ปกีระณำพจนาดถ์

ข้าพระพุทธเจ้าพระยาศรีสุนทรโวหาร คิดคำกลอนเรื่องนี้เรียกชื่อว่าปกีระณำพจนาดถ์ คือ เทียบแบบสอนในคำใช้ต่างๆ ว่าเรี่ยรายไป เพื่อไว้สำหรับนักเรียนในโรงเรียนหลวง จะได้อ่านเล่าจำต้นข้อต่อลำดับในแบบสอนให้แม่นยำชำนาญ ได้ทูลเกล้า ฯ ถวายแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าดำรัสสั่งให้พระเจ้าราชวรวงษ์เธอ กรมขุนบดินทรไพศาลโสภณลงพิมพ์ที่โรงพิมพ์หลวง ในพระบรมมหาราชวัง ๑๐๐๐ ฉบับ ตีเสร็จ ณวันศุกร เดือนหก แรมสิบเอ็ดค่ำ ปีเถาะเอกศก ๑๒๔๑

๏ คำ คิดประดิดเค้า ขันขัน
กลอน กล่าวเลาเลศพันธ์ พาดพ้อง
สอน แจกแผนกปัน เปนหมวด
เด็ก นักเรียนอย่าร้อง ว่าแกล้งเกณฑ์สอน ๚
๏ คำกลอนสอนเด็กได้ ดูจำ
ไวพจน์สังเขปคำ คิดไว้
นามเรียกปกีระณำ พจนาดถ์ แลนา
เพียรคิดเพียรคัดให้ เด็กรู้ราวรบิล ๚
๏ พระศรีสุนทระสร้อย โวหาร
คิดคะติเบาราณ เรื่องนี้
เปนฉบับอักษรสาร สอนเด็ก
เฉกเช่นชูมือชี้ ช่องให้เห็นทาง ๚
  ๏ จะเริ่มริเกลากลอนสุนทรแถลง
นิพนธ์พจน์บทแยบแบบแสดง จะแจ้งแจงคำใช้ไว้เปนเลา
สำหรับเด็กนักเรียนได้เขียนหัด พอจำกัดทางโทษที่โฉดเขลา
จักเจริญเรื่องรู้อย่าดูเบา ดีกว่าเดาโดนคลำแต่ลำพัง
จะคิดคัดคำใช้ไว้เปนอย่าง คำต่างต่างเติมติดคิดต่อตั้ง
พอเปนเครื่องเตือนใจระไวระวัง แม้นเขียนพลั้งเสียศักดิ์ภูมนักเรียน
คำที่ใช้ไว้วางต่างต่างเลศ ล้วนส่อเหตุใช่จะว่าเปนพาเหียร
อาไศรยแยบแบบมคธบทจำเนียร เปนที่อ้างอย่างเขียนให้ถูกคำ
ลางวาจาเล่าก็มาแต่พากย์อื่น มีดาษดื่นตื้นฦกสุขุมขำ
ถ้าแม้นไม่ศึกษาอุสาหจำ ก็จะคลำคลุมโปงตะโพงดัน
(๑) ตัวสกดกานกานสารนุสนธิ์ โดยยุบลหกอักษรจงผ่อนผัน
คือ ญ ณ น ร ล ฬ ปัน เปนส่วนกันใช้แปลกแยกตามความ
ตัว ญ ใหญ่ใช้ตามมะคะธะ กาญจนะแปลว่าทองของสยาม
ท่านเจ้าเมืองกาญจน์บูรีผู้มีนาม แหวนนี้งามล้วนแล้วแก้วแกมกาญจน์
ขุนนางกรมช่างทองท่านรังสฤษดิ์ พระกาญจนานุกิจนามขนาน
ที่สกดณอใหญ่ใช้ว่ากาณ นี่คำขานแต่มคธบทบาฬี
ท่านแปลว่าตามืดเสียจักษุ รู้ให้ปรุโปร่งบ่อนอักษรศรี
ถึงคำไทยจะไม่ใช้ก็ตามที รู้ไว้ดีกว่าไม่รู้เปนผู้เรียน
กานสกดนอเล็กเด็กเด็กเอ๋ย เห็นแต่เคยคำไทยได้ใช้เขียน
กิ่งไม้ประระราญกานให้เตียน อุสาห์เพียรบ่นเล่าให้เข้าใจ
การสกดตัวรอนี้ข้อขำ แปลว่าทำงานการบรรหารไข
อันสุดแท้แต่ว่าทำการใดใด คงต้องใช้รอสกดหมดทุกคำ
ข้าราชการขาดราชกิจ ราชการหมั่นพินิจอย่าให้ถลำ
ถูกเกณฑ์ก่อปราการด้านประจำ จดถ้อยคำทุกประการสารคดี
คนพิการเห็นอาการพานจะผิด ปริษการให้เปนสิทธิ์แก่ฤาษี
ตระลาการทุกทุกศาลตระการมี คำเหล่านี้รอสกดบทว่าการ
ลอสกดบทกาลบรรหารเหตุ จงสังเกตคำใช้ที่ไขขาน
คือเวลาแลปีเดือนประมาณ กับที่ท่านจัดเปนวันปันเปนยาม
นาฬิกาทุ่มโมงบาตนาที วินาทีที่ใช้ในสยาม
จนถึงปราณแลอัปศรนับผ่อนตาม ลงในความคำว่ากาลสฐานเดียว
ปีน่าปีนี้อิกปีก่อน หนึ่งคำผ่อนว่าสักครู่สักประเดี๋ยว
ก็เรียกกาลเช่นกันฉะนั้นเจียว ยังลดเลี้ยวมาถึงความสามฤดู
คือน่าร้อนน่าหนาวแลคราวฝน ที่ชุ่มชลไปจนแล้งแห้งทุกผลู
น่าตรุศสารทปายาศอีกยาคู ทั้งเช้าตรู่เที่ยงสายแลบ่ายเย็น
ของเหล่านี้นับว่ากาลทุกสิ่งสรรพ์ พวกคืนวันชักมาว่าให้เห็น
กาลซึ่งมีหมวดใหญ่ในประเด็น ท่านจัดเปนส่วนอดีตอนาคต
ประจุบันบรรจบครบเปนสาม จัดโดยความทุกสฐานว่ากาลหมด
อันปีเดือนวันที่ล่วงไม่เหลือลด นั้นกำหนดว่าอะดีตะกาลมี
กาลที่ยังคงเปนเห็นชัดชัด ท่านแบ่งจัดเปนประจุบันนี่
ส่วนฃ้างน่ายังไม่มาท่านพาที ว่าเดือนปีเปนอนาคตะกาล
อายุสัตว์อิกอายุสาศนา ก็เรียกว่ากาละโดยโวหาร
ที่สำหรับนับใช้ในประมาณ พุทธสาศนกาลล่วงแลยัง
หนึ่งแผ่นดินโดยนับลำดับกระษัตริย์ ถวัลย์รัชเดือนปีเปนที่ตั้ง
ที่เรียกว่ารัชกาลแต่ปฐะมัง ตลอดทั้งสองสามตามนุกรม
พระสงฆ์อยู่พรรษกาลจำวรรษา ท่านใช้มาในบาฬีก็มีถม
เวลากาลโวหารหากนิยม ลอประสมเข้ากับกาใช้ว่ากาล
คำกาฬะฬอใหญ่ใช้สกด มีตัวบทแบบใช้ไม่วิดถาร
เดือนข้างแรมไม่สู้แจ่มชัชวาลย์ ใช้ว่ากาฬปักษ์ดำที่คล้ำมัว
องค์นารายน์ทรงสุบรรณนามขนาน ว่าพระทรงถนิมกาฬรู้กันทั่ว
มหาเมฆมหากาฬบันดาลกลัว สกดตัวฬอใหญ่ใช้กันมา
กาฬตัวนี้ศรีดำคำมคธ มีกำหนดใช้เห็นเช่นดังว่า
กานนิยมสาธกหกวาจา จงอุสาห์จำให้แน่อย่าแปรเปร
ในเวลาเมื่อจะเขียนต้องเพียรคิด ให้ตระหนักแน่แก่จิตรอย่าไขว้เขว
ถ้าจับพลัดจับพลาดคาดคะเน จะซวดเซเช่นอย่างหลักที่ปักเลน
แม้นประชุมสวนสอบจะตอบโต้ เขาจะโห่เย้ยฉาวเช่นกราวเฃน
ตัวไม่อาจโต้เถียงต้องเอียงเอน เพราะไม่เจนจิตรดำรงคงแก่เรียน
(๒) อันที่พึ่งน้ำผึ้งทั้งสองพจน์ ต้องกำหนดที่ในการจะอ่านเขียน
อย่าให้คละปะปนคิดวนเวียน ถ้าจะเขียนที่พึ่งใช่ตัวพอ
ไม่ต้องตริไม่ต้องตรึกไปฦกซึ้ง เขียนน้ำผึ้งรวงผึ้งใช้ตัวผอ
(๓) คำอยู่อย่าอยากอย่างนั้นนำออ เอาตัวหอนำก็ได้แต่ไม่ดี
ดูขัดตาหาเหมือนนำออไม่ เพราะเช่นใช้มีมากเปนสากษี
(๔) คำเสียงยาวเสียงสั้นนั้นก็มี ดังวาทีมือเท้าท้าวพระยา
ช่างเขาเบิกเงินตราไปห้าชั่ง กระทะตั้งเคี่ยวกาวยาวเลขา
เกาที่คันคำสั้นโดยสัญญา ก้าวบาทาเก้าย่างถึงทางตรง
ยวนเขาว่าท่านจะมาหาองทั่น คำกระชั้นคำยาวกล่าวประสงค์
ที่ท่ามกลางหว่างถ้ำคีรีวง ใช้ให้คงคำคู่ดูคะดี
เชากับชาวเปลี่ยนแปลนแทนกันได้ เห็นท่านใช้คำเหมือนไม่เคลื่อนที่
เช่นคำว่าโปรดเกล้าเชาบุรี ถึงขวบปีชาวต่างประเทศมา
อีกคำพูดพวกเราเชาวน์ไม่แล่น นี่แคะแค่นเอามคธภาษา
มาพูดใช้ไขขานครั้นนานมา คนเจรจาแพร่หลายกลายเปนไทย
เดากับดาวคู่นี้ก็มีชัด ควรจะจัดยาวสั้นออกขานไข
คนเขลาเขลามักจะเดาตะบึงไป ตำราดาวนี้ของใครเอาไว้ดู
(๕) อนึ่งว่าผู้ชายคล้ายผู้หญิง คนรู้จริงคงแก่เรียนเขียนว่าผู้
แต่คนอ่านก็คงอ่านขานว่าภู ถึงกระนั้นก็จงรู้ว่าผู้โท
(๖) คำถ้าท่าหน้าน่าเหมือนว่าเล่น ข้าเจ้าเห็นใช้เปรอะเลอะอะโข
ด้วยความที่ควรเอกไปใช้โท เพราะมัวโม่หไม่สังเกตซึ่งเหตุการ
อันถ้าโทใช้ที่บริกัป คำสำหรับเขียนใช้จะไขฃาน
ถ้ามีใครไปมาก็ช้านาน ถ้าพบพานแล้วจะทำให้หนำใจ
ตัวท่าเอกออกสยามภาษา เหมือนคอยท่าอยู่ที่ท่าชลาไหล
ขุนนางฝ่ายกรมท่าว่ากะไร ลครในรำช้าช้าเปนท่าทาง
อันหน้าโทใช้ที่มีชีวิตร คือลิขิตหน้ามนุษยสัตวทุกอย่าง
หน้าหนุ่มสาวรื่นรวยสวยสำอาง พระยาช้างหน้าผึ่งผึ่งถึงจะดี
น่าบันน่าบ้านทั้งน่าโบถ ยาวถึงโยชน์น่าเมืองรุ่งเรืองศรี
อีกน่าหนาวน่าร้อนผ่อนทวี เขียนน่าเอกใช้ที่ไม่มีใจ
(๗) คำว่าบังแลบางอีกบั้งบ้าง ความก็ต่างจงวิจารณ์จะขานไข
เหมือนบังแทรกบังสุริโยไทย ชักเชือกไขม่านมิดให้ปิดบัง
หนึ่งคำว่าหนาบางอีกบางพลัด บ้านบางช้างบางโควัดถัดบางขัง
บางลัดกรูดบ้านบางพูดเหนือบางพัง อย่าเขียนบังผิดเสียงสำเนียงบาง
คำว่าบ้างแลบั้งจงชั่งจิตร นึกวินิจเขียนให้ชัดอย่าขัดขวาง
ดาบกระบี่บั้งทองของจางวาง พวกขุนนางขัดกระบี่บั้งเงินงาม
คนอ้วนเหลือล่ำเนื้อเปนบั้งบั้ง เอาขึ้นชั่งน้ำหนักอย่าพักถาม
เอามีดบั้งให้เปนแผลแล้วแล่ตาม บั้งนี้ความเปนรัศสะอย่าละเลย
หนึ่งว่าบ้างไว้บ้างเถิดนางสุด ข้าก็อุตริบ้างพูดเฉยเฉย
บ้างก็เรียกทักทายพิปรายเปรย บ้างก็เงยบ้างก็ก้มบ้างล้มตึง
เองไปขุดไข่เต่าให้เราบ้าง ที่มันกว้างบ้างก็ไล่ไปไม่ถึง
บ้างตะโกนกู่ก้องบ้างร้องอึง บ้างถลึ้งบ้างก็โลดโดดไปพลาง
(๘) คำว่าเป่าแลว่าป่าวคราวจะเขียน ถ้าผิดเพี้ยนตัวไม่ชัดก็ขัดขวาง
เปนยาวสั้นสรรว่าในท่าทาง จะจัดวางคำใช้ไว้ให้ดู
เหมือนลงยันต์ลงเลขแล้วเศกเป่า มันเปนเด็กรู้ไม่เท่าต้องเป่าหู
หัดเป่าขลุ่ยเป่าปี่ดีเพราะครู เป่าฟู่ฟู่เป่าเพลิงลุกเริงเรือง
ที่เสียงยาวปาวปาวป่าวประกาศ ป่าวร้องราษฎร์เร่งดูให้รู้เรื่อง
พอร้องป่าวข่าวขุ่นวุ่นทั้งเมือง นี่แยบเยื้องป่าวเป่าพอเข้าใจ
(๙) กำกำม์กรรมสามคำนี่จำยาก ข้อวิภาคอธิบายขยายไข
อย่าคลำโคลนโดนเดาเชาวน์ไวไว คงจำได้ดอกอย่ากลัวตัวมันมี
เหมือนกำผักกำมืออีกกำหมัด บรรจงจัดรถทองให้ผ่องศี
ดุมปะแหรกแอกกำกงมณี เกวียนก็มีซี่กำค้ำกับดุม
อันตัวกำกกาสามัญหมด ใช้แต่บทคำไทยไม่สุขุม
หนึ่งกำม์มอการันต์นั้นก็ชุม เห็นเคลือบคลุมข้างเปนบทมคธปน
สำหรับใช้ในกลอนกกาล้วน ตามขะบวนแบบบังคับไม่สับสน
เหมือนเจ้ากำม์ซ้ำเอาเค้ายุบล อ่านทุกคนแต่ไม่จำไม่ลำภา
กรรมแม่เกยตัวมอมีรอหัน คำท่านสรรแต่มคธภาษา
บอกให้ทราบบาปกรรมเช่นร่ำมา อีกคำว่าเคราะห์กรรมก็จำเปน
ที่บางคนบ่นว่ากรรมของเราแล้ว มาประสบพบแก้วไม่แลเห็น
กรรมวิบากหากให้ได้ลำเคญ มาขุกเข็ญก็เพราะกรรมที่ทำมา
(๑๐) หนึ่งใช้คำหมอบเฝ้าและเฝ้าฃอง โดยทำนองใช้เฝ้าตัวฝฝา
ใช้ตัวฟอไม่ถนัดดูขัดตา ด้วยใช้มาแต่เก่าเก่านั้นเฝ้าโท
(๑๑) อุส่าห์จำอุส่าห์เพียรเขียนให้ถูก ฃ้าเพราะปลูกคำใช้ไว้อะโฃ
เหล่านักเรียนชั้นเล็กและชั้นโต เลี้ยงแต่โง่ไว้ให้อ้วนควรฤาไร
ครูก็สอนเล่าเรียนเขียนไม่ขาด ไม่ฉลาดจำแยบที่แบบไข
ช่างฟั่นเฟือนเลื่อนเลอะเงอะงงไป รู้ก็ไม่แท้รู้เปนงูปลา
อันยศศักดิ์ทรัพย์สินทั้งสิ้นเสร็จ ย่อมสำเร็จได้ดังมาดปราถนา
เพราะต้นทุนคุณเพียรเรียนวิชา ที่สะสมศึกษาสารพรรณ
อุส่าห์จำเถิดจะร่ำสอนให้สิ้น เบื้องระบินแบบละบองฃองขันขัน
เช่นอย่างข้าค่าฆ่าประดากัน ทั้งสามคำสำคัญท่านไว้วาง
คำสูงใช้ว่าข้าพระพุทธเจ้า จงจำเค้าใช้ให้ชัดอย่าขัดขวาง
กับคำว่าข้าพเจ้านี้คำกลาง ใช้ในทางถ้อยความตามกระบวน
ข้าพระพุทธเจ้าชื่อนั้นนี้ ข้าพเจ้านายศรีเปนชาวสวน
ที่ลดหย่อนผ่อนใช้จงใคร่ครวญ คำที่ควรสูงต่ำโดยตำรา
