ตอนที่ ๘ ว่าด้วยพระพุทธสาสนาในประเทศสยาม

พระพุทธสาสนาได้มาประดิษฐานในประเทศสยามนี้แต่เมื่อใด ข้อนี้กล่าวกันเปนหลายอย่าง บ้างว่ามาประดิษฐานในคราวเมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชให้เที่ยวสอนพระพุทธสาสนายังนานาประเทศ บ้างว่ามาต่อภายหลังสมัยนั้นช้านาน ถ้าว่าตามหลักฐานอันมีโบราณวัดถุปรากฎประกอบกับเรื่องพงศาวดาร รู้ได้แน่ชัดว่าพระพุทธสาสนามาประดิษฐานในสยามประเทศ แต่สมัยเมื่อยังเปนถิ่นฐานของชนชาติลาว (ละว้า) ราชธานีตั้งอยู่ณเมืองนครปฐม ซึ่งเรียกนามในสมัยนั้นว่าเมืองทวาราวดี๓๗ ด้วยมีพุทธเจดีย์ใหญ่น้อย เช่นพระปฐมเจดีย์เปนต้น ปรากฎอยู่เปนสำคัญ แลยังมีพุทธเจดีย์ที่แห่งอื่นในประเทศสยามนี้ ซึ่งลักษณต่างกันพอเปนที่สังเกต ว่าลัทธิต่าง ๆ อันเกิดขึ้นในการถือพระพุทธสาสนา ได้มาถึงประเทศสยามต่อมาโดยลำดับเปน ๔ ยุคด้วยกัน

ยุคที่ ๑ ลัทธิหินยานอย่างเถรวาท

ตามความที่ได้กล่าวมา ว่าพระพุทธสาสนาแรกมาประดิษฐานในประเทศสยาม เมื่อตั้งราชธานีอยู่ณเมืองนครปฐมนั้น มีโบราณวัดถุบางอย่างปรากฎอยู่ที่พระปฐมเจดีย์ คือ เช่นศิลาทำเปนรูปพระธรรมจักรเหมือนอย่างเช่นที่ชาวอินเดียสร้างกันในสมัยเมื่อก่อนมีพระพุทธรูป แลภาษาที่จารึกพระธรรมเปนภาษามคธ กับทั้งยังมีคติที่ถือกันเมื่อก่อนมีพระพุทธรูป เช่นทำพระแท่นพุทธอาสน์แลรอยพระพุทธบาทเปนที่สักการบูชาปรากฎต่อมาในประเทศนี้อีกหลายอย่าง สิ่งสำคัญเหล่านี้แสดงว่าพระพุทธสาสนาซึ่งแรกมาประดิษฐานในประเทศสยาม เปนลัทธิเถรวาทอย่างเช่นที่พระเจ้าอโศกมหาราชให้เที่ยวสั่งสอนยังนานาประเทศ จึงสันนิษฐานว่า พระพุทธสาสนาเห็นจะมาประดิษฐานในประเทศสยามตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๕๐๐ แลนับถือกันมั่นคงสืบมาแต่ครั้งนั้น ครั้นเมื่อเกิดมีประเพณีสร้างพระพุทธรูปขึ้นในอินเดีย พวกชาวอินเดียก็นำแบบอย่างพระพุทธรูปมาสร้างขึ้นในประเทศสยาม ข้อนี้สังเกตได้ด้วยลักษณพระพุทธรูปซึ่งเปนชั้นแรกมีขึ้นในประเทศนี้ เช่นพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทอย่างนั่งเก้าอี้เปนต้น ทำตามแบบช่างชาวมคธราฐครั้งสมัยราชวงศคุปต์ ซึ่งรุ่งเรืองเมื่อราว พ.ศ. ๙๐๐ แบบอย่างที่กล่าวมานี้เปนหลักฐานประกอบอีกอย่างหนึ่ง ว่าพวกชาวอินเดียที่แรกมาสอนพระพุทธสาสนายังประเทศสยามมาแต่มคธราฐ อนึ่งในสมัยนั้นดูเหมือนจะเปนเวลากำลังกรุงทวาราวดีเจริญรุ่งเรืองมาก ด้วยโบราณวัดถุเช่นที่มีอยู่ในแขวงจังหวัดนครปฐม มีแพร่หลายตลอดไปจนแขวงจังหวัดราชบุรี๓๘ แลแขวงจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดลพบุรี แลจังหวัดนครราชสิมา ชวนให้เห็นว่าอาณาเขตทวาราวดีแผ่ออกไปจนถึงมณฑลนครราชสิมาในสมัยนั้น

