๏
อันจะกล่าวด้วยกาลเวลาแลด้วยบุคคลแลฐานที่ เมื่อเวลาสร้างพระพุทธชินราช ให้เปนกำหนดชัดเจน นอกจากที่ได้เขียนไว้ในพระราชพงษาวดารเหนือนั้นเปนการยากที่จะให้แน่นอนลงได้
พระราชพงษาวดารเหนือ มีความจริงอยู่ในนั้นเปนอันมาก แต่เปนหนังสือเขียนด้วยสมุดขาดหายบ้างอยู่บ้าง แต่เชื่อได้ว่ามีอยู่หลายฉบับ ผู้ซึ่งเก็บรวบรวมสมุดขาดทั้งหลายเหล่านั้น มาคัดลอกขึ้นเปนฉบับเดียว ไม่สู้จะเปนคนถ้วนถี่นัก คัดขึ้นตามแต่ที่เก็บได้ จึงมีความซ้ำวนเวียนไม่เปนลำดับนอกจากที่หนังสือขาดตกบกพร่องนั้นด้วยอิกชั้นหนึ่ง
แต่ยังมีหนังสืออื่นซึ่งควรจะสืบเทียบเวลาได้หลายฉบับ ซึ่งเขาได้เขียนลงในใบลานเปนภาษามคธบ้าง ภาษาไทยบ้าง ลาวบ้าง แต่หนังสือเช่นนั้น ก็ยังเปนความลำบากซึ่งจะเทียบเคียงกันให้ความแจ่มแจ้งได้ ด้วยเหตุหลายอย่าง คือ ศักราชถึงว่าคงจะเปน ๓ อย่าง คือพุทธศักราช มหาศักราช จุลศักราชก็ดี กำหนดที่ใช้ก็ไม่ยั่งยืน บางคราวใช้ศักราชนั้น บางคราวใช้ศักราชนี้ ใช่แต่เท่านั้น ยังมีผู้แก้เปลี่ยนลบศักราชบ่อยๆ หลายเมืองด้วยกัน ใช้ไปได้คราวหนึ่งแล้วเลิกเสีย กลับใช้ศักราชเก่า บางเมืองก็ใช้ศักราชใหม่ไปนาน บางเมืองก็ใช้น้อย ผู้ซึ่งแต่งเรื่องราวเหล่านี้ ย่อมมาคำณวนสอบสอนเอาเอง เมื่อเวลาที่ศักราชของเดิมได้ใช้มามากน้อยเท่าใดไม่รู้แน่ เช่นเกณฑ์มหาศักราชที่เถียงกันอยู่บัดนี้ ทำให้เวลาเคลื่อนคลาศกันไปได้ตั้ง ๑๐๐ ปี ในศักราชทั้งปวงเหล่านี้ พุทธศักราชเปนใกล้ข้างแน่นอน แต่ก็เปนเคราะห์ร้ายที่ไม่ใคร่จะมีใช้ในชั้นหลังๆมา อิกอย่างหนึ่งนั้นเรื่องเรียกชื่อธรรมดาในเมืองประเทศเหล่านี้มักจะมีชื่อยาวๆ ซึ่งคนไม่พอใจเรียก หาชื่อสั้นๆเรียกตามแต่จะได้ บางทีก็ตามชื่อเดิม หรือบางทีก็ตั้งใหม่ตามความพอใจที่จะสนัดเรียก เพราะฉนั้นในหนังสือต่างๆเรียกคนๆเดียวต่างๆกัน ยังมีสำนวนที่แปร่งชักให้ฟั่นเฟือนอิกบ้าง
เพราะเหตุฉนั้น ในการที่จะเรียบเรียงเรื่องแห่งพระพุทธชินราชในเวลาอันสั้นนี้ จึงไม่ได้คิดพยายามที่จะมุ่งหมายกล่าวถึงเรื่องพงษาวดารของประเทศนั้น แลเมืองซึ่งใกล้เคียงว่าตั้งอยู่อย่างไรเปนแน่นอน แลไม่คิดที่จะเทียบเคียงศักราชจากหนังสืออื่นๆให้เปนแน่นอนในใจว่าตรงกันแท้ จะได้ถือเอาศักราชซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงกำหนดไว้ในเรื่องพงษาวดารพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ แลพระศรีสาสดา อันได้ลงพิมพ์เมื่อจุลศักราช ๑๒๒๘ นั้น เปนอันกล่าวตามพระราชพงษาวดารเหนือ ซึ่งในตอนนั้นสังเกตว่าเปนอันเรียบร้อยมาก ไม่สู้เลอะเทอะ
แต่จำจะต้องกล่าวถึงประเทศซึ่งมีเรื่องราวยันถึงกัน เฉพาะแต่ในเวลานั้นบ้าง คือประเทศข้างฝ่ายเหนือซึ่งเรียกว่าลานนาไทยในเวลานั้นครอบงำขึ้นไปตลอดถึงหัวเมืองลาว แลเงี้ยว ซึ่งเรียกทราบกันโดยมากว่าประเทศซาน อันอยู่ฟากโขงฝั่งข้างซ้ายตลอดไปจนจดแดนจีนแลพม่า เมืองเชียงแสนซึ่งแต่ก่อนเคยเรียกว่านาเคนทรเปนเมืองใหญ่ในหมู่ชนทั้งปวง ซึ่งมีชาติเรียกว่าไทยเปนเมืองหลวงแล้วแลเหมือนกับประเทศอื่นๆที่ใกล้เคียง พระเจ้าแผ่นดินเมื่อมีพระราชอนุชาหรือพระโอรส ย่อมจะแบ่งปันเขตรให้ปกครองแลสร้างพระนครให้อยู่ใหม่ ครั้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเปนใหญ่นั้นล่วงลับไปแล้ว เจ้าผู้ครองเมืองนั้นๆย่อมเปนผู้ซึ่งสมควรจะได้รับราชสมบัติสืบต่อพระราชบิดา หรือพระเชษฐามากบ้างน้อยบ้างด้วยกันทั้งนั้น เมื่อใครมีอำนาจพอที่จะให้เจ้าผู้ครองเมืองทั้งปวงยอมอยู่ในอำนาจ ผู้นั้นก็ได้เปนใหญ่สืบสันตติวงษ์ไป บางคราวก็เข้าไปครองเมืองเดิม บางคราวก็อยู่ในนครซึ่งสร้างขึ้นภายหลัง ตั้งพระราชโอรสหรือพระอนุชาไปครองเมืองเดิม เมื่อเช่นนั้น เมืองใหม่ก็กลับเปนเมืองหลวง เมืองเก่ากลับเปนเมืองประเทศราช อยู่ในอำนาจเมืองใหม่ต่อไป เมืองในประเทศลานนาไทยนี้ เมืองเดิมก็คือเชียงแสนที่กล่าวมาแล้ว ภายหลังสร้างเมืองเชียงราย เมืองพเยา เมืองฝางเปนต้น ในเมืองเหล่านี้เมืองเชียงรายได้เปนราชธานีมากกว่าเมืองอื่น ต่อภายหลังเมื่อได้ประเทศหริภุญไชย จึงได้ย้ายเข้ามาตั้งเมืองเชียงใหม่เปนราชธานี ส่วนข้างตวันออกเฉียงเหนือ เมืองชวาหรือเซา คือเมืองหลวงพระบางเปนเมืองเก่า แลมีเมืองเจ้าเช่นกันกับเมืองเชียงแสน แต่ภายหลังแยกกันออกเปน ๒ อาณาจักร คือ เมืองเซาศรีสัตนาคนหุตเดิม แลเมืองจันทบุรี คือเวียงจันท์ตั้งเปนศรีสัตนาคนหุตขึ้นใหม่
ในเมื่อก่อนตั้งเมืองเชียงใหม่เปนเมืองหลวงนั้นได้ตั้งประเทศเอกราชใหญ่ขึ้นในอาณาเขตร อันติดต่อกันกับเมืองเชียงแสนแลเมืองหลวงพระบางต่อแดนสวรรคโลกเปนอาณาเขตรใหญ่ เรียกว่าหริภุญไชย อยู่ที่เมืองนครลำพูนทุกวันนี้ ประเทศหริภุญไชยนั้นก็มีเมืองเจ้าต่างๆเหมือนกัน คือ เมืองนครเขลาง นครลำปาง นครลำพูนเปนต้น ต่อแต่นั้นลงมาเปนพระราชอาณาจักรอิกแห่งหนึ่ง ตั้งราชธานีที่เมืองสวรรคโลกหรือศรีสัชนาไลย เปนพระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจใหญ่แลมีพระนครเจ้าครองเมือง คือเมืองโศกโขไทย เมืองทุ่งยั้ง นัยหนึ่งเรียกว่า กำโพชนคร แลเมืองบริบูรณ์นคร เมืองสว่างคบุรีแลอื่นๆ ในพระนครเหล่านี้เมืองสวรรคโลกแลเมืองโศกโขไทย ผลัดกันเปนเมืองหลวง เช่นเชียงแสนเชียงรายฉนั้น
ฝ่ายข้างแม่น้ำพิง ตั้งแต่ใต้เขตรแดนหริภุญไชยลงมาจนถึงเมืองกำแพงเพ็ชร ไม่ปรากฎว่าเปนราชธานีใหญ่ตั้งขึ้นเปนปึกแผ่นมั่นคงในคราวเดียวพร้อมกันกับประเทศซึ่งกล่าวมาแล้ว แลจะกล่าวต่อไปข้างน่า แต่ก็คงได้เปนราชธานีอันหนึ่งซึ่งบางคราวได้เปนเอกราชเพราะปรากฎว่าได้พระมหามณีรัตนปฏิมากรจากเมืองอโยชฌิยาไปไว้ณเมืองกำแพงเพ็ชรซึ่งเปนเมืองหลวง แต่ภายหลังก็คงมีเวลาซึ่งตกไปอยู่ในอำนาจพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งมีอำนาจอยู่ใกล้เคียงนั้นบ้างตามคราวตามสมัยที่เมืองใดมีอำนาจ ต่อภายหลังจึงปรากฎว่าพระราชวงษ์เมืองเชียงราย ได้ถอยลงมาตั้งเปนเอกราชอยู่ในพระราชอาณาเขตรนั้น ปรากฎชื่อว่าเมืองชเลียงช้านาน จึงได้เลื่อนลงมาตั้งกรุงทวาราวดีศรีอยุทธยาตำบลหนองโสน
ส่วนข้างตวันออกแลตอนข้างใต้ลงมา มีราชธานีใหญ่ชื่อกรุงลโว้ซึ่งตั้งอยู่ที่ลพบุรี มีเมืองเจ้าเปนบริวารอย่างเดียวกัน คือเมืองเสนาราชนคร ซึ่งภายหลังเปนอโยชฌิยา ตั้งที่วัดเดิมฝั่งตวันออกกรุงเก่า แลพันทุมบุรีคือสุพรรณบุรีเปนต้น มีอาณาเขตรลงไปจนถึงปากน้ำเจ้าพระยา ในอาณาเขตรนี้ เมืองลโว้ตั้งเปนเมืองหลวงอยู่ช้านาน ภายหลังจึงได้ย้ายลงมาตั้งที่ศรีอโยชฌิยา แล้วเปลี่ยนเปนศรีอโยทธยา จนภายหลังที่สุดเปนทวาราวดีศรีอยุทธยาที่หนองโสน
ตั้งแต่เขตรแดนศรีอโยทธยาลงไปข้างใต้ฝ่ายตวันออก เปนราชธานีใหญ่ตั้งอยู่ที่พระนครหลวง มีอำนาจปกแผ่ตลอดไปในแผ่นดินเขมร ตลอดจนถึงฝั่งทเลแลเขตรแดนญวนอิกอาณาจักรหนึ่ง
ข้างฝ่ายตวันตกในแหลมมลายู มีราชธานีอันตั้งขึ้นภายหลัง ประเทศซึ่งกล่าวมาแล้วข้างต้น มีเมืองหลวงตั้งอยู่ณเมืองนครศรีธรรมราช มีอำนาจแผ่ไปในประเทศมลายูทั้งปวงตลอดจนถึงเมืองมลากา อิกราชอาณาจักรหนึ่ง
พระเจ้าแผ่นดินในประเทศทั้งปวงเหล่านี้ มีสัมพันธมิตรไมตรีกันใช่แต่เพียงไปมาค้าขาย ได้มีการอาวาหมงคลวิวาหมงคลแก่กันแลกัน แต่บางคราวก็มีการศึกสงครามแย่งชิงรุกเหลื่อมเขตรแดนกัน ในเมืองเก่าทั้งหลายเหล่านี้ เช่นเชียงแสน หลวงพระบาง ลโว้ หริภุญไชย สวรรคโลก นครหลวงนี้ ล้วนมีเรื่องราวที่ได้ตั้งเปนพระนครใหญ่มาแต่ก่อนพุทธกาลทั้งสิ้น