บางคนเขียนว่าฃ้าพระพุทธิ อุตริเฃียนกันกลุ้มชุมนักหนา
ด้วยใจรักมักง่ายคลายปัญญา ไม่ค้นหาต้นเค้าเดาตะบึง
ลำดับถัดจัดว่าข้ากับเจ้า ข้าจะเอาแต่ว่าข้าคว้าไม่ถึง
ใครมายุแยงข้าเขาด่าอึง ควรรำพึงความเช่นว่าใช้ข้าโท
ค่าเอกนี้ใช้ที่ค่าราคาขาย อีกค่าจ้างร้างบายจ่ายอะโข
ค่าเช่าเรือค่าเช่าโรงตั้งบ่อนโป อีกค่าโสหุ้ยหวยค่าป่วยการ
ความดังว่าใช้ค่าไม้เอกหมด ควรจะจดจำใช้ให้วิดถาร
ฆ่าตัวนี้ฆ่าให้ตายถึงวายปราณ แบบบุราณใช้มาเปนอาจิณ
(๑๒) หนึ่งเข้าออกอีกเข้าเปลือกเข้าสารสุก แบบทำนุกเข้าโทโดยถวิล
เค่าเอกใช้ไม่สมนิยมยิน ไม่เห็นถิ่นที่จะใช้ในกระบวน
(๑๓) ทำธำม์ธรรมสามคำจำให้ได้ คือคำไทยว่าทำนาแลทำสวน
สารพัดทำงานการทั้งมวญ บังคับควรทำแน่แม่กกา
ธำม์ตัวนี้มิใช่คำสยาม ท่านใช้ตามติดมคธภาษา
เหมือนกับละพระสธำม์เช่นร่ำมา ในคำเทียบแม่กกาตำราครู
ธรรมตัวนี้ถูกที่มคธพากย์ ทั้งสามคำจำยากหนอพ่อหนู
อุส่าห์คิดค้นหาไตรตราดู คงได้รู้ที่จะใช้ถูกใจความ
(๑๔) อิกข้างค่างคิดกระบวนให้ถ้วนถี่ ค่างเอกนี้ค่างลิงวิ่งผลีผลาม
ฃ้างในออกข้างนอกดูอย่าวู่วาม ข้างบนตามไปฃ้างล่างนี้ข้างโท
(๑๕) หนึ่งว่าหว้าย่าหญ้าก็ควรคิด จะเขียนใช้อย่าให้ผิดดีอะโฃ
ต้นหว้านี้ชอบกลผลโตโต ถัดบ้านโพถึงบ้านหว้าเวลาเย็น
ว่าเอกใช้ในคำที่ว่ากล่าว ว่าโน้มน้าวพูดจาว่าให้เห็น
ว่าก็ชอบในระบอบที่เคยเปน อย่าว่าเล่นว่าหว้าภาษาไทย
(๑๖) คำปู่ย่าย่าเอกท่านเศกสรร หญ้าโทนั้นใช้ว่าหญ้าไสว
คือหญ้าแพรกหญ้าคาอิกหญ้าไทร หญ้านี้ใช้สรรพหญ้าบันดามี
(๑๗) ในคำลาวกล่าวว่าข้อยใช้แทนข้า ค่อย ๆ มาก่อนค่อย ๆ ไปอย่าไผล้หนี
คำค่อยเอกเศกใส่ในวะจี จำให้ดีนะอย่ารั้นดันทุรัง
(๑๘) หนึ่งคำว่าหนังสือไม่ผิดเพี้ยน ทุกคนเฃียนหอนำคำว่าหนัง
แต่เสียงอ่านพานไม่ชัดพลัดเปนนัง คำนี้พลั้งพวกมากลากเอาไป
ออกสำเนียงเสียงว่านังอยู่ทั้งสิ้น จะดัดลิ้นฝ่าฝืนขืนไม่ไหว
ถึงจะอ่านว่าเปนนังก็ชั่งใคร เราเฃียนคงหนังไว้ก็แล้วกัน
(๑๙) หนึ่งเยาว์นี้มิใช่คำไทยแท้ เหนมาแต่คำมคธภาษาสรร
อักษรส่อคือตัววอเปนการันต์ บอกสำคัญว่ามคธบทบาฬี
เหมือนคำว่าข้าเหนพระลูกเจ้า ทรงพระเยาว์ยังไม่รุ่นจำเริญศรี
หนึ่งนารีที่เยาว์เค้าคดี อิกวาทียุพโยคยุพเยาว์
เด็กคนนี้ไผ่ผอมย่อมเยาว์นัก เยาวลักษณนี้เปนหลานแม่โฉมเฉลา
เยาวมาลย์ช่วยสมานสมรเรา คำว่าเยาว์เขียนใช้ต้องใส่วอ
(๒๐) กลอักษรผ่อนใช้ให้ประจักษ เช่นฉันชักเชิดชี้เท่านี้หนอ
ถ้าจำได้ใช้คล่องไม่ต้องรอ ก็เห็นภอจะสว่างรางรางเรือง
หนึ่งซ่มส้มเซื่อเสื้อเหลือจะบอก เฃียนย้อนยอกเขวไขว้ไม่ได้เรื่อง
ทั้งเอาโทใช้กันชุมกลุ้มทั้งเมือง สุดจะเปลื้องสงไสยไม่ให้แคลง
(๒๑) คำขู้คู่ดูสังเกตเหตุอะโข ตัวฃู้โทท่านมิได้ใช้สักแห่ง
เหมือนเรือดั้งทั้งคู่มีภู่แดง เรือคอนแข่งกันเปนคู่ดูดังลม
อันตราชูนี้เปนคู่กับตราชั่ง เครื่องกินตั้งไว้เปนคู่กับพานถม
หญิงกับชายเชยชู้เปนคู่ชม ใช้นิยมคูเอกเปนอัตรา
(๒๒) หนึ่งค่ำข้ำสองคำจำให้แน่ ท่านใช้แต่ค่ำเอกดอกหนาจ๋า
เหมือนสายัณห์เย็นย่ำค่ำเวลา วันขึ้นห้าหกค่ำจะทำงาน
ข้ำโทนั้นไม่มีที่จะใช้ ท่านผันไว้ภอให้ครบคำขนาน
ถึงคำโคลงจะเอาใช้ก็ใช่การ ผิดบุราณท่านบังคับจะอับปรี
(๒๓) หนึ่งค่อฃ้อสองคำประจำผัน พอครบครันเสียงสามไว้ตามที่
ท่านใช้แต่ตัวขอข้อคะดี เหมือนข้อนี้ข้อนั้นท่านสรรคำ
ข้อผิดฃ้อชอบเร่งสอบสวน ข้อสำนวนต้องระวังพลั้งถลำ
อีกข้อมือฃ้อบาทางค์ฃ้างสะดำ นี่ฃ้อสำคัญนักมักจะแพลง
ฃ้อนี้ไซร้ท่านใช้ข้อโทสิ้น โดยระบินถ้วนถี่ชี้แถลง
(๒๔) ไฃ้กับไค่สองทางอย่างคลางแคลง คำที่แจงแจกใช้นั้นไฃ้โท
ไข้จับไข้เหนือเจือไข้พิศม์ กินยาผิดไข้กลับยับอะโข
ไข้บิดแยบแอบแฝงไฃ้แตงโม มันกินจนพุงโรดังโคเกวียน
(๒๕) ที่คำใช้กันว่าไค่อีกว่าค่าย อย่ามักง่ายงมคลำในคำเฃียน
เหมือนกะเกณฑ์ตั้งค่ายตัดไม้เตียน ทำแนบเนียนน่าค่ายนั้นรายคน
อย่าหันเหียนเฃียนค่ายว่าเปนไค่ ไม่ควรใช้ก็อย่าใช้ให้สับสน
(๒๖) อีกข้องค่องข้อนค่อนกลอนนิพนธ์ โดยยุบลคำลม้ายภอคล้ายคลึง
ข้องโทนี้ใช้ที่ว่าขัดข้อง กับเกี่ยวข้องข้องระคนคนถลึ้ง
ค่องนี้ใช้ใส่ปลาว่ากันอึง ใช้ให้ถึงข้องค่องทั้งสองทาง
ข้อนโทนี้ใช้ที่ว่าฃ้อนอก แสนวิตกฃ้อนทรวงอยู่ผางผาง
ที่แสนงอนข้อนให้ไม่ไว้วาง ไปค่อนทางถึงที่ประทับพล
(๒๗) อนึ่งคำถ้วนท่วนควรถวิล นิยมยินถ้วนโททุกแห่งหน
เหมือนคำว่านับถ้วนจำนวนคน แต่ไพร่พลถ้วนหมื่นพื้นฉกรรจ์
แลคำว่าท่านผู้ดีมักถี่ถ้วน ก็คำควรถ้วนโททุกสิ่งสรรพ์
ท่วนเอกนี้ท่านไม่ใคร่ใช้จำนัญ ชี้สำคัญท่วนถ้วนก็ควรการ
(๒๘) ว่าด้วยถ้วนเสรจสรรพกลับปรารภ ตัวภพพบเติมต่อฃ้อบรรหาร
พบตัวนี้ใช้ที่ว่าพบพาน พบตาปานกับยายเปี่ยมไปเทียมโค
ภพตัวนี้มีในพากย์มคธ เช่นดังบทภพโลกยนาโถ
เจ้าพิภพทรงหงษอีกทรงโค ฤทธิ์มโหฬารลบภพไตรย
ภพภพนี้บาฬีว่าภาวะ ท่านแปลงวะไปเปนพะแถลงไข
อ่านสกดตามกำหนดข้างคำไทย ก็อ่านใช้กันว่าภพบันจบความ
(๒๙) หนึ่งผ้ายพ่ายโทเอกอเนกนับ ใช้สำหรับอยู่ประจำคำสยาม
ท่านใช้ว่าผุดผ้ายไปตามพราหมณ์ ตกในความว่าผุดลุกจรลี
อันพ่ายเอกนี้ว่าแพ้แปลขยาย เหมือนคำว่าโจรร้ายมันพ่ายหนี
เตลงพ่ายยวนพ่ายนิยายมี สองวาทีเทียบตำหรับฉบับบรรพ์
เตลงพ่ายอธิบายว่ามอญแพ้ อีกคำแปลยวนพ่ายไม่ผิดผัน
ว่าลาวแพ้แต่ต้องจำที่สำคัญ ว่ายวนนั้นก็ทำไมไผล้เปนลาว
คำว่ายวนยกเปนชื่อลาวน้ำหมึก ความนี้ฦกจะใคร่รู้ดูสืบสาว
พวกพุงดำนิจะร่ำแต่เพรงคราว เขาเรียกชาวโยนกยกคำเดิม
ที่ต้นคำซ้ำตัดว่าโยนะ แปลงเอาโอไปเปนวะสระเสิม
อ่านว่ายวนควรฃ้อไม่ต่อเติม ที่คำเดิมโยนางค์ราชวงษ
ผู้รู้แท้แก้ไฃไว้ฉะนี้ ดีมิดีดูความตามประสงค์
พากย์หะริภุญไชยก็ใช้ตรง จะเหนลงว่าไม่งามก็ตามใจ
(๓๐) หนึ่งฎีกานี้ภาษามคธพจน์ โดยกำหนดนั้นต้องเฃียนตัวฎอใหญ่
แต่ในกาลคนทุกวันสำคัญใจ ว่าเปนคำคนไทยใช้นิยม
ในฎีกาขุนวิชิตชลหาญ จะต้องการดีกาทำยาขม
อุส่าห์ทรอกแทรกรู้มีผู้ชม ดีกว่างมงำโง่โตแต่ตน
(๓๑) จรเฃ้แลจะเฃ้อีกตะเฆ่ จงรู้เล่หวาจาอย่าฉงน
จรเฃ้สัตวร้ายในสายชล มันกินคนคาบพาในวารี
ดีดจะเข้เร่นิ้วดูพลิ้วพลิก กระจุกกระจิกเช่นกับเพลงกระจับปี่
ในคำเรียกว่าจะเฃ้เครื่องดนตรี จงรู้ที่เขียนใช้ถูกใจความ
อีกลูกล้อลากไม้ใช้กันถม คนนิยมเรียกตะเฆ่คำสยาม
ทั้งสามคำจำให้อยู่อย่าวู่วาม ถ้าผลีผลามมักง่ายจะอายคน
(๓๒) ตรวจกับกรวดคู่นี้ชี้ให้ชัด จงจำตัวให้ถนัดอย่าขัดสน
ตอกับรอจอสกดบทยุบล ท่านใช้ว่าตรวจพลอีกตรวจตรา
ดอสกดตัวกอรอประโยค สารโสลกฃ้างสยามภาษา
ว่ากรวดทรายรายพื้นพสุนธรา สองวาจานี้ละม้ายคล้ายสำเนียง
(๓๓) หนึ่งคำว่ากรงตรงจงสำเนียก บัญญัติเรียกรายแยกให้แปลกเสียง
เหมือนน่าต่างลูกกรงดำรงเรียง จับพะเนียดวางเคียงกับกรงนก
ทางนี้ตรงไปทีเดียวไม่เลี้ยวลด ตรงไปจดจนถึงห้างหนทางบก
คนซื่อตรงควรดำรงที่นายก เปนดิลกเหล่าเสวกากร
ควรกำหนดวาทีที่ประสงค์ คำกรงตรงใช้ยักในอักษร
เฃียนให้ถูกดุจถ้อยสุนทรกลอน อุทาหรณ์ตัวอย่างวางประจำ
(๓๔) จะคิดค้นมาประดนประดับไว้ อีกไกรไตรอยู่ล่อล่อก็ฃ้อขำ
ฤทธิไกรเกรียงไกรท่านใช้คำ อุส่าห์สำเนียกนึกแล้วตฤกตรอง
คำว่าไกรนี้ท่านแปลว่ายิ่งกว่า ดังพ่อค้าขายได้กำไรของ
อันคำไกรกับกำไรก็สมพอง โดยทำนองคำแผลงแสดงตรง
ตอกับรอเขียนว่าไตรใช้จงชอบ ตามระบอบแบบใช้อย่าไหลหลง
แปลว่านับแลว่าสามความจำนง เฃียนให้คงคำใช้ว่าไตรตรา
กับไตรยรัตนไตรยเพทพิเศศสอน ไตรยจิวรไตรยปิฎกไตรยสิกขา
อิกไตรยุคไตรยางษ์เปนอย่างมา พระศรีไตรยสระณาสมาคม
ทั้งสองคำจำให้ชอบประกอบใช้ เหนเฃวไขว้วาทีก็มีถม
มาเขียนไกรว่าเปนไตรใครจะชม จะนิยมก็แต่ฝ่ายมักง่ายเดา
(๓๕) กรองกับตรองสองคำจำให้แน่ ได้กันแก้ทางโทษที่โฉดเขลา
กรองนี้ใช้กรองน้ำโดยสำเนา ตรองนี้เค้าคำว่านึกว่าตฤกตรอง
(๓๖) อิกคำคู่คือนครกับคอนหาบ คนที่อยากเฃียนนครเปนคอนของ
บางคนเขียน ณ ใหญ่เข้าใช้รอง ผิดทำนองนักเรียนเฃียนอยาบคาย
อันนครคำนี้จะชี้เรื่อง แปลว่าเมืองคำมคธบทขยาย
ถึงคนไทยก็ได้รู้อยู่มากมาย ไม่ควรกลายกลับนครเปนคอนเรือ
(๓๗) อนึ่งคำนอเล็กกับณอใหญ่ เหนเฃียนไข้วเขวกับออกฟั่นเฝือ
คำนอเล็กกลับมาใช้ณอใหญ่เจือ จะสอนเผื่อไว้ให้จำคำนอณอ
ประเพณีธรณีมะณีแก้ว แต่ล้วนแล้วณอใหญ่ท่านใช้หนอ
พระมุนีธานีนี่ตัวนอ จำไว้พอเปนต้นทุนหนุนปัญญา
(๓๘) ลอกับฬอต้องระวังดูจังหวะ ที่ควรจะใช้ลออะไรหนา
เช่นกับคำบาฬีซึ่งมีมา แลคำว่าสาลีนี้เปนครู
(๓๙) หนึ่งศุขสุกทุกข์ทุกทั้งสี่พจน์ อุส่าห์จำกำหนดเถิดพ่อหนู
จะย้ายแยกแจงแจกออกให้ดู คงได้รู้ที่จะใช้ถูกใจความ
อันตัวศุขศอคอขอสกด คำมะคธดอกมิใช่คำสยาม
ท่านแปลว่าศุขสะบายขยายความ กับอีกนามวันศุกรเติมตัวรอ
อันสุกนี้คำไทยใช้กันเกลื่อน คำเทียบเหมือนหนึ่งเข้าสุกที่ในหม้อ
ผลไม้สุกห่ามงามละออ ชาดในห่อแดงสุกดูสดดี
สุดแต่สุกคำไทยที่ไหนที่นั่น กอสกดเท่านั้นถูกตามที่
อย่าลามลวนตัวขอต่อทวี ลงบาญชีอุตริเขาติเตียน
ที่ตัวทุกข์มีขอทัณฑฆาฎ คำนักปราชสอนไว้ให้อ่านเขียน
คือเปนคำในมคธบทจำเนียร ถ้าใครเขียนทุกเปล่าไม่เข้าการ
สำหรับใช้ในที่ว่าทุกข์ยาก แสนลำบากทุกข์ไภยใช้วิดถาร
มาต้องทุกข์ขุกเฃ็ญไม่เว้นวาร ทุกข์นี้จานเจือข้อฃอการันต์
ที่คำทุกตัวทอกอสกด ต้องด้วยบทคำไทยอย่าใฝ่ฝัน
เช่นใช้คำว่าทุกค่ำทุกคืนวัน ทุกเซ็กชันกอมปะนีต้องมีนาย
เกณฑ์ทุกบ้านการทุกเมืองยังเคืองขุ่น ทุกคนวุ่นบันทุกยาเอามาฃาย
ทุกฤดูตูได้นับเหนกลับกลาย ทุกหลากหลากมากหลายจนเหลือจำ
อันสุดแท้แต่ว่าทุกคำสยาม ใช้ในความสามัญไม่ขันขำ
