ชุดที่ ๑

ฉาก : ห้องรับแขก บ้านพระภิรมย์วรากร ที่เมืองมณีบูรณ์ มณฑลหัสดินบุรี เป็นห้องในเรือนตึกอย่างเก่าๆ ด้านหลังมีประตูเปิดออกไปเฉลียง ต่อเฉลียงไปมีสวน ด้านขวามีหน้าต่าง ด้านซ้ายมีประตูสำหรับเข้าไปภายในเรือน เครื่องตกแต่งมีเป็นโต๊ะเก้าอี้อย่างกระนั้นๆ ไม่สู้ดีปานใด โต๊ะตั้งกลาง เก้าอี้ล้อมโต๊ะ และมีเก้าอี้ตั้งติดๆ กับฝาบ้าง มีรูปถ่ายติดฝาเป็นรูปหมู่โดยมาก และมีรูปพระภิรมย์ ฯ แต่งเต็มยศข้าราชการพลเรือนชั้นอำมาตย์โท (หมายเหตุซ้ายขวาคือซ้ายขวาของตัวละคร)

(เมื่อเปิดม่าน นายสวายกับนายสวัสดิ์เดินเข้ามาด้วยกันจากเฉลียง นายสวายแต่งตัวสวมกางเกงแพรกับเสื้อชั้นใน นายสวัสดิ์แต่งตัวสวมกางเกงขาสั้นสีดำอย่างลูกเสือ ใส่ถุงเท้ารองเท้าดำ ใส่เสื้อขาว แต่ภายในเสื้อขาวนั้นมีเสื้อลูกเสือและมีผ้าพันคอลูกเสือคาดพุงทับเข็มขัด ถือห่อกระดาษอัน ๑)

สวาย : (จับแขนสวัสดิ์ไว้แล้วพูด) เดี๋ยวก่อนจะรีบร้อนไปไหน
สวัสดิ์ : ไปเอาอะไรในห้องหน่อย (ทำท่าจะไป)
สวาย : ไปอาบน้ำกันเถอะน่า เดี๋ยวจะบ่ายมาก ไปอย่าร่ำไร มาสิถอดเสื้อสิน่า (ทำท่าจะเข้าปลดกระดุมให้นายสวัสดิ์แต่นายสวัสดิ์ไม่ยอดให้ปลด)
สวัสดิ์ : พุทโธ่ ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นแหละ อย่ายุ่งไปหน่อยเลย
สวาย : ก็ทำไมจะต้องผัดด้วยเล่า (จับแขนสวัสดิ์ไว้ สวัสดิ์สลัดแขนทิ้งกันไปมา ห่อกระดาษตก สวัสดิ์กับสวายก้มลงเก็บพร้อมกันแย่งกันจนกระดาษขาด แลเห็นหมวกลูกเสืออยู่ในห่อ) อ้ออย่างนี้นี่เอง
สวัสดิ์ : ก็ยุ่งอย่างนี้แหละ (ฉวยหมวกได้ ตั้งท่าจะวิ่งไปในเรือน)
สวาย : (จับแขนไว้) อ้อ นี่แกแอบไปเป็นลูกเสือแล้วฤๅ
สวัสดิ์ : เป็นแล้วละ จะทำไมฉัน
สวาย : กันจะต้องไปทำไมแกเดี๋ยวนี้ คอยดูคุณพ่อรับงานแกดีกว่า
สวัสดิ์ : นี่พี่สวายจะไปปากบอนอย่างนั้นฤๅ
สวาย : ฉันก็ต้องบอกให้คุณพ่อรู้สิ ว่าแกขัดขืนโอวาทของท่าน จำไม่ได้ฤๅท่านว่าอยู่เร็วๆ นี้เอง ว่าท่านไม่ต้องการให้ลูกท่านไปเป็นลูกเสือลูกหมาอะไร
สวัสดิ์ : คุณพ่อจะว่ากระไรๆ ก็ตามใจท่าน แต่ฉันเกิดมาเป็นลูกผู้ชายกับเขาชาติหนึ่งแล้ว ก็ไม่อยากให้เสียชาติ
สวาย : เพราะฉะนั้นจึงไปเป็นลูกหมา อย่างนั้นฤๅ
สวัสดิ์ : (โกรธ) นี่แน่ะพี่สวาย พี่จะด่าตัวฉันส่วนตัวอย่างไรๆ ก็พอจะยอมยกโทษให้ แต่ถ้าขืนพูดดูถูกลูกเสืออีกคำเดียวละก็จะต่อยให้ฟันหักทีเดียว
สวาย : ชะๆ ชะๆ เก่งจริงนะ
สวัสดิ์ : อย่างไรๆ ฉันก็แข็งแรงกว่าพี่สวายเป็นแน่ เพราะฉันใช้กำลังของฉันในทางที่ถูก ไม่มัวใช้แต่ในทางทำหนุ่มแอบซุกซนเล่นสกปรก
สวาย : (โกรธ) ทำไมกันเล่นซุกซนสกปรกอย่างไร
สวัสดิ์ : เฮ้ยๆ เขารู้ดอกน่า ไม่ต้องทำไขสือ แอบลงไปนัวเนียอยู่ที่ห้องอีแก่นเสมอๆ แล้วจะไม่อ่อนแออย่างไร ฮะๆ ฮะๆ
สวาย : พูดยุ่งบ้าอะไรไม่รู้
สวัสดิ์ : หรือจะฝึกหัดให้เป็นลูกผู้ชาย ฮะๆ มีแต่เขาหัดกันทางลูกเสือหรือทหาร นี่พี่สวายให้อีแก่นเป็นครูหัดอะไรมิรู้ได้ หนอยแน่กำลังน้อยเอย ขี้โรคเอย เล่นฟุตบอลล์ไม่ไหว ฝึกซ้อมกำลังกายก็ไม่ไหว คุณพ่อก็พะนอเห็นขี้โรค ที่แท้มัวฝึกซ้อมออกกำลังเสียทางหนึ่งต่างหาก
สวาย : เอ๊ะ สวัสดิ์นี่ กล้าหาญชาญชัยจริงนะ หรือเห็นตัวดีเพราะเป็นลูกเสือลูกหมา
สวัสดิ์ : บอกแล้วว่าไม่ให้ดูถูกลูกเสือ ขืนจะดูถูก (ตบหน้าสวาย) นี่แน่ะคนปากร้ายเขาต้องทำอย่างนี้ ตั้งหมัดขึ้น เดี๋ยวจะว่าฉันทำข้างเดียว
สวาย : เล่นระยำอะไรไม่รู้
สวัสดิ์ : ตั้งหมัดขึ้นสิ หาไม่จะเจ็บเปล่านะ
สวาย : (ตั้งหมัดแล้วพูดพลาง) ข้าขอบอกกล่าวนะ
สวัสดิ์ : ไม่ต้องพูด ต่อยกันดีกว่า (ต่อยกันสวายออกจะเอี้ยๆ)
(พระภิรมย์วรากร กับหลวงมนูธรรมธุราธรเดินเข้ามาด้วยกันจากเฉลียง พระภิรมย์สวมกางเกงแพรใส่เสื้อกุยเฮง หลวงมนูธรรมแต่งเครื่องเสือป่า)
