ตอนที่ ๑ ว่าด้วยมูลเหตุที่เกิดพุทธเจดีย์

เมื่อสมเด็จพระสักยมุนีศรีสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้าตรัสรู้ปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ ทรงประกาศพระพุทธสาสนาปรากฎขึ้นนั้น แผ่นดินอินเดียตอนกลางอันเรียกว่า “มัชฌิมประเทศ”แยกกันเปนหลายอาณาเขต เปนประเทศใหญ่บ้าง น้อยบ้าง ที่เปนประเทศใหญ่อยู่ในครั้งพุทธกาลมี ๔ ประเทศ คือประเทศมคธราฐ อยู่ในท้องที่มณฑลภาคเบงคอลเดี๋ยวนี้ พระเจ้าพิมพิสาร (ต่อมาพระเจ้าอชาตศัตรู) เปนใหญ่ ตั้งราชธานีอยู่ณเมืองราชคฤห์มหานครประเทศ ๑ ประเทศโกศลราฐ อยู่ในมณฑลสหปาลีเดี๋ยวนี้ ต่อมคธราฐไปทางทิศตวันตกเฉียงเหนือ พระเจ้าปัสเสนทิ (ต่อมาพระเจ้าวิฑูฑะภะ) เปนใหญ่ ตั้งราชธานีอยู่ณเมืองสาวัตถีประเทศ ๑ ประเทศวังสะ อยู่ในมณฑลสหปาลีเดี๋ยวนี้ทางทิศใต้แห่งโกศลราฐ พระเจ้าอุเทนอันเปนราชโอรสของพระเจ้าปรันตปะเปนใหญ่ ตั้งราชธานีอยู่ณเมืองโกสัมพีประเทศ ๑ ประเทศอวันติ อยู่ในมณฑลมาลวะเดี๋ยวนี้ ต่อประเทศวังสะลงมาทางข้างใต้ พระเจ้าจัณฑปโชติเปนใหญ่ ตั้งราชธานีอยู่ณเมืองอุชเชนีประเทศ ๑ นอกจากนี้ยังมีประเทศน้อย ๆ เช่น อาณาเขตของพวกกษัตริย์สักยราช อาณาเขตของพวกกษัตริย์ลิจฉวี แลอาณาเขตของพวกมัลลกษัตริย์ เปนต้น อีกหลายอาณาเขต ปกครองเปนอิศระก็มี ที่ขึ้นอยู่ในประเทศใหญ่อันใดอันหนึ่งซึ่งกล่าวมาก็มี การที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนพระพุทธสาสนาในมัชฌิมประเทศ เสด็จเที่ยวจาริกไปในอาณาเขตทั้งหลาย มิได้ถือว่าแห่งใดเปนบ้านเขาเมืองเรา ทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ตามอุปนิสัยเสมอหน้ากัน ไม่เลือกชั้นบันดาศักดิ์หรือถือว่าเปนพวกนั้นพวกนี้ เพราะเหตุนั้นผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธสาสนานับแต่พระสงฆ์พุทธสาวกลงมาจนอุบาสกอุบาสิกา จึงมีชนทุกชาติทุกชั้นอยู่ทุกถิ่นฐานบ้านเมืองทั่วไปในมัชฌิมประเทศ ผิดกันแต่บางแห่งมีจำนวนมากบางแห่งมีน้อย แต่ในสมัยพุทธกาลนั้น พระพุทธสาสนายังเปนแต่สาสนาอันหนึ่งในสามสี่สาสนา ซึ่งมีจำนวนคนเลื่อมใสมากในมัชฌิมประเทศ นอกจากพระพุทธสาสนายังมีสาสนาไตรเพทของพวกพราหมณ์ซึ่งถือกันมาแต่ก่อนพุทธกาล แลสาสนาไชนะของพวกเดียรถีย์นิครนถ์ ซึ่งเกิดขึ้นร่วมราวพุทธกาลทั้งสองนี้เปนต้น