ต้องที่แต่กอสกดบทลำนำ อย่าถลำเฃียนตัวขอเฃ้าต่อเติม
อิกคำว่าผาศุกสนุกนี้ เหนบางทีเอาตัวขอเข้าต่อเสริม
ก็ผิดจากคำมคธที่บทเดิม อย่าเฉลิมให้มันเลยจะเคยตัว
เหมือนเด็กว่าเองเอ๋ยจะเลยแก่น ที่นักปราชหนักแน่นจะแย้มหัว
ถ้าเหลิงล้นจนเฃาว่าก็น่ากลัว ชื่อจะชั่วเสียเพราะล้นคนดำเนียน
(๔๐) หนึ่งบัญชรบาญชีนี้ก็ยาก จะวิภาคตัดสินในคำเฃียน
ให้สมศิศย์มีครูเปนผู้เพียร ถ้าจะเฃียนคำสั้นว่าบัญชร
คือตรงแฃวนกรงตั้งที่ขังสัตว์ หนึ่งท่านจัดวาจาอุทาหรณ์
ว่าพระแกลชื่อสิงหบัญชร ก็เพราะผ่อนอ้างว่าที่มีสี้กรง
อิกคำหนึ่งบัญชาว่าบังคับ เปนฝ่ายรัศสะศับท์อย่าใหลหลง
ไม้กังหันสรรใส่ไว้ให้คง อย่าจำนงลากข้างอ้างว่าบาน
ที่คำยาวนั้นท่านกล่าวว่าบาญชี บาญตัวนี้ญอสกดบทบรรหาร
สอบบาญชีสี่รายจำหน่ายการ ทั้งสี่บาญถูกกันไม่พรั่นกลัว
บางคนเฃียนบาญชีนี้ว่าบัญ มาทอนสั้นเสียไม่พ้นคนจะหวัว
เพราะงึมงงมักง่ายเหมือนควายวัว ไม่รู้ทั่วในวาจาภาษาคน
(๔๑) อิกสามคำไม่ไหม้กับม่ายนี้ จะช่วยชี้ไว้ให้ชัดอย่าขัดสน
ไม่เอกนี้ปฏิเสธเลศยุบล คือไม่จนแลไม่จำไม่รำคาน
อิกไม่มาไม่ไปทั้งไม่อยู่ ไม่ได้รู้ไม่ได้เหนเปนแก่นสาร
บุตรไม่ขอพ่อไม่ให้ไม่ได้การ ไม่นี้ใช้สาธารณ์ในคำไทย
ไหม้ตัวมอหอนำไม้โทกด ต้องด้วยบทร้องเปิ่งเปิ่งว่าเพลิงไหม้
อันม่ายเอกแม่เกยพิเปรยไป นั่นท่านใช้ว่าผู้ชายเปนม่ายเมีย
กับหญิงที่ผัวตายวายชีวิตร ฤาผัวปลิดปลดห่างอย่าร้างเสีย
ถึงชายอื่นจะมาเฝ้าอยู่เคล้าเคลีย เขาคงว่าได้เมียแม่ม่ายชม
อิกสองคำม่อหม้อก็พอคิด เห็นเฃียนผิดเคลื่อนที่ก็มีถม
คนต่ำเตี้ยม่อต้อฃ้อนิยม เสาตะม่อใหญ่กลมเอาไว้กลาง
ประจุฟืนเต็มเตาจะเผาหม้อ ที่ฬ่อฬ่อเชื้อไฟไม้ทองหลาง
ที่บ้านหม้อนั้นก็ภอจะไว้วาง คำตัวอย่างม่อหม้อพอสำคัญ
(๔๒) ร่ายกับไร่ใช้เฃียนอย่าเพี้ยนผิด เสียงสนิทสั้นยามท่านกล่าวสรร
ตาหมอร้ายร่ายพระเวทวิเศศครัน สกุณผันร่ายเร่ขึ้นเมฆิน
ทำนองหญิงรักชายออกร่ายเราะ จะได้เคาะแคะชมสมถวิล
ทำนาสักสามไร่พอไว้กิน นี่เฃตรถิ่นไร่ถั่วถัวกับงา
นี่คำใช้ไร่นาทั้งเรือกสวน ตามกระบวนร่ายไร่คำไทยหนา
แม้นเฃียนชอบที่ประกอบในวาจา เฃาชมว่าเปนบัณฑิตย์ศิศย์มีครู
(๔๓) อุส่าห์จำเถิดจะร่ำให้สิ้นสุด ยังสมุทกับสมุดนี้คำคู่
คือสมุททอสกดกำหนดดู ก็จงรู้ว่ามคธบทบาฬี
ในคำแปลว่ากระแสทะเลฦก จงตริตรึกความประกอบให้ชอบที่
ดอสกดพจน์สยามความก็มี ต้องใช้ที่สมุดขาวสมุดดำ
ที่บางคนเขียนใช้สมุจยะ ภาษาพระฝ่ายข้างวัดจัดเนกขัม
สมุดนี้ฃองไทยใช้ประจำ ไม่ควรค้ำให้มันเฃินจนเกินเกณฑ์
พวกบ้านบ้านมักจะพาลพาโลติ ว่าอุตริเปนตำราขรัวตาเถร
อันคิดคิดนี้ยากต้องบากเบน ไม่ควรเกณฑ์ก็อย่าเกณฑ์ให้เกินกิน
(๔๔) อิกสองคำฉ้อช่อภอสังเกต ใช้ให้ต้องตามเหตุควรถวิล
คนขี้ฉ้อหมดความตามระบิล ฉ้อเอาสินฉ้อเอาทรัพย์ต้องปรับปรุง
อันช่อเอกใช้ช่อดอกไม้หมด สุคนธรศช่อไสวใกล้ลหุ่ง
ช่อมะม่วงช่อมะกอกดอกพะยุง นาคสดุ้งช่อฟ้าสง่างาม
(๔๕) พูดกับภูตสองคำจำให้แน่ พูดนี้แท้ใช้ประจำคำสยาม
เหมือนพูดเล่นเจรจาพูดว่าความ พูดลวนลามพูดเพ้อใหลเล่อไป
พูดเช่นนี้ต้องที่ดอสกด ตามแบบบทเบาราณท่านขานไข
ที่บางครูเห็นจะรู้นั้นล้นไป บังคับใช้คำพูดสกดจอ
ด้วยอ้างว่ามาแต่วะจะธาตุ แต่นักปราชท่านไม่เหนลงออหอ
ก็คงที่ควรเฃียนสกดดอ เหนเพียงพองามใช้คำไทยตรง
ภูตที่ใช้ตัวภอตอสกด มิใช่บทคำไทยอย่าใหลหลง
ว่าภูตผีในบาฬีท่านแปลคง ใช้จำนงมหาภูตแลภูตพราย
(๔๖) พักภักตรภักดิ์ภักษ์มีทั้งสี่ศับท์ บทบังคับคำแปลกแยกฃยาย
อันพักนี้คำสยามความธิบาย คืออยุดพักพอสบายแลพักพล
ภักตรนี้คำกำพุชสมมุติว่า คือดวงหน้าใช้แพร่งทุกแห่งหน
ว่าผิวภักตรวรภักตรภักตรพิมล แทบทุกคนรู้แปลได้แน่นอน
ภักดิ์ตัวนี้เดิมทีเปนภัตดิ ในลัทธิเรียนร่ำท่านพร่ำสอน
แผลงเปนภักแม่กกยกสุนทร ดิอักษรจัดว่าเปนการันต์
ท่านใช้ว่าดังพระยาบำเรอภักดิ์ สวามิภักดิสุจริตไม่บิดผัน
หลวงมหาใจภักดิ์ได้รักกัน เช่นนี้นั้นแปลประจักษว่าภักดี
คำมคธบทเดิมว่าภัตดิ ตามลัทธิสังสกฤษฎอักษรศรี
แผลงตัวตะไปเปนกะสระมี จึ่งกลายเปนภักดีเช่นนี้นา
ที่ใช้ตรงว่าภักดีก็มีมาก เปนคำหลากในสยามภาษา
พระยาราชภักดีมีสมยา หลวงเสนาภักดีมหาดไทย
ภักดีกับภักดิ์คำเดียวกัน แต่ประทัณฑฆาฎลงอย่าสงไสย
อ่านแต่ภักดิเปนการันต์ไป เช่นคำใช้สวามิภักดิ์ประจักษความ
อิกภักที่มีษอทัณฑฆาฎ คำนักปราชชักมาใช้ในสยาม
จะแปลว่าอาหารก็สมความ นิยมตามคำไทยใช้ว่ากิน
เหมือนคำเชิญภักษ์ภุญช์ภักษาหาร พระยามารจับเปนภักษ์เสียหมดสิ้น
อันคำภักยักย้ายหลายระบิล ให้รู้ถิ่นที่จะใช้อย่าไขว้กัน
หนึ่งจะช่วยชี้ไว้ให้ประจักษ ยังอิกพรรคสกดคอมีรอหัน
แปลว่าพวกแลว่าหมู่ดูสำคัญ ไว้ประกันแก้เฃลาที่เง่างม
(๔๗) หนึ่งสองคำชิดชิตคิดให้ชอบ จงประกอบที่จะใช้นั้นให้สม
ชิดตัวนี้ใช้ที่ว่าชิดชม ระรื่นรมย์แนบชิดสนิทนาง
อิกนายชิดหุ้มแพรนายเวนสิทธิ์ คนที่ใกล้ใช้ชิดไม่อางขนาง
นาสาเสยเสียดสนิทชิดกับปราง ชิดนี้ทางนี้ใช้คำไทยตรง
ชิตสกดตัวตอพอสังเกต ในต้นเหตุคำบาฬีที่ประสงค์
คือพระยาไชยวิชิตคิดจำนง คำนับองค์สมเดจพิชิตมาร
อนุชิตชาญไชยไม่ประจักษ์ จึ่งถามซักขุนพิชิตชลหาญ
อ้างไปถึงพระวิชิตชลธาร สังเกตการคำว่าชิตสกดตอ
(๔๘) ชานกับชาญฌานมีที่กำหนด ทั้งสามคำจำจดให้แน่หนอ
ภาษาไทยใช้ชานสกดนอ เหมือนหนึ่งฃ้อคำบอกว่านอกชาน
กับคำพูดชานอ้อยอิกชานหมาก นี่มีมากคำไทยพูดไขยฃาน
ที่สกดญอใหญ่ใช้ว่าชาญ ท่านแผลงว่าชำนาญพานจะชุม
แปลว่ารู้แยบคายเปนหลายหลาก ได้รู้มากเชี่ยวชาญการสุฃุม
คือเจนจัดการทำไม่คลำคลุม ได้ทำชุมชัดชาญชำนาญเคย
ฌานตัวฌอนอสกดกำหนดแน่ นี่มาแต่คำมคธบทเฉลย
แปลว่าเครื่องเผากิเลศสัลเลขเลย ท่านเพิกเฉยเบจญกามให้ทรามเซา
ของสำหรับโยคีฤาษีพรต พระสุคตกับทั้งพระอริยเจ้า
ตัดกิเลศสมุจเฉทแลบางเบา แล้วท่านเฃ้าสู่ฌานสำราญรมย์
(๔๙) ทั้งสามคำพานพาลอิกภารไซร้ เห็นเขียนไม่ถูกที่ก็มีถม
พานสกดนอไทยใช้นิยม คนคารมมักจะระพูดพะพาน
เครื่องตะถมทองดีก็มีมาก อิกพานนากพานทองสองสฐาน
ทั้งพานเงินพานทองเหลืองเครื่องตระการ เรียกว่าพานคำไทยใช้กันมา
พาลตัวพอลอสกดมคธพากย์ แปลไม่ยากเพราะว่าไทยก็ใช้หนา
คือคนก่อทุจริตจิตรวาจา อิกกายาครบสามตามทวาร
มิได้คิดบุญบาปใจอยาบกล้า ท่านเรียกว่าพาละโดยโวหาร
ที่ไทยพูดเกลื่อนกล่นว่าคนพาล สังเกตการลอสกดบทยุบล
กับอิกภารภอมอรอสกด นี่มคธคำฃานสารนุสนธิ์
ใช้ว่าโพธิ์สมภารพระจุมพล กับคำภาระกังวลแลหาบคอน
ภาณภอมอณอใหญ่ใส่สกด เหมือนอย่างบทปฏิภาณในสารสอน
ว่าปัญญาสำหรับโต้ตอบสุนทร แลพากย์พจน์บทกลอนชำนาญชาญ
หนึ่งพอนอมีตอการันต์ท้าย จะขยายพอได้จำที่คำขาน
มีที่ใช้แต่ว่าป่าหิมพานต์ คือถิ่นถานพร่ำพร่างน้ำค้างชุม
หนึ่งคำพระบาฬีมีแถลง ท่านแสดงว่านิพพานอ่านกันกลุ้ม
กับแผลงว่านฤพานพานจะคลุม ธรรมสุขุมฃ้ามโอฆโลกอุดร
แลคำว่าจักระพาฬนั้นฬอใหญ่ สกดใส่วางประจำในคำสอน
เหมือนเจ้าจอมจักระพาฬประทานพร เสดจจรไปจนจบจักระพาฬ
พานทั้งหกยกข้อไขแถลง ล้วนแจ้งแจงชี้สำคัญเช่นบรรหาร
ได้เค้าเงื่อนแล้วอย่างมทำซมซาน เขียนตัวพานจิ้มดำถลำแดง
(๕๐) ฝ่ายกับใฝ่นี้ก็ใช้อย่าให้คลาด เทียรฆราษสั้นยาวกล่าวแถลง
เหมือนฝ่ายหน้าฝ่ายในก็ไม่แคลง ฝ่ายเราแย้งฝ่ายข้างเขาจะเอาจริง
ทั้งปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือเหลือจะหัก ด้วยนายฟักเขาเปนฝ่ายนายผู้หญิง
ไปฝักฝ่ายคุณพระนายจะหมายอิง เอาเปนที่พึ่งพิงพอพ้นไภย
คำว่าฝ่ายอธิบายว่าพวกเหล่า เช่นคำเค้าฝักฝ่ายขยายไข
กับคำต้นที่จะเอ่ยเรื่องอื่นไป ท่านก็ใช้คำว่าฝ่ายพิปรายความ
ซึ่งเสียงใช้ใฝ่ใฝ่นี้คำสั้น เหมือนใฝ่ฝันใฝ่ในฤไทยหวาม
อิกใฝ่ใจที่จะใคร่พยายาม อันคำใฝ่ใช้ตามบุราณกาล
แปลว่ามุ่งหมายมั่นคิดพันผูก นิ่จะถูกความเก่าที่เล่าขาน
ฤาจะผิดเปนแต่คิดโดยประมาณ จงวิจารณ์คำว่าใฝ่ที่ใช้กัน
(๕๑) พายกับภายจะขยายให้จะแจ้ง มิใช่แกล้งว่าเล่นพอเห็นขัน
ด้วยตัวต่างความก็ต่างเห็นห่างกัน ชี้สำคัญเช่นฝีพายลงพายเรือ
เย็นพระพายชายพัดมาเฉื่อยเฉื่อย ก็หลับเรื่อยไปจนสายสบายเหลือ
คำพระพายนี้เปนบทมคธเจือ ควรจะเชื่อว่าเนื่องมาแต่วาโย
อิกคำว่าทุกพายทุกพวกพรรค ได้ประจักษ์คำไทยใช้อะโข
แปลว่าหมู่ดูฃ้างเห็นจะเปนโว หารแต่โบราณเรียกสำเหนียกตาม
ภายตัวนี้ใช้ว่าที่ว่าโอกาศ คำนักปราชท่านบัญญัติในสยาม
เหมือนภายในภายนอกบอกเนื้อความ ตึกนี้งามภายใต้ก็ใหญ่ครัน
ทำกุศลฃวนฃวายไปภายน่า เขาจะว่าภายหลังก็ชั่งฉัน
อันตัวภายคำไทยที่ใช้กัน บอกสำคัญคือชี้ที่กับกาล
(๕๒) ไข่กับข่ายคล้ายเสียงสำเนียงออก ฉันจะบอกบ่อนใช้ในสฐาน
มีมากหลายข่ายบรอิกข่ายมาร ตาข่ายขึงชลธารที่ดักปลา
ข่ายคือปรีชาญาณพานจะซึ้ง ตาข่ายขึงตลบนกในเวหา
ขึงตาข่ายรายกั้นอะรัญญะวา เข้าล้อมดักมฤคาที่ป่าพง
ซึ่งว่าข่ายคำยาวกล่าวเช่นนี้ สังเกตที่ควรใช้อย่าไหลหลง
ยังอิกไข่คำสั้นนั้นจำนง เฃียนให้คงคำว่าไข่ใช้ว่าฟอง
เหมือนเขาว่าเป็ดไข่แม่ไก่ฟัก กามันรักไข่กระเหว่าเปนเจ้าของ
เรียกว่าไข่อยาบย้ำคำคนอง จึ่งยักเรียกเสียว่าฟองเปนคำดี
(๕๓) อนึ่งคำล่าหล้าภาษาสยาม ที่ใช้ความล่าเอกนั้นล่าหนี
หล้าโทใช้ว่าโลกย์ทั่วธาตรี คำอ้างมีแหล่งหล้าในสากล
พระเลิศหล้าเดชาขจรจบ ในพื้นภพใต้หล้าย่อมหาผล
ชักเทียบเคียงภอเปนเยี่ยงเปนอย่างยล ตามยุบลล่าหล้าภาษาไทย
(๕๔) หนึ่งเนิ่นนานกับชำนาญนี้นอเล็ก นักเรียนเด็กจงวิจารณ์จะขานไขย
