แต่นี้ต่อไปจักกล่าวถึงศาสนาพระพุทธเจ้า มารุ่งเรืองในสมันตเมืองพิง

เรานี้ ตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่พระนิพพานแล้วมาคณนานับปีเดือนวันได้ ๑๐๐๘ ปี พระยาอาทิตตราชก็มาบังเกิดในปีนั้น และพระองค์ได้เอาพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าแห่งเรา ออกมาให้ปรากฏในเมืองหริภุญไชย นักปราชญ์ผู้มีปัญญาพึงรู้ดังนี้เทอญ

ในกาลครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าอาศัยซึ่งเมืองพาราณสี เป็นที่โคจรคาม ทรงสำราญอิริยาบถทั้ง ๔ ในป่าอิสิปตนะกับด้วยอริยสงฆ์ในราตรีจักใกล้รุ่งวันนั้น พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาดูยังโลกทั้งหลายด้วยอนาคตังสญาณ ก็เห็นยังชาวบ้านหมู่หนึ่งชื่อว่าปาทระคาม

มีสมันตประเทศคือพิงครัฐนี้ อันพระศาสดาจักควรอนุเคราะห์นั้น ลำดับนั้นพระศาสดาก็ทรงเห็นด้วยทิพยจักษุนั้นว่า กูตถาคตนิพพานไปแล้ว นับเป็นปีเดือนวันในโลกได้ ๑๐๐๘ ปี มหานครอันหนึ่งชื่อหริภุญไชยนั้น จักเกิดมีในสมันตประเทศนั้น แล้วศาสนากูตถาคตจักไปรุ่งเรืองในที่นั้นแท้จริง กูตถาคตควรจักไว้ธาตุเพื่อให้เป็นหิตประโยชน์แก่โลกทั้งหลายแท้จริง พระพุทธองค์เห็นแจ้งในอนาคตังสญาณดังนั้นแล้ว ครั้นรุ่งเช้าพระองค์ก็ทรงชำระพระสรีระแล้ว พระศาสดาก็ทรงซึ่งจีวรและบาตรเสด็จออกจากเมืองพาราณสีมาทางอากาศ แล้วเสด็จลงประทับอยู่ที่ภายใต้เมืองตะการนั้น เดี๋ยวนี้คนทั้งหลายเรียกชื่อว่าไชยภูมิ แล้วพระองค์ก็เสด็จเข้าไปสู่บ้านเพื่อรับเอาซึ่งข้าวบิณฑบาตร วันนั้นชาวบ้านปาทระคามทั้งหลาย เห็นพระพุทธเจ้าเข้ามา แลดูรุ่งเรืองงามไปด้วยรัศมี ๖ ประการ เขาทั้งหลายเห็นเป็นอัศจรรย์ดังนั้น จึงเข้ามาใกล้ไหว้แล้วถามว่า ดูราเจ้าตนมีบุญ เจ้ากูเป็นเทวดาหรือว่าเป็นคนธรรพ์ หรือเป็นนาคราช เป็นอินทร์เป็นพรหมประการใด และเจ้ากูนี้ชื่อไรเล่า ขอเจ้ากูจงบอกแก่ตูข้าเทอญ

ในทันใดนั้น พระบรมศาสดาจารย์จึงเจรจาตามภาษาชาวบ้านแห่งนั้นว่า เออกูนี้ใช่เทวดา ใช่คนธรรพ์ ใช่มาราธิราช ใช่อินทร์ ใช่พรหม ใช่พระยาครุธพระยานาคดอก กูนี้ชื่อสัมมาสัมพุทธผู้เป็นที่พึ่งแก่โลกทั้งหลาย เมื่อชาวบ้านทั้งหลายได้ยินคำพระศาสดาตรัสดังนั้น เขาก็บังเกิดยังความยินดี จึ่งนำมาซึ่งข้าวแต่เรืองแห่งตนๆ มาใส่ลงในบาตร พระศาสดาตรัสเทศนาสั่งสอนเขาทั้งหลายเหล่านั้นแล้ว เสด็จออกจากบ้านที่นั้นทรงดำเนินมาตามริมแม่น้ำรมิง ครั้นเสด็จมาถึงที่แห่งหนึ่งทิศตะวันตกแห่งแม่น้ำนั้น พระองค์ทรงปรารถนาจะใคร่วางซึ่งบาตรไว้ณที่นั้น หินก้อนหนึ่งก็ผุดขึ้นมาแต่ภายใต้พื้นแผ่นดิน สำหรับให้เป็นที่ตั้งไว้ซึ่งบาตรของพระศาสดาในบัดเดี๋ยวนั้น พระพุทธองค์ทรงตั้งไว้ซึ่งบาตรเหนือหินก้อนนั้น แล้วก็ทอดพระเนตรดูในที่นั้น จึงทรงคำนึงแต่ในพระทัยว่า เมื่อกูตถาคตนิพพานแล้วนานนัก ในที่นี้จักบังเกิดเป็นมหานครอันหนึ่ง และจักมีพระยาองค์หนึ่งทรงพระนามว่าอาทิตตราช จักได้เสวยราชสมบัติในเมืองนี้ เหตุนี้ธาตุกูตถาคตก็จักมาอยู่ที่นี้ เพื่อให้พระยาองค์นั้นเอาออกมาให้ปรากฏ เป็นที่สักการบูชาแก่หมู่เทพดาและมนุษย์ทั้งหลายแท้จริง พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ดังนี้แล้วก็จับเอาซึ่งบาตรแล้วอธิษฐานว่า บาตรกูนี้จงลอยไปทางอากาศก่อนกูเทอญ บาตรนั้นก็ลอยไปก่อนหน้าพระศาสดา ฉะเพาะซึ่งเมืองพาราณสี พระองค์ก็เสด็จไปสู่เมืองพาราณสีด้วยทางอากาศ มาตรว่าลัดมือเดียวก็ถึงวันนั้นแล

ในกาลเมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาวันนั้น ยังมีกาเผือกตัวหนึ่งบินตามพระศาสดามาแต่ป่าหิมวันต์ ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จกลับคืนสู่เมืองพาราณสีนั้น กาเผือกตัวนั้นมันก็กลับไปสู่ป่าหิมวันต์ในวันนั้น ข้อความที่พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ไว้นั้น กาเผือกตัวนั้นมันได้ยินมันก็จำได้สิ้น เมื่อมันกลับไปถึงป่าหิมวันต์แล้ว จึงเรียกยังกาดำตัวหนึ่งซึ่งเป็นหลานเข้ามา แล้วจึงบอกซึ่งถ้อยคำที่พระศาสดาทรงพยากรณ์ไว้นั้นให้หลานทราบ แล้วก็พากาดำตัวนั้นไปให้รู้ที่แล้ว จึงไว้อาชญาให้กาตัวนั้นอยู่เฝ้าในที่นั้นตลอดมา ครั้นถึงกาลอันพระยาอาทิตตราชเกิดมาแล้ว กาตัวนั้นมันก็กลับคืนไปสู่ที่อยู่แห่งมันวันนั้นแล ตั้งแต่วันนั้นมาเทวดาทั้งหลายอันอยู่ในที่นั้น ก็ปฏิบัติรักษาบูชาแผ่นหินก้อนนั้นเสมอๆมิได้ขาดนั้นแล

พระบรมศาสดาแห่งเรา ตั้งแต่พระองค์ได้ตรัสสัพพัญญุตญาณมาได้ ๔๕ พระวัสสา พระองค์ย่อมเทศนาสั่งสอนหมู่เวไนยสัตว์ทั้งหลายเสมอมิได้ขาด ตราเท่าถึงกาลอันนอนเหนือซองอันจักนิพพานนั้น พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานในระแวกป่าไม้รัง ๒ ต้นในเมืองกุสินารา สมเด็จพระทศพลญาณ พระองค์ไว้พระบรมธาตุให้เป็นที่สักการบูชา แก่หมู่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พระองค์ทรงไว้ยังพระธรรม ๘๔,๐๐๐ เพื่อสั่งสอนพุทธบริษัทให้ถ้วน ๕,๐๐๐ ปี ทั้งสงฆ์ทั้งหลายเพื่อเป็นบุญเขต แก่ทายกหญิงชายทั้งหลาย ผู้ใฝ่ใจเข้าสู่โลกิยและโลกุตตรสมบัติในอดีตและปัจจุบันนี้

ในกาลครั้งหนึ่่ง วันนั้นยังมีกุลบุตรทั้งหลาย ๕ คน ๆ หนึ่งชื่อวาสุเทว คนหนึ่งชื่อสุกกทันต คนหนึ่งชื่ออนุสิสส คนหนึ่งชื่อพุทธชฏิล คนหนึ่งชื่อสุพรหม กุลบุตรทั้ง ๕ คนนี้ประกอบด้วยศรัทธา ออกบวชในพระพุทธศาสนา แล้วเขาทั้งหลายรำพึงเห็นว่า วินัยสิกขาบททั้งหลายอันพระศาสดาทรงบัญญัติไว้นี้ ประกอบด้วยกิจอันละเอียดยิ่งนัก และเขาทั้งหลายเห็นว่าจะปฏิบัติตามได้ด้วยยาก จึงพร้อมกันสึกออกจากสมณเพศ แล้วมาบวชเป็นฤษีเข้าไปอยู่ในป่าหิมวันต์ ก็ได้สำเร็จปัญจอภิญญาและสมาบัติทั้ง ๕ ตน

อยู่มาในกาลวันหนึ่งเจ้าฤษีทั้ง ๕ ตนนั้น มีความปรารถนาจักบริโภคในรศอันเปรี้ยวและเค็ม อันเป็นอาหารของมนุษย์ทั้งหลาย จึงชวนกันออกจากป่าหิมวันต์มาทางอากาศ ตรงมาสู่ทิศหนใต้นี้ในวันนั้น ล้ำเจ้าฤษีทั้ง ๕ ตนนี้ วาสุเทวฤษีลงมาอยู่ในดอยอุจฉุบรรพต คือดอยสุเทพเราบัดนี้ สุกกทันตฤษีนั้นมาอยู่ในที่อันสมควรในเมืองละโว้ อนุสิสสฤษีนั้นมาอยู่ในหลิทวัลลีนคร

พุทธชฎิลฤษีนั้นมาอยู่ในดอยชุหบรรพต คือดอยป่าไห
นี้ สุพรหมฤษีนั้นอยู่ในดอยเขางามเมืองนครโพ้นแล

วาสุเทวฤษีย่อมลงมาอาบน้ำในแม่น้ำโรหิณี คือว่าน้ำแม่ข่าบัดนี้มีอยู่ในที่ใกล้ตีนดอยนั้นทุกๆวัน ครั้นอยู่มาวันหนึ่่ง เจ้าฤษีลงไปอาบน้ำในแม่น้ำที่นั้น ก็เห็นยังเด็กเล็กๆ นอนหงายอยู่ในรอยตีนช้าง ๒ คน ในรอยตีนแรด ๒ คน ในรอยตีนวัว ๒ คน ด้วยสามารถสังเสทชะนั้น เป็นคู่ๆกัน คือชาย ๑ หญิง ๑ เมื่อเจ้าฤษีเห็นดังนั้นก็บังเกิดความสงสาร จึงเอามาเลี้ยงไว้ในอาศรมแห่งตนทั้ง ๖ คน แล้วจึงอธิษฐานให้น้ำนมบังเกิดมีขึ้นในนิ้วมือแห่งกุมารทั้ง ๖ นั้น กุมารเหล่านั้นก็ดูดกินยังน้ำนมในนิ้วมือแห่งตนนั้นทุกๆวัน อยู่มาประมาณ

เดือนหนึ่งกุมารทั้ง ๖ คนนั้น ก็เจริญบริบูรณ์พร้อมทุกอย่าง เป็นต้นว่าตีน มือ หู ตาก็บริบูรณ์พร้อม ครั้นกุมารเหล่านั้นเจริญใหญ่มาแล้ว วาสุเทวฤษีก็ตกแต่งให้สมัครสังวาสอยู่กินด้วยกันเป็นคู่ๆ ตามอย่างที่เขาเคยอยู่ในรอยสัตว์ทั้งหลายนั้นๆ เขาทั้ง ๓ ตระกูลนี้ก็อยู่อุปัฏฐากรักษาเจ้าฤษีตนนั้นตลอดมา

ลำดับแต่นั้นมา ยังมีแม่เนื้อตัวหนึ่งย่อมมาดูดกินยังน้ำมูตรที่เจือด้วยน้ำสุกกะแห่งเจ้าฤษี ในที่ถ่ายเบานั้นทุก ๆ วัน แม่เนื้อตัวนั้นก็มีท้องขึ้นมา ครั้นครบกำหนดแม่เนื้อตัวนั้นออกลูกมาเป็นมนุษย์ทั้ง ๒ คน ชาย ๑ หญิง ๑ อยู่ในป่าที่นั้น วันหนึ่งวาสุเทวฤษีออกไปเที่ยวในป่าที่นั้น ก็เห็นยังเด็กทั้ง ๒ นอนอยู่ในป่าที่นั้น ก็นำเอามาเลี้ยงไว้ในอาศรมแห่งตน จนเด็กทั้ง ๒ นั้นเจริญขึ้นมา มีรูปร่างลักษณะงดงามยิ่งนัก วาสุเทวฤษีก็ตั้งชื่อให้เด็กทั้ง ๒ นั้น ผู้ชายให้ชื่อว่ากุนาลรสี ผู้หญิงให้ชื่อว่า มิคปติรสิณี แล้วเจ้าฤษีจึงตกแต่งให้คนทั้ง ๒ นั้น สมัครสังวาสอยู่กินด้วยกันสืบมา และเนรมิตยังนครอันหนึ่ง ให้เป็นที่อยู่่แแห่งเขาทั้ง ๒ นั้น ให้ชื่อนครนั้นว่า มิคสังครนคร แทบตีนดอยอุจฉุบรรพตนั้นด้วย

อยู่ต่อมา กุนาลรสีมีอายุได้ ๑๗ ปีแล้ว วาสุเทวฤษีจึงตั้งให้เป็นพระยาเสวยราชสมบัติอยู่ในมิคสังครนครที่นั้น เป็นใหญ่กว่าคนทั้งหลายที่บังเกิดมาในรอยเท้าสัตว์ทั้ง ๖ นั้นด้วย

พระยากุนาลรสีมีโอรส ๓ องค์ ธิดา ๑ องค์ โอรสชื่อกุนาริกนาท ๑ กุนาสิสสราช ๑ กุนาริโลละ ๑ ธิดานั้นชื่อว่า ปทุมวดี พระยากุนาลรสีก็สร้างยังพระนครอันหนึ่งขึ้นในประเทศที่หนึ่ง แล้วให้ชื่อพระนครนั้นว่า อมรปุรนคร ให้โอรสที่มีนามว่า กุนาสิสสราช เสวยราชสมบัติครองเมืองนั้น ลำดับนั้น พระองค์ก็สร้างพระนครอีกนครหนึ่ง ให้ชื่อว่า กุลิสสนคร ให้โอรสที่ทรงพระนามว่า กุนาริโลละเสวยราชสมบัติครองเมืองนั้น โอรสอีกพระองค์หนึ่งที่ทรงนามว่า กุนาริกนาทนั้นอยู่กับด้วยพระองค์ในเมืองมิคสังครนครที่นั้น พระยากุนาลรสีเสวยราชสมบัติมาได้ ๑๑

ปี ก็สิ้นอายุ กุนาริกนาทพระโอรสก็ได้เสวยราชสมบัติเป็นพระยาสืบต่อมา

ตั้งแต่นั้นมาวาสุเทวฤษี ก็พิจารณาดูเมืองมิคสังครนครนั้นไม่พอใจ จึงมาตั้งพระนครอยู่ณที่แห่งหนึ่ง ภายหนใต้แห่งที่พระศาสดาทรงพยากรณ์ไว้เมื่อก่อนโพ้น ให้ชื่อว่า ปุรนคร ให้กุนาริกนาทครองนั้นแล

ในครั้งกาลนั้น ยังมีย่าเฒ่าแก่ผู้หนึ่งอยู่ในปุรนครที่นั้น มีลูกชายคนหนึ่งเป็นคนดุร้ายหยาบช้ายิ่งนัก มันย่อมทุบตีมารดาของมันทุกวัน อยู่มาวันหนึ่งมารดาไม่สามารถจะอดกลั้นซึ่งความโกรธไว้ได้ จึงนำความขึ้นไปกราบทูลเพื่อให้พระยาทรงพิจารณาดูยังคุณและโทษ พระองค์ก็หาทรงพิจารณาในถ้อยคำของย่าเฒ่านั้นไม่ ซ้ำตรัสว่า ดูราย่าเฒ่าแก่ ขึ้นชื่อว่าเด็กน้อยนั้นเทียรย่อมพ่อแม่ตีนั้นแล

พระยาตรัสเท่านั้น เมื่อย่าเฒ่าแก่ได้ยินรับสั่งดังนั้นก็มีความน้อยใจมากนัก ด้วยเหตุว่าหาที่พึ่งไม่ได้ จึงกราบทูลลากลับออกมาจากพระราชฐาน แล้วก็ยกมือประณมขึ้นเหนือเศียร ประกาศแก่หมู่เทวดาทั้งหลายบนอากาศว่า โอหนอ เทวดาอันรักษาโลกนี้มีคำว่าหาบ่ได้นั้นฤา เมื่อทั้งหลายได้ยินยังถ้อยคำของย่าเฒ่ากล่าวดังนั้น ก็มีความโกรธแก่พระยาเป็นอันมากนัก ในคืนวันนั้นเทวดาจึงมาบอกแก่ย่าเฒ่านั้นว่า ดูราย่าเฒ่า ท่านจงบอกหมู่คนที่รักและญาติพี่น้องลูกหลานของท่าน ออกหนีเสียจากเมืองนี้โดยเร็วพลันเถิด ย่าเฒ่าได้ยินยังถ้อยคำอันเทวดาบอกดังนั้น ก็รีบไปบอกแก่คนที่รักและญาติพี่น้องทั้งหลาย ให้รีบรวบรวมเอาสมบัติข้าวของแต่สิ่งที่ควรเอาไปได้นั้น ให้รีบเอาออกไปจากพระนครให้สิ้น เมื่อคนทั้งหลายได้ยินในถ้อยคำของย่าเฒ่าบอกดังนั้น เขาทั้งหลายก็กระทำตามคำของย่าเฒ่าบอกทุกประการ

ครั้นเมื่อย่าเฒ่าและคนทั้งหลายยกครอบครัวออกหนีจากพระนครแล้วดังนั้น ในทันใดนั้น เทวดาทั้งหลายก็กระทำให้เมืองนั้นฉิบหายไปด้วยน้ำ พร้อมทั้งพระยาและคนทั้งหลายหมู่ที่ไม่รู้บาป และหมู่คนทั้งหลายที่ยินดีกับด้วยพระยา จมน้ำตายอยู่ในที่นั้นไม่มีเหลือนั้นแล ในที่นั้นคนทั้งหลายเรียกว่ารูเงื้อมบัดนี้แล

ครั้งนั้น วาสุเทวฤษีเห็นเมืองฉิบหายไปดังนั้น ก็มาคำนึงนึกแต่ในใจว่า บุคคลผู้หาศีลหาธรรมหาบุญกุศลมิได้นี้ เทียรย่อมเสื่อมเสียจากประโยชน์ของตนและของท่านผู้อื่นแท้หนอ สมกับพุทธโอวาทที่พระศาสดาทรงแสดง เมื่อครั้งเราบวชเป็นภิกษุอยู่วันนั้นว่า บุคคลผู้หาปัญญามิได้นั้น แม้จะมียศและบริวารมากสักเท่าใด ก็เทียรย่อมแสวงหาและกระทำซึ่งความไม่เจริญมาสู่ตนของตนแท้หนอ ใช่แต่เท่านั้น ยังเที่ยวแสวงหาอยู่เสมอๆ เพื่อจะให้เป็นทุกข์แก่ตนและท่านผู้อื่นอีกด้วย อันนี้หากเป็นพุทธโอวาทของพระศาสดาอันแท้จริง แล้วก็มาพิจารณาต่อไปอีกว่า กูจักเที่ยวแสวงหาบุคคลผู้มีบุญและมีปัญญาที่ไหนหนอ มาเป็นท้าวพระยาให้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมนี้เล่า จึงมานึกขึ้นได้ว่า สุกกทันตฤษีผู้เป็นสหายเราอยู่เมืองละโว้โพ้น กูจักไปหาสหายกูมาช่วยตั้งเมืองอันนี้ แล้วให้สหายกูพิจารณาดูบุคคลผู้จักควรเป็นท้าวพระยา ที่ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม วาสุเทวฤษีคำนึงเห็นดังนี้แล้ว จึงออกจากดอยอุจฉุบรรพตมาพิจารณาดูสถานที่อันจักสร้างพระนคร จึงเห็นซึ่งที่อันพระพุทธเจ้ามาประดิษฐานทำนายแต่ก่อนนั้น ครั้นเมื่อวาสุเทวฤษีได้เห็นยังที่แล้ว ก็มาคำนึงนึกหาบุคคลที่จะใช้ไปหาสหาย ในทันใดนั้น ยังมีรุกขเทวดาองค์หนึ่งอยู่ในกอไม้ไผ่นั้น รู้ยังความคิดแห่งเจ้าฤษี จึงกล่าวว่า ข้าแต่เจ้ากู กิจที่จะไปหาสหายท่านที่เมืองละโว้โพ้น ไว้เป็นภารธุระแก่ข้าพเจ้าเถิด วาสุเทวฤษีเมื่อได้ยินคำอันเทวดากล่าวดังนั้นก็มีความยินดียิ่งนัก จึงกล่าวแก่เทวดาว่า ผิว่าท่านจักไปตามสหายกูมาได้โดยแท้นั้นควรนัก ว่าแล้วเจ้าฤษีแต่งหนังสือฉะบับหนึ่งไปให้สุกกทันตฤษีมีใจความว่า เราขอบอกแก่สุกกทันตผู้สหายว่า เราจักสร้างพระนครอันหนึ่งหนขุนน้ำนี้หนา ขอสหายจงมาช่วยกูด้วยเทอญ เมื่อวาสุเทวฤษีเขียนสาส์นเสร็จแล้ว ในทันใดนั้น เทวดาก็โน้มลงมายังวิมานกอไม้ไ่ผ่นั้น เพื่อรับเอายังหนังสือ วาสุเทวฤษีก็เอาหนังสือข่าวสาส์นนั้นผูกกับลำไม้ไผ่นั้นแล้ว เทวดาก็ล่องลงมาตามกระแสน้ำนั้น ครั้นมาถึงท่าที่อาบน้ำของสุกกทันตฤษี วิมานกอไผ่แห่งเทวดาก็ติดอยู่ ณ ที่นั้น ในขณะนั้นสุกกทันตฤษีลงไปอาบน้ำ เห็นกอไผ่มาติดอยู่ที่ท่าดังนั้น ก็เอาไม้เท้าค้ำให้ลอยออกไป ไม้ไผ่กอนั้นก็ไม่ขะเยื่อนออกไปได้ ค้ำอยู่เช่นนั้นถึง ๒, ๓ หน ในทันใดนั้น เทวดาจึงได้เจรจากับด้วยเจ้าฤษีว่า ข้าแต่เจ้าฤษี สหายท่านวาสุเทวฤษี ใช้ให้ข้าพเจ้านำเอาข่าวสาส์นมาให้ท่าน เมื่อสุกกทันตฤษีได้ยินเทวดากล่าวดังนั้น ก็มองหาดูยังหนังสือในกอไผ่นั้น ก็เห็นหนังสือผูกติดอยู่กับลำไม้ไผ่กอนั้น แล้วก็แก้ออกมาอ่านดูก็รู้ได้ว่า วาสุเทวฤษีใช้ให้เอามาให้แก่ตนจริงดังนั้น สุกกทันตฤษีจึงเจรจากับด้วยเทวดาว่า ดูราท่านเทวดา สหายเราวาสุเทวให้เอามาให้เราแท้จริง และบัดนี้เราจะไปกับด้วยท่านนี้แหละ ท่านจงรอคอยเราอยู่ที่นี้ก่อน เราอาบน้ำแล้วเราจะขึ้นไปเก็บข้าวของไว้เรียบร้อยแล้ว เราจะกลับลงมาไปกับท่าน ว่าแล้วสุกกทันตฤษีก็ขึ้นไปเก็บข้าวของยังที่อาศรมไว้ให้เรียบร้อยเสร็จแล้ว ก็กลับลงมาขึ้นสู่ปราสาทกอไม้ไผ่ทวนกระแสน้ำขึ้นมากับด้วยเทวดา วันเดียวก็ถึงหัวเกาะด้วยอานุภาพแห่งสุกกทันตฤษีนั้น ครั้นไปถึงแล้วเทวดาก็กลับไปสู่ที่อยู่แห่งตนดังเก่านั้นแล ฝ่ายสุกกทันตฤษีนั้นก็ขึ้นไปนอนอยู่ในที่แห่งหนึ่งชื่อคะเยียง

ในที่นั้นเราเรียกว่าวัดไกลบัดนี้แล ในคืนวันนั้นสุกกทันตฤษีนอนอยู่ในที่นั้น ได้ยินเสียงเทวดาให้พรว่า ข้าแต่เจ้าฤษี เจ้ากูคิดจะกระทำกิจอันใด ขอให้กิจนั้นๆ จงสำเร็จแก่เจ้ากูจงทุกประการเทอญ ครั้งถึงเวลารุ่งเช้าขึ้นมาแล้ว สุกกทันตฤษีรู้จักในคุณอันเทวดาให้พรแก่ตนดังนั้น จึงกระทำรูปเทวดาไว้ในที่นั้น แล้วสักการบูชาด้วยเครื่องบูชาทั้งหลาย และในที่นั้นบัดนี้เราเรียกว่าบ้านมาท
อยู่หนตะวันตก แล้วสุกกทันตฤษีก็พรากจากที่นั้นขึ้นมาหนเหนือ เพื่อจะไปหาวาสุเทวฤษีผู้สหายในดอยอุจฉุบรรพตนั้น แม้วาสุเทวฤษีก็ดี เมื่อได้รับข่าวสาส์นจากเทวดาว่าสุกกทันตฤษีผู้สหายมาดังนั้น ก็ปรารถนาเพื่อจะเจรจากับด้วยสหาย ก็ลงมาจากที่อยู่แห่งตนวันนั้นแล

ฝ่ายว่าวาสุเทวฤษีและสุกกทันตฤษีทั้ง ๒ ตนนี้ มาพบกันในท่ามกลางป่าแห่งหนึ่ง ในทันใดนั้น วาสุเทวฤษี จึงถามสุกกทันตฤษีผู้สหายว่า สุกกทันตฤษีท่านออกจากที่อยู่ของท่านมานั้นเวลายามใดเล่า สุกกทันตก็บอกให้วาสุเทวผู้สหายนั้นแจ้งทุกประการ แล้ววาสุเทวจึงกล่าวขึ้นว่า ท่านกับเราออกจากที่อยู่มาพบกันในที่นี้ ก็เป็นเวลาเดียวกันแท้จริง และจากที่อยู่แห่งเราทั้ง ๒ มานั้นเป็นเคิ่ง

๑๐กันในที่นี้หนอ ในที่นั้นคนทั้งหลายจึงเรียกว่าเชียงเคิ่งมาต่อเท่ากาลบัดนี้แล

ในขณะนั้น วาสุเทวฤษีจึงบอกกับสุกกทันตผู้สหายว่า ดูราสหาย สถานที่นี้อุดมยิ่งนัก ครั้งเมื่อพระบรมศาสดาเจ้าของเรา ยังทรงทรมานอยู่ วันนั้นพระองค์เสด็จมาประดิษฐาน ณ ที่นี้ แล้วทรงพยากรณ์ว่า เมื่อกูตถาคตนิพพานไปแล้วนานนัก ในสถานที่นี้จักบังเกิดเป็นพระนครอันใหญ่ และบริบูรณ์ไปด้วยเครื่องอุปโภคบริโภค เป็นที่เกษมสุขสำราญแก่คนทั้งหลายด้วย และธาตุแห่งกูตถาคตก็จักได้มาตั้งอยู่ณที่นี้ด้วย เพื่อให้เป็นที่สักการบูชาแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายแท้จริง พระศาสดาพระองค์ทรงพยากรณ์ไว้วันนั้นดังนี้แล สุกกทันตฤษีเมื่อได้ยินคำสหายบอกดังนั้น จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นสถานที่นี้ดีนักหนาทีเดียว ขอสหายจงพาเราไปดูเทอญ ในทันใดนั้น วาสุเทวฤษีก็พาสุกกทันตฤษีไปสู่ ณ ที่ก้อนหิน อันพระบรมศาสดาทรงตั้งไว้ซึ่งบาตร แล้วเจ้าฤษีทั้ง ๒ ก็กระทำสักการบูชาด้วยความเคารพ ขณะนั้นสุกกทันตฤษีจึงเจรจาด้วยวาสุเทวฤษีว่า ดูราสหาย ควรเราตั้งพระนครในที่นี้แท้จริง แต่เราต้องดูนิมิตรในสถานที่นี้เสียก่อน ทันใดนั้นวาสุเทวฤษี จึงได้เอาไม้เท้างัดแผ่นดินที่นั้นดูนิมิตร ก็เห็นยังนิมิตรในสถานที่นั้นถึง ๓ อย่าง คือได้เห็นแก้ว ๗ ประการ ๑ เห็นถ่านไฟ ๑ เห็นข้าวเปลือก ๑ วาสุเทวฤษีจึงทำนายว่า ดูราพระสหาย พระนครอันเราจักสร้างในที่นี้เป็นที่อุดมยิ่งนัก แต่ทว่าท้าวพระยาองค์ใดจักมาเสวยราชสมบัติในเมืองนี้ ต้องมีศีลและมรรยาทตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมดังนั้น อาณาประชาราษฎร์ทั้งหลายในพระนครอันนี้ จึงจะมีความเกษมสุขบริบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สมบัติศฤงคารบริวาร ถ้าหากว่าท้าวพระยาองค์ใดมาเสวยราชสมบัติในพระนครอันนี้ ประกอบไปด้วยอธรรมไม่ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมดังนั้น อาณาประชาราษฎรทั้งหลายก็จักได้รับความเดือดร้อนเสื่อมถอยจากทรัพย์สมบัติ อดอยากไปด้วยประการต่างๆแท้จริง วาสุเทวฤษีทำนายไว้ดังนี้แล้ว จึงเจรจากับด้วยสุกกทันตฤษีว่า ดูราสหาย เราสร้างพระนครอันนี้ เราจะให้มีทรงสัณฐานอย่างใดดีเล่า สุกกทันตฤษีจึงกล่าวว่า ดูราสหาย อนุสิสสฤษีผู้เป็นสหายแห่งเราทั้งสองที่อยู่บนดอยที่ใกล้หลิทวัลลีนครโพ้น เมื่อเธอสร้างหลิทวัลลีนครนั้น เธอให้มีสัณฐานประดุจดังเกล็ดหอย และพระนครอันนั้นอาณาประชาราษฎรทั้งหลายอยู่ในที่นั้น มีความเกษมสุขสำราญยิ่งนัก และประกอบไปด้วยข้าวของสมบัติเป็นอันมาก ในทันใดนั้น วาสุเทวฤษีจึงกล่าวขึ้นว่า เราจักไปได้เกล็ดหอยแต่ไหนมาเล่า สุกกทันตฤษีจึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นเราจะไปหาอนุสิสสฤษีโพ้นดูก่อน

ในกาลนั้น สุกกทันตก็ลาวาสุเทวฤษีไปสู่สำนักอนุสิสสฤษีผู้สหาย ครั้นไปยังสำนักสหายแล้ว จึงบอกซึ่งเหตุการณ์นั้นๆ แก่อนุสิสสฤษีผู้สหายทราบทุกประการ อนุสิสสฤษีเมื่อได้ทราบความดังนั้น จึงกล่าวว่าถ้าเช่นนั้นสหายจงกลับคืนไปก่อนเถิด เราจักนำเอาเกล็ดหอยไปส่งให้แก่สหายเมื่อภายหลัง ทันใดนั้นสุกกทันตฤษีก็ลาอนุสิสสฤษีกลับคืนมาวันนั้นแล

ในกาลนั้น ยังมีนกหัสดีลิงค์ตัวหนึ่ง อยู่เหนือยอดดอยลูกหนึ่งชื่อว่าจิบา

๑๑ อันมีในระหว่างท่ามกลางเมืองลพุนและเมืองพุกามนั้น นกตัวนั้นมันย่อมอุปัฏฐากอนุสิสสฤษีตนนนั้นทุกๆ วัน ในทันใดนั้น อนุสิสสฤษีจึงบอกกับนกตัวนั้นว่า ยังมีสหายเรา ๒ ตน ๆ หนึ่งชื่อว่าวาสุเทวฤษี อีกตนหนึ่งชื่อว่าสุกกทันตฤษีอยู่หนขุนน้ำโพ้น เธอมีความปรารถนาจะสร้างยังพระนครอันหนึ่ง และเธอทั้งสองมีความประสงค์อยากจะได้ยังเกล็ดหอย ท่านจงไปนำเอามายังเกล็ดหอยแต่มหาสมุทรโพ้นได้แล้ว จงนำเอาไปส่งให้แก่เจ้าฤษีทั้ง ๒ นั้นด้วย

ฝ่ายว่านกหัสดีลิงค์ตัวนั้น เมื่อได้ยินยังถ้อยคำแห่งเจ้าฤษีกล่าวดังนั้นก็บินไปสู่มหาสมุทรนำเอามายังเกล็ดหอย แล้วก็นำไปส่งให้แก่วาสุเทวฤษีและสุกกทันตฤษี ตามคำสั่งของอนุสิสสฤษีนั้น ครั้นไปถึงจึงไปจับอยู่ที่ต้นไม้ต้นหนึ่ง ริมแม่น้ำระมิงหนตะวันตก ตรงที่พระศาสดาทรงประดิษฐานพยากรณ์ครั้งนั้น แล้วทิ้งลงมาซึ่งเกล็ดหอยอันนั้นณที่นั้น

ขณะนั้นวาสุเทวฤษีครั้นได้มาแล้วซึ่งเกล็ดหอย จึงเอาไม้เท้าขีดยังพื้นดินในสถานที่นั้นให้รอบเสมอดังเกล็ดหอยอันนั้น ทันใดนั้น เดชอำนาจฤทธิแห่งพระฤษี แผ่นดินอันหนาก็ยุบลงเป็นคูรอบพระนคร ตามรอยปลายไม้เท้าอันพระฤษีขีดไว้นั้น หอหิ้งท่านท้าวปราการทั้งมวลก็พุ่งขึ้นมาพร้อมบริบูรณ์ เหตุดังนั้น เมืองอันนี้จึงได้ชื่อว่าลพุนนั้นแล ครั้นว่าการสร้างพระนครสำเร็จเรียบร้อยบริบูรณ์แล้วดังนั้น เกล็ดหอยอันนั้นก็หายไปด้วยเดชอำนาจฤทธิแห่งพระฤษีเจ้าวันนั้นแล

ครั้งนั้น วาสุเทวฤษีจึงกล่าวแก่สุกกทันตฤษีว่า ดูราสหาย พระนครอันนี้เราก็สร้างเรียบร้อยบริบูรณ์ทุกประการแล้ว สหายเจ้าจะหาใครชื่อใดมาเสวยราชสมบัติในเมืองเรานี้เล่า สุกกทันตฤษีจึงกล่าวว่า ดูราสหาย ยังมีพระยาองค์หนึ่งทรงพระนามว่าจักกวัตติ เสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองละโว้โพ้น พระองค์ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมแท้จริง มีพระธิดาองค์หนึ่งทรงพระนามว่านางจามเทวี พระนางทรงตั้งอยู่ในเบญจศีลเสมอมิได้ขาดสักวันเดียวแท้จริง

เหตุดังนี้เราทั้งสองควรไปขอนางจามเทวี แต่พระยาละโว้โพ้นมาเสวยราชสมบัติ ครอบครองพระนครอันนี้จึงจะสมควร วาสุเทวฤษีก็เห็นดีในถ้อยคำสุกกทันตฤษีทุกประการ จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นดีนักหนาทีเดียวเราจักหายังบรรณาการของฝาก กับทั้งบุคคลที่สมควรจะนำบรรณาการของฝากไปถวายพระยาละโว้กับด้วยสหายคนหนึ่ง และบริวารอีกประมาณ ๕๐๐ คน ในทันใดนั้น วาสุเทวฤษีก็ตระเตรียมยังบรรณาการของฝากไว้พร้อมสรรพ แล้วก็เลือกสรรหาบุคคลที่จะใช้ไปในกิจอันนั้น ก็ได้ยังบุคคลคนหนึ่งมีนามว่าคะวะยะ พระฤษีวาสุเทวจึงเรียกหานายคะวะยะเข้ามา แล้วจึงกล่าวว่า ดูรานายคะวะยะเราจักใช้ท่าน นำบรรณาการของฝากไปถวายพระยาละโว้ กับด้วยสุกกทันตฤษีสหายเรา พร้อมด้วยคนใช้บริวารอีกประมาณ ๕๐๐ คน นายคะวะยะก็รับเอายังถ้อยคำของพระฤษีว่าดีนัก แล้ววาสุเทวฤษีจึงสั่งให้นายคะวะยะตระเตรียมข้าวของ และคนใช้ไว้ให้พร้อม นายคะวะยะก็กระทำตามคำสั่งของพระฤษีทุกประการ

ในขณะนั้น วาสุเทวฤษีจึงเจรจากับด้วยสุกกทันตถษีว่า ดูราสหายบุคคลที่จะนำบรรณาการของฝากไปกับด้วยท่านคราวนี้ เราก็ได้ตระเตรียมพร้อมแล้ว สุกกทันตฤษีจึงกล่าวว่าดีนักแล ทันใดนั้น สุกกทันตก็ลาวาสุเทวลงไปสู่เรือ พร้อมด้วยนายคะวะยะนั้น แล้วก็ล่องลงไปโดยลำดับจนถึงเมืองละโว้โพ้น แล้วสุกกทันตจึงนำข่าวสาส์นอันวาสุเทวสั่งมานั้น เข้าไปกราบทูลพระยาละโว้ให้ทรงทราบทุกประการ

ฝ่ายว่าพระยาละโว้ เมื่อพระองค์ได้ทรงทราบในถ้อยคำของเจ้าฤษีทูลดังนั้น จึงรับสั่งให้อำมาตย์ทั้งหลายจัดแจงยังที่พักที่อาศัยให้นายคะวะยะพร้อมด้วยบริวารอีก ๕๐๐ คน พักหนตะวันออกเมืองเรานี้เทอญ อำมาตย์ทั้งหลายก็กระทำตามรับสั่งทุกประการ แล้วจึงนำนายคะวะยะกับทั้งบริวารเข้าไปพักอยู่ในที่นั้น และให้คอยพิทักษ์รักษาดูแลอยู่เสมอๆ มิได้ขาดสักเวลาด้วย แล้วพระองค์รับสั่งให้อำมาตย์ทั้งหลาย จัดหาที่อันสำราญให้เป็นที่พักแก่สุกกทันตฤษี อำมาตย์ก็กระทำตามรับสั่งทุกประการ

ครั้น ณ วันรุ่งเช้า

๑๒ พระฤษีสุกกทันตก็เข้าไปเฝ้าพระยาละโว้ แล้วกราบทูลว่า ในวันนี้ตูทั้งหลายชื่อดังนี้น้อมนำมายังบรรณาการของฝาก อันวาสุเทวฤษีให้นำมาถวายมหาราชเจ้า และวาสุเทวฤษีตนนี้เป็นสหายกับด้วยอาตมาแท้จริง เธอชวนให้อาตมาไปช่วยสร้างพระนครอันหนึ่งหนขุนน้ำโพ้น พระนครอันนั้นก็สำเร็จบริบูรณ์เรียบร้อยทุกประการแล้ว บัดนี้วาสุเทวฤษีมีความปรารถนาเป็นอันใหญ่ยิ่ง อยากจะใคร่ได้เชื้อชาติท้าวพระยาที่อื่น ที่ประกอบไปด้วยศีลและปัญญา ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ไปเสวยราชสมบัติในพระนครที่นั้น อำมาตย์จึงได้แนะนำเธอว่า เชื้อชาติท้าวพระยาผู้ดีหาไม่มีในที่แห่งอื่น แต่รู้ข่าวว่าพระราชธิดาของพระยาละโว้พระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่านางจามเทวี ถ้าเราได้พระนางมาเสวยราชสมบัติเป็นนางพระยาในพระนครนี้จะสมควรยิ่งนัก อาตมายังได้บอกดังนี้แก่วาสุเทวฤษี

เหตุดังนี้ วาสุเทวฤษีจึงได้ให้นายคะวะยะพร้อมด้วยบริวารมีประมาณ ๕๐๐ คน น้อมนำมายังเครื่องบรรณาการของฝากกับด้วยอาตมา ให้นำทูลถวายมหาราชเจ้า เพื่อให้อาตมาทูลขอนางจามเทวีพระราชธิดาของพระองค์ ไปเสวยราชสมบัติเป็นนางพระยาในพระนครนั้นด้วย ขอมหาราชเจ้าจงได้ทรงพระเมตตา โปรดประทานพระอนุญาตให้พระนางได้ไปเสวยราชสมบัติในพระนครนั้นด้วย

ในขณะนั้น เมื่อพระยาละโว้ได้ทรงทราบในข่าวสาส์น อันเปนมงคลดังนั้น พระองค์จึงตรัสว่า ข้าแต่เจ้าฤษีผู้ข้าจะตอบในบัดนี้เดี๋ยวนี้ยังไม่ได้ก่อน จะต้องไต่ถามลูกเขาดูเสียก่อน เหตุว่าข่าวสาส์นอันพระวาสุเทว ให้มาถึงผู้ข้านั้นยากนักหนา ถ้าหากว่าผู้ข้าให้เขาไป เขาพอใจไปก็ดีอยู่ ถ้าเขาไม่พอใจจะไป ผู้ข้าจะบังคับให้เขาไปนั้นเป็นไปไม่ได้ พระยาละโว้ตรัสกับสุกกทันตฤษีดังนี้แล้ว พระองค์จึงรับสั่งให้อำมาตย์นำข่าวสาส์นที่พระสุกกทันตฤษีกราบทูลนั้น ไปบอกแก่นางจามเทวีพระราชธิดานั้นให้แจ้งทุกประการ อำมาตย์ก็นำเอาข่าวสาส์นนั้น ๆ ไปกราบทูลนางจามเทวีพระราชธิดา ให้ทรงทราบตามรับสั่งทุกประการ เมื่อพระนางได้ทรงสดับในถ้อยคำของอำมาตย์กราบทูลดังนั้น ก็ทรงเข้าพระทัยได้ดีทุกประการ แล้วพระนางจึงผินพักตร์ให้ตรงฉะเพาะพระราชบิดาแล้ว จึงกราบถวายบังคมถึงพระราชบิดาว่า ข้าแต่พระราชบิดาเจ้า ข้าน้อยขอกราบทูลใต้เบื้องบาทพระราชบิดาเป็นเจ้า เมื่อพระราชบิดามีพระราชประสงค์ จะให้ข้าน้อยไปเสวยราชสมบัติในพระนครหนขุนน้ำโพ้นแท้ ข้าน้อยจะขอรับพระราชทาน ไปตามพระราชประสงค์ของพระราชบิดาทุกประการ ถ้าหากว่าพระราชบิดาไม่พอพระทัยในการไปเช่นนั้น ข้าน้อยก็ไม่สามารถจะล่วงพระราชอาชญาของพระราชบิดาไปได้ เมื่อนางจามเทวีตรัสดังนี้แล้ว จึงตรัสกับด้วยอำมาตย์ที่มานั้นว่า ดูราท่านอำมาตย์ทั้งหลาย สูท่านทั้งหลายจงนำเอาถ้อยคำที่เรากล่าวนี้ นำไปกราบทูลพระราชบิดาให้พระองค์ทรงทราบจงทุกประการเทอญ

ในทันใดนั้น อำมาตย์ทั้งหลายก็นำเอาถ้อยคำที่นางจามเทวีตรัสสั่งมานั้นกราบทูลให้พระองค์ทรงทราบ เมื่อพระยาละโว้ได้ทรงทราบในถ้อยคำของพระราชธิดา ซึ่งอำมาตย์ทั้งหลายนำมากราบทูลดังนั้น พระองค์ทรงเข้าพระทัยได้ดีทุกประการ แล้วพระองค์จึงรับสั่งให้อำมาตย์นำความไปบอกเล่านางจามเทวีพระราชธิดา เพื่อให้รู้ในฉันทสัญญาของพระองค์ว่า ข่าวสาส์นอันเจ้าฤษีตนประกอบไปด้วยฤทธิ์อานุภาพให้มาถึงเราทั้ง ๒ พ่อลูกนี้เป็นอันประเสริฐยิ่งนัก บัดนี้พ่อจักให้เจ้าไปเสวยราชสมบัติ เป็นนางพระยาหนขุนน้ำตามคำพ่อเจ้าฤษีขอมานั้นแท้จริง อำมาตย์ทั้งหลายก็นำความไปกราบทูลนางจามเทวีพระราชธิดาให้ทรงทราบตามรับสั่งทุกประการ

ส่วนพระสวามีของนางจามเทวีนั้นเล่า พระราชบิดาก็ทรงตั้งให้เป็นอุปราชา แล้วให้ไปกินเมืองรา

๑๓ ครั้งนั้นนางจามเทวีทรงครรภ์มาได้ ๓ เดือน เหตุนั้นพระราชบิดาจึงใช้ให้อำมาตย์ไปเชิญพระสวามีนางเข้ามา แล้วพระองค์จึงตรัสว่า ดูราเจ้าลูกรักแห่งพ่อ วาสุเทวฤษีอยู่หนขุนน้ำหนเหนือโพ้น ท่านใช้ให้ทูตมากับด้วยสุกกทันตฤษี มาขอนางจามเทวีไปเป็นนางพระยาว่าดังนี้หนา พ่อก็มีความปรารถนาอยากจะให้ไปนี้แหละ เจ้าจงอยู่เป็นอุปราชากับด้วยพ่อนี้เทอญ เจ้ามีความพอใจในนางคนหนึ่งคนใด พ่อจะจัดให้ตามความประสงค์ของเจ้าทุกประการ อุปราชาจึงทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ขุนน้ำโพ้นไกลนักหนาทีเดียว ผิว่าตามใจของข้าพระพุทธเจ้าแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าก็ไม่อยากจะให้นางจามเทวีไป ถึงแม้เช่นนั้นก็ดี ข้าพระพุทธเจ้าก็ไม่เหลืออาชญามหาราชเจ้าได้แล และข้าพระพุทธเจ้าก็เห็นดีในพระราชประสงค์ทุกประการ อุปราชากราบทูลดังนั้นแล้วก็ทูลลากลับไปสู่เรือนแห่งตน

ครั้นไปถึงแล้ว จึงเจรจากับด้วยนางจามเทวีพระชายาว่า ดูราน้องรัก บัดนี้พระราชบิดาเราพระองค์เป็นเจ้าเมืองละโว้นี้ พระองค์มีพระประสงค์จะให้น้องไปเป็นนางพระยาในพระนครขุนน้ำโพ้น พระองค์ตรัสดังนี้ พระน้องเจ้าจงไปเป็นนางพระยา เสวยราชสมบัติให้ชอบในทศพิธราชธรรมเถิด ความสวัสดีจงมีแก่พระน้องนางเทอญ ทันใดนั้น นางจามเทวีก็กราบไหว้พระสวามี แล้วจึงทูลถวายคำตอบว่า สาธุสามี ข้าแต่เจ้าตนมีบุญ น้องจักได้อำลาพระบาทพลัดพรากจากไปไกลครั้งนี้ ขอพระราชสวามีเป็นเจ้าแห่งน้องนี้ จงได้อยู่เป็นอุปราชากับด้วยพระราชบิดาของน้อง ตามจารีตประเพณีอันเป็นคลองแห่งอุปราชาอันดีมาแต่ก่อน ให้เหมือนดังเมื่อเราทั้ง ๒ ยังอยู่พร้อมเพรียงกันนั้นทุกประการเทอญ เมื่อนางจามเทวีทูลตอบพระสวามีด้วยถ้อยคำอันเป็นสิริมงคลดังนั้นแล้ว ก็เสด็จขึ้นไปถวายบังคมพระราชบิดา กราบทูลขอพรเพื่อให้มีความเจริญแก่ตนไปภายหน้าว่า ข้าแต่พระราชบิดาเป็นเจ้า พระองค์มีพระราชประสงค์ให้ข้าน้อยไปเป็นนางพระยาเสวยสมบัติอยู่ในพระนครหนขุนน้ำโพ้นแท้ดังนั้น ข้าน้อยขอรับพระราชทานไปตามพระราชประสงค์ของพระราชบิดาครั้งนี้ โดยความพอใจของลูกเป็นอย่างยิ่งหาที่สุดมิได้ แต่ทว่าข้าน้อยขอพระราชทานกราบทูล ขอเอาสิ่งที่เป็นมงคลไปเพื่อประกอบกิจให้เป็นประโยชน์ทั้งภายในและภายนอก เป็นตนว่า (๑) ข้าน้อยขอพระมหาเถรที่ทรงปิฎกมีประมาณ ๕๐๐ องค์ (๒) หมู่ปะขาวทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในเบญจศีล ๕๐๐ คน (๓) บัณฑิต ๕๐๐ คน (๔) หมู่ช่างสลัก ๕๐๐ คน (๕) ช่างแก้วแหวน ๕๐๐ คน (๖) พ่อเลี้ยง ๕๐๐ คน (๗) แม่เลี้ยง ๕๐๐ คน (๘) หมู่หมอโหรา ๕๐๐ คน (๙) หมอยา ๕๐๐ คน (๑๐) ช่างเงิน ๕๐๐ คน (๑๑) ช่างทอง ๕๐๐ คน (๑๒) ช่างเหล็ก ๕๐๐ คน (๑๓) ช่างเขียน ๕๐๐ คน (๑๔) หมู่ช่างทั้งหลายต่างๆ ๕๐๐ คน และ (๑๕) หมู่พ่อเวียก

๑๔ทั้งหลาย ๕๐๐ คน เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ทั้งภายและภายนอกแท้จริง

เมื่อพระยาละโว้ได้ทรงสดับถ้อยคำพระราชธิดาทูลขอดังนั้น พระองค์จึงตรัสกับพระราชธิดาว่า ลูกมีความประสงค์สิ่งใดพ่อมิได้ขัด พ่อยินดีจะจัดหาให้ตามความประสงค์ของลูกทุกประการนั้นแล

อีกนัยหนึ่งว่า พระสวามีของนางจามเทวีนั้นออกบวช นางเป็นผู้ปราศจากพระสวามี สุกกทันตฤษีจึงได้มาขอไปจากพระราชชบิดา ดังนี้ก็ว่า

แล้วพระยาละโว้ก็ให้ตกแต่งยังข้าวของเงินทองแก้วแหวนอลังการ ช้างม้าข้าคนมนตรีหมู่โยธาแห่แหนถ้วนทุกสิ่ง แล้วพระองค์ก็ชุมนุมคนในเมืองละโว้ทั้งสิ้น ให้เล่นการมหรสพสมโภชนางจามเทวีพระราชธิดา ในวันเดือน ๑๒ เพ็ญมีกำหนด ๗ วัน ๗ คืนนั้นแล ครั้นเสร็จการพระราชพิธีสมโภชแล้ว นายคะวะยะก็เข้าไปเฝ้าพระยาละโว้ฟังดูเหตุการณ์นั้นๆ เมื่อพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นนายคะวะยะเข้ามาดังนั้น จึงตรัสกับด้วยนายคะวะยะว่า ดูรานายคะวะยะ กิจทั้งหลายอันควรจักให้ลูกเราไปเป็นนางท้าวนางไทในพระนครหนขุนน้ำโพ้น เราก็ได้ให้อำมาตย์แต่งไว้พร้อมแล้ว นายคะวะยะท่านจงนำลูกเราไปสู่พระนครโพ้นเถิด ทันใดนั้น นายคะวะยะจึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็จะได้ปฏิบัติตามพระราชประสงค์มหาราชเจ้าทุกประการ และบัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะขอรับพระราชธิดา ไปเสวยราชสมบัติเป็นเจ้าเป็นจอมในเมืองมิคสังครหนขุนน้ำโพ้น ก็เป็นกาลอันควรนักแท้จริง นายคะวะยะกราบทูลพระยาละโว้ดังนี้แล้ว ก็ลงมาสู่ที่พักแห่งตนนั้นแล

ในทันใดนั้น พระเจ้าละโว้ก็รับสั่งให้อำมาตย์จัดอาหารของกินและเสื้อผ้าเครื่องอลังการ สำหรับพระราชทานให้แก่นายคะวะยะตามสมควรทุกประการ และนายคะวะยะไปอยู่ในเมืองละโว้ครั้งนั้นมีประมาณได้ปี ๑ แท้จริง ครั้งนั้นนางจามเทวีพระองค์ทรงรู้ในกาลเวลาอันควร จึงเล็งไปถวายบังคมลาสมเด็จพระราชบิดาด้วยมงคลวาจาอันวิจิตร วันนั้นพระราชบิดาตรัสเป็นมงคลคาถาวาจาราชลีลาเป็นอนุสาสน์เพื่อให้เจริญสิริสวัสดิ์แก่พระราชธิดา แล้วพระองค์จึงตรัสว่า ดูราลูกรักแห่งพ่อ เจ้านี้ใช่บุคคลโยโสสามานย์ดอกหนา เจ้านี้เป็นแก่นชาติเชื้อหน่อท้าวอันอุดมแท้จริง เจ้าจงไปเป็นนางพระยาเทอญ และเจ้าจงนำเอาพระพุทธศาสนา ไปกับด้วยพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย ๕๐๐ องค์นี้ เพื่อให้เป็นแก่นสารภายในเจ้า ความสวัสดีทีฆายุจงเจริญแก่เจ้า เมื่อเจ้าไปเสวยราชสมบัติเป็นพระยา เจ้าจงประพฤติให้ถูกต้องตามทศพิธราชธรรมจงทุกประการ เพื่อให้มีมีความสุขความเจริญแก่ชาวเมืองทั้งหลาย และเจ้าคอยว่ากล่าวสั่งสอนชาวเมืองทั้งหลายอย่าให้มีความประมาท ให้ตั้งอยู่ในทานศีลจงทุกคนเทอญ แม้มหาเถรเจ้าทั้งหลาย ๕๐๐ องค์นี้ก็ดี เทียรย่อมทรงศีลสมาธิปัญญาทุกๆ พระองค์แท้จริง เจ้าไททั้งหลายนี้เทียรย่อมเจริญเมตตาอุปัฏฐากร้กษาเจ้าทุกค่ำเช้าวันคืน เพื่อให้มีความสุขความเจริญแก่เจ้า เจ้าอย่าได้ประมาทในเจ้ากูแลนา เจ้าจงให้เจ้ากูได้รับความสบายด้วยจตุปัจจัยจงทุกองค์เทอญ

เมื่อพระนางจามเทวีได้รับพระโอวาทของสมเด็จพระราชบิดาแล้ว นางก็กราบทูลลาพระราชบิดา เสด็จลงมาสู่เรือแห่งพระองค์ทันใดนั้น องค์สุกกทันตฤษีพร้อมด้วยนายคะวะยะ ก็เข้าไปเฝ้ากราบทูลถวายบังคมลามาตามราชอาชญามงคลวาจามาสู่เรือแห่งตน ๆ แล้วก็ขึ้นไปโดยลำดับพร้อมกับด้วยพระนางจามเทวีวันนั้นแล พระนางนำเอารี้พลเสนามาครั้งนั้น ตั้งเมืองโดยลำดับขึ้นมา เป็นต้นว่า เมืองพระบาง เมืองคันธิกะ เมืองบุรัฐ เมืองบุราง

๑๕ แล้วเสด็จขึ้นมาตั้งเมืองเทพบุรี เมืองบางพล เมืองราเสียด
๑๖ เสด็จโดยลำดับขึ้นไปถึงหาดทรายแห่งหนึ่งน้ำเข้าเรือ พระนางทรงเรียกสถานที่นั้นว่าหาดเสียว
๑๗ แล้ว เสด็จมาถึงคูแห่งหนึ่ง พระนางรับสั่งแก่แม่เลี้ยงทั้งหลายว่า ให้เอาผ้าเปียกชุ่มด้วยน้ำออกตากแล้วก็ตั้งเมืองณที่แห่งนั้น ให้เรียกชื่อว่าเมืองตาก ครั้นแล้วก็เสด็จออกจากที่นั้นขึ้นมาถึงที่แห่งหนึ่ง ทอดพระเนตรเห็นรี้พลทั้งหลายง่วงเหงาอยู่ดังนั้น จึงให้เรียกสถานที่นั้นว่าสระเหงา นัยหนึ่งว่าพระนางให้สร้างพระพุทธรูปแล้วทรงกระทำสักการบูชาให้คนทั้งหลายได้ตั้งอยู่ในสรณาคมณ์ในที่นั้น เหตุดังนั้นสถานที่นั้นจึงได้ชื่อว่า พุทธสรณาคมน์ มาตราบเท่าจนกาลบัดนี้

ลำดับแต่นั้นขึ้นมา พระนางทอดพระเนตรเห็นดอยอันหนึ่งยื่นออกมาสู่แม่น้ำ ครั้นพระนางเสด็จมาถึงสถานที่นั้น ยังมีนางบริวารคนหนึ่งสิ้นชีวิตลงในที่นั้น พระนางก็ทรงกระทำส่งสการศพณที่นั้นให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็เสด็จไปสรงน้ำดำหัวในสถานที่นั้นๆ จึงได้ชื่อว่าดอยอาบน้ำนางจนตราบเท่าถึงกาลบัดนี้ แล้วก็เสด็จพรากจากที่นั้นขึ้นมาโดยลำดับ ทอดพระเนตรเห็นดอยลูกหนึ่งขวางกั้นแม่น้ำอยู่ พระนางจามเทวีจึงมาคำนึงนึกแต่ในพระทัยว่า มีดอยมากั้นแม่น้ำอยู่เช่นนี้เราจะไปได้อย่างใดฤๅ พระนางทรงคำนึงดังนี้แล้ว จึงตรัสกับด้วยพ่อเลี้ยงและอาเลี้ยงทั้งหลายว่า ดอยกั้นแม่น้ำอยู่ดังนี้เราจะไปได้อย่างไรเล่า อำมาตย์ทั้งหลายก็ใช้ให้คนไปเลียบดูตามริมแม่น้ำที่นั้น ก็ได้เห็นยังคลองเรือเดินมีอยู่ คนทั้งหลายเหล่านั้นกลับคืนมาทูลให้พระนางทรงทราบ เมื่อพระนางได้ทรงทราบดังนั้นแล้ว อำมาตย์ทั้งหลายก็นำเรือขึ้นไปโดยลำดับ ครั้นไปถึงสถานที่นั้นแล้วก็รับสั่งให้ช่างแต้ม

๑๘รูปช้างไว้ในที่นั้นตัวหนึ่ง หันหน้ากลับคืนมาตามแม่น้ำ ในสถานที่นั้นจึงได้ชื่อว่าดอยผาแต้มแต่นั้นมาตราบเท่ากาลบัดนี้ แล้วพระนางก็เสด็จออกจากที่นั้นไปถึงสถานที่แห่งหนึ่ง แล้วก็ตั้งเมืองๆ หนึ่ง ให้รี้พลทั้งหลายอยู่ณที่นั้น เต่าและปลาทั้งหลายเข้ามาเบียดเบียนคนทั้งหลายนักอยู่ไม่มีความสุข สถานที่นั้นจึงได้เรียกว่าปลาเต่ามาตราบเท่าถึงกาลบัดนี้ ลำดับแต่นั้นมาพระนางก็เสด็จขึ้นไปถึงในสถานที่แห่งหนึ่งเป็นที่พึงใจนัก พระนางจึงตรัสสั่งให้ตั้งยังบ้านอันหนึ่งในที่ใกล้น้ำแม่ทา บ้านนั้นจึงได้ชื่อบ้านทานั้นแล

ครั้งนั้น พระนางจามเทวีพร้อมด้วยหมู่รี้พล กับทั้งสุกกทันตฤษีประทับอยู่ณที่นั้นก่อน แล้วพระนางก็ให้สร้างยังพระเจดีย์องค์หนึ่งชื่อปวิสิตปกะ

๑๙ แล้วพระนางก็ทรงกระทำสักการบูชาด้วยเครื่องบูชาทั้งหลายต่างๆ แล้วก็เสด็จจากบ้านทาคามนั้น มาถึงท่าเชียงทอง พระนางก็ประทับอยู่ณที่นั้น จึงตรัสถามคนทั้งหลาย ดูราชาวพ่อชาวอาทั้งหลาย แต่ที่นี้ไปถึงลพุนนั้นยังประมาณมากน้อยเท่าใด ทันใดนั้น คนทั้งหลายจึงทูลตอบว่า ข้าแต่มหาราชเทวีเป็นเจ้า แต่ที่นี้ไปถึงเมืองลพุนนั้น ยังอีกครึ่งโยชน์ เมื่อพระนางได้ทรงสดับถ้อยคำของคนทั้งหลายทูลดังนั้น พระนางจึงตรัสว่า ดูราชาวพ่อชาวอาทั้งหลาย อย่าเร่งรีบไปเมืองลพุนก่อน เราจักตั้งบ้านๆ หนึ่งอยู่แต่ที่เหนือนี้ก่อน

ในขณะนั้น ยังมีพวกธนูศิลปคนหนึ่ง รู้ศิลปคุณในการที่จะตั้งบ้านสร้างเมืองดียิ่งนัก พระนางจะทรงตั้งบ้านสร้างเมืองทั้งหลายณที่ใดๆ ย่อมให้มันผู้นั้นยิงธนูไปดูก่อน ถ้าหากว่าลูกธนูไปตกณที่ใดก็ตั้งบ้านสร้างเมืองณที่นั้น บ้านเมืองนั้นๆ ก็อยู่เย็นเป็นสุขสวัสดีแก่คนทั้งหลายยิ่งนัก เหตุดังนั้นในการสร้างบ้านคราวนี้ พระนางจึงตรัสสั่งให้นายธนูศิลปคนนั้นเข้ามาเฝ้า

ในทันใดนั้น นายธนูศิลปก็เข้ามาเฝ้า พระนางจึงตรัสกับด้วยนายธนูศิลปนั้นว่า ดูราอาจารย์พวกธนู เราจักตั้งบ้าน ๆ หนึ่งอยู่แต่ที่เหนือนี้ ท่านจงยิงธนูของท่าน ให้ไปแสวงหาสถานที่อันเป็นมงคลให้แก่เรา เราจะสร้างบ้านณที่นั้น เมื่อพระนางจามเทวีตรัสดังนั้นแล้ว ทันใดนั้น นายธนูศิลปก็กราบทูลว่าดี แล้วก็นำเอายังธนูศิลปขึ้นไปยืนอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่ง ก็ขึ้นยังสายธนูใส่ปืนแล้วหันหน้าเฉพาะทิศหนเหนือ ก็ยิงขึ้นไปยังลูกธนูศิลปอันนั้น ปืนธนูอันนายธนูศิลปหากยิงครั้งเดียวตั้งแต่เชียงทองโพ้น มาตกในที่อันจะสร้างมหาเจดีย์เจ้าในวัดละปัก

๒๐ บัดนี้ แล้วนายธนูศิลปก็กลับลงมากราบทูลพระนางจามเทวีให้ทรงทราบว่า ข้าแต่มหาราชเทวีเป็นเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกราบทูลให้พระองค์ประทับอยู่ณที่นี้สักครู่หนึ่งก่อน ข้าพระพุทธเจ้าจะกลับคืนไปตามหาลูกปืนธนู ที่ข้าพระพุทธเจ้ายิงออกไปนั้น ถ้าหากว่าข้าพระพุทธเจ้าไปพบลูกปืนธนูในสถานที่ใดแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าจะออกมาเฝ้ามหาราชเทวีเป็นเจ้าณที่ริมฝั่งแม่น้ำที่นั้น นายธนูศิลปกราบทูลพระนางให้ทรงทราบดังนี้แล้ว ก็กราบทูลลากลับขึ้นไปเที่ยวตามหาลูกปืนธนูที่ยิงมาทางอากาศแต่เชียงทองโพ้น มาเห็นตกและตั้งอยู่ด้วยอาการอันตรงแท้จริง ทันใดนั้นนายธนูศิลปก็ให้คนทั้งหลายแวดล้อมอยู่ในสถานที่นั้น แล้วนายธนูศิลปก็ออกมาคอยเฝ้าพระนางจามเทวีอยู่ริมฝั่งแม่น้ำที่นั้น

ฝ่ายพระนางจามเทวีทรงเห็นว่า ประทับอยู่ณที่นั้นเป็นเวลานานอันสมควรแล้ว พระนางสัพพสิทธิธรรมราชเทวีก็ค่อยเสด็จลีลาขึ้นมา ก็พอดีพบกับอาจารย์ธนูศิลปออกมาคอยเฝ้าอยู่ที่นั้น นายธนูศิลปเมื่อเห็นพระนางทอดพระเนตรเห็นตนดังนั้น ก็คุกเข่าลงทั้ง ๒ ข้าง แล้วประณมมือทั้ง ๒ ขึ้นเหนือเศียร ครั้นพระนางเสด็จมาถึงในสวนูปจารที่นั้น จึงตรัสกับด้วยนายธนูศิลป ๆ จึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเทวีเป็นเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าได้พบลูกปืนธนูในที่นี้ ทันใดนั้นพระนางจามเทวีจึงตรัสสั่งให้ตีฆ้องร้องป่าวให้อำมาตย์ทั้งหลายจอดเรือณที่นั้น หมู่เรือพระมหาเถรเจ้าทั้งหลาย ๕๐๐ องค์นั้น ครั้นมาถึงที่จอดเจ้าไทยก็มีความสุขสำราญพร้อมทุกองค์ แล้วพระนางจึงตรัสสั่งให้ราชบัณฑิตเข้าไปไหว้กราบเรียนว่า ข้าแต่เจ้ากูทั้งหลาย ผู้ข้าขอกราบเรียนให้ทราบ ได้ยินว่าลูกปืนธนูมงคลที่นายธนูยิงมาตกที่นี้ ผู้ข้าขออนุญาตโอกาสแด่พระสงฆ์ทั้งหลาย ที่ประกอบไปด้วยศีลาทิคุณอันอุดม จักควรให้ผู้ข้ากระทำกิจอย่างไรเล่าพระผู้เป็นเจ้าในที่นี้ เมื่อมหาเถรเจ้าทั้งหลายได้ยินยังถ้อยคำของบัณฑิตมาบอกดังนั้น พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายก็มีสมานฉันท์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วจึงเทศนาสั่งสอนสิ่งที่เป็นมงคลแก่หมู่บัณฑิต ให้หมู่บัณฑิตนำเข้าไปกราบทูลมหาราชเทวีเถิดว่า ในสถานที่ลูกปืนธนูมงคลมาตกนั้น ก็เป็นสถานที่มหามงคลแท้จริง มหาราชทายิกาพระองค์จักทรงกระทำกิจสิ่งอื่นก็ไม่สมควร มหาทายิกาได้นำเอาพระพุทธศาสนามาแต่เมืองละโว้แท้จริง เหตุดังนั้นสมควรที่มหาราชเทวีจะให้ตั้งพระศาสนาไว้ในที่นั้น ก่อนกิจทั้งหลายอื่น ๆ จึงจะสมควรแท้จริง

ในทันใดนั้น พระนางสัพพสิทธิจามเทวี ได้ทรงสดับถ้อยคำพระเถร ที่บัณฑิตนำมากราบทูลดังนั้น พระนางทรงเลื่อมใสในพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายยิ่งนัก จึงตรัสกับด้วยอำมาตย์ทั้งหลายว่า ดูราชาวพ่อน้าชาวอาว์และหมู่โยธาทั้งหลาย สูท่านทั้งหลายคอยกระทำสัมโมทมานา พิจารณาหาดินและอิฐอันบริสุทธิ์มีสิริมา เราจักก่อพระเจดีย์เจ้าอันอุดมให้บริสุทธิ์แก่มงคลสถานก่อน ขณะนั้นหมู่โยธาทั้งหลายก็เร่งบอกกล่าวกันมิได้ช้า เทียรย่อมหันหน้าฉะเพาะต่อการบุญทุกคน อุตสาหขวนขวายหายังดินและอิฐมาทุกหมู่ทุกคนแท้จริง

ครั้นถึงวันสวัสดีด้วยนักขัตฤกษ์อันประกอบด้วยอมฤคโชค และวะโยคทุกถ้วนบริบูรณ์แล้ว ตรัสสั่งให้หมู่บัณฑิตไปนิมนต์เจ้ากูตนอุดมด้วยศีลมามากหลายมิใช่น้อยถ้วน ๕๐๐ บริบูรณ์ เพื่อกำจัดอันตรายทั้งหลาย เจ้ากูทั้งหลายก็เปล่งออกยังคำอาราธนาหมู่เทวดา ด้วยวาจาอันเป็นคาถาดังนี้ สคฺเค กาเม จ รูเป เป็นต้น อธิบายความว่าดูราหมู่เทวดาทั้งหลาย พระบาลีอันใดแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์อุดมกว่านักปราชญ์ทั้งหลาย มีต้นว่าพระมหาโมคคัลลานและพระสารีบุตรเถรเจ้านั้น สูท่านทั้งหลายอันอยู่ในวิมาน และวิมานนั้นโสดอันอาศัยอยู่ในกามภูมิ ๖ ชั้น คือในรูป ๖ ชั้นก็ดี ในยอดเขาและในเหวที่ลึกก็ดี ในอากาศก็ดี ในทวีปใหญ่ทั้ง ๔ และทวีปน้อย ๒,๐๐๐ ทวีปก็ดี ในเมืองและบ้านทั้งหลายก็ดี ในต้นไม้และป่าทั้งหลายก็ดี ในที่บ้านก็ดี ในนาและในไร่ทั้งหลายก็ดี ในแผ่นดินก็ดี จงมาให้สินจงทุกองค์เทอญ มิใช่แต่เทวดาอย่างเดียวเท่านั้น แม้ว่าผีเสื้อและคนธรรพ์นาคทั้งหลายก็ดี อันอยู่ในน้ำและบนบกในที่ราบก็ดี อันอยู่ในที่ใกล้แห่งเราทั้งหลายนี้ก็ดี อาราธนาบัดนี้ สูท่านทั้งหลายจงฟังทุกองค์ทุกตน ยังบาลีอันนั้นแห่งพระพุทธเจ้าของเรานี้เทอญ

มหาเถรเจ้าทั้งหลาย ๕๐๐ องค์ มากระทำมงคลกิจกับด้วยบริษัททั้งหลายครั้งนั้น เจ้าไทยทั้งหลายก็กระทำมงคลกิจนั้นๆ ให้แล้วทันในเวลาฤกษ์ยามอันดีมิให้คลาด หมู่นักปราชญ์ทั้งหลายก็กราบทูลพระนางจามเทวีและคนผู้รัผู้ดีให้เริ่มลงมือก่อมหามงคลเจดีย์ แล้วให้เอาลูกปืนธนูมงคลไว้ในที่นั้นด้วย กาลมิช้ามินานเท่าใดมหามงคลเจดีย์ ก็สำเร็จบริบูรณ์ทุกประการนั้นแล

ลำดับแต่นั้นมา มหาเถรเจ้าทั้งหลาย ๕๐๐ องค์ มีความปรารถนาอยากจะเพิ่มพูนพระราชกุศลให้มากแต่พระนางจามเทวี จึงกราบทูลว่าดูกรมหาราชเทวี มหาเจดีย์เจ้าก็สำเร็จเรียบร้อยแล้ว ขอพระนางจงได้ทรงพระปรารภ ในการพระราชกุศลอันอื่นต่อไปเถิด แล้วพระเถรจึงทูลแนะนำว่า อาตมาทั้งหลายมีความปรารถนา จะใคร่ให้พระนางทรงสร้างพระพุทธรูป มีส่วนและขนาดเท่าองค์มหาราชเทวีทายิกาเจ้าสักองค์หนึ่ง แล้วประดิษฐานพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าสำหรับไว้เป็นที่สักการบูชาแก่หมู่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายตราบถ้วน ๕,๐๐๐ พระวัสสา สิ่งนี้เป็นการสมควรแก่มหาราชเจ้าแท้จริง เมื่อพระนางจามเทวีได้ทรงสดับถ้อยคำอันนั้น แต่เจ้ากูสงฆ์ทั้งหลายกราบทูลในการพระราชกุศลดังนั้น พระนางก็ทรงรับคำปฏิญญาขานตอบเจ้าไทว่า สาธุ ดีแล้ว

ทันใดนั้น พระนางจามเทวีจึงตรัสเรียกหามายังช่างผู้ฉลาดเข้าแล้วจึงตรัสว่า ดูรานายช่าง ท่านจงจัดการสร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่ง มีขนาดและส่วนสูงเท่าตัวเรานี้ เราจะเอายังพระสาริริกธาตุที่เรานำมาแต่พระนครละโว้โพ้น ฐาปนาไว้ในองค์พระพุทธรูปเจ้าองค์นั้น เมื่อนายช่างได้รับๆสั่งของพระนางดังนั้นแล้ว ก็กราบทูลลาออกไปจัดการตามรับสั่งทุกประการ แล้วพระนางก็ทรงบรรจุพระบรมธาตุพร้อมด้วยพระโกศทองคำ ไว้ในองค์พระพุทธรูปองค์นั้น ให้เป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ ไว้เป็นที่สักการบูชาแก่หมู่เทวดาและมนุษย์ เพื่อให้สำเร็จกิจสิทธิกรรมแก่มนุษย์ทั้งหลาย ผู้ที่มีความปรารถนาเอาสมบัติเฉพาะหน้า ก็จะได้สำเร็จประโยชน์สมความปรารถนาทุกประการแท้จริง

ตั้งแต่กาลครั้งนั้นมา พระพุทธรูปเจ้าก็บังเกิดมีมากหลาย ด้วยเหตุว่า เสนาอำมาตย์ทั้งหลายเป็นต้นว่า พระยาแขนเหล็ก

๒๑และพระยาบ่เพกต่างคนต่างสร้างคนละองค์สององค์ต่อมามิได้ขาด

ลำดับต่อแต่นั้นมา พระนางจึงตรัสสั่งให้ก่อกำแพงแวดล้อมและปลูกต้นพร้าวต้นตาลหวานส้มเป็นอันมาก แลดูงดงามสะพรั่งยิ่งนัก พระนางทรงกระทำการฝ่ายพระศาสนา และที่อยู่ที่อาศัยชาวเจ้าทั้งหลายสำเร็จเรียบร้อยบริบูรณ์ดีแล้ว พระนางจึงนมัสการเรียนปฏิบัติเจ้ากูสงฆ์ทั้งหลายว่า ข้าแต่เจ้ากูสงฆ์ทั้งหลาย ข้าน้อยสร้างที่อยู่ที่อาศัยแก้วทั้งสาม สำเร็จเรียบร้อยบริบูรณ์ทุกประการแล้ว บัดนี้เจ้ากูจักควรให้ข้าน้อยกระทำกิจอันใดอีกเล่าเจ้าข้า พระนางจามเทวีเรียนปฏิบัติแด่เจ้ากูทั้งหลายดังนี้

ในทันใดนั้น มหาเถรเจ้าตนมีอายุจึงทูลตอบว่า เออ กิจทั้งหลายที่มหาบพิตรทรงกระทำในพระพุทธศาสนา ก็เป็นอันเสร็จสิ้นเรียบร้อยดีทุกประการแล้ว บัดนี้สมควรแล้วที่มหาบพิตรจะทรงปฏิบัติจัดการบ้านเมืองให้ถูกตามพระโอวาทของสมเด็จพระราชบิดาต่อไป เมื่อพระนางได้ทรงสดับถ้อยคำของพระเถรดังนั้น แล้วพระนางก็ทรงจัดการบ้านเมืองต่อไป

ครั้งนั้นพระนางมหาเทวี จึงตรัสสั่งให้อำมาตย์ทั้งหลายสร้างแปงที่อยู่ให้เป็นที่สำราญแก่หมู่โยธาทั้งหลายตามสมควร แล้วธรรมิกราชเทวีพระองค์ทรงเป็นสัปปุริสนารีที่องอาจ เมื่อได้รับอนุญาตจากครู พระนางจึงตรัสกับด้วยนักปราชญ์ผู้ฉลาดในปฐวีภูมิที่สนิท ประกอบด้วยสิริวาจาพร้อมกับด้วยหมู่โยธาและพ่อเวียง ไป่ให้แตกยามลัคนาและนักขัตฤกษ์ แล้วจึงวัดจัตุรัสที่เรือนหลวงเป็นมงคลปราสาท ทัพสัมภารเนืองนองมามิได้ขาด ให้แล้วในบัดเดี๋ยววันนั้นแล

ฝ่ายว่าหมู่โยธาครั้นพิจารณาแล้ว ก็อาราธนายังไตรยแก้วรัตนามาทุกแห่ง เพื่อให้มาแต่งมงคลกิจ มิให้ผิดจารีตโบราณวันนั้น ครั้นพระนางจามเทวีได้คุ้มอันอุดมสมเป็นราชเคหาดังนั้น แล้วพระนางก็เสด็จขึ้นบริโภคหาทุกข์หาโศกมิได้สักเวลาแท้จริง ด้วยเหตุว่าพระนางทรงปฏิบัติตามพระโอวาทของพระราชบิดาทรงสั่งสอนมาทุกประการนั้นแล แต่นั้นมาบ้านเมืองก็บังเกิดความสุขภายสบายใจแก่ไพร่ไททุกคนแท้จริง เหตุดังนั้นพระนางจึงประทานนามบ้านนั้นว่า บ้านรัมมกคาม เป็นกาลยืดยาวคราวไกลอักขรไป่บริบูรณ์ ก็หากปรากฏว่ารัมมกคามมาตราบเท่าถึงกาลบัดนี้แล

ครั้งนั้นสุกกทันตฤษี พร้อมด้วยนายคะวะยะ จึงได้ใช้ให้คนนำข่าวสาส์นไปบอกแก่วาสุเทวฤษีว่า สหายให้เรากับนายคะวะยะนำบรรณาการของฝาก ไปขอพระนางจามเทวี แต่สำนักพระเจ้าละโว้โพ้น บัดนี้พระเจ้าละโว้พระองค์ทรงพระเมตตา พระราชทานพระอนุญาตให้พระนางจามเทวีมากับด้วยตูทั้งหลายแล้ว เดี๋ยวนี้มาถึงท่าประทับอยู่ที่ท่านั้น ขอสหายจงมารับพระนางพร้อมด้วยตูทั้งหลายด้วยเทอญ

วาสุเทวฤษี เมื่อได้รับข่าวสาส์น จากคนใช้สุกกทันตะและนายคะวะยะว่า พระนางจามเทวีเสด็จมาถึงท่าที่นั้น วาสุเทวฤษีก็บังเกิดซึ่งความปีติยินดียิ่งนัก จึงสั่งให้ตีกลองป่าวร้องแก่ชาวเมืองทั้งหลายว่าให้จัดเครื่องบูชาไปต้อนรับพระนางจามเทวีมาแล้วให้ประทับอยูในที่แห่งหนึ่งหนตะวันออก แห่งที่พระศาสดาทรงประดิษฐานพยากรณ์ครั้งโน้น ริมฝั่งแม่ระมิงนั้น แล้วให้ตกแต่งที่ประทับสำหรับพระนางแลหมู่บริวารทั้งหลาย พร้อมทั้งฝูงรี้พลโยธาวันนั้นแล

วาสุเทวฤษีก็ลงมาจากตีนดอย แล้วจึงป่าวร้องรี้พลทั้งหลายให้จัดหาวัตถุทานเป็นอันมาก ที่ควรแก่ชาวเจ้าสงฆ์ที่มากับด้วยพระนางจามเทวีนั้น ลำดับแต่นั้นให้จัดหาวัตถุที่ควรถวายแต่พระนางราชเทวี แล้วให้จัดวัตถุอันควรเป็นของสบายแก่หมู่รี้พลโยธาทั้งหลายที่มากับด้วยพระนางนั้น และให้จัดหาวัตถุที่ควรบูชาสุกกทันตฤษีผู้สหายอีกด้วย แล้วก็นำมาต้อนรับในวันนั้นพร้อมทุกประการนั้นแล

ครั้งนั้น วาสุเทวฤษีและสุกกทันตฤษี ก็เชิญพระนางจามเทวีเสด็จไปสู่เมืองลพุน แล้วจึงป่าวร้องยังหมู่รี้พลโยธา ให้จัดหาเครื่องอภิเษกเป็นต้นว่า น้ำอบ น้ำหอม จวงจันทน์สุคันธรสพร้อมทุกอย่างแล้ว เขาก็นำมาถวายแก่เจ้าวาสุเทวฤษี ๆ จึงสั่งให้แปลงเสนาสนะที่พักที่อาศัย แล้วให้สร้างแปงยังโรงพระราชพิธีในการอภิเษกพระนางจามเทวี ในทันใดนั้น หมู่รี้พลโยธาทั้งหลายก็กระทำการนั้นๆ ตามคำสั่งของพระฤษีทุกประการ แล้ววาสุเทวฤษีพร้อมด้วยสุกกทันตฤษีก็กระทำการพระราชพิธีอภิเษกพระนางจามเทวี ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นเจ้าเป็นใหญ่ในเมืองลพุนวันนั้นแล

ครั้นเสร็จการพระราชพิธีอภิเษกพระนางแล้ว วาสุเทวฤษีจึงเจรจากับด้วยสุกกทันตฤษีว่า ดูราสหายเราทั้งสองจัดการพระราชพิธีอภิเษกพระนางจามเทวี ให้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ในเมืองนี้ก็เสร็จสิ้นบริบูรณ์เรียบร้อยแล้ว เรามีความยินดีในการที่สหายได้ช่วยอุปการในงานครั้งนี้แก่เรา วาสุเทวฤษีกล่าวดังนั้นแล้ว ก็เอายังยัว

๒๒คำถวายแก่สุกกทันตฤษีผู้สหาย ในทันใดนั้น สุกกทันตฤษีก็สั่งอำลาวาสุเทวฤษีผู้สหายกลับไปสู่ที่อยู่แห่งตนในเมืองละโว้โพ้นวันนั้นแล

ฝ่ายว่า พระนางจามเทวีนั้นเล่า พระองค์ก็เสวยราชสมบัติเป็นนางท้าวนางไทอยู่ในเมืองลพุนสืบต่อมา แล้วพระนางทรงสร้างกุฎีวิหารทั้งหลายให้เป็นที่อยู่แก่ชาวเจ้าทั้งหลาย ๕๐๐ องค์ ที่มากับด้วยพระนางแต่เมืองละโว้โพ้น พระนางก็ทรงอุปัฏฐากเจ้าไททั้งหลายด้วยจตุปัจจัย สักการคารวะทุกวันมิได้ขาด และเมืองอันนี้ได้ชื่อว่าหริภุญไชย ก็ด้วยเหตุว่าเจ้าฤษีให้เอาทองคำมากองพูนขึ้น แล้วกระทำการอภิเษกพระนางวันนั้นแท้ไซร้

พระนางจามเทวีเสวยราชสมบัติเป็นนางพระยาได้ ๗ วัน ก็ประสูติพระราชโอรสฝาแฝด ๒ พระองค์ พระนางทรงครรภ์มาแต่เมืองละโว้โพ้น แล้วพระนางขนานพระนามพระราชโอรสผู้พี่นั้นทรงพระนามว่าเจ้ามหันตยศ ผู้น้องทรงพระนามว่าอินทวร เหตุกุมารทั้ง ๒ นั้นมีรูปร่างลักษณะงดงามเสมอกันแท้จริง

เมืองหริภุญไชยนี้สมบูรณ์ไปด้วยสมบัติข้าวของทุกประการแท้จริง มีหมู่บ้านถึง ๗,๐๐๐ บ้าน และหมู่บ้านทั้งหลายนั้นประกอบไปด้วยตระพังวังโบกขรณีทั้งหลาย เป็นที่สนุกสบายทุกๆ บ้าน บ้านน้อยทั้งหลายไม่อาจคณนานับได้ คนทั้งหลายในหมู่บ้านนั้น ๆ ประกอบด้วยศรัทธาในพระพุทธศาสนา ชักชวนกันสร้างวัดวาอารามทั้งหลายถึง ๒,๐๐๐ หลัง วัดใหญ่อันเป็นที่อยู่แห่งชาวเจ้าทั้งหลาย ที่มากับด้วยพระนางจามเทวีแต่เมืองละโว้โพ้น ที่ทรงปิฎกทั้ง ๓ ถึง ๗๐๐ องค์ เจ้าไททั้งหลายแจกจ่ายศิษย์และอนุศิษย์ทั้งหลายนั้นๆ เพื่อให้ไปรับไทยทานและสั่งสอนชาวเมือง เจริญเมตตาภาวนาในอารามทั้งหลายนั้นๆ ถึง ๒,๐๐๐ อาราม เต็มไปทั่วทุกพระอารามทุกแห่ง เจ้าไททั้งหลายที่อยู่ในเมืองละโว้ และมากับด้วยพระนางจามเทวีว่า ๕๐๐ องค์นั้น นับแต่ที่เป็นพระสังฆเถรเท่านั้นหนา หมู่สานุศิษย์ทั้งหลายนั้นไม่สามารถจะคณนานับได้ พระนางจามเทวีนำเอาพระพุทธศาสนาคือมหาเถรเจ้าทั้งหลาย ๕๐๐ องค์นั้น มาให้รุ่งเรืองในเมืองหริภุญไชยนี้แท้จริง

ครั้นต่อมาภายหลัง พระนางรับสั่งให้เลือกหาเจ้าภิกษุทั้งหลายที่ไม่แก่ไม่หนุ่ม ที่เป็นธรรมกถึกฉลาดด้วยโวหารได้ถึง ๕๐๐ องค์ ไว้สำหรับเทศนาสั่งสอนในพระอารามทั้งหลายนั้น ๆ ถึง ๒,๐๐๐ พระอารามทุกวันแท้จริง ลำดับแต่นั้นมา พระนางรับสั่งให้เลือกหายังบัณฑิตทั้งหลาย ผู้ที่ชำนิชำนาญในการสวดพระธรรมและมีเสียงอันไพเราะ ๕๐ คน ไว้สำหรับสวดพระธรรมแก่หมู่คนทั้งหลายที่ฟังสวดอยู่ในพระอารามทั้งหลาย ๒,๐๐๐ พระอารามนั้นแท้จริง

แล้วพระนางทรงจัดยังบุคคลทั้งหลายให้อยู่เป็นพวกเป็นหมู่ เป็นต้นว่าบุคคลที่มาแต่เมืองละโว้นั้น พระนางทรงจัดให้เขาอยู่รวมกันในที่แห่งเดียวในทิศหนอีศานแห่งเมืองหริภุญไชย ส่วนชาวมิคสังครนครนั้นพระนางให้เขาอยู่หนปัจฉิม ชาวนิคมนั้นๆ พระนางให้เขาอยู่หนใต้ คนทั้งหลายที่เป็นเชื้อชาติมาแต่เมืองที่คนทั้งหลายเกิดในสังเสทชะ คือเกิดในรอยเท้าสัตว์ทั้งหลาย พระนางให้เขาอยู่ในเวียงหริภุญไชยนั้นแล เมืองหริภุญไชยนี้เป็นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยหมู่ชาวเจ้าและสงฆ์ พร้อมด้วยหมู่นักปราชญ์และอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายที่มีศรัทธาเทียรย่อมให้ทานและรักษาศีลภาวนาเป็นอันมาก และเป็นที่สนุกสนานเสมอด้วยเมืองสวรรค์แท้ไซร้

ลำดับต่อมา พระนางจามเทวีตรัสสั่งให้กระทำพลีกรรมบูชาเทวดาที่รักษาเมือง แล้วภายหลังพระนางมาทรงคำนึงนึกแต่ในพระทัยว่า ลูกทั้งสองคนนี้ยังหนุ่มยังน้อยอยู่ ถ้าหากว่าข้าศึกศัตรูมาเบียดเบียนบ้านเมืองกูนี้ ใครผู้ใดอาจป้องกันอันตรายบ้านเมืองกูได้หนอ พระนางทรงคำนึงดังนี้แล้ว จึงอาราธนาเทวดาทั้งหลายว่า ดูราเทวดาทั้งหลาย ลูกข้าทั้งสองคนนี้ขอจงให้เสวยราชสมบัติที่ชอบประกอบด้วยความสวัสดี แลขอให้ได้ยังช้างม้าตัวมงคลอันมีฤทธิ์อานุภาพ อาจชะนะยังข้าศึกศัตรูทั้งหลายนั้นๆ ขอให้บังเกิดมีมาแก่ลูกข้าเทอญ

ในทันใดนั้น เทวดาทั้งหลายที่รักษาเมืองที่นั้น เมื่อได้ยินยังคำอาราธนาแห่งพระนางจามเทวีดังนั้น ก็ประชุมยังหมู่เทวดาทั้งหลายพร้อมกันแล้ว จึงกล่าวขึ้นในที่ประชุมว่า ดูราท่านทั้งหลาย พระนางจามเทวีนี้มีพระคุณแก่เราทั้งหลายยิ่งนัก บัดนี้พระนางมีความปรารถนาอยากจะได้ยังช้างมงคลตัวประเสริฐ สำหรับให้เป็นช้างทรงของพระราชโอรสในยามศึกสงคราม เราทั้งหลายควรสนองคุณ นำเอายังช้างตัวประเสริฐมาถวายแก่พระนางแท้จริง เมื่อเทวดาทั้งหลายประชุมตกลงเห็นพร้อมกันดังนั้นแล้ว จึงรำพึงหาช้างตัวที่ควรจะนำมาถวายแก่พระนาง จึงเห็นยังช้างตัวหนึ่ง ประกอบด้วยลักษณะบริบูรณ์ทุกประการ มีตัวขาวประดุจดังเงินเลียง

๒๓ และมีงาทั้งสองเขียว เดินเคียงไปด้วยกับหมู่ช้างโขลงทั้งหลาย ในที่ใกล้ตีนดอยอ่างสรงโพ้น ทันใดนั้นเทวดาจึงบันดาลเข้าดลใจช้างตัวนั้น ให้พลัดออกจากโขลง แล้วหันหน้าไปสู่ทิศหนใต้ เหมือนดังจักมาสู่ที่อยู่แห่งเทวดาที่รักษาเมือง แล้วก็บันดาลให้ฝนตกลงมา ๗ วัน ๗ คืน ช้างตัวนั้นก็เดินไปตามริมแม่ระมิง มาถึงทิศหนเหนือเมืองหริภุญไชยนี้ นัยหนึ่งว่า พระนางจามเทวีให้ไปขอช้างตัวนี้มาจากพระวาสเทวฤษี อย่างนี้ก็ว่า เมื่อคนทั้งหลายได้เห็นยังช้างตัวประเสริฐอยู่ในป่าที่นั้น เขาก็นำข่าวสาส์นเข้าไปกราบทูลพระนางจามเทวี เมื่อพระนางได้ทรงทราบในข่าวสาส์นว่า ช้างมงคลมาอยู่ในที่นั้น พระนางทรงระลึกถึงการที่พระองค์ได้อาราธนาเทวดาวันนั้น พระนางทรงปีติยินดียิ่งนัก จึงตรัสสั่งให้อำมาตย์ทั้งหลายจัดเครื่องบูชา เป็นต้นว่าข้าวตอกดอกไม้และเครื่องดุริยดนตรีไปแห่ห้อมรับเอาช้างตัวนั้นมาไว้ในป่าไม้ยางที่นั้นก่อน แล้วตรัสสั่งให้สร้างโรงช้างนั้นไว้ภายหนอีศาน ประดับประดาเพดานด้วยผ้าและม่านกั้น และให้ตกแต่งยังเครื่องประดับช้างมงคลตัวนั้น ให้แล้วด้วยทองคำและแก้วงดงามยิ่งนัก ประดุจดังเครื่องประดับพระยาช้างแก้วปัจจัยนาเคนทร ช้างของพระยาเวสสันตรนั้นแท้จริง ครั้นตกแต่งเสร็จแล้วพระนางจึงตรัสสั่งให้นำเอาช้างตัวนั้นเข้ามาสู่โรงวันนั้นแล

ในทันใดนั้น พระนางตรัสสั่งให้หายังนักปราชญ์ผู้ที่รู้ในการนั้นๆ มาพิจารณาหายังวันคืนนักขัตฤกษ์บาทฉายานาฑีที่ดี แล้วจึงให้นำเอายังเครื่องประดับไปประดับช้างตัวนั้น แล้วให้มีการมหรสพสมโภช ๓ คืน ๓ วันนั้นแล ช้างตัวนั้นมีฤทธาศักดานุภาพมากนัก ครั้นถึงเวลาตะวันเที่ยงบุคคลผู้ใดมายืนอยู่ฉะเพาะหน้าช้างตัวนั้น ก็บังเกิดเป็นอันเป็นไปต่างๆ ประดุจดังว่าจะสิ้นชีวิตลงในเวลานั้น ถ้าหากว่าบุคคลผู้นั้นได้กระทการบวงสรวงสักการด้วยข้าวตอกดอกไม้จึงจะหาย

ลำดับแต่นั้นมา พระนางจามเทวี พระองค์คอยสั่งสอนเสนาอำมาตย์ราชมนตรีและหมู่ทวยราษฎรทั้งหลาย ให้ชอบด้วยทศพิธราชธรรม ทศพิธราชธรรมนั้นให้พึงรู้ดังนี้ ทานํ สีลํ ปริจาคํ เป็นต้น อธิบายว่า กุศลธรรมทั้งหลาย ๑๐ นี้ นักปราชญ์เจ้าทั้งหลายกล่าวว่า เป็นจารีตแห่งท้าวพระยามาแต่ก่อน เป็นต้นว่าให้ข้าวของสมบัติแก่ท่านผู้หาสุขไม่ได้ ๑ เป็นผู้ตั้งอยู่ในเบญจศิลโดยเที่ยงแท้ ๆ เป็นผู้บริจาคทานในแก้วทั้งสาม ๑ มีทิฏฐิซื่อด้วยปากด้วยใจด้วยกาย ๑ มีใจอ่อนน้อมในท่านผู้อื่นด้วยมุทิตา ๑ เป็นผู้กระทำเพียรให้ร้อนแก่บาป ๑ เป็นผู้มีเมตตาในสัตว์ทั้งหลาย ๑ และเป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ๑ เป็นผู้มีขันติความอดกลั้นในใจ ๑ และเป็นผู้ไม่กระทำให้ผิดใจแก่ท่านผู้อื่น ๑ ข้อปฏิบัติทั้ง ๑๐ ประการนี้ มีแก่ท้าวพระยาองค์ใด ท้าวพระยาองค์นั้นเทียรย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ได้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมแท้จริง พระนางจามเทวีพระองค์ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมทั้งหลาย ๑๐ นี้แท้จริง

ในครั้งนั้นยังมีขุนลัวะ

๒๔ผู้หนึ่งมีนามว่าวิลังคราช เป็นใหญ่กว่าลัวะทั้งหลาย ได้ยินข่าวสาส์นว่า พระนางจามเทวีมีพระรูปลักษณะงดงามยิ่งนัก ขุนลัวะผู้นั้นมีใจรักใคร่ในพระนางยิ่งนัก มันก็ใช้ยังขุนอำมาตย์ผู้หนึ่งพร้อมด้วยบริวารอีก ๕๐๐ คน ให้นำเครื่องบรรณาการของฝาก ๕๐๐ แซก
๒๕แท้จริง มาถวายแก่พระนางจามเทวีแล้วกราบทูลข่าวสาส์นที่ขุนวิลังคราชใช้มานั้น กราบทูลแก่พระนางว่า ข้าแต่มหาราชเทวีเป็นเจ้า ขุนแห่งตูข้ามีนามว่าวิลังคราชที่อยู่ทิศระหว่างดอยละวะโพ้น เป็นใหญ่กว่าตูข้าและหมู่ลัวะทั้งหลายด้วยแส้ง
๒๖ ใช้ให้ตูข้าทั้งหลายนำเครื่องบรรณาการมาถวายพระนางบัดนี้ โดยเหตุที่ขุนวิลังคราชมีความรักใคร่ในพระแม่เทวีเป็นเจ้าไปเป็นอัครมเหษีแท้จริง เมื่อพระนางจามเทวีทรงทราบในข่าวสาส์นดังนั้นจึงตรัสว่า ดูราท่านอำมาตย์ เราไปได้เห็นขุนสูแม้แต่สักหนเดียวเลยหนา ขุนผู้นั้นรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างใดเล่า อำมาตย์ผู้นั้นจึงทูลว่า ขุนแห่งตูข้านั้นรปร่างหน้าตาก็เหมือนดังตูข้านี้แหละ แล้วพระนางจึงตรัสว่า ผิว่าขุนแห่งสูมีหน้าตาเหมือนดังสูนี้แท้ อย่าว่าแต่มาเป็นผัวกูเลย แม้แต่มือกูก็ไม่ควรจักให้ถูกต้องดอกหนา สูจงลงหนีไปจากเรือนกูเดี๋ยวนี้ พระนางจามเทวีขับไล่ลัวะอำมาตย์คนใช้ ให้ลงหนีไปจากเรือนดังนั้น ลัวะอำมาตย์ผู้นันก็รีบลงหนีจากพระราชเรือนหลวงทันที แล้วมันจึงมาคำนึงแต่ในใจว่า เรารับใช้มาก็หวังว่าจะได้รับซึ่งความดี บัดนี้ก็มาได้รับแต่คำอันร้ายไปสู่เจ้ากูแท้หนอ แล้วก็นำความอันนั้นไปบอกแก่ขุนวิลังคราช ๆ ได้ทราบความจากอำมาตย์ดังนั้น ก็บังเกิดซึ่งความโกรธขึ้นมาทันที จึงสั่งให้เตรียมรี้พลเสนามีประมาณ ๘๐,๐๐๐ คน ยกลงมาแต่เมืองวิลังคะ มาตั้งทัพอยู่ที่ทุ่งนาเต็มไปทั้ง ๓ ทุ่ง คนทั้งหลายจึงเรียกที่นั้นว่าสามทุ่งต่อทิมมาจนบัดนี้

เมื่อขุนวิลังคราชยกทัพมาตั้งอยู่ที่นั้น จึงแต่งยังคนใช้ให้นำข่าวสาส์นไปถึงพระนางจามเทวีด้วยโวหารลัวะว่า มึงนางจักมาเป็นเมียกูแท้นั้นก็ให้รู้ บ่มาก็ให้รู้แท้แล เมื่อพระนางได้ทรงทราบจากคนใช้ขุนวิลังคราชดังนั้น พระนางจึงรับสั่งกับด้วยคนใช้นั้นว่า ดูราท่านคนใช้กูจักไปเป็นเมียแห่งสูนั้นเป็นไปไม่ได้และไม่สมควรแท้จริง สูจงลงหนีไปจากเรือนกูเดี๋ยวนี้ แล้วสูจงไปบอกขุนสูทั้งหลายเทอญ ลัวะคนใช้ก็ออกหนีไปทันที

ในทันใดนั้น พระนางจามเทวีจึงตรัสสั่งอำมาตย์ทั้งหลาย ให้เร่งไพร่พลเสนาประดับพระยาช้างมงคล แล้วให้เจ้ามหันตยศขี่คอช้าง ให้เจ้าอินทวรอยู่ท่ามกลาง ให้นายควาญช้างขี่ท้ายช้าง เจ้ามหันตยศเสด็จยาตราไปกับด้วยหมู่รี้พล ผินพระพักตร์เฉพาะหมู่ลัวะทั้งหลาย ดูองอาจประดุจดังราชสีห์ฉะนั้น ทันใดนั้นหมู่ลัวะทั้งหลาย เมื่อเขาได้เห็นขา

๒๗เจ้าทั้งสองพี่น้อง ขี่คอช้างมงคลตัวประเสริฐ เสด็จมาด้วยยศบริวารดังนั้น เขาก็มีความสะดุ้งตกใจกลัวยิ่งนัก ไม่สามารถจะทรงตนอยู่ได้ ก็ละทอดทิ้งเครื่องศาสตราอาวุธเสียสิ้น เป็นต้นว่าหอกดาบทั้ง ๘๐,๐๐๐ ก็ทิ้งอยู่ในที่นั้น แม้แต่เสื้อผ้าที่นุ่งห่มอยู่ในตัวก็ถอดทิ้งเสียสิ้น เหลืออยู่แต่ผ้าต้อย
๒๘ติดตัวกลับไปสู่ที่อยู่แห่งตน ๆ วันนั้นแล

ครั้นต่อมาเมื่อภายหลัง ชาวเมืองก็ป่าวร้องกันออกไปเก็บเอาเครื่องศาสตราอาวุธ ที่ลัวะทอดทิ้งนั้นมาเป็นอันมากต่อมาก ขาเจ้าทั้งสองพี่น้องเมื่อได้มีไชยชนะแก่หมู่ลัวะดังนั้นแล้ว ก็เสด็จกลับคืนสู่พระนครวันนั้นแล

ครั้งนั้น พระนางจามเทวีผู้พระราชมารดา มีพระทัยปรารถนาจะใคร่อภิเษกเจ้ามหันตยศพระราชกุมาร ที่มีพระชนมายุ ๗ ขวบ ให้ขึ้นครองราชสมบัติ จึงตรัสสั่งให้เสนาอำมาตย์ราชปุโรหิต ให้ตกแต่งยังเครื่องที่จะอภิเษกเจ้ามหันตยศ เป็นต้นว่าเศวตฉัตรพัชนีจามรและมงกุฎทองคำดาบด้ำแก้ว และฉลองพระบาททองคำให้พร้อมทุกประการ แล้วให้ประชุมเสนาอำมาตย์ราชมนตรีและหมู่พราหมณ์พร้อมแล้ว พระนางจึงตรัสสั่งให้จัดการพระราชพิธีมงคลอุสสาภิเษกเจ้ามหันตยศขึ้นเป็นพระยาเสวยราชสมบัติ และให้มีการมหรสพสมโภชสิ้น ๗ วัน ๗ คืน ครั้นต่อมาภายหลังพระก็ให้อภิเษกเจ้าอินทวรให้เป็นอุปราชาอีกเล่า พระนางจามเทวีเสด็จมาเป็นนางพระยาเสวยราชสมบัติได้ ๗ ปี แล้วพระนางปลงสมบัติให้แก่เจ้ามหันตยศวันนั้นแล

ลำดับต่อมา เจ้าอินทวรทรงคำนึงแต่ในพระทัยว่า พี่กูได้เสวยราชสมบัติเป็นพระยาแล้ว แม้กูก็ใคร่เป็นพระยาดังพี่กูนั้นแท้จริง เธอทรงคำนึงดังนี้แล้ว จึงกราบทูลกับด้วยพระราชมารดาว่า ข้าแต่พระแม่เทวีเป็นเจ้า พี่ผู้ข้าน้อยก็ดี ข้าน้อยก็ดี เกิดในท้องพระแม่เจ้าทั้งสอง คลอดก็คลอดจากท้องพระแม่เจ้าทั้งสองพร้อมกันแท้จริง และบัดนี้พี่ข้าน้อยก็ได้เป็นพระยาแล้วนั้น แม้ตัวข้าน้อยก็มีความปรารถนาเป็นพระยาดังพี่ข้าน้อยในมืองอีกเมืองหนึ่งแท้จริง

ในขณะนั้น พระนางจามเทวีพระราชมารดาได้ทรงสดับถ้อยคำของเจ้าอินทวรพระราชโอรสดังนั้น พระนางจึงตรัสว่า ดูราเจ้าลูกรักของแม่ ถ้อยคำที่เจ้ากล่าวกับแม่นี้แม่ก็เห็นสมควรยิ่งนัก ถึงเช่นนั้นก็ดี เรานี้ได้มาอยู่ในมืองหริุญไชยนี้ ก็ด้วยเหตุเจ้าวาสุเทวฤษีดอกหนา เหตุดังนี้เจ้ามีความปรารถนาดังนั้นแท้ แม่จะให้เจ้าไปไหว้กราบเรียนเจ้าวาสุเทวฤษีดูก่อน พระนางจามเทวีตรัสกับด้วยเจ้าอินทวรดังนี้แล้ว พระนางจึงรับสั่งให้มหาบัณฑิตผู้ฉลาดด้วยโวหารเข้ามาเฝ้า แล้วพระนางตรัสกับด้วยบัณฑิตนั้นว่า ดูราท่านบัณฑิต ท่านจงนำเอาถ้อยคำของเราแม่ลูกนี้ไปไหว้กราบเรียนพระวาสุเทวฤษีว่า ข้าแต่พระวาสุเทวฤษี บัดนี้นางจามเทวีแส้งใช้ให้ข้าน้อยมาไหว้กราบเรียนปฏิบัติเจ้ากูตนมีบุญว่า ข้าแต่เจ้าฤษีตนอุดม เจ้ากูใช้ให้คนไปขอเอาผู้ข้ามาแต่สำนักพ่อผู้ข้าพระยาละโว้โพ้น ให้มาเป็นนางพระยาเสวยราชสมบัติในเมืองหริภุญไชยนี้ และผู้ข้าได้มาเป็นนางพระยาอยู่ในพระนครนี้นั้น ยังมีขุนลัวะผู้หนึ่งมีนามว่าวิลังคราช นำเอารี้พลโยธามาตั้งทัพอยู่นอกพระนครถึง ๘๐,๐๐๐ พร้อมด้วยหอกดาบแท้จริง เพื่อจักมารบเอาตูข้า ลูกข้าน้อยทั้งสองนี้ก็นำเอารี้พลโยธาออกไปรบกับขุนวิลังคราช ๆ ก็พ่ายหนีไปวันนั้นแล ครั้นกาลต่อมาข้าน้อยก็ได้จัดการอภิเษกลูกข้าน้อยผู้พี่คือเจ้ามหันตยศ ให้ เป็นพระยาครองเมืองหริภุญไชยนี้ ส่วนเจ้าอินทวรผู้น้องนั้น ข้าน้อยก็มีความปรารถนาอยากจะให้ได้เป็นพระยาดีงพื่ตน ข้าน้อยจึงได้เรียนปฏิบัติมาถึงพระฤษีเจ้าตนอุดมดังนี้ ท่านบัณฑิตจงนำเอาถ้อยคำของเราไปเรียนปฏิบัติพระวาสุเทวฤษีดังนี้เทอญ

ครั้นราชบัณฑิตได้รับ ๆ สั่งดังนั้นแล้ว ก็นำไปไหว้เรียนปฏิบัติแก่พระวาสุเทวฤษี ในดอยอุจฉุบรรพตตามรับสั่งของพระนางทุกประการนัน

แล

ในทันใดนั้น วาสุเทวฤษีเมื่อได้ยินรับสั่งของพระนางใช้คนมาบอกดังนั้น วาสุเทวฤษีจึงเจรจากับด้วยราชบัณฑิตนั้นว่า ดูราราชบัณฑิต ท่านจงกลับไปกราบทูลพระนางแม่ลูกทั้งสามเถิดว่า ผิว่าเจ้าอินทวรกุมารมีพระประสงค์ดังนั้นแท้ ยังมีดอยๆ หนึ่งชื่อว่าโชติบรรพตมีอยู่ทิศหนตะวันออกแห่งเมืองหริภุญไชยเรานี้ แต่นั้นไปยังมีดอยลูกหนึ่งชื่อชุหบรรพตอยู่ใกล้แม่น้ำสารนที และยังมีฤษีตนหนึ่งชื่อพุทธชฎิลอยู่ในดอยลูกนั้น แล้วให้เจ้าอินทวรไปไหว้เรียนปฏิบัติฤษีตนนั้นก่อนจึงไป ต่อแต่นั้นไปถึงมีดอยอีกลูกหนึ่งชื่อลุทธบรรพต และมีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อเขลางค์อยู่ในดอยลูกนั้น ให้เจ้าอินทวรไปบอกแก่พราหมณ์ผู้นั้น แล้วให้พราหมณ์ผู้นั้นนำไป แล้วบอกจากนั้นไปยังมีดอยอีกลูกหนึ่งชื่อดอยเขางาม ที่ใกล้ริมแม่น้ำวังกะทิ ยังมีฤษีตนหนึ่งชื่อสุพรหมฤษีอยู่ในที่นั้น แล้วจึงให้เจ้าอินทวรไปไหว้เรียนปฏิบัติสุพรหมฤษีตนนั้น แล้วให้ขอเอาราชสมบัติในสำนักพระฤษีตนนั้นเทอญ วาสุเทวฤษีสังความแก่ราชบัณฑิต ให้นำความมากราบทูลให้พระนางทรงทราบดังนั้น

ฝ่ายราชบัณฑิต เมื่อได้รับคำจากพระฤษีดังนั้นแล้ว ก็กราบลากลับคืนมาสู่เมืองหริภุญไชย แล้วจึงนำความเข้าไปกราบทูลพระนางจามเทวี เมื่อพระนางได้ทอดพระเนตรเห็นราชบัณฑิตเข้ามาดังนั้น จึงรับสั่งให้หาเจ้าอินทวรเข้ามา แล้วราชบัณฑิตก็กราบทูลตามคำที่พระวาสุเทวฤษีสั่งมา ให้พระนางพร้อมด้วยเจ้าอินทวรพระโอรสทราบทุกประการ ขาทั้งสองแม่ลูกทรงปีติยินดียิ่งนัก

ในทันใดนั้น เจ้าอินทวรเมื่อได้ทรงทราบข่าวสาส์น ที่วาสุเทวฤษีสั่งมาดังนั้น ก็ทรงจัดเอายังบริวารที่รุ่นเสมอด้วยพระองค์ได้แล้ว ก็เข้าไปกราบทูลลาสมเด็จพระราชมารดาและเจ้ามหันตยศพระเชษฐา แล้วพาบริวารเสด็จออกไปโดยลำดับจนถึงพุทธชฎิลฤษี แล้วเข้าไปไหว้กราบเรียนเหตุนั้นๆ ให้เจ้าฤษีทราบทุกประการ ขณะนั้นพุทธชฎิลฤษี เมื่อได้ทราบในเหตุการณ์ที่เจ้าอินทวรกุมารบอกดังนั้น พระฤษีก็ชี้บอกหนทางที่จะไปสู่ที่อยู่พราหมณ์เขลางค์นั้น ให้แก่เจ้าอินทวรกุมาร ๆ ก็เสด็จไปตามทางที่พระฤษีบอกนั้น จนถึงที่อยู่แห่งพราหมณ์เขลางค์ ครั้นถึงแล้วเจ้าอินทวรกุมารก็บอกความประสงค์นั้น ๆ แก่พราหมณ์เขลางค์ แล้วก็ประทานข้าวของให้แก่พราหมณ์ตามสมควรแล้ว พราหมณ์เขลางค์ก็นำเจ้าอินทวรกุมารไปสู่ที่อยู่สุพรหมฤษี ครั้นไปถึงแล้วเจ้าอินทวรกุมารก็เสด็จเข้าไปนมัสการพระฤษี แล้วก็ประทับอยู่ในที่อันสมควร ทันใดนั้น พระฤษีจึงทูลเหตุการณ์ที่เสด็จมาแด่เจ้าอินทวรกุมาร ๆ จึงไหว้เรียนปฏิบัติดังที่ได้กราบทูลขอแด่พระราชมารดาและพระวาสุเทวฤษี ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นโพ้น สุพรหมฤษีเมื่อได้สดับถ้อยคำนั้นๆ จากเจ้ากุมารดังนั้นก็เข้าใจในถ้อยคำนั้นๆ ได้ดีทุกประการ แล้วสุพรหมฤษีจึงทูลเจ้าอินทวรกุมารว่า ดูราเจ้ากุมารเจ้ามีพระประสงค์อย่างใด เราก็จะให้แก่เจ้าสมพระประสงค์ทุกประการ สุพรหมฤษีทูลดังนั้นแล้วก็ลงจากที่อยู่มากับด้วยพราหมณ์เขลางค์ แล้วเจ้าฤษีก็มาพิจารณาดูยังสถานที่แห่งหนึ่ง อยู่ในที่ใกล้แม่น้ำเป็นที่สนุกสนานยิ่งนัก สุพรหมฤษีก็เนรมิตให้เป็นเมืองอันหนึ่งใหญ่ พร้อมด้วยพราหมณ์เขลางค์วันนั้นแล เหตุดังนั้นเมืองอันนั้นจงได้ชื่อว่าเขลางคนครด้วยเหตุนั้นแล

ลำดับนั้น สุพรหมฤษีซ้ำเนรมิตบ้านใหญ่ ๆ ทั้งหลาย ให้เป็นบริวารสำหรับเมืองนั้น เต็มไปด้วยผู้คนและทรัพย์สินเงินทองพร้อมบริบูรณ์ทุกประการ แล้วสุพรหมฤษีก็มอบเวรพระนครนั้นถวายแก่เจ้าอินทวร ๆ ก็ขึ้นเสวยราชสมบัติ เป็นท้าวพระยาอยู่ในเมืองเขลางคนครที่นั้น

เมื่อเจ้าอินทวรได้เสวยราชสมบัติแล้วนั้น พระองค์มารำพึงถึงพระราชมารดา อยากจะใคร่ให้พระราชมารดาเสด็จมาทอดพระเนตรบ้านเมืองและราชสมบัติของพระองค์ กับทั้งปรารถนาอยากจะให้พระราชมารดาได้สรงน้ำดำเศียรในเมืองเขลางคนครนี้ด้วย จึงตรัสเรียกยังอำมาตย์ผู้หนึ่งให้เข้ามาเฝ้า ครั้นอำมาตย์ผู้นั้นเข้ามาเฝ้าแล้วจึงตรัสกับอำมาตย์ผู้นั้นว่า ดูราท่านอำมาตย์ ท่านจงนำข่าวสาส์นของเรานี้ไปถวายสมเด็จพระราชมารดายังเมืองหริภุญไชยโพ้น แล้วท่านจงกราบทูลพระราชมารดาว่าดังนี้ ข้าแต่มหาราชเทวีเป็นเจ้า บัดนี้ พระราชโอรสพระแม่เจ้า ทรงนามว่าอินทวร พระองค์ได้เสวยราชสมบัติเป็นพระยา อยู่ในเมืองเขลางคนครโพ้น พระองค์มีพระประสงค์เป็นอันใหญ่ยิ่ง ขอเชิญพระมหาเทวีเป็นเจ้าเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรเมืองเขลางคนคร ซึ่งสุพรหมฤษีเนรมิตถวายแก่พระยาอินทวรพระราชโอรส พร้อมด้วยบ้านใหญ่น้อยและหมู่รี้พลโยธาทั้งหลายเป็นอันมาก พระองค์มีพระประสงค์ดังนี้ จึงรับสั่งใช้ให้ข้าพระพุทธเจ้า มากราบทูลบาทยุคลมหาเทวีเป็นเจ้า ขอมหาเทวีเป็นเจ้าจงเสด็จไปทอดพระเนตรบ้านเมืองและราชสมบัติของลูกด้วยเทอญ

เมื่อพระยาอินทวรตรัสสั่งอำมาตย์ดังนี้แล้ว ทรงมอบพระราชสาส์นพร้อมทั้งเครื่องราชบรรณาการ ให้แก่อำมาตย์นำไปถวายสมเด็จพระราชมารดายังเมืองหริภุญไชย ฝ่ายอำมาตย์เมื่อได้รับพระราชสาส์นพร้อมด้วยเครื่องราชบรรณาการดังนั้นแล้ว ก็กราบถวายบังคมลาไปสู่เมืองหริภุญไชย

ครั้นไปถึงเมืองหริภุญไชยแล้ว ก็น้อมนำยังเครื่องราชบรรณาการและพระราชสาส์น เข้าไปถวายพระนางจามเทวี เมื่อพระนางได้ทรงทราบในข่าวสาส์นดังนั้น พระนางทรงพระปีติปราโมทย์ยิ่งนัก และพระนางพอพระทัยในการที่จะได้เสด็จไปทอดพระเนตรบ้านเมืองและราชสมบัติของพระราชโอรสด้วย พระนางจึงนำข่าวสาส์นอันนั้นไปบอกแก่เจ้ามหันตยศ พระเชษฐาเจ้าอินทวรให้ทรงทราบด้วย

เจ้ามหันตยศ เมื่อได้ทรงทราบข่าวสาส์นจากพระราชมารดาว่า เจ้าอินทวรอนุชาได้เป็นพระยา เสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองเขลางคนครดังนั้น พระองค์ก็ทรงปีติยินดีกับด้วยพระอนุชายิ่งนัก ถึงแม้ว่าพระราชมารดาพอพระทัยจะเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรบ้านเมืองตามคำเชื้อเชิญของพระอนุชาดังนั้น พระองค์ทรงพอพระทัยและทรงยินดี ในการที่พระราชมารดาเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง

ทันใดนั้น สมเด็จพระมหาราชเทวีจึงตรัสสั่งให้อำมาตย์ตระเตรียมการที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปเมืองเขลางคนครไว้ให้พร้อมสรรพ อำมาตย์ก็จัดการตามรับสั่งทุกประการ แล้วพระนางก็เสด็จพระราชดำเนินออกจากพระนครหริภุญไชย พร้อมด้วยไพร่พลเสนาโยธาแห่ห้อมเป็นบริวาร ไปสู่เมืองเขลางคนครโดยลำดับ

ฝ่ายว่าพระยาอินทวร เมื่อได้ทรงทราบข่าวว่า พระราชมารดาเสด็จพระราชดำเนินมาดังนั้น พระองค์ก็เสด็จออกไปต้อนรับพระราชมารดา พร้อมด้วยหมู่อำมาตย์ราชบริพารเป็นอันมาก ณ ท่ามกลางทางแห่ห้อมพระราชมารดาเข้ามาสู่พระนครวันนั้นแล เมื่อพระนางจามเทวีเสด็จเข้าสู่พระนคร ทอดพระเนตรเห็นบ้านเมืองบริบูรณ์ไปด้วยโภคสมบัติ พระนางทรงปีติยินดียิ่งนัก จึงตรัสสั่งอำมาตย์ทั้งหลายให้จัดการพระราชพิธี อภิเษกเจ้าอินทวรให้พร้อมสรรพ แล้วพระนางก็ตรัสสั่งให้ประชุมเสนาอำมาตย์ราชปุโรหิตาจารย์ทั้งหลายมาให้พร้อม แล้วพระนางก็อภิเษกเจ้าอินทวรพระราชโอรสให้เป็นพระยา เสวยราชสมบัติในเมืองเขลางคนคร และให้มีการมหรสพสมโภช ๗ วัน ๗ คืน ครั้นเสร็จการพระราชพิธีอภิเษกแล้ว พระนางจามเทวีทรงรำพึงถึงพระคุณสุพรหมฤษี ผู้ที่เนรมิตเมืองให้แก่เจ้าอินทรพระราชโอรส พระนางเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการสุพรหมฤษีบนยอดดอยเขางาม แล้วพระนางตรัสกับด้วยสุพรหมฤษีตามสมควร สุพรหมฤษีทูลว่า ดูรามหาเทวี พระราชโอรสของพระองค์มาขอราชสมบัติบ้านเมืองแก่อาตมา ๆ ก็ได้จัดถวายตามพระประสงค์ทุกประการแล้ว ทันใดนั้นพระนางจามเทวีจึงตรัสว่า ข้าแต่เจ้าฤษีตนอุดม ข้าน้อยมีความยินดีในพระคุณของเจ้ากูยิ่งนัก ขอเจ้ากูจงเจริญด้วยสวัสดีทีฆายุได้เป็นที่พึ่งแก่ตูข้าน้อยทั้งหลายเทอญ พระนางจามเทวีตรัสกับด้วยพระฤษีดังนี้แล้ว ก็นมัสการลาพระฤษี เสด็จพระราชดำเนินมาสู่เมืองเขลางคนครวันนั้นแล

ครั้งนั้น พระยาอินทวรพระองค์ทรงระลึกถึงพระคุณพระราชมารดายิ่งนัก มีพระทัยใคร่จะตอบแทนพระคุณพระราชมารดา จึงตรัสสั่งยังหมู่เสนาอำมาตย์ทั้งหลายให้สร้างมณฑปขึ้นหลังหนึ่ง ประดับประดาด้วยผ้าเพดานวิจิตรงดงามยิ่งนัก และให้ตกแต่งเป็นที่สรงน้ำดำเศียรไว้ในที่นั้นให้พร้อมสรรพ แล้วพระยาอินทวรก็ทูลเชิญอาราธนาสมเด็จพระราชมารดา ขึ้นประทับในมณฑปที่นั้น สะสรงสมเด็จพระราชมารดาด้วยน้ำอบ น้ำหอม จวงจันทน์สุคันธรส และประโคมด้วยเครื่องดุริยดนตรี กับทั้งให้ตีกลองอุ่นเมืองด้วย เป็นที่สนุกสนานยิ่งนัก พระนางจามเทวีสรงน้ำดำเศียรทรงสำราญแล้ว พระยาอินทวรทรงนำมาซึ่งโภชนาหารของเสวย ถวายสมเด็จพระราชมารดา แล้วทรงนำมายังเครื่องอลังการผ้าผ่อน ม้าว

๒๙ใส่แขวนแหวนใส่ก้อยกุณฑลและจัก
๓๐เกล้า ถวายพระราชมารดาให้พร้อมสรรพ

ลำดับแต่นั้นมาพระยาอินทวรตรัสสั่งให้อำมาตย์ตกแต่งพระตำหนักที่ประทับ สำหรับพระราชมารดาในที่แห่งหนึ่ง ในสถานที่นั้นจึงได้เรียกชื่อว่าลำพางมาตราบเท่าถึงกาลบัดนี้แล

พระนางจามเทวีประทับอยู่ในเมืองเขลางคนคร ๖ เดือน แล้วพระนางเสด็จกลับมาสู่เมืองหริภุญไชย เมื่อพระนางจามเทวีเสด็จมาถึงพระนครได้ ๗ วัน พระนางทรงพระประชวรด้วยพยาธิก็สวรรคต บางอาจารย์ก็ว่าพระนางมาถึงพระนคร ๒ เดือนจึงสวรรคตอย่างนี้ก็ว่า

ครั้งนั้น พระยามหันตยศพระองค์ทรงจัดการพระศพพระราชมารดา ตรัสสั่งให้อำมาตย์สร้างพระเมรุในป่าไม้ยางแห่งหนึ่ง แล้วถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระราชมารดา ครั้นเสร็จการถวายพระเพลิงแล้ว ก็แห่พระอัฐิพระนางเลียบมาหนตะวันออกเวียง ก่อพระเจดีย์บรรจุพระอัฐิไว้ภายในเวียงหริภุญไชย พระเจดีย์องค์นั้นจึงได้เรียกว่าสุวรรณเจดีย์จังโกฏและบรรจุยังเครื่องประดับของพระนางไว้ในที่นั้นด้วย เป็นต้นว่า ซ้องแลหวีรองไว้ภายใต้พระอัฐิ พร้อมทั้งงาพระยาช้างมงคลที่ล้มไปแล้วนั้น พระยามหันตยศพระองค์เอางาพระยาช้างมงคลทั้ง ๒ ข้างมาบรรจุไว้ภายใต้รองเครื่องประดับองค์พระราชมารดานั้นด้วย

ตั้งแต่กาลนั้นมา เจ้ามหันตยศเสวยราชสมบัติ พระองค์ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ทรงสั่งสอนเสนาอำมาตย์และทวยราษฎรมิให้ผิดจารีตโบราณ พระองค์มีพระชนมพรรษา ๘๐ ปีบริบูรณ์เสด็จสวรรคต พระยามหันตยศมีพระราชโอรสองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่ากุมัญชะ ๆ ได้เสวยราชสมบัติเป็นพระยาแทนพระราชบิดาสืบสันตติวงศ์ต่อไป

ฝ่ายว่า พระยาอินทวรพระองค์เสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองเขลางคนครโพ้น พระองค์ประชวรด้วยพระโรคก็สวรรคต อำมาตย์ทั้งหลายก็พร้อมกันจัดการถวายเพลิง แล้วนำเอาพระอัฐิมาก่อพระเจดีย์บรรจุไว้ในป่าไม้ยาง ในเมืองหริภุญไชยนั้นแล

ส่วนพระยากุมัญชะพระราชโอรสพระยามหันตยศ พระองค์เสวยราชสมบัติในเมืองหริภุญไชยได้ ๔๐ ปีก็สวรรคต ลำดับแต่นั้นมา พระยารุทันตะพระราชบุตรพระยากุมัญชะ ได้เสวยราชสมบัติในเมืองหริภุญไชยได้ ๒๗ ปีก็สวรรคต ลำดับต่อมา พระยาสุวรรณมัญชุพระราชบุตรพระยารุทันตะ ได้เสวยราชสมบัติในเมืองหริภุญไชยได้ ๓๐ ปี ต่อจากนั้นมา พระยาสังสาระพระราชบุตรพระยาสุวรรณมัญชุ ได้เสวยราชสมบัติในเมืองหริภุญไชยสืบต่อมาได้ ๑๐ ปี ลำดับจากนั้นมา พระยาปทุมพระราชบุตรพระยาสังสาระ ได้เสวยราชสมบัติในเมืองหริภุญไชยได้ ๓ ปี แล้วพระยากุลเทวะพระราชบุตรพระยาปทุม ได้เสวยราชสมบัติในเมืองหริภุญไชยสืบต่อมาได้ ๗ ปี พระยามหาราชาอยู่เมืองยัสสปาลนครมาชิงเอาเมืองหริภุญไชยได้ พระยายัสสปาลนครขึ้นครองราชสมบัติในเมืองหริภุญไชยได้ปีหนึ่ง

ยังมีพระยาองค์หนึ่งมีนามว่ามิลักขรยะ ยกพลโยธามาชิงเอาเมืองหริภุญไชยจากพระยายัสสปาลนครได้ พระยามิลักขรยะก็ขึ้นครองราชสมบัติในเมืองหริภุญไชยได้เดือนหนึ่ง

ครั้งนั้น พระยากุลเทวะพระองค์รวบรวมไพร่พลโยธาได้แล้ว พระองค์ก็ยกเข้ามาชิงเอาราชสมบัติ พระองค์มีไชยชนะได้ราชสมบัติในเมืองหริภุญไชย พระองค์ขึ้นครองราชสมบัติเป็นครั้งที่ ๒ ได้ ๑ ปี กับ ๓ เดือน พระยากุลเทวะก็สวรรคต ลำดับแต่นั้นมา พระยาตัคคราชขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อมาได้ ๔ ปี กับ ๗ เดือน แล้วพระยาตระราช

๓๑ขึ้นครองราชสมบัติต่อมาได้ ๑๐ ปีกับ ๒ เดือน ๑๕ วัน ก็สวรรคต ลำดับแต่นั้นมา พระยาคุตตราชได้ขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อมาได้ ๑๔ ปีกับ ๒ เดือน ๑๕ วัน ก็สวรรคต พระยาสละราช
๓๒ได้ขึ้นครองราชสมบัติต่อได้ ๓ ปี ก็สวรรคต แล้วพระยาโรราช
๓๓ได้ขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อมาได้ ๖ เดือน ลำดับต่อแต่นั้นมา พระยากัลยาได้ขึ้นครองราชสมบัติต่อมาได้ ๒ ปีกับ ๓ เดือน แล้วพระยามุตตราชก็ได้ขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อมาได้ ๒ ปีกับ ๓ เดือน แล้วพระยาพกราชได้ขึ้นครองราชสมบัติในเมืองหริภุญไชย แกล้วหาญนัก พาเอาหมู่รี้พลโยธาไปตั้งทัพอยู่เมืองละโว้โพ้น เพื่อจักรบเอายังเมืองละโว้ พระยาอุจจิตตะจักรวรรติก็ยกพลโยธาออกจากพระนคร เพื่อจักรบกับพระยาพกราช

ครั้งนั้น ยังมีพระยาองค์หนึ่งทรงนามว่าวรราช เสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองศรีธรรมราช ทรงทราบข่าวว่าพระยาทั้งสองจักรบกันดังนั้น พระองค์ก็ยกพลโยธาเข้ามาผ่ากองทัพพระยาทั้งสอง ให้พ่ายหนีไปสู่เมืองหริภุญไชยทั้งสองฝ่าย แต่พระยาละโว้เสด็จไปถึงเมืองหริภุญไชยก่อน พระองค์ก็เสด็จเข้าไปประทับอยู่ในเมืองหริภุญไชยนั้นแล ฝ่ายว่าพระยาพกราชนั้นพลัดจากเมืองหริภุญไชยก็หนีไปหนใต้นั้นแล

พระยาอุจจิตตะจักรวรรดิเจ้าเมืองละโว้ ได้ครองราชสมบัติในเมืองหริภุญไชยได้ ๓ ปี ครั้งนั้นยังมีพระยาองค์หนึ่งทรงนามว่ากัมโพช ยกพยุหโยธามารบพระยาอุจจิตตะจักรวรรดิ ๆ แพ้

๓๔พระยากัมโพช ๆ ก็พ่ายหนีไป ละทิ้งเครื่องศาสตราวุธและเครื่องม้าเป็นอันมาก แล้วพระองค์จึงตรัสสั่งเสนาอำมาตย์ทั้งหลายให้จัดการกระทำพลีกรรม บูชาเทวดาที่รักษาเมืองหริภุญไชย พระองค์ทรงอาราธนาเทวดาว่า ดูกรเทวดาทั้งหลาย ผิว่าพระยากัมโพชเอารี้พลเสนามา เพื่อจะรบเอายังเมืองหริภุญไชยนี้แท้ดังนั้น เทวดาเจ้าทั้งหลายจงให้เขาฉิบหายจงสิ้นเทอญ พระองค์ตรัสดังนั้นแล้ว จึงให้ช่างจารึกลงในแผ่นหิน แล้วจึงตรัสให้เอาไปฝังไว้หนตะวันออกเมืองหริภุญไชยวันนั้น พระยาอุจจิตตะจักรวรรดิเสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองหริภุญไชยได้ ๓ ปี พระองค์ก็สวรรคต แล้วพระยากมลราชก็ได้เสวยราชสมบัติสืบต่อมาได้ ๒๐ ปี พระยากมลราชก็สวรรคตวันนั้นแล

ครั้งนั้น ผีห่าตกลงเมืองหริภุญไชย คนทั้งหลายหนีออกไปอยู่ในเมืองสุธรรมนครโพ้น ชาวเมืองหริภุญไชยนี้ ครั้นถึงฤดูข้าวใหม่เขาก็เอาข้าวใหม่ใส่แพล่องลงไปหาปู่ย่าเขาทุกปี ๆ นั้นแล

ลำดับแต่นั้นมา ยังมีพระยาองค์หนึ่งทรงนามว่าจักรวรรดิ นำเอารี้พลโยธามาแต่เมืองอภิภุยยนคร มาได้เมืองหริภุญไชย ขึ้นครอบครองราชสมบัติได้ ๙ ปีบริบูรณ์ ก็เสด็จสวรรคตไปตามยถากรรม

ลำดับแต่นั้นมา มีพระยาองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พาสุเทว ได้ขึ้นครองราชสมบัติได้ปีหนึ่งก็สวรรคต ลำดับนั้น มีพระยาองค์หนึ่งทรงพระนามว่า เยียราช

๓๕ ครองราชสมบัติ ลำดับนั้น มีพระยาองค์หนึ่งทรงพระนามว่า เสลราช ครองราชสมบัติได้ ๔๓ ปีก็สวรรคต ลำดับนั้นมีพระยาองค์หนึ่งทรงพระนามว่า กมัญราช
๓๖ ครองราชสมบัติได้ ๑๖ ปีก็สวรรคต ลำดับนั้น มีพระยาองค์หนึ่งทรงพระนามว่า ลกิราช
๓๗ ครองราชสมบัติได้ ๔๐ ปีก็สวรรคต ลำดับนั้น มีพระยาองค์หนึ่งทรงพระนาม พินทละราช
๓๘ ครองราชสมบัติได้ ๒๐ ปีก็สวรรคต ลำดับนั้น มีพระยาองค์หนึ่งทรงพระนามว่า อินทวร ครองราชสมบัติได้ ๓๐ ปีก็สวรรคต ลำดับนั้น มีพระยาองค์หนึ่งทรงพระนามว่าทิตตะ ได้ไปเป็นพระยาแทนสิ้นกาลนาน พระองค์ยกเอารี้พลโยธาลงไปหนใต้เพื่อจักไปรบเอาเมืองละโว้โพ้น ครั้นไปถึงแล้วมีรับสั่งให้ตั้งทัพอยู่ภายนอกเวียง แล้วพระองค์ตรัสใช้ทูตเข้าไปทูลพระยาละโว้ว่า ผิพระยาละโว้จักให้เมืองแก่ตูก็จงบอกมาเทอญ

ทันใดนั้น พระยาละโว้พระองค์ได้ทรงสดับข่าวสาส์นจากทูตของพระยาทิตตะทูลดังนั้น พระองค์ทรงพระพิโรธยิ่งนัก จึงตรัสสั่งให้ทูตออกไปทูลตอบพระยาทิตตะว่า ตูนี้ไปให้เมืองแก่ผู้ใดด้วยง่ายดอก เราทั้งสองจงกระทำธรรมยุทธกรรมด้วยกันเสียก่อน ท่านอยู่ภายนอก ท่านจงก่อเจดีย์ด้วยดินและอิฐ ตูอยู่ภายใน ตูจักก่อเจดีย์ให้ใหญ่และสูงมีประมาณเท่ากันแท้จริง หากว่าเจดีย์ของใครแล้วก่อน ก็เรียกว่าฝ่ายนั้นชนะ ถ้าว่าเจดีย์ผู้ใดแล้วภายหลัง ก็เรียกว่าฝ่ายนั้นปราชัย หากว่าท่านชนะเราๆ ก็จะให้เมืองแก่ท่าน ถ้าว่าเราชนะท่าน เราจะเอาท่านเป็นข้านับเสี้ยง

๓๙ ปีหนึ่งจึงแล้วก็ตาม หรือสองปีจึงแล้วก็ตามเทอญ

ในทันใดนั้น พระยาทิตตะได้ทรงสดับข่าวสาส์นจากทูตของพระยาละโว้ดังนั้น พระองค์ตรัสว่าดี ๆ จึงพระยาทั้งสองทรงกะเดือนวันเวลาที่จะก่อพระเจดีย์ตกลงพร้อมกันแล้ว ตรัสว่าใครอยู่ภายนอกให้ก่อภายนอก ใครอยู่ภายในให้ก่อภายใน ให้พร้อมกันตามวันเวลาที่นัดหมายไว้นั้น ครั้นถึงวันเวลาแล้วต่างฝ่ายต่างตรัสสั่งให้พลนิกายก่อพระเจดีย์ด้วยดินและอิฐ พระยาทิตตะมีกำลังมากกว่าพระเจดีย์ก็สูงกว่า พระเจ้าละโว้ทอดพระเนตรเห็นพระเจดีย์ของพระองค์ต่ำ จึงตรัสสั่งให้หาช่างที่ตียอดปราสาทเข้ามาเฝ้า แล้วพระองค์จึงตรัสสั่งให้ช่างตียอดพระเจดีย์เอาผ้าหุ้ม แล้วเอาขึ้นตั้งเหนือดินและที่อิฐก่อนั้น และพระองค์ตรัสสั่งให้ตีกลองไชยและโห่ร้องขึ้นสามลา พร้อมด้วยเสียงสาธุการอีก ๗ ครั้ง ฝ่ายหมู่โยธาของพระยาทิตตะที่ก่อพระเจดีย์อยู่ภายนอก เขาได้ยินเสียงกลองไชยและเสียงโห่ร้องสาธุการดังนั้น ต่างคนต่างก็มองดูเข้าไปในเมืองละโว้ ก็เห็นพระเจดีย์แล้วด้วยวิธีดังนั้น เขาก็พากันแตกตื่นหนีไป แม้พระยาทิตตะพระองค์ก็พลอยหนีไปด้วย

ทันใดนั้น พระยาละโว้จึงตรัสสั่งให้รี้พลโยธาออกไปขับไล่ติดตามจับเอาช้างม้าพร้อมทั้งเครื่องศาสตราวุธ และไพร่พลโยธาของพระยาทิตตะที่หนีไม่ทันได้เป็นอันมากนัก รี้พลโยธาของพระยาทิตตะที่ยังเหลืออยู่นั้น เขาก็พากันกลับคืนไปสู่เมืองหริภุญไชยดังเก่านั้นแล ส่วนพระเจดีย์ที่ก่อเมืองละโว้นั้น เขาเรียกว่าเจดีย์พราง ส่วนพระเจดีย์ที่ก่อภายนอกพระนครนั้น เขาเรียกว่าเจดีย์เมือง

ครั้งนั้น พระยาละโว้ตรัสสั่งให้เสนาอำมาตย์ทั้งหลายเข้ามาประชุมพร้อมแล้ว พระองค์จึงตรัสว่า ดูราเสนาอำมาตย์ทั้งหลาย พระยาทิตตะองค์นี้ เข้าใจว่าเรานี้ไม่ใช่ท้าวพระยาผู้ใหญ่แท้จริง เขาดูหมิ่นดูแคลนเราถึงเพียงนี้ จึงได้ยกเอาหมู่รี้พลโยธามาตั้งทัพอยู่ภายนอกพระนครของเรา เพื่อจะชิงเอาพระนครเช่นนี้ เราก็ได้กระทำธรรมยุทธกับด้วยพระยาทิตตะแต่โดยชอบธรรมเช่นนี้ สูท่านทั้งหลายยังจะมีความสงสัยในพระยาทิตตะอย่างไร ทันใดนั้น ยังมีอำมาตย์ผู้หนึ่งเป็นผู้ที่กล้าหาญยิ่งนัก จึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเป็นเจ้า ๆ เลี้ยงข้าน้อยมา ก็เพื่อประโยชน์จะไม่ให้ท่านผู้อื่นดูแคลนมหาราชเป็นเจ้า บัดนี้พระยาทิตตะมาดูแคลนมหาราชเจ้าอย่างนี้ๆ ขอมหาราชเจ้าจงได้ทรงพระอนุญาตรี้พลโยธาให้แก่ข้าน้อย ๆ จักไปรบเอาเมืองหริภุญไชยมาถวายแก่มหาราชเจ้าให้สมพระประสงค์

ในทันใดนั้น พระยาละโว้ได้ทรงสะดับถ้อยคำของอำมาตย์กราบทูลดังนั้น พระองค์ทรงพอพระทัยในอำมาตย์ผู้นั้นแท้จริง แล้วพระองค์จึงตรัสสั่งให้ชุมนุมหมู่โยธาทั้งหลายเข้ามาพร้อม แล้วพระองค์จึงตรัสกับด้วยหมู่โยธาทั้งหลายว่า ดูราหมู่โยธาทั้งหลาย สูจงไปกับด้วยอำมาตย์ผู้นี้ แล้วสูทั้งหลายจงอยู่ในอาชญาของอำมาตย์ผู้นี้จงทุกคน และสูทั้งหลายพร้อมด้วยอำมาตย์ผู้นายสูนี้ จงไปรบเอาเมืองหริภุญไชยให้จงได้

ขณะนั้น หมู่โยธาทั้งหลายก็ยกกองทัพออกจากเมืองละโว้ขึ้นไปโดยลำดับจนถึงเมืองหริภุญไชย ตั้งทัพอยู่หนตะวันออกเมืองหริภุญไชย ให้ทูตนำข่าวสาส์นเข้าไปกราบทูลพระยาทิตตะว่า พระยาทิตตะพระองค์จะยอมยกพระนครหริภุญไชยให้แก่ตูนี้หรือ ๆ พระองค์จะเสด็จออกมากระทำยุทธนาการกับด้วยตูทั้งหลายนี้เล่า

ฝ่ายว่า พระยาทิตตะ เมื่อพระองค์ได้ทรงสะดับข่าวสาส์นจากทูตของพระยาละโว้ดังนั้น พระองค์ทรงพระพิโรธยิ่งนัก ทันใดนั้น พระองค์จึงตรัสสั่งให้ประชุมเสนาอำมาตย์ทั้งหลายให้พร้อม แล้วพระองค์จึงตรัสว่า ดูราท่านอำมาตย์ทั้งหลาย บัดนี้พระยาละโว้ใช้ให้อำมาตย์ยกกองทัพมาตั้งอยู่ภายนอกพระนครเรานี้ ใช้ให้ทูตนำข่าวสาส์นเข้ามาบอกแก่เราว่า ให้เรายกพระนครหริภุญไชยนี้ให้แก่เขา สูท่านทั้งหลายจะเห็นสมควรอย่างใดเล่า

ฝ่ายอำมาตย์ทั้งหลาย เมื่อได้ฟังรับสั่งดังนั้นจึงทูลว่า ข้าแต่มหาราชเป็นเจ้า ข้าน้อยทั้งหลายนี้เห็นสมควรกระทำธรรมยุทธ์อย่างหนึ่ง เมื่อพระยาทิตตะได้ทรงสดับอำมาตย์ทั้งหลายทูลดังนั้น พระองค์ทรงพอพระทัยยิ่งนัก

ในทันใดนั้น พระองค์จึงตรัสสั่งใช้ให้อำมาตย์ผู้หนึ่งเป็นทูตนำข่าวสาส์นออกไปบอกแม่ทัพชาวเมืองละโว้ว่า เราขอบอกแก่ท่านแม่ทัพเมืองละโว้ด้วยเถิดว่า เราจักกระทำธรรมยุทธรบพุ่งแต่สิ่งที่เป็นธรรมกับด้วยแม่ทัพเมืองละโว้ สิ่งใดไม่เป็นธรรมเราเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลืองและเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งโทษ เหตุนี้เราจึงบอกมาให้ท่านทราบว่า ท่านทั้งหลายจงขุดหนอง ๆ หนึ่งในที่ใกล้ตีนดอยโพ้น เราก็จะขุดหนอง ๆ หนึ่งในที่ไม่ไกลพระนครเท่าใดนัก แต่ให้ขุดด้วยด้ามหอกด้ามดาบ ห้ามไม่ให้เอาจอบและเสียมขุด หนองชาวใดมีน้ำอันใสบริสุทธิ์และแล้วก่อน นั้นแลเรียกว่าชาวนั้นเป็นผู้ชนะ หนองชาวใดมีน้ำทีหลังแล้วก็แล้วทีหลัง ให้เรียกชาวนั้นเป็นฝ่ายปราชัย เมื่อทูตได้รับรับสั่งดังนี้แล้ว ก็กราบถวายบังคมลานำข่าวสาส์นออกไปเจรจากับด้วยแม่ทัพชาวเมืองละใว้ พร้อมด้วยทูตชาวเมืองละโว้ ฝ่ายว่าแม่ทัพชาวเมืองละโว้ เมื่อได้ทราบความจากทูตดังนั้นแล้ว จึงเจรจากับด้วยทูตนั้นว่าดี ๆ แล้วก็นัดหมายวันเวลาที่จะขุดหนองนั้นให้รู้ด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย ทันใดนั้น ทูตก็นำความเข้าไปกราบทูลพระยาทิตตะให้ทรงทราบทุกประการ ครั้นถึงวันเวลาสัญญาแล้วก็ลงมือขุดกันไป แต่ฝ่ายพระยาทิตตะนั้น ตอนกลางวันก็ขุดด้วยด้ามหอก ควั้นถึงเวลากลางคืนก็ขุดด้วยจอบและเสียม ส่วนชาวเมืองละโว้นั้นกลางวันก็ขุดด้วยด้ามหอก กลางคืนก็ขุดด้วยด้ามหอกดุจกัน เหตุดังนั้นหนองชาวเมืองหริภุญไชยจึงแล้วก่อน และมีน้ำในหนองใสบริสุทธิ์สะอาดแท้จริง แล้วชาวเมืองหริภุญไชยก็ตีกลองและโห่ร้องด้วยเสียงอันกึกก้องยิ่งนัก ทันใดนั้นชาวเมืองละโว้ได้ยินเสียงดังนั้น เขาก็พากันพ่ายหนีไป ละทิ้งช้างม้าพร้อมทั้งเครื่องศาสตราวุธไว้ในที่นั้น ชาวเมืองหริภุญไชยเห็นดังนั้นก็ออกสำทับขับไล่ติดตามเอา ได้ยังช้างม้าผู้คนพร้อมทั้งเครื่องศาสตราวุธเป็นอันมากแท้จริง แล้วนำเข้าไปถวายพระยาทิตตะวันนั้นแล หนองที่ชาวเมืองละโว้ขุดนั้น เขาเรียกว่าหนองบ้าน

๔๐ หนองที่ชาวเมืองหริภุญไชยขุดนั้น เขาเรียกว่าหนองกาเทวะ
๔๑ เดี๋ยวนี้คนทั้งหลายกล่าวด้วยวาจาบริบูรณ์ก็ว่าหนองกาเทวะ
๔๒นี้แล

อยู่มามิช้ามินานเท่าใด พระยาละโว้ทรงคำนึงถึงที่ชาวละโว้พ่ายหนีนั้น พระองค์ทรงพระโกรธยิ่งนัก ในขณะนั้น ยังมีอำมาตย์ผู้หนึ่งชื่อบุตริยะอยู่ในพระราชสำนักที่นั้น พระองค์ตรัสกับด้วยบุตริยะอำมาตย์นั้นว่า ชาวหริภุญไชยกระทำธรรมยุทธแก่สู ๆ พ่ายหนีมาดังนี้ สูทั้งหลายมีความคิดอย่างไรนั้นเล่า บุตริยะอำมาตย์จึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเป็นเจ้า ผิว่าข้าน้อยได้รี้พลโยธามาก ข้าน้อยจักไปรบเอาเมืองหริภุญไชยมาถวายมหาราชเป็นเจ้าให้ได้โดยแท้ พระยาละโว้เมื่อพระองค์ได้ทรงสดับถ้อยคำของบุตริยะอำมาตย์กราบทูลดังนั้น พระองค์ทรงพระปีติยินดียิ่งนัก จึงตรัสว่าถ้าเช่นนั้นเจ้าจงกะเกณฑ์เอายังรี้พลโยธาให้มากที่สุดแล้วจงไปเทอญ ทันใดนั้น บุตริยะอำมาตย์เมื่อได้รับพระราชอาชญาแล้วดังนั้น ก็กะเกณฑ์เอายังหมู่โยธาที่แกล้วหาญได้มากแล้ว ก็นำความเข้าไปกราบถวายบังคมลา ยกทัพขึ้นไปเมืองหริภุญไชยวันนั้นแล

ครั้งนั้น เทวดาที่รักษาเมืองหริภุญไชย ก็บันดาลให้บุตริยะอำมาตย์พร้อมด้วยหมู่รี้พลโยธาทั้งหลาย หลงหนีไปจากเมืองหริภุญไชยไปจนถึงฝั่งแกน

๔๓พลแท้จริง เขาทั้งหลายดูในที่นั้นเห็นแปลกใจ เขาทั้งหลายก็หนีจากที่นั้น แล้วกลับคืนมาถึงแม่น้ำน้อยแห่งหนึ่ง น้ำที่นั้นลึกนัก เขาก็พร้อมกันต่างคนต่างเอาหญ้ามาทอดทิ้งลงในแม่น้ำที่นั้นแล้วก็เหยียบย่ำไป หญ้านั้นก็จมลงไป เขาก็ซ้ำกลับคืนมาเอาหญ้าทอดทิ้งลงไปอีก แล้วก็เหยียบย่ำไปอีก หญ้านั้นก็จมลงไปซ้ำอีกเล่า เขาจึงเจรจากันว่า เราทั้งหลายนี้ไปแล้วกลับ ๆ ในที่แห่งนี้หนา เขาเจรจากันดังนั้นแล้ว เขาจึงเรียกแม่น้ำนั้นว่าแม่น้ำควงนั้นแล ชื่ออันนั้นเรียกมาจนตราบเท่ากาลบัดนี้ว่าแม่น้ำควง เขาทั้งหลายออกจากที่นั้นมาแล้วก็มาตามริมแม่น้ำระมิงลึกนัก เขาทั้งหลายจึงรู้ว่าเขาหลงทางแท้จริง เขาทั้งหลายท่องตามลำน้ำมาน้ำลึกเขาจักจมน้ำตาย เขาจึงร้องเรียกกันว่า เอากูดังนั้น ในที่นั้นจึงได้เรียกว่าวังคด บัดนี้คนทั้งหลายให้สร้างทางหลวงตัดไปให้ตรง ในที่นั้นเขาจึงได้เรียกว่าคดค้อม เขาหนืออกจากที่นั้นไปถึงแม่น้ำน้อยแห่งหนึ่งเป็นที่ลึกมากนัก เขาพูดว่าแม่น้ำนี้ลึกนัก แม่น้ำนั้นจึงได้ชื่อว่าแม่คัมภีรนที แล้วเขาหนีออกจากที่นั้นไป เทวดาที่รักษาเมืองพลอยให้เขาหลงกลับคืนมาตั้งทัพอยู่หนตะวันออกเมืองหริภุญไชยนี้เล่า ในที่นั้นจึงได้เรียกชื่อว่าจำนางมาต่อเท่ากาลบัดนี้แท้ไซร้

ครั้งนั้น พระยาทิตตะทรงทราบข่าวว่า ชาวเมืองละโว้มาตั้งทัพอยู่ในที่นั้น พระองค์ทรงจัดไพร่พลให้ออกไปรบมีไชยชนะ ฆ่าเสียบ้างจับเอามาทั้งเป็นบ้าง โยธาชาวละโว้แต่ที่ยังเหลืออยู่นั้น เขาก็เข้ามาสวามิภักดิ์ถวายตัวเป็นข้าพระยาทิตตะ ๆ พระองค์หาได้ทำอันตรายแต่อย่างหนึ่งอย่างใดแก่เขาไม่ ทันใดนั้น บุตริยะอำมาตย์ก็นำเอารี้พลโยธาทั้งหลาย เข้ามาสวามิภักดิ์ถวายตัวต่อพระยาทิตตะ และถวายคำสัตย์ยอมเป็นข้าว่า ข้าแต่มหาราชเป็นเจ้า ตูข้าทั้งหลายมีชีวิตอยู่ได้ดังนี้ ก็ด้วยเหตุพระมหากรุณามหาราชเป็นเจ้าแท้จริง มหาราชเป็นเจ้ามีพระราชประสงค์ให้ตูข้าทั้งหลายกระทำกิจอย่างใด ๆ ก็ดี ตูข้าทั้งหลายก็จักกระทำให้ถูกต้องตามพระราชประสงค์มหาราชเจ้าทุกประการแท้จริง

ทันใดนั้น พระยาทิตตะได้ทรงสะดับในถ้อยคำบุตริยะอำมาตย์กราบทูลดังนั้น พระองค์จึงตรัสสั่งให้หารี้พลชาวเมืองหริภุญไชยเข้ามาเฝ้า แล้วพระองค์จึงตรัสกับด้วยบุตริยะอำมาตย์ว่า ดูราบุตริยะอำมาตย์ บัดนี้เราจักสร้างพระเจดีย์องค์หนึ่ง สำหรับไว้เป็นที่สักการบูชาเป็นที่สมควรแก่เรา แล้วพระยาทิตตะพระองค์จึงตรัสสั่งรี้พลทั้ง ๒ ฝ่าย ให้สร้างพระเจดีย์องค์หนึ่ง หนตะวันออกเมืองหริภุญไชยนั้น ครั้นต่อมาพระองค์ตรัสสั่งให้สร้างพระอารามขึ้นอารามหนึ่งในที่สร้างพระเจดีย์นั้นด้วย และทุ่งนาที่เป็นที่พักแห่งรี้พลทั้ง ๒ ฝ่ายนั้น จึงได้เรียกว่าทุ่งมหาพล วัดที่รี้พลทั้ง ๒ ฝ่ายพร้อมกันสร้างนั้น ก็เรียกว่าวัดทุ่งมหาพลเพื่อเหตุนั้น

ตั้งแต่นั้นมา ชาวเมืองละโว้ก็บังเกิดโรคภัยไข้เจ็บล้มตายมากนัก พระยาทิตตะพระองค์ทรงตั้งบ้านๆ หนึ่ง หนใต้เมืองหริภุญไชย ให้เป็นที่อยู่บุตริยะอำมาตย์พร้อมด้วยชาวเมืองละโว้อยู่ในที่นั้น บุตริยะอำมาตย์พร้อมด้วยชาวเมืองละโว้ทั้งหลายอยู่ในที่นั้นนมนานนัก เขาทั้งหลายมีความคิดถึงบ้านเมือง และมีความปรารถนาอยากจะกลับคืนไปสู่บ้านเมืองแห่งตนๆ เขาทั้งหลายก็พากันเข้าไปเฝ้ากราบทูลพระยาทิตตะว่า ข้าแต่มหาราชเป็นเจ้า ตูข้าทั้งหลายชาวเมืองละโว้นี้มีชีวิตอยู่ได้ก็ด้วยพระบรมโพธิสมภารมหาราชเป็นเจ้า และมหาราชเป็นเจ้าทรงพระกรุณาให้ข้าน้อยทั้งหลายสร้างพระเจดีย์กับทั้งพระอารามนั้น บัดนี้ก็สำเร็จบริบูรณ์เรียบร้อยแล้ว ตูข้าทั้งหลายก็เป็นชาวต่างบ้านต่างเมือง และบัดนี้ขอมหาราชเป็นเจ้าจงได้ทรงพระมหากรุณาประทานพระอนุญาตปล่อยให้ตูข้าทั้งหลายนี้กลับไปสู่บ้านเมือง อันเป็นที่อยู่ที่กินแห่งตูข้าทั้งหลายด้วยเถิด

ทันใดนั้น เมื่อพระยาทิตตะได้ทรงสะดับถ้อยคำของบุตริยะอำมาตย์กราบทูลดังนั้น ก็ทรงบังเกิดความสังเวชยิ่งนัก จึงพระราชทานยังเครื่องอุปโภคและเครื่องบริโภค ให้แก่บุตริยะอำมาตย์พร้อมด้วยบริวารตามสมควร แล้วตรัสสั่งให้บุตริยะอำมาตย์พร้อมด้วยบริวารกลับคืนไปสู่ภูมิลำเนาตามความประสงค์ทุกประการ

ฝ่ายบุตริยะอำมาตย์ ครั้นกลับไปถึงเมืองละโว้แล้ว ก็เข้าไปกราบทูลพระยาละโว้ว่า ข้าแต่มหาราชเป็นเจ้า ตูข้าทั้งหลายรับอาสามหาราชเป็นเจ้า ไปเพื่อจักรบเอาเมืองหริภุญไชยนั้น ครั้นตูข้าทั้งหลายไปก็บังเอิญให้หลงทางไปหลายแห่งหลายที่นัก แล้วตูข้าทั้งหลายมาตั้งทัพอยู่ในที่แห่งหนึ่ง พระยาจิตตะยกเอารี้พลโยธามารบกับด้วยตูข้าทั้งหลาย ๆ ปราชัยแก่พระยาทิตตะ ๆ ทรงพระเมตตาในตูข้าทั้งหลาย ให้ตูข้าทั้งหลายช่วยสร้างพระเจดีย์และพระอาราม ตูข้าทั้งหลายก็พร้อมกันสร้างถวายตามพระประสงค์ทุกประการ และพระยาทิตตะก็ทรงสร้างบ้านๆ หนึ่งให้ตูข้าทั้งหลายอยู่ ตูข้าทั้งหลายอยู่ในที่นั้นก็ได้รับซึ่งความสำราญแท้จริง แต่ว่ามีความคิดถึงบ้านเมืองที่อยู่ที่กินมากนัก ตูข้าทั้งหลายจึงได้เข้าไปกราบทูลขออนุญาตกลับคืนมาสู่บ้านเมือง พระยาทิตตะก็ทรงพระเมตตา ให้ตูข้าทั้งหลายกลับมาสู่บ้านเมืองได้ตามความประสงค์ ตูข้าทั้งหลายจึงได้เข้ามากราบทูลใต้บาทยุคลมหาราชเป็นเจ้าในบัดนี้ ทันใดนั้นพระยาละโว้ได้ทรงสะดับในถ้อยคำของบุตริยะอำมาตย์กราบทูลดังนั้น พระองค์ทรงยินดีในพระราชไมตรีของพระยาทิตตะยิ่งนัก ในขณะนั้น ยังมีอำมาตย์ผู้หนึ่ง มีนามว่าสิริคุตต์เฝ้าอยู่ในที่นั้น เมื่อได้ยินยังถ้อยคำที่บุตริยะอำมาตย์กราบทูลพระเจ้าละโว้ดังนั้น ก็บังเกิดยังความโกรธยิ่งนัก จึงกราบทูลขอเอายังรี้พลโยธาแต่สำนักพระเจ้าละโว้ ๆ พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้ สิริคุตต์อำมาตย์ก็กราบถวายบังคมลา พาหมู่รี้พลโยธาไปสู่เมืองหริภุญไชยโดยลำดับ

ฝ่ายเทวดาทั้งหลายที่รักษาเมืองหริภุญไชยนั้น ก็บันดาลให้สิริคุตต์อำมาตย์ พร้อมด้วยหมู่รี้พลโยธาทั้งหลายหลงทางมาถึงแม่น้ำรมิงภายตะวันตกโพ้น ท่าที่นั้นเขาเรียกว่าท่าสอด

๔๔เท่ากาลบัดนี้แล เมื่อเขาทั้งหลายออกจากที่นั้น ก็หลงไปหนตะวันตกเมืองหริภุญไชย ไปถึงเมืองอันหนึ่ง คนทั้งหลายในเมืองนั้นรู้ข่าวว่าข้าศึกมา เขาทั้งหลายก็ละทิ้งเมืองนั้น ส่วนอาหารการบริโภคทั้งหลายเป็นต้นว่า ข้าว เหล้า และสิ่งของอื่นๆ ที่เขาขนเอาไปไป่ทันนั้น เขาก็ละทิ้งไว้ในที่นั้นสิ้นทุกประการ สิริคุตต์อำมาตย์พร้อมทั้งหมู่รี้พลชาวเมืองละโว้เข้าไปพักในที่นั้น หมู่รี้พลทั้งหลายก็ฟ้อนกินรำกิน
๔๕อยู่ในที่นั้นด้วยความรื่นเริง เขาจึงได้เรียกเมืองนั้นว่าเมืองรำนั้นแล ตั้งแต่นั้นมา ไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎรชาวเมืองหริภุญไชยทั้งหลายมีความสุขความสำราญตลอดมาโดยลำดับ

ครั้งนั้น โหรทำนายว่า ตั้งแต่นี้ไปมิช้ามินานเท่าใดนัก เมืองหริภุญไชยนี้จักบังเกิดเป็นมหานครอันใหญ่ มีความเกษมสุขกายสบายใจยิ่งนัก นับตั้งแต่โหรทำนายมานั้นมิช้ามินานเท่าใด เทวดาที่รักษาเมืองหริภุญไชยนั้น ก็ให้บังเกิดยังไม้ยางต้นหนึ่งเกิดขึ้นมาในทิศหนอีศานแห่งเมืองหริภุญไชย อยู่มิช้ามินานเท่าใดไม้ยางต้นนั้นใหญ่ก็ใหญ่สูงก็สูงยิ่งนัก ด้วยอานุภาพแห่งเทวดาทั้งหลายนั้นๆ ลำดับนั้นมา เทวดาก็บังเกิดเป็นไก่ผู้เผือกตัวหนึ่งอยู่ในที่ต้นไม้ยางต้นนั้น ไก่เผือกตัวนั้นมีนามว่า เปตตกุกกุฏ และไก่ตัวนั้นขันในเวลากลางคืนๆละ ๓ ครั้ง ขันในเวลากลางวันๆละ ๓ ครั้ง ทุกๆคืนทุกๆวันมิได้ขาด เสียงแห่งไก่ตัวนั้นเพราะยิ่งนัก และให้บังเกิดซึ่งความเจริญแก่ชาวเมืองหริภุญไชย สัมฤทธิ์ไปทุกสิ่งทุกประการแท้จริง

ครั้งนั้น ยังมีพ่อค้าชาวเมืองละโว้คนหนึ่ง เดินค้าขายมาถึงเมืองหริภุญไชย มันได้ยินเสียงไก่เผือกตัวนั้นขันเพราะยิ่งนัก กับทั้งมันได้เห็นซึ่งความเจริญของชาวเมืองหริภุญไชย เป็นต้นว่าเครื่องอุปโภคและเครื่องบริโภคทั้งหลายนั้นๆ ครั้นมันกลับไปถึงเมืองละโว้โพ้น มันก็นำข่าวสาส์นดังที่มันได้เห็นความสวัสดีเจริญของชาวเมืองหริภุญไชย เข้าไปกราบทูลพระยาละโว้ให้ทรงทราบ เมื่อพระองค์ได้ทรงทราบข่าวสาส์นจากนายพ่อค้าว่า เทวดาที่รักษาเมืองหริภุญไชยนั้นดีนัก ให้บังเกิดซึ่งความสวัสดีแก่ชาวเมืองหริภุญไชย แต่เวลานั้นยังเป็นเวลากลางวันอยู่ ครั้นกลางคืนวันนั้นพระองค์ได้สดับเสียงไก่ขันเพราะยิ่งนัก จึงทรงระลึกถึงคำที่นายพ่อค้ากราบทูลขึ้นมาได้ ก็มาบังเกิดอัศจรรย์ขึ้น ครั้นรุ่งเช้าจึงให้หาอำมาตย์ทั้งหลายเข้ามาเฝ้า แล้วตรัสถามว่า ดูราอำมาตย์ทั้งหลาย เมื่อคืนนี้สูท่านทั้งหลายยังได้ยินเสียงไก่ขันมีเสียงอันเพราะบ้างไหม อำมาตย์ทั้งหลายจึงกราบทูลว่า เมื่อคืนนี้ตูข้าทั้งหลายได้ยินแต่เสียงไก่ธรรมดาขัน ตูข้าทั้งหลายหาได้ยินเสียงไก่ขันที่แปลกไปกว่าไก่ธรรมดาขันนั้นหามีไม่ แล้วพระองค์ทรงเล่าเรื่องที่นายพ่อค้า นำความเข้ามากราบทูลแก่พระองค์นั้น ให้อำมาตย์ทั้งหลายแจ้งทุกประการ

ในทันใดนั้น พระยาละโว้จึงตรัสถามพราหมณาจารย์ทั้งหลายว่า ดูราพราหมณาจารย์ทั้งหลาย ยังมีพ่อค้าชาวละโว้เรานี้คนหนึ่ง ขึ้นไปค้าขายในเมืองหริภุญไชยโพ้น มันได้เห็นยังไก่ตัวหนึ่งเผือกขาวบริสุทธิ์ และขันมีเสียงอันไพเราะยิ่งนัก กับนำความเจริญศิริสวัสดีพร้อมทั้งเครื่องอุปโภคและบริโภคมาสู่ชาวเมืองหริภุญไชยยิ่งนัก และมันได้เห็นยังชาวเมืองหริภุญไชยนั้น สัมฤทธิ์ด้วยสมบัติข้าวของแท้จริง เราจะกระทำอย่างใดจึงจะให้ชาวเมืองของเราทั้งหลายเจริญเช่นนั้นบ้างเล่า

ทันใดนั้นพราหมณาจารย์ทั้งหลายจึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเป็นเจ้า ผิแลว่ามหาราชเป็นเจ้าทรงพระเมตตา ให้ตูข้าทั้งหลายพิจารณาตามพระกระแส ที่มหาราชเจ้ารับสั่งถามตูข้าทั้งหลายนี้แท้ไซร้ ตูข้าทั้งหลายเห็นสมควรว่า ควรจัดการพลีกรรมบูชาเทวดาที่รักษาพระนครเรานี้ ให้ไปสู่เมืองหริภุญไชยโพ้น เทวดาที่รักษาเมืองเรานี้ก็หากจักให้ความสวัสดี แด่พระองค์และหมู่ประชาราษฎรทั้งหลายแท้จริง เมื่อพระเจ้าละโว้ได้ทรงสะดับถ้อยคำพราหมณาจารย์กราบทูลดังนั้น พระองค์จึงตรัสสั่งให้จัดการพลีกรรม บูชาเทวดาที่รักษาเมืองและทรงอาราธนาตามอย่างที่พราหมณาจารย์กราบทูลนั้นแท้จริง

ครั้งนั้น เทวดาที่รักษาเมืองนั้นได้รับยังเครื่องพลีกรรมแล้วดังนั้น ก็มีความยินดีปรารถนาจะใคร่ตอบคุณพระยาละโว้ ตนก็เนรมิตเป็นจรเข้ตัวหนึ่งทวนกระแสน้ำขึ้นมาตามแม่น้ำรมิงแท้จริง

ทันใดนั้น เทวดาจรเข้ตัวนั้น ครั้นขึ้นมาถึงวังไรที่นั้น แล้วก็เนรมิตตนเป็นพราหมณ์ผู้หนึ่ง เข้าไปในเมืองหริภุญไชย เที่ยวเดินแสวงหายังไก่ตัวที่ขันมีเสียงอันไพเราะ และดังไปถึงเมืองละโว้นั้นก็ไม่เห็นสักแห่ง เทวดาพราหมณ์ตนนั้นก็นอนฟังเสียงไก่ขันอยู่ในที่นั้นจนถึงเวลากลางคืน ครั้นเมื่อถึงยามไก่ขัน ไก่เผือกตัวนั้นก็ขันขึ้นตามปกติ เทวดาพราหมณ์เมื่อได้ยินเสียงไก่ขันดังนั้น ตนก็มาคำนึงแต่ในใจว่า กูจักฆ่าไก่เผือกตัวที่ขันให้ความเจริญสิริสวัสดีแก่ชาวเมืองหริภุญไชยนี้ให้ตายเสียเถิด เมื่อคำนึงเห็นดังนั้นแล้ว ก็ได้ยินเสียงไก่เผือกตัวนั้นขันอยู่ที่ต้นไม้ยางต้นนั้น เทวดาพราหมณ์ตนนั้นก็เข้าไปสู่ต้นไม้ยาง แล้วก็ปีนป่ายขึ้นไปจับเอาไก่ตัวนั้นมาฆ่าเสียในคืนวันนั้น เมื่อได้ฆ่าไก่เผือกตัวนั้นตายแล้ว ตนก็มาคำนึงนึกแต่ในใจว่า เทวดาไก่ตัวนี้ให้ความเจริญศิริสวัสดีแก่ชาวเมืองหริภุญไชย กูก็ฆ่าตายเสียแล้ว เทวดาที่รักษาเมืองนี้จะยังมีอยู่ในที่แห่งใดอีกเล่า เทวดาพราหมณ์กล่าวดังนี้แล้ว ก็เนรมิตตนเป็นสามเณรนุ่งสบงทรงจีวรสวยงามยิ่งนัก เที่ยวเดินไปเดินมาอยู่ทุกแห่ง

ในที่นั้น ยังมีเทวดาตนหนึ่ง ที่รักษาเมืองหริภุญไชยอยู่ในแม่น้ำน้อยแห่งหนึ่งหนเหนือ และไหลมาช่อง

๔๖แม่รมิงที่นั้น เทวดาตนนั้นยังสนุกเพลิดเพลินอยู่กับด้วยนางเทวดา พอเทวดาสามเณรตนนั้นเที่ยวเดินไปถึง จึงพูดขึ้นว่า ดูราเพื่อนมึงจงออกมารบกันกับกูเดี๋ยวนี้ เทวดาตนนั้นครั้นได้ยินคำเรียกตนดังนั้น จึงกล่าวตอบขึ้นว่า ผิมึงอาจรบแท้ดังนั้นจงลงมาธารา
๔๗เดี๋ยวนี้ เทวดาสามเณรก็ลงไปในแม่น้ำที่นั้น เทวดาที่รักษาเมืองหริภุญไชยก็ลงไปในแม่น้ำที่นั้นแท้จริง เขาทั้งสองรบกันและกันอยู่ดังนั้น เทวดาที่รักษาเมืองหริภุญไชยกัดเอากระดูกสีข้างเทวดาสามเณรนั้นหักไป ผ้าจีวรที่ห่มอยู่นั้นก็ขาดไป เลือดไหลออกไปตามกระแสน้ำ แดงเป็นเลือดไปทุกแห่ง เทวดาสามเณรก็ถึงแก่ความตายอยู่ในที่นั้น ส่วนซากศพเทวดาสามเณรนั้นก็ลอยไปตามกระแสน้ำลงมาภายใต้เมือง ลอยไปจนถึงเมืองละโว้โพ้น

ครั้งนั้น พระยาละโว้ทรงทราบข่าวว่า เทวดาสามเณรถึงแก่ความตายลอยมาตามแม่น้ำดังนั้น พระองค์จึงตรัสสั่งให้เอาขึ้นมาเผาเสียในที่แห่งหนึ่ง แล้วตรัสสั่งให้เอากระดูกมาก่อเจดีย์ไว้ใกล้ที่เผานั้น

ครั้งนั้น พระยาทิตตะทรงได้ยินข่าวสาส์นว่า เทวดาสามเณรถึงแก่ความตายดังนั้น พระองค์ทรงยินดียิ่งนัก และพระองค์ทรงสั่งให้จัดการพลีกรรมบูชาเทวดาที่อยู่ในแม่น้ำน้อยที่นั้นกับทั้งเทวดาที่รักษาเมืองหริภุญไชย และให้มีการประโคมด้วยเครื่องดุริยดนตรีต่างๆ วันนั้นแล ตั้งแต่นั้นมา เป็นอันว่าพระยาทิตตะทรงพ้นจากข้าศึกศัตรู หาศัตรูมาเบียดเบียนมิได้ ก็เสวยราชสมบัติด้วยความสวัสดีบริสุทธิ์ ทรงขวนขวายในการพระราชกุศลเป็นต้นว่า ทรงบริจาคทานรักษาศีลสะดับพระธรรมเทศนาอยู่เสมอๆ ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๓๐ ปี ก็สวรรคตไปสู่ปรโลกตามยถากรรมวันนั้นแล

แต่นี้ต่อไป จักกล่าวถึงพระยาอาทิตตราช พระองค์ทรงนำเอาพระบรมธาตุของพระศาสดา ออกมาให้ปรากฎเป็นที่สักการบูชาแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย สืบปรัมปรามา ท้าวพระยาทั้งหลาย แต่พระยามหันตยศซึ่งประสูติออกมาแต่คัพโภทรแห่งพระนางจามเทวี จนถึงพระยาทิตตะได้ ๒๖ พระองค์ พระบรมธาตุของพระศาสดาแห่งเรานี้จึงได้ปรากฏมีขึ้นในสมัยพระยาอาทิตตราชพระองค์นี้หนา ครั้นพระยาทิตตะสิ้นพระชนม์ไปแล้วนั้น พระยาอาทิตตราชได้เป็นพระยาเสวยราชสมบัติในเมืองหริภุญไชยสืบต่อมา พระอัครมเหสีของพระยาอาทิตตราชทรงพระนามว่า นางปทุมาวดี พระยาอาทิตตราชก็ดี นางปทุมาวดีพระอัครมเหษีก็ดี ทั้งสองพระองค์มีพระศรัทธาเสมอกัน ทรงยินดีในการบริจาคทานเสมอ ๆ และพระองค์ทรงบริจาคทานในแก้วทั้งสาม เสมอทุกวันด้วยความเคารพแท้ไซร้

นับตั้งแต่ปีพระพุทธเจ้าปรินิพพานมาได้ ๑,๐๐๘ ปี

๔๘ พระยาอาทิตตราชจึงได้บังเกิดมาแท้จริง พระยาอาทิตตราชพร้อมทั้งพระอัครมเหษี เมื่อพระองค์ถวายทานแล้ว ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ในสำนักพระมหาเถรที่เป็นสังฆนายก คอยสะดับฟังพระธรรมเทศนา พระมหาเถรเจ้าสังฆนายกก็ถวายพระธรรมเทศนา ยกเอาทศพิธราชธรรมเทศนาถวายมิได้ขาด เมื่อพระยาอาทิตตราชได้ทรงสะดับในทศพิธราชธรรม ในสำนักพระมหาเถรสังฆนายกดังนั้น นับตั้งแต่วันแรกที่ได้ทรงสดับมาถึงในวันที่ ๗ นั้น พระยาอาทิตตราชพระองค์ทรงขายปราสาท อันเป็นที่ประทับของพระองค์ เอาพระราชทรัพย์นั้นมาซื้อวัตถุอันเป็นทิพย์เป็นต้นว่า บาตรและผ้าจีวรมาถวายแก่สงฆ์

ครั้นต่อมาภายหลัง พระยาอาทิตตราชพระองค์ทรงสร้างพระราชเรือนหลวงเพื่อเป็นที่ประทับ พร้อมทั้งห้องพระบังคนอีกด้วย แต่ส่วนห้องพระบังคนนั้น ฉะเพาะไปตรงกับที่พระศาสดาประทับพยากรณ์ที่ประดิษฐานพระบรมธาตุตั้งแต่กาลก่อนโพ้น เมื่อพระราชเรือนหลวงสำเร็จบริบูรณ์เรียบร้อยแล้ว พระองค์จึงตรัสสั่งให้จัดการพิธีมงคลในการที่จะขึ้นประทับพระราชเรือนหลวง ครั้นเสร็จการพิธีแล้ว ถึงยามดีนักขัตฤกษ์บาทฉายาบริบูรณ์ พระยาอาทิตตราชพร้อมด้วยนางปทุมาวดีพระอัครมเหษี เสด็จขึ้นสู่พระราชเรือนหลวงประทับเหนือราชบัลลังก์ เสนาอำมาตย์ทั้งหลายประโคมดุริยดนตรีสรงเสพ พราหมณ์ทั้งหลาย ๑๖ คน มีมือถือหอยสังข์ประดับด้วยดอกหญ้าแพรก น้อมนำน้ำพระมหาสังข์เข้าไปถวาย เหนือฝ่าพระหัตถ์พระยาอาทิตตราชพร้อมทั้งพระอัครมเหสี ครั้นเสร็จแล้วเสนาอำมาตย์ราชปุโรหิตาจารย์พร้อมทั้งหมู่ทวยราษฎร พร้อมกันถวายพระพรชัยมีเสียงอันมี่ก้องในพระราชเรือนหลวงยิ่งนักวันนั้นแล ครั้นถึงเวลาที่พระองค์จะเสด็จไปห้องพระบังคนเสด็จไป ณ ที่นั้น ทันใดนั้น เทวดาที่รักษาแผ่นพระธรณีที่ประดิษฐานพระบรมธาตุ เห็นพระยาอาทิตตราชเสด็จเข้าไปดังนั้น ก็ให้สัญญากับกาตัวที่เป็นหลานพระยากาเผือกตัวที่เฝ้าอยู่ที่นั้น กาตัวนั้นมันก็บินมาเบื้องบนปล่อยอาจมให้ตกลงมาถูกเศียรพระยาอาทิตตราช ๆ เข้าพระทัยว่าเป็นชิ้นเนื้อ ก็ทอดพระเนตรขึ้นไปเบื้องบนเห็นยังกาตัวนั้น แล้วจึงตรัสว่า สูเอากา สูเอากา ในขณะเมื่ออ้าพระโอษฐ์ตรัสดังนั้น กาตัวนั้นซ้ำปล่อยลงมายังอาจมให้ตกลงในพระโอษฐ์อีกครั้งหนึ่ง แล้วกาตัวนั้นก็บินหนีไป พระยาอาทิตตราชมีพระทัยไม่บริสุทธิ์ จึงตรัสสั่งแก่ชาวเมืองทั้งหลายว่า สูทั้งหลายจงหาจับเอากามาให้ได้ เมื่อสูทั้งหลายจับมาได้แล้วจงนำมาให้แก่กู ชาวเมืองทั้งหลายก็ดักบ่วงไว้ทุกหลังคาเรือน กาตัวนั้นก็มาติดบ่วงด้วยอานุภาพแห่งเทวดาแท้จริง พระยาอาทิตตราชทรงพระพิโรธในกาตัวนั้นยิ่งนักเกือบจะฆ่าเสีย ถึงอย่างนั้นก็ดี พระองค์ก็หาได้ทรงกระทำเช่นนั้นไม่ ด้วยเหตุว่าพระองค์ทรงตั้งอยู่ในเบญจศีล แล้วจึงตรัสสั่งกับด้วยราชมนตรีว่า สูทั้งหลายดูเถิดนะ กาตัวนี้มันมาขี้ใส่หัวเรา ซ้ำมาขี้ใส่ปากเราเช่นนี้ ควรฆ่ามันเสียแท้จริง แต่เราจะไม่ฆ่ามัน เราจะยกโทษให้แก่มัน ทันใดนั้น ราชมนตรีทั้งหลายจึงทูลว่า ข้าแต่มหาราชเป็นเจ้า ชะรอยว่าจะมีเหตุใหญ่อย่างใดอย่างหนึ่งบังเกิดมีแด่มหาราชเจ้าเป็นแท้ ไม่เช่นนั้นกาตัวนี้ก็ไม่สามารถจะมากระทำแด่มหาราชเป็นเจ้าดังนี้ พระยาอาทิตตราชได้ทรงสะดับราชมนตรีทูลดังนั้น จึงตรัสสั่งให้หาโหราเข้ามาเฝ้า แล้วพระองค์ทรงเล่าเหตุนั้นๆให้โหราจารย์แจ้งทุกประการ จึงตรัสสั่งกับโหราจารย์นั้นว่า ดูราท่านโหราจารย์ทั้งหลาย เมื่อมีเหตุบังเกิดแก่เราดังนี้ ผลนั้นจะบังเกิดแก่ตัวเราอย่างใดบ้างเล่า ทันใดนั้น โหราจารย์จึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเป็นเจ้า ขอพระองค์อย่าได้น้อยพระทัยไปเลย ประโยชน์อันใหญ่ยิ่งจักบังเกิดมีแก่มหาราชเป็นเจ้าเป็นแน่แท้ เมื่อได้ทรงสดับโหรากราบทูลดังนั้น จึงตรัสสั่งให้รักษากาตัวนั้นไว้ให้ดี อย่าให้หนีหายไปได้เป็นอันขาดทีเดียว

พระยาอาทิตตราชองค์นี้ พระองค์ทรงพระปรีชาญาณในสรรพเหตุนั้นๆ วันหนึ่งพระองค์เข้าไปบรรทมในศิริคัพภ์ ในคืนวันนั้นเทวดาก็เข้ามาทูลพระยาอาทิตตราชด้วยนิมิตร์ฝันว่า ดูรามหาราชเจ้า ถ้ามหาราชเจ้าอยากทรงทราบในเหตุการณ์เรื่องนี้โดยเร็ว ให้มหาราชเจ้า เอาเด็กทารกที่คลอดจากครรภ์มารดาได้ ๗ วัน ไปนอนไว้ในสำนักแห่งกาตัวนั้น ถึงแม่นมจะเข้าไปให้นมกินก็อย่าให้พูดจากับเด็กทารกนั้นเป็นอันขาด ทารกได้ยินเสียงกาทุกวันๆ ก็จะพูดภาษากาได้แท้จริง เทวดาทูลดังนั้นก็อันตรธานหายไป ครั้นรุ่งขึ้นวันใหม่ พระยาอาทิตตราชจึงตรัสสั่งให้อำมาตย์ไปเที่ยวแสวงหาทารก ได้มาแล้วก็ให้กระทำตามอย่างที่เทวดาบอกนั้นทุกประการ ทารกอยู่ในสำนักแห่งกาตัวนันได้ ๖ ปีกับเดือนหนึ่ง ก็รู้ภาษากาและภาษาคนได้ดีทั้งสองฝ่าย

ครั้งนั้น นางผู้เป็นมารดาเห็นว่าลูกของตนรู้ภาษากาและภาษาคนดังนั้น จึงนำเข้าไปถวายพระยาอาทิตตราชว่า ข้าแต่มหาราชเป็นเจ้า บัดนี้ลูกข้าน้อยรู้ภาษาทั้งสองดีแล้ว ข้าน้อยจึงได้นำเข้ามาถวายใต้บาทยุคลมหาราชเป็นเจ้า ทันใดนั้น พระยาอาทิตตราชได้ทรงสดับคำของมารดากุมารกราบทูลดังนั้น จึงตรัสถามกุมารนั้นว่า ดูรากุมาร เจ้ารู้ภาษากาแท้หรือ กุมารน้อยผู้นั้นจึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเป็นเจ้า ข้าน้อยรู้ได้ดีแท้จริง

ในขณะนั้น พระยาอาทิตตราชจึงตรัสสั่งให้อำมาตย์ยกเอากรงกาตัวนั้นออกมาณท่ามกลางพระราชเรือนหลวง แล้วให้บริโภคอาหารอันควรบริโภค คือข้าวตอกคุลิการกับด้วยน้ำผึ้ง พร้อมทั้งน้ำที่เย็นใสบริสุทธิ์ ให้กาตัวนั้นบริโภคอิ่มหนำสำราญแล้ว จึงตรัสสั่งให้เชิญเสนามนตรีทั้งหลายเข้ามาประชุมในพระราชเรือนหลวงให้พร้อม เพื่อจะให้ได้ยินได้ฟังยังถ้อยคำอันกล้าหาญแห่งกาตัวนั้นจงทุก ๆ คน

ทันใดนั้น พระยาอาทิตตราชจึงตรัสสั่งกับด้วยกุมารน้อยให้ถามกาตัวนั้นว่า ดูรากา กูเข้าไปห้องพระบังคนด้วยความไม่มีไทษ เหตุใดมึงจึงมาขี้ใส่หัวและปากกูอย่างนี้เล่า กุมารน้อยผู้นั้นก็ถามกาตัวนั้นตามรับสั่งทุกประการ กาตัวนั้นจึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเป็นเจ้าในที่ห้องพระบังคนที่มหาราชเป็นเจ้าเสด็จเข้าไปนั้น ภายใต้ที่นั้นเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุของพระพุทเจ้าแท้จริง ปู่ตูข้าพระยากาเผือกที่อยู่ป่าหิมพานต์โพ้นบอกแก่ตูข้าไว้ดังนี้ ผิแลว่ามหาราชเจ้าอยากทรงทราบในเหตุการณ์อย่างนี้ จงปล่อยตูข้า ๆ จะได้กลับไปบอกพระยากาเผือกปู่ตูข้ามาเฝ้า กราบทูลเหตุการณ์นั้นๆ แก่มหาราชเจ้า กุมารน้อยผู้นั้นก็กราบทูลเหตุนั้นๆ ตามถ้อยคำที่กาบอก เมื่อพระยาอาทิตตราชได้ทรงสดับในถ้อยคำดังนั้น ก็ปล่อยยังกาตัวนั้น กาตัวนั้นก็นำข่าวสาส์นนั้นไปบอกแก่พระยากาเผือกให้แจ้งทุกประการ

เมื่อพระยากาเผือกได้รับข่าวสาส์นจากหลานดังนั้น ก็บังเกิดความปีติยินดียิ่งนัก จึงกล่าวกับหลานว่า สาธุดี ๆ ที่พระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าจะได้ปรากฏแก่พระราชาพระองค์นั้น แล้วจึงป่าวยังหมู่เสนารี้พลกทั้งหลายแต่ชั้นในประมาณ ๕๐๐ ตัวมาพร้อมกันแล้ว ให้กา ๒ ตัวนั้นคาบท่อนไม้ข้างละตัว ส่วนพระยากาเผือกนั้นจับอยู่ณท่ามกลาง บินมาแต่ที่อยู่ป่าหิมพานต์โพ้น มีประมาณ ๗ วันจึงมาถึงเมืองหริภุญไชย

อธิบายเหตุให้พึงรู้ดังนี้ ใช่แต่พระยากาเผือกตัวนี้เท่านั้น

๔๙ ยังพระยานกกระเหว่าตัวหนึ่ง ชื่อกุนาละ เป็นพระยาแก่หมู่นกทั้งหลายในป่าหิมพานต์ เขาจักเดินในป่าหิมพานต์ไปในที่ใด ๆ นกกระเหว่าอีก ๒ ตัวย่อมคาบท่อนไม้ข้างละตัว พระยานกกระเหว่าตัวนั้นก็จับอยู่ณท่ามกลางไปในที่นั้นๆ

อีกนัยหนึ่งว่า ยังมีพระยานกตัวหนึ่ง ชื่อว่าปุณณมุขนั้นก็ดี เมื่อเขาจะไปในที่ใดๆ ก็ดี นกอีก ๒ ตัวย่อมคาบท่อนไม้ข้างละตัวให้พระยาของเขาจับอยู่ณท่ามกลาง แล้วแต่พระยานกตัวนั้นจะมีความประสงค์ไปในที่ใด ๆ เขาทั้ง ๒ ก็พาไปในที่นั้นๆ ตามความประสงค์

อีกนัยหนึ่งว่า พระยาหงส์นั้นก็เหมือนกัน เมื่อจะไปในที่ใดๆ ย่อมให้หงส์ ๒ ตัวคาบท่อนไม้ข้างละตัว ส่วนพระยาหงส์นั้นย่อมจับอยู่ณท่ามกลาง ไปทางอากาศไปถึงเขาจิตตกูฎ และพระยาหงส์นั้นมีคมนกิริยา เมื่อจะไปในที่แห่งใด บ่าวตนย่อมหามไปเป็นปกติแท้จริง

ถึงแม้พระยากาเผือกตัวนี้ก็ดี เมื่อเวลาจะไปในที่ใดก็ตาม บ่าวย่อมหามไปทุกแห่งประดุจฉันนั้น เหตุดังนั้น เมื่อเวลาที่จะมาเมืองหริภุญไชย ทูลเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าทรงทำนาย ที่ประดิษฐานพระบรมธาตุแก่พระอาทิตตราชนั้น จับมาเหนือท่อนไม้ให้บ่าวหามมาเพื่อเหตุนั้น พระยากาเผือกมาถึงเมืองหริภุญไชยครั้งนั้น พระยาอาทิตตราชทรงจัดการต้อนรับพระยากาเผือกในที่ต้นไม้แห่งหนึ่ง แล้วอังคาสด้วยอาหารให้อิ่มหนำสำราญพร้อมทั้งบริวารทุกตัว ครั้นอิ่มหนำสำราญแล้ว พระยาอาทิตตราชจึงตรัสสั่งให้กุมารน้อยที่รู้ภาษากานั้นเข้ามาเจรจาไถ่ถาม เหตุการณ์นั้นๆแก่พระยากาเผือกว่า ดูราพระยากาเผือก พระพุทธเจ้าแห่งเราเสด็จมาประดิษฐานณที่นี้ด้วยเหตุอย่างใด และท่านได้มาตามอุปัฏฐากพระศาสดานั้น ท่านได้รู้เห็นอย่างไรบ้าง บัดนี้เราขอให้ท่านแสดงเหตุการณ์นั้นๆ แต่ต้นจนอวสาน มาให้ตูทั้งหลายแจ้งในกาลบัดนี้ด้วยเถิด

ทันใดนั้น พระยากาเผือกเมื่อได้ยินยังถ้อยคำที่กุมารน้อยถามดังนั้น ก็แสดงในเหตุการณ์นั้นๆ เป็นภาษากา ให้กุมารน้อยเก็บออกเป็นภาษาชาวหริภุญไชยว่า ในกาลก่อนโพ้น เมื่อพระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์อยู่ พระองค์เสด็จประทับในเมืองพาราณสี เพื่อจะโปรดยังเวไนยสรรพสัตว์ทั้งหลาย วันหนึ่งพระศาสดาเสด็จมาในเมืองหริภุญไชยโดยอากาศ จากพระนครพาราณสีในเวลารุ่งเช้า เพื่อจะรับเอายังข้าวบิณฑบาตแห่งชาวบ้านอฏวี ชาวบ้านทั้งหลายเห็นแล้วมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระศาสดา ให้ยังข้าวบิณฑบาตเป็นทาน เมื่อพระพุทธองค์ได้รับแล้วยังข้าวแห่งชาวบ้านนั้น ก็เทศนาสั่งสอนด้วยธรรมอันอุดม คนทั้งหลายได้ถึงแล้วยังพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง เขาทั้งหลายก็ตั้งอยู่ในเบญจศีล แล้วพระศาสดาก็เสด็จมาประทับณสถานที่นี้ ทรงพยากรณ์ว่า สถานที่นี้เป็นที่รื่นรมย์สุขสำราญยิ่งนัก ต่อไปภายหน้าธาตุกูตถาคตจักมาประดิษฐานตั้งอยู่ในสถานที่นี้ พระศาสดาทรงพยากรณ์ดังนี้ เมื่อพระยาอาทิตตราชได้ทรงสดับถ้อยคำที่กุมารน้อยเก็บความจากภาษากาอันพระยากาเผือกแสดงกราบทูลดังนั้น พระองค์ทรงปลาบปลื้มยิ่งนัก จึงตรัสกับด้วยพระยากาเผือกนั้นว่าท่านจงกลับไปสู่ที่อยู่ของท่านเถิด เราจักรักษาที่อันพระศาสดาประดิษฐานไว้ยังพระบรมธาตุให้รุ่งเรืองถาวรแท้จริง พระยากาเผือกก็ทูลลาพระยาอาทิตตราชกลับไปสู่ป่าหิมพานต์พร้อมด้วยหมู่บริวารแห่งตนวันนั้นแล

ในทันใดนั้น พระยาอาทิตตราชจึงตรัสสั่งให้รื้อห้องพระบังคนออกไปเสียจากที่นั้น แล้วให้กลบถมที่นั้นให้ราบเสมอดีงาม แล้วจึงตรัสสั่งให้ตีกลองป่าวร้องยังชาวเมืองทั้งหลายให้มาขุดที่นั้นให้เป็นหลุมกว้างยาวให้เสมอกันเป็นอันงามยิ่งนัก แล้วจึงให้อบหลุมนั้นด้วยธูปหอมเทียนหอมจุณจันทน์สุคันธรศ และให้เอาน้ำอบน้ำหอมมีประการต่างๆ มีประมาณ ๑,๐๐๐ อย่าง มาหลั่งมารดลงในที่นั้น ส่วนพระยาอาทิตตราชนั้นเล่า พระองค์สรงน้ำดำเศียรเสร็จแล้ว ทรงผ้าขาวอันบริสุทธิ์ประพรมองค์ด้วยเครื่องหอม ประดับองค์ด้วยเครื่องอลังการอันวิจิตรพร้อมทุกสิ่งทรงกระทำอัญชลีประทับอยู่ณที่นั้น แล้วน้อมพระทัยอันบริสุทธิ์ผ่องใสไปในพระศาสดา ถวายวจีเภทด้วยพระคาถาว่า โมเจถ ภนเต เป็นอาทิ ความว่า พระพุทธเจ้าตนมีภาคยะอันงาม พระองค์จงปล่อยยังตูข้าทั้งหลาย ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ พระองค์จงได้กระทำให้ปรากฏโดยพลันแก่ตูข้าทั้งหลาย ขอพระองค์จงได้สำแดงยังพระปาฏิหาริย์อันงามแก่ตูทั้งหลายในกาลบัดนี้ ข้าแต่พระศาสดาผู้เป็นใหญ่กว่านักปราชญ์ทั้งหลาย ขอพระองค์จงได้กระทำยังคนทั้งหลายให้เลื่อมใสในพระองค์ณกาลบัดนี้ด้วยเถิด

ในทันใดนั้น พระโกศทองคำอันพระยาศรีธรรมาโศก ทรงให้ช่างรจนาสำหรับบรรจุพระบรมธาตุ ซึ่งเทวดานำเอามาประดิษฐานไว้ณที่นั้น ก็เสด็จออกมาปรากฏในท่ามกลางหลุม ซึ่งเต็มไปด้วยวัตถุเครื่องหอมทั้งหลาย เป็นอันรุ่งเรืองสูงกว่าพื้นแผ่นดินประมาณ ๓ ศอก เปล่งออกยังพระรัศมี ๖ ประการ เป็นอารมณ์แก่จักขุทวารวิถีแห่งสัปปุริสที่มาประจำอยูณที่นั้น ด้วยกำลังอธิษฐานเจตนาแห่งพระยาอาทิตตราชนั้นแท้จริง

ครั้งนั้น พระยาอาทิตตราชพร้อมด้วยหมู่นักปราชญ์และบริวารทั้งหลาย เมื่อได้ทอดพระเนตรแลเห็นยังพระโกศพระบรมธาตุ เปล่งออกซึ่งพระรัศมีด้วยประการดังนั้น เขาทั้งหลายมีพระทัยและใจเต็มไปด้วยปีติ ๕ ประการ มีพระสุรเสียงและเสียงโห่ร้องกึกก้องไปณที่นั้น บ้างก็เอาผ้าโบกกวัดแกว่งแล้วทอดบูชา บ้างก็ถอดออกยังเครื่องประดับของตนๆ เป็นต้นว่า แหวน กุณฑล จักรเกล้า ดอกไม้ทองคำ บ้างก็บูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนและเครื่องหอมทั้งหลายต่าง ๆ บ้างก็บูชาด้วยเสียงขับเสียงร้องและด้วยเสียงดุริยดนตรีทั้งหลาย บ้างก็บูชาด้วยเสียงสาธุการเซ็งแซ่อยู่ในที่นั้น แล้วพระยาอาทิตตราชจึงมาทรงคำนึงแต่ในพระทัยว่า พระบรมธาตุพระศาสดาประดิษฐานอยู่ในที่นี้ไปสมควรยิ่งนัก อาตมจักอาราธนาไปประดิษฐานที่อื่นจึงจะสมควร พระองค์ทรงคำนึงดังนี้แล้ว ทันใดนั้น เทวดาก็บันดาลให้พระโกศพระบรมธาตุจมลงณที่นั้นลึกยิ่งกว่าเก่ายิ่งนัก ไม่ให้บุคคลผู้ใดขุดค้นหาพบได้ แม้ถึงพระยาอาทิตตราชขุดตามลงไปสักเท่าใดๆก็ดี ก็ไม่สามารถจะพบโกศพระบรมธาตุแท้จริง

ขณะนั้น พระยาอาทิตตราชพร้อมด้วยหมู่ชาวเจ้าและหมู่เสนามนตรีทั้งหลาย ก็บังเกิดเสียพระทัยและเสียใจเป็นอันมากยิ่งนัก แล้วพระองค์จึงตรัสถามมหาเถรเจ้าทั้งหลายที่มาประชุมณที่นั้นว่า ข้าแต่เจ้ากูทั้งหลาย โกศพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าแห่งเรานี้ เหตุใดแลจมลงไปอีกเช่นนั้นเล่า

พระมหาเถรเจ้าทั้งหลายจึงกราบทูลว่า ดูรามหาราช ถ้าเป็นเช่นนั้นขอมหาราชเจ้า จะได้จัดยังเครื่องสักการมาให้มาก แล้วอาตมาทั้งหลายจักขออาราธนาพระบรมธาตุพระศาสดา ให้เสด็จกลับคืนมาประดิษฐานอยู่ตามเดิมแท้จริง เมื่อพระยาอาทิตตราชได้ทรงสดับมหาเถรทูลดังนั้น จึงตรัสสั่งให้อำมาตย์ทั้งหลายจัดการตกแต่งพระนครหริภุญไชยด้วยช่อฉัตรต้นกล้วยต้นอ้อยพร้อมด้วยพวงดอกไม้และธูปเทียน ห้อยย้อยไปตามสองข้างหนทางทั่วไปทุกแห่งในพระนครหริภุญไชย แล้วให้หมู่กุมารและหมู่กุมารีทั้งหลายประดับเครื่องอลังการพร้อมทุกคน และให้แยกเป็นหมวด ๆ ละ ๑๐๐ คน หมวดหนึ่งให้นุ่งผ้าขาวมือถือดอกไม้แดง หมวดหนึ่งให้นุ่งผ้าแดงมือถือดอกไม้ขาว หมวดหนึ่งให้นุ่งผ้าเขียวมือถือดอกไม้เหลืองและเขียว หมวดหนึ่งให้นุ่งผ้าสีหม่น

๕๐มือถือดอกไม้ลิ้ว
๕๑ ลำดับแต่นั้นไป หมวดหนึ่งให้นุ่งผ้าขาวถือช่อแดง หมวดหนึ่งให้นุ่งผ้าแดงถือช่อขาว หมวดหนึ่งให้นุ่งผ้าเขียวถือช่อเหลืองและเขียว หมวดหนึ่งให้นุ่งผ้าสีหม่นถือช่อลิ้ว ต่อแต่นั้นไปคนเสมอกลางคนหรือแก่ ให้นุ่งผ้าสีต่าง ๆ มือถือเครื่องบูชาแปลกๆกัน เรียงรายกันอยู่ตามสองข้างริมทาง ต่อจากนั้น อาราธนาเจ้ากูสงฆ์ให้มาพร้อมทุกองค์ ในขณะเมื่อสงฆ์และชาวเมืองตกแต่งรุ่งเรืองไปด้วยเสื้อผ้า หันหน้าเฉพาะสู่ที่พระบรมธาตุพร้อมกันแล้ว ลมที่ละเอียดอ่อนก็มาพัดโชยชายหางช่อธงไชย ที่มีวรรณขาวเหลืองหม่นลิ้ว งามประดุจดังเงินรุ่งเรือง ตั้งอยู่บนอากาศวันนั้นแล

ถัดนั้น พระยาอาทิตตราชจึงกล่าวคาถาอาราธนาพระธาตุพระพุทธเจ้ามีประการต่าง ๆ ด้วยวจีเภทอันอุดมสมภารแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้ามาถวายเป็นคำสัตย์ด้วยประการดังนั้นแล้ว อันว่าผะอบคำอันเป็นอาธารวัตถุก็พุ่งขึ้นมาเพียงเกล้า มีวรรณประดุจดังดาวประกายพฤกษ์ เพื่อตัดสนเท่ห์แห่งชาวเมืองหริภุญไชยทุกคน ผะอบคำนั้นมีทรงสัณฐานดังปลีกล้วย แล้วก็เปล่งออกยังรัศมีทั้งมวลแผ่ซ่านปกคลุมเมืองหริภุญไชยทั้งสิ้น อันอาเกียรณ์เต็มไปด้วยห่าฝนดอกไม้ ห่าฝนผ้าอาภรณ์ อันชาวเมืองซัดขึ้นไปถวายบูชา ถัดนั้นเล่า ก็อาเกียรณ์เต็มไปด้วยเสียงโห่เสียงสาธุการมากกว่าร้อยกว่าพันแท้ไซร้ ครั้งนั้นพระยาอาทิตตราช ได้เห็นอานุภาพธาตุแห่งพระพุทธเจ้าดังนั้นก็มีใจยินดีมากนัก จึงให้ขุดภายใต้พื้นต่ำให้เสมอดีแล้ว ก็ให้ก่อดินและอิฐขึ้นมาพอประมาณ และให้ตีดุริยดนตรีด้วยอเนกวาร จึงให้ช่างทั้งหลายมาตีโกศเงินอันหนึ่ง งามประดุจดังโกศคำอันทรงธาตุเจ้าแต่ก่อนนั้นเล

โกศคำอันนั้น พระยาธรรมาโศกราชให้สร้างใส่ธาตุเจ้าทุกองค์ ที่ท้าวพระยาเชิญไปบรรจุไว้ในมหาเจดีย์ในเมืองทั้ง ๘ คือเมืองราชคฤห์ เมืองสาวัตถี เมืองกบิลวัตถุ เมืองปาวา เมืองกุสินารา เมืองรามนคร เมืองอัลลกัปปะนคร และเมืองเวฏฐทีปกะนครนั้นแล

พระยาธรรมาโศกเอาธาตุเจ้าใส่ในผะอบคำทั้งหลายก็พร่ำหลายอัน เทวดาทั้งหลายจึงนำเอาธาตุเจ้า ๘ องค์นี้ กับทั้งโกศคำมาไว้ในที่ๆพระพุทธเจ้าอธิษฐานไว้ในเมืองหริภุญไชย ด้วยอธิษฐานแห่งพระพุทธเจ้านั้น

พระธาตุเจ้า ๘ องค์นี้ อาจารย์เจ้าลางจำพวกว่าธาตุเขี้ยว ลางจำพวกว่าธาตุกระดูกกระหม่อม ลางจำพวกว่าสรีรธาตุ บ่นิยมอาจารย์เจ้ายังว่าเป็น ๓ นัยดังนี้

ถัดนั้นพระยาอาทิตตราชก็ให้กระทำโกศทองคำ โกศทองเหลือง โกศงา โกศไม้จันทน์ ให้ใหญ่กว่ากันเป็นลำดับ เอาโกศไม้จันทน์ไว้ภายนอก เอาโกศงาไว้ภายในโกศไม้จันทน์ เอาโกศทองเหลืองซ้อนไว้ภายในโกศงา แล้วเอาโกศทองคำอันมากับพระธาตุเจ้าแต่เดิมนั้นไว้ภายในโกศทั้งหลาย แล้วก็ให้รจนาหินก้อนหนึ่งหนาประมาณศอกหนึ่ง ยาวและกว้างประมาณ ๒ ศอกคืบ สำหรับรองโกศธาตุทั้งหลายนั้น ดูงามหาที่จะเปรียบเทียบบ่ได้

ตั้งแต่พระพุทธเจ้าแห่งเรานิพพานไปแล้ว ปีเดือนวันคืนมาได้พันปลาย ๘ ปี ว่าธาตุพระพุทธเจ้าเพิ่งออกมาปรากฏเป็นที่บูชาแก่มนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ในขณะเมื่อพระยาอาทิตตราชอาราธนาด้วยประการดังกล่าวมานั้น เหตุดังนั้น อาจารย์เจ้าจึงกล่าวเป็นคาถาแปลความก็คล้ายกับหนหลัง

พระยาอาทิตตราชก็ให้เอาหินมาเพื่อจักก่อให้เป็นเจดีย์ ครั้นได้หินมาบริบูรณ์แล้ว จึงให้หานักปราชญ์มาพิจารณาดูวันยามฉายาฤกษ์อันเป็นมงคลแล ครั้นได้ฤกษ์แล้ว พระยาก็แบกหินอันเป็นมงคลนั้นมาก่อในท่ามกลาง เพื่อจักให้ก่อก่อนสำหรับเป็นที่รองโกศธาตุพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้นแล ครั้นพระยาหยิบหินก้อนนั้นยอขึ้นก็ให้ประโคมดุริยดนตรีเป็นมงคลเสียงอึงมี่นัก เป็นดังเมฆอันพัดกันในท้องฟ้าฉะนั้น ก็เป็นอันดังกึกก้องทั่วเมืองหริภุญไชยทั้งมวลนั้น พระยาก็ให้ก่อในที่หนึ่ง แล้วก็ให้ก่อเป็น ๔ เสาดังเสาปราสาทสูงได้ ๑๒ ศอก ให้เป็นประตูโค้งทั้ง ๔ ด้านอยู่ภายนอกโกศธาตุเจดีย์นั้นแล ในเมื่อธาตุเจดีย์เสร็จพร้อมทุกอันแล้ว พระยาก็ให้ฉลองเจดีย์มีเครื่องพร้อมทุกอันกระทำบูชาอยู่ถ้วน ๗ วัน ๗ คืน ในวันถ้วน ๗ นั้นทรงถวายเครื่องอัฐบริขารเป็นทานแก่สงฆ์เจ้าทั้งหลายมากนักแล

ฝ่ายนางปทุมวดีผู้เป็นอัครมเหษีนั้น ก็ให้ก่อเจดีย์องค์หนึ่งเป็นเหลี่ยมภายข้างก้ำเหนือมหาธาตุเจ้า นางก็ให้ใส่ทองคำลงที่ยอด จึงให้ชื่อว่าสุวรรณเจดีย์ ครั้นว่าเสร็จพร้อมบริบูรณ์แล้ว นางก็ให้ฉลองบูชาสักการมากนัก ทั้งได้ถวายอัฐบริขารเป็นทานแก่ภิกษุสงฆ์ และท้าวทั้ง ๒ ประกอบด้วยศรัทธาเสมอกัน บำเพ็ญยังบุญเป็นต้นว่า ให้ทานรักษาศีลฟังธรรมมิได้ขาด มีใจเลื่อมใสศรัทธาในแก้วเจ้าทั้ง ๓ ทุกวันนั้นแล พระยาอาทิตตราชได้เสวยราชสมบัติในเมืองหริภุญไชยได้ ๑๓ ปี มีพระชนมายุได้ ๘๐ ปี ก็สิ้นปัญจขันธ์วันนั้นแล

สืบลูกหลานเหลนแห่งนางจามเทวี ตั้งแต่พระยามหันตยศมาถึงพระยาอาทิตตราชนี้ได้ ๒๗ พระองค์ ล้วนแต่เป็นปัจจยทายกช่วยรักษาศาสนาพระพุทธเจ้ามาทุกพระองค์แล

ครั้งนั้น ยังมีพระยาตนหนึ่งชื่อว่าธรรมิกราช ได้เป็นพระยาแทน ท่านก็ประกอบด้วยศรัทธา ได้สร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่งสูงได้ ๑๘ ศอก เรียกว่าอัฏฐารสมาจนบัดนี้แล ครั้นเสร็จบริบูรณ์แล้ว พระยาก็ให้แต่งเครื่องบูชาฉลองเป็นอันมาก มีต้นว่าธงผ้า ธงไชย และพวงดอกไม้ห้อยย้อยมีวรรณต่างๆ แล มีลมพัดกวัดแกว่งสักการบูชาถ้วน ๗ วัน ๗ คืน ในวันถ้วน ๗ นั้นก็ให้ถวายเครื่องอัฐบริขารเป็นทานแก่ภิกษุสงฆ์ ท้าวก็มีใจศรัทธาในแก้วเจ้าทั้ง ๓ มีให้ทานรักษาศีลฟังธรรมเป็นต้น เสวยราชสมบัติได้ ๕ ขวบเข้า ก็ทำลายปัญจขันธ์วันนั้นแล ถัดนั้น ยังมีพระยาตนหนึ่งชื่อว่ารถราช ได้เป็นพระยาแทนได้ ๕ ขวบเข้า ก็ทำลายปัญจขันธ์แล ถัดนั้นยังมีพระยาตนหนึ่งชื่อว่าสรรพสิทธิ์ เกิดมาได้ ๕ ขวบ ได้เป็นพระยาแทนพ่อ จึงให้ช่างมาเขียนรูปพระพุทธเจ้าไว้ในผ้าสำหรับเอาไว้ไหว้ พลอยให้สร้างพระพุทธรูปด้วยทองแดงองค์ ๑ ด้วยเงินองค์ ๑ ด้วยทองคำองค์ ๑ ด้วยดินบก

๕๒องค์ ๑ และด้วยงาองค์ ๑ สำหรับเอาไว้ไหว้และบูชานั้นแล เมื่อเป็นพระยาใหญ่มาได้ ๗ ปี ก็ปลงราชสมบัติไว้ให้แก่แม่ แล้วออกไปบวชเป็นสามเณร ได้ให้ผะอบสำหรับใส่พระสารีริกธาตุ แล้วให้สร้างหนังสือ ๑๒ คัมภีร์ เมื่อใหญ่ได้ ๑๐ ปี
๕๓ ให้สร้างมหาวันกับทั้งเจดีย์ เมื่อเสร็จแล้วก็ให้ฉลองและถวายทานเป็นอันมาก แล้วให้สร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่งไว้ในมหาวันนั้น เมื่อท่านมีอายุได้ ๑๗ ปีจึงสึกออกเป็นคน ก็ได้ราชาภิเษก ชื่อว่าพระยาสรรพสิทธิ์นั้นแล แต่นั้นไปก็เสวยราชสมบัติตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมบ่ให้ผิด แล้วกระทำคูหาอันหนึ่งริมต้นมหาโพธิ์ ถัดนั้นให้สร้างพระพุทธรูปอันแล้วด้วยดินเผา ๑๐ องค์ไว้ในคูหานั้น ถัดนั้นให้สร้างพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งแล้วด้วยทองแดง สิ้น ๗๐๐ กหาปณะ แล้วก็ให้พอกด้วยคำ ถัดนั้นให้สร้างพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งไว้ในเค้าต้นไม้มุจจลินท์ สิ้น ๒๕ กหาปณะ ถัดนั้นให้แต่งดอกไม้คำประดับด้วยแก้ว ๗ สิ่งไว้ในหอ ถัดนั้นให้สร้างธรรมปิฏกทั้ง ๓ บริบูรณ์ทุกคัมภีร์ แล้วให้สร้างพระเจดีย์องค์หนึ่งชื่อรัตนเจดีย์ ให้มีที่บูชาพร้อมทุกอันแล เมื่อพระยามีอายุได้ ๑๙ ปีก็ให้ฉลองพระเจดีย์ และถวายทานแก่ชาวเจ้าทั้งหลาย อันมาชุมนุมกันในที่นั้น ชาวเจ้าทั้งหลายฝูงอันมาแต่ลังกาทวีปนั้น เอาลูกมหาโพธิ์มาถวายแก่พระยา ๆ ก็ให้ปลูกไว้ในเมืองหริภุญไชยภายใต้มาเศวตฉัตร แล้วให้สร้างพระพุทธรูปองค์ ๑ กับบรรณศาลาหลัง ๑ สำหรับไว้พระพุทธรูปนั้น ครั้นเสร็จแล้วก็ให้ฉลองนั้นแล ถัดนั้นให้กระทำโกศทองคำอันหนึ่งประดับด้วยแก้ว ๗ สิ่งใส่ภายนอกโกศทองคำ อันพระยาอาทิตตราชกระทำไว้เมื่อก่อนนั้น แล้วให้เอาหินมาก่อครอบปราสาท อันพระยาอาทิตตราชสร้างสูงได้ ๒๔ ศอก แล้วให้แต่งเครื่องบูชา มีต้นว่าปี่พาทย์ คนขับ คนฟ้อน และคนทำแบบทั้งหลาย ไว้ให้อุปัฏฐากปฏิบัติบูชาทุกค่ำเช้าตราบเท่าถึงบัดนี้แล เมื่อพระยามีอายุได้ ๒๖ ปีก็กระทำเดชรี้พลไป แล้วกระทำกุฎีวิหารและอุปัฏฐากด้วยจตุปัจจัยนั้นแล พระยาตนนั้นมีศรัทธาในแก้วทั้ง ๓ ยิ่งนัก ได้ให้น้ำและจังหันแก่พระสงฆ์ ๑๐๐ หาบทุกวัน ถัดนั้นให้นาเป็นของบูชาธรรม ๔ เผียก
๕๔ ถัดนั้นให้นาเป็นจังหันแก่ชาวเจ้านั้น ๒๗๘ เผียก แล้วให้จารีกไว้ในหินสำหรับรองพระพุทธรูปเจ้าทั้ง ๒ หน้านั้น เมื่อพระยามีอายุได้ ๓๑ ปี ได้กระทำอุโบสถาคาร และแจกข้าวสุกแก่ชาวเจ้าอันมาในอุโบสถนั้น ๑๐ เผียกแล เมื่อพระยามีอายุได้ ๓๒ ปื ก็ละฆราวาสสมบัติออกบวชพร้อมด้วยลูก ๒ คนไปอยู่ในอุโบสถนั้น เขาทั้ง ๓ คนพ่อลูกอยู่กระทำสมณะพอดีแล้วก็สึกออกมาเป็นพระยา ก็ให้สร้างสถูปรูปเจดีย์เป็นอันมาก ท่านเป็นพระยาได้ ๔๕ ปี ก็สิ้นอายุนั้นแล

ถัดนั้นลูกท่านชื่อเชษฐราชได้เป็นพระยาแทนได้ ๑๕ ปี ก็สิ้นอายุ ถัดนั้นลูกท่านชื่อจักเยกะราชเป็นพระยาแทนได้ ๑๒ ปี ก็สิ้นอายุ ถัดนั้นพระยาผู้ชื่อโธรการเป็นพระยาแทนได้ ๓ เดือน ก็สิ้นอายุ ถัดนั้นพระยาผู้ชื่อตวาญชะเป็นพระยาแทนได้ ๑๒ ปี ก็สิ้นอายุ ถัดนั้นพระยาชื่อเตโวเป็นพระยาแทนได้ ๓ ปี ก็สิ้นอายุ ถัดนั้นพระยาผู้ชื่อสิริบุญชะเป็นพระยาแทนได้ ๒๐ ปี ก็สิ้นอายุ ถัดนั้นพระยาผู้ชื่ออุเทนเป็นพระยาแทนได้ปี ๑ ก็สิ้นอายุ ถัดนั้นพระยาผู้ชื่อพินไตย

๕๕ เป็นพระยาแทนได้ ๓๐ ปี ก็สิ้นอายุ

ยังมีอำมาตย์ผู้หนึ่งชื่อไทยอำมาตย์ ให้มันไปกินเมืองเขลางค์โพ้น มันก็เอารี้พลมารบเมืองหริภุญไชย และคนทั้งหลายก็มาไหว้พระยาว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า บัดนี้ชาวเขลางค์จักมารบเอาเมืองหริภุญไชยบัดนี้แล พระยาเท่า

๕๖เล่นหมากสะกาอยู่มิได้พูดประการใด ไทยอำมาตย์มันก็ปองเอาเมืองหริภุญไชยได้ แล้วได้เป็นพระยาแทน พระยาพินไตยมันก็หนีไปหนตะวันตกเวียง ไทยอำมาตย์มันก็ให้รี้พลขับไปทัน เขาก็ฆ่าพระยาเสีย แล้วคืนมาบอกแก่พระยาไทยอำมาตย์ว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ให้ตูข้าไปขับพระยาทันแล้ว ตูข้าก็ฆ่าเสียแล้ว พระยาไทยอำมาตย์ก็ให้ไปส่งสการศพเสีย ไทยอำมาตย์ได้กินเมืองไม่นานเท่าใดก็สิ้นอายุนั้นแล ถัดนั้นพระยาผู้ชื่อว่าอาตานนะ มันผู้นี่มิได้คารวะแก้วทั้ง ๓ ย่อมให้ขุดรื้อพระเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ เป็นพระยาได้ ๓ ปี ก็สิ้นอายุ ถัดนั้นพระยามุตตะเป็นพระยาแทนได้ปี ๑ ก็สิ้นอายุ บัดนั้นพระยาตนหนึ่งชื่อว่าหวามราชเป็นพระยาแทนได้ ๑๐ ปี ก็สิ้นอายุ ถัดนั้นพระยาตนหนึ่งชื่อว่าพระยาถรดเป็นพระยาแทนได้ ๑๐ ปี ก็สิ้นอายุ ถัดนั้นพระยาโยคเป็นพระยาแทนได้ ๑๐ ปี ก็สิ้นอายุ ถัดนั้นพระยาอ้ายเป็นพระยาแทนได้ ๓ เดือน ก็สิ้นอายุ ถัดนั้นพระยาเสตเป็นพระยาแทนได้ปี ๑ ก็สิ้นอายุ ถัดนั้นพระยาโลละเป็นพระยาแทนได้ ๓ ปี ก็สิ้นอายุ ถัดนั้นพระยาโยตตะเป็นพระยาแทนได้ ๓ ปี ก็สิ้นอายุ ถัดนั้นพระยาญีบาเป็นพระยาแทนได้ ๓ ปี
๕๗ ก็สิ้นอายุ

ครั้งนั้นพระยามังรายผู้กินเมืองเชียงรายโพ้น ได้ยินข่าวสาส์นเมืองหริภุญไชยว่าสุขเกษมยิ่งนัก จึงเจรจากับด้วยอำมาตย์ทั้งหลายว่าฉะนี้ ดูกรอำมาตย์ทั้งหลาย ดังเราได้ยินมาว่าเมืองหริภุญไชยสุขเกษมดังฤๅ เราจักปองเอาให้ได้นั้นแล อำมาตย์ฝูงอื่นมิได้ทูลสักคนแลยังมีอำมาตย์ผู้หนึ่งชื่ออ้ายฟ้า มันก็ยอมือไหว้ว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ๆ จงพิจารณาอันจักปองเอาเมืองหริภุญไชยนั้นไม่ยากเลย พระยามังรายกล่าวว่าดังฤๅมึงว่าไม่ยาก อ้ายฟ้าว่าข้าแต่มหาราชเจ้า ผู้ข้าจักพิจารณาดูสักคืนหนึ่งก่อน ข้าพิจารณาได้แล้วหากจักมาไหว้มหาราชเจ้าแลวันภายหลังมันจึงไปไหว้พระยามังรายในที่สงัดว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ๆ จงริบเอาช้างม้าลูกและเมียของข้าให้สิ้นแล้ว จงขับข้าเสียจากเมืองเชียงรายนี้ แล้วจงเอากลองไปตีป่าวประกาศรี้พลว่า อ้ายฟ้าปฏิบัติผิดในพระยาของเรา และผู้ใดหากเห็นในที่ใด จงให้ขับหนีไปจากอาณารัฐแห่งเรานี้เถิด ครั้นว่าฉะนี้แล้ว ข้าจักหนีไปพึ่งยังพระยาญีบาโพ้นแล ครั้นว่าเข้าไปอยู่ในสำนักพระยาญีบาโพ้นแล้ว ข้าจักริปองในเมืองหริภุญไชยนั้นจักได้ด้วยง่ายแก่มหาราชเจ้าแล เมื่อข้าไปรู้ไปเห็นกิจภายนอกภายในถ้วนทุกสิ่งแล้ว กาลอันควรข้าก็จักกล่าวข่าวสาส์นมาถึงมหาราชเจ้าแล ในวันภายหลัง พระยามังรายจึงให้ตีกลองป่าวแก่คนทั้งมวลแล้ว จึงให้คนไปริบเอาช้างม้าและลูกเมียของอ้ายฟ้านับเสี้ยงนั้นแล อ้ายฟ้าก็หนีมาพึ่งพระยาญีบาแล้วกล่าวว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ตัวข้านี้หากเป็นข้าพระยามังรายแต่น้อยแท้ไซร้ บัดนี้ท่านฟังคำส่อเสียด จึงริบเอาสมบัติช้างม้าและลูกเมียของข้าสิ้น แล้วขับข้าหนีจากเมืองมา ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าห้าที่พึ่งบ่มิได้ ข้าจึงเข้ามาสู่สำนักแห่งพระองค์ เพื่อจักอุปัฏฐากพื้นตีนแห่งมหาราชเจ้าบัดนี้ ครั้นว่าอ้ายฟ้าไหว้แล้ว พระยาญีบาจึงให้ของรางวัลแก่มันเป็นอันมาก ในวันต่อมา พระยาจึงเรียกมาถามดูว่าดังนี้ ดูกรอ้ายฟ้า เมื่อมึงอยู่ในสำนักพระยามังรายนั้น พระยามังรายยังให้มึงรับราชกิจเป็นดังฤๅ อ้ายฟ้าจึงทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระยามังรายย่อมให้ข้าไต่สวนถ้อยความแห่งชาวเมือง และป่าวรี้พลทุกหมู่แล ทีนั้นพระยาญีบาก็เลี้ยงมันอยู่ในราชกิจอันไต่สวนถ้อยความนั้นก่อน อ้ายฟ้าก็ทำให้ชอบใจของพระยาญีบาทุกอันนั้นแล พระยาญีบาก็ใส่นาให้มันกิน คนทั้งหลายก็ยกย่องมันว่าดีทุกคน เมื่อวันภายหลังนั้น พระยาก็ให้มันรู้ด้วยอันส่วยเล่านั้นแล มันแต่งให้เขาเกลียดชังพระยาโดยมาก พระยาพึงใจแก่มันมากนัก พระยาให้มันแต่งรี้พลทั้งหลาย และกระทำกิจการงานบ้านเรือนทั้งมวลด้วย เมื่อหัวทีมันกระทำให้พึงใจของคนทั้งหลายมากนัก และพึงใจของพระยาญีบาทุกอันนั้นแล พระยาก็ปลงอาชญาไว้ให้แก่มัน ให้คนทั้งหลายฟังคำมันทุกคนนั้นแล ครั้นว่าอาชญาเมืองเข้ามาอยู่ในเงื้อมมือของมัน ทั้งภายนอกและภายในบริบูรณ์ทุกอันแล้ว อ้ายฟ้าจึงเอาข่าวสาส์นไปบอกแก่พระยามังรายว่า ทีนี้ควรมหาราชเจ้าจะเอารี้พลเข้ามาแล ทีนั้นพระยามังรายก็เอารี้พลเข้าไปตั้งอยู่ที่แชสักนั้นแล อ้ายฟ้ารู้ข่าวว่าพระยามังรายเอารี้พลมาตั้งอยู่ที่แชสักดังนั้น มันก็ไปบอกแก่พระยาญีบาว่า ข้าแต่มหาราชเจ้าดังได้ยินมาว่า พระยามังรายเอารี้พลมาตั้งที่แซสักนั้นนา มหาราชเจ้าจะกรุณาแก่ผู้ข้าทั้งหลายเป็นประการใด พระยาญีบาว่า ผิดังนั้นมึงจงเอารี้พลออกไปรบกับพระยามังรายเถิด อ้ายฟ้ามันยินคำพระยาว่าดังนั้น มันก็เอารี้พลออกไปแล้วมันก็ให้ไปบอกแก่พระยามังรายว่า ข้าไหว้ตีนมหาราชเจ้าว่าฉันใด รี้พลเชียงรายเราจักวกหลังชาวหริภุญไชยนี้ได้ ให้มหาราชเจ้ารีบมาพลันเถิด พระยามังรายก็รีบมาตั้งทัพอยู่ที่แชสักนั้น ก็รีบแต่งโยธาหมู่หนึ่งให้มาทางหนเหนือ ที่นั้นคนเรียกว่าดอยวกมาจนบัดนี้ ครั้นวกได้แล้วเขาก็ลงมานั้นแล ชาวหริภุญไชยรู้ข่าวว่าเขาวกหลังได้ เขาก็ลงมาทางตะวันตกแห่งเวียงหริภุญไชยนั้น โยธาทางเชียงรายก็มารบเขานั้นแล อันว่ารี้พลทั้งหลายทางหริภุญไชยก็แตกขจัดขจายไป คนทั้งหลายจึงเรียกที่นั้นว่าเชียงรายต่อเท่าบัดนี้ ครั้งนั้นอ้ายฟ้ารู้ข่าวว่าชาวหริภุญไชยพ่ายหนีไปดังนั้น มันก็คืนมาบอกแก่พระยาญีบาว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า บัดนี้โยธาชาวเชียงรายรบรี้พลชาวหริภุญไชยแห่งเราพ่ายแล้ว ช้างม้าขุนนางแห่งมหาราชเจ้ามีมากนักโดยแท้ มหาราชเจ้าจงเอาขุนนางช้างม้าไปสู่น้องท้าวพระยาเบิกในเมืองเขลางค์โพ้นก่อนเถิด ตูข้าจักรบอาษาป้องกันพระนครไว้ให้จงได้ พระยาญีบาก็ฟังถ้อยคำ แล้วจึงเอารี้พลช้างม้าขุนนางออกไปตามถ้อยคำแห่งอ้ายฟ้านั้น อ้ายฟ้าจึงรีบไปบอกแก่พระยามังรายว่า มหาราชเจ้าจงรีบมาโดยพลันเถิด พระยามังรายได้ยินข่าวสาส์นดังนั้นก็รีบมาโดยเร็วพลัน ครั้นพระยาญีบาพาเอาขุนนางช้างม้าหนี่ไปถึงดอยแห่งหนึ่งแล้ว จึงขึ้นไปบนดอยแลดูเมืองหริภุญไชยอันงดงามยิ่งนัก ท่านเสียดายจนน้ำตาไหลนั้นแล ดอยอันนั้นคนทั้งหลายจึงเรียกว่าดอยบาไห้ต่อเท่าจนบัดนี้แล

ครั้งนั้นพระยามังรายก็อยู่ในเมืองหริภุญไชยนั้น อ้ายฟ้ามันก็ไปที่หนองตาเดียว

๕๘นั้นแล ครั้นว่าพระยาญีบาไปพ้นดอยแล้ว มันก็เอารี้พลเข้ามาไหว้พระยามังรายว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ความปรารถนาทั้งมวลแห่งพระองค์ก็สัมฤทธิ์แก่มหาราชเจ้านี้แล้ว ครั้งนั้นพระยามังรายยินดีกับด้วยอ้ายฟ้ามากนัก จึงคืนลูกเมียช้างม้าข้าหญิงชายแก่อ้ายฟ้าดังเก่า ยังซ้ำให้รางวัลช้างม้าแก้วแหวนมากนักแล

พระยาญีบาก็ไปตายในสำนักของน้อง ชื่อว่าพระยาเบิกในเมืองเขลางค์โพ้นแล

แต่นั้นไปพระยามังรายก็เสวยราชสมบัติ กระทำให้จำเริญแก่ชาวเมืองทั้งหลายเป็นอันมาก แล้วจึงเจรจากับด้วยอ้ายฟ้าว่า ดูกรอ้ายฟ้า เมืองหริภุญไชยนี้เป็นเมืองมหาธาตุเจ้ากูอยู่มิได้แล กูจักออกไปอยู่ที่ทับทานเซ่โพ้น

๕๙ มึงจงอยู่เป็นใหญ่ในเมืองหริภุญไชยนี้เถิด พระยามังรายก็ให้อ้ายฟ้าเป็นใหญ่ในเมืองหริภุญไชยนั้น แล้วก็ออกไปอยู่ที่เมืองเซโพ้นแท้แล

เมื่อนั้นข้ามหาธาตุจักเอาคำพอกเสาปราสาทมหาธาตุได้พัน

๖๐แผ่นมีน้ำหนักได้ ๘๐๐ คำแล้ว ผ้าขาว
๖๑ทั้งหลายจึงไปไหว้มหาเถรเจ้าผู้รักษามหาธาตุเจ้า ๔ ตนซึ่งเป็นใหญ่ในที่นั้น ว่าบัดนี้แผ่นคำพอกเสาปราสาทมทาธาตุเจ้าพันแผ่นนั้นมีน้ำหนักได้ ๘๐๐ คำแล้วจะกระทำเป็นดังฤๅ มหาเถรเจ้ากล่าวว่า บัดนี้พระยามังรายยังไว้อ้ายฟ้าให้เป็นใหญ่ในที่นี้นา สูจงไปบอกแก่ขุนฟ้าเถิด ผ้าขาวก็ไปบอกแก่ขุนฟ้าทุกประการ แล้วขุนฟ้าจึงกล่าวว่า สูมาบอกแก่กู กูก็รู้ด้วยแท้ พระยามังรายเจ้ายังสมนา
๖๒สูทั้งหลายจงไปบอกแก่ท่านก่อนเถิด เขาทั้งหลายก็พากันไปบอกแก่พระยามังรายทุกประการนั้นแล พระยามังรายจึงว่า กูยังไว้ขุนฟ้าอยู่ที่นั้นให้เป็นใหญ่แท้จริง กูนี้เป็นขุนญวนขุนร้อยดอก กิจทั้งหลายทั้งมวลไม่เป็นใหญ่กว่ามหาเถรแล ขุนฟ้าก็ดี สูก็ดี มหาเถรเจ้าก็ดี ว่าอย่างไร จงพากันกระทำเถิด ผ้าขาวทั้งหลายกับคนทั้งหลายก็มาบอกทุกประการ ครั้งนั้นผ้าขาวขุนฟ้าและมหาเถรเจ้าทั้งหลาย ชุมนุมพร้อมกันแปลงที่รักษาธาตุเจ้าให้มั่นคง จึงให้คนทั้งหลายไปเอาหินมาแล้ว จึงพร้อมกันก่อครอบให้กลม มิให้เป็นดังคูหาเหมือนดังเมื่อก่อนนั้น ทางสูงได้ ๗๐ ศอก
๖๓ ให้รจนาให้วิจิตรในยอดแล้ว ก็ให้ใส่คำลงในที่นั้นแล

ถัดนั้นพระยามังรายออกมาตั้งอยู่ที่กุมกามแปลงบ้านอยู่ ๓ แห่ง แห่ง ๑ ชื่อว่าบ้านกลาง แห่ง ๑ ว่าบ้านลุ่ม แห่ง ๑ ชื่อว่าบ้านแหมนั้น ก็อยู่เสวยสมบัติในที่นั้น ท่านยินดีในศาสนาพระพุทธเจ้า จักใคร่กระทำบุญอันใหญ่ เป็นต้นว่าสร้างเจดีย์นั้น จึงให้อำมาตย์ทั้งหลายหาหินมาแล้วก็ให้ก่อเป็น ๔ เหลี่ยม แต่ละด้านให้มีพระพุทธรูปเจ้า ๑๔ องค์ แล้วให้ใส่คำแต่ยอดลงมาดูงามนัก ใส่ชื่อว่ากู่คำ แล้วให้ฉลองและถวายมหาทาน กับทั้งเครื่องอัฐบริขารแก่สงฆ์เจ้ามากนักแล

วันหนึ่งพระยามังรายไปมีแอ่วที่ตีนดอยอุจฉุบรรพต คือว่าดอยลวะโพ้น พระยาเห็นดอยอันหนึ่งใหญ่กว้างงามนัก จักใคร่ตั้งเมืองอยู่จึงเจรจากับด้วยอำมาตย์ทั้งหลายว่า ดูกรอำมาตย์ เราจักตั้งเมืองอยู่ที่นี่ อำมาตย์ก็ขานว่าที่นี้ดีแล พระยาจึงให้อำมาตย์ทั้งหลายพิจารณาดูเดือนวันยามนักขัตฤกษ์ดีแล้ว จึงให้แต่งเวียงวัดเอาทางยาวนั้น ๑,๐๐๐ วา ทางกว้าง ๙๐๐ วา แล้วจึงตั้งเรือนหลวง ๒๐ ห้อง เสร็จบริบูรณ์ทุกอัน จึงให้นักปราชญ์ทั้งหลายพิจารณาดูฤกษ์วันยามอันเป็นมงคลแล้ว ก็ให้จัดพิธีขึ้นสู่เรือนหลวงในวันนั้น เมืองอันนั้นใหม่นี้จึงได้ชื่อว่าเชียงใหม่เพื่อเหตุนั้นแล พระยามังรายเสวยราชสมบัติมิให้ผิดทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ ก็ป่าวชาวเมืองทั้งหลายให้สร้างสวนหมากแปลงเหมืองฝาย กระทำข้าวปีข้าวดอ

๖๔แล ถัดนั้นก็ป่าวคนทั้งหลายให้กระทำบุญรักษาศีล อันเหตุที่พระยาและชาวเมืองอันรู้กระทำบุญนั้น เมืองหริภุญไชยและเมืองเชียงใหม่จึงสุขเกษมมากนัก และประกอบด้วยโภคสมบัติมากนัก จึงปรากฏทั่วไปว่า ลือ ลวะ ลาว ชาวไตย ม่าน เม็ง ทุกแห่งนั้นแล

พระยามังรายมีลูกชาย ๒ คน ผู้ ๑ ชื่อว่าคราม ผู้ ๑ ชื่อว่าเครื่อง ๆ นั้นได้ไปกินเมืองเชียงราย กินเมืองอยู่ได้ ๒๓ ปี

๖๕ ก็สิ้นอายุนั้นแล ลูกชื่อว่าครามนี้กระทำส่งสการศพพ่อของตนแล้ว ก็เอากระดูกไปก่อเจดีย์ไว้ก้ำใต้เมืองเชียงใหม่ แล้วก็คืนมากินเมืองแทนพ่อของตนได้ ๔ เดือน ก็ให้ลูกของตนผู้หนึ่งชื่อว่าแสนพูเป็นพระยาแทน แล้วก็ไปหาเจ้าเครื่องอันเป็นน้องของตนยังเมืองเชียงรายโพ้น เจ้าเครื่องรู้ว่าพ่อของตนตาย ก็มาสู่เมืองเชียงใหม่เพื่อจักเอาเมืองแล แสนพูผู้หลานรู้ข่าวว่าอาว์จักมาเอาเมือง มันกลัวก็หนีไปหาพ่อยังเมืองเชียงรายโพ้นแล พระยาเครื่องก็เสวยราชสมบัติในเมืองเชียงใหม่และเมืองหริภุญไชยแล้วก็มีใจศรัทธาในแก้วทั้ง ๓ ได้ถวายทานมากนักมีต้นว่าอัฐบริขารแก่สงฆ์เจ้าทั้งหลาย เสวยราชสมบัติอยู่ได้ ๑๑ ปีกับ ๙ เดือน ย่อมปฏิบัติบูชาพระมหาธาตุเจ้าตราบเท่าชีวิตนั้นแล ลูกพระยาเครื่องกินเมืองได้ ๒ เดือนก็สิ้นอายุ

พระยาครามให้ลูกของตนผู้ชื่อว่าแสนพูมากินเมืองได้ ๓ เดือน พระยานำถุมยกรี้พลมาแต่เมืองเขลางค์ มารบเอาเมืองหริภุญไชยนั้นพระยาแสนพูออกหนีไปอยู่เมืองเขลางค์โพ้น ใช้ไปบอกแก่พ่อตนยังเมืองเชียงรายโพ้น พระยาครามก็ให้แสนพูเอารี้พลมารบ พระยานำถุมออกรบกับแสนพูได้ชนช้างกัน ส่วนรี้พลของพระยานำถุมก็แตกพ่ายหนีไป พระยาแสนพูก็ไล่จับเอาพระยานำถุมทั้งเป็น ก็เอาไปถวายแก่พระยาครามตนพ่อ พระยาครามให้มีใจกรุณาบ่ฆ่า จึงเอาไปไว้ยังเมืองเขินนั้นแล

สัตว์ฝูงนี้ครั้นเอาตัณหามานะเป็นหัวหน้าแล้ว ก็ย่อมประกอบด้วยภัยโศกทุกข์ประดุจดังพระยานำถุมนี้แล เหตุดังนั้นพระพุทธเจ้าเทศนาว่า ตณฺหาย ชายเต โสโก เป็นอาทิ อนุสาสนีแห่งพระพุทธเจ้าเทศนาไว้เป็นคำสอนแก่บริษัท คือคฤหัสถ์นักบวชทั้งหลายแล พระยาแสนพูได้เสวยราชสมบัติหาศัตรูบ่ได้ ต่อกาลบ่นานเท่าใด พระยาครามตนพ่อก็สิ้นอายุไป พระยาแสนพูก็จัดแจงส่งสการศพพระยาตนพ่อกระทำบุญอุทิศไปให้ แล้วจึงอุสสาภิเษกนางตนแม่ขึ้นเสวยราชสมบัติในเมืองนั้นแล

อยู่มาบ่นานเท่าใด พระยาแสนพูก็ออกไปยังเมืองเชียงราย สร้างเมืองเงินยาง

๖๖ พระยาแสนพูนี้มีศรัทธาในแก้วทั้ง ๓ ประการยิ่งนัก ให้สร้างสถูปรูปเจดีย์วิหารในเมืองนั้นมากนัก แล้วกลับมาอยู่เมืองหริภุญไชยนี้ดังเก่า แล้วให้สร้างพระพุทธรูปเจ้า ๒ องค์ไว้เหมือนดังนางจามเทวี กับให้แปลงธรรมสภาศาลา และให้ก่อเจดีย์สร้าง
๖๗มหาธาตุเจ้า กับทั้งพระพุทธรูปเจ้า ๒ องค์นั้นสิ้นคำแสน ๑ แล

ลูกท่านชื่อว่าพระยาคำฟู ออกไปรบเอาเมืองตากและแพร่ได้ข้ามาถวายแก่พระยาตนพ่อมากนัก ตั้งแต่นั้นไปพระยาคำฟูก็ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม แล้วไว้คนสำหรับให้กวาดลานมหาเจดีย์เจ้าด้านละคน ไว้ให้กวาดลานพระพุทธรูปเจ้าผู้หนึ่ง ไว้ให้กวาดลานมหาโพธิ์เจ้าผู้หนึ่ง ในวัดมหาวันนั้น

๖๘ ถัดนั้นก็ได้ถวายกัปปิยการกแก่ชาวเจ้าวัดละคนนั้นแล ครั้นอยู่มาบนานเท่าใด พระยาตนพ่อก็สิ้นอายุ พระยาคำฟูตนลูกก็ให้อำมาตย์ผู้หนึ่งอยู่รักษาเมืองหริภุญไชย ส่วนพระยาก็ไปส่งสการศพพระยาตนพ่อ แล้วก็ได้กินเมืองเชียงรายแทนพ่อตนนั้นแล ครั้นพระยาคำฟูได้เป็นใหญ่แล้ว ก็มาคำนึงในใจว่า กูได้เป็นใหญ่ฉะนี้ก็เหตุด้วยบุญ ควรกูจะกระทำบุญเพิ่มเติมอีกเถิด พระยาก็ให้เอาเงินและคำลิ่มออกมามากนัก จึงใช้ให้บัณฑิตผู้หนึ่งชื่อมณีวัง ให้เอาเงินและคำมาพอกมหาธาตุเจ้า กับให้แปลงจตุปัจจัยแก่ชาวเจ้าทั้งหลาย กับให้สร้างศาลาฟังธรรมใหญ่หลังหนึ่งหน้าพระธาตุเจ้านั้นแล มณีวังบัณฑิตก็ให้กระทำบริบูรณ์ทุกอัน แล้วจึงกลับไปบอกแก่พระยา ครั้นพระยาได้ยินแล้วก็มีปีติโสมนัสมากนัก พระยาก็กระทำบุญไปมิได้ขาดสาย กินเมืองอยู่ได้ ๑๐ ปี ก็สิ้นอายุไปแล

ถัดนั้นลูกผู้ชื่อว่าผายูเป็นพระยาแทน ประกอบด้วยศรัทธามากนัก จึงสร้างวัดลีเจียงพระนั้น พระยาใคร่ให้สร้างเจดีย์ จึงให้คนทั้งหลายหาดินและอิฐมา เขาไปหาทั่วทุกแห่ง เขาจึงไปเห็นเจดีย์หางรอบ

๖๙ใหญ่นัก เขาจึงมาบอกแก่พระยาๆ ก็ให้ไปเอาดินและอิฐทั้งหลายมักว่าเอามาก่อเจดีย์วัดลีเจียงพระนั้นแล ดินและอิฐอันหักอันย่อยที่ได้มานั้นน้อยนัก พระยาก็ให้ชาวเมืองก่อเป็นเจดีย์น้อยไว้องค์หนึ่งแล วัดอันนั้นแต่ก่อนชื่อว่าวัดชมพู บัดนี้เขาเรียกว่าวัดกู่น้อยอยู่หนภายใต้ พระยาผายูเกิดมาได้ ๒๐ ปี ได้เป็นพระยากินเมืองอยู่ได้ ๒๐ ปี ก็สิ้นอายุแล

ถัดนั้นท้าวกือนา

๗๐ได้เป็นพระยา ท้าวมีใจบุญนักย่อมให้ทานรักษาศีลทุกเมื่อ ท้าวก็ให้สร้างวัดพระยืนกับทั้งวัดสวนดอกไม้แล

ในเมื่อศักราชได้ ๗๙๓ ปีรวงเม็ด

๗๑ วันนั้นชาวเจ้าทั้งหลาย ๑๒ ตนอันมาแต่เมืองลังกาทวีปโพ้น เขาทั้งหลายพากันขออนุญาตแก่พระยาสุตตโสมแล้ว ก็ไปบวชใหม่ในสำนักมหากัสสปะเถรเจ้าในลังกาทวีปโพ้นแล ครั้นว่าพระยาได้ยินข่าวสาส์นศีลาธิคุณแห่งมหากัสสปะเถรเจ้าแต่ไกล พระยาก็มีใจยินดีนักจักใคร่ได้ไว้ จึงให้แต่งสำเภาใช้ให้คนไปนิมนต์เจ้าไทมา เจ้าไทก็บ่มา จึงให้ลูกศิษย์ตนหนึ่งชื่อว่าอนุมัติอันอยู่ในอุทุมพรกับสามเณรผู้เป็นหลานตนหนึ่ง กับทั้งชาวเมืองพัน ๑๒ ตนนั้น เจ้าไทก็แต่งคมิกภัตต์บริบูรณ์แล้วทุกอัน ก็สั่งอำลาคารวะครูของตนแล้ว ก็ขึ้นขี่สำเภาข้ามมาอยู่ที่เมืองพัน ตามอาชญาแห่งพระยานั้น เจ้าไทก็กระทำศาสนาเป็นต้นว่าผูกสีมาอุโบสถกรรม แล้วกระทำอุโบสถและปวารณากรรมกับด้วยชาวเจ้า ๑๒ ตนนั้น ภายหลังก็บวชสิสสานุศิษย์กว้างขวางยิ่งนัก เทียรย่อมรักษาสิกขาบทบริสุทธิทุกตน ศาสนาพระสัพพัญญูเจ้าก็รุ่งเรืองยิ่งนักในเมืองพันนั้นแล ถัดนั้นคนชาวเมืองกับพระยานั้นยินดียิ่งนักในสีลาทิคุณแห่งเจ้าไท แล้วใคร่จะอุสสาภิเษก เขาจึงสนทนาเจรจาซึ่งกันและกันว่า เราทั้งหลายจักให้นามพิเศษแก่เจ้าไทเป็นดังฤๅ ทีนั้นนักปราชญ์เจ้าจึงไหว้พระยาว่า ข้าแต่มหาราชนา ชื่อว่าดอกไม้มะเดื่อนั้นเป็นอันหายากนักในโลกนี้ และดอกไม้มะเดื่อทั้งมวลนั้นย่อมหายากนัก มหาอนุมัติเจ้าทรงสีลาธิคุณเป็นอันหายากนัก ประดุจดังดอกไม้มะเดื่อฉะนั้นแท้จริง เหตุดังนั้น เราเจ้าข้าทั้งหลายควรให้นามพิเศษแก่เจ้าไทยว่า อุทุมพรบุบผามหาสวามีแล พระยากับชาวเมืองทั้งมวลก็ถูกใจทุกคน ก็จึงพร้อมกันกระทำนามวิเศษว่าอุทุมพรบุบผามหาสวามีนั้นแล แต่นั้นศาสนาพระพุทธเจ้าเป็นอันรุ่งเรืองงามในเมืองเมง เป็นดังกล่าวมาแต่ภายหลังนั้นแล

ครั้งนั้นยังมีมหาเถรเจ้า ๒ ตนอันเป็นลูกชาวเมืองสุโขทัย ตน ๑ ชื่ออโนมทัสสี ตน ๑ ชื่อสุมนะ เจ้าไททั้ง ๒ ตนนี้เป็นลูกศิษย์มหาบรรพตะสังฆราชในเมืองสุโขทัย เจ้าไททั้ง ๒ ลงไปเรียนเอาปิฏกทั้ง ๓ ในเมืองอโยธยาโพ้น แล้วกลับมาสู่สำนักของมหาบรรพตะสังฆราชดังเก่านั้นแล มหาเถรเจ้าทั้ง ๒ ได้ยินข่าวว่าสีลาทิคุณแห่งอุทุมพรบุบผามหาสวามีเจ้าอันอยู่ในเมืองพัน อันพ่อค้าทั้งหลายออกไปเห็นแล้วมาบอกนั้น มหาเถรเจ้าทั้ง ๒ ก็ไปสู่สำนักมหาสวามีเจ้าในเมืองพันนั้นแล ครั้นไปถึงแล้วก็พากันสึกแล้วก็ขอบวชในสำนักแห่งอุทุมพรบุบผามหาสวามีเจ้านั้นแล มหาสวามีเจ้าก็บวชเจ้าไททั้ง ๒ กับเจ้าสามเณรหลานของตน อันมากับด้วยตนแต่ลังกาทวีปให้เป็นภิกษุนั้นแล เจ้าไททั้ง ๒ พี่น้องก็เรียนเอาธรรมปิฎกทั้ง ๓ กับทั้งอุปเท่ห์ได้ ๕ วัสสาแล้ว ก็สั่งอำลามหาสวามีเจ้ามาสู่เมืองสุโขทัยนั้นแล มหาสวามีเจ้าก็ให้นิสสัยมุตต์แก่เจ้าไททั้ง ๒ ว่าฉะนี้ว่า แต่นี้ไปท่านทั้ง ๒ อย่าได้เอานิสสัยเลย เมื่อท่านทั้ง ๒ กลับไปอยู่เมืองสุโขทัยโพ้นได้วัสสา ๑ แล้ว

๗๒ จงกลับมาหาเรา ๆ จะให้นิสสัยมุตต์แก่ท่านได้ชื่อว่ามหาเถรเจ้าแล ครั้นว่ามหาสวามีสั่งแล้วเจ้าไททั้ง ๒ ก็สมาทานเอาธุดงควัตร์ทั้ง ๑๓ แล้วก็มาสู่เมืองสุโขทัยดังเก่า เจ้าไททั้ง ๒ มาอยู่ในเมืองสุโขทัยได้ ๕
๗๓ วัสสาแล้ว เมื่อจักไปสู่สำนักแห่งอุทุมพรบุบผามหาสวามีเจ้าเล่า จึงเอาชาวเจ้าทั้งหลาย ๘ ตน คือ เจ้าอานนท์ ๑ เจ้าพุทธสาคร ๑ เจ้าสุชาตะ ๑ เจ้าเขมะ ๑ เจ้าปียทัสสี ๑ เจ้าสุวัณณคิรี ๑ เจ้าเวสสภู ๑ เจ้าสัทธาติสสะ ๑
๗๔ สำนักแห่งอุทุมพรบุบผามหาสวามีเจ้าแล้วขอให้บวชใหม่ทุกตนนั้นแล มหาสวามีเจ้าก็ให้เจ้าอโนมทัสสีเป็นอุปัชฌายะแก่เจ้าทั้ง ๓ ตน คือ เจ้าเขมะ ๑ เจ้าสุวัณณคีรี ๑ และเจ้าปิยทัสสี ๑ นั้นแล้ว ก็ให้เจ้าสุมนะผู้เป็นอุปถัมภ์แห่งตน เป็นอุปัชฌายะแก่เจ้าทั้ง ๕ ตน คือ เจ้าอานนท์ ๑ เจ้าพุทธสาคร ๑ เจ้าสุชาตะ ๑ เจ้าเวสสภู ๑ เจ้าสัทธาติสสะ ๑ เจ้าทั้งหลายก็ได้ตั้งอยู่ในภิกษุภาวะใหม่ทุกตนนั้นแล เจ้าทั้งหลายอยู่ในสำนักแห่งอุทุมพรบุบผามหาสวามีเจ้านั้นสิ้นประมาณ ๓ เดือน อุทุมพรบุบผามหาสวามีจึงเจรจากับชาวเจ้าทั้งหลายว่าฉะนี้ ดูราอาวุโสท่านทั้งหลาย ศาสนาอันกูนำมาแต่ลังกาทวีปนั้นไม่มั่นคงในเมืองเมงนี้นาจักไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองสูโพ้นต่อเท่า ๕,๐๐๐ ปีแล เหตุดังนั้น สูท่านทั้งหลายรีบเอาศาสนากลับไปตั้งในเมืองสูโพ้นเถิด ชาวเจ้าทั้งหลายได้ยินคำเจ้าไทว่าดังนั้นแล้ว ก็ตกแต่งคมิกวัตร์แล้วก็ไปไหว้อำลากลับนั้นแล

ในขณะนั้น อุทุมพรบุบผามหาสวามีเจ้าใส่ใจว่าจักเอาบาตรไปส่งเจ้าอโนมทัสสีแท้แล เหตุเจ้าอโนมทัสสีแก่กว่าท่านทั้งหลายนา แต่กลับไปเอาบาตรเจ้าสุมนะสะพายเข้าแล้ว ก็มาส่งเจ้าอโนมทัสสีถึงกลางทางแล้วก็กลับไปสู่ที่อยู่แห่งตนนั้นแล ครั้งนั้นชาวเจ้าผู้เป็นศิษย์ทั้งหลายถามว่า เจ้ากูจักสะพายบาตรเจ้าสุมนะไปส่งหรือ อุทุมพรบุบผามหาสวามีขานว่า เออ อาวุโสทั้งหลายกูบ่ได้เอาบาตรเจ้าสุมนะไปส่งดอกกูสะพายบาตรศาสดา

๗๕อันเอามาแต่ลังกาทวีปไปส่ง เพื่อให้ตั้งมั่นและรุ่งเรืองอยู่ในเมืองไทยโพ้นต่อเท่า ๕,๐๐๐ ปี มหาเถรเจ้าทั้ง ๒ ชาวก็พาเอาชาวเจ้าทั้ง ๘ ตนมาสู่เมืองสุโขทัยแล

ล้ำขาเจ้าทั้ง ๒ เจ้าอโนมทัสสีไปอยู่เมืองสัชนาไลย ชาวเมืองก็ยินดีในสีลาทิคุณแห่งพระมหาเถรเจ้า ก็ให้นามวิเศษชื่อว่าสวามีนั้นแล ฝ่ายเจ้าสุมนะนั้น ก็มาอยู่ในป่าไม้ม่วงแดงในเมืองสุโขทัยนั้น เจ้าทั้ง ๒ นั้นก็กระทำศาสนาคืออันผูกสีมา และบวชชาวเจ้าให้เป็นภิกษุก็เทียรย่อมพร้อมกัน บางคาบเจ้าสุมนะเอาชาวเจ้าไปบวชในเมืองสัชนาไลย พร้อมด้วยเจ้าอโนมทัสสี บางคาบเจ้าอโนมทัสสีเอาชาวเจ้าไปบวชในเมืองสุโขทัย พร้อมกับด้วยเจ้าสุมนะ

ล้ำขาเจ้าทั้ง ๘ ตน เจ้าปิยทัสสีเอาศาสนาไปประดิษฐานในอโยธยา คนทั้งหลายก็ให้เป็นมหาสวามีนั้น เจ้าสุวัณณคิรีเอาศาสนาไปประดิษฐานในเมืองชะวา คนทั้งหลายก็ให้เป็นมหาสวามีนั้นแล เจ้าเวสสภูเอาศาสนาไปประดิษฐานในเมืองน่าน คนทั้งหลายก็ให้เป็นมหาสวามีนั้นแล เจ้าอานนท์ก็ปฏิบัติอยู่ในป่าไม้ม่วงในเมืองสุโขทัยแทนที่เจ้าสุมนะนั้นแล เจ้าสุมนะเอาศาสนาไปประดิษฐานในเมืองเชียงใหม่โพ้นนั้นแล เจ้าทั้งหลายคือเจ้าพุทธสาคร ๑ เจ้าสุชาตะ ๑ เจ้าเขมะ ๑ เจ้าสัทธาติสสะ ๑ นั้น ชวนกันปฏิบัติอยู่ในเมืองกลางคือว่า ๒ แควนั้นแล

แต่นี้ไป จักกล่าวนิทานในกาลแห่งมหาสุมนะเจ้า เอาศาสนาไปตั้งในเมืองเชียงใหม่ให้รู้ว่าฉะนี้ ในกาลคาบหนึ่งมหาสุมนะเจ้ามาสู่เมืองสัชนาไลยยังไม่ถึงเมืองสัชนาไลยได้โยชน์หนึ่ง

๗๖ แต่นั้นไปเมืองสุโขทัยก็ได้ ๒ โยชน์นั้นแล เมืองสุโขทัยนั้นอยู่หนใต้และแจ่ง
๗๗ตะวันตก เมืองสัชนาไลยนั้นอยู่หนตะวันตกแจ่งเหนือ
๗๘ ปางนี้เจ้าไทเพื่อจักเดินเทศสันติสงเคราะห์ชาวเมืองทั้งหลาย เจ้าไทมาสู่สั่งสอนสรรพสัตว์ทั้งหลายในประเทศที่นั้นชื่อว่าปางจานั้นแล เจ้าไทมาอยู่สงเคราะห์สรรพสัตว์ไม่นานเท่าใด ธาตุพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งแต่ครั้งพระยาอโศกราชให้มาฐาปนาในเจดีย์องค์นั้น ในประเทศที่นั้นสิ้นกาลนานนัก เจดีย์องค์นั้นพังเสีย คนทั้งหลายบ่เห็นหาที่บูชาบ่ได้ ธาตุพระพุทธเจ้าอันจักควรไปอยู่ที่คนบูชา เหตุมหาสุมนะเจ้ามาปฏิบัติศาสนาให้รุ่งเรืองอยู่ในที่นั้น ธาตุพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็มาปาฏิหาริย์บ่อย ๆ ทั้งกลางวันและกลางคืนแท้แล คนทั้งหลายเห็นก็จึงมาบอกแก่เจ้าสุมนะนั้น ครั้งนั้นเทวดาทั้งหลายอันอยู่รักษาธาตุพระพุทธเจ้านั้น ก็ถือเอาซึ่งเพศเป็นดังพราหมณ์แล้ว มาบอกแก่มหาเถรดังนิมิตฝันว่า ข้าแต่มหาเถรเจ้า ธาตุพระพุทธเจ้าองค์นี้หากควรจักได้ด้วยยากยิ่งนัก เพราะมาอยู่ที่นี้นานนักเพื่อให้ได้แก่เจ้ากูแท้ไซร้ เจ้ากูจงให้คนชุมนุมขุดแล้วว่าให้ได้ธาตุพระพุทธเจ้าแก่กูเถิด ครั้นมหาเถรเจ้ากล่าวดังนั้นแล้ว คนทั้งหลายก็ทำใจให้บริสุทธิ์ทุกคน แล้วก็ขุดลงไปในที่นั้น บ่นานเท่าใดก็พบดินและอิฐกับก้อนหินทั้งหลายนั้นแล เขาก็พากันยินดียิ่งนัก เขาจึงได้โกศดินโกศหนึ่ง เขาก็เอามาให้แก่มหาเถรนั้น มหาเถรเปิดดูก็ได้โกศเงินใบหนึ่ง แล้วเปิดต่อไปอีกก็ได้โกศดำใบหนึ่ง แล้วเปิดต่อไปอีกเล่า ก็ได้โกศแก้วประพาฬรัตนดวงหนึ่งเล่า มหาเถรเจ้ามาสงสัยว่าอันนี้แก้วหรือว่าธาตุพระพุทธเจ้าหนอ ก็พิจารณาดูอีกจึงรู้ว่าแก้ว แล้วใคร่จักเปิดดูก็หาที่เปิดบ่มิได้ มหาเถรเจ้าจึงพิจารณาดูว่าอันนี้ใช่ธาตุน้ำแก้ว แม้ดังฤๅธาตุพระพุทธเจ้ามิได้มีในหินแล มหาเถรเจ้าก็บูชาด้วยเครื่องบูชาต่าง ๆ แล้วอธิษฐานว่าฉะนี้ ผิว่าเป็นโกศธาตุพระพุทธเจ้าแท้ไซร้ ก็ขอให้มีที่เปิดเถิด ครั้นพระมหาเถรเจ้าอธิษฐานแล้ว ก็จึงเห็นที่เปิดนั้นแล มหาเถรเจ้าจึงเปิดโกศเอาธาตุพระพุทธเจ้าใส่ลงในสรุ่ง
๗๙คำเพื่อจักสรงนั้นแล ธาตุพระพุทธเจ้าก็ออกมาปรากฏเพื่อจักให้สัตว์ทั้งหลายทั้งมวลเห็นแล้วจึงกระทำปาฏิหาริย์เป็น ๒-๓ องค์ ตราบเท่าถึง ๘๐ องค์ ในขณะบัดเดี๋ยวนั้น ก็เต็มไปเหนือผิวน้ำในสรุ่งคำนั้นแล มหาเถรเจ้าเห็นเต็มใจแล้ว ก็ให้ไปบอกแก่พระยานั้น ครั้นพระยาได้ยินข่าวสาส์นอันเป็นอัศจรรย์ใจดังนั้น ก็ให้สร้างปราสาทหลังหนึ่งในท่ามกลางเมืองสัชนาไลยนั้นแล้วก็ให้ไปอาราธนาธาตุพระพุทธเจ้า กับมหาเถรเจ้ามา พระยาก็ให้ชำระหนทางให้ราบเพียงทุกแห่ง แล้วฝังต้นกล้วย ต้นอ้อย คันธะ ของหอม ข้าตอกดอกไม้ ประทีปและดุริยดนตรีถ้วนทุกอัน ให้หยาดยาย
๘๐ไว้ ๒ ตราบข้างหนทางแต่เมืองสัชนาไลยไปถึงปางจา ให้คนอยู่ท่าสาธุการนั้น ผิจักนับแต่เมืองสัชนาไลยไปถึงปางจาประมาณได้ ๒ โยชน์ พระยาก็ให้ตีกลองป่าวไปทุกซอกหนทางในเมืองสัชนาไลยทั้งมวล เพื่อให้คนทั้งหลายไปรับธาตุพระพุทธเจ้า ครั้งนั้นชาวเมืองสัชนาไลยททั้งมวลเมื่อได้ยินกลองปางจา ก็พากันยกกระพุ่มมือขึ้นตั้งเหนือกระหม่อมเฉพาะหน้าต่อปางจาทุกคน และมีใจเต็มไปด้วยปีติทุกคนบังเกิดโกลาหลขนพองสยองเกล้า พากันไปรับพระธาตุเจ้าทุกคนนั้นแล

ครั้นพระยาสัชนาไลยรับพระธาตุเจ้าเข้ามาในเมืองแล้ว ถัดนั้นหมู่ช้างม้าแล่นตามหลัง ถัดนั้นชาวในเมืองและนอกเมืองอันรุ่งเรืองไปด้วยเสื้อผ้าหลายส่ำ มีมือกำข้าวตอกดอกดวงนานา มีถ้อยคำอันไพเราะ ควรแก่ยศบริวารแห่งพระยาสัชนาไลย แล้วไต่ตามหลังเป็นหมู่เป็นคู่ด้วยอนันต์นั้นแล ครั้งนั้นพระยาสัชนาไลยไปกับด้วยชาวเมือง ไปถึงพร้อมกันทุกหมู่เข้ามาสู่ธาตุพระพุทธเจ้า เขาก็ปรายข้าวตอกดอกดวงพร้อมทุกขณะ กาลอันควรบริบูรณ์ มหาเถรเจ้าจึงเอาพระธาตุออกมาสำแดงแก่พระยาๆ ก็ให้ประโคมดุริยดนตรีบูชามากนัก พระธาตุเจ้าก็กระทำปาฏิหาริย์ควรอัศจรรย์ พระยามีใจชุ่มชื่นไปด้วยปีติ พิจารณาดูเวลากาลพอควรดีแล้ว พระยาก็อาราธนาธาตุพระพุทธเจ้ากับมหาเถรเจ้า เพื่อจักเข้าสู่เมืองแห่งตน ก็ประนมธาตุเจ้าขึ้นใส่กระโจมคำเหนือหลังช้างมงคลแห่งตน ก็คลี่รี้พลย้ายก่อนหน้าด้วยราชลีลาเข้ามาสู่เมืองแล ครั้นมาถึงแล้วก็อุ้มเอากระโจมคำอันใส่ธาตุขึ้นบนปราสาทด้วยตนเองทีเดียว แล้วให้ประโคมดุริยดนตรีและนันทเภรีอุ่นเมืองมิได้ขาด ครั้นว่าธาตุพระพุทธเจ้าเข้ามาสู่ปราสาทจักให้คนปสาทศรัทธา ก็กระทำปาฏิหาริย์ควรอัศจรรย์ยิ่งนัก ถัดนั้นพระยาก็ให้อาราธนามหาเถรเจ้าให้อยู่แทนตีนดอยสิริบาทกับทั้งพระธาตุนั้นแล ทีนั้นพระยามักใคร่เห็นพระธาตุอันกระทำปาฏิหาริย์ ก็ให้จัดเครื่องบูชาสักการต่างๆ แล้วจึงไปไหว้มหาเถรเจ้าว่า ข้าแต่เจ้ากู ตูข้าใคร่ขอเห็นธาตุเจ้ากระทำปาฏิหาริย์โปรดสัตว์ทั้งหลายนั้นแล

ครั้งนั้นมหาเถรเจ้าได้ยินพระยาว่าจักใคร่เห็นธาตุเจ้าดังนั้น มหาเถรเจ้าก็ให้เปิดโกศโดยลำดับ มีมือทาด้วยคันธะของหอมแล้ว ก็เอาธาตุพระพุทธเจ้าออกมาสำแดงแก่คน มีพระยาเป็นต้นวันนั้นแล พระยากับทั้งบริษัททั้งหลาย เมื่อเห็นพระธาตุเจ้าก็มีใจยินดีทุกคน แล้วบูชาพระธาตุเจ้าเป็นอเนกยิ่งนัก ถัดนั้นมหาเถรเจ้ากับทั้งพระยาก็สรงพระธาตุเจ้าด้วยน้ำอบน้ำหอมในสรุ่งคำนั้น ในขณะนั้น พระธาตุเจ้าก็ผุดขึ้นเหนือผิวน้ำในสรุ่งคำประดุจดังราชหงส์อันรำฟ้อนฉะนั้น แล้วกระทำปาฏิหาริย์ให้เป็นอัศจรรย์เปล่งออกซึ่งฉัพพรรณรังสี ๖ ประการ เพื่อจักตัดความสนเท่ห์แห่งคนทั้งหลาย ด้วยคำว่าอันนี้ไม่ใช่ธาตุพระพุทธเจ้าแท้แล ถัดนั้นพระธาตุเจ้าก็แบ่งออกเป็น ๒ องค์เล่านั้นแล คนทั้งหลายเห็นปาฏิหาริย์อันวิเศษ อันบ่ได้เห็นมาแต่ก่อนแห่งพระธาตุเจ้านั้น มหาเถรเจ้ากับคนทั้งหลายมีพระยาเป็นต้น ก็ให้สาธุการด้วยถ้อยคำมีประการต่างๆ และคนทั้งหลายครั้นหายจากสงสัยแล้วก็ซัดผ้าสะไบบูชาด้วยวารอันได้ร้อยคาบ วันนั้นธาตุพระพุทธเจ้าครั้นว่าปล่อยสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากสนเทห์ดังนั้นแล้ว ก็เข้ามาติดเป็นอันเดียวกันดังเก่าเล่า คนทั้งหลายเห็นอัศจรรย์แห่งอานุภาพของธาตุพระพุทธเจ้าดังนั้น ก็ให้เร่งยินดีมากกว่าเก่า แล้วจึงบูชาด้วยเครื่องอลังการเป็นอันมากนักแล ในเมื่อธาตุพระพุทธเจ้าให้ความสำเร็จแก่ใจคนทั้งหลายให้เห็นเป็นอัศจรรย์ดังนั้นแล้ว มหาเถรเจ้าจึงเอาคันธะของหอมสิ่งอื่นมารับเอาพระธาตุเจ้าเข้าในโกศดังเก่าแล

ครั้งนั้นพระยาสุโขทัยได้ยินข่าวพระธาตุเจ้า จึงใช้ให้ราชบุรุษนำราชสาส์นไปถึงมหาเถรเจ้าว่า ข้าแต่เจ้ากูตนประกอบด้วยมหากรุณา ข้าขอให้เจ้ากูนำธาตุพระพุทธเจ้ามาสู่เมืองข้า เพื่อปล่อยตูข้าให้พ้นจากทุกข์ด้วยเถิด ครั้งนั้น มหาเถรเจ้าตนประกอบด้วยมหากรุณา ได้ยินราชสาส์นอันราชบุรุษนำมาถึงดังนั้น ก็นำเอายังธาตุพระพุทธเจ้าไปสู่เมืองสุโขทัย เพื่อจักปล่อยพระยาให้พ้นจากทุกข์นั้นแล ท่านพระยาธรรมราชประกอบด้วยปัญญารู้ว่าธาตุพระพุทธเจ้ามาดังนั้น ก็ให้ประดับตกแต่งหนทางหลวงด้วยสิ่งทั้งหลายมีต้นว่า ช่อน้อยธงไชยทั้งหลายต่างๆ แล้ว ให้กระทำปราสาทมุงด้วยผ้าขาวบริสุทธิ์ และกระทำเครื่องบูชาต่าง ๆ เพื่อจักสรงพระธาตุเจ้า ถัดนั้นพระยาธรรมราช ตนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ครั้นว่าแต่งเครื่องบูชามีต้นว่าดวงดอกไม้ แล้วก็เสด็จด้วยสกลโยธาเพื่อไปต้อนรับธาตุพระพุทธเจ้ากับมหาเถร อันเข้ามาสู่เมืองแห่งตนวันนั้นแล ครั้นว่าธาตุพระพุทธเจ้ามาถึงเมืองสุโขทัยแล้ว ยังมหาเถรเจ้าตนอุดมให้พักอยู่ในอารามอันสมควรแก่นักบวช วันนั้นท่านก็ไหว้พระธาตุเจ้าด้วยศรัทธา แล้วไหว้มหาสุมนะเจ้า แล้วเจรจาเพื่อจักสรงพระธาตุเจ้าฉะนี้ ข้าแต่มหาเถรเจ้าตนทรงคุณอันงาม ตูข้าทั้งหลายจักใคร่เห็นพระธาตุเจ้าอันกระทำปาฏิหาริย์เป็นอัศจรรย์แก่ตูข้าแลนา ครั้งนั้นมหาเถรเจ้าตนมีมหากรุณาได้ยินคำแห่งพระยามาขอดังนั้น เจ้าไทจึงเปิดโกศแก้วด้วยมือของตน เพื่อจักปล่อยพระยาให้พ้นจากทุกข์ ให้ได้ถึงสุขในเมืองสวรรค์ ครั้งนั้นพระยาธรรมราชเล็งดูธาตุพระพุทธเจ้าอันอุดมเป็นอารมณ์แห่งใจ ครั้นว่าได้เห็นธาตุพระพุทธเจ้าแจ้งแก่ตา กับทั้งหมู่เสนาก็พากันยินดีทุกคน จึงนิมนต์พระธาตุขึ้นสู่ปราสาทผ้าเพื่อจักสรง พระยาตนประกอบด้วยศรัทธา หากรับเอาพระธาตุเจ้าด้วยมือแห่งตน ไปสู่ไตรคำอันประกอบด้วยเครื่องหอมต่างๆ แล้วกล่าวคำว่าฉะนี้ ผิว่าพระธาตุเจ้ากูกรุณาบริษัทในที่นี้ ขอให้เห็นอัศจรรย์ปาฏิหาริย์เพื่อให้ใจบานแก่ชาวเมืองให้รุ่งเรืองแก่ตูข้าทุกถ้วนหน้า ย่อมให้ได้บูชาเถิด

ครั้งนั้นพระธาตุเจ้าบ่กระทำปาฏิหาริย์สักอันแล เท่าอยู่ตามปกติ เหตุเมืองนั้นใช่ที่ธาตุพระพุทธเจ้าจักอยู่แล

ครั้งนั้นธรรมิกราชปรากฏว่าเป็นเอกราชในประเทศหนนั้น เสวยราชสมบัติในนพบุรีศรีมหานครพิงไชยเชียงใหม่ ประกอบด้วยศรัทธาฦๅชาทั่วทิศย่อมบูชาแก้วทั้ง ๓ ท่านมีอัธยาศัยมักใคร่ให้ศาสนารุ่งเรืองในเมืองของตน ครั้นรู้ข่าวว่าความบริบูรณ์ด้วยสีลาทิคุณแห่งอุทุมพรบุบผามหาสวามีเจ้าแต่เมืองพันโพ้น จึงให้แต่งเครื่องบูชา และใช้คนผู้ฉลาดด้วยโวหารและเจรจาไพเราะให้ไปหาอุทุมพรบุบผามหาสวามีเจ้าตนอุดม ที่เอาศาสนามาแต่ลังกาทวีปด้วยคำว่าฉะนี้ ข้าแต่มหาสวามีเจ้าตนอุดม ข้าไหว้ตีนเจ้าทั้ง ๒ แต่ไกลด้วยใจอันงาม ข้าขอให้เจ้ากูตนอุดมมายังเมืองข้า เพื่อปล่อยสัตว์ให้พ้นจากทุกข์แล

ครั้งนั้นคนใช้ก็นำเอาข่าวสาส์นและเครื่องบูชาไปถึงสำนักเจ้าไทบูชาด้วยเครื่องบูชา แล้วบอกข่าวสาส์นทั้งมวลแก่เจ้าไทนั้นแล ครั้งนั้นอุทุมพรบุบผามหาสวามีได้ยินราชสาส์นมาถึงหูดังนั้น เจ้าไทจึงคำนึงในใจว่าฉะนี้เมืองไทยโพ้นมีศิษย์กูชื่อท่านสุมนะหากจักให้ศาสนารุ่งเรืองแล แม้คำนึงดังนั้นก็ดี เจ้าไทก็ใช้ศิษย์ตนหนึ่งชื่อเจ้าอานนท์ เป็นลูกชาวเมืองพัน อันแก่กว่าชาวเจ้า ๑๒ ตน ที่ไปบวชในลังกาทวีปโพ้น ให้มาสงเคราะห์ท้าวกือนานั้นแล เจ้าอานนท์พร้อมด้วยสงฆ์เป็นบริวารก็มาถึงเมืองเชียงใหม่สิ้นหนทางได้ ๒๐ โยชน์โดยสวัสดีทุกตนนั้นแล ครั้งนั้นท้าวกือนามีความยินดีแก่เจ้าอานนท์และสงฆ์อันมาถึงด้วยความสุขสำราญ ก็กระทำสักการบูชาด้วยคันธะดวงดอก แล้วให้แต่งจตุปัจจัยแก่เจ้าไทให้เป็นสุขสบายนั้นแล เจ้าอานนท์ก็เทศนาแก่พระยาอันเป็นอนุสาสนี ตามประเวณีแห่งพระสัพพัญญูเจ้านั้นแล ครั้งนั้นธรรมราชคือท้าวกือนาได้ฟังธรรมเทศนาแห่งเจ้าอานนท์ก็บังเกิดความโสมนัส จึงเจรจากับด้วยเจ้าอานนท์ว่า ข้าแต่เจ้ากู สังฆกรรมอันมาแต่ลังกาทวีปอันมหาสวามีเจ้าแห่งเรานำมา ขอให้เจ้ากูกระทำสังฆกรรมยังเมืองข้านี้เถิด เมื่อเจ้าอานนท์ได้ยินคำแห่งท้าวกือนาเจ้าก็มิใคร่กระทำสังฆกรรมตามท้าวกือนาขอนั้น เหตุมิได้อนุญาตแต่สำนักครูแห่งตน ก็มีอนุสนธิเจรจากับด้วยพระยาดังนี้ ดูกรมหาราชตนมีธรรม เจ้าไทตนอยู่ในเมืองสุโขทัยชื่อว่าสุมนะนั้นเป็นครูแห่งเรา หากได้ปลงอาชญาไว้ในสังฆกรรม มหาราชจงไปนิมนต์เจ้าไทมาเถิด เราจักได้เจ้าไทมาเป็นประธานแก่สงฆ์ทั้งมวลจึงจะควรแล ครั้งนั้นท้าวกือนาได้ยินข่าวสาส์นอันหนักก็มีวิตกวิจารณ์อันบานด้วยปีติ รู้ข่าวว่าพระธาตุเจ้าอันอุดมแห่งมหาสุมนะอันเจ้าอานนท์หากบอกมาในปางนั้น ทีนั้นธรรมิกราชท้าวกือนาก็เจรจากับด้วยปะขาว ๒ คน และอำมาตย์ผู้หนึ่งชื่อว่าหมื่นเงินกอง แล้วให้แต่งเครื่องบูชาไว้เพื่อจักไปอาราธนาเจ้าสุมนะ พระยาพิจารณาตกแต่งพร้อมทุกอันแล้ว ก็ใช้ไปด้วยอันเร็วพลัน เพื่อนิมนต์เจ้าตนชื่อสุมนะอันเอาใจใส่ในสังฆกรรมอยู่ในเมืองสุโขทัยโพ้นนั้นแล

ครั้งนั้นคนใช้ของท้าวกือนาเอาเครื่องบูชาไปถึงที่จอด แล้วตกแต่งเครื่องบูชาอันนำมา เข้าไปไหว้ด้วยสัจจคารวะบริบูรณ์ทุกอัน แล้วยังราชโองการอันเป็นตำนานก็ยกออกมา เพื่อนิมนต์เป็นอนุสนธิว่าฉะนี้ ข้าแต่มหาเถรเจ้าตนเป็นที่เข้าไปสู่บริษัท ผู้ข้านี้เป็นราชทูตมาแต่เมืองขุนน้ำ ด้วยอำนาจแห่งท้าวกือนาตนมีศรัทธาในศาสนาแห่งพระสัพพัญญู เพื่อให้มานิมนต์เจ้ากูตนประกอบด้วยมหากรุณา และสั่งมาว่าฉะนี้ ข้าแต่เจ้ากูตนมีบุญประกอบด้วยคุณเป็นอันมาก ขอเจ้ากูมาปลูกรากศาสนาในเมืองข้านี้ด้วยเถิด บัดนี้เจ้าอานนท์ยังขวนขวายยังคอยท่าเพื่อจักมาแห่งเจ้ากูแล เจ้าไทคำนึงในใจว่าไป่ควรแก่ตน คำนิมนต์เจ้ากูบ่รับ จึงบังคับให้เจ้าสัทธาติสสะมาสงเคราะห์ท้าวกือนานั้นแล

ครั้งนั้นหมื่นเงินกองกับทั้งปะขาว ก็กลับมาไหว้ท้าวกือนาฉะนี้ข้าแต่มหาราชเจ้า ให้ตูข้าไปนิมนต์มหาสุมนะเจ้าตามคำแห่งมหาราชเจ้าทุกอัน เจ้าไทบ่รับนิมนต์ ก็บังคับให้เจ้าสัทธาติสสะมาสงเคราะห์มหาราชเจ้ากับตูข้านี้แล ครั้งนั้นท้าวกือนาก็ให้เอาข่าวสาส์นนั้นไปบอกแกเจ้าอานนท์ ๆ บ่มักกระทำสังฆกรรมด้วยเจ้าสัทธาติสสะนั้น เหตุคารวะในครูแห่งตนนั้นแล ท้าวกือนาก็ยินดีด้วยเจ้าอานนท์มากนัก เหตุเจ้าอานนท์คารวะในครูแห่งตนนั้นแล ท้าวกือนาให้แต่งของฝากไปถึงพระยาธรรมราชอันเป็นเจ้าเมืองสุโขทัย กับให้แต่งเครื่องบูชาแก่สุมนะเถรเจ้า เพื่อจักให้เจ้าไทมาปลูกศาสนาให้รุ่งเรืองในเมืองของตน แล้วจึงใช้เขาทั้ง ๓ คนนั้นไป ครั้นไปถึงแล้วก็ขึ้นไปถวายของฝากแก่พระยาสุโขทัยแล้ว ก็เข้าไปบอกข่าวขออาราธนามหาสุมนะเจ้าด้วยวาจาอันมีสิทธิ์ติดกับด้วยศรัทธาทิคุณ อันจักให้รุ่งเรืองแก่ท้าวกือนาทุกอันนั้นแล

ครั้งนั้นพระยาสุโขทัยได้ยินคำอันบริบูรณ์ดังนั้น พระยาผู้ยินดีไนศาสนาแห่งพระพุทธเจ้ารุ่งเรืองนัก จึงเจรจากับด้วยคนใช้ว่า ผิดังนั้นสูจงพากันไปไหว้มหาเถรเจ้าดูก่อนเถิด ใจเจ้าไทเราบ่อาจรู้ได้นา คนใช้ได้ยินคำพระยาว่าดังนั้น เขาก็ไปไหว้มหาสุมนะเจ้าตนบริบูรณ์เป็นอันงาม เขาก็ถวายคำท้าวกือนาอันวิจิตรสิทธิควรเอาใจทุกอัน เนื่องติดกับด้วยศรัทธาย่อมปรารถนาให้เป็นประโยชน์ในศาสนาดังนั้น เจ้าไทก็เล็งดูภายนอกอันควรมาปรากฏในมโนทวารในกาลปางนี้ ก็ควรในศาสนาอันตนหากนำมาแต่สำนักครูแห่งตนนั้น จึงปฏิญญาณขานคำรับนิมนต์นั้นแล

ครั้งนั้นคนใช้ได้ยินปฏิญญาณแห่งมหาเถรเจ้าเขาก็ยินดี ก็จึงไปบอกแก่พระยาสุโขทัยแล พระยาก็จึงพึงใจ จึงไหว้เจ้าไท จึงไขอธิบายแห่งตนกับด้วยคนใช้เล่าแล พระยาก็ให้แต่งคมนกิริยาอันจักไปรับเจ้าไทอันจักมานั้นทุกอันแล

ถัดนั้นพระยาก็ให้ธรรมปิฎกทั้ง ๓ ก่อนกับทั้งพระธาตุเจ้าอันอุดมสมแก่เจ้าไท อันจะมาสู่นครพิงไชยเชียงใหม่นี้ วันนั้นพระธาตุเจ้าก็ทำปาฏิหาริย์ทุกคราวทางนั้นแล เขามาถึงที่บ่ไกล เขาใครให้เจ้าเขาชมชื่นด้วยศรัทธา เจ้าไทจึงให้คนใช้ลงมาบอกแก่พระยาว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า มโนปณิธิ คืออันให้รุ่งเรืองแห่งศาสนา ตูข้าก็ได้มาถึงโขงเมืองนี้แล้ว ครั้งนั้นท้าวกือนาได้ยินข่าวสาส์นอันอุดมมาถึงเมืองแห่งตนดังนั้น ท้าวก็มีใจชมชื่นตื่นด้วยศรัทธา ก็ให้ตีกลองป่าวบอกกล่าวแก่ชาวเมืองทุกคน ให้ขวนขวายหาดวงดอกข้าวตอกดอกไม้ คันธะ ปัญจดุริยดนตรี มี่ก้องทั่วท้องทั้งเมือง ก็ชวนหญิงชายยายเป็นหมู่เป็นคู่ดูงามไปตามพระยาเพื่อไปรับ ผิจักคณนาหนทางได้ ๒ โยชน์ปลายคาวุต ๑ นั้นแล ท้าวกือนามองเห็นมหาสุมนะเจ้าตนอุดมอันสำรวมอินทรีย์ มีหมู่สิสสานุศิษย์ทั้งหลายหากยายแวดล้อมย่อมประกอบด้วยจตุปริสุทธิศีลทุกตน วันนั้นพระยาตนอุดมมีใจศรัทธาก็ถวายบูชาด้วยดวงดอกข้าวตอกและคันธะของหอม ถัดนั้นหมู่พราหมณ์อันจบเพทพิเศษด้วยเชื้อชาติก็บูชาบ่น้อย ถัดนั้นคหบดีและพ่อค้าถ้วนหน้าหมู่ชาวเมืองทุกคนมีอาการอันควรพร้อม เขาก็น้อมมาถวายบูชาด้วยเสียงสาธุการบ่น้อยอันมาถึงสถานที่นี้แล ครั้นว่าแล้วกิจอันบูชาแล้วท้าวกือนาจึงถามที่สำราญแห่งมหาเถรเจ้า เจ้าไทจึงอธิบายว่า ดูกรมหาราช นักปราชญ์ทั้งหลายมีพระสัพพัญญูพุทธเจ้า เป็นต้น เข้าไปสู่นิคมที่ใดเพื่อกรุณาชาวคามนิคมมาแต่ก่อน ย่อมแทก

๘๑ แต่อินทขีลคมนไกลว่าได้ ๕๐๐ ชั่วขาธนู อันนี้เป็นคำนิยมแท้แล ครั้งนั้นท้าวกือนาตนฉลาด จึงให้นักปราชญ์ไปดูแต่ประตูก้ำหริภุญไชยหนตะวันออก เขามาบอกว่าได้ ๕๐๐ ชั่วขาธนู มีหมู่ป่าไม้ทึงและไม้เหียงซับซ้อน ทัด
๘๒ที่พระพุทธเจ้ายืนแต่ก่อนนั้นแล ท้าวถือนาตนฉลาด จึงให้นักปราชญ์และโยธาไปวาดูพอขนาด ย่อมสาดด้วยกำแพงแทกลวง
๘๓ ยาวได้ ๕๐ ทัศ ก็ให้กวาดเอาตีพระพุทธเจ้ายืนเป็นที่บูชา แล้วจึงให้แผ้วถางที่อารามเพื่อแปลงสนามให้เจ้าไทกระทำสมณธรรมให้ใจจมอยู่ในกรรมฐานทุกตนนั้นแล ในเมื่อบริบรณ์แล้วทุกอันดังว่ามานั้น แล้วจึงพิจารณาที่ตั้งไว้ยังนาเพื่อให้เป็นจังหันมื้อเช้า แห่งพระพุทธเจ้าและสาวกทุกวัน ถัดนั้นมาให้เป็นที่สบายแก่หมู่นักบุญฝูงมีมือถือสลาก
๘๔ ถัดนั้นให้แก่หมู่อุ้มบาตรพระทุกวัน ถัดนั้นให้แก่ชาวพวกพาทย์และดนตรี ถัดนั้นให้แก่หมู่ยายชีและบัณฑิต ถัดนั้นให้แก่ฝูงจีบผ้าพระและปูอาสน์ ถัดนั้นให้แก่หมู่หอบหญ้าใส่กระเช้าไปเท ถัดนั้นให้แก่หมู่รักษาน้ำซ่วยตีนไว้บ่ขาด แก่หมู่นักปราชญ์ทั้งหลายล้างตีนแล้วเข้ามาเทศนา ถัดนั้นให้แก่หมู่ช่างตัดผ้า ถัดนั้นให้แก่หมู่ฝูงถือไม้กลัด ถัดนั้นให้แก่หมู่ผัดลูกไนปั่นฝ้าย ถัดนั้นให้แก่หมู่อยู่ถ้าร้อยเข็ม ถัดนั้นให้แก่หมู่จำนำเย็บผ้า ถัดนั้นให้แก่หมู่ฝูงปากต้านเจรจาให้หายง่อม
๘๕ ในที่นั้น สมเด็จธรรมิกราชตนประกอบด้วยศรัทธาบริบูรณ์ในกิจทั้งหลาย อันจักควรในวัดพระยืนเจ้าดังว่ามา ผิจักคณนาดูแท้ควรเป็นเงินสามหมื่นนั้นแล ครั้นว่าแล้วบริบูรณ์ทุกอัน ท้าวกือนาก็เวียนวัดพระยืนนั้น กับทั้งลาภสีมาทุกอันแก่มหาเถรเจ้าก็หลั่งน้ำตกในมือมหาเถรเจ้าฝูงอื่นก็ดี เจ้าภิกษุแก่หนุ่มปานกลางก็ดี ถัดนั้นคนทั้งหลายชาวเมืองทั้งมวล เป็นต้นว่านางอัครมเหษีและตนพระยาก็บ่ให้ล่วงอาชญามหาเถรเจ้า อันเป็นพ่อแห่งตนสักคนนั้นแล ถัดนั้นพระยาก็ให้อำมาตย์และคนฝูงอันฉลาดไว้ให้ใช้สอยอุปัฏฐากแก้วทั้ง ๓ ในอารามที่นั้นแล้วทุกคน อันเจ้าก็อยู่กระทำวัตรปฏิบัติตามทำนองแห่งสัปปุริสเจ้าทั้งหลายมาแต่ก่อนทุกอันแล แต่นั้นไป่นานเท่าใด พระยาก็อาราธนาเจ้าไทกลับไปกระทำสังฆกรรมมีต้นว่าอุปสมบทกรรมกับด้วยเจ้าอานนท์ในปีกัดเฮ้า
๘๖ สมมติสีมาภายเหนือวิหารก็ในปีกัดเฮ้าด้วยอานนท์นั้นแล เจ้าอานนท์นั้นครั้นว่าเสร็จสังฆกรรมแล้ว ก็ลาพระยากือนากลับไปสู่สำนักอุทุมพรบุบผามหาสวามีเจ้า อันเป็นครูแห่งตนในเมืองพันนั้นแล เจ้าไทไปถึงเมืองแจ่มก็บังเกิดพยาธิบ่หาย ก็สิ้นอายุในเมืองแจ่มนั้น คนทั้งหลายก็ส่งสการศพแล้วก็เอาบาตรและผ้าไปถึงอุทุมพรบุบผามหาสวามีเจ้านั้นแล

ครั้งนั้นท้าวกือนาธิราชมักใคร่ได้เห็นธาตุพระพุทธเจ้า ก็ถือเอาเครื่องบูชาต่างๆ เข้าไปอาราธนามหาสุมนะเจ้าว่า ข้าแต่เจ้ากู ตูข้ามักใคร่เห็นธาตุพระพุทธเจ้า กับใคร่เห็นปาฏิหาริย์แห่งพระธาตุเจ้าแล ครั้งนั้นมหาเถรเจ้าก็หยิบเอาโกศพระธาตุเจ้ามาให้พระยาดูแล พระยากับอำมาตย์ราชมนตรีและพระราชเทวีก็เห็นพร้อมกันทุกคน แล้วใคร่จะสรง จึงเอาใส่ลงในไตรคำด้วยความโสมนัสอันงามดังนั้น เมื่อพระธาตุเจ้าอันอยู่เหนือผิวน้ำอันอบด้วยคันธะของหอมในไตรคำนั้น จึงพัดไปหนขวาประดุจดังราชหงส์คำอันร้องอยู่ในอากาศฉะนั้น แล้วเปล่งรัศมี ๖ ประการออกมาให้ปรากฏแก่พระยาเสนาโยธาทั้งหลายและพระราชเทวีนั้นแล พระยากับคนทั้งหลายและชาวเจ้า ก็มีใจยินดีมากนักในพระธาตุเจ้าอันกระทำปาฏิหาริย์ มีอาการดังเงือกรุ้งฉะนั้น เหตุดังนั้นอนุสาสนีคาถาอันอาจารย์เจ้ากิตตนาว่า “นรา สุโต” เป็นต้น ความว่า สมเด็จธรรมราชท้าวกือนาตนปรากฏว่าเป็นใหญ่กว่าฝูงคนนอบนบแล้วยังธาตุแห่งพระพุทธเจ้าตนเป็นใหญ่กว่านักปราชญ์ทั้งหลาย และพระพุทธเจ้าตนนั้นมีใจอันงามอันอุดมอันให้นิพพานแก่ฝูงสัตว์ อันควรไหว้ พระองค์กลับไปสู่เมืองอันประกอบด้วยความอัศจรรย์เป็นเมืองอันประเสริฐนักนั้นแล แม้สุมนะเจ้านั้นก็ดีมีตนประเสริฐกว่านักปราชญ์ทั้งหลาย นอบนบแล้วยังธาตุแห่งพระพุทธเจ้าอันอุดมมากนัก อันให้นิพพานแก่ฝูงสัตว์ ก็กราบไหว้ด้วยตน เจ้าไทก็กลับไปสู่อาวาสอันตนประกอบด้วยครามอัศจรรย์คือแล้วไปด้วยบุญนิธิ อันเป็นอาวาสที่อยู่กระทำสมณธรรมนั้นแล

ถัดนั้นชาวเมืองหริภุญไชยมีใจเลื่อมใสในเจ้าสุมนะมากนัก เขาจึงชวนกันไปฟังธรรมรักษาศีลทุกปักษ์นั้นแล ลางพร่อง

๘๗มีใจมักใคร่บวช ลางพร่องมีใจมักใคร่อุปัฏฐากแก้วทั้ง ๓ ลางพร่องมักใคร่บำเพ็ญทานไปเป็นนิจ คนทั้งหลายหากมักกระทำบุญมีประการต่างๆ ดังนั้นแล

ครั้งนั้นท้าวกือนานอนอยู่เหนืออาสนะที่ใกล้แต่อารามพระธาตุเจ้านั้น ในเมื่อราตรีลิ้นไปได้ ๒ ยามแล้ว จึ่งนิมิตฝันเป็นมงคลเหมือนดังเห็นด้วยตาแท้จริง คือเห็นพระยาอินทามาบอกฉะนี้ว่า ดูรามหาราชกูนี้ใช่คนอื่นใดเลย กูนี้คือพระยาอินทาแสร้งลงมาบอกแก่ท่านเพื่อให้จำเริญบุญแก่ท่านแล มหาเถรเจ้าตนนี้ใช่โยโสสามานใดเลย เจ้ากูนี้แก่นหน่อพระพุทธเจ้าตนหนึ่งแท้แล เจ้ากูตนนี้ได้สร้างสมภารมามากแล้วจักได้เป็นพระตนหนึ่ง ถัดพระเมตไตรย์เจ้านี้แล ส่วนท่านก็ดีก็จักได้เป็นทักขิณสาวกแห่งเจ้าไทเมื่อนั้น ท่านอย่าสงสัยและอย่าได้ประมาทเลย ว่าดังนั้นแล้วก็กลับหายไปในบัดนั้นแล เหตุท้าวกือนาเห็นนิมิตฝันดังนั้นแล้ว จึงกล่าวอนุสาสนีคาถา แปลความก็เหมือนกับหนหลัง ครั้นพระยาเห็นแล้วยังนิมิตฝันอันเป็นมงคล อันพระยาอินทาหาบอกแก่ตนแล้วมีความยินดีมากนัก ครั้นรุ่งแจ้งแล้วพระยาก็ไปบอกกล่าวแก่มหาเถรเจ้าทุกอันแล แต่นั้นไป พระยาก็พ้นจากความสงสัย แล้วก็อุปัฏฐากมหาเถรเจ้าด้วยจตุปัจจัยอันควรนั้นแล แต่นั้นภายหน้า มหาสุมนะเจ้าคำนึงฉะนี้ พระพุทธรูปเจ้าองค์ยืนนี้ เท่ามีตนเดียวฉะนี้ดูไม่สมควรนา กูจักไปชวนพระยาแปลงแถมอีก ๓ องค์ให้พอ ๔ องค์จึงจะควร และกูจักให้แปลงมหามณฑปเจดีย์สำหรับมุงเจ้ากูทั้ง ๔ ไว้ จึงจะตั้งมั่นอยู่ได้ตราบเท่า ๕,๐๐๐ วัสสา เจ้าไทคำนึงในใจแล้วจึงให้มาบอกแก่พระยา ๆ ได้ยินคำอันนั้นก็มีใจยินดียิ่งนัก จึงให้มนตรีและคนเวียก

๘๘ทั้งหลายไปเพื่อให้แล้วหัตถกรรมนั้น เขาก็กระทำฐานะที่นั้นให้ราบเพียงแล้วมหาสุมนะเจ้าจึงให้พิจารณาดูวันคืนยามนักขัตฤกษ์และลัคน์ให้ดีทุกอัน แล้วเจ้าไทก็ให้ตั้งดินและอิฐให้เป็นรากแล้วก็ก่อมหาเจดีย์เจ้าในปีกัดเฮ้าเดือนยี่ออก
๘๙ ๓ ค่ำ ไทยกาบเส็ด
๙๐ เม็งวัน ๖ ยามจักใกล้รุ่งฤกษ์ ๗ ตัว ศักราชได้ ๗๓๑ ตัว วันนั้นก็ให้ก่อรากพระยืนเจ้า ๓ ตนๆ ๑ บ่ายหน้าไปหนใต้ ตน ๑ บ่ายหน้าไปหนเหนือ ตน ๑ บ่ายหน้าไปตะวันตก ก็เสร็จบริบูรณ์ในปีกัดเฮ้า ศักราชได้ ๗๓๑ ตัว เดือน ๕ ไทย แรม ๔ ค่ำ วัน ๖ ตะวันขึ้นได้ ๑๕ ฝ่าตีน ได้ฤกษ์ ๑๕ วันนั้นแล วันหนึ่งมหาสุมนะเจ้านอนสบายในกลางวัน ก็เห็นนิมิตฝันดังนี้ คือ ฝันเห็นเทวดาตนมีฤทธิ์มากนัก อันอยู่รักษาปาทวลัญชะเหนือจอมเขาสิริสุมนกูฏ อันพระพุทธเจ้าหากเยียบในลังกาทวีปโพ้น มาอยู่ในที่บ่ไกลแห่งเจดีย์เจ้านั้น แล้วก็เจรจากับด้วยมหาสุมนะเจ้านั้นว่าดังนี้ ข้าแต่มหาสุมนะเจ้า เจ้ากูให้สร้างพระพุทธรูปเจ้า ๓ ตนนี้ ตีนเจ้ากูทั้ง ๓ ตนนี้ก็เท่ารอยตีนพระพุทธเจ้าอันเหยียบไว้ในจอมเขาสุมนกูฏในลังกาทวีปโพ้นแท้จริง เจ้ากูอย่าได้ประมาทจงกระทำเพียรไปอย่าขาดเถิด ความจำเริญสวัสดีจักมีแก่เจ้ากูโดยแท้แล ครั้นแล้วก็อันตรธานหายไป เจ้าไทได้เห็นนิมิตฝันก็สะดุ้งตื่น แล้วมีความยินดีมากนักในรูปพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ ตนนั้น ถัดนั้นธรรมิกราชเจ้าก็ให้ฉลองมหาเจดีย์เจ้าในสองปีนั้น ๓ คาบ แล้วภายหลังก็อุสสาภิเษกมหาสุมนะเจ้าเป็นมหาสวามี ในขณะนั้น เจ้าไทนุ่งผ้าไตรชีพร
๙๑ แล้วนังอยู่เป็นอันงามประดุจดังแก้ว อันคนหากตั้งไว้แค่ดอกทายหานนั้น เหตุดังนั้น คนทั้งหลายมีพระยาเป็นต้นจึงอุสสาภิเษกเจ้าไทว่าสุมนะสุวรรณรัตนมหาสวามีนั้นแล

ครั้งนั้นท้าวกือนาครั้นกระทำบุญในเมืองหริภุญไชยแล้วก็ไปสู่เมืองเชียงใหม่ เพื่อจักสร้างอารามใหม่ให้ครูแห่งตนอยู่นั้น ก็พิจารณาหาที่ไกลเวียง ๕๐๐ ชั่วขาธนู ก็เห็นสวนซ้ายริมแม่น้ำก้ำภายโค้งงามนัก พระยาคำนึงในใจว่าฉะนี้ ยามเมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสสัพพัญญูเป็นครูหัวทีนั้น ก็ยังอยู่ในเวฬุวนารามแล ส่วนซ้ายคูนี้ควรเป็นอารามแก่สงฆ์ มีธาตุพระพุทธเจ้าเป็นประธานนี้แท้ไซร้ พระยาคำนึงฉะนี้แล้ว ก็ให้แผ้วถางชำระเสร็จแล้ว จึงอธิษฐานว่า ถ้าฐานที่นี้จักเป็นอารามสงฆ์และธาตุเจ้าแท้ และจักตั้งมั่นอยู่ตราบเท่า ๕,๐๐๐ ปี ขอให้จงเห็นนิมิตอันดีเถิด ในคืนวันนั้น ท้าวก็ฝันเห็นส่วนซ้ายนั้นเป็นพงเสียทั้งมวล และฝันเห็นดอกคระยอม

๙๒มีภายตะวันตกเวียงเชียงใหม่ไกล ๕๐๐ ชั่วขาธนู และอาเกียรณ์เต็มไปด้วยดอกบัวทั้งหลาย ๕ จำพวก มีดอกบัวทองดอกหนึ่งใหญ่เท่ากงเกวียน มือยู่ในท่ามกลางแห่งดอกบัวทั้งหลาย มีหมู่แม่ผึ้งทั้งหลายมาเคล้าคลึงอยู่แล ท้าวกือนาตื่นขึ้นก็รู้แจ้งทุกอันแล้วมีใจยินดียิ่งนัก ครั้นรุ่งแจ้งชำระตนและเสวยข้าวน้ำแล้ว ก็เสด็จออกไปตั้งอยู่ที่หนตะวันออกแจงใต้ แล้วก็ให้แผ้วถางในที่นั้นเพื่อจักให้ตั้งอารามสงฆ์มีธาตุเจ้าเป็นประธานนั้นแล ในคืนนั้น ท้าวกือนาก็ฝันเห็นพราหมณ์ผู้หนึ่งมาบอกกับตนว่า ฉะนี้ ดูรามหาราช ฐานะที่นี้จะเป็นอารามแห่งสังฆราช และกูนี้ใช่ผู้อื่นคือเป็นพระยาอินทร์แล เจ้ามหาสุมนะสุวรรณรัตนมหาสวามีก็เป็นหน่อพุทธังกูรตนหนึ่งแท้จริง ท่านจักได้เป็นพระถัดพระเมตไตรย์เจ้าแล แม้มหาราชก็จักได้เป็นทักขิณสาวกเสมอด้วยมหาสาริบุตรเจ้านั้น ท่านอย่าได้สงสัยเลย ครั้นกล่าวดังนั้นแล้วก็กลับหายไปแล ท้าวกือนาตื่นขึ้นแล้วก็มีใจยินดี รีบให้คนทั้งหลายตั้งกุฎีภายหนตะวันตกเฉียงเหนือแห่งดอกบัวดอกใหญ่นั้น ศักราชได้ ๗๓๓ ตัว ปีรวงใคล้
๙๓นั้นแล ครั้นว่ากุฎีทั้งหลายบริบูรณ์แล้ว ก็ให้ไปอาราธนามหาสุมนะสุวรรณรัตนมหาสวามีเจ้าในวัดพระยืนในเมืองหริภุญไชยโพ้น มาเข้าอารามใหม่จึงใส่ชื่อว่าอารามสวนดอกไม้นั้นแล เหตุท้าวฝันเห็นดอกบัวและดอกคระยอมในที่นั้น เมื่อภายหลังท้าวก็ให้อาราธนาเจ้าไทไปผูกสีมาหลังหนึ่ง ภายตะวันออกแห่งที่ประตูจอดตนนั้นชวย
๙๔ใต้แห่งดอกบัวใหญ่ในที่นั้นแล

แต่นั้นภายหน้า ท้าวกือนาก็อุปัฏฐากมหาสวามีเจ้าด้วยจตุปัจจัยเป็นอันมาก ในกาลอันควร มหาสวามีเจ้าก็สำแดงพระธาตุเจ้าแก่พระยา ๆ ความยินดียิ่งนัก จึงคำนึงในใจว่ากูฝันเห็นดอกบัวดอกใหญ่เท่ากงจักรนั้น คือพระธาตุเจ้านี้แล กูจักก่อเจดีย์องค์หนึ่งในที่กูฝันเห็นดอกบัวนี้จึงควรแล ครั้นท้าวคำนึงแล้วจึงให้คนทั้งหลายไปฟันเอาหินภายในถ้ำหัววัวโพ้นมา เพื่อจักก่อเจดีย์นั้นแล ครั้นว่าได้หินมาแล้ว ท้าวก็ให้หานักปราชญ์ทั้งหลายมาพิจารณาดูเดือนวันยามและนักขัตตฤกษ์ให้เป็นมงคลเพื่อให้จำเริญสวัสดีแล้ว ก็ให้ชำระโทษให้มีคุณในกิจทุกอัน แล้วจึงให้ก่อรากเจดีย์นั้นแล ถัดนั้นท้าวก็ให้หมู่ชาวเกวียนทั้งหลายเอาเกวียนไปลากเอาทรายและหินมาถมพื้นให้ราบเพียงงามทุกอัน แล้วให้แปลงโกศทองอันหนึ่งเพื่อจักใส่โกศพระธาตุเจ้าอันเก่านั้น แล้วจึงให้พิจารณาธาตุครรภ์ในท้องมหาเจดีย์ที่ควรบรรจุนั้นแล้ว จึงมาอาราธนามหาสวามีเจ้า ขอให้มาถาปนาพระธาตุเจ้านั้นแล มหาสวามีเจ้าเจรจากับด้วยพระยาว่า ดูกรมหาราช พระธาตุเจ้าก็ดี รูปพระก็ดี หากได้บรรจุไว้ภายต่ำมากนัก และพระธาตุเจ้าองค์นี้เราไป่ควรจักบรรจุ ท้าวกือนาจึงไหว้เจ้าไทว่า ข้าแต่เจ้ากู ข้าเห็นพระธาตุเจ้าองค์นี้ ข้ายินดีมากนัก ข้าจึงรีบให้ก่อเจดีย์นี้ เพื่อจักใคร่บรรจุพระธาตุเจ้าองค์นี้เป็นประธานก่อนนา เจ้ากูหากเป็นช่างก่อแล เหตุใดเจ้ากูบ่มักถาปนานั้น มหาสวามีเจ้ารับคำพระยาว่าคำอันมหาราชกล่าวนันก็มิเป็นดังนั้นแท้แล ที่แท้เมืองสองเมือง คือเมืองพิงและเมืองสุโขทัยบ่ใช่อันเดียวกันนา ญาติเราอยู่เมืองสุโขทัยเขาทั้งหลายย่อมเคยมาไหว้พระธาตุเจ้าองค์นี้นา ครั้นว่าเราได้ถาปนาแท้เขาจักมาไหว้ เราจักเอาออกให้เขาไหว้ก็บ่ได้นา เขาจักมาพี้บ่ได้นา เหตุดังนั้น เราบ่ใคร่ถาปนาเพื่อเหตุนั้นแล ท้าวกือนาว่าคำอันเจ้ากูว่าก็บมิเป็นดังนั้นแท้ไซร้ ดังเมืองตากก็อยู่ท่ามกลาง ๒ อันนี้แล ข้าจักเอาเมืองนั้นบูชาสีลาธิคุณแห่งเจ้ากูแล เมื่อคะโยมแห่งเจ้ากูได้กินเมืองตากนั้น เมืองทั้ง ๒ เมืองนี้ ก็จักเป็นเมืองเดียวกัน เมื่อญาติเจ้ากูจักมาไหว้พระธาตุเจ้าก็บ่ยากแล เหตุดังนั้น ขอเจ้ากูถาปนาพระธาตุเจ้านี้เถิด

ครั้งนั้นมหาสวามีเจ้าก็รับเอาคำพระยาที่อาราธนาตนแล้ว ก็เอาหลานตนผู้หนึ่งชื่อว่าฑิตใสนั้นมาถวายแก่พระยาแล้ว พระยาก็ส่งให้ไปกินเมืองตากนั้น อันพระยาบูชาสีลาทิคุณแห่งตนนั้นแล ในกาลอันควรแล้ว เจ้าไทดึงเอาพระธาตุเจ้าออกมาใส่ในผอบคำอันเต็มไปด้วยของหอม เพื่อจักสรงพระธาตุเจ้าและถาปนากับด้วยพระยานั้นแล

ครั้งนั้น พระธาตุเจ้าองค์เดียวนั้นหากแตกออกเป็น ๒ องค์ตราบเท่ามากกว่าร้อยองค์ ด้วยสามารถกระทำปาฏิหาริย์เต็มไปในผอบคำนั้น แล้วกระทำปาฏิหาริย์อันเหลืองดังคำทุกองค์ แล้วกลายเป็นผิวมุกด์ แล้วเป็นวรรณดังดอกแก้ว แล้วกลับเป็นคำเกิ่งหนึ่งเป็นนากเกิ่งหนึ่ง แล้วกลับเหลืองทั้งมวล กลับแดงทั้งมวล กลับเขียวทั้งมวล กลับขาวทั้งมวล แล้วกลับเป็นหลายพรรณต่างๆ ลางองค์ขาว ลางองค์เขียว ลางองค์หม่น ลางองค์เลื่อม ธาตุพระพุทธเจ้าแม้ปราศจากชีวิตก็กระทำปาฏิหาริย์ประดุจดังมีชีวิต อาจทำให้หายความสงสัยแห่งคนทั้งหลาย แล้วพระรัศมีอันนั้นก็เข้าไปอยู่ในพระธาตุเจ้าดังเก่านั้นแล เหตุดังนั้น สรรพสัตว์ทั้งหลายอันด้วยเครื่องบูชา เพิงบริบูรณ์ด้วยสุขสมบัติแห่งตนในมนุษยโลกและเทวโลก ตลอดถึงนิพพานแท้จริงแล

ในขณะเมื่อพระธาตุพระพุทธเจ้ายังทำปาฏิหาริย์เปล่งรัศมี ๖ ประการ อันตลบไปในฐานทั้งมวลดังนั้น เสียงสาธุการมากนักกว่าร้อยกว่าพันก็มีในขณะนั้น คนทั้งหลายบ้างก็ถอดผ้านุ่ง ผ้าสะไบขายเอาคำมารวมแปลงโกศพระธาตุเจ้านั้นแล ลางก็ตัดผมขายก็มี ลางก็ขายตนเอาคำให้แล้วพิจารณามารวมแปลงโกศพระธาตุเจ้าก็มีนั้นแล มหาเถรเจ้าแลคนแลฝ่ายแห่งผอบคำต่างบ่ายหน้าเล็งดูพระธาตุเจ้าอันกระทำปาฏิหาริย์หลายพรรณหลายอันดังนั้น ครั้งนั้นพระยามีปีติ ๕ ประการมาเล็งดูธาตุพระพุทธเจ้า ก็ขึ้นนั่งบนผ้านิสีทนะ แห่งมหาเถรเจ้าโดยไม่รู้สึกตน ก็บังเกิดความยินดีอยู่บ่อยๆ จึงแบกแก้วปัพภารัตน์ให้ดีแล้วเอาใส่ในโกศคำปิดดีแล้ว ใส่ในโกศแก้วปัพภารัตน์ปิดดีแล้วใส่ในโกศเงินปิดดีแล้ว ใส่ในโกศทองปิดดีแล้ว ใส่ในโกศหินมุกต์ปิดดีแล้ว จึงเอาบรรจุในที่อันประเสริฐ ถาปนาไว้ในคัพภ์แห่งพระเจดีย์อันท้าวกือนาให้รจนานั้น และเมื่อจะยกเอาพระธาตุเจ้าลงใส่ในที่ถาปนานั้น พระยาก็ให้กระทำเสียงดุริยดนตรีบูชาพระธาตุเจ้า เหมือนดังเสียงเมฆอันกระทบกันในท้องมหาสมุทรนั้นแล ครั้นว่าถาปนาพระธาตุเจ้าแล้ว พระยาก็ต้อม

๙๕ขึ้นแล้ว ทาสทายก็แล้ว ใส่ยอดก็แล้ว ใส่แก้วก็แล้ว ตีทองเป็นจังโกฏก์ใส่แล้ว ก็บูชาด้วยเครื่องบูชานั้นแล

ครั้งนั้นมหาเถรเจ้าก็เตือนพระยาว่า ดูกรมหาราช ญาติวงศามหาราชมารักษาแผ่นดินประดุจดังมหาราชนี้ ยังจักมีเมื่อภายหลังนา มหาราชมักค้ำชูพระศาสนา ก็จงไว้นาให้เป็นจังหัน แก่พระธาตุเจ้าแห่งเราตามแต่ใจมหาราชเจ้า เพื่อให้พงศาของมหาราชภายหลังได้กระทำอนุโมทนาด้วยเถิด ท้าวกือนาตนประกอบด้วยศรัทธาอุฬารัชฌาสัยได้ยินคำแห่งมหาเถรเจ้ากล่าวดังนั้น ก็ตั้งนาไว้ให้เป็นจังหันแก่พระธาตุเจ้านั้นหมื่นเงินหนึ่งแล แล้วก็หลั่งน้ำให้ตกลงเหนือแผ่นดินอุทิศให้เป็นถาวรวัตถุต่อเท่าศาสนา ๕,๐๐๐ ปี ครั้งนั้น พระยาก็ให้เอาโรงคันในเวียงเชียงใหม่ออกมาสร้างเป็นวิหาร แล้วให้หล่อพระพุทธรูปองค์หนึ่งไว้ในวิหารเพื่อได้บูชาทุกวันแล ท้าวกือนาให้ก่อเจดีย์นั้นศักราชได้ ๗๓๗ ตัว และได้ทำบุญกับด้วยมหาสุมนะสุรรณรัตนมหาสวามีเจ้าไปสิ้นกาลนานอายุได้ ๘๐ ปี

๙๖ ก็ไปสู่สุคติก่อนมหาสวามีเจ้านั้นแล

ครั้งนั้นลูกท่านผู้ชื่อว่าแสนเมืองมา

๙๗ มีอายุ ๒๓ ปี ได้เป็นพระยาแทนสืบราชสมบัติเล่าแล มหาสุมนะเจ้าอยู่รักษาศาสนาพระพุทธเจ้าเพื่อให้เป็นจารีตแก่กุลบุตรทั้งหลายด้วยประการดังกล่าวมานี้ ถัดนั้นเจ้าไทก็กระทำอุปสมบทกรรมแก่กุลบุตรทั้งหลาย วิตถารกว้างขวางในอาณารัฐเชียงใหม่นี้ก็พร่ำมีมากนักแล เจ้าไทอยู่รักษาศาสนาและอุปัฏฐากธาตุพระพุทธเจ้าในวัดสวนดอกไม้นั้นได้ ๑๘ วัสสา ก็ไปสู่สุคติในวันนั้น ในปีกดไส้
๙๘ ศักราชได้ ๗๕๕ ตัวนั้นแล

ครั้งนั้นมหาเถรเจ้าตนหนึ่งชื่อว่ากุมารกัสสป ก็ได้แทนในปีนั้นแล เจ้าไทย่อมถืออารัญญิกธุดงค์เป็นประธาน เจ้าไทเห็นวัดสวนดอกไม้นี้ใกล้บ้านใกล้เรือนคนนัก เจ้าไทลาท้าวแสนเมืองมาแล้ว ก็ออกไปอยู่แทบตีนดอยโพ้นในคิมหันตฤดู ถึงวัสสานฤดูเจ้าไทก็มาเอาวัสสาในวัดสวนดอกไม้ และเจ้าไทอยู่ในวัดสวนดอกไม้ได้ ๑๕ วัสสา ก็ทำลายปัญจขันธ์ในปีกาเม็ด

๙๙นั้นแล

ถัดนั้นมหาเถรเจ้าตนหนึ่งชื่อว่ามหานันทปัญญา

๑๐๐ ก็ได้แทนในปีนั้น เจ้าไทฝูงเป็นปาฏิโมกขุทเทสก์ในวัดสวนดอกไม้ และมีมหาสวามีเจ้าสุชาโตอยู่วัดเก้าเลี้ยว
๑๐๑เป็นสังฆนายกในสิ่งทั้งหลาย มีต้นว่าอุปสมบทกรรม เจ้าไททั้ง ๒ มีความยินดีด้วยกัน มหานันทปัญญาได้ไม้เรือนของหมื่นฟ้ากอง ย่อมเอามาแปลงกุฎีภายตะวันออกแห่งเจดีย์เจ้านั้นแล ลำดับนั้นมหานันทปัญญาเห็นสีมาเล็กก็ถอนเสียแล้วผูกใหม่ให้ใหญ่กว้าง และมหาเถรเจ้ามารักษาวัดสวนดอกไม้นั้นได้ ๑๕ วัสสา ก็สิ้นอายุไปสู่ปรโลก ในปีเปิกเส็ด
๑๐๒ ศักราชได้ ๗๗๐ ตัวนั้นแล

ครั้งนั้นมหาเถรเจ้าตนหนึ่งชื่อว่าพุทธปัญญา

๑๐๓ พระยาแสนเมืองมาเอาแทนในปีนั้น ให้เป็นสังฆนายกรักษาศาสนา เจ้าไทว่าฉะนี้ สีมาอันนี้เมื่อปลูกว่าเป็นคามสีมาดีแล ครั้งนั้นมหาเถรบุญวงศ์ท่านอยู่ในวัดพระยืนในเมืองหริภุญไชยโพ้น เมื่อได้ยินพระยาจักสรงพระนั้น ท่านย่อมมาอยู่ที่วัดป่าขุนในเวียงเชียงใหม่นี้ ท่านก็โจทนาว่า สีมาอันนี้เป็นนครสีมาไม่เป็นคามสีมาแล โจทนาเขาท่านบ่แพ้ชนะกันก็ถอนเสียแล้วปลูกใหม่เล่าแล มหาพุทธปัญญานั้นพระยาบ่เพิงใจ เหตุโจรทั้งหลายย่อมไปเพิ่งท่าน พระยาก็ให้ท่านหนีไปอยู่วัดเชตุพนในเมืองลำพูนแล้วก็สิ้นอายุนั้นแล พระยาก็ให้มหาเถรเจ้าตนหนึ่งชื่อว่าพุทธคัมภีร์มาแต่วัดหมื่นซาย ให้แทนในปีเดียวกันนั้น เจ้าพุทธคัมภีร์รักษาศาสนาในวัดสวนดอกไม้นั้นได้ ๑๕ วัสสา ก็สิ้นอายุในปีกาไคล้
๑๐๔ ศักราชได้ ๗๘๕ ตัวนั้นแล

ทีนี้จักกล่าวคำภายหลังเล่า คือชาวเจ้าในเมืองไทยแห่งเรานี้เป็นหลายหมู่ฉะนี้ ในปีลวงเม็ด ศักราชได้ ๖๙๓ ตัวนั้น มหามติเจ้าเอาศาสนาแต่ลังกาทวีปมาตั้งไว้ในเมืองของตน ในกาลเมื่อพระยาสุตตโสมเสวยราชสมบัตินั้น มหาสุมนะเจ้าก็ไปรับเอาศาสนาแต่สำนักมหามติ มาตั้งไว้ในวัดเมืองสุโขทัย แล้วเอามาตั้งไว้ในวัดพระยืนเมืองหริภุญไชย ในปีกัดเฮ้า

๑๐๕ ศักราชได้ ๗๓๘ ตัวนั้นแล เจ้าไทก็กระทำอุปสมบทกรรมและผูกสีมา แล้วก็ตั้งสวนดอกไม้ในปีกดเส็ด
๑๐๖ ศักราชได้ ๗๓๘ ตัวนั้นแล ตั้งแต่ปีนั้นมาได้ ๖๑ ปี ก็มาถึงปีกดเส็ด
๑๐๗เล่าศักราชได้ ๗๙๙ ตัว

ครั้งนั้นยังมีชาวเจ้าทั้งหลาย ๕ ตน ๆ ๑ ชื่อว่าธรรมคัมภีร์ ตน ๑ ชื่อว่าเมธังกร ตน ๑ ชื่อว่าญาณมงคล ตน ๑ ชื่อว่าพรหมกุมพกาม ตน ๑ ชื่อว่ามหาสวามีเถรนั้น คลุมผ้าเอาตุ้มตีนผ้าชีพรขึ้นหุ้มตีนบาตรถือ

๑๐๘ไม้เท้าเขาว่าดี ชาวเจ้าทั้งหลายชวนกันไปบวชเป็นภิกษุในลังกาทวีปโพ้น มาอยู่ในเมืองอโยธยานั้นแล เขาถือลัทธิว่ากินอันใดบ่ดีรับเอาเบี้ยเอาเงินคำข้าวเปลือกข้าวสารบ่ดีสักอัน ถัดนั้นคลุมผ้าเอาตุ้มตีนผ้าชีพรขึ้นหุ้มตีนบาตรบ่ถือเอาไม้เท้าเขาว่าดี เขาเจ้าเอาลัทธิแต่อโยธยามานั้นแล ในกาลนั้น บรมราชได้เป็นพระยาอโยธยานั้น เขาเจ้าทั้งหลายจักใคร่ทำลายศาสนาอันมหาสุมนะเจ้ามาบวชกุลบุตรทั้งหลาย อันจักใคร่ให้ถือลัทธิเป็นดังเขานั้นแล ในกาลนั้นยังมีมหาเถรเจ้าตนหนึ่งชื่อธรรมไตรโลก ความรู้ของท่านก็ถึงองอาจนักบ่เอาคำเขาๆก็ผิดกัน พระยาว่าชาวเจ้าทั้งหลายผิดกันเถียงกันนักจักเป็นอะไรเกิดขึ้นในบ้านในเมืองของเรานั้นแล จักคาดเรือขนานที่แม่น้ำ ให้ชาวเจ้าลงไปโจทนาจากันเถิด พระยาก็ให้คาดเรือขนานแล้วก็อาราธนาเขาทั้งหลายไปโจทนากัน เขาทั้งหลายก็โจทนากันในเรือขนานนั้น ธรรมไตรโลกแพ้
๑๐๙ เขาก็ตีกันนัก พระยาก็บ่ยินดีด้วยเขา ก็ขับเขาหนี เขาจึงขึ้นมาอยู่เมืองเหนือ เมืองเหนือเราแพ้ก็มาป่าแดง
๑๑๐ และลัทธิอันเขาถือแต่ก่อน ว่ารับเอาเบี้ยเอาเงินคำข้าวเปลือกข้าวสาร ถือไม้เท้าบ่อาจห้ามได้สักอันนั้นแล
๑๑๑ ครั้งนั้นคนทั้งหลายมีลูกท้าวพระยาเสนาอำมาตย์เก่าเป็นต้นนั้น เหตุอันหาเลี้ยงท้องได้ง่ายก็พากันสึกเสีย หนีไปบวชในสำนักขาทั้ง ๒ ตน ๓ ตนก็มีนั้นแล ท่านผู้เป็นเจ้าพุทธคัมภีร์อยู่ในวัดสวนดอกไม้บ่อาจห้ามเขาได้สักอันแล ครั้งนั้นคนทั้งหลายมีลูกท้าวพระยาเสนาอำมาตย์เก่าทั้งหลาย เขาก็บ่ยินดีกับชาวเจ้าตนเก่าสักคน เท่าเว้นไว้แต่เท้าแสนเมืองมา
๑๑๒ ตนเดียวเท่านั้นที่ยินดีด้วย แต่นั้นไปภายหน้าชาวเจ้าตนเก่าเหล่านี้ลำบากด้วยจตุปัจจัย เว้นแต่พวกญาติเท่านั้นที่ยังให้แก่ชาวเจ้าอยู่ อันชาวเจ้าตนใหม่ก็บ่ยอมว่าอยู่เก่ากว่า เขาว่าสูอย่าไหว้ชาวเจ้าตนเก่านี้เลย เขานั้นถือเอาเบี้ยเอาเงินเอาคำซื้อ มีข้าวมีของมีไร่มีนาว่าฉะนี้แล เท่าพระยาแสนเมืองมาผู้เดียวยังยินดีเขาไม่ทำลายเขาเพื่อเหตุนั้น เสนาอำมาตย์ทั้งหลายบอกแก่พระยา จักเอานาอันนั้นไว้กับด้วยวัดทั้งหลายออกให้รี้พลกิน ครั้งนั้นท้าวแสนเมืองมาว่า สูทั้งหลายยังอาจหุงข้าวแก่ชาวเจ้าอันอยู่ในเมืองกูฉันทุกตนได้และหรือ เขาว่าบ่ได้จึงเลิกคิด เจ้าไทพุทธคัมภีร์อยู่ในวัดสวนดอกไม้ รักษาศาสนไปได้ ๑๕ วัสสาก็สิ้นอายุ ในปีกาไคล้
๑๑๓ ศักราชได้ ๘๑๔ ตัวนั้นแล

ยังมีเจ้าไทตนหนึ่งชื่อญาณรังษีไปเรียนธรรมในเมืองพุกามโพ้น แล้วกลับมาอยู่วัดพัวงัวป่าแดง

๑๑๔ พระยาก็ให้ไปเอามาแทน ท่านผู้เป็นเจ้านี้มีความรู้นักหนาแล ครั้งนั้นชาวเจ้าในวัดสวนดอกไม้นั้นจักไปทางใดย่อมถือไม้เท้าไปทุกแห่งนั้นแล ชาวเจ้าลังกาใหม่เห็นถือไม้เท้าอันขวางอกไปบิณฑบาต ชาวเจ้าลังกาใหม่ก็ติเตียนว่าเป็นดังหมู่ผู้ถือคำนั้น
๑๑๕ เขาก็มาบอกแก่มหาญาณรังษีเจ้านั้นแล ท่านก็เคียดแค้นนัก ท่านจึงให้บอกแก่พระยาแสนเมืองมา ๆ มาเห็นท้าวก็ให้พิจารณาดูการถือไม้เท้าดีหรือบ่ดีนั้นแล จึงให้ชาวเจ้าทั้งหลายมาชุมนุมกันพิจารณาตามสิกขาบทพระพุทธเจ้าดูเถิด ครั้งนั้นชาวเจ้าลังกาใหม่แลชาวเจ้าวัดสวนดอกไม้ไปชุมนุมเถียงกัน ชาวเจ้าวัดสวนดอกไม้ก็พ่าย
๑๑๖ เขาจึงให้ไปอยู่ภายตีนดอยโพ้นแล เขาว่าชาวเจ้าวัดสวนดอกไม้ถือเอาคำเป็นดังหมู่อันถือเอาคำเป็นดังคำพ่าย
๑๑๗นั้น เขาชาวเจ้าวัดสวนดอกไม้นั้นทุบตีเจ้าลังกาใหม่ ๆ ก็ทุบตีชาวเจ้าวัดสวนดอกไม้ เขาท่านตีกันหยาบช้านัก เสนาอำมาตย์ทั้งหลายประมาณเท่านั้น เขากลัวท้าวแสนเมืองมากระทำอะไรบ่ได้ เขาจึงไปบอกแก่ท้าวแสนเมืองมา ๆ จึงเจรจาว่า เออขาท่านหมู่นี้จักไปลังกาแล เขานี้บ่ดีจงขับให้หนีจากเมืองกูเถิด พระยาก็ให้ขับหนีดังนั้น ธรรมคัมภีร์ตนแก่นั้นหนีพ้นแล้วก็สึกเสียไปสู่ลูกหมื่น ๓ ล้าน
๑๑๘ นั้นแล เมธังกรหนีไปอยู่พงชาวลังกาหลวงหัวเวียงโพ้น พระยาแสนเมืองมามีศรัทธามากนัก จึงให้สร้างกู่หลวงกลางเวียง ครั้งนั้นก็ให้เอาคำพอกมหาธาตุเจ้าลำพูน ๙ แสน ๓ หมื่น ๕ พันคำ อันเป็นนาคใส่เหนือจังโกฏก์ทองทั้งสิ้น ๓ หมื่น ๔ พันคำนั้นแล พระยาตนพ่อนี้ได้อุปัฏฐากมหาเถรในวัดสวนดอกไม้ ๖ ตน คือมหาสุมนะตน ๑ กุมารกัสสปตน ๑ นันทปัญญาตน ๑ มหาพุทธญาณตน ๑ ธรรมคัมภีร์ตน ๑ มหาญาณรังษีตน ๑ ทั้งมวลรวมเป็น ๖ ตนนี้แล พระยานั้นย่อมตั้งอยู่ในคำสอนของชาวเจ้าทั้งหลาย ย่อมฟังธรรมรักษาศีลให้ทานทุกเมื่อต่อเท่าอายุได้ ๕๐ ปี จึงมาคำนึงว่าดังนี้ ดังได้ยินมานี้นา ท้าวพระยาแต่ก่อนครั้นอายุได้ ๕๐ ปี ย่อมปลงเมืองไว้ให้แก่ลูกชายผู้ควรเป็นท้าวพระยาสืบตนนั้นแลนา กูนี้ก็มีอายุได้ ๕๐ ปีแล้ว กาลเฒ่าแก่ก็มาเถิงแก่กูนี้แล กูจักเวรเมืองให้แก่ลูกกู ครั้นแล้วพระยาก็นิมนต์สังฆเจ้ามาเป็นสักขีแล้วก็เวรราชสมบัติให้แก่ลูกตน ชื่อว่าท้าวลก ครั้นท้าวลกได้เป็นพระยาแล้วก็เสด็จไปสร้างบ้านเจ็ดลินนั้นแล พระยาแสนเมืองมานี้ นับแต่อันบ่ได้เป็นพระยามานั้นได้ ๖๐ ปี ก็สิ้นอายุในปีกดสัน
๑๑๙ ศักราชได้ ๘๐๒ ตัว ได้ปีรวงไคล้
๑๒๐ พระยาไปเอาเมธังกรแต่พนหลวงโพ้นมา ให้อยู่ในเมืองลำพูนภายประตูลิโพ้นแล มาถึงปีดับเปา
๑๒๑ ศักราชได้ ๘๐๗ ตัว ท้าวจักรวัตติชวนเมธังกรเจ้ากับคนทั้งหลายมาก่อมหาเจดีย์ธาตุเจ้า แล้วให้แปลงรูปโขง
๑๒๒ตีทองพอกก่อนนั้นแล เจ้าเมธังกรเกิดมาในปีกดง่า
๑๒๓เถิงปีรวายยี
๑๒๔ ท้าวลานนาไว้เมืองแก่แม่ตนแล้ว ออกบวชเป็นภิกษุกับด้วยเสนาอำมาตย์ทั้งหลายในสำนักลังกาใหม่ เจ้าเมธังกรเป็นอุปัชฌายะ มหาเถรเจ้าลังกาเป็นอาจารย์ บวชเป็นภิกษุได้ ๗ วันก็สึกคืนมาเสวยราชสมบัติดังเก่า เขาชาวเจ้าใส่ชื่อพระยาว่าบวรจักกวัตติธรรมราชนั้นแล

ยังมีมหาเถรเจ้าตนหนึ่งชื่อพุทธรักขิตต์ ไปเรียนเอาธรรมในพุกามโพ้นมาแล้ว และมาอยู่ในวัดเชตุพน ตนหนึ่งชื่อสาริบุตรอยู่อุปัฏฐากมหาธาตุเจ้า เจ้าไททั้ง ๓ ตนนี้ คือ เมธังกร พุทธรักขิต และมหาสาริบุตรเป็นอันปรากฏในเมืองลำพูนมากนัก มหาญาณรังษีรักษาวัดสวนดอกไม้ได้ ๗๐ วัสสา ก็สิ้นอายุในปีกดง่า

๑๒๕ ศักราชได้ ๘๐๒ ตัว ท้าวลานนาก็นำเอาติปิฎกสังฆราชมาไว้ในวัดกุฎีคำแทนในปีนั้นแล ครั้งนั้นท้าวลานนาบวรจักกวัตติธรรมราชอันยินดีในเจ้าเมธังกร ให้อาบน้ำดำหัวแล้ว ก็ใส่ชื่อว่าอตุลยาธิกมหาสวามีเจ้านั้นแล เมื่อภายหลังมหาสวามีอตุลยาธิกนั้นจักใคร่ให้พระยารู้จักเจ้าพุทธรักขิต ก็ชวนพระยาไปอาบน้ำดำหัวแล้ว ก็ใส่ชื่อว่าพุทธรักขิต
๑๒๖มหาสวามีเจ้านั้นแล ภายหลังมหาเถรเจ้าก็ชวนพระยาไป เพื่อจักใคร่ให้รู้จักเจ้ามหาสาริบุตรนั้น เหตุว่าได้อุปัฏฐากมหาธาตุกระดูกกระหม่อมเจ้านั้นแล มหาติปิฎกสังฆราชาอยู่รักษาวัดสวนดอกไม้นั้นได้ ๖ วัสสา ก็สิ้นอายุไปในปีใจ๊
๑๒๗ ศักราชได้ ๘๑๘ ตัว พระยาก็เอามหาพุทธรักขิตแต่วัดพระเชตุพนมาแทนในปีนั้นแล ในขณะเมื่อพุทธรักขิตมารักษาวัดสวนดอกไม้เป็นสังฆนายกนั้นศาสนารุ่งเรืองนัก ท้าวพระยาลานนาเพิ่งใจยิ่งนัก จึงถามชาวเจ้าทั้งหลายว่าสามเณรควรเรียนปาฏิโมกข์หรือไม่ มหาญาณสาครว่าไม่ดี แต่พระยาเชื่อมหาพุทธรักขิตว่าดี จึงให้หมู่อันเป็นสามเณรอันจักเถิงอุปสมบทกรรมนั้น เรียนแต่ปีเต้ายี่
๑๒๘ มาต่อเท่าบัดนี้ ศักราชได้ ๘๔ ตัว วันนั้นมหาพุทธรักขิตเจ้าอยู่รักษาวัดสวนดอกไม้ได้ ๑๒ วัสสา อายุได้ ๓๗ ก็มาสิ้นอายุ ศักราชได้ ๘๓๐ ตัวนั้นแล มหาญาณสาครเจ้าเกิดมาในปีรวงไส้
๑๒๙ อุบาสิกาแม่ออก
๑๓๐ไปยอพระยาให้เอามาแทนในปีนั้นแล ครั้งนั้นหมื่นด้งให้คนมาแต่เชียงชื่นมาแปลงวิหารหลวงและสร้างโรงอุโบสถ และสร้างหอปิฎกก็ในปีที่เจ้าไทมาอยู่นั้นแล มหาญาณสาครเจ้ารับเอาผ้ากฐินบ่หลอคือ
๑๓๑รับในอารามย่อมไปสวดในพัทธสีมาในนทีก็มี แล้วจึงเข้ามาสู่อารามถือเอาวัสสาแลบ่ห่อนสวดในที่อยู่เลย แต่นั้นมาชาวเจ้าทั้งหลายย่อมถือเอาจารีตแต่นั้นมา และเจ้าไทเคยชุมนุมชาวเจ้าเหตุบ่สอนปาฏิโมกข์แก่สามเณร พระยาจึงไว้ศาสนาแก่พุทธญาณมหาสวามีเจ้าอันอยู่วัดหมื่นสาน เจ้าไทตนนี้เป็นหลานแห่งพุทธญาณเจ้าวัดสวนดอกไม้ ตนถัดนันทปัญญาตนอันโจรมักมาเพิ่งนั้น พระยาแสนเมืองมาบ่เพิงใจหนีมาอยู่วัดเชตุพนก็สิ้นอายุในวัดเชตุพนนั้นแล ครั้นมหาพุทธญาณแพ้มหาญาณสุนันทเจ้า อันอยู่ในวัดแสนพอก มหาญาณสุนันทเจ้าก็บ่ว่าชาวเจ้าทั้งหลาย ท่านเป็นเจ้ามีโทสาคติยิ่งนัก ขณะนั้นมหาญาณสาครเจ้ายังเอาเจ้าไท (ญาณสุนันท) เป็นสหาย เมื่อปลูกสีมาวันนั้นมหาราชชาวลานนาหากให้นิมิต มหาสุนันทเจ้าได้อาชญาแห่งพระยาก็จำชวนชาวเจ้าอันได้บวช ๒ ทีคือว่าบวชปีรวง
๑๓๒ที่ ๑ ในปีรวายสัน
๑๓๓ที่ ๑ นับปีมาเถิงปีรวายสันได้ ๑๖ ปีนั้นแล แต่นั้นแข็งอยู่ ๑๖ วัสสาก็จำบวชในปีเมิงเร้า
๑๓๔นั้นแล ชาวเจ้าทั้งหลายที่เป็นสิสสานุศิษย์แห่งญาณสุนทร บ้างก็ประพฤติตามคำครูแห่งเขาก็สึกแท้แล บ้างก็บ่จุล่าย
๑๓๕ ว่าอันจักลงขนานขานกรรมวาจาเล่านั้นแล เขาเจ้าทั้งหลายหมู่นี้เป็นสิสสานุศิษย์แห่งครูตนอื่นอันบ่จุเขาลงขนานขานกรรมวาจาก็มี พุทธญาณเจ้าวัดหมื่นสานรักษาศาสนา แล้วก็สิ้นอายุในวัดหมื่นสานนั้นแล ญาณสาครเจ้ารักษาวัดสวนดอกไม้ได้ ๗ วัสสาก็ออกไปอยู่ในวัดสงัดในปีดับเม็ด ศักราชได้ ๘๓๗ ตัว

มหานาคเสนแสนฝางมาแทนในปีนั้นแล มหาญาณสาครเจ้าไปอยู่วัดดอยป่าที่ริมข้างแม่น้ำเรวางหนตะวันตกกุมกามโพ้นหน่อยหนึ่ง แล้วก็มาอยู่ที่ป่าไผ่หนตะวันตกลำพูน อายุได้ ๗๗ ปี ก็สิ้นอายุไปในปีกดไคล้

๑๓๖นั้นแล มหานาคเสนมาอยู่รักษาวัดสวนดอกไม้นั้น ยังมีมหาเถรเจ้าตนหนึ่งชื่อสุวรรณอยู่บ้านแลงหนกุมกาม ท่านว่าสีมาวัดสวนดอกไม้นั้นบ่เป็นสีมา เมื่อเขาปลูกวัดนั้นกูเข้าไปพร้อมบ่ทัน พระนั้นบ่เป็นภิกษุสักตนแล คำอันท่านสุวรรณว่านี้ ชาวเจ้าทั้งหลายก็ให้บอกแก่พระยาลานนานั้น พระยาก็กล่าวว่าอันใดจักชอบให้ชาวเจ้ากระทำเถิดกูบ่รู้แล เหตุใช่การกูนา ให้ชาวเจ้าทั้งหลายพิจารณาดูเถิด พระยาก็ไว้พนักงานแก่ท้าวโลกจุดีแล บ้างก็ว่าให้หายสงกาก็มี บ้างก็ให้ลงพร้อมท่านมหาสงกาในตนบ่ได้เกิ่งบาท นั่งแขงอยู่บ่ลงวันนั้นแล อัญชเถรว่ากับสุนทรราชว่า ให้ชาวเจ้าทั้งหลายอันได้ ๑๖ วัสสานั้นใหม่ แล้วให้ลงมาเอาวัสสาใหม่แดนปีในเมืองเรานี้ให้เราเห็นแล ชาวเจ้าบ้างก็ยังตามวันนั้น ในขณะอันจักให้ชาวเจ้าบวชปางนั้นให้คาดขนาน ๒ อันใต้เหนือกัน ในขนานเหนือให้ชาวเจ้าหัวเวียงบวช เอามหินท์เจ้าตนเป็นหลานแห่งพระยาแพง อันอยู่ในป่าหนองทาอันอยู่ในรปุงโพ้น มาเป็นสังฆนายกในขนานใต้ เอามหาเถรญาณสันตร
๑๓๗เป็นสังฆนายกในขนานเหนือนั้นแล ชาวเจ้าทั้งหลายออกบวชในที่สีมาแข็งแต่ ๑๕ วัสสานั้น บ้างบวชทีก่อนก็ได้ลงขนานเหนือ บ้างบวชภายหลังก็ได้ลงขนานใต้แล ครั้นว่าแล้วกิจแห่งเขาทั้งหลายอยู่มาภายหลังมีวิวาทว่ากูได้ลงก่อน ท่านได้ลงภายหลังกูแท้ไซร้ บ้างเอาวัสสาเก่า บ้างเอาวัสสาใหม่ กุลบุตรทั้งหลายเกิดเจตนาอัชฌาสัยเป็นอันดูยากนัก ฝูงอันประกอบด้วยปัญญาจักษุเล็งเห็นในกิจอันจะรับเอาของสงฆ์นั้น ในศาสนาพระพุทธเจ้าบังเกิดพยาธิในปีเมิงเร้านั้น
๑๓๘ ศักราชได้ ๘๓๘ ตัวนั้น แล้วชาวเจ้าทั้งหลายจักถอนสีมาเสียแล้วผูกใหม่เล่า ก็ให้บอกแก่ท้าวลานนาแล้วจึงถอนเสียผูกใหม่เล่านั้นแล พระยาจักกวัตติจึงให้เอาคำเป็นลิ่มออกตีเป็นแผ่นไปพอกมหาธาตุเจ้าในปีนั้นแล มหานาคเสนรักษาวัดสวนดอกไม้ได้ ๕ วัสสา อายุได้ ๘๓ ปี ก็สิ้นอายุนั้นแล ศักราชได้ ๘๔๒ ตัวนั้นแล เจ้าตนหนึ่งชื่อญาณวชิรโพธิ์อยู่วัดต้นลานหัวเวียงโพ้นได้มาแทนในปีนั้น พระยาลานนาก็ให้ก่อกำแพงบริบูรณ์งาม เมื่อท่านเป็นเจ้าอยู่ในที่นั้นได้ ๙ วัสสา อายุได้ ๖๐ ปี ก็สิ้นอายุในปีกัดเฮ้า
๑๓๙ ศักราชได้ ๘๕๐ ตัวนั้นแล เจ้าตนหนึ่งชื่อมหากุกามญาณสารอดวัดหมื่นสาน พระยายอดเมืองมาเอาไปแทนในปีนั้น ท่านเป็นเจ้าอยู่ในที่นั้นได้ ๑๐ วัสสา ท่านอยู่ในปีกดเฮ้า
๑๔๐ อายุได้ ๗๐ ปี ก็สิ้นอายุไป ศักราชได้ ๘๗๐ ตัวนั้นแล
๑๔๑ มหาปุสัปเปคุณกุกามอยู่ในบุบผาราม พระยาแก้วพันตาเอาไปแทน ท่านอยู่ได้วัสสา ๑ ก็สิ้นอายุในปีกดสัน
๑๔๒ ศักราชได้ ๘๗๒ ตัวนั้นแล ยังมีเจ้าไทตนหนึ่งชื่อธรรมโพธิ พระยาแก้วพันตาก็เอาไปแทน จึงให้นำเอาพระทองสัมฤทธิ์ได้ ๙ ล้านองค์เอาไปไว้อุโบสถวัดสวนดอกไม้นั้นแล
๑๔๓

มหาเถรเจ้าทั้งหลายอันสืบรักษาวัดสวนดอกไม้มนั้นได้ ๑๔ ตน ๑ ชื่อมหาสุมนะ ๒ ชื่อมหากุมารกัสสป ๓ ชื่อมหานันทปัญญา ๔ ชื่อมหาพุทธญาณ ๕ ชื่อมหาพุทธคัมภีร์มงคล ๖ ชื่อมหาญาณรังษี ๗ ชื่อมหาติปิฎกสังฆราช ๘ ชื่อมหาพุทธรักขิต ๙ ชื่อมหาญาณสาคร ๑๐ ชื่อมาหสังฆราชานาคเสน ๑๑ ชื่อมหาวชิรโพธิ์ ๑๒ ชื่อมหาญาณสารท ๑๓ ชื่อมหาปุสสไทย ๑๔ ชื่อมหาธรรมโพธิ์ และสีมาวัดสวนดอกไม้นี้หัวทีมหาสุมนะเจ้าผูกที ๑ ถัดนั้นท่านกุมารกัสสปท่านยังเอาไว้อย่างเดิม ถัดนั้นมามหานันทปัญญาท่านว่าสีมานี้น้อยก็ถอดเสียแล้วผูกใหม่เล่าเป็นครั้งที่ ๒ นั้นแล ถัดนั้นมหาพุทธญาณท่านว่านครสีมา และท่านก็ผูกเล่าเป็นครั้งที่ ๓ นั้นแล ต่อนั้นมาติปิฎกสังฆราชท่านเข้าผูกสีมานี้ วันนั้นได้ยินว่าเจ้ากูตนหนึ่งเป็นโรคลงท้องบ่ได้เข้าหัตถบาศ ฉะนั้นท่านก็ถอนเสียแล้วผูกใหม่เล่าเป็นครั้งที่ ๔ ถัดนั้นมามหาพุทธรักขิตท่านว่าสีมานี้ผูกบ่เป็น แล้วท่านถอนเสียแล้วผูกใหม่เล่าเป็นครั้งที่ ๕ ถัดนั้นมามหาสังฆราชนาคเสนว่าสีมานี้ วันนั้นท่านสุวรรณว่าเมื่อผูกสีมานี้ วันนั้นกูไปบ่ทัน กูจึงเข้าไปสู่วิหารนั้นแล แล้วจึงถอนเสียแล้วผูกใหม่เล่าเป็นครั้งที่ ๖ นั้นแล เหตุดังนั้นท่านพระยาลานนาจึงว่า สีมาวัดสวนดอกไม้ผูกหลายครั้งแล ศาสนาพระพุทธเจ้าอันมาตั้งอยู่เมืองไทยเรานี้ นักปราชญ์ตนมีปัญญาประกอบด้วยสิกขกามาแท้จงสันนิษฐานไว้ในใจฉะนี้เถิด

มหาอุบาลีเจ้าได้เรียนเอาวินัยปิฎกแต่มุขทวารแห่งพระพุทธเจ้า ตนเป็นที่พึ่งแก่โลกทั้งมวลนั้น เหตุดังนั้น วินัยปิฎกนี้เรียกว่ามหาอุบาลีได้เรียนเป็นที่ ๑ ถัดนั้นเจ้าทาสกะเป็นที่ ๒ ถัดนั้นเจ้าโสณกะเป็นที่ ๓ ถัดนั้นเจ้าสิคควะเป็นที่ ๔ ถัดนั้นเจ้าจันทรวัชชีเป็นที่ ๕ ถัดนั้นเจ้าโมคคลีบุตรติสสเถรเป็นที่ ๖ ถัดนั้นเจ้ามหินท์เป็นที่ ๗ ถัดนั้นเจ้าอริฏฐะเป็นที่ ๘ ถัดนั้นเจ้ากุลบุตรทั้งหลายมีต้นว่า ติสสทัตตะกาสนทิสสังฆแดสุมนะอันสืบปรัมปรามาแต่สำนักแห่งมหาอริฏฐะเป็นอนันตังอปริมาณังเถิงมหากัสสปเจ้าเป็นอันกว้างขวางนัก ในลังกาทวีปโพ้นนั้นแล ถัดนั้นมหาอนุมติเจ้าเอาศาสนาแต่สำนักมหากัสสปเจ้ามาตั้งไว้ในเมืองชมพูทวีปนี้ก่อนแล มหาสมณะเจ้าทั้งหลายรับเอาแต่สำนักแห่งมหาอนุมติเจ้ามาให้รุ่งเรืองในเมืองไทยเรานี้ เรียกว่ามหาสุมนะเจ้าเป็นที่ ๑ เจ้าอานันทะเป็นที่ ๒ เจ้านันทปัญญาเป็นที่ ๓ กระทำศาสนาในเมืองพันนั้นแล เจ้าได้เป็นกรรมวาจาแห่งเจ้ามหินต์ที่เจ้าตนเป็นหลานพระยาแก่นท้าว อันมาอยู่ที่บ้านหนองเทาในเมืองสะปุงนี้แล เหตุมหามหินทร์เจ้านี้เป็นที่ ๔ ครั้นมหาญาณสาครเจ้าไปบวชในสำนักแห่งมหาเถรพุทธสาครในเมืองกลางโพ้นแล คือสองแควบ้านโพนวันนั้นแล มหาพุทธญาณเจ้าวัดหมื่นสานก็ดี มหาพุทธรักขิตเจ้าก็ดี ก็เป็นสิสสานุศิษย์เจ้าสืบประเวณีแต่สำนักแห่งมหาสุมนะเจ้าแท้ไซร้ มูลศาสนาของพระพุทธเจ้าแห่งเรามามีในเมืองไทยเรานี้มีฉันใด แม้นในประเทศที่อื่นในชมภูทวีปแห่งเรานี้ก็รู้ด้วย คือว่าสืบปรัมปรามาแต่มหาอุบาลีเจ้ามาด้วยดังกล่าวนี้ทุกแห่งแล ส่วนชาวเจ้าสิสสานุศิษย์เจ้าทั้งหลายก็จักได้รักษาศาสนาภายใน สืบมาแต่มหาเถรเจ้าอันได้กล่าวมาแล้วนี้ ไปตราบเท่าสิ้นพระศาสนาแล แม้นว่าพงศาท้าวพระยาลันรักษาศาสนาภายนอกด้วยจตุปัจจัยก็ดี ก็สืบปรัมปราไปตราบเท่าสิ้นศาสนาอันซ้อย อันพระพุทธเจ้าหากกิตตนาไว้ว่า ๕,๐๐๐ ปีแล

  1. ๑. ฉะบับหนึ่งว่า ในเมืองเรานี้

  2. ๒. ในตำนานเมืองลำพูน เป็น ทลกะคาม บ้าง ทระคาม บ้าง

  3. ๓. ฉบับ มช. ว่า หริภุญชัยนคร

  4. ๔. อีกฉะบับหนึ่งว่า ดอยป่าใหญ่

  5. ๕. ฉบับ มช. ว่าอยู่มาสิ้นกาลนาน

  6. ๖. อีกฉบับหนึ่ง ว่า ๗๐ ปี ฉบับ มช. ว่า ๗ ปี

  7. ๗. ควรเป็น ย่อมตีพ่อแม่ ดังในฉบับ มช.

  8. ๘. อีกฉะบับหนึ่ง เป็น คะยอง

  9. ๙. เป็นบ้านมาก

  10. ๑๐. คำว่าเคิ่ง หรือเกิ่ง แปลว่า กึ่ง

  11. ๑๑. ฉบับ มช. ว่า จิกผา

  12. ๑๒. ฉบับ มช. ว่า วันลุนนั้น คือวันหลัง

  13. ๑๓. อีกฉบับหนึ่ง เป็นเมืองราม

  14. ๑๔. การ งาน ฝ่ายโยธา

  15. ๑๕. อีกฉบับหนึ่ง เป็นบุรา ฉบับ มช. เป็น บุราณ

  16. ๑๖. รากเสียด

  17. ๑๗. อีกฉบับหนึ่ง เป็น หาดแซว

  18. ๑๘. เขียน

  19. ๑๙. อีกฉบับหนึ่ง เป็น ปวิสิตปตะ

  20. ๒๐. อีกฉบับหนึ่งว่า วัดลมัก

  21. ๒๑. ฉบับ มช. เป็น แข้งเหล็ก

  22. ๒๒. ราชยานทองคำ (ตรงกับยั่วยาน ไม่ใช่ยวดยาน)

  23. ๒๓. ใสบริสุทธิ์

  24. ๒๔. ละวะ

  25. ๒๕. สาแหรก

  26. ๒๖. ตั้งใจ

  27. ๒๗. ขาคือเขาสองคน

  28. ๒๘. ผ้าต้อย คือ ผ้านุ่ง

  29. ๒๙. พาหุรัตน

  30. ๓๐. รัดเกล้า

  31. ๓๑. อีกฉะบับหนึ่ง เป็น รัตนราช

  32. ๓๒. เสลราช

  33. ๓๓. อีกฉะบับหนึ่ง เป็น โลช

  34. ๓๔. คำที่ว่า แพ้ แปลว่า มีชัยชะนะ

  35. ๓๕. อีกฉะบับหนึ่ง เป็น ภิญโญราช

  36. ๓๖. อีกฉะบับหนึ่ง เป็น กัญญราช

  37. ๓๗. อีกฉะบับหนึ่ง เป็น ลังการาช

  38. ๓๘. อีกฉะบับหนึ่ง เป็น พินทาล

  39. ๓๙. คำว่าเสี้ยง ในที่นี้ แปลว่า เป็นข้าเราทั้งสิ้น

  40. ๔๐. อีกฉะบับหนึ่ง เป็นหนองวาน

  41. ๔๑. อีกฉะบับหนึ่ง เป็นหนองตา

  42. ๔๒. อีกฉะบับหนึ่ง เป็นหนองตาเทียวหนี

  43. ๔๓. อีกฉบับหนึ่ง เป็นฝั่งแพนโพ้น แปลว่าฝายทำด้วยไม้กระดาน

  44. ๔๔. อีกฉะบับหนึ่ง เป็นท่าสมอด

  45. ๔๕. ฟ้อนกินรำกิน -แปล ร้องรำทำเพลง

  46. ๔๖. ฉบับ มช. เป็นป่อง คือ ปล่อง

  47. ๔๗. แม่น้ำเล็ก ๆ

  48. ๔๘. ฉบับ มช. เป็น ๑๐๐๑ ปี

  49. ๔๙. ชักตัวอย่างในคัมภีร์ชาดกมาเล่าเทียบ

  50. ๕๐. สีนกพิลาบ หรือสีขี้เถ้า

  51. ๕๑. เขียวอ่อน

  52. ๕๒. สมุก ฯ

  53. ๕๓. อีกฉบับหนึ่ง เป็น ๑๑ ปี

  54. ๕๔. ในที่นี้ เป็นเครื่องวัดเครื่องตวง

  55. ๕๕. ในชินกาลมาลินี เป็นพันโตญราช

  56. ๕๖. เพียงแต่

  57. ๕๗. ฉบับ มช. เป็น ๑๐ ปี

  58. ๕๘. ฉบับ มช. เป็น หนองตาดอย

  59. ๕๙. ฉบับ มช. เป็นทับบ้านแช่พล

  60. ๖๐. ฉบับ มช. และอีกฉบับหนึ่งเป็น ๒ แผ่น

  61. ๖๑. คือปะขาว

  62. ๖๒. ฉบับ มช. เป็น ยังสู่ยังนา คือยังอยู่

  63. ๖๓. ฉบับ มช. เป็น ๑๗๐ ศอก

  64. ๖๔. ข้าว ๓ เดือน

  65. ๖๕. ฉบับ มช. เป็น ๒๗ ปี

  66. ๖๖. ฉบับ มช. เป็น สร้างเชียงรายใหม่ สร้างเถิน ยังคา

  67. ๖๗. ฉบับ มช. เป็น ก่อเจดีย์พอกยอด

  68. ๖๘. ฉบับ มช. เป็น มหาวันนั้นผู้หนึ่ง

  69. ๖๙. ฉบับ มช. เป็น หางรอม

  70. ๗๐. กือ คือ ร้อยล้าน

  71. ๗๑. ปีกุน ที่ถูกจุลศักราช ๖๙๓

  72. ๗๒. อีกฉบับเป็น ๑๐ วัสสา ฉบับ มช. ๓ วัสสา

  73. ๗๓. ฉบับ มช. เป็น ๔

  74. ๗๔. ฉบับ มช. เป็น สุทธิติสสะ

  75. ๗๕. ฉบับ มช. และอีกฉบับ ๑ เป็นศาสนา

  76. ๗๖. ฉบับ มช. สองโยชน์

  77. ๗๗. มุม

  78. ๗๘. ฉบับ มช. เป็น ตะวันออก แจ่งเหนือ

  79. ๗๙. อ่าง

  80. ๘๐. เรียงราย

  81. ๘๑. วัด

  82. ๘๒. ตรง

  83. ๘๓. ทาง

  84. ๘๔. ฉบับ มช. เป็นสลาด

  85. ๘๕. ง่วงนอน

  86. ๘๖. ปีระกา จ.ศ. ๗๓๑

  87. ๘๗. ในที่นี้ แทนก็

  88. ๘๘. กรรมกร

  89. ๘๙. ข้างขึ้น

  90. ๙๐. ชื่อวันแบบไทย

  91. ๙๑. จีวร

  92. ๙๒. พยอม

  93. ๙๓. ปีกุน

  94. ๙๔. เฉียง

  95. ๙๕. ตล่อม

  96. ๙๖. ในชินกาลมาลินี เป็น ๗๖ ปี

  97. ๙๗. ในชินกาลมาลินี ผูกเป็นศัพท์บาลีว่า ลักขบุราคมราช

  98. ๙๘. ปีมะเส็ง ที่ถูกปีกัดไส้ จุลศักราช ๗๕๑

  99. ๙๙. ปีมะแม จุลศักราช ๗๖๕

  100. ๑๐๐. ฉบับ มช. เป็นมหาอนันทปัญญา

  101. ๑๐๑. ฉบับ มช. ว่าบัดนี้ชื่อศรีบุญคันโธ

  102. ๑๐๒. ปีจอ ที่ถูกจุลศักราช ๗๘๐

  103. ๑๐๓. พุทธปัญญา และพุทธญาณใช้ปนกันไป

  104. ๑๐๔. ปีกุน ที่ถูกจุลศักราช ๘๐๕

  105. ๑๐๕. ปีระกา ที่ถูกจุลศักราช ๗๓๑

  106. ๑๐๖. ปีจอ ที่ถูกจุลศักราช ๗๓๒

  107. ๑๐๗. ปีจอ ที่ถูกจุลศักราช ๗๙๒

  108. ๑๐๘. ที่ถูกควรเป็น บ่ถือ

  109. ๑๐๙. ชนะ

  110. ๑๑๐. ชินกาลมาลีปกรณ์ ว่า จุลศักราช ๗๙๒

  111. ๑๑๑. ฉบับ มช. เป็น ถือไม้เท้าบ่ดีนั้นแล

  112. ๑๑๒. ที่ถูก ท้าวสามฝั่งแกน

  113. ๑๑๓. ปีกุน ที่ถูกจุลศักราช ๘๐๕

  114. ๑๑๔. ฉบับ มช. เป็นหัววัดป่าแดง อีกฉบับหนึ่งเป็นพันงัวป่าแดง

  115. ๑๑๕. ฉบับ มช. เป็นถือคลา คือถือกะลา (ขอทาน)

  116. ๑๑๖. ฉบับ มช. เป็น แพ้ คือชนะ

  117. ๑๑๗. ฉบับ มช. เป็น แพ้คือชนะ

  118. ๑๑๘. เจ้าเมืองลำปาง

  119. ๑๑๙. ปีวอก

  120. ๑๒๐. ปีกุน จุลศักราช ๘๐๕ ที่ถูกปีกาไคล้

  121. ๑๒๑. ปีฉลู

  122. ๑๒๒. ในที่นี้เป็นประตู

  123. ๑๒๓. ปีมะเมีย จุลศักราช ๗๕๒

  124. ๑๒๔. ปีขาล จุลศักราช ๘๐๘

  125. ๑๒๕. ปีมะเมีย ที่ถูกจุลศักราช ๘๑๒ และควรเป็นเจ้าอาวาสเพียง ๗ ปี

  126. ๑๒๖. หนังสืออื่นส่วนมากเรียกว่า พุทธทิจจ หรือพุทธาทิจจ

  127. ๑๒๗. ปีชวด

  128. ๑๒๘. ปีขาล จุลศักราช ๗๒๔

  129. ๑๒๙. ปีมะเส็ง จุลศักราช ๗๖๓

  130. ๑๓๐. ผู้หญิง แม่ตัว

  131. ๑๓๑. บ่หลอคือ ฉบับ มช. เป็นบ่ห่อน

  132. ๑๓๒. จุลศักราช ๘๒๓

  133. ๑๓๓. จุลศักราช ๘๓๘

  134. ๑๓๔. จุลศักราช ๘๓๙

  135. ๑๓๕. โกหก

  136. ๑๓๖. ที่ถูกกัดไคล้ จุลศักราช ๘๔๑

  137. ๑๓๗. ฉบับ ๑ เป็นญาณสุนทร เข้าใจว่าจะเป็นคนเดียวกับญาณสุนันท ใช้เรียกสลับกันไป

  138. ๑๓๘. ปีระกา จุลศักราช ๘๓๙ จึงจะถูก

  139. ๑๓๙. ปีระกา ที่ถูกจุลศักราช ๘๕๑

  140. ๑๔๐. ที่ถูกปีกัดเฮ้าคือเริ่มอยู่จุลศักราช ๘๕๑

  141. ๑๔๑. ที่ถูกจุลศักราช ๘๖๑

  142. ๑๔๒. ปีวอก ที่ถูกจุลศักราช ๘๖๒

  143. ๑๔๓. อีกฉบับ ๑ และฉบับ มช. ว่านำพระไปจุลศักราช ๘๗๑

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