ยุคที่ ๒ ลัทธิมหายาน

เมื่อเกิดลัทธิมหายานแพร่หลายในอินเดีย พวกชาวอินเดียก็พาลัทธิมหายานมาเที่ยวสอนตามประเทศเหล่านี้เหมือนเคยสอนสาสนามาแต่หนหลัง แต่มาสอนที่เกาะสุมาตราก่อน แล้วจึงเลยไปสอนที่เกาะชวา แลประเทศกัมพูชา บางทีจะมีชาวอินเดียอิกพวกหนึ่งมาจากมคธราฐ พาพระพุทธสาสนาลัทธิมหายานมาเที่ยวสั่งสอนในประเทศพม่ามอญตลอดจนกรุงทวาราวดี แต่หากจะมิใคร่มีใครเลื่อมใส จึงไม่ปรากฎเค้าเงื่อนว่าลัทธิมหายานได้มาเจริญแพร่หลายในชั้นนั้น

ครั้นเมื่อราว พ.ศ. ๑๓๐๐ กษัตริย์ซึ่งครองกรุงศรีวิชัยในเกาะสุมาตรามีอานุภาพมาก แผ่อาณาเขตมาถึงแหลมมลายู (ตั้งแต่มณฑลสุราษฎร์ลงไปจนมณฑลปัตตานี) พวกชาวศรีวิชัยนับถือพระพุทธสาสนาอย่างลัทธิมหายาน จึงนำลัทธินั้นมาสั่งสอนในเหล่าจังหวัดที่ได้ไว้เปนอาณาเขต ยังมีพุทธเจดีย์อย่างลัทธิมหายานที่พวกชาวศรีวิชัยมาสร้างไว้ปรากฎอยู่ เช่นพระมหาธาตุเมืองไชยา แลพระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราชองค์เดิม๓๙ กับทั้งพระพุทธรูปแลรูปพระโพธิสัตว์หล่อ แลพระพิมพ์ดินดิบซึ่งทำส้อนไว้ในถ้ำแห่งละตั้งหมื่นตั้งแสนยังขุดค้นหาได้จนทุกวันนี้ ตั้งแต่ถ้ำในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดตรัง แลจังหวัดพัทลุง ลงไปจนจังหวัดไทรบุรี จังหวัดปัตตานี ลักษณพระพุทธรูปแลรูปพระโพธิสัตว์ล้วนเปนลัทธิมหายาน แลทำแบบแผนเปนอย่างเดียวกับพระพุทธรูปแลรูปพระโพธิสัตว์ที่เกาะชวาไม่ผิดเพี้ยน สันนิษฐานว่าพระพิมพ์ดินดิบนั้นเปนของพวกสอนสาสนาสร้างทิ้งไว้ โดยหวังว่าผู้ใดไปพบปะในอนาคตกาล จะได้เอาไปประกาศแก่พวกพลเมืองให้เกิดมีศรัทธาเลื่อมใสในพระสาสนา แต่ในสมัยนั้นลัทธิมหายานเห็นจะเจริญอยู่เพียงในแหลมมลายู ฝ่ายเหนือขึ้นมายังถือลัทธิเถรวาท หรือซึ่งเรียกในภาษาสันสกฤตว่าลัทธิ “สถวีระ” กันอยู่อย่างเดิม พระพุทธรูปหรือรูปพระโพธิสัตว์แบบนั้น จึงมิได้แพร่หลายในจังหวัดนครปฐม มีเรื่องราวปรากฎในศิลาจารึกว่า ในสมัยราวเมื่อ พ.ศ. ๑๕๕๐ มีกษัตริย์เชื้อสายชาวประเทศศรีวิชัยนั้นองค์ ๑ ขึ้นมาแต่เมืองนครศรีธรรมราช ได้มาครองเมืองลพบุรี แล้วราชบุตรของกษัตริย์องค์นั้นได้ไปครองประเทศกัมพูชา เปนเหตุให้ประเทศสยามกับประเทศกัมพูชารวมอยู่ในอำนาจราชวงศอันเดียวกัน แล้วประเทศสยามเลยอยู่ในอำนาจของกษัตริย์กรุงกัมพูชาสืบมาอีกช้านาน สาสนากับทั้งวิชาช่างในประเทศกัมพูชาจึงแผ่มาถึงประเทศสยามตั้งแต่สมัยนี้ ในศิลาจารึกในสมัยนั้น๔๐ กล่าวว่าที่เมืองลพบุรีมีทั้งพระสงฆ์นิกายสถวีระ แลนิกายมหายาน สันนิษฐานว่าพระสงฆ์นิกายสถวีระ ซึ่งเปนนิกายเดิมที่มาจากมคธราฐ คงมีผู้คนนับถือมากในประเทศสยาม ส่วนพระสงฆ์นิกายมหายานเจริญรุ่งเรืองอยู่ในประเทศกัมพูชาก่อน (ข้อนี้พึงเห็นได้ด้วยบันดาปราสาทหินในประเทศกัมพูชา ซึ่งสร้างเปนวัดในพระพุทธสาสนา สร้างตามคติมหายานแทบทั้งนั้น) พึ่งมาเจริญรุ่งเรืองขึ้นในประเทศสยามตั้งแต่อยู่ในอำนาจราชวงศประเทศกัมพูชา ถึงสาสนาพราหมณ์ก็เห็นจะมาเจริญขึ้นในสยามประเทศตั้งแต่สมัยนี้ เพราะกษัตริย์ซึ่งปกครองประเทศกัมพูชาบางพระองค์ก็เลื่อมใสในพระพุทธสาสนา บางพระองค์ก็เลื่อมใสในสาสนาพราหมณ์ แลบางพระองค์ก็เลื่อมใสด้วยกันทั้งสองสาสนา ดังปรากฎอยู่ในศิลาจารึกของกษัตริย์นั้น ๆ ยุคนี้เปนสมัยที่ลัทธิมหายานมาเจริญรุ่งเรืองในประเทศสยาม แลเปลี่ยนใช้ภาษาสันสกฤตจารึกพระธรรมแทนภาษามคธ

