นิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน
๏ สรวมชีพบังคมบรมนารถ
ด้วยภักดีชุลีลาบาท | อภิวาทขอเบื้องพระบารมี |
เปนร่มโพธิสุวรรณกั้นเกษ | ไปประเทศกวางตุ้งกรุงศรี |
เปนจดหมายมาถวายด้วยภักดี | ตามที่ได้สดับเดิมความ |
แรกราชดำริห์ตริตรองถวิล | จะเหยียบพื้นปัถพินให้งามสนาม |
จะสร้างสรรค์ดังสวรรค์ที่เรืองราม | จึงจะงามมงกุฎอยุทธยา |
เมื่อไอสูรย์สมบูรณ์ด้วยสมบัติ | กับกระษัตริย์ราชคฤ[๑]คฤๅหา |
เคยร่วมพื้นยืนแผ่นสุวรรณมา | แต่นิราเสื่อมเศร้ามาเนานาน |
เสื่อมสนองโดยครองกระษัตริย์ชาติ | เสื่อมราชไมตรีไม่มีสมาน |
เสื่อมสวาดิขาดมาก็ช้านาน | จะประมาณยี่สิบสี่ปีปลาย |
จึงทรงคิดจะติดความตามปฐม | สำหรับราชบรมกระษัตริย์สาย |
จึงแผ่พื้นสุวรรณพรรณราย | เอาแยบคายฝั้นเฝือเปนเครือวัลย์ |
เอาทับทิมแทนใบใส่ดอกเพ็ชร | งามเสร็จสมบูรณ์ทุกสิ่งสรรพ์ |
งามทางทั้งจะสร้างเขตรคัน | งามสรรค์ทรงคิดคดีงาม |
ควรเปนจอมจุลจักราราช | แล้วเสด็จบัลลังก์อาศน์ออกสนาม |
แย้มพระโอษฐประดิพัทธแล้วตรัสความ | อำมาตย์หมู่มีนามประนมฟัง |
ได้ยินพร้อมยอมอวยแล้วอภิวาท | กราบบาทด้วยคำนับแล้วรับสั่ง |
ทูลโดยลำดับมาเปนตราตรัง | ที่หยุดแล้วจะยั้งยืนควร |
จึงพระบาททรงราชนิพนธ์สาร | เปนตะพานนพคุณควรสงวน |
ให้เขียนสารลงลานทองทวน | จัดส่วนบรรณาการละลานตา |
อนึ่งนอกจิ้มก้อง[๒]เปนของถวาย | ก็โปรยปรายประทานไปหนักหนา |
ทั้งนายห้างขุนนางในนัครา | ให้มีตราบัวแก้วสำคัญกัน |
แล้วจัดทูตทูลคำให้จำสาร | บรรณาการพร้อมสิ้นทุกสิ่งสรรพ์ |
ทั้งของแถมแนมความนั้นงามครัน | เปนกำนันถวายนอกบรรณาการ |
แล้วทรงสั่งสิ่งของเปนสองเหล่า | อย่าควบเข้าแบ่งพร้องเปนสองฐาน |
ฝ่ายทูตนั้นให้ว่าบรรณาการ[๓] | โดยฉบับบุราณรวดมา |
อนึ่งนอกจิ้มก้องเปนของถวาย | รับสั่งยกให้หกนายข้าหลวงว่า |
บรรทุกเสร็จทั้งสิบเอ็ดเภตรา | มาทอดท่าคอยฤกษ์เรียงลำ |
ครั้นถึงวันภุมเชษฐมาสี[๔] | กาฬปักษ์[๕]ดิถีสิบสามค่ำ |
เมื่อโมงสองบาทเช้าพอเงาง้ำ | สิบเอ็ดลำบังคมลาแล้วคลาไคล |
ครั้นเรือล่องคล้อยคลองตลาดเลี้ยว | ตลึงเหลียวแล้วชลไนยไหล |
จะจากเรือนจากเพื่อนภิรมย์ไกล | ดังสายใจนี้จะขาดจากอาตมา |
โอ้ความปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ | ตั้งแต่จะนับวันคอยหา |
จะนับเดือนเคลื่อนสังวัจฉรา | จะก้มหน้านั่งช้ำระกำไป |
ชรอยพรากเนื้อนกวิหคขัง | บำราศรังริบลูกเขาเปนไฉน |
มาตามทันบั่นร้างไว้กลางใจ | ให้จำไกลจากราชธานี |
แล้วยอกรมัสการขึ้นเพียงผม | พระบรมไตรรัตน์เรืองศรี |
เดชะศีลสัจจาบารมี | ทั้งขันตีอดออมอำนวยทาน |
ขอเปนข่ายเจ็ดชั้นไปกั้นเกษ | สรรพเภททุกข์ไภยในชลฉาน |
ให้ปลอดเหตุสารพัดกำจัดมาร | มัสการแล้วล่องครรไลไป |
ครั้นถึงเมืองปากน้ำพอย่ำฆ้อง | ดุเหว่าร้องเพลาประจุสไสมย[๖] |
ทอดสมอรอรั้งประทังใจ | อยู่ที่ปากชลาไลยนั้นสองวัน |
ต่อน้ำขึ้นจึงได้ถอยออกลอยล่อง | จำเภาะร่องสำเภาผายผัน |
แต่ฉุดชากลากเข็นอยู่เปนควัน | หวังให้ทันมรสุมสำเภาไป |
ครั้นข้ามโขดหลังเต่าออกตกฦก | ก็ตั้งตรึกตรอมจนกมลไหม้ |
เขาผูกจัดเชือกเสาแลเพลาใบ | แล้วคอยลมที่จะได้ไคลคลา |