พระภิรมย์ : เฮ้ยๆ นั่นอะไรต่อยกันออกยุ่ง เลิก! เลิก เดี๋ยวนี้ (เด็กทั้ง ๒ หยุดต่อยกัน) นี่ต่อยกันทำไม อ้ายเล็กคงรังแกพ่อกลางละซี เอ็งละอวดดีอย่างนี้เสมอ เห็นว่าพี่เป็นคนขี้โรคละก็ข่มเหงได้ข่มเหงเอา
สวัสดิ์ : พี่สวายอยากมาปากจัดด่าผมก่อนนี่ขอรับ
พระภิรมย์ฯ : ด่าว่ากระไร
สวัสดิ์ : เขาด่าว่า - (นึกขึ้นออกเลยชะงักไม่พูดต่อไป)
สวาย : (เห็นเป็นโอกาสเหมาะจึงชิงพูด) สวัสดิ์แอบไปเป็นลูกเสือขอรับ ผมว่าเขาว่าคุณพ่อห้ามแล้วทำไมเขาขืนไปเป็นเขาโกรธเขาก็ต่อยเอาผม
พระภิรมย์ : อ้อ! อ้ายเล็ก นี่มึงแอบไปเป็นลูกเสือแล้วจริงๆ ฤๅ
สวัสดิ์ : ขอรับ
พระภิรมย์ : ถอดเสื้อออกให้ข้าดูทีฤๅ (นายสวัสดิ์ถอดเสื้อชั้นนอก) เออ! ไหนลองแต่งขึ้นให้ครบเครื่องทีฤๅ (นายสวัสดิ์แต่งตัวอย่างลูกเสือบริบูรณ์) อือ! ชอบกลจริงๆ อยู่ดีๆ ไม่ว่าดี ชอบแต่งตัวเป็นอ้ายตัวในหนังญี่ปุ่น (สวัสดิ์แลดูตาหลวงมนู หลวงมนูอดหัวเราะไม่ได้)
หลวงมนู : ผมก็เป็นตัวหนังญี่ปุ่นเหมือนกันหรือขอรับ
พระภิรมย์ : คุณหลวงกับอ้ายลูกผมเป็นคนละอย่าง คุณหลวงเป็นผู้ใหญ่รู้จักผิดและชอบดีแล้ว เมื่อจะชอบแต่งตัวเล่นอย่างไรก็แต่งได้ แต่อ้ายนี่มันทารกอยู่ในอกพ่ออกแม่ มันยังไม่ควรจะทำอวดดีรู้มากไปกว่าผู้ใหญ่ มันรู้อยู่ดีแล้วว่าผมไม่ชอบให้ลูกผมเป็นลูกเสือมันก็ขืนไปเป็น
หลวงมนู : ขอโทษเถอะขอรับ ผมเห็นว่าในข้อนั้นคุณพระห้ามผิด การที่จะห้ามสิ่งใดๆ ควรจะมีเหตุผลเพียงพอ การที่คุณพระไม่ชอบลูกเสือนั้นเพราะเหตุใด
พระภิรมย์ : ข้อ ๑ ผมเห็นว่าไม่ควรจะให้เสียเวลาเรียนของเด็ก
หลวงมนู : การฝึกหัดหรือสั่งสอนส่วนทางวิชาลูกเสือไม่ได้ทำให้เสียเวลาเล่าเรียนเลยแม้แต่นาทีเดียว ไม่ทำให้เสียประโยชน์ของเด็กเลยจนนิดเดียว ตรงกันข้าม เด็กที่เป็นลูกเสือจะเป็นผู้ที่มีความรู้ดีกว่าเด็กธรรมดาเป็นอันมาก
พระภิรมย์ : นั่นเป็นความเห็นของคุณหลวง แต่ความเห็นของผมผิดกัน ผมเห็นว่าการเป็นลูกเสือไม่มีอะไรนอกจากเลี่ยงการเล่าเรียนและซุกซนหัวร้างข้างแตกไปเท่านั้น
หลวงมนู : แต่ซุกซนหัวร้างข้างแตกผมเห็นว่าดีกว่าซุกซนอีกอย่างหนึ่ง (นายสวัสดิ์แลดูนายสวายแล้วหัวเราะ) การซุกซนอย่างลูกเสือทำให้เป็นคนแข็งแรง การซุกซนอีกอย่างหนึ่งนั้น มีผลตรงกันข้าม การเป็นลูกเสือทำให้เด็กรู้จักอดทน-
พระภิรมย์ : อ้อ! ยังงั้นหรือขอรับ ผมจะได้ทดลองดู (ไปหยิบแส้ม้ามา) นี่แน่ะถ้าเอ็งอดทนจริงอย่างคุณหลวงว่า เอ็งไม่ต้องร้องเลยสิข้าจะลองความอดทนของอ้ายลูกเสือให้เห็นจริง (เงื้อแส้จะตีนายสวัสดิ์)
หลวงมนู : (จับมือพระภิรมย์) คุณพระ! อย่างนั้นจะใช้ที่ไหนได้ (แย่งแส้จากมือพระภิรมย์แล้วโยนไปเสียให้ไกล) ทำอย่างนั้นก็เสียผู้ใหญ่ไปสิขอรับ
พระภิรมย์ : นี่ผมไม่มีอำนาจเหนือลูกผมแล้วฤๅ
หลวงมนู : ข้อนั้นไม่มีใครเถียงเลย แต่ผู้มีอำนาจควรจะใช้อำนาจแต่ในที่ถูก ที่เป็นยุติธรรม ถ้ามิฉะนั้นก็ทำให้ผู้น้อยสิ้นความนับถือ
พระภิรมย์ : ถ้าลูกผมสิ้นความนับถือผมในครั้งนี้ ก็เป็นเพราะมันเห็นคุณหลวงเข้ากับมันเท่านั้น
หลวงมนู : ผมเสียใจที่คุณพระพูดเช่นนั้น ผมตั้งใจดีต่อคุณพระจริงๆ แต่เมื่อไม่เป็นที่พอ ใจแล้วก็เลิกกันที ผมจะพูดอะไรไปอีกก็เสียเวลาผมต้องขอลาที
พระภิรมย์ : อ้าวๆ คุณหลวงอย่าโกรธสิครับ
หลวงมนู : ผมไม่ได้โกรธ เป็นแต่เสียใจเท่านั้น (ขณะนั้นได้ยินเสียงนกหวีดเป่าประชุม นายสวัสดิ์ทำท่าจะไป)
พระภิรมย์ : อ้ายเล็ก ข้าห้ามเป็นอันขาดไม่ให้เอ็งไปได้ยินไหม (เสียงนายพร นายหมู่ลูกเสือร้องตะโกนเรียกชื่อนายสวัสดิ์ นายสวัสดิ์ขยับจะไป) อ้ายเล็ก บอกว่าไม่ให้ไป
นายหมู่พร : (ขึ้นมาที่เฉลียงกับลูกเสือโทนายคำ) สวัสดิ์
สวัสดิ์ : (ระวังตรงแล้วขาน) อยู่!
