- ๑. คำนำ
- ๒. อธิบายคำว่า หมายรับสั่ง
- ๓. หมายรับสั่ง เรื่องการถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ ณ วัดบางยี่เรือนอก จ.ศ. ๑๑๓๘
- ๔. หมายรับสั่ง เรื่องเกณฑ์ให้เจ้าพนักงานแต่งการเชิญพระอัฐิสมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ไปบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดบางยี่เรือนอก จ.ศ. ๑๑๓๘
- ๕. หมายรับสั่ง เรื่องโปรดเกล้า ฯ ตั้งเจ้านครศรีธรรมราช จ.ศ. ๑๑๓๘
- ๖. หมายรับสั่ง เรื่องให้เจ้าพนักงานเชิญพระราชโองการออกไปพระราชทานมอบเมืองให้เจ้านครศรีธรรมราช จ.ศ. ๑๑๓๘
- ๗. หมายรับสั่ง เรื่องการพระราชทานเพลิงพระศพกรมขุนอินทรพิทักษ์ และพระเจ้านราสุริยวงศ์ ผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช จ.ศ. ๑๑๓๘
- ๘. หมายรับสั่ง เรื่องการพระราชทานเพลิงพระศพหม่อมเจ้าเสง และศพพระยาสุโขทัย พระยาพิชัยไอยสวรรย์ ณ วัดบางยี่เรือนอก จ.ศ. ๑๑๓๙
- ๙. หมายรับสั่ง เรื่องโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ เสด็จขึ้นไปรับพระแก้วมรกตที่ท่าเจ้าสนุก จังหวัดสระบุรี จ.ศ. ๑๑๔๑
- ๑๐. หมายรับสั่ง เรื่องการพระราชทานเพลิงพระศพพระมารดาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสุพันธวงศ์ ณ วัดบางยี่เรือนอก จ.ศ. ๑๑๔๒
- ๑๑. หมายรับสั่ง เรื่องก่อพระทราย
- ๑๒. หมายรับสั่ง เรื่องพระราชโองการ ตั้งเจ้านันทเสนเป็นเจ้าพระนครเวียงจันทน์
- ๑๓. ภาคผนวก
ตำนานเมืองธนบุรี
เรื่องความเป็นมาของเมืองธนบุรีนี้ มีในหนังสือภูมิศาสตร์ประเทศสยาม
“เมืองธนบุรีเดิมตั้งอยู่ในคลองบางกอกใหญ่ ตรงวัดคูหาสวรรค์ หรือที่เรียกว่า วัดศาลาสี่หน้า เมื่อรัชกาลสมเด็จพระชัยราชาธิราช สมัยกรุงศรีอยุธยา โปรดให้ขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยเดี๋ยวนี้ มาถึงปากคลองบางกอกใหญ่ที่ตรงวัดอรุณราชวราราม คลองนั้นนานมากลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา จึงย้ายเมืองธนบุรีมาตั้งป้อมปราการขึ้นที่ตรงวัดอรุณราชวราราม หรือที่เรียกกันว่าวัดแจ้งเดี๋ยวนี้ ปรากฏในพงศาวดารครั้งรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์สมัยกรุงศรีอยุธยาว่า โปรดให้เจ้าพระยาวิชเยนทร์เป็นแม่กองสร้างป้อมขึ้นที่เมืองพิษณุโลกและเมืองธนบุรี ภายหลังเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าข้าศึกในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๓๑๐ พระเจ้าตากสินได้พยายามปราบปรามพม่า คืนความอิสรภาพมาได้อย่างเดิม และได้ยกเมืองธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีในปลาย พ.ศ. ๒๓๑๐ นั้น ขนานนามว่า “กรุงธนบุรี” นับแต่นั้นมา กรุงธนบุรีจึงเป็นเมืองหลวงของประเทศสยามอยู่จน พ.ศ. ๒๓๒๕ นับได้ ๑๕ ปี พระราชวังเดิมของพระเจ้าตากสิน ซึ่งบัดนี้เป็นโรงเรียนนายเรือ
