- คำนำ
- คำอธิบาย
- คำอธิบายเมื่อครั้งลงพิมพ์ในวารสารศิลปากร
- อารัมภพจน์
- ตอนที่ ๑
- ตอนที่ ๒
- ตอนที่ ๕
- ตอนที่ ๖
- ตอนที่ ๗
- ตอนที่ ๘
- ตอนที่ ๙
- ตอนที่ ๑๐
- ตอนที่ ๑๑
- ตอนที่ ๑๒
- ตอนที่ ๑๓
- ตอนที่ ๑๔
- ตอนที่ ๑๕
- ตอนที่ ๑๖
- ตอนที่ ๑๗
- ตอนที่ ๑๘
- ตอนที่ ๑๙
- ตอนที่ ๒๐
- ตอนที่ ๒๑
- ตอนที่ ๒๒
- ตอนที่ ๒๓
- ตอนที่ ๒๔
- ตอนที่ ๒๕
- ตอนที่ ๒๖
- ตอนที่ ๒๗
- ตอนที่ ๒๘
ตอนที่ ๘
หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เจ้ากรมอาลักษณ์ ฝ่ายพระราชวังบวรฯ แต่ง
๏ จะกล่าวถึงนางแขกแปลกชาติต่ำ | กายาดำมิดหมีเหมือนสีหมึก |
ชื่อว่านางบาบีดูพิลึก | ชายเห็นแล้วไม่นึกจะเชยชม |
เกศาหยิกยุ่งเหยิงดังเชิงฟัก | เป็นสีจัก |
อีกหน่วยตาทั้งสองก็พองกลม | ฟันขาวราวกับอมเอาเบี้ยไว้ |
ริมฝีปากหนาเหลือแคมเรือมาด | ดูประหลาดไม่น่าชิดพิสมัย |
สองถันยาวย้อยห้อยลงไป | จะหาสิ่งชอบใจก็ไม่มี |
นุ่งห่มตามประเทศข้างเพศแขก | ดูก็แปลกตาละม้ายคล้ายภูตผี |
อยู่กับผัวสุขสบายมาหลายปี | ในแว่นแคว้นบุรีพาลุกา |
ครั้นสามีมอดม้วยด้วยโรคร้าย | นางเป็นม่ายแสนรำคาญนานนักหนา |
ต้องวิโยคโศกเศร้าเปล่าอุรา | ระลึกถึงภัสดายิ่งอาวรณ์ |
โอ้พ่อคุณทูนหัวของเมียเอ๋ย | มาละเลยน้องไว้หนีไปก่อน |
ดั่งชีวิตเมียจะปลิดลงขาดรอน | นางสะท้อนถอนใจพิไรครวญ |
ยามนอนพ่อเจ้าเฝ้ากอดกก | ไว้แนบอกมิได้วางห่างสงวน |
ถนอมเมียมิให้หมองละอองนวล | พ่อมาด่วนปลดปลิดชีวิตไป |
เมื่อยามกินน้ำท่าอีกอาหาร | ได้ชื่นบานเห็นผัวก็ผ่องใส |
ตั้งแต่นี้จะผินพักตร์ไปพึ่งใคร | นางร่ำไรนอนหลับระงับลง |
ไม่สนิทนิทราเวลาดึก | นางนิ่งนึกหลากจิตพิศวง |
พอแจ่มแจ้งแสงศรีสุริยง | ก็เดินตรงรีบออกมานอกชาน |
แล้วลงจากเคหาเหมือนบ้าหลัง | เที่ยวเซซังไปทั่วทุกสถาน |
ให้คิดถึงสามีที่วายปราณ | แต่งุ่นง่านหาคู่อยู่หลายปี ฯ |
๏ จะกล่าวกลับจับความตามประสงค์ | ถึงเอกองค์สุริยพันธุ์อันเรืองศรี |
เมื่อกัปตันปล่อยไว้ไม่ไยดี | ในเขตแดนธานีพาลุกา |
ไม่รู้จะเดาด้นไปหนไหน | ก็ร่ำไรดิ้นโดยไห้โหยหา |
โอ้เวรกรรมปางหลังได้สร้างมา | เห็นชีวาจะไม่รอดตลอดไป |
แล้วครวญคิดถึงมิสกอปเปอ | ให้พร่ำเพ้อเศร้าสร้อยละห้อยไห้ |
พี่จากเจ้าดังใครล้วงเอาดวงใจ | ทำไฉนจะได้พบประสบกัน |
โอ้เนื้อเย็นนงเยาว์ขวัญข้าวเอ๋ย | เมื่อไรเลยจะได้กลับไปรับขวัญ |
พึ่งเชยชิดโฉมงามได้สามวัน | กรรมมาทันต้องพรากจากน้องยา |