ว่าเนิ่นนานนอสอกดบทไทยไทย ตัวญอใหญ่นั้นสกดบทชำนาญ
ตัวบาฬีในคัมภีร์มะคะธะ คือชัญญะคำต้นยุบลขาน
ตกมาเปนคำไทยใช้ว่าชาญ ซ้ำแผลงว่าชำนาญการทั้งมวน
(๕๕) อิกสองคำององค์จงสังเกต ให้ต้องเหตุที่ใช้ต้องใต่สวน
องเปล่าเปล่าเขียนในเค้าว่าองยวน องเต้ก๊วนเต้กุ๊นเขาขุ่นเคือง
ครั้งนั้นองไก่เสิ่นทำเลินเล่อ องจี๋เถ่อทำไถลไม่ได้เรื่อง
หลวงยวนใหญ่ใช้ว่าองสิ้นทั้งเมือง นี่ว่าเรื่องคำองไม่มีคอ
องค์ตัวคอการันต์ท่านสรรใช้ เปนคำไทยเจือมคธบทนี้หนอ
คืออังคะคำเดิมจึงเติมคอ ไว้เปนพอที่สังเกตต้นเหตุคำ
องค์นี้ท่านแปลว่าคุณสุนทะระ กับแปลว่าอะวะยะวะก็ควรสำ
เหนียกไว้เปนแบบแผนจงแม่นยำ แปลอิกคำหนึ่งว่าเหตุสังเกตความ
(๕๖) ลำดับนี้ฉันจะชี้ข้อขยาย คือระใบกับระบายคำสยาม
เด็กเด็กดูรู้ไนยจงใช้ความ เพดานงามมีระใบละไมดี
พระกลดใหญ่มีระใบถึงสามชั้น สำหรับกั้นกันองค์พระทรงศรี
พระเสวตรฉัตรไชยระใบมี สุวรรณขลิบดิบดีนพปดล
ระใบผ้าน่ามุ้งระใบม่าน คำนี้ท่านใช้ระใบทุกแห่งหน
กำหนดแน่ใช้แม่กกายล อย่าให้ปนคำยาวกล่าวว่าบาย
อิกคำนี้ฉันจะชี้ให้รู้อัดถ์ สำเนียงชัดคำยาวกล่าวขยาย
เหมือนพวกช่างเขียนวาดฉลาดลาย เฃียนระบายสีประสานชำนาญเคย
ระบายดีสีเมฆทั้งมอม่วง ดอกไม้ร่วงรายดอกอยู่เฉยเฉย
นี่ควรใช้คำระบายพิปรายเปรย ใช้แม่เกยคำยาวกล่าวประจำ
บายกับใบก็ต้องใช้ชนิดนี้ คือบายศรีใบไม้อย่าให้ถลำ
บายว่าเข้าเฃาพูดเปนคำกัม พุชมานำเข้ากับศรีบาฬีพจน์
แปลว่าเข้าเชิญขวัญเปนศิริ ล้วนลัทธิใช้คำเร่งจำจด
เขมรไทยใช้ระคนปนมคธ จงกำหนดเปนแผนกแยกวิจารณ์
(๕๗) คำประชวรชักชวนควรถวิล จงรู้ถิ่นที่จะใช้ให้วิดถาร
ว่าชักชวนนอสกดบทบุราณ เปนคำไทยใช้มานานแต่กาลเพรง
คำประชวรควรเฃียนรอสกด เปนมคธคำเพราะเหนเหมาะเหมง
ราชาศับท์สูงคำควรยำเกรง อย่าเชลงพูดเล่นชล่าใจ
คือเจ้านายทรงประชวรควรกำหนด ว่าตามบทที่ประชวรพระโรคไฃ้
คือประชวรเปนพระโรคสิ่งใดใด ก็หยิบใช้เปลี่ยนความตามประชวร
(๕๘) ม่านกับมั่นสั้นยาวกล่าวแถลง อย่าเคลือบแคลงม่านมั่นให้หันหวน
เหมือนขึงม่านผูกให้มั่นนั้นก็ควร ที่บนจวนมีม่านเพดานดาว
(๕๙) หนึ่งคำที่ตัวหอเข้าต่อท้าย มีอยู่หลายคำควรใต่สวนสาว
ให้รู้แยบยนต์เยื้องในเรื่องราว ที่ท่านกล่าวว่าตัวหอส่อสำเนียง
ถึงไม่มีไม้เอกจะเศกใส่ ตัวหอใช้แทนเอกให้ออกเสียง
เช่นเสนหท้าววิเทหพยูหเรียง คิดเทียบเคียงรู้เลหเภทุบาย
เชิญพระตราครุธพาหมาประทับ อย่ามัวหลับเมาโมหโลหจะหาย
พระยาศรีสุริยพาหว่าเปนนาย ที่น่าราหุทำเปนลายกระหนกแปลง
เราเดินมาปะมาหมันหลอนหลอก มันวิ่งออกไล่ตะครุบเราฟุบแฝง
ที่เสาธงนั้นพระทรงดำริหแปลง อุส่าห์แจงแจกกลั่นสันเปนกลอน
คำตัวหอการันต์สรรเปนเอก มีอเนกนับประมาณในสารสอน
ชักมาว่าพอเปนอย่างทางสุนทร ฟังแต่กลอนเล่นเปล่าเปล่าไม่เข้าการ
จงหมั่นจำกำหนดในบทแบบ แล้วหยิบแยบอย่างใช้ให้วิดถาร
อุส่าห์เขียนเพียรทำให้ชำนาญ ปรีชาญาณคงจะเปรื่องให้เฟื่องฟู
(๖๐) ที่นี้จะแก้ไขในคำนบ ไม่รู้จบดอกจงจำเถิดพ่อหนู
ขอเสียเถิดอย่าว่าพล่ำพูดพร่ำพรู ฉันเอนดูดอกจึ่งเพ้อเร่อรำพัน
ซึ่งว่านบตัวนอบอสกด นี้เปนบทแบบไทยใช้ขยัน
เหมือนคำว่าฃ้านบอภิวันท์ เครื่องต้นนั้นมีพระนบครบจำนวน
นพคำนี้บาฬีมีกำหนด แปลในบทเก้าฤาใหม่ต้องใต่สวน
เช่นใช้ว่านพเคราะห์จำเภาะควร คือประมวนเทพเจ้าทั้งเก้าองค์
พระอาทิตยทั้งพระจันทรอังคารพุฒ พระเสารศุกรบริสุทธินับประสงค์
พระราหูเกตุพฤหัสจัดจำนง นพเคราะห์เก้าองค์คงประจำ
อิกคำว่านพมาศนพรัตน ความก็ชัดเหนไม่สู้สุขุมขำ
นพมาศนี้เปนชื่อของทองคำ ทองเนื้อเก้าเก้าน้ำนพคุณ
นพรัตนคำนี้ก็มีเค้า คือแก้วเก้าล้ำเลิศประเสริฐสุน
ทรมากหลากประลาดชาติสกุล ล้วนนับคุณนับค่าสารพัน
คือเพชรนิลแลทับทิมมรกฎ บุศยน้ำทองสีสดก็จัดสรร
อิกไพฑูริยเพทายละม้ายกัน โคเมนขั้นอิกมุกดาอาภาพราย
นี่แลเรียกนพรัตนราคาแสน เขาทำแหวนนพเก้าไม่ร้าวถลาย
เปนของท่านมีทรัพย์นับกระทาย ไว้สำหรับแต่งกายการมงคล
นพศกนี้ว่าศกที่ครบเก้า คำนี้คงลงเค้าทุกแห่งหน
กับอิกคำหนึ่งว่านพปดล แปลยุบลเก้าชั้นสรรวาจา
เหมือนหนึ่งนพปดลเสวตรฉัตร คำท่านจัดไว้ก็มีเช่นนี้หนา
หนึ่งนพแปลว่าใหม่ก็ใช้มา ประหนึ่งนพนัคราบุรีรมย์
แลคำนภภอมอต่อสกด ในบาทบทพระบาฬีก็มีถม
เช่นสวรรค์ชั้นนภดลชม คนนิยมฟากฟ้านภาไลย
นภดลแดนฟ้าสุรารักษ์ ไม่ประจักษเคืองเข็ญว่าเปนไฉน
สมเดจพระเลิศหล้านภาไลย นี่คำใช้นบนภจบกระบวน
(๖๑) หนึ่งยานญาณยอเล็กกับญอใหญ่ จำกัดใช้ตามที่จงถี่ถ้วน
ทั้งคำไทยคำมคธบทที่ควร จะประมวนแบบใช้ไว้ให้ดู
ตัวยานยอนอเล็กสกดนั้น คำท่านสรรในสยามออกแส้หู
ฃึงเส้นเชือกยานหย่อนผ่อนให้ตู สายตราชูยาวยานพานจะเอียง
กับคำไทยว่าอะไรมันกลิ้งอก จะหยิบยกว่าให้ชัดก็ขัดเสียง
อิเป้าป่านยานนักชักขึ้นเรียง นี่สำเนียงคำไทยใช้ว่ายาน
อิกคำหนึ่งยานยอนอสกด แต่เปนบทในบาฬีชี้บรรหาร
พาหะนะเครื่องฃองไทยที่ใช้การ ยานุมาศราชยานเสลี่ยงวอ
อิกสัตวใช้ช้างม้านาวารถ รองบาทาว่ากำหนดโดยย่อย่อ
ที่เปนเครื่องมาไปใช้เพียงพอ สกดนอเหมือนคำไทยที่ใช้ชุม
อิกญอใหญ่ใส่ณอใหญ่สกด คำมคธใช้ว่าญาณพานสุขุม
ท่านแปลว่าปัญญาไม่เคลือบคลุม ชักประชุมใช้ว่าปรีชาญาณ
คำมคธบาฬีนั้นมีมาก ชักวิภาคที่ใช้จะไขขาน
เหมือนหนึ่งว่าปองประโยชนโพธิญาณ กรรมฐานทางภาวนาไมย
วิปัสสะนาญาณสิบท่านหยิบยก บทสาธกทศพละญาณไฃ
ถึงอัดถ์แปลจะไม่ออกก็บอกไว้ แต่ภอรู้ที่ใช้คำญาณยล
(๖๒) รายกับไรถ้าจะใช้ให้ถูกบท ที่กำหนดจงวิจารณ์สารนุสนธิ์
ดังเรี่ยรายคำยาวกล่าวยุบล ที่รายคนเขาจะสักหักบาญชี
เลขสมัคสักกี่รายจ่ายให้หมด แล้วจำจดรายจำนวนให้ถ้วนถี่
ความในเมืองสักกี่เรื่องกี่รายมี คำเหล่านี้ใช้ว่ารายกระจายคำ
คนที่มีไรผมชมว่าเหมาะ นี่จำเภาะเขียนว่าไรอย่าให้ถลำ
เนื้ออุไรเรืองรองนี่ทองคำ คนที่ทำผิดไปจันไรกิน
อิกรำไรร่ำไรพิไรร้อง เสียงเรไรแซ่ซ้องพนาสิน
นักเลงอุเอียงใหเมไรยริน คิดยุพินแม่ดำเนินเดินไรไร
นี่บอกใช้คำว่าไรไม่รู้สุด กุลบุตรเฃียนคำอย่าทำไถล
อย่าให้กลายควรจะรายไรก็ไร ทำเขวไขว้ใช้คลาศปราชตำเนียน
(๖๓) หนึ่งแม่กดบทที่ใส่ไม้ไต่คู้ จงเร่งรู้แล้ววิจารณ์จะอ่านเฃียน
คือว่าเสร็จแลสำเร็จเผด็จเจียน อิกคำเมียนว่าสมเด็จเสด็จจร
เหาะระเห็จตามเขบ็จฃบวนฤทธิ์ อันพูดเท็จทุจริตไม่ต้องสอน
เหล่านี้ล้วนคำสั้นกระชั้นกลอน เปนนิกรพจน์เบาราณบรรหารคำ
เหาะระเห็จเสร็จเท็จนี้คำสยาม กระแสความก็ไม่ฦกสุขุมขำ
กับที่ว่าเขบ็จขบวนก็ควรจำ นี่เปนคำคนไทยใช้กันมา
อันสมเด็จแลเสด็จสองคำนั้น เปนคำสรรแต่กัมพุชภาษา
ตกเปนฃองคนไทยใช้เจรจา ท่านแปลว่าผู้จบผู้เสร็จการ
เผด็จนี้แปลว่าตัดว่าคัดแก้ จงรู้แน่หนักแน่นเปนแก่นสาร
พระเผด็จสงครามนามบุราณ นามขนานป้อมเผด็จดัษกร
เผด็จเสี้ยนส่ายเศิกเลิกไปสิ้น ข้อรบิลบอกยุบลกลอักษร
จงหมั่นนึกตรึกตราให้ถาวร อย่าฟังเล่นอักษรกลอนประพันธ์
(๖๔) จำพวกหนึ่งแม่กนประดนสอน ไม่มีอออ่านว่ากรก็เหนขัน
แล้วซ้ำเขียนณอใหญ่ใส่การันต์ ก็ใช้กันมาเปนแบบดูแยบคาย
อลงกรณ์แปลว่าเครื่องประดับ อิกคำสับดปกรณ์ผ่อนขยาย
แปลว่าเจ็ดพระคำภีรโดยพิปราย ยังอีกรายหนึ่งนั้นว่ามหาปกรณ์
นี้แปลว่าพระตำราคัมภีรใหญ่ พยากรณ์ว่าทำนายธิบายสอน
คำที่ใช้ในสยามความอุทธรณ์ ว่าเลิกถอนตระลาการในศาลเดิม
ปฏิสังขรณ์คำจำไว้หนา เขาแปลว่าซ่อมแซมแลแถมเสริม
ของชำรุดรั่วร้ำทำแปลงเติม ปะฏิสังขรณ์เพิ่มภิยโยยาว
ปัจฐรณ์บรรจฐรณ์นี้เครื่องลาด คือฟูกเมาะเสื่อสาดสอาดขาว
ทั้งพรมเจียมผ้าปูดูเพริศพราว เหมือนคำกล่าวว่าบรรจ์ฐรณ์ที่นอนนา
อิกอาภรณ์แปลว่าเครื่องประดับ ที่สำหรับแต่งกายมีหลายอย่าง
คำนิวรณ์อาวรณ์ว่ากั้นกาง กั้นหนทางที่เปนบุญให้ขุ่นมัว
อิกม้วยมรณ์นั้นว่าตายวายชีวิตร ถ้าใครคิดถึงอยู่บ้างจะยังชั่ว
ภอกำจัดความเมาให้เบาตัว ที่คิดกลัวความตายค่อยคลายเบา
อุทาหรณ์นั้นท่านแปลว่าแบบอย่าง เปนที่อ้างออกใช้ทั้งใหม่เก่า
คือคำชี้ตัวอย่างทางสำเนา ที่ควรเล่าจดจำเปนตำรา
กรรมกรกรรมกรณ์ผ่อนเปนสอง โดยทำนองในมคธภาษา
กรรมกรตัวนี้ชี้วาจา คือใช้ว่าค่าทาษกรรมกร
แปลว่าคนทำการบรรหารเหตุ แนะนิเทศทางคำจงจำสอน
มิใช่พวกการันต์ปันนิกร จงรู้ผ่อนใช้ให้ต้องทำนองความ
กรรมกรมีณอการันต์ท้าย อธิบายบอกพร้องไม่ต้องถาม
เครื่องสำหรับทำโทษคนเลวทราม ซึ่งทำความทุจริตผิดคะดี
คือโซ่ตรวนขื่อคาเปนอาทิ ท่านศิริรวมจำนวนไว้ถ้วนถี่
สามสิบสองกรรมกรณ์แต่ก่อนมี แต่เดี๋ยวนี้ใช้แยกแปลกแปลกไป
(๖๕) หนึ่งอาจหาญห้าวหาญแลทวยหาญ นี่อาจาริย์ท่านบังคับตัวญอใหญ่
อย่างบัญญัติสืบกันมาภาษาไทย เดิมอย่างไรจึ่งเปนบทสกดญ
เรื่องนี้ก็หาชัดถนัดไม่ เหนแต่ใช้ตามกันเท่านั้นหนอ
ห้าวหาญนั้นว่ากล้าไม่รารอ อาจหาญกล้าพอจะรั้งรา
ทวยหาญขานความไว้ตามเหตุ โดยสังเกตกันที่รู้ว่าหมู่กล้า
จงเรียนรู้ดูให้ทั่วทุกวาจา จึ่งนับว่าเปนบัณฑิตย์ศิศยมีครู
(๖๖) หารสกดตัวรอพอกำหนด เปนมคธสิบเอ็ดคำจำให้อยู่
คืออาหารบริหารวิจารณ์ดู ทหารคู่กับสังหารประหารตี
สมาหารโวหารบรรหารเหตุ ในประเภทอะวะหารมีอยู่สี่
อภินิหารคูณหารชำนาญดี คำเหล่านี้รอสกดบทประจำ
ซึ่งศับทว่าอาหารพานจะตื้น ด้วยเปนพื้นพูดกันอยู่ทุกเช้าค่ำ
กินอาหารเข้าปลากระยากำ ถึงถ้อยคำอย่างผู้ดีก็มีมา
เชิญรัปทานอาหารสำราญเถิด ภักษาหารจะให้เกิดกำลังกล้า
ธัญญาหารเหนตระการในท้องนา ทั้งถั่วงาดาดไปในไร่ราย
บริหารว่าจำเลยเฉลยแก้ หนึ่งท่านแปลว่ารักษาว่าขยาย
คือควบคุมปกป้องต้องธิบาย เหมือนคำกายบริหารพานจะชุม
