทำอย่างไรก็ไม่สิ้นซึ่งนินทา |
แม้นถึงมียศถาอาชญาสิทธิ์ |
ยากจะคิดปิดงำคำครหา |
คำคนยาวกล่าวมากเกินปากกา |
มักพูดจาเลียมลับให้อัประมาน |
เหมือนนางหงส์เหมราชอันขาดคู่ |
ทำรังอยู่ยอดไม้ในไพรสาณฑ์ |
จะหาเหยื่อเผื่อบุตรสุดกันดาร |
ไปไหนนานนักก็ห่วงด้วยรวงรัง |
แต่ก่อนบุญขุนวิหคป้องปกอยู่ |
ได้เปนคู่อยู่พุ่มไม้คุ้มขัง |
แม้นสิ้นที่อุปถัมภ์อยู่ลำพัง |
กาเหยี่ยวเฉี่ยวชังโฉบรังรวง |
เปรียบเหมือนพรรณพฤกษาบรรดาไม้ |
อันปลูกไว้ที่ควรในสวนหลวง |
มีลูกดกระกะต้นทรงผลพวง |
แม้นไม่หวงแหนนิ่งทิ้งละเลย |
เปนที่ปองปักษาหมู่กานก |
คงอันตรายวายดกแล้วอกเอ๋ย |
ทั้งวลาหกหายไม่ปรายเปรย |
ให้ชุ่มเชยชื่นชื้นพ่างพื้นดิน |
ไม่มีหมู่ผู้คนจะปรนิบัติ |
จนพื้นปัถพีแห้งเปนแท่งหิน |
แม้นไม่ฟื้นพื้นสุธารดวาริน |
ไหนจะสิ้นโศกเฉาซุดเศร้าโทรม |
ดั่งดาวน้อยพลอยแจ้งด้วยแสงบุหลัน |
ขึ้นส่องสวรรค์สว่างเลิศลอยเฉิดโฉม |
เมื่อเดือนดับลับฟ้านภาโพยม |
อัคคีโคมก็จะแข่งกับแสงดาว |
ธรรมดานารีไร้ที่พึ่ง |
ถึงผ่องถึงเทียมอย่างนกยางขาว |
รักษาตัวเต็มดีเหมือนมีคาว |
คนคงกล่าวข่าวพร้องว่าหมองมัว |
ดั่งเพ็ชรเคลื่อนเรือนเก็จอยู่เม็ดเปล่า |
จะเสื่อมเศร้าแสงมณีสีสลัว |
หาเรือนรองทองถมให้สมตัว |
จะยังชั่วชูช่วงดวงวิเชียร |
แม้นเอองค์อางขนางอยู่อย่างนี้ |
ไม่พ้นที่ตรีชาคำพาเหียร |
ควรอนงค์จงดำริห์กันติเตียน |
ถ้าคนเบียนเบียดถ้อยพลอยรำคาญ |
ซึ่งคำเปรียบเลียบลึกล้วนปฤกษา |
วานอย่าว่าหวังสวาทเอื้อมอาจหาญ |
เห็นอยู่เดียวเปลี่ยวอารมณ์มานมนาน |
คิดสงสารแสนรักจึงชักจูง |
เดิมไม่เศร้าเสื่อมสลดมียศอยู่ |
เคยเปนคู่เคียงหงส์ที่วงศสูง |
ก็สิ้นหงส์แล้วจงวกลงนกยูง |
อย่าให้ฝูงกากวนไม่ควรเคียง |
จงเมินกาหาบุหรงเหมือนหงส์มั่ง |
ให้เขาสั่งรเสริญลือออกชื่อเสียง |
วานอย่าพิศวาสหวังที่วังเวียง |
จงดูเยี่ยงอย่างสุวรรณกันยุมา |
บุราณว่าเข้าเถื่อนหาเพื่อนเที่ยว |
อย่าอยู่เดียวเปลี่ยวจิตต์จงคิดหา |
ตามอารมณ์ให้สมดั่งเตือนมา |
เสียดายปรารมภ์ด้วยช่วยทุกข์แทน |
อันอยู่เดียวอย่างนี้หาดีไม่ |
มีบ่าวไพร่พรั่งพร้อมเฝ้าห้อมแหน |
มีสักหมื่นดื่นดาษดั่งขาดแคลน |
ก็จะแม้นเหมือนกับอยู่ผู้เดียวดาย |
ถ้ามีคู่อยู่ถึงแม้นจะแสนเศร้า |
อาจบันเทาทุกข์ร้อนให้ผ่อนหาย |
ได้คุ้มครองป้องกันอันตราย |
ทั้งจะดับอับอายวายรำคาญ |
ก็ยังไม่กะไรกันเช่นชั้นนี้ |
ควรจะมีที่รักสมัคสมาน |
อันนารีนี้เหมือนพุ่มประทุมมาลย์ |
ถ้านิ่งนานเนิ่นนักคงจักโรย |
ทำนอนใจไปข้างหน้าฉวยคว้าผิด |
ต่อได้คิดจึงจะค่อยละห้อยโหย |
ใบพฤกษาถ้าพระพายพัดชายโชย |
ก็ควรโบยโบกใบไหวตามลม |
คำบุราณว่าเลือกนักมักได้แร่ |
หาหวานนักมักจะแปรแชขม |
แม้นเฉยนักมักจะช้าอย่านิยม |
ถ้าตรึกนักมักจะกรมไปนมนาน |
จงฟังคำตามตำราสุภาษิต |
อย่าให้ผิดแบบแผนล้วนแก่นสาร |
หยั่งฤทัยใคร่ครวญให้ควรการ |
เชิญสมานหมายประสงค์เปนมงคล |
แม้นมีจิตต์ชิดชอบระบอบบท |
จะปรากฏยศศักดิ์เพิ่มพักผล |
ได้พาชื่นรื่นสำราญบานกมล |
ที่กังวลถวิลเดิมจะเคลิ้มคลาย |
จงตรองตามความทุกสิ่งจริงหรือไม่ |
แม้นจริงใจแล้วจงรักสมัคหมาย |
ให้สมคำทำเนียบที่เปรียบปราย |
อย่าระคายเคืองความว่าลามลวน |
อย่าพบพักตรรักใคร่ให้สนิท |
ขอชอบชิดเชิงรักอย่าหักหวน |
ถ้าโฉมงามตามอารมณ์เห็นสมควร |
จงประมวลมิตรใจเปนไมตรี |
จะพูลเพิ่มพิศวาสไม่คลาดเคลื่อน |
ทุกวันเดือนมิได้คลายหน่ายหนี |
เฝ้ารักใคร่ไปจนตายวายชีวี |
อยู่เมืองผีจะขออยู่เปนคู่กัน |
แม้นเกิดไหนให้ได้พบประสบสิ้น |
บาดาลดินแดนดลบนสวรรค์ |
ทุกทุกชาติอย่าขาดรักเลยสักวัน |
จนม้วยดับกัปป์กัลป์พุทธันดร |
จงไมตรีตอบตามความพิศวาส |
ให้สมมาดเหมือนหมายสายสมร |
อย่าหมางเมินเนิ่นนิ่งให้วิงวอน |
เชิญโอนอ่อนหย่อนหาตามอารมณ์ |
แม้นสมัครักใคร่ดั่งใจคิด |
จะเคียงคู่ชูชิดสนิทสนม |
ถนอมนอนกรรับประทับประทม |
ให้แสนสมมนัสแนบแอบอกเอย ฯ ๖๔ คำ ฯ |