หรือชาติก่อนเราสองได้พรากสัตว์ | ให้คู่เคล้าเขาพลัดกระมังหนา |
เวรนั้นตามสนองเราสองรา | จึงบิดาของน้องข้องเคืองใจ |
แกล้งพรากพี่มิให้อยู่เป็นคู่ชิด | ช่างปลดปลิดมาปล่อยก็เป็นได้ |
ปรารถนาให้ชีวิตพี่บรรลัย | อยู่ที่ในเมืองป่าพนาวัน |
แล้วหวนคิดถึงบิดามาตุเรศ | เคยปกเกศเป็นสุขเกษมสันต์ |
ได้ร่มเกล้าเช้าเย็นเป็นนิรันดร์ | พระคุณนั้นเหลือล้นคณนา |
โอ้ป่านนี้จะคะนึงถึงลูกน้อย | ตั้งแต่คอยอยู่ไม่เว้นเคยเห็นหน้า |
ได้ขึ้นเฝ้าเบื้องบาทมิคลาดคลา | ลูกจากมาพระจะเศร้าเปล่าฤทัย |
ยามสรงยามเสวยจะเลยละ | พระโรคจะบังเกิดเพราะโหยไห้ |
แม้นทราบว่าลูกยากลำบากใจ | จะร่ำไรเพียงชีวันสวรรคต |
โอ้ว่าพระทูลเกล้าของลูกแก้ว | นับวันแล้วชีวิตคงปลิดปลด |
ไหนจะได้สนองคุณพระทรงยศ | ยิ่งกำสรดให้สะอื้นกลืนน้ำตา |
แล้วคิดถึงจันทรพงศ์ผู้เพื่อนเข็ญ | น้ำตากระเด็นซึมชาบลงอาบหน้า |
ตั้งแต่วันเรือแตกแยกกันมา | ไม่รู้ว่าเป็นตายร้ายหรือดี |
โอ้เพื่อนยากของพี่นิจจาเอ๋ย | เราได้เคยเห็นพักตร์กันสองศรี |
มาพลัดพรากจากไปในวารี | ขออย่ามีอันตรายถึงวายปราณ |
จะได้นำข่าวไปแจ้งแถลงเหตุ | แก่องค์พระบิตุเรศให้ทราบสาร |
ว่าพี่นี้สูญสิ้นชนมาน | ถึงแก่กาลมรณาชีวาลัย |
พระครวญพลางย่างเยื้องยุรยาตร | แสนอนาถเวทนาน้ำตาไหล |
อดอาหารอ่อนระหวยงงงวยไป | จะผินพักตร์พึ่งใครก็ไม่มี |
เดินพลางทางทรงกันแสงไห้ | ยิ่งเปลี่ยวเปล่าเศร้าใจในวิถี |
ไม่รู้แห่งจะไปหนใดดี | พอถึงที่โรงร้างห่างผู้คน |
จะเหลียวซ้ายแลขวาให้ว้าเหว่ | ยิ่งรวนเรอ้างว้างอยู่กลางหน |
ทั้งแดดผ่าวเผาร้อนอ่อนกมล | เหนื่อยเหลือทนหยุดพักพอเย็นใจ ฯ |
๏ ฝ่ายว่านางบาบีนารีแขก | ตั้งแต่แรกผัวรักนั้นตักษัย |
ไม่มีสุขโศกเศร้าเปล่าฤทัย | ก็เที่ยวไปหาคู่อยู่เป็นนิตย์ |
เมื่อวันหนึ่งเผอิญไปใกล้ฝั่งน้ำ | นางแขกดำค่อยคลายสบายจิต |
เห็นโรงร้านร่มแฝงแสงอาทิตย์ | ในใจคิดหยุดรอพอสบาย |
นางเดินตรงเข้าไปจนใกล้ชิด | เห็นทรงฤทธิ์งามเลิศโฉมเฉิดฉาย |
ยืนพินิจพิศทั่ววรกาย | นึกมั่นหมายสมจิตที่คิดไว้ |
จึ่งเอื้อนโอษฐ์พจนาภาษาแขก | นี่พ่อแปลกหน้ามาแต่หนไหน |
ช่างมาอยู่ผู้เดียวน่าเปลี่ยวใจ | อยากจะใคร่แจ้งความแต่ตามจริง |
หรือพลัดพรากบ้านเมืองได้เคืองเข็ญ | หรือเนื้อเย็นมาเที่ยวเกี้ยวผู้หญิง |
ข้าสงสัยใจจิตติดประวิง | อย่านั่งนิ่งจงแจ้งแสดงความ ฯ |