นายหมู่พร : (เข้ามาในห้อง คำนับหลวงมนู แล้วจึงพูดต่อไป) สวัสดิ์! เป่านกหวีดประชุมแกไม่ได้ยินฤๅ
พระภิรมย์ : ได้ยิน แต่ฉันไม่ให้มันไปเอง
นายหมู่พร : (คำนับ) ขอรับประทานโทษ ผมพูดกับนายสวัสดิ์ (หันไปพูดกับนายสวัสดิ์ต่อ ไป) แกไม่ได้ยินนกหวีดฤๅ
พระภิรมย์ : ได้ยิน แต่ฉันไม่ให้มันไปเอง
นายหมู่พร : (คำนับ) ขอรับประทานโทษ ผมพูดกับนายสวัสดิ์ (หันไปพูดกับนายสวัสดิ์ต่อไป) แกไม่ได้ยินนกหวีดฤๅ
พระภิรมย์ : ฉันน่ะเป็นพ่อนายสวัสดิ์ ฉันห้ามเขาเองไม่ให้เขาไป เขาเป็นลูกที่อยู่ในถ้อยคำพ่อ
นายหมู่พร : (คำนับอีก) ผมขอเรียนซ้ำอีกว่าผมพูดกับนายสวัสดิ์ (พูดกับสวัสดิ์) จะว่าอย่างไร
สวัสดิ์ : นี่แหละฉันมันตกอยู่ในที่ยาก ฉันเองน่ะอยากไปจนตัวสั่นแต่คุณพ่อท่านไม่ให้ไป
นายหมู่พร : ขอรับประทานโทษเถิดขอรับ ที่คุณไม่ให้ไปเพราะอะไร
พระภิรมย์ : นี่ฉันมีความจำเป็นอะไรบ้างที่จะตอบแก
นายหมู่พร : ไม่จำเป็นเลย
พระภิรมย์ : แกมีนายเหนือแกอีก หรือแกเป็นคนสูงสุด
นายหมู่พร : ผมเป็นเพียงผู้บังคับหมู่ที่ ๔ นายสุดใจเป็นผู้กำกับลูกเสือกองที่ ๑๑
พระภิรมย์ : ถ้าเช่นนั้นฉันขอพบนายสุดใจจะได้หรือไม่
นายหมู่พร : ได้ขอรับ คำ!
คำ : (ที่เฉลียง) อยู่
นายหมู่พร : ไปเชิญคุณสุดใจมานี่ที คุณพระให้เชิญ (คำวิ่งไป)
หลวงมนู : ดูเอาเถอะครับ เด็กที่เป็นลูกเสือละก็ ท่าทางมันคึกคักดีอย่างนี้
พระภิรมย์ : ฮือ! การวิ่งการเต้นมันเป็นธรรมดาของเด็กเป็นของชอบอยู่แล้ว ผมไม่เห็นอัศจรรย์อะไร
หลวงมนู : คุณพระดูตั้งใจแน่นอนเสียทีเดียว ว่าจะไม่ยอมเห็นอะไรดีในส่วนลูกเสือ แม้แต่อย่างเดียว
พระภิรมย์ : ผมไม่เคยชอบเด็กซนเลย บางทีผมจะหัวเก่าผิดสมัยไปก็เป็นได้ (นายสุดใจ ผู้กำกับลูกเสือ เข้ามาจากเฉลียง คำ ตามมาเพียงเฉลียงแล้วหยุดอยู่ที่นั้น นายสุดใจคำนับหลวงมนู แล้วจึงถอดหมวกก้มหัวคำนับพระภิรมย์อีกทีหนึ่ง)
นายสุดใจ : คุณพระให้หาผมหรือขอรับ
พระภิรมย์ : ฉันให้ไปเชิญนายสุดใจมาเพื่อจะถามปัญหาสักข้อ ๑ ธรรมเนียมเด็กที่จะเป็นลูกเสือต้องได้รับอนุญาตบิดาหรือผู้ปกครองไม่ใช่ฤๅ
นายสุดใจ : ขอรับ ถูกแล้ว
พระภิรมย์ : ถ้าเช่นนั้นทำไมนายสุดใจ จึงได้รับนายสวัสดิ์ลูกฉันเข้าเป็นลูกเสือโดยฉันมิได้อนุญาต
นายสุดใจ : ผมเข้าใจผิดไป นายสวัสดิ์มาบอกขอสมัครเป็นลูกเสือ ผมก็เข้าใจว่าคุณพระคงจะได้อนุญาตแล้ว
พระภิรมย์ : ทำไมถึงเข้าใจเอาเองเช่นนั้น
นายสุดใจ : เพราะตั้งแต่ได้มีลูกเสือมา ผมยังไม่เคยพบสักรายเดียวที่บิดาหรือผู้ปกครองไม่เต็มใจให้เด็กเป็นลูกเสือ ผมจึงเข้าใจว่าคุณพระก็คงจะเหมือนคนอื่นๆ
พระภิรมย์ : แต่ฉันไม่เหมือนคนอื่นๆ ฉันมีสมองพอที่จะใช้ได้คิดอะไรได้เองบ้าง ไม่ต้องก้มหน้าหลับตาเอาอย่างคนอื่นตะพัดไป
นายสุดใจ : ผมเสียใจที่ผมคะเนผิดไป
พระภิรมย์ : ถ้าอย่างนั้นจะทำอย่างไรกันต่อไป
นายสุดใจ : ก็แล้วแต่คุณพระจะพอใจ
พระภิรมย์ : ถ้าลูกฉันจะออกจากกองลูกเสือเสียเดี๋ยวนี้ จะเป็นที่เสียหายอย่างใดบ้างหรือไม่
นายสุดใจ : นั่นแหละขอรับ ตามความเห็นของผม เห็นว่าเขาน่าจะรู้สึกลำบากใจอยู่บ้าง เพราะบรรดานักเรียนชั้นเดียวกับเขา หรือแม้ที่อายุอ่อนกว่าเป็นลูกเสือทั้งนั้น เพราะฉะนั้นถ้านายสวัสดิ์จะไม่เป็นลูกเสืออยู่คนเดียว ก็เห็นจะเข้าพวกเข้าพ้องกับเขาไม่ได้
พระภิรมย์ : ถ้าเช่นนั้นก็แปลว่านักเรียนในโรงเรียนของนายสุดใจทุกคนถูกบังคับให้เข้าเป็นลูกเสือฉะนั้นฤๅ
นายสุดใจ : การบังคับให้เข้าเป็นลูกเสือไม่เคยมีเลย
พระภิรมย์ : ถึงไม่บังคับตรงๆ ก็บังคับทางอ้อม ถ้าใครไม่เป็นลูกเสือก็เข้าพวกพ้องกับใครไม่ได้ ดังนี้ก็เท่ากับบังคับนั่นเอง
นายสุดใจ : ผมเห็นว่าการที่จะเถียงกันในข้อนี้ดูจะไม่เป็นผลดีอันใด เมื่อคุณพระไม่พอใจจะให้บุตรเป็นลูกเสือแล้วก็หมดปัญหา นายสวัสดิ์ต้องออกจากกองลูกเสือ
สวัสดิ์ : ผมไม่ยอมออก ผมยอมตายเสียดีกว่า
พระภิรมย์ : อ้ายบ้า!
