พระราชนิพนธ์คำนำ

หนังสืออิลราชคำฉันท์นี้ จะว่าได้เกิดมีขึ้นเพราะข้าพเจ้ายุยงก็ได้ ที่ว่ายุยงนั้น เพราะข้าพเจ้าได้ทราบอยู่ว่า หลวงสารประเสริฐเปนผู้มีฝีปากแต่งหนังสือเปนกาพย์กลอนได้อยู่  ดังมีพยานปรากฎอยู่ที่เรื่อง ปัญจสิงขรคำกลอน กับฉันท์และกลอนเบ็ดเตล็ดต่างๆ ข้าพเจ้าได้อ่านแล้วก็เห็นว่า มีจินตกะวีเกิดขึ้นในหมู่คนไทยชั้นหนุ่มอิกแล้ว แต่ข้าพเจ้าวิตกอยู่ว่า ถ้าไม่คอยระวัง กลัวหลวงสารประเสริฐจะใช้ความสามารถของตนนั้น เพื่อแต่งหนังสืออันไม่เปนแก่นสาร

ในสมัยตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๕ มา ข้าพเจ้ามีความเสียใจที่ได้สังเกตเห็นว่า ฝีปากผู้แต่งกาพย์กลอนเลวลงกว่าในต้นรัชกาลที่ ๕ นั้นเปนอันมาก เพราะพอใจแต่งแผลงอวดดีไปว่าใช้โวหารอย่างใหม่ ซึ่งมีคนบางจำพวกนิยม โดยสำคัญว่าเปนโวหารอย่างฝรั่งและนิยมว่า การแต่งหนังสือโดยใช้โวหารแผลงและคำซึ่งเข้าใจว่าเปนคำฝรั่งปนเปอยู่นั้น เปนเครื่องแสดงความรุ่งเรืองของตน ในชั้นเมื่อเกิดมีลครชนิดที่เรียกว่า ลครร้องชุกชุมขึ้น นักเลงแต่งบทลครร้องก็มีมากขึ้น และเปนที่เข้าใจกันว่า กลอนที่จะใช้ในบทลครร้องเช่นนี้ต้องใช้เปนอย่าง “สมัยใหม่” ใช้ถ้อยคำอย่างใหม่ เลี่ยงถ้อยคำซึ่งเรียกว่า “ภูมิเก่า” ให้มากที่สุดที่จะหลีกไปได้ เช่นต่างว่าจะแต่งบทโลม ถ้าแต่งอย่างแบบแผนแห่งจินตกะวีนิพนธ์ไทยเก่า คงแต่งว่า

“โฉมงามทรามสุดสวาดิ์พี่ ดาลฤดีจ่อจิตรพิศวง
ขอแต่เพียงได้พิงอิงองค์ แนบอนงค์ขวัญฟ้ายาใจ” ดังนี้

แต่ถ้าใครแต่งเช่นนี้ก็มันถูกหาว่าเปนภูมิเก่า ไม่ทันสมัย ฝ่ายผู้แต่งถึงแม้จะพอมีความรู้แต่งได้ก็ไม่กล้าแต่งออกมา เพราะกลัวจะถูกติว่าเปนคนผิดสมัย ฝ่ายผู้อ่านถึงแม้ว่าแท้จริงเมื่ออ่านบทกลอนเช่นข้างบนนี้แล้วจะรู้สึกในใจจริงว่าเพราะ ปากก็ต้องกล่าวติว่า “คฤห” หรือ “งุ่มง่าม” เพราะถ้าแสดงออกมาว่าชอบบทกลอนเช่นนี้แล้ว ก็เกรงจะเปนเหมือนสารภาพว่าตนเปนคนที่เดินไม่ทันสมัย ด้วยเหตุนี้จินตกะวีสมัยปลายรัชกาลที่ ๕ เมื่อปราถนาจะแต่บทโลมให้ได้ใจความเช่นเดียวกับบทข้างบนนี้ จึงต้องแต่งว่า

“โอ้งามโฉมประโลมหรูคู่ชีวิต ช่างถูกจิตร์นี่กระไรแม่ใจหวาน
ขอจูบเจ้าคลึงเคล้าเยาวมาลย์ กระสันสร้านกอดศอพอชื่นใจ” ดังนี้

ตัวผู้ที่แต่งบทกลอนเช่นนี้ ถ้าเปนผู้ที่มีนิไสยเปนจินตกะวีแม้แต่เล็กน้อย ก็คงจะต้องรู้สึกว่าเปนถ้อยคำอันเปนภูมิต่ำ ซึ่งถ้าจะเปรียบกับคำกลอนบทข้างบนนี้ ก็ต้องรู้สึกว่าเหมือนขันทองเหลืองเทียบขันทองคำ แต่จะทำอย่างไรได้ ตนเปนผู้ขาย เมื่อคนซื้อชอบขันทองเหลืองมากกว่าขันทองคำ ก็จำเปนต้องทำขันทองเหลืองขาย เมื่อเจ้าของโรงลครเขาชอบบทลครโสกโดกก็ต้องแต่งเช่นนั้น

ข้าพเจ้าได้เคยรู้สึกรำคาญมานานแล้ว แต่ไม่แลเห็นหนทางที่จะแก้ไขอย่างใด นอกจากที่จะมีผู้เปนจินตกะวีมาปฤกษาหาฤๅแล้ว ข้าพเจ้าจึงจะสามารถแสดงความเห็นพูดจาเกลี้ยกล่อมให้ช่วยกันรักษาวิชากะวีไทยอย่าให้สูญเสีย หรือเลวทรามไป ก็นับว่าได้มีผลสำเร็จไปบ้างแล้วบางราย แต่งยังเปนส่วนน้อยนัก

ในส่วนตัวหลวงสารประเสริฐนี้ ข้าพเจ้าได้ถือโอกาศตักเตือนได้เต็มที่ เพราะพระยาศรีสุนทรโวหาร ผู้เปนบิดาเปนผู้ที่ข้าพเจ้าคุ้นเคยมาช้านาน ได้เคยพูดจาปรารภมีความเห็นพ้องกันอยู่ ทั้งตัวหลวงสารประเสริฐก็ได้รู้จักต่อเนื่องจากความคุ้นเคยกับบิดาเขานั้น ข้าพเจ้าจึงถือเอาโอกาสเพื่อแนะนำหลวงสารประเสริฐให้แต่งหนังสืออะไรอัน ๑ ซึ่งจะได้มีชื่อเสียงสืบไปว่าเปนจินตกะวีผู้หนึ่ง ซึ่งมิได้เปนผู้ช่วยทำให้ภาษาไทยเสื่อมทราม ข้าพเจ้าขอให้พยายามแต่งหนังสือขึ้น เพื่อให้ปรากฎต่อไปในพงษาวดารว่า ในรัชกาลพระมงกุฎเกล้าก็ยังมีจินตกะวีอยู่ หลวงสารประเสริฐก็รับปากไว้ แต่ยังหาเรื่องที่ประพันธ์ขึ้นนั้นไม่เหมาะได้ จนข้าพเจ้าได้แต่งหนังสือ “บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์” นั้นขึ้น หลวงสารประเสริฐจึงได้พบนิทานเรื่อง อิลราช ซึ่งมีอยู่ในอุตตรกัณฑ์แห่งรามายณ เห็นว่าพอจะประพันธ์เปนคำฉันท์ได้ หลวงสารประเสริฐจึงได้แต่งขึ้นด้วยความอุสาห แล้วนำมาให้ข้าพเจ้าช่วยตรวจ ข้าพเจ้าก็ได้ช่วยตรวจแก้ไขและแสดงความเห็นให้แก้ไขหรือเพิ่มเติมขึ้น และบางตอนที่เขาแต่งไม่ได้โดยพิสดาร เพราะขาดความรู้ในกิจการนั้นๆ โดยเฉภาะ เช่นเรื่องพิธีอัศวเมธเปนต้น ข้าพเจ้าก็ได้ช่วยชี้แจงให้ฟังโดยพิสดาร ตามที่ข้าพเจ้าได้อ่านมาในตำรับไสยศาสตร์ หลวงสารประเสริฐได้กำหนดจดจำเอาไปประพันธ์ขึ้นได้อย่างดี นับว่าเปนที่ควรสรรเสริญ

ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีที่ได้เห็นว่า ในรัชกาลของข้าพเจ้าได้มีจินตกะวี ซึ่งสามารถจะแต่งฉันท์ภาษาไทยได้หลายคนแล้ว และหลวงสารประเสริฐผู้แต่งเรื่องอิลราชคำฉันท์นี้ เปนคน ๑ ในหมู่นั้น ข้าพเจ้าจึงมีความยินดีเขียนคำนำนี้ให้หลวงสารประเสริฐเพื่อแสดงความพอใจแห่งข้าพเจ้าณบัดนี้

อนึ่งข้าพเจ้าขอถือเอาโอกาศอันนี้เพื่อแสดงว่า ถ้าแม้ผู้ใดซึ่งริเริ่มจะนิพนธ์โคลงฉันท์กาพย์กลอน มีความปราถนาจะให้ข้าพเจ้าตรวจและแนะบ้าง อย่างที่ข้าพเจ้าได้ช่วยหลวงสารประเสริฐมาแล้วนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เปนผู้ที่คุ้นเคยกับข้าพเจ้าแล้วแต่ก่อนก็ตาม ข้าพเจ้าก็จะยินดีช่วยตรวจและแสดงความเห็นเท่าที่ข้าพเจ้าสามารถจะทำได้ เพื่อช่วยอนุเคราะห์ผู้ที่มีความพอใจในทางจินตกะวีนิพนธ์ และเพื่อประโยชน์แก่วิชากะวีของไทยเรานั้นด้วย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖

สนามจันทร์

วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๖

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