ในสมัยครั้งพุทธกาลนั้น พวกที่ถือพระพุทธสาสนานับถือแต่พระไตรสรณคมน์ คือพระพุทธเจ้า ๑ พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ๑ แลพระสงฆ์พุทธสาวกทั้งหลาย ๑ หามีวัดถุอื่นเปนเจดีย์ในพระพุทธสาสนาไม่ เหตุที่เกิดเจดีย์ในพระพุทธสาสนามีในหนังสือบางเรื่อง กล่าวว่าเมื่อครั้งพระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปเทศนาโปรดพระพุทธมารดาอยู่ในดาวดึงสเทวโลกพรรษาหนึ่งนั้น พระเจ้าปัสเสนทิโกศลมิได้เห็นพระพุทธองค์ช้านาน มีความรำลึกถึง จึงตรัสสั่งให้ทำพระพุทธรูปขึ้นไว้ต่างพระองค์ ความข้อนี้ขัดกับหลักฐานซึ่งจะแสดงในที่อื่นต่อไปข้างหน้า จะฟังว่าเปนความจริงไม่ได้ บันดาเจดีย์ในพระพุทธสาสนานอกจากพระไตรสรณคมน์ เปนของเกิดขึ้นเมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพานแล้วทั้งนั้น

เจดีย์ในพระพุทธสาสนา มีตำรากำหนดว่าเปน ๔ อย่างต่างกัน คือธาตุเจดีย์อย่าง ๑ บริโภคเจดีย์อย่าง ๑ ธรรมเจดีย์อย่าง ๑ อุเทสิกะเจดีย์อย่าง ๑ มูลเหตุที่เกิดพุทธเจดีย์ทั้ง ๔ อย่างนั้น ปรากฎอยู่ในหนังสือเก่า เช่นมหาปรินิพานสูตรแลมิลินทปัญหาเปนต้น ว่าเมื่อพระพุทธองค์ทรงประชวรใกล้จะเสด็จเข้าสู่ปรินิพานณดงรังในแขวงเมืองกุสินารา พระอานนท์เถรเจ้าผู้เปนพุทธอุปฐาก ทูลถามถึงการที่พุทธสาวกจะควรปฏิบัติต่อพระพุทธสริรฉันใด มีพระพุทธฎีกาตรัสว่าให้พระภิกษุทั้งหลายมุ่งหมายดับทุกข์ดับกิเลสอันเปนประโยชน์แห่งตนเถิด อย่าเปนกังวลด้วยการบูชาพระสริรของพระตถาคตเลย พวกกษัตริย์แลฆราวาสทั้งหลายเขาคงทำฌาปนกิจแล้วสร้างสถูปบัญจุสริรธาตุเหมือนอย่างพระเจ้าจักรพรรดิแต่ก่อนมาดังนี้ ครั้นพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพาน เหล่ามัลลกษัตริย์ซึ่งครองเมืองกุสินาราก็ช่วยกันถวายพระเพลิงพระพุทธสริร แล้วคิดจะสร้างพระสถูปประดิษฐานพระบรมธาตุไว้ณเมืองกุสินารา แต่ครั้งนั้นเมื่อข่าวว่าพระพุทธองค์เสด็จเข้าสู่ปรินิพาน แลถวายพระเพลิงพระพุทธสริรณเมืองกุสินาราทราบแพร่หลายไปถึงเมืองอื่น เจ้าเมืองที่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าหลายเมืองด้วยกัน ต่างให้ไปรับพระบรมธาตุเพื่อจะเชิญไปประดิษฐานไว้ให้มหาชนบูชาณเมืองของตน เดิมพวกมัลลกษัตริย์เมืองกุสินาราไม่ยอมให้ ข้างเจ้าเมืองอื่นก็จะเอาไปให้ได้ เกือบจะเกิดรบกันขึ้น หากโทณพราหมณ์ว่ากล่าวเกลี่ยไกล่จึงตกลงแบ่งพระบรมธาตุออกเปน ๘ ส่วน แล้วแจกไปณที่ต่าง ๆ คือ

๑ พระเจ้าอชาตศัตรู ได้ไปยังเมืองราชคฤห์มหานคร อันเปนราชธานีของมคธราฐในสมัยนั้น (เดี๋ยวนี้เรียกว่าแขวงราชะเคีย) ส่วน ๑

