๗ ประกาศว่าด้วยสังฆทาน

(คัดจากหมายรับสั่งเดือน ๙ ปีชวด จุลศักราช ๑๒๑๔)

ศิริศุภมัศดุ อดีตกาลพุทธศักราชชไมยสหัสสสังวัจฉระไตรสตาธฤกบัญจนวุติสังวัจฉระ ปัตยุบันกาลมุสิกสังวัจฉระ อาสาธมาสศุกรปักษ์ปัญจมีดฤศดิวาร ปริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์ว่าพระบาทสมเด็จพระบรมนารถบรมบพิตร พระเจ้าอยู่หัวทั้งสามพระองค์ซึ่งได้เสวยสิริราชสมบัติมาแต่ก่อน ในกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศมหาสถานนี้ ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ให้ทำโภชนทานถวายแก่พระภิกษุมีพระราชาคณะเปนประธานบางพระองค์ ได้ถวายในวันอุโบสถวันละ ๒๐ องค์ แลได้ทรงพระราชทานถวายด้วยมคธภาษาว่า “พุทฺธปฺปมุขสฺส ภิกฺขุสงฺฆสฺสนิยาเทม” สมมตว่าเปนสังฆทานเสมอมิได้ขาด เว้นไว้แต่วันในพระราชพิธีตรุษสารทแลวันเข้าพรรษาออกพรรษาวันวิสาขบูชาวันสงกรานต์ แลวันซึ่งมีการพระราชกุศลอื่นต่างหาก จากพระราชกุศลโดยปรกติ เมื่อทรงพระราชทานโดยว่าเปนสังฆทานดังนี้ พระภิกษุซึ่งเปนที่ ๒ รองพระราชาคณะลงมาก็ต้องอปโลกด้วยมคธภาษาว่า”อยํ ปฐมภาโค มหาเถรสฺส ปาปุณาติ อฺวเสสา ภาคา อมฺหากํ ปาปุณฺนติ” เปนความลำบากแก่พระภิกษุซึ่งเปนผู้อปโลกนั้น อนึ่งทรงพระราชดำริห์เห็นว่าการซึ่งถวายสังฆทานดังนี้ ถ้าจะเทียบคู่กับพระบาลีอรรถกถาฏีกาก็หาถูกต้องโดยสนิทไม่ เมื่อว่าที่แท้ก็เปนปาฏิกบุคลิกทานแต่อ้างว่าเปนสังฆทานเท่านั้น จึงมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งให้นิมนต์สมเด็จพระวันรัตน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระศรีวิสุทธิวงศ์มาพร้อมกันณพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ในพระบรมมหาราชวัง มีพระบรมราชโองการดำรัสเล่าพระกระแสพระราชดำริห์ให้ฟัง แล้วนิมนต์ให้สมเด็จพระวันรัตน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระศรีวิสุทธิวงศ์ ลงไปเฝ้าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสศรีสุคตขัติยวงศ์ กราบทูลโดยกระแสพระราชดำริห์ทั้งปวงนั้นให้ทรงทราบ เมื่อปฤกษาเห็นพร้อมกันว่าซึ่งกระแสพระราชดำริห์นั้นชอบแล้ว จะได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ออกบำเพ็ญพระราชกุศลในวันปรกติแลวันอุโบสถด้วยโภชนทานสืบไปในเบื้องน่า

จึงพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระวันรัตน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระศรีวิสุทธิวงศ์ พร้อมกันเห็นว่า ซึ่งข้อพระราชดำริห์ทั้งปวงนั้นชอบแล้ว ต้องตามพระบาลีอรรถกถา ด้วยสังฆทานที่พระผู้มีพระภาคตรัสเทศนาในทักขิณาวิภังคสูตรมี ๗ ประการ แลบิณฑบาตรทานส่วนพระราชกุศลนี้ก็เปนสังฆคตาทักขิณาที่ ๖ ที่จำแนกในพระบาลีว่า “เอตฺตเก เม ภิกฺขู ภิกฺขุสงฺฆโต อุททิสฺสถาติ ทานํ เทติ” ดังนี้ ในพระวินัยเล่าก็สมกับพุทธานุญาตว่า “อนุชามามิ ภิกฺขเว สํงฺฆภตฺตํ ฯลฯ ปาฏิปาทิกํ” ดังนี้ คำพระอรรถกถาก็ได้แสดงว่า”รญฺโญ หิ ราชมหามตฺตสฺส วา เคเห อติปณีตานิ อฏฺ อุทฺเทสภตฺตานิ นิจฺจํ ทิยนฺติ ตานิ เอกวาริกภตฺตานิ กตฺวา ภิกฺขู วิสุํิติกาย ปริภุญฺชนฺติ” อนึ่งคัมภีร์ที่โบราณาจารย์รจนาไว้อย่างธรรมบทแลมหาวงศ์เปนต้น ก็มีนิทานว่านางศิริมาได้ถวายอัฏฐกภัตรแก่ภิกษุสงฆ์วันละ ๘ องค์ ภัตตุทเทสกภิกษุสำแดงภิกษุให้ไปแต่สงฆ์รับอัฏฐกภัตรในเรือนนางศิริมานั้นทุกวัน แลมีนิทานว่าพระเจ้าอโศกมหาราช แม้เมื่อทรงเลื่อมใสในนิโครธสามเณรนั้น ก็ได้ทรงถวายอัฏฐกภัตรก่อน ด้วยคำที่มาในคัมภีร์ต่างๆ เห็นถูกต้องกับด้วยพระราชดำริห์ซึ่งทรงปฏิบัติครั้งนี้เปนธรรมานุธรรมปฏิบัติบูชา ต้องตามพระพุทธประสงค์ เปนอุภโตวิสุทธิทักขิณาอปริมาณคุณวิบุลยผลอย่างอุกฤษฐ์ สมควรจะเปนกัลยาณวัตรสืบไปโดยราชประเพณี ควรที่พระราชาคณะเถรานุเถระทั้งปวงทุกพระองค์ในอารามหลวงจะคิดฉลองพระเดชพระคุณ รักษาพระราชศรัทธาให้เจริญพระราชกุศลโดยสัมมาปฏิบัติ แล้วจงได้รู้กำหนดพระราชประสงค์ว่า ตั้งแต่นี้ไปในพระบรมมหาราชวังจะทรงตั้งอัฏฐกภัตรไว้เปนสังฆทานวันละ ๘ ส่วน เปนปุคลิกทานวันละ ๒ ส่วนทุกๆ วันเปนปรกติในวันอุโบสถเดือนละ ๔ ครั้ง จะทรงถวายอุโบสถิกภัตรเพิ่มขึ้นอิก ๑๐ ส่วน เปนนิพัทธพระราชกุศลเสมอไปมิได้ขาด เว้นไว้แต่พระราชพิธีตรุษสารท สงกรานต์ วิสาขบูชา เข้าพรรษา ออกพรรษา ถวายไตรปี ฉลองไตรปี แลวันนักขัตฤกษ์อื่นๆ ซึ่งมีการพระราชกุศลวิเศษแปลกไปกับคราวเมื่อพระราชธุระมีประการใดๆ บ้าง ซึ่งจะมิได้เปนช่องแก่การบำเพ็ญพระราชกุศลอันนี้ ให้พระราชาคณะ พระครูในวัดเดิมวัดขึ้นทุกพระอารามหลวง