คำนำ

ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยานิมิราชทรงวุฒิ (สวน วินิจฉัยกุล) บิดาของ นายเสริม วินิจฉัยกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งกำหนดในวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ บรรดาพนักงานในธนาคารแห่งประเทศไทยมีสมานฉันท์ร่วมกันจะพิมพ์หนังสือมอบให้ผู้ว่าการธนาคารฯ แจกเป็นที่ระลึกอนุสรณ์สักเรื่องหนึ่ง จึงมาติดต่อกับกรมศิลปากร ขอให้ช่วยเลือกหนังสือเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เหมาะสำหรับจะพิมพ์ กรมศิลปากรจึงแนะให้พิมพ์เรื่อง “ลิลิตพระลอ” อันเป็นหนังสือหาฉบับยากอยู่ในเวลานี้

เรื่อ “ลิลิตพระลอ” นี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ประทานอธิบายไว้ในหนังสือ “บันทึกสมาคมวรรณคดี” (ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๕ วันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕) ว่าดังนี้:-

“หนังสือลิลิตมีมากเรื่องก็จริง แต่ที่นับถือกันว่าเป็นตำรามาแต่โบราณจนกาลบัดนี้ มี ๓ เรื่องเท่านั้น คือ

๑. เรื่องยวนพ่าย แต่งในสมัยอยุธยา เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง

๒. เรื่องพระลอ แต่งในสมัยอยุธยาเหมือนกัน เป็นนิทานเรื่องทาง อาณาเขตลานนา (คือมณฑลพายัพ) ดูเหมือนพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ทรงพระราชนิพนธ์แต่ในเวลาเมื่อยังดำรงพระยศเป็นพระราชโอรส

๓. เรื่องเตลงพ่าย สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส (เมื่อยังเสด็จดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส) ทรงพระนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

หนังสือลิลิต ๓ เรื่องนี้ ที่จะตัดสินว่าสำนวนเรื่องไหนแต่งดีกว่าหรือเลวกว่ากันนั้นไม่ได้ เพราะแต่งต่างสมัยกัน และกระบวนกลอนที่แต่งก็ต่างกันเพราะแต่งตามนิยมในสมัยที่แต่งนั้น ควรแต่ยกย่องว่าแต่งดีอย่างยอดเยี่ยมทั้ง ๓ เรื่อง ถ้าหากอุปมาว่ามีผู้ส่งของรางวัลมาสิ่งเดียว และขอให้เราเลือกเรื่องใดเรื่องหนึ่งใน ๓ เรื่องนั้นรับรางวัล ก็จะต้องหาเกณฑ์อย่างอื่นมาประกอบกับสำนวนที่แต่งให้เป็นหลักตัดสิน ก็ธรรมดาการแต่งหนังสือนั้น ย่อมอาศัยปัจจัย ๒ อย่าง คือสำนวนที่แต่งอย่าง ๑ กับเรื่องที่แต่งอย่าง ๑ ข้อนี้จะยกอุทาหรณ์ดังเช่นหนังสือกลอนนิราศภูเขาทองกับบทเสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร สุนทรภู่แต่ง ๒ เรื่อง แต่ใครอ่านก็ต้องชอบนิราศภูเขาทองยิ่งกว่าเรื่องพงศาวดาร เพราะนิราศภูเขาทองตัวเรื่องไม่บังคับ สุนทรภู่จะว่าอย่างไรก็ว่าได้ แต่บทเสภานั้นเรื่องพระราชพงศาวดารบังคับอยู่ จะแต่งให้หรูหราออกไปนอกเรื่องไม่ได้ ตัวอย่างที่ยกมาแสดงนี้ฉันใด หนังสือที่แต่งไม่ว่าประเภทใดหรือใครแต่งก็เป็นทำนองเดียวกัน ในลิลิต ๓ เรื่องที่กล่าวมา เรื่องยวนพ่ายกับเรื่องเตลงพ่าย ตัวเรื่องเป็นพงศาวดาร การแต่งมีบังคับ เสียเปรียบเรื่องพระลอซึ่งเป็นแต่นิทาน ผู้แต่งมีช่องที่จะกล่าวความให้จับใจได้กว้างขวางกว่ากัน เพราะฉะนั้นจึงนับถือกันมาว่าเรื่องพระลอวิเศษกว่าลิลิตเรื่องอื่น ถึงยกย่องเป็นตำรามาแต่โบราณ แม้หนังสือเรื่องจินดามณีซึ่งพระโหราฯ แต่งเป็นตำราเรียนภาษาไทยเมื่อรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็คัดโคลงในเรื่องพระลอมาใช้เป็นแบบในหนังสือนั้น ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงพระนิพนธ์ลิลิตเรื่องเตลงพ่ายขึ้น และคนทั้งหลายนับถือกันว่าแต่งดีอย่างยิ่งอีกเรื่อง ๑ ถึงกระนั้นก็ไม่ทำให้ลดความนับถือเรื่องพระลอลงกว่าแต่ก่อน อาศัยเหตุทั้งปวงดังกล่าวมา ถ้าจำจะต้องตัดสินเอาเรื่องใดเป็นเอกในลิลิต ๓ เรื่องนั้นไซร้ ข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะเอาเรื่องพระลอ และเชื่อว่าคงจะมีผู้เห็นพ้องกับข้าพเจ้าไม่น้อย

