วินิจฉัยเรื่องกฤษณาสอนน้อง

พระราชนิพนธ์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

หนังสือที่มีชื่อเช่นนี้ ได้พบตีพิมพ์เป็นคำฉันท์ว่า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตทรงแต่งฉบับหนึ่ง ภายหลังมีผู้แต่งลงในหนังสือปฏิทินบัตรเป็นคำกลอน ยักเยื้องถ้อยคำไปจากคำฉันท์เดิมบ้างตามโวหารใหม่ แต่เดิมข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นเรื่องมีมาในบาลี ตลอดจนคำสอนทั้งปวงนั้น แต่ครั้นเมื่ออ่านหนังสือมหาภารตะ พบชื่อนางกฤษณามีพระสามี ๕ องค์ เข้าเรื่องกัน ก็นึกสงสัยว่า เห็นจะเป็นเรื่องเดียวกันกับที่มีมาในบาลี แต่ไม่พบที่ว่าสอนน้อง และในท้องเรื่องนั้นน้องนางกฤษณาก็ไม่มี มีแต่พี่ชายชื่อกฤษณาทยุมนซึ่งเกิดในกองเพลิง จึงได้ขอให้พระเทพโมลีช่วยค้นเรื่องนางกฤษณาที่มีในบาลีมาสอบดู ก็ไม่มีเรื่องที่กล่าวถึงว่าสอนน้อง กลับติเตียนนางกฤษณาเป็นตัวอย่างของหญิงที่มีความปรารถนามากในกามคุณ จนมีสามีถึง ๕ แล้วยังเป็นชู้กับบุรุษเปลี้ย ไม่มีข้อคำสรรเสริญนางกฤษณาด้วยประการใดเลย นางกฤษณาในคำฉันท์นั้นนอกจากมีสามี ๕ คนแล้วต้องเป็นหญิงดี เพราะฉะนั้นจึงเป็นคนละทางกันกับที่แต่งเป็นคำฉันท์ไว้นั้นแท้ทีเดียว จนพระเทพมุนีซึ่งได้เป็นผู้ช่วยค้นอีกองค์หนึ่งได้สันนิษฐานเอาว่าเห็นจะเป็นกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ทรงแต่งแก้ข้อความซึ่งมีแต่ติเตียน ผู้หญิง เปล่า ๆ ให้เป็นคำสั่งสอนเสียบ้าง ความคิดเห็นที่กล่าวนี้ ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยมาแต่เดิม ด้วยในคำฉันท์นั้นเองผู้แต่งท่านได้กล่าวไว้ว่าเป็นหนังสือที่แต่งไว้แต่โบราณถ้อยคำเร่อร่ารุงรัง มีพระบรมราชโองการให้แต่งเสียใหม่ให้เรียบร้อยจึงได้แต่ง คิดเห็นว่าเรื่องต้นของกฤษณาสอนน้องคงจะมาจากที่อื่น เป็นแต่ชื่อเสียงจะขาดวิ่น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตจะทรงแต่งให้บริบูรณ์ดี จึงได้เก็บชื่อในบาลีมาซ่อมแซมลง ดีร้ายจะมีมาแต่หนังสือมหาภารตะ ซึ่งเป็นเรื่องรวบรวมนิทานเก่าและลัทธิต่าง ๆ ที่ถือกันอยู่ในมัชฌิมประเทศ ก่อนเวลาพุทธกาล จึงได้อ่านหนังสือมหาภารตะเสาะแสวงหาความจริงฉันนี้ จนบัดนี้มาพบเรื่องนั้นสมประสงค์แล้ว จะขอยืนยันได้ว่า กฤษณาสอนน้องที่มาแต่งเป็นคำฉันท์นั้นไม่ได้มาจากบาลี เราคงจะได้มาจากพราหมณ์ ซึ่งมาเป็นครูบาอาจารย์ของเราแต่ก่อนเหมือนเรื่องรามเกียรติเป็นแน่ จึงได้คิดจะแปลข้อความนั้นออกมาเสนอแก่ท่านผู้มีใจรักใคร่ ในการสอบค้นหนังสือต่าง ๆ แต่ดูเป็นการจำเป็นอยู่ที่จะต้องเก็บข้อความย่อในต้นเรื่องโดยอย่างสั้นที่สุดพอให้รู้เค้าเรื่องที่จะได้วินิจฉัยได้แจ่มแจ้ง ว่าจะเป็นเรื่องนี้ถูกกันหรือไม่ คัมภีร์มหาภารตะที่ได้ออกชื่อถึงนี้ เป็นหนังสือแต่งภายหลังคัมภีร์ต่าง ๆ ของพราหมณ์ทั้งสิ้น ตามกำหนดที่เขาว่าได้แต่งขึ้นอยู่ในระหว่าง ๓,๐๐๐ ปี ขึ้นไปหา ๔,๐๐๐ ปีล่วงมาแล้ว ในท้องเรื่องนั้น ต้นเรื่องวงศ์ เจ้าแผ่นดินวงศ์ ๑ ซึ่งมีชื่อตามโคตรสืบกันมาแต่เจ้าแผ่นดินต้นวงศ์ที่มีนามว่าภารตะ ภายหลังวงศ์ภารตะนี้แยกกันออกไปเป็นหลายสาย จนถึงเจ้าแผ่นดินองค์ ๑ ทรงพระนามว่า กุรุ ตั้งเมืองกุรุราฐขึ้น วงศ์นั้นก็ปรากฏนามต่อมาว่า เการว คือ ลูกหลานของ กุรุ ภายหลังเชื้อวงศ์เการวนี้แยกกันออกอีกเป็นสองพวก พวกลูกพี่คงเรียกว่าเการว พวกลูกน้องเรียกว่า ปาณฑว พวกเการวกับปาณฑวไม่เป็นสามัคคีแก่กัน คิดอุบายประทุษร้ายกันต่าง ๆ จนภายหลังเกิดรบกัน เพราะกษัตริย์ทั้งสองฝ่ายนี้เป็นวงศ์ภารตะด้วยกัน จึงได้เรียกการรบนั้นว่าภารตยุทธ์ เรื่องก็ไปจบอยู่เพียงรบกัน พวกปาณฑวมีชัยชนะ ถ้าจะแต่งแต่ตัวของเรื่องก็จะสั้นนิดเดียว แต่ผู้แต่งหามีความประสงค์อย่างนั้นไม่ เขาเอาเรื่องภารตยุทธ์ขึ้นตั้งแต่พอเป็นหลัก แล้วกล่าวถึงนิทานต่าง ๆ ลัทธิที่ถือต่าง ๆ มีผู้กล่าวปุจฉาวิสัชนากันไปตลอด บรรดาข้อความอันใดซึ่งมีในคัมภีร์เวทเอามากระจายชี้แจงมูลเหตุเสียทุก ๆ เรื่องในกระบวนเวทางคะ ก็ยกขึ้นกล่าวเป็นแห่ง ๆ ศาสตระคือกฎหมาย ก็ยกมากล่าวเป็นแห่ง ๆ มนตระคือคำสวดอ้อนวอนพระเป็นเจ้า ก็ยกออกมาว่าเป็นแห่ง ๆ ความประสงค์ของผู้แต่งนั้นมุ่งหมายว่า ถ้าผู้ใดอ่านคัมภีร์มหาภารตยุทธ์นี้แล้วก็เป็นอันรู้คัมภีร์เวทและคัมภีร์เวทางคะทั้ง ๖ และ คัมภีร์ศาสตร์กับทั้งมนตระต่าง ๆ พอสมควรที่จะให้ผู้นั้นได้ขึ้นสวรรค์ได้ เพราะฉะนั้น คัมภีร์มหาภารตะจึงเป็นคัมภีร์สำเร็จ ที่สำหรับจะให้ผู้ที่นับถือศาสนานั้นได้อ่านแล้วสมมติว่าเป็นผู้รู้จบไตรเพทได้ ส่วนเราที่ไม่ได้ถือศาสนานั้น หรือถือกระเส็นกระสาย หลวม ๆ เมื่อได้อ่านภารตะก็เป็นอันได้เข้าใจลัทธิความประพฤติของพวกฮินดูได้มาก จนสามารถที่จะประมาณได้ว่าเวลาเมื่อพระพุทธศาสนายังมิได้เกิดขึ้นนั้นชนทั้งปวงนับถือและประพฤติอยู่ในประเทศนั้นอย่างไร อีกประการหนึ่งลัทธิที่เราถือมาแต่โบราณต่างๆเป็นต้นว่า เด็กที่เกิดมามีแม่ซื้อรักษาหรือกรวดน้ำเผาศพ ต้นเหตุที่เกิดมีมาแต่อันใดก็อาจจะรู้ได้ตลอด แต่เรื่องราวที่กล่าวนั้น ยืดยาว ฟั่นเฝือ ไม่สามารถที่จะเล่าสู่กันฟังได้โดยง่าย นอกจากย่อที่สุดเช่นนี้

