คำนำ
หม่อมเจ้าหญิงเม้า ท, จ, ว. ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ เปนเจ้าภาพงานพระศพ พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา ซึ่งเปนพระเชษฐา ทรงปรารภจะพิมพ์หนังสือแจกในงานพระราชทานเพลิงพระศพพระองค์เจ้าวัฒนาสักเรื่อง ๑ วานข้าพเจ้าช่วยเลือกเรื่องหนังสือในหอพระสมุด ฯ แลให้ช่วยจัดการพิมพ์ถวาย ในการเลือกเรื่องหนังสือ ข้าพเจ้านึกว่าพระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนาได้ไปรับราชการอยู่ทางมณฑลอุดรช้านาน จนได้เปนตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลนั้น อยากจะหาหนังสือเรื่องทางมณฑลอุดรพิมพ์ในงานพระศพ เลือกดูหนังสือที่ได้มาจากมณฑลนั้น ก็ยังไม่พบเรื่องที่พอใจ แลเห็นว่าในทางภาษาจะอ่านไม่ใคร่เข้าใจกัน จึงได้เลือกหนังสือเสภาเรื่องศรีธนญไชยซึ่งแต่งในกรุงเทพ ฯ ตามเรื่องเดิมที่ได้มาจากมณฑลอุดรให้พิมพ์ในงานพระศพพระองค์เจ้าวัฒนา
นิทานเรื่องศรีธนญไชยนี้เปนเรื่องโบราณ เกิดขึ้นครั้งกรุงศรีสัตนาคนหุต ชาวมณฑลอุดรอิสาณชอบกันมาก มีหนังสือเก่าแต่งไว้หลายสำนวน เรียกว่าเรื่องเชียงเมี่ยง เพราะเหตุอ้างว่าศรีธนญไชยนั้นชื่อเชียงเมี่ยง แลปลาดที่กล่าวว่าเปนชาวกรุงศรีอยุทธยาด้วย ส่วนเสภาที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ ผู้ใดเปนผู้แต่งหาทราบไม่ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเห็นจะเปนหนังสือแต่งในรัชกาลที่ ๔ ด้วยเปนสำนวนใหม่ ฉบับที่มีอยู่ในหอพระสมุด ฯ เป็นฉบับหลวง ฝีมืออาลักษณ์ครั้งรัชกาลที่ ๔ เขียนพิเคราะห์ประกอบกับเหตุอิกอย่าง ๑ ด้วยปรากฏว่าโปรดให้เขียนเรื่องศรีธนญไชยที่ในพระวิหารวัดประทุมวันเมื่อในรัชกาลที่ ๔ จึงสันนิฐานต่อไปว่า เสภานี้เห็นจะเปนหนังสือแต่งสำหรับขับถวายเวลาทรงเครื่องใหญ่ ทำนองที่แต่งเสภาเรื่องพงษาวดารในรัชกาลเดียวกัน หนังสือเสภาเรื่องศรีธนญไชยนี้ไม่เคยเห็นที่ไหนอิก นอกจากฉบับหลวงที่มีอยู่ในหอพระสมุด ฯ ฉบับเดียว เห็นว่าผู้ที่ได้เคยอ่านคงมีน้อย ถ้าพิมพ์ออกให้แพร่หลาย ผู้ที่ได้รับแจกไปคงจะพากันพอใจ แลอนุโมทนาในการที่หม่อมเจ้าหญิงเม้าทรงพิมพ์หนังสือเรื่องนี้แจกในงานพระศพ พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา.
ประวัติพระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา
มหาอำมาตย์ตรี พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา ป ม. ท จ ว. จ ช รัตน จ ป ร. ๓ นายพันเอกทหารบก เปนหม่อมเจ้าชายใหญ่ในพระเจ้าวรวงศ์เธอชั้น ๒ กรมหมื่นสิทธิสุขุมการ ประสูตรในรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๙๑ แต่พระบิดายังปรากฏพระนามว่า พระองค์เจ้ารองทรง คนทั้งหลายเรียกกันแต่ว่าหม่อมเจ้าใหญ่ มาจนทรงตั้งเป็นพระองค์เจ้าวัฒนาตามพระนามเดิม เมื่อในรัชกาลที่ ๕ จึงได้เรียกกันว่าพระองค์เจ้าวัฒนา
เมื่อรัชกาลที่ ๔ พระชัณษาครบปีเกษากันต์แลทรงผนวชเปนสามเณร ได้เกษากันต์ที่พระมหาปราสาท แลทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเหมือนกับหม่อมเจ้าทั้งปวง แต่เมื่อทรงผนวชแล้ว สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ซึ่งเปนพระบิตุลา ทรงรับไปให้อยู่ที่พระตำหนักณวัดบวรนิเวศ แล้วเปนพระธุระทรงสั่งสอนพระธรรมวินัยประทานตลอดเวลาที่ทรงผนวชอยู่พรรษา ๑ นั้น ครั้นลาผนวชแล้วได้ตามเสด็จพระบิดาเข้ามาที่โรงทองที่ในพระบรมมหาราชวังเปนเนื่องนิจ ด้วยเมื่อในรัชกาลที่ ๔ กรมหมื่นสิทธิสุขุมการได้ทรงกำกับราชการโรงทองหลวง พระองค์เจ้าวัฒนาตามเสด็จเข้ามา จึงมาหัดวิชาช่างทองในสำนักช่างหลวง จนทรงชำนาญวิชาช่างทอง แลเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตา ด้วยเสด็จไปทอดพระเนตรเห็นเมื่อหัดเปนช่างทองอยู่นั้น ได้พระราชทานรางวัลทองทศทองพิศเปนต้นเนือง ๆ ถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระชัณษาครบอุปสมบทก็ได้ทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แลประทับอยู่วัดบวรนิเวศเหมือนเมื่อทรงผนวชเปนสามเณร แต่ถึงรัชกาลนี้พระบิดาทรงพระชรา ไม่ได้ว่าการโรงทองหลวงเหมือนแต่ก่อน พระองค์เจ้าวัฒนาปฏิบัติพระบิดาอยู่จนตลอดพระชนมายุแล้ว จึงได้ปรารภที่จะเข้ารับราชการ
วังกรมหมื่นสิทธิสุขุมการอยู่ริมคลองตลาด ใกล้กับวังที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมประทับอยู่ในเวลานั้น คือตรงที่โรงทหารม้าทุกวันนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจเวลานั้นยังไม่มีวัง ประทับอยู่ที่วังนั้นด้วย พระองค์เจ้าวัฒนาจึงได้คุ้นเคยกับทั้ง ๒ พระองค์ ตั้งแต่พระบิดายังทรงพระชนม์อยู่ แล้วกรมหลวงสรรพสาตรได้หม่อมเจ้าหญิงเม้าเปนชายา ก็ได้เกี่ยวดองกันอิกชั้น ๑
พระองค์เจ้าวัฒนาแรกเข้ารับราชการเมื่อปีมะเสง พ.ศ. ๒๔๒๔ ครั้งโปรดให้กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมทรงจัดการตั้งกรมทหารรักษาพระราชวัง กรมหลวงประจักษ์จึงทรงชวนพระองค์เจ้าวัฒนาเข้ามารับราชการในกรมทหารนั้น ได้มียศเปนนายร้อยเอกตำแหน่งผู้ตรวจการ ต่อมาเมื่อทรงพระกรุณาโปรดให้กรมหลวงประจักษ์ ฯ เปนเสนาบดีกระทรวงวังก็ได้มาเปนตำแหน่งผู้ตรวจการในกระทรวงวังด้วย แล้วได้เปนหัวน่าพนักงานกรมวังสำหรับตามเสด็จประพาศหัวเมือง จึงเปนเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคุ้นเคยจนชอบพระอัธยาไศรยสนิท ดังปรากฎอยู่ในกระแสรับสั่งซึ่งประกาศเมื่อทรงตั้งเปนพระองค์เจ้านั้น
พระองค์เจ้าวัฒนารับราชการอยู่ในกรมวังได้ ๙ ปี ในระหว่างนั้นได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเสมอชั้นปลัดทูลฉลอง แลมียศทหารเปนนายพันเอก ครั้นถึงรัตนโกสินทรศก ๑๑๐ ตรงกับปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๓๔ เมื่อทรงพระราชดำริห์จะจัดการปกครองหัวเมืองชายพระราชอาณาเขตรให้มั่นคงยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม แต่ยังดำรงพระยศเปนกรมหมื่น เสด็จขึ้นไปเปนข้าหลวงสำเร็จราชการประจำมณฑลอุดร ในคราวเดียวกับที่โปรดให้กรมหลวงพิชิตปรีชากรเสด็จไปประจำมณฑลอิสาณ แลกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เมื่อยังดำรงพระยศเปนกรมหมื่น เสด็จไปประจำมณฑลนครราชสิมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระองค์เจ้าวัฒนาเมื่อยังเปนหม่อมเจ้า เปนตำแหน่งข้าหลวงที่ ๒ รองกรมหลวงประจักษ์ ฯ ขึ้นไปรับราชการในมณฑลอุดรด้วย ได้ไปรับราชการเปนข้าหลวงที่ ๒ อยู่ ๙ ปี ในระหว่างนี้ได้รับพระราชทานบำเหน็จความชอบหลายคราว
