คำนำ

ด้วยอำมาตย์ตรี พระผลากรนุรักษ์ (อิ่ม เกาไศยนันท์) ผู้พี่ นายพันตำรวจเอก พระยาพิเรนทราธิบดี สีหราชงำเมือง (อุ่ม เกาไศยนันท์) ผู้น้อง จะทำการปลงศพสนองคุณนายแช่มผู้บิดา จึงพร้อมกันมาแจ้งความต่อหอพระสมุดวชิรญาณว่า มีความศรัทธาจะรับสร้างหนังสือในหอพระสมุดฯ สักเรื่อง ๑ เปนของแจกในงานศพ ขอให้กรรมการช่วยเลือกเรื่องหนังสือให้ กรรมการมีความยินดีที่จะรับเปนธุระให้ตามประสงค์ แต่เวลาใกล้ต่อกำหนดงานศพอยู่ จำต้องเลือกเรื่องสั้นๆ พอให้พิมพ์ทัน ข้าพเจ้าจึงได้เลือกหนังสือ “กาพย์สักรบรรพ” เปนหนังสือแต่งครั้งกรุงเก่า ซึ่งพึ่งพบฉบับในหอพระสมุดฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ให้พระผลากรฯ และพระยาพิเรนทราธิบดีฯ พิมพ์แจกในงานศพบิดา

หนังสือกาพย์สักรบรรพที่พิมพ์นี้ ก็คือหนังสือเทศน์มหาชาติกัณฑ์สักรบรรพนั้นเอง ที่ข้าพเจ้าเห็นว่ามีคุณวิเศษ ควรพิมพ์ได้โดยเฉภาะ เพราะเหตุใดจำจะต้องอธิบายความคิดเห็นในเรื่องตำนานเทศน์มหาชาติ ผู้อ่านหนังสือนี้จึงจะเข้าใจได้

ประเพณีมีเทศน์มหาชาติ คือ ที่นิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาแสดงมหาเวสสันดรชาดก ๑๓ กัณฑ์ เปนการพิธีอัน ๑ นั้น เห็นจะมีมาแต่ดึกดำบรรพ์ทีเดียว พิเคราะห์ดูหนังสือเวสสันดรชาดกที่มีอยู่พอจะสอบสวนได้ในเวลานี้ ประกอบกับตำนานที่ปรากฎเรื่องมาแต่โบราณ เข้าใจว่าพิธีเทศน์มหาชาติที่มีในประเทศนี้ ในชั้นแรกเห็นจะเทศน์ในภาษามคธอย่างที่เรียกกันว่าเทศน์คาถาพัน การพิธีอยู่ที่เทศน์ในวันเดียวให้จบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ จึงถือว่ามีผลานิสงษ์มาก แลเปนอุดมมงคล ถึงน้ำที่ตั้งไว้ในบริเวณพิธี เปนนํ้ามนต์ซึ่งอาจจะชำระล้างอัปมงคลทั้งปวงได้ หนังสือเวสสันดรชาดกคงจะได้แปลออกเปนภาษาไทย แต่ครั้งกรุงศุโขทัยยังเปนราชธานีของสยามประเทศ แต่เห็นจะไม่ได้แต่งเปนกลอน แลจะไม่ยาวนัก จึงมิได้มีคำแปลครั้งนั้นเหลืออยู่ให้พบเลย การแปลเวสสันดรชาดกแต่งเปนกลอนเทศน์ มีในจดหมายเหตุปรากฎว่า แรกมีเมื่อปีขาล จุลศักราช ๘๔๔ พ.ศ. ๒๐๒๕ ครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถครองกรุงศรีอยุทธยา มีรับสั่งให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตย์ แต่งหนังสือมหาชาติคำหลวง (ที่เรียกว่า “คำหลวง” นั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ครั้งนั้นเห็นจะหมายความอย่างเราเรียกกันว่า “พระราชนิพนธ์” ในทุกวันนี้) ลักษณะหนังสือมหาชาติคำหลวงที่แต่งครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถนั้น เอาตัวคาถาภาษามคธตั้งบาท ๑ แล้วแปลเปนภาษาไทยวรรค ๑ สลับกัน ภาษาไทยแต่งให้มีสัมผัสเปนกลอนร่ายด้วย หนังสือยังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ ไม่ใช่เปนหนังสือสำหรับพระเทศน์ เปนหนังสือสำหรับสัปรุษอ่านสู่กันฟัง เวลาไปประชุมกันทำบุญให้ทานในงานนักขัตฤกษ์ เพื่อให้เข้าใจความของคาถาพัน ประเพณีอันนี้ยังมีอยู่จนปัจจุบันนี้ เวลานักขัตฤกษ์เข้าพระวัสสา ยังเปนน่าที่ขุนทินบรรณาการ ขุนธารกำนันกับผู้ช่วยอิก ๒ คน ขึ้นนั่งเตียงสวดหนังสือมหาชาติคำหลวงที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามโดยทำนองอย่างเก่า ถึงที่มีเด็กนักเรียนนั่งสวดหนังสือเรื่องต่างๆ ตามทำนองซึ่งเรียกว่าสวดโอ้เอ้วิหารรายตามศาลารายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก็สืบเนื่องมาแต่ประเพณีเก่าโดยไนยอันเดียวกัน กล่าวคือ เวลาอุบาสก อุบาสิกา ไปประชุมกันอยู่ในวัดระหว่างเวลาสวดมนต์ฟังเทศน์ มักให้เอาหนังสืออันเปนเรื่องในพระสาสนา มีชาดกต่างๆ เปนต้น มาอ่านสู่กันฟัง ประเพณีอันนี้ยังมีอยู่ในเมืองนครศรีธรรมราชจนทุกวันนี้ ด้วยเหตุนี้จึงมีหนังสือชาดกแต่งเปนกลอนสวดมาแต่โบราณมากกว่ามาก คือแต่งสำหรับสวดในวัด เวลางานนักขัตฤกษ์