บัดนี้จะจับกล่าวถึงเรี่องที่สร้างเมืองพิศณุโลกมีกำหนดว่า เมื่อก่อนจุลศักราช ๔๐๐ แลก่อนพุทธศักราช ๑๕๐๐ เปนเวลาที่กำลังเมืองเชียงแสนมีอำนาจมาก ขณะนั้นมีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งทรงพระนามว่าพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก เพราะท่านทรงร่ำเรียนคำภีร์ในพระพุทธสาสนา คือพระวินัย พระสูตร พระปรมัตถมาก ได้ทรงจัดการบำรุงพระสาสนาให้รุ่งเรืองในเมืองเชียงแสนนั้นจึงเรียกพระนามดังนี้ แต่ถึงว่าพระองค์ทรงพระราชศรัทธาเช่นนั้น ก็หาได้เว้นการที่จะแผ่พระราชานุภาพ แลพระราชอาณาเขตรให้กว้างขวางไม่ ในเวลานั้นไมตรีในระหว่างกรุงศรีสัชนาไลย กับกรุงเชียงแสนห่างเหินกันไปด้วยการผลัดพระเจ้าแผ่นดินใหม่ พระเจ้ากรุงเชียงแสนคเนเห็นว่ากำลังเมืองศรีสัชนาไลยจะหย่อนลง จึงได้หาเหตุกรีธาทัพลงมาตีเมืองศรีสัชนาไลย พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีสัชนาไลยเวลานั้นทรงพระนามพระเจ้าพสุจราช หรือพสุทธราชได้จัดการตกแต่งพระนครรับสัตรูเปนสามารถ พลทหารชาวเชียงแสนจะเข้าเมืองศรีสัชนาไลยไม่ได้ พลทหารทั้ง ๒ ฝ่ายล้มตายลงเปนอันมาก ในขณะนั้นพระสงฆ์ซึ่งเปนพระราชาคณะผู้ใหญ่ มีนามว่าพระพุทธโฆษาจารย์ได้ถวายพระพรห้ามปรามพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๒ ฝ่ายขอให้สงบการศึก พระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๒ พระองค์ ก็ทรงยอมตามคำพระเถรเจ้าถวายพระพรขอนั้น จึงได้เริ่มกระทำทางพระราชไมตรีต่อกัน พระเจ้าพสุจราชมีพระราชธิดาองค์หนึ่ง ทรงพระนามพระประทุมาราชเทวี พระเจ้าพสุจราชจึงนำพระราชธิดาพระองค์นั้นไปถวายพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ๆ รับพระราชธิดาแล้วก็เลิกทัพกลับไปพระนครเชียงแสน จึงตั้งพระนางประทุมาราชเทวีไว้ในที่พระอรรคมเหษี กรุงศรีสัชนาไลยกับกรุงเชียงแสน ก็กลับเปนราชสัมพันธมิตรไมตรีกันสนิทแต่นั้นสืบมา พระนางประทุมาราชเทวีมีพระราชโอรสด้วยพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ๒ พระองค์ พระองค์หนึ่งทรงพระนามเจ้าไกรสรราช อิกองค์หนึ่งทรงพระนามเจ้าชาติสาคร อิกนัยหนึ่งกล่าวว่าองค์หลังเปนพระเชษฐา องค์แรกเปนพระอนุชา
แลต่อลำดับนั้นมาพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ทรงพระราชดำริห์ที่จะผูกพันกรุงศรีสัชนาไลยให้มั่นคง แลเพื่อจะจัดการป้องกันหรือแผ่ขยายอาณาเขตรลงมาข้างเขตรแดนกรุงลโว้อิก จึงทรงพระราชดำริห์เห็นว่าควรจะสร้างพระนครขึ้นในที่ใกล้แม่น้ำร่วมแควแม่น้ำยม แลแม่น้ำแควตวันออก คือตำบลปากพิง ซึ่งในเวลานั้นเรียกกันว่า ๒ แควเหมือนอย่างเมืองนครสวรรค์อิกแห่ง ๑ เหตุว่าน้ำยมไหลทางน้ำซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกว่าคลองพิงมาร่วมแควตวันออก แล้วไหลลงไปแควกลางซึ่งตั้งเมืองพิจิตรเก่าเปนสำคัญอยู่ จึงทรงชี้แจงให้พระเจ้ากรุงศรีสัชนาไลยทรงทราบพระราชประสงค์ในการที่จะสร้างเมืองใหม่นี้ ว่าเปนการซึ่งจะป้องกันข้าศึกฝ่ายลโว้ ขึ้นไปย่ำยีพระราชอาณาเขตรกรุงศรีสัชนาไลย แลคิดจะให้พระราชโอรสอันเปนพระราชนัดดาของพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีสัชนาไลยเสด็จลงมาครองเมืองนั้น เพื่อจะได้ช่วยพระอัยกาป้องกันพระราชอาณาเขตร แลอาศรัยเหตุอิกอย่างหนึ่งว่ามีนิทานเก่ากล่าวมาว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จบิณฑบาตไปถึงที่นั้นแล้วหยุดฉันที่ใต้ต้นสมอที่เขาสมอแครง ซึ่งเดิมเรียกว่าพนมสมอ ควรที่จะเปนที่ตั้งพระพุทธสาสนา จึงมีรับสั่งให้จ่านกร้องแลจ่าการบุญคุมกำลังไพร่พล แลเสบียงอาหารลงมาตรวจดูภูมิสถานแถบนั้น จะควรตั้งพระนครลงในที่แห่งใดก็ให้จัดการสร้างขึ้น เมื่อจ่านกร้องจ่าการบุญลงมาถึงที่ตำบลซึ่งว่าพระพุทธเจ้าไปบิณฑบาต ซึ่งมีบ้านพราหมณ์ตั้งอยู่ทั้งสองฟาก เห็นว่าเปนที่มีลำน้ำตรงแลเปนที่แผ่นดินราบ เปนไชยภูมิควรที่จะตั้งเมืองได้ จึงได้เกณฑ์ไพร่พลที่มาแลพราหมณ์ซึ่งตั้งอยู่ในที่นั้น ให้ตั้งเตาเผาอิฐที่จะสร้างกำแพงเมือง แล้วกะการที่จะสร้างเมืองตามขบวนศึก คือตั้งกำแพง ๒ ฟากน้ำก่อป้อมลงมาจดริมแม่น้ำทั้งเหนือน้ำใต้น้ำทั้ง ๒ ฟากแล้ว มีใบบอกส่งแผนที่ขึ้นไปถวายพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก เมื่อทรงเห็นชอบด้วยแล้ว จึงโปรดให้เกณฑ์คนเมืองน่านเมืองแพร่เพิ่มเติมลงมาช่วย เมื่อตระเตรียมการทั้งปวงพร้อมแล้วจึงให้พราหมณ์ทำพิธีตามไสยสาตรสระเกล้ารำเขนง โล้อำพวาย แล้วจึงเริ่มการสร้างกำแพงเมืองในเวลาเช้าวันศุกร์เดือน ๓ ขึ้นค่ำ ๑ ปีฉลูเบญจศก จุลศักราช ๓๑๕ พระพุทธสาสนกาลล่วงแล้ว ๑๔๙๖ วันนี้เปนวันซึ่งนับว่าเปนชตาเมืองพิศณุโลก กำหนดกำแพงเมืองที่สร้างนั้นโดยยาว ๕๐ เส้น โดยกว้างยืนเข้าไปแต่แม่น้ำข้างละ ๑๐ เส้น ๑๕ วา อันกำหนดกว้างยาวของเมืองซึ่งสร้างนี้ ก็ยังต้องกันอยู่กับรากกำแพงเมืองพิศณุโลกซึ่งปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ ต่างแต่ด้านสกัดเปนข้างหนึ่งกว้างข้างหนึ่งแคบ เหตุว่านานมาสายน้ำกัดเซาะตลิ่งพังไปบ้างงอกขึ้นบ้าง จ่านกร้องสร้างข้างตวันตก จ่าการบุญสร้างข้างตวันออก ทำการแข่งกัน ปี ๑ กับ ๗ เดือน การก่อกำแพงเมืองแล้วสำเร็จ จึงส่งข่าวขึ้นไปกราบทูลพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก จึงได้เสด็จยกพยุหโยธาลงมาพร้อมด้วยพระอรรคมเหษีแลพระราชบุตรทั้ง ๒ พระองค์ ตั้งพลับพลาอยู่ไกลเมืองประมาณ ๑๐๐ เส้น ครั้นเมื่อได้ทอดพระเนตรการเมืองนั้นทั่วแล้ว เปนที่ต้องพระราชอัธยาศรัย จึงดำรัสให้ตั้งการพระราชพิธีกลบาทว์แลมงคลการสร้างเมืองใหม่ แล้วทรงปฤกษาด้วยชีพ่อพราหมณ์ว่าจะขนานนามเมืองใหม่ว่าอไรดี ชีพ่อพราหมณ์ผู้รู้วิทยากราบทูลข้อความตามสังเกต ว่าเมื่อเสด็จพระราชดำเนินมาถึงนั้นเปนยามพิศณุ เพราะฉนั้นขอพระราชทานขนานนามพระนคร ว่าเมืองพระพิศณุโลก พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกก็ชอบพระไทย แลทรงพระราชดำริห์ต่อไปว่า เมืองนี้ก่อกำแพงวงเปนเมืองเดียวก็แต่แยกอยู่ ๒ ฝั่งน้ำ ดูเหมือนเปนเมืองฝาแฝด แม่น้ำเปนคูคั่นเหมือนกำแพงกันอยู่กลาง อนึ่งเดิมก็ทรงพระราชดำริห์จะสร้างพระราชทานพระราชโอรส ๒ พระองค์ ควรจะให้นามเปน ๒ เมือง จึงพระราชทานนามเมืองฝั่งตวันออกตามคำชีพ่อพราหมณ์กราบบังคมทูลว่าเมืองพระพิศณุโลก แต่เมืองฝั่งตวันตกนั้น พระราชทานนามตามชอบพระหฤทัย ต่อออกให้เปนกลอนอักษรเพราะว่าเมืองโอฆบุรี อาศรัยเหตุว่าแม่น้ำซึ่งไหลไปกลางระหว่างกำแพงทั้ง ๒ ฟากนั้นเปนห้วงลึก เมื่อฤดูแล้งน้ำขังอยู่มากกว่าเหนือน้ำใต้น้ำ เมื่อจะเรียกชื่อรวมกันเปนเมืองเดียวก็ได้ ว่าเมืองพระพิศณุโลกโอฆบุรี แล้วพระองค์ก็เสด็จยกเข้าไปตั้งพระราชวังอยู่ในเมืองฝั่งฟากข้างตวันตกแลประทับสำราญอยู่ในที่นั้นนานวันยังไม่คิดจะเสด็จกลับ เพื่อจะบำเพ็ญพระราชกุศลทำนุบำรุงพระพุทธสาสนา ไว้พระเกียรติยศให้ปรากฎพระนามไปภายน่าด้วยการสร้างพระเจดีย์สถาน ซึ่งเปนถาวรวัตถุอันผู้อื่นจะทำลายล้างเสียไม่ได้ อิกฝ่ายหนึ่งนั้นพระองค์ทรงพระราชดำริห์ราชการซึ่งจะแผ่พระราชอาณาเขตรลงมาทางเมืองลโว้
บัดนี้จะว่าด้วยการพระราชกุศล อันพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกได้ทรงสร้างที่ในเมืองพระพิศณุโลกนั้น คือพระองค์ให้จับการสถาปนาพระมหาธาตุรูปปรางค์สูง ๘ วาแลให้สร้างวิหารทิศทั้ง ๔ ทิศมีพระรเบียงล้อมรอบ ๒ ชั้น แล้วทรงพระราชดำริห์จะสร้างพระพุทธรูปสำหรับพระวิหารนั้น