ครั้นเขาชักใบฉุดขึ้นสุดเสา | ก็ปลาบเปล่าทรวงโทรมนัศา |
คลื่นทุ่มกลุ้มทิ้งเทมา | เภตรากลิ้งกลอกกระฉอกกาย |
กระทบปัดฟัดปั่นที่ฟันคลื่น | แลฟูฟื้นฟูมฟ่องนองสาย |
แสนเทวศแต่ซบเซาเมามาย | ระกำกายมิได้กินโภชนา |
แต่ก้าวเสียดค่อยละเลียดด้วยลมขัด | พระพายพัดสลาตันตรานน่า |
แต่แล่นก้าวกลับใบไปมา | แล้วก็ลอยคอยท่าลมดี |
สุดคิดจึงอุทิศถึงพระบาท | แล้วยอกรอภิวาทเหนือเกษี |
ขอเดชะตะบะบุญพระบารมี | จะแทนที่วรพุทธโพธิญาณ |
กับอนึ่งซึ่งพระองค์ได้ทรงศิล | อันผ่องภิญโญยอดพระกรรมฐาน |
มาช่วยป้องลมขัดอย่าพัดตราน | ขอบันดาลลมส่งให้ตรงไป |
อนึ่งเขาในชลามัจฉาชาติ | ทั้งปิศาจพวกพรากอย่ากรายใกล้ |
ให้ปลอดเหตุสารพัดกำจัดไภย | จำเริญไชยชมชื่นจนคืนมา |
ครั้นสิ้นคำบรรยายพระพายพัด | พอคำสัจส่งท้ายก็ย้ายหา |
ได้เห็นเหตุในพระเดชเดชา | ก็แล่นไปได้ทวาทศวัน |
จึงถึงที่ว่าสามร้อยยอด | เขาหยุดทอดไหว้เทวทำขวัญ |
ตามเคยสังเวยแก่เทวัญ | ที่สำคัญหลักคามเคยมา |
แล้วใช้ใบบากข้ามไปตามเข็ม | ค่อยเก็บเล็มลมไปด้วยใบผ้า |
ได้สองวันแต่สัญจรคลา | ครั้นถึงกึ่งกลางมหาสมุทไทย |
จึงบูชาตรงน่าพุทไธมาศ | เส้นสาดลงท้องทเลใหญ่ |
กระดาษเผารินเหล้าแล้วลอยไป | เขาว่าไหว้ผีน้ำในท่ามกลาง |
แต่จากนั้นสองวันก็ไปเห็น | พระสุริยหย่อนแสงเย็นถึงเกาะขวาง |
ชโงกเงื้อมเอื้อมแอบอยู่แทบทาง | กระเด็นโดดอยู่กลางวารี |
แต่ตราบค่ำย่ำรุ่งจนเรืองแสง | ก็แล่นแซงเสียดพ้นคิรีศรี |
ถึงเกาะมันคิดว่ามันยังมากมี | ได้ถามถี่ว่าบุราณประมาณมา |
แล้วไปสองวันเล่าก็เขาขนุน | บ้างเรียกเกาะกุ๋นตุ๋นภูผา |
เปนสองเกาะน้อยใหญ่แต่ไกลตา | กับขอบฝั่งนั้นสักห้าโยชน์ปลาย |
ก็ใช้ใบไปกลางที่หว่างนั้น | ถึงสลุบกำปั่นไปค้าขาย |
จะแล่นนอกนั้นไม่ได้ใกล้เกาะทราย | จำเภาะบ่ายเข้าหว่างเปนทางจร |
เขาล้มไก่ลงไหว้เทเวศร์ | ตามเพศที่สถิตย์อยู่ศิงขร |
บรรดาพวกเรือค้าเภตราจร | ถวายกรตามตำแหน่งทุกแห่งไป |
ครั้นถึงแหลมเลี้ยวน่าเมืองปาสัก[๗] | ก็ประจักษ์ปากน้ำพอจำได้ |
เห็นเรือญวนยืนแจวเปนแถวไป | เขาใช้ใบเล็มล่าออกหากิน |
แล้วไปสองวันครึ่งก็ถึงไศล | เห็นปากน้ำญวนใหญ่ก็ใจถวิล |
เกลือกจะออกชิงไชยสิไพริน | ก็คิดสู้กว่าจะสิ้นสุดที |
แล้วก็ไปสามวันถึงบรรพต | นามกำหนดช้างข้ามคิรีศรี |
ตระหง่านเขาง้ำเงาชลธี | เขาว่ามีเปนนิทานบุราณมา |
ว่าเขานี้อัคคีกาลวาต | เมื่อไฟฟ้าผ่าฟาดลงภูผา |
แล้วลุกไหม้ไล่เลียลามศิลา | พฤกษาจึงไม่ลัดระบัดใบ |
ดูก็เหมือนหนึ่งจะต้องทำนองกล่าว | ด้วยเรื่องราวรอยมีอยู่ที่ไศล |
แล้วแล่นผ่านพ้นสถานที่นั้นไป | จนอุไทยแจ่มแจ้งโพยมบน |
ก็ลุยังอินตั้งตัวบุตร | สูงสุดเทิดเทียมพระเวหน |
ตระหง่านเขาเงาดำลงง้ำชล | ฝ่ายบนเบื้องจอมคิรินราย |
มีศิลาหนึ่งปักเปนกำหนด | ปลาดหลากกว่าบรรพตทั้งหลาย |
ฟังแถลงหลายปากมามากมาย | ว่าเปนศรนารายน์อวตาร |
เมื่อเสด็จออกดงไปทรงพรต | ยังบรรพตศาลาไลยไพรสาณฑ์ |
ทรงแผลงสาตรศรไปรอนราญ | พิฆาฏมารซึ่งแปลงเปนกวางมา |
แล้วสาปศรให้เปนท่อนศิลาปัก | จึงประจักษ์อยู่ที่จอมภูผา |
ทรงสถานที่ประมาณสมมุติมา | ก็หมายตาเหมือนจะต้องบุราณกาล |
ฝ่ายฝูงคณาอารักษ์ | สิทธิศักดิเข้าสู่สิงสถาน |