สวัสดิ์ : ผมไม่ยอมออก ผมได้ให้คำมั่นสัญญาแล้วว่าผมประพฤติให้สมควรที่เป็นลูกผู้ชาย ผมไม่ยอมคืนคำ
หลวงมนู : คุณพระขอรับ ผมขอพูดสักคำ การที่คุณพระจะขืนยืนยันให้พ่อสวัสดิ์ออกจากลูกเสือครั้งนี้ ผมเชื่อแน่ว่าจะมีผลร้ายทั้งสองฝ่าย พ่อสวัสดิ์จะสิ้นความนับถือในตัวคุณพระเป็นแน่แท้ ผมเห็นมีทางแก้อยู่ทางหนี่ง
พระภิรมย์ : ทางใดขอรับ
หลวงมนู : ผมนี้ช่างอยากมีลูกผู้ชายเสียจริงๆ แต่ก็เผอิญไม่มีได้สักคนเดียว ถ้าผมมีผมก็คงขอให้เป็นอย่างพ่อสวัสดิ์นี้แหละขอรับ
พระภิรมย์ : ถ้าเช่นนั้นจะยากเย็นอะไร อ้ายนี่มันก็ไม่นับถือผมเป็นพ่อแล้ว คุณหลวงจะเอามันไปเป็นลูกก็เชิญสิ
หลวงมนู : จริงเช่นนั้นหรือขอรับ
สวัสดิ์ : จริงสิครับ จะเอาไปต้มไปแกงเสียก็ได้ตามความพอใจคุณหลวงทุกอย่าง
หลวงมนู : ถ้าเช่นนั้นผมยินดีมาก สวัสดิ์แกเป็นลูกฉันแล้วนะ เข้าใจไหม (สวัสดิ์ก้มหัว) ฉันผู้เป็นพ่อเลี้ยงและผู้ปกครองของแกอนุญาตให้แกเป็นลูกเสือ
สวัสดิ์ : (เสียงเครือ) คุณหลวง-ผม-ผม- (สะอื้น)
หลวงมนู : (กอดสวัสดิ์) อ้าวๆ เรามันลูกเสือ ใจผู้ชายอย่าขี้แยสิ แล้วก็อย่าเรียกพ่อว่าคุณหลวง เรียกว่าพ่อสิ เอ้า! ไปเข้ากองไป (นายสวัสดิ์ยินดีวิ่งไปคำนับนายสุดใจ นายสุดใจคำนับพระภิรมย์กับหลวงมนู แล้วออกไปทางหลังพร้อมด้วยนายหมู่พร นายสวัสดิ์แลนายคำ)
หลวงมนู : ผมก็ต้องลาที มีธุระจะต้องไป
พระภิรมย์ : ประเดี๋ยวขอรับ ผมมีธุระจะต้องพูดกับคุณ (เหลียวดูเห็นนายสวาย) พ่อกลางออกไปข้างนอกเดี๋ยวเถอะ พ่อมีธุระจะพูดกับคุณหลวง(นายสวายออกไป) เชิญนั่งประเดี๋ยวเถอะขอรับ (ทั้ง ๒ คนนั่ง) ผมมีความร้อนใจด้วยเรื่องพ่อใหญ่ของผม
หลวงมนู : ทำไมขอรับ
พระภิรมย์ : ผมได้ให้มันไปกรุงเทพฯ เพื่อเรียนกฎหมาย แต่เคราะห์ร้าย เข้าสอบไล่ตกเสียแล้ว
หลวงมนู : ก็ไม่เป็นการอัศจรรย์อะไร คนที่ไล่ตกมีถมไป เมื่อมีโอกาสก็สอบไล่ได้อีก
พระภิรมย์ : คุณหลวงยังไม่เข้าใจ พ่อใหญ่น่ะอายุเผอิญเฉพาะ ๑๘ ปีบริบูรณ์แล้ว ถ้าสอบไล่ตกก็คงต้องไปเป็นทหารแน่ละ
หลวงมนู : ก็แล้วอย่างไร
พระภิรมย์ : พวกผมไม่มีสักคนเดียวที่เป็นทหาร แต่ไรๆ มาไม่เคยมีจนคนเดียว
หลวงมนู : ผมไม่เห็นเป็นของที่น่าจะอวดเลย คุณพระนี่แปลกจริงๆ หนทางใดๆ ที่พอจะเปิดโอกาสให้คนหนุ่มๆ ได้ทำประโยชน์แก่บ้านเมืองคุณพระเป็นไม่ชอบทั้งสิ้น
พระภิรมย์ : คุณหลวงพูดดูราวกับคนเราจะทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองได้แต่โดยทางเป็นทหารอย่างเดียว ถ้าเช่นนั้นทำไมคุณหลวงเองไม่ไปโยนปืนเป็นทหารบ้าง มานั่งบัลลังก์ชำระความอยู่ทำไม
หลวงมนู : ผมเสียใจที่ผมไม่ได้มีโอกาสที่จะทำอย่างคุณพระว่า เพราะเมื่อออกพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารอายุผมมากเกินที่เขาต้องการเสียแล้ว ถ้ามิฉะนั้นผมคงไม่หนีเป็นแน่ แต่อย่างไรๆ ก็ดีเมื่อตั้งคณะเสือป่าขึ้น ผมก็ได้เข้าทันที โดยความยินดีที่ได้มีโอกาสฝึกหัดพอให้เป็นผู้สามารถช่วยป้องกันบ้านเมืองของผมได้
พระภิรมย์ : (หัวเราะทีเยาะ) ผมมีความยินดีที่ผมไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเป็นเสือป่า เพราะผมมันพ้นเวลาที่จะต้องประจบประแจงหรือหาดิบหาดีต่อไปแล้ว
หลวงมนู : คุณพระพูดเช่นนี้ขวางหูที่สุด การเป็นเสือป่าหรือไม่เป็นไม่ทำให้ข้าราชการดีขึ้น หรือเลวลงอย่างใดในส่วนหน้าที่ราชการที่กระทำอยู่โดยเฉพาะเลย
พระภิรมย์ : ผมไม่ใช่หูป่าตาเถื่อนเหลือเกินนักดอกนะคุณ ขอให้คุณจำไว้ว่า ผมยังมีเพื่อนฝูงที่คอยบอกข่าวคราวอยู่เสมอ
หลวงมนู : ผมทราบแล้ว นายซุ่นเบ๋งพี่ภรรยาคุณพระเขาขยันเขียนหนังสือมาก แต่ต้องขออย่าให้คุณพระลืม ว่านายซุ่นเบ๋งนั้นเป็นไทยไม่ถึงครึ่ง
พระภิรมย์ : เอ๊ะ! คุณหลวงนี่พูดอย่างไร
หลวงมนู : เปล่าขอรับ ผมไม่ได้ตั้งใจพูดจาล่วงเกินอะไรมากมายไปแต่ผมเห็นว่าการที่จะหวังให้นายซุ่นเบ๋งรู้สึกอะไรๆ เหมือนคนที่เป็นไทยแท้ๆ นั้น น่าจะเป็นการยากอยู่บ้าง