คำทหารก็เปนคำมะคะธะ ทะหะระที่ท่านแปลว่าคนหนุ่ม
สำเนียงไทยใช้ยาวกล่าวเคลือบคลุม เรียกกันกลุ้มว่าทหารนมนานมา
ศับทสังหารแปลคำว่านำพร้อม แต่พูดน้อมข้างไทยใช้ว่าฆ่า
ดังคำพูดสังหารผลาญชีวา ก็คือว่านำชีวิตรให้ปลิดปลง
ประหารว่าตีกันแลฟันฟาด คำนักปราชแปลไว้อย่าใหลหลง
พากยมคธมาเปนไทยใช้ให้คง อย่าเงอะงงแวะเวียนทำเปลี่ยนแปลง
โวหารว่าคำพูดฤาคำเรียก จงสำเหนียกยลแยบที่แอบแฝง
ทุกวันใช้โวหารพานเคลือบแคลง เหนระแวงไปข้างกล้าวาจาดี
เช่นคำว่านายปานโวหารมาก ทั้งฝีปากฉาดฉานไม่อู้อี้
คนที่กลั่นแกล้วกล้าเชิงพาที ชมว่ามีโวหารการเจรจา
สมาหารแปลว่านำมาพร้อม ถ้าจะน้อมในสยามภาษา
ตกในความว่าประมวลชักนำมา ดังชื่อช้างนางพระยาวิมลรัตน
นั้นมีบารมิตาสมาหาร สิโลกสารแอบแฝงท่านแจงจัด
พระบาฬีชักมาว่าให้ชัด ก็สมอัดถ์สมความไม่ลามเลย
อนึ่งนั้นจงวิจารณ์บรรหารศับท ก็คล้ายกับบริหารท่านเฉลย
แปลว่ากล่าวคำขยายพิปรายเปรย คำนี้เคยคนไทยใช้มานาน
เหมือนหนึ่งว่าศุภสารบรรหารเหตุ คำพิเสศใช้ว่าราชบรรหาร
เปนคู่กันกับที่ว่าบัญชาการ แต่บุราณมักจะใช้ใส่ตัวญอ
อะวะหารนั้นว่านำอย่างต่ำแท้ ข้างไทยแปลความประจักษว่าลักฉ้อ
เปนคำใช้ในมคธสกดรอ ไม่ติดต่อกับสยามความไม่มี
คำว่าอะภินิหารพานจะซึ้ง แปลให้ถึงความในอักษรศรี
ว่านำออกโดยฉเภาะเหมาะวาที ก็คือบุญบารมีที่นิยม
ดังคำว่ากฤดาภินิหาร แปลว่าท่านมีบุญได้สร้างสม
ไว้แต่เบื้องบุรภพท่านอบรม จึ่งอุดมไปด้วยยศศฤงฆาร
ยังอิกคำที่สิบเอ็จจะเสร็จสิ้น โดยรบิลบอกคำว่าคูณหาร
แปลว่าแบ่งนำลงจงวิจารณ์ คือเลขหารแบ่งชักหักเลขบน
ในคำนี้บางอาจาริย์ท่านขานบท ใช้สกดตัวนอข้อนุสนธิ์
ว่าเสื่อมถอยหย่อนยอบก็ชอบกล สองยุบลจงพิเคราะห์ให้เหมาะความ
อิกคำหนึ่งนั้นปะหานแปลว่าละ มิใคร่จะมีใช้ในสยาม
มักมีในเทศนาท่านว่าตาม บทในคามภีระอัดถ์ชัดวาจา
ตัดเกลศสมุทเฉทปะหาน ท่านไขฃานคำมีเช่นนี้หนา
พวกทายกอุบาสกอุบาสิกา ที่ฟังมาแต่เก่าเก่าคงเข้าใจ
หานสิบห้าคงคำจำให้แน่ ทั้งคำแปลอธิบายขยายไฃ
เมื่อจะเฃียนควรขานหานอะไร จงเลือกใช้แต่ที่ชอบประกอบคำ
(๖๗) หนึ่งพิธีคำนี้นี่ถูกแล้ว อย่ายักใช้ให้มันแคล้วไถลถลำ
บางคนเขียนทอเพิ่มเติมประจำ จัดเปนคำเขียนผิดว่าพิทธี
เพราะผิดจากคำเดิมเติมสกด ในมคธเฃียนคำวิธีนี่
ท่านแปลงวะไปเปนพะสระอี จึงเขียนใช้ว่าพิธีเช่นนี้คง
ต้องที่ใช้ในสยามความหลากหลาก โดยวิภาคพิธีพราหมณ์พิธีสงฆ์
ทุกพระราชพิธีที่จำนง โปรดให้คงไว้ประจำฉนำเดือน
(๖๘) หนึ่งสำรับกับอิกคำว่าสำหรับ ควรจะจับเสียงประหลาดอย่าคลาศเคลื่อน
ยกสำรับกับเฃ้าขึ้นเย่าเรือน ให้นายเผื่อนอยู่สำหรับช่วยรับการ
บางทีเขียนสำหรับเปนสำรับ หอไม่นำกำกับเคียงขนาน
ยากจะรู้ต้นเหตุสังเกตการ ผู้จะอ่านไม่ทันคิดก็ผิดความ
(๖๙) บวชผนวชตรวจดูก็รู้หมด เปนมคธดอกมิใช่คำสยาม
ท่านแปลว่าละเว้นเบญจกาม จึ่งใช้ตามคำมคธสกดชอ
บวชมิหนำซ้ำแผลงผนวชเล่า คือท่านเอาตัวปอเปนตัวผอ
เพื่อจะใช้สูงต่ำคำลออ เหมือนพระหน่อท่านไปทรงผนวชนาน
ตระกูลต่ำใช้แต่คำเพียงว่าบวช ชั้นเจ้านายทรงผนวชใช้คำขาน
เปนชั้นสูงชั้นต่ำจำพิจารณ์ เรียกให้ต้องตามการอย่าก้าวเกิน
(๗๐) อิกบพิตรบพิธคิดให้แน่ ดังแบบแก้ไว้เปนอย่างอย่าห่างเหิน
บพิตรว่าเครื่องยินดีเปนที่เพลิน ล้วนเปนสิ่งที่เจริญปลื้มกระมล
บรมนารถบพิตรมหิศร ในคำกลอนกล่าวแจ้งทุกแห่งหน
ตำแหน่งใหญ่ใช้นามเปนมงคล ไม่ใคร่พ้นคำบพิตรติดทุกนาม
ซึ่งใช้คำบพิธธอสกด พากย์มคธท่านมาใช้ในสยาม
แปลว่าแต่งสร้างสมนิยมตาม ขนานนามวัดราชบพิธ
ความว่าวัดจอมกระษัตรได้ทรงสร้าง นี่ตัวอย่างชี้เช่นเหนสนิท
คำที่แจงแจกถ้วนนี่ควรคิด เขียนบพิธอย่าให้ผิดพินิจความ
(๗๑) หนึ่งมิ่งขวัญหมอควาญบรรหารเหตุ แนะนิเทศอย่างบัญญัติในสยาม
เก่าสกดญอใหญ่ต้องใช้ตาม เหลือจะค้นต้นความแต่เดิมมา
จะสมโภชเชิญขวัญเสวตรสาร ทั้งหมอควาญให้ชุํนุํกันพร้อมหน้า
นี่ตัวอย่างขวัญควาญฃานวาจา เขียนกันมาญอสกดบทนิกร
(๗๒) อิกสองคำคือครุธอาวุธนี้ ในบาฬีเขียนเคียงเรียงอักษร
ครุโธอาวุโธกับโตมร มิได้ซ้อนตัวสกดบทยุบล
เสมียนไทยมักจะใช้เขียนสกด เปนอาวุทธครุทธหมดทุกแห่งหน
เอาตัวทอต่อเติมเสริมประดน เหนจะล้นเหลิงเลยด้วยเคยมือ
จะกลับกล่าวสกุณาพระยาครุธ ฤทธิรุดม์ฤาเลิศตลอดอื้อ
พวกโยธาอาวุธมีครบมือ ล้วนดุดื้อเด็จหาญข้างราญรอน
ขอเสียเถิดอย่านินทาว่าจู้จี้ กับเท่านี้ก็ยังว่าเอามาสอน
เหนเขาเขียนผิดผิดคิดอาวรณ์ จึงทำกลอนสอนไว้เผื่อที่เชื่อกัน
ที่ไม่เชื่อฉันก็เหลือจะตรองตริ ถึงจะติก็ต้องงดสู้อดกลั้น
ยอมให้ติยอมให้ว่าสารพัน ด้วยสำคัญคิดจะให้ไว้เปนคุณ
(๗๓) อิกวาทีว่าคัมภีร์แลกัมพุช กุลบุตรแปลงเปลี่ยนเฃียนออกวุ่น
จะวางแบบแยบย่อพอเปนทุน แก่ฝูงกุลบุตรเรียนเร่งเพียรจำ
คัมภีร์นี้คำมคธบทอธึก แปลว่าฦกล้วนเปนของสุฃุมขำ
ที่ครูสอนสิศย์เรียนจำเนียนนำ เช่นพระธรรมไตรยปิฎกยกเปนเดิม
เขียนคัมภีร์นั้นต้องมีการันต์ท้าย โดยธิบายตัวรอเข้าต่อเสริม
ยังแบบใช้ในกกาเฃ้ามาเติม เขียนก็คล้ายคำเดิมว่าคำภีร์
เมืองกำพุชแปลว่าเมืองเขมร ใช้กันเจนอยู่ก็เฃียนตัวพอพี่
แลสกดตัวชอต่อลิปี ตามวิธีแต่บุราณมานานครัน
กับที่ใช้ในแม่กกาล้วน คำก็ควรกำพุชไม่ผิดผัน
กำกับกัมแม่กมนิยมกัน ตัวสำคัญอย่าให้เพี้ยนเปลี่ยนเปนภอ
ที่คำยาวนั้นต้องกล่าวว่ากำโพช อุชเปนโอชผิดกันเท่านั้นหนอ
กัมโพชาธิบดีไม่มีรอ ออกต้านต่อกันแดนกำพูชา
(๗๔) คำที่ว่าปราโมชนั้นเปนสอง ตามทำนองในมคธภาษา
คือปราโมชปราโมทยสองวาจา ใช้กันมาสองอย่างแต่ปางบรรพ์
คำที่สองต้องเอาชะเปนทะยะ โดยวิธีสะกะฎะท่านจัดสรร
คำนี้แปลว่าบันเทิงรื่นเริงครัน ชี้สำคัญตัวอย่างท่างนิทัศน์
ทรงสดับสาราให้ปราโมช ด้วยยามโปรดปรีเปรมเกษมสวัสดิ์
อันบันเทิงนี้เปนความโสมนัศ คำปราโมชมีอัธิบายตรง
(๗๕) หนึ่งสังเวคสังเวชสังเกตพจน์ แล้วกำหนดนึกไว้อย่าใหลหลง
ตัวสกดสองคำจำให้คง โดยจำนงคำหนึ่งสกดคอ
คำหนึ่งชอสกดกำหนดไว้ นี่ใช้ได้เหมือนกันอย่าพรั่นหนอ
แปลว่าความสลดในน้ำใจฅอ อุทาหรณ์สอนส่อต่อฃ้อนิพนธ์
คิดคิดถึงทรงเดชสังเวชนัก มาร้างรักแรมไกลอยู่ไพรสณฑ์
สร้างสัลเลขเกิดสังเวคในกระมล ได้ลุดลแดนศุขศิวาไลย
แต่ทุกวันพูดกันว่าสมเพช ก็อ้างเหตุคำนั้นออกขานไฃ
ภาษาชักให้ประจักษเปนคำไทย จึงพูดใช้ว่าสมเพชเวทนา
คือแผลงเอานิคหิตเปนตัวมะ แล้วแปลงวะเปนพะเสียด้วยหนา
เปนสมเพชคำไทยใช้กันมา ลงอัตราแต่บุรำคำบุราณ
ดูสมเพชเวทนานักหนานัก เยาวลักษณไร้วงษ์น่าสงสาร
นี้ตัวอย่างชี้เช่นเปนประมาณ จำวิจารณ์ไว้เปนเครื่องเรืองปัญญา
(๗๖) หนึ่งจะเขียนคำว่าบุญอย่าวุ่นไขว่ คำนี้ใช้อย่างมคธภาษา
ที่คำต้นเรียกกุศลว่าบุญญา ท่านแปลว่าเครื่องชำระสันดานดี
จึงเฃียนใช้ญอใหญ่เปนตัวสกด เช่นแบบบทใช้มากเปนสากษี
ถ้าใช้ตามสังสกฤฎะวิธี แผลงนั้นมีตัวสกดนอกับยอ
เหมือนคำว่าผู้มีบุนย์การุญญาติ ไม่ให้ขาดทางมิตรสักนิดหนอ
คำว่าบุญต้องด้วยบทสกดญอ เปนสองข้อแคะไค้ออกให้ฟัง
(๗๗) อนุญาตหมู่ญาติให้รู้แยก จับตัวแปลกเช่นข้างต้นแต่หนหลัง
อนุญาตแปลว่ายอมโดยลำภัง อย่าให้พลั้งตอสกดมคธตรง
บางคนเขียนอนุญาตสกดติ อุตริเคลือบไคล้ด้วยใหลหลง
พาให้คนเฉาเซอะพลอยเงอะงง อย่าจำนงเอาเปนแบบไม่แยบคาย
อันคำญาติแปลกันว่าพี่น้อง คำนี้ต้องติสกดตามบทหมาย
อย่าไผล้เผลเขวไขว้ให้วุ่นวาย ที่ควรติอย่าให้กลายเปนตอไป
ที่ตัวอย่างอ้างชี้นั้นมีถม เหมือนบรมราชานุญาตให้
เสนามาตย์ซึ่งเปนญาติกับฝ่ายใน โปรดให้ไปสมโภชนัดดาองค์
(๗๘) หนึ่งไมตรีไม้ตรีวาทีสอง จงตฤกตรองใช้ความตามประสงค์
เหมือนไม้โทไม้ตรีที่จำนง นี่คำตรงเฃียนไม้ต้องใส่โท
ที่คำว่าไมตรีตีสนิท สมานมิตรไมตรีดีอักโข
ความเช่นนี้ไม่ต้องใช้ถึงไม้โท ด้วยเปนโวหารใช้ว่าไมตรี
เนื่องมาแต่ภาษามคธพจน์ คือตัวบทเมดติอักษรศรี
แปลว่าคิดที่จะให้กันได้ดี โดยวาทีที่ประจักษ์ว่ารักกัน
(๗๙) ปฏิญญาปฏิญญาณบรรหารเหตุ แนะนิเทศทางแยกที่แปลกผัน
ปฏิญญาคำมคธบทสำคัญ นี่ใช้กันมาแต่เดิมไม่เติมญอ
แปลว่าคำทานบนแลนัดหมาย ไม่กลับกลายมิใช่คำพูดลวงฬ่อ
ที่คำตรงในมคธสกดญอ ใช้ต่อต่อมาก็เปนปฏิญญาณ
(๘๐) หนึ่งเมดตามีตัวดอสกด ว่าตามบทบาฬีที่บรรหาร
ครั้นมาเฃียนคำไทยใช้กันนาน พวกเกียจคร้านชักเหเปนเมตา
ไม่ควรนับเปนตำหรับตำราแบบ ให้ถูกแยบอย่างบาฬีไว้ดีกว่า
ด้วยมิใช่คำไทยใช้กันมา อ้างภาษาในมคธเปนบทเดิม
คำเมดตาแปลว่าอารีรัก บางทีชักการุญเข้าหนุนเสริม
เปนสองคำสองข้อเข้าต่อเติม สองคำเพิ่มแปลว่ารักว่าเอนดู
คำที่ใช้ว่าช่างไม่เมดตาบ้าง เสียแรงร่างเรื่องรักประจักษ์หู
ลิขิตฃานสารส่งองค์พธู พอได้รู้เรื่องเมดตาของนารี
(๘๑) แก้เมดตาแล้วจะว่าด้วยเมดติ ตามลัทธิทางกลอนอักษรศรี
เมดติท่านแผลงใช้ว่าไมตรี ไม่ต้องมีโทประจำเช่นคำไทย
อันไม้ตรีมีถัดไม้จัตวา นั้นแปลว่าไม้สามสยามไข
แปลกกับคำเมดติแผลงว่าไม จะเขียนใช้จงประญัติให้ชัดชิน
เหมือนพูดว่าพิสมัยไมตรีมิตร ชักสนิทเปนไมตรีทุกที่ถิ่น
เจริญราชไมตรีถึงองค์กวิน ผู้ครองถิ่นนัคเรศเฃตรลอนดอน
(๘๒) กรุณาณอใหญ่ใช้จงชอบ ตามรบอบแบบบทมคธสอน
อย่าลิขิตให้มันผิดทางสุนทร จงจำกลอนจำแปลให้แน่ใจ
กรุณาแปลว่าเอนดูสัตว ที่ข้องฃัดเคืองเขญเปนวิไสย
คิดจะเปลื้องปลดทุกข์ให้ห่างไกล นี่แลท่านขานไขว่ากรุณา
(๘๓) หนึ่งการุญญอใหญ่ใช้สกด ก็ถูกบทตามแบบที่ศึกษา
อุกาสะการุญญังกัตวา ในคำขอบรรพชาสามเณร
พวกชาวบ้านมักจะค้านว่าชาววัด คี่มักจัดข้างตำราภาษาเถร