จงได้รู้ว่าอัฏฐกภัตรทานซึ่งทรงพระราชอุทิศถวายนั้นแด่พระสงฆ์ในวันเดิมวัดขึ้น ที่มีพระราชาคณะพระครูอยู่ครอบครองทุกพระอารามหลวง ๕๔ พระอารามในเขตรกรุงเทพฯ มหานครนี้ แลจะทรงถวายปาฏิปุคลิกทานเฉพาะพระราชาคณะ พระครูผู้ใหญ่ซึ่งมีกำหนด ๘๔ องค์ด้วย แลในพระอารามใดมีพระราชาคณะฤๅพระครูแต่องค์เดียว เว้น ๘๓ วัน สังฆภัตรทานเวนหนึ่งนิมนต์พระสงฆ์ในอารามนั้น ๘ รูปมารับ กับให้มีพระราชาคณะ ๑ ถานานุกรม ๑ เปนประธานนำมาด้วย ถ้ามีพระราชาคณะ ๒ องค์เว้น ๘๒ วันสังฆภัตรทานจะถึง ๒ เวน นิมนต์พระสงฆ์ในพระอารามนั้นจัดแจงกันดังว่าแล้วมารับวันละ๑๐ องค์ๆ ถ้าพระราชาคณะมี ๓ องค์ ๔ องค์ ๕ องค์ สังฆภัตรทานก็ถึงมากวันขึ้นไปเปน ๓ เวน ๔ เวน ๕ เวน ให้พระสงฆ์จัดแจงกันอย่างก่อนมารับวันละ ๑๐ ๆ ตามพระราชาคณะที่มีมากน้อยให้เปนนิจไปดังนี้ตามวันปรกติ เมื่อพระอารามใดต้องวันอุโบสถวันใดวันหนึ่ง ก็ให้พระสงฆ์ในอารามนั้นๆ จดแจงเพิ่มขึ้นอิก ๑๐ องค์ผสมกับเดิม ๑๐ เปน ๒๐ องค์ มารับอุโปสถิกภัตรด้วย แต่พระสงฆ์ในอารามหลวงทั้งปวงซึ่งจะได้รับหารบิณฑบาตรทานส่วนพระราชนิพัทธกุศลนั้น จึงได้ประชุมสงฆ์ในพัทธสิมาแล้ว ปฤกษาขอพระภิกษุผู้สามารถพร้อมองค์ ๕ ประการ คือมิได้ลุอำนาจแก่ฉันทาคติ ๑ โทสาคติ ๑ ภยาคติ ๑ โมหาคติ ๑ กับมีปรีชาญาณรอบรู้ว่าสำแดงแล้วแลมิได้สำแดง ๑ จัดแจงผลัดเปลี่ยนพระสงฆ์ผู้ใหญ่ผู้น้อยซึ่งควรจะเข้าไปรับส่วนโภชนาทานในพระราชฐานนั้น แล้วจึงสวดสมมติภัตตุทเทศกะให้สำเร็จ ด้วยญัติทุติยกรรมวาจา โดยบรมพุทธานุญาตในท้ายเสนาสนขันธ์ ว่าดังนี้ “สุณาตุ เม ภนฺเต สํโฆ ยทิ สํฆสฺส ปตฺตกลฺลํ สํโฆ อิตฺถนฺนามํ ภิกฺขุํ ภตฺตุทฺเทสกํ สมฺมนฺเนยฺย เอสา ญตฺติ สุณาตุ เม ภนฺเต สํโฆ อิตฺถนฺนามํ ภิกฺขุํ สมฺมนฺนติ ยสฺสา ยสฺมโต ขมติ อิตฺถนฺนามสฺส ภิกฺขุโน ภตฺตุทฺเทสโก ขมติ สํฆสฺส ตสฺมา ตุณฺหี เอสฺเมตํ ธารยามิ” ภิกษุองค์นั้นจะได้เปนพนักงานสำหรับจัดแจงสังฆภัตร ให้ถึงแก่ภิกษุในอารามตามลำดับพรรษา แลฐิฏิกาที่จะพึงผลัดเปลี่ยนไปโดยวินัยนิยมนั้นๆ สองพระเดชพระคุณรักษาพระราชศรัทธาให้เจริญพระราชกุศลตามพระราชดำริห์ทุกพระอาราม ตามข้อวินัยกติกาซึ่งประกาศมานี้ เทอญ ฯ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