คำนำ

เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี มีพระชนมายุครบ ๓ รอบ มูลนิธิสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มูลนิธิสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และองค์การค้าของคุรุสภา ดำริจะจัดสร้างเอกสารขึ้นไว้เพื่อร่วมฉลองเฉลิมพระเกียรติ

สาส์นสมเด็จ เป็นที่รวมลายพระหัตถ์โต้ตอบในเชิงสันทนาการของสมเด็จ ๒ พระองค์ ผู้ซึ่งเป็นยอดปราชญ์อุดมบัณฑิตแห่งกรุงสยาม ได้เป็นเอกสารที่ผู้รู้และนักวิชาการทั้งหลายยกย่อง ถือว่าเป็นคลังแห่งความรู้หลากหลาย บรรจุเรื่องราวต่างๆที่น่ารู้ มีทั้งตำนาน ประวัติศาสตร์ โบราณคดี อักษรศาสตร์ และศิลปศาสตร์

สมเด็จทั้ง ๒ พระองค์นี้ คือ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระนามเดิม พระองค์เจ้าจิตรเจริญ ทรงเป็นต้นราชสกุล “จิตรพงศ์” ทรงใฝ่พระทัยศึกษาค้นคว้าจนรอบรู้ เป็นเอตทัคคะทางด้านจิตรกรรม สถาปัตยกรรม อักษรศาสตร์ นาฎศาสตร์ คีตศาสตร์ ทรงเป็นเจ้าของพระนามอักษรย่อ “น.” (เรียกว่า น. เทียนสิน) ในรูปหัวใจซึ่งทรงลงไว้ในงานฝีพระหัตถ์ จนเป็นที่รู้จักกันทั่วไปทั้งในแผ่นดินสยาม และนานาชาติที่รักงานทางศิลป์ อักษร น. หมายถึง นริศ อันเป็นพระนาม และรูปหัวใจเป็นพระนามเดิม “จิตรเจริญ”

ส่วนสมเด็จอีกพระองค์หนึ่งก็คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระนามเดิม พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ทรงเป็นต้นราชสกุล “ดิศกุล” ทรงใฝ่พระทัยค้นคว้าศึกษาจนรอบรู้ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี อักษรศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ ประเพณีและวัฒนธรรม ผลงานของพระองค์เป็นที่ยกย่องอ้างอิงในวงการศึกษาอยู่เสมอ จนได้รับสมญานามว่า “บิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดี” ทรงเป็นเจ้าของพระนามย่อ “ดร.” และตราประจำพระองคคือรูป “เทพนม”

หนังสือ “สาส์นสมเด็จ” นี้ องค์การค้าของคุรุสภาได้เคยจัดพิมพ์มาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ เนื่องในโอกาสที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ประกาศจัดงานเทิดพระเกียรติสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉลองวันประสูติครบ ๑๐๐ ปี และยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก จากการพิมพ์ในครั้งนั้นได้จัดแบ่งออกเป็น ๒๖ เล่ม รวมสารบาญค้นเรื่องอีก ๑ เล่มเป็น ๒๗ เล่ม เวลาได้ล่วงเลยมานาน สาส์นสมเด็จบางเล่มได้ขาดตลาดไปนานแล้วและกลายเป็นหนังสือหายาก แต่ก็ยังมีผู้ต้องการใฝ่หาอีกมาก จนต้องพิมพ์ซ้ำ แต่บางเล่มก็ยังขาดตลาดอยู่เรื่อย ๆ ประกอบกับในเวลาต่อมาทายาทได้ตรวจพบว่าได้มีสาส์นสมเด็จที่ยังไม่ได้จัดพิมพ์หลงเหลืออยู่อีก เช่น ลายพระหัตถ์โต้ตอบปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ในการจัดพิมพ์ใหม่ในวโรกาสมหามงคลนี้ คณะกรรมการดำเนินงานได้นำมารวบรวมให้เป็น “สาส์นสมเด็จ” ที่มีฉบับสมบูรณ์ยิ่งกว่าที่เคยได้จัดพิมพ์มา การจัดพิมพ์ครั้งใหม่นี้ได้ตรวจทานสอบกับต้นฉบับลายพระหัตถ์เดิมและได้พิมพ์เพื่อรักษาอักขรวิธีตามต้นฉบับ เพื่อให้เห็นวิวัฒนาการของอักษรสมัยที่ สมเด็จฯ ทั้ง ๒ พระองค์ทรงใช้ กับได้ทำเชิงอรรถและสารบาญค้นเรื่องประกอบด้วย หวังว่าจะเป็นประโยชน์ขยายความรู้กว้างขวางและสะดวกแก่การค้นคว้าได้มากกว่าเดิม

(ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