คำนำ
หลวงบริหารวนเขตต์ ได้มาแจ้งความจำนงว่า จะพิมพ์หนังสือสำหรับแจกเป็นที่ระลึกในงานปลงศพ นางบริหารวนเขตต์ (เจริญ ชูเกียรติ) ผู้ภรรยา สักเรื่องหนึ่ง กรมศิลปากรจึงแนะนำให้พิมพ์เรื่อง ฉันท์เยาวพจน์ ตอน ๔ อันมีบนขยายแต่งเป็นบทละครดังปรากฏในหนังสือนี้
อันบทกลอนกล่อมเด็ก, ปลอบเด็กและบทเด็กเล่น ย่อมจะมีกันอยู่ เห็นจะทุกชาติทุกภาษา เพราะมีธรรมดาทั่วไปในหมู่มนุษย์ทุกชาติ เด็ก ๆ ย่อมจะจำบทกลอนชะนิดนี้ได้ไม่มากก็น้อยแทบทุกคน และบทกลอนบางบทก็เห็นจะเป็นของเก่าแก่สืบต่อกันมาทางปากช้านาน ทำไมบทกลอนเหล่านี้ จึงคงสืบต่อด้วยปากจำกันได้สืบมา ไม่สาปศูนย์ไป ก็น่าจะเป็นด้วย โดยปกติของมนุษย์มักชอบฟังเรื่องราวนิยายนิทาน ถ้าเรื่องนั้น ผูกขึ้นไว้เป็นบทกลอนก็ฟังเพราะหู ชวนให้จำได้ง่าย แต่ก่อนที่จะรู้จักฟังบทกลอนเป็นให้ได้เรื่องราว ก็จะต้องได้ยินได้ฟังบทกลอนสำหรับเด็กมาก่อน ธรรมดาบทกลอน ถึงว่าจะเป็นเรื่องอย่างที่เด็กร้องเล่นก็ดี ผู้ต้นคิดที่ผูกขึ้น ก็มักเอาความคิดความอ่าน และขนบธรรมเนียมประเพณี หรือสิ่งของที่มีอยู่ในสมัยผู้แต่ง เข้าไปแทรกอยู่ในบทกลอนที่แต่งขึ้น โดยที่ตนเองไม่รู้สึกหรือมุ่งหมายไว้ว่า ความคิดความอ่านเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์แก่การศึกษาของคนรุ่นหลัง เพราะบทกลอนของเก่าที่เล่าหรือจดจำกันได้สืบมา ถ้าอังไม่ถูกแก้ข้อความและคำในภาษาแล้ว ย่อมจะเป็นดั่งหนึ่งแว่นฉายให้เห็นเรื่องราวในครั้งเก่าก่อนที่เร้นอยู่ได้ดี ยกตัวอย่างเช่น เวลาพวกเด็ก ๆ จะเล่นซ่อนหาหรือเล่นอะไร ต้องการให้คนหนึ่งรับเคราะห์เป็นผู้อยู่โยง ก็จะมีการล้อมกันเป็นวง แล้วคนหนึ่งตั้งตัวเป็นหัวหน้าเอาเอง เอามือชี้ไปที่ตัวเด็กคนอื่นทีละคนปากก็ร้องว่า “กะเกยเลยละกุ้งกะมุไม้” ถ้ามีเด็กมากด้วยกัน บางทีก็ใช้นั่งกันเป็นวงแบมือทั้งสองข้างลงกับพื้น เอามือจี้ ปากก็ว่า “จ้ำจี้” เป็นทำนองเดียวกัน ถ้าใครถูกจี้ด้วยคำสุดท้ายในบทก็ออกไปจากวง ทำเช่นนี้วนเวียนไปหลายหน จนเหลือคนสุดท้ายก็รับเคราะห์เป็นผู้อยู่โยง การเล่นของเด็กชะนิดที่กล่าวนี้ ปรากฏว่ามีอยู่ทุกชาติทุกภาษา บทที่ใช้ร้องก็เลื่อนเปื้อนฟังไม่ได้เรื่องได้ราวเหมือนกัน นักปราชญ์ชาวตะวันตกที่ใฝ่ใจในเรื่องชะนิดนี้ ได้รวบรวมบทที่เด็กชาติต่าง ๆ ใช้ร้องเล่นกัน