คำนำ

เนื่องในการพระราชทานเพลิงศพท่านเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (ม.ร.ว. มูล ดารากร) ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส กำหนดวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๐๑ นายอาภรณ์ กฤษณามระ กับหม่อมหลวงแสงโสม กฤษณามระ ได้มาแจ้งความประสงค์แก่เจ้าหน้าที่ ณ หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรว่า เด็กชายอุภาศรี กฤษณามระ เด็กชายเพ็งพาแสง กฤษณามระ ผู้เป็นหลานท่านเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดีประสงค์จะจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ศรีทะนนไชย เพื่อแจกเป็นอนุสรณ์

เรื่องศรีทะนนไชยนี้ ปรากฏว่ามีหลายสำนวน แต่เข้าใจว่าคนรุ่นหลัง ๆ นี้ได้ดัดแปลงแก้ไขจากสำนวนเก่า ๆ มาเป็นสำนวนใหม่เป็นส่วนมาก ในหอสมุดแห่งชาติมีต้นฉบับเรื่องศรีทะนนไชยเชียงเมี่ยงอีกฉบับหนึ่ง และหอสมุดแห่งชาติได้จัดพิมพ์เผยแพร่แล้ว ส่วนเรื่องศรีทะนนไชยฉบับที่ได้พิมพ์ไว้ในเล่มนี้ แต่เดิมเมื่อเจ้าภาพงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี มาขออนุญาตพิมพ์หนังสือนั้น ได้นำเรื่องศรีทะนนไชยสำนวนกลอนฉบับพิมพ์ที่โรงพิมพ์สุรีย์ พ.ศ. ๒๔๙๔ มาเพื่อขอให้หอสมุดแห่งชาติตรวจอนุญาต แต่ปรากฏว่าศรีทะนนไชยฉบับนั้นเป็นสำนวนกลอนแต่งขึ้นใหม่ และขณะนั้น พระปฏิเวทวิศิษฐ์ (สาย เลขยานนท์) ซึ่งเป็นผู้สนใจศึกษาเรื่องความรู้ต่าง ๆ ทางวรรณคดีและประวัติศาสตร์มาก ได้กรุณาแจ้งให้ทราบว่าท่านมีฉบับหนังสือเรื่องศรีทะนนไชยสำนวนเก่าแต่งเป็นกาพย์ สุรางคนางค์บ้าง ยานีบ้าง และฉบังบ้างสลับกัน ฉบับพิมพ์ที่ท่านมีอยู่นั้น เก่าสมัยโรงพิมพ์หมอสมิทธ์ประมาณ ๑๐๐ ปีล่วงมาแล้ว ซึ่งท่านได้กรุณานำต้นฉบับนั้นมามอบให้เป็นสมบัติของหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรได้รับไว้ด้วยความขอบคุณและได้แนะนำให้เจ้าภาพงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี จัดพิมพ์เรื่องศรีทะนนไชยสำนวนกาพย์ที่พระปฏิเวทย์วิศิษฐ์มอบต้นฉบับให้แทน คือที่ได้พิมพ์ไว้ในเล่มนี้ แต่เนื่องจากกาพย์บางตอนในต้นฉบับขาดตกบกพร่อง ผิดสัมผัส ขาดวรรค ไม่ครบระเบียบคำประพันธ์ชนิดนั้น ๆ กรมศิลปากรจึงมอบให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแก้ไข แต่งเติมลงให้เป็นที่ถูกต้อง และได้ทำฟุตโน๊ตบอกไว้ตามที่ซึ่งแก้ไขนั้น ๆ แล้ว ส่วนบางตอนที่ต้นฉบับขาดเพราะความเก่าแก่ของหนังสือและไม่อาจหาฉบับเช่นเดียวกันนี้มาสอบทานได้ ก็ได้แต่งเติมลงไว้ให้ครบข้อความเช่นเดียวกัน

หนังสือเรื่องศรีทะนนไชยนี้ เป็นเรื่องหนึ่งที่นับว่าเป็นวรรณคดีแพร่หลายของไทย คนส่วนมากรู้จักชื่อ ศรีทะนนไชย เป็นอย่างดีเท่า ๆ กับรู้จักชื่อ สังข์ทอง หรือ หณุมาน บรรดาผู้มีอายุมักจะเล่าเรื่องศรีทะนนไชยให้ลูกหลานฟังเป็นนิทานที่ชอบกันมาก และในสมัยที่หนังสือพิมพ์รายวันเริ่มนิยมเขียนการ์ตูนประกอบเรื่องนิยายหรือวรรณคดีลงในหนังสือพิมพ์ราว ๆ พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นต้นมา เรื่องศรีทะนนไชยก็เป็นเรื่องหนึ่งที่มีผู้ติดตามอ่านกันมาก แต่เนื่องจากเรื่องศรีทะนนไชยเป็นเรื่องพื้นบ้าน ดีแต่ที่เนื้อเรื่องแปลกแนวกับวรรณคดีหรือเรื่องนิยายอื่น ๆ ส่วนคำประพันธ์คงไม่สู้จะไพเราะถูกต้องระเบียบแบบแผนนัก วงการหนังสือจึงไม่สู้จะยกย่องเรื่องศรีทะนนไชย เพราะฉะนั้นเรื่องศรีทะนนไชยจึงไม่ใคร่มีฉบับพิมพ์แพร่หลายมากเหมือนเรื่องสังข์ทองหรือเรื่องอื่น ๆ ที่มีฉบับพิมพ์ซื้อขายหาอ่านได้ง่าย ตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้

กรมศิลปากรมีความยินดีที่ได้มีโอกาสจัดพิมพ์เรื่องศรีทะนนไชยนี้ให้เป็นที่แพร่หลาย และขอขอบคุณพระปฏิเวทวิศิษฐ์ที่ได้กรุณาให้ต้นฉบับสำนวนเก่าเป็นสมบัติของหอสมุดแห่งชาติในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ พร้อมทั้งขออนุโมทนาในกุศลบุญราศี ทักษิณานุปทานซึ่งเจ้าภาพได้บำเพ็ญเพื่ออุทิศแด่เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี และให้จัดพิมพ์หนังสือนี้เผยแพร่ ขอกุศลทั้งปวงจงเป็นปัจจัยดลบันดาลให้เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี ประสบแต่อิฐวิบุลมนุญผลในสัมปรายภพทุกประการ เทอญ.

กรมศิลปากร

๑๖ กรกฎาคม ๒๕๐๑

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