ใครเป็นผู้แต่งลิลิตพระลอ และแต่งเมื่อไร ปัญหานี้ดูเหมือนจะยังไม่เคยวินิจฉัยกันให้ถ้วนถี่ ข้าพเจ้าได้อ่านเรื่องพระลออีกครั้งหนึ่งเมื่อจะแต่งคำวินิจฉัยนี้ ขอเสนอความเห็นแก่ท่านทั้งหลายด้วย คือข้างท้ายลิลิตมีโคลงบอกชื่อผู้แต่งอยู่ ๒ บท บทหนึ่งว่า “มหาราชเจ้า นิพนธ์” หมายความว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงแต่ง แต่อีกบทหนึ่งว่า “เยาวราชเจ้า บรรจง” หมายความว่าพระราชบุตรของพระเจ้าแผ่นดินทรงแต่ง ที่บอกแย้งกันดังนี้ส่อให้เห็นว่า ผู้แต่งโคลง ๒ บทนั้น เป็น ๒ คน และมิใช่ตัวผู้แต่งลิลิตพระลอ โคลง ๒ บทเป็นของแต่งเพิ่มขึ้นต่อภายหลัง ส่วนผู้แต่งลิลิตเองได้กล่าวไว้ในโคลงบานแผนกข้างต้นเรื่องว่า

“เกลากลอนกล่าวกลการ กลกล่อม ใจนา
ถวายบำเรอท้าวไท้ ธิราชผู้มีบุญ”