ครั้นเมื่อ ร.ศ. ๑๑๘ ตรงกับปีกุญ พ.ศ. ๒๔๔๒ โปรดให้กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมเสด็จกลับลงมารับราชการในกรุงเทพฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระองค์เจ้าวัฒนาเปนตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลอุดร แล้วทรงสถาปนาพระยศเลื่อนขึ้นเปนพระองค์เจ้าในปีนั้น มีประกาศกระแสพระราชดำริห์ซึ่งยกย่องความชอบความดี ดังนี้
ศุภมัศดุ พระพุทธสาสนกาล เปนอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๔๓ พรรษา ปัตยุบันกาล จันทรคตินิยม มุสิกสังวัจฉร กติกมาศ กาฬปักษ์ จตุตถีดิถี โสรวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ พฤศจิกายนมาศ ทสมมาสาหคุณพิเศษบริเฉทกาลกำหนด
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯ ล ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์ว่า หม่อมเจ้าวัฒนา ในพระเจ้าบวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสิทธิสุขุมการ ได้เข้ารับราชการในกรมทหารล้อมวัง มีตำแหน่งตั้งแต่ปลัดกองจนถึงนายพันเอกบังคับการกอง ได้รับราชการในกรมวัง เปนที่สนิทชิดชอบพระราชอัธยาไศรยมาช้านาน ภายหลังได้ขึ้นไปราชการในกองพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงมณฑลฝ่ายเหนือ แลได้เปนแม่กองขึ้นไปรักษาราชการเมืองภูวดลสอางจนเสร็จราชการ แล้วประจำอยู่ในมณฑลนั้นถึง ๙ ปี ครั้นเมื่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมเสด็จลงมารับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกระลาโหม จึงได้รับตำแหน่งเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลฝ่ายเหนือมาจนบัดนี้ มีพระอัธยาไศรยซื่อตรงจงรักภักดีต่อราชการ อดทนต่อความลำบากมิได้มีความย่อหย่อน สมควรที่จะได้เลื่อนพระเกียรติยศขึ้นเปนพระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระองค์หนึ่งได้
จึงมีพระบรมราชโองการ ดำรัสสั่งให้สถาปนาหม่อมเจ้าวัฒนาขึ้นเปนพระองค์เจ้า ให้มีคำนำน่าพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัตรว่า พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา คชนาม ทรงศักดินา ๒๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฝ่ายพระราชวังบวร ฯ จงเจริญพระชนมายุ พรรณ ศุขะ พละ ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพศิริสวัสดิ์พิพัฒมงคลทุกประการเทอญ
เมื่อพระองค์เจ้าวัฒนารับราชการในตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล ได้ทรงพระอุสาหะจัดราชการในมณฑลนั้นเรียบร้อย แลทำนุบำรุงผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นหลายอย่าง กอบด้วยพระอัธยาไศรยซึ่งทรงเมตตาปรานีแก่คนทั้งหลาย แลเปนที่นิยมนับถือของบรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยตลอดจนประชาราษฎรทั่วทุกจังหวัดในมณฑล เปนเหตุให้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๑ เมื่อเปนตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลอยู่นั้น พระองค์เจ้าวัฒนาเปนข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลอุดรอยู่ ๖ ปี รวมเวลาแต่ได้เสด็จไปรับราชการอยู่ในมณฑลอุดรรวม ๑๕ ปี ถึงร.ศ. ๑๒๕ ตรงกับปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๔๙ พระชัณษาได้ ๕๙ ปีรู้สึกว่าทุพลภาพ ไม่สามารถจะรับราชการให้สมตำแหน่งได้ดังแต่ก่อน จึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกจากตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเบี้ยบำนาญมาจนตลอดพระชนมายุ
พระองค์เจ้าวัฒนาออกจากตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลแล้ว กลับลงมาสร้างวังตั้งตำหนักอยู่ที่ริมคลองแสนแสบ ใกล้เชิงสพานเฉลิมโลกในอำเภอประทุมวัน อยู่เปนปรกติมาหลายปี แล้วประชวรเปนวรรณโรคภายในเรื้อรัง พระอาการซุดลงโดยลำดับ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๖๑ คำนวณพระชัณษาได้ ๗๑ ปี สิ้นเนื้อความตามประวัติของพระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา เพียงเท่านี้.
สภานายก
หอพระสมุดวชิรญาณ
วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๓