๏ ฝ่ายองค์สุริยพันธุ์ผันพระพักตร์ | พระรู้จักภาษานางแขกถาม |
เพราะพูดได้หลายชนิดไม่คิดคร้าม | จึงตอบตามคำแขกให้เข้าใจ |
ตัวเราเป็นพ่อค้านาวาล่ม | เจียนจะจมคงคาไม่คืนได้ |
กับน้องรักร่วมครรภ์พลัดกันไป | ก็เล่าให้นางฟังแต่หลังมา ฯ |
๏ นางแขกดำสดับสารสำราญจิต | ฤทัยคิดจะใคร่ร่วมเสน่หา |
ให้ปลาบปลื้มลืมผัวที่มรณา | ประหนึ่งว่าเสวยสวรรค์ชั้นวิมาน |
แล้วจึงว่าแสนสมเพชพ่อทูนหัว | เป็นบุญตัวรอดมาน่าสงสาร |
เราจะพาไปไว้ให้สำราญ | ยังสถานที่เหย้าของเรามี |
จะถนอมมิให้หน่ายระคายข้อง | เป็นคู่ครองร่วมภิรมย์ประสมศรี |
ได้เป็นสุขทุกทิวาและราตรี | จงปรานีเราบ้างอย่าหมางเมิน ฯ |
๏ พระฟังคำนางแขกพูดแปลกหู | ให้อดสูในจิตคิดขวยเขิน |
ประเดี๋ยวนี้ก็จะใส่เสียให้เยิน | อย่าเชื้อเชิญให้ยากไม่อยากไป |
สัญชาติแขกแปลกนอกศาสนา | ไม่คบค้าร่วมชิดพิสมัย |
จะก้มหน้าสู้ม้วยชีวาลัย | อย่าร่ำไรพูดล่อไม่ขอฟัง ฯ |
๏ นางสดับน้ำถ้อยน้อยหรือนั่น | ช่างรำพันจะให้ขาดสวาทหวัง |
พ่อมาเกลียดผู้หญิงเสียจริงจัง | เออใครมั่งเช่นนี้ไม่มีเลย |
นับประสาว่าจะเที่ยวไปเกี้ยวชู้ | นี่มาอยู่ใกล้ผู้หญิงยังนิ่งเฉย |
ช่างตัดไมตรีได้ไม่หมายเชย | พ่อคุณเอ๋ยอย่าเมินขวยเขินใจ |
ว่าพลางขยับกายเข้าใกล้ชิด | อย่าเบี่ยงบิดผินหน้ามาปราศรัย |
ให้ข้าชมพอชื่นรื่นฤทัย | จะมาตัดเยื่อใยไปข้างเดียว ฯ |
๏ พระฟังคำน้ำถ้อยแล้วถอยหนี | อย่าเซ้าซี้พูดมากไม่อยากเกี้ยว |
มันไม่น่าชื่นชมจะกลมเกลียว | ข้าเหม็นเขียวเหม็นขืนกลืนไม่ลง |
จะหางามสักนิดก็ไม่ได้ | นี่หรือใครจะปองต้องประสงค์ |
อีแขกดำต่ำชาติตระกูลวงศ์ | ใครจะจงจิตรักสมัครมึง |
ช่างหน้าด้านนี่กระไรไม่อดสู | ใครจะสู้เอ็งได้ไม่มีถึง |
อย่ากวนใจมาเฝ้าพะเน้าพะนึง | ทำทะลึ่งไม่เสงี่ยมคิดเจียมตัว ฯ |
๏ นางฟังคำชำเลืองค้อนแสนงอนแขก | ดูท่าแปลกนักหนาน่าใคร่หัว |
แล้วจึงตอบวาจาว่าอย่ากลัว | ถึงรูปชั่วตัวดำน้ำใจดี |
ซึ่งพ่อว่าหยาบคายข้าไม่ถือ | จะดึงดื้อเฝ้าสำออยไม่ถอยหนี |
ไปกว่าพ่อจะเมตตามีปรานี | นางเข้าเบียดเสียดสีให้ยวนใจ ฯ |
๏ พระเคืองแค้นแสนโกรธพิโรธนัก | สองหัตถ์ผลักมิให้เข้ามาใกล้ |
จนสุริยนยอแสงลงไรไร | ทำไฉนจะหนีด้นไปพ้นมัน |
แล้วตรองตรึกนึกว่าถ้ามันโกรธ | จะทำโทษตัวเราให้อาสัญ |
ด้วยใจป่าดุร้ายหยาบคายครัน | ต้องผ่อนผันพอให้รอดตลอดไป |
จำจะต้องทำทีใจดีต่อ | แล้วพูดล่อขอสัตย์ให้จงได้ |
พอเป็นสิ่งสำคัญที่มั่นไว้ | ได้วางใจหายวิตกในอกเรา |