ผู้ไปมาบูชาเชี่ยวชาญ | วิไสยพาลพานิชนิยมมา |
แต่แปลกอย่างออกที่ทำสำเภาน้อย | กระจ้อยร่อยพอพึงเสนหา |
เอาเชือกเสาเพลาใบใส่เภตรา | แล้วเย็บผ้าถุงเสบียงเรียงราย |
บรรดามีเงินทองของเอมโอช | สรรพโภชน์ใส่ลงบรรจงถวาย |
เอากระดาษวาดรูปทุกตัวนาย | ทั้งนายท้ายต้นหนทุกคนไป |
แล้วยกสำเภาน้อยลงลอยน้ำ | เหมือนถ่ายลำที่ร้ายให้คลายได้ |
เผากระดาษฟาดเคราะห์เสดาะไป | ตามวิไสยสัญจรแต่ก่อนมา |
แล้วจากนั้นสองวันก็เห็นเขา | เปนขอบเงายืดยาวไปนักหนา |
ค่อยแล่นคล่องไปได้สองทิวารา | ก็ถึงวาโหลฦกทเลวน |
เปนที่ข้ามตามทางไปกวางตุ้ง | เห็นสุดมุ่งหมอกมืดไม่เห็นหน |
แล้วก็กว้างกว่าทางทุกตำบล | ก็พึงยลเขาบูชาเปนอาจินต์ |
กำหนดแต่เขาขวางที่ทางมา | เปนภาราเหล่าล้วนแต่ญวนสิ้น |
จนวาโหลขอบแคว้นแดนศีขริน | จึงสุดดินสิ้นเขตรนิเวศญวน |
ก็บ่ายข้ามตามบูรพาภาค | แสนวิบากคลื่นใหญ่ก็ใจหวน |
แต่หาวเหียนป่วนเปี่ยนสกนธ์กวน | ด้วยเมาซวนรากรื้อระทมทน |
แล้วบังเกิดพยุใหญ่จนใบกลับ | ทั้งคลื่นทับเทฟองทั้งนองฝน |
เปนพยุพยับทั่วมัวมน | กำลังฝนแลบพรายกระจายไป |
เสียงคลื่นประหนึ่งพื้นสุธาวาศ | จะวินาศไปด้วยชลไม่ทนได้ |
ตลึงนิ่งเห็นเขาวิ่งวุ่นวายไป | บ้างร้องไห้รักตนอยู่ลนลาน |
บ้างก็ยึดมัดไม้ใบเก่า | บ้างก็เฝ้าถังน้ำแลสำป้าน |
เห็นการผิดแล้วก็คิดนมัสการ | สละพาลภาวนารักษาตน |
จะแลฝั่งที่หยุดก็สุดเนตร | จะสังเกตพึ่งพนัศก็ขัดสน |
แต่นั่งแลดูตากันห้าคน | เห็นจะจนเสียในท้องทเลลาน |
สุดคิดจึงอุทิศถึงพระเดช | มาปกเกษช่วยชีพสังขาร |
เดชะตะบะบุญพระคุณฌาน | ลมพาลก็ค่อยเปลาบันเทาพลัน |
เภตราจึงค่อยฟื้นขึ้นคลื่นได้ | จึงชักใบขึ้นรอไว้พอผัน |
ครั้นลมหายค่อยสบายอารมณ์ครัน | ถึงกระนั้นยังไม่ศุขสักราตรี |
ถ้ากลางคืนก็ได้ชื่นแต่แสงจันทร์ | ทิวาวันก็ได้ชมแต่รังษี |
กับจะดูมัจฉาในวารี | ก็มีแต่พวกพรรค์จะอันตราย |
ที่ตามล้อมตอมว่ายนั้นหลายหมู่ | ก็เหลือรู้จะกำหนดจดหมาย |
ชลาดำด้วยน้ำเค็มพราย | ทั้งสุดสายดิ่งร้อยห้าสิบวา |
จะดูโดยทิศใดก็ใจหวาด | วิปลาศเห็นวาฬขึ้นข้างขวา |
ประมาณยาวราวสามสิบห้าวา | ที่ท่อนหน้าไม่ตระหนักประจักษ์ใจ |
เห็นคล้ายกุ้งที่กะพุ้งแพนหาง | ประมาณกว้างนั้นสิบห้าวาได้ |
แต่โดยลมอมชลที่พ่นไป | ก็สูงได้โดยหมายกับปลายตาล |
เขาก็กลับใบบากออกจากที่ | คเนหนีจะให้พ้นแถวสถาน |
เอาธูปเทียนบวงบนขึ้นลนลาน | วันทนาปลาวาฬวุ่นวาย |
แล้วเขาทำเป็ดไก่ไหว้เทเวศร์ | ตามเภทที่ทเลแล้วเทถวาย |
แต่ขลุ่ยขลุกแล้วลุกขึ้นโปรยปราย | กระดาษพรายเผาเพลิงถเกิงเรือง |
เย็นเช้าไหว้เจ้าด้วยม้าฬ่อ | พระหมาจอฟังอึงคนึงเนื่อง |
ครั้นค่ำแขวนโคมเคียงเรียงเรือง | ตลอดเบื้องน่าท้ายที่รายไป |
ครั้นอรุณเรืองแสงสุริโยภาษ | เยี่ยมราชคิรีศรีไศล |
เห็นชอุ่มตะคุ่มเขียวไกล | ตลอดไปล้วนเหล่าคิรินราย |
เขาบอกกันว่านั่นแลขอบเขตร | เปนประเทศที่จีนทั้งหลาย |
ก็ชื่นเริงบรรเทิงร่ำทำกรุยกราย | บ้างธิบายบอกเบื้องเรื่องคิรี |
อันโหลบานนี้ทวารแต่ชั้นนอก | ที่เข้าออกกวางตุ้งกรุงศรี |
จำเพาะทางเข้าหว่างคิรีมี | ครั้นลมดีก็ได้แล่นเข้าโหลบาน |
ขึ้นยืนดูผู้คนมั่งคั่ง | ฝรั่งตั้งเต็มเกาะมะเกาสถาน |
