อธิบาย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ห้าได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้มากมาย หลายแขนงแห่งวรรณคดีและรัฐคดี แม้กระนั้นเป็นการยากพอใช้ที่จะหาพระราชนิพนธ์ใด ๆ ที่ยังมิได้พิมพ์ขึ้นแพร่หลายมาพิมพ์อีกได้ เพราะมีผู้นิยมรับไปพิมพ์แล้วเกือบจะหมด ในงานพระราชทานเพลิงพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภานี้ พระสงฆ์วัดบวรนิเวศ ปรารถนาจะฉลองพระเดชพระคุณที่ได้ทรงอุปการะวัดและคณะสงฆ์นี้มาเป็นนานับประการ ท่านใคร่จะได้พิมพ์เรื่องที่เป็นคดีโลก จึงได้แจ้งประสงค์นี้แด่นายพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ แสดงประสงค์มาด้วยว่า หากเป็นเรื่องพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระองค์นั้นได้จะดี ได้แจ้งประสงค์นี้ให้นายธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากรทราบ เพื่อขอให้ลองค้นดูอีกเผื่อจะมีเรื่องพระราชนิพนธ์ใดตกค้างอยู่บ้างที่ยังมิได้เคยพิมพ์ บัดนี้อธิบดีกรมศิลปากรให้ค้นได้เรื่องหนึ่ง ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ไว้แต่พุทธศักราช ๒๔๒๑ ทรงเรียกชื่อว่า “ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม” ได้พิจารณากันดู ปรากฏว่าเป็นอธิบายเรื่องราชสกุลท้าวความย้อนขึ้นไปถึงกฎมนเทียรบาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่งแห่งกรุงศรีอยุธยา ที่มักเรียกกันว่า “พระเจ้าอู่ทอง” นั้น ทรงเปรียบเทียบกับที่เป็นอยู่ในสมัยที่ทรงพระราชนิพนธ์ คือใน พ.ศ. ๒๔๒๑ นั้น มีข้อความที่น่ารู้อยู่เป็นอันมาก เพราะนอกจากความเก่าที่เราอ่านไม่ใคร่จะเข้าใจกันดีนักแล้ว ยังมีความที่เกี่ยวด้วยราชประเพณีและรัฐประศาสโนบายในรัชกาลที่ห้า ซึ่งมีค่ามิใช่แต่สำหรับที่จะศึกษา เรื่องราชประเพณีอย่างเดียวเท่านั้น หากมีค่าทางประวัติศาสตร์และสังคมวิทยาอีกมาก ดังจะได้ยกขึ้นกล่าวต่อไปในอธิบายนี้

เบื้องต้นแห่งเรื่องได้ทรงชี้แจงความจริงอันเป็นลักษณะสำคัญของประเพณีไทยที่ต่างกันกับต่างประเทศแม้ที่ใกล้ ๆ เช่นประเทศลาว และแม้ในประเทศสยามนี้เอง ที่แดนลานนาก็ยังไม่เหมือนกันกับเรา ของเรานั้นเจ้านายลดชั้นกันลงไปรวดเร็ว เพียง ๓ ชั่วคนก็พ้นจากความเป็นเจ้าแล้ว ต่อจากนั้นทรงอธิบายลักษณะแห่งเจ้านายว่า อย่างไรจึงจะเป็นขั้นใด และมีสิทธิตามพระอิสริยยศฐานันดรศักดิ์ประการใดบ้าง เพื่อให้ความชัดเจนจะขอสรุปความที่ทรงไว้ดังต่อไปนี้ เจ้านายนั้นทรงแบ่งเป็น

๑. สมเด็จหน่อพุทธเจ้า เกิดแต่พระอัครมเหสี เป็นรัชทายาท

๒. เจ้าฟ้า หรือลูกหลวง มี ๒ ชั้น ชั้นเอก พระมารดาเป็นพระธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน ชั้นโท พระมารดาเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าแผ่นดิน

