อธิบายเพลงยาวจดหมายเหตุ
ของคุณสุวรรณ
เพลงยาวนี้เปนสำนวนผู้หญิงชาววังแต่ง เจ้าของเรียกว่านิราศ แต่ที่แท้เปนเรื่องจดหมายเหตุ ครั้งกรมหมื่นอับศรสุดาเทพ พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประชวรตั้งแต่เดือน ๔ ปีเถาะเบญจศก พ.ศ. ๒๓๘๖ ประชวรอยู่ช้านานกว่า ๖ เดือน การรักษาพยาบาลกวดขันแขงแรง ด้วยเปนพระเจ้าลูกเธอที่ทรงพระเมตตามาก ผู้แต่งเพลงยาวเปนข้าหลวงอยู่ในกรมหมื่นอับศรสุดาเทพอยู่ที่ตำหนัก จึงจดหมายเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้เปนกลอนเพลงยาวสำนวนที่แต่งว่าตามนิไสยใจคอของผู้หญิงก็จริง แต่เมื่ออ่านพิจารณาดู เห็นว่ามีทางความรู้เรื่องโบราณคดีอยู่มาก ควรรักษาไว้มิให้สูญเสีย
ผู้ที่แต่งเพลงยาวนี้ แม้ไม่บอกออกตัวไว้ให้ปรากฎตรงๆ ก็รู้ได้โดยทางความในเพลงยาวกล่าวไว้ในที่แห่ง ๑ ว่าเปนของคุณสุวรรณแต่งเปนแน่นอนไม่มีที่สงไสย คุณสุวรรณนี้เปนธิดาพระยาอุไทยธรรมกลาง เปนราชินีกูลบางช้าง ได้ความตามที่ปรากฎในเพลงยาวนี้ ว่าแรกถวายตัวอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๘๔ ไปอยู่ในสำนักกรมหมื่นอับศรสุดาเทพ คุณสุวรรณเห็นจะชอบแต่งกลอนมาตั้งแต่ยังสาว ไปอยู่ในวังได้ ๓ ปีแต่งเพลงยาวนี้ดูก็สันทัดกลอนอยู่แล้ว แต่มามีชื่อเสียงเลื่องลือว่าฟุ้งเฟื่องในกระบวนกลอนเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ด้วยมาในตอนปลายคุณสุวรรณเสียจริต อาการที่เสียจริตก็วุ่นไปแต่ในกระบวนแต่งกลอนอย่างเดียว กลอนที่คุณสุวรรณแต่งเมื่อเสียจริตแล้วบางทีก็ขบขัน ถึงท่องจำกันไว้ได้จนทุกวันนี้ก็มี เช่นบทลครเรื่องพระมเหลเถไถ คุณสุวรรณแต่งไว้ดังนี้:-
๏ เมื่อนั้น | พระมเหลเถไถมะไหลถา |
สถิตย์ที่แท่นทอง............ | ศุขา........................เล |
วันหนึ่งพระจึงมะหลึกตึก | มเหลไถไพรพฤกษ์มฤกเข |
คิดจะไปเที่ยวชมมะลมเต | มเหลไถไพล่เผลทั้งสองรา ฯ |
๏ ครั้นถึงจึงเข้าตะหลุดตุด | ก้มเกล้าเค้าคุดตะหลาต๋า |
มเหลไถกราบไหว้ทั้งสองรา | จึงแจ้งกิจจามะเลาเตา |
ตัวข้าชื่อว่ามเหลเถ | ไม่สบายถ่ายเทกะเหงาเก๋า |
จะกราบลาสองราหน้าเม้าเค้า | เที่ยวไปชมเป่าพนาลี ฯ |
บทลครนี้ขันที่ไม่เปนภาษา แต่เข้าใจได้ดีว่าความเปนอย่างไร ยกตัวอย่างดังตรงว่า “วันหนึ่งพระจึงมะหลึกตึก” ที่ก็เข้าใจได้ว่า คือ “คิดขึ้นมา” ถ้าลองคิดต่อไปตรงว่า “ไม่สบายถ่ายเทมะเหงาเก๋า” ดูก็เข้าใจว่าคงไม่สบายถึงนั่งกอดเข่า ขันเช่นนี้จึงมักจำกันได้.
คุณสุวรรณถึงแก่กรรมเมื่อในรัชกาลที่ ๔ จะได้แต่งหนังสือไว้สักกี่เรื่องยังหาทราบไม่ แต่เพลงยาวจดหมายเหตุนี้มีอยู่ในสมุดเล่ม ๑ ซึ่งหอพระสมุดวชิรญาณได้มา จึงคัดมาพิมพ์ในสมุดเล่มนี้เปนครั้งแรก.