ยุคที่ ๓ ลัทธิหินยานอย่างภุกาม

เมื่อ พ.ศ. ๑๖๐๐ พระเจ้าอนุรุทธมหาราชกษัตริย์ซึ่งครองประเทศพม่า ตั้งราชธานีอยู่ณเมืองภุกาม เจริญอานุภาพปราบปรามประเทศรามัญไว้ในอำนาจ แล้วขยายอาณาเขตเข้ามาถึงประเทศลานนา (คือมณฑลภาคพายัพบัดนี้) ลงมาจนถึงเมืองลพบุรี๔๑แลเมืองทวาราวดี พระเจ้าอนุรุทธเปนพุทธสาสนูปถัมภก ให้สั่งสอนทำนุบำรุงพระพุทธสาสนาไปด้วยกันกับแผ่อาณาเขต แต่ถึงสมัยนี้ พระพุทธสาสนาที่ในอินเดียเสื่อมทรามจวนจะสูญอยู่แล้ว พวกชาวเมืองภุกามเดิมรับพระพุทธสาสนาลัทธิหินยานอย่างเถรวาทมาจากมคธราฐเหมือนกับพวกชาวสยาม ครั้นต่อมาเมื่อห่างเหิรกับอินเดียจึงเกิดเปนลัทธิหินยานอย่างเมืองภุกาม เมื่อพวกชาวเมืองภุกามมามีอำนาจปกครองประเทศสยามก็พาลัทธินั้นมาสั่งสอนจนเจริญแพร่หลายทางฝ่ายเหนือ (คือมณฑลภาคพายัพบัดนี้) ข้อนี้พึงเห็นได้ด้วยทางข้างฝ่ายเหนือหามีรูปพระโพธิสัตว์อย่างลัทธิมหายานแพร่หลายเหมือนทางฝ่ายใต้ไม่ คงเปนเพราะพวกชาวภุกามเข้ามาปกครองเองแต่ทางข้างเหนือซึ่งอยู่ใกล้ไปมาง่าย แต่ทางข้างใต้ให้พวกขอมคงปกครองเปนประเทศราชขึ้นเมืองภุกามอยู่ณเมืองลพบุรี การถือลัทธิมหายานจึงยังคงถือกันอยู่ข้างใต้ต่อมา

ในยุคที่กล่าวนี้ประจวบสมัยชนชาติไทยลงมาสู่ประเทศสยาม เดิมชนชาติไทยมีอาณาเขตของตนเปนประเทศใหญ่โตอยู่ระหว่างประเทศจีนกับประเทศธิเบต ครั้นพวกจีนมีอำนาจขึ้นก็บุกรุกแดนไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. ๔๐๐ สู้รบกันนานเข้า ไทยทานกำลังจีนไม่ไหวต้องเสียบ้านเมืองไปแก่จีนโดยอันดับมา จึงมีพวกไทยที่ไม่ยอมอยู่ในอำนาจจีนพากันอพยพมาหาบ้านเมืองอยู่ใหม่ทางฝ่ายตวันตก บางพวกไปตั้งบ้านเมืองทางลำน้ำสลวินได้ชื่อว่าไทยใหญ่ แต่ชาวต่างประเทศมักเรียกว่าเงี้ยวหรือฉาน๔๒ในบัดนี้ บางพวกลงมาตั้งบ้านเมืองทางลำน้ำแท้แลลำน้ำโขง แล้วเลยลงมาถึงลำแม่น้ำเจ้าพระยา พวกนี้ได้ชื่อว่าไทยน้อย ชาวต่างประเทศเรียกกันว่าผู้ไทยบ้าง ลื้อบ้าง เขินบ้าง เรียกกันว่าลาว (เช่นชาวเมืองหลวงพระบาง เวียงจันท์ แลชาวมณฑลภาคพายัพ มณฑลอุดร ร้อยเอ็จ แลอุบล) เพราะสำคัญผิดว่าเปนพวกลาวเดิมบ้าง เรียกกันว่า สยามิศบ้าง เมื่อพวกไทยแรกลงมายังประเทศสยามนั้น อพยพมาพวกละน้อย ๆ มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ไหนก็ยอมอยู่ในบังคับบัญชาของชนชาติซึ่งปกครองประเทศนั้น แล้วมีไทยพวกอื่นตามกันลงมา จำนวนชนชาติไทยมากขึ้นโดยลำดับ ครั้นจำเนียรกาลนานมาก็เกิดเชื้อสายเปนราษฎรพลเมืองนั้น ๆ แลได้เปนมูลนายปกครองกันเอง จนมีกำลังตั้งเปนอิศระได้ในแว่นแคว้นสิบสองเจ้าไทยใกล้แดนตังเกี๋ยก่อน แล้วรุกแดนขอมลงมาตั้งเปนอิศระณประเทศลานนา คือมณฑลภาคพายัพทุกวันนี้ แลประเทศลานช้าง คือเมืองหลวงพระบาง แลเมืองเวียงจันท์ แล้วจึงลงมาตั้งเมืองสุโขทัยเปนราชธานี มีอำนาจปกครองตลอดสยามประเทศเมื่อ พ.ศ. ใกล้จะถึง ๑๘๐๐