ในการที่จะกล่าวถึงบัดนี้เฉพาะจะกล่าวถึงเรื่องนางกฤษณา นางกฤษณาเป็นตัวนางสำคัญ ในเรื่องมหาภารตะ เหมือนอย่างนางสีดาเป็นตัวสำคัญในเรื่องรามเกียรติ์ เมื่อจะกล่าวข้อความแต่ตอนที่กล่าวถึงนางกฤษณาโดยย่ออีกชั้นหนึ่งแล้ว ก็จะต้องกล่าวตั้งแต่กษัตริย์ปัณฑว คือราชโอรสพระเจ้าปาณฑุทั้ง ๕ ได้ไปในการสฺวยวร คือ สฺยมพร[๑] นางกฤษณาซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าทฺรุปาท กรุงปัญจาละ อรชุนซึ่งเป็นปัณฑวที่ ๓ ประลองศิลปได้นางกฤษณาในการสฺยมพร นางกุนติซึ่งเป็นพระราชมารดาของปัณฑวตัดสินให้ทำการวิวาหะนางกฤษณากับกษัตริย์ปัณฑว ทั้ง ๕ องค์ เมื่อถุ้งเถียงขัดข้องไปไม่ตลอดเพราะพระฤษีผู้ชื่อไทฺวปายน มายกเรื่องอดีตชาติขึ้นชี้แจง ก็เป็นอันตกลงทำการวิวาหะนางกฤษณาด้วยกษัตริย์ปัณฑววันละองค์ เมื่อทำวิวาหะวัน ๑ แล้ว รุ่งขึ้นก็เป็นสาวบริสุทธิ์ต่อไปใหม่จนครบ ๕ วัน ภายหลังไปตั้งเมืองอินทรปรัสถ์ คือเมืองอินทปัตถ์ขึ้นใหม่ในกุรุรัฐ ซึ่งธฤตราษ์ฎระผู้เป็นพระเจ้าลุง อันตั้งอยู่ในเมืองหาสตินปุระ ซึ่งเป็นเมืองหลวงกุรุราฐ แต่ก่อนนั้นยอมแบ่งอาณาเขตให้กึ่งหนึ่ง ภายหลังทุรโยธนและราชโอรสอื่น ๆ ของธฤตราษ์ฎระมีความริษยาพวกกษัตริย์ปัณฑว จึงชวนให้ไปเล่นทอดลูกบาศก์สกาพนัน ทุรโยธนให้สกุนีซึ่งเป็นเชื้อวงศ์ฝ่ายมารดาที่ชำนาญในการทอดสกาฉ้อทอดแทน ยุธิษฐิรซึ่งเป็นเชษฐาใหญ่ในพวกปัณฑว เล่นสกาแพ้ เสียไพร่พลช้างม้าบ้านเรือนตลอดจนถึงพระอนุชาและพระองค์เองกับทั้งนางกฤษณา ในที่สุดธฤตราษ์ฎระพระเจ้าลุงตัดสินให้เลิกการพนันนั้นเสีย ให้ปัณฑวกลับไปเมือง แต่ภายหลังเสียคำอ้อนวอนทุรโยธนผู้เป็นโอรสไม่ได้ ให้เรียกปัณฑวกลับไปทอดสกาใหม่ กำหนดว่าถ้าผู้ใดแพ้ให้ออกไปเดินป่า ๑๔ ปี ในระหว่าง ๑๒ ปีนั้นจะอยู่แห่งใด ๆ ก็ได้ แต่ปีที่ ๑๓ ต้องให้ไปให้ลี้ลับ อย่าให้คนสอดแนมของพวกเการว คือ พวกธฤตราษ์ฎระสืบรู้เห็นได้ ถ้าสืบรู้เห็นได้ต้องอยู่ป่าต่ออีก ๑๔ ปี กษัตริย์ปัณฑวทั้งปวงจึงได้ออกไปจากกุรุราฐไปพร้อมด้วยฤษีและพราหมณ์กับทั้งข้าไท บางคนเที่ยวลงสรงในท่าต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่ชำระบาป ซึ่งจะให้ขึ้นสวรรค์ เรียกว่าติรถยาตรา จนภายหลังที่สุดอรชุนได้ขึ้นไปยังดาวดึงสพิภพ กษัตริย์ปัณฑวอีก ๔ องค์ได้ไปถึงเมืองอาลกซึ่งเป็นที่อยู่ของไวศรวณ คือ ท้าวเวสสวัณณ์ ครั้นเมื่อครบกำหนดแล้ว ก็เดินกลับลงมาถึงป่าที่มีชื่อว่ากามยกะ พระฤษีและพราหมณ์ทั้งปวงซึ่งอยู่ในป่านั้น ก็พากันมาต้อนรับสั่งสนทนาด้วยเรื่องคติโบราณต่าง ๆ ในขณะนั้น กฤษณวาสุเทวะ ซึ่งเป็นนารายณ์แบ่งภาคลงมาครองกรุงทวารวดี หรือทวากะก็เรียก ซึ่งเป็นสหายรักกับอรชุนกับนางสัตยภามาซึ่งเป็นมเหสี ก็เสด็จมาเยี่ยมกษัตริย์ปัณฑวถึงป่ากามยกะนั้นด้วย เป็นจบเรื่องที่กล่าวเริ่มต้นเพียงเท่านี้

บัดนี้ จะได้แปลเนื้อความโดยละเอียดในมหาภารตะท่อนซึ่งเรียกว่า วนปรว (คือวนบรรพ) วรรคที่ ๒๓๒ อันชื่อว่า เทราปาทิ[๒] สัตยภามาสังวาท เริ่มความว่าไวศมปายน[๓]กล่าวว่า “ในขณะเมื่อพราหมณ์ทั้งปวง และพระโอรสแห่งปาณฑุทั้งหลายได้เสด็จนั่งในที่ควรแล้ว นางเทราปาทิและนางสัตยภามาก็เสด็จเข้าไปในห้องกุฎี มีพระหฤทัยเต็มตื้นไปด้วยความยินดี ทั้งสองนางทรงสำรวลสรวลเล่นและนั่งตามสบายพระหฤทัย และนางทั้งสองนั้น ย่อมกล่าวสุนทรกถาต่อกันและกันมิได้ขาดด้วยจากกันไปช้านาน ได้สนทนาถึงเรื่องซึ่งให้เป็นที่เกิดความยินดีจากเรื่องนิทานแห่งกุรุและยทุ[๔]ทั้งปวง ภายหลังนางสัตยภามาผู้เอวบาง ซึ่งเป็นมเหสีที่รักของพระกฤษณเป็นธิดาแห่งสัตราชิต จึงได้ถามนางเทราปาทิเป็นความลับ กล่าวว่า “เพราะความประพฤติอย่างไรของท่าน ดูกร ท่านผู้ธิดาแห่งทรุปาท ท่านจึงได้สามารถที่จะปกครองพระโอรสแห่งปาณฑุทั้งปวงไว้ได้ทั้งสิ้น ท่านทั้งหลายเหล่านั้นย่อมเป็นผู้มีความกล้าหาญประกอบไปด้วยกำลัง และงามเหมือนท้าวโลกบาลทั้งหลาย ดูกรนางผู้มีโฉมอันงาม เพราะเหตุใดกษัตริย์เหล่านั้นจึงมีความเกรงกลัวท่าน จนไม่สามารถจะกริ้วโกรธท่านได้ ดูกรนางผู้มีลักษณะอันพึงรัก ข้าพเจ้าไม่มีความสงสัยเป็นอย่างอื่นเลย นอกจากเห็นว่าโอรสแห่งปาณฑุทั้งหลาย ย่อมยินยอมอ่อนน้อมต่อท่าน และตั้งพระหฤทัยที่จะทำตามคำแนะนำของท่าน ขอให้จงแจ้งเหตุอันนี้ให้ข้าพเจ้าทราบ ซึ่งเป็นดังนี้ด้วยคุณวิเศษแห่งบุญที่ท่านได้ปฏิญานทรมานกายถวายพระเป็นเจ้าต่าง ๆ หรือด้วยฌาน ด้วยสมาบัติ หรือด้วยยา ซึ่งใช้ในเวลาชำระกาย (ในเวลาฤดู) หรือด้วยคุณวิชา หรือด้วยรูปโฉมอันดรุณรุ่นเป็นที่พึงรัก หรือด้วยสาธยายมนต์อันใดหรือบูชาโหมะหรือด้วยยาแฝดและยาอื่น ๆ ดูกรท่านผู้เป็นเจ้าหญิงกรุงปัญจาละ จงบอกแก่ข้าพเจ้าในบัดนี้ ในสิ่งซึ่งเป็นสวัสดิมงคลอันใดที่จะทำให้กฤษณ (พระสามีข้าพเจ้า) มีความกลัวเกรงข้าพเจ้าได้ (เหมือนท่าน)”

เมื่อนางสัตยภามาผู้ประเสริฐได้กล่าวข้อความอันนี้ นางผู้เป็นธิดาแห่งทรุปาท ซึ่งเป็นหญิงอันซื่อตรงและมีความเจริญ จึงได้ตอบนางนั้น กล่าวว่า “ดูกรนางสัตยภามาซึ่งท่านถามเรานี้ได้ถามถึงความประพฤติของหญิงที่ชั่ว เราจะตอบท่านอย่างไรได้ในหนทางซึ่งผู้หญิงที่ชั่วประพฤติ ความประพฤติเช่นนั้นไม่สมควรแก่ตัวท่าน ถ้าเราจะตอบตามคำท่านถามก็ดี หรือท่านจะสงสัยเราในเรื่องเหล่านี้ก็ดี เป็นการไม่สมควรเลย ที่ท่านเป็นผู้มีปัญญาและเป็นภรรยาที่รักของกฤษณ เมื่อสามีทราบความว่า ภรรยาของตัวชอบใช้ยาเป็นเครื่องประกอบในเรื่องนี้เมื่อใด ในชั่วโมงนั้นก็ย่อมเกิดความเกรงกลัวภรรยาผู้นั้น เหมือนอย่างงูซึ่งซ่อนอยู่ในห้องนอน บุรุษที่ได้ความลำบากอยู่ด้วยความกลัว จะได้ความสงบระงับมาแต่ไหน ผู้ซึ่งปราศจากความสงบระงับแล้วจะได้ความสุขมาจากไหน สามีผู้ใด ซึ่งจะปราบให้กลัวเกรงภรรยาได้ด้วยเสน่ห์เล่ห์ลมของเมียนั้นย่อมไม่มี เราย่อมได้ยินความป่วยไข้อันเป็นที่น่าสงสารอันเกิดขึ้นด้วยศัตรูทำ เมื่อว่าตามจริงแล้ว ผู้ซึ่งมีความปรารถนาจะฆ่าผู้หนึ่งดอก จึงได้ส่งยาพิษเจือลงในของกำนัล เมื่อผู้ที่รับนั้นได้บริโภคผงยาด้วยลิ้น หรือผิวหนัง ก็สิ้นชีวิตไปโดยเร็วไม่ต้องสงสัย ผู้หญิงบางคนทำให้ชายเป็นมาน เป็นโรคเรื้อน ผอมแห้งทรุดโทรม ไม่มีแรง มึนซึม เสียจักษุ หูหนวก หญิงร้ายเหล่านี้ย่อมเดินไปแต่ในหนทางที่บาป จึงได้ทำให้เกิดอันตรายแก่สามี แต่ภรรยาที่ดีแล้วไม่ควรเลยที่จะทำอันตรายแก่สามีของตัว ดูกรท่านผู้เป็นหญิงอันประเสริฐ บัดนี้จงฟังเกิด ความปฏิบัติของเราซึ่งได้ประพฤติอยู่ต่อท่านผู้มีวิญฌานอันบริสุทธิ์โอรสแห่งปาณฑุทั้งหลาย คือละทิ้งเสียซึ่งความเย่อหยิ่ง ข่มไว้ซึ่งความปรารถนา และความโกรธ เราย่อมปฏิบัติด้วยความภักดีต่อโอรสแห่งปาณฑุทั้งหลายและภรรยาอื่น ๆ ทั้งหลายของท่านด้วยอดกลั้นความหึงหวงไว้ด้วยเอาความจงรักภักดีในใจอันลึกเป็นเครื่องระงับ การอันใดซึ่งเราจะต้องรับใช้เราไม่ถือว่าเป็นการทำให้เสื่อมเกียรติยศแก่เราแต่สักอย่างหนึ่ง เราทำเราเฝ้าคอยปฏิบัติพระสามีทั้งหลายของเรา และมีความกลัวในที่จะกล่าวถ้อยคำอันไม่ดีและคำเท็จอยู่เป็นนิตย์ ไม่แลดูไม่นั่งไม่เดินในอาการอันไม่ควร ไม่ทอดจักษุสำแดงอารมณ์แห่งใจ อย่างนี้แลเราได้รับปฏิบัติโอรสของปริษฐา[๕] ผู้มีความกล้าหาญใหญ่ ผู้มีเดชานุภาพเหมือนพระอาทิตย์หรือเหมือนไฟ มีความงามเหมือนพระจันทร์ ท่านผู้กล้าหาญทั้งหลายเหล่านั้น ประกอบด้วยวิริยภาพและเดชานุภาพอันสามารถจะประหารศัตรูของท่าน เพียงแต่ด้วยทอดพระเนตรไปแวบเดียวเท่านั้น เทวดาก็ดี มนุษย์ก็ดี คันธรว (คนธรรพ์) ก็ดี ที่เป็นหนุ่มหรือตบแต่งกายด้วยเครื่องประดับหรือทรัพย์มาก หรือรูปร่างโอ่โถง น้ำใจเราก็มิได้มีความชอบใจเลย เราไม่ได้อาบน้ำและไม่ได้บริโภคอาหาร ไม่ได้นอน จนกว่าพระสามีของเราจะได้สรงและเสวยและบรรทมก่อน เมื่อว่าตามจริงแล้วตลอดจนถึงบ่าว เราก็ย่อมดูให้อาบน้ำและให้กินข้าวและให้นอนก่อน ถ้าพระสามีเราจะกลับมาจากทุ่งจากป่าหรือจากเมือง เรารีบร้อนลุกขึ้นอ่อนน้อมต่อพระสามี ด้วยถวายน้ำและเชิญให้ประทับ เราย่อมรักษาเรือนและภาชนะเครื่องประดับเรือน ทั้งอาหารซึ่งจะบริโภคให้ตั้งอยู่ตามที่โดยเรียบร้อยและสะอาด เราระวังพระกระยาหารมิได้ประมาท และตั้งเครื่องมิให้เคลื่อนคลาดจากเวลาที่สมควร เรามิได้มัวเมากล่าววาจาที่โกรธหรือที่ไม่มีประโยชน์ และไม่ได้เลียนความประพฤติของหญิงที่ชั่วร้าย เราไม่เกียจคร้านเอาตัวออกหาก ตั้งใจแต่จะทำสิ่งใดซึ่งเป็นที่ชอบพระทัยทุกเมื่อ เรามิได้หัวเราะนอกจากเวลาที่พูดจาหยอกเอินเล่น เรามิได้อยู่ที่ประตูเรือนนาน และมิได้อยู่นานในที่ซึ่งปกติมนุษย์จำจะต้องไป หรือในที่สวนซึ่งตั้งอยู่ใกล้เรือน เราย่อมละเว้นจากการหัวเราะดัง และไม่มัวเมาในความปรารถนาที่แรงกล้าหรือความฉุนเฉียวและในเหตุซึ่งจะเป็นที่ก่อให้เกิดขัดเคือง ดูกรนางสัตยาภามา เป็นความจริง เราย่อมอยู่ปฏิบัติพระสามีทั้งหลายของเราทุกเมื่อ เมื่อห่างจากพระสามีของเราย่อมไม่มีความสุขแก่เรา เมื่อพระสามีจากเคหสถานไป ด้วยไปเยี่ยมพระญาติวงศ์ก็ดี เมื่อนั้นเราย่อมละเลิกประดับด้วยดอกไม้และจุรณ์จันทน์เครื่องหอมทุกอย่าง และเริ่มที่จะรักษาศีลตั้งแต่วันนั้นไป สิ่งไรที่พระสามีเรามิได้ดื่ม สิ่งใดซึ่งพระสามีเรามิได้เสวย สิ่งไรซึ่งพระสามีเรามิได้ทรงยินดี เราได้ละเสียไม่บริโภคและประพฤติสิ่งนั้นเลย ดูกรท่านผู้เป็นหญิงอันงาม กายอันเราแต่งด้วยเครื่องประดับดำรงอยู่ในพระราโชวาทซึ่งพระสามีมีดำรัสสั่ง เราย่อมเสาะแสวงหาความดี อันจะบังเกิดแก่พระสามี โดยความจงรักภักดีมิได้ขาด คำสั่งสอนแห่งพระมารดาของพระสามีที่ได้สั่งสอนแก่เรา ให้บำรุงรักษาพระญาติวงศ์ และที่จะแจกทานและที่จะเคารพต่อเทพดา และเซ่นไหว้ผู้ที่ล่วงไปแล้ว และหุงข้าวในหม้อ ในกำหนดวันอันเป็นสวัสดิมงคลทั้งปวงที่จะได้ถวายต่อต้นพระวงศ์และเลี้ยงแขกซึ่งเป็นที่นับถือและที่ได้รับการงานของเรา และที่ผู้ซึ่งควรจะได้รับความนับถือของเรา การอันใดซึ่งเรารู้ เราย่อมทำทั้งกลางวันกลางคืน ปราศจากความเกียจคร้าน เราตั้งใจประพฤติต่อทางที่ถ่อมกาย และทางที่บัณฑิตย่อมสรรเสริญว่าดี เราย่อมปฏิบัติพระสามีของเราซึ่งเป็นผู้มีพระทัยอันอ่อนและตั้งอยู่ในความสัตย์ปฏิบัติตามทางธรรม โดยสำคัญใจว่าพระสามีเหล่านั้นเหมือนงูที่มีพิษอันร้าย สามารถที่จะทำให้ถึงความอันตรายได้ แม้แต่ด้วยฉกกัดแต่เล็กน้อย เรามาสำคัญใจว่ารากเง่าความดีของผู้หญิงนั้น ย่อมตั้งอยู่ในความที่นับถือของสามี สามีเป็นเทวดาของภรรยาและเป็นที่พึ่งของภรรยา เป็นความจริง ที่พึ่งอื่นของภรรยาไม่มีนอกจากสามี เพราะฉะนั้น ควรแล้วหรือที่ภรรยาจะทำให้เกิดอันตรายแก่สามีแม้แต่เล็กน้อยอย่างไร เรามิได้นอนหรือกินหรือแต่งประดับกายและทำการอันหนึ่งอันใดให้เป็นการขัดต่อพระประสงค์ของพระสามี เราย่อมตั้งอยู่ในความแนะนำของพระสามีทุกเมื่อ เรามิได้กล่าวร้ายต่อพระมารดาของพระสามี ดูกร ท่านผู้เป็นหญิงอันประกอบด้วยสวัสดี พระสามีทั้งหลายของเรากลัวเกรงเราด้วยเหตุที่เราปฏิบัติดีและว่องไว (ไม่เผลอ ไม่เงื่อง) ทั้งความอ่อนน้อมถ่อมกายของเราในการที่จะปฏิบัติท่านผู้เป็นใหญ่กว่า เราย่อมคอยปฏิบัติด้วยตัวเราเองทุกวัน ในการที่จะตั้งเครื่องให้เสวยและถวายเครื่องดื่ม ทั้งพระภูษาแห่งนางกุนติผู้เป็นพระมารดาของท่านผู้กล้าหาญอันเป็นที่นับถือและตั้งอยู่ในความสัตย์ เรามิได้สำแดงอาการที่จะยกตัวข่มนางนั้นด้วยอาหารก็ดี ด้วยเครื่องประดับก็ดี เรามิได้ขัดขวางถ้อยคำแห่งนางผู้นั้น ซึ่งประเสริฐเสมอด้วยแผ่นดินอย่างหนึ่งอย่างใดแต่ก่อนมา พราหมณ์ทั้งหลายที่มาฉันอยู่ในวังยุธิษฐิรวันละ ๘,๐๐๐ คน ล้วนแต่ได้ฉันด้วยภาชนะทองทั้งสิ้น ยังพราหมณ์ที่เรียกว่าสนาตกนิกายก็อีก ๘,๐๐๐ ซึ่งเลี้ยงชีวิตอยู่ในบ้านยุธิษฐิรก็ถวายนางสาวใช้องค์ละ ๓๐ คน ยังนอกนี้โยคีอีก ๑๐,๐๐๐ ซึ่งมีพืชกามอันถอนขึ้นเสียแล้วก็ได้รับอาหารอันบริสุทธิ์ด้วยภาชนะทอง ซึ่งมีผู้นำไปส่งบรรดาพราหมณ์ทั้งหลายซึ่งสาธยายเวท เราย่อมกระทำความเคารพด้วยให้อาหาร และเครื่องดื่ม และเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งขนออกจากที่เก็บ ภายหลังแต่เพียงส่วนที่ถวายวิศวเทวะ[๖]เท่านั้น ท่านผู้ประเสริฐซึ่งเป็นโอรสแห่งนางกุนตินั้น ย่อมมีพระสนมอันแต่งตัวด้วยเครื่องนุ่งห่มอันดี สวมสอดกำไลทองคำทั้งสองข้างและมีเครื่องประดับคออันมีค่า สวมสอดพวงมาลัยทองอันงามวิจิตร ประพรมลูบไล้ด้วยกระแจะจวงจันทน์นับได้แสนนาง และนางซึ่งสอดสวมเครื่องประดับด้วยเพชรพลอยและทองคำเหล่านี้ ย่อมชำนิชำนาญในการที่จะขับร้องฟ้อนรำ เราย่อมรู้จักชื่อรู้จักหน้าหญิงเหล่านี้ทั่วทุกคน และหญิงเหล่านี้จะกินอันใดจะแต่งตัวอย่างไรหรือไม่ได้กินไม่ได้แต่งเราย่อมรู้เสมอมิได้ขาด และท่านผู้เป็นโอรสแห่งนางกุนติผู้มีพระปัญญาอันมากนั้น มีสาวใช้ซึ่งสำหรับเลี้ยงแขก มีมือถือภาชนะทองก็อีกแสนคน และเมื่อยุธิษฐิรเสด็จอยู่ในเมืองอินทรปรัสถ์ มีม้าก็แสนตัว มีช้างก็แสนตัวที่สำหรับติดตามในกระบวนเสด็จ นี่และเป็นพระราชสมบัติของยุธิษฐิรเมื่อพระองค์ปกครองแผ่นดินอยู่ นี่และท่านก็ตัวเราเป็นผู้ซึ่งจำตรวจตราจำนวนคนเหล่านั้น และเป็นผู้ที่จะตั้งข้อบังคับบัญชาคนเหล่านั้น อนึ่งเราเป็นผู้ที่จะรับร้องทุกข์ของคนเหล่านั้น เป็นความจริงเราย่อมรู้การทั้งปวงซึ่งเป็นไปอยู่ในหมู่แห่งพระสนมทั้งปวงในพระราชวัง เป็นต้น ตลอดถึงชนหมู่อื่น ๆ ทั้งปวงเหล่านี้ แม้แต่ฝูงโคฝูงแกะ ซึ่งเลี้ยงอยู่ในคอกหลวงจะดีร้ายอย่างไรก็ต้องเป็นธุระ ดูกร ท่านผู้เป็นนางประกอบด้วยความสวัสดีอันประเสริฐ เราผู้เดียวในหมู่ปัณฑวทั้งปวง ซึ่งจะได้รู้ว่าพระราชทรัพย์ของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งจะได้รับเข้ามาเท่าใดจ่ายออกไปเท่าใด และที่มีอยู่ทั้งสิ้นเท่าใด เหตุด้วยท่านทั้งหลายผู้เป็นโคอุสภราชในหมู่ภารตะทั้ง ๕ นั้น ได้มอบความหนักในการที่จะให้ดูแลเลี้ยงดูด้วยทรัพย์เหล่านั้นไว้แก่ตัวเรา และคนเหล่านั้นย่อมไปมาหาเรามิได้ขาด และภาระอันหนักถึงเพียงนี้ ผู้ซึ่งมีใจชั่วไม่สามารถจะทรงไว้ได้ เราเคยทนมาทั้งกลางวันกลางคืน ละความว่าง ความสบายเสีย ตั้งใจอารีต่อคนเหล่านั้นทั่วหน้า เมื่อพระสามีของเราศึกษาทำทางบริสุทธิ์อยู่ เราผู้เดียวเป็นผู้ดูแลพระราชทรัพย์ในคลังมิให้บกพร่องเหมือนวรุณ ซึ่งคอยเจือจานนํ้าฝนให้ตกอยู่ไม่ขาดทั้งกลางวันกลางคืน สู้ทนอดหิวอดกระหาย เราได้เคยรับใช้ท่านผู้เป็นเจ้าแห่งกุรุรัฐดังนี้ เพราะฉะนั้น กลางคืนและกลางวันของเราก็เสมอกัน เราย่อมตื่นก่อนนอนที่หลังเสมอไม่ขาด นี่และ ดูกร นางสัตยภามาเป็นเสน่ห์ของเราที่ทำให้ผัวกลัวเกรงเรา วิชาอันใหญ่นี้มาปรากฏแก่เรา จึงได้ทำให้ผัวกลัวเกรงเรา เรามิได้ทำเสน่ห์ตามลัทธิของหญิงชั่ว หรือมีความปรารถนาที่จะร่ำเรียนเลย”

ไวศมปายนกล่าวต่อไป “เมื่อนางสัตยภามาได้ฟังถ้อยคำอันเป็นธรรมวิเศษ ซึ่งนางกฤษณาได้กล่าวออกแล้วเบื้องต้น ก็เกิดความเคารพต่อคุณธรรมของเจ้าหญิงแห่งกรุงปัญจาละ แล้วตอบว่า “ดูกรท่านผู้เป็นเจ้าหญิงแห่งกรุงปัญจาละ ข้าพเจ้าได้มีความผิดแล้ว ดูกร ท่านผู้เป็นราชธิดาของยชญเสน[๗] จงงดโทษแก่ข้าพเจ้าเถิด ท่านจงถือว่าในระหว่างคนชอบกัน คำสนทนาเช่นนี้เกิดขึ้นด้วยความหยอกเย้ากันเท่านั้น มิได้เกิดจากตริตรองก่อน”

เมื่อเช่นนั้นวรรคที่ ๒๓๒ แห่งเทราปาทิสัตยภามาสังวาทในวนปรวก็จบลง

วรรคที่ ๒๓๓ เทราปาทิสัตยภามาสังวาทปรวต่อไป เทราปาทิจึงกล่าวว่า “บัดนี้เราจะแนะนำแก่ท่าน ที่จะได้ล่อพระทัยพระราชสามีของท่านให้พ้นจากทางที่พึงติเตียนโดยลัทธิที่สมควร ท่านผู้เป็นสหายที่รักของเรา ท่านจะสามารถที่จะชักโยงพระสามีของท่านมาจากหญิงอื่น ๆ ได้ในโลกทั้งสิ้น ตลอดจนถึงเทวโลก ไม่มีเทพดาองค์ใดที่จะเสมอด้วยสามีแล้ว ดูกร นางสัตยภามา เมื่อเป็นที่ชอบใจในตัวท่านแล้วท่านสามารถที่จะได้จากสามีของท่านนั้นทุกสิ่งซึ่งมีความปรารถนา ถ้าสามีโกรธแล้วสิ่งที่จะได้นั้นก็เป็นอันสูญ ภรรยาจะมีบุตรได้ก็ได้จากสามี ทั้งของต่าง ๆ ซึ่งให้เป็นที่พึงใจก็ได้จากสามี จะได้ที่นอนที่นั่งเครื่องนุ่มห่ม พวงมาลัยเครื่องหอมและชื่อเสียงอันดีทั้งสวรรค์ในเบื้องหน้าก็ย่อมได้ด้วยสามี คนเราที่จะหาความสุขได้ด้วยการง่าย ๆ นั้นไม่ได้ เป็นจริงอยู่ ผู้หญิงซึ่งซื่อตรงต่อสามีย่อมได้ทั้งความสุขความทุกข์ปนกัน เพราะเหตุนี้ จงเคารพกฤษณด้วยน้ำใจที่เป็นสหายและความรักอดทนต่อความลำบากกายทั้งปวงเถิด และท่านจงประพฤติเช่นนี้อีกอย่างหนึ่ง คือ จัดที่นั่งอันงาม พวงมาลัยอันวิเศษและเครื่องหอมต่าง ๆ แล้ว รับใช้ให้ว่องไว (อย่าเผลอ อย่าเงื่อง) กฤษณคงจะมีพระทัยจงรักต่อท่าน ด้วยดำริเห็นว่า นางคนนี้รักเราจริงหนอ เมื่อท่านได้ยินเสียงพระสามีของท่านเสด็จมาถึงทวาร จงลุกขึ้นจากที่นั่ง คอยอยู่ในห้อง เมื่อท่านเห็นพระสามีของท่านเสด็จเข้ามาในห้อง จงเคารพกราบไหว้และเชิญให้ประทับ และจัดนํ้ามาชำระพระบาทโดยทันที ถึงแม้ว่าการอันใดซึ่งพระสามีรับสั่งให้สาวใช้ทำ ท่านจงลุกขึ้นทำเสียเอง จงให้กฤษณเข้าพระทัยอาการแห่งน้ำใจของท่าน และให้ทราบว่าท่านมีความนับถือเป็นอย่างที่สุด ดูกร นางสัตยภามา ถ้อยคำอันใดซึ่งพระสามีรับสั่งต่อหน้าท่าน ถึงแม้ว่าไม่สมควรจะต้องปิดบังก็ดี ก็อย่าให้แพร่งพรายด้วยเหตุว่า เพื่อนภรรยาด้วยกันเขาจะไปทูลแก่วาสุเทวะ[๘] จะเป็นที่รำคาญด้วยตัวท่าน จงเลี้ยงดูผู้ซึ่งเป็นที่รักของพระสามีและผู้ซึ่งมีความจงรักภักดีต่อพระสามีของท่าน และผู้ที่แสวงหาความดีให้พระสามีนั้นจนสิ้นสุดกำลังที่จะทำได้ อีกประการหนึ่งท่านต้องเอาตัวออกห่างจากผู้ที่ไม่ชอบและต่อสู้พระสามี และคิดปองร้ายต่อพระสามี และผู้ซึ่งเคยประพฤติความชั่วอยู่ให้เสมอเป็นนิตย์ จงละวางความโกรธและความประมาท เมื่ออยู่ต่อหน้าผู้ชายจงซ่อนความปรารถนาของท่านโดยนิ่งเสีย ท่านอย่าได้อยู่หรือสนทนาในที่ลับ (กับชายผู้ใด) แม้แต่โอรสของท่านทั้งสอง คือ ปรทยุมน และสามว ท่านจงคบค้าแต่ผู้หญิงซึ่งมีตระกูลสูง และไม่มีบาปและเป็นผู้ซึ่อตรงต่อสามีของเขา ท่านต้องหลบหลีกหญิงซึ่งโทโสร้ายและซึ่งติดดื่มสุราและที่ตะกละตะกลามและที่มักเป็นขโมยและที่ใจร้ายและช่างยอ ความประพฤติเช่นนี้ จะเป็นที่สรรเสริญและเป็นที่นำมาซึ่งความสุข และ เป็นเครื่องระงับความวิวาทบาดหมางและเป็นทางที่จะนำไปสู่สวรรค์ เพราะฉะนั้น ท่านจงเคารพต่อพระสามีของท่านเถิด แต่งตัวท่านด้วยพวงมาลัย และเครื่องประดับอันมีค่า ลูบไล้ด้วยน้ำมันหอมและเครื่องหอมอันประเสริฐเถิด

เมื่อฉะนั้นวรรคที่ ๒๓๓ แห่งเทราปาทิสัตยภามาสังวาทในวนปรวก็จบลง

ข้อความต่อไปนั้นว่าถึงแต่กฤษณวาสุเทพกลับ นางสัตยภามาลานางกฤษณา ก็เป็นคำอำนวยพรและแสดงไมตรี ซึ่งเห็นว่าไม่เป็นการเกี่ยวข้องอันใดที่จะต้องแปล

ในคำแปลถ้อยคำของนางกฤษณาทั้ง ๒ วรรค ที่ข้าพเจ้าแปลมานี้ แปลตรงตามสำนวนภาษาสังสกฤต ซึ่งแปลออกเป็นอังกฤษ บางทีแปลจากสังสกฤตออกเป็นภาษาไทยทีเดียว ถ้อยคำจะเคลื่อนคลาดไปบ้าง ด้วยสังเกตดูผู้แปลหนังสือภารตะนี้ ตั้งใจแก้ถ้อยคำที่ฝรั่งจะเข้าใจยากให้เข้าใจง่ายอยู่บ้าง ด้วยหนังสือเดิมนั้นเขาผูกเป็นคาถาทั้งสิ้น หนังสือที่เป็นคาถามักย่นย่อข้อความ เข้าใจยาก บางทีก็จะยักเยื้องสำนวนเสียบ้าง คงไว้แต่รูปความ อีกประการหนึ่ง บางคำที่เขียนในภาษาอังกฤษไกลกันกับภาษาสังสกฤต เช่น ชื่อของผู้แปลนี้เอง เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “โปร ตัปจันตรรอย” แต่เมื่ออ่านในตัวเทวะนาครีเป็น “ปรตาปจันทรราชา” ถ้าจะผิดพลั้งเช่นนี้บ้างอย่างไร ไม่ทราบเลย แต่คงไม่เสียความ

อนึ่ง การที่แปลหนังสือตามสำนวนเช่นนี้ ไม่สู้สนิทในหูไทย ถ้าเป็นผู้ที่เล่าเรียนภาษามคธอยู่คงจะเข้าใจง่าย ถ้าไม่ได้เล่าเรียน ฟังผิดสำนวนไทย ก็จะเป็นอันแปลอย่างชาวต่างประเทศ แต่ความประสงค์ของข้าพเจ้าที่แปลตามสำนวนเขาเช่นนี้นั้นเพื่อจะให้ผู้ซึ่งชอบพิจารณาสำนวนหนังสือ ได้ฟังสำนวนโวหารแห่งคัมภีร์ภารตะ การที่จะแปลลงให้ไพเราะในภาษาไทยนั้นไม่ยากอันใด เพราะเป็นภาษาของเราเอง แต่ถึงว่าเป็นสำนวนเช่นนี้ ถ้าอ่านพิจารณาสักเล็กน้อย ก็จะเข้าใจความได้ตลอด

ให้เทียบดูข้อความที่แปลนี้กับคำฉันท์ ก็เห็นว่าหมวดแห่งข้อความที่กล่าวลงกันหลายหมวด แต่คำฉันท์ขาดข้อความที่มีในคำแปลนี้เสียหลายหมวด ไปมีภรรยา ๗ สถาน ลักษณะหญิงม่าย ซึ่งมีอยู่ในคัมภีร์ข้างพุทธศาสนาเพิ่มเติมลงเห็นว่าที่เป็นดังนี้ก็จะเป็นเพราะฉบับเดิมขาดกะร่องกะแร่งมาแล้ว เมื่อกรมสมเด็จพระปรมานุชิตทรงแต่ง ท่านจึงทรงเก็บเรื่องต่าง ๆ ซึ่งว่าถึงผู้หญิงมารวบรวมปรุงลงในคำฉันท์นั้นจึงได้ดูต่างกันไป อีกประการหนึ่ง ที่ว่าในคำฉันท์นั้นเป็นลักษณะคนไทยแท้ มีกินหมาก และเป็นไทยผู้ดีอย่างเก่า คือ ไม่ให้นุ่งโจงกระเบนกลางถนน เพราะแต่งเป็นสำนวนให้ไทยฟังเช่นนี้ มาถูกเข้ากับที่ข้าพเจ้าแปลตามสำนวนฮินดู จึงได้ดูห่างกันไปมากอีก ยิ่งคำกลอนที่แต่งขึ้นใหม่แล้ว ความเข้าใจของผู้ที่แต่งกลอน ไม่พอกับคำฉันท์ที่ท่านแต่งไว้แต่เดิมด้วยคำฉันท์ที่ลงพิมพ์นั้นก็ผิดเป็นอันมากด้วย ซ้ำแก้เป็นโวหารใหม่ด้วย ก็ดูยิ่งห่างหนักไปอีก

แต่ข้าพเจ้าขอตักเตือนให้ท่านผู้ต้องการทราบ ได้หยิบข้อหนึ่งขึ้นพิจารณาปรับให้เป็นฮินดู อย่าให้นึกว่าเป็นไทยก็คงจะได้พบข้อที่ต้องกันหลายข้อ แต่ที่จะเป็นแน่แท้ว่ามาแต่ครูข้างพราหมณ์ หรือมาข้างพุทธศาสนานั้น แล้วแต่จะพิจารณาเห็นเถิด

เกาะสีชัง

วันที่ ๑๓ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๘



[๑] สฺยมพรนี้ ตามที่เข้าใจกันตื้นๆ อย่างไทยมักจะนึกว่าเหมือนกับคำว่าวิวาหะหรืออาวาหะ แต่ที่แท้ไม่ใช่เลย เป็นการเลือกคู่อย่างนางรจนาทิ้งพวงมาลัยนั้น คือสฺยมพรแท้ เมื่อจะแปลคำนั้น สยังวรก็ว่าเลือกตามใจ วิวาหะ อาวาหะ ต่างหาก

[๒] เทราปาทิ นั้น เอาคำสระสำหร้บใช้ในที่กล่าวถึงว่าเป็นของผู้นั้น ผู้นี้ อิสระสำหรับอิตถีลึงค์ เทราปาทิ คือว่าเป็นลูกของทรุปาทเป็นคำเรียกนางกฤษณานั้นเอง

[๓] ผู้นี้เป็นศิษย์ของไทวปายน ซึ่งปรากฏชื่อว่า วิยาส เพราะเป็นผู้แต่งคัมภีร์เวทและมหาภารตะ ศิษย์ผู้นี้เป็นหน้าที่จำทรงคัมภีร์มหาภารตะมาเล่าถวายพระเจ้าชนฺเมชย ซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินวงศ์เการวฟังในเวลาบุชายัญ

[๔] ยทุเป็นวงศ์แห่งกฤษณวาสุเทวะ

[๕] คือชื่อนางกุนติ ซื่งเป็นพระราชมารดาปัณฑว

[๖] ความประสงค์ที่นางกฤษณาจะกล่าวนั้นว่ามิได้เอาของที่เป็นเดนเหลือไปให้ คือ อาหารก็ดี เครื่องดื่มก็ดี เครื่องตกแต่งก็ดี จัดออกมาบูชาเทวดาแล้วก็ให้พราหมณ์พวกนี้ทีเดียว เทวดาวิศวเทวะนี้เป็นเทวดาหมู่หนึ่งซึ่งพวกฮินดูบุชาเซ่นสรวงอยู่เสมอทุกวัน

[๗] คือชื่อแห่งทรุปาท

[๘] คือกฤษณนั่นเอง

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