๒ กษัตริย์สักยราช พระญาติวงศของพระพุทธองค์ ได้ไปยังเมืองกบิลพัสดุ์ (เดี๋ยวนี้เรียกว่าแขวงภูอิละอยู่ในเนปาลราฐ) ส่วน ๑

๓ กษัตริย์ลิจฉวี ได้ไปยังเมืองเวสาลี (เดี๋ยวนี้เรียกว่าแขวงเพสารห์) ส่วน ๑

๔ กษัตริย์ถุลิยะ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าบุลิ ได้ไปยังเมืองอัลกัปป ส่วน ๑

๕ มหาพราหมณ์ครองเมือง ได้ไปยังเมืองเวฏฐทีปกะส่วน ๑

๖ กษัตริย์โกลิยะ ได้ไปยังรามคาม (เดี๋ยวนี้อยู่ในเขตเนปาลราฐ) ส่วน ๑

๗ มัลลกษัตริย์เมืองปาวา ได้ไปยังเมืองปาวา (เดี๋ยวนี้เรียกว่าแขวงปัทระโอนะ) ส่วน ๑

๘ มัลลกษัตริย์เมืองกุสินารา ได้ไว้ณเมืองกุสินารา (เดี๋ยวนี้เรียกว่าแขวงกาเสีย) ส่วน ๑

พระบรมธาตุที่แจกไปครั้งนั้น ต่างเมืองต่างก็สร้างพระสถูปเปนที่ประดิษฐานไว้ จึงเกิดมีพระธาตุเจดีย์ขึ้น ๘ แห่งเปนปฐม

พระสถูป (ซึ่งเรามักเรียกกันแต่ว่า “พระเจดีย์” เช่นที่ชอบสร้างตามวัด) นั้น มีประเพณีสร้างสำหรับบัญจุอัฐิธาตุมาแต่ก่อนพุทธกาล ไม่ฉเพาะแต่สำหรับบัญจุอัฐิธาตุของพระเจ้าจักรพรรดิเท่านั้น สถูปที่สร้างบัญจุอัฐิธาตุบุคคลอื่นๆ ก็มี ดังปรากฎในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบทว่าพระพาหิย เปนพุทธสาวกถูกโคชนถึงมรณภาพ พระพุทธองค์โปรดให้สร้างสถูปบัญจุอัฐิธาตุไว้มีตัวอย่างดังนี้ ถ้าว่าตามโบราณวัดถุที่ตรวจพบในอินเดียภายหลัง ถิึงศาสดาจารย์ซึ่งสอนสาสนาอื่น เช่นสาสนาไชนะของพวกเดียรถีนิครนถ์เปนต้น ก็มีสถูปสร้างบัญจุอัฐิธาตุของศาสดาโดยทำนองเดียวกัน พิเคราะห์ดูตามลักษณพระสถูปที่สร้างตั้งแต่โบราณมาตลอดกาลบัดนี้ เห็นว่าสถูปชั้นเดิมทีเดียวก็จะเปนแต่พูนดินขึ้นเปนโคกตรงที่ฝังอัฐิธาตุแล้วลงเขื่อนรอบกันดินพัง แลบนโคกนั้นทำนองจะปักร่มหรือฉัตรให้เปนเกียรติยศ การที่สร้างสถูปจะทำเปนขนาดใหญ่หรือขนาดน้อย แลจะทำโดยประณีตบัญจงหรือทำแต่พอใช้ได้ ก็แล้วแต่กำลังของผู้สร้าง ต่อชั้นหลังมาจึงตกแต่งแปลงรูปพระสถูปให้งดงามวิจิตรขึ้น เช่นแต่งกองดินให้เปนรูปทรง ทำเขื่อนให้เปนฐานแลชั้นทักษิณแลทำรูปบัลลังก์ตั้งบนหลังโคก แล้วต่อฉัตรให้เปนยอด ของเหล่านี้จะเกิดขึ้นในชั้นเมื่อพระพุทธสาสนารุ่งเรืองจนถึงเปนประธานของประเทศ ตั้งแต่สมัยแห่งพระเจ้าอโศกมหาราชเปนต้นมาทั้งนั้น