หมายความว่าผู้อื่นแต่งถวายพระเจ้าแผ่นดิน มิใช่พระเจ้าแผ่นดินทรงแต่งเอง เหตุใดผู้แต่งโคลง ๒ บทข้างท้ายลิลิตจึงอ้างว่าพระเจ้าแผ่นดินและพระเยาวราชทรงแต่ง จะลงเนื้อเห็นว่าอ้างโดยไม่มีมูลก็กระไรอยู่ พิจารณาดูสำนวนที่แต่งก็เห็นได้ ผู้แต่งลิลิตพระลอเป็นผู้รู้ราชประเพณีและการเมือง ต้องเป็นบุคคลชั้นสูงอยู่ในราชสำนัก ประกอบทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญอักษรศาสตร์ ผู้ที่ทรงความสามารถถึงปานนั้นมักเป็นเจ้านาย จะยกตัวอย่างเช่นเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร และสมเด็จกรมพระปรมานุชิตฯ เป็นต้น จึงสันนิษฐานว่าผู้แต่งลิลิตพระลอนั้น เมื่อแต่งยังเป็นพระราชโอรส และต่อมาได้รับรัชทายาทเป็นพระเจ้าแผ่นดิน โคลงข้างท้ายลิลิตบทที่ว่า “เยาวราชเจ้า บรรจง” แต่งก่อน โคลงบทที่ว่า “มหาราชเจ้า นิพนธ์” แต่งเมื่อภายหลัง เดิมก็เห็นจะแต่งเขียนลงในหนังสือพระลอฉบับของผู้แต่งโคลงนั้น ครั้นเมื่อรวบรวมฉบับชำระหนังสือเรื่องพระลอในกาลครั้งใดครั้งหนึ่ง (อาจจะเป็นเมื่อแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์นี้) พบโคลง ๒ บทนั้น จึงรวมเขียนลงไว้ในฉบับชำระใหม่ด้วยก็เลยติดอยู่

ปัญหาข้อที่ว่าหนังสือลิลิตพระลอแต่งเมื่อไร ข้อนี้ตัดสินได้ทันทีว่าแต่งก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะหนังสือจินดามณีที่พระโหราฯ แต่งในรัชกาลนั้น ได้คัดเอาโคลงลิลิตพระลอ คือบทที่ว่า

“๏ เสียงฦๅเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหล ลืมตื่น ฤๅพี่
สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือฯ”

มาใช้เป็นแบบโคลง ๔ เพราะเอกโทตรงตามตำราหมดทุกแห่ง นอกจากหนังสือจินดามณียังมีเค้าเงื่อนอย่างอื่นเป็นที่สังเกตอีก คือหนังสือบทกลอนแต่งครั้งกรุงศรีอยุธยา (ว่าตามตัวอย่างที่ยังมีอยู่) ต่างกันเป็น ๓ ตอน ตอนต้นนับแต่รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมาชอบแต่งลิลิตกันเป็นพื้น มีลิลิตโองการแช่งนํ้าพระพิพัฒนสัตยา ลิลิตเรื่องยวนพ่าย และลิลิตเรื่องพระลอเป็นตัวอย่าง สำนวนทันเวลากันทั้ง ๓ เรื่อง พึงเห็นได้ว่าในสมัยนั้นยังไม่สู้ถือว่าคณะและเอกโทเป็นสำคัญเท่ากับคำ มาตอนกลาง นับตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมา ชอบแต่งโคลงและฉันท์กันเป็นพื้น มีโคลงพระศรีมโหสถและโคลงกำศรวล กับทั้งโคลงเบ็ดเตล็ดเป็นตัวอย่าง ส่วนฉันท์ก็มีเรื่องสมุทโฆษและเรื่องอนิรุทธเป็นตัวอย่าง ถึงตอนปลายนับตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าบรมโกศ ชอบแต่งกลอนเพลงยาวกันเป็นพื้น ซึ่งตัวอย่างยังมีอยู่มาก ในกรุงศรีอยุธยาตอนกลางและตอนปลาย หาปรากฏว่าแต่งลิลิตเรื่องใดไม่

จึงเห็นว่าควรถือเป็นยุติได้ ว่าลิลิตเรื่องพระลอนั้นแต่งในกรุงศรีอยุธยาตอนต้นราวในระหว่าง พ.ศ. ๑๙๙๑ จนถึง พ.ศ. ๒๐๗๖ ส่วนผู้แต่งนั้นจะว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดยากอยู่ ด้วยจะเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ หรือสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร พระองค์ใดพระองค์หนึ่งก็ได้ทั้งนั้น เป็นอันรู้ไม่ได้แน่”

