บทนำเรื่อง
กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าชายทินกร ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ ๓๕ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาศิลาเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๗ แรม ๑๒ ค่ำ ปีระกา จุลศักราช ๑๑๖๓ ตรงกับวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๓๔๔ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า “พระเจ้าพี่ยาเธอ พระองค์เจ้าทินกร ทรงพระปรีชารอบรู้ในราชกิจต่างๆ ควรที่จะเป็นเจ้าต่างกรมผู้ใหญ่” จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็น “กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์” เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๙๔ ปรากฏรายละเอียดในจดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ ดังนี้
กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์
จารึกพระสุพรรณบัฏ
กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ครุฑนาม จงเจริญ
พระชนมายุวรรณสุขพละสิริสวัสดิ เทอญฯ
คำประกาศ
ศุภมัสดุ พระพุทธศักราชอดีตกาล ชไมยสหัสสัง
วัจฉระ ไตรสตาธฤกะ จตุนะวุติสังวัจฉระ ปัตยุบัน
กาล สุกรสังวัจฉระภัททบทมาส ชุษณปักษ์ ทุติย
ดฤถีครุวาร บริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระ
ปรเมนทรมหามกุฎ ฯลฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผู้ทรงทศพิธราชธรรม อนันตคุณวิบุลยปรีชาอัน
มหาประเสริฐ ทรงพระราชดำริห์ว่า พระเจ้าพี่ยาเธอ
พระองค์เจ้าทินกร ทรงพระปรีชารอบรู้ในราชกิจ
ต่างๆ ควรที่จะเปนเจ้าต่างกรมผู้ใหญ่ ให้ตั้งพระ
นามขึ้นตามจารึกไว้ในพระสุพรรณบัฏ
เจ้ากรม เปนหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์
ให้ทรงตั้ง ปลัดกรม เปนขุนพินิตบริบาล
สมุห์บาญชี เปนหมื่นชำนาญลิขิต
ตั้งแต่ ณ วัน ๕ ๒ฯ ๑๐ ค่ำ ปีกุญ ตรีศก ศักราช ๑๒๑๓
กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ได้ทรงกำกับราชการในกรมพระนครบาลอยู่ระยะหนึ่ง สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๓๙๙ พระชันษา ๕๖ ปี ทรงเป็นต้นราชสกุล “ทินกร”
กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ทรงเป็นจินตกวีสำคัญพระองค์หนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ มีผลงานพระนิพนธ์สำคัญ ๆ หลายเรื่อง เช่น โคลงนิราศฉะเชิงเทรา ซึ่งทรงพระนิพนธ์ขึ้นในคราวที่ไทยยกกองทัพใหญ่ไปปราบเจ้าอนุวงศ์ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๖๙ บทละครนอกเรื่องแก้วหน้าม้า บทละครนอกเรื่องยอพระกลิ่น และเพลงยาวสังวาสอีกหลายสำนวนซึ่งไม่ทราบระยะเวลาที่ทรงพระนิพนธ์
พระยาอนุมานราชธน กล่าวถึงผลงานพระนิพนธ์ของกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ไว้ในหนังสือ “ฟื้นความหลัง” ตอนหนึ่งว่า
“ในบรรดาหนังสือเพลงยาวที่เกี่ยวกับเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ มีอยู่บทหนึ่งซึ่งบิดาของข้าพเจ้าเคยเล่าปากเปล่าให้ฟังอยู่เสมอ จนข้าพเจ้าจำกลอนตอนที่เล่าได้หลายแห่ง ถึงกับว่าปากเปล่าติดอยู่ในความจำมา นานจนกระทั่งทุกวันนี้ คือเพลงยาวบทที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ทรงนิพนธ์ไว้ เห็นจะไม่ใช่มีแต่เพลงยาวข้างต้นเท่านั้น อาจมีเรื่องอื่นอีกก็ได้ ดูเหมือนมีอยู่ในราชสกุลรองทรงเคยตีพิมพ์รวมไว้แต่ข้าพเจ้าไม่เคยอ่าน บิดาข้าพเจ้าบอกว่าราษฎรมักอ้างถึงพระองค์ท่านว่า “กรมหลวงภูวตา” แสดงว่าคนคงเคยอ่านหรือได้ฟังพระนิพนธ์ของพระองค์ท่านมาแล้วไม่น้อยคน”
เพลงยาวที่พระยาอนุมานราชธนกล่าวว่า “เป็นหนังสือชั้นดี” พระนิพนธ์ของกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์นั้นมีสำนวนคมคายโลดโผน “...ที่แสดงออกอย่างแนบเนียนแต่เผ็ดร้อน เป็นลักษณะงานแต่งที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Sarcasm” ในที่นี้จะขอยกมาเป็นตัวอย่างสักเล็กน้อย เช่น
..............................................