๓. พระเยาวราช ได้แก่พระองค์เจ้า ตั้งแต่ที่เป็นพระราชโอรสธิดาของพระเจ้าแผ่นดินลงมาจนพระองค์เจ้าที่ตั้งมาจากหม่อมเจ้าประเภท ๑ กับหม่อมเจ้าอีกประเภท ๑

ในบันทึกนี้ทรงอธิบายโดยละเอียดในลักษณะของเจ้านายต่างประเภทนี้ ลักษณะนี้จะยกจากฐานันดรเดิมขึ้นไปเช่นให้ทรงกรมเป็นต้น ลักษณะที่ชั้นใดมีสิทธิในราชอิสริยยศเพียงใด ฯลฯ

แต่ตั้งแต่ทรงพระราชบันทึกไว้ใน พ.ศ. ๒๔๒๑ แล้วรูปการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปหลายประการเนื่องจากเหตุภายนอกภายใน จึงควรจะบันทึกไว้ในที่นี้ด้วยว่า พระราชบันทึกข้อใดมีการเปลี่ยนแปลงไปประการใดบ้าง ดังต่อไปนี้

ในข้อ ๙ ทรงไว้ว่า ในสมัยอยุธยา เจ้าฟ้าทั้งเอกทั้งโทเมื่อทรงพระเจริญขึ้น ย่อมโปรดเกล้าฯ ให้ไปครองเมืองตามฐานานุรูป แต่ในปัจจุบัน (พ.ศ.๒๔๒๑) มิได้ไป ทรงชักตัวอย่าง ตำแหน่งผู้ครองนครลาวและไทยใหญ่ทั้งปวงที่เรียกผู้ครองนครว่า “เจ้าฟ้า” นั้น ต่อจากนั้นมา ได้ตั้งเจ้านายให้ทรงกรมออกชื่อเมืองต่าง ๆ (แต่ความไม่ปรากฏในพระราชบันทึกนี้) เช่น “เจ้าฟ้ากรมขุนพิษณุโลกประชานารถ” และชั้นพระองค์เจ้าต่างกรมก็มี “พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมหมื่นจันทบุรีนฤนาถ” เป็นต้น

ในข้อ ๒๑ ทรงไว้ว่า แม้เจ้าฟ้าจะทรงกรมก็ “ไม่ได้เรียกพระนามตามกรม” และทรงไว้ในตอนที่กล่าวถึงพระองค์เจ้าอีกว่า “ในหนังสือโบราณ ๆ ก็มีว่าพระองค์เจ้านั้น เจ้ากรมเป็นหมื่นนั้น คือชื่อเดิมของพระองค์เจ้านั้นก็ยังคงอยู่” (ข้อ ๗๙) ทรงต่อไปว่า “ชื่อที่เรียกว่ากรมหมื่นอะไร ๆ นั้น คือนายของคนหมู่นั้นที่เป็นหมื่นอยู่ในบังคับเจ้าองค์นั้น เหมือนหนึ่งกรมนเรศร์ก็คงชื่อพระองค์เจ้ากฤษดาภินิหารอยู่ตามเดิม แต่หัวหน้าของบ่าวที่เป็นเจ้ากรมนั้นเป็นที่หมื่นนเรศราชวรฤทธิ์ เมื่อจะเรียกให้ตลอดชื่อ จะเรียกว่า พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหารกรมหมื่นนเรศราชวรฤทธิ์ก็ควร แต่ธรรมเนียมไทยมักจะอายชื่อเดิม.... เหมือนหนึ่งกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ชื่อนวม กรมพระเทเวศร์ ชื่อกลางเป็นต้น ชื่อนั้นเป็นคำไทย มักจะพ้องกับข้าไทและไทยมักจะชอบชื่อเพราะ ๆ ยาวๆ เมื่อผู้ใดมาเรียกชื่อเดิมดังนั้นก็ดูเป็นผู้ไม่มีอาฌา ฤๅบางทีจะเป็นที่โกรธของท่านนั้นว่า จะเป็นที่ดูถูก จึงได้เรียกชื่อเจ้ากรมเสียทีเดียวว่า ในกรมหมื่นนั้น ในกรมขุนนั้น” (ข้อ ๘๐)

ในข้อ ๔๙ บัดนี้ได้ยกเลิก เพราะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระราชดำริว่านานไปย่อมจะเพิ่มชั้นขึ้นทุกที ไม่แต่พระเจ้าปู่อย่างที่เป็นสูงสุดอยู่ในขณะนั้น ยังอาจมีชั้นพระเจ้าทวดและสูง ๆ กว่านั้นขึ้นไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้นับตั้งแต่ชั้นพระเจ้าลุง พระเจ้าอา พระเจ้าน้า ขึ้นไปเป็นบรมวงศ์ทั้งหมดแล้วเติมเสียด้วยว่า ชั้นใด เช่นพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๑ พระองค์เจ้าฉัตร กรมหมื่นสุรินทรรักษ์และพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศวรฤทธิ์เป็นต้น

ในข้อ ๕๓ ซึ่งทรงบัญญัติให้ใช้คำนำพระนามพระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่ ๓ ว่าพระเจ้าราชวรวงศ์เธอนั้น มาถึงรัชกาลที่หก ไม่มีเจ้านายชั้นนี้เหลือ หมดความจำเป็นที่จะใช้อีกแล้ว โปรดฯ ให้ยกเอาคำนำพระนามนี้มาใช้แก่เจ้านายวังหน้า เพราะคนสมัยนั้นเป็นอันมากไม่ยกย่องคำนำที่ว่า พระเจ้าบวรวงศ์เธอหรือพระบวรวงศ์เธอเสียแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงคาด (ข้อ ๖๗) ว่า “ต่อไปภายหน้า....ก็คงเกิดคำนำพระนาม.... แผ่นดินละอย่างสองอย่างทุกชั้น”

ข้อ ๘๔ ที่ว่าพระองค์เจ้าต่างกรมเป็นได้อย่างสูงเพียง “กรมสมเด็จพระ” แต่ไม่อาจเป็น “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ” อย่างเจ้าฟ้าได้นั้น ก็เปลี่ยนแปลงไปในรัชกาลที่ ๖ และที่ต่อ ๆ มา

ปรากฏว่า คำว่า “หม่อม” นั้นเคยใช้จำกัดมาก แต่ใคร ๆ ก็อยากจะเขยิบขึ้นไปเป็นหม่อมจะเป็นเมียเจ้าเมียขุนนางก็ดาม น่าสังเกตว่าเพียง ๘๐ ปี (คือเวลานี้) “หม่อม” ชักจะเลว ๆ ไปเสียแล้ว คำว่า “ชายา” ซึ่งบัญญัติขึ้นสำหรับเจ้าที่เป็นเมียเจ้านั้นได้เข้ามาแทนที่ ผู้สนใจในเรื่องคำ ได้ชี้แจงว่าเพียงแค่หนังสือ “ขุนช้าง ขุนแผน” คำว่า หม่อมใช้สำหรับผู้ชาย โดยมากใช้ในที่ทำนองเดียวกันกับคำว่า “คุณ” ใน ปัจจุบัน เช่น “พลายแก้วลืมตาคว้ากอดคอ หม่อมพ่อจะไปข้างไหนเล่า” และที่นางพิมพูดกับพลายแก้วว่า “อย่าพูดเลยคะหม่อมเรื่องตรอมคอย แต่เศร้าสร้อยโศกถึงคะนึงหา ถ้าแม้นค่ำวันนี้หม่อมมิมา ฉันจะลาพี่สายทองผูกคอตาย”

พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร

๘ มิย. ๐๑

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