ประวัติ มหาเสวกตรี พระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ) ท.ม. , ท.จ. , ว.ป.ร. ๓, ฯลฯ

มหาเสวกตรี พระยาศรีสุนทรโวหาร ญาณปรีชามาตย์ บรมนาถนิตยภักดี พิริยพาห เจ้ากรมพระอาลักษณ์ นามเดิม ผัน สาลักษณ เป็นบุตรชายใหญ่ของพระยาศรีภูริปรีชา (กมล สาลักษณ) คุณหญิงพึ่ง เป็นมารดา เกิด ณ วันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๒๔ ตรงกับวันพุธ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๗ ปีมเส็ง ที่บ้านพระคชภักดี (ท้วม คชนันทน์) ผู้เป็นตา ตำบลถนนเฟื่องนคร ข้างวัดราชบพิธ จังหวัดพระนคร

พระยาศรีสุนทรโวหาร ได้เข้าศึกษาวิชาหนังสือไทยที่โรงเรียนวัดราชบพิธเมื่ออายุ ๙ ขวบ ครั้น พ.ศ. ๒๔๓๕ อายุ ๑๑ ปี ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมมหาราชวัง พ.ศ. ๒๔๓๘ บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร และต่อไปนี้การศึกษาของพระยาศรีสุนทรโวหารก็เป็นไปในทางธรรมและภาษาบาลี ตั้งต้นศึกษาวิชาสำหรับนวกะ สอบวิชาธรรมกถาได้แล้วเข้าศึกษาวิชาภาษาไทย ภาษาบาลี ในโรงเรียนมหามกุฎราชวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ สอบไล่วิชาภาษาไทยได้ชั้นนักเรียนที่ ๓ ในปีต่อมาไล่วิชาภาษาบาลีได้ชั้นนักเรียนตรี พ.ศ. ๒๔๔๑ สอบไล่วิชาภาษาไทยได้ชั้นนักเรียนที่ ๒ ได้รับรางวัลชั้นที่ ๒ ด้วย แล้วสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่น ทรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่อำนวยการศึกษาและการพระศาสนาในมณฑลต่าง ๆ โปรดฯ ให้เป็นเลขานุการในพระองค์และเป็นเลขานุการของมหามกุฎราชวิทยาลัยด้วยอีกตำแหน่ง ๑ ระหว่างเวลานั้น ไม่มีโอกาสจะศึกษาวิชาในโรงเรียนได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดสอนวิชาภาษามคธชั้นธรรมบทโดยพระองค์เองให้เป็นพิเศษ การศึกษาของพระยาศรีสุนทรโวหาร ณ สำนักของพระองค์ได้เป็นไปจนถึง พ.ศ. ๒๔๔๓ ซึ่งเป็นปีที่ลาสิกขาบท

เมื่อเสร็จการเล่าเรียนแล้ว ในปีนั้นเอง พระยาศรีสุนทรโวหารจึงเข้ารับราชการเป็นเสมียนเอกในกรมราชเลขานุการ ได้รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ ๓๐ บาท จนถึงวันที่ ๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๔๕ ย้ายไปรับราชการในกระทรวงนครบาล เป็นตำแหน่งสารวัตรตรวจหัวเมือง ได้รับพระราชทานเงินเดือน ๆละ ๗๕ บาท ปีต่อมาเงินเดือนเพิ่มเป็น ๘๐ บาท ในปลายปีนี้ย้ายตำแหน่งไปเป็นนายอำเภอดุสิต เงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ ๑๕๐ บาท ครั้นวันที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๕๑ จึงย้ายไปเป็นนายอำเภอพระนคร เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงพิทักษ์เทพนคร กับในปีนี้ได้เลื่อนขึ้นเงินเดือนขึ้นเป็นชั้นที่ ๑ เดือนละ ๑๘๐ บาท วันที่ ๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๕๔ ย้ายตำแหน่งขึ้นเป็นเสมียนตรา เงินเดือน ๆ ละ ๒๐๐ บาท วันที่ ๒๗ สิงหาคม ปีนี้รับพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์เอก วันที่ ๑ มกราคม ปีเดียวกัน เปลี่ยนตำแหน่งเป็นเลขานุการของกระทรวง ในปีต่อมาเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ก็ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เบญจมาภรณ์ช้างเผือก เป็นดวงแรก ได้ทำการตำแหน่งข้าหลวงตรวจการศึกษาเป็นพิเศษ เงินเดือนเพิ่มเป็นเดือนละ ๒๑๐ บาท

พระยาศรีสุนทรโวหารเป็นผู้ที่มีเชาวน์ในเชิงประพันธ์ เคยแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนได้ตั้งแต่เมื่อมีอายุยังเยาว์ ครั้นมีอายุมากขึ้นก็มีความสามารถและคล่องแคล่วยิ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรเห็นฝีปากของพระยาศรีสุนทรโวหาร และประกอบทั้งพระยาศรีสุนทรโวหารเป็นผู้มีความรู้ในมคธภาษา เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๕๖ จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้มารับราชการในกระทรวงมุรธาธรเพื่อเป็นทางสืบตระกูลในหน้าที่อาลักษณ์ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๕๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้เป็นหลวงสารประเสริฐ ตำแหน่งปลัดกรมพระอาลักษณ์ รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ ๒๒๐ บาท ใน พ.ศ. ๒๔๕๗ ก็ได้รับพระราชทานยศเป็นอำมาตย์ตรี วันที่ ๑๖ ธันวาคม ปีต่อมา เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระในนามเดิม วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๕๙ เลื่อนยศจากอำมาตย์ตรีเป็นเสวกเอก และในวันที่ ๑๓ เดือนนั้นเอง ก็ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตริตาภรณ์มงกุฎสยาม

ด้วยความปรีชาสามารถและวิริยภาพ อันเป็นเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นว่า พระยาศรีสุนทรโวหารเป็นผู้สมควรอยู่ในตำแหน่งสูงได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นพระยาศรีสุนทรโวหาร เจ้ากรมพระอาลักษณ์ เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ นี้ รับตำแหน่งจากพระยาศรีภูริปรีชาผู้บิดา ครั้งขึ้น พ.ศ. ๒๔๖๐ เงินเดือนเลื่อนขึ้นเป็น ๔๐๐ บาท วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และโต๊ะทองกาทองเป็นเกียรติยศ วันที่ ๓๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๒ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตริตาภรณ์ช้างเผือก วันที่ ๓๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๔ ได้รับพระราชทานเลื่อนยศขึ้นเป็นมหาเสวกตรี และวันรุ่งขึ้นก็ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทวีติยาภรณ์มงกุฎสยาม ครั้นวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๖๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้า และพานทองเครื่องยศ ถึงต้น พ.ศ. ๒๔๖๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ใหเป็นองคมนตรี พระยาศรีสุนทรโวหารได้รับพระราชทานเงินเดือนเต็มอัตรา ๕๐๐ บาท เมื่อต้น พ.ศ. ๒๔๖๕

ตำแหน่งพระยาศรีสุนทรโวหาร เจ้ากรมพระอาลักษณ์นี้เป็นตำแหน่งที่พระยาศรีภูริปรีชา (กมล สาลักษณ) ได้สืบมาแต่พระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก สาลักษณ) ผู้บิดา และพระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ) สืบจากพระยาศรีภูริปรีชา อีกชั้น ๑ การที่บุตรจะรับตำแหน่งหน้าที่ราชการของบิดาได้ถึง ๓ ชั้นเช่นนี้ เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ หาได้โดยยากนักหนา ย่อมเป็นที่ภาคภูมิใจแก่บุตรหลานและผู้สืบตระกูลไม่น้อยเลย

ระหว่างเป็นเจ้ากรมพระอาลักษณ์ พระยาศรีสุนทรโวหารได้มีหน้าที่คิดนามและร่างประกาศสถาปนาตั้งกรมตั้งพระองค์เจ้า และตั้งเจ้าพระยา เป็นที่พอพระราชหฤทัยในส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระยาศรีสุนทรโวหารได้สนองพระเดชพระคุณในการประพันธ์ฉันท์และกาพย์กลอน กับคิดนามสกุลข้าราชการ นามหม่อมเจ้าและบุตรข้าราชการ

ในส่วนราชการพิเศษ พระยาศรีสุนทรโวหาร ได้รับตำแหน่งเป็นเลขานุการราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม สืบจากบิดาผู้ถึงอนิจกรรมเสียเมื่อปลาย พ.ศ. ๒๔๖๐ ดำเนินการจนลุล่วงถึงที่สุด ได้เรือพระร่วงเข้ามายังประเทศสยาม ทางราชการเสือป่า ก็ได้เข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่แรกตั้งกองเสือป่า เป็นสมาชิกสำรองแล้วเลื่อนยศขึ้นตามลำดับ จนถึงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๖๕ มียศเป็นนายกองตรี ตำแหน่งสัสดี กองเสนาหลวงรักษาพระองค์

พระยาศรีสุนทรโวหาร เป็นผู้มีความสามารถสืบตำแหน่งหน้าที่ราชการอาลักษณ์ต่อจากบิดาได้ดี และเป็นผู้มีความสามารถในการประพันธ์กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ ได้เป็นอย่างดีโดยไม่ต้องเลือกเวลา เป็นกวีซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณานับให้อยู่ในพวกเพื่อนกวีด้วยผู้ ๑ ในข้อนี้จะแสดงด้วยถ้อยคำอันใด ก็ไม่ยิ่งไปกว่าอ้างพระราชนิพนธ์ ซึ่งได้พระราชทานให้เป็นคำนำแห่งหนังสืออิลราชคำฉันท์ซึ่งพระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ) เป็นผู้แต่ง และซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้อนุญาตให้เป็นแบบสอนอ่านใช้ได้ในโรงเรียนบัดนี้

พระยาศรีสุนทรโวหารได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลปัจจุบัน ชั้นที่ ๔ เมื่อวันที่ ๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๕๘ วันที่ ๒๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๙ รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์เลื่อนชั้นเป็นที่ ๓ กับได้พระราชทานเข็มข้าหลวงเดิม เสมาทองคำและแหนบอักษรพระปรมาภิไธยด้วย

เดิมพระยาศรีสุนทรโวหารอยู่ที่บ้านบิดา ถนนนครสวรรค์ ต่อมาภายหลังได้ย้ายไปตั้งเคหสถานยังที่พระราชทาน ณ ถนนเพ็ชร์บุรี จังหวัดพระนคร พระยาศรีสุนทรโวหารมีภรรยาหลวง คือคุณหญิงวงศ์ มีบุตร ๔ คน แต่เหลือเพียงบุตรชายใหญ่คนเดียว คือ

ขุนปฏิภาณพิจิตร (กมลวงศ์ สาลักษณ) ต.จ. ซึ่งรับราชการสืบตระกูลอยู่ในกระทรวงมุรธาธร

กับมีบุตรที่เกิดด้วยนางแย้มอนุภรรยาอีก ๔ คน คือ

๑. นายพงศ์สุนทร สาลักษณ

๒. นายพรพัจน์ สาลักษณ

๓. นางสาวชัชศรี สาลักษณ

๔. นายมณีวรรณ สาลักษณ

 

ชื่อเหล่านี้เป็นชื่อพระราชทานโดยพระมหากรุณาที่มีแก่พระยาศรีสุนทรโวหาร

 

อุปนิสัยของพระยาศรีสุนทรโวหาร ตามปรกติเป็นคนอ่อนโยน ไม่มีพยาบาท กิริยาวาจาสุภาพเรียบร้อยเคยมีผู้กล่าวว่าเรียบร้อยราวกับผู้หญิง สิ่งที่น่าชมอีกอย่าง ๑ ก็คือเป็นผู้รักราชการดังชีวิต แม้กำลังกายไม่แข็งแรง ก็ยังมีความทนทานในเมื่อต้องตรากตรำ ทั้งเป็นผู้กอปรไปด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และมั่นอยู่ในความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง

พระยาศรีสุนทรโวหาร มีโรคเส้นประสาทอ่อนเรื้อรังมานาน อาการของโรคค่อย ๆ ทวีขึ้นทีละน้อย กำลังและความสมบูรณ์ของร่างกายก็ถอยลง ในตอนหลัง ๆ นี้ใจคอไม่ปรกติมากขึ้น เมื่อมีเรื่องขัดข้องใจบ้างเล็กน้อยก็เห็นเป็นความทุกข์ใหญ่โตไป แล้วจึงเกิดวิกลจริตขึ้นโดยปัจจุบัน อันเป็นเหตุให้ถึงแก่อนิจกรรมลงด้วยอาการเอน็จอนาถใจยิ่ง เมื่อเวลาเช้าวันที่ ๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ ที่บ้านถนนเพ็ชร์บุรี นับอายุได้ ๔๓ ปี

(จากฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์เผยแพร่)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