เทนํ้าพริกพลิกถ้วยไปฉวยแกง
เพราะอยากได้ไก่พะแนงเอาแกงเท
ด้วยสันดานพาลจะโลภละโมบมาก
จึงจืดจับใหม่จากจนไขว้เขว
นํ้าใจกว้างยิ่งกว่าหนองท้องทะเล
ลึกเลเพภูมิราวกับอ่าวญวน
สำเภาเล็กเจ๊กจะข้ามขามพายุ
ทั้งคลื่นกล้าปลาก็ดุพายุหวน
ทอดสมอไม่ถึงดินจนสิ้นพวน
อาโปป่วนปั่นพาเภตราโคลง
คลื่นกระแทกแดกฟัดปัดตะโพก
สำเภาตำซํ้าโสโครกโขยกโหยง
กงกระดานกระดูกงูตะปูโกง
เสากระโดงหักพับยุบยับเยิน
ต้องตั้งสิวสำเภาเอาเข้าอู่
ทั้งจุ้นจู๊เจ็บปวดชวดเดินเหิน
ได้ยินว่าเภตราใหญ่เข้าไปเดิน
ได้สินค้าราคาเกินกำไรเรา
..............................................
บทละครนอกเรื่องแก้วหน้าม้าที่พิมพ์อยู่ในหนังสือนี้ คัดลอกและตรวจสอบชำระจากฉบับพิมพ์ดีดสมุดฝรั่ง ต้นฉบับเก็บรักษาอยู่ที่ ส่วนภาษาโบราณ หอสมุดแห่งชาติ มีข้อความบอกประวัติเอกสารว่า
“นายพันโท พระพินิจสารา (ทับทิม บุณยรัตพันธุ์) ถวายเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๔” และในต้นฉบับดังกล่าวมีรอยแก้ไขด้วยดินสอ จากการสอบเทียบลายมือที่แก้ไขด้วยดินสอนั้นน่าจะเป็น “ลายพระหัตถ์สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ”
เนื้อหาในบทละครนอกเรื่องแก้วหน้าม้าตามต้นฉบับที่พบ เริ่มตั้งแต่พระพินทองโอรสท้าวมงคลราชทับนางมณฑาทรงว่าวกับพี่เลี้ยง ว่าวขาดลอยไปนางแก้วหน้าม้าเก็บได้ จนถึงนางทัศมาลีตามหาพระพินทองที่เมืองมิถิลาเกิดเป็นปากเสียงกับนางมณี
บทละครเรื่องนี้บอกเพลงหน้าพาทย์กำกับไว้เช่นเดียวกับบทละครนอกเรื่องอื่น ๆ ที่แต่งในยุคเดียวทัน วิธีดำเนินเรื่องเป็นไปตามคตินิยมของละครสมัยนั้น เช่นเมื่อตัวละครสำคัญจะออกเดินทางไปยังที่ใดก็ต้องกล่าวถึงการ “สรง” และ “แต่งองค์ทรงเครื่อง” เสียก่อน ตัวอย่างในบทละครเรื่องแก้วหน้าม้าคือ
๏ ไขสุหร่ายสายชลปนปรุง | เป็นฝอยฟุ้งเย็นซาบอาบมังสา |
แล้วผลัดภูษาทรงอลงการ์ | สุคนธาหอมหวนยวนใจ |
สอดสนับเพลาพรายชายกนก | ภูษายกพื้นตองผ่องใส |
ฉลององค์เจียระบาดตาดอุไร | ปั้นเหน่งเพชรอำไพพรรณราย |
กรองศอแสงแก้วแวววิจิตร | ตาบทิศทับทรวงช่วงฉาย |
ทองกรธำมรงค์เรียงราย | มงกุฎเก็จเพชรพรายเพราตา |
ฯ ๖ คำ ฯ