เปนท่วงทีหนีไล่ก็ได้การ | มีกำแพงสามด้านดูดี |
เห็นสำเภาเข้าครันกำปั่นทอด | แลตลอดดูไปไม่สุดที่ |
แต่มิ่งไม้ไร้สิ้นทุกคิรี | บ้างที่มีคนตัดไม่ลัดทัน |
แต่นั่งดูภูผาศิลาลาด | ดังประพาศหิมพานต์พนาสัณฑ์ |
ที่วุ้งเวิ้งเชิงผาเปนน่าบัน | บ้างเปนขอบคันกุฎีดา |
ที่เลื่อมลายเล่าก็ชมเหมือนพรมลาด | ที่ขาวดาดไปก็ดูดังปูผ้า |
ที่เยี่ยมย้อยออกมาห้อยถึงคงคา | จะไปมาเลี้ยวหลีกครรไลไคล |
เห็นเรือเท้งเที่ยวท่องทำมัจฉา | ดูดาไปแต่ล้วนเสาไสว |
จนสุดเนตรสังเกตไม่สุดใบ | ดังทัพใหญ่ยกหนักออกหักราญ |
อันโดยทางลางเหล่าที่เว้นไว้ | ครั้นจะใส่ถ้วนถี่ให้วิถาร |
เหลือสติจะดำริห์ให้รอบการ | ขอประมาณแต่นิราธานี |
ถ้านับวันก็ได้สามสิบสามวัน | ถ้าสำคัญว่าเท่าไรในวิถี |
ก็ได้สามร้อยโยชน์เศษสังเกตมี | ถึงทวารพยัคฆีทันใด |
มีป้อมปืนยืนเยี่ยมอยู่สองฟาก | ปลาดหลากก่อเข้ากับเขาใหญ่ |
ยังป้อมขวางไว้กลางชลาไลย | เรือไปสองข้างอยู่กลางคัน |
เปนสง่าศึกงามทั้งสามป้อม | ที่ก่อล้อมล้วนแหล่งแกล้งสรรค์ |
เอาโยธาเจนจัดให้ผลัดกัน | เปนนิรันดร์รักษาระวังการ |
ฝ่ายจีนจงเอี้ยซึ่งเปนใหญ่ | ได้คุมไพร่สิบหมื่นรักษาสถาน |
ก็ลงเรือรีบพลันมิทันนาน | มาถามการข่าวข้อคดีดี |
ฝ่ายทูตตอบว่าพระราชสาร | พระผู้ผ่านอยุทธยาวดีศรี |
มาจิ้มก้องโดยคลองประเพณี | จำเริญราชไมตรีตามโบราณ |
ฝ่ายจีนจดหมายเอารายชื่อ | แล้วก็รื้อดูทรงส่งสัณฐาน |
แต่จำกดจดไปจนไฝปาน | แล้วเกณฑ์เจ้าพนักงานลงคุมไป |
กับทหารสามสิบใส่เรือรบ | เครื่องครบอาวุธสรรพไสว |
พนักงานป้องกันให้ครรไล | ก็แล่นไปตามเรื่องรัถยา |
เห็นวารีนั้นไม่มีมัจฉาชาติ | อรัญวาศเล่าก็ไร้รุกขา |
บนอากาศขาดหมู่สกุณา | พสุธาดาดาษด้วยคนไป |
เปนชาวคามนิคมวาสี | ช่างทำที่นั้นอุส่าห์น่าอาไศรย |
ล้วนตึกก่อต่อเนื่องเปนเรื่องไป | ทุกวุ้งเวิ้งเชิงไศลละลานตา |
ที่พ้นน้ำนั้นก็ทำเปนเรือกสวน | บ้างเพาะพวนปลูกผักก็หนักหนา |
ที่ลุ่มลาดหาดน้ำก็ทำนา | ไม่มีป่าปลูกไม้ไว้มากมี |
พื้นผลแต่ที่คนตระการรศ | จะกำหนดนามไซ้ก็ใช่ที่ |
แต่เข้าคลองไปได้สองราตรี | ก็ถึงที่หยุดพักนัครา |
เห็นกำปั่นแลสำเภาเขาค้าขาย | เปนทิวทอดตลอดท้ายคฤหา |
ทั้งสี่แถวตามแนวนัครา | ก็ทอดท่าน่าเมืองเปนเรื่องกัน |
แต่เสากระโดงที่ระดะตะกะก่าย | จนสุดสายเนตรแลแปรผัน |
บ้างขึ้นล่องเที่ยวท่องจรจรัล | สุดอนันต์ที่จะนับจะคณนา |
พิศภูมิสถานที่นัคเรศ | เปนขอบเขตรอยู่แนวเนินผา |
มีกำแพงสามชั้นกั้นนัครา | ล้วนศิลาแลงปรับประดับดี |
อันหอรบนางเรียงที่เรียงเรียบ | ไว้ระเบียบป้องกันบุรีศรี |
มีป้อมขวางอยู่กลางชลธี | วารีแล่นรอบเปนขอบคัน |
ตรงฟากเมืองไว้เครื่องข้างเรือรบ | ก็เตรียมครบทอดราอยู่ท่านั่น |
พอขุกเหตุสังเกตคืนวัน | ก็เรียกทันถอยไล่ก็ได้ที |
ที่กองเกณฑ์ให้ตระเวนก็สอดเสาะ | เที่ยวรายเราะเรือรอบบุรีศรี |
สรรพสรรพาวุธไว้มากมี | ประจำที่จุกช่องอยู่อัตรา |
เหล่าทหารประจำการกินเบี้ยหวัด | ก็เปลี่ยนผลัดกันพิทักษ์รักษา |
ล้วนเกาทัณฑ์สันทัดอยู่อัตรา | ถือตำราที่โบราณท่านชิงไชย |
ฝ่ายฝูงประชาชนชาติ | ก็เกลื่อนกราดกลุ้มมาไม่นับได้ |
สพรั่งพร้อมล้อมพรูมาดูไทย | ทั้งชายหญิงวิ่งไขว่กันไปมา |
บ้างลงเรือน้อยน้อยมาพลอยทัก | ยิ้มพยักด้วยไม่รู้ภาษา |
บ้างลอยล้อมตอมรอบทั้งเภตรา | เอาผักปลามาจำหน่ายขายไทย |
อันนารีเรือลากสำหรับจ้าง | นั้นรูปร่างหมดจดสดใส |
นวลนิ่มจิ้มลิ้มลไมใจ | เมื่อดูไกลเอกเอี่ยมลออตา |
ครั้นเข้าใกล้ก็เห็นเลือดชายจะเผือดผาด | ด้วยการสวาดิไม่หลีกเลือกภาษา |
แขกฝรั่งอังกฤษวิลันดา | จะไปมาย่อมได้อาไศรยกัน |
ต้องห้ามทั้งมิให้ไปอยู่บก | ประจำพกแหล่งหลักสำนักนั่น |
ประกวดดีดูที่นับถือกัน | ไม่เว้นวันชายหาจึงว่าดี |
แต่บรรจงจริตจัดผัดภักตร์ | บำรุงรักมิให้ชายหน่ายหนี |
กันไรให้วิไลยกับเมาฬี | มวยมีดอกไม้เงินงาม |
นุ่งกังเกงใส่เสื้อที่สังเกต | ทำแปลงเพศก็พอเอี่ยมออกสนาม |
รู้ชำเลืองประปรายให้ชายตาม | แต่ต้องห้ามมิให้ไทยไปพบพาน |
ถ้าไปไหนพอพักสำนักนั่ง | ไม่ระวังก็กระโจมเอาสูงสถาน |
วิไสยเมืองเขาเปนเรื่องราวพาล | ถึงนอนคลานข้ามได้ไม่ถือกัน |
บำรุงเรือแต่ให้เกื้อการสังวาศ | นั้นปูลาดจัดแจงแกล้งสรรค์ |
ล้วนภู่กลิ่นฟุ้งอบตระหลบครัน | ปะไม่ทันรู้เข้าก็เอาแพง |
เขามาชี้แจงความให้ตามกฎ | ในกำหนดที่ตระหนักประจักษ์แจ้ง |
ว่าสุวรรณขาวเหลืองเครื่องทองแดง | ทั้งแพรไหมเหล็กแท่งแลสาตรา |
มิให้ไทยเอาหญิงมาพิงพาด | อันการสวาดินี้กำชับกันหนักหนา |
ที่รักตัวเขาก็กลัวไม่พานพา | ที่แกมกล้าก็เข้ากลั้วเอาตัวพัน |
เสียแรงมาพาร่างถึงกวางตุ้ง | เขม้นมุ่งว่าจะลองก็ต้องพรั่น |
ได้ชมงามอยู่แต่ไกลมิได้กัน | ครั้นถึงวันรวิวารเวลา[๘] |
ภัทรบท[๙]กำหนดปีอุศุภศก[๑๐] | ข้างหมูอี้จงตกเขาปฤกษา |
แล้วมารับคำนับราชสารา | กับทูตาข้าหลวงทั้งปวงไป |
ขึ้นขี่เกวียนจรดลด้วยคนหาม | ดำเนินตามที่ทางถนนใหญ่ |
ศิลาลาดดาดปูที่ดูไป | นั้นอำไพเรียบริมรัถยา |
อันร้านรายขายของทั้งสองฟาก | ปลาดหลากล้วนทำด้วยฉำฉา |
ประจงเจียนเขียนวาดแล้วชาดทา | ที่ตั้งน่าตรงร้านกระดานทอง |
เปนวิไสยลูกค้าบรรดาขาย | จาฤกรายไว้ให้ดูรู้ของ |
ที่กระถางธูปเทียนนั้นเขียนทอง | ทั้งเตียงรองหลั่นลดนั้นรจนา |
อันเครื่องร้านที่สำหรับประดับของ | ล้วนแก้วแหวนเงินทองนั้นนักหนา |
แพรพรรณสรรพสิ่งละลานตา | ทั้งเสื้อผ้ามุ้งม่านตระการใจ |
ทั้งถ้วยโถโอจานแลจันอับ | จะคณนานามนับไปเปนไหนไหน |
บ้างหาบคอนร่อนขายอุบายไป | บ้างเคาะไม้แทนปากก็มากมาย |
อันหมูแพะแกะกะทิงมหิงส์ห่าน | วันละพันก็ไม่พานพอขาย |
เต็มตลาดดาษดูไม่รู้วาย | บ้างซื้อจ่ายวุ่นไขว่กันไปมา |
มีแต่จะฆ่าสัตว์ตัดชีวาตม์ | เปนตรุษสารทไถยจิตรข้างมิจฉา |
ไม่อายบาปหยาบพ้นที่คณนา | ความอุส่าห์มิให้เสียสิ่งไรไป |
ที่น่ากว้านร้านตลาดนั้นกวาดเลี่ยน | ตะลิบเตียนมิให้มีสิ่งใดได้ |
อันหญิงชายประชาข้าเวียงไชย | ก็วิ่งไขว่ซ้อนหน้ามาอลวน |
บ้างอุ้มลูกจูงยายตะพายหลาน | ก็ลนลานวิ่งเบียดกันเสียดสน |
ที่ชรามายากลำบากตน | ก็ขี่คนรีบเร่งมาเล็งแล |
เอาแว่นตาติดเนตรเข้าเพ่งพิศ | หวังจิตรให้รู้จักตระหนักแน่ |
ทั้งสาวหนุ่มกลุ้มกลัดมาอัดแอ | ซ้อแซ้เพ่งพิศพินิจไทย |
อันหมู่สาวสุดามัชฌิมาหม้าย | นั้นแต่งกายแซมมวยด้วยไม้ไหว |
ที่เยี่ยมยลอยู่บนตึกใน | นั้นอำไพพิศพริ้งพรายตา |
ดูยืนแต่ละอย่างกับนางเขียน | ทั้งจีบเจียนยั่วยวนเสนหา |
ผัดภักตร์ผิวพรรณดังจันทรา | ไนยนากวัดแกว่งดังแสงนิล |
นาสิกเสื้องทรง[๑๑]ดังวงขอ | งามฅองามคิ้วควรถวิล |
งามเกษดำเพศภุมริน | ปักปิ่นมวยห้อยสร้อยสุวรรณ |
ปากแดงนั้นด้วยแสงลิ้นจี่แต้ม | เมื่อยิ้มแย้มน่าชมภิรมย์ขวัญ |
ใส่เสื้องามสามสีสลับกัน | พื้นสุวรรณแวววาบวิไลยใจ |
แม้นองค์พระธิดาดวงสมร | จะเอกเอี่ยมอรชรสักเพียงไหน |
แต่ได้ดูหมู่ข้ายังอาไลย | ดังสายใจนี้จะยืดไปหยิบชม |
เห็นการอายทีชม้ายแล้วเมียงภักตร์ | ก็ประจักษ์แต่ว่าต่างภาษาสม |
แต่ศรเนตรเสียบเนตรสังเกตคม | ยิ่งนิยมตอบต้องตลอดใจ |
ถึงต่างชาติกันก็ดีโลกีย์จิตร | อันการคิดนี้จะเว้นแก่ใครไฉน |
ก็ห้ามเห็นไว้ให้เปนประมาณใจ | แล้วครรไลตามรัถยามา |
อันชมสาวที่ชาวสถลมาศ | ไม่อุจาดเหมือนจีนประจำท่า |
อันรูปทรงสรรเสริญจำเริญตา | ครั้นพิศเบื้องบาทาก็เสียดาย |
เอาผ้าคาดขึงเหนี่ยวจนเรียวรัด | พาวิบัติอินทรีย์ให้มีสลาย |
จะดำเนินมิใคร่ตรงพอทรงกาย | ย่อมใช้ชายขายค้ามาให้กิน |
มีแต่จะพึ่งผัวเปนครัวใช้ | ตัวได้แต่จะร่วมภิรมย์ถวิล |
แต่ชายถ่อยทุจริตผิดกระบิล | ย่อมคว่ำผินประดิพัทธอยู่อัตรา |
จะเข้าออกนอกในก็ใช้สอย | บุรุษรูปน้อยน้อยโอ่อ่า |
อันยาจกวรรณิพกที่ไปมา | เที่ยวภิกขาจารขอไม่พอกิน |
ก็อุบายทำกายนั้นต่างต่าง | จะร่ำปางโดยดูไม่รู้สิ้น |
บ้างอุจาน[๑๒]ทานทำทั้งกายิน | บ้างนั่งวอนนอนดิ้นลงโดยจน |
บ้างก็เอามีดสับจับอิฐต่อย | จนโลหิตแดงย้อยไปเต็มถนน |
มิได้ของแล้วก็ร้องไม่จรดล | ไปเห็นจนก็ได้คิดอนิจจา |
อันเหล่าเจียงทหารใหญ่ในกรุงศรี | นั้นใส่หมวกจามรีถ้วนหน้า |
แวดล้อมเหล่าไทยให้ไคลคลา | ใครผ่านหน้าตีต้อนตะบึงไป |
ก็ลุดลตำบลกงกวนเก่า | สถานทูตเคยเข้าอยู่อาไศรย |
เปนตึกตรอกอยู่นอกเวียงไชย | ก็เชิญราชสารไว้ที่ควรการ |
แล้วส่งของที่คุมไปขึ้นไว้ห้าง | ตามร่างเรื่องตราโกษาสาร |
ทั้งสองห้างตามอย่างธรรมเนียมนาน | แล้วแจ้งของที่ประทานนั้นออกไป |
ข้างจงตกหมูอี๋[๑๓]ผู้มีสติ | เขาดำริห์แล้วไม่รับประทานได้ |
ว่ากฎห้ามกวดขันถึงบรรไลย | ประนมไหว้ควรขอบพระคุณมา |
แล้วให้คนเร็วรีบยังนัคเรศ | ถวายเหตุราชคฤคฤๅหา |
แต่กำหนดนับไว้ทั้งไปมา | นี่ทางม้ายี่สิบเจ็ดราตรี |
ผู้ถือสารจึงเอาสารรับสั่งส่ง | ให้กับจงตกดูหมูอี๋ |
แล้วคัดข้อสารามาพาที | ว่าพระเจ้าหมื่นปีนั้นโปรดปราน |
ให้ส่งทูตไปถวายอภิวาท | ตามราชตำราบุราณสาร |
กับสิ่งของในคลองบรรณาการ | ที่นอกอย่างบุราณมีมา |
นั้นไม่รับครั้นจะกลับให้คืนของ | ระวางคลองเหมือนไม่แสนเสนหา |
เสียดายราชไมตรีที่มีมา | ทางทเลก็เปนท่ากันดารนาน |
ก็ควรขายจำหน่ายเอาทุนทรัพย์ | ให้คืนกลับอยุทธยามหาสถาน |
แต่ช้างนอนั้นเปนข้อประสงค์นาน | ให้บอกบรรณาการขึ้นส่งไป |
อันจังกอบสินค้าบรรดาของ | นั้นปลงปองโปรดปรานประทานให้ |
ให้นายห้างปฤกษาข้าหลวงไทย | ตามใจจำหน่ายขายกัน |
แต่ข้อทูตที่จะได้ไปอภิวาท | ยังพระบาทหมื่นปีศรีสวรรค์ |
ต่อแล้วการเคารพอภิวันท์ | ปั้นสื้อนิ้มหนำโหลาน |
เปนปิ่นปักหลักจีนทุกจังหวัด | เหมือนไทยถือน้ำพิพัฒน์พิธีสถาน |
ประชุมชอบพร้อมหน้าบูชาการ | วันประสูตรพระผู้ผ่านนัครา |
ครั้นถึงวันที่จะทำโดยกำหนด | เดือนสิบเอ็ดขึ้นทศมาศา |
จึงจงตกหมูอี๋ให้ลีลา | มาเชิญทูตกับข้าหลวงจร |
ไปอภิวันท์ปั้นสื้อในนัคเรศ | ตามเพศขุนนางแต่ปางก่อน |
ข้างทูตไทยผู้จะไปถวายกร | ก็ผันผ่อนแต่งแง่ให้งามทรง |
เปนคนเจนชัดเช่นในเชิงเก่า | ถึงแก่เถ้าก็จริตยังหยิบหย่ง |
นุ่งยกช่องกระจกโจงผจง | ฉลององค์อัดตลัดประทานงาม |
เอาเสนากุฏใส่วิไลยเกษ | ดังไชยเชษฐบุราณชาญสนาม |
พระพี่เลี้ยงข้าหลวงทั้งปวงตาม | ทหารหามคันเกี้ยวด้วยกันไป |
ครั้นไปถึงที่ประตูเห็นหมู่ทหาร | ริมทวารขัดดาบดูไสว |
ทั้งสองแถวรัถยาดาไป | ที่ชั้นในไว้เหล่าที่เกาทัณฑ์ |
ทั้งง้าวปืนยืนงามไปตามถนน | ที่ว่างคนลดเลี้ยวเปนหลายหลั่น |
ถึงสถานที่จะได้ไปอภิวันท์ | พิศพรรณเพียงจะแลละลานตา |
ล้วนปิดทองธรรมชาติแล้ววาดเขียน | ธงเทียนพื้นสุวรรณเลขา |
ที่ถิ่นฐานสอ้านโอฬาร์ | รจนาโคมเคียงเรียงกัน |
อันโรงรีซึ่งเปนที่สำหรับรับ | นั้นประดับแพรแดงแกล้งสรรค์ |
ใส่ภู่รายข่ายรอบเปนขอบคัน | เอาพื้นพรรณแพรลาดเปนหลังคา |
แล้วก็แซมดอกไม้กับใบสน | เปนที่ยลนับถือกันหนักหนา |
พอจงตกหมูอี๋ลีลามา | ทั้งขุนนางซ้อนหน้ามาเนื่องกัน |
แต่ยืนรับคำนับก็หนักหนา | ออกระอาแล้วไม่วายที่ผายผัน |
ครั้นพร้อมหน้าแล้วก็พากันจรจรัล | ไปอภิวันท์ปั้นสื้อสำหรับมา |
เขาขุยขลุกลุกพร้อมแล้วกรอมกราบ | ข้างเหล่าไทยมิใคร่ราบแต่โรยหา |
ก็กลั้นสรวลอยู่จนถ้วนทั้งสามครา | แล้วกลับมาสถิตย์โรงเมื่อแรกไป |
จงตกให้ยกโต๊ะมาตั้งเลี้ยง | ตลอดเรียงรวดรายทั้งนายไพร่ |
ครั้นเสพย์เสร็จสำเร็จกันจะครรไล | หมูอี๋จึงปราไสด้วยวาจา |
เราปั้นสื้อด้วยกันในวันนี้ | ก็เปนที่บุญธรรม์นั้นหนักหนา |
ครั้นสายแสงแรงศรีพระสุริยา | ก็ต่างคนต่างคลาไปจากกัน |
ฝ่ายทูตก็คืนควรกงกวนเก่า | คำนวณเนานับนานอยู่ที่นั่น |
ครั้นถึงเดือนสิบสองศุกรวัน | ขึ้นสำคัญสามค่ำจะจำจร |
หมูอี๋จึงให้เชิญพระราชสาร | บรรณาการทูตอันจะผันผ่อน |
ประดับด้วยนาวาสถาวร | ขึ้นนครราชคฤห์คราวดี |
อันโดยทางที่จะไปนั้นไตรมาศ | จึงถึงราชปักกิ่งกรุงศรี |
ฝ่ายทูตเขาจะไปเห็นได้ดี | เพราะธุลีบาทคุ้มคลุมไป |
อันพวกผู้อยู่ขายจำหน่ายของ | แต่นั่งตรองนอนตรอมจนผอมไผ่ |
ที่ขาดเหลือเจือครบบรรจบไป | ก็มีในบาญชีว่าทั้งห้าบาน |
ครั้นเสร็จของเงินทองสำเร็จรับ | แล้วประดับเภตราจะมาสถาน |
ความดีใจประหนึ่งได้วิมานปาน | แต่นับวารคอยเคร่าทุกเช้าเย็น |
อันเหล่าไทยที่ได้ไปเปนเพื่อนยาก | ข้ามทเลลำบากนั้นแสนเข็ญ |
แต่ตรากน้ำตรำฝนแล้วทนเย็น | จะนั่งนอนแต่เขม้นไม่เว้นวาง |
อันที่ท่านสี่ลำสำเภาหลวง | นั้นพุ่มพวงสารพัดไม่ขัดขวาง |
จะแสนยากอยู่แต่เหล่าที่เช่าระวาง | ปิ้มปางจะไม่เห็นว่าเปนกาย |
หากพระขันติคุณกรุณภาพ | ก้มกราบถึงพระบาทไม่ขาดสาย |
จึงได้พ้นไภยันอันตราย | รอดตายมาชื่นคืนเมือง |
เอากตัญญูตั้งระวังผิด | ราชกิจนั้นอุส่าห์ไปว่าเนื่อง |
ที่ภักดีโดยการก็งานเปลือง | ไม่ยักเยื้องกิริยาเหมือนราไชย[๑๔] |
เมื่อท่านยุกรบัตรหาปฤกษาของ | ก็ปิดป้องโรคาไม่มาได้ |
เอาอาสัจที่วิบัตินั้นบอกไป | พะวงใจอยู่ด้วยรักข้างลักชม |
