คำนำ

เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒ เมื่อข้าพเจ้าเตรียมปาฐกถาว่าด้วยความขยายตัวแห่งภาษานั้น ได้เปิดดูหนังสือปกีรณำพจนาดถ์เพื่อจะสอบความรู้บางข้อ แลได้คิดในเวลานั้นว่าหนังสือเล่มนี้ควรพิมพ์อีกครั้งหนึ่ง เพราะเปนหนังสือมีประโยชน์หลายทาง เช่นที่จะได้กล่าวต่อไปในคำนำนี้เปนต้น การพิมพ์หนังสือปกิรณำพจนาดถ์ครั้งแรกนั้น ถ้าจะนับปีมาถึงเดี๋ยวนี้ก็ ๕๐ ปีเศษแล้ว เวลานี้หาฉบับยาก นักเรียนรุ่นใหม่มีน้อยคนจะรู้จัก แต่ถ้าใครเปนนักเรียนใส่ใจในเรื่องหนังสือแลภาษาไทยจริง ๆ ถ้าไม่รู้จักหนังสือนี้ก็บกพร่องไป จึ่งเห็นควรนำมาพิมพ์อิกครั้งหนึ่งเพื่อให้ถึงมือผู้เรียนรุ่นใหม่ๆ ผู้สนใจไตร่ตรองในเรื่องภาษาของเรา ไม่ใช่สนใจแต่เพียงว่าจะเขียน ครุธ หรือ ครุฑ จึ่งจะต้องตามที่ถือกันว่าถูกในสมัยนี้ ย่อมสนใจไปจนถึงความเปลี่ยนแห่งวิธีเขียนคำนั้น ๆ อันมีตามคราวที่เกิดคนฉลาดหรือคนโง่มาทำให้เปนไปนั้นด้วย

ใน พ.ศ. ๒๔๖๙ ข้าพเจ้าได้ชำระนิราศพระประธมพระนิพนธ์ของกรมหลวงวงษาธิราชสนิท นิราศฉบับนั้นราชบัณฑิตยสภาได้พิมพ์ในปีเดียวกัน แลข้าพเจ้าได้เขียนคำนำซึ่งขอคัดมากล่าวในที่นี้หน่อยหนึ่งว่า “ความเปลี่ยนแห่งตัวสกดซึ่งเดิรเปนหลั่นแต่โบราณมาจนปัจจุบันนั้น เปนของผู้ศึกษาพึงสังเกต เพราะฉะนั้นเมื่อได้ต้นฉบับที่เรียบร้อยถูกต้องตามวิธีซึ่งผู้มีความรู้เขียนกันในกรุงเทพ ฯ เมื่อประมาณ ๙๐ ปีมาแล้ว ก็ควรพิมพ์ไว้ให้เห็นเปนเครื่องเทียบกับวีธีตัวสกดในสมัยนี้”

การพิมพ์หนังสือปกีรณำพจนาดถ์ครั้งนี้ ก็ได้สั่งให้พิมพ์เหมือนกับฉบับที่พิมพ์ครั้งที่ ๑ ใน พ.ศ. ๒๔๒๒ (ปีที่ ๑๒ แห่งรัชกาลที่ ๕ ) โดยความประสงค์อย่างเดียวกับที่กล่าวใน พ..ศ. ๒๔๒๒ คือเปนเครื่องประกอบการศึกษาตำนานตัวสกด ให้เห็นวิธีซึ่งผู้มีความรู้ใช้ในสมัย ๕๐ ปีที่แล้วมา

