เรื่องโกศ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ทรงบันทึกประทานมา
อ่านบันทึกซึ่งเรียกชื่อว่า “ธรรมเนียมใส่โกศมาแต่ไหน” รู้สึกว่าความในคำจารึกของจามนั้นทำให้แจ้งในคำ โกศ ขึ้นได้ ว่าทำขึ้นเพื่อใช้ครอบพระศิวลึงก์ จึงได้เรียกว่า “โกศ” ต่องเป็นโกศอัฐ ไม่ใช่โกศศพ อันเคยสงสัยมาแล้วว่าโกศศพจะถ่ายขยายออกมาจากโกศอัฐิหรือมิใช่ แต่ก็เห็นว่าไม่ใช่ เพราะโกศศพมีส่วนเตี้ยกว่าโกศอัฐิมาก โกศอัฐินั้นมีส่วนสูงสมควรอย่างยิ่งที่จะเป็นเครื่องครอบพระศิวลึงค์ แต่ก่อนเคยคะเนว่าเดิมทีจะเอากระดูกใส่กล่องกลัก เช่นกล่องพระราชสาส์น กลึงฐานต่อเข้าให้ตั้งได้ ด้วยกล่องนั้นย่อมทำปากผายอยู่เป็นปกติ เช่นกล่องเข็มกล่องดินสอ ซึ่งทำใช้กันในการบวชนาคเป็นต้น แต่คาดผิดไป ที่แท้จะเป็นไปตามความจารึกศิลาของจามนั้นเอง ที่แรกก็จะบรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าแผ่นดินก่อน เพราะถือว่าพระเจ้าแผ่นดินก็คือองค์พระเป็นเจ้าย่อมบรรจุรวมกันได้ การถือว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นองค์เดียวกับพระเป็นเจ้านั้น ก็มาต้องกับประเพณีไทยเรา ซึ่งอาจเห็นได้จากขานพระนามพระเจ้าแผ่นดินว่า “สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว” แล้วทีหลังไม่ว่าอัฐิใครก็ใช้บรรจุด้วยโกศทั้งสิ้น ได้เคยเห็นโกศอัฐิฉลักด้วยไม้ใบหนึ่ง มีมุขสี หม่อมเจ้าปิยภักดีนารถเก็บเอามาไว้ แรกเห็นก็นึกว่าเขาทำเล่นแผลง ๆ แท้จริงก็ตรงกับที่กล่าวไว้ในจารึกของจามทีเดียว แต่จะใช้เป็นที่บรรจุอัฐิใครชั้นใดนั้น ทราบไม่ได้
ในข้อที่โกศทุกอย่างมีทำทั้งกรุงธนบุรีเป็นสูงสุด ก็จำต้องเป็นเช่นนั้น เพราะกรุงเก่าต้องแตกเสียไป สิ่งใด ๆ จะตกทอดมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ได้นั้น น้อยนัก ที่ตกมาถึง ก็เห็นจะเป็นหนังสือ เป็นมากกว่าอย่างอื่น แม้กระนั้นก็เก็บได้มาแต่หัวเมือง ซึ่งไม่ได้แตกเสียไปด้วย ใช่ว่าจะได้มาแต่กรุงเก่าก็หามิได้ เหตุดั่งนั้น บรรดาของใช้จึงจำต้องสร้างขึ้นใหม่ทั้งสิ้น
ข้อที่ตรวจพงศาวดาร พบมีกล่าวถึงแต่พระบรมศพสมเด็จพระนเรศวรเข้าสู่พระกฤษฎาธาร และพบว่าแต่งพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์เข้าสู่พระโกศนั้น คำว่า “กฤษฎาธาร” เคยเห็นมาในที่อื่นเป็นหลายแห่ง แต่ไม่เข้าใจว่าหมายเป็นโกศ เข้าใจว่าหมายเป็นที่ตั้งงาม ๆ เช่นบุษบก เป็นต้น ได้ตรวจสอบพจนานุกรมภาษาสํสกฤตคำว่า “กฺฤษฎ” เพื่อรู้ว่าเป็นอะไร ได้คำแปลเป็นว่า ไถนา ทุ่งนา ไม่เข้าทางที่ต้องการ จึ่งคิดว่าอาจเขียนเคลื่อนคลายมาเสียแล้วก็เป็นได้ สงสัยว่าเดิมจะเป็น “กูฎาธาร” การเชื่อพงศาวดารนั้น อยู่ข้างจะยาก เพราะคนแต่งก็เกิดทีหลัง ความรู้ของคนมีอย่างไรก็เอาปรุงเข้ากับเรื่องซึ่งได้ยินมา จะฟังว่าถูกก็เป็นอันยาก อย่าหาแต่เรื่องซึ่งแต่งไว้ในสมุด ซึ่งเราได้ดูนั้นเลย แม้แต่คำแต่งซึ่งจารึกไว้ในหลักศิลา เช่นหลักศิลาครั้งขุนรามคำแหง เป็นต้น มีนักปราชญ์หลายคนจับได้ว่าแต่งหลายปาก เราจะเชื่อได้หรือไม่ว่าคำเหล่านั้นแต่งขึ้นครั้งแผ่นดินขุนรามคำแหง แล้วเขาจะจารึกลงศิลาเมื่อไร เราก็รู้ไม่ได้ รู้ได้แต่เพียงว่าศิลาจารึกเก่ากว่าสมุดพงศาวดารซึ่งเราเห็นเท่านั้น พูดถึงพงศาวดารซึ่งได้เห็น ก็เสียดายที่จะข้ามไป ไม่กล่าวถึงสมุดเล่มหนึ่งไม่ได้ สมุดเล่มนั้นเป็นหนังสือซึ่ง เดอ ปีนโต
ในการที่คิดจับเอาหลัก ว่าโกศศพนี้มีขึ้นในเมืองเราเมื่อไรนั้นเป็นความคิดชอบอย่างที่สุด เป็นการมั่นแม่นที่มีพระเจ้าแผ่นดินกรุงเก่าพระองค์หนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่า “พระบรมโกฐ” นั่นหมายความว่าได้แต่งพระบรมศพเข้ามาสู่พระโกศเมื่อสวรรคตแล้วเป็นการแสดงว่าโกศศพครั้งนั้นมีแล้ว และถ้าจะค้นหาต่อขึ้นไปอีกก็มีหนังสือฉบับหนึ่ง ซึ่งชื่อว่า “สมเด็จพระบรมศพ” กล่าวถึงเรื่องเชิญพระศพกรมหลวงโยธาเทพย์อันแต่งไว้ในพระโกศ ออกสู่พระเมรุ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าท้ายสระตีพิมพ์แล้ว ดูเหมือนว่าได้มาแต่นครศรีธรรมราช น่าเชี่อว่าเป็นหนังสือแต่งในเวลานั้น ไม่ใช่คนชั้นหลังแต่ง เพราะมีคำแปลก ๆ ซึ่งคนชั้นหลังจะไม่รู้พูด และมีสิ่งต่าง ๆ ซึ่งคนชั้นหลังจะไม่รู้ว่ามี ถ้าเชื่อว่าเป็นหนังสือเขียนครั้งนั้น ก็เป็นอันว่าศพโกศมีมาแต่ในแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ เแล้วเป็นทางตราว่ามีโกศแล้ว สูงขึ้นไปกว่าแผ่นดินพระเจ้าบรมโกฐได้อีกแผ่นดินหนึ่ง
เมื่อคิดดูว่าโกศศพจะมาแต่อะไร ก็คิดเห็นไปว่า ทีจะมาแต่มณฑปที่ตั้งศพ แต่ย่นให้เล็กลง มีสิ่งซึ่งพาให้คิดเห็นไปเช่นนั้น เรียกว่าโกศมณฑป แม้โกศอย่างอื่น เช่นโกศกุดั่นหรือโกศแปดเหลี่ยม ฝาก็เป็นมณฑป ย่อมนำไปให้เห็นอยู่ว่ามาแต่มณฑปนั่นเอง ถ้าจะค้านว่าโกศเป็นรูปอย่างหนึ่ง มณฑปเป็นรูปอย่างหนึ่ง จะมาแต่มณฑปอย่างไรได้ ถ้าค้านดั่งนั้นก็แก้ได้ว่าไม่ประหลาดเลย รูปโกศที่ปากผาย ก็เป็นไปตามทรงทวยที่ค้ำชายมณฑปนั่นเอง เปรียบว่าถ้าเอาผ้าห่อโกศมณฑปมาให้ดู จะเห็นเหมือนเช่นโกศปากผายอย่างโกศไม้สิบสองเป็นต้นนั้นเอง แต่ถ้าจะเอาผ้าห่อโกศอัฐิมาให้ดู จะเห็นเป็นห่อมณฑปไม่ได้ ด้วยมีส่วนสูงมากไป เช่นกล่าวมาข้างต้นแล้ว ส่วนโกศที่ยอดเป็นรูปมงกุฎ คิดว่าทำแก้เปลี่ยนไปทีหลัง
สิ่งที่พาให้คิดเห็นไปว่าโกศมาแต่มณฑปมีอีกอย่างหนึ่ง ก็คือชั้นที่ตั้งโกศศพ อันชั้นที่ตั้งโกศศพนั้นมีสองอย่าง อย่างน้อยเป็นชั้นแว่นฟ้า คือแท่นกระจก สำหรับรองตั้งในเรือน อย่างใหญ่เป็นชั้นเบญจาหุ้มทองหุ้มเงิน หุ้มทองอังกฤษ อย่างใดก็แล้วแต่ ต้องการให้ดีเลว สำหรับใช้ออกตั้งงานเมรุ เห็นได้ว่าทำเป็นของใหญ่สำหรับกลางแจ้ง จึ่งมีพะนัก มีซุ้มประตู ซุ้มรูปภาพ รูปร่างก็เป็นอย่างเดียวกันกับโบโรบุดูร์ที่เกาะชะวา ซึ่งก่อไว้ด้วยศิลา ขาดอย่างเดียวแต่เบญจาไม่มีกระได เพราะย่นเล็กลง ประตูแห่งเบญจาคนเข้าไม่ได้ จึ่งไม่ทำกระไดนั้น เห็นได้ว่าโกศต้องเป็นมณฑปใหญ่ งานที่เอาชั้นแว่นฟ้าออกตั้งเมรุแทนเบญจาก็มี แต่พึงเข้าใจเถิดว่านั้นเป็นการลดละ เพื่อไม่ให้เปลืองแรงต้องทำเบญจา
มีของเชลยศักดิ์ซึ่งจะเปรียบกันได้อย่างหนึ่ง เรียกว่า “เครื่องศพ” ทำเหมือนกับเบญจาทุกอย่าง เว้นแต่ยาวรีเพื่อให้เหมาะแก่ที่จะตั้งหีบศพ หีบศพนั้นทำมียอดเป็นมณฑปก็มี เรียกว่า “เหม” เป็นยอดเดียวก็มี เป็นสามยอดก็มี ที่ทำยอดเป็นทรงมงกุฎก็มี แต่นั้นทำเปลี่ยนไปตามยอดโกศ
หีบหรือโกศก็มียอดเป็นมณฑปอยู่เหมือนกัน อาจคิดถ่ายทำจากมณฑปมาด้วยกันก็ได้ มณฑปจะเป็นรูปยาวรีก็เป็นได้ ดูแต่ยอดประตูอย่างเก่า เขาทำยอดยาวรีเหมือนกัน หรืออีกนัยหนึ่ง จะร่นหีบให้สั้นและไขให้สูงขึ้น ก็จะกลายเป็นโกศไปได้เหมือนกัน แต่อย่างไรก็ดี เห็นจะเอาเป็นแน่ได้ว่าเมืองเรานี้หีบมีมาก่อนโกศ แต่โกศศพจะมาแต่ไหน หรือจะมาแต่อะไรนั่นควรคิดอยู่มาก
ทางที่เป็นหีบศพมาก่อน ก็เห็นได้อยู่ที่พระศพพระพุทธเจ้า นับว่าเป็นสูงที่สุดอยู่แล้ว ทำกันที่ไหนก็เห็นเป็นหีบที่นั่น ไม่เป็นโกศเลย หรือจะว่าเคยทำมาดั่งนั้นก็ทำกันไปตามเคย หรือจะว่าให้ใกล้กับราง อย่างที่กล่าวไว้ในพระบาลีก็ตามที แม้ตัดเสีย ก็มีจะเห็นได้อีกอย่างหนึ่งคือตารางเผาศพ ซึ่งปักเป็นสี่เหลี่ยม แต่มีหกเสา สองด้านเสาเบียดเสียดกันจนต้องแก้เป็นสี่เสาในภายหลัง เหตุใดจึ่งปักตรารางหกเสาเป็นสี่เหลี่ยม ก็ไม่เห็นเหตุอย่างอื่น นอกจากทำเพื่อเผาศพโภศ แล้วก็ยืนอยู่เผาศพไปด้วย ทำให้หัวท้ายหีบยื่นพ้นตารางออกไปจนน่าเกลียด เป็นเหตุให้รำคาญตาอยู่ทั่วกัน จะเห็นเป็นการส่อตัวเองได้ ว่าที่มีหกเสานั้น แต่ก่อนเคยปักยาวเป็นสองห้อง เหมาะแก่หีบศพ นี่เป็นการแสดงว่าหีบมีมาก่อนโกศ
ส่วนทางที่สงสัยว่าจะร่นหีบให้สั้นเข้า และไขให้สูงขึ้น กลายเป็นโกศ ก็มีเรื่องประกอบอยู่เหมือนกัน ได้ยินสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ท่านเล่าว่า ท่านได้เคยไปเห็นศพสมภารที่นครศรีธรรมราช เขาแต่งศพให้นั่งเอาใส่ลุ้งสี่เหลี่ยมมียอดเป็นมณฑป เรียกว่า “หีบนั่ง” นั่นเข้าทางร่นหีบลงเป็นโกศ แต่อาจมาทางอื่นก็ได้ เคยได้ยินสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพตรัสเล่าว่า สมภารวัดประดู่ ที่กรุงเก่า แม้ตายลงเขาก็แต่งศพนั่งใส่ลุ้ง ทำให้นึกขึ้นได้ ว่าได้เคยเห็นศพสมภารวัดเล่งเน่ยยี่ ซึ่งเรียกดัดเป็นไทยว่าวัดมังกรกมลาวาส เขาแต่งศพใส่ลุ้งตั้งไว้ในโรงทึมที่วัดนั้นเหมือนกัน จึงไปสอบถามพระจีนวังสสมาธิวัตร (เรียกกันว่าอาจารย์แมว) สมภารใหม่ ว่ายศเพียงไรจึงแต่งศพนั่ง ยศเพียงไรจึงแต่งศพนอน ท่านบอกไปเสียอย่างหนึ่งว่าไม่เกี่ยวด้วยยศ ถ้าตายนั่งโดยเข้าสมาธิภาวนา เขาก็แห่งศพนั่ง ถ้านอนตาย เขาก็แต่งศพนอน ด้วยเขาไม่อยากถูกต้องศพมากนัก เมื่อทราบทางดังนี้ ก็เข้าใจได้ ว่าศพสมภารวัดประดู่นั้นทำเทียบพระจีนที่ขลัง เพราะถือกันว่า สมภารวัดประดู่นั้นขลังในทางลงเครื่อง ย่อมเกี่ยวแก่สมาธิภาวนาอยู่เหมือนกัน แต่เหตุไฉนจึงแต่งพระบรมศพ ตลอดถึงศพที่สูงศักดิ์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับสมาธิภาวนาให้นั่งลงโกศด้วยเล่า เมื่อนึกมาถึงนี่ ก็นึกได้ว่าได้เคยอ่านหนังสือเรื่อง “สิบสองเหลี่ยม” ในนั้นมีกล่าวถึงพระบรมศพพระเจ้าเนาวสว่าน ดูเป็นแต่งพระองค์ตั้งไว้ในอันใดอันหนึ่ง ซึ่งมีสิบสองเหลี่ยม จะเรียกเอาโดยใจตามคล่องปากว่ามณฑป เป็นอย่างเปิดเผย ไม่มีพระโกศประกอบ สังเกตพระนามไม่เป็นภาษามคธสํสกฤต พาให้สงสัยไปว่าหรือจะเป็นไปทางมัมมี่อียิปต์ จึงสอบสวนไปทางมัมมี่ แต่ก็ได้ความว่า มัมมี่เขาแต่งนอนใส่หีบศิลาทั้งนั้น ไม่มีแต่งนั่ง เมื่อไม่ได้เค้าที่เข้าทางมัมมี่แล้ว ก็ย้อนกลับมาคิคถึงทางศพโกศของเราต่อไป บรรดาเครื่องแต่งแห่งศพโกศทั้งปวง ถ้าไม่เรียกชื่อเป็นภาษาไทย ก็เป็นคำที่มาจากสํสกฤต เช่น “พันธนัม” เป็นต้น ชวนให้สงสัยไปว่า หรือศพโกศจะมาทางอินเดียโดยตรง จึงได้ลองสืบประเพณีทางนั้นดู ก็ได้ความว่า ในประเทศอินเดียบรรดาศพทั้งปวงไม่ว่าวรรณะใด พอตายเขาก็ห่อผ้าเอาไปเผา ไม่มีการตกแต่งตั้งไว้เลย มีแต่พวกโยคีเขาแต่งนั่งสมาธิไว้ให้คนบูชา อันนี้ก็ไปเข้ารอยเดียวกับพระจีนพระญวน ซึ่งเขาจัดตั้งสมาธิไว้ให้คนบูชาเป็นพิเศษ ว่าไม่รู้เน่าด้วยอำนาจสมาธิภาวนา แต่มีคนออกความเห็นว่าคงมีวิธีอย่างใดซึ่งทำให้ศพแห้ง อันความเห็นนี้ก็ถูก ด้วยได้เคยเห็นหนังสือซึ่งฝรั่งแต่ง
ทีนี้คิดไปถึงคำเรียกชื่อว่าเมรุ เป็นแน่ว่าหมายเอาเขาพระเมรุ แต่จะเป็นว่าเพราะมีพื้นสูงต้องขึ้นกระไดไปสูงดุจขึ้นเขา ก็เห็นว่าหาใช่ไม่ ด้วยเมรุแต่ก่อนใช้พื้นดินเป็นพื้นเมรุทั้งนั้น แม้จะยกพื้นขึ้นก็ยกเล็กน้อยแต่พอกันน้ำแฉะ เพราะเหตุที่เดิมที่เราเผาศพกันที่พื้นแผ่นดิน เมรุเป็นแต่เครื่องประกอบเท่านั้น ถ้าจะว่าด้วยการเผาศพเรียงเป็นลำดับไป ก็ได้ดังนี้
เดิมทีเอาฟืนกองกับพื้นดิน เอาศพวางบนนั้น แล้วจุดไฟเผา เป็นธรรมดาที่ไฟไหม้ฟืน ๆ ก็ย่อมจะแปรรูปไป ทำให้ศพเคลื่อนที่ ทางอุบลราชธานี เขามีไม้กดบนศพ เรียกว่า “ไม้ข่มเผง” เพื่อกันไม่ให้ศพเคลื่อนไปเมื่อไฟไหม้ฟืนทรุด ที่เราจะเห็นรุงรัง จึงแก้เป็นเอาไม้ปัก กันฟืนไม่ให้กระจายออกไปนอกทางเมื่อไหม้ไฟ ทีหลังทำพื้นบนไม้หลักนั้นเพื่อตั้งศพให้เรียบร้อย ทีหลังส่งเสาไม้หลักนั้นให้ยาว ทำปรำขึ้นบนปลายเสา เป็นสิ่งประดับศพให้ดูงามขึ้น นันเป็นรากเง่าของตาราง และเมรุซึ่งทำครอบศพ ทีหลังไม้ปักกันกองฟืนนั้น แก้เป็นไม้ปักดิน ทำเป็นม้ายกไปได้ ใช้ฟืนกองใต้นั้น จึงเรียกว่า “ร้านม้า” ต่อมาจัดทำเป็นตะเฆ่ เอาร้านม้าตั้งบนนั้น สอดฟืนตั้งศพเสร็จ แต่งญาติที่โต ๆ ให้ชักตะเฆ่ โปรยข้าวตอกดอกไม้ไปหน้าตะเฆ่ ทีหลังก็แต่งให้ประณีตขึ้นอีก เช่นกองฟืนก็แต่งปิดเสียให้เห็นเป็นภูเขา เหนือภูเขาก็ทำเป็นรูปสัตว์ที่มีหลังคา บนหลังเป็นที่ตั้งศพ ภายหลังขยายตะเฆ่ให้ใหญ่ ตั้งร้านพระสวดพระอภิธรรมไปบนนั้นด้วย ต่อมาก็เปลี่ยนไปเป็นเอาศพชั้นรถลากไปแทนตะเฆ่หรือหามไปก็ได้เหมือนกัน ตอนนั้นแหละ แม้จะยกพื้นเมรุสูงขึ้น ก็ไม่ขัดขวางเลย จะเห็นได้อยู่ว่าผู้ชักโยงก็คือผู้แทนญาติโต ๆ ซึ่งเคยช่วยกันชักตะเฆ่ศพไปเข้าเมรุ ผู้โปรยก็คือผู้แทนญาติเล็ก ๆ ซึ่งโปรยข้าวตอกดอกไม้ไปข้างหน้าตะเฆ่ พระอ่านพระอภิธรรมนำศพ ก็คือผู้แทนพระสวดทั้งร้าน แม้รูปสัตว์อันผูกขึ้นไว้บนตะเฆ่ มีหลังคาบนหลังตั้งผ้าไตร ก็คือที่ตั้งศพนั้นเองหากทำแต่เล็ก ๆ ย่อมเห็นปรากฏอยู่ได้ทั้งนั้น
ในการที่เรียกว่าเมรุ ทั้งพื้นก็ต่ำ ๆ ทีจะมีหมายไปอย่างหนึ่ง เป็นว่ามีสิ่งที่แวดล้อม เช่น คดซ่าง ตลอดถึงราชวัติอย่างต่าง ๆ ด้วย อันมีลักษณะดุจเขาพระเมรุ ซึ่งมีสัตตบริพันธ์ล้อมอยู่ ฉะนั้น มีที่เผาศพอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่า “โรงทึม” เข้าใจว่าเพราะไม่มีสิ่งแวดล้อม แต่ชื่อนั้นหายไป คงเรียกกันแต่ว่า “เมรุ” ไม่ว่าจะมีลักษณะเป็นอย่างไร ที่เป็นไปเช่นนั้น เข้าใจว่าเป็นด้วยเมรุไม่ใช่แต่ใช้จำเพาะถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างเดียว ใช้เรียกที่เผาศพอื่นด้วย จึงนำไปให้ใช้เรียกว่า เมรุ ทั้งสิ้นด้วยกัน