พระภิรมย์ : คุณหลวงวันนี้เป็นอย่างไร พูดจากันไม่เข้าลู่เข้าทางกันได้เลย
หลวงมนู : ผมมีความเสียใจที่เป็นเช่นนั้น มีธุระอะไรก็โปรดพูดกันตรงไปตรงมาดีกว่าขอรับ
พระภิรมย์ : ผมอยากจะขอให้คุณหลวงช่วยผมในเรื่องพ่อใหญ่สักหน่อย
หลวงมนู : ช่วยอย่างไร
พระภิรมย์ : ขอให้มันพ้นทหารไปสักทีเถอะ
หลวงมนู : จะให้ผมทำอย่างไร
พระภิรมย์ : โปรดรับเข้าทำราชการในศาลของคุณสักหน่อยเถอะขอรับจะเป็นตำแหน่งอะไรๆ ก็ได้ทั้งนั้น เงินดาวเงินเดือนก็ไม่ต้องได้มากมายปานใด เอาแต่เพียงพอให้พ้นจากเป็นทหารเท่านั้น คุณหลวงคงจะทราบดีอยู่แล้วว่าได้เงินเดือนเพียงชั้นใดจึงพอพ้นเป็นทหาร
หลวงมนู : (พูดอย่างจังๆ) ผมจะทำตามคุณพระปรารถนาไม่ได้ เพราะประการที่ ๑ ผมไม่มีอำนาจที่จะรับบุตรคุณพระเข้ารับราชการได้เอง ประการที่ ๒ ถึงแม้ผมจะมีอำนาจรับได้ผมก็ไม่รับ เพราะผมมีหน้าที่เป็นผู้รักษาพระราชกำหนดกฎหมายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมจะรู้เห็นเป็นใจกับผู้ที่คิดหลีกเลี่ยงกฎหมายไม่ได้เป็นอันขาด และผมขอบอกกล่าวไว้ในบัดนี้ด้วย ว่าถึงแม้ผมกับคุณพระได้เป็นผู้รักใคร่ชอบพอกันมาช้านานปานใดก็ตาม แต่ถ้าแม้คดีที่เกิดขึ้นในเรื่องนายสวิงบุตรชายคุณพระหลบหลีกราชการทหาร ผมจำเป็นจะต้องทำการตามหน้าที่ของผมโดยปราศจากฉันทาคติ ผมลาที (ลุกขึ้นก้มหัวคำนับ แล้วออกไปทางหลัง)
(พระภิรมย์นั่งตะลึงอยู่ครู่หนึ่งแล้วนายสวายจึงเข้ามาจากทางหลัง)
สวาย : คุณพ่อขอรับ
พระภิรมย์ : อะไร
สวาย : คุณพ่อห้ามพี่อุไรไม่ให้พบกับคุณหลวงมณีอีกไม่ใช่หรือขอรับ
พระภิรมย์ : เออ ก็แล้วอย่างไรเล่า
สวาย : กำลังพูดกันอยู่ในสวนเดี๋ยวนี้ขอรับ คุณแม่ก็เห็นแต่ทำไม่รู้ไม่ชี้
พระภิรมย์ : ก็อย่างนี้ จะไม่กำเริบอย่างไร (ลุกไปเปิดประตูห้องข้างซ้าย) แม่แย้มเชิญออกมานี่หน่อยเถอะ (แม่แย้มภรรยาหลวงพระภิรมย์ ออกมาจากประตูซ้าย)
แย้ม : ทำไมเจ้าคะ
พระภิรมย์ : ฉันได้ห้ามแล้วไม่ใช่หรือ ว่าไม่ให้แม่อุไรพบปะกับหลวงมณี ทำไมหล่อนปล่อยให้พบกันได้อีก
แย้ม : นี่ใครบอกคุณ
พระภิรมย์ : ช่างเถอะ แต่ฉันอยากรู้ว่าเขาพากันไปอยู่ที่ไหน
แย้ม : ก็ใครเป็นผู้มาปากบอนก็ถามเอากับคนนั้นสิเจ้าคะ
พระภิรมย์ : พ่อกลางไปเชิญหลวงมณีขึ้นมานี่ (นายสวายออกไปทางเฉลียง)
แย้ม : คุณรู้ไหมว่าคุณจะหัดเด็กคนนี้ให้เสียคน ดีแต่พะนอไว้ โรงร่ำโรงเรียนก็ไม่ให้ไป เหลวไหลอยู่แต่กับบ้าน
พระภิรมย์ : ก็ฉันไม่เห็นประโยชน์อะไรที่จะข่มขืนให้มันไป หล่อนก็รู้แล้วว่ามันขี้โรค แล้วมันก็มีความคิด ใช้ได้ดีเท่าๆ กับผู้ใหญ่
แย้ม : คุณก็ชอบเพราะมันปากบอนเก็บเล็กเก็บน้อยมาเล่าให้คุณฟังเท่านั้นแหละ
พระภิรมย์ : เป็นธรรมดาผู้ใหญ่ก็ต้องใช้คนต่างหูต่างตาอยู่บ้าง
แย้ม : แล้วมันเก็บทั้งเข้าทั้งออก คุณพระรู้หรือไม่
พระภิรมย์ : เก็บทั้งเข้าทั้งออกอย่างไร
แย้ม : ส่วนความนอกมันช่างเก็บมาเล่าให้คุณจริง แต่ความในมันก็เอาไปเล่าให้คนอื่นฟังสนุกใจเหมือนกัน วันไหนคุณนอนกับเมียน้อยก็รู้กันทั่วบ้านทั่วเมืองทุกครั้ง ฮะๆ น่าหัวเราะจริงๆ ฟ้าผ่าซิ
พระภิรมย์ : เอ๊ะ! แม่แย้มนี่ ประเดี๋ยวก็ได้เกิดเคืองกันเดี๋ยวนี้เอง หล่อนเลี้ยงลูกไม่ดีเอง แล้วหล่อนก็เที่ยวเปะปะวุ่นไปไม่เข้าเรื่องเข้าราว
แย้ม : อุ๊ย ดิฉันขี้เกียจพูดเสียแล้วละ เปลืองเวลาเปล่าๆ (หลวงมณีราษฎร์บำรุง เข้ามาจากทางเฉลียง หลวงมณีแต่งเสือป่าเดินเข้ามาในห้อง คำนับ อุไรตามมาด้วย แต่แอบอยู่ที่เฉลียง)
พระภิรมย์ : คุณหลวง ผมเข้าใจว่าคุณหลวงก็เป็นลูกผู้ดีมีตระกูลไม่ใช่ฤๅ
หลวงมณี : ขอรับ
พระภิรมย์ : ถ้าเช่นนั้นผมต้องขอให้คุณประพฤติตนอย่างผู้ดี
หลวงมณี : เอ๊ะ! นี่ผมได้ประพฤติผิดกิริยาผู้ดีที่ในข้อไหนโปรดชี้แจงหน่อย จะขอบคุณมาก
พระภิรมย์ : การลอบมาพูดจากับลูกสาวผมคุณเห็นเป็นการดีละฤๅ
หลวงมณี : ผมไม่ได้ลอบได้เลี่ยงอะไร ผมมาโดยเปิดเผย พูดกันโดยเปิดเผย คุณแย้มก็เห็น