พระยาศรีสุนทรโวหาร ( น้อย ) ผู้แต่งหนังสือปกิรณำพจนาดถ์นี้ เปนใหญ่ในพวกอาจารย์หนังสือไทยในตอนต้นรัชกาลที่ ๕ ตลอดมาราวครึ่งรัชกาล เปนศาลฎีกาในเรืองหนังสือไทย เมื่อตัดสินว่ากระไรก็เปนคำพิพากษาสุดท้าย ใครจะเถียงว่ากระไรอีกก็ฟังไม่ขึ้นในสมัยนั้น เมื่อข้าพเจ้าเปนนักเรียนรุ่นใหญ่แล้ว เคยได้ยินผู้คัดค้านตัวสกดบางคำที่พระยาศรีสุนทร ( น้อย ) ใช้ เปนต้นว่าคำที่เคยเขียนกันว่า วงษ์ นั้น มีคำคัดค้านว่าคำนี้ภาษาบาลีเปน วํโส สํสกฤตเปน วํศ ใช้ ษ การันต์ โดยหลักอะไร ควรต้องเขียน วงส์ หรือ วงศ์ จึ่งจะถูก ตำหนินี้พระยาศรีสุนทร (น้อย) จะตอบว่ากระไร หรือไม่ตอบว่ากระไรเลย ข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่ข้าพเจ้านึกว่า ถ้าพระยาศรีสุนทร (น้อย) ตอบ ก็คงจะตอบเปนใจความว่า คำในภาษาบาลีว่า วํโส ก็ทราบแล้ว เพราะเปนเปรียญถึง ๗ ประโยค แลคำสํสกฤตว่า วํศ ก็ทราบแล้วเหมือนกัน การที่เขียน วงษ์ ใช้ ษ การันต์นั้นเพราะอักขรวิธีเดิมของไทยใช้ ษ ตัวเดียวเปนตัวการันต์ ตัว ส กับ ศ ไม่ใช้เปนตัวการันต์เลย คำในภาษาเดิมจะเปนอย่างไรก็ตาม เมื่อเอามาใช้ในภาษาไทย ถ้ามี ศ หรือ ส อยู่ท้ายก็ต้องเปลี่ยนเปน ษ อันเปนตัวเดียวในสามสอที่เราใช้เปนตัวการันต์

ถ้าถามว่าเหตุใดผู้บัญญัติอักขรวิธีไทยอย่างเก่า จึ่งบัญญัติเช่นนั้น ก็พอจะเดาตอบได้ แต่ไม่มีหลักที่อ้าง เพราะไม่เคยเห็นท่านเขียนอธิบายไว้ที่ไหน ว่าเหตุใดจึงวางแบบไว้เช่นนั้น ข้อที่ท่านไม่เขียนอธิบายไว้ นี่แหละเปนเหตุทำให้เกิดยุ่ง คนชั้นหลังไม่ทราบหลักที่ท่านวางไว้ ก็คิดเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่คำนึงถึงเหตุ อันเปนสิ่งที่ไม่รู้จึ่งเอามาคำนึงไม่ได้

ถ้าถามต่อไปอีกคั่นหนึ่งว่าเหตุใดในสมัยพระยาศรีสุนทร (น้อย) จึ่งไม่เปลี่ยนเอาตัว ศ ส เข้าเปนตัวการันต์แทน ษ ในคำว่า วงษ์ แลหงษ์ เปนต้น ก็จะต้องตอบปัญหาด้วยตั้งปัญหา คือกลับย้อนถามว่า จะเปลี่ยนให้ยุ่งไปทำไม ใช้ ษ ตัวเดียวก็ดีแล้ว ผู้บัญญัติอักขรวิธีเดิมของเราท่านตั้งบัญญัติเพื่อความสดวก แลไม่ได้ใช้ความไม่รู้เปนเครื่องมือในการบัญญัติ อนึ่งถ้าใช้ ษ เปนตัวการันต์ตัวเดียว จะเสียประโยชน์อะไรบ้าง ถ้าเพิ่ม ศ ส ขึ้นอีกสองตัวจะได้ประโยชน์อะไรเพิ่มขึ้นบ้าง จะเพิ่มความสดวกขึ้นหรือลดลง

เมื่อพระยาศรีสุนทร (น้อย) ถูกตำหนิเช่นที่ว่ามานี้แล้ว จะได้ตอบว่ากระไนหรือนิ่งเสียไม่ตอบว่ากระไรเลยก็ตาม แต่ไม่ยอมให้ ศ ส เติมเข้าในพวกหนังสือที่ใช้เปนตัวการันต์ กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือไม่ยอมเปลี่ยนอักขรวิธีไทยที่มีมาเดิมโดยที่ไม่เห็นมีเหตุควรเปลี่ยน

ในที่นี้เมื่อกำลังพูดถึงอักขรวิธีเดิมของไทย จะขอนำตัวอย่างคำมาแสดงอีกคำหนึ่ง เพราะได้ใช้คำนี้มาในเบื้องต้นแล้ว คือคำว่า ครุธ ซึ่งแต่ก่อนใช้ ธ เปนตัวสะกด เดี๋ยวนี้เขียน ครุฑ ใช้ ฑ เปนตัวสะกด การที่ท่านใช้ ธ เปนตัวสกดกันมาก่อนนั้น เปนด้วยนักปราชญ์โบราณโง่ไม่รู้ว่าภาษาบาลีเปน ครุโฬ กระนั้นหรือ หามิได้ นักปราชญ์โบราณย่อมจะรู้จักคำ ครุโฬ แลรู้ความสับเปลี่ยนของตัว ฬ แล ฑ ได้ดี แต่หากอักขรวิธีเดิมของเราไม่ใช้ ฑ เปนตัวสะกดแต่ลำพัง แม้ที่ใช้เปนตัวสะกดควบเช่น วุฑฒิ วัฑฒนะ ก็มักตัดตัวกลางเสีย เหลือแต่ วุฒิ วัฒนะ เปนต้น เพราะเหตุที่อักขรวิธีเดิมของเราไม่ใช้ ฑ เปนตัวสะกดนี้แหละ ท่านจึงใช้ ธ สะกด ครุฑ อย่างเดียวกับใช้ ษ การันต์ วงษ์ นั้นเอง