ในสมัยเมื่อพระเจ้าอนุรุทธมหาราชเมืองภุกามมาได้ปกครองประเทศสยามนั้น มีชนชาติไทยอยู่ในแว่นแคว้นลานนาแลลานช้างมากกว่าข้างใต้ พวกไทยนับถือพระพุทธสาสนาอยู่แล้ว ก็รับถือสาสนาลัทธิหินยานตามแบบแผนเมืองภุกามมาแต่ครั้งนั้น ครั้นเมื่อล่วงสมัยพระเจ้าอนุรุทธมหาราช อำนาจเมืองภุกามเสื่อมลง พวกไทยก็มีอำนาจขึ้นในประเทศสยามเปนลำดับมา ถึงสมัยนี้ในแดนสยามทางข้างใต้พวกขอมกับพวกลาวได้สมพงศปะปนกันมาช้านาน พวกลาวหย่อนอริยธรรมกว่าพวกขอม ก็กลายไปเปนขอมโดยมาก ยังคงเปนลาวอยู่อย่างเดิมแต่พวกซึ่งอยู่ตามบ้านป่าเมืองดอน ครั้นชนชาติไทยลงมาอยู่ในประเทศสยามทางข้างเหนือมากขึ้น พวกลาวหย่อนอริยธรรมกว่าไทยก็กลายไปเปนไทยอีกส่วนหนึ่ง จึงเปนเหตุให้ชนชาติลาวลดน้อยลงเปนอันดับมา จนเหลืออยู่แต่เปนชาวป่าซึ่งพวกไทยข้างเหนือเรียกว่า “ลัวะ” พวกไทยข้างใต้เรียกว่า “ละว้า” อยู่เปนแห่ง ๆ ทุกวันนี้ก็ยังมีแทบทั่วทุกมณฑลในประเทศสยาม เมื่อไทยแผ่อาณาเขตลงมาปกครองถึงเมืองสุโขทัย ซึ่งพวกขอมได้ขึ้นไปตั้งอยู่ช้านาน ได้นำลัทธิพระพุทธสาสนาอย่างมหายาน แลลัทธิสาสนาพราหมณ์ ตลอดจนการใช้อักษรแลภาษาขอมขึ้นไปประดิษฐานไว้ ไทยมาได้ปกครองพลเมืองซึ่งนิยมประพฤติขนบธรรมเนียมอย่างขอมอยู่โดยมาก แต่วิสัยไทยรู้จักเลือก เห็นขนบธรรมเนียมของชาวต่างประเทศอย่างใดดี ถ้าแลมิได้ฝ่าฝืนต่อประโยชน์ของตนก็มักประพฤติตามหรือแก้ไขให้เปนประโยชน์ยิ่งขึ้น ดังแก้อักษรขอมเปนอักษรไทยเปนต้น อาศรัยเหตุนี้พวกไทยที่ลงมาอยู่ข้างใต้ ตั้งแต่สุโขทัยลงมาจึงรับถือลัทธิบางอย่างในสาสนาแลขนบธรรมเนียม ตลอดจนใช้ภาษาแลศาสตราคมซึ่งได้มาจากขอมผิดกับพวกไทยที่ตั้งอยู่ทางอาณาเขตลานนาแลลานช้างด้วยประการฉนี้

