๓ ประกาศเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม

(คัดจากหมายรับสั่งเดือน ๔ ปีกุญตรีศก จุลศกราช ๑๒๑๓)

ด้วยเจ้าพระยายมราชรับพระบรมราชโองการใส่เกล้าใส่กระหม่อมทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสั่งว่า ทุกวันนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเศกแล้ว ตั้งพระไทยจะทรงทำนุบำรุงพระบวรพุทธสาสนารักษาไว้ซึ่งเขตรขัณฑเสมาแลอาณาประชาราษฎรไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้อยู่เย็นเปนศุขทั่วไป แลพระราชหฤไทยทรงพระปรารภว่าราษฎรเดือดร้อนเปนความกันค้างโรงศาลอยู่แต่ก่อนบ้างครั้งนี้บ้างมีอยู่เปนอันมาก แลตุลาการผู้พิพากษาผู้ปรับหาพิจารณาความราษฎรให้สำเร็จเด็ดขาดแล้วโดยเร็วไม่ ราษฎรได้ความเดือดร้อนป่วยการทำมาหากินแลขาดราชการงานโยธา

จึงมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่าให้เจ้าพระยายมราชลูกขุนณศาลามาเปนแม่กองช่วยลูกขุนณศาลหลวงผู้ปรับกับตุลาการทั้งปวงพิจารณาว่ากล่าวบังคับบัญชาตัดสินความของราษฎรที่ค้างโรงศาลอยู่เก่าใหม่นั้นให้สำเร็จเด็ดขาดแล้วโดยเร็ว ราษฎรจะได้ไปทำมาหากินเลี้ยงชีวิตสืบไป เจ้าพระยายมราชทราบความอยู่ว่าตุลาการพิจารณาความแล้วบ้างยังบ้าง ตุลาการเสมียนผู้คุมเรียกค่าฤชาธรรมเนียมกับคู่ความล้ำเหลือไป ฝ่ายคู่ความหารู้อย่างธรรมเนียมไม่ยอมให้ไป บางทีตุลาการเสมียนผู้คุมเรียกเอาค่าฤชาธรรมเนียมโจทย์จำเลยไว้มากแต่ยังหาครบไม่ ฝ่ายตุลาการเสมียนผู้คุม ว่าได้ค่าฤชาธรรมเนียมนั้นน้อยเปนความเถียงกัน ครั้นคู่ความจะว่ากล่าวให้เห็นจริงให้ได้ ก็อยู่ในกลัวอำนาจตุลาการเสมียนผู้คุมจำใจต้องเสียให้อิก บางทีตุลาการได้ตัวคนร้ายผู้ทำผิดเปนเสี้ยนหนามแผ่นดินมาพิจารณารับเปนสัจซัดพวกเพื่อน ครั้นได้ตัวพวกเพื่อนมาจำตรวนไว้พิจารณายังหาได้ความจริงตามซัดไม่ นายพะธำมรงค์ผู้คุมเรียกเอาค่าธรรมเนียมลดขื่อ ๑ บาท น้ำมัน ๒ สลึง ร้อยโซ่ ๒ สลึง ถอด ๑ บาท ๒ สลึง ตรวจ ๒ สลึง รวม ๑ ตำลึง บางทีโจทย์ฟ้องหากล่าวโทษให้เรียกจำเลยก็ดี ผู้ร้ายรับเปนสัจซัดพวกเพื่อนก็ดี ตุลาการได้ตัวจำเลยผู้ต้องซัดมาพิจารณาไม่เปนสัจ ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมให้กับตุลาการไปดังนี้ ก็เปนที่ราษฎรได้ความเดือดร้อนหาควรไม่ เจ้าพระยายมราชพร้อมด้วยลูกขุนณศาลหลวงเชิญพระราชกำหนดบทพระอัยการในหอหลวงซึ่งว่าด้วยค่าฤชาธรรมเนียมออกมา มีเนื้อความว่าถ้าเปนความรับสั่งในพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีตุลาการชำระเอาความจริง ตุลาการพิจารณาเสร็จสำนวน โจทย์ควรต้องเสียค่าสั่ง ๑ ตำลึง เชิงประกัน ๑ ตำลึง เทียบ ๑ บาท ชี้สองสถาน ๒ สลึงเฟื้อง สืบพระยาน ๑ บาท ๒ สลึง ชัณสูตร ๑ บาท ๒ สลึง เบี้ยเลี้ยง ๑ สลึง คัดทูล ๑ บาท ๒ สลึง ใส่บท ๓ บาท ปฤกษาชี้ขาด ๒ บาท ๓ สลึง รักษาสำนวนเดือนละ ๑ บาทเอาแต่ ๓ เดือน ๓ บาท รวม ๕ ตำลึง ๓ บาทเฟื้อง ให้เรียกค่าฤชาฝ่ายจำเลยทุกสำนวน ๆ ละ ๔ ตำลึง ๓ บาทเฟื้อง ยกแต่ค่ารับสั่ง ๑ ตำลึง ถ้ามีพระบรมราชโองการแลพระบวรราชโองการโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้ลงพระราชอาญาจำถามจำเลยแลโจทย์ผู้พิรุธให้ว่าความกันจนเสร็จแล้ว ตุลาการกราบทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พ้นโทษ ให้เรียกค่าทูลฉลอง ๓ ตำลึง รับสั่ง ๒ ตำลึง รวม ๕ ตำลึง ให้ผู้ต้องจำช่วยกันเสียอย่าให้เรียกเรียงตัว ถ้าความผิดโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พิจารณามิให้ลงพระราชอาญาจำ ให้เสียค่าฤชาธรรมเนียมตามรูปความซึ่งได้พิจารณา อย่าให้เรียกค่าทูลฉลองค่ารับสั่งเปนอันขาด ถ้าโจทย์จำเลยมีคำให้เรียกค่ารับคำ ๒ สลึงเฟื้อง ค่าปฤกษา ๒ สลึงเฟื้อง ถ้าติงฤๅทุเลาคำปฤกษา ให้ตุลาการเรียกค่าทุเลาติงอย่างละ ๒ สลึงเฟื้อง ถ้าทุเลาติงนั้นชอบ อย่าให้เรียกค่าทุเลาค่าติงเลย ถ้าทุเลาติงไม่ชอบจึงให้เรียกเอาตามอย่างธรรมเนียม ถ้าผู้มีคดีมาฟ้องศาลาให้จ่าศาลเรียกค่ารับฟ้อง ๒ สลึง ศาลหลวงให้จ่าศาลเรียกค่ารับฟ้อง ๒ สลึง พระราชพินิจจัยอ่านฟ้องเสนอเรียกเอา ๑ บาท ถ้าหัวพันมหาดไทย หัวพันกลาโหมเอาฟ้องมาเสนอเรียกเอา ๑ บาท ถ้าฟ้องตกถึงศาลโจทย์ต้องเสียค่าหมายเกาะจำเลย ตราตุลาการ ๒ สลึง เขียนหมาย ๒ สลึง เดินหมาย ๒ สลึง รวม ๑ บาท ๒ สลึง ค่าส่งตัวจำเลยให้กับนายผู้ส่ง ๑ บาท ๒ สลึง รวมทั้งหมด ๓ บาท ถ้าความแพ่งประทับพิจารณาเถ้าแก่แล้วกัน ให้ตุลาการเรียกค่าเชิงประกัน ๑ บาท ยอม ๓ สลึง รักษายอม ๑ บาท ปฤกษายอม ๒ สลึงเฟื้อง รวม ๓ บาทสลึงเฟื้อง ข้างละเท่านี้ ถ้าความแพ่งประทับพิจารณา ให้ตุลาการเรียกค่าฤชาเชิงประกัน ๒ บาท ที่นั่งวงกาสลึงเฟื้อง สืบพยาน ๑ บาท ๒ สลึง ชัณสูตร ๑ บาท ๒ สลึง เบี้ยเลี้ยงเฟื้อง ๑ ชี้สองสถาน ๒ สลึงเฟื้อง รักษาสำนวน ๓ บาท คัดกระทงแถลง ๑ บาทสลึง ชี้ขาด ๑ บาทสลึงเฟื้อง ใบสัจ ๑ บาท ๒ สลึง ทุเลา ๒ สลึงเฟื้อง ติง ๒ สลึงเฟื้อง รวม ๓ ตำลึง ๓ บาท ข้างละเท่านี้ แต่สิบหยิบหนึ่งเอากับผู้ได้ ถ้าความนครบาลความอาญาให้เรียกค่าเชิงประกัน ๑ ตำลึง นอกจากนั้นเรียกเท่ากับความเพ่ง ถ้าโจทย์หาว่าจำเลยเปนผู้ร้ายแลผู้ร้ายซัดพวกเพื่อนๆ รับเปนสัจแล้ว จึงให้ตุลาการเรียกค่าฤชาธรรมเนียมตรางแลทิม ค่าลดขื่อ ๑ บาท ร้อยโซ่ ๒ สลึง ตรวจ ๒ สลึง น้ำมัน ๒ สลึงถอด ๑ บาท ๒ สลึง รวม ๑ ตำลึง ถ้าพิจารณาจำเลยผู้ต้องซัดไม่เปนสัจ ห้ามอย่าให้ตุลาการนายพะธำมรงค์นายผู้คุม เรียกเอาค่าฤชากับค่าธรรมเนียมตรางแลทิมเปนอันขาด