อันคำนี้มิใช่แสร้งจะแกล้งเกณฑ์ เคยบวชเณรแทบทุกคนบ่นเอาใคร
กรุณาการุญทุพิธพจน์ จะกำหนดโดยเนื้อความสยามไฃ
แปลก็อย่างเดียวกันอย่าพรั่นใจ จำให้ได้แต่ที่บทสกดญอ
แม้นทรงพระกรุณาแก่ข้าบาท จะเสร็จราชประสงค์จงทุกข้อ
หากว่าเราการุญอุดหนุนพอ นี่ความส่อกรุณากับการุญ
(๘๔) ปฏิญญาสัญญาปัญญานี้ เขียนต้องมีญอสองสนองหนุน
ตามมคธบทเดิมท่านเติมจุน จำต้นทุนไว้เปนเครื่องเรืองปัญญา
ปฏิญญาแปลว่าคำนัดหมาย สัญญาคล้ายเช่นกันฉนั้นหนา
ความรู้ทั่วนี่เปนตัวว่าปัญญา กับอิกคำปรีชาก็เช่นกัน
นี่แปลว่ารอบรู้ดูสังเกต ว่าตามเหตุแห่งอักษรท่านผ่อนผัน
ตกมาเปนคำไทยใช้จำนัญจ์ ถึงกระนั้นก็อย่าเขียนให้เพี้ยนตัว
(๘๕) ต่างกับตั่งนะอย่าพลั้งอย่างแพลงพลาด ถ้าเฃียนคลาศเคลื่อนเค้าเขาจะหัว
จะเขียนตั่งคำสั้นกระชั้นตัว อย่าไปมัวลากข้างเปนต่างไป
บรรจงจัดพร้อมเพรียงที่เตียงตั่ง ฃอเชิญนั่งให้สำราญจะฃานไข
ธรรมเนียมคนต่างคนคงต่างใจ ปล้องไม้ไผ่ต่างกันด้วยสั้นยาว
(๘๖) หนึ่งคำใช้ทอรอแทนซอนั้น มีสำคัญควรพิเคราะห์ได้เสาะสาว
คือนิทราอินทราจันทราดาว อิกคำกล่าวอินทรีมีไม้ไทร
ทรงทรางทรวงแทรกจำแนกบท โดยกำหนดทรุดทรัพย์ลำดับได้
ทราบอิกโทรมทรามทรายรายกันไป ทอรอใช้ต่างซอข้อคดี
คำนิทราแปลว่าหลับสนิท อินทราคิดข้างเปนชื่อท้าวโกสีย์
เช่นใช้มาว่าอินทราธิบดี รัศมีจันทราดาราพราย
คำว่าทรีนี้เปนสองสนองพจน์ คือมคธแลสยามความขยาย
ข้างคำไทยมิได้ใช้ตัวยอปลาย พฤกษารายริมถนนล้วนนนทรี
หนึ่งคำไทยเรียกใช้เปนนามนก คือพิหคอินทรีชื่อปักษี
กับเรียกใช้ชื่อมัจฉาในวารี ปลาอินทรีตัวเล็กเจ๊กประเดิม
อันอินทรียในมคธเปนบทแบบ นั้นมีแยบยอการันต์ท่านสรรเสริม
อนุสนธิ์ต้นข้อจะต่อเติม ไว้ภอเพิ่มอุดหนุนเปนทุนรอน
หมวดอินทรีย์ห้าหกยกออกไข ตามที่ในแบบบทมคธสอน
จำพวกธรรมที่เปนใหญ่ไกลนิวรณ์ คือศรัทธาเชื่อก่อนด้วยทดลอง
แล้วถัดถึงตัวสติที่ตริตฤก รู้ระฦกร้ายดีเปนที่สอง
ที่สามนั้นวิริยะเข้าประคอง สมาธิจัดเปนกองที่สี่มี
ที่ครบห้าคือปัญญาอันรู้ชัด กระจ่างจัดแจ่มสว่างทางวิถี
ทั้งห้าสิ่งสรรสิ้นว่าอินทรีย์ แต่ล้วนเปนอธิบดีสำเร็จการ
อินทรีย์หกยกคัดจัดฉักกะ จักษุโสตฆานะชิวหาหาญ
อิกกายใจสาธกหกทวาร ให้เสร็จการดูฟังทั้งสูบดม
กับลิ้มรศรู้สัมผัดอัตถ์คดี ท่านจึ่งเรียกอินทรีย์ก็สบสม
อิกอินทรีย์ยี่สิบสองปองนิยม โดยนุกรมอย่างวิจิตรพิศดาร
ฉันชักมาว่าให้เหนเปนกระทู้ จะใคร่รู้ในบาฬีมีวิดถาร
จะร่ำเพ้อพรรณาก็ช้าการ จงวิจารณบทระบินว่าอินทรีย์
ซึ่งมาพูดคำไทยไม่ถนัด เหนใช้ชัดไปข้างฝ่ายกายฉวี
เหมือนคำชมสมสิ้นทั้งอินทรีย์ อิกโอ่อ่าอินทรีย์ก็มีชุม
ความก็ชัดไปข้างชมรูปศิริ ต่อตรองตริจึ่งจะทราบอยาบสุขุม
ด้วยโวหารฝ่ายข้างไทยมักใช้คลุม ได้เหนชุมเช่นสกนธ์แปลว่าตัว
กับคำอื่นก็ยังมีเปนที่อ้าง ถ้ารู้บ้างเหนบ้างก็ยังชั่ว
จะสว่างส่างใสที่ใจมัว ไม่ต้องกลัวคลางแคลงระแวงคิด
คือใช้คำว่าพิทักษ์เปนรักษา มโนไมยใช้ว่าม้าไม่สนิท
กับภาราว่านครควรพินิจ หนึ่งลิฃิตใช้กัณถัดว่าอัศวา
อิกคำสั่งใช้เฃียนว่าราชสาร หนึ่งโวหารเหนใช้ว่าพูดกล้า
อิกคำเรียกเพชรนิลว่าจินดา เปนวาจาแปร่งแปร่งคลางแคลงคลุม
ราชสารควรใช้ว่าสาสนะ เช่นคำพระสาสนาว่ากันกลุ้ม
อันใช้คำแปร่งเช่นนี้มักมีชุม เคลือบเคลือบคลุมคลุมคล้ายอินทรีย์ฉะนี้นา
จงรู้รอบลอบไทรใช้ตัวนี้ กับคำที่ว่าต้นไทรใหญ่สาขา
ต้นไม้ดงทรงช่อชูผกา พระจักราทรงฤทธิ์สถิตยเนา
เรือที่นั่งลำทรงบรรจงหมด กับอิกรถที่นั่งทรงเฉิดเฉลา
พวกคนทรงมักจำนงต่อน้ำเมา ยุพเยาว์สรรทรงล้วนนงคราญ
เปนไฃ้ทรางวางยามิใคร่ถูก ใครช่างปลูกต้นมทรางพฤกษาสาร
เหนฝูงช้างบงทรางซึมงึมนาน สองฟากธารไม้ทรางเหมือนอย่างกลึง
บุษบาแค้นใจเปนใหญ่หลวง สองพระกรฃ้อนทรวงอยู่ผึงผึง
ปะเสหรันบาหยันให้พรั่นพรึง ไม่อ้ำอึ้งบอกเล่าเจ้ากระทรวง
เหนคางคกตายทรากไม่อยากหยิบ มนต์กระซิบทรากผีต้องพลีสวง
ถ่านไม้ทรากถ้าใครเอาสุมพลวง มันแรงล่วงเลยไปไหม้เปนจุณ
กระบวนแห่คราวนี้มีแปลกแปลก ทั้งบังแทรกบังสูริยเสนอหนุน
คนดูเบียดเสียดแทรกกันชุนละมุน ใครทำวุ่นแซงแทรกก็แตกวง
ที่ทางทรอกกรอกเกริ่นเนินไศล ถ้าแม้นใครไม่ประจักษก็มักหลง
ที่ทรอกแทรกแล้วต้องแยกไปตามตรง ท่านจำนงแผลงแทรกชำแรกแทน
เช่นใช้คำชำแรกแผ่นดินดล นั้นคือคนแขงเวทวิเศศแสน
กับพวกนาคถิ่นฐานบาดาลแดน ไม่ฃัดแคลนแทรกดินสิ้นด้วยกัน
อิกคำทรุดใช้ทอรอประกอบ ตามระบอบแบบบัญญัติท่านจัดสรร
เหมือนตึกทรุดเสาทรุดฉุดไม่ทัน ธรรมเนียมนั้นเสื่อมทรุดชำรุดไป
คำว่าทรุดกับชำรุดนี้ไม่แปลก เปนคำแยกเพราะท่านแผลงแสดงไข
ชำรุดเปนคำแผลงจงแจ้งใจ ก็คือทรุดคำไทยที่ใช้กัน
เฉิดเฉลาทรวดทรงนางนงลักษณ วรภักตรผุดผ่องเพียงบุหลัน
พวกโมงครุ่มสรวมเทริดประเสริฐครัน เทริดสุวรรณสวมเศียรเจียนจะคลุม
ที่คนขัดอัดอั้นปัญญาอับ คนมีทรัพย์มีศักดิ์มักสุขุม
ด้วยผู้ที่ปรีชามาประชุม ชักชุมนุมความฉลาดอาจประมวน
หนึ่งคำไทยใช้ว่าโลหิตทรับ บอสกดบทฉบับแบบกระสวน
ถึงจะใช้ตัวซอก็พอควร เพราะกระบวนคำไทยใช้ไม่ยืน
กลอักษรกลอนสยามความระหัศ ไม่ทราบชัดแล้วก็ใครอย่าใฝ่ฝืน
ได้ซึมทราบอาบอ้ำเพราะกล้ำกลืน คนโหดหืนห่อนจะทราบที่บาปกรรม
ทรามสวาดิ์ไยมาขาดไมตรีจิตร ทรามสงวนควรคิดที่ข้อขำ
อิกทรามไวยทรามรักชักประจำ กับอิกคำโฉมงามทรามคนอง
ผลไม้ดิบห่ามทรามกำดัด แสนสมบัติทรามชมภิรมย์สนอง
อิกเสื่อมทรามเลวทรามตามละบอง คนลำพองนั้นท่านว่าปัญญาทราม
ฃองปะหรักหักพังทั้งชำรุด เฃาเรียกว่าโทรมทรุดภาษาสยาม
อิกคำว่าโทรมนัศนี้ชัดความ พูดกันตามคำมคธบทบาฬี
แปลว่าความเสียใจฤไทยทุกข์ คู่กับศุขโสมนัศเจริญศรี
อิกกรวดทรายรายพื้นปัถพี คำเหล่านี้เสียงซอทอรอแทน
อันคำทอรอประโยคโสลกนี้ เห็นต้องที่คำมคธโดยแบบแผน
ที่คำไทยควรใช้ซอเปนแดน ได้เปลี่ยนแปลนตามเหตุสังเกตตัว
แต่บุราณใช้มากเปนรากเหง้า จะดัดแปลงของเก่าเขาจะหัว
จะถูกจับนัดยาข้าก็กลัว ต้องคิดถัวกันทั้งหมดมคธไทย
ตัวทอรอแทนซอเช่นนี้นี่ ใช่จะมีเพียงเท่าอย่างที่อ้างไขย
ถึงคำอื่นก็ยังดื่นมีถมไป นี่ฉันเลือกแต่ที่ใช้กันมาชุม
(๘๗) คำว่าธงคงใช้ธอธนิต คือท่านคิดคำบาฬีซึ่งมีกลุ้ม
ธะชะศับท์สาธกไม่ปกคลุม คำรวมรุมธุชธวัชสบัดปลาย
ธะชะเปนคำเดิมท่านเติมอุ เช่นเชตุพนวิหารอ่านขยาย
ชมพูนุทตัวอย่างอ้างพิปราย ท่านใช้กลายอุอะสระไทย
(๘๘) กับอิกคำว่าธุลีนี่ลิขิต ธอธะนิตใช้มาแต่คราไหน
ข้อยก็เกิดมาไม่ทันสำคัญใจ ตามที่ได้สอบสังเกตในเหตุการณ์
ขอเดชะฝ่าลอองธุลีพระบาท อุปฮาดราชบุตรสิทธิสาร
เข้ามาเฝ้าทูลธุลีบทมาลย์ ขอประทานโทษาฝ่าธุลี
เปนตัวอย่างอ้างออกอุทาหรณ์ ให้รู้บ่อนใช้คำธุลีนี
หนึ่งผงเผ่าเท่าลอองอิกผงคลี ก็คงเฃียนว่าธุลีเช่นนี้ตรง
(๘๙) อิกคำหนึ่งซึ่งมาแต่มคธ คือนิยมว่ากำหนดโดยประสงค์
ไม่ต้องกับความไทยใช้จำนง ต้องแบ่งลงสองส่วนควรพิจารณ์
ส่วนหนึ่งสาธกยกเปนบท ฝ่ายมคธข้อลิฃิตอย่างวิดถาร
ส่วนนิยมอย่างไทยใช้มานาน แต่พ้องพานกันกับพจน์บทบาฬี
ไม่นิยมสมบัติสลัดทิ้ง ด้วยเหนจริงถ่องทางธรรมวิถี
ให้นิยมชมชื่นรื่นฤดี ความอย่างนี้คำไทยใช้นิยม
จะแปลว่ากำหนดก็ใช่ที่ ถ้าแปลว่ายินดีนั้นดูสม
พากย์สยามพากย์อื่นเข้ากลืนกลม แยกนิยมออกเปนสองทำนองความ
(๙๐) หนึ่งคำใช้ว่าทำเนียมธรรมเนียมนี้ แต่เดิมทีใช้ประจำคำสยาม
คือแผลงเทียมว่าทำเนียมคดีตาม ดูก็งามในระเบียบว่าเทียบเทียม
ซึ่งเปลี่ยนใช้ธรรมธอมีรอหัน คือทรงธรรมจอมจบพิภพเสียม
พระจอมเกล้าเหล่ากระวีไม่มีเทียม โปรดให้ใช้ธรรมเนียมอย่างนี้นา
ด้วยอ้างคำธัมมะนิยะมะ มะคะธะทางพจนภาษา
จะเขียนอย่างข้างไทยที่ใช้มา ก็เฃียนว่าเปนทำเนียมทำนองคำ
ธรรมเนียมนี้แปลความตามมคธ ว่ากำหนดธรรมดาอุส่าหสำ
เหนียกจงแน่แต่ลบทควรจดจำ ให้ชัดชำนาญนึกเร่งตฤกตรอง
(๙๑) อนึ่งเพียรเรียนรู้จงประจักษ์ ในคำรักแลว่ารักษ์นี้เปนสอง
มีที่ใช้ต่างความตามทำนอง จะจัดจองแจ้งแจงที่ใจจริง
ว่ารักรักคำไทยใช้กันเกลื่อน คำเทียบเหมือนชายสมัครักกับหญิง
พ่อแม่รักใคร่บุตรสุดประวิง ฤาว่าหญิงรักชายก็คล้ายกัน
หนึ่งต้นรักดอกรักอิกน้ำรัก แน่ตระหนักคำไทยได้เศกสรร
ไม่ต้องที่ซึ่งจะมีษอการันต์ กอสกดเท่านั้นแลถูกความ
รักษ์ที่มีษอบอเข้าต่อท้าย บอกธิบายว่ามิใช่คำสยาม
จงแบ่งสรรปันส่วนอย่าลวนลาม ใช้ให้ถูกต้องตามความนิยม
พระยาบำเรอบริรักษได้ซักฟอก ขู่ตะคอกขึ้นเสียงเถียงขรม
บริรักษ์ผู้ช่วยป่วยเปนลม ถึงพระพรหมบริรักษ์ก็หนักใจ
อนุรักษราชมณเฑียรบำเรอภักดิ์ กับหลวงรักษราชหิรัญสำคัญไข
บริรักษภูธรจรครรไล ขุนบริรักษในนครบาล
จงประจักษ์เถิดว่ารักษเช่นนี้หนอ เปนพวกษอบอการันต์ท่านบรรหาร
พากย์มคธลดเปนไทยใช้มานาน พจมานรักทั้งคู่ดูคดี
(๙๒) หนึ่งวงวงษพงพงษทั้งสี่พจน์ ควรกำหนดที่ในบ่อนอักษรศรี
อันวงษ์พงษ์ษอประจำคำบาฬี แต่วงพงเปล่านี้นี่คำไทย
เดินให้ตรงหนาอย่าวงอย่าเวียนแวะ ชายชำแระป่าพงปรงไสว
เดินอย่าเลยเหลิงหลงเข้าพงไพร ผ้าอะไรโพกเศียรแล้วเวียนวง
อันวงพงเช่นนี้ชี้แถลง ความแสดงคำไทยใช้ประสงค์
คำบาฬีเช่นมนตรีสุริยวงษ กับพระยาวรพงษผู้ภักดี
อันที่ใช้คำวงษกับพงษพจน์ โดยกำหนดเชื้อวงษพระทรงศรี
กับเผ่าพงษ์วงษ์มุขมนตรี คือเสนาธิบดีเสนีรอง
จะว่าลัดตัดความแต่ย่อย่อ บันดาเผ่าเหล่ากอนับสนอง
ควรจะเรียกวงษ์พงษ์จำนงปอง จะจำลองเลศใช้ในยุบล
เรื่องที่นับโดยลำดับพระพุทธเจ้า แต่ต้นเค้าเก่าก่อนโดยนุสนธิ์
โพธสัตวเชื้อสายพระทศพล ซึ่งขวายขวนปองประโยชน์โพทธิญาณ
