พระราชนิพนธ์
หนังสือหลักราชการ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระราชนิพนธ์ แลพิมพ์พระราชทานแจกข้าราชการ
ในการพระราชพิธีตะรุษะสงกรานต์
พระพุทธศักราช ๒๔๕๗
----------------------------
ในสมัยปัตยุบันนี้ ใคร ๆ ก็ย่อมทราบอยู่แล้วว่า การศึกษาจำเริญขึ้นมากกว่าในเวลาก่อน ๆ นี้เป็นอันมาก และมีตำหรับตำราสำหรับสอนศิลปะแลวิทยาแทบทุกอย่าง เหตุฉนี้จึงทำให้คนบางจำพวกหลงไปว่า “รู้อะไรก็ไม่สู้รู้วิชา” และด้วยความหลงอันนี้จึงเลยทำให้หลงเลยนึกต่อไปว่า ไม่ว่าจะทำการในน่าที่ใด ๆ ข้อสำคัญมีอยู่อย่างเดียวแต่เพียงจะพยายามให้ได้คะแนนมาก ๆ ทุกคราวที่สอบไล่ในโรงเรียนและให้ได้ประกาศนิยบัตรหลาย ๆ ใบ แล้วพอออกจากโรงเรียนก็เป็นอันจะไม่ต้องพยายามทำอะไรอีกต่อไป ทั้งลาภ ทั้งยศ ทั้งทรัพย์ จำจะต้องหลั่งมาไหลมาทีเดียว
บุคคลจำพวกที่คิดเห็นว่าวิชาเปนแก้วสรรพัดนึกเช่นนี้ เมื่อเข้าทำการแล้วถ้าแม้นไม่ได้รับตำแหน่งอันสูงเพียงพอแก่ที่ตนตีราคาของตนไว้ และลาภยศทรัพย์หลั่งไหลมาไม่ทันใจ ก็บังเกิดความหลากใจ แล้วก็บังเกิดความไม่พอใจ เมื่อไม่พอใจแล้วก็บังเกิดความฤษยา เมื่อเกิดความฤษยาขึ้นแล้วก็หมดความสุข
แท้จริงบุคคลจำพวกนี้ลืมนึก หรือไม่เคยนึกทีเดียวว่า มีสุภาษิตโบราณท่านได้กล่าวไว้แล้วว่า “วิชาท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” คำที่ท่านกล่าวไว้เช่นนี้ควรที่จะหวลคำนึงดูบ้างว่า ท่านมุ่งความว่ากระไร ? ท่านย่อมมุ่งความว่า วิชานั้นเปรียบเหมือนเครื่องแต่งตัว ซึ่งใครมีทุนแล้วก็อาจจะหาแต่งได้เท่ากัน แต่ถึงแม้ว่าจะนุ่งหางหงส์ผัดหน้าใส่ชฎาทอง ถ้าแม้ว่ารำไม่งามเขาก็ไม่เลือกเอาเปนตัวอิเหนาเปนแน่ละ ถ้าคนเราต้องการแต่วิชาอย่างเดียวเปนเครื่องนำไปสู่ความเปนใหญ่ ป่านนี้พวกครูบาอาจารย์ทุกคนคงต้องเปนคนใหญ่คนโตไปด้วยกันหมดแล้ว แต่แท้จริงศิษย์ที่ดีกว่าครูมีถมไป ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วไม่ควรที่จะเปนไปได้ เพราะครูเปนผู้สอนวิชาให้แก่ศิษย์ เหตุใดศิษย์จึงจะวิ่งไปดีกว่าครูเล่า ถ้าลองไตร่ตรองดูข้อนี้ให้ดีหน่อยจะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เพราะวิชาอย่างเดียวเสียแล้ว ต้องมีคุณวิเศษอื่นประกอบด้วยอีก คุณวิเศษเหล่านี้ จะขอพรรณนาแต่พอเปนสังเขป ดังต่อไปนี้
๑. ความสามารถ
คำว่าสามารถนั้น มีบางคนก็เข้าใจกว้าง ๆ บางคนก็เข้าใจแต่แคบ ๆ อย่างที่แคบคือใครทำการได้ดีเต็มตามวิชาที่ได้เรียนรู้มาแล้ว ก็เรียกว่าเปนคนที่มีความสามารถเสียแล้ว แต่แท้จริงควรจะใช้คำว่าชำนาญจะเหมาะกว่า เปรียบเหมือนช่างไม้ ช่างเหล็ก หรือช่างอะไร ๆ ที่ทำงานดี ๆ ก็หากล่าวไม่ว่าเขาสามารถ มักกล่าวแต่ว่ามีฝีมือดี และผู้ที่ขี่ม้าขับรถเก่ง ๆ ก็หากล่าวไม่ว่าเขาสามารถ กล่าวแต่ว่าเขาชำนาญ แต่ที่ผู้ที่ได้รอบรู้วิทยาการอย่างใดอย่าง ๑ แล้ว และใช้ความรู้นั้นโดยอาการอันช่ำชอง มักกล่าวกันว่าเขาสามารถ ซึ่งเปนการส่งเสริมเกินกว่าที่ควรไปโดยแท้ อันที่จริงผู้ที่ได้เรียนการช่างไม้จนทำการในน่าที่ของเขาได้ดีทุกสถานแล้ว ไม่เลวไปกว่าผู้ที่ได้เรียนกฎหมายจนว่าความได้นั้นเลย เปนแต่ชำนาญการคนละอย่างเท่านั้น แต่ถ้าจะแปลคำสามารถให้กว้างออกไป ต้องแปลว่าสิ่งซึ่งกระทำให้ความเปนใหญ่มีมาแด่ผู้ที่มีอยู่ และจะแปลให้ดีกว่านี้ก็ยาก เพราะความสามารถเปนสิ่งซึ่งมิได้อยู่ในตำหรับตำราอันใด และจะสอนให้แก่กันก็หาได้ไม่ ย่อมจะเปนสิ่งซึ่งบังเกิดขึ้นในตัวบุคคลเอง หาใช่เพาะขึ้นโดยหาคะแนนมาก ๆ ในเวลาสอบไล่ในโรงเรียน หรือโดยได้ประกาศนียบัตรหลาย ๆ ใบก็หามิได้ การแปลคำว่าสามารถแคบไปนั้นแหละ ทำให้เปนเครื่องบำรุงความโทมนัสแห่งบุคคลบางจำพวกเปนอันมาก คำว่าสามารถควรจะแปลเสียให้กว้างทีเดียวว่า “อาจจะทำการงานให้เปนผลสำเร็จได้ดียิ่งกว่าผู้ที่มีโอกาศเท่า ๆ กัน” เช่นต่างว่าคน ๒ คน ได้เรียนหนังสือโรงเรียนเดียวกัน สอบไล่ได้ปาน ๆ กัน ได้ไปยุโรปด้วยกัน เรียนเท่า ๆ กันอีก และกลับพร้อมกัน เข้ารับราชการพร้อมกัน ในน่าที่คล้าย ๆ กัน แต่ครั้นเมื่อทำงานแล้ว คน ๑ รู้จักใช้วิชาของตนให้เหมาะแก่กาละเทศะและสมเหตุสมผล อีกคน ๑ ต้องคอยให้นายชี้หนทางให้ทำก่อนจึงทำ เช่นนี้นับว่าคนที่ ๑ เปนผู้มีความสามารถมากกว่าคนที่ ๒
ความสามารถนั้นแหละเปนสิ่งซึ่งต้องการสำหรับคนที่จะใช้เปนผู้บังคับบัญชาคน ไม่ว่าในน่าที่ฝ่ายทหารหรือพลเรือน และเมื่อผู้ใหญ่เขาจะเลือกหาผู้บังคับบัญชาคน เขาย่อมจะเพ่งเล็งดูความสามารถมากกว่าดูภูมิวิชา (ถ้าเขาคิดถูก) แต่ผู้ใหญ่ที่หลงไปเพ่งเล็งแต่ภูมิวิชาเท่านั้นก็มี ซึ่งในไม่ช้าก็ต้องรู้สึกว่าคิดผิด เพราะผู้ที่มีวิชาแต่ไม่รู้จักใช้วิชานั้นให้เปนประโยชน์จริง ๆ ได้แล้ว ก็ไม่ผิดอะไรกับวานรซึ่งถือแก้วไว้ในมือแต่จะรู้ราคาแห่งแก้วนั้นก็หามิได้
ดังนี้ก็เปนอันสรูปความได้แล้วว่า ความสามารถเปนลักษณอัน ๑ แห่งผู้บังคับบัญชาคน
๒. ความเพียร
ความเพียรเปนคุณวิเศษ ซึ่งนักปราชญ์โบราณท่านสรรเสริญกันนัก จึงมีพุทธภาษิตปรากฎอยู่ว่า “ความเพียรเปนเครื่องพาตนข้ามพ้นความทุกข์”แต่ผู้มีวิชาสมัยใหม่นี้ก็ไม่รู้สึกคุณวิเศษแห่งความเพียรอีกเหมือนกัน เพราะเหตุที่มีความเชื่อมั่นเสียแล้วว่าวิชาอาจจะพาตนไปถึงไหนๆก็ได้ จึงไม่รู้สึกความจำเปนที่จะต้องใช้ความเพียร โดยมากก็มักจะกล่าวว่า “ความเพียรเราได้ใช้แล้ว เราจึงได้มีวิชาความรู้ได้ถึงปานนี้ ถ้าเราไม่ได้มีความเพียรมาแล้วเรามิยังคงเปนคนโง่อยู่อย่างเดิมฤๅ ?” คำที่กล่าวเช่นนี้ เมื่อฟังดูเผิน ๆ และไม่ไตร่ตรองดูให้ดี บางทีก็หลงเห็นตามไปด้วย แต่แท้จริงที่กล่าวเช่นนั้นหาถูกไม่ การที่เรียนรู้วิชานั้นเพราะอุตสาหพยายามโดยเฉภาะชั่วแล่น ๑ ต่างหาก คือสู้กัดฟันทนลำบากเอาพัก ๑ พอให้สอบไล่ได้คะแนนสูง ๆ เพื่อหวังจะได้หาความสุขในทางเกียจคร้านเท่านั้น ซึ่งจะเรียกว่าเพียรจริงไม่ได้ การวิ่งทางใกล้เพียง ๑๐๐ เมตรกับการวิ่งทางไกลตั้งกิโลเมตรขึ้นไป นักเลงกิฬาเขาถือว่าผิดกันอย่างไร ความอุตสาหเรียนจนเพียงพอได้สอบไล่ได้กับการเพียรต่อไป-แม้เมื่อออกจากโรงเรียนแล้วก็ผิดกันฉันนั้น
คำว่า เพียร แปลว่า “กล้าหาญไม่ย่อท้อต่อความยากและบากบั่นเพื่อจะข้ามความขัดข้องให้จงได้ โดยใช้ความอุตสาหวิริยภาพมิได้ลดหย่อน”
เมื่อแปลคำว่าเพียรเช่นนี้แล้ว ก็จะแลเห็นได้เสียแล้วว่า การเพียรไม่ได้เกี่ยวแก่การมีวิชามากหรือน้อย และคนที่ไม่มีวิชาเลยก็อาจที่จะเป็นคนเพียรได้ และถ้าเปนคนเพียรแล้ว บางทีก็อาจที่จะได้เปรียบผู้ที่มีวิชาแต่ขาดความเพียรนั้นได้เปนแน่แท้
ความจริงมีอยู่เช่นนี้ แต่ผู้ที่ตีราคาตนว่าเปนคนมีวิชามักจะลืมคำนึงถึงข้อนี้จึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดผู้ที่มีวิชาน้อยกว่าตนจึงกลับได้ดีมากกว่า และลืมนึกไปว่าวิชานั้นจะเปนสมบัติโดยจำเภาะบุคคลผู้ ๑ ผู้ใดหรือหมู่ ๑ หมู่ใดเท่านั้นก็หามิได้ วิชาความรู้ย่อมเปนของกลางสำหรับโลก เปนทรัพย์อันไม่มีเวลาสิ้นสุด และไม่มีผู้ใดในโลกนี้จะกล่าวได้เลยว่าเรียนวิชาจบหมดแล้ว ผู้ที่เปนนักปราชญ์แท้จริงไม่ว่าจะเปนชนชาติใดภาษาใด ย่อมจะรู้สึกอยู่ว่าคนเรายิ่งเรียนรู้มากขึ้นก็ยิ่งจะแลเห็นแจ่มแจ้งขึ้นทุกที ว่าความรู้ของตนเองนั้นมีน้อยปานใด แต่ตรงกันข้าม ผู้ที่โฆษนาภูมิความรู้ของตนอยู่เสมอ โดยเข้าใจว่าตนเปนผู้มีความรู้สูงนั้นแหละ เปนคนโง่โดยแท้ จึงไม่เข้าใจความจริงอย่างเช่นที่นักปราชญ์เขาเข้าใจกัน และอาไศรยความเข้าใจผิดอันนั้นเองจึงมิได้ขวนขวายสืบไป และด้วยเหตุนี้เองผู้ที่เขามิได้อวดรู้ เปนแต่ตั้งความเพียรให้สม่ำเสมอไป จึงมักเดินทันและแซงขึ้นหน้าผู้มีวิชาท่วมหัวเอาตัวไม่รอด
อนึ่งผู้ที่แสดงตนเปนคนเพียรแล้ว ก็เหมือนแสดงให้ปรากฎว่า ถ้าแม้ได้รับมอบให้กระทำการในน่าที่ใด ก็คงจะใช้อุตสาหวิริยภาพโดยสม่ำเสมอ เพื่อทำกิจการนั้น ๆ ให้บรรลุถึงซึ่งความสำเร็จด้วยดีจงได้ ดังนี้เมื่อผู้ใหญ่จะเลือกหาคนใช้ในตำแหน่งผู้บังคับบัญชาคน จึงเพ่งเล็งหาคนเพียรมากกว่าคนที่มีแต่วิชา แต่เกียจคร้านหาความบากบั่นอดทนมิได้
๓-ความไหวพริบ
ความไหวพริบเปนลักษณอิกอย่าง ๑ ซึ่งต้องการสำหรับบุคคลที่จะใช้ในน่าที่บังคับบัญชา
ความไหวพริบเปนสิ่งซึ่งบังเกิดมีขึ้นในนิสัยแห่งบุคคลเอง จะหาตำหรับตำราใดสำหรับเรียนรู้ก็หามิได้ และยากที่จะสอนกันได้ จะได้ก็แต่เพียงแนะนำหนทางให้ฝึกฝนตนเองขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าไม่มีพื้นเดิมอยู่แล้ว ถึงจะแนะนำก็หาเปนผลดีจริงไม่
ความไหวพริบแปลว่า “รู้จักสังเกตเห็นโดยไม่ต้องมีใครเตือน ว่าเมื่อมีเหตุเช่นนั้น ๆ จะต้องปฏิบัติการอย่างนั้น ๆ เพื่อให้บังเกิดผลดีที่สุดแก่กิจการทั่วไป และรีบทำการอันเห็นควรนั้นโดยฉับพลันทันท่วงที”
ความไหวพริบนั้น จะเปนเพราะมีวิชามากน้อยก็หามิได้ เหตุฉนี้ผู้ที่มีวิชามากแต่บกพร่องในความไหวพริบแล้ว บางทีก็สู้คนที่วิชาน้อยกว่าแต่มีความไหวพริบมากกว่าหาได้ไม่ คือถ้ามีเหตุซึ่งจำเปนจะต้องทำการโดยทันทีทันควัน จะมีเวลามัวค้นตำหรับตำราอะไรที่ไหน ต้องรีบปฏิบัติการไปให้ทันท่วงทีจึงจะไม่เสียการ
ผู้ที่จะใช้เปนผู้บังคับบัญชาคน เหมือนเปนผู้ต้องคิดแทนคนมาก ๆ คือจะเอาตัวรอดแต่โดยลำพังหาได้ไม่ ต้องพาคนในบังคับบัญชาของตนรอดพ้นไปได้ด้วย และอาจจะต้องใช้ความคิดเช่นนี้ โดยปัจจุบันทันด่วนด้วยบ่อย ๆ เหตุฉนี้ในการเลือกผู้บังคับบัญชาคนจึงต้องเพ่งเล็งดูความไหวพริบของบุคคลนั้นด้วย
๔-ความรู้เท่าถึงการ
คำว่า “รู้เท่าไม่ถึงการ” เขามักใช้เปนคำติเตียนกันว่าเปนความบกพร่อง เพราะฉนั้นควรจะพิจารณาดูว่า ความรู้เท่าถึงการนั้นแปลว่ากระไร ?
แปลว่า “รู้จักปฏิบัติกิจการให้เหมาะด้วยประการทั้งปวง” ที่จะเปนเช่นนี้ได้ก็ต้องเปนผู้ที่รู้จักเลือกว่า จะปฏิบัติการอย่างไรจึงจะเหมาะแก่เวลาและที่ให้สมเหตุสมผลจึงจะเปนประโยชน์ดีที่สุด อันความคิดในทางการใด ๆ ถึงแม้ว่าจะดีปานใดก็ตาม แต่ถ้าใช้ไม่เหมาะแก่เวลา คือทำก่อนที่ถึงเวลาอันควร หรือภายหลังเวลาอันควร ก็อาจที่จะไม่ได้รับผลดีเท่าที่ควรได้รับ หรือกลับกลายเปนผลร้ายไปก็ได้ เช่นต่างว่าเราคิดจะนำพลเดินไปทางหาดทรายอัน ๑ ซึ่งเปนทางลัดตัดไปถึงที่ซึ่งจะเอาชัยแก่ข้าศึกได้ ดังนี้นับว่าเปนความคิดอันดีโดยแท้ แต่ถ้าต่างว่าทางหาดนั้นพะเอินมีเวลาที่เดินได้สดวกแต่ในขณะที่น้ำลงแห้งทีเดียวเท่านั้นฉนี้ แม้เราเดินไปในขณะเมื่อน้ำยังมิทันลงมากพอ หรือรั้งรอไปจนน้ำกลับขึ้นเสียใหม่อีกแล้ว ก็คงจะไปไม่ได้ หรือได้ก็แต่โดยต้องเสียสัมภาระบ้างดังนี้ นับว่าเลือกเวลาไม่เหมาะ เลยทำการซึ่งแท้จริงเปนความคิดดีนั้น ไม่ตลอดไปได้ ส่วนการเลือกที่ให้เหมาะก็คล้าย ๆ กัน เช่นจะคิดสร้างป้อมอย่างแน่นหนาและเต็มไปด้วยปืนหนัก ๆ ลงในที่ชายเลน ป้อมซึ่งแท้จริงเปนของดีก็จะกลับกลายเปนของที่ใช้ไม่ได้ไป ดังนี้เปนต้น
ความรู้เท่าถึงการนี้ จะมีตำหรับตำราหรือครูบาอาจารย์สั่งสอนได้ก็หาไม่ อย่างดีที่สุดที่พอจะศึกษาได้ก็แต่โดยอาไศรยความอุตสาหพากเพียรจดจำแบบอย่างของผู้อื่น ซึ่งเขาได้ปฏิบัติมาแล้วในเวลาและที่คล้ายคลึงกันเท่านั้น แต่ที่จะวางใจยึดถืออยู่แต่แบบแผนเท่านั้นก็ไม่ได้ เพราะถ้าหากว่าไปประสบเหตุการณ์ซึ่งมิได้มีอยู่ในแบบแผนแล้ว ก็จะจนใจไม่รู้ที่จะทำอย่างไรเสียอีก จึงเปนอันต้องอาไศรยความไหวพริบในตัวเองประกอบด้วย จึงจะเปนผู้รู้เท่าถึงการอย่างบริบูรณ์
๕. ความซื่อตรงต่อหน้าที่
ข้อนี้เปนข้อสำคัญสำหรับคนทั่วไป ทั้งผู้ใหญ่แลผู้น้อย และจะเปนผู้สั่งหรือผู้รับคำสั่งก็เหมือนกัน เมื่อเปนสิ่งสำคัญเช่นนี้แล้ว ก็เปนที่น่าปลาดใจที่สุดที่ดูคนโดยมากเข้าใจข้อนี้น้อยเต็มที
ถ้าจะถามว่า ความซื่อตรงต่อน่าที่แปลว่ากระไร บางทีจะได้รับคำตอบต่าง ๆ กันอย่างน่าอัศจรรย์ทีเดียว บางคนก็น่าจะตอบว่า “ไปออฟฟิซทุกวัน ตรงตามเวลา ไม่ขาดและไม่ช้า” ซึ่งก็ต้องยอมว่าเปนอันใช้ได้ส่วน ๑ แต่จะต้องขอถามต่อไปว่า เมื่อไปถึงออฟฟิซแล้วนั้นไปทำอะไร ? ถ้าเพียงแต่ไปนั่งสูบบุหรี่คุยกับเกลอถึงเรื่องเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ มีนินทานายของตัวเองหรือนินทาคนอื่นเปนต้น หรืออ่านหนังสือพิมพ์ หรือเขียน “คอร์เรสปอนเดนซ์” ส่งไปลงหนังสือพิมพ์ด่าคนเล่น ดังนี้นับว่าไม่ใช่ซื่อตรงต่อน่าที่ เพราะที่ออฟฟิซไม่ใช่ที่สำหรับไปนั่งคุยกับเพื่อนหรือสำหรับด่าคนเล่น ที่ออฟฟิซเปนที่สำหรับทำงานการ และถ้าไปออฟฟิซไม่ได้ทำงานแล้วก็เท่ากับไม่ได้ไป เพราะฉนั้นถ้าจะยกเอาการไปออฟฟิซทุกวันเป็นพยานแห่งความซื่อตรงต่อน่าที่เพียงพอแล้วหาได้ไม่ ต้องประกอบกับไปทำการงานเปนประโยชน์โดยตรงตามน่าที่ด้วยจึงจะใช้ได้
บางคนก็อาจจะตอบว่า “ซื่อตรงต่อหน้าที่แปลว่าไม่โกงเงินหลวง” ซึ่งนับว่าเปนคำตอบที่ใช้ได้เหมือนกัน แต่จะรับรองว่าถูกต้องบริบูรณ์ก็ยังไม่ได้อีก เพราะเปนแต่เว้นจากการฉ้อโกงเท่านั้นจะถือเปนว่าได้ทำการอะไรให้เปนชิ้นเปนอันไม่ได้ และถ้าจะถือเอาการเว้นจากโกงเปนความชอบแล้ว ก็จะมิต้องถือต่อไปด้วยฤๅว่าการโกงนั้นเปนของปรกติ ? จำจะต้องถือเช่นนั้น จึงจะยกความไม่โกงขึ้นเปนความชอบได้ เพราะการทำความชอบต้องแปลว่าทำดีผิดปรกติ ก็อันที่จริงการที่ไม่โกงนั้นเพราะความละอายแก่บาปหรือกลัวบาป หรืออย่างต่ำลงไปอีกหน่อยก็เพราะกลัวติดคุกต่างหาก เพราะฉนั้นการที่รักษาตัวของตัวจะเรียกว่าทำความชอบอย่างไร ต้องเรียกแต่ว่าประพฤติเสมอตัวอยู่เท่านั้น
ถ้าจะตอบให้ดีที่สุดควรตอบว่า “ความซื่อตรงต่อน่าที่ คือตั้งใจกระทำกิจการซึ่งได้รับมอบให้เปนน่าที่ของตนนั้นโดยซื่อสัตย์สุจริต ใช้ความอุตสาหวิริยภาพเต็มสติกำลังของตน ด้วยความมุ่งหมายให้กิจการนั้นๆ บรรลุถึงซึ่งความสำเร็จโดยอาการอันงดงามที่สุดที่จะพึงมีหนทางจัดไปได้”
ตามที่กล่าวมานี้ ดูก็ไม่สู้จะเปนการยากเย็นอันใด แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนอยู่บางคนซึ่งไม่สามารถจะปฏิบัติเช่นนี้ได้ โดยมากมักเปนเพราะที่ตีราคาตนแพงกว่าที่ผู้อื่นเขาตี เช่นเขามอบให้กวาดเฉลียง ถ้าจะตั้งใจกวาดไปให้ดีจริง ๆ ก็จะได้ดี แต่นี่หาเปนเช่นนั้นไม่ กลับเห็นไปเสียว่า ถ้าแม้ได้เลี้ยงชมดก็จะดี แล้วก็เลยไปคิดฟุ้งสร้านแต่ในการเลี้ยงชมดซึ่งมิใช่น่าที่ ละทิ้งการกวาดเฉลียงซึ่งเปนน่าที่ของตนแท้ ๆ นั้นเสีย คราวนี้ต่างว่าย้ายให้ไปทำน่าที่เลี้ยงชมดตามปราถนา พอใจหรือ ? เปล่าเลย ไพล่ไปคิดถึงการรดต้นไม้ ถ้าเปลี่ยนให้ไปทำการรดต้นไม้ก็ไพล่คิดถึงการกวาดกระไดไชรูท่ออะไรต่ออะไรไปอีก บุคคลที่เปนเช่นนี้เปนตัวอย่างอันแท้แห่งผู้ไม่ซื่อตรงต่อน่าที่ เปลืองสมองซึ่งเอาไปใช้ในสิ่งซึ่งไม่ใช่กิจของตนเลย ผู้ที่ซื่อตรงต่อน่าที่แท้จริงแล้ว เมื่อรับมอบให้ทำการอะไรก็ต้องตั้งใจตั้งหน้าทำการอันนั้นไปอย่างดีที่สุด ปล่อยให้เปนน่าที่ผู้ใหญ่เขาวินิจฉัยว่าความสามารถจะเหมาะเพียงเท่านั้นหรือจะพอขยับขะเยื่อนเลื่อนขึ้นทำงานในตำแหน่งที่สูงกว่านั้นขึ้นไป ถ้าผู้ใดประพฤติให้ซื่อตรงต่อน่าที่เช่นกล่าวมาแล้วนี้ นับว่าเปนผู้ควรวางใจให้ทำการในน่าที่สำคัญได้ เพราะเชื่อได้ว่าน่าที่อะไรที่มอบให้ทำคงไม่ละทิ้ง
๖. ความซื่อตรงต่อคนทั่วไป
ข้อนี้เปนคุณวิเศษสำคัญอัน ๑ ซึ่งทำให้เปนที่นิยมแห่งชนทั่วไป เว้นเสียแต่คนโง่จึงจะเห็นเปนความโง่ และคนโกงเห็นเปนโอกาศสำหรับโกง
คนเราไม่ว่าจะเปนคนสำคัญปานใด ย่อมต้องอาไศรยกำลังผู้อื่นในกิจการบางอย่าง จึงมีสุภาษิตโบราณกล่าวไว้ว่า “ป่าพึ่งเสือ เรือพึ่งพาย นายพึ่งบ่าว เจ้าพึ่งข้า”
เมื่อความจำเปนมีอยู่เช่นนี้แล้ว จึงต้องคำนึงดูว่า จะทำอย่างไรจึงจะได้ใช้กำลังของผู้อื่นนั้นโดยความเต็มใจของเขา ?
วิธีที่บุคคลเลือกใช้นั้น ย่อมมีต่าง ๆ กัน แล้วแต่สถิติของตนและผู้ที่ต้องการจะอาไศรยกำลัง
ถ้าเปนผู้มีทรัพย์ ก็จำหน่ายทรัพย์เปนสินจ้าง หรือเปนสินบนหรือเปนเครื่องล่อใจ หรือเปนของกำนัล สุดแท้แต่ลักษณแห่งบุคคลที่ต้องการกำลัง
ถ้าเปนผู้มีอำนาจ และเปนคนที่โง่หน่อย ก็ใช้แต่อำนาจและอาญาบังคับผู้น้อยให้ทำตามใจตน แต่ถ้าฉลาดหน่อยก็ใช้ยอ หรือล่อด้วยเปิดหนทางให้ได้รับผลประโยชน์พิเศษ
ถ้าเปนผู้ที่ถือตนว่ามีสติปัญญา ก็ใช้สติปัญญาหลอกลวงโดยอาการต่าง ๆ นี้คือแบบบุคคลจำพวกที่เรียกตนว่า “นักรู้การเมือง” (โปลิติก) ซึ่งมักใช้วาจาและโวหารลวงให้ตายใจ แล้วจึงจะใช้ผู้อื่นเปนเครื่องมือ หรือลงที่สุดก็ “เต๊ย”
ถ้าเปนผู้น้อย ไม่มีทรัพย์ และอ่อนในความสามารถ และต้องการกำลังช่วยเหลือของผู้ใหญ่ ก็มักใช้วิธีสอพลอ ซึ่งตามสมัยใหม่ชอบใช้เรียกกันว่า “ป.จ.” แต่ซึ่งแท้จริงไม่ตรงศัพท์เลย เพราะการประจบอาจจะกระทำได้โดยความตั้งใจซื่อตรง คือตั้งใจเพียงแสดงความอ่อนน้อมยอมอยู่ในถ้อยคำหรือให้ใช้สรอย เพราะความภักดีฉันข้ากับเจ้า บ่าวกับนาย บุตรกับบิดามารดา หรือศิษย์กับครู ดังนี้ จะปรับเอาเปนความชั่วร้ายอย่างไร เป็นของธรรมดาต่างหาก แต่ส่วนการสอพลอนั้น มีความมุ่งหมายชั่วเปนพื้นอยู่ คือรู้แล้วว่าความสามารถของตนย่อมเยาว์ จึงเอาปากหวานเข้าแทนเพื่อช่วยพาตนไปสู่ที่ซึ่งตนมิอาจจะถึงได้โดยอาไศรยความสามารถของตนโดยลำพัง เมื่อความจริงเปนอยู่เช่นนี้แล้ว ผู้ที่ได้ดีเพราะสอพลอนั้น จะได้ดียั่งยืนอยู่ก็หามิได้ เพราะเมื่อความสามารถไม่พอแก่น่าที่แล้ว ก็คงจะทำการไปไม่ตลอดเปนแน่แท้ ส่วนผู้ที่มักบ่นติเตียนคนสอพลอนั้น บางคนก็บ่นเพราะเกลียดชังคนที่ไม่ซื่อตรงจริง ๆ แต่ถ้าคำบ่นนั้นมีอยู่ว่า “เราเองมันสู้เขาไม่ได้ เพราะเราไม่รู้จัก ป.จ.” เช่นนี้ไซร้ ต้องเข้าใจได้ดีทีเดียวว่าบ่นเพราะความฤษยา และถ้าต้องฤษยาแล้ว ก็แปลว่าขาดความเชื่อถือในความสามารถของตนเองเสียแล้ว จึงรู้สึกว่าตนแพ้เปรียบคนสอพลอรซึ่งดีแต่พูดเท่านั้น ก็เปนอันว่าตนเองก็คงดีแต่พูดเท่านั้นเหมือนกัน และที่แค้นเคืองก็เพราะตนเองไม่มีโอกาศที่จะได้สอพลอได้บ้างเท่านั้น ผู้ที่มีความสามารถจริง เปนคนดีจริงอย่างบริบูรณ์อยู่แล้ว ไม่ต้องวิตก อย่างไร ๆ ก็คงต้องมีผู้แลเห็นความดี เพราะฉนั้นการบ่นอิจฉาฤษยาพวกสอพลอก็ไม่เปนการจำเปนอะไรเลย
ที่จริงหนทางที่ดีที่สุดที่จะดำเนินไปเพื่อให้เปนที่นิยมแห่งคนทั้งหลายมีอยู่ คือความประพฤติซื่อตรงต่อคนทั่วไป รักษาตนให้เปนคนควรเขาทั้งหลายจะเชื่อถือได้ โดยรักษาวาจาสัตย์ พูดอะไรเปนนั่น ไม่เทียนหันเปลี่ยนแปลงคำพูดไปเพื่อความสดวกเฉภาะครั้ง ๑ คราว ๑ ไม่คิดเอาเปรียบใครโดยอาการอันเขาจะขันแข่งไม่ได้ ไม่ยกตนข่มท่าน ไม่หาดีใส่ตัวหาชั่วใส่เขา เมื่อผู้ใดมีไมตรีต่อก็ตอบแทนด้วยไมตรีโดยสม่ำเสมอ ไม่ใช้ความรักใคร่ไมตรีซึ่งผู้อื่นมีแก่เรานั้นเพื่อเปนเครื่องประหารเขาเองหรือใคร ๆ ทั้งสิ้น