ในเวลานั้นที่เมืองศรีสัชนาไลย ทั้งสวรรคโลก แลโศกโขไทย เปนที่เลื่องลือปรากฎในการฝีมือช่างต่าง ๆ ทั้งการที่ทำพระพุทธรูปว่ามีฝีมือดียิ่งนัก พระองค์จึงทรงพระวิตกไปว่าถ้าจะทำแต่ด้วยฝีมือชาวเมืองเชียงแสนจะสู้พระพุทธรูปเมืองสวรรคโลกไม่ได้ ก็จะเปนที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศ อิกประการหนึ่ง การที่พระองค์มีพระเดชานุภาพครอบงำประเทศหริภุญไชย แลศรีสัชนาไลยอยู่ได้ ควรจะให้ปรากฎพระเกียรติยศไว้ จึงมีพระราชสาสนไปยังกรุงศรีสัชนาไลยขอช่างมาช่วยหุ่นพระพุทธรูป สมเด็จพระเจ้ากรุงศรีสัชนาไลยจึงส่งช่างพราหมณ์ที่มีฝีมือดี ๕ นายให้มากับราชทูต มีชื่อจดหมายไว้ในหนังสือโบราณว่า ชื่อบาอินทร ๑ บาพรหม ๑ บาพิศณุ ๑ บาราชสังข ๑ บาราชกุศล ๓ รวมพราหมณ์ ๕ นาย ครั้นเมื่อมาถึงเมืองพระพิศณุโลกแล้ว พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกจึงให้ช่างสวรรคโลกสมทบกับช่างชาวเมืองเชียงแสน แลช่างชาวเมืองหริภุญไชย ซึ่งพระองค์ให้ตามเสด็จมาก่อนแล้วนั้น ช่วยกันหุ่นพระพุทธรูป ๓ พระองค์ มีทรวดทรงสัณฐานคล้ายกัน แต่ประมาณนั้นเปน ๓ ขนาด คือพระองค์ ๑ ตั้งพระนามเริ่มไว้ว่าพระพุทธชินราช น่าตักกว้าง ๕ ศอกคืบ ๕ นิ้วมีเศษ อิกพระองค์ ๑ เริ่มพระนามไว้ว่าพระพุทธชินสีห์ น่าตัก ๕ ศอกคืบ ๔ นิ้ว อิกพระองค์ ๑ เริ่มพระนามไว้ว่าพระศรีสาสดา น่าตัก ๔ ศอกคืบ ๖ นิ้ว พระองค์ทรงเลือกลักษณอาการตามชอบพระทัยให้ช่างทำ คือสัณฐานอาการนั้นอย่างพระพุทธรูปเชียงแสน ไม่เอาอย่างพระพุทธรูปในเมืองศรีสัชนาไลย เมืองสวรรคโลกแลเมืองโศกโขไทย เลือกเอาแต่สิ่งที่งามตามลักษณบางอย่างปนๆกัน เปนอย่างเชียงแสนบ้าง อย่างสวรรคโลกโศกโขไทยบ้าง แต่นิ้วพระหัตถ์ซึ่งพระ/*13*สวรรคโลกโศกโขไทยไม่เสมอกันอย่างมือคน รับสั่งให้ทำให้เสมอกันตามที่พระองค์ทรงทราบว่าเปนพุทธลักษณ แล้วให้ช่างแลคนทั้งปวงดูเปนอันมาก เห็นพร้อมกันว่าพระพุทธรูปทั้ง ๓ พระองค์นี้ งามดีหาที่เสมอมิได้ จึงให้เข้าดินอ่อนดินแก่ ติดชนวนตรึงทอยรัดปลอกแน่นหนาพร้อมบริบูรณเสร็จแล้ว จึ่งให้รวบรวมหาทองสำฤทธิ์อย่างดีได้หลายร้อยหาบ แลตระเตรียมการซึ่งจะหล่อนั้นสำเร็จแล้ว พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกจึงดำรัสสั่งให้อาราธนาชุมนุมพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีโดยรอบคอบใกล้เคียงเมืองนั้น ทั้งฝ่ายคณะคามวาสีแลอรัญวาสี มีพระอุบาฬีแลพระศิริมานนท์ อันอยู่วัดเขาสมอแครงเปนประธาน ให้สวดปริตพุทธมนต์มหามงคลทำสัจจกิริยาธิฐาน อาราธนาเทพยดาให้ช่วยในการนั้น แลให้ชีพ่อพราหมณ์ทำพิธีตามพราหมณสาตรช่วยในการพระราชประสงค์ ครั้นณวัน ๕ ๑๕ฯ ๔ ค่ำปีเถาะสัปตศก จุลศักราช ๓๑๗ ได้ทรงเททองหล่อพระพุทธรูปทั้ง ๓ พระองค์ด้วยเนื้อทองสำฤทธิโบราณแท้ ครั้นสำเร็จแล้วเมื่อพิมพ์เย็นได้แกะพิมพ์ออก รูปพระชินสีห์แลพระศรีสาสดาบริบูรณดีมีน้ำทองแล่นตลอดเสมอกันเปนการสำเร็จ แต่รูปพระพุทธชินราชเจ้านั้นทองไม่แล่นบริบูรณ ช่างได้ทำหุ่นรูปใหม่แลหล่ออิกถึง ๓ ครั้งก็ไม่สำเร็จเปนพระองค์ สมเด็จพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกทรงพระโทมนัศยิ่งนัก
จึงทรงตั้งสัจจกิริยาธิฐาน เสี่ยงเอาบุญมบารมีของพระองค์เปนที่ตั้งแล้วรับสั่งให้สมเด็จพระนางประทุมาราชเทวีทรงอธิฐานด้วย จึงให้จัดการหุ่นพระพุทธชินราชใหม่ ครั้งนั้นมีปขาวคนหนึ่งเช้ามาช่วยปั้นหุ่นทำการแขงแรง แต่ไม่พูดด้วยปากใช้แต่ใบ้ ใครถามชื่อแลตำบลบ้านก็ไม่บอกไม่มีผู้ใดรู้จัก ทำงานทั้งกลางวันกลางคืนไม่มีเวลาหยุด ครั้นรูปหุ่นสำเร็จงามดีเข้าดินพิมพ์แห้งแล้ว กำหนดมหามงคลฤกษเททอง ณวัน ๕ ๘ฯ ๖ ค่ำปีมเสงนพศก จุลศักราช ๓๑๙ พระพุทธสาสนกาลล่วงแล้ว ๑๕๐๐ หย่อนอยู่ ๗ วัน ดำรัสสั่งให้อาราธนาชุมนุมพระภิกษุสงฆ์ชีพ่อพราหมณ์ ทำการมงคลพิธีเหมือนครั้งก่อน แล้วเททองๆก็แล่นเต็มบริบูรณ ปขาวที่มาช่วยทำนั้น ก็เดินออกจากที่นั้นไปออกประตูเมืองข้างเหนือไปถึงที่ตำบลหนึ่งก็หายไป บ้านนั้นจึงได้ชื่อว่าปขาวหายอยู่จนทุกวันนี้ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเมื่อต่อยพิมพ์พระพุทธรูปออกเห็นบริบูรณงามดี จึงมีรับสั่งให้ข้าราชการไปเที่ยวสืบหาตัวปขาวผู้นั้น เพื่อจะพระราชทานรางวัล ก็ไม่ได้ตัว จึงโปรดให้ช่างแต่งตัวพระพุทธรูปให้เกลี้ยงเกลาดี แล้วชักเงาอย่างเครื่องสำฤทธิไม่ได้ปิดทอง ให้เชิญเข้าประดิษฐานไว้ในสถานทั้ง ๓ คือพระพุทธชินราชอยู่ในวิหารใหญ่ สถานทิศตวันตกพระมหาธาตุ ผันพระภักตร์ต่อแม่น้ำ พระพุทธชินสีห์อยู่ทิศเหนือ พระศรีสาสดาอยู่ทิศใต้ พระวิหารใหญ่ทิศตวันออก เปนที่ธรรมสวนะสักการ ที่ถวายนมัสการพระมหาธาตุแลเปนที่ชุมนุมพระสงฆ์ พระพุทธรูปยืนซึ่งปรากฎอยู่ทุกวันนี้เปนของสร้างขึ้นใหม่
อนึ่งเมื่อเวลาที่หล่อพระพุทธชินสีห์ แลพระศรีสาสดาเสร็จแล้วนั้น ทองชลาบแลชนวนของพระพุทธรูป ๒ องค์ที่เหลืออยู่ สมเด็จพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก รับสั่งให้รวมลงในทองซึ่งจะหล่อพระพุทธชินราช ครั้นเมื่อหล่อพระพุทธชินราชแล้ว ให้ปั้นพระพุทธรูปน่าตักศอกเศษเอาทองที่เหลือลาบพระพุทธชินราชหล่อ เรียกนามว่าพระเหลือ ส่วนชนวนแลชลาบของพระเหลือนั้นก็หล่อรูปพระสาวก ๒ องค์ สำหรับพระเหลือนั้นเอง ครั้นเมื่อการหล่อพระสำเร็จแล้ว จึงรับสั่งให้เก็บอิฐซึ่งก่อเปนเตาหลอมทองแลเตาสุมหุ่นหล่อพระทั้งปวงนั้น มาก่อเปนชุกชีสูง ๓ ศอก แลให้ขุดดินที่อื่นมาผสมกับดินพิมพ์ที่ต่อยจากพระพุทธรูปถมในชุกชีนั้น แล้วทรงปลูกต้นพระมหาโพธิ ๓ ต้น แสดงว่าเปนพระมหาโพธิสถานของพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา ๓ พระองค์ เพราะเหตุว่าที่ซึ่งปลูกต้นมหาโพธินั้นเปนที่ซึ่งได้หล่อพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์นั้นจึงเรียกนามว่าโพธิสามเส้าสืบมา แล้วให้สร้างปฏิมาฆรสถานเปนวิหารน้อยในระหว่างต้นพระมหาโพธิทั้ง ๓ หันน่าต่อทิศอุดร เล้วเชิญพระเหลือกับพระสาวกทั้ง ๒ องค์เข้าไว้ในที่นั้น ให้เปนหลักแสดงสถานที่ซึ่งได้หล่อพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์นั้นปรากฎอยู่จนทุกวันนี้
ในระหว่างเมื่อกำลังทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอยู่นั้น ก็ได้ทรงสร้างพระราชวังในเมืองฝั่งตวันตกเหนือที่ตรงน่าวัดมหาธาตุหน่อยหนึ่ง ก่อกำแพงพระราชวังเปน ๒ ชั้น แลมีพระราชมณเฑียรใหญ่น้อยตามสมควรแก่พระราชอัธยาไศรย ครั้นเมื่อการพระอารามการพระราชวังแลพระนครแล้วสำเร็จ ก็ให้มีการมโหรสพสมโภช ๗ วัน แล้วเสด็จประทับสำราญอยู่ในเมืองพระพิศณุโลกนั้นถึง ๗ ปี จนเมืองพระพิศณุโลกมีอาณาประชาชนบริบูรณมั่งคั่งสมบูรณเปนพระนครอันหนึ่ง
ในระหว่างเมื่อพระองค์เสด็จประทับอยู่ได้ทรงพระราชดำริห์การแผ่พระราชอาณาเขตรลงมาโดยลำดับ จนถึงเมืองลโว้ ก็ตกอยู่ในอำนาจของพระองค์ เพราะฉนั้นการซึ่งทรงพระราชดำริห์ไว้เดิมว่าจะให้พระราชโอรสอยู่ครองเมืองพิศณุโลกนั้น ก็เปลี่ยนแปลงไป เปนพระราชทานอภิเศกให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าไกรสรราชเสด็จไปเสวยราชสมบัติในกรุงลโว้ ให้ไปขอรับนางสุนทรเทวี อันเปนพระราชธิดาพระเจ้ากรุงศรีสัชนาไลยสวรรคโลก ซึ่งผลัดแผ่นดินใหม่เปนพระมาตุลราชของสมเด็จพระเจ้าไกรสรราชนั้นมาตั้งไว้ในที่พระอรรคมเหษี แล้วทรงสร้างเมืองใหม่อิกเมืองหนึ่งห่างเมืองลโว้ ๕๐๐ เส้น ประกอบด้วยพระราชวังแลกำแพงเมืองพร้อมบริบูรณ พระราชทานนามเมืองว่าเสนาราชนคร ให้ไปรับเจ้าดวงเกรียงกฤษณราชมาอภิเศกกับด้วยพระราชธิดาของพระองค์ให้ครองเมืองใหม่นั้น ครั้นเมื่อราชการฝ่ายข้างใต้ตั้งมั่นลงแล้วพระองค์จึงทรงพระราชดำริห์ที่จะยกกลับคืนไปยังพระนครเชียงแสน จึงทรงตั้งให้จ่านกร้องจ่าการบุญเปนเสนาบดีมืยศเสมอกันอยู่รักษาเมืองพิศณุโลก แล้วพระองค์ก็เสด็จขึ้นไปยังเมืองเชียงแสนพร้อมด้วยเจ้าชาติสาครราชโอรส ครั้นเมื่อเสด็จถึงเมืองเชียงแสนแล้ว จึงได้ทรงแต่งให้เจ้าชาติสาครไปครองเมืองเชียงรายอันเปนเมืองใกล้พระนครเชียงแสน พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกบรมบพิตรดำรงพระชนมายุอยู่ได้ ๑๕๐ ปีจึงเสด็จสวรรคต อำมาตย์ก็ส่งข่าวสารไปทูลเจ้าชาติสาครณเมืองเชียงราย เจ้าชาติสาครเสด็จไปเมืองเชียงแสน จัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จแล้ว ก็เสวยราชสมบัติในเมืองเชียงแสนสืบสันตติวงษ์มา
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสสรเสริญพระพุทธรูป ๓ พระองค์นี้ไว้ว่า
“ก็แลพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีสาสดา ๓ พระองค์นี้ เปนพระพุทธปฏิมากรดีล้ำเลิศ ประกอบไปด้วยพุทธลักษณอันประเสริฐมีศิริอันเทพยดาหากอภิบาลรักษา ย่อมเปนที่สักการบูชานับถือมาแต่โบราณ แม้พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรียุทธยาเก่า ที่ได้มีพระเดชานุภาพมโหฬารปรากฎมาในแผ่นดิน ก็ทรงนับถือทำสักการบูชามาหลายพระองค์”