พระภิรมย์ : ที่คุณมาประพฤติเป็นแมลงเม่าตอมลูกสาวผมอยู่เช่นนี้ เพื่อประสงค์อะไร
หลวงมณี : ผมขอเรียนตามตรง ผมมีความรักใคร่แม่อุไรจริงๆ ผมตั้งใจอยู่ว่าจะให้ผู้ใหญ่มา-
พระภิรมย์ : ช้าก่อนคุณอย่าเพ่อพูดไป ฟังผมก่อนถ้าคุณจะแต่งผู้ใหญ่ให้มาขอก็เห็นจะเสียเวลาเปล่า
แย้ม : อะไรคุณก็-
พระภิรมย์ : ขออนุญาตให้ฉันพูดให้จบหน่อยไม่ได้ฤๅ (พูดกับหลวงมณีต่อไป) คุณนั้นเป็นผู้มีตระกูลดี ทั้งทรัพย์สมบัติก็มีพอจะเลี้ยงลูกสาวผมได้ แต่คุณมีข้อเสียในส่วนตัวอยู่ข้อหนึ่ง
หลวงมณี : ถ้าผมมีข้อเสียอย่างใด ขอได้โปรดบอกตรงๆ ถ้าผมเห็นว่าพอจะแก้ไขดัดแปลงได้ผมก็จะได้จัดการแก้ไข
พระภิรมย์ : ข้อเสียสำคัญของคุณคือ คุณเหมือนคนที่ได้วางบทประหารชีวิตตนเองแล้วก็ว่าได้
หลวงมณี : เอ๊ะ! อะไรกัน ผมไม่เข้าใจ
พระภิรมย์ : ผมจะอธิบายให้ฟัง คุณเป็นเสือป่า ถ้ามีศึกเหนือเสือใต้มาแล้วคุณก็คงจะต้องไปรบไม่ใช่ฤๅ
หลวงมณี : ถ้ามีโอกาสและเป็นการเหมาะก็คงจะได้ไป ผมหวังใจอยู่ว่าถ้ามีศึกมาแล้วผมจะได้มีโอกาสทำหน้าที่ฉลองพระเดชพระคุณเจ้าข้าวแดงแกงร้อนของผมโดยจงรักภักดี
พระภิรมย์ : นั่น! ก็ถ้าไปรบก็อาจจะตายได้ไม่ใช่ฤๅ
หลวงมณี : อ๋อแน่ทีเดียว แต่ถึงไม่ไปรบก็ตายได้เหมือนกัน
พระภิรมย์ : ทราบแล้วแต่ไปรบมีหนทางที่จะตายได้มากกว่าไม่ไปไม่ใช่ฤๅ
หลวงมณี : ผมเข้าใจว่าคนที่ได้ตายๆ มาแล้ว จะได้ตายในที่นอนมากกว่าในสนามรบ
พระภิรมย์ : คุณไม่ต้องเล่นสำนวนพูดกันตรงๆ เถอะ ถ้าเกิดสงครามขึ้นผู้ที่ไปรบคงจะต้องตายมากกว่าผู้ที่ไม่ไปไม่ใช่ฤๅ
หลวงมณี : ในเวลาสงครามจะเอานิยมนิยายแน่นอนไม่ได้ ถึงแม้เราจะไม่ไปรบ บางทีการรบมันเดินมาหาเราเองก็ได้
พระภิรมย์ : ตามกฎหมายนานาประเทศ ผู้ที่รบจะทำร้ายผู้ที่ไม่รบไม่ได้
หลวงมณี : (หัวเราะ) นั่นแหละขอรับ เมื่อการสงครามมันเกิดขึ้นแล้วกฎบัตรกฎหมายอะไรก็ดูจะไม่สู้เป็นประโยชน์ปานใดนัก อย่างไรๆ ก็ดี ถ้าต่างว่าบ้านคุณพระนี้เผอิญเฉพาะอยู่ในวงแห่งสนามรบ คือที่ที่แม่ทัพเขาเห็นเหมาะในการตั้งแนวรบหรือแนวด่าน ถึงคุณพระจะเอากฎหมายนานาประเทศไปพลิกอ่านจนคอแห้ง นายทัพนายกองเขาก็คงไม่ฟัง เขาคงตั้งกองของเขาตามความคิดของเขาจนได้
พระภิรมย์ : แต่ถ้าผมไม่ออกไปยุ่งกับเขา ผมก็คงจะไม่ต้องเป็นอันตรายอะไรเป็นแน่
หลวงมณี : ขอรับประทานโทษ ผมไม่เห็นมีความแน่อยู่ที่ตรงไหนเลยเพราะลูกปืนไม่รู้จักเลือกระหว่างคนที่รบกับไม่ได้รบ
พระภิรมย์ : พูดกันสั้นๆ พลรบนั้นมีหน้าที่สำหรับไปตายไม่ใช่ฤๅ
หลวงมณี : หามิได้ พลรบมีหน้าที่พยายามทำให้ข้าศึกตายฤๅเจ็บจนรบไม่ได้ ส่วนการเจ็บการตายก็แล้วแต่เคราะห์ดีเคราะห์ร้าย
พระภิรมย์ : ผมเห็นว่าการที่คุณเข้าเป็นเสือป่าก็เท่ากับประกาศว่าอยากตาย เต็มใจที่จะตาย
หลวงมณี : จริงขอรับ ถ้าการที่ผมตายจะทำให้เป็นประโยชน์แก่พระเจ้าอยู่หัวหรือบ้านเมืองแล้ว ผมก็จะยอมตายโดยความเต็มใจ ยอมสละชีวิตโดยยินดี
พระภิรมย์ : นั่น! เพราะฉะนั้น ผมจะยกลูกสาวของผมให้แก่คุณไม่ได้
หลวงมณี : เอ๊ะ! น่าประหลาดจริง ทำไมอย่างนั้น
พระภิรมย์ : ผมไม่อยากให้ลูกสาวผมเป็นม่ายแต่สาวๆ
หลวงมณี : พุทโธ่! คุณพระนี่ชอบกลจริงๆ ถึงผมไม่เป็นเสือป่า ผมก็อาจจะตายได้ในวันนี้พรุ่งนี้เท่ากัน ไม่เห็นผิดอะไรกันเลย
พระภิรมย์ : ผิดกันมาก การเป็นเสือป่าเหมือนเป็นคนที่ถูกวางบทให้ประหารชีวิตแล้ว อย่างไรๆ ไม่พ้นความตาย
หลวงมณี : ก็ถ้าเช่นนั้นทหารก็เหมือนนักโทษถึงตายแล้วเหมือนกันหรือขอรับ
พระภิรมย์ : ก็คล้ายๆ กัน แต่ทหารยังดีกว่าเสือป่า เพราะที่เป็นพลทหารก็เป็นโดยถูกเกณฑ์ ถ้าเป็นนายทหารก็เป็นการรับจ้างหากินอย่างหนึ่ง นี่เป็นเสือป่าค่าจ้างก็ไม่ได้ มิหนำซ้ำต้องเสียค่าบำรุงอีกด้วยแล้วถูกเกณฑ์ก็ไม่ถูก หรือมีกะเกณฑ์อะไรกัน
หลวงมณี : (เสียงแข็ง) คุณพระควรจะทราบดีแล้ว ว่าไม่มีการกะเกณฑ์เลยตามใจสมัครทั้งสิ้น
พระภิรมย์ : ถ้าเช่นนั้นจะเป็นเสือป่าเพื่อประสงค์อะไร
หลวงมณี : ก็เพื่อประสงค์ได้มีโอกาสฝึกหัดไว้ให้สามารถทำหน้าที่อย่างผู้ชายได้ คือป้องกันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ได้ในเวลาที่จำเป็น
พระภิรมย์ : คุณพูดดูเป็นการหวังประโยชน์ภายหน้าอยู่ ก็ประโยชน์ปัจจุบันนี้ไม่หวังอะไรบ้างฤๅ
หลวงมณี : ประโยชน์ในปัจจุบันที่มีแลเห็นง่ายๆ ก็คือการที่ได้มีโอกาสคบค้าสมาคมกันในหมู่ข้าราชการทั้งทหารพลเรือนและตลอดถึงคหบดีด้วย ได้รู้อกรู้ใจกันแล้วก็สะดวกในทางการ ทำงานติดต่อกันได้ง่าย เช่นแต่ก่อนนี้ คนในหน้าที่ผมกี่วันจะได้พบท่านผู้พิพากษาครั้งหนึ่ง นี่พบกันแทบทุกวัน คุณหลวงมนูเป็นนายหมู่ประจำในหมวดผมด้วยซ้ำ
พระภิรมย์ : ข้อนี้ผมเข้าใจไม่ได้เลยว่าหลวงมนูพอใจได้อย่างไร ถ้าเป็นผมๆ คงจะรู้สึกได้อย่างไรๆ อยู่ในการที่จะต้องคำนับผู้ที่มีอายุน้อยกว่าผม (หลวงมณีหัวเราะ แต่ไม่ตอบว่ากระไร) แต่ผมข้อย้อนถามเรื่องประโยชน์ที่จะได้รับจากการเป็นเสือป่าอีกสักหน่อย ผมได้ยินเขาว่าข้าราชการคนไหนไม่เป็นเสือป่าไม่มีทางได้ดีไม่ใช่ฤๅ
หลวงมณี : ไม่เป็นเช่นนั้นเลย
พระภิรมย์ : เขาว่าทั้งยศทั้งตราทั้งเงินเดือนได้ขึ้นแต่ที่เป็นเสือป่า ถ้าใครไม่ได้เป็นเสือป่าเจ้าขุนมูลนายท่านพาลเอาลงกระป๋องเสียอย่างนั้นไม่ใช่ฤๅ
หลวงมณี : (เสียงแข็ง) ไม่จริงเลย ใครที่บอกกับคุณพระเช่นนั้นเป็นคนที่โกหกสดๆ ร้อนๆ เท่านั้น โกหกอย่างระยำที่สุด
พระภิรมย์ : ถ้าเช่นนั้น ถึงแม้ใครจะลาออกจากเสือป่าแล้ว ก็ไม่ต้องเลยออกจากราชการด้วยฤๅ
หลวงมณี : การลาออกจากเสือป่าไม่เกี่ยวแก่ราชการเลย ใครจะลาออกเมื่อใดก็ได้
พระภิรมย์ : แน่ฤๅ
หลวงมณี : แน่สิขอรับ
พระภิรมย์ : ถ้าเช่นนั้นผมต้องขอให้คุณลาออกจากเสือป่าเสียก่อน ผมจึงจะยอมยกลูกสาวให้
หลวงมณี : พุทโธ่! ทำไมคุณพระทำให้ผมอยู่ในที่ลำบากเช่นนี้
พระภิรมย์ : เลือกเอาอย่างหนึ่ง ถ้าคุณรักลูกสาวผม ต้องออกจากเสือป่า
อุไร : (เดินเข้ามาจากเฉลียง) คุณหลวงมณี ถ้าคุณออกจากเสือป่าวันใด วันนั้นคุณกับดิฉันขาดกัน ดิฉันจะไม่ขอดูหน้าคุณอีกต่อไปจนวันตาย
พระภิรมย์ : แม่อุไร นี่หล่อนมาพลอยเป็นบ้าอะไรไปด้วย
อุไร : ดิฉันไม่บ้าเลย ดิฉันเห็นโดยจริงใจว่าคุณหลวงมณีมีข้อที่ควรชมเชยอยู่มากที่สุด ก็คือข้อที่เป็นเสือป่า เพราะอันที่จริงถ้าจะเลี่ยงเสียไม่ทำหน้าที่อย่างผู้ชายนั้นง่ายที่สุด เธอเป็นข้าราชการรับสัญญาบัตรแล้ว และมีตำแหน่งหน้าที่ประจำอยู่แล้ว จะเกณฑ์เป็นทหารไม่ได้เป็นอันขาด ถึงแม้ว่าจะมีการสงครามก็หลีกเลี่ยงการไปรบได้โดยไม่มีข้อเสียหายในส่วนตัวเลยจนนิดเดียว
พระภิรมย์ : ก็นั่น! การที่มีช่องจะรอดพ้นจากการต้องไปถูกยิงถูกฟันตายไปแล้วฉะนี้ กลับเสือกเข้าไปสมัครจะไปตายอีกฉะนี้ จะเรียกว่าคนดีหรือคนบ้า
อุไร : เรียกว่าคนดี คนกล้าหาญ คนไทยแท้ ลูกผู้ชายแท้ แต่คนที่มีหน้าที่ควรจะเข้าทำหน้าที่อันควรแก่ลูกผู้ชายแล้ว แลคอยหาทางหลีกเลี่ยงบิดพลิ้ว อย่างลูกชายใหญ่ของคุณพ่อนั่นแหละ ดิฉันเห็นว่าเป็นคนขี้ขลาด เสียทีที่เกิดมาในชาติไทย เสียทีที่เกิดมาเป็นลูกผู้ชาย
หลวงมณี : แม่อุไร ฉันเห็นด้วยกับหล่อนทุกคำ
พระภิรมย์ : ก็ดีแล้ว ถ้าเช่นนั้นก็แปลว่าคุณหลวงจะยอมเลิกความคิดขอลูกสาวผมฤๅ
หลวงมณี : ถ้าคุณพระจะยกให้ต่อเมื่อผมได้ลาออกจากเสือป่าแล้วฉะนั้น ผมก็ไม่แลเห็นทางอื่น เพราะถึงผมจะรักแม่อุไรปานใดก็ดี แต่ที่ผมจะยอมเสียสัตย์หรือเสียความเป็นลูกผู้ชายชาวไทยไม่ได้เป็นอันขาด
พระภิรมย์ : ถ้าเช่นนั้นก็ไม่มีอะไรจะพูดกันอีกต่อไปแล้ว และในเวลาภายหน้า คุณหลวงไม่ต้องมาที่นี่อีกเลย
หลวงมณี : (คำนับ) ถ้าคุณพระไม่โปรดให้ผมมาอีกผมก็มาไม่ได้อยู่เองเพราะคุณพระเป็นเจ้าของบ้าน ถ้าเช่นนั้นผมลาที (คำนับพระภิรมย์และแม่แย้ม แล้วจึงหันไปแลดูตาแม่อุไรครู่หนึ่งแล้วก็เดินออกไปทางหลัง)
อุไร : คุณพ่อ ดิฉันขอเรียนอะไรจริงๆ สักหน่อย ถ้าดิฉันไม่นึกสงสารคุณแม่อยู่แล้ว ดิฉันจะตามคุณหลวงมณีไปเสียเดี๋ยวนี้ทีเดียว แต่นี่ยังสงสารคุณแม่ จึงจำใจต้องทนความอยุติธรรมของคุณพ่อไป
