บทนำเรื่องประชุมบทสักรวาหน้าพระที่นั่ง

งานเฉลิมฉลองตามวาระเทศกาล หรืองานนักขัตฤกษ์สำคัญในฤดูน้ำหลาก มักมีมหรสพสมโภชเฉลิมฉลองและสร้างความสนุกสนานรื่นเริงให้แก่ราษฎร การเล่นสักรวาเป็นมหรสพความบันเทิงประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้มีบรรดาศักดิ์สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ดังปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี (๒๕๒๖ : ๙ – ๑๐) พระนิพนธ์ของกรมหลวงนรินทรเทวี หรือพระองค์เจ้ากุ พระเจ้าน้องนางเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กล่าวถึงเหตุการณ์ในรัชสมัยกรุงธนบุรี คราวที่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางล่องมาตามลำแม่น้ำ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้มีมหรสพเล่นถวายเป็นพุทธบูชาว่า “แห่พระแก้วเสด็จกลับรับพระแก้วพระบางลงมา เรือประพาสดอกสร้อยสักวามโหรีพิณพาทย์ละครโขนลงแพ ลอยเล่นมาตามกระแสซลมารคพยุหยาตรากระบวนเรือประทับท่าวัดแจ้ง”

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองมหานาคขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ บริเวณวัดสะแกหรือวัดสระเกศ “พระโองการรับสังให้ขุดคลองรอบเกาะ ให้บ่ายเรือที่นั่งได้ เรียกว่า คลองมหานาค” (จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี, ๒๕๒๖ : ๒๒) นอกจากจะให้เป็นเส้นทางสัญจรแล้ว ยังเป็นสถานที่สำหรับประชุมเรือเล่นสักรวาเช่นเดียวกับคลองมหานาคเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา เพื่อบำรุงขวัญกำลังใจแก่ราษฎรทั้งปวง

อนึ่ง คราวสมโภชพระอารามวัดสระเกศ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้มีมหรสพสมโภชพระอาราม ๗ วัน (จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี, ๒๕๒๖ : ๒๒ - ๒๓) “ณ เดือน ๑๒ ฉลองวัดสระเกศ มีพระโองการรับสั่งให้ข้างหน้าข้างในตั้งเลี้ยงพระให้สิ้นทั้งวัด ประทานเงินหลวงกัลปพฤกษ์โปรยทาน การมหรสพสมโภชเสร็จ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอแต่งเรือประพาสคู่เคียง ประสานเสียงร้องดอกสร้อยสักรวา ดุริยางค์จำเรียงถวายลำร้องรับกับเสียงดอกไม้น้ำสทาโป้งปีบไฟพะเนียงพุ่มพลุกรวด เสียงสนั่นครื้น”

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสวนขวาพร้อมทั้งขุดสระขึ้น ในพระบรมมหาราชวัง สำหรับเสด็จออกทอดพระเนตรงานฝีมือช่างในเวลากลางวัน ครั้นเวลาพลบค่ำก็เสด็จออกสำราญพระราชอิริยาบถ ซึ่งมีการเล่นสักรวาหน้าพระที่นั่งด้วย ในโคลงดั้นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ของพระยาตรังกวีสำคัญในรัชสมัย พรรณนาถึงสภาพภูมิสถานภายในสวนขวาไว้อย่างละเอียด และได้กล่าวถึงการเล่นสักรวาหน้าพระที่นั่งในสวนขวาไว้ดังนี้

๏ บางประทับที่นั่งน้ำ แนวใน
บางล่วงบางลำพาย เฉิดช้อย
บางพิณพิไรไคล ครวญคร่ำ
สักระวาดอกสร้อย เสร็จทรง ฯ

(วรรณกรรมพระยาตรัง, ๒๕๔๗ : ๑๙๕)

มหรสพสำคัญอย่างหนึ่งที่เล่นฉลองงานสมโภชสวนขวาในรัชกาลที่ ๒ เมื่อจุลศักราช ๑๑๘๐ (พ.ศ. ๒๓๖๑) คือสักรวา ดังจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี (๒๕๒๖ : ๒๙) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ณ ปีขาล สัมฤทธิศก พระโองการให้ตั้งเขาขุดท่อผ่าเส้นกลาง ไขระหัดน้ำเข้าในวังที่สวนขวา รื้อขนศิลามาก่อ เป็นหอพระเจ้าอยู่กลาง ทรงสร้างพิมานเสร็จ เถลิงสมโภช มีดอกสร้อยสักรวา เกษมษา สำราญบานจนถึงกาล” และในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ (๒๕๔๖ : ๑๔๑) บันทึกไว้ว่า “...เสด็จอยู่บนพระที่นั่งเก๋งทรงทอดพระเนตรละครบ้าง มโหรีบ้าง ศักรวาดอกสร้อยบ้าง เสียงร้องและเสียงขับไพเราะ เป็นที่เพลิดเพลินบันเทิงพระราชหฤทัยเนือง ๆ”