มูลเหตุแห่งบริโภคเจดีย์นั้น เรื่องก็เกิดขึ้นในเวลาเมื่อพระพุทธองค์ทรงประชวรใกล้จะเสด็จเข้าสู่ปรินิพานเหมือนกัน คือ พระอานนท์เถรเจ้าในเวลานั้นยังมิได้บัลลุมรรคผล ทูลปรารภว่าแต่ก่อนมาเหล่าภิกษุพุทธสาวกได้เคยเฝ้าแหนเห็นพระองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคย์เจ้าเนืองนิจ เมื่อพระองค์เสด็จเข้าสู่ปรินิพานแล้ว มิได้เฝ้าแหนเห็นพระองค์ต่อไป ก็จะพากันว้าเหว่ สมเด็จพระมหากรุณาเจ้าจึงทรงอนุญาตที่สังเวชนิยสถานไว้ ๔ แห่ง สำหรับพุทธสาวกเหล่าใดใคร่จะเห็นพระองค์ ก็ให้ไปปลงธรรมสังเวชณที่แห่งใดแห่งหนึ่งใน ๔ แห่งนั้น คือ

๑ ที่พระตถาคตเจ้าประสูติ ณป่าลุมพินีในแขวงเมืองกบิลพัสดุ์ (เดี๋ยวนี้เรียกว่าตำบลรัมมินเด อยู่ในแขวงเนปาลราฐ) แห่ง ๑

๒ ที่พระตถาคตเจ้าตรัสรู้พระโพธิญาณ ณโพธิพฤกยมณฑลในแขวงเมืองคะยา (เดี๋ยวนี้เรียกว่าตำบลพุทธคะยา) แห่ง ๑

๓ ที่พระตถาคตเจ้าประทานปฐมเทศนา ณตำบลอิสิปัตนะมฤคทายวัน ในแขวงเมืองพาราณสี (เดี๋ยวนี้เรียกว่าตำบลสาร์นาถ) แห่ง ๑

๔ ที่พระตถาคตเจ้าเข้าสู่ปรินิพาน ณตำบลสาลวันในแขวงเมืองกุสินารา (เดี๋ยวนี้เรียกว่าแขวงกาเสีย) แห่ง ๑

ที่สังเวชนิยสถาน ๔ แห่งนี้ เปนบริโภคเจดีย์โดยพระบรมพุทธานุญาต นอกจากนี้ยังมีบริโภคเจดีย์เกิดขึ้นด้วยเหตุการณ์อีก ๒ แห่ง มีเรื่องตำนานปรากฎในหนังสือปฐมสมโพธิว่าเมื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสริรนั้น โมริยกษัตริย์เจ้าเมืองปิบผลีวันให้ไปขอพระบรมธาตุช้าไป ทูตไปถึงเมืองกุสินาราเมื่อแบ่งพระบรมธาตุแจกไปเสียแล้ว ได้แต่พระอังคารถ่านที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสริรไปสร้างพระสถูปบัญจุไว้ณเมืองปิบผลีวัน (เดี๋ยวนี้เรียกว่ารุทธบุระ) องค์ ๑ ส่วนโทณพราหมณ์ผู้แบ่งพระบรมธาตุได้ทนานโลหะที่ตวงพระธาตุไป ก็ไปสร้างพระสถูปบัญจุไว้ในเขตเมืองกุสินารานั้นอีกองค์ ๑ พระสถูป ๒ องค์นี้ก็นับว่าเปนบริโภคเจดีย์ เพราะเนื่องด้วยองค์พระตถาคตเจ้าเช่นเดียวกับที่สังเวชนิยสถาน จึงเกิดบริโภคเจดีย์ขึ้นในชั้นแรกรวมเปน ๖ แห่งด้วยกัน

