อธิบายนิราศ

ลักษณบทกลอนของไทยเรามี ๔ ประเภท คือโคลงประเภท ๑ ฉันท์ประเภท ๑ กาพย์ประเภท ๑ กลอนประเภท ๑ ฉันท์กับกาพย์ตำรามาแต่ประเทศอินเดีย โคลงกับกลอนตำราเปนของไทยเราเอง ถ้าว่าเปนทางตำนานโดยอาศรัยพิจารณาบทกลอนของโบราณที่ยังเหลืออยู่ในบัดนี้ หนังสือบทกลอนไทยที่แต่งเปนโคลงกับกลอนเปนของมีมาก่อน ฉันท์แลกาพย์มีขึ้นต่อชั้นหลัง ในราวแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราช แต่คนสมัยนั้นดูเหมือนจะถือกันเปนคติว่าโคลงฉันท์เปนของแต่งยาก กวีที่มีชื่อเสียงมักแต่งหนังสือเรื่องสำคัญเปนลิลิตฤๅโคลงฉันท์ทั้งนั้น กาพย์กลอนถือกันว่าเปนของแต่งง่าย มักแต่งกันแต่เปนหนังสือสวดและเปนเพลงยาวสังวาศ มาจนถึงปลายสมัยครั้งกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานี จึงค่อยนับถือกาพย์กลอนกันขึ้นกว่าแต่ก่อน เห็นจะเปนเพราะเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรโปรดทรงแต่งกาพย์เช่นกาพย์เห่เรือเปนต้น และโปรดทรงแต่งเพลงยาวสังวาศ การแต่งกาพย์กลอนจึงแต่งกันแพร่หลายขึ้น

หนังสือจำพวกที่เรียกว่านิราศ เปนบทกลอนแต่งเวลาไปทางไกล มูลเหตุที่จะเกิดหนังสือชนิดนี้ขึ้น สันนิษฐานว่าคงเปนเพราะเวลาเดินทางที่มักต้องไปเรือหลายๆ วันมีเวลาว่างมาก ได้แต่นั่งๆ นอนๆ ไปจนเกิดเบื่อ ก็ต้องคิดหาอะไรทำแก้รำคาญ ผู้สันทัดในทางวรรณคดีจึงแก้รำคาญโดยกระบวรคิดแต่งบทกลอน บทกลอนแต่งในเวลาเดินทางเช่นนั้น ก็เปนธรรมดาที่จะพรรณาว่าด้วยสิ่งซึ่งได้พบเห็นในระยะทางประกอบกับอารมณ์ของตน เช่นครวญคิดถึงคู่รักซึ่งต้องพรากทิ้งไว้ทางบ้านเรือนเปนต้น กระบวรความในหนังสือนิราศจึงเปนทำนองอย่างว่านี้ทั้งนั้น ชอบแต่งกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานี แต่ที่เรียกชื่อว่าหนังสือนิราศ ดูเหมือนจะบัญญัติขึ้นในชั้นกรุงรัตนโกสินทรนี้

หนังสือนิราศครั้งกรุงศรีอยุธยามักแต่งเปนโคลง แลเรียกชื่อเรื่องแปลกๆ กัน โคลงนิราศเก่าก่อนเรื่องอื่นที่มีฉบับอยู่บัดนี้ เรียกชื่อเรื่องว่าโคลงหริภุญชัย เดิมแต่งเปนโคลงลาวที่เมืองเชียงใหม่ เมื่อปีฉลู “เมิ่งเป๊า” ในนั้นกล่าวถึงพระพุทธสิหิงค์ว่ายังอยู่เมืองเชียงใหม่ เพราะฉนั้นคงจะแต่งเมื่อปีฉลู เมิ่งเป๊ารอบที่ตรงกับ พ.ศ. ๒๑๘๑ ก่อนสมเด็จพระนารายน์ฯ เชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมากรุงศรีอยุธยา นิราศเรื่องนี้เอามาแต่งแปลงเปนโคลงไทยที่กรุงศรีอยุธยาอิกชั้น ๑ แต่ดูเหมือนจะนับถือกันมาก นิราศที่แต่งในกรุงศรีอยุธยาเก่าก่อนเรื่องอื่นนั้น คือโคลงพระศรีมโหสถ แต่งเมื่อตามเสด็จพระนารายน์ฯ ไปรับช้างเผือกที่เมืองนครสวรรค์ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๑ ต่อมาถึงโคลงกำสรวญ ของศรีปราชญ์ แต่งเมื่อถูกเนรเทศจากพระนครศรีอยุธยาลงไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ว่าเมื่อในรัชกาลพระเจ้าเสือ ระหว่าง พ.ศ. ๒๒๔๖ กับ พ.ศ. ๒๒๕๑ นิราศกำสรวญนี้ในกระบวรความเห็นได้ว่าแต่งตามอย่างนิราศหริภุญชัย แต่แต่งดีขึ้นไปอิก ผู้แต่งโคลงนิราศชั้นหลังมา แม้ที่แต่งในกรุงรัตนโกสินทรนี้ชอบแต่งเอาอย่างโดยมาก

นิราศครั้งกรุงศรีอยุธยาที่แต่งเปนกลอนสุภาพ มีปรากฎอยู่เรื่องเดียวแต่นิราศเมืองเพ็ชรบุรี ของหม่อมพิมเสน แต่ก็รวมไว้ในพวกเพลงยาวสังวาศ หาได้แยกออกเปนเรื่องต่างหากเหมือนอย่างนิราศที่แต่งกันในชั้นกรุงรัตนโกสินทรไม่ ถึงนิราศที่แต่งเปนกลอนสุภาพในกรุงรัตนโกสินทรนี้ ชั้นแรกก็รวมอยู่ในเพลงยาวสังวาศ มิได้แยกออกเปนประเภทหนึ่งต่างหากมีตัวอย่างที่สำคัญคือนิราศท่าดินแดงซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อเวลาเสด็จยกกองทัพหลวงไปปราบพม่าข้าศึก เมื่อปีมเมีย พ.ศ. ๒๓๒๙ ก็รวมอยู่ในเพลงยาว พึ่งจะแยกออกเปนนิราศเรื่อง ๑ เมื่อในรัชกาลที่ ๕

นิราศที่แต่งกันในชั้นกรุงรัตนโกสินทรนี้ แต่งทั้งเปนโคลงแลเปนกลอนสุภาพ ดูเหมือนกวีที่แต่งนิราศในครั้งรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒ จะถือคติต่างกันเปน ๒ พวก ๆ หนึ่งถือคติเดิมว่า โคลงฉันท์เปนของสำคัญและแต่งยากกว่ากลอน กวีพวกนี้แต่งนิราศเปนโคลงตามเยี่ยงอย่างศรีปราชญ์ทั้งนั้น กวีอิกพวกหนึ่งชอบเพลงยาวอย่างเช่นเล่นกันเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา กวีพวกนี้แต่งนิราศเปนกลอนสุภาพทั้งนั้น ถ้าว่าเฉภาะที่เปนผู้สำคัญในกวีพวกหลังนี้ คือสุนทรภู่ แต่งนิราศเปนกลอนสุภาพมากเรื่องกว่าใครๆ หมด กลอนของสุนทรภู่คนชอบอ่านกันแพร่หลาย ก็ถือเอานิราศของสุนทรภู่เปนแบบอย่างแต่งนิราศกันต่อมา ตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ จนถึงรัชกาลที่ ๕

ใน พ.ศ. ๒๔๖๗ นี้ พระโสภณอักษรกิจ (เล็ก สมิตะสิริ) มาขอเรื่องหนังสือในหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร สำหรับพิมพ์ในการกฐินตามเคย หอพระสมุดฯ จึงจัดประชุมนิราศของสุนทรภู่ อันนับว่าเปนต้นตำราของนิราศกลอนสุภาพชั้นหลัง ให้พิมพ์รวม ๘ เรื่องด้วยกัน นิราศสุนทรภู่ที่แต่งไว้ ๘ เรื่องนั้นแต่งต่างคราวกัน คือแต่งเมื่อปลายรัชกาลที่ ๑ และต้นรัชกาลที่ ๒ เปนเวลาก่อนสุนทรภู่เข้ารับราชการ ๒ เรื่อง แต่งเมื่อสุนทรภู่บวชเปนพระในรัชกาลที่ ๓, ๒ เรื่อง แต่งเมื่อสุนทรภู่สึกเปนฆราวาสแล้วอิก ๔ เรื่อง นิราศอิเหนาที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ สุนทรภู่แต่งในรัชกาลที่ ๓ เมื่อสึกเปนฆราวาสแล้ว เข้าใจว่าดูเหมือนจะแต่งถวายพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสุนทรภู่ฝากตัวพึ่งพระบารมีอยู่ในเวลานั้น ไม่ใช่เปนเรื่องไปทางไกลเหมือนนิราศเรื่องอื่นๆ สุนทรภู่คิดเอาเรื่องอิเหนาตามนางบุษบาเมื่อลมหอบหายไป มาคิดแต่งขึ้นเปนนิราศของอิเหนา ทำนองเดียวกับฉันท์ราชาพิลาปของโบราณที่แต่งว่าด้วยพระรามตามนางสีดา สำนวนกลอนเรื่องอิเหนานี้นับเปนอย่างเอกของสุนทรภู่เรื่อง ๑ ซึ่งบรรดาผู้อ่านบทกลอนชอบกันหมดไม่เลือกหน้า

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