ยุคที่ ๔ ลัทธิลังกาวงศ

เรื่องตำนานพระพุทธสาสนาลัทธิลังกาวงศมาสู่ประเทศสยามนั้น เดิมเมื่อ พ.ศ. ๑๖๙๖ พระเจ้าปรักกรมพาหุได้ครองราชสมบัติในลังกาทวีป พระเจ้าปรักกรมพาหุนี้นับเปนมหาราชองค์หนึ่งในพงศาวดารลังกา เพราะมีอานุภาพมาก สามารถปราบปรามได้เมืองทมิฬทั้งปวงไว้ในอำนาจ แลเปนพุทธสาสนูปถัมภกทำนองเดียวกับพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงอาราธนาให้พระมหากัสปเถรเปนประธานทำสังคายนาพระธรรมวินัย๔๓ (อันนับในตำนานทางฝ่ายใต้ว่าเปนสังคายนาครั้งที่ ๗) แล้วจัดวางระเบียบข้อวัตปฏิบัติแห่งสงฆนานาสังวาสให้กลับคืนเปนนิกายอันเดียวกัน เปนเหตุให้พระพุทธสาสนารุ่งเรืองขึ้นในลังกาทวีป ครั้นกิติศัพท์นั้นเฟื่องฟุ้งมาถึงประเทศพม่ามอญไทย ก็มีพระภิกษุในประเทศเหล่านี้พากันไปสืบสวนยังเมืองลังกา เมื่อไปเห็นวัตปฏิบัติของพระสงฆ์ชาวลังกาตามแบบที่ชำระสะสางใหม่ก็เกิดความเลื่อมใส ใคร่จะศึกษาแล้วนำแบบแผนนั้นมาประดิษฐานในบ้านเมืองของตน แต่พระสงฆ์ชาวลังการังเกียจว่าสมณวงศ์ในนานาประเทศแตกต่างกันมาเสียช้านานแล้ว จึงเกี่ยงให้พระภิกษุซึ่งไปจากต่างประเทศรับอุปสมบทใหม่ แปลงเปนนิกายลังกาวงศอันเดียวกันเสียก่อน พระภิกษุชาวต่างประเทศก็ยอมกระทำตาม วิธีบวชแปลงปรากฎในตำนานพระพุทธสาสนาแต่สมัยนี้เปนเดิมมา พระภิกษุชาวต่างประเทศอยู่ศึกษาลัทธิพระธรรมวินัยในลังกาทวีปจนรอบรู้แล้ว จึงกลับมายังประเทศของตอน บางพวกก็พาพระสงฆ์ชาวลังกามาด้วย เมื่อมาถึงบ้านเมืองเดิมผู้คนเห็นว่าพระสงฆ์ลังกาวงศปฏิบัติครัดเคร่งในพระธรรมวินัย ก็พากันเลื่อมใสให้บุตรหลานบวชเรียนในสำนักพระสงฆ์ลังกาวงศมากขึ้นโดยลำดับ ทั้งในประเทศพม่ารามัญแลประเทศสยาม ตลอดไปจนประเทศลานนาลานช้างแลกัมพูชา เรื่องตำนานพระสงฆ์นิกายลังกาวงศมีเนื้อความดังแสดงมา

ว่าโดยส่วนประเทศสยาม ดูเหมือนพระพุทธสาสนาลัทธิลังกาวงศจะแรกมาถึงเมื่อพระพุทธศักราชราว ๑๘๐๐ พวกพระภิกษุไทยซึ่งได้ไปบวชแปลงณเมืองลังกากลับมาตั้งคณะที่เมืองนครศรีธรรมราชก่อน แล้วชักชวนพระสงฆ์ชาวลังกาตามมา ช่วยกันสร้างพระมหาธาตุที่เมืองนครศรีธรรมราชแปลงเปนรูปพระสถูปอย่างลังกาในสมัยนี้ ครั้นเกียรติคุณของพระสงฆ์ลังกาวงศแพร่หลายขึ้นไปถึงกรุงสุโขทัยราชธานีเมื่อครั้งกษัตริย์ราชวงศพระร่วงเปนใหญ่ ก็ทรงเลื่อมใสโปรดให้นิมนต์พระสงฆ์ลังกาวงศขึ้นไปตั้งณกรุงสุโขทัย ลัทธิลังกาวงศจึงรุ่งเรืองในประเทศสยามแต่นั้นมา ความข้อนี้ปรากฎอยู่ในศิลาจารึกของพระเจ้ารามกำแหงมหาราชเมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๐ ว่า “พ่อขุนรามคำแหงกระทำโอยทานแก่มหาเถรสังฆราชปราชญ์เรียนจบพระไตรปิฎก หัวก๊กกว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกตนลุกแต่เมืองนครศรีธรรมราชมา” ดังนี้ ตั้งแต่ลัทธิลังกาวงศมาเจริญขึ้น ลัทธิมหายานก็เสื่อมทรามแล้วเลยสูญไป ในประเทศสยามคงมีแต่พระสงฆ์ถือลัทธิหินยาน แต่ว่าในชั้นแรกต่างกันเปน ๒ นิกาย คือพระสงฆ์พวกเดิมนิกาย ๑ พระสงฆ์พวกที่อุปสมบทตามลัทธิลังกาวงศนิกาย ๑ ในประเทศพม่ารามัญเขมรพระสงฆ์ก็เปนสองนิกายเช่นนั้นเหมือนกัน ในที่สุดจึงรวมเข้าเปนนิกายอันเดียวกัน