แล้วเอามาเปรียบเทียบพิจารณา คือ ทำการค้นคว้าหาความรู้จึงเห็นได้ว่า วิธีจ้ำจี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับวิธีที่ชนชาติป่าเถื่อนอนารยชนยังคงใช้อยู่ สำหรับเสี่ยงหาตัวผู้ที่จะไปทำการอะไรอย่างหนึ่ง เป็นต้นว่า ออกไปสู้รบตบมือตัวต่อตัวกับศัตรู หรือต้องออกไปฝ่าอันตราย หรือเป็นผู้ที่จะต้องรับเคราะห์ถูกฆ่าบูชายัญเป็นต้น เพราะฉะนั้น จ้ำจี้เห็นจะเป็นวิธีเดียวกับที่กล่าวมาข้างต้น ที่สืบมาแต่สมัยดึกดำบรรพ์ ซึ่งต่อมามนุษย์มีความเจริญดีขึ้น ได้เลิกใช้เสียแล้ว จะคงเหลือเป็นเค้ามาให้เห็นราง ๆ ก็ที่เป็นการเล่นของเด็กเท่านั้น เพราะเด็ก ๆ กับชนชาติป่าเถื่อนที่ยังไม่เจริญก็มีลักษณะต่าง ๆ คล้ายคลึงกัน น่าจะเป็นด้วยเหตุผลเช่นนี้ ชาวประเทศที่รุ่งเรืองเขามักรวบรวมบทกลอนจำพวกนี้ไว้ มีบทกล่อม บทปลอบ และบทเล่นของเด็กที่มีอยู่ในภาษาของเขา เพราะได้ประโยชน์ที่จะรักษาคดีประเพณีของเดิม ซึ่งเป็นสมบัติของชาติไว้ และอีกอย่างหนึ่งก็ใช้เป็นหนังสือสำหรับเด็กอ่านได้ด้วย เพราะเด็ก ๆ มีความคิดนึกโลดโผน เรื่องชะนิดนี้ตลอดจนนิยายนิทาน จึ่งเป็นที่ชอบอัธยาศัยของเด็ก ชวนให้เด็กชอบอ่านชอบฟังมากกว่าเรื่องชะนิดอื่น
ว่าในส่วนบทกล่อม, บทปลอบและบทเล่นของเด็กในภาษาใทย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงดำริรวบรวมบทที่มีอยู่แพร่หลายในกรุงเทพ ฯ พิมพ์เป็นเล่มหนังสือขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ แล้วทรงแจกจ่ายหนังสือนั้น ไปยังเจ้าพนักงานอำนวยการโรงเรียนต่าง ๆ ตามหัวเมือง ขอให้ช่วยสืบหาบทกลอนอันใช้กันอยู่ในหัวเมืองนั้น แล้วจัดส่งมาให้หอสมุด ฯ ในเวลานี้หอสมุดแห่งชาติมีบทกลอนจำพวกนี้รวบรวมไว้แล้วมากกว่า ๑,๐๐๐ บท มีทุกหัวเมืองมณฑล ทั้งปักษ์ใต้และฝ่ายเหนือ เป็นหนังสือที่ถ้าผู้มีศรัทธาพิมพ์ขึ้นไว้ไม่ให้ศูนย์ ก็จะเป็นประโยชน์ในทางความรู้ไม่น้อย ทั้งจะเป็นการรักษาสมบัติของชาติไทยไว้ได้อีกส่วนหนึ่ง
ส่วนเรื่องเยาวพจน์ที่พิมพ์นี้ เป็นหนังสือที่เก็บเอาบทกลอนที่กล่าวข้างต้นมาตั้งเป็นแม่บท แล้วผูกเป็นกลอนขยายความออกไปตอนต้นที่พิมพ์มาแล้ว แต่งเป็นฉันท์ก็มี ส่วนในหนังสือเล่มนี้ แต่งเป็นบทละครเป็นเรื่องขนาดใหญ่ สำนวนความและโวหารนับว่าแต่งดี ชวนอ่าน สมควรพิมพ์รักษาไว้