อนึ่งโจทย์หาจำเลยแลผู้ร้ายรับเปนสัจซัดพวกเพื่อนจำเลยพวกเพื่อนผู้ต้องซัดไม่เปนสัจ ให้โจทย์ผู้ต้องซัดเสียเงินค่าฤชาธรรมเนียมตรางแลทิมแทนจำเลยแลผู้ต้องซัด เพราะเหตุว่าตนกล่าวโทษแลซัดท่านไม่จริง เจ้าพระยายมราชทราบความตามพระราชกำหนดบทพระอัยการแล้ว ให้หมายประกาศแก่ตุลาการเสมียนผู้คุมอาณาประชาราษฎรในกรุงนอกกรุงให้จงทั่ว ถ้าโจทย์จำเลยเอาเงินค่าฤชามาเสียให้แก่ตุลาการ ให้ตุลาการจดหมายปิดตราให้กับคู่ความว่าได้ค่าฤชาของผู้นั้นไว้เท่านั้นเปนสำคัญ คู่ความกับตุลาการจึงจะไม่ได้วิวาทเถียงกันต่อไป ถ้าตุลาการเสมียนผู้คุมเรียกค่าฤชาธรรมเนียมกับโจทย์จำเลยเหลือเกินผิดจากหมายประกาศไว้นี้ตั้งแต่ ๑ เฟื้องขึ้นไป พิจารณาเปนสัจ จะเอาบันดาศักดิ์ตุลาการเสมียนผู้คุมตั้งปรับไหมให้กับลูกความผู้ต้องเสียเงินนั้นตามพระราชกำหนดบทพระอัยการซึ่งมีมาแต่ก่อน แลซึ่งประกาศมาครั้งนี้ก็ตาม กระแสพระบรมราชโองการให้จัดแจงไปตามธรรมเนียมพระราชกำหนดเก่าไปก่อนนั้นพลาง แต่ในพระราชดำริห์นั้นก็ยังทรงเห็นอยู่ว่าลูกขุนแลขุนศาลก็เปนข้าทูลลอองธุลีพระบาทรับเบี้ยหวัดทุกปีแล้ว จะมีธรรมเนียมให้มาเรียกร้องค่าธรรมเนียมแก่ลูกความซึ่งมีความทุกข์คับแค้นคนจนนั้นทำอะไรหนักหนาอิกเล่า ยังทรงพระราชดำริห์อยู่ว่าจะเพิ่มเติมเบี้ยหวัดแก่ลูกขุนตุลาการขุนศาลทั้งปวงให้พอเลี้ยงชีวิตทำราชการสนองพระเดชพระคุณในที่ปฤกษาแลชำระความด้วยกรุณาแก่ราษฎรอย่างเดียว แล้วจะให้ลดฤๅเลิกค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงเสียอิก แต่การพระราชดำริห์จะบัญญัติยังไปไม่ตลอด เพราะราชการอื่นๆ ที่จะต้องทรงจัดแจงก่อนนั้นมีมากนัก หามีช่องที่จะทรงพระราชดำริห์ตริตรองปฤกษากับพระบรมวงศานุวงศ์แลเข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ให้ตกลงกันใม่ จึงโปรดให้ใช้ยั่งยืนตามธรรมเนียมพระราชกำหนดเก่าไปก่อน แล้วจึงจะทรงพระราชดำริห์ผันผ่อนต่อภายหลังให้ตลอดไปทั้งกรุงนอกกรุง

หมายประกาศพระราชบัญญัติพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ลงหนังสือพิมพ์ณวันศุกร เดือน ๔ ขึ้นค่ำ ๑ จุลศักราช ๑๒๑๓ ปีกุญตรีศก ฯ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