เรื่องรวมพระสงฆ์นิกายเดิมกับนิกายลังกาวงศเข้าเปนนิกายอันเดียวกัน ที่เมืองมอญถึงพระเจ้าแผ่นดินต้องบังคับ ดังปรากฎอยู่ในจารึกกัลยาณีของพระเจ้ารามาธิบดีศรีปิฎกธรเมืองหงสาวดี แต่ในประเทศสยามนี้รวมกันได้ด้วยปรองดอง เรื่องนี้ยังมีเค้าเงื่อนปรากฎอยู่หลายอย่าง ดังจะนำมาสาธก แม้จะทำให้เรื่องยืดยาวไปสักหน่อย ก็หวังว่าท่านผู้อ่านคงจะไม่เบื่อ คือ ในศิลาจารึกที่เมืองสุโขทัยก็ดี ที่เมืองเชียงใหม่ก็ดี ปรากฎว่าพระสงฆ์ลังกาวงศมาอยู่วัดในอรัญญิก เมื่อไปตรวจดูถึงท้องที่ทั้ง ๒ แห่งนั้นก็เห็นสมจริง ด้วยที่เมืองสุโขทัยแลเมืองเชียงใหม่ บันดาวัดใหญ่โตอันเปนเจดียสถานสำคัญของบ้านเมือง เช่นวัดมหาธาตุหรือวัดเจดีย์หลวง เปนต้น มักสร้างในเมือง แต่ยังมีวัดอีกชนิดหนึ่ง เปนวัดขนาดย่อม ๆ สร้างเรียงรายกันอยู่ในที่ตำบลหนึ่งห่างเมืองออกไประยะทางประมาณ ๔ กิโลเมตร วัดที่ปรากฎชื่อว่าเปนวัดสำคัญของพวกพระสงฆ์ลังกาวงศ เช่นวัดสวนมะม่วง อันเปนที่สถิตของพระมหาสวามีสังฆราชกรุงสุโขทัยก็ดี วัดป่าแดงอันเปนที่สถิตพระสังฆราชเมืองเชียงใหม่ก็ดี ล้วนสร้างในตำบลซึ่งกล่าวข้างหลัง คือในที่อรัญญิกอันอยู่ห่างหมู่บ้านออกไป ระยะทางพอพระเดิรเข้าไปบิณฑบาตถึงในเมืองได้ ที่เปนเช่นนั้นพึงเห็นเปนเค้าว่าพระสงฆ์นิกายเดิมคงอยู่วัดใหญ่ ๆ ในบ้านเมือง ส่วนพระสงฆ์ลังกาวงศไม่ชอบอยู่ในลแวกบ้าน เพราะถือความมักน้อยสันโดษเปนสำคัญ จึงไปอยู่ณที่อรัญญิก คนทั้งหลายที่เลื่อมใสก็ไปสร้างอารามถวายพระสงฆ์ลังกาวงศที่ในอรัญญิกนั้น ครั้นมีกุลบุตรอุปสมบทในนิกายลังกาวงศมากขึ้น ก็สร้างวัดเพิ่มเติมขึ้นในที่อรัญญิก จึงมีวัดเรียงรายต่อกันไปเปนหลายวัด อันที่จริงพระสงฆ์นิกายเดิมกับนิกายลังกาวงศก็ถือลัทธิหินยานด้วยกัน แต่เหตุที่ทำให้แตกต่างถึงไม่ร่วมสังฆกรรมกันได้มีอยู่บางอย่าง ว่าแต่ฉเพาะข้อสำคัญอันมีเค้าเงื่อนยังทราบได้ในเวลานี้ คือพระสงฆ์นิกายเดิมเห็นจะสังวัธยายพระธรรมเปนภาษาสันสกฤต (มาแต่ครั้งพวกขอมปกครอง) แต่พวกนิกายลังกาวงศสังวัธยายเปนภาษามคธ ผิดกันในข้อนี้อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งพวกลังกาวงศรังเกียจสมณวงศ์ในประเทศสยาม ทำนองจะเห็นว่าปะปนกับพวกถือลัทธิมหายานมาเสียช้านาน ถือว่าเปนนานาสังวาสไม่ยอมร่วมสังฆกรรม พระสงฆ์จึงแยกกันอยู่เปน ๒ นิกาย ทั้งที่เมืองสุโขทัยแลเมืองเชียงใหม่ เหตุที่จะรวมพระสงฆ์เปนนิกายอันเดียวกันนั้น สันนิษฐานว่าคงเกิดแต่พวกผู้มีบันดาศักดิ์นิยมบวชเรียนในนิกายลังกาวงศมากขึ้นทุกที เมื่อความนิยมนั้นแพร่หลายลงไปถึงพลเมืองก็พากันบวชเรียนในนิกายลังกาวงศยิ่งมากขึ้น เปนเหตุให้พระสงฆ์นิกายเดิมน้อยลงโดยลำดับมา จนที่สุดจึงต้องรวมกับนิกายลังกาวงศ ข้อที่ว่ารวมกันโดยปรองดองนั้น มีที่สังเกตอยู่ ๒ อย่าง คือในวิธีบรรพชาอุปสมบท ซึ่งยังใช้กันอยู่โดยมากแม้จนทุกวันนี้ ผู้บรรพชาต้องรับพระไตรสรณคมน์เปนภาษามคธว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ครั้ง ๑ แลยังต้องรับพระไตรสรณคมน์เปนภาษาสันสกฤตว่า พุทฺธมฺ สรณมฺ คจฺฉามิ อีกครั้ง ๑ ข้อนี้ส่อให้เห็นว่าเพราะพวกลังกาวงศ สังวัธยายพระธรรมเปนภาษามคธ พวกนิกายเดิมสังวัธยายเปนภาษาสันสกฤต เพื่อจะให้การบรรพชาสมบูรณ์ตามคติทั้ง ๒ นิกาย จึงให้รับพระไตรสรณคมน์ ๒ อย่าง ยังมีที่สังเกตอีกอย่างหนึ่ง ที่ใบสีมาพระอุโบสถ บันดาวัดซึ่งสร้างแต่ครั้งสุโขทัยมา แม้จนถึงกรุงรัตนโกสินทรนี้ ถ้าเปนวัดหลวง มักทำใบสีมา ๒ แผ่นปักซ้อนกัน ถ้าเปนวัดราษฎรทำสีมาแต่แผ่นเดียว๔๔ สันนิษฐานว่า เดิมคงปักสีมาแต่แผ่นเดียวเหมือนกันหมด ครั้นพวกพระสงฆ์ลังกาวงศเข้ามาตั้ง รังเกียจสมณวงศในประเทศสยามดังกล่าวมาแล้ว จึงรังเกียจสีมาซึ่งพระสงฆ์สยามผูกไว้ ไม่ยอมทำสังฆกรรมเช่นให้อุปสมบทในวัดเดิม ข้อนี้ย่อมเปนความลำบากแก่พวกที่เคยอุปสมบทบุตรหลานในวัดสำหรับตระกูล หรือซึ่งเคยให้อยู่วัดใกล้บ้านเรือนอุปการะกันง่ายมาแต่ก่อน คงอาศรัยเหตุเหล่านี้เปนต้น พระเจ้าแผ่นดินจึงทรงอาราธนาพระสงฆ์ลังกาวงศ ให้ผูกสีมาบันดาวัดหลวงซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ทำสังฆกรรมได้ทั้งพระสงฆ์นิกายเดิม แลนิกายลังกาวงศ วัดใดที่ได้ผูกสีมาซ้ำแล้ว จึงให้ปักใบสีมาเพิ่มขึ้นเปน ๒ ใบเปนสำคัญ โบสถ์ที่มีใบสีมา ๒ ใบจึงเปนวัดหลวงเปนพื้น๔๕ ตั้งแต่ลัทธิลังกาวงศมารุ่งเรืองในประเทศสยาม ไทยก็รับแบบแผนของลังกามาประพฤติในการถือพระพุทธสาสนา เปนต้นว่าการสร้างพุทธเจดีย์ก็สร้างตามคติลังกา พระธรรมก็ทิ้งภาษาสันสกฤตกลับสาธยายเปนภาษามคธ เปนเหตุให้การศึกษาภาษามคธเจริญรุ่งเรืองในประเทศสยามแต่นั้นมา ข้อนี้พึงเห็นได้ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง๔๖ ซึ่งพระมหาธรรมราชา (พญาลิทัย) พระเจ้ากรุงสุโขทัยทรงแต่งไว้ ในบานแพนกปรากฎนามคัมภีร์พระไตรปิฎก แลนามพระเถระกับทั้งราชบัณฑิตที่ได้ทรงปรึกษาสอบสวนเปนอันมาก ส่วนพระสงฆ์นั้น ตั้งแต่รวมเปนนิกายอันเดียวกันแล้วก็กำหนดต่างกันแต่โดยสมาทานธุระเปน ๒ พวกตามแบบอย่างในเมืองลังกา คือพวกซึ่งสมาทานคันถะธุระ เล่าเรียนภาษามคธเพื่อศึกษาพระพุทธวจนะในพระไตรปิฎก มักอยู่วัดในบ้านเมือง อันเปนสำนักหลักแหล่งที่เล่าเรียนได้ชื่อว่า “พระสงฆ์คามวาสี” พวก ๑ พวกซึ่งสมาทานวิปัสนาธุระ ชอบบำเพ็ญภาวนาหาความวิมุติ มักอยู่วัดในอรัญญิก ได้ชื่อว่า “พระสงฆ์อรัญวาสี”๔๗ พวก ๑ แต่เปนนิกายอันเดียวกัน