ส่วนหนังสือมหาชาตินั้น ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมซึ่งเสวยราชย์ เมื่อปีขาลจัตวาศก จุลศักราช ๙๖๔ พ.ศ. ๒๑๔๕ ได้โปรดให้แต่งหนังสือมหาชาติคำหลวงที่กล่าวในหนังสือพระราชพงษาวดารดังนี้ ถ้าหากว่าผู้แต่งหนังสือพระราชพงษาวดารมิได้หลงเอาเรื่องแต่งหนังสือมหาชาติคำหลวงครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถมาลงผิดรัชกาล ก็แปลว่า เมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมนั้น ได้โปรดให้แต่งหนังสือมหาชาติคำหลวงอิกครั้ง ๑ ซึ่งเชื่อได้โดยทางสันนิฐานว่า จำต้องแปลกกับหนังสือมหาชาติคำหลวง ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ แต่จะแปลกกันอย่างไรทราบไม่ได้ ด้วยแต่ก่อนมายังไม่พบหนังสือมหาชาติคำหลวงฉบับที่แต่งครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม มาเมื่อเร็วๆ นี้หอพระสมุดวชิรญาณได้หนังสือมหาชาติกัณฑ์กุมารฉบับหลวงครั้งรัชกาลที่ ๑ เรียกในต้นฉบับว่า “กาพย์กุมารบรรพ” มากัณฑ์ ๑ เปนหนังสือ ๒ เล่มสมุดไทยขนาดหนา สำนวนแต่งครั้งกรุงเก่าแลเปนสำนวนดี แต่งผิดกับมหาชาติคำหลวงครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ที่ขยายความภาษาไทยยาว ไม่สลับวรรคกับคาถาภาษามคธ แต่ผิดกับหนังสือมหาชาติที่ใช้เทศน์กันอยู่ ด้วยแต่งเรื่องยาว ความเช่นนี้ จะเทศน์ให้จบในวันเดียวทั้ง ๑๓ กัณฑ์ไม่ได้ จึงเกิดข้อสันนิฐานขึ้นแก่ข้าพเจ้าว่า หรือกาพย์กุมารบรรพนี้ จะเปนหนังสือซึ่งกล่าวว่าแต่งในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เพราะสำนวนดีเกินกว่าใครๆ จะแต่งตามวัดหรือตามบ้านโดยลำพัง บางทีมูลเหตุจะเปนด้วยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงพระราชดำริห์เห็นว่ามหาชาติคำหลวงของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถนั้น คำแปลภาษาไทยสั้นนัก แลซ้ำสลับกับอรรถทุกวรรคไป ผู้ฟังไม่ใคร่เข้าใจความ จึงโปรดให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตย์แต่งมหาชาติคำหลวงขึ้นใหม่อิกความ ๑ ด้วยมุ่งหมายให้เข้าใจภาษาไทยเปนสำคัญ กันอรรถไว้อ่านเสียส่วน ๑ เมื่อมีหนังสือคำหลวงชุดนี้ขึ้น พระจึงเอาไปเทศน์ เทศน์มหาชาติจึงเปนกลอน แลเลยเปนทำนองต่างๆ ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเปนต้นมา แต่สันนิฐานโดยความยาวของกาพย์กุมารบรรพ แต่ส่วนภาษาไทยถึง ๒ เล่มสมุดขนาดหนาจึงจบ เห็นได้ว่าหนังสือมหาชาติความนี้ จะเทศน์ให้จบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ในวันเดียวไม่ได้ ข้อสันนิฐานจึงมีต่อมาอิกชั้น ๑ ว่า เมื่อมีหนังสือกลอนมหาชาติสำหรับเทศน์ขึ้นแล้ว จะเกิดปรารภกันขึ้นเมื่อชั้นหลังต่อมาว่า เทศน์คาถาพัน อันจำต้องมีเปนการพิธีเพื่อมงคลนั้น ไม่เข้าใจความ ส่วนเทศน์กลอนมหาชาติเข้าใจความแลเพราะดี แต่ต้องเทศน์หลายวัน ไม่เข้าระเบียบพิธีมงคล ประสงค์จะรวมประโยชน์ทุกอย่างเข้าด้วยกัน กล่าวคือ (๑) ให้เทศน์คาถาพันให้ครบด้วย (๒) ให้ฟังความให้เข้าใจด้วย และ (๓) ให้เทศน์จบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ในวันเดียวด้วย บัณฑิตย์ในกรุงเก่าชั้นหลัง จึงเอาหนังสือคำหลวงครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม มาตัดความภาษาไทยให้สั้นลง ให้เทศน์ทั้งอรรถทั้งแปล จบได้ในวันเดียว จึงสำเร็จรูปเปนหนังสือเทศน์มหาชาติที่เราได้ฟังกันในชั้นหลังนี้ มีมาแต่ครั้งกรุงเก่าตอนปลาย แลแยกย้ายกันแต่งหลายครูหลายอาจารย์ ไม่ได้รวมทำอย่างมหาชาติคำหลวง มาในชั้นกรุงรัตนโกสินทรนี้ ก็ยังแต่งความใหม่เพิ่มเติมกันต่อมาอิก แต่หนังสือเทศน์มหาชาติที่มีอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณเดี๋ยวนี้ พระราชวรวงษ์เธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา ได้เคยลองตรวจดูที่สำนวนต่างๆ กัน กัณฑ์ทศพรมี ๘ สำนวน กัณฑ์หิมพานต์มี ๑๐ สำนวน กัณฑ์ทานกัณฑ์มี ๗ สำนวน กัณฑ์วนประเวศมี ๑๓ สำนวน กัณฑ์ชูชกมี ๑๔ สำนวน กัณฑ์จุลพนมี ๑๖ สำนวน กัณฑ์มหาพนมี ๘ สำนวน กัณฑ์กุมารมี ๖ สำนวน กัณฑ์มัทรีมี ๑๑ สำนวน กัณฑ์สักรบรรพมี ๙ สำนวน กัณฑ์มหาราชมี ๗ สำนวน กัณฑ์ฉกระษัตริย์มี ๕ สำนวน กัณฑ์นครกัณฑ์มี ๗ สำนวน เปนสำนวนเก่าบ้างใหม่บ้าง แต่สังเกตว่ามีสำนวนครั้งกรุงเก่าทุกกัณฑ์