“เมื่อจุลศักราช ๗๔๖ ปีวอกฉศก สมเด็จพระราเมศวรเสด็จขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ เสด็จกลับลงมาถึงเมืองพิศณุโลกนมัสการพระพุทธชินราชพระพุทธชินสีห์ เปลื้องเครื่องต้นทำสักการบูชาแลมีมโหรสพสมโภช ๗ วัน แล้วเสด็จกลับคืนยังพระนคร”
แลในระหว่างตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระราเมศวรสืบมานั้น พระเจ้าแผ่นดินได้เสด็จพระราชดำเนินในการพระราชสงครามทางนั้น มีอยู่บ้าง แต่ไม่ปรากฎว่าได้เสด็จไปนมัสการพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ เหตุซึ่งพระเจ้าแผ่นดินในตอนนี้ไม่ได้เสด็จนั้น เพราะหัวเมืองเหนือทั้งปวงเปนประเทศราช มีเจ้าครองเมืองสืบตระกูลกันมาบ้าง เปนเจ้านายในพระราชวงษ์ที่สนิทบ้าง แต่ถึงว่าเจ้าผู้ครองเมืองเหล่านั้นจะไม่ได้เปนเจ้านายในพระราชวงษ์ที่ใกล้ชิด ก็คงนับเนื่องในพระราชวงษ์โดยมาก มีปรากฎในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ นับเมืองประเทศราชข้างฝ่ายเหนือ ซึ่งมีเจ้าครองเมือง คือเมืองพระพิศณุโลก ๑ เมืองโศกโขไทย ๑ เมืองพิไชย ๑ เมืองสวรรคโลก ๑ เมืองกำแพงเพ็ชร ๑ เมืองพิจิตร ๑ เมืองนครสวรรค์ ๑ ทั้งนี้เห็นจะเปนพระราชวงษ์ห่างๆแลราชตระกูลเก่าแต่เมืองลพบุรีซึ่งสมเด็จพระราเมศวรครอง แลเมืองสุพรรณบุรีซึ่งสมเด็จพระบรมราชาธิราชครองเปนเมืองในพระราชวงษ์แท้ดังนี้ หาได้นับเข้าในจำนวนเมืองประเทศราชเหล่านี้ไม่
แลในเมืองเหล่านี้ก็ดูเหมือนจะมีเหตุที่รบพุ่งรุกเหลื่อมเขตรแดนกันอยู่เนืองๆ บางทีก็ตั้งแขงเมืองขึ้นต้องยกขึ้นไปปราบปราม เช่นแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ เสด็จขึ้นไปตีเมืองพระพิศณุโลก เมื่อได้เมืองแล้วก็คงจะได้เสด็จเข้าไปนมัสการพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ แต่หาได้กล่าวไว้ในพงษาวดารไม่
อนึ่งเมื่อจุลศักราช ๗๘๖ สมเด็จพระราเมศวรซึ่งเปนสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ เสด็จขึ้นไปเมืองพิศณุโลกซึ่งกล่าวว่าได้เห็นน้ำพระเนตรพระพุทธชินราชตกเปนโลหิตนั้น ก็ปรากฎชัดว่าได้เสด็จไปนมัสการพระพุทธชินราช แต่ไม่ได้กล่าวถึงสมโภชบูชาอย่างไร ก็เพราะไปมัวกล่าวถึงน้ำพระเนตรเปนการตกใจเสียแล้วเท่านั้น
ครั้นเมื่อจุลศักราช ๘๖๘ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระอาทิตยวงษ์ซึ่งภายหลังเปนสมเด็จพระบรมราชามหาพุทธางกูร เสด็จขึ้นไปครองเมืองพระพิศณุโลก ก็นับว่าคงจะทรงปฏิบัติบูชาพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ เพราะเสด็จประทับอยู่ในเมืองนั้น
ต่อนั้นมาสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เสด็จขึ้นไปครองเมืองพระพิศณุโลก พระองค์ได้ทรงปฏิบัติบูชาพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ แลได้ทรงสร้างอารามซึ่งใกล้เคียงเปนหลายตำบล ปรากฎว่าพระองค์ทรงนับถือเลื่อมใสในพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์มาก มีพระราชดำริห์อันพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงไว้ว่า
“อันสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช แลสมเด็จพระนเรศวรบรมนารถ แลสมเด็จพระเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถสามพระองคนี้ เมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ามหาจักรพรรดิราชาธิราชได้เสด็จประทับอยู่ณเมืองพระพิศณุโลก ทั้งสามพระองค์ได้มอบพระองค์อุประฐากปฏิบัติพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีสาสดา ได้ทรงทำสักการบูชาเนื่องๆมาเปนอันมาก หากอำนาจพระราชกุศลที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญ ด้วยความเลื่อมใสในพระพุทธมหาปฏิมากรอันประเสริฐทั้ง ๓ พระองค์นี้ ภายหลังมาพระองค์ก็ได้เสวยราชสมบัติเปนพระเจ้าแผ่นดินสยามใหญ่มีไชยชำนะสัตรูหมู่ปัจจามิตร ทั่วทุกทิศทุกทางโดยลำดับราชการสืบๆกันมาถึงสามแผ่นดิน ด้วยพระบารมีพระเจ้าแผ่นดินสามพระองค์นั้น เล่าฦๅชาปรากฎมาก พระเจ้าแผ่นดินสยามแทบทุกแผ่นดินในภายหลังมาก็พลอยนับถือพระพุทธปฏิมากร คือพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์สืบมา แลคนเปนอันมากก็ลงใจเห็นว่า พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ ๒ พระองค์นี้งามนัก ไม่มีพระพุทธรูปใหญ่น้อยที่ไหนๆใหม่เก่างามดีไปกว่าได้ เห็นจะเปนของที่เทพยดาเข้าสิงช่างหรือนฤมิตรเปนมนุษย์มาช่วยสร้างช่วยทำเปนแน่”
มีคำซึ่งจะพึงกล่าวได้อิกว่า พระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามโดยมากซึ่งทรงนับถือในพระพุทธปฏิมากรทั้ง ๓ พระองค์นี้ มีพระเจ้าแผ่นดินสามพระองค์ อันพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์ดังกล่าวมาแล้วเปนสำคัญนั้น ได้ทรงนับถือด้วย มีเหตุอย่างอื่นอันควรจะเปนที่ตั้งด้วย เหตุว่าสมเด็จพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกผู้สร้างพระพุทธปฏิมากรนี้ ก็นับว่าเปนต้นเชื้อสายแห่งพระบรมราชวงษ์เชียงราย อันเปนบรมราชวงษ์สืบเชื้อสายมายืดยาว ถึงจะมิได้ตรงมาโดยลำดับ ก็นับเนื่องกันได้ดังเช่นสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถสองพระองค์นี้ พระราชมารดาก็คือสมเด็จพระวิสุทธิกษัตริย์ อันเปนพระราชธิดาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชบรมราชวงษ์เชียงราย ฝ่ายสมเด็จพระมหาธรรมราชาซึ่งเปนพระราชบิดา ก็เปนเชื้อสายสมเด็จพระร่วงเจ้าอันเปนพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีสัชนาไลยสืบมาโดยทางเมืองลวรรคโลกแลศุโขไทยพระเจ้าแผ่นดินซึ่งสืบสันตติวงษ์ต่อมา เว้นไว้แต่ที่คั่นที่แทรกแล้ว ก็นับว่่ามีประพันธ์อันอาจจะนับเนื่องได้ โดยนัยใดนัยหนึ่งโดยมากดังนี้
การสักการบูชาอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชได้ทรงทำนั้น เปนการประจำมิได้กล่าวไว้ในพระราชพงษาวดาร ส่วนการที่จะกล่าวถึงพระเจ้าแผ่นดินอันได้ทรงทำสักการบูชาพระพุทธปฏิมากรสามพระองค์นี้ ต่อมาก็จะพึงเก็บความได้ตามที่อ้างว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้ ซึ่งได้ลงในวชิรญาณวิเศษ เล่ม ๓ แต่ผู้แต่งหนังสือนี้มีความรังเกียจในโวหารถ้อยคำตามที่ได้ลงพิมพ์ไว้นั้น ว่ามีผู้อื่นแต่งแซกแซมลงมาก หาใช่พระกระแสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งหมดไม่ เพราะเมื่อเวลาทรงแต่งนั้นผู้เรียงหนังสือฉบับนี้ได้เฝ้าอยู่ที่นั้นเสมอ ถึงว่าการนานมาแล้วจะจำไม่ได้บ้างก็จำโวหารได้ เพราะฉนั้นจึงขอกล่าวคัดค้านให้ท่านทั้งปวงพึงทราบว่า บรรดาข้อความนอกจากที่ได้คัดมาว่าเปนพระกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในหนังสือฉบับนี้แล้ว อย่าได้เชื่อถือว่าหนังสือเรื่องนี้ที่ได้ลงพิมพ์ไว้ในวชิรญาณวิเศษเล่ม ๓ เปนพระกระแสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบริสุทธิทั้งสิ้น ขอให้ถือว่าเปนหนังสือซึ่งมีผู้แซกแซมจะเชื่อถือเอาทั้งหมดไม่ได้
บัดนี้จะได้กล่าวถึงเหตุการอันพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงกระทำการสักการบูชาแต่พระมหาปฏิมากรนี้ ตามเค้าพระราชพงษาวดาร แลตามที่ได้ทราบมา การที่พระเจ้าแผ่นดินได้ทรงทำการสมโภชบูชานั้น ย่อมประกอบเปนไปในเวลาเมื่อเสด็จพระราชดำเนินการพระราชสงครามมีไชยชนะแก่สัตรูหมู่ปัจจามิตร แล้วเสด็จทรงนมัสการนั้นอย่างหนึ่ง เมื่อบ้านเมืองอยู่เย็นเปนศุขปราศจากข้าศึกสัตรูมาช้านานนั้นประการหนึ่ง ในสองประการนี้
เมื่อจุลศักราช ๙๒๖ สมเด็จพระนเรศวรบรมนารถเจ้า เสด็จขึ้นไปช่วยราชการสงครามเมืองหงษาวดีมีไชยชนะ เสด็จกลับมายังเมืองพระพิศณุโลก เปลื้องเครื่องทรงออกบูชาพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ แลมีการสมโภช ๓ วัน ครั้นภายหลังเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นไปอยู่ณเมืองหงษาวดีครั้งหลัง ในปีเดียวกันนั้นก็เปลื้องเครื่องสุวรรณอลังการขัติยาภรณออกทำสักการบูชาพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์อิกครั้งหนึ่ง