จึงเอื้อนอรรถตรัสพลางแน่นางแขก | เราก็แปลกภาษากับตัวเจ้า |
จะพาข้าไปอยู่เป็นคู่เคล้า | แม้นหนักเบาเบื้องหน้าอย่าฆ่าตี |
จงให้สัตย์ปฏิญาณสาบานไว้ | ข้าจะได้วางใจไม่หน่ายหนี |
ถ้าแม้นเจ้าจงรักภักดีมี | อย่าช้าทีนิ่งนานสาบานไป ฯ |
๏ นางแขกได้สดับคำสำราญรื่น | ความแช่มชื่นยินดีจะมีไหน |
จะให้สัตย์สาบานในทันใด | ถ้าข้าไม่นับถือไม่ซื่อตรง |
ขอให้พระเป็นเจ้าของเรานี้ | ผลาญชีวีข้ากระจุยเป็นผุยผง |
อย่าให้รอดตลอดไปเหมือนใจจง | ถ้าปลดปลงขอให้ไปนรก ฯ |
๏ พระฟังคำนางแขกสาบานแล้ว | ค่อยผ่องแผ้วเคลื่อนคลายวายวิตก |
เหมือนคีรีทับอยู่มีผู้ยก | ไปจากอกเสียได้หายรำคาญ |
ต้องจำใจจำจนทนไปก่อน | ค่อยผันผ่อนคืนหลังยังสถาน |
ใช่เราจะอยู่ไปจนวายปราณ | พอสำราญรอดตายวายชีวี ฯ |
๏ ส่วนนางแขกให้สัตย์สำเร็จแล้ว | ยิ่งผ่องแผ้วปรีดิ์เปรมเกษมศรี |
นางเข้ากอดเคล้าคลึงจึงพาที | ขอเชิญพ่อจรลีสู่เรือนเรา |
จะได้กินน้ำท่าอีกอาหาร | ให้ชื่นบานหายวิโยคที่โศกเศร้า |
จงหักใจเสียบ้างพอบางเบา | นางก็เข้าจูงกรวอนปลอบไป ฯ |
๏ ฝ่ายพระหน่อบพิตรให้คิดเขิน | ค่อยดำเนินตามนางไม่ห่างได้ |
พอเพลาสิ้นแสงอโณทัย | มาถึงบ้านทันใดในราตรี |
จึงขึ้นสู่เคหาน้ำตาตก | ให้ร้อนอกดังเอาไฟมาจ่อจี้ |
ยิ่งโศกเศร้าในอารมณ์ไม่สมประดี | พระโศกีร่ำไห้อยู่ไปมา |
นางแขกดำซ้ำปลอบให้ชอบจิต | จงวายคิดโศกเศร้าฟังเราว่า |
ขอเชิญพ่อดวงใจเข้าไสยา | จะโศกาครวญคร่ำไปทำไม |
อันเราท่านเกิดมาในหล้าโลก | ทุกข์กับโศกมิได้สิ้นอย่าสงสัย |
พระเป็นเจ้าดาลดลต้องทนไป | ทำกระไรได้หนอนะพ่อคุณ |
ว่าพลางเข้าเคลียคลอพระหน่อนาถ | ไม่คลาคลาดกลมเกลียวยิ่งเฉียวฉุน |
เหมือนฟืนฝอยต้องไฟไหม้เป็นจุรณ | ก็หมกมุ่นเสียเล่ห์ประเวณี |
เหมือนทารกเกลียดยาไม่เข้าใกล้ | แต่ผู้ใหญ่ฝืนอารมณ์เข้าข่มขี่ |
ต้องจำใจจำกินไม่ยินดี | จึงเสียทีเสียตัวเป็นผัวเมีย |
ให้เกลียดเหลือเมื่อหน่ายอายอดสู | ก็ไม่รู้ที่จะไปข้างไหนเสีย |
ยิ่งร้อนอกหมกไหม้ดังไฟเลีย | ให้ละเหี่ยแสนละห้อยเศร้าสร้อยใจ |
ครั้นจะหนีก็จะได้แต่ความยาก | แสนลำบากเพราะไม่มีที่อาศัย |
ต้องจำจนทนสู้กัดฟันไป | กว่าจะได้ท่วงทีจึงหนีเร้น ฯ |
-
๑. สีจัก ลักษณะกาลกิณีของหญิง มี 3 อย่าง คือ สีจัก ยักหล่ม ถ่มร้าย สีจักคือมีขวัญที่แสกหน้า ยักหล่ม คือมีรอยบุ๋มที่สะบักทั้งสองข้าง และถ่มร้าย คือ น้ำลายมีกลิ่นเหม็นเน่า ↩