นอกจากเนื้อเรื่องที่สนุกสนานชวนติดตามแล้ว บทละครเรื่องนี้ยังสอดแทรกขนบธรรมเนียมประเพณีคติความเชื่อ ตลอดจนค่านิยมของสังคมไทยสมัยนั้นไว้ด้วย เช่นตอนพระพินทองทรงว่าวแสดงถึงวิธีแข่งว่าวในสมัยโบราณ คือ
๏ เมื่อนั้น | พระพินทองว่องไวใจกล้า |
ทรงว่าวอยู่หว่างกลางโยธา | ทอดกุลาคว้าประกบสบที |
ติดปักเป้าเข้าจำปาคว้าไขว่ | ปักเป้าไล่จะประกบไม่หลบหนี |
วิ่งรอกชุลมุนวุ่นเต็มที | พอลมตีขาดลิ่วปลิวไป |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
ตอนที่ท้าวมงคลราชมีราชสาส์นไปขอนางทัศมาลีให้พระพินทอง เมื่อราชทูตเข้าเฝ้าท้าวพรหมทัต กษัตริย์เมืองโรมวิถี ท้าวพรหมทัตทรงถามราชทูตตามธรรมเนียม “ปฏิสันถารสามนัด”
๏ เมื่อนั้น | ท่านท้าวพรหมทัดรังสรรค์ |
เห็นบรรณาการสาส์นสุวรรณ | ทรงธรรม์ปราศรัยไปทันที |
พระองค์ผู้ดำรงนครา | ยังเปรมปราภิรมย์เกษมศรี |
ข้าวกล้านาปรังตั้งต้นดี | ไพร่ฟ้าประชาชีสุขสำราญ |
ทั้งหมู่ประจามิตรทิศใด | ไม่เบียดเบียนฤๅไรในสถาน |
พวกท่านมานี่กี่วันวาร | จึ่งลุถึงสถานนัครา |
ฯ ๖ คำ ฯ
เมื่อพระพินทองเข้าพิธีอภิเษกกับนางทัศมาลีกล่าวถึงการเบิกบายศรีเวียนเทียน อันเป็นธรรมเนียมไทยโบราณอย่างหนึ่ง
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพวกพนักงานน้อยใหญ่ |
ประโคมฆ้องกลองดังทั้งเวียงชัย | เสียงสนั่นหวั่นไหวเป็นโกลี |
ฝ่ายพวกชีพราหมณ์พฤฒา | เข้ามาต่างเบิกบายศรี |
จุดเทียนเวียนแว่นอัคคี | โห่ก้องอึงมี่เอาชัย |
ฯ ๔ คำ ฯ เวียนเทียน มโหรี
สภาพบ้านเมืองที่ปรากฏในบทละครพระนิพนธ์หลายตอนสะท้อนให้เห็นสภาพของกรุงเทพฯ ในสมัยที่แต่งได้เป็นอย่างดี เช่น
๏ ครั้นถึงยังซึ่งถนนหลวง | ฝูงคนทั้งปวงอยู่อึงมี่ |
นางดำเนินเดินดูพระบูรี | ตามแถววิถีทางจร |
ร้านรายขายของทั้งสองฟาก | เมี่ยงหมากพฤกษาผ้าผ่อน |
เครื่องแก้วแวววับซับซ้อน | ผ้าห่มนอนต่างต่างมาวางราย |
ลางนางนั่งร้านขายพานถม | ดูสวยสมพริ้งเพริศเฉิดฉาย |
ห่มสีทับทิมพริ้มพราย | นั่งขายเครื่องทองดูยองใย |
ลางนางบ้างขายกระจกหวี | ห่มสีจำปาน่ารักใคร่ |
ขายเครื่องหอมหวนยวนใจ | นั่งร้อยมาลัยมะลิลา |
บทละครเรื่องแก้วหน้าม้าเป็นที่รู้จักในสังคมไทยมาช้านาน ปัจจุบัน มีการนำเค้าเรื่องมาปรับเป็นละครโทรทัศน์และได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง