เพลงยาวความเก่า
๏ สดับข่าวที่เขากล่าวเกลี้ยงถึง | |
แต่ยินความก็ให้งามใจคนึง | แสนรำพึงมิได้พบดั่งหลบกัน |
นิจจาเอ๋ยเคยยลแต่หนหลัง | ถึงเมื่อครั้งคราวเปรมเกษมสันต์ |
ที่ทรงโฉมประโลมลักษณ์วิลัยวรรณ | สารพรรณจะผ่องเพลินจำเริญตา |
ทั้งสมบูรณ์อยู่ในจุลจักรพรรดิ | ภิรมย์สวัสดิ์ร่วมราชโกษฐา |
มาเร่อร่ำให้ทำที่ศรีสุดา | ทั้งอุส่าห์เบือนบิดจริตงาม |
ไปฝึกฝนกันที่ต้นลำไยเก่า | ข้างลำเนาสรรเพ็ชญ์ปราสาทสนาม |
ถ้าตัวตายและจะหายคนึงความ | ด้วยชู้งามนั้นยังงามอยู่ในใจ |
จนเสียเมืองมาด้วยกันทุกวันนี้ | ก็มีแต่ทุกข์ทนกมลไหม้ |
สารพัดจะไม่วัฒนาใจ | ดั่งเสียไฟเฝ้าเป่าหิ่งห้อยแฮ |
แทบจะสิ้นแรงกายไม่พรายวับ | แล้วก็ดับมิได้แจ้งเหมือนแสงแข |
ถึงยามชื่นก็เหมือนขืนจักขุแล | ก็มีแต่ชอกช้ำระกำกวน |
จะใคร่ถามข่าวบ้างก็ยังคิด | กลัวจะบิดไปด้วยเมินสเทินหวน |
แล้วเกรงความจะว่าลามเปนลมลวน | จึงสู้ม้วนเสน่ห์ไหม้ไว้ในกาย |
เดชะผลสุจริตไม่คิดประทุษฐ์ | เหมือนเต่าผุดจำเพาะตะเมาะหมาย |
ครั้นเขาออกชื่อชี้ว่ามีนาย | แล้วก็บ่ายบากหน้านิรานาน |
ให้ขุ่นคล้ำช้ำใจอยู่ในอก | แสนวิตกอนิจจาน่าสงสาร |
เสียดายเนื้อที่เปนเชื้อชาวในนาน | จะว่าบุญบันดาลหรือกรรมกวน |
หรือจะคราวเคราะห์โศกโรคร้อน | หรือจะถาวรแจ่มในอยู่ในสวน |
นี่ยืมสารจะไปอ่านเปนเพลงครวญ | อันเชิงชวนจะให้เชิญดำเนิรไป |
ถึงสถานจะใคร่พานพบพักตร์ | ก็บุญหนักยกหน้าขึ้นเปนไหน |
พอแจ้งข่าวก็ผ่าวอาลัยไป | ดั่งสายใจนี้จะยืดไปตามยิน |
สุจริตว่าบุราณนี่นานเห็น | เพราะไม่เช่นลมพาลที่หวานถวิล |
จะเห็นใจก็แต่ในอมรินทร์ | จะแจ้งจินตนานักประจักษ์การ |
แล้วไร้คนที่จะชี้คดีถึง | ความคะนึงเหมือนจะเมินหมางสมาน |
ที่จำเริญพาไปแปดประการ | ข้าขอรับกังวานไว้ในกรรณ |
ดั่งได้น้ำฟ้าสุธารส | ที่สลดค่อยชื่นประชุมขวัญ |
ถ้าพอว่าราชกิจที่ติดพัน | จะตั้งใจจรจรัลไปหาเอย |
ฯ ๒๘ คำ ฯ
๏ ได้สดับสร้อยสุนทรสาร | |
ไพเราะเสนาะล้ำคำพจมาน | สำเนาสารหวานเพราะเสนาะจริง |
สารทราบอาบทรวงดวงกมล | ดั่งสุคนธ์ปนประให้เย็นยิ่ง |
ข้าขอบคุณที่การุญกันจริงจริง | ไม่ประวิงสิ่งซึ่งเปนลาภา |
ขอบข้อคำที่เจ้าร่ำมาในสาร | ให้ภิยยานยศยิ่งเปนสุขา |
ยังประวิงสิ่งซึ่งที่วัจนา | ว่าจะมาหาบ้านนั้นยังแคลง |
แต่คอยคอยเหมือนจะลอยหลีกหาย | นับวันเดือนระคายอารมณ์แหนง |
เห็นผิดเชิงคิดว่าหมางระคางแคลง | หรือใครแกล้งแย้งยุระบุความ |
ว่าเรานี้ถอยด้วยน้อยยศ | ประกอบหมดจึงคิดในจิตต์ขาม |
ครั้นลงมากลัวจะพาที่พักตรงาม | ให้เสื่อมนามทรามยศสลดลง |
จึงยั้งคิดบิดเบือนอยู่ดั่งนี้ | เห็นจะมีผู้ทัดขัดประสงค์ |
เจ้าว่าไว้ถ้าใครมายุยง | อย่าให้หลงยินถ้อยจำนรรจา |
อันเรานี้มิได้มีซึ่งสิ่งแหนง | คิดระแวงฝ่ายเจ้าจะกังขา |
ดัวยเจียมตนว่าเปนคนอัพลา | ไม่วัฒนาแจ่มแจ้งงามสกนธ์ |
เพียงศรีอนุชาชีวาลัย | จะผินพักตรพึ่งใครก็ขัดสน |
ให้ระคางหมางมัวด้วยตัวจน | จึงสู้ทนมิดม้วนสงวนกาย |
ปลูกถั่วปลูกงาประสายาก | เก็บผักพลหมากมะพร้าวขาย |
พอได้เลี้ยงอาตมารักษากาย | ไม่สู้สบายเหมือนเก่าแต่ก่อนมา |
ซึ่งให้ยืมสารามาทั้งนี้ | เพราะมีมโนถวิลหา |
ใคร่พบพักตรประจักษ์เนตรสักเวลา | ด้วยจากมาตัวเจ้ายังเยาว์นัก |
แต่ครั้งเมื่อพระสยมบรมพงศ์ | อยู่บรรยงก์รัตนาสน์เฉลิมศักดิ์ |
จนเสียเมืองเคืองแค้นใจนัก | มิได้พานพบพักตรกันบ้างเลย |
ต่ออยู่มาช้านานจนป่านนี้ | เขาพึ่งชี้ชื่อเจ้านิจจาเอ๋ย |
อนิจจาไม้รู้ว่ายังไรเลย | พุทโธ่เอ๋ยเหมือนจะเมินสเทินกัน |
เขาบอกว่าอยู่ดีได้มียศ | ก็พลอยสดปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
ธุระร้อนจะได้จรไปหากัน | ให้พันภิยโยยิ่งประเสริฐชน |
ฝ่ายเราก็แก่ชราไร้ | เสมือนไหม้ใกล้ฝั่งไม่เปนผล |
ที่การเล่นมิได้เปนซึ่งกังวล | รักษาแต่ตัวตนทุกวันเอย |
ฯ ๒๘ คำ ฯ
๏ ชายเนตรจวบเนตรพิษศรแสลง | |
ดั่งเมขลาฉายท่ามณีแทง | ให้แสงต้องอสุรีที่ราญรอน |
ก็ลดองค์ลงยังเงื้อมเมรุมาศ | ปิ้มจะขาดชีพม้วยด้วยดวงสมร |
จะไล่โลมโฉมนางกลางอัมพร | ก็อ่อนจิตต์ไปด้วยฤทธิ์มณีพราย |
อันนิลเนตรน้องส่องมาสบพี่ | ยิ่งมณีนางฟ้าที่ง่าฉาย |
เมื่อวาบวับจับดวงฤดีชาย | ก็หมายชีพม้วยด้วยแสงนิล |
ประเมินม่อยผอยพักตรตลึงหลง | ก็จงจิตต์สมานที่ชาญถวิล |
สิ้นประมาทอาชญาแลมลทิน | สิ้นประคิ่นประดิพัทธในภัสดา |
แสร้างมิดม้วนชวนชื่นขืนคืนสวาท | แล้วหยาดน้ำอาลัยไว้ในหน้า |
พอสงฆ์กลับจึงคำนับวาจาลา | พี่เดิรฝ่าภาคพักตรตระหน่ำนาง |
บำหยัดเท้าก้าวหน้าพว้าหลัง | ระวังน้องลืมยั้งระวังย่าง |
อัฒจันท์ยิ่งอัศจรรย์ลาง | พี่เหยียบขวางไขว่คั่นว่าชั้นเดียว |
ถึงสีดาประจวบตาพระราเมศร์ | เจ็บเทวษแต่กระนั้นไม่ส้านเสียว |
อันพี่เจ็บนี้เจ็บจริงจริงเจียว | ดั่งแหลมเหล็กเรี่ยวร้อยในตาชาย |
ชะชะเจ็บรักนี่หนักหนา | ยิ่งฝืนฝ่าก็ยิ่งท้ออารมณ์หมาย |
ว่าตาดูรู้รสกันด่วนตาย | เดิมนารายน์เพิ่มพิษยุพาพาล |
พระชวนชมสมโฉมด้วยดลเนตร | วันประเวศบัญชรพิมานสถาน |
จะเคลื่อนเงาเงื่อนนี้แลนิพพาน | ประมาณเถิดเห็นจะมีราคีดำ |
เจ้าดั่งดวงดาราทิพยมาศ | ลอยลีลาศเลื่อนแสงขึ้นแข่งขำ |
ครั้นมลทินจันทร์ทับก็อับดำ | เข้าประจำล้อมอยู่ดาวดูที |
จะสดสร่างกระจ่างงามอร่ามพื้น | ไม่ใฝ่ฝืนฝ่าเทวราศี |
เดิรระวางทางจักรงามดี | ด้วยเว้นแสงพระสุริยศรีร้อนรอน |
จะเกรงไยในหมู่พลาหก | ถึงจะตกก็ไม่ตัดประภัศร |
เชิญเลี้ยวเลื่อมมาที่เงื้อมยุคันธร | จะเวียนวอนตาโลกให้ชมดวง |
หนึ่งสัญจรปทุมาในวาเรศ | ไม่ว่าเพศเช่นพงศประสงค์สรวง |
สัณฐานจอกดอกชอุ่มเปนพุ่มพวง | เกิดในห้วงวารีนิโครธา |
ฝ่ายโกเมศหมู่สวะอยู่สระสรง | ใช่บัวบงกชเกศในนาถา |
พื้นผลซึ่งรคนสาโรชา | ล้วนวารินไคลเคล้าเข้าเวียนเบียน |
อย่านึกแหนงใช่จะแกล้งแสดงสดับ | ถ้าแม้นรับแล้วอย่ารักเปนพาเหียร |
เห็นไหนงามตามเถิดจะเวียนเพียร | ช่วยถอนเศร้าถอนเสี้ยนเสียหน่อยเอย |
ฯ ๓๐ คำ ฯ
๏ โอ้แสนเวทนานะอกเอ๋ย | |
ความรกำช้ำใจกระไรเลย | มีแต่เปรยแปรเปนอยู่เช่นนี้ |
เพียงทรวงพี่จะแยกแตกเปนสอง | ไฉนน้องเจ้าไม่เห็นในอกพี่ |
ไม่วายสวาทขาดรักสักนาที | มีแต่ครุ่นครวญคิดเปนนิจกาล |
แสนเสน่ห์ในสมายิ่งศรปัก | แสนรักรึงใจนั้นไม่สมาน |
แสนร้อนร้อนเร่าอุระราน | แสนสงสารใจจริงทุกสิ่งอัน |
เจ็บใจด้วยนางจางใจเจื่อน | ช่างเฉยเชือนมิได้ชวนเกษมสันต์ |
สุดจะทนจึงสอดสารรำพรรณ | ยิ่งอึ้งอั้นอยู่มิเอื้อนปราณี |
ครั้นเตือนต่อก็ตึงไม่ตอบเตือน | ทำบากเบือนเบี่ยงบ่ายธิบายหนี |
ก่นแต่เลียมล่อเล่นอยู่เช่นนี้ | ทำทีจะลวงให้ละลานใจ |
สองผิดวประดิภาคหลากใจพี่ | จะหมองไมตรีเมินไปถึงไหน |
อันสถานซึ่งสถิตใช่ใกล้ไกล | ชะกระไรใจนางช่างเชือนแช |
มีแต่หม่นมืดม้วนสงวนพักตร์ | เหตุว่ารักข้างเดียวจริงเจียวแหล |
แต่เหลือบเลี่ยงเจ้าไม่เบี่ยงจักษุแล | แหเหินเมินสวาทโอ้บาดใจ |
จะบำบัดตัดมารประหารห่วง | จะละล่วงเลยภพแล้วหรือไฉน |
หรือว่าหมางรคางรคายใจ | จงดัดให้ตอบต่อที่ข้อวอน |
โฉมเฉลาเยาวลักษณ์แก้วกากี | สถิตถึงฉิมพลียอดศิงขร |
ข้ามเขตนทีสีทันดร | ยากมนุษย์สุดจะจรครรไลยไป |
อันคนธรรพ์นั้นสูอย่าดูหมิ่น | ยังโดยปีกสุบรรณบินไปสมได้ |
แสนสำราญในสถานพิมานไชย | กรรมใดจึงมาดลให้ทรมาน |
อันอิเหนากับเยาวราชจินตหรา | นคราก็ทุเรศทุราสถาน |
ไม่จงใจที่จะไปส่งสการ | ก็ไม่พานเวียงไชยพระไอยกี |
จนได้เคล้นเน้นแนบแอบสมร | ร่วมร้อนจินตหรามารศรี |
ชะจนใจมาดหมายหลายปี | ไยจึงหมีเหมือนคิดที่จิตต์จง |
องค์รเด่นบุษบากาหลัง | นางไม่หวังแต่ชายพิศวง |
ทั้งกรรมหลังเหลือยากลำบากองค์ | ปิ้มจะปลงชีวิตเปนนิจกาล |
ก็ได้เคล้นเน้นแนบแอบสมร | ร่วมร้อนปรีดิ์เปรมเกษมสานต์ |
ฝ่ายพี่ที่ผู้ทรมาน | ไฉนนานหน่วงรักหักอารมณ์ |
แม้นได้เหมือนกำลังจะยังชั่ว | กลัวแต่มุ่งมาดหมายจะไม่สม |
แต่มิเอื้อนอยู่ไม่เยื้อนชวนชูชม | จะเกรียมกรมกรอมทุกข์ทุกอิริยา |
ดั่งโมรินทินกรหย่อนยอแสง | แต่แสวงหวังมุ่งเมขลา |
ส่วนเมฆไม่มีจิตต์เจตนา | มยุราเหมือนพี่ที่แสนคนึง |
สุดถวิลดั่งจะสิ้นเสน่ห์สนิท | ลับหลังก่นแต่คิดนิมิตถึง |
ว่าร่วมอาสน์เจ้าได้เคล้าคลึง | รักรึกเน้นแนบอุรพา |
จุมพิตนิทราหรรษาสอง | กรตระกองเกี้ยวกอดสอดหา |
ยังไม่ทันสิ้นชื่นก็ตื่นตา | ไม่ว่าฝันเลยสำคัญว่าจริงเจียว |
คว้าเปล่าเศร้าจิตต์แล้วใจหาย | สอดสายตาสุดที่จะแลเหลียว |
ดั่งใครมาหยิบยกกายไปทีเดียว | แสนเปลี่ยวโอษฐโอ้อยู่อาทวา |
นึกในนิมิตรเห็นผิดประหลาท | พอน้องนาฏใช้คนให้มาหา |
ขอยืมสารให้อ่านอักขรา | เปนวาทีทิพยมนต์แสดง |
ฟังเร่งยินดีทวีถวิล | แต่หวังใจอยู่ด้วยจินตนาแหนง |
เกลือกจะยอแต่พอรบมอารมณ์แรง | ให้หิวแห้งเหือดรักโอ้หนักใจ |
แม้นน้องช่วยอวยสารสนองพี่ | เปนไรมีสาราจะหาให้ |
อันมีมิตรผิดประหลาทเร่งบาดใจ | เปนไฉนเชิญช่วยทำนายเอย |
ฯ ๔๔ คำ
๏ ได้ยินข่าวที่เขาสรวลสำรวลฉาว | |
ว่านกน้อยนั้นจะงอยฝีปากยาว | จะแข่งครุฑข้ามอ่าวสมุทร์ไท |
ขากระต่ายหรือจะหมายหยั่งสมุทร์ | จะสิ้นสุดพากพื้นสักเพียงไหน |
หิ่งห้อยหรือจะโต้อโณทัย | สกุณไก่หรือจะบินกับอินทรีย์ |
จอมปลวกหรือจะเปรียบเมรุมาศ | มนุษยชาติหรือจะเหมือนกับโกสีย์ |
กระบิลงูหรือจะสู้กับนาคี | อันเมืองนี้หรือจะแม้นวิมานอินทร์ |
อนึ่งแก้วจอมจุลจักรพรรดิ | อันปัดหรือจะเท่าเทียมถวิล |
จะขึ้นแข่งรัศมีมณีนิล | เมื่อไม่สิ้นชาติกรวดแค่นอวดงาม |
เอาแต่ทองรองซับพอรับพื้น | ให้ชูชื่นแววไวในสนาม |
ปะเขารู้สันทัดว่าปัดทราม | จะอายความรู้สักเท่าไรไป |
ไม่รู้หรือนาคาวราฤทธิ์ | สุภาษิตเปรียบเทียบกับสุริย์ใส |
ยังยอบกายเกรงพลั้งรวังภัย | จะครรไลยก็ค่อยเลื่อนลีลามา |
แมลงป่องพิษวางที่หางนิด | หรืองอนประหงิดให้เกินนิวาสา |
อหังการดั่งจะต้านด้วยนาคา | สเออะหน้ามิได้ยั้งรวังอาย |
ดั่งกวางเห็นเสือผอมด้อมเดิรพลาด | ทนงอาจเข้าเคียงขวิดด้วยจิตต์หมาย |
ไม่เจียมชาติเขาประเชินให้เกินกาย | ต่อจวนตายดอกจึงรู้ว่าตูกวาง |
ดั่งสุกรอวดดีกับสีหราช | ทนงอาจใจใหญ่ออกยืนขวาง |
แล้วร้องท้าว่าท่านสัตว์จัตุบาทางค์ | เราก็สร้างสี่เท้ามาคราวกัน |
ควรที่จะชิงไชยเอาไว้ยศ | ให้ปรากฏทั่วฟ้าสุธาสวรรค์ |
แล้วก็ทำขนแขงแปรงชัน | ขยับยันทีจะวิ่งเข้าชิงไชย |
สีหราชร้องเย้ยว่าเหวยหมู | ทุรชาติเช่นกูนี้เกลียดใกล้ |
จะไว้ยศชื่อเราก็เข้าใจ | เสียในกิตติศัพท์สกุลกู |
ขอรับแพ้แก่ท่านไม่หาญต่อ | อย่ากล่าวล่อเหลืออาจประหลาทหู |
สีหราชหลบลี้มิขอดู | ก็ไปสู่ถ้ำแก้วแกมทอง |
ดั่งมณฑุกเกิดในชลาสินธุ์ | อยู่ใกล้กลิ่นกุสุมวิเชียรฉลอง |
ไม่รู้รสชื่นชมก็สมพอง | ในลอองเกศแก้ววราราย |
แมลงภู่ซึ่งอยู่พนัสฐาน | รสสุมาลย์เสาะสืบแสวงหมาย |
ได้เชยซาบอาบต้องลอองอาย | ใสสุหร่ายเสียดสร้อยสุมาลา |
ดั่งบุรุษเรียนรู้ที่ครูสอน | ใครโง่งอนเหมือนดั่งผมบังภูผา |
เช่นคนใช้เจนหัดอยู่อัตรา | ที่โอชามิได้รู้ซึ่งรสแกง |
ดั่งมะเดื่อแดงดีดังสีชาด | ใสสะอาดน่าดูเชิดชูแสง |
ฝ่ายเปลือกนั้นเห็นงามอร่ามแดง | ต่อฉีกดูจึ่งแจ้งว่าหนอนใน |
ก็ต้องบทกำหนดขนุนหนาม | ข้างนอกทรามเหมือนจะลองไม่ต้องได้ |
ครั้นผ่าดูดอกจึ่งรู้ว่าหวานใน | ประเสริฐได้โอชารสจำเริญชู |
ไม่เหมือนมะเดื่อแดงก่ำดังธรรมชาติ | ข้างนอกฉาดในหนอนบ่อนบินฉู่ |
ปะเปลือกต้นแก่นใบใครไม่รู้ | จะพาพูและกระพี้ให้พลอยอาย |
ทั้งตัวหนอนก็จะบ่อนเข้าเบียนกัด | อิกลมพาลก็จะพัดให้หมองหมาย |
เขาจะถากเปลือกข้นจนต้นตาย | ก็ไม่วายอุปวาทเพราะฝาดดี |
ทั้งจะนำหน้ามูลประยูรยศ | อยู่ที่บทมะเดื่อแดงแสงสี |
ถ้าแม้นปะเราเปนเหมือนเช่นนี้ | น่าที่จะดับจิตต์ไม่คิดตัว |
จะผินเข้ากอดศักดิ์ด้วยรักเชื้อ | ถึงช้ำเดื่อก็ไม่เอาไว้ให้ใครหัว |
ด้วยไม่แท้ทองคำจึงคล้ำมัว | ต่อจะเปนแต่ตะกั่วตะกูทอง |
อันเนื้อนพคุณแท้นี่แน่เจ้า | ถึงจะเผาสิบไฟก็ไม่หมอง |
จะซ้ำใส่เบ้ากรดเข้าทดลอง | ยิ่งจะผ่องเนื้อน้ำอำไพ |
จึงองอาจว่าเปนชาติทองแท้ | อย่าควรคิดว่าจะแปรเปนปัถมัย |
ไม่เหมือนเดื่อกับตะกูให้ดูไกล | มิเข้าใจกลล่อก็หลงงาม |
ครั้นพินิจดูไปก็ในเปล่า | ไม่ได้เนื้อสำเนาขนุนหนาม |
เหมือนว่าหมึกหมายชื่อให้ลือนาม | ไว้เปนความแขวนปากทั้งปวงไป |
ต้องร้อนตัวอยู่เหมือนวัวรวังแผล | แต่กาแลวิปลาสก็หวาดไหว |
เพราะเจ็บนอกนั้นช้ำเหมือนคำใน | จนบรรไลยก็อย่าหมายไม่หายเอย |
ฯ ๕๐ คำ ฯ
๏ ขาวเหลืองเรืองศรีวิเชียรฉาย | |
แสนสวาทมิได้ขาดทิวาวาย | เสน่ห์หมายวชิรรัตนอลงกรณ์ |
แสงสว่างกระจ่างแจ่มจับเนตร | วันประเวศบนวิบูลยศิงขร |
แม้นเรืองฤทธิ์เหมือนวิทยาธร | จะเขจรแหวกเมฆไปเมียงชม |
พื้นหัตถ์จะประชีสำลีรอง | จะประคองช้อนชูมาสู่สม |
แสนสงวนมิให้ต้องลอองลม | จะวางชมบนพื้นสุมาลี |
วัตถาเวียนวงจะประดับ | มิให้อับอ่อนแสงมณีศรี |
จะแนบไว้ในอุราทุกนาฑี | อันราคีมิให้ปนรคนพาล |
นี่สุดยากที่จะบากอารมณ์ถวิล | ทั้งเดิรดินแล้วก็ขลาดไม่อาจหาญ |
ตั้งแต่ทนเทวษช้ำรกำนาน | ก็นับวารวายชีพนิราทวา |
เพราะกนิษฐ์และได้คิดภิรมย์รัก | เสน่ห์หนักในเพศแห่งเชษฐา |
ไม่สมหมายก็ไม่วายจินตนา | จะฝืนฝ่าฝากรักก็สุดใจ |
อนุชาเหมือนว่ายวนวาเรศ | ลอยประเวศตามสายชลาไหล |
จะบ่ายหน้าหาฝั่งก็ยังไกล | จะพึ่งพักขอนไม้ไม่ทานตน |
อันสัดจองนาวาก็หายาก | จะเบือนบากพึ่งใครก็ขัดสน |
แต่เวียนว่ายอยู่ในสายทเลวน | แสนทุพลยอดยากลำบากกาย |
เห็นแต่พี่แลจะชูชีวิตน้อง | ช่วยประคองขึ้นให้พ้นกระแสสาย |
เมื่อการุญทำคุณไว้ไม่ตาย | จะบากบ่ายนำเสน่ห์สนองกัน |
ไม่ลืมคุณอุปการคุ้งวันหน้า | จนม้วยสิ้นดินฟ้าสุธาสวรรค์ |
เชิญสมานกายโดยรบอบบรรพ์ | วานอย่าฉันทาเคียดรังเกียจกวน |
เชิญสนองในคลองเสน่ห์มิตร | คำนึงคิดอยู่ในฤทัยสงวน |
ถ้ารับรักแล้วอย่ารักให้เรรวน | วานอย่าม้วนสวาทไว้ให้เนิ่นนาน |
เชิญร่วมอารมณ์ภิรมย์รัก | ให้สมศักดิ์สมสวาทในมาศฐาน |
อย่าแหนงรักเลยว่ารักจะพลันราญ | สดับสารแล้วอย่าคิดรแวงแคลง |
ประการใดในประเพณีสวาท | ขอประสาทเสน่ห์ไว้ไม่ควรแถลง |
หนึ่งเชษฐาถึงจักว่ารักแรง | จงให้แจ้งแต่รับไมตรีตรอง |
เอ็นดูเถิดที่ธุระทุรารักษ์ | เห็นแก่พักตรเถิดจงเยื้อนเสน่ห์สนอง |
ดำริห์รักแล้วอย่าคิดให้ผิดคลอง | ไมตรีประคองอย่าให้สูญสวาทเอย |
ฯ ๒๘ คำ ฯ
๏ ชังใจที่ไม่เจียมใจสงวน | |
ชังหน้าที่หน้ามาหมองนวล | เออก็ควรหรือมาริให้เร่งตรอม |
ไม่เจียมตนเลยว่าตนนี้ต่ำศักดิ์ | มาริรักที่ไม่ควรประครองถนอม |
หมายใจอยู่ว่าใจอยู่ในจอม | มีแต่มอมหน้าม่อยให้อัประมาน |
ไม่รู้หรือว่าประยูรวิหคหงส์ | ถวิลลงโบกขรพัสนัทีสถาน |
ไม่ร่วมชาติกาจกาสกุลกาฬ | โอ้ประมาณเหมือนอกจรกา |
ต่ำศักดิ์หรือมารักวงศเทเวศร์ | ให้ผิดเพศตุนาหงันอสัญหยา |
เหมือนอิเหนาเสาวภาคกับบุษบา | เออสาสิที่ใจไม่เจียมใจ |
ยิ่งห้ามใจว่าอย่าใฝ่วงศาสูง | ใจยิ่งจูงใจตรึกนี่นึกไฉน |
แต่เวียนหวังอยู่มิฟังวิญญาไย | นี่ใครใช้หรือจึงครุ่นทวีครวญ |
เปนน้อยใจหนอใจไม่ฟังห้าม | มารักงามที่ไม่รู้เสงี่ยมสงวน |
ใจเอ๋ยหรือมาเฉยชล่าลวน | เมื่อไม่ควรหรือมาควรคะนึงนาน |
ไม่เจียมตนหรือว่าตนเปนหิ่งห้อย | มาทิ้งรอยตามแสงพระสุริย์ฉาน |
ท่านเหมือนพลอยเพ็ชรรัตน์ชัชวาล | ตัวนี้ปานปูนปัดหรือควรปอง |
มาหมายแก้วจอมจุลจักรพรรดิ | ให้เสื่อมสวัสดิ์รัศมีมณีหมอง |
เปนน้อยใจด้วยว่าใจไม่ตรึกตรอง | ใจที่จองหองห้ามยิ่งหยามใจ |
ตนกระต่ายหรือมาหมายจิตต์จง | มางวยงงอยู่ด้วยแสงศศิไข |
เมื่อจันทร์แจ่มแต้มตัวกระต่ายใน | วงเปนไรกระต่ายไม่หมายชม |
ถ้าใครช่วยชูมั่งจะยังชั่ว | ให้ใจกลัวจึงจะสาแก่ใจสม |
ถ้ามิฟังจะเอาไฟใส่หม้อรม | ช่วยขู่ข่มเสียให้ขาดประมาทครวญ |
ใจสิมุ่งเหมือนพระลอดิลกโลก | จึงแสนโศกมิได้วายกระหายหวน |
ส่วนพระลอมิได้ปองสองนางชวน | ให้รัญจวนไปด้วยวิทยายันต์ |
จึงได้สมสองงามเปนสามเขย | ชิดเชยสองข้างประคองขวัญ |
จนทหารเข้าประหารผลาญชีวัน | เออกระนั้นเล่าเถิดก็ควรตาย |
ไฉนใจจังจะไม่เห็นด้วย | ใจจะม้วยเสียแล้วหรือเพราะมุ่งหมาย |
เอ็นดูใจเถิดอย่าให้ใจลอาย | เอ็นดูกายเถิดที่เอื้อมจนสุดมือ |
แต่ห้ามห้ามก็ไม่ห่างถวิลเหือด | จนผิวเผือดผอมแล้วไม่เห็นหรือ |
จะตายไยที่มิให้คำคนลือ | จะรื้อรักเถิดอย่ารักให้เหนื่อยนาน |
หาดีไม่ไหนเล่าเขาว่ารัก | พิสมัยหนักก็มักได้หมางสมาน |
ย่อมทนทุกข์อยู่ทุกทิวาวาร | แสนรำคาญเคืองคิดไม่ขาดตรอม |
ชอบบำราสรสร่วมอารมณ์สอง | ก็หนักกรประคองครุ่นครวญถนอม |
ดั่งโกยทุกข์มาประทุกอกออม | แต่ผอมเผือดเหือดแห้งจนหายงาม |
จะยืนเดิรดำเนิรนั่งนอนที่ไหน | ก็ตั้งใจแต่จะดิ้นถวิลหวาม |
จนสิ้นเพียรภาวนาพยายาม | จนลืมความเรือนราชการตน |
ยามกินลืมกินอาหารรส | ลืมกำหนดนับคืนวันฉงน |
แต่นอนนิ่งกลิ้งกลับเกลือกสกนธ์ | ไม่หลับจนจวบทุ่มสักคืนวัน |
นี่และใจจะไม่ฟังใจเจียวหรือ | จะรื้อรักอยู่ไม่รักชีวาสัญ |
จงรักกายเถิดอย่าหมายวงศเทวัญ | ที่เฉิดฉันมิได้แปลกประยูรวงศ์ |
จึงห้ามใจว่าใจอย่าประเจิด | อย่าพลั้งเพลิดเลียมลองประโลมหลง |
รักษาสัตย์ตัดใจให้ตริตรง | อย่าพลอยหลงไปด้วยพลั้งกำลังพาล |
ท่านว่าถ้าและใครใจประมาท | ย่อมเปนคลองมัจจุราชประหารผลาญ |
สงวนสัตย์ตัดห่วงบ่วงมาร | จะพลันพ้นสงสารที่วงเวียน |
ถึงโลกีย์ยังมิตัดราคีขาด | แม้นประมาทก็ประมาณแต่พาเหียร |
เรียนรู้เถิดอย่าเรียนรำพึงเพียร | ใจจงเจียนในรักให้หักรอน |
ชอบจะเฉยอย่าเฉลยเหมือนเช่นหลัง | นี่แน่ใจเอ๋ยจงฟังใจสั่งสอน |
จะแจ่มจิตต์อยู่เปนนิตย์นิรันดร | ธุระร้อนก็จะแรมโรยเอย |
ฯ ๔๖ คำ ฯ
๏ อนิจจาคอยท่าคนึงถึง | |
จะถามเจ้าเขาลือกันอื้ออึง | ว่ามีแอหนังหนึ่งดำเนิรมา |
งามลม่อมพร้อมพริ้งสรรพางค์พักตร์ | วิลัยลักษณ์ตละอย่างนางดาหา |
ทรงเศวตตามเพศปะตาปา | เมื่อทิวาวัดพลับถวายไฟ |
ว่าชนชายหลายแลในแอหนัง | ให้กำลังพิศวาสไม่หวาดไหว |
บ้างกรุยรักปักฉลากแล้วบากไม้ | บ้างสืบส่อบ้างให้แสวงบล |
เห็นจะเปนศึกใหญ่ขึ้นในอก | จะปิดปกเงื่อนงำคำฉงน |
ไม่เชื่อภารการชายนี้หลายกล | จึงนิพนธ์เพลงถามด้วยความแคลง |
ใช่จะกล่าวแย้มเยื้อนเหมือนเตือนสติ | ด้วยดำริห์ตริฟังเมื่อยังแฝง |
ว่าปันหยีนั้นสิเปนคนแคลง | จะลักบุษบาแปลงยังอำปลัง |
เรื่องระเด่นจะเปนแอหนังนี้ | หรือเปนชีสาวใช้ในกาหลัง |
กรรมวิบัติดอกจึงพลัดออกจากวัง | สีปัตหราชังกระมังเธอ |
เร่งจำสืบแสวงดูให้รู้แท้ | ว่าใครแน่เปนหลังอาหลัดเหลอ |
ชี้ตรอกบอกนามอย่าอำเออ | จะว่าเพ้อชี้ตรอกแล้วออกนาม |
ฝ่ายเจ้าก็เปนตำรวจราช | เฉลิมบาทชิดใช้ในสนาม |
จะดำริห์สิ่งใดก็ไม่งาม | ให้สมความฟูมฟักจำเริญเอย |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ เสียดายรักหลงรักกะไรหนอ | |
มาหวังรักคิดว่ารักจักลงตอ | ไม่เห็นข้อที่ว่ารักจักกลับชัง |
น่าจะมีที่รักที่ร่วมคิด | จึงเมินมิตรหน่ายรักที่ใจหวัง |
จึงซ่อนรักหักทำเปนอำปลัง | น้อยหรือบังรักเล่นจนเห็นใจ |
เจ้ายังรักสมรักประจักษ์จิตต์ | มาพาผิดรักร้างเราทางไหน |
เจ้ารักร้อยสร้อยสนเปนยนต์ใน | รักจะไปแล้วมารานกลับพาลเรา |
มีที่รักแล้วจะชักเปนเชิงเฉย | อย่าพักบังรักเลยพอรู้เท่า |
จะชี้ชื่อชายรักเหมือนลักเตา | เหมือนรักอยากหยิบเงาให้ป่วยการ |
ถึงจะไม่มีใจทยารัก | อย่าหาญหักรักร้างให้หมางสมาน |
ก็เต็มหน้าเรื่องรักได้อัประมาน | แสนรำคาญคิดถึงรักก็หนักใจ |
อันแรกรักก็ประจักษ์กับใจน้อง | ไม่ตริตรองรักบ้างนี่ช่างไฉน |
จึงปลิดรักหากปละละไป | สิ้นอาลัยสิ้นรักก็อย่าเลย |
ได้หลงรักก็จะรับแต่อัประยศ | เพราะจับจดจึงรักมักเชือนเฉย |
แต่แรกรักมิได้หมายระคายเลย | นิจจาเอ๋ยคิดว่ารักจึงหลงลม |
เมื่อเมินรักแล้วมิหนำยังซ้ำภ้อ | เออหนออ่อรักนี่มักขม |
เพราะรักหวานต้องพานแสลงลม | มักชมแลจึงรักมักจืดจาง |
โอ้ปลูกรักหวังรักบำรุงสงวน | เออก็ควรหรือรักมาโรยหมาง |
เพราะรักชู้มิได้รู้ว่ามียาง | จึงรักนางรักสมิทสนอมกาย |
ประหลาทหนอรักนักย่อมวิบัติ | ถึงรักกัดก็อุส่าห์รักษาหาย |
เปนไรรักนี้ไฉนจึงไม่คลาย | จะจำตายเสียด้วยรักที่แรมครวญ |
เสียดายรักโอ้ว่านิจจาเอ๋ย | ไม่เห็นเลยว่ารักจะหักหวน |
เสียแรงรักมาดมุ่งผดุงนวล | ไม่ควรรักที่จะมาเปนราคี |
มาเด็ดรักหักใจไม่ไว้หน้า | อนิจจายอดรักมาผลักพี่ |
เสียแรงรักแก้วตาไม่ปราณี | ตั้งแต่นี้รักนางจะร้างเรา |
จะตัดรักเสียให้ขาดในชาตินี้ | เท่าธุลีมิได้รักสมัคเจ้า |
ให้สาสมอารมณ์รักที่เหลือเบา | แต่เปล่าเปล่ารักร้างระคางใจ |
ถึงจิตต์เจ้าจะมิรักก็หักเห็น | อย่าทำเปนชิงรักให้พิสมัย |
ไม่รักแล้วชมสารให้เต็มใจ | ที่แกงไดเด็ดรักไมตรีกัน |
วาสนารักนวลไม่ควรคู่ | จะร่วมรู้ร่วมรักภิรมย์ขวัญ |
จะรักน้องมิได้ต้องน้ำใจกัน | ก็จะบั่นบากรักที่เจตนา |
ไม่รักง้อขอรักให้เหนื่อยจิตต์ | จะสู้ปลิดรักขาดไปชาติหน้า |
จะขาดรักดั่งขากซึ่งเขฬา | เรารักหน้ากลับกลืนก็เกลียดอาย |
รักก่อจะมิต่อก็จำสาร | จึงจำราญรอนรักให้หักหาย |
อันเรื่องรักขาดกันจนวันตาย | ไม่มาดหมายหรือรักเจ้าเลยเอย |
ฯ ๓๔ คำ ฯ
๏ ชาวศรีสมบูรณ์พูลสวัสดิ์ | |
พี่หมายน้องเหมือนหนึ่งปองมณีรัตน์ | อันอุบัติอยู่ในยอดยุคุนธร |
แสงสว่างกระจ่างจับเนตร | แต่สังเกตมาก็สุดนุสนธิ์สมร |
แม้นเหมือนวิทยาธรากร | จะจรฟ้ามาสู่มณีนวล |
มือจะพันสำลีประคองรับ | ประจงจับลูบแก้วกำสงวน |
มิให้หมองลอองลออนวล | จะมิดม้วนมอบไว้เมียงชม |
นี่สุดเหาะที่จะเหิรโพยมมาศ | แสนสวาทไม่วายคิดแต่ปฐม |
ดำริห์รักหนักทรวงแสนระทม | เหมือนเรือล่มลงว่ายทเลวน |
จะมุ่งฝั่งก็ยังลับเหลือเนตร | จะสังเกตแก่งเกาะก็ขัดสน |
จะพึ่งขอนไม้น้อยก็ลอยชล | แต่ว่ายวนปิ้มจะขาดใจจม |
พี่มุ่งหมายเหมือนสายวารีรัก | อกจะหักด้วยไม่เสร็จประสงค์สม |
แปดปีมิได้วายอารมณ์กรม | ยิ่งคิดชมยิ่งคิดไม่ขาดวัน |
ชะรอยบุญเบื้องบุพพาสนอง | เหมือนพี่ปองจะไม่ป่วยประกันขวัญ |
จึงมีเทพธิดาสาครคัน | เหาะหันเหิรเมฆสุเมรุมา |
เห็นเรียมว่ายอยู่ในสายชลาเลื่อน | จึงแย้มเยื้อนเสาวนีเสนหา |
ว่าว่ายวนอยู่เห็นทนเวทนา | จะปรารถนาฝั่งชลหรือกลใด |
เรียมก็รับเสาวนีด้วยโสมนัส | ประนมหัตถ์นบนิ้วสนองไข |
ค่อยคลายร้อนผ่อนทุกข์บรรเทาใจ | จึงวอนไหว้อวยถ้อยด้วยคำงาม |
ก็บัญชาว่าจะช่วยโดยประสงค์ | จะพาส่งให้พ้นชลท่าข้าม |
เดชะกุศลผลช่วยพยายาม | สดับความปานได้ดารากร |
อันตกจากฟากฟ้าลงมาสถิต | ทรงประสิทธิมอบมือให้ถือสมร |
อันความเทวษเวทนาในสาคร | ค่อยคลายร้อนผ่อนทุกข์บันเทาทน |
ตั้งปัญจางคประดิษฐ์จิตต์เคารพ | มีแต่พบมือเสี่ยงกุศลผล |
ที่สุจริตมิได้คิดประทุษฐพล | ขอให้ดลบันดาลฤดีดุ |
จงตอบรักเถิดอย่าชักให้รักเนิ่น | อย่ามึนเมินหมางเคียงระคางอยู่ |
ได้ยินชอบอย่าตอบเชิญชู | เหมือนช่วยกู้แก้เจ็บระกำใจ |
ช่วยชมชูกู้ชีพภิรมย์รัก | เหมือนช่วยชักชวนทางพิสมัย |
แม้นได้แอบแนบนวลสนิทใน | จะปลื้มใจทั้งเปรมปรีดา |
จะถนอมสนิทถนัดแนบ | จะออมแอบอ่อนน้อมเสนหา |
ทัศนาเจ้าเช่นแก้วแล้วไคลคลา | มาตามแถวถนนหน้าระเนียดราย |
นวลโฉมแข่งแขวิมลพักตร์ | พี่ลอบลักรับขวัญแล้วขวัญหาย |
อันใดแม้ได้ดำเนิรกาย | กลิ่นขจายคนธรสมาลินโรย |
ทาสุคนธ์ปนเนื้อเจือกระแจะ | นั้นแหละจะกลายกระหายโหย |
เพราะเห็นพักตร์เหมือนจะชักให้ดิ้นโดย | เมื่อลมโบยโบกขวัญมาชมเชย |
จึงสอดสารประสงค์สาราสนอง | จำลองลักษณ์ไมตรีที่พี่เฉลย |
นแน่เจ้าจงแปรภิปรายเปรย | เชิญเฉลยศุภสร้อยสารานำ |
ถึงไม่มากก็สักสามบรรทัดครึ่ง | ไม่เหมือนตึงตัดความอุปภัมถ์ |
แม้นมิสนองสารน้อมเสน่ห์นำ | จะเศร้าช้ำทุกข์ทอดถวิลครวล |
กว่าจะสิ้นสมุดสุดดินสอ | เมื่อไรต่อวายมะพร้าวห้าวสวน |
จึงจะขาดที่พี่มาดหมายประมวล | หวนถวิลอยู่เปนนิตย์นิรันดร์เอย |
ฯ ๔๐ คำ ฯ
๏ โฉมหอมหอมเหินเวหาหวน | |
แต่โหยหามิได้เว้นทิวาครวญ | ควรสงวนเนตรทัศนานาง |
งามเสงี่ยมเอี่ยมอิ่มชอ้อนพักตร์ | เจริญรักมิได้เอื้อนอางขนาง |
งามศักดิ์งามสรรพสรรพางค์ | ดำเนิรนางอย่างเหมราชบิน |
เมื่อยินยลกลวิษณุกรรมวาด | มรรยาทพริ้งเพริดเฉิดฉิน |
เมื่อนั่งเจียนเมียนแม้นอับสรอินทร์ | ฟ้าดินสิ้นเสียงสำเนียงนวล |
เมื่อเจ้าพรายพักตร์พริ้มยิ้มเยื้อน | เหมือนจะเตือนให้พี่ง่วงงงสงวน |
งามสรรพสุนทราวิญญายวน | งามกระบวนเนตรน้าวเสน่ห์นำ |
งามใจใจเจียนเขียนแผ่นเพ็ชร์ | เผด็จพาลมารร้ายรคายขำ |
งามเงื่อนชั่งเยื้อนเสงี่ยมงำ | งามคำงามคิดคดีงาม |
ให้ควรด้วยจอมจักรพรรดิราช | ร่วมอาสน์แนบเนื้อเสน่ห์สนาม |
ไม่ควรไกลไร้รสนิราทราม | ไม่ควรความจะเออองค์อาทวา |
ให้ควรด้วยสิริโสภาคพักตร์ | บริรักษ์ศิวราชโกษฐา |
จึงเสื่อมศักดิ์วรพักตรพนิดา | ดั่งหงส์ทองตกท่าสาธารณ์ชล |
หากสุวรรณสัณฐานธรรมชาติแท้ | จะแปรเป็นราคีอย่าควรฉงน |
มาดแม้นถมแผ่นพื้นภูวดล | ยังวิมลรัศมีให้หมองมัว |
ดั่งหนึ่งนุชให้พี่สุดแสนถวิล | มิได้มีมลทินโทษกลั้ว |
สงวนศักดิ์รักตัวเห็นเหลือตัว | ดั่งดอกบัวในโบกขรณีเนา |
ดอกเดียวเด่นดวงพิโดนชม | ลมโบกโชยกลิ่นขจรเสา |
วคนธาทิพรสเกลี้ยงเกลา | เฉลากลีบกลัดรบัดใบ |
อันบุษบงในวงโบกขรพัส | ย่อมรบัดบานต้องอุทัยไข |
กิมิชาติอาจบ่อนเบียนใน | ปางภมรซอนไซ้สุมามาลย์ |
จนโรยร่วงรวงดอกออกฝักแฝง | ปางแมลงภู่เบียนเปนอาหาร |
ที่ดอกแกมแนมในนทีธาร | ก็บันดาลเสียดสีคลี่กลีบคลาย |
อันภุมเรศนอกเขตสระสนาน | ย่อมประมาณเมินมุ่งแล้วม่ายหมาย |
ด้วยโกเมศภุมเรศสิร่อนราย | มิได้คลายคลาดสร้อยสาโรชรวย |
อันปทุมโกสุมที่สังเกต | เห็นห่างเหตุเสื่อมสิ้นสีสลวย |
เฉลิมนาสาชมด้วยลมชวย | รทวยก้านพานพ้นวารีริน |
อกเรียมเทียมภุมรินรัก | ที่สำนักนอกสระกระแสสินธุ์ |
แต่ร่อนร้องวนเวียนเฉวียนบิน | ถวิลซาบอาบสร้อยสุมาเมียง |
คิดจะโจมโถมถาลงท่าจับ | แล้วขยับท้อถอยฤทัยเถียง |
ร่อนร้องมองหมายรายเมียงเคียง | แล้วเลียบเลี่ยงเข้ากล้ำกลิ่นกลืน |
ไม่วายวันทิวาเว้นเทวษ | เพราะสังเกตนั้นสุดเสน่ห์ฝืน |
แต่โหยหาทุกทิวาวันคืน | ไม่ได้ชื่นหน้านึกตริตรึกตรอง |
เหมือนมยุราหมายเมฆาทิพากาศ | มิได้ร่วมอารมณ์มาดสนอง |
เหมือนมัจฉาหมายเสียงฟ้าร้อง | ดั่งหงส์ทองหมายมุจลินท์อินทร์ |
เหมือนพี่มุ่งมิได้สมอารมณ์มาด | แสนสวาทมิได้เว้นวายถวิล |
ดำริห์รักดั่งพลิกพลักแผ่นดิน | ฤดีดิ้นจินตนาคะนึงตรอง |
ว่ารักแล้วจะรู้อารมณ์ด้วย | ที่ปองปีมาจนป่วยใจผอม |
ขอเชิญนุชสุดเสน่ห์ช่วยประนอม | เสน่ห์น้อมพร้อมจินตนาการ |
จงช่วยเพิ่มเสริมสันนิวาสา | อย่าเมินหน้าม้วนเมินหมางสมาน |
เอ็นดูคนที่ทุพลคะนึงนาน | เถิดอย่ารานเรื่องรักให้โรยรวน |
อันบุบผาในพนมพนาเวศ | ย่อมมีเหตุกลย่อมแล้วหอมหวน |
ที่ไม่มีเจ้าของประคองนวล | ก็มักปรวนแปรเพศอันตรธาน |
ถ้าผู้พานพอพบสบสำนัก | จะสอยชักหักกิ่งด้วยใจหาญ |
ถ้าใกล้ภัยแมลงภู่แลหมู่พาล | ก็บันดาลร่วงโรยลงรายดิน |
จะเสียเพศเสียพรรณบุบผชาติ | ที่อุบัติมาให้มาดหมายถวิล |
จะแห้งเปล่าเสียเปนเถ้าถมธรณินทร์ | ทั้งมลทินจะปลอมแปลกรคนปน |
จะเสียทีเปนที่ภิรมย์รัก | เสียดายศักดิ์จะเอาศักดิ์ปฏิสนธิ์ |
จะเปนที่ติฉินราคินคน | ย่อมแจ้งราชนิพนธ์ภิปรายรบาย |
ว่านางทรงศุภลักษณ์เปนศักดิศรี | ไม่เท่าที่ชายชั่วเฉาฉงาย |
ประหนึ่งพลอยเพ็ชรรัตนพรรณราย | ไม่มีเรือนย่อมสลายเลื่อนรทม |
ถึงถนอมออมไว้ก็ในเปล่า | ไม่งามเท่าที่รบายลายยาถม |
ถึงมีรุ้งรัศมีโดยนิยม | ช่วงจะชมแต่เพ็ชรไม่มีเรือน |
ธรรมดาว่าเพ็ชรสุหร่งราย | ให้เพริดพรายในวงศพงศเพื่อน |
นี่รักเปล่าอยู่แต่เวียนเปลี่ยนเรือน | มิทันรู้ก็เห็นเหมือนว่ามีวง |
ถ้าช่างชาญชำนาญรังเรือนเห็น | จะชี้เช่นรอยเรือนให้เหมือนประสงค์ |
ดั่งโฉมเฉิดเลิศลักษณ์อุดมวงศ์ | อันเพ็ชรสุหร่งนี้อย่ารักเรือนรอย |
ไม่ปราณีพี่ควรคำนวณคิด | ด้วยสุจริตเรียมแท้ถ่องถอย |
อันเอองค์นี้เหมือนหลงด้วยลมลอย | ปราณีหน่อยเถิดที่รักบำรุงชม |
ถึงมิการุญเหมือนคำที่ร่ำรัก | เพราะต่ำศักดิมิควรร่วมอารมณ์สม |
อย่าอยู่ช้าข้าพลอยเปลี่ยนทรวงรทม | ทั้งความกรมยิ่งจะเกรียมทรวงโทรม |
อันสุดาถ้าและเว้นจากสามี | นั้นชนกชนนีถนอมโฉม |
ยังไม่ปลอดผู้ลอดประลองโลม | ก็มักโครมครุ่นอัประยศยวน |
อันสัตรีมีที่เสน่หา | ประเพณีภัสดาเดียวสงวน |
รวังงามความร้ายแปรปรวน | ทั้งกันสรวลมลทินแลนินทา |
ทั้งกันหมู่ประมาทหมิ่นราคินข้อง | มาดหมองก็ได้ตรึกปรึกษา |
ถ้าคราวโศกโรคร้อนพาธา | ครั้นเห็นหน้าก็ค่อยอันตรธาน |
อันจะลอยลมว่านั้นหาไม่ | มิใช่เช่นลิ้นไล้น้ำตาลหวาน |
แรกรักหวังรักไม่พลันราน | อันทรวงชื่นนี้และนานจะเห็นทรวง |
ไม่รักแล้วก็เร่งสืบสารสนอง | ให้ขัดข้องใจพี่ที่แหนหวง |
ถ้านิ่งนานไม่สืบสารโดยกระทรวง | จะว่าดวงสมรพี่ปราณีเรียม |
จงปราณีเสน่ห์หน่อยเถิดจอมสมร | อันงามงอนนี้ไม่งามเท่างามเสงี่ยม |
จะเจียมใจอยู่ก็สุดใจเจียม | วานอย่าเลียมลบสารสมานกัน |
วานอย่าเยื้องกระเบื้องร้อนรานร้าว | วานอย่ากล่าวคำเคียดเดียดฉัน |
วานอย่าถือคำพาลมาพาลกัน | อย่าขึงมั่นอยู่ไม่ผ่อนใจเอย |
ฯ ๗๖ คำ ฯ
๏ ปางพี่มาดหมายสมานสุมาลย์สมร | |
ดั่งหมายดวงหมายเดือนดารากร | อันลอยพื้นอัมพรโพยมพราย |
แม้นพี่เหิรเดิรได้ในเวหาศ | ถึงจะมาดก็ไม่เสียซึ่งแรงหมาย |
มิได้ชมก็พอได้ดำเนิรชาย | เมียงหมายรัศมีพิมานมอง |
นี่สุดหมายที่จะมาดสุมาลย์สมาน | สุดหาญที่จะเหิรเวหาศห้อง |
สุดคิดที่จะเข้าเคียงประคอง | สุดสนองใจสนิทเสน่ห์กัน |
โอ้แต่นี้นับทวีแต่เทวษ | จะต้องนองชลเนตรกันแสงศัลย์ |
จะแลลับเหมือนหนึ่งดับเดือนตะวัน | เมื่อเลี้ยวเหลี่ยมสัตภัณฑ์ยุคันธร |
ยิ่งคะนึงก็ยิ่งนานจะเห็นพักตร์ | ฉวยฉุดรักแล้วก็ทอดฤทัยถอน |
ไม่เห็นกรรมว่าจะนำให้ไกลกร | ไม่เห็นรักว่าจะรอนให้แรมโรย |
อกเอ๋ยเมื่อได้เคยประโลมเล่น | ครั้นห่างเห็นแล้วก็ตั้งแต่เตือนโหย |
ยามดำเนิรเดิรดิ้นอาดูรโดย | ก่นแต่โกยกอบทุกข์มาทับกาย |
จะผ่อนผันฉันใดก็ใช่ที่ | อันนับปีแต่จะเริศร้างหาย |
จะอาดูรแต่ผู้เดียวอยู่เปลี่ยวกาย | มิได้วายความถวิลที่จินตนา |
แสนเทวษสุดทวีครั้งนี้เอ๋ย | ไม่เห็นเลยว่าจะน้อยวาสนา |
แต่ปางไกลแสนอาลัยทุกเวลา | ครั้นคิดมาไม่เห็นหน้าแล้วอาวรณ์ |
แสนรักจะร่วมเรือนเหมือนบุหรง | ที่พิศวงภาณุมาศประภัสสร |
เมื่อเลี้ยวลับศีขรินลงรอนรอน | สุดอาวรณ์ที่นกยุงจะมุ่งปอง |
แสนวิตกเหมือนกระต่ายที่ใฝ่ฝัน | แสงพระจันทร์งามจรเวหาศห้อง |
พระจันทรอยู่สำราญวิมานทอง | หรือจะปองใจหมายกระต่ายดง |
สงสารอกกระต่ายป่าปักษาชาติ์ | จะวายชีวาตม์ดับชีวิตด้วยพิศวง |
แสนคนึงถึงเสน่ห์ที่จำนง | ก็เหมือนอกกระต่ายดงที่หลงเดือน |
โอ้สุดคิดสุดฤทธิ์เห็นสุดรัก | เพราะต่ำพักตรไม่มีศักดิ์เสมอเหมือน |
ใครจะช่วยบำรุงรักช่วยตักเตือน | โอ้นับเดือนก็จะลับไปนับวัน |
ถึงจำจากเพราะวิบากให้วิบัติ | ขอกอดสัตย์ไปจนสิ้นชีวาสัญ |
ได้ตั้งใจมิตรจิตต์คิดผูกพัน | ขอหมายมั่นกว่าจะม้วยชนมาน |
ถ้าดับชีวิตไปสวรรค์ขั้นใดไฉน | ขอตามไปร่วมทิพย์พิมานสมาน |
ทุกขมหันต์อรรณพอเนกนาน | จนสู่สถานที่สถิตนิพพานเมือง |
โอ้ชาตินี้เห็นน้อยแล้วความสุข | จะแสนทุกข์สุดโทมนัสเนื่อง |
สุดปลุกใจปล้ำให้โศกเปลือง | ยิ่งครุ่นคิดแล้วก็เครื่องทวีครวญ |
เมื่อเวลามาบำราสให้ขาดรัก | สงวนศักดิไว้ให้งามเถิดทรามสงวน |
คิดเสงี่ยมเจียมพักตรแต่พอควร | ใครสงวนไม่เท่านวลสงวนกาย |
เห็นสุดถวิลสุดสิ้นบุพเพนิวาส | ที่มุ่งมาดมิได้สมอารมณ์หมาย |
เจ็บจิตต์คิดจะวางชีวาวาย | ก็เสียดายด้วยอาลัยมิได้ลา |
เชิญสำราญเถิดแม่อย่าหมองพักตร์ | จงคงศักดิ์คงสถิตในยศถา |
ต่อเมื่อไรวันกำหนดมรณา | ขอเห็นหน้าเสียสักหน่อยพอชื่นใจ |
อย่าเสียแรงที่มุ่งบำรุงรัก | มาดสมัคหมายสมานพิสมัย |
ได้เห็นหน้าแล้วจะลาชีวาลัย | จะอวยโอษฐ์ให้อโหสิกรรมกัน |
ถึงอยู่ใกล้ก็เหมือนไกลเพราะใช่คู่ | จึงมิได้ชูชมโฉมประโลมขวัญ |
เห็นสิ้นบุญแล้วในเบื้องปัจจุบัน | ขอหมายมั่นบุญเบื้องบุรพา |
แม้นกุศลเราสองเคยร่วมสร้าง | ขอร่วมห้องอย่าให้ห่างเสนหา |
เสี่ยงผลที่ได้เพิ่มบำเพ็ญมา | ขอร่วมชีวาร่วมวางชีวาวาย |
เกิดไหนขอให้ได้ถนอมพักตร์ | ความรักอย่าได้ร้างอารมณ์สลาย |
รักนุชอย่าได้สุดเสน่ห์คลาย | ขอสมหมายที่ข้ามาดสมุทาน |
อันสาราบำราสบำรุงคิด | จารึกไว้โดยสุจริตสาร |
พยายามตามสัตย์ปัญญาญาณ | พอแจ้งการณ์ที่มีกรรมในกายเอย ฯ |
ฯ ๔๖ คำ ฯ