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จลงลอยพระประทีปในเทศกาลช่วงเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ ณ พระที่นั่งชลังคพิมาน หรือ พระตำหนักแพ บริเวณท่าราชวรดิตถ์โปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายที่มีแพจัดขบวนเรือแห่ผ้าป่า ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ได้ระบุถึงรายชื่อเจ้าของเรือสักรวาไว้ด้วย

“พระองค์เจ้าที่มีแพต้องเกณฑ์เรือผ้าป่าองค์ละลำ เครื่องเล่นแห่ผ้าป่ามีเรือแห่ ครูละครแต่งเป็นขุนนางสวมเสื้อเข้มขาบ เรือกัญญาจำอวดพายคนละลำ เรือจำอวดแต่งเป็นพม่าเลี้ยงลิงพวกจำอวดเล็ก ๆ เป็นลิงตีกระบี่กระบองสองลำ เรือละครปันโยจำอวดลำ ๑ ทวายผู้หญิงลำ ๑ เรือศักรวาวังหลวงบัวพระสมุทรลำ ๑ วังหน้าครูละครลำ ๑ เรือศักรวาท่านผู้หญิงอู่ภรรยาเจ้าพระยาอไภยภูธรลำ ๑ ท่านผู้หญิงเพียรภรรยาเจ้าพระยาโกษา (สังข์) ลำ ๑... ”

(พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒, ๒๕๔๖ : ๑๔๑)

แม้ว่าในพระราชพงศาวดารจะไม่ได้ระบุว่า หลังจากพระราชพิธีลอยพระประทีปจะมีสักรวาร่วมในงานมหรสพด้วยหรือไม่ แต่จากหลักฐานดังกล่าวก็เป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้ทราบว่า มีการเล่นสักรวาเป็นมหรสพรื่นเริงในพระราชพิธีนั้นด้วย

สักรวายังคงได้รับความนิยมมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ สืบเนื่องมาถึงในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นเจ้านายพระองค์หนึ่งที่ทรงเชี่ยวชาญการแต่งบทสักรวา ตั้งแต่เมื่อยังดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ครั้นครองราชสมบัติแล้ว ทรงพระราชนิพนธ์พระราชทานให้พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี ทรงท่องเล่นเมื่อยังทรงพระเยาว์บทหนึ่งว่า

“๏ สักรวาจ้ำจี้มะเขือเปราะ มากะเทาะหน้าแว่นน่าแค้นจิตต์
ว่าน้ำมากอยากจะเที่ยวไม่สมคิด ต้องตำราสุภาสิตไม่ผิดเลย
ว่าเรือใครไปกระทั่งซึ่งต้นกุ่ม จะได้ผัวหนุ่มหนุ่มนะพี่เอ๋ย
เขาฦๅแน่แซ่เสียงอย่าเถียงเลย ว่าเรือพี่นี้แหละเกยต้นกุ่ม เอย ฯ”

(ประชุมพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว, ๒๔๗๒ : ๑๙๑)

พระราชกรณียกิจที่สำคัญประการหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทรงสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามจำนวนมาก และหนึ่งในนั้นคือวัดราชโอรส ริมคลองด่าน ย่านบางขุนเทียน เมื่อการบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชโอรสแล้วเสร็จ โปรดเกล้าฯ ให้จัดการสมโภชวัดเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๓๕ กลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติ ซึ่งนายมี มหาดเล็ก หรือหมื่นพรหมสมพัตสร แต่งถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวถึงพระราชกรณียกิจที่ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชโอรส ซึ่งใช้ระยะเวลาถึง ๑๔ ปี เมื่อแล้วเสร็จจึงโปรดให้มีการสมโภชพระอารามอย่างยิ่งใหญ่ว่า

“จะรำพันสรรเสริญก็เกินสมุด ขอยกหยุดพองามตามเลขา
กำหนดสร้างพระอาวาสโดยมาตรา ประมาณช้านับได้สิบสี่ปี
จึงเสร็จการอาวาสราชโอรส อันลือยศเฟื่องฟุ้งทั้งกรุงศรี
แล้วสมโภชโปรดปรานการทวี การที่มีเหลือล้นคณนา”

(กลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติ, ๒๕๓๐ : ๖๑-๖๒)

ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ มีรายละเอียดเกี่ยวกับมหรสพที่ร่วมสมโภชพระอารามว่า “วัดราชโอรสนั้นให้มีโขนโรงใหญ่ติดรอกตรงหน้าพลับพลาข้าม ปลูกพลับพลาลงมาริมคลองหน้าวัด เวลาค่ำให้มีการละเล่นหน้าพลับพลาด้วยเรือ และเกณฑ์เรือประพาสข้าราชการร้องสักวาดอกสร้อยที่เกาะหน้าพลับพลา” (เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี, ๒๕๔๗ : ๔๗) นอกจากนี้ในนิราศเดือนของนายมี ซึ่งแต่งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังปรากฏความที่เกี่ยวข้องกับการละเล่นในเดือน ๑๒ ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลากว่า

“บ้างก็แห่ผ้าป่าพฤกษาปัก มือเรือชักเซ็งแซ่แลสลอน
ขับประโคมดนตรีมีละคร อรชรรำร่าอยู่หน้าเรือ
บ้างก็ร้องสักวาใส่หน้าทับ ลูกคู่รับพร้อมเพราะเสนาะเหลือ
ฟังสำเนียงเสียงสตรีไม่มีเครือ เป็นใยเยื่อจับในน้ำใจชาย”

จากหลักฐานดังกล่าวบ่งชี้ว่า “สักรวา” เป็นการละเล่นที่ได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นสูงหรือผู้ดีมาตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์สืบเนื่องมาจนถึงรัชกาลที่ ๓ ข้อจำกัดอย่างหนึ่งที่ทำให้การเล่นสักรวามีอยู่เฉพาะในหมู่ชนชั้นสูง คือ การเล่นสักรวาต้องใช้คนจำนวนมาก ซึ่งประกอบด้วย “คนบอกบท” ที่ต้องมีความสามารถในการแต่งกลอน มีพื้นฐานการศึกษาทางด้านอักษรศาสตร์ เรื่องราวที่จะนำมาเล่นก็มักนำมาจากวรรณคดี ส่วน “คนร้องสักรวา” ก็ต้องมีความรู้ทางคีตศิลป์และดนตรีไทย ข้อจำกัดดังกล่าวจึงทำให้สักรวาเป็นการละเล่นของผู้มีบรรดาศักดิ์ ซึ่งมีผู้คนที่มีความรู้หรือบริวารอยู่ในสังกัด

สักรวาในสมัยรัตนโกสินทร์ได้รับความนิยมมาตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชสืบเนื่องมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังปรากฏหลักฐานในวรรณคดีร่วมสมัยและเอกสารประวัติศาสตร์ต่าง ๆ การละเล่นประเภทนี้น่าจะเริ่มซบเซาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนเหตุที่ทำให้การเล่นสักรวาคลายความนิยมนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีพระวินิจฉัยไว้ในพระนิพนธ์ “อธิบายเรื่องสักรวา” ในประชุมบทสักรวาเล่นถวายรัชกาลที่ ๕ (๒๔๖๑ : (๖)) ว่า “เพราะเล่นปี่พาทย์กันมาก แลเข้าใจว่าเพราะพระราชทานอนุญาตให้ใคร ๆ เล่นลครผู้หญิงได้ ไม่ห้ามดังแต่ก่อน ผู้มีบรรดาศักดิเล่นปี่พาทย์แลลครกันเสียโดยมาก จึงไม่ใคร่มีใครเล่นสักรวา”

