คำนำ

หนังสือโคลงโลกนิตินี้ เป็นสุภาษิตเก่าแก่ แต่งมาแต่โบราณครั้งกรุงเก่า เดิมนักปราชญ์ผู้แต่งเที่ยวเลือกหาคาถาสุภาษิตภาษาบาลีและสันสกฤต อันมีอยู่ในคัมภีร์ต่าง ๆ คือ คัมภีร์โลกนิติบ้าง คัมภีร์โลกนัยบ้าง ตลอดจนคัมภีร์พระธรรมบทก็มี นำมาตั้งแล้วแปลแต่งเป็นคำโคลงไปทุก ๆ คาถารวมเป็นเรื่องเรียกว่า โคลงโลกนิติ เป็นสุภาษิตที่นับถือกันมาช้านาน ครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๗๔ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ จึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้า บรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงรวบรวมโคลงโลกนิติของเก่ามาชำระแก้ไขใหม่ให้เรียบร้อยประณีตและไพเราะ เพราะของเก่าคัดลอกกันต่อ ๆ มา ปรากฏมีถ้อยคำวิปลาสผิดพลาดมาก ครั้นสมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงชำระแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้จารึกไวัในวัดพระเชตุพนฯ โคลงโลกนิติ จึงแพร่หลายแต่นั้นมา

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร เคยรวบรวมโคลงโลกนิติ ทั้งของเก่าและที่ชำระใหม่พิมพ์ขึ้นครั้งหนึ่ง ให้ชื่อว่า “ประชุมโคลงโลกนิติ” มีคาถาบาลีและสันสกฤต เท่าที่ค้นพบพิมพ์กำกับไว้ข้างต้นของโคลงภาษิตนั้นด้วย และต่อมาได้พิมพ์อีกหลายครั้ง ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้จัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ ในการพิมพ์ครั้งนั้น กรมศิลปากรได้เลือกคัดเฉพาะแต่ที่สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศรทรงชำระใหม่ แต่คาถาคงไว้ตามเดิม และค้นหามาเพิ่มเติมใหม่จากการพิมพ์ครั้งแรกบ้าง แต่ถึงกระนั้นคาถาที่ยังไม่พบก็ยังมีอีกหลายบท

สุภาษิตที่ปรากฏในโคลงโลกนิติเกือบทุกบท ล้วนเป็นภาษิตที่นิยมนับถือกันว่า เป็นภาษิตที่เหมาะสมที่จะใช้เป็นหลักประพฤติปฏิบัติและจดจำไว้กล่าวสั่งสอนกันมาก การจัดทำหนังสือนี้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ จึงนับว่ามีคุณประโยชน์ในทางเผยแพร่สิ่งที่ดีงามอีกโสดหนึ่งด้วย

อธิบดีกรมศิลปากร

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