วัดศาลาสี่หน้าในครั้งโบราณกาล เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากร ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้โปรดฯ ให้อัญเชิญมาเป็นพระธานในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ และได้พระราชทานนาม วัดศาลาสี่หน้า ใหม่ว่า วัดคูหาสวรรค์
วัดคูหาสวรรค์ อยู่ในคลองบางกอกใหญ่ แขวงคูหาสวรรค์ เขตภาษีเจริญ ถ้าจะลำดับวัดในคลองนี้ ตอนจากวัดคูหาสวรรค์ออกมาทางนอก หรือทางใต้ ก็มีวัดลำดับได้ดังนี้ คือ วัดคูหาสวรรค์ วัดกำแพง วัดทองศาลางาม วัดนวลนรดิศ วัดประดู่ฉิมพลี พอออกมาถึง ๓ แยก
แต่ถ้าเมื่อถึง ๓ แยก (ข้างวัดปากน้ำ) แล้วจะเลี้ยวออกไปทางปากคลองบางกอกใหญ่ ก็จะถึงวัดบางยี่เรือ ซึ่งมีวัดเรียงลำดับออกไปดังนี้
๑. วัดบางยี่เรือในหรือวัดบางยี่เรือเหนือ หรือวัดราชคฤห์ ซึ่งได้รับพระราชทานนามนี้เมื่อรัชกาลที่ ๑
๒. วัดบางยี่เรือกลาง หรือวัดกลาง หรือวัดจันทาราม ซึ่งได้รับพระราชทานนามนี้ เมื่อรัชกาลที่ ๓
๓. วัดบางยี่เรือนอก หรือวัดบางยี่เรือใต้ หรือวัดอินทาราม ซึ่งได้รับพระราชทานนามนี้เมื่อรัชกาลที่ ๓
(จากหนังสือ ตำนานพระอารามหลวง)
อนึ่ง สมัยกรุงธนบุรี วัดบางยี่เรือนอกเป็นวัดสำคัญ เป็นวัดที่พระราชทานเพลิงพระศพเจ้านายและศพขุนนาง ดังปรากฏตามหมายรับสั่งนั้น เหตุผลเข้าใจว่า เพราะในบริเวณ ๓ แยกนั้น คงเป็นศูนย์การค้าทั้งสินค้าขาออก ทั้งสินค้าขาเข้า เป็นด่านเก็บภาษีอากรขนอนตลาด เป็นที่ชุมนุมชน เป็นทำเลทำให้เศรษฐกิจคล่องตัว โดยเฉพาะแยกทางบางยี่เรือก็คงเป็นเช่นเดียวกัน ฉะนั้น จึงเกิดมีวัดหลายวัด เป็นวัดใหญ่โต และเป็นพระอารามหลวง
-
๑. หนังสือภูมิศาสตร์ประเทศสยามนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ขอร้องไปยังมณฑลต่าง ๆ ให้ช่วยรวบรวมตำนานของจังหวัดในมณฑลนั้น ๆ เมื่อกระทรวงได้ต้นฉบับมาแล้ว จึงมอบให้กรมตำรา ซึ่งมีหน้าที่จัดการตรวจแต่งและพิมพ์แบบเรียนเป็นผู้จัดทำ ครั้นเมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่เพื่อให้เรื่องสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงได้นำถวายสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตรวจแก้ไขเพิ่มเติม หนังสือพิมพ์เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ↩
-
๒. โรงเรียนนายเรือ ปัจจุบันนี้ (พ.ศ. ๒๕๒๓) เป็นที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพเรือ ↩
-
๓. แต่บัดนี้เป็น ๔ แยก เพราะได้ขุดคลองภาษีเจริญขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ปี จ.ศ. ๑๒๒๙ (พ.ศ. ๒๔๑๐) เปรดฯ ให้พระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ (ยิ้ม พิศลยบุตร) ครั้งยังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระภาษีสมบัติบริบูรณ์ เป็นแม่กองขุดคลอง (จากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒๕) ↩