แต่การที่ไทยรับถือลัทธิลังกาวงศครั้งนั้นไม่ได้ทิ้งขนบธรรมเนียมแม้เปนฝ่ายสาสนาอื่น ซึ่งได้เคยประพฤติมาแต่ก่อนทั้งหมด ด้วยนิสัยไทยเลือกใช้แต่ที่เห็นว่าเปนประโยชน์ ดังกล่าวมาแล้ว เพราะฉนั้นประเพณีการบ้านเมืองซึ่งเคยถือคติตามทางสาสนาพราหมณ์ อันมิได้ขัดข้องแก่พระพุทธสาสนา ก็คงถือต่อมา แม้ภาษาสันสกฤตก็ยังศึกษาแลใช้ปะปนในภาษาไทยมิได้เลิกถอนไปทีเดียว มีการบางอย่างซึ่งไทยรับลัทธิลังกามาแก้ไขใช้ให้เหมาะแก่ความนิยมในภูมิประเทศ เปนต้นว่าตัวอักษรซึ่งเขียนพระไตรปิฎก คงใช้ตัวอักษรขอม พุทธเจดีย์บางอย่างก็คิดแบบแผนขึ้นใหม่ ดังเช่นรูปพระเจดีย์สุโขทัยเปนต้น พระพุทธสาสนาที่ถือกันในประเทศสยาม ควรนับว่าเกิดเปนลัทธิสยามวงศตั้งแต่กรุงสุโขทัยเปนราชธานีสืบมา จนเมื่อปลายสมัยเมื่อกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานี ที่เมืองลังกาเกิดจลาจลหมดสิ้นสมณวงศ ได้มาขอคณะสงฆ์ไทยมีพระอุบาลีเปนประธานออกไปให้อุปสมบท กลับตั้งสมณวงศขึ้นในลังกาทวีป ยังเรียกว่านิกายสยามวงศหรืออุบาลีวงศ อยู่ตราบเท่าทุกวันนี้