การเปลี่ยนตัวสะกดโดยไม่ได้คำนึงถึงอักขรวิธีเดิมของเรานั้น มีตัวอย่างจะยกได้อีก แต่จะของดไว้เพียงนี้ เพราะยังมีข้ออื่นที่อยากนำมากล่าวในเวลาอันมีน้อย

การศึกษาคำในภาษามีแยกได้เปนสองทาง คือทางสำเนียงของคำอังกฤษเรียกว่า phonetics ในเวทางค์เรียกว่า ศึกษา ทางหนึ่ง ทางใจความของคำ อังกฤษเรียกว่า semantics เวทางค์เรียกว่า นิรุกต ทางหนึ่ง คำต่าง ๆ เมื่อใช้กันนานเข้าก็เปลี่ยนไปในทางสำเนียงบ้าง ในทางใจความบ้าง เปนต้นว่าความเปลี่ยนแห่งคำ ฮืน รืน ลืน เรือน เช่นนี้ เปนความเปลี่ยนในทางสำเนียง ความเปลี่ยนแห่งคำบางคำเช่น ศึกษา ซึ่งตามความในเวทางค์แปลว่าความรู้ในการออกเสียง แต่เดี๋ยวนี้เราใช้กันในภาษาไทย แปลว่าร่ำเรียน เปนการเปลี่ยนใจความ ฉนี้เปนตัวอย่าง

ส่วนการเปลี่ยนตัวสกดนั้นอาจมาทั้งสองทาง คือบางทีเปลี่ยนสำเนียงแห่งคำ บางทีเปลี่ยนใจความแห่งคำ แลการที่ตัวสกด “ถูก” เปลี่ยน ก็มักมีความไม่รู้เปนเหตุ แต่ความไม่รู้นั้นอาจเปนความไม่รู้ของคนที่เขียนไว้เดิมก็ได้ ของผู้เปลี่ยนตัวสกดก็ได้

ข้าพเจ้ามีตัวอย่างจะนำมาแสดงสักสองสามคำ ซึ่งข้าพเจ้านึกว่าเปนความไม่รู้ของผู้เปลี่ยนตัวสกด แลการเปลี่ยนนั้นจะเปลี่ยนเมื่อครั้งไรก็ไม่ทราบ เห็นได้แต่เพียงว่าได้เปลี่ยนเมื่อเราลืมคำไทยเดิมเสียแล้ว ความลืมนั้นอาจลืมมาแล้วหลายชั่วคน แลเมื่อลืมแล้วก็ลืมเลย เพราะการสอบค้นความรู้ในเมืองเราแต่ก่อนไม่มีเครื่องมือจะใช้มากเหมือนเดี๋ยวนี้ ที่ข้าพเจ้าเรียกว่าเครื่องมือนั้นกล่าวโดยเฉพาะก็คือหนังสือฝรั่ง แลจะกล่าวยกให้เห็นได้ง่าย ๆ ว่าผู้มีความรู้ของเราแม้เพียงต้นรัชกาลที่ ๕ ก็ไม่มีใครมีเวลาแลสามารถค้นความรู้ในเรื่องไทยอาหม คำตี ไตรง ฯลฯ ได้ เพราะหมู่ไทยเหล่านั้นอยู่นอกสยาม จะสืบค้นความรู้ก็ต้องอาศรัยความรู้ซึ่งฝรั่งสอบค้นมาเขียนไว้เปนภาษาฝรั่ง เมืองเราถอยหลังไป ๖๐ ปียังไม่มีใครมีเวลาแลรู้ภาษาฝรั่งพอจะศึกษาได้นั้นก็อย่างหนึ่ง แต่ยังมีเหตุยิ่งกว่านั้น คือหนังสือฝรั่งซึ่งนำความรู้อันสอบค้นได้ในเรื่องภาษาไทยต่าง ๆ มาแสดงนั้นก็พึ่งมีขึ้นในอายุคนรุ่นหลังนี้เอง แต่ก่อนยังหามีไม่ เหตุดังนี้จึ่งได้กล่าวมาข้างต้นว่า เมื่อเราลืมคำเดิมของเราแล้วก็เปนอันลืมเลย ไม่มีเครื่องมือจะขุดค้นเอากลับมาได้ เราในสมัยนี้มีเครื่องมือขึ้นบ้าง แต่ดูเหมือนจะยังไม่มีคนไทยเคยเรียนวิชาภาษา คือ linguistics จริง ๆ จัง ๆ เลย จะอาศรัยฝรั่งก็ไม่ได้ เพราะถึงเขาจะมีความรู้ตามตำราก็ไม่รู้เล่ห์เหลี่ยมแห่งภาษาของเราได้ถนัด เขาไม่ได้เปนไทย จะรู้ภาษาซึ่งห่างไกลกับภาษาของเขาเองให้สนิทเหมือนเจ้าของภาษาไม่ได้ เพราะฉนั้นเมื่อใดมีคนไทยได้เรียนวิชาภาษา linguistics ตามตำราฝรั่งจริงจัง ศึกษาภาษาของตัวเองจริงจัง แล้วร่วมมือกับคนอื่นผู้สนใจในทางเดียวกัน เมื่อนั้นการตรวจสอบภาษาไทยจึ่งละเปนล่ำเปนสันได้ ในเวลานี้ข้าพเจ้าทำนิด ท่านทำหน่อย จะเอาจริงจังก็ไม่ได้ เพราะยังไม่รู้จริงด้วยกันทั้งสิ้น