นี่เรียกว่าพุทธวงษ์สิ้นทั้งหลาย เพราะท่านสืบเชื้อสายเปนแก่นสาร
ได้ต่อเนื่องแต่ปฐมมานมนาน นับวงษวารฝ่ายฃ้างพระละโลกีย์
อันวงษพงษพูดใช้ในสยาม กระแสความหลายอย่างอ้างถิ่นที่
รวิวงษภาณุวงษพงษก็มี อิกวาทีหนึ่งว่าภาษกรวงษ
หนึ่งว่านเครือเชื้อวงษประยูรศักดิ์ ถนอมรักวงษประยูรตระกูลหงษ
สงวนศักดิ์สมศักดิ์จักรพงษ บรมวงษแต่ปฐมอุดมพันธุ
พระอาทิตยวงษดำรงยศ สุริยวงษปรากฏว่าวงษสวรรค์
ราชวงษเจ้านายก็คล้ายกัน ล้วนเปนวงษเทวัญจุติมา
สุรวงษคือพงษพระอาทิตย อุไทยวงษ์คงลิขิตในเลขา
พระวรุตมพงษทรงศักดา วงษมหาสมมุติวิสุทธิวงษ
ทั้งวงษ์พงษ์นี่จำนงอเนกนัก ตามแต่เรื่องเยื้องยักโดยประสงค์
เชื้อกระษัตรเรียกว่าขัติยพงษ์ กับเรียกราชวรวงษ์ก็ตรงกัน
อุปฮาดราชวงษ์ได้ปลงจิตร บำรุงกิตยในมลาวะเขตรฃันธ์
พระจอมพงษทรงโปรดที่โทษทัณฑ์ ตามสำคัญวงษานุวงษ์ทูล
พระสัมพันธวงษเธอเสนอถ้อย ไม่เคลื่อนคล้อยโดยดำรัสบดินทรสูรย์
พระสงสารประยูรวงษทรงนุกูล ให้เพิ่มพูลจักรพรรดิ์พงษ์พาร
สมมุติเทพยพงษ์วงษ์กระษัตริย ท่านแจงจัดพระประพันธวงษ์สมาน
พระวงษ์เธอวรวงษ์จงพิจารณ์ จะเฃียนอ่านจงกระจัดให้ชัดคำ
ซึ่งเฃียนว่าเผ่าพงษ์ฤาวงษ์วาร นี่ข้อขานเปนกลางกลางแลอย่างต่ำ
วงษ์ตระกูลวงษ์ญาติต้องเกรงยำ ทั้งสองคำนี้ก็ว่าเปนสามัญ
หนึ่งนามพระราชาคณะสงฆ์ ท่านก็ใช้วงษ์พงษ์จำนงสรร
อริยวงษ์โพธิวงษ์ดำรงธรรม์ อิกคำนั้นพระศรีวิสุทธิวงษ์
ซึ่งหันเหียนเปลี่ยนใช้ในคำศับท์ ท่านแปลงกลับโดยความตามประสงค์
มหาวัดได้เปนที่กระวีวงษ์ พระอุดตะโมรุพงษ์นามพระครู
วงษ์กับพงษ์สองคำร่ำไม่สุด จะคุ้ยขุดมากเหลือจะเบื่อหู
แต่เท่านี้จำให้คล่องก็ลองดู คงได้รู้ใช้พงษ์กับวงษ์วาร
(๙๓) หนึ่งคำเก่าเค้ามูลเปนมคธ แต่เลื่อนลดความบาฬีที่บรรหาร
คือโมโหเวทนาใช้มานาน กับสงสารนี้อิกคำจำวินิจ
โมโหนั้นแปลว่าหลงตรงกับศับท์ ข้างไทยกลับใช้ว่าโกรธโทษะจิตร
เหมือนโมโหขึ้นมาข้าไม่คิด ผิดก็ผิดชอบก็ชอบคงตอบมัน
เหนคนหยิ่งโยโสโมโหเกิด ดูเอาเถิดเขามายั่วโมโหฉัน
โมโหกลุ้มรุมจิตรคิดไม่ทัน เช่นนี้นั้นพูดโมโหว่าโกรธา
ความระแวงแพลงพลาดคลาศมคธ ยกเปนพจน์ข้างสยามภาษา
ด้วยทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ใช้กันมา ต้องยอมเปนวาจามคธกลาย
(๙๔) เวทนาเปนภาษามะคะธะ ในคำพระบาฬีนั้นมีหลาย
เนื้อความแปลเหมือนเหมือนไม่เคลื่อนคลาย จะขยายแปลคำจำวิจารณ์
เวทนาว่ารู้แจ้งอารมณ์ คือศุขทุกขมัธยมแยกบรรหาร
เกิดแต่ของข้องกระทบครบทวาร จักษุโสตลิ้นฆานทั้งกายใจ
คือตาดูหูฟังทั้งได้กลิ่น กับอิกลิ้นลิ้มรศกำหนดได้
กายกระทบถูกสำผัศท่านจัดไว้ วิญญาณในรู้ตระหนักประจักษความ
เมื่ออารมณ์มาสัมผัศทวารหก ท่านแยกยกแบ่งปันสรรเปนสาม
หนึ่งเปนศุขคือสบายขยายนาม อนึ่งความทุกขร้อนข้อนขุ่นทรวง
อนึ่งนั้นอุเบกขาว่าเพ่งเฉย คือแหวกเลยศุขทุกขอาไลยห่วง
ไม่มีทุกข์ไม่มีศุฃสิ้นทั้งปวง สามกระทรวงนี้เปนชื่อเวทนา
แล้วท่านแจกแยกคัดจัดอิกสอง ต่างด้วยคลองจิตรเดินในแถวห้า
โทมนัศโสมนัศถัดกันมา นี่ก็ชื่อเวทนาโดยอารมณ์
ยามเมื่อเหนของงามฤายามสดับ ดนตรีขับร้องขานประสานสม
อิกเครื่องหอมไล้ลูปแลสูบดม ระสารมณ์เสพยรศที่โอชา
ได้สัมผัศฟูกเมาะอิกผ้าผ่อน ละอออ่อนยั่วยวนดำฤษณา
ฤาสังวาศนารีกลกรีธา ซึ่งเอิบอิ่มในอุราระรื่นรมย์
หนึ่งทราบความตามถานที่สังเกต ซึ่งบอกเหตุลาภยศกำหนดสม
ให้แจ่มจิตรฟูฟื้นด้วยชื่นชม เรียกอารมณ์โสมนัศจัดเปนกอง
ถ้าได้เหนแลได้ยินได้กลิ่นรศ ถูกแขงอยาบทราบบทยุบลผอง
ให้เศร้าจิตรเสียใจในทำนอง นี้เปนกองโทมนัศเวทนา
ความในพระบาฬีเช่นนี้แน่ ตามกระแสในมคธภาษา
ผิดกับเสียงคนไทยที่ใช้มา ว่าสมเพชเวทนากับทารก
แสนสงสารเวทนาหนักหนานัก ด้วยนงลักษณ์จะมาพรากไปจากอก
เวทนาสารพัดที่จัดยก เปนวาจกวาจาภาษาไทย
เหนลงในความว่าเอนดูหมด กระแสบทบอกความตามวิไสย
เปนแผนกแยกจากมคธไป ยกเปนคำคนไทยใช้กันเอง
(๙๕) ยังสงสารนี่อิกคำก็จำยาก จะวิภาครากโคนให้โดนเผง
เพราะคนไทยพูดใช้กันคฤานเครง ไม่ถูกเพลงกับมคธบทวิธี
คำสงสารซึ่งบรรหารตามมคธ ว่าท่องเที่ยวไม่กำหนดถานวิถี
คือเวียนว่ายตายเกิดในโลกีย์ จนไม่มีเบื้องต้นค้นไม่ภบ
ท่านเรียกว่าสังสาระวัฏวน แทบทุกคนเวียนอยู่ไม่รู้จบ
หนึ่งท่านเรียกสงสารมหรรณพ ต้องหมุนไปกว่าจะพบพระนิพพาน
ความในพระคัมภีร์นั้นมีชัด ท่านเรียกสังสารวัฏว่าสงสาร
ไม่ถูกกับคำไทยที่ใช้นาน คือสงสารสมเพชเวทนา
แสนสงสารเยาวมาลย์มิ่งสมร มาทุกขร้อนยากแสนสหัศสา
ซ้ำสงสารพระกุมารองค์นัดดา ความเช่นว่านี้สงสารขานข้างไทย
เปนสองทางวางแยกแจกให้รู้ ถ้าใครดูแล้วอย่าคลำจำให้ได้
ผู้ที่มักฟั่นเฟือได้เตือนใจ ดีกว่าไหลเล่อเลอะละเลิงเลย
(๙๖) อนึ่งคำสังเวชสมเพชนี้ แต่เดิมทีคำมคธบทเฉลย
สังเวคะคำขยายพิปรายเปรย ท่านที่เคยปริยัติคงชัดความ
สังเวคะแปลว่าสลดจิตร มาต่อติดใช้ประจำคำสยาม
ถึงผู้ที่แปลไม่ได้ก็ใช้ตาม จนรู้ความกันดิบดิบหยิบเจรจา
ซึ่งสังเวชกับสมเพชคำเดียวกัน แต่ท่านสรรแปลงวอเปนพอหนา
คอกับชอเปลี่ยนผลัดถัดกันมา ลงวาจาสังเวชสมเพชแปลง
ที่ใช้คำหอธรรมะสังเวช พระทรงเดชทรงประดิษฐคิดแถลง
ยังเถลิงขึ้นเปนนามอารามแปลง วัดที่แฃวงบางลำภูคูนคร
ชื่อสังเวชวิสยารามเปลี่ยน เพราะอาเกียรณอยู่ด้วยศพสมทบถอน
ทั้งใหม่เก่าเผาฝังประดังฟอน เปนที่จำใจอ่อนสลดลง
วัดสังเวชวิไสยเปนคำอัตถ์ แปลก็ชัดชัดความตามประสงค์
คือเปนที่จิตรสลดอารมณ์ปลง อารามคงแปลว่าวัดชัดความไทย
(๙๗) หนึ่งพูดอ้างวาจาว่าประมาท ถึงนักปราชยากจะคิดวินิจไฉย
ด้วยแปร่งมาฃ้างภาษาคนไทยไทย แปลกกับไนยเนื่องมาแต่บาฬี
คำประมาทนั้นว่าขาดสติตฤก ไม่ได้นึกในกุศละราษี
ขนแต่บาปใส่ตัวกลั้วราคี การเช่นนี้เรียกประมาทขาดวิจารณ์
ฃ้างคำไทยใช้กันว่าดูถูก เหมือนว่าลูกประมาทพ่อเปนฃ้อฃาน
เออนายตาดนี้ประมาทเรามานาน ไม่ควรการจะประมาทชาติปุมา
คำประมาทพูดแพร่งทุกแห่งหน เพราะเราจนคนทุกชาติประมาทหน้า
ศิศยประมาทลบหลู่ท่านครูบา เข้าเดินป่าใครประมาทมักพลาดแพลง
ภาษาไทยพูดใช้คำประมาท มิได้คลาศความดูถูกแทบทุกแห่ง
ถึงคนรู้ก็ต้องใช้ไม่ระแวง เพราะตกแพร่งเปนภาษาเจรจากัน
(๙๘) กับมานะนี่อิกคำจำไว้เถิด บางทีเพริดความเขวจนเหหัน
บางทีใช้ถูกประสงค์ตรงสำคัญ มานะนั้นว่านับถือแลถือตัว
คือถือชาติถือตระกูลประยูรศักดิ์ หนึ่งถือความรู้หลักว่าเลิศทั่ว
อิกถือเราถือเฃามักเมามัว หนึ่งถือตัวตามยศลดไม่ลง
ถ้าแม้นเหนคนต่ำทำรานระ เกิดมานะฮึดฮือกระพือส่ง
ในสยามก็คือความที่ทรนง ด้วยยศชาติเชื้อวงษ์แลวิทยา
ความเช่นนี้กับบาฬีพอเคียงใกล้ แปลก็ได้ถูกความตามภาษา
มานะหนึ่งคำไทยที่ใช้มา เปนวาจาแปร่งเสียงเพลี่ยงกันไป
ดังคำว่าข้าคิดมานะนัก หญิงคนนี้นี่ข้ารักแต่ไหนไหน
ข้าเกี้ยวมันมันช่างด่าข้ากะไร ข้าแค้นใจคิดมานะจะให้ลุ
ข้าจะตั้งพากเพียรเฝ้าเวียนปลอบ แม้นไม่ชอบแล้วจะย้ายข้างฝ่ายดุ
คิดคุมเหงให้มันเกรงด้วยเย้ายุ คงได้ลุสมคเนไม่เปรแปร
ความอย่างนี้ดูทีเหมือนจะผิด เปนมานะไม่สนิทผิดกระแส
ในมคธกับสยามเนื้อความแปล เช่นคำเรียกเรือกับแพก็ต่างกัน
ถึงคำเดียวแต่ว่าเรือก็เหลือยาก โดยวิภาคชื่อก็มีทุกสิ่งสรรพ์
เรือกระบวนเรือที่นั่งเรือดั้งกัน เรือสำปั้นเรือกันยาแผ่นม้ายวน
++3293เอ่ยขึ้นคำเดียวเรือเท่านั้น ชื่อกับรูปเรือปันเปนส่วนส่วน
เหมือนมานะไทยมคธบทกระบวน ถ้าใคร่ครวญก็คงได้รู้ใจความ
(๙๙) หนึ่งจงรู้แยบคายอุบายบท คำว่ารดนี้ต้องสรรปันเปนสาม
คือคำรดที่สกดด้วยดอตาม คำสยามคนไทยมักใช้ชุม
เหมือนรดน้ำย่าปู่ครูอาจารย์ ในฤดูตรุศสงกรานต์รดกันกลุ้ม
พวกพราหมณ์รดสังขกรดกับอีกกุมภ์ บ้าคลั่งคลุ้มต้องด้วยบทรดน้ำมนต์
อีกรดผักรดหญ้าสารพัด รดที่ไทยใช้ชัดทุกแห่งหน
ตามภาษามาแต่แรกไม่แปลกปน โดยยุบลแบบรดสกดดอ
ราชรถกับทั้งรถอันเศศสิ้น ในระบินแบบว่ารถสกดถอ
บันดารถสัตวเทียมเอี่ยมลออ สกดถอสิ้นทั้งหมดบทบังคับ
อีกคำหนึ่งซึ่งว่ารศสกดสอ ใครสกดถอฤาดอจะต้องปรับ
ปะที่ครูปากกล้าจะด่ายับ เพราะไม่จับจำเค้าทำเดาดึง
ระสะว่ารศยาหารตระการหลาก รศมีมากเปรี้ยวหวานน้ำตาลน้ำผึ้ง
ทั้งรศฝิ่นรศเล่าเมามึนตึง เอะอะอึงด้วยเปนรศไม่อดออม
จืดเผ็ดเค็มฃมขื่นแต่พื้นรศ ว่าให้หมดทั้งฝาดทั้งเฝื่อนย่อม
สรรเปนรศหมดสิ้นต้องยินยอม ศอสกดหนะอย่าปลอมให้แปลนไป
ประเภทรศนี้ท่านคัดจัดเปนสอง ตามทำนองกายจิตรวินิจไฉย
คือแจกออกเปนภายนอกกับภายใน ท่านจัดไว้รศทั้งสองจงตรองการ
รศที่รู้ด้วยกายเปนภายนอก เช่นอย่างบอกมาทั้งหมดรศอาหาร
ที่สัมผัศชัดชิวหาทวาร เปรี้ยวแลหวานจัดว่ารศพาหิรา
รศจำเภาะเปนวิไสยแต่ใจรู้ ก็มีอยู่หลายหลากมากนักหนา
คือรศซึ่งประจักษในวิญญา รศสังวาศกรีธาในกาเม
อันรศนี้นี่สำคัญกระสันจิตร มันให้คิดหวนหันออกปั่นเป๋
แม้นถึงพระที่ผนวชยังทรวดเซ ต้องหันเหออกมาหากามะรศ
รศสังวาศเรี่ยวแรงทั้งแขงกล้า เหนแรงกว่ารศอะไรที่ไหนหมด
ทำใจมืดโมหะไม่ละลด เหมือนกันหมดจิตรไพร่ใจผู้ดี
หนึ่งวาจาของผู้ใดพูดไม่ปด จัดเปนรศล้ำเลิศประเสริฐศรี
พระสัทธรรมซึ่งนำหน่ายโลกีย์ พระบาฬีปรากฎว่ารศธรรม
หนึ่งเพลงขับคำกลอนอักษรเสนาะ ที่ไพรเราะหคายคมคารมขำ
นี่ก็เรียกกันว่ารศบทลำนำ อุสาหจำจำจดรศวิจารณ์
รศซึ่งฉันพรรณามาทั้งนี้ จัดคะดีรศภายในออกไขฃาน
มิใช่รศรู้ด้วยลิ้นแต่วิญญาณ ก็เสรจการลงเปนรศบทธิบาย
อนึ่งการสามัคคีอารีรัก ที่พร้อมพรักร่วมจิตรมิตรสหาย
เจ้ารักข้าข้ารักเจ้าบ่าวรักนาย ไม่สลายลดเลี้ยวเปนเกลียวกลม
ทุกทางกิจมิได้คิดรังเกียจเกียง ไม่หลีกเลี่ยงหลบหลู่แลฃู่ข่ม