หนังสือกาพย์กุมารบรรพนั้น บุตรธิดา พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) ได้พิมพ์เปนของแจกในงานปลงศพ พระยาวจีสัตยารักษ์ ใน พ.ศ. ๒๔๕๙ นี้ ในขณะเมื่อกรรมการตรวจพิมพ์หนังสือเรื่องกาพย์กุมารบรรพให้เจ้าภาพงานศพพระยาวจีสัตยารักษ์นั้น กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา ค้นพบหนังสือกาพย์สักรบรรพที่พิมพ์ในเล่มนี้อิกกัณฑ์ ๑ อ่านตรวจดู เห็นเปนหนังสือแต่งดี สำนวนแลลักษณเรียงความเปนอย่างเดียวกับกาพย์กุมารบรรพ เชื่อว่าเปนหนังสือชุดเดียวกัน ซึ่งของเดิมคงจะมีครบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ หากพึ่งพบแต่ ๒ กัณฑ์ แลยังไม่แน่ใจว่าจะหาต่อไปได้อิกสักกี่กัณฑ์ จึงเห็นว่าหาได้เท่าใดควรพิมพ์ขึ้นไว้เสีย ให้กวีแลผู้ศึกษาวรรณคดีได้โอกาศตรวจสอบ ประกอบการวินิจฉัยตำนานหนังสือไทยแต่โบราณมา

ข้าพเจ้าขอโอกาศอนุโมทนากุศลบุญราษี ซึ่งพระผลากร ฯ แลพระยาพิเรนทราธิบดีฯ สร้างหนังสือเรื่องนี้ ในงานปลงศพสนองคุณบิดา อนุโมทนาทั้งการกุศลอย่างอื่นๆ ที่ได้บำเพ็ญด้วยความกตัญญูกตเวทีตามน่าที่ของบุตร

อนึ่งพระผลากรฯ แลพระยาพิเรนทราธิบดีฯ ท่านทั้ง ๒ ผู้สร้างหนังสือนี้ อยู่ในฐานะที่โบราษบัณฑิตย์ นับว่าเปนอภิชาตบุตร เปนมงคล แลเปนที่ตั้งของความเจริญในสกุลวงษ์ อันสมควรจะอนุโมทนาในเหตุอันนี้ด้วยอิกประการ ๑

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๙

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