ความประพฤติซื่อตรงต่อคนทั่วไปเช่นนี้ ปราชญ์ทุกชาติทุกภาษาย่อมยกย่องว่าเปนคุณวิเศษอัน ๑ ซึ่งเปนลักษณแห่งผู้เปนใหญ่แท้จริง และถึงผู้ที่ยังอยู่ในตำแหน่งผู้น้อย ถ้าประพฤติได้เช่นนี้ก็ย่อมจะเปนศรีแก่ตน ทำให้คนนิยมรักใคร่และผู้ใหญ่เมตตากรุณาเปนอันมากเหมือนกัน
๗. ความรู้จักนิสัยคน
ข้อนี้เปนของสำคัญสำหรับผู้ที่มีน่าที่จะต้องปฏิบัติกิจการติดต่อกับผู้อื่นไม่ว่าจะเปนผู้ใหญ่หรือผู้น้อย
ถ้าเปนผู้น้อย เปนน่าที่จะต้องศึกษาและสังเกตให้รู้นิสัยของผู้ใหญ่ซึ่งเปนผู้บังคับบัญชาของตน ต้องรู้ว่าความคิดความเห็นเปนอย่างไร ชอบทำการงานอย่างไร ชอบหรือชังอะไร เมื่อทราบแล้วก็อาจที่จะวางความประพฤติและทางการงานของตนเองให้ต้องตามอัธยาไศรยของผู้ใหญ่นั้นได้ ที่แนะนำเช่นนี้ไม่ใช่แปลว่าให้สอพลอ เปนแต่ให้ผ่อนผันให้เปนการสดวกที่สุดแก่การเท่านั้น การที่สอพลอนั้นไม่จำเปนเลย แต่การที่จะอวดดีกระด้างกระเดื่องเพื่อแสดงความฉลาด หรือสามารถของตนเองก็ไม่จำเปนเหมือนกัน และหาใช่หนทางที่ปราชญ์สรรเสริญไม่ ตรงกันข้ามปราชญ์ย่อมสรรเสริญผู้ที่รู้จักเจียมตัว จึงได้จัดเอา “มัทวํ” เข้าไว้เปนธรรมอัน ๑ ในธรรมทั้ง ๑๐ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินจะต้องทรงปฏิบัติเปนนิตย์ ผู้ที่รู้จักอ่อนน้อมย่อมเปนที่รักใคร่และเมตตาแห่งผู้ใหญ่ และถ้าประพฤติตนเปนคนอ่อนน้อมอยู่โดยปรกติแล้ว ถึงว่าจะพูดจาทัดทานทักท้วงผู้ใหญ่บ้างในทางที่ถูก ผู้ใหญ่ก็โกรธไม่ได้เลย
ถ้าตนเปนผู้ใหญ่ มีน่าที่เปนผู้บังคับบัญชาคนมาก ๆ การรู้จักนิสัยคนก็ยิ่งเปนการจำเปนยิ่งขึ้น เพราะคนเราไม่ใช่ฝูงแพะฝูงแกะ ซึ่งจะต้อนไปได้โดยใช้ร้อง “ฮุยๆ” หรือเอาไม้ไล่ตี บางคนก็ชอบขู่ บางคนก็ชอบปลอบ เพราะฉนั้นจะใช้แต่ขู่อย่างเดียวหรือยออย่างเดียวหาได้ไม่
นิสัยของคนต่างชาติก็มีต่างกัน เพราะฉนั้นจะใช้บังคับบัญชาด้วยแบบแผนอย่างเดียวกันทั้งหมดหาเหมาะไม่ คนสมัยใหม่มักหลงในข้อนี้อยู่เปนอันมาก และมักพอใจเอาแบบอย่างของต่างประเทศมาใช้ในการบังคับบัญชาคนไทย ตามที่เปนมาแล้วและยังเปนอยู่เปนอันมาก ข้างฝ่ายทหารมักเอียงไปข้างแบบเยอรมัน คือคิดแต่จะเอาแต่อำนาจบังคับตะบมไปเพราะครูทหารบกเปนเยอรมัน แต่คนไทยเรามีนิสัยผิดกับคนเยอรมันจึงไม่ชอบการถูกบังคับอย่างนั้น ชอบให้เอาใจบ้าง พูดกันดี ๆ บ้าง ไม่ต้องดูอื่นไกล ดูแต่บ่าวในบ้านก็พอแล้ว บ่าวไทย ๆ เรารู้สึกตนว่าเปนเพื่อนกับนายมากกว่าบ่าวฝรั่งเปนอันมาก เพราะฉนั้นจึงหาคนไทยยอมเปนลูกจ้างฝรั่งได้ยาก ก็แต่บ่าวในบ้านยังเห็นตัวเกือบเท่ากับนายเสียแล้วฉนี้ พลทหารหรือจะยอมเห็นตัวเลวกว่านายทหาร ถ้าจะว่าไปด้วยชาติกำเนิด นายทหารหลายคนก็มิได้มีตระกูลสูงกว่าพลทหารเลย ที่ดีกว่าก็แต่ในส่วนวิชาซึ่งได้เรียนรู้มากกว่ากันเท่านั้น ความรู้สึกเช่นนี้ย่อมมีอยู่เปนแน่นอนในใจแห่งคนไทยโดยมาก สมด้วยพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงไว้เปนคำโคลงว่า
๏ ฝูงชนกำเนิดคล้าย | คลึงกัน |
ใหญ่ย่อมเพศผิวพรรณ | แผกบ้าง |
ความรู้อาจเรียนทัน | กันหมด |
ยกแต่ชั่วดีกระด้าง | อ่อนแก้ฤๅไหว ฯ |
เมื่อความจริงเปนเช่นนี้ ทางที่ดีที่สุดที่ผู้บังคับบัญชาทหารจะทำได้คือต้องแสดงตนเปนเพื่อนทหารและเปนข้าราชการด้วยกันกับพลทหาร มีน่าที่จะต้องทำราชการอาไศรยซึ่งกันและกัน ต่างกันแต่ด้วยตำแหน่งน่าที่ คือน่าที่นายทหารจะต้องใช้วิชาความรู้เพื่อนำพลไปสู่ที่ชัยชำนะ น่าที่พลต้องตามไปและตั้งใจต่อสู้ราชศัตรูจนสุดกำลัง เพื่อหวังเอาชัยชำนะ เมื่อต้องอาไศรยซึ่งกันแลกันอยู่เช่นนี้ การที่จะให้มีข้อบาดหมางหรือเกลียดชังซึ่งกันและกันหาควรไม่
แต่การที่จะใช้ความอลุ้มจนเกินไป ตามใจผู้น้อยทุกประการไปก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน ผู้ที่ใช้ความอลุ้มมักเข้าใจว่าถ้าทำเช่นนั้นคนจะรักใคร่มาก แท้จริงกลับกลายเปนทำให้คนดูถูกและไม่ยำเกรง และเมื่อถึงเวลาที่จะบังคับจริง ๆ จัง ๆ บ้างก็เลยบังคับไม่ได้
การอลุ้มมีอยู่ในหมู่พลเรือนมากกว่าทหาร เพราะในทางการพลเรือนได้อังกฤษเปนครูเปนพื้น และวิธีบังคับบัญชาการพลเรือนของอังกฤษเขาใช้วิธีตามใจผู้น้อยมากอยู่ แต่ที่จริงของเราออกจะตามใจเกินครูไปเสียอีก จนการงานอะไร ๆ แทบจะสำเร็จเด็ดขาดอยู่ที่ผู้น้อยทั้งสิ้น ผู้ใหญ่อยู่ข้างจะเกรงใจผู้น้อยมาก คอยแต่เงี่ยหูฟังผู้น้อยอยู่เสมอ ข้อนี้เอง ทำให้ผู้น้อยได้ใจ เมื่อผู้ใหญ่สั่งหรือวางการอะไรที่ไม่พอใจแล้ว ก็ชอบนินทาว่าให้ หรือร้ายกว่านั้น เขียนหนังสือ “คอร์เรสปอนเดนซ์” ส่งไปลงพิมพ์ว่าให้ในหนังสือหิมพ์ หรืออย่างเลวที่สุดทิ้งบัตรสนเท่ห์ว่าให้ดื้อ ๆ เหล่านี้ล้วนเปนของที่เสียวินัยและแบบแผนในราชการทั้งสิ้น และเสื่อมเสียอำนาจและเกียรติยศของราชการ เปิดช่องให้ผู้อื่นเย้ยหยันหรือดูถูกได้ ทั้งทำให้เขาติเตียนได้ว่าไทยเราช่างไม่มีความปรองดองในหมู่กันเองเสียเลย
การที่ข้าราชการพลเรือนชั้นผู้น้อยละเลิงใจเข้าใจน่าที่ของตนผิดได้ถึงปานนี้ ก็เพราะผู้ใหญ่ได้ใช้วิธีอลุ่มเกินไปนั้นมาเสียช้านานแล้ว ถ้าได้ใช้การรักษาวินัยเสียบ้างตั้งแต่แรกแล้วก็จะไม่เปนไปได้ถึงเพียงนี้ นี่ได้ไปถือเอาธรรมเนียมอังกฤษซึ่งเหมาะแก่นิสัยอังกฤษมาใช้กับคนไทย ซึ่งไม่เหมาะกับนิสัยไทย จึงได้ไม่เรียบร้อย การยอมให้คนต่างคนมีความเห็นส่วนตัวได้นั้น เหมาะสำหรับนิสัยอังกฤษ เพราะเขาเปนผู้ที่รู้จักกาลเทศะ ดังจะแสดงให้เห็นปรากฎได้คือ ในขณะเมื่อบ้านเมืองเขาสงบศึก เขาแบ่งเปน ๔ คณะ ต่างฝ่ายต่างกล่าวโทษและว่ากันต่าง ๆ แต่พอเมื่อเกิดสงครามขึ้นแล้วสิ เขาทิ้งความแก่งแย่งกันได้หมดราวกับปลิดทิ้ง ในเวลานี้ไม่มีก๊ก ไม่มีคณะ มีแต่ชาติอังกฤษ ซึ่งคิดตรงกันหมด ส่วนไทยเรามีนิสัยผิดกับอังกฤษ คิดเห็นไม่ได้อย่างเดียวกัน และเข้าใจไม่ได้ว่าการที่ถุ้งเถียงกันนั้นเขากระทำแต่เมื่อเปนเวลาว่าง เข้าใจว่าเมื่อยอมให้แบ่งกันเปนก๊กเปนพวกแล้ว ก็แปลว่าเปนอันแบ่งกันอยู่เช่นนั้นตลอดเวลา และถึงแม้ชาติไทยเราจะถึงที่คับแค้นปานใด ก็คงจะยังอนุญาตให้ไทยต่อไทยเชือดคอกันได้ตามอำเภอใจบุคคลทั้งสิ้น เมื่อความเข้าใจผิดมีได้เช่นนี้แล้ว ก็เปนเครื่องแสดงให้แลเห็นชัดอยู่ว่า การคะเนนิสัยคนผิดอาจที่จะให้ผลร้ายได้เปนอันมาก
เหตุฉนี้หวังใจว่า ต่อไปเบื้องหน้าผู้ที่มีน่าที่บังคับบัญชา ทั้งฝ่ายทหารพลเรือน จะเอาใจใส่ในทางสังเกตและรู้จักนิสัยคนให้ดียิ่งขึ้นกว่าที่เปนมาแล้ว เพราะเวลานี้ถึงเวลาแล้วที่จะรู้สึกโดยทั่วกันว่า เมืองเราตกอยู่ในที่ลำบากยิ่งกว่าแต่ก่อนเปนอันมาก จะปล่อยตามบุญตามกรรมไปเช่นแต่ก่อนหาได้ไม่
๘. ความรู้จักผ่อนผัน
ข้อนี้เปนข้อสำคัญอัน ๑ ซึ่งปฏิบัติให้เหมาะได้ยากกว่าที่คาดหมาย เพราะฉนั้นจึ่งมีผู้ที่ปฏิบัติให้ดีจริง ๆ ได้น้อย
คนโดยมากที่มีน่าที่บังคับบัญชาคน ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนมักเข้าใจคำว่าผ่อนผันนี้ผิดกันอยู่เปน ๒ จำพวก คือ จำพวก ๑ เห็นว่าการผ่อนผันเปนสิ่งซึ่งจะทำให้เสียระเบียบทางการไป จึ่งไม่ยอมผ่อนผันเลย และแปลคำผ่อนผันว่า “เหลวไหล” เสียทีเดียว อีกจำพวก ๑ เห็นว่าการใด ๆ ทั้งปวงควรจะคิดถึงความสดวกแก่ตัวเองและบุคคลในบังคับบัญชาของตนเปนที่ตั้ง จึ่งยอมผ่อนผันไปเสียทุกอย่างจนเสียทั้งวินัยทั้งแบบแผนและหลักของการทีเดียวก็มี ทั้ง ๒ จำพวกนี้เข้าใจผิดทั้ง ๒ จำพวก
จำพวกที่ ๑ ซึ่งอ้างตนว่าเปนคนเคร่งในทางรักษาระเบียบแบบแผนนั้น แท้จริงถ้าไตร่ตรองดูสักหน่อยคงจะต้องแลเห็นได้ว่า การที่จะไม่ผ่อนผันเสียเลยนั้น บางคราวอาจจะทำให้ตนได้ผลหย่อนไป หรือถึงแก่เสียการทีเดียวก็ได้ ดูแต่เถรตรงสิ การที่แกตั้งสัตย์ปฏิญญาไว้ว่าจะเดินให้ตรงเสมอไม่เลี้ยวเลยนั้น ที่จริงความตั้งใจของแกก็ดี แต่เพราะแกไม่ยอมผ่อนผันเลย พอแกเดินไปเจอะต้นตาลขวางอยู่กลางทาง และต้นตาลมันก็ไม่หลีกทางให้แก แกก็ปืนขึ้นไป จนต้องไปโหนโตงเตงเปนลิงอยู่ และในที่สุดกว่าจะลงได้ ก็เปนเหตุให้ควานช้างต้องเสียช้างไปตัว ๑ และคนหัวล้านต้องตายถึง ๔ คน เพราะตาเถรตรงแกดื้อไม่ยอมหลีกต้นตาลต้นเดียวไม่ใช่ฤๅ ? การที่แกจะเดินหลีกต้นตาลไปต้นเดียวเท่านั้นไม่เห็นจะเปนการเสียหายมากมายอะไรเลย เพราะถ้ายังคงปรารถนาจะเดินตรงไปอีกก็ยังไปได้ การที่แกไม่ยอมหลีกจึงต้องตัดสินว่าแกดื้อไม่เปนเรื่องเลย เรื่องนิทานเถรตรงนี้เปนตัวอย่างอันดีแห่งผู้ที่ไม่ยอมผ่อนผัน และควรคนที่อวดตนอยู่ว่าเปนคนถือระเบียบเคร่งนั้นจะกำหนดจดจำใส่ใจไว้บ้างจะดีกระมัง
หรือว่าจะเห็นเรื่องนิทานเถรตรงเปนเรื่องเขาแต่งเล่น จะไม่พอใจถือเอาเปนตัวอย่าง ก็ขอให้ลองนึกดูถึงทางการงานจริง ๆ บ้างก็ได้ เช่นในตำรายุทธวิธีมีกำหนดไว้ว่า ในเวลาที่ยกเข้าโจมตีข้าศึก ให้แนวรบขยายแถวระยะห่างจากกันเท่านั้น ๆ ก็ถ้าต่างว่าที่มันมีไม่พอจะขยาย หรือถ้าขยายแล้วจะไม่มีที่กำบังตัวทหาร จะไม่ผ่อนผันบ้างทหารมิถูกปืนตายเปล่าหมดฤๅ ?
ข้างฝ่ายจำพวกที่ ๒ ซึ่งเห็นความผ่อนผันเปนของสำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นนั้น ก็เหมือนคนซื้อลาในเรื่องนิทานเอสปปกรณัม ซึ่งเล่าเรื่องไว้ว่า ชายผู้ ๑ไปซื้อลามาได้แล้ว ให้ลูกชายขึ้นขี่ลาเดินไปบ้านพบคนเดินสวนทางไปเขาพูดกันว่า “ดูแน่ เด็กออกโตแล้วขึ้นไปขี่ลา ปล่อยให้พ่อต้องเดินเหนื่อยอยู่ได้” พ่อก็ไล่ให้ลูกลงแล้วตัวขึ้นขี่ลาเอง พบคนสวนทางไปอีก เขาพูดกันว่า “ดูแน่ ตานั่นใจดำจริง ๆ ปล่อยให้เด็กเดินไปได้ แกขี่ลาเสียคนเดียว” พ่อก็เรียกให้ลูกขึ้นไปขี่ลาด้วย จนไปพบคนเดินสวนไปอีกเขาพูดว่า “ดูแน่ คนอะไรมิรู้ ช่างไม่รู้จักกรุณาแก่สัตว์เลย ลาตัวนิดเดียวดันขึ้นไปขี่อยู่ได้เปน ๒ คน” ทั้งพ่อทั้งลูกเลยลงจากหลังลาช่วยกันหามลาไปบ้าน พอถึงบ้านคนเขาก็หัวเราะกันครืนร้องว่า “แน่, ดูอ้ายบ้าคู่นี้สิ เอาลาเปนนาย” เรื่องนี้พอจะเปนเครื่องแสดงให้เห็นได้ว่า การผ่อนผันตะบันไปนั้น ไม่มีผลดีอันใด และในที่สุดก็มีแต่จะถูกเขาหัวเราะเยาะให้เท่านั้น
๙. ความมีหลักฐาน
ข้อนี้เปนข้อซึ่งไม่น่าจะเข้าใจยาก แต่ดูก็มีคนเข้าใจน้อย หรือจะเปนเพราะไม่ใคร่จะได้สนธิ์ใจไตร่ตรองนักก็อาจจะเปนได้ แท้จริงความมีหลักฐานเปนคุณวิเศษอัน ๑ ซึ่งจะเปนเครื่องช่วยบุคคลให้ได้รับตำแหน่งน่าที่อันมีความรับผิดชอบ และเมื่อได้รับแล้วจะเปนเครื่องช่วยให้ได้มั่นคงอยู่ในตำแหน่งนั้นต่อไปอีกด้วย
คำว่ามีหลักฐานนี้คืออะไร ?
บ้างก็แปลกันว่ามีเชื้อชาติสกุลสูง บ้างก็แปลกันว่ามีทรัพย์สมบัติบริบูรณ บ้างก็ว่ามีวิชาความรู้พอที่จะเลี้ยงตัวได้
ถ้าเช่นนั้นผู้ใดที่พะเอินบกพร่องในสถานนั้น ๆ มิเปนอันไม่มีที่หวังได้เลยหรือว่าจะเปนผู้มีหลักฐาน ? ไม่ใช่เช่นนั้นเลย จริงอยู่ชาติสกุล ทรัพย์สมบัติและวิชา เปนแต่เครื่องประกอบ เปนอติเรกลาภ และผู้ที่มีชาติสกุลสูง หรือผู้มีทรัพย์สมบัติ หรือมีวิชา แต่ถ้าไม่มีหลักฐานมั่นคงดีจริงๆ แล้ว ก็อาจที่จะต้องตกต่ำหรือถึงแก่ความพินาศได้
ถ้าเช่นนั้นหลักฐานคืออะไรเล่า ? ตอบได้เปนข้อ ๆ ดังต่อไปนี้:-
(๑) มีบ้านเปนสำนักมั่นคง คือไม่ใช่เที่ยวเกเรเกเสแอบนอนซุก ๆ ซอก ๆ หรือเปลี่ยนย้ายจากที่โน้นไปที่นี้เปนหลักลอย บ้านที่เปนสำนักนั้น ถึงแม้ตนจะมิได้เปนเจ้าของก็ไม่เปนข้อเสื่อมเสียเกียรติยศอันใด จะอาไศรยอยู่กับบิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่หรือมุลนายอะไรก็ตาม แต่ต้องอยู่ให้เปนที่เปนทางพอเมื่อมีความจำเปนบังเกิดขึ้นก็ให้เขาตามพบเปนพอแล้ว ถ้าไปเที่ยวระเหระหนอยู่แห่งโน้นบ้างแห่งนี้บ้าง ถึงแม้ว่าจะคุยว่าเปนโสดแก่ตนไม่มีใครเปนนายก็จริง แต่ต้องไม่ลืมว่า พวกคนจรจัดที่มันไปเที่ยวนอนอาไศรยศาลาวัดมันก็เปนโสดแก่ตนเหมือนกัน แต่ใครจะเรียกมันว่าเปนคนมีหลักฐานบ้างฤๅ ?
(๒) มีครอบครัวอันมั่นคง คือมีภรรยาเปนเนื้อเปนตัว ซึ่งจะออกหน้าออกตาไปวัดไปวาได้ ไม่ใช่หาหญิงแพศยามาเลี้ยงไว้สำหรับความพอใจชั่วคราว และไม่ใช่มีเมียแต่ด้วยความมุ่งหมายจะปอกลอกเอาทรัพย์สมบัติของหญิงแล้วและทิ้งไปหาใหม่ การมีเมียไม่ควรที่จะเห็นเปนของง่าย ๆ หรือของสำหรับความพอใจชั่วครั้งคราว ควรคิดหาผู้ที่จะได้เปนคู่ชีวิตร์และฝากเย่าเฝ้าเรือนเปนหูเปนตาแทนผัวในเมื่อผัวต้องไปทำการงาน ดังนี้จึ่งจะเรียกว่ามีครอบครัวเปนหลักฐาน ผู้ที่มีภรรยาเปนหลักฐานย่อมเปนศรีแก่ตัวและเปนที่น่าไว้วางใจ เพราะอย่างไร ๆ ก็จำจะต้องนึกถึงบุตรภรรยานอกจากตนเอง จะประพฤติเหลวใหลไปก็ไม่สู้ถนัด แต่ผู้ที่มีเมียไม่เปนหลักฐานย่อมมีแต่หนทางที่จะพาไปสู่ความพินาศฉิบหาย จึ่งไม่เปนที่น่าไว้วางใจ
(๓) ตั้งตนไว้ในที่ชอบ คือไม่ประพฤติเปนคนสำมะเลเทเมา สูบฝิ่นกินเหล้า หรือเปนนักเลงเล่นเบี้ยและเล่นผู้หญิง ซึ่งล้วนเปนอบายมุขบ่อเกิดแห่งความพินาศฉิบหายทั้งสิ้น ผู้ที่ประพฤติเปนนักเลงต่าง ๆ มักพอใจอ้างว่า เอาอย่างฝรั่ง แต่จะต้องถามว่าฝรั่งอะไร ? เพราะฝรั่งมิใช่จะดีทั้งหมดก็หามิได้ ถ้าฝรั่งเปนคนดีทั้งหมดแล้ว ที่เมืองฝรั่งคงไม่ต้องมีคุกมีตราง แต่นี่คุกตรางก็มีอยู่บริบูรณทุกแห่ง และไม่ใช่อยู่ว่างเปล่าด้วย มีนักโทษเต็ม ๆ ไปทุกแห่ง ถ้าใครเข้าใจว่าการอ้างว่าเอาอย่างฝรั่งเปนเครื่องแก้ตัวพอแล้วสำหรับจะประพฤติสำมะเลเทเมา ก็นับว่าเข้าใจผิด ไม่เชื่อถามฝรั่งดี ๆ เขาดูเถิด
ยกมากล่าวแต่โดยย่อพอเปนสังเขปเท่านี้ ก็เพียงพอแล้ว และถ้าไตร่ตรองต่อไปสักนิดหน่อยก็จะเข้าใจว่าความมีหลักฐานนั้นคืออะไร และจะแลเห็นได้ว่าแท้จริงทุก ๆ คนมีโอกาศเท่า ๆ กันที่จะกระทำตนให้เปนผู้มีหลักฐาน แต่ถ้าใครไม่ถือเอาโอกาศอันนั้นแล้ว แม้ว่าต้องเสียเปรียบผู้ที่เขาได้พยายามแล้วจะโทษใครไม่ได้เลยนอกจากตนเอง
๑๐. ความจงรักภักดี
นี้เปนคุณวิเศษอัน ๑ ซึ่งได้มีผู้อธิบายมามากแล้วเป็นอเนกประการ และด้วยนัยต่าง ๆ นา ๆ เพราะฉนั้นในที่นี้ไม่จำเปนจะต้องกล่าวให้ยืดยาว และถ้าจะกล่าวให้ยืดยาวไปก็คงจะต้องซ้ำข้อความที่ใคร ๆ ได้กล่าวมาแล้วบ้าง แต่ครั้นจะไม่กล่าวถึงเสียทีเดียวก็จะเปนการบกพร่องไป เพราะความจงรักภักดีย่อมเปนคุณวิเศษอัน ๑ ซึ่งพึงแสวงในตัวบุคคลที่จะได้รับมอบให้กระทำการในน่าที่ไม่ว่าใหญ่หรือน้อย และถ้ายิ่งเปนผู้ที่ต้องกระทำการในน่าที่ผู้บังคับบัญชาคนแล้วก็ยิ่งเปนสิ่งจำเปนยิ่งขึ้น
ความจงรักภักดีแปลว่ากระไร ?
แปลว่า “ความยอมสละตนเพื่อประโยชน์แห่งท่าน” คือถึงแม้ว่าตนจะต้องได้รับความเดือดร้อนรำคาญ ตกระกำลำบาก หรือจนถึงต้องสิ้นชีวิตเปนที่สุด ก็ยอมได้ทั้งสิ้น เพื่อมุ่งประโยชน์อันแท้จริงให้มีแก่ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
ผู้ที่จะยอมเสียสละเช่นนี้ได้โดยมิได้รู้สึกเสียดายเลย ต้องเปนผู้ที่ถึงแล้วซึ่งความรุ่งเรืองชั้นสูง จึงจะเข้าใจซึมทราบว่าตนของตนนั้น แท้จริงเปรียบเหมือนปะรามานู ผงก้อนเล็กนิดเดียว ซึ่งเปนส่วน ๑ แห่งภูเขาใหญ่ อันเราสมมตินามเรียกว่าชาติ และถ้าชาติของเราแตกสลายไปเสียแล้ว ตัวเราผู้เปนผงก้อนเดียวนั้นก็จะต้องล่องลอยตามลมไป สุดแท้แต่ลมจะหอบไปทางไหน เมื่อเข้าใจเช่นนี้โดยแน่ชัดแล้ว จึงจะเข้าใจได้ว่า แท้ที่จริงราคาของตนนั้นที่มีอยู่แม้แต่เล็กน้อยปานใด ก็เพราะอาไศรยเหตุที่ยังคงเปนส่วน ๑ แห่งชาติ ซึ่งยังเปนเอกราชไม่ต้องเปนข้าใครอยู่เท่านั้น และเพื่อเหตุฉนี้ ผู้ที่เข้าใจจริงแล้วจึงไม่รู้สึกเลยว่าการเสียสละส่วนตัวใด ๆ จะเปนข้อควรเปนห่วงหวงแหน นี้เปนความจงรักภักดีแท้จริง
และความจงรักภักดีแท้จริงนี้เอง คือความรักชาติ ซึ่งคนไทยสมัยใหม่พอใจพูดอยู่จนติดปาก แต่ซึ่งหาผู้เข้าใจซึมทราบจริงได้น้อยนัก
ข้อความแสดงคุณวิเศษ ๑๐ ประการ ซึ่งได้กล่าวมาแล้วนี้ ได้กล่าวมาแต่โดยย่อพอเปนเครื่องเตือนใจผู้ที่ตั้งหน้าจะทำการให้เปนคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองโดยแท้จริง ไม่ใช่รักชาติแต่ปาก
หวังใจว่าข้อความที่แสดงมาแล้วนี้ จะพอแสดงให้เห็นว่าแท้จริงผู้ที่จะเปนใหญ่หรือมีตำแหน่งน่าที่มั่นคงจริงแล้ว จะอาไศรยแต่ความรู้วิชาอย่างเดียวเท่านั้นหาพอไม่ และเพราะเหตุที่มีผู้มักเข้าใจผิดในข้อนี้ จึงมีผู้ที่ต้องรับความไม่พอใจอยู่บ้าง แต่ถ้าแม้ผู้อ่านหนังสือนี้ใช้วิจารณะญาณไตร่ตรองดูให้ดีแล้ว หวังใจว่าจะเห็นจริงด้วยตามความเห็นที่ได้แสดงมาข้างบนนี้ และเมื่อเข้าใจแล้วหวังใจว่าจะช่วยกันเพาะความเห็นในทางที่ถูกที่ควรขึ้นบ้าง เชื่อว่าคงจะเปนคุณประโยชน์แก่เราและท่านทั้งหลาย ผู้มีความมุ่งดีต่อชาติไทยอยู่ด้วยกันทุกคนนั้นเปนแน่แท้ ๚ะ
(พระบรมนามาภิธัย) วชิราวุธ ป,ร,
สนามจันทร์
วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๗