อีดอกทองราวทองธรรมชาติ | พิศวาสมิได้เว้นวันสม |
จนโรคันปันทบข้างอุปทม | เสนหาส่าลมขึ้นเต็มตัว |
ครั้นเขาถามเขาหยอกก็บอกพราง | จนนายห้างยืนชี้ลงที่หัว |
แล้วเขาภ้อว่าเจ้าคุณนี้บุญตัว | จึงจับได้แต่ไอ้วัวนั้นไปแทน |
ทำให้อ้อนวอนความถึงสามกลับ | เขาจึงปรับเอาแต่น้อยก็ร้อยแผ่น |
หากเอาเงินหลวงใส่ไปให้แทน | จึงได้พ้นค่าแผ่นเพราะทำดี |
ให้เขาชมชาวเราว่าเจ้าชู้ | พิเคราะห์ดูก็เปนน่าบัดสีผี |
พลอยเอาตมแต้มหน้าให้ราคี | มิเสียทีเจ้าใช้ไปได้อาย |
ประการใดไปทางระวางเหตุ | ก็สังเกตรัถยาเข้ามาถวาย |
เห็นการค้าเหลือบ่าจะแบกตะพาย | ถ้าหักค่ายฤาตีทัพขอรับไป |
ไม่เห็นช่องเลยว่าของพระราชทรัพย์ | จะได้กลับฤามากลายเปนง่ายได้ |
แล้วแสนยากที่ทเลคะเนไกล | ก็กลับพามาได้สดวกดี |
ดังเทวามาสุมประชุมทรัพย์ | ไว้สำหรับเนื้อหน่อพระชินศรี |
จะสร้างสมอบรมพระบารมี | ในยุคนี้บรรจบให้ครบกัลป์ |
ชรอยอรรคบุรุษอุดมวงษ์ | ในสิบองค์โพธิสัตวดุสิตสวรรค์ |
ได้ลัทธยาเทศทายทำนายธรรม์ | ในอนันตสำนักชิเนนทร์นาน |
จึงดลใจให้พระองค์ทรงนั่ง | บัลลังก์รักรศพระกรรมฐาน |
ให้ทรงเครื่องนพรัตน์ชัชวาล | พระชมฌานแทนเบญจกกกุภัณฑ์ |
เอาพระไตรลักษณ์ทรงเปนมงกุฎ | ก็งามสุดยอดฟ้าสุธาสวรรค์ |
เอาพระศีลสุจริตในกิจธรรม์ | เปนสุวรรณเนาวรัตน์สังวาล |
เอาพระวิมุติธรรม์เปนคันฉัตร | เอาพระสัจเปนระไบไพศาล |
ล้วนเครื่องศีลวัตรอันชัชวาลย์ | พระอุเบกขาญาณเปนธารกร |
เอาพระไวยปัญญาเปนอาวุธ | ตัดวิมุติสงไสยแล้วสั่งสอน |
สว่างแจ้งกว่าแสงทินกร | สถาวรทั่วโลกแลงาม |
จะดูโดยโลกีย์เปนที่รัก | ก็งามนักสุดโลกเหลือถาม |
จะดูฤทธิเล่าก็คล้ายนารายน์ราม | จะชูงามไปทั่วกัลปา |
ขอพรพระศรีรัตนไตรย | อันเปนใจจอมพุทธสาสนา |
ช่วยบำบัดตัดบาปธรรมา | ให้ลุโดยเจตนาโพธิญาณ |
ขอพรบรเมศวร์เรืองฤทธิ | ซึ่งสถิตย์อุศุภราชเรืองสถาน |
เชิญช่วยพระองค์ทรงชนมาน | ให้คงการกำหนดพระไทยตรอง |
ขอพระพิศณุพงษ์ทรงสังข์ | ประธมทิพบัลลังก์ภุชงค์ฉลอง |
ช่วยล้างมารผลาญหมู่ศัตรูปอง | ให้มาซ้องเศียรก้มบังคมคัล |
ขอบวรบงกชพิวัลย์ไว | ที่ครรไลหงษ์ทิพรังสรรค์ |
ช่วยดับโศกวรรณโรคโรคัน | ให้ทรงพระฉวีวรรณสมบูรณ์งาม |
ขอพรสหัสไนยครรไลคช | สารเสวตรตรีทศเศียรสาม |
ช่วยดำรงดำริห์ชี้คดีความ | พยายามไพร่ฟ้าประชาชน |
อันสมบัติในจังหวัดทวีปนี้ | ให้อยู่ในพระบารมีทุกแห่งหน |
ให้พระเกียรดิก้องฟ้าสุธาดล | ขอพระชนม์ได้ร้อยพระวษาเอย ๚ |
[๑] หมายถึงประเทศจีน คติโบราณเรียกประเทศจีนว่าราชคฤห์ มีปรากฏในหนังสือเก่าๆ คฤาหา เป็นสร้อยคำของราชคฤห์
[๒] นอกจิ้มก้อง – ภาษาจีน จิ้มแปลว่าให้ ก้องแปลว่าของกำนัล ในที่นี้หมายถึงของกำนัลนอกเหนือจากเครื่องราชบรรณาการตามธรรมเนียม
[๓] บรรณาการ – เครื่องราชบรรณาการซึ่งทูตนำไปตามธรรมเนียม
[๔] วันภุมเชษฐมาสี – วันอังคาร เดือน ๗
[๕] กาฬปักษ์ – ข้างแรม
[๖] ประจุสสมัย – เวลาเช้า
[๗] ปาสัก – ชื่อเมืองในญวน
[๘] รวิวาร – วันอาทิตย์
[๙] ภัทรบท – ๑ ค่ำ
[๑๐] อุศุภศก – ปีฉลู
[๑๑] เสื้องทรง หมายถึงรูปร่างสูงแหลม
[๑๒] อุจาน หมายถึงอุจาด
[๑๓] จงตกหมูอี๋ – อุปราชเมืองกวางตุ้ง
[๑๔] หลวงราไชย