มูลเหตุแห่งธรรมเจดีย์นั้น อาศรัยพระพุทธบรรหารซึ่งทรงแสดงแก่เหล่าพระสาวกเมื่อก่อนเสด็จเข้าสู่ปรินิพาน ว่าพระธรรมจะแทนพระองค์ต่อไปดังนี้ สันนิฐานว่าเมื่อล่วงพุทธกาลมาแล้ว ผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธสาสนา บางพวกอยู่ห่างไกลธาตุเจดีย์ แลบริโภคเจดีย์ที่มีอยู่ในครั้งนั้น จะไปทำสักการบูชาได้ด้วยยากอยากจะมีเจดียสถานเปนที่บูชาบ้าง จึงมีผู้รู้พระบรมพุทธาธิบายแนะนำให้เขียนพระธรรมลงเปนตัวอักษรประดิษฐานไว้เปนที่บูชา โดยอาศรัยอ้างพระพุทธบรรหารซึ่งตรัสว่าพระธรรมจะแทนพระองค์นั้น จึงเกิดมีประเพณีสร้างธรรมเจดีย์ขึ้นอีกอย่าง ๑ มักเลือกเอาข้อพระธรรมที่เปนหัวใจในพระพุทธสาสนา เช่นคาถาแสดงพระอริยสัจ ว่า

“เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตํุ ตถาคโต (อาห)
เตสญฺจ โย นิโรโธ เอวํ วาที มหาสมโณ”

นี้เปนต้น มาจารึกเปนธรรมเจดีย์

อุเทสิกะเจดีย์นั้น เปนของสร้างขึ้นโดยเจตนาอุทิศต่อพระพุทธเจ้าเปนสำคัญ ไม่กำหนดว่าจะต้องเปนอย่างไร เพราะฉนั้นบันดาพุทธเจดีย์ที่สร้างขึ้น ถ้ามิได้เปนธาตุเจดีย์หรือบริโภคเจดีย์ หรือธรรมเจดีย์แล้ว ก็นับว่าเปนอุเทสิกะเจดีย์ทั้งสิ้น

พิเคราะห์ดูโดยโบราณวัดถุที่ปรากฎอยู่ ดูเหมือนอุเทสิกะเจดียชอบทำกัน ในชั้นแรกจะทำเปนพุทธบัลลังก์ อาศรัยประเพณีอันมีมาแต่ครั้งพุทธกาล พุทธสาวกย่อมจัดตกแต่งอาสนะไว้รับเสด็จพระพุทธองค์ในเวลาเมื่อเสด็จไปโปรดสัตว์ณที่นั้น ๆ จึงสร้างพุทธบัลลังก์เปนที่สักการบูชาในเวลารำลึกถึงพระพุทธองค์เมื่อเสด็จเข้าปรินิพานแล้ว เรียกว่าอาสนะบูชากันสืบมา

  1. ๑. เขตแห่งมัชฌิมประเทศ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ประทานอธิบายไว้ในหนังสือเรื่องพุทธานุพุทธประวัติ ว่าในทิศตวันออกภายในแต่ประเทศเบงคอลเข้ามา ในทิศใต้ภายในแต่ประเทศเดกกันเข้ามา ในทิศตวันตกภายในแต่ประเทศบอมเบเข้ามา ในทิศเหนือภายในแต่ประเทศเนปาลเข้ามา

  2. ๒. ว่าตามหนังสือเรื่องพุทธิสอินเดีย ของศาสตราจารย์ ริสเดวิด

  3. ๓. เปนต้นว่าในหนังสือตำนานพระแก่นจันทน์ อันเปนหนังสือแต่งชั้นหลังทั้งนั้น

  4. ๔. ข้อที่มีพระพุทธฎีกาตรัสว่าเหมือนอย่างพระเจ้าจักรพรรดินั้น มาคิดสันนิษฐานดูเห็นว่าเพราะพระองค์เปนทั้งกษัตริย์แลเปนศาสดาจารย์ด้วย เหมือนพระเจ้าจักรพรรดิในข้อนี้

  5. ๕. พระบรมธาตุส่วนนี้ที่ได้มายังประเทศสยามเมื่อรัชกาลที่ ๕ แลบัญจุประดิษฐานไว้ในพระสถูปบนบรมบรรพต

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