สักรวาเป็นการละเล่นรื่นเริงในฤดูน้ำหลากช่วงเดือน ๑๑ ถึงเดือน ๑๒ เนื่องจากต้องใช้ท้องน้ำตามลำคลองท้องทุ่งเป็นทำเลในการประชุมเรือเล่นสักรวากันในยามราตรี การเล่นสักรวาเป็นที่นิยมในหมู่ผู้มีบรรดาศักดิ์เนื่องจากต้องใช้ผู้เล่นจำนวนหลายคน ที่มีความรู้มีชั้นเชิงวรรณศิลป์ และเพลงดนตรีซึ่งต้องมีระเบียบวิธีการเล่น กล่าวคือ เจ้าของวงสักรวาซึ่งเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์จะพาบริวารซึ่งประกอบด้วย ผู้บอกบท นักร้อง ลูกคู่ พร้อมด้วยเครื่องดนตรี ได้แก่ โทน ทับ กรับ ฉิ่ง ในโคลงดั้นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยของพระยาตรังระบุว่ามี “พิณ” เป็นเครื่องดนตรีในวงสักรวาด้วย ลงเรือบรรเลงเป็นที่สนุกสนานไปประชุมเรือเล่นสักรวา พายเรือเพื่อไปประชันโต้ตอบกับสักรวาวงอื่น ๆ บางลำนักร้องเป็นผู้หญิง บางลำนักร้องเป็นผู้ชาย ผู้บอกบทจะคิดบทให้นักร้องวงของตนร้องลำนำ โดยเริ่มต้นด้วยบทไหว้ครู จากนั้นเรือฝ่ายวงผู้ชายจะร้องเกริ่นนำชักชวนให้เรือฝ่ายวงผู้หญิงมาเล่นสักรวา ก่อนเล่นจะนัดหมายกำหนด “เรื่อง” ที่จะเล่นแล้วจึง “แจกตัว” แบ่งบทกันไปตามวง เช่น “ลำนั้นเปนสังคามารดา ลำนั้นเปนสการะวาตี ลำนั้นเปนระเด่นจินตะหรา ลำนั้นเปนมาหยารัศมี” เรื่องที่เล่นมีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องเกี้ยวพาราสี หรือ เป็นเรื่องที่สมมุติบทบาทขึ้น เช่น อิเหนา พระอภัยมณี คาวี หรือ เล่นซ่อนหา เล่นคลุมไก่ เล่นหวย เป็นต้น ทั้งนี้ ตอนหรือเรื่องที่เลือกมาจะต้องมีบทที่เอื้อต่อผู้เล่นที่จะนำกลอนสักรวามาร้องโต้ตอบกันไปมา แต่บทที่คิดไม่ต้องยึดตามคำเจรจาในบทละคร “ผู้บอกบท” และ “ผู้เล่น” หรือ “นักร้อง” ต้องคิดบทร้องโต้ให้ทันกับการนำไปขับร้อง ผู้ที่สามารถเล่นสักรวาได้จึงจำเป็นจะต้องมีปฏิภาณไหวพริบในการประชันกลอน ร้องเล่นโต้ตอบกันไปตั้งแต่ยำคำจนตลอดคืน เมื่อสมควรแก่เวลาก็ร้องกลอนลา ซึ่งเรียกว่า “ส่งลำลา” การร้องสักรวานิยมร้องด้วยเพลงพระทองเนื่องจากเพลงพระทองเป็นเพลงอัตรา ๓ ชั้น มีจังหวะทำนองช้า เอื้อให้ผู้เล่นสักรวาคิดกลอนโต้ตอบกันได้ทัน “บัดนี้มีงานการฉลอง ให้ต้นบทนั้นร้องพระทองถวาย” (บทสักรวาเรื่องอิเหนาร้องถวายในรัชกาลที่ ๓, ๒๔๖๒ : ๖๒)

การแต่งบทสักรวาผู้เล่นต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบความเฉียบคมของผู้ที่บอกบทแต่ละวงที่แต่งขึ้นในช่วงเวลาอันจำกัด กลอนสักรวาต้องขึ้นต้นบทด้วยคำว่า “สักรวา” ซึ่งมีทั้งรูปศัพท์ที่เขียนแตกต่างกันไปหลายลักษณะ เช่น สักวา สักรวา สักระวา ศักรวา และศักกระวา ส่วนที่ปรากฏในหนังสือประชุมบทสักรวาหน้าพระที่นั่งนี้ ใช้การสะกดตามอักขรวิธีเดิมที่พิมพ์ครั้งแรก คือ “สักรวา” ลักษณะคำประพันธ์กลอนสักรวากำหนดจำนวนคำวรรคละ ๖ - ๙ คำ ๑ บทมี ๔ คำกลอน ลงท้ายบทด้วยคำว่า “เอย”

ในหนังสือสยามไวยากรณ์ฉันทลักษณ์สำหรับประโยค ๓ ชั้น ของกรมศึกษาธิการ (ร.ศ. ๑๒๐ : ๖๓) อธิบายลักษณะของสักรวาไว้ว่า “สักระวากลกลอนอย่างนี้ สำหรับร้องลำพระทองบ้าง ลำต่าง ๆ บ้าง บท ๑ เพียง ๔ คำกลอนเท่านั้นเปนกำหนด กลอนสักระวาเรียงวรรคละ ๗ คำพูด เปนพอไพเราะ แต่ถ้าต้องการจะใช้ ๖ คำพูดก็ได้ ๘ บ้างก็ได้ มีบังคับคำขึ้นต้นต้องว่า “สักระวา” แลลงท้ายบทต้องมี “เอย” ดังนี้ทุกบทไป” พร้อมทั้งแสดงตัวอย่างคำประพันธ์กำกับดังนี้