ในการพิมพ์หนังสือลิลิตพระลอคราวนี้ ได้ให้พิมพ์ไปตามต้นฉบับเดิมที่พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ โดยมิได้แก้ไขแต่อย่างใด และฉบับที่พิมพ์ใน พ.ศ. ๒๔๖๙ นั้น สอบดูปรากฏว่าได้พิมพ์ตามฉบับโรงพิมพ์หลวง ครั้งรัชกาลที่ ๕ อีกต่อหนึ่ง ในฉบับพิมพ์ทั้งสองที่กล่าวนี้ เขียนชื่อเมืองของพระเพื่อนพระแพงเป็น ๒ อย่าง คือตอนแรกเขียนว่า “เมืองสรวง” (ซ้ำกับชื่อเมืองของพระลอ) ดังนี้: “มีพระยาตนหนึ่งใหญ่ ธไซร้ทรงนามกร พิมพิสาครราช พระบาทเจ้าเมืองสรวง สมบัติหลวงสองราชา มีมหิมาเสมอกัน” แต่ในตอนหลังๆ เขียนว่า “เมืองสอง หรือ สรอง” ตลอด ในคราวพิมพ์คราวนี้ ได้ลองตรวจดูในฉบับเขียนในสมุดดำอันมีอยูในหอสมุดวชิรญาณ ปรากฏว่าตอนที่ฉบับพิมพ์ทั้ง ๒ เขียนว่า “เมืองสรวง” นั้น ในสมุดดำได้ตรวจดูถึง ๗ ฉบับเขียนว่า “เมืองสรอง” ดังนี้: “มีพระยาตนหนึ่งใหญ่ ธไซร้ทรงนามกร พิมพิสาครราช พระบาทเจ้าเมืองสรอง สมบัติสองราชา มีมหิมาเสมอกัน” และต่อๆ ไปก็เขียนว่า “เมืองสรอง” ทุกแห่ง อนึ่ง โคลงบทสุดท้ายในเรื่องพระลอนี้ ที่ว่ามีผู้แต่งเพิ่มเติมขึ้นภายหลังนั้น โคลงบาทที่ ๑ ในฉบับพิมพ์ทั้งสองเล่ม เขียนว่า “จบเสร็จเยาวราชเจ้า บรรจง” แต่ฉบับเขียนในสมุดดำที่ได้ตรวจดู ๗ ฉบับนั้น เขียนว่า “จบเสร็จมหาราชเจ้า บรรจง” เหมือนกันทุกฉบับ หามีฉบับใดเขียนว่า “.....เยาวราชเจ้า.....” ไม่เลยสักฉบับเดียว อันนี้จึงเป็นปัญหาใหม่ ที่นักศึกษาวรรณคดีจะต้องวินิจฉัยต่อไป แต่อย่างไรก็ดี ในการพิมพ์คราวนี้ กรมศิลปากรยังหาได้แก้ไขข้อความทั้ง ๒ แห่งนี้แต่อย่างใดไม่ คงปล่อยให้เป็นไปตามฉบับเดิมก่อน เพราะถ้าจะแก้หรือจะทำเชิงอรรถแล้ว ก็ควรจะทำตลอดทั้งเล่ม ซึ่งเวลางานกระชั้นเกินไป มีเวลาไม่พอที่จะทำเช่นนั้นได้ แต่ได้ตั้งใจไว้ว่าจะกระทำให้คราวพิมพ์ครั้งต่อไป

กรมศิลปากรขออนุโมทนากุศลบุญราศีที่พนักงานในธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กระทำโดยร่วมใจกันจัดพิมพ์หนังสือนี้แจกเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ ขอจงได้เป็นพลวปัจจัยดลบันดาลให้สำเร็จสิ่งอันพึงปรารถนาแก่พระยานิมิราชทรงวุฒิ ผู้ล่วงลับไป ตามควรแก่คติวิสัยในสัมปรายภพทุกประการ เทอญ.

กรมศิลปากร

๖ มีนาคม ๒๔๙๖

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