มีการใดพร้อมใจช่วยระดม ด้วยนิยมยอมสมัคสามัคคี
ซึ่งรอมชอมชักสมานทุกหมู่หมด จัดว่ารศล้ำเลิศประเสริฐศรี
อำนวยผลดลปรัจจุบันมี เช่นตัวอย่างอ้างชี้ได้ชัดชัด
ในมนุษยเหนประจักษไม่พักว่า เล่าแต่เรื่องสกุณาปักษาสัตว
นกกระจาบฝูงใหญ่ได้อาณัติ สัญญากันรู้ถนัดนัดพร้อมใจ
เมื่อเวลาพรานป่าเอาข่ายทอด ศีศะลอดตาแหแลไสว
แล้วพร้อมกันบินปรื๋อกระพือไป สวมก่อไผ่เซิงหนามที่ตามดง
แล้วย่นฅอย่อตัวเปลื้องหัวปลด ค่อยเลื่อนลดจากตาข่ายโดยประสงค์
นกทุกตัวรอดชีวิตรไม่ปลิดปลง เพราะจำนงพร้อมพรักสามัคคี
เมื่อวันหนึ่งฝูงนกกระจาบใหญ่ พากันไปลงที่พื้นพนาศรี
แสวงหาอาหารตระการมี สกุณีบินไขว่โผไปมา
ขะณะนั้นนางนกกระจาบจ้อย บินเคลื่อนคล้อยเรื่อยโร่โผถลา
เอาเท้าระถูกศีศะวัฏะกา ก็โกรธาด่ากันด้วยอยาบคาย
นกที่เปนพวกพ้องสองนกนั้น ก็รุมรันช่วยทะเลาะทั้งสองฝ่าย
สามัคคีร้าวแยกแตกทำลาย ภอตาข่ายพรานหุ้มไปคลุมลง
ด้วยเกิดเกี่ยงเถียงกันอยู่อึงมี่ ก็ไม่มีใครสอดศีศะส่ง
พากันติดตาข่ายวายชีวงค์ พรานจำนงลุลาภหาบไปเรือน
สามัคคีมีผลดลประจักษ์ ถ้าพร้อมพรักไม่สลายไม่กลายเกลื่อน
หมั่นเสพยรศสามัคคีทุกปีเดือน คงไม่เคลื่อนคลายสวัสดิ์พิพัฒพอ
สามัคคีนั้นเปนที่สรเสริญ ความเจริญมีอะเนกอะนันต์หนอ
ถ้าทำให้แตกพังไม่รั้งรอ โทษก็พอเหลือลามออกครามครัน
ถึงการศึกสงครามต้องคร้ามคิด คนพวกเดียวที่สนิทจะผิดผัน
เปนไส้ศึกฦกซึ้งถึงฉกรรจ์ ถ้าหากเปนเช่นนั้นแล้วร้อนใจ
แม้นร่วมคิดจิตรพร้อมกันเปนหมู่ ถึงศัตรูอื่นจะคิดก็ยากได้
เกรงอำนาจบมิอาจจะก่อไภย เพราะที่ได้ดื่มรศสามัคคี
เพราะฉะนั้นเราท่านควรรักษา เปนมหาศุภผลมงคลศรี
คำว่ารศที่กำหนดในวาที ความเช่นนี้ศอสกดบทธิบาย
(๑๐๐) หนึ่งผู้เพียรเรียนรู้จงรอบคอบ เชิงประกอบการกระวีนั้นมีหลาย
จงสนใจเรียนแบบที่แยบคาย อย่ามักง่ายจำทรงให้คงทน
หนังสือไทยที่ท่านใช้นั้นมีมาก คำหลากหลากเลาเลศล้วนเหตุผล
แม้นไม่ได้ศึกษาก็ท่าจน อุส่าห์ขวนขวายรู้เช่นภูรี
กระบวนหนึ่งตัวเฃียนไม่เปลี่ยนแปลก แต่อ่านแยกสองความตามวิถี
วัดเขมาโกฎเขมาเพลาก็มี แต่ที่นี่ไปถึงป่าเพลาเย็น
ที่ริมเชิงเสลาภูผาใหญ่ ล้วนกอไผ่ลำสล้างเสลาเห็น
หัดบวกปูนใบเสมากว่าจะเปน น่าโฮเตนปลูกเสมาดูเพราตา
ใครไปตัดต้นโสนที่คลองโสน ตัดจนโกร๋นเหี้ยนหักเอาหนักหนา
ปูแสมแลเขดาเขดาระงา เปนวาจาสองเงื่อนอย่างเฟือนทาง
จีนยิโหงโผเล่นกระเดนโหง เสียงดังโผงฟาดปึงดังผึงผาง
ที่ดงแขมเมืองแขมแลดูบาง ท้องตราวางเมืองแขมแปลสำเนา
ใครคุมเหงจีนเหงจนเซซวด อ้ายจีนฮวดนี่มันเก่งคุมเหงเฃา
อย่าหวงแหนจอกแหนให้แก่เรา พอลมเพลาก็เพลาลงสายัณห์
วันเสวเสวกาจะมาพร้อม อย่าพวงหลงล้อมพวงปะหนัน
ที่บ่วงสวงสวงเสท้าวเทวัญ ดูน่าพิศวงครันนึกหวั่นแด
คนขี่ม้าบ่าวพระยารามคำแหง ชื่ออ้ายแดงตกม้าทำหน้าแหง
ผอบกับผอบทองเปนสองแคว อ่านจงแลดูความตามทำนอง
(๑๐๑) อันคำคู่นี้ต้องรู้โดยสำเหนียก ด้วยคำเรียกพูดกันนั้นเปนสอง
ตัวอักษรร่วมกันจงหมั่นตรอง ให้ลงคลองเค้าความตามคดี
ปกีระณำคำกลอนพจนาดถ์ ขอเชิญปราชช่วยพิจารณ์ในสารศรี
ที่บกพร่องพลาดพลั้งก็ยังมี ท่านเมธีโปรดเพิ่มช่วยเจิมจุน
หนึ่งวางบทพจน์พากย์ถลากถลำ เหมือนผักยำเคมเปรี้ยวไม่เฉียวฉุน
ด้วยเดิมจิตรคิดเล่นพอเปนคุณ แก่ฝูงกุลบุตรเล็กเด็กเด็กเรียน
เปนไวพจน์ย่อย่อพอสังเกต ในต้นเหตุแห่งการจะอ่านเขียน
เด็กไม่เขลาเชาดีทั้งมีเพียร คงจะเฃียนรู้ง่ายสบายเอย ฯะ

• • • • • • • • •

๏ สารสั่งฟังแล้วพ่อ เพียรจำ
เลาเลศเหตุแห่งคำ คิดเค้า
ในเรื่องปะกีระณำ นำแนะ ไว้นา
ผูกจิตรคิดค่ำเช้า ชอบได้ฉลาดเฉลิม ฯะ
๏ ใดใดใครใคร่รู้ พิศดาร
จงใฝ่ใต่สวนสาร สืบให้
พบกลอนเทียบพิจารณ์ ไวพจน์ นั้นนา
แม้พบจักอ่านได้ เรื่องกว้างทางสอน ฯะ
๏ ประมวนคำใช้ย่อ ยกหยิบ
นับประมาณเก้าสิบ แปดข้อ
เฉกผลพฤกษ์ห่ามดิบ สุกคละ กันเฮย
เชิญเลือกชิมเล่นน้อ ฝาดเปรี้ยวคายคืน ฯะ

• • • • • • • • •

โคลงสุภาษิตเครื่องสอนใจเตือนสติผู้เล่าเรียนดังนี้

๏ ความรู้รู้ยิ่งได้ สินศักดิ์
เปนที่ชนพำนักนิ์ นอบนิ้ว
อย่าเกียจเกลียดหน่ายรัก เรียนต่อ เติมนา
รู้ชอบใช่หอบหิ้ว เหนื่อยแพ้แรงโรย ฯะ
๏ วิชชาเปนเพื่อนเลี้ยง ชีวิตร
ยามอยู่เรือนเมียสนิท เพื่อนร้อน
ร่างกายสหาวติด ตามทุก เมื่อเฮย
บุญหากเปนมิตรข้อน เมื่อม้วยอาสัญ ฯะ
๏ เรียนรู้รู้ให้โปร่ง ปราดเปรียว
จักฉลาดควรเฉลียว ติดด้วย
ปัญญาหน่วงกลมเกลียว สติกล่อม ไว้นา
ทำกิจการจวบม้วย ห่อนพ้องไภยพาล ฯะ
๏ อิดถีรูปา นารีรูปเอี่ยมอ้าง เปนทรัพย
ปุริสะวิชชา บุรุษวิชชานับ หนึ่งได้
สุรำโยธา โยธีกลั่นแกล้วรับ รบบ่อ ขลาดแฮ
สะมะณะศีลา สมะณะครองศีลไซ้ สี่นี้ทรัพยแสน ฯะ
๏ เรียนรู้แม้นรู้ถ่อง ถึงจริง
อย่ายกยอตนอิง อวดอ้าง
อย่าเมาอย่าสุงสิง เยียใหญ่
ถึงบ่โง่ถ่อมข้าง โง่ไว้ใจเยน ฯะ
๏ อุบลบอกฦกตื้น วารี
โฉดฉลาดจับวาที ตอบโต้
จิตรตรงคดร้ายดี ดูยาก นักนอ
คนที่ปากโวโอ้ มักพลั้งพลันเข็ญ ฯะ

หนังสือกลอนสอนเด็กเรื่องนี้ ชื่อว่าปกีรณำพจนาดถ์ เพราะมีเนื้อความจัดถ้อยคำเรี่ยรายไปไม่เปนเรื่องเรียบเรียง ว่าคลุกคละปะปนกันไปไม่เปนลำดับ แต่ถ้าจะคัดเปนข้อ ๆ พอจะคัดได้ ประมาณข้อในกลอนเรื่องนี้ทั้งหมดด้วยกันเปน ๑๐๑ ข้อ ดังเรียบเรียงลำดับไว้ข้างล่างนี้ ฯ

ที่ ๑ กาน ๖ อย่าง น่า ๒ บันทัด ๑๕
ที่ ๒ ผึ้งพึ่ง น่า ๔ บันทัด ๒๐
ที่ ๓ อยู่อย่า น่า ๕ บันทัด ๒
ที่ ๔ คำยาวคำสั้น น่า ๕ บันทัด ๔
ที่ ๕ ผู้โท น่า ๕ บันทัด ๑๕
ที่ ๖ ท่าถ้าน่าหน้า น่า ๕ บันทัด ๑๗
ที่ ๗ บังบาง น่า ๖ บันทัด ๖
ที่ ๘ เป่าป่าว น่า ๖ บันทัด ๑๘
ที่ ๙ กำกำม์กรรม น่า ๗ บันทัด ๓
ที่ ๑๐ เฝ้าเฟ่า น่า ๗ บันทัด ๑๕
ที่ ๑๑ ข้าค่าฆ่า น่า ๗ บันทัด ๑๗
ที่ ๑๒ เข้าออก น่า ๘ บันทัด ๑๖
ที่ ๑๓ ทำธรรม น่า ๘ บันทัด ๑๘
ที่ ๑๔ ข้างค่าง น่า ๙ บันทัด ๔
ที่ ๑๕ ว่าหว้า น่า ๙ บันทัด ๖
ที่ ๑๖ ย่าหญ้า น่า ๙ บันทัด ๑๐
ที่ ๑๗ ค่อยข้อย น่า ๙ บันทัด ๑๒
ที่ ๑๘ หนังสือ น่า ๙ บันทัด ๑๔
ที่ ๑๙ เยาว์ น่า ๙ บันทัด ๑๘
ที่ ๒๐ ซ่มส้ม น่า ๑๐ บันทัด ๕
ที่ ๒๑ คู่ขู้ น่า ๑๐ บันทัด ๙
ที่ ๒๒ ค่ำข้ำ น่า ๑๐ บันทัด ๑๓
ที่ ๒๓ ค่อข้อ น่า ๑๐ บันทัด ๑๗
ที่ ๒๔ ไข้ไค่ น่า ๑๑ บันทัด ๑
ที่ ๒๕ ไค่ค่าย น่า ๑๑ บันทัด ๔
ที่ ๒๖ ข้องค่อง น่า ๑๑ บันทัด ๘
ที่ ๒๗ ท่วนถ้วน น่า ๑๑ บันทัด ๑๓
ที่ ๒๘ ภพพบ น่า ๑๑ บันทัด ๑๗
ที่ ๒๙ ผ้ายพ่าย น่า ๑๒ บันทัด ๓
ที่ ๓๐ ฎีกาดีกา น่า ๑๒ บันทัด ๑๕
ที่ ๓๑ จระเข้ น่า ๑๒ บันทัด ๑๙
ที่ ๓๒ ตรวจกรวด น่า ๑๓ บันทัด ๕
ที่ ๓๓ กรงตรง น่า ๑๓ บันทัด ๙
ที่ ๓๔ ไกรไตร น่า ๑๓ บันทัด ๑๕
ที่ ๓๕ กรองตรอง น่า ๑๔ บันทัด ๕
ที่ ๓๖ นครคอน น่า ๑๔ บันทัด ๗
ที่ ๓๗ นอเล็กณอใหญ่ น่า ๑๔ บันทัด ๑๑
ที่ ๓๘ ลอฬอ น่า ๑๔ บันทัด ๑๕
ที่ ๓๙ ศุขสุกทุกข์ทุก น่า ๑๔ บันทัด ๑๗
ที่ ๔๐ บัญชรบาญชี น่า ๑๕ บันทัด ๑๙
ที่ ๔๑ ไม่ไหม้ม่าย น่า ๑๖ บันทัด ๘
ที่ ๔๒ ร่ายไร่ น่า ๑๖ บันทัด ๒๐
ที่ ๔๓ สมุดสมุด น่า ๑๗ บันทัด ๕
ที่ ๔๔ ช่อฉ้อ น่า ๑๗ บันทัด ๑๓
ที่ ๔๕ พูดภูต น่า ๑๗ บันทัด ๑๗
ที่ ๔๖ พักภักดี น่า ๑๘ บันทัด ๔
ที่ ๔๗ ชิตชิด น่า ๑๙ บันทัด ๔
ที่ ๔๘ ชานชาญ น่า ๑๙ บันทัด ๑๒
ที่ ๔๙ พานภาร น่า ๒๐ บันทัด ๑
ที่ ๕๐ ฝ่ายใฝ่ น่า ๒๑ บันทัด ๑
ที่ ๕๑ พายภาย น่า ๒๑ บันทัด ๑๑
ที่ ๕๒ ไข่ข่าย น่า ๒๒ บันทัด ๑
ที่ ๕๓ ล่าหล้า น่า ๒๒ บันทัด ๙
ที่ ๕๔ นานชำนาญ น่า ๒๒ บันทัด ๑๓
ที่ ๕๕ ององค์ น่า ๒๒ บันทัด ๑๗
ที่ ๕๖ ระใบระบาย น่า ๒๓ บันทัด ๕
ที่ ๕๗ ประชวรชักชวน น่า ๒๓ บันทัด ๑๙
ที่ ๕๘ ม่านมั่น น่า ๒๔ บันทัด ๕
ที่ ๕๙ ตัวหอท้ายคำ น่า ๒๔ บันทัด ๗
ที่ ๖๐ นบนภ น่า ๒๔ บันทัด ๑๙
ที่ ๖๑ ยานญาณ น่า ๒๔ บันทัด ๔
ที่ ๖๒ รายไร น่า ๒๖ บันทัด ๑๙
ที่ ๖๓ คำไม้ไต่คู้ น่า ๒๗ บันทัด ๙
ที่ ๖๔ กอรอเปนกอน น่า ๒๘ บันทัด ๑
ที่ ๖๕ หาญ น่า ๒๙ บันทัด ๕
ที่ ๖๖ หาร น่า ๒๙ บันทัด ๑๑
ที่ ๖๗ พิธีวิธี น่า ๓๑ บันทัด ๑๕
ที่ ๖๘ สำรับสำหรับ น่า ๓๒ บันทัด ๑
ที่ ๖๙ บวชผนวช น่า ๓๒ บันทัด ๕
ที่ ๗๐ บพิตรบพิธ น่า ๓๒ บันทัด ๑๑
ที่ ๗๑ มิ่งขวัญ น่า ๓๒ บันทัด ๑๙
ที่ ๗๒ ครุฑอาวุธ น่า ๓๓ บันทัด ๓
ที่ ๗๓ คัมภีร์กัมพุช น่า ๓๓ บันทัด ๑๓
ที่ ๗๔ ปราโมทย น่า ๓๔ บันทัด ๕
ที่ ๗๕ สังเวคสังเวช น่า ๓๔ บันทัด ๑๑
ที่ ๗๖ บุญ น่า ๓๕ บันทัด ๓
ที่ ๗๗ อนุญาต น่า ๓๕ บันทัด ๙
ที่ ๗๘ ไมตรีไม้ตรี น่า ๓๕ บันทัด ๑๗
ที่ ๗๙ ปฏิญญา น่า ๓๖ บันทัด ๓
ที่ ๘๐ เมดตา น่า ๓๖ บันทัด ๗
ที่ ๘๑ เมดติ น่า ๓๖ บันทัด ๑๕
ที่ ๘๒ กรุณา น่า ๓๗ บันทัด ๑
ที่ ๘๓ การุญ น่า ๓๗ บันทัด ๕
ที่ ๘๔ สัญญาปัญญา น่า ๓๗ บันทัด ๑๓
ที่ ๘๕ ต่างตั่ง น่า ๓๗ บันทัด ๑๙
ที่ ๘๖ นิทราอินทราจันทรา น่า ๓๘ บันทัด ๓
ที่ ๘๗ ธุชธวัช น่า ๔๑ บันทัด ๑๙
ที่ ๘๘ ธุลี น่า ๔๒ บันทัด ๓
ที่ ๘๙ นิยม น่า ๔๒ บันทัด ๙
ที่ ๙๐ ทำเนียมธรรมเนียม น่า ๔๒ บันทัด ๑๗
ที่ ๙๑ รักรักษ น่า ๔๓ บันทัด ๕
ที่ ๙๒ วงษพงษ น่า ๔๓ บันทัด ๑๙
ที่ ๙๓ เวทนา น่า ๔๕ บันทัด ๑๗
ที่ ๙๔ แจกเวทนา น่า ๔๖ บันทัด ๕
ที่ ๙๕ สงสาร น่า ๔๗ บันทัด ๑๑
ที่ ๙๖ สังเวช น่า ๔๘ บันทัด ๓
ที่ ๙๗ ประมาท น่า ๔๘ บันทัด ๑๕
ที่ ๙๘ มานะ น่า ๔๙ บันทัด ๕
ที่ ๙๙ รดรถรศ น่า ๕๐ บันทัด ๓
ที่ ๑๐๐ คำพ้องเสียง น่า ๕๓ บันทัด ๑
ที่ ๑๐๑ คำเสริมท้าย น่า ๕๓ บันทัด ๑๙
  1. ๑. เข้าใจว่าตรงนี้ตกคำว่า “อย่า”

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