“๏ สักระวาดาวจรเข้ก็เหหก ศีรษะตกหันหางขึ้นกลางหาว
เป็นวันแรมแจ่มแจ้งด้วยแสงดาว น้ำค้างพราวปรายโปรยโรยลออง
ลมเรื่อย ๆ เฉื่อยฉิวต้องผิวเนื้อ ความหนาวเหลือทานทนกระมลหมอง
สกุณากาดเหว่าก็เร่าร้อง ดูแสงทองจับฟ้าขอลาเอย”

ส่วนความสนุกและเสน่ห์ของการเล่นสักรวานั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ใน “อธิบายเรื่องสักรวา” ว่า

...ความสนุกอยู่ที่คิดบท ต้องคิดบทกลอนสดให้ทันกับร้องแลต้องโต้ตอบให้ถึงกับถ้อยคำที่วงอื่นเขาว่ามา ถ้าเจ้าของวงสักรวาเปนกวีคิดบทได้เองก็บอกเอง ถ้าไม่เปนกวีก็ต้องหากวีมาไว้ในวงสักรวาเป็นผู้คิดบท เรียกว่าคนบอกบทสักรวา บางทีก็สองคนสามคนช่วยกันคิด อย่างนั้นยิ่งสนุกมาก ช่วยกันต่อคนละคำสองคำ ไม่ใช่เปนการง่าย เวลาวงอื่นเขาร้อง ร้องว่ากะไรต้องจดลงกระดานชนวนไว้ แล้วคิดตามไปว่าจะโต้ตอบเขาอย่างไร พอเขาจบบทก็บอกกลอนให้ตั้งต้น ต้องคิดให้ได้ทั้งความทั้งกลอนให้ทันคนร้อง ข้อนี้เปนความลำบากถ้าคิดไม่ทันต้องขอไปที กลอนก็ออกจะเขิน...”

(ประชุมบทสักรวาเล่นถวายในรัชกาลที่ ๕, ๒๔๖๑ : ๔-๕)

เนื่องจากสักรวาเป็นการประชันกลอนสดโต้ตอบกัน เมื่อเลิกหรือลาวงแล้วผู้เล่นมักจดจำบทที่ชื่นชอบจับใจจน “ถือกันว่าแต่งดี” ทำให้บทสักรวาที่หลงเหลือมาส่วนมากก็เพราะท่องจำถ่ายทอดกันมาได้มากบ้างน้อยบ้าง แต่นานวันเข้าบทต่าง ๆ ที่เคยจดจำกันได้ก็สูญไป เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ โปรดฯ ให้รวบรวมบทสักรวาซึ่งกระจัดพลัดพราย และสืบถามจากปากคำของผู้ที่จดจำเอาไว้ได้ คัดเก็บไว้ที่หอพระสมุดฯ จนสามารถรวบรวมเข้าเป็นชุดบทสักรวาที่เล่นถวายหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ โปรดฯ ให้พิมพ์แจกในโอกาสงานทำบุญแซยิดเจ้าจอมจีนในรัชกาลที่ ๕ ทั้งนี้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเพราะบทสักรวาที่เล่นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว น่าจะมีผู้ทันในเหตุการณ์จึงสามารถรวบรวมบทสักรวาเข้าชุดไว้ได้ก่อน ในปีถัดมา พ.ศ. ๒๔๖๒ หอพระสมุดวชิรญาณจึงพิมพ์บทสักรวาที่ใช้ร้องถวายในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวในงานฉลองวัดราชโอรส ซึ่งพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา และพระองค์เจ้าทิพยาลังการทรงรับเป็นเจ้าภาพในการจัดพิมพ์