เมื่อจุลศักราช ๙๙๓ ปีเถาะตรีศก การสงครามรามัญแลเขมรสงบลง สมเด็จพระเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถ เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการพระพุทธชินราชเมืองพระพิศณุโลก ดำรัสสั่งให้เอาทองนพคุณเครื่องราชูปโภค มาแผ่เปนทองประทาสีปิดพระพุทธปฏิมากรพระชินราชด้วยพระหัตถ์เสร็จบริบูรณ แล้วให้มีการฉลองเล่นมโหรสพบูชา ๗ วัน ๗ คืนเปนมโหฬารยิ่งนัก ในที่นี้ควรจะสังเกตได้ว่าพระพุทธชินราชตั้งแต่สร้างมายังมิได้โดยปิดทอง เปนแต่ขัดเกลี้ยงอย่างพระทองสำฤทธิ สมเด็จพระเอกาทศรฐได้ทรงปิดทองพระพุทธชินราชเปนครั้งแรก
ต่อนั้นมาเกิดพระพุทธบาทขึ้น พระเจ้าแผ่นดินสถาปนาแลเสด็จพระราชดำเนินนมัสการพระพุทธบาทเปนอย่างไกล หาได้เสด็จพระราชดำเนินนอกพระนครแห่งใดไกลกว่านั้นไม่ ต่อมาการภายในบ้านเมืองก็ไม่เปนปรกติจนจุลศักราช ๑๐๒๒ ปีชวดโทศก บ้านเมืองเรียบร้อยเปนปรกติ สมเด็จพระนารายน์มหาราชเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการเปนครั้งแรก ให้มีการมโหรสพสมโภช ๓ วัน ครั้นเมื่อปีขานจัตวาศกจุลศักราซ ๑๐๒๔ เสด็จพระราชดำเนินอิกครั้งหนึ่งครั้งนี้ถึงเมืองศุโขไทย เปนการหนุนกองทัพขึ้นไปจัดการปลายเขตรแดน
จุลศักราช ๑๑๐๒ ปีวอกโทศก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ เสด็จขึ้นไปนมัสการอิกครั้งหนึ่ง ครั้งนั้นเสด็จถึงเมืองสว่างคบุรีได้ทรงทำบานประตูประดับมุกคู่หนึ่ง สำหรับวิหารพระพุทธชินราช
ลุศักราช ๑๑๓๒ ปีขานโทศก พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จขึ้นไปปราบปรามเมืองฝาง แวะนมัสการพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์เปลื้องทรงสพักออกทรงพระพุทธชินราช
ส่วนในพระบรมราชวงษ์นี้ สมเด็จพระปฐมบรมมหาไปยกาธิบดี เมื่อกรุงเก่าเสียแก่ข้าศึก ได้ขึ้นไปอาศรัยอยู่เมืองพระพิศณุโลก แล้วได้เปนอรรคมหาเสนาธิบดีของเจ้าพระพิศณุโลก ซึ่งตั้งตัวเปนเจ้าในเวลานั้น ครั้นเมื่อเจ้าพระพิศณุโลกสิ้นชีพล่วงไปแล้ว พระองค์เสด็จอยู่อิกไม่ช้าก็สิ้นพระชนม์ในเมืองพระพิศณุโลกนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อครั้งกรุงธนบุรีได้เปนจอมพยุหโยธาทัพ ไปปราบปรามประเทศใดๆในทิศนั้น ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงนมัสการพระพุทธปฏิมากรทั้ง ๓ พระองค์นี้ทุกครั้ง แลได้ตั้งรับพม่าข้าศึกอยู่ในเมืองพระพิศณุโลกนั้นเองก็เปนหลายเดือน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ก็ได้เคยตามเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระบรมชนกนารถ แลกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท ก็ได้เปนที่เจ้าพระยาสุรสีหพิศณวาธิราชผู้สำเร็จราชการเมืองพระพิศณุโลก คำซึ่งกล่าวนี้เพื่อจะยกพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า
“พระบรมราชวงษ์ ผู้ตั้งขึ้นแลดำรงกรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยานี้ ได้เคยส้องเสพนมัสการนับถือพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีสาสดา ๓ พระองค์มาแต่ก่อน พระพุทธรูป ๓ พระองค์นี้ก็เปนมหัศจรรย์ คิดแต่แรกสร้างมาถึงปีที่ตั้งพระบรมราชวงษ์กรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาบัดนี้ นานได้ถึง ๘๒๕ ปี ระหว่างพระพุทธสาสกาล ๑๕๐๐ จน ๒๓๒๑ หรือแต่จุลศักราช ๓๑๙ จน ๑๑๔๔ เมืองพระพิศณุโลกก็เปลี่ยนเจ้าผลัดนายร้ายๆดีๆ ลางทีเปนเมืองหลวงลางทีเปนเมืองขึ้นหลายครั้งหลายหน ข้าศึกมาแต่อื่นเข้าผจญเอาไต้เอาไฟจุดเผาถิ่นที่ต่างๆในเมืองนั้นเสียเกือบหมด แต่พระพุทธรูป ๓ องค์นี้มิได้เปนอันตราย ควรเห็นเปนอัศจรรย์ คนเปนอันมากสำคัญว่ามีเทวดารักษา แลบางจำพวกสำคัญเห็นเปนแน่ว่า พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์สองพระองค์นั้น งามแหลมแก่ตามากกว่าพระพุทธรูปใหญ่น้อยบรรดามีในแผ่นดินสยามทั้งปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ ++++++ จึงคาดเห็นว่าเมื่อทำชรอยช่างที่เปนผีสางเทวดาที่นับถือพระพุทธสาสนา แลมีอายุยืนมาได้เคยเห็นพระพุทธเจ้า จะเข้าสิงในตัวหรือดลใจช่างผู้ทำให้ทำไปตามน้ำใจของมนุษย์ดังหนึ่งปะขาวที่ว่าก่อนนั้น ++++++ เพราะฉนั้นจึงมีผู้ที่มีสติปัญญา ซึ่งได้เห็นได้พิจารณาศิริวิลาศพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ยินดีนิยมนับถือด้วยกันเปนอันมากไม่วางวาย แลคนที่เปนปะขาวมานั้นก็เห็นปรากฎชัดว่ามิใช่มนุษย์ เพราะฉนั้นจึงเห็นว่าพระพุทธรูปทั้ง ๓ พระองค์นี้เทวดาทำ ชนทั้งปวงจึงได้นับถือบูชาเปนอันมากมาจนทุกวันนี้แล”
เมืองพิศณุโลกตั้งแต่ถูกพม่าเผาเมื่อครั้งทัพอแซวุ่นกี้ก็รกร้าง คนซึ่งไปอยู่ใหม่ก็ไม่ได้บฏิสังขรณ์อันใดขึ้น วัดพระศรีรัตนมหาธาตุซึ่งไม่ได้ถูกเพลิงไหม้ก็ชำรุดทรุดโทรมไปเองโดยอายุ มีผู้ปฏิสังขรณ์อยู่แต่เฉพาะวิหารพระพุทธชินราชแห่งเดียว เพราะฉนั้นเมื่อจุลศักราช ๑๑๙๑ ปีฉลูเอกศก กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ จึงได้รับสั่งให้ไปเชิญพระพุทธชินสีห์ลงแพล่องมายังกรุงเทพฯ ทอดแพน่าตำหนักน้ำวังน่ามีการสมโภช ๓ วัน แล้วจึงได้เชิญขึ้นประดิษฐานไว้ที่มุขด้านตวันตกพระอุโบสถวัดบวรนิเวศ ซึ่งท่านทรงสร้างขึ้นใหม่นั้น การยังไม่แล้วสำเร็จก็พอสวรรคต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงผนวชไปประทับครองวัดบวรนิเวศ เมื่อวันพุฒเดือนยี่ขึ้นห้าค่ำปีวอกอัฐศก จุลศักราช ๑๑๙๘ รุ่งปีขึ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทูลขอให้ย้ายมาไว้มุขด้านตวันออก แลได้ทรงกาไหล่พระรัศมีฝังพระเนตรแลฝังเพ็ชรพระอุณาโลมแล้วปิดทองใหม่ทั้งพระองค์ ครั้นเมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว จึงทรงทำกาบทองคำลงยาหุ้มพระรัศมีเปนน้ำหนักทองชั่งสิบตำลึง แลหล่อฐานใหม่ เมื่อการฐานได้ประกอบแล้วสำเร็จทรงบีดทองพระพุทธชินสีห์ใหม่ทั้งพระองค์แลฐานพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเคารพนับถือในพระพุทธชินสีห์เปนอย่างยิ่ง ได้บำเพ็ญพระราชกุศลแลมีการมโหรสพสมโภชเปนหลายครั้ง
ส่วนพระศรีสาสดานั้นเดิมเจ้าอธิการวัดบางอ้อยช้าง เชิญลงมาได้ที่วัดบางอ้อยช้าง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติเห็นว่าเปนพระสำคัญงามจึงได้เชิญไปไว้วัดประดู่ซึ่งเปนวัดของท่าน ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงพระราชดำริห์ว่าพระศรีสาสดาเปนพระสำคัญไม่ควรจะอยู่ในวัดราษฎร จึงได้เชิญมาไว้ที่วัดสุทัศนเทพวรารามก่อน ภายหลังจึงให้ย้ายไปไว้ที่พระวิหารวัดบวรนิเวศ เมื่อปีกุนเบญจศก จุลศักราช ๑๒๒๕ ในเวลาลากพระสาสดานั้น พระศอชำรุดมาแต่เดิมก็หักลง ต่อเมื่อไปตั้งวัดบวรนิเวศแล้วจึงได้เทผูก แต่ยังหาได้ทันปิดทองใหม่ไม่ พอเสด็จสวรรคต จึงได้ปิดทองแลทำการพระวิหารนั้นแล้วสำเร็จในประจุบันนี้
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังทรงผนวช ได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการพระพุทธชินราช แลประพาศหัวเมืองเหนือทั้งปวง เมื่อปีมเสงเบญจศก จุลศักราช ๑๑๙๕ เสด็จถึงเมืองสวรรคโลก เมืองโศกโขไทย เมืองฝาง แลเมืองกำแพงเพ็ชร ทรงทราบถิ่นฐานทั่วไป ครั้นเมื่อปีขานอัฐศก จุลศักราช ๑๒๒๘ ในวันลอยพระประทีปเดือน ๑๑ แรมค่ำ ๑ ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชขึ้นทางลำน้ำกลางเมืองพิจิตรเก่า อันบัดนี้ตื้นแห้งดอนเปนฝั่งแล้ว ขึ้นไปถึงเมืองพระพิศณุโลก ทรงนมัสการพระพุทธชินราช เปลื้องกำไลหยกจากพระกรสวมนิ้วพระหัดถ์พระพุทธชินราช แลบูชาด้วยบายศรีปั้นด้วยรักปิดทองสำรับ ๑ ปิดเงินสำรับ ๑ แลต้นไม้เงินทองเครื่องสักการบูชาตามสมควร โปรดเกล้าฯให้มหาดเล็กเล่นหนังซึ่งมีอยู่ณะวัดพระศรีรัตนมหาธาตุนั้นเปนการสมโภชด้วย ประทับอยู่ ๒ ราตรีเสด็จพระราชดำเนินกลับทางคลองเรียงถึงกรุงเทพฯ ณวันเดือน ๑๒ ขึ้นค่ำ ๑ มีกำหนด ๑๕ วันเท่านั้น