พระภิรมย์ : นางนี่ทำปากจัดใหญ่แล้ว อีเนรคุณ ชาตินี้ตบเสียให้ปากเยิน
แย้ม : แม่หนูก็ไม่ควรพูดให้ก้ำเกินคุณพ่อยังนั้นเลย เข้าไปในเรือน (อุไรเข้าไปทางขวา)
พระภิรมย์ : เอาสิ ตามใจลูกจนได้ดีละไหมล่ะ อ้ายเล็กก็อวดดีเป็นบ้าลูกเสือ จนต้องยกให้เป็นลูกเลี้ยงหลวงมนูไปคนหนึ่งแล้ว นางอุไรอวดดีอยากเป็นเมียเสือขึ้นมาอีกคนหนึ่งละ นี่ลูกฉันจะมาพากันอวดดีเป็นไม้นอกกอตามกันไปหมดละฤๅ
แย้ม : ถ้ามันเป็นไปเช่นนั้นจะมาปรับเป็นดิฉันผิดคนเดียวฤๅ คุณเองไม่ผิดบ้างละฤๅ
พระภิรมย์ : ฉันจะผิดอย่างไร
แย้ม : ผิดที่คุณมีความเห็นผิดกับใครๆ เขาไปทั้งบ้านทั้งเมืองน่ะซิคะ เสือป่ากับลูกเสือใครๆ เขาก็แลเห็นประโยชน์ทั้งนั้น คุณไม่เห็นเป็นประโยชน์
พระภิรมย์ : นี่! อย่างนี้เสียนี่นะ ลูกมันจะไม่กำเริบได้ใจอย่างไร ลูกคนไหนที่แม่แย้มถือท้ายย้ายหัวละก็เสียทุกคน ทีที่แม่แย้มไม่ชอบทำไมมันดีอยู่ได้
แย้ม : ดีอย่างไรคะ พ่อสวิงน่ะกลัวต้องไปเป็นทหารเพราะขี้ขลาดอย่างหนี่ง อีกอย่างหนึ่งกลัวจะลำบาก กลัวไม่ได้เที่ยว นายซุ่นเบ๋งพี่เมียคุณน่ะ มันพาลูกคุณซุกซนป่นปี้ไปแล้วคุณรู้สึกไหม ที่ไล่กฎหมายตกบ่อยๆ และตกอย่างเลวๆ เพราะอะไรคุณไม่รู้บ้างฤๅ ที่กรุงเทพฯ น่ะ ถ้าใครอยากจะพบพ่อสวิงต้องไปหาที่โรงเหล้า หรือโรงละครเฉวียงไว หรือบ้านโคมเขียวนั่นแน่ะ
พระภิรมย์ : อือ! ช่างรู้จริงนะ
แย้ม : ส่วนพ่อสวายน่ะคุณก็พะนอจนได้ดีแล้วไหมล่ะ นอกจากการปากบอนกะล่อนเดาะยังมิหนำซ้ำริมีเมียแต่ป่านนี้แล้ว ดีหนักล่ะ ลูกรักคุณทั้งสองคนน่ะ
พระภิรมย์ : มีอะไรจะพูดอีกไหม
แย้ม : มีอีกนิดเดียว คือพ่อสวิงน่ะ ถ้าคุณขืนไม่ระวังให้ดีจะต้องเข้าตะรางวันหนึ่ง
พระภิรมย์ : เพราะเหตุไร
แย้ม : เพราะเหตุหลบหลีกราชการทหารนั้นแหละก่อนอื่น (หลวงมณี กลับมาอีกแต่มายืนอยู่เพียงประตูด้านหลัง)
พระภิรมย์ : (เคือง) ผมเข้าใจว่าผมได้พูดอย่างแจ่มแจ้งที่สุดแล้ว ว่าผมไม่ประสงค์ให้คุณหลวงมาบ้านผมอีกเลย
หลวงมณี : ผมมาโดยหน้าที่ราชการ ท่านผู้ว่าราชการเมืองมีบัญชาให้มาเกาะตัวนายสวิงบุตรคุณพระ
พระภิรมย์ : เพราะเหตุใด
หลวงมณี : เพราะถึงกำหนดจะไปจับฉลากเข้ารับราชการทหารได้หมายเรียกแล้วไม่ไป
แย้ม : ดิฉันว่าแล้วไหมล่ะ
พระภิรมย์ : หล่อนไม่มีหน้าที่จะพูดในเรื่องนี้เลย ขอให้เข้าไปในเรือน (แย้มเข้าไปทางซ้าย) นี่แน่ะคุณหลวง ถ้าผมจะไม่ส่งตัวเขาจะเป็นอย่างไร
หลวงมณี : ผมก็ต้องค้นหาเอาเอง
พระภิรมย์ : คุณมีอำนาจอะไรที่จะมาค้นบ้านผม
หลวงมณี : ผมถือหมายเป็นสำคัญ (ชูหมายให้ดู แล้วหันไปพูดข้างนอก) ค้นหาตัวนายสวิงมาให้ได้
พระภิรมย์ : นี่ไม่มีอะไรนอกจากจะแก้แค้นส่วนตัวเท่านั้นเอง เอาอำนาจราชการมาข่มเหง
หลวงมณี : คุณพระก็เป็นผู้ใหญ่แล้วนะขอรับ ระวังปากคอหน่อยจะดีกว่าผมไม่อยากจะต้องจับคุณพระไปอีกคนหนึ่งเลย แต่ถ้าคุณพระไม่ฟังคำผมเตือน ก็จะเป็นที่น่าเสียใจ ต้องขอให้คุณพระเข้าใจว่าเวลานี้ผมทำการในหน้าที่นายอำเภอเมือง (ตำรวจภูธรนำตัวนายสวิงมาที่เฉลียง นายสวิงนั้นแต่งตัวใส่กางเกงจีนใส่เสื้อชั้นใน ดูเสื้อผ้ายู่ยี่ หน้าตาซีด ผมยุ่ง)
หลวงมณี : ได้ที่ไหน
ตำรวจภูธร : ในโรงม้าขอรับ
พระภิรมย์ : คุณหลวงมณี ขอผัดสักสองสามเวลาไม่ได้ฤๅ เวลานี้เขากำลังเรียนกฎหมายอยู่
หลวงมณี : ผัดไม่ได้ขอรับ ต้องไปเดี๋ยวนี้
พระภิรมย์ : พุทโธ่! ลูกผมเคยเลี้ยงเป็นผู้ดี จะเอาไปใช้อย่างขี้ข้ามันก็ตายเท่านั้นเอง
หลวงมณี : ผมเสียใจ รอสนทนากับคุณพระต่อไปไม่ได้
พระภิรมย์ : (โกรธ) ดีละ ดีละ ถ้าไม่มีโอกาสบ้างก็แล้วไป ถ้ามีโอกาสละก็...คอยดูเถอะ...คอยดูเถอะถึงทีใครก็ทีใครแหละน่ะ คงได้เห็นฤทธิ์อ้ายแก่วันหนึ่ง (หลวงมณีคำนับ แล้วกลับหลังหันเดินดุ่มๆ ไปทางหลัง ตำรวจภูธรพาตัวนายสวิงตามไป พระภิรมย์ยืนตะลึงแลดูตามไปครู่หนี่งแล้วทรุดตัวลงนั่ง)

ปิดม่าน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