บทสักรวาเรื่องอิเหนา ร้องถวายในรัชกาลที่ ๓ เป็นบทเล่นถวายหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวฉลองวัดราชโอรสเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๔ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า หนึ่งในกวีที่เป็นผู้บอกบทในคราวนั้น คือ พระยาไชยวิชิต (เผือก) ซึ่งเป็นกวีสำคัญ เคยมีบรรดาศักดิ์เป็นจมื่นไวยวรนาถมาตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บทสักรวาเรื่องอิเหนาประกอบด้วยบทสักรวาทั้งหมด ๑๖๔ บท แบ่งเป็น บทชวน จำนวน ๑๑ บท บทสักรวาเรื่องอิเหนา ตอนไปใช้บน “จะจับเรื่องอิเหนาชาวชวา ท้าวดาหาเสด็จไปใช้บน” จับความตั้งแต่บุษบาเสี่ยงเทียน อิเหนาแกล้งทำเป็นพระปฏิมาจนถึงท้าวดาหาเสด็จกลับเข้าเมือง จำนวน ๑๓๘ บท และตอนนางจินตะหรา จำนวน ๑๕ บท จับความตั้งแต่อิเหนาอยู่เมืองหมันหยาจนถึงเกี้ยวนางจินตะหรา บทสักรวาเรื่องอิเหนา ร้องถวายในรัชกาลที่ ๓ นับเป็นแบบฉบับสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาสำนวนกลอนสักรวาสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

บทสักรวาเล่นถวายในรัชกาลที่ ๕ เป็นการรวบรวมบทสักรวาที่เล่นถวายหน้าพระที่นั่ง ในโอกาสต่าง ๆ ๓ คราว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูการเล่นสักรวา เนื่องจากยังมีกวีที่มีฝีมือและทันเห็นทันเล่นสักรวามาแต่รัชกาลที่ ๓ อยู่หลายคน เช่น คุณพุ่ม กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ การเล่นสักรวาในรัชกาลที่ ๕ ได้รับความนิยมอยู่ในช่วงแรก และทิ้งช่วงอีกหลายปีจึงจัดขึ้นอีกคราวเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๘ เนื่องจากมีพระราชประสงค์ให้มีมหรสพสำหรับสมโภชในการฉลองพระราชลัญจกรในพระราชพิธีสมโภชสิริราชสมบัติ ครบหมื่นวัน โปรดเกล้าฯ ให้เล่นสักรวาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง “ด้วยเมื่อเล่นสักรวากันยุคแรก เจ้านายชั้นพระเจ้าน้องยาเธอ ยังทรงพระเยาว์อยู่โดยมาก เปนแต่จำได้ว่า เคยเห็นเล่นสักรวา ยิ่งลงมาถึงชั้นพระเจ้าลูกเธอแล้ว เกือบจะไม่มีพระองค์ใดได้เคยทอดพระเนตรเห็นเล่นสักรวามาแต่ก่อน” (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ๒๔๖๑ : ๑๒) การเล่นสักรวามิใช่มหรสพที่จะหาดูได้ทั่วไป จึงย่อมสร้างความยินดีให้กับผู้ที่มีโอกาสได้เห็นการละเล่นสักรวา

ในโคลงพระราชพิธีทวาทศมาส ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ (๒๕๔๕ : ๙๙) ทรงพระนิพนธ์ขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พรรณนาถึงการพระราชพิธีจองเปรียงลอยพระประทีปมีการละเล่นมหรสพต่าง ๆ เป็นที่ครื้นเครง หนึ่งในรายการมหรสพที่จัดในคราวนั้นคือการเล่นสักรวา ความว่า

“๏ ปรบไก่ครึ่งท่อนทั้ง สักรวา
ร้อยยักลำนานา ปลอบพ้อ
แก้โต้ตอบไปมา ไม่สุด สิ้นเอย
ออดแอดอ้อยอิ่งจ้อ จากแล้วพายตาม ฯ”

(โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส, ๒๕๔๕ : ๙๙)

บทสักรวาที่เล่นถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวบรวมจากบทสักรวาที่เล่นในโอกาสต่าง ๆ ๗ คราว ได้แก่ คราวที่ ๑ เล่นที่พระที่นั่งสนามจันทร์ เล่น ๔ คืน ตั้งแต่คืนวันพุธ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีวอกจัตวาศก ๑๒๓๔ ถึงวันอาทิตย์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีวอกจัตวาศก ๑๒๓๔ (พ.ศ. ๒๔๑๕) เนื่องในงานเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คืนที่ ๑ เล่นเรื่องพระอภัยมณี ตอนเกี้ยวนางสุวรรณมาลี คืนที่ ๒ เล่นเรื่องอิเหนา ตอนเสี่ยงเทียน คืนที่ ๓ เล่นซ่อนหาปิดตา คืนที่ ๔ เล่นเรื่องคาวี ตอนนางคันธมาลีหึง

คราวที่ ๒ เล่นที่พระที่นั่งสนามจันทร์ เล่น ๓ คืน ตั้งแต่คืนวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอกจัตวาศก ๑๒๓๔ ถึงวันศุกร์ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอกจัตวาศก ๑๒๓๔ (พ.ศ. ๒๔๑๕) คืนที่ ๑ เล่นคลุมไก่ คืนที่ ๒ เล่นหวย คืนที่ ๓ เล่นปิดตาซ่อนหา