ผู้ซึ่งแต่งเยาวพจน์ ปรากฏในโคลงบานแผนกว่า ชื่อ “โมรา” แต่งเมื่อจุลศักราช ๑๒๔๖ (พ.ศ. ๒๔๒๗) เป็นเวลาล่วงมา ๕๐ กว่าปีแล้ว ได้ความว่า นายโมราผู้นี้ เป็นทหารมหาดเล็ก มียศเป็น เปซายัน เทียบชั้นจ่านายสิบ แต่เรียกกันเป็นสามัญว่า “เปโมรา” ซึ่งนักหนังสือรุ่นเก่ารู้จักกันโดยมาก เพราะเปโมราเป็นผู้ชอบแต่งหนังสือชะนิดที่ขบขันโลดโผนมีปฏิภาณว่องไว และก็แต่งได้ดีชวนอ่าน ให้เกิดความบันเทิงขึ้นได้ นับว่าเป็นศิลปของกวีอันหนึ่ง ยากที่จะเป็นได้ทุกคน ได้มีผู้จำบทกลอนที่เปโมราแต่งไว้ได้บางบทนอกจากที่มีพิมพ์ในเยาวพจน์นี้ เช่น -
“หมอเอ๋ยจงฟังสาร | คำโบราณท่านกล่าวมา |
เป็นหมอให้ศึกษา | เวชชศาสตร์และทางลม” |
(ตำราเวชชศาสตร์ของเก่า)
ของเปโมราว่า
“หมอเอ๋ยจงฟังสาร | คำโบราณท่านกล่าวมา |
เป็นหมอให้ยกขา | ขึ้นข้างหนึ่งแล้วจึงเบา” |
และ
“อย่าเรียนกลองแขก | ทำให้ใจแตก |
มันไม่เป็นผล | เร่ตีหน้าบ้าน |
รำคาญหูคน | เขาว่าเขาบ่น |
ผู้คนนินทา” |
(ปฐมกกา)
ของเปโมราว่า
จะเรียนกลองแขก | อย่าตีให้แตก |
จึงจะเป็นผล | เที่ยวตีตามบ้าน |
ทำการมงคล | ไม่มีใครบ่น |
ผู้คนนินทา” |
คราวหนึ่ง ตามที่หลวงภักดีอดิสัย (ปาน วิมุกตกุล) เล่าให้ฟังว่า เปโมราตามเสด็จสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ จากกรุงเทพ ๆ ไปถึงท้ายเกาะใหญ่ ได้ยินเสียงอะไรโหยหวนก็รับสั่งถามเปโมราว่า แน่ะอะไรร้อง เปโมรากราบทูลเป็นโคลงว่าดั่งนี้
“เสียงนุชนาฏเจ้า | จับใจ” |
แต่พอกราบทูลได้เพียงเท่านี้ ก็ได้ยินเสียงบ๊ง ๆ ต่อท้าย จึงรู้ได้ว่าเป็นเสียงสุนัขหอน เปโมราก็เลยแต่งต่อให้จบ เป็นโคลงบทหนึ่ง ดั่งนี้
๏ เสียงนุชนาฏเจ้า | จับใจ |
เอ๊ะ ผิดปลาดไป | เห่าด้วย |
โอ๊ะ กัดพี่ยาใย | หยอกเล่น หรือแม่ |
เอ๊ะ ผิดมนุษย์ด้วย | แน่แล้วนางหมา ฯ |
นอกจากนี้ยังมีบทกลอนอื่น ๆ ของเปโมรานี้ มีผู้จำกันได้อีกหลายบท และบางบทก็ว่าผาดโผนถึงที่ และติดจะไม่สุภาพ แต่ก็ช่างเสาะหาคำมาว่า อ่านแล้วชวนให้เกิดความขบขัน กล่าวกันว่า บางบทก็ได้เคยอ่านถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเวลาทรงเครื่องใหญ่ด้วย
ขออนุโมทนากุศลราศีทักษิณานุปทาน ซึ่งหลวงบริหารวนเขตต์ ได้บำเพ็ญเป็นทารสังคหกิจ อุททิศให้ภรรยาผู้ล่วงลับไปแล้วนี้ จงสัมฤทธิอิฏฐผลตามสมควรแก่คติวิสัยนั้นๆ เทอญ.
กรมศิลปากร
๑๐ เมษายน ๒๔๗๙