ตามที่กล่าวมานี้ ท่านคงจะเห็นแล้วว่ากล่าวความประหลาดข้อหนึ่ง คือว่าไทยคนไหนจะศึกษาภาษาไทยจริงจัง ต้องศึกษาภาษาฝรั่งให้แตกฉานเสียก่อน ท่านคงจะทราบแล้วว่าเครื่องมือสำคัญของช่างไม้ไทยรุ่นเก่านั้นคือขวาน ถ้าไม่มีเครื่องมืออื่นในเวลาที่ต้องการจะทำไม้ท่อนใหญ่ให้เปนท่อนเลกก็เอาขวานถากลงไป ถ้าน่าไม้ไม่เรียบก็เอาขวานถากให้เรียบได้เกือบเหมือนใช้กบ ค้อนนั้นไม่ต้องพวงถึงทีเดียว ส่วนช่างสมัยใหม่นั้นไซร้ จำไปทำงานที่ใหนก็มีเครื่องมือไปเต็มแบก ถ้าถามว่าเหตุใดจึงใช้มากเช่นนั้น ก็ตอบว่าเพราะสมัยนี้มีเครื่องมือหลายอย่าง ซึ่งแต่ก่อนไม่มี แลเมื่อมีแล้วถ้าไม่ใช้ก็โง่เต็มทน เพราะทำไม่ได้ดีเหมือนแลเสียเวลามากกว่า

ที่กล่าวถึงเครื่องมือช่างไม้แเต่ก่อนกับเดี๋ยวนี้ฉันใด เครื่องมือของผู้สอบค้นความรู้ก็ฉันนั้น ทั้งนี้ท่านจะเข้าใจได้โดยไม่ต้องให้อธิบายว่ากระไรอีกเลย

บัดนี้จะย้อนไปยกตัวอย่างความเปลี่ยนแห่งคำไทยสองสามคำที่ว่าไว้เมื่อตะกี้ เปนความเห็นของข้าพเจ้าซึ่งเมื่อกล่าวขึ้นแล้ว อาจมีผู้เห็นด้วยหลายคน แลถึงผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็อาจได้รับความสกิดใจชวนให้นึกต่อไป

ถ้าท่านลองอ่าน “พระสมุดพระราชกำหนดบทพระไอยการ” รัชกาลที่ ๑ ที่เรียกกันว่าฉบับตราสามดวง ท่านจะพบคำ ๆ หนึ่งซึ่งท่านคงจะสังเกตทันที คือคำว่า สาน ( ซึ่งเดี๋ยวนี้เราเขียนว่า ศาล ) เขียน ส สระอา น สะกดตลอดไปทุกเล่มสมุด จะว่าเผลอไม่ได้ ก็เมื่อเปนเช่นนั้น ท่านจะว่าอาลักษณ์แลราชบัณฑิตในรัชกาลที่ ๑ โง่ไม่รู้ว่า สาน กับ ศาลา คำเดียวกันกระนั้นหรือ ข้าพเจ้านึกว่าท่านคงจะไม่หาความ อาลักษณ์ลูกขุน แลราชบัณฑิต รวม ๑๑ คนถึงเช่นนั้น แลถ้าท่านไม่ว่าเขาโง่ ท่านก็จะต้องเกิดสกิดใจว่าเขาอาจเขียน สาน ผิดกับ ศาลา เพราะเคยเขียนไม่เหมือนกันมาแต่ครั้งกรุงเก่า แลที่เขาเขียนไม่เหมือนกันมาแต่โบราณก็อาจเปนเพราะมันคนละคำดอกกระมัง ถ้ามิฉะนั้นเขาจะเขียน “ลูกขุนณสานหลวง ลูกขุนณศาลา ” กระไรได้ จำเพาะตัวข้าพเจ้าเอง เมื่อเกิดสกิดใจขึ้นเช่นนี้ก็นึกแน่เอาทีเดียวว่าคำว่า สาน ไม่ใช่คำแขกมาจาก ศาลา ดีร้ายจะเปนคำไทยเก่า ซึ่งเราลืมกันเสียแล้ว

เมื่อคิดเฟื่องขึ้นมาเช่นนี้ จึงได้ค้นคำในภาษาไทยต่าง ๆ ซึ่งข้าพเจ้าเคยเรียกในปาฐกถาว่าไทยล้าหลัง คือไทยพวกที่ปัญญาน้อยไม่เคยเจริญ หรืออยุดเจริญมานานแล้ว บางพวกก็มีหนังสือพออ่านเขียนกันไปได้ บางพวกก็ไม่มีหนังสือเลยทีเดียว ในภาษาไทยพวกที่ไม่มีหนังสือ (และไม่มีคำสํสกฤตเข้าไปปน) นั้น พบคำ ๆ หนึ่งคือ ฉาน สาน แปลว่า เรือน ข้าพเจ้าจึงนึกว่าสานหลวงคำเดิมก็คงจะแปลว่าเรือนใหญ่ สานเจ้าก็คือเรือนเจ้า ฉะนี้ท่านจะเห็นอย่างไร

ถ้าท่านอ่านกฎหมายฉบับตราสามดวงเช่นที่ว่ามาแล้ว คำแรกที่ท่านเห็นแปลกตาแลนึกว่าผิดก็คือ “พระธินั่ง” ครั้นพลิกอ่านต่อ ๆ ไปก็พบพระธินั่งทุกที ทำให้ท่านเกิดสงสัยว่าถ้าคำนั้นคือพระที่นั่งไซร้ อาลักษณ์ลูกขุน แลราชบัณฑิต ๑๑ นายจะโง่ถึงกับเขียน “ที่” ไม่เปนเจียวหรือ อันที่จริงในคำว่า “หอหลวงข้างที่” เขาก็หาได้เขียนว่าข้างธิไม่ เมื่อดูตลอด ๆ ไปก็เห็นได้ว่าคำซึ่งเราใช้กันเดี๋ยวนี้ว่า ที่ เขาก็เขียน ที่ ทุกที เขียนแปลกกันแต่ พระธินั่ง เท่านั้น

ข้าพเจ้าได้ค้นต่อมาอีก พบในกฎหมายรัชกาลที่ ๒ ก็ใช้พระธินั่ง ตำราพิไชยสงคราม (ฉบับหลวง) รัชกาลที่ ๓ ก็พระธินั่ง เปนอันแน่ใจว่า แต่ก่อนเขาใช้ ธิ ไม่ใช่เพราะเขียน ที่ ไม่เปน คงจะเปนเพราะคำนั้นเปนคำอื่นเสียแล้ว

เมื่อตรองต่อไปอีกก็นึกเห็นว่า ทำไมจะเรียกเรือนพระเจ้าแผ่นดินว่าพระที่นั่ง ทำไมไม่เรียกว่าพระที่นอนหรือพระที่อยู่ ม้าช้างสำหรับพระเจ้าแผ่นดินขี่จะเรียกม้าพระที่นั่งช้างพระที่นั่งก็ตามที เพราะท่านนั่งไปจริง ๆ แต่เรือนนั้นเปนที่สำหรับอยู่ แลนั่งเปนอิริยาบถอย่างหนึ่งในการอยู่เท่านั้น

เหตุ ๒ อย่างคือ (๑) เหตุไรจะว่าเรือนเปนที่สำหรับนั่งโดยเฉพาะ (๒) เหตุไรนักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่ก่อนท่านจึงเขียน ธิ ถ้าหมายความว่าที่ นี้ทำให้เห็นว่า ธินั่ง นั้นไม่ใช่คำสองคำคือที่กับนั่งเลย เห็นจะเปนคำไทยเก่าอีกคำหนึ่งซึ่งเราลืมกันเสียนานแล้ว นักปราชญ์ราชบัณฑิตเก่าก็คงจะลืมคำเดิมแล้วเหมือนกัน แต่ท่านทราบว่าคำนั้นไม่ใช่ที่กับนั่ง จึงอุส่าห์เขียน ธิ เพื่อให้รู้ว่าไม่ใช่คำเดียวกัน แลมิได้มุ่งหมายให้แปลธิว่าทรงเปนแน่

เพียงที่กล่าวมาข้างบนเรื่องพระธินั่งหรือพระที่นั่งนี้เปนความเห็นซึ่งพอจะยืนยันได้ แต่ข้าพเจ้าไม่กล้ายืนยันข้อความที่จะกล่าวต่อไปในเรื่องคำ ๆ นั้น เปนแต่นำผลแห่งความค้นคว้าของข้าพเจ้ามากล่าวเท่านั้น ข้าพเจ้าอาจค้นพบความอย่างอื่นในภายน่าแล “คว้า” มาใหม่อีกก็เปนได้

คือเมื่อข้าพเจ้าเชื่อในใจตนว่าธินั่งไม่ใช่ที่นั่งแล้ว ก็นึกอยากจะสอบค้นว่าคำนั้นคือคำอะไร จะเปนคำไทยเก่าอีกคำหนึ่งซึ่งเราลืมเสียนานแล้วดอกกระมัง ได้ลองสืบทางภาษาเขมรก็ได้ความว่าไม่ใช่ ภาษาจีนก็ไม่ใช่ ภาษาที่มาจากอินเดียก็ไม่มีท่าทางว่าจะเปนได้ ยังมีอยู่ก็แต่ภาษาไทยของเราเอง จะมีคำไหนที่เสียงคล้าย ๆ ตินัง หรือ ติเนียง บ้างหรือไม่ ( ท่านคงจะทราบแล้วว่าพวกไทยล้าหลังของเรามีตัว ต ตัวเดียว ใช้เปน ต ท เสร็จ) เมื่อค้นในภาษาไทยพวกที่ไม่มีหนังสือ พบคำ ๆ หนึ่งว่า เตียง ซึ่งไทยสยามใช้แปลว่าแท่นสำหรับนอนหรือนั่ง แต่ไทยพวกนั้นใช้แปลว่าเรือน ว่ากระท่อม ใช้ปน ๆ กับคำว่า สาน แต่ในสมัยนี้ดูเหมือนจะใช้เตียงแปลว่าเรือนเล็ก สานแปลว่าเรือนใหญ่ ในสมัยโบราณถอยหลังไปนาน ๆ จะมีคำนี้ทั้งสองคำ หรือจะใช้แปลกกับที่ใช้อยู่เดี๋ยวนี้อย่างไรไม่มีทางทราบได้

ความที่กล่าวมานี้สรูปรวมเข้าว่า คำว่าพระธินั่ง หรือพระที่นั่ง แปลว่าที่ประทับพระเจ้าแผ่นดินนั้น ข้าพเจ้าเห็นโดยเหตุที่อธิบายมาแล้วว่า ไม่ใช่คำว่า ที่ กับคำว่า นั่ง เอามารวมกัน เห็นว่าแปร่งมาจากคำเก่าคำใดคำหนึ่ง จะยืนยันว่าคำไหนก็ยังเร็วเกินไป แต่ได้พบคำไทย เตียงแปลว่าเรือน ซึ่งเสียงใกล้กว่าคำอื่นที่ค้นพบแล้วเพียงนี้