  1. ๓๗. นามนี้ปรากฎอยู่ในจดหมายเหตุจีนแต่โบราณ

  2. ๓๘. ที่จังหวัดราชบุรีมีพระพุทธรูปจำหลักไว้ในถ้ำฤษีที่เขางู มีอักษรอินเดียจารึกบอกไว้ว่า ฤษีชื่อสมาธิคุปตะ เปนผู้สร้าง

  3. ๓๙. พระมหาธาตุที่ปรากฎอยู่บัดนี้ พวกถือลัทธิลังกาวงศสร้างต่อชั้นหลังมา พระมหาธาตุองค์เดิมอยู่ข้างใน ได้ขุดพบเมื่อปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุในรัชกาลที่ ๕

  4. ๔๐. จารึกหลักที่ ๑๙ อยู่ในหอพระสมุดสำหรับพระนคร

  5. ๔๑. มีเรื่องราวอยู่ในพงศาวดารเหนือ แลตำนานโยนก

  6. ๔๒. มีผู้สันนิษฐานว่า คำว่า “ฉาน” จะเปนคำเดียวกับสยามนั่นเอง

  7. ๔๓. ตำนานสังคายนาว่าทำเมื่อ พ.ศ. ๑๕๘๗ เร็วไปกว่าที่กล่าวในพงศาวดารลังกา

  8. ๔๔. ที่วัดเขารังแร้งที่เมืองสวรรคโลก แลวัดสำคัญที่ในเมืองเชียงใหม่โดยมาก ปักหินสีมาซ้อนกันถึง ๓ ชั้น

  9. ๔๕. วินิจฉัยอันนี้ ข้าพเจ้าได้เคยกราบทูลสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงรับรองเห็นชอบด้วย แลดำรัสว่าให้เขียนลงไว้ให้ปรากฎ ส่วนวัดที่มีสีมาถึง ๓ ชั้นก็คงเปนเพราะมีพระสงฆ์ลังกาวงศพวกอื่นซึ่งมาภายหลัง ถือลัทธิแปลกออกไป รังเกียจสีมาเดิม จึงผูกซ้ำอีกครั้งหนึ่งตามประเพณีเช่นเคยทำมาแต่ก่อน

  10. ๔๖. หนังสือไตรภูมิพระร่วง (หอพระสมุดฯ พิมพ์แล้ว) เปนหนังสือแต่งในภาษาไทยเก่าที่สุดซึ่งปรากฎอยู่ นอกจากศิลาจารึก

  11. ๔๗. ในลังกาเรียกว่า “วนะวาสี” สันนิษฐานว่า เพราะในเกาะลังกาภูมิประเทศเปนภูเขาโดยมาก ออกไปห่างบ้านเมืองไม่เท่าใดนักก็ถึงป่าดง พระสงฆ์พวกนั้นอยู่วัดในดงจึงเรียกว่าวนะวาสี

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