คราวที่ ๓ เล่นที่ท้องพรหมมาศ หรือ ทุ่งพรหมาสตร์ เมืองลพบุรี เป็นบึงใหญ่อยู่ระหว่างลำน้ำลพบุรีและทะเลชุบศร บริเวณวัดมณีชลขัณฑ์ ซึ่งบรรดาเจ้านายและข้าราชบริพารเล่นสักรวาถวายหน้าพระที่นั่ง ๒ คืน ตั้งแต่คืนวันเสาร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีวอกจัตวาศก ๑๒๓๔ ถึงวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีวอกจัตวาศก ๑๒๓๔ (๙ - ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๕) ซึ่งเป็นช่วงเวลาน้ำหลากทุ่ง คืนที่ ๑ เล่นปิดตาซ่อนหา คืนที่ ๒ เล่นแห่ผ้าป่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงร่วมเล่นสักรวาด้วย มีวงสักรวาที่เล่นในครั้งนั้น ๘ วง

คราวที่ ๔ เล่นที่พระราชวังบางปะอิน ในงานเฉลิมพระที่นั่งวโรภาษพิมานในโอกาสที่สร้างแล้วเสร็จ เมื่อเดือน ๑๒ ปีชวด จุลศักราช ๑๒๓๘ (พ.ศ. ๒๔๑๙) สักรวาที่เล่นในคราวนี้มีบทเฉพาะในคืนที่ ๒ เล่นเรื่องสังข์ทอง การเสด็จแปรพระราชฐานประทับแรมยังพระราชวังบางปะอินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมข้าราชบริพารเป็นการครื้นเครง พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทรงเรียบเรียงเรื่องพระราชวังบางปะอิน (๒๕๐๗ : ๓-๔) กล่าวถึงช่วงเวลาที่มักเสด็จพระราชดำเนินไว้ว่า “...โดยมากก็ในฤดูที่น้ำหลากมาจากเหนือท้ายฤดูฝนอันเป็นเวลาที่น้ำมาก สะดวกในการประพาสทางเรือ และเป็นเวลารื่นเริงบันเทิงใจของชาวบ้าน...”

คราวที่ ๕ เล่นที่สระพระราชวังบางปะอิน ครั้งที่ ๒ เมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑ ปีฉลูนพศก จุลศักราช ๑๒๓๙ (พ.ศ. ๒๔๒๐) เล่น ๕ คืน คืนที่ ๑ เล่นทำนองบทเกริ่น บทชวน คืนที่ ๒ เล่นเรื่องรามเกียรติ์ คืนที่ ๓ เล่นเรื่องรามเกียรติ์ คืนที่ ๔ เล่นเรื่องอิเหนา คืนที่ ๕ เล่นเรื่องอิเหนา ดังมีรายละเอียดปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ภาค ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า

วันจันทร์ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑ ปีฉลูนพศก จุลศักราช ๑๒๓๙

...ถึงบางปอินบ่ายโมงเศษ กรมขุนบดินทรมาหา ได้นัดไปว่าค่ำให้มาเล่นสักรวา...เวลาย่ำค่ำกลับคำกินข้าว ริมห้องกาพย์กลางแจ้งริมสระ กรมขุนบดินทร น้าประเสริฐ สักรวาวงผู้ชาย หลวงพิชัยเสนา วงผู้หญิง รวม ๓ วง มาเล่นจนเวลา ๒ ยามเศษเลิก

(จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ภาค ๕, ๒๔๓๗ : ๑๕ - ๑๖)

วันอังคารขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑ ปีฉลูกนพศก จุลศักราช ๑๒๓๙

...ค่ำ ๒ ทุ่มไปกินข้าวที่เมื่อวานนี้ ที่โรงลครมีลครต่อไป แล้วกรมขุนบดินทรมาเล่นสักรวา มีหลวงสิทธิสรเติมมาอีกวงหนึ่ง กินข้าวแล้วลงไปช่วยกรมขุนคิดสักรวา แล้วแจกผ้าพื้นพวกสักรวา ๔ ลำ เป็นคน ๖๔ คน ผ้า ๖๔ ผืน ตัวนายแจกผ้าหุ่มนอนสกอต รวม ๑๑ ผืน แล้วกลับขึ้นไปจุดดอกไม้เล่นอยู่จน ๘ ทุ่ม กลับเข้าไปข้างใน

(จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ภาค ๕, ๒๔๗๗ : ๑๖ - ๑๗)

รายละเอียดที่ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในวันพุธขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑ ปีฉลูนพศก จุลศักราช ๑๒๓๙ ไม่ปรากฏในบันทึกว่าเสด็จพระราชดำเนินไปทรงฟังสักรวา ส่วนวันพฤหัสบดีขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑ ปีฉลูนพศก จุลศักราช ๑๒๓๙ ทรงบันทึกไว้ว่า “ไปพลับพลาจุดดอกไม้และกินข้าว แล้วมาเล่นสักรวาจน ๕ ทุ่มเศษกลับ” (๒๔๗๗ : ๑๘)

คราวที่ ๖ เล่นที่วัดบรมวงศ์อิศรวราราม พระนครศรีอยุธยา เล่นในคราวฉลองพระอาราม ๓ คืน เล่นเมื่อกลางเดือนอ้าย ปีฉลูนพศก จุลศักราช ๑๒๓๙ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔ นำเบอร์ ๓๔๑ วันอาทิตย์ เดือน ๒ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีฉลูนพศก ๑๒๓๙ ระบุว่าเมื่อวันพุธ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีฉลูนพศก จุลศักราช ๑๒๓๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชดำเนินไปผูกพัทธสีมาวัดบรมวงศ์อิศรวราราม และให้รายละเอียดงานมหรสพที่จัดฉลองพระอารามว่า “มีโคมลอยคืนละหลายสิบโคม ดอกไม้เพลิงนั้นมีทั้ง ๔ คืน พระเจ้าราชวรวงษเธอ กรมขุนบดินทรไพศาลโสภณ พระประพันธวงษเธอ พระองคเจ้าประเสริฐศักดิ หม่อมเจ้ายินดี หม่อมเจ้าสวัสดิ หม่อมเจ้าทั่ง หม่อมเจ้าวัชรินทร หลวงพิไชยเสนา หลวงสิทธิศรสงคราม หม่อมพุ่ม พร้อมกันจัดศักวาไปร้องถวาย เสดจประทับอยู่จนเวลา ๒ ยามเสศ เสด็จพระราชดำเนินกลับประทับวังจันทเกษม การที่ร้องศักวานั้นมีทั้ง ๓ คืน”

คราวที่ ๗ เล่นที่สวนศิวาลัย ภายในพระบรมมหาราชวัง ในคราวฉลองพระราชลัญจกรครบหมื่นวัน เล่น ๑ คืน เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๔ (พ.ศ. ๒๔๓๙) เล่นเรื่องสังข์ทอง

หนังสือประชุมบทสักรวาเล่นถวายในรัชกาลที่ ๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงรวบรวมแล้วพิมพ์ขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ และได้ทรงพระนิพนธ์อธิบายเรื่องสักรวาไว้ในฉบับพิมพ์ครั้งแรก ต่อมาพิมพ์ครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ ในงานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์โท พระยาพิบูลย์พิทยาพรรค (ทอง คุปตาสา) และพิมพ์ครั้งที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ สมาคมนิสิตเก่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิมพ์เพื่อเป็นที่ระลึกเนื่องในมงคลวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเจริญพระชนมายุ ๓๖ พรรษา อนึ่ง เฉพาะเรื่องสักรวาเล่นที่ท้องพรหมมาศ แยกพิมพ์ตามงานในโอกาสต่าง ๆ ในการจัดพิมพ์หนังสือประชุมบทสักรวาหน้าพระที่นั่ง (บทสักรวาเรื่องอิเหนา ร้องถวายในรัชกาลที่ ๓ และประชุมบทสักรวาเล่นถวายในรัชกาลที่ ๕) ครั้งนี้พิมพ์ตามฉบับพิมพ์ครั้งแรก โดยคงอักขรวิธีตามฉบับเดิม แต่ได้ปรับการจัดรูปแบบการแบ่งลักษณะคำประพันธ์ให้เป็นปัจจุบันเพื่อสะดวกในการศึกษา และได้นำคำอธิบายเรื่องสักรวา พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทั้งได้นำสำเนาเอกสารตัวเขียน หมวดวรรณคดี หมู่กลอนสักรวา เรื่องอิเหนา เลขที่ ๓๙ ชุบเส้นรงค์ จัดพิมพ์ไว้ในตอนต้นของหนังสือด้วย

  1. ๑. นางสาวทิพพวรรณ บุญส่งเจริญ นักอักษรศาสตร์ปฏิบัติการ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ เรียบเรียง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