ยังมีคำอีกคำหนึ่งซึ่งเห็นว่าคงจะได้แก้ตัวสกดกันในตอนที่ลืมคำเดิมของเราเสียแล้วเหมือนกัน คำนั้นคือ เลข แปลว่าเขียน แต่เราเรียก ๑ ๒ ๓ ว่าเขียนเพราะเหตุใด ข้าพเจ้าได้พบในภาษาอาหม เลก แปลว่าชาย แต่ดูเหมือนจะใช้แต่ชายไพร่ เปนต้นว่า ค่าเลก แปลว่าบ่าวชายฉะนี้ คำว่าสักเลกก็ควรจะสะกด ก กระมัง ดังนี้น่าจะเห็นว่าเราลืมคำเดิมของเราเสีย จนไม่เข้าใจว่าทำไมเขียน ก สะกด จึงยักย้ายไปหาตัวสะกดใหม่ให้พอเข้าใจได้ เลยเอา ข สะกด คือเอาคำว่า เลก ไปยกให้เปนคำ แขก แต่ถ้าไปใช้คำว่า เลข (ข สะกด) ในอินเดียจะไม่ใคร่เข้าใจว่าพูดถึง ๑ ๒ ๓ เลย อนึ่งคำว่า เลก นี้ในปทานุกรมของกระทรวงธรรมการ (ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๐) แปลไว้ว่าคน ว่าพลเมือง ว่าไพร่ ซึ่งเกือบจะถูก แต่ถ้าพูดตามอาหมก็ยังไม่ถูกตรงทีเดียว เพราะใช้ได้แต่ชาย เหมือนวัวถึกไทยอาหมใช้แปลว่าวัวผู้ หมาถึกแปลว่าหมาผู้ฉะนั้น

ข้าพเจ้าพูดล่อแหลมในเรื่องคำหลายคำ เพื่อจะชวนให้ช่วยกันคิดแลค้น ถ้าค้นพบแล้วตรวจสอบเห็นกันว่าถูกแน่ก็จะได้เอาไว้เปนเครื่องช่วยผู้มุ่งหน้าจะสอบค้นรวบรวมตำนานแห่งคำต่าง ๆ ในภายน่า อนึ่งในที่นี้ ข้าพเจ้าขอกล่าวเปนการแสดงอาบัติไว้ว่า เมื่อข้าพเจ้ายังหนุ่มกว่านี้ ได้เคยเห็นควรเปลี่ยนตัวสกดคำต่าง ๆ มากกว่ามาก แลได้ทำบาปไว้ก็คือเปลี่ยนลงไปจริงก็มี แต่เดี๋ยวนี้เห็นว่าการเปลี่ยนตัวสกดบ่อยนักทำให้ฟั่นเฝือ แลที่ข้าพเจ้านำเอาคำที่เห็นว่าได้เปลี่ยนตัวสกดผิดมาแต่เดิมมากล่าวเปนตัวอย่างสองสามคำในที่นี้ จะได้หมายความว่าควรเปลี่ยนกลับไปอีกนั้นหามิได้ แต่ถ้าเมื่อใดเรามีแรงในใจพอที่จะยึดอักขรวิธีของเราเปนหลัก ไม่เที่ยวยักย้ายไปทางโน้นทางนี้ตามแต่จะพบอะไรเข้าใหม่หรือนึกว่าใหม่ เมื่อนั้นการเขียนตัวสกดหนังสือไทยจะมั่นคงขึ้น

พูดถึงเรื่องตัวสกดของเราในเวลานี้ ควรจะพูดตรง ๆ ว่า มีคำบ่นกันหนาหูว่าเปลี่ยนมากแลบ่อยนัก กระทรวงธรรมการผู้เปนเจ้าของปทานุกรมก็ทำดีที่สุดที่สามารถทำได้ แต่จะแก้ความสับสนให้ลงที่ฉับไวได้อย่างไรก็ยากที่จะคิดให้ตก ในที่นี้จึงเปนอันกล่าวได้แต่เพียงว่ายากเท่านั้น

ข้าพเจ้าเขียนหนังสือนี้เพื่อจะเปนคำนำปกีรณำพจนาดถ์ที่พิมพ์ใหม่คราวนี้ แต่เมื่อเขียนมาเพียงนี้ ยังไม่ทันนำเอากลอนในหนังสือมาชี้ว่ากระไรเลย เวลาจะหมดเสียแล้ว จะเขียนอีกมากไม่ได้ แต่ถึงกระนั้น ก็ควรต้องกล่าวสรรเสริญไว้ว่า ข้าพเจ้าอ่านปกีรณำพจนาดถ์ ในการเตรียมเขียนคำนำครั้งนี้ ได้ความรู้ซึ่งลืมเสียแล้วคืนมาก็มาก ที่เปนความรู้ใหม่เพราะไม่เคยสังเกตแต่ก่อนก็มี ที่อ่านแล้วไม่เข้าใจก็มีอย่างน้อยแห่งหนึ่ง

แห่งที่ยังไม่เข้าใจนั้นคือ “กรรมแม่เกยตัวอมมีรอหัน” เหตุใดจึงเปนแม่เกยก็นึกไม่ออก ถ้าครูเคยบอกเมื่อเปนนักเรียนก็จำไว้ไม่ได้ แลงยังไม่พบใครที่จะถาม ลองเปิดดูจินดามุนีก็พบ กรรม ลงไว้ ในแม่เกยเหมือนกันแต่ไม่อธิบายว่ากระไร จงเปนอันว่าถ้าท่านเห็นว่าข้าพเจ้าควรอธิบายกรรมแม่เกยไว้ตามควรเเก่น่าที่ผู้เขียนคำนำ ข้าพเจ้าก็ยอมว่าจริง แต่ในเวลาที่เขียนนี้ไม่รู้ ก็จนใจ

ท่านพึงสังเกตในบันทัด ๑๐ น่า ๓ คำว่าศาลเขียนอย่างเปนคำเดียวกับคำศาลาคำสํสกฤต คำว่าสานภาษาไทยแปลว่าเรือนคงจะลืมกันมานานทีเดียว แลคนรุ่นก่อนเราไม่อาจ “ขุด” คืนเอากลับมาได้ เพราะขาดเครื่องมือดังกล่าวแล้ว

ในน่า ๕ คำว่า หน้า น่า ใช้ ผิดกับที่ใช้กันโดยมากเวลานี้ นักเรียนรุ่นเก่าอย่างข้าพเจ้ามักใช้น่าเอกหน้าโทอย่างที่บอกไว้ในกลอนนี้

ในน่า ๑๙ มีคำ ๆ หนึ่งซึ่งควรสังเกต คือในบันทัดที่ ๖ ว่า “อิกนายชิดหุ้มแพรนายเวนสิทธิ์” ข้าพเจ้าชอบ เวน นอสกด เพราะเห็นมานานแล้วว่า เวร ภาษาบาลีความไม่เข้ากัน ได้ค้นในกฎหมายตราสามดวง พบเขียนนายเวนนอสกดโดยมาก แต่จะเอาแน่เหมือนพระธินังไม่ได้

ในน่า ๓๒ บันทัดที่ ๑ แลที่ ๒ มีคำว่า สำหรับ ซึ่งข้าพเจ้าอยากให้ผู้เรียนสังเกตแลเอาอย่างใช้ คำที่ว่า “ ให้นายเผื่อนอยู่สำหรับช่วยรับการ” นั้นใช้ สำหรับ ถูก สมัยนี้มักใช้คำนั้นผิดกับแต่ก่อน ต่างว่า

“ท่านจะไปดูโขนไหม”

“สำหรับข้าพเจ้า คืนนี้ไม่ไป”

หรือ

“ท่านชอบทุเรียนมากกว่ามะปรางหรือ”

“สำหรับข้าพเจ้า ทุเรียนกลิ่นแรงนัก”

ตัวอย่างนี้ใช้ สำหรับ ไม่ถูก ตัวอย่างที่ ๒ เพียรจะใช้คำไทยว่า สำหรับอย่างคำอังกฤษว่า for แต่จะใช้เช่นนั้นเสมอไม่ได้ เพราะคำไทยว่าสำหรับนั้นจะใช้ สำหรับ แปลคำอังกฤษว่า for ทุกแห่งไม่ได้ จึงอยากให้ผู้เรียนสังเกตที่ใช้อย่างที่พระยาศรีสุนทร ( น้อย ) เขียนกลอนไว้นั้น

ในน่า ๕๓ ข้าพเจ้าเห็นฉลาดแต่งดีมาก อ่านเเล้วอยุดหัวเราะหลายครั้ง ตรงที่บ่าวพระยารามกำแหงตกม้านั้นขันนัก ข้าพเจ้าเคยถือว่าพระยาศรีสุนทร ( น้อย ) แต่งกลอนแลโคลงอย่างสง่าผ่าเผย พึ่งจะมารู้ว่ามีขันคราวนี้

ข้าพเจ้าขอแนะนำให้ท่านอ่านหนังสือนี้ ถึงแม้เคยอ่านนานแล้วก็ควรอ่านอีกครั้งหนึ่ง

กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์

ราชบัณฑิตยสภา วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๔๗๓

  1. ๑. เมื่อเขียนดังข้างบนนี้แล้ว ข้าพเจ้าได้ค้นกฎหมายรัชกาลที่ ๔ ต่อมาอีก พบพระราชบัญญัติห้ามไม่ให้พายเรือตัดกระบวนแห่ ดังคัดย่อมาให้เห็นต่อไปนี้

    “ศุภมัศดุศักราช ๑๒๑๔ ปีชวดจัตวาศก................พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสดจออกณพระธินั่งอมรินทรวินิจฉัย................ถ้าเสด็จประทับอยู่ในพระอาราม ฤๅที่ใด ๆ ไกลเรือพระธินั่ง................”

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