ด้วยเรื่องราวอันกล่าวมาแล้วทั้งปวงนี้ แลด้วยได้ตามเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เห็นพระพุทธลักษณแห่งพระพุทธชินราชว่างามหาพระพุทธรูปองค์ใดเปรียบมิได้ ครั้นเพื่อสร้างวัดเบญจมบพิตรขึ้น ได้พยายามหาพระพุทธรูปซึ่งจะเปนพระประธานทั้งในกรุงแลหัวเมือง ตลอดจนกระทั่งถึงเมืองเชียงใหม่ เชียงแสน เชียงราย เมืองนครลำพูน เมืองนครลำปาง เมืองน่าน พระที่ควรจะเชิญลงมาได้ก็ได้เชิญลงมาโดยมาก ที่เชิญลงมาไม่ได้ก็ได้ให้ถ่ายรูปมาดูมีพระเจ้า ๕ ตื้อ พระเจ้า ๙ ตื้อ พระเจ้าล้านทองเปนต้น ก็ไม่เปนที่พอใจ จึงคิดเห็นว่าจะหาพระพุทธรูปองค์ใดให้งามเสมอพระพุทธชินราชนั้นไม่มีแล้ว ครั้นจะเชิญพระพุทธชินราชลงมาก็เห็นว่าเปนหลักเปนศิริของเมืองพิศณุโลก ประดิษฐานอยู่ในเมืองนั้นตั้งแต่สร้างเมืองมาถึง ๙๐๐ ปีเศษแล้ว แลพระพุทธชินสีห์ซึ่งเชิญมาแต่ก่อนก็ไม่เปนที่ชอบใจของชาวเมืองพิศณุโลกเปนอันมาก ยังมีคำเล่ากันอยู่จนทุกวันนี้ว่า เมื่อเชิญออกจากพระวิหารนั้น ราษฎรพากันมึความเศร้าโศกร้องไห้เปนอันมาก เงียบเหงาสงัดไปทั้งเมืองเหมือนศพลงเรือน แลแต่นั้นมาฝนก็แล้งไปถึง ๓ ปี ชาวเมืองพิศณุโลกได้ความยากยับไปเปนอันมาก ตั้งแต่พระพุทธชินสีห์ลงมาถึง กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพก็ทรงพระประชวรพระโรคมานน้ำได้ปีเศษก็เสด็จสวรรคต ราษฎรพากันกล่าวว่า เพราะเหตุที่ท่านไปเชิญพระพุทธชินสีห์อันเปนศิริของเมืองพิศณุโลกลงมานั้น เห็นว่าการที่ถือต่างๆเช่นนี้จะไม่ควรถือก็ตาม แต่ไม่ควรจะทำการกุศล ให้เปนที่เดือดร้อนรำคาญ ไม่เปนที่พอใจของคนเปนอันมาก จึงได้ปรารภที่จะคิดหล่อขึ้นใหม่ให้เหมือนพระพุทธชินราช เพราะมีตัวอย่างอยู่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระองค์เจ้าประดิษฐวรการถ่ายพระพุทธชินสีห์หล่อเปนพระชินสีห์น้อย ตั้งไว้ในวัดพระศรีรัตนสาสดารามองค์ ๑ มีลักษณลม้ายคล้ายคลึงมากจำได้ถนัด ครั้นเมื่อเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปเมืองเหนือครั้งนั้น ก็ได้โปรดเกล้าฯให้ถ่ายพระพุทธชินราช แลกลับลงมาถ่ายพระศรีสาสดาหล่อเปนพระน้อยขึ้นไว้อิกทั้ง ๒ องค์แต่พระน้อย ๒ องค์นี้ห่างเหินจากองค์เดิมมาก
อนึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดพระพุทธสิหิงค์ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งพุทไธสวริยในพระราชวังบวรมาก เมื่อทรงสร้างวัดราชประดิษฐมีพระราชประสงค์จะใคร่เชิญพระพุทธสิหิงค์ไปตั้งเปนพระประธาน แต่เพราะเหตุที่พระนั้นตั้งอยู่บนพระที่นั่งในพระราชวังเปนที่สูงใหญ่แล้ว ไม่ควรจะเชิญไปไว้ที่วัดใ ห้เปนการต่ำศักดิไป จึงโปรดเกล้าฯให้ถ่ายอย่างเท่าพระองค์หล่อขึ้นใหม่ พระพุทธรูปทั้งหลายเหล่านี้ คือพระพุทธสิหิงค์แลพระพุทธชินราชน้อย พระพุทธชินสีห์น้อย พระสาสดาน้อย ก็ได้ประดิษฐานอยู่ในวัดราชประดิษฐบัดนี้
อนึ่งมาคิดเห็นว่าพระพุทธชินราชอันมีพระศิริวิลาศ พุทธลักษณอันงาม ประดิษฐานอยู่ถึงเมืองพระพิศณุโลกเปนระยะทางอันไกล ผู้ใดมีความปราถนาที่จะใคร่นมัสการจะตั้งความอุสาหพยายามขึ้นไปให้ถึงได้เปนอันยาก จะต้องลงทุนรอนมากจึงจะไปได้ ถ้าได้สร้างขึ้นใหม่เฉพาะสำหรับประดิษฐานใว้ในกรุงเทพฯ ก็จะได้เปนที่ชนทั้งปวงอันมีความปราถนาที่จะนมัสการได้ไปมาง่าย จะเปนประโยชน์แก่ชนที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธสาสนาเปนอันมาก แต่การที่จะถ่ายพระพุทธชินราชนั้น เปนอันต้องคำผู้มีบันดาศักดิใหญ่ แลคนทั้งปวงเปนอันมากกล่าวอยู่ว่า ไม่มีผู้ใดซึ่งจะถ่ายให้เหมือนได้ เพราะเชื่อว่าพระชินราชองค์เดิมนั้นเปนฝีมือเทวดาสร้าง ด้วยอาไศรยสัจจาธิฐานของสมเด็จพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฏกเปนที่ตั้ง แต่ครั้นเมื่อได้ปฤกษาหารือด้วยช่างหลวงประสิทธิปฏิมา ซึ่งเปนบุตรหม่อมเจ้าสุบรรณ ในพระเจ้าอัยกาเธอ กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ ซึ่งเปนเทือกเถาเหล่ากอช่างปั้นช่างหล่อพระพุทธรูปมา ๓ ชั่วคนแล้วนั้น หลวงประสิทธิปฏิมารับอาษาว่าจะถ่ายให้เหมือนจงได้ จึงได้คิดการซึ่งจะสร้างพระพุทธชินราชใหม่ ได้มอบการทั้งปวงให้กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เปนผู้จัดการทั้งปวงอยู่ที่กรุงเทพฯ เพื่อจะไม่ให้มีที่ขัดข้องอย่างหนึ่งอย่างใดได้ ฝ่ายการที่เมืองพิศณุโลกนั้นได้มอบให้พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร ซึ่งเลื่อนขึ้นเปนพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ เปนผู้ดูแลจัดการทั่วไป ให้หลวงประสิทธิปฏิมาเปนผู้ถ่ายอย่างแลหุ่นปั้น มีช่างหล่อขึ้นไปช่วยคือ หลวงอินทรพิจิตรเจ้ากรมช่างหล่อซ้าย ๑ ขุนพินิจสรเพลิงปลัดกรมช่างหล่อขวา ๑ ขุนฤทธิสรเพลิงช่างพลพัน ๑ ขุนหมื่นช่างหล่อ ๖ คน ขึ้นไปทำการที่เมืองพิศณุโลก ได้ลงมือหุ่นแลถ่ายอย่างพระพุทธชินราชแต่วันที่ ๑๓ ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ ตรงกับวันพฤหัศบดี แรม ๗ ค่ำเดือนอ้าย ปีชวดโทศกจุลศักราช ๑๒๖๒ ส่วนทองที่จะหล่อนั้นได้ให้พระยาชลยุทธโยธินทร์เอาปืนทอง ซึ่งไม่ได้ใช้แล้วไปย่อยที่โรงหล่อเตรียมไว้ แลต่อเรือซึ่งจะใช้แทนแพรับพระพุทธรูปทอดรางซึ่งจะเชิญขึ้นประดิษฐานในพระอุโบสถ ภายหลังเจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงษ์ ขึ้นไปตรวจการกลับลงมาแจ้งความต้องกันกับรายงานที่ได้บอกโดยทางโทรเลขเนืองๆ ว่ารูปพระที่ปั้นขึ้นใหม่นั้นลม้ายเหมือนพระพุทธชินราชแน่แล้ว
อนึ่งได้ส่งช่างรักขึ้นไปให้ทำการรักพระพุทธชินราชเมื่อถ่ายพิมพ์แล้วให้เกลี้ยงเกลาดียิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน เพื่อจะได้ปิดทองใหม่ทั่วทั้งพระองค์
ครั้นเมื่อการทั้งปวงพร้อมเสร็จได้ออกจากกรุงเทพฯ พักแรมไปตามระยะถึงเมืองพิศณุโลกวันที่ ๑๖ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๐ เวลาบ่ายได้ขึ้นไปนมัสการพระพุทธชินราช แลตรวจการทั้งปวงซึ่งได้ตระเตรียมไว้นั้น โรงที่ตั้งพิมพ์พระปลูกขึ้นในทิศทักษิณ ซึ่งเปนเบื้องหลังโพธิสามเส้าอันเปนที่หล่อพระแต่เดิมแลตั้งโรงยาวอิกโรงหนึ่งต่อลงไปข้างใต้ริมกำแพงวัด สำหรับวางเตาแลสูบซึ่งใช้สูบยืนถึง ๖๐ เตา การพระราชพิธีได้ตั้งในวิหารพระพุทธชินราช ตั้งพระแท่นสวดล่ามตะพานไปยังเรือนแก้วพระพุทธชินราช พระไชยวัฒน์เงินหลังช้างแลพระไชยเนาวโลหตั้งม้าหมู่น่าที่บูชาเดิมสำหรับพระวิหาร เวลาบ่ายสวดมนต์พระสงฆ์ ๑๐ รูปตั้งน้ำวงด้าย พระสงฆ์ซึ่งจะสวดพระราชพิธีนี้เปนเวลาขัดข้อง ด้วยเกี่ยวอยู่ในพรรษา จึงได้นิมนต์พระราชมุนี (เข้ม) วัดมหาธาตุ กับบาเรียน ๓ รูป พิธีธรรม ๑ รูป ขึ้นไปจำพรรษาอยู่ณเมืองพิศณุโลก นอกนั้นเปนพระหัวเมือง มีพระปรากรมมุนีเจ้าคณะเมืองเปนประธาน
ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ ๑๗ ตุลาคมรัตนโกสินทรศก ๑๒๐ เวลาเช้าย่ำรุ่ง ๕๒ นาที เปนฤกษปิดทองพระพุทธชินราช ได้ปิดทองด้วยมือทั่วทั้งพระภักตร์แล้วจุดชนวนเทียนไชย อธิฐานให้พระราชมุนีจุดเทียนไชย แลเลี้ยงพระสงฆ์ ๓๐ รูปแล้ว เริ่มสวดภาณวารปลายเปนพุทธาภิเศกตั้งแต่เวลาเช้านี้ไป แลเริ่มการสมโภชพระพุทธชินราชด้วยการมโหรสพมีลครเปนต้น เวลาบ่าย ๒ โมงการปิดทองพระพุทธชินราชแล้วสำเร็จ เห็นพระศิริรูปโอภาษผ่องใสเปนที่ชื่นชมยินดียิ่งนัก ได้ถวายแพรคาดสีนวลซึ่งเปนพระภูษาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อันพระเจ้าไอยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรษฐสุดาประทานถวายเปนพุทธบูชา แต่ครั้นจะทรงที่พระองค์ก็ไม่เปนที่พอใจในการซึ่งพระพุทธรูปอันงามมีผ้าไปหุ้มห่อเสีย จึงได้คล้องไว้ที่นิ้วพระหัดถ์ที่พระองค์นั้น ได้ถวายสังวาลเพ็ชรทรงสายหนึ่ง ส่วนตาดซึ่งสำหรับจะทรงนั้นได้ประดับไว้ที่ฐานแล้ว ได้ถวายเครื่องบรรณาการต้นไม้ทองต้นไม้เงินเทียนทองเทียนเงินตะเกียงน้ำมันหอมตามแบบเครื่องบรรณาการเจดียสถานที่สำคัญทั้งปวง เแต่บายศรีปั้นด้วยรัก ๒ สำรับตามแบบอย่างในรัชกาลที่ ๔ แต่เดิมเหมแลแว่นสำหรับเวียนเทียนซึ่งทำด้วยรัก ปิดทองปิดเงินเปนสำรับกันขึ้นนั้น ได้ตั้งให้พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชตั้งแต่วันนี้เปนต้นไป การเวียนเทียนนั้นช้ามาก จนต้องสวดมนต์ไปพลาง
วันที่ ๑๗, ๑๘, ๑๙ ตุลาคม สวดพระพุทธมนต์แล้วจุดดอกไม้เพลิง มีหนังข้าราชการเชิดสมโภชทั้ง ๓ วันๆแรกตำรวจ วันที่ ๒ ทหารบกทหารเรือ วันที่ ๓ มหาดเล็กแลกรมวัง เวลาเช้าเลี้ยงพระซึ่งเข้าพระราชพิธีนั้นทุกวัน ชีพ่อพราหมณตั้งพระราชพิธีตามพราหมณสาตร
ครั้นศุภมงคลฤกษ์ วันที่ ๒๐ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๐ ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีฉลูตรีศก จุลศักราช ๑๒๖๓ เวลาเช้าย่ำรุ่งแล้ว ๓๘ นาที ๔๔ วินาที พระอาทิตย์สถิตย์ราษีดุล พระอังคารสถิตย์ราษีพิจิก พระพุฒสถิตย์ราษีดุล พระเสาร์สถิตย์ราษีธนู พระพฤหัศบดีสถิตย์ราษีธนู พระราหูสถิตย์ราษีดุล พระศุกรสถิตย์ราษีพิจิก พระเกตุสถิตย์ราษีมังกร มฤตยูสถิตย์ราษีพิจิก พระจันทร์สถิตย์ราษีมังกรเสวยฤกษ์อุตราสาธ พระลักขณาสถิตย์ราษีดุล เกาะนวางค์พฤหัศบดี ตรียางค์ศุกร ได้เททองลงในพิมพ์ แลในระหว่างพระราชพิธีนั้นมีพระบรมวงษานุวงษ์แลข้าราชการราษฎรเปนอันมากได้นำทองเงินนากแลเครื่องรูปพรรณมาบรรจุในเบ้าเพื่อจะให้หล่อพระพุทธรูปเปนอันมาก เปนน้ำหนักทองประมาณ ๓ ชั่ง เงินประมาณ ๑๐๐๐ บาทเศษ สิ่งของรูปพรรณต่างหาก พิมพ์นั้นจุทองมากกว่าที่กะเปนอันมาก เพราะฉนั้นจึงมิได้หล่อเแล้วเสร็จได้ในวันเดียว ท่อนพระเพลาได้หล่อต่อไปในวันข้างน่า จำนวนทองที่ได้เทในพิมพ์นั้นดังนี้ พระเศียรทอง ๒๘ เบ้า หนัก ๑๓๒๐ ชั่ง พระรัศมีทองเบ้าครึ่ง หนัก ๖๐ ชั่ง พระองค์ทอง ๒๕ เบ้า หนัก ๑๐๐๐ ชั่ง พระหัดถ์ขวาทองเบ้า ๑ พระหัดถ์ซ้ายทองเบ้า ๑ หนักรวม ๘๐ ชั่ง พระกรขวาทอง ๖ เบ้า หนัก ๒๔๐ ชั่ง พระเพลาทอง ๓๖ เบ้า หนัก ๑๔๔๐ ชั่ง รวมทอง ๙๘ เบ้าครึ่ง หนัก ๓๙๔๐ ชั่ง
ครั้นณวันที่ ๒๗ ตุลาคม กลับลงมาถึงเมืองพระพิศณุโลก ได้เห็นพระพุทธชินราชเชิญลงบรรจุในเรือเสร็จแล้ว ดวงพระภักตร์มีเค้าเหมือนพระพุทธชินราช แต่สังเกตตาว่าใหญ่กว่าองค์เดิมเปนอันมาก ทั้งนี้ก็เปนด้วยแลดูที่ต่ำ
ที๋ซึ่งหล่อพระใหม่นั้น ได้ให้ก่อชุกชีปลูกต้นมหาโพธิไว้เปนสำคัญ เหมือนอย่างพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกทรงปลูกโพธิ์สามเส้านั้น แลได้ให้หุ่นปั้นพระพุทธรูปขนาดพระเหลืออิกองค์หนึ่ง เพื่อจะได้เก็บทองชนวนที่เหลือจากหล่อพระ หล่อขึ้นสำเร็จแล้วจะได้เชิญไปบระดิษฐานไว้ที่ยอดเขาจำศีล อันเปนที่ตั้งที่ว่าการเมืองลับแล เพื่อให้เปนที่นมัสการของประชุมชนที่ไปเที่ยวเมืองลับแลสืบไป
ในการซึ่งจะตกแต่งพระพุทธรูปซึ่งหล่อใหม่นั้น ดูเปนการมากมายนัก ไม่แลเห็นว่าจะแต่งแล้วได้ภายใน ๖ เดือน การซึ่งกำหนดไว้น่าจะเปนที่เคลื่อนคลาศหมดทั้งสิ้น พระยาชลยุทธโยธินทร์จึงได้แนะนำว่า ขอให้ไปแต่งที่โรงหล่อกรมทหารเรืออันมีเครื่องมือพร้อมจะทำได้เร็วขึ้น แลที่นั้นก็เปนอุดมสถาน เพราะเปนบ้านหลวงเดิมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ แลรับอาษาว่าจะแต่งทั้งกลางวันกลางคืนให้แล้วสำเร็จทันจงได้ เมื่อได้รับคำแนะนำรับรองดังนี้ มีความยินดีเชื่อว่าจะสำเร็จ จึงได้เลิกการซึ่งจะให้เรือพระแวะตามระยะเมืองให้สมโภช ดังเช่นข้าราชการแลราษฎรมีความประสงค์นั้นเสีย ให้เรือกลไฟลากตรงลงมายังกรุงเทพฯ หยุดพักแต่เวลาค่ำ เรือพระพุทธชินราชได้ออกจากเมืองพระพิศณุโลกในวันที่ ๓๐ ตุลาคม ร.ศก ๑๒๐ ถึงกรุงเทพฯ วันที่ ๒ พฤศจิกายน ร.ศก ๑๒๐ แลได้เชิญขึ้นโรงหล่อลงมือแต่งตลอดทั้งเวลากลางวันกลางคืน ๒๔ ชั่วโมง โดยมีช่างผลัดเปลี่ยนกันเปนสำรับ การที่ทำนั้นดำเนินไปโดยรวดเร็วเปนอันมาก ตอนข้างบนซึ่งได้หล่อวันแรกไม่สู้จะเสีย แต่ตอนล่างซึ่งต้องสุมพิมพ์เปนสองคราวชำรุดหลายแห่ง ต้องตกแต่งเข้าไม้เทดาม การที่ทำนั้นอยู่ข้างจะหนักมากเพราะเนื้อทองแข็ง ครั้นเมื่อตกแต่งสำเร็จแล้ว จึงได้ลงสมุกเพื่อที่จะให้รักแห้งเร็วนั้น ได้ใช้น้ำแข็งทั้งแท่งใหญ่วางรายไปรอบพระองค์ รักนั้นก็แห้งเร็วได้ดังปราถนา สมุกยังไม่หนาถึงที่ซึ่งควรจะขัดให้เกลี้ยงเกลาได้ แต่ด้วยวันกำหนดซึ่งจะเชิญไปวัดเบญจมบพิตรนั้นกระชั้น จึงได้อาบรักน้ำเกลี้ยงตกแต่งพอเรียบร้อย
ครั้นวันที่ ๑๐ ธันวาคมรัตนโกสินทรศก ๑๒๐ กำหนดปิดทองเปนครั้งแรก มีพระสงฆ์ราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยไปช่วยเปนอันมาก มีกรมหมื่นวชิรญาณวโรรสแลสมเด็จพระวันรัตเปนประธาน พระบรมวงษานุวงษ์แลข้าราชการ ซึ่งได้ไปด้วยในเวลานั้นก็ได้ปิดทั่วกัน
ความสังเกตในการที่ได้เห็นแต่เดิมมาจนถึงเวลานี้ แต่แรกดูเหมือนว่าพระเศียรจะใหญ่เกินไปดังเช่นกล่าวแล้วแต่ก่อน แต่ครั้งเมื่อคุมติดเข้ากับพระองค์ท่อนที่ ๒ ดูเล็กย่อมลงไปเปนอันมาก ครั้นเมื่อคุมติดเข้ากับท่อนพระเพลา จึงเห็นว่าส่วนนั้นพอสมควรงามดี แลเมื่อแต่งเนื้อทองเกลี้ยงเกลาเปนเงาขึ้น ก็แลเห็นเหมือนพระพุทธชินราชที่พิศณุโลกมากขึ้นทุกที แต่ไม่เหมือนอย่างวันซึ่งปิดทองแล้วนี้ เมื่อเวลาปิดแล้วสำเร็จเปนที่โสมนัศเบิกบานใจ ด้วยได้เห็นพิมพ์พระพุทธปฏิมากรอันโอภาษผ่องใสเหมือนที่ได้เห็นเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ร.ศก ๑๒๐ อิกครั้งหนึ่งฉนั้น ครั้นเมื่อปิดทองพระภักตร์สำเร็จแล้ว ได้เบิกพระเนตรแลติดพระอุณาโลมทองคำ แต่รูปพระอุณาโลมนั้น เห็นว่าพระอุณาโลมพระพุทธชินราชที่เมืองพิศณุโลกซึ่งเปนของทำขึ้นใหม่เพราะของเดิมหายนั้นไม่งาม จึงได้ถ่ายอย่างพระอุณาโลมพระพุทธรูปใหญ่ในกรุงเก่าองค์หนึ่งซึ่งมีเหลืออยู่แต่พระเศียร เชิญลงมาไว้ที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ลดขนาดให้ได้กับพระพุทธชินราชงามดีกว่าของเดิมเปนอันมาก
ครั้นวันที่ ๑๑ ธันวาคม เวลาจวนย่ำรุ่ง ได้เชิญพระพุทธชินราชซึ่งคุมขึ้นบนแท่นรถ อันทำเฉพาะตั้งบนราง เคลื่อนออกจากโรง ต้องรื้อประตูโรงหล่อเลื่อนมาตามรางถึงที่สุดตะพานเสาปั้นจั่นแล้วโยงปั้นจั่นช่วยชักให้ลอยเลื่อนลงไป ตั้งในท่ามกลางเรืออันได้ต่อขึ้นไว้เฉพาะที่จะเชิญพระนั้น แล้วได้จัดการคุมมณฑปอย่างที่สรงพระกระยาสนานประกอบด้วยเสวตรฉัตร ๗ ชั้น อยู่ณเบื้องบนแล้วเลื่อนไปจอดประจำท่าซึ่งได้ทำขึ้นใต้ตะพานปั้นจั่นลงไป ตรงน่าพลับพลาแลโรงพิธีซึ่งปลูกขึ้นใหม่น่าโรงหล่อนั้น แลจัดตั้งเครื่องสูง ๒ แถวทั้งน่าหลัง ตรงน่าพระพุทธชินราชตั้งมยุรฉัตรดอกไม้เงินทอง นกกรเวกแทนพระกรรภิรมย์อย่างโสกันต์ มีพระกลดบังสูรย์พัดโบกที่มุมศีศะแลท้ายเรือมีราชวัตรปักฉัตรกำมลอทั้ง ๔ ทิศ
ครั้นวันที่ ๑๒ เวลาบ่าย พระสงฆ์ราชาคณะผู้ใหญ่ ๒๐ รูป มึกรมหมื่นวชิรญาณวโรรสเปนประธาน สวดพระพุทธมนต์ที่พลับพลาน่าโรงหล่อ พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร ๒๐ รูป แล้วมีการเล่นมโหรสพต่างๆ ทั้งบนบกแลในแม่น้ำมีดอกไม้เพลิง เลี้ยงพระบรมวงษานุวงษ์แลข้าราชการเปนการสมโภชคืน ๑
ครั้งรุ่งขึ้นวันที่ ๑๓ ธันวาคม เวลาเช้าโมงครึ่ง ได้ดำเนินกระบวนแห่จากโรงหล่อขึ้นไปโดยทิศอุดร กระบวนน่ามีเรือประตูเรือทหารปืนใหญ่เรือเสือแลเรือดั้งเรือกลองเรือคู่ชัก ซึ่งเปนกระบวนแห่เสด็จพระราชดำเนินเต็มตามแบบอย่างทุกประการ กระบวนหลังมีเรือกราบดาษสี กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เรือกราบม่านทองแย่ง สมเด็จพระราชาคณะแลพระราชาคณะสุวรรณบัตรหิรัญบัตร ต่อไปเรือพระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยพระครูถานานุกรมบาเรียนพร้อมกันทุกคณะ แล้วจึงถึงเรือแห่ซึ่งพระบรมวงษานุวงษ์ข้าราชการจัดมาเข้าเปนกระบวน ประมาณเรือทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า ๑๐๐๐ ลำ แลผู้ซึ่งได้เข้าในกระบวนเห่นั้นไม่น้อยกว่า ๑๐๐๐๐ คน ได้ดำเนินขบวนขึ้นเดินไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาเลี้ยวคลองสามเสนอันได้เปิดตะพานเหล็กไว้สำหรับแห่พระพุทธชินราชนี้ เมื่อกระบวนแห่ไปถึงปากคลองเปรมประชากรได้แบ่งกระบวนเพียงแต่เรือดั้ง ๔ คู่ เลี้ยวเข้าคลองเปรมประชากร นอกนั้นพายต่อขึ้นไปในคลองสามเสน กระบวนพระสงฆ์ตามเข้าไปในคลองเปรมประชากร แล้วไปฉันเพนที่วัดเบญจมบพิตร พระราชาคณะตั้งแต่ผู้ใหญ่ลงมาจนเสมอเทพฉันสำรับในพลับพลาการเปรียญ นอกนั้นฉันที่ศาลาบัณณรศภาค ศาลาเบญจพิศภาคแลร้านซึ่งได้ปลูกขึ้นสำหรับงานฉลอง เปนจำนวนพระสงฆ์ที่ได้ฉันเข้ากระทง ๕๐๐ หย่อน ๑๖ รูป
ครั้นเมื่อพระพุทธชินราชถึงท่าน่าวัดแล้ว ได้เชิญขึ้นจากเรือเวลา ๕ โมงครึ่ง ได้ดำเนินรถขึ้นตามราง ประดิษฐานพระพุทธชินราชบนแท่นฐานในพระอุโบสถ เปนการสำเร็จโดยความสดวกดีหามีเหตุการอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ เปนที่ชื่นชมยินดี ด้วยมีความวิตกอยู่ว่าการทั้งปวงตั้งแต่ปั้นแลหล่อพระพุทธชินราชมา ถ้าหากว่าไม่งามดีได้ดังประสงค์หรือมีเหตุการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เปนอันตรายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดขึ้น ก็จะเปนที่โทมนัศเสียใจ แลเปนที่รังเกียจของประชุมชนสืบไปภายน่า การซึ่งเปนไปดังเช่นกล่าวมานี้ ย่อมให้เปนที่เกิดความปีติโสมนัศเปนอันมาก
ครั้นเมื่อรื้อตะพานเสร็จแล้ว ได้เปลื้องสายสพายนพรัตนราชวราภรณ์ ถวายทรงพระหัดถ์พระพุทธชินราชเปนพุทธบูชา แลในวันที่แห่พระพุทธชินราชนี้ก็เปนที่พรักพร้อมด้วยพระบรมวงษานุวงษ์แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยแลอาณาประชาราษฎรล้นหลามเต็มตลอดทาง ตั้งแต่พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยไปตลอดจนถึงวัดเบญจมบพิตร แสดงให้เห็นว่าเปนที่ชื่นชมยินดีด้วยกันทั่วหน้า
ตั้งแต่วันที่ ๑๔ ธันวาคมไปจนถึงวันที่ ๒๐ ได้เปิดให้ประชาชนทั้งปวงได้มีโอกาศปิดทองพระพุทธชินราชตามความปราถนาที่ได้มาขออนุญาตเนืองๆนั้น ชนทั้งปวงได้มาบูชาแลปิดทองด้วยมือของตน เมื่อยังไม่พอปราถนาได้ออกเงินให้ไว้เปนการส่วนกุศลอุทิศต่อที่จะปิดทองนั้นตามความปราถนา เปนจำนวนคนที่ได้มาเอง ๑๑๗๗๗ คน ส่วนที่ฝากนั้นก็มาก คิดเปนจำนวนเงินที่ได้รับไว้แล้ว ๒๑๔๕๙ บาท ๒๑ อัฐ ย่อมมีคนมาบูชาตลอดวันยังค่ำมิได้ขาดทุกวันในระหว่างนี้
อนึ่งการที่หลวงประสิทธิปฏิมา ได้มีความสามารถอาจจะสร้างพระพุทธชินราชให้งามดีได้ถึงเพียงนี้นั้น ได้รับบำเหน็จเลื่อนยศเปนพระประสิทธิปฏิมาจางวางช่างหล่อ แลเครื่องราชอิศริยาภรณ์ช้างเผือกสยามชั้นที่ ๔ ภูษนาภรณ์ นอกจากเงินบำเหน็จอันได้รับแล้วแลจะได้รับต่อไปภายน่า ส่วนพระยาชลยุทธโยธินทร์ซึ่งเปนผู้ได้รับอาษาตกแต่งพระพุทธปฏิมากรให้แล้วสำเร็จได้ทันกำหนดนั้น ได้รับพานทองรองล่วมเพิ่มเกียรติยศ ให้ยิ่งขึ้นกว่าพระยาพานทองสามัญอิกชั้นหนึ่ง บรรดาช่างหล่อแลนายช่างซึ่งตกแต่ง ทั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งได้สูบทองในการหล่อพระพุทธปฏิมากรครั้งนี้ ก็ได้รับบำเหน็จรางวัลเครื่องราชอิศริยาภรณ์แลเงินตามควรแก่ถานานุศักดิ
ครั้นวันที่ ๒๓ ๒๔ ๒๕ ๒๖ } ธันวาคม ได้เริ่มมหกรรมการฉลองพระพุทธชินราช พระสงฆ์ ๕ คณะสวดพระพุทธมนต์แลรับอาหารบิณฑบาต ๓ วันๆละ ๓๐ รูป แลมีการเล่นต่างๆมีโขนเปนต้น ทั้งไม้ลอยญวนหกมงครุ่ม กุลาตีไม้ แลมีการตั้งพระพุทธรูปปฏิมากร อันเปนที่นับถือสักการบูชาซึ่งผู้ใดผู้หนึ่งจะเชิญมาตั้งได้ ทั้งพระพุทธรูปอันมีอยู่ในโรงพระอุโบสถพลับพลาการเปรียญ แลพระรเบียง อันพระบรมวงษานุวงษ์ข้าราชการ ได้รับเปนผู้ปฏิบัติรักษา ก็ต่างคนต่างมาชำระขัดสี แลตั้งเครื่องสักการบูชาเปนมโหฬารสักการยิ่งนัก แลตั้งร้านรายทั่วไปทั้งในพระอารามแลนอกพระอารามให้เปนที่ชื่นชมแก่ประชาชนทั้งปวงทั่วหน้า
ครั้นวันที่ ๒๗ ธันวาคม พระสงฆ์ราชาคณะแลพระครูถานาบาเรียนอันดับในพระอารามทั้งปวง พร้อมกันจัดการตั้งกระบวนแห่เครื่องสักการมาบูชาพระพุทธชินราช แลได้เจริญพระพุทธมนต์ในสถานที่ต่างๆ มีพระอุโบสถเปนต้น แลเดินเทียนประทักษิณรอบบริเวณปูชนิยสถานเปนการเคารพต่อพระพุทธชินราชโดยความยินดี
ก็แลการซึ่งได้หล่อพระพุทธชินราชพระองค์นี้ ตั้งแต่เริ่มจับการมาได้ใช้เงินพระคลังข้างที่เปนค่าสิ่งของค่าจ้างเงินเดือนช่าง แลเงินรางวัล เว้นไว้แต่ทองได้ใช้ปืนของเก่า เพื่อจะให้เปนบุญราษีส่วนตน บัดนี้การก็สำเร็จได้ดังความปราถนาทุกประการแล้ว แลพระพุทธชินราชพระองค์นี้ ได้ตั้งใจมีความประสงค์จะยกไว้ให้เปนสมบัติของพุทธสาสนิกชนทั่วทุกหมู่เหล่า มีโอกาศซึ่งจะได้กระทำสักการบูชาเพื่อเปนการเจริญพุทธานุสสติ อันเปนเหตุซึ่งจะนำให้จิตรน้อมไปในทาน ศีล ภาวนา ให้สำเร็จในทางสุคติตามประสงค์ ขอพุทธสาสนิกชนทั้งปวง จงได้รับพระพุทธชินราชนี้ไว้เปนที่สักการบูชา แลจงได้อนุโมทนาในส่วนกุศล แล้วแลทำให้สำเร็จประโยชน์ผลดังความปราถนาแห่งตนแลตนทั่วหน้าเทอญ
----------------------------
คำซึ่งจะจารึกพระพุทธชินราชอันหม่อมเจ้าประภากรในสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอเจ้าฟ้ามหามาลากรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ประพันธ์เปนมคธภาษาว่าดังนี้
สุภมตฺถุ ชินสฺส ธมฺมราชสฺส ภควโต ปรินิพฺพานา จตุสฺสตาธิกานํ ทฺวินฺนํ วสฺสสหสฺสานมุปริ ปฺจจตฺตาฬีสติเม สํวจฺฉเร สํหสฺสทฺวิสตเตสฏฺิมิตจุลฺลสากูสภหายเน สตโต จ วีสติเม รตนโกสินฺทสกฺเกติ สัฺิเต, สมฺปชฺชมาเน; ปรมินฺทมหาจุฬาลงฺกรโณ มหาราชา, สฺยามวิสเย ราชาธิราชวโร,อติเรกเตตฺตึสสรเท ปฺจมมามรรตนโกสินฺทมหาราชธานิยํ รชฺชํ กาเรนฺโต, มหาราชปริวาเรน วิสณุโลกํ ปุรํ คนฺตฺวา, อาสยุชฺชมาสสฺส สุกฺกปกฺเข อฏมิยา ติถิยํ, ตุลาคมมาสสฺส วีสติเมทิเน, สูรวาเร, พิมฺพสฺลุปริมมุเขสุ วิลีนสุวณฺณาทึ โอสิฺจิตฺวา อิมํ พุทฺธปฏิมมกาสิ. โอสิฺจเน สิทฺเธ; โส อิมํ อาหราเปตฺวา, นาวาณิกาณาปนฏฺาเน ปริสุทฺธํ กาเรสิ. โสธเน นิปฺผนฺเน; มาคสิรสูส ชุเณฺห ตติยาย, ธนฺวาคมสฺส เตรสเม, สุกฺเก,ปมุเขหิ มหาชเนหิ ปริวาเรตฺวา คจฺฉนฺเตทิ ปูชิยมานํ อิมํ อาหราเปตฺวา, ปฺจมปวิตฺตตุสิตวนาราเม ปติฏฺาเปสิ. ตตฺถ จ โอสิฺจนโสธเนสุ, ปสิทฺธิปฏิมาติสวฺหยามจฺโจ โอสิฺจเน อาณาปโก อโหสิ. ชลยุทฺธโยธินฺทามจฺโจ โสธเน. อิเมสมปิจ วาจโก ชานาตุ,
“พุทฺธสาสนมฺหิ สทฺธาลุ | ตทูปถมฺภโก วโร |
เย ปุเรยิธ สามินฺทา | สโม โหเตส สามโป” ติ. |
คำแปล
ขอความงามจงมี แต่ปีที่พระผู้มีพระภาคย์ผู้ชำนะ (มาร) ผู้เปนพระราชาเพราะธรรมปรินิพพานมาเมื่อปีที่ ๒๔๔๕ ที่ทราบกันแล้วว่าปีฉลู จุลศักราช ๑๒๖๓ รัตนโกสินทรศก ๑๒๐ มาถึงอยู่พระเจ้าแผ่นดินใหญ่ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ผู้เปนราชาธิราชอันประเสริฐในสยามวิสัย เสวยราชสมบัติในกรุงรัตนโกสินทรเปนคำรบ ๕ ได้ ๓๓ ปีกว่าเสด็จพระราชดำเนินสู่เมืองพิศณุโลกพร้อมด้วยราชบริพารเปนอันมากแล้ว ได้ทรงเททองอันคว้างในช่องชนวนเบื้องบนแห่งรูปพิมพ์หล่อพระพุทธปฏิมาพระองค์นี้ในวัน ๓ ๘ฯ ๑๑ ค่ำ เปนวันที่ ๒๐ ตุลาคม ครั้นการหล่อสำเร็จแล้วโปรดเกล้าฯ ให้เชิญมาแต่งณที่ว่าการกรมทหารเรือ ครั้นการแต่งสำเร็จบริบูรณ์แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เชิญมาประดิษฐานไว้ณวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เมื่อขณะเชิญมามหาชนได้ห้อมล้อมบูชามาตลอดทาง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเปนประธานของมหาชนหมู่นั้นด้วย ก็ในการหล่อพระพุทธปฏิมาองค์นี้พระประสิทธิปฏิมาเปนผู้บังคับช่างหล่อ พระยาชลยุทธโยธินทร์เปนผู้บังคับช่างแต่ง ขอท่านผู้อ่านหนังสือนี้จงทราบว่าพระเจ้าแผ่นดินใหญ่พระองค์นี้มีพระราชศรัทธาในพระพุทธสาสนาเปนอันมาก ทรงอุปถัมภกพระพุทธสาสนาเปนพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงพระคุณธรรมอันประเสริฐเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินสยามในกรุงนี้แต่ก่